วันเวลาปัจจุบัน 16 เม.ย. 2024, 11:10  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ก.ค. 2022, 06:04 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 มี.ค. 2009, 10:48
โพสต์: 5091


 ข้อมูลส่วนตัว


"... เราสร้างวัดนี้ ไม่ใช่เพื่อธุรกิจ ไม่ใช่เพื่อ
การค้า
ไม่ใช่พุทธพาณิชย์ เราสร้าง เพื่อให้คนมาบำเพ็ญบุญ
ไม่จำเป็นต้องหิ้วสังฆทาน มามือเปล่า มาก้มหัวให้พระพุทธเจ้า
เราอยากเห็น คนมากราบมาไหว้ มาเดินทำทักษิณา...
องค์พระมหาเจดีย์ มารักษาศิล มาปฏิบัติธรรม
เราไม่เอาใจใคร
เราจะเอาธรรม เราอยากรักษาพระศาสนา เราอยากสร้างวัดให้เป็นวัด"
สมบัติในโลก ไม่มีใครพึ่งได้ แค่อาศัยไปวันๆ นอกจากบุญเท่านั้น
จะเป็นที่พึ่งของสรรพสัตว์ ..."
—————
#พระอาจารย์โสภา_สมโณ
วัดแสงธรรมวังเขาเขียว​
อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา





เราเป็นชายก็จริง
แต่อย่าคิดว่าเราจะสูงกว่าผู้หญิงนะ

จะเป็นชายหรือหญิง เราเป็นมนุษย์เท่ากัน
ถ้าเราเห็นแก่ตัวกับผู้หญิง
ชาติหน้าอาจเกิดเป็นตัวเมียก็ได้

หลวงปู่เชอรี่ อภิเจโต
วัดป่าบ้านตาด







เราบังคับ ควบคุมปากของคนอื่นไม่ได้ จะพูดดีก็ได้ จะพูดร้ายก็ได้ แต่สิ่งที่เราห้ามได้คือ ใจของเรา ไม่ให้ไปหลงยินดี ไปเสียใจกับคำพูดของเขา ปล่อยให้พูดไป อยากจะพูดอะไรก็พูดไป ถ้าไม่ยึดติดคำพูดของเขา ก็ไม่มีความหมาย ไม่มีน้ำหนัก

โอวาทธรรม หลวงพ่อสุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร จ.ชลบุรี
ธรรมะบนเขา ๒๖ สิงหาคม ๒๕๕๐





จิตนี้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ใจร้ายเป็นผี ใจดีเป็นพระ แม้จะนุ่งเหลืองห่มเหลือง มีศีรษะโล้น นอนอยู่วัดก็ตาม ฉันอาหารบิณฑบาต ฉันในบาตรก็ตาม ก็ยังเป็นผีอยู่นั่นเอง ผียังสิงอยู่ในจิตใจ จิตใจนั้นยังเร่าร้อนยังเป็นผี ใจร้ายเป็นผี ใจดีเป็นพระ ถ้าใจดีเมื่อมาฝึกใจ ทำใจให้เข้าถึงพระ ยังวันนี้ตั้งแต่ตีสาม ตีสี่ ก็มีสัญญาณบอกว่า วันพระมาถึงแล้ว เสียงกลองดึกของพระสงฆ์องค์เจ้า ของวัดวาอาวาสได้กึกก้องระงม เพื่อปลุกจิตใจของสาธุชนทั้งหลาย ให้นึกถึงว่า โอ้..พรุ่งนี้เป็นวันพระ

พรุ่งนี้เป็นวันพระ เราจะได้ไปวัด เราจะได้ไปทำบุญ ทำจิตใจให้เป็นบุญเป็นกุศล เป็นคุณงามความดีของเรา ด้วยการนำข้าวปลาอาหาร บริขาร บริวารทั้งหลายมาถวายทาน เป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆะบูชา และทำจิตใจให้เป็นบุญเป็นกุศล ด้วยการเสียสละ ด้วยการให้ ให้ผู้อื่น แต่ว่าเราสุขใจ

จิตคิดจะให้ สุขใจกว่าจิตคิดจะเอา จิตคิดจะเอามีแต่ความเร่าร้อน จิตคิดจะให้มีความเยือกเย็น มีความเมตตาปราณี

ฉะนั้น แม้จะได้ให้สิ่งใดสิ่งหนึ่งแก่ผู้ที่มีความต้องการ เราก็มีความสุขใจ คนที่ได้รับไปก็มีความสุขใจ ให้ความสุขซึ่งกันและกัน โลกทั้งหลายก็อยู่ร่มเย็นเป็นสุข ถ้าให้ความเดือดร้อนเป็นทุกข์ นอนก็เป็นทุกข์ นั่งก็เป็นทุกข์ เดินไปก็เป็นทุกข์ ทุกขัง อริยสัจจัง ทุกข์นี้เป็นความจริง ทุกขัง แล้วเราก็ขังทุกข์ไว้ ให้ทุกข์มันอยู่ในจิตในใจนานๆ ไม่ยอมปล่อยไม่ยอมวาง ไม่ยอมจาคะ

โอวาทธรรม หลวงพ่อทองจันทร์ พุทธญาโณ
สำนักสงฆ์หุบเขาผาจันทร์ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา






สัพเพสังขารา_สัพพะสัญญา_อนัตตา

"... เมื่อสังขารขันธ์ดับไปแล้ว ความเป็น
ตัวตน
... จักไม่มี เพราะไม่ได้เข้าไปเพื่อปรุงแต่ง
ครั้นเมื่อ
... ความปรุงแต่งขาดไป สภาพแห่งการเป็น
ตัวตนไม่มี
... ความทุกข์จะเกิดขึ้นแก่ใคร ได้อย่างไร ..."

#หลวงปู่ดูลย์_อตุโล







“กรรม”

ทำใจให้เย็น ให้สงบ ให้สบาย ให้เป็นอุเบกขา ไม่ว่าอะไรจะมาสัมผัสมากระทบ จะไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับใจได้เลย อย่างนี้แหละจึงจะวิเศษ ถ้ายังถูกกระทบอยู่ ควรพยายามแก้ไข อะไรที่ทำให้วุ่นวายใจ กังวลใจ ต้องแก้ให้ได้ แก้ด้วยปัญญา เพราะปัญหาเกิดจากการขาดปัญญา หรือความหลงนี่เอง มองไม่เห็นว่าสิ่งที่ไปหลงไปกังวล ก็เป็นแค่ดินน้ำลมไฟเท่านั้นเอง ต้องเป็นไปตามเรื่องของเขา คือ

๑. เป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง ไม่ว่าจะเป็นร่างกายของใคร ก็เหมือนกันทั้งนั้น เดี๋ยวก็ต้องแก่เจ็บตาย

๒. เป็นกรรม เขาไหลไปทางหนึ่ง แต่เราพยายามดึงให้ไหลไปอีกทางหนึ่ง ดึงอย่างไรก็ไม่ไปหรอก จะไหลไปตามทางของเขา เขาถนัดมือซ้าย เราอยากจะให้เขาใช้มือขวา ถ้าถูกบังคับจริงๆเขาก็อาจจะใช้มือขวา พอไม่มีใครบังคับ เขาก็จะกลับไปใช้มือซ้าย เขาชอบสีแดง เราจะให้เขาชอบสีเขียวได้อย่างไร

เรื่องของกรรมเป็นอย่างนี้ ต้องยอมรับ จะได้ไม่ทุกข์ ไม่เช่นนั้นก็จะทุกข์ เขาเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา แต่เราไม่เห็นอนิจจังไม่เห็นอนัตตา อนัตตาก็คือกรรมนี่แหละ การที่เขาเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ก็เป็นเหมือนอนัตตา เพราะเราไปควบคุมบังคับไม่ได้ อยากให้เขาเป็นอย่างที่เราต้องการไม่ได้ ถ้าไม่เห็นอนิจจัง ไม่เห็นอนัตตา เราก็จะทุกข์ ถ้าเห็นแล้วจะไม่ทุกข์

กำลังใจ ๓๒, กัณฑ์ที่ ๓๓๕
วันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๐

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัด ชลบุรี
ณ จุลศาลา เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาชีโอน





#ธรรมารมณ์ #จิตหลงอารมณ์

พยายามสังเกตดูจิต จิตคิดอะไร เรื่องราวทั้งหลายที่เป็นอารมณ์อยู่ในจิต จิตเป็นผู้ผลิตขึ้นมาปรุงขึ้นมาให้พากันเข้าใจ"

นี่ไม่อวด เข้าใจจริง ๆ เพราะได้เคยฟัด กันมาแล้ว แทบไปแทบอยู่ แทบจะไม่ได้มาเห็นหน้าเพื่อนฝูง เวลาเข้าสู่แนวรบบนเวที

อารมณ์นั้นไม่ใช่อะไรนะ เรื่องอารมณ์ของตัวเองนั่นแหละ จิตหลงอยู่กับอารมณ์ของตัวเอง คือจิตมันออกไปวาดภาพเรื่องนั้นภาพเรื่องนี้อยู่ตลอดเวลา ให้คิดเรื่องนั้นคิดเรื่องนี้เพราะจิตอยู่กับเรื่อง

ถ้าไม่มีสติปัญญาคอยสกัดลัดกั้นแล้ว มันจะคิดติดต่อเกี่ยวเนื่องกันไป เป็นลูกโซ่โดยลำดับ ๆ ท่านเรียกว่า ธรรมารมณ์" ทำเราให้หลงเพลินและเศร้าโศกไปกับเรื่องกับราวของตัวที่วาดขึ้นมานั่นแล .

"หลวงตาล่าให้ฟัง"
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน








#กลับตัวประพฤติศีลธรรมให้ถูกต้อง

ธรรมดาของโลก พากันตื่นเต้นทางกามและวัตถุกามด้วยกันทั้งนั้น ลืมหลงศีลธรรมไปจึงพากันตกนรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉานกันมากมายเหมือนขนวัว จะไปเกิดสุคติโลกสวรรค์นั้นน้อยเหมือนเขาวัว

ฉะนั้น ในอนาคตวงศ์ ท่านกล่าวไว้ในพระไตรปิฏกไม่ผิด นักรู้นักปราชญ์ควรพิจารณาให้ถ่องแท้กลับตัวประพฤติศีลธรรมให้ถูกต้อง ตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าจึงจะเอาตัวรอดขึ้นสวรรค์นิพพาน อย่าประมาทเป็นคุณสมบัติอันล้ำค่า

หลวงปู่หลุย จันทสาโร






#อริยทรัพย์เป็นทรัพย์ที่บ่มีจักเมิด... #จำใว้เด้อพ่อออกแม่ออก

ไผกะตามหากคิดว่าสิ่งที่แสวงหามีค่ามากมาย บ่ว่าสิเป็นแก้วแหวนเงินทอง อำนาจวาสนา ความเป็นใหญ่เป็นโตว่าสิ่งนั้นมีค่าต่อตนเองมากมาย...คือผู้นั้นคิดผิด

แก้วแหวนเงินทองของมีค่า ลาภยศสรรเสริญเป็นแค่ทรัพย์ภายนอก สิเฮ็ดให้ผู้นั้นหลงในลาภยศสรรเสริญนั้นจนลืมหูลืมตาบ่ขึ้น

เห็นบ่พระพุทธเจ้าเป็นถึงเจ้าฟ้ามหากษัตริย์สิเอาสำใด๋ แก้วแหวนเงินทองลาภยศสรรเสริญ ลูกเมียปราสาทราชวัง เพิ่นยังลักหนีไปบวชจนสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า จึงกลับมาโปรดบิดามารดา วงศาคณาญาติ ลูกเมียให้ได้บรรลุธรรมไปพระนิพพานตามพระองค์ไปหมด

พระอริยสงฆ์ทั้งหลายท่านกะปรารถนาจะหลุดพ้นจากสิ่งเหล่านี้ จึงต้องสละทิ้งให้หมดบ่ยังหยังจักอย่าง​

เบิ่งเอาเด้อพ่อออกแม่ออกเอ้ย...ให้ไปคึดเอาปฏิบัติเอาถ้าอยากหลุดพ้นจากวัฎฎะะสงสารนี้

ต้องละต้องเว้น อย่าโลภหลาย อย่าหลงหลาย อย่าปรารถนาหลาย บัดตายไปมันสิไปติดอยู่แต่กองสมบัติ บ่ได้ไปผุดไปเกิดนำเขา

ให้หมั่นรักษาความดีสร้างบารมี สร้างกุศลหลายเพราะบุญกุศล คือ​ อริยทรัพย์เป็นทรัพย์ที่บ่มีจักเมิด...จำใว้เด้อพ่อออกแม่ออก

#หลวงปู่แสงจันทร์ #ญานวโร
#ปรารภธรรมเมื่อครั้งหลวงปู่พำนัก
ณ วัดป่าวิวุติธรรมมาราม​ อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี







#รู้ที่เพียงพอต่อการปฏิบัติ
#ไม่ให้เกิดความยึดมั่นถือมั่น

มาถึงพวกเราพุทธบริษัทที่จะดับทุกข์ ที่จริงรู้เรื่องเดียวก็พอในทางปฏิบัติ คือรู้วิธีควบคุม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เท่านั้น

ขอให้ช่วยฟังข้อนี้ว่า :

ที่พอดี ที่ตรง ที่จริง ที่แท้ ที่ประเสริฐนั้น มีประโยคเดียวว่า ให้รู้จักควบคุม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ในลักษณะที่มีอะไรมากระทบแล้วไม่เกิดความคิดเลวๆ เป็นความโลภ ความโกรธ ความหลงขึ้นมา มีเท่านี้เอง

นี่พอดี สนใจเท่านี้จะเป็นพระอรหันต์ได้ เพราะว่าทําอยู่อย่างนี้ เรียกว่าเป็นอยู่โดยชอบ พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า “ถ้าภิกษุทั้งหลายเหล่านี้เป็นอยู่โดยชอบ โลกไม่ว่างจากพระอรหันต์

เป็นอยู่โดยชอบมีข้อเดียวเท่านั้น เป็นอยู่ด้วยการควบคุม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไว้ในลักษณะที่ ถ้ามีอะไรมากระทบแล้ว ไม่อาจจะเกิดโลภ โกรธ หลงได้

คือไม่ยึดมั่นถือมั่นเป็น ตัวกู-ของกู ขึ้นมา แล้วก็เกิดโลภ เกิดโกรธ เกิดหลง นี้จําเป็นที่สุด พอดีที่สุด พอเหมาะที่สุด

---

#อยู่โดยชอบนี้คืออยู่อย่างไร
#โลกจึงจะไม่ว่างจากพระอรหันต์ ?

อยู่โดยชอบก็คืออยู่ในลักษณะที่ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส นี้เข้ามาแตะต้องไม่ได้ คือ มากระทบนั้นได้ แต่ว่าจะมาปรุงแต่งให้เกิดเวทนา เกิดตัณหา อุปาทาน นั้นไม่ได้

เราอยู่ในลักษณะที่ฉลาด อยู่ด้วยสติปัญญา หรือความว่างจากตัวกูอย่างที่กล่าวแล้ว เพราะเราศึกษาเพียงพอ ปฏิบัติมันจนเคยชินเพียงพอ

เพราะฉะนั้น เมื่อมันมา ก็มากระทบแล้วตาย เหมือนคลื่นกระทบฝั่ง เหมือนกับบ้านเรามีแมว เมื่อหนูมาจากบ้านอื่น หรือมาจากป่าขึ้นมาบนเรือนนี้มันก็ตายหมด เพราะแมวมันคอยฆ่าอยู่เรื่อย

ถ้าเรามีการเป็นอยู่ที่ถูกต้องตามหลักของความไม่ยึดมั่นนี้แล้ว รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธัมมารมณ์ ก็ไม่มาทำอันตรายเราได้

มากระทบได้ มาเกี่ยวข้องได้ แต่เราใช้มันด้วยสติปัญญา เราจัดการกับมันด้วยสติปัญญา กินมันก็ได้ บริโภคก็ได้ มีมันก็ได้ เก็บมันไว้ก็ได้ แต่ไม่มีผลเป็นทุกข์

เพราะมันมีค่าเท่ากับไม่มี ไม่เป็น ไม่ใช้ ไม่กิน ไม่เก็บ เพราะไม่มีตัวเรา ไม่มีของเรา

#พุทธทาสภิกขุ



การถอดถอนกิเลสเป็นลำดับในขณะที่พิจารณา

ถ้าเป็นขั้นปัญญา จะพิจารณาไปกว้างแคบเพียงไร ในบรรดาสภาวธรรมที่มีอยู่ในโลกนี้ ก็เพื่ออรรถเพื่อธรรม เพื่อถอดถอนตนโดยถ่ายเดียวเท่านั้น จึงเป็นความเพลิดเพลินไปทั้งวันทั้งคืน จิตใจของเราเมื่อมุ่งต่ออรรถต่อธรรมอย่างแรงกล้าเพียงไร ย่อมมีความเข้มแข็งอาจหาญเพียงนั้น ไม่มีเยื่อใยในชีวิตจิตใจ ตลอดถึงความเป็นอยู่ปูวายอะไรทั้งสิ้น ไม่มีความกังวลวุ่นวายกับอะไรภายนอก มีแต่เข็มทิศทางเดินแห่งธรรมเท่านั้นเป็นเครื่องพยุงให้จิตใจเป็นไปโดยลำดับ นั่งอยู่ก็เพลิน นอนอยู่ก็เพลิน เพลินด้วยความพากเพียรในการประพฤติปฏิบัติธรรม ถ้าเป็นสมาธิก็เพลินในความสงบเย็นใจ ถ้าเป็นภาคปัญญาก็เพลินในการคิดค้นอรรถธรรมในแง่ต่างๆ เพื่อการถอดถอนกิเลสเป็นลำดับในขณะที่พิจารณา

ความผาสุกเย็นใจจึงมีได้ทุกระยะของการประกอบความเพียร อยู่ในที่สงบเงียบเท่าไร ความรู้นี้ยิ่งเด่นดวง แม้ความรู้ทางด้านสมาธิก็เด่นในความรู้สึกตัวเอง และเด่นด้วยความสงบ ทางด้านปัญญาก็เด่นทางความเฉลียวฉลาด ความแยบคายของจิต คิดค้นไม่มีเวลาหยุด นอกจากพักสงบในสมาธิเท่านั้น เหมือนกับน้ำซับน้ำซึมไหลรินอยู่ทั้งหน้าแล้งหน้าฝน

ตามสภาวธรรมแง่ต่างๆ ที่จะมาสัมผัสสัมพันธ์ หรือสิ่งเหล่านั้นไม่มาสัมผัสสัมพันธ์ จิตใจที่มีนิสัยไปทางด้านปัญญาอยู่แล้ว ย่อมพิจารณาสอดแทรกไปทุกแง่ทุกมุม และเกิดความเข้าอกเข้าใจไปโดยลำดับ ดังที่ท่านว่า “กายคตาสติ” อย่างนี้ พูดอย่างหนึ่งก็รู้สึกเผินๆ เพราะจิตมันเผิน จิตไม่มีหลัก จิตไม่มีสติ ไม่มีปัญญา ไม่มีหลักเกณฑ์ คือธรรมเป็นหลักเกณฑ์ของจิต พูดอะไรก็ไม่ค่อยถึงใจ เพราะใจอยู่ลึกใต้ท้องกิเลสโน่น แต่พอจิตมีหลักมีเกณฑ์ มีเหตุมีผลขึ้นภายในตัวแล้ว เอ้า เฉพาะอย่างยิ่งเราอยู่ในที่สงบๆ กำหนดพิจารณาดูร่างกายขณะที่นั่งภาวนาน่ะ มันทะลุปรุโปร่งโล่งไปหมดทั้งร่างกาย เป็นอย่างนั้นจริงๆ ในความรู้สึกของผู้ปฏิบัติธรรมขั้นนี้ มันซาบซึ้งดื่มด่ำมาก จะพิจารณาดูผิวหนังข้างนอก พิจารณาให้เห็นเป็น “อสุภะ อสุภัง” ก็ดี มันก็เห็นอย่างชัดๆ เพราะธรรมชาติอันนี้เป็นอยู่แล้ว เป็นแต่จิตของเราไม่เดินตามความจริงนั้นเท่านั้น เป็นเหตุให้ขัดแย้งกันอยู่เสมอ

เมื่อจิตใจมีความสงบ และพิจารณาด้วยปัญญาได้แล้ว เอ้า เราเดินกัมมัฏฐาน คือพาจิตเดินกัมมัฏฐาน ท่องเที่ยวในสกลกาย คือ ขันธ์ห้านี้ เดินขึ้นเบื้องบนถึงศีรษะ เดินลงเบื้องล่าง เบื้องต่ำถึงพื้นเท้า เดินออกมาข้างนอก ถึงผิวหนัง เดินเข้าไปข้างในหนัง ในเนื้อ ในเอ็น ในกระดูก ทุกชิ้นทุกอัน มีความสืบต่อเกี่ยวเนื่องกันอย่างไรบ้างตามธรรมชาติของมัน

จิตค่อยไตร่ตรองไปตามนั้นโดยลำดับๆ จิตก็เพลินไปด้วยการพิจารณานั้น สุดท้ายทั้งๆ ที่เราพิจารณาร่างกายอยู่นั้นแล แต่ในความรู้สึกนั้นปรากฏเหมือนไม่มีกายเลย จิตมันเบาหวิวไปหมด กายเนื้อนี้หายไป แต่ภาพที่พิจารณานั้น ก็พิจารณาไปโดยลำดับเช่นเดียวกัน ทั้งๆ ที่อาศัยภาพแห่งร่างกายที่มีอยู่นี้แลเป็นเครื่องพิจารณา แต่ส่วนที่ปรากฏร่างอันนี้ เหมือนเริ่มแรกนั้นไม่ปรากฏ หายไปหมดนั้นอย่างหนึ่ง พิจารณาจนกระทั่งมีความละเอียดลออ ในความรู้สึกของจิต จนกระทั่งร่างกายนี้ เราจะพิจารณาให้เป็นความแตก ความสลายลงไปก็เป็นไปโดยลำดับ มีความรู้สึกอยู่กับ “ภาพ” ที่ปรากฏภายในจิตใจโดยทางปัญญา ที่พิจารณาอยู่เท่านั้น และเห็นอย่างชัดเจนเพราะไม่มีอะไรเข้ามาเกี่ยวข้องวุ่นวาย

จิตก็ไม่หิวโหยอยากวิ่งเต้นออกไปสู่ภายนอกเพลินกับงาน คือ การพิจารณานั้นเท่านั้น ความเข้าใจก็ชัดขึ้นมา ชัดขึ้นมา ความเข้าใจชัดมากเพียงไร ยิ่งทำให้เกิดความสนใจยิ่งขึ้นเป็นลำดับ สุดท้ายก็มีแต่ภาพ หรือธรรมารมณ์อันนั้น กับใจ หรือปัญญานี้เท่านั้น ส่วนร่างกายอันแท้จริงนี้ก็เลยหายไป ไม่ทราบหายไปไหน มันไม่รู้สึกว่ากายมีเวลานั้น ทั้งๆ ที่พิจารณาร่างกายอยู่นั้นแล จนกระทั่งสภาพนี้สลายลงไป เห็นอย่างประจักษ์ภายในจิต สลายลงไปจนกระทั่งกลายเป็นสภาพเดิมของธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ สลายลงไปสู่ธาตุเดิมของเขา จิตหดตัวเข้ามาเหลือแต่ความรู้ล้วนๆ

ที่ว่า “เวทนา” ก็หายหมดในระยะนั้น สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องเลย เพียงแต่ “รู้” อย่างเดียวเท่านั้น มันพอกับความเป็นอยู่ของจิตใจในขณะนั้นแล้ว เข้าสู่ความสงบแน่วไปเลย เหลือแต่ความรู้ล้วนๆ อย่างเดียว ร่างกายที่เรานั่งอยู่นี้หายหมดอย่างนี้ก็มีในการพิจารณา แต่กรุณาอย่าคาด เป็นแต่เพียง “ฟัง” ให้เป็นความเพลิดเพลินรื่นเริง ในขณะที่ฟัง อันจะเกิดผลประโยชน์ในการฟัง ด้วยความเห็นจริงของตัวเอง

เวลาเราพิจารณาตามจริตนิสัยของเราแล้ว จะเป็นอย่างไรนั้นเป็นเรื่องของตัวเอง ที่จะปรากฏขึ้นมาตามจริตนิสัยของตัว เรื่องของคนอื่นถ้าจะให้เราเป็นอย่างนั้น คือ ให้ตัวของเราเป็นอย่างนั้น รู้อย่างนั้น เห็นอย่างท่านนั้นไม่ได้ แล้วแต่จริตนิสัยของแต่ละคน ละคน ให้เป็นไปตามหลักธรรมชาติของตนเอง ที่ได้พิจารณารู้เห็นอย่างใด นี่เป็นประการหนึ่ง ที่อธิบายมานี้


ประการที่สอง เวลาพิจารณา กาย เกี่ยวกับเรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั้น เราจะว่า อนิจจัง หรือ ทุกขัง อนัตตา ก็ตาม เมื่อปัญญาได้สัมผัสสัมพันธ์กับรูปขันธ์นี้โดยชัดเจนแล้ว มันหากรู้ได้ภายในตัวของมันเอง เพราะ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นสิ่งที่จะพึงปล่อยวาง เป็นสิ่งที่พึงเบื่อหน่ายคลายความยินดีไปโดยลำดับๆ แล้วปล่อยวาง เมื่อจิตพิจารณาเข้าใจเต็มที่แล้ว ก็ปล่อยวางเองโดยไม่ต้องบังคับ เพราะเป็นความจริงอันหนึ่งๆ เท่านั้น ในกาย ในขันธ์ แต่ละส่วน แต่ละชิ้น ที่พิจารณานี้ เวลาพิจารณาลงไปอย่างชัดเจนเช่นนั้นแล้ว จิตก็แยกตัวออกได้โดยอัตโนมัติ เพราะความจริง ถึงความจริง คือ จิตเป็นจิต อาการเหล่านั้นแต่ละอาการก็เป็นอาการของตัวโดยลำพังไม่ได้มาเกี่ยวข้องกับจิตเลย แม้จิตก็ย้อนมาเห็นโทษของจิตเอง ที่ไปยึดไปถือไว้นั้นว่า “นี่มันหลงจริงๆ ความจริงมันเป็นอย่างนี้ อย่างนี้” นั่น ! นี่เป็นวาระหนึ่ง เมื่อยังไม่ขาดจากกัน คือ จิตยังไม่มีกำลังพอตัว มันรู้เป็นระยะอย่างนี้ไปก่อน

การพิจารณาคราวหน้าก็รู้อย่างนี้ ซึมซาบ ซึมซาบเข้าไปเรื่อยๆ จนความรู้ชั้นนี้พอตัวก็ปล่อยวาง เหมือนจอกแหนที่มันหุ้มเข้ามา หุ้มเข้ามาปิดน้ำนั่นเอง เราเบิกเราแหวก จอกแหน ก็หุ้มเข้ามาอีก แหวกมันออกไปอีก ปัญญาเวลาพิจารณาบุกเบิกสิ่งเหล่านี้ หรือคลี่คลายสิ่งเหล่านี้มันก็เป็นอย่างนั้น พอถอยปัญญาออกมา กิเลสส่วนละเอียดมันก็หุบเข้ามา แต่พิจารณาหลายครั้งหลายหนเข้า เรื่องจอกเรื่องแหน คือ กิเลสชนิดต่างๆ ก็เบาบางไป บางไป การพิจารณาในอาการเหล่านี้ ค่อยสะดวกขึ้น สะดวกขึ้น คล่องแคล่วขึ้นไปเรื่อยๆ และมีความละเอียดไปเป็นลำดับๆ จนกระทั่งถึงความพอตัวแล้วก็ถอนตนออกโดยอัตโนมัติ ดังที่อธิบายผ่านมาแล้วนั่นแล

จิต เมื่อมีกำลังสติปัญญาพอตัวแล้ว มันถอนได้อย่างเด็ดขาด รู้ประจักษ์ใจ โดยไม่ต้องไปถามใครอีกแล้ว ใจมีความเพียงพอในตัวเอง เห็นประจักษ์เป็น “สนฺทิฏฺฐิโก” อย่างเต็มภูมิ ตามธรรมประกาศไว้ ไม่มีปัญหาใดๆ มาขัดแย้ง


ประการที่สาม เวลาพิจารณาร่างกาย บางทีจิตมีความสัมผัสกับเวทนาก็แยกไปพิจารณาเรื่อง “เวทนา” อีก แล้วแต่จริตของจิต เวลาจะแยกไปพิจารณาเวทนา ใจมันก็ส่งเข้ามาหากายอีกเช่นเดียวกัน เพราะกายกับเวทนาเกี่ยวโยงกัน ที่จำต้องพิจารณาประสานกันไปในขณะเดียวกัน ตามแต่ถนัดในโอกาสใด เวทนาใด และอาการของกายใด พิจารณาเวทนา คำว่า “ทุกข์” ก็สักแต่ว่าทุกข์มันดู มันกำหนด มันซักซ้อม มันปล่อยวางอยู่ตรงนั้นแล้วก็ย้อนเข้ามาหากาย กายก็เป็นกาย เวทนาก็เป็นเวทนา แล้วย้อนเข้ามาหาจิต จิตก็เป็นจิต พิจารณาทดสอบหาความจริง ทั้งกาย ทั้งเวทนา ทั้งจิต ซึ่งเป็นตัวการทั้งสามนั่นแล จนเป็นที่เข้าใจเป็นชิ้นเป็นอัน ว่าต่างอันก็เป็นความจริงด้วยกัน

เมื่อ “จิต” ถอยออกมาจาก “กาย” และ “เวทนา” เสีย กาย กับ เวทนา ก็ไม่ปรากฏ ปรากฏแต่ความรู้ล้วนๆ เมื่อกระแสจิต “แย็บ” ออกไปรู้ เวทนาก็ปรากฏเป็นเวทนาขึ้นมา อาการนั้นๆ ก็เป็นเครื่องส่อให้เห็นว่าอาการใดที่จะปรากฏ ก็เพราะความรู้อันนี้ไปให้ความหมายสิ่งนั้นว่าเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้

ถ้าจะคิดไปในทางผูกมัดว่า “ตนเอง” คือ ไปในทาง “สมุทัย” ก็ต้องอาศัยความหมายนี้พาไป พายึดพาถือ พาไปสำคัญมั่นหมายต่างๆ ถ้าเป็นไปในทางปัญญาก็อาศัย “ปัญญา” ซึ่งเป็นกระแสของจิตนี่เอง ใช้พิจารณาไตร่ตรองจนเห็นชัดด้วยปัญญาแล้ว ถอนตัวเข้ามาอย่างมีเหตุมีผลเต็มตัว ไม่ใช่ถอยเข้ามาหาแบบขี้เกียจอ่อนแอ หรือแบบยอมแพ้ ชนิดหมอบราบคาบหญ้าหาทางต่อสู้ไม่ได้

การพิจารณาเวทนา สัญญาแย็บออกมา สติก็รู้ ถ้าพิจารณาเวทนาอย่างละเอียดลออเข้าไปแล้ว เพียงสัญญามันแย็บออกไปก็รู้ สังขารปรุงก็เหมือนกับหิ่งห้อยนั่นเอง แย็บๆ ถ้าสัญญาไม่ไปหมาย หรือรับช่วงต่อ สังขารก็เพียงปรุงแย็บๆ แล้วดับไป ดับไป ไม่ว่าจะปรุงเรื่องใด เรื่องดี เรื่องชั่ว เรื่องหยาบ เรื่องละเอียด เรื่องกลางๆ หรือเรื่องอะไรๆ ก็ตาม มันเป็นเพียงความกระเพื่อมของจิตเอง และในขณะที่มีอะไรมาสัมผัสเท่านั้น ถ้าหากไม่มีอะไรมาสัมผัส โดยลำพังตนเอง ท่านเรียกว่า “สังขาร” ถ้ามีอะไรมาสัมผัสท่านเรียกว่า “วิญญาณ”

นี่เราหมายถึง “สังขาร” ที่ปรุงอยู่โดยลำพังตนเอง ไม่มีอะไรมาเกี่ยวข้องก็ปรุงขึ้นแย็บๆ และดับไปพร้อม ปรุงขึ้นแย็บดับไปพร้อม เราจะเห็นได้อย่างชัดเจน ขณะที่จิต รวมตัวอย่างสนิทในขั้นสมาธิ และขั้นปัญญาอันละเอียด

ความสนิทแห่งการรวมตัวของจิตนี้จะไม่มีอะไรมาเกี่ยวข้องเลย เหลือแต่ความรู้ล้วนๆ ขณะที่ความรู้ล้วนๆ ทรงตัวอยู่อย่างนั้นเราเห็นประจักษ์ ไม่มีสองกับอะไร ? ขณะที่จิตจะถอนตัวออกมาสู่สภาวธรรมทั้งหลาย จะกลายมาเป็นจิตธรรมดา คือ คิดปรุงได้นี้จะมีความกระเพื่อมตัวเอง แย็บทีหนึ่งแล้วดับทันที ว่างอยู่เช่นเดิมอีก ประเดี๋ยวแย็บขึ้นอีก คือจิตปรุง เพียงแย็บปรุง ยังไม่ทันได้เรื่องได้ราวอะไรเวลานั้น เพียงกระเพื่อมเท่านั้น มันก็รู้และดับไปพร้อม พอกระเพื่อมพับ มันรู้ทันเสียเพราะอำนาจของ “สติ ที่ควบคุมอยู่ในขณะนั้น หรือพลังของสมาธิยังไม่คลายตัวก็ได้ ทีนี้พอปรุงสักสองสามครั้งแล้ว จะถี่ขึ้นเรื่อยๆ ประเดี๋ยวก็รู้สึกตัวขึ้นเหมือนเด็กตื่นนอน

ทีแรกเด็กก็กระดุกกระดิก หลายครั้งหลายหนประเดี๋ยวก็ลืมตาขึ้นมา จิตก็เหมือนกันมีความสงบ นี่พูดถึงขั้นสมาธิ ปัญญาก็อยู่ด้วยกัน การพิจารณาต่างๆ ดังที่กล่าวมานี้ท่านเรียกว่า “ปัญญา” เมื่อพิจารณาพอตัวแล้ว จิตจะก้าวเข้าสู่ความสงบและปราศจากความปรุง ความแต่ง ความก่อกวนอะไรทั้งหมด ปรากฏอยู่แต่ความรู้ เพียงเท่านี้ก็มีรสมีชาติเต็มภูมิแห่งสมาธิ ที่ควรจะชนะรสทั้งหลายได้อยู่แล้ว ความยินดีในความสงบนี้ก็ไม่เคยอิ่มตัวเลย มีความดูดดื่มในความสงบเย็นใจอยู่เสมอ ไปที่ไหน อยู่ที่ใด จิตก็เป็นรากเป็นฐานกับตัวเองอยู่แล้ว ใจสบาย สงบ เย็น จึงต้องใช้ปัญญา พิจารณาเรื่องธาตุเรื่องขันธ์

สำคัญที่ความปรุงของจิต ปรุงขึ้นมาแล้วสัญญาจะหมายทันที เหมือนว่าสังขารนี้ปรุงขึ้นมายื่นให้สัญญา สัญญาเป็นผู้รับช่วงแล้วตีความหมายออกไปในแง่ต่างๆ จนไม่มีสิ้นสุดนั่นแหละที่เราหลง เราหลงความสำคัญมั่นหมายของตัวเอง หลง “เงา” ของตัวเอง ที่ออกวาดภาพไปเป็นเรื่องต่างๆ เพลินอยู่ทั้งวันทั้งคืน เพลินเพราะอะไร ? โศกเพราะอะไร ?

เพลินก็ดี โศกก็ดี เพราะ “เงา” ของจิตที่แสดงตัวออกเป็นเรื่องเป็นราว เรื่องนั้น เรื่องนี้ เรื่องอดีต เรื่องอนาคต ที่เคยผ่านมาแล้วก็ดี ที่ยังไม่มาถึงก็ดี ยังไม่มีก็ดี มีแต่เรื่องของจิต ออกวาดภาพหลอกตัวเองทั้งสิ้น เราอยู่ด้วยความคิดความปรุง ความวาดภาพต่างๆ ของตัวเอง เพลินและโศกด้วยความคิดปรุง ด้วยความวาดภาพของตัวเองทั้งนั้น ในวันเวลาหนึ่งๆ ไม่มีเวลาว่างจากการวาดมโนภาพหลอกกวนตัวเองเลย ปราชญ์ท่านรู้ทันกลมารยาของขันธ์ท่านจึงไม่หลง


เวลา “สติปัญญา” หยั่งลงไปจริงๆ แล้ว ย่อมทราบได้ในขณะนั้น ปกติจิตเป็นอย่างนั้นจริงๆ ดังคนไม่เคยภาวนา พอเริ่มภาวนาก็ส่งจิตออกไปนอกลู่นอกทาง ไม่มีหลักยึด เช่น คำบริกรรม มี “พุทโธ” เป็นต้น นั่งอยู่นี่ บางทีตาเหม่อมองอะไรก็ไม่รู้ แต่จิตนั้นคิดและวาดภาพร้อยแปดพรรณนาไม่จบสิ้นลงได้ ใจก็หลงเพลินไปตามนั้น หรือเหม่อไปตามอารมณ์ของตัวที่ปรุงแต่งขึ้นมา หลงอารมณ์ของตัวเองนั้นแล มากกว่าจะตั้งใจภาวนา ฉะนั้นจิตจึงหาความสงบได้ยาก เพราะไม่มีสติควบคุมงานภาวนาพอให้จิตสงบได้บ้าง

เมื่อได้ใช้สติปัญญาในด้านสมาธิ ในด้านปัญญานี้แล้ว ถึงจะทราบชัดว่า อาการเหล่านั้นเป็นอาการที่ออกไปจากจิตแล้วหลอกจิต ผู้ไม่มีสติปัญญาทันกับเหตุการณ์ หรือทันกับสภาพเหล่านั้นใจให้มีความลุ่มหลงไปตาม จนหาความสงบเย็นใจไม่ได้ ทั้งที่ความมุ่งหมายเดิมตั้งใจภาวนาเพื่อใจสงบ อารมณ์เครื่องหลอกนั้นๆ จึงทำให้เกิดความดีใจ เสียใจ เกิดความรัก ความชัง เกิดความโกรธ ความหงุดหงิดอยู่ไม่ถอย ไม่ว่าผู้ภาวนา หรือผู้ไม่สนใจภาวนาเลย ทั้งนี้เพราะผู้ภาวนาก็ไม่ตั้งสติรักษาใจตัวเอง ผลจึงเป็นบ้าไปตามอารมณ์พอๆ กัน นี้ขรัวตาบัวเคยเป็นมาแล้ว ไม่แกล้งคุยอวดบ้าของตัวกับท่านผู้ใด

บางทีเรื่องราวผ่านมาแล้วตั้งกี่ปีก็ตาม แต่เผอิญใจดวงที่เหม่อลอยเที่ยวเสาะไปเจอเข้า ก็คิดปรุงเรื่องนั้นขึ้นมาอีก ถ้าเป็นเรื่องที่เคยเสียใจ ก็มาเกิดความเสียใจในเรื่องนั้นเอง กรุ่นขึ้นมาคิดฟื้นขึ้นมา ทั้งๆ ที่เรื่องนั้น ไม่ทราบมันหายไปไหนแล้ว นี่ก็คือเงาของจิตหลอกจิต จนเป็นตนเป็นตัวขึ้นมา เป็นอะไร ก็ตัวโกรธ ตัวโลภ ตัวทุกข์ ตัวร้อน ตัวบ้า ขึ้นมาจาก “เงา” นั้นแล จะเป็นตัวมรรค ตัวผล มาจากไหนกัน มรรคผลแบบนี้มีเกลื่อนโลก จนจะหาทางไปไม่ได้โน่น

เพราะฉะนั้น การพิจารณาอาการของจิต จึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่ปัญญาจะต้องสอดแทรกตามให้ทัน เมื่อสติปัญญาตามทันแล้ว จิตคิดปรุงเรื่องอะไรก็ทราบว่าไปจากจิต ซึ่งกำลังจะออกไปวาดภาพหลอกตัวเอง กำลังจะไปสำคัญมั่นหมายกับ รูป เสียง กลิ่น รส นานาชนิด ใจก็รู้ทัน เมื่อรู้ทัน อารมณ์นั้นก็ดับไปทันที ไม่เกิดเป็นตนเป็นตัว เป็นรูปเป็นร่าง เป็นเรื่องเป็นราวอะไรขึ้นมา เพราะสติปัญญาทันมันเรื่องก็สงบไป

สุดท้ายก็มาเห็นโทษซึ่งเกิดมาจากจิตนี้เป็นต้นเหตุโดยถ่ายเดียว ไม่ได้ไปตำหนิติ ชม รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสอะไรทั้งสิ้น ใจย้อนมาเห็นโทษที่เกิดขึ้นภายในจิตนี้ ที่ไปหลอกตัวเองว่า “น่าชมบ้าง น่าตำหนิบ้าง น่าดีใจ น่าเสียใจบ้าง” ว่ามันเกิดขึ้นจากจิตทั้งนั้น จิตนี้เป็นตัวขี้โกง ตัวมายา ตัวหลอกลวงมากทีเดียว ถ้าตามเรียนตามดูด้วยจิตตภาวนา จะทราบเรื่องดี เรื่องชั่ว ต่างๆ ของจิตได้ดี จนอยู่ในเงื้อมมือเราหนีไม่พ้นแน่นอน

นี่แหละ วิธีพิจารณา “จิต” พิจารณาอย่างนี้

สุดท้ายสิ่งเหล่านั้นก็ไม่มีความหมาย ไม่มีอะไรสำคัญ มันสำคัญอยู่ที่จิตตัวหลอก ลวงนี้เท่านั้น จึงต้องพิจารณาตัวหลอกนี้ให้ทันกลมารยาของมัน ด้วยสติปัญญา

การกำหนดต้องทำเหมือนจิตดวงนี้เป็นนักโทษทีเดียว ไปไหนต้องถูกควบคุมด้วยสติปัญญา จะคิดปรุงเรื่องอะไรขึ้นมา สติปัญญาต้องควบคุมให้ทันกับเหตุการณ์ อาการนั้นๆ ก็ดับไปเรื่อยๆ หนัก เบา ใจก็รู้อย่างชัดเจนว่า “ตัวจิตนี้แล เป็นตัวนักโทษ” ไม่ใช่สิ่งอื่นใดทั้งนั้น

รูป ไม่ใช่โทษ และไม่ใช่สิ่งที่ให้คุณ ไม่ใช่สิ่งที่ให้โทษ เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส ไม่ใช่ผู้ให้โทษ ไม่ใช่ผู้ให้คุณ เพราะไม่ใช่ตัวโทษ ไม่ใช่ตัวคุณ จิตนี้เท่านั้นเป็นผู้ไปปรุง เป็นผู้ไปแต่ง ไปหลอกลวงตัวเองให้เกิดความดีใจ เสียใจ ให้เกิดความสุข ความทุกข์ขึ้นมา ด้วยอำนาจแห่งอารมณ์ที่เกิดขึ้นจากใจนี้เท่านั้น สติปัญญาเห็นแจ้งเข้าไปโดยลำดับๆ แล้วก็ย้อนเข้ามาเห็นโทษของใจโดยถ่ายเดียว ไม่ตำหนิติชมสิ่งอื่นๆ ดังที่เคยเป็นมาอีกแล้ว สติปัญญาจดจ่ออยู่กับจิตที่กำลังเป็นนักโทษอย่างเดียว ไม่นานเกินกาล ต้องจับตัวนักโทษ คือ จิตได้ และหายห่วงโดยประการทั้งปวง

เอ้า จะคิดปรุงเรื่องอะไรขึ้นมาก็ตาม นั้นเป็นเรื่องของใจที่ว่า ปรุงเสือ ปรุงช้าง มันเป็น “สังขาร” ออกไปหลอกตัวเองทั้งมวล สติปัญญาก็รู้ทันทุกระยะ ที่นี่กระแสแห่ง “วัฏฏะ” นับวันเวลาแคบเข้ามา สุดท้ายก็จับตัวนักโทษได้ แต่ยังลงโทษมันไม่ได้ กำลังอยู่ในขั้นวินิจฉัยใคร่ครวญเพื่อโทษของมัน จนกว่าจะมีหลักฐานเหตุผลเป็นที่แน่นอน จึงจะลงโทษประหารมันได้ตามกระบิล “ธรรมาภิสมัย” นี่ถึงขั้นของสติปัญญาอันสำคัญแล้ว

ทีแรก อาศัยธาตุขันธ์เป็นที่พิจารณาซักฟอกจิตใจด้วยธาตุ ด้วยขันธ์ เป็นหินลับสติปัญญา ซักฟอกจิตใจด้วยรูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส เป็นหินลับปัญญา และซักฟอกจิตใจโดยเฉพาะ ด้วย “สติปัญญาอัตโนมัติ” ขั้นนี้ตามต้อนกันเฉพาะจิตอย่างเดียว ไม่ออกไปเรื่องรูป เสียง กลิ่น รส เพราะรู้เรื่องรู้ราว และปล่อยวางหมดแล้ว ว่านั่นไม่ใช่ตัวเหตุตัวผล ไม่ใช่ตัวสำคัญยิ่งไปกว่าจิตใจดวงนี้ที่เป็นตัวการสำคัญมาก เป็นนักโทษที่ลือนามในวง “วัฏฏะ” นักก่อกวน นักยุ่งเหยิง วุ่นวายตัวเองอยู่ที่นี้แห่งเดียว

สติปัญญาค้นเข้ามา แล้วจดจ้องที่ตรงนั้น ไปที่ไหนก็มีแต่จิตดวงนี้แหละเป็นผู้ก่อโทษขึ้นมา คอยดูแต่นักโทษคนนี้จะแสดงตัวอะไรออกมา นอกจากจะระวังนักโทษตัวนี้จะแสดงตัวอะไรออกมาแล้ว ยังต้องมีปัญญาสอดแทรกเข้าไปว่า “อะไรเป็นเครื่องเสี้ยมสอน อะไรเป็นฉากหน้าฉากหลัง ของนักโทษนี้ จึงต้องทำโทษ ทุจริตอยู่ตลอดเวลา คิดปรุงแต่เรื่องราวหลอกลวงอยู่ไม่ขาดวรรคขาดตอน เป็นเพราะอะไร

สติปัญญาขุดค้นเข้าไปที่ตรงนั้น ไม่เพียงแต่จะตะครุบ หรือตีต้อน เฉพาะอาการของมันที่แสดงออกมาเท่านั้น ยังค้นเข้าไปในรวงรังของมันอีก มีอะไรเป็นเครื่องผลักดันอยู่ภายใน ? ตัวการสำคัญคืออะไร ? ต้องมีสาเหตุ ถ้าไม่มีสาเหตุ ไม่มีปัจจัย เป็นเครื่องหนุนให้จิตแสดงออกมา จิตจะออกมาเฉยๆ ไม่ได้

ถ้าแสดงอาการออกมาเฉยๆ ก็ต้องเป็นขันธ์ล้วนๆ แต่นี่มันไม่เฉยๆ นี่ จิตแสดงอาการอะไรออกมา ? ปรุงเรื่องอะไรออกมา มันทำให้เกิดความดีใจ เสียใจ ทั้งนั้น แสดงว่ามันไม่ใช่อาการออกมาเฉยๆ มันมีเหตุมีปัจจัยพาให้ออก ให้เป็นเหตุเป็นผล เป็นสุข เป็นทุกข์ ได้จริงๆ ในเมื่อหลงมัน

ค้นเข้าไป ระยะนี้เราเห็นจิตเป็นนักโทษแล้ว เราต้องพิจารณาปล่อยวางสิ่งภายนอกทั้งหมด ภาระน้อยลงไป น้อยลงไป มีแต่เรื่องจิตกับเรื่องความปรุง ความสำคัญมั่นหมายที่เกิดขึ้นจากจิตโดยถ่ายเดียวเท่านั้น สติปัญญาหมุนติ้วๆ อยู่ในนั้น สุดท้ายก็รู้ว่ามีอะไรเป็นสาเหตุที่ให้จิตคิดปรุงขึ้นมา ให้เกิดความรัก ความชัง ความโกรธ ความเกลียด เมื่อมีอะไรมาปรากฏใจก็รู้อันนั้น พอรู้อันนั้นแล้ว “จอมสมมุติ” ที่กลมกลืนกันกับจิตก็สลายไป ทีนี้ทำลาย “วัฎฎะ” ได้แล้วด้วยสติปัญญา จิตก็หมดโทษ กลายเป็นจิตที่บริสุทธิ์ล้วนๆ ขึ้นมา เมื่อปัญหา “วัฏจักร” สิ้นสุดลงแล้ว จะตำหนิโทษจิตไม่ได้แล้ว ที่ตำหนิได้เพราะโทษยังมีอยู่ในจิต มันซ่อนอยู่ในจิต เหมือนกับโจรผู้ร้ายหรือข้าศึกเข้าไปหลบซ่อนอยู่ในอุโมงค์ใด ต้องทำลายอุโมงค์นั้นด้วย จะสงวนอุโมงค์เอาไว้ เพราะความเสียดายนั้นไม่ได้

“อวิชชา” นี้เป็นจอมแห่งไตรภพที่เข้าไปแทรกอยู่ในจิต ฉะนั้นจะต้องพิจารณาทำลายลงให้หมด ถ้าจิตไม่เป็นของจริงแล้วจิตจะสลายไปพร้อม “อวิชชา” สลายตัว ถ้าเป็นของจริงตามธรรมชาติแล้ว จิตนั้นจะกลายเป็นจิต “บริสุทธิ์” ขึ้นมา เป็นของประเสริฐขึ้นมา เพราะสิ่งที่จอมปลอมทั้งหลายได้หลุดลอยไปแล้วด้วยสติปัญญา

เมื่อสิ่งจอมปลอมอันเป็นสนิมเกาะแน่นอยู่ภายในจิต ได้สลายตัวลงไปด้วยอำนาจของสติปัญญาแล้ว “จิตดวงนั้นแล เป็นธรรมแท้” จะเรียกว่า “จิตแท้” “ธรรมแท้” ก็ไม่ขัดกัน เพราะหมดเรื่องที่จะมาคอยขัด ซึ่งเป็นเรื่องของกิเลสแล้วจะเรียกว่า “รสแห่งธรรมชำนะซึ่งรสทั้งปวง” ก็ได้ ๑๐๐% เมื่อจิตเป็นธรรมล้วนๆ แล้ว ย่อมมีความ “อิ่มพอ” กับสิ่งทั้งหลาย ไม่เกี่ยวข้องกันอะไรทั้งสิ้นแล้ว เป็น “เอกจิต เอกธรรม” มีอันเดียวเท่านั้น ธรรมแท้มีอันเดียว จิตเป็นธรรม ธรรมเป็นจิต พูดได้เท่านั้น


เที่ยวกรรมฐานในกายนคร
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๑๙

:b8: :b8: :b8: https://luangta.com/thamma/thamma_talk_ ... 9&CatID=-1

:b44: ประวัติและปฏิปทา “หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=24738

:b44: รวมคำสอน “หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=38517


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 29 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร