วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 22:17  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ส.ค. 2022, 09:35 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 มี.ค. 2009, 10:48
โพสต์: 5091


 ข้อมูลส่วนตัว


"พวกญาติโยมเขาหาทรัพย์ภายนอก ครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติท่านหาทรัพย์ภายใน พอท่านมีทรัพย์ภายในแล้ว จะทำยังไงก็ไม่หวั่นไหว แม้แต่ความตายมาถึงก็ไม่หวั่นไหว เพราะท่านมีทรัพย์ภายในของท่านแล้ว นั่นล่ะท่านจึงเปรียบเหมือนเสาศิลาที่ฝังไว้ดีแล้ว ย่อมแข็งแกร่งไม่หวั่นไหวเมื่อถูกลมพายุพัดมา พวกเราก็ให้บำเพ็ญเอาให้เป็นสมบัติของตัวเอง ครูบาอาจารย์ท่านก็เป็นคนเหมือนพวกเรานี่แหละ ทำไมท่านทำได้ ทำไมเราทำไม่ได้ ไม่ใช่เพราะมันไม่ทำจริงมากกว่าหรือ"
.
โอวาทตอนหนึ่งของ หลวงพ่อสมบูรณ์ กันตสีโล








#อธิษฐานจิตต่างจากการขอ

"... คนนั่งหลับตาแล้วอธิษฐานไปสวรรค์ อธิษฐานไปนิพพาน อธิษฐานให้รวย อธิษฐานให้ครอบครัวมีความสุข เป็นไปไม่ได้ ไม่ต้องไปอธิษฐานอย่างนั้น... อธิษฐานผิด...!!

... อธิษฐาน ตัว ฐ ฐาน แปลว่าสร้างความดี อย่าทิ้งหน้าที่การงาน รับผิดชอบในตัวเอง นี้เรียกว่าอธิษฐาน คนที่ไม่รับผิดชอบ ละทิ้งการงานเสีย ไม่เรียกอธิษฐาน แปลผิด ไม่ใช่อธิษฐานว่าขอให้ลูกฉันดี ขอให้สามีฉันดี ขอให้ค้าขายได้กำไร อย่างนี้ไม่ใช่เรียก อธิษฐาน แต่เรียกว่า... ขอ... ขอให้รวย แต่มันจะเหลือวิสัยที่จะเป็นไปได้ จะรวยได้หรือไม่ อยู่ที่น้ำใจ ถ้ามีเมตตา ปรานี อารีเอื้อเฟื้อ ขาดเหลือคอยดูกัน จะรวยอยู่ตรงนี้ รวย แปลว่า อิ่มเอิบหัวใจ ปิติยินดีในหัวใจ สบายอก สบายใจ ถึงเหนื่อยกาย แต่ก็ไม่เหนื่อยใจ ตรงนี้ซิ ถึงจะเรียกว่า... ความดีมีอยู่ในจิตใจของตน ..."

#พระธรรมสิงหบุราจารย์
หลวงพ่อจรัญ_ฐิตธมฺโม
#หนังสือ_แก่นแท้แห่งการสวดมนต์







..#เงินมันก็ดีนะแต่ขอให้ได้มาทางที่ถูกต้อง..
..คดีโลก มันก็มีประโยชน์อยู่ แต่ที่มันยังแก้ปัญหาไม่ตก เพราะไม่มีคุณธรรมเป็นเครื่องประกอบ เหมือนเรามีแขนข้างเดียว เข้าใจ บ่..เราจะจับของได้ไม่ดี เข้าใจมั๊ย..
..ถ้าเรามีสองข้าง มีหลักทั้งทางโลกและหลักธรรม นี่มันจะมั่นคง จับของได้อย่างแน่นหนาเลย อย่างอยู่ตัวเลย อาตมาพูดเปรียบเทียบให้ฟัง
..ถ้าคดีโลกเรียนจบดอกเตอร์เลย ไม่ได้เรียนธรรมะ มันก็จะยังฉ้อ ยังโกง ยังคอร์รัปชัน ยังถกเถียงกันอยู่ แก่งแย่งกันอยู่ เพราะไม่มีธรรมะเป็นเครื่องระงับกิเลส เข้าใจ บ่..
..ธรรมะเป็นเครื่องระงับกิเลสโดยตรง #ถ้าดับไม่ได้มากก็ขอให้มันเบาบาง อย่าให้มันเกินไป
กินเกินไปก็ท้องแตก นี่พูดตามความจริงนะโยม
#เงินมันก็ดีนะแต่ขอให้ได้มาทางที่ถูกต้อง..

..#โอวาทธรรมหลวงปู่เปลี่ยน ปญฺญาปทีโป..







"อันความหวังนั้น หวังด้วยกันทุกคน
แต่สิ่งที่จะมาสนองความหวังนั้น ขึ้นอยู่กับ
การประพฤติปฏิบัติของตนเป็นสำคัญ
เราอย่าให้มีความหวังอยู่ภายในใจอยู่อย่างเดียว ต้องสร้างเหตุอันดี ที่จะเป็นเครื่องสนองตอบแทน
ความหวังนั้นด้วย"

หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน






ปรุงแต่งสิ่งที่ไม่จริง ให้จริงก็ได้ —เพราะความหลงของเราเอง -

หลวงปู่ชา สุภัทโท






คำ " นิพพาน " นั้นคือเย็น เย็นฉ่ำใจ
ใช่สวรรค์ ชั้นฟ้าใด ในภพหน้า
คำสามัญ โบราณขาน ธรรมดา
แต่สอนกัน ผิดเพี้ยนมา ลาลงโลง

มัชฌิมา - ปฎิปทา = ทางสายกลาง
คือทางใจ ให้เดินกลาง ห่างยึดโหย่ง
จนตึงรัด จนผูกมัด อัดปูดโปง
หรือหย่อนยาน คร้านเกียจโกง โต่งต่อตี่

พุทธองค์ ทรงตรัสพลาง กลางพอดี
เย็นนิพพาน คือสายกลาง ทางพอดี

ที่มา ; กลั่นเป็นกลอนจากหนังสือ " ธรรมะบรรยายระดับมหาวิทยาลัย " ในหัวข้อ " ทางสายกลาง ในความหมายอย่างพระพุทธศาสนา หน้า 182-184 โดยหลวงพ่อพุทธทาส
ธรรมทานมูลนิธิ : จัดพิมพ์





ความวิตกกังวล
เป็นเพียงแขกที่มาเยือนจิตใจ
ไม่ใช่ผู้อาศัยประจำ
เวลามาก็ไม่ต้องต้อนรับ หรือขับไส
เพียงแค่รับรู้ว่า
เป็นสักแต่ว่าความคิด
เป็นแขกที่เราไม่ยินดีต้อนรับ

ถ้าฝึกฝนจิตใจอย่างนี้
ด้วยความอดทนซ้ำแล้วซ้ำเล่า
เราจะสร้างอุปนิสัยทางใจที่เข้มแข็ง
ความวิตกกังวลจะจางหายไปเอง

#พระอาจารย์ชยสาโร





ผู้ที่ "หยุด" ความอุตสาหะพากเพียร ที่จะอบรมกาย วาจา และใจของตน ให้ดีขึ้น จึงเสมอด้วยการ "ถอยหลัง" ลงไปสู่ความเสื่อมอยู่ทุกขณะ

บุคคลผู้ประพฤติเช่นนั้น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงนิยามไว้ว่าเป็น "บุคคลผู้ประมาท" เปรียบได้ดั่ง "บุคคลที่ตายแล้ว" ไม่สามารถจะดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างมีคุณภาพ

--- พระคติธรรม สมเด็จ​พระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จ​พระสังฆราช​ สกลมหาสังฆปริณายก





วิธีฝึก 8 อย่าง จะได้ไม่ “ทุกข์”

1. ฝึกมองตัวเองให้เล็กเข้าไว้ หมายความว่า จงเป็นคนตัวเล็ก อย่าเป็นคนตัวใหญ่ จงเป็นคนธรรมดา อย่าเป็นคนสำคัญ เวลามีอะไรเกิดขึ้นกับเรา อย่าไปให้ความสำคัญกับตัวเองมากไป

2. ฝึกให้ตัวเองเป็นนักไม่สะสม หมายความว่า การสะสมอะไรสักอย่างนั้นเป็นภาระ ไม่มีอะไรที่เราสะสมแล้วไม่เป็นภาระยกเว้นความดี นอกนั้นล้วนเป็นภาระทั้งหมดไม่มากก็น้อย

3. ฝึกให้ตนเองเป็นคนสบายๆ หมายความว่า อย่าไปบ้ากับความสมบูรณ์แบบ เพราะความสมบูรณ์แบบมันไม่มีจริง มีแต่คนโง่เท่านั้นที่มองว่า ความสมบูรณ์แบบมีจริง

4. ฝึกให้ตัวเองเป็นคนนิ่งๆ หรือไม่ก็พูดในสิ่งที่ดีๆ หมายความว่า ถ้าอะไรไม่ดีก็อย่าไปพูดมากไม่ว่าสิ่งนั้นจะถูกหรือผิด แต่ถ้ามันไม่ดี เป็นไปได้ก็ไม่ต้องพูด เพราะการพูด หรือวิจารณ์ในทางเสียหายนั้น มีแต่ทำให้จิตใจตนเองตกต่ำ และขุ่นมัว

5. ฝึกให้ตัวเองรู้ธรรมชาติว่า อะไรๆ ก็ผ่านไปเสมอ หมายความว่า เวลามีความสุข ก็ให้รู้ว่า เดี๋ยวความสุขมันก็ผ่านไป เวลามีความทุกข์ ก็ให้รู้ว่า เดี๋ยวความทุกข์ก็ผ่านไป เวลามีสถานการณ์แย่ๆ เกิดขึ้น ก็ให้รู้ทันว่า เรื่องราวเหล่านี้ มันไม่ได้อยู่กับเราจนวันตาย

6. ฝึกให้ตัวเองเข้าใจเรื่อง ของการนินทา หมายความว่า เราเกิดมาก็ต้องรู้ตัวว่า เราต้องถูกนินทาแน่นอน ดังนั้น เมื่อถูกนินทาขอให้รู้ว่า “เรามาถูกทางแล้ว” แปลว่า เรายังมีตัวตนอยู่บนโลก คนที่ชอบเต้นแร้งเต้นกา กับคำนินทาก็คือคนไม่รู้เท่าทันโลก แม้แต่คนเป็นพ่อแม่ก็ยังนินทาลูก คนเป็นลูกก็ยังนินทาพ่อแม่ นับประสาอะไรกับคนอื่น ถ้าเราห้ามตัวเองไม่ให้นินทาคนอื่นได้เมื่อไหร่ ค่อยมาคิดว่า เราจะไม่ถูกนินทา

7. ฝึกให้ตัวเองพ้นไปจาก ความเป็นขี้ข้าของเงิน หมายความว่า เราต้องหัดพอใจกับสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ รถยนต์ใช้อะไรอยู่ ก็หัดพอใจกับมัน นาฬิกาใช้อะไรอยู่ ก็หัดพอใจกับมัน เสื้อผ้าใช้อะไรอยู่ ก็หัดพอใจกับมัน การที่คนเราจะเลิกเป็นขี้ข้าเงินได้ ต้องเริ่มจากการรู้จักเพียงพอก่อน เมื่อรู้จักพอแล้ว ก็ไม่ต้องหาเงินมาก เมื่อไม่ต้องหาเงินมาก ชีวิตก็มีโอกาสทำอะไรที่มากกว่าการหาเงิน

8. ฝึกให้ตัวเองเสียสละ และยอมเสียเปรียบ หมายความว่า การที่คนๆ หนึ่งยอมเสียเปรียบผู้อื่นบ้าง เป็นเรื่องจำเป็น ใครก็ตามที่บ้าความถูกต้อง บ้าเหตุบ้าผล ไม่ยอมเสียเปรียบอะไรเลย ไม่ช้า คนๆ นั้นก็จะเป็นบ้าสติแตก กลายเป็นคนที่ถูกทุกอย่างแต่ไม่มีความสุข เพราะต้องสู้รบกับคนรอบข้างเต็มไปหมดเพื่อความถูกต้องที่ตนเองยึดมั่นถือมั่น

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช







ถ้าเรามีศีล ใจเราก็ร่มเย็นเป็นสุข
ถ้าเราไม่มีศีล ใจเราก็เร่าร้อนเป็นทุกข์

โอวาทธรรม หลวงปู่คลาด ครุธัมโม
วัดป่าบ้านใหม่ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี








"คำว่า ปัญญาอัตโนมัติ นั้น...
หมายความว่า ปัญญาเป็นไปโดยลำพังตนเอง
ไม่มี ใครบังคับบัญชา
ไม่เหมือนปัญญาในเบื้องต้น ซึ่งเป็นไปโดยเชื่องช้า ถ้าจะเทียบ ก็เหมือนเมื่อเราเริ่มเรียนหนังสือ ทีแรก
เรียนสระ เรียนพยัญชนะ แล้วก็มาฝึกหัดการผสมสระ พยัญชนะ อ่านเป็นเนื้อความ
เช่น เด็กที่กำลังฝึกใหม่จะอ่านคำว่า...“ท่าน” ต้องคิดถึงตัว “ท” คิดถึงสระอา คิดถึงตัว “น” คิดถึงไม้เอก แล้วนำมาผสมกันจึงจะอ่านว่า... “ท่าน”

ปัญญา ในเบื้องต้นต้องเป็นอย่างนี้
พยายามค่อยฝึกหัดค้นคว้าไตร่ตรอง อย่างนั้น
เรียกว่า ปัญญาที่อาศัยความบังคับเป็นพี่เลี้ยง
ถ้าไม่อาศัยความบังคับ ปัญญา ก็เดินไม่ได้
และอาศัยสัญญาหมายไว้ก่อน ปัญญาค่อยตรองตาม ถ้าจะเทียบอุปมาแล้ว

ส่วนแห่งร่างกาย
หรือสภาวธรรมนั้น เป็นเหมือนกับแผ่นกระดาษ
สัญญาเป็นเหมือนเส้นบรรทัดซึ่งมีอยู่ในกระดาษนั้น ปัญญา เป็นเหมือนผู้เขียนหนังสือ ตรองไปตามสัญญา ที่คาดเอาไว้ ถ้าปัญญามีความชำนาญแล้ว
ในอิริยาบถทั้ง ๔ จะเป็นอิริยาบถ ที่เต็มไปด้วย...
ความเพียร มีสติปัญญา เป็นเครื่องรักษาตน
สิ่งที่มาสัมผัสก็แสดงว่า เริ่มเกิดภูมิรู้ ความสัมผัส
จะต้องไปสัมผัสที่ผู้รู้ และกระเทือนถึงผู้รู้

เรื่องสติปัญญา
ก็จะต้องวิ่ง หรือไหวตัวไปตามสิ่งที่มาสัมผัส
เช่นเดียวกับแสงสว่างที่ปรากฏขึ้นกับดวงไฟ ฉะนั้น เพราะขณะที่เราพิจารณา อยู่...ในสภาวธรรม หรือตัวของเรา ซึ่งเป็นอริยสัจอยู่แล้ว

มรรค
คือข้อปฏิบัติ ได้แก่สติกับปัญญาที่จะพิจารณาไปตามสภาวธรรมซึ่งมาสัมผัส จึงเป็นไปตลอดเวลา
จิต...จึงกลายเป็นปัจจุบันจิต นี่ ! เรียกอย่างย่อๆ
.
ปัญญาเพียงพอ
ในการพิจารณา กาย ต้องปล่อยในกาย ฉันใด
ปัญญาเพียงพอ
ในเวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ก็ปล่อย
ได้ฉันนั้น
เบื้องแรก ใจของเรา...
จะต้องเห็นดี-เห็นชั่ว นอกไปจากใจ เข้าใจว่า...
ดี กับชั่วนี่ อยู่...ที่อื่น
เช่น เราตำหนิติชมในรูป เสียง เป็นต้น เข้าใจว่า...
ดี กับชั่ว มีอยู่ในรูป เสียง จึงสำนึกเลยไปว่า
ความคิดว่าดี ว่าชั่ว หรือพอใจในความชั่ว ในสิ่ง
ชั่วนั้น เกิดขึ้นจาก...สิ่งที่เราเพ่งเล็ง

เมื่อปัญญา
ยังไม่สามารถจับจุดความผิด ซึ่งเกิดจากตัวเองได้ จึงเห็นสิ่งที่มาสัมผัสว่า เป็นของควรยึดถือไปหมด
ส่วนรูป หรือเสียงเป็นต้นนั้น...
เป็นสภาพอันหนึ่ง ที่จะเป็นเหตุให้ความรู้สึกไปสัมผัสเข้าไปแล้วก่อตัวขึ้นมา คือ...ก่อเรื่องที่น่ารัก น่าชัง เป็นต้นให้เกิดขึ้น
.
การพิจารณาในสภาวธรรมทั้งหลาย
ก่อนที่จะปล่อยวางได้ เช่นกาย ต้องเห็นความเป็นจริงของส่วนแห่งร่างกายนั้น...
จนหมดความตำหนิติชมในกาย จึงจะปล่อยวางได้
ส่วนเวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ก็เห็นว่าเป็นสภาพความจริงอย่างหนึ่ง จึง...จะปล่อยวางได้

ส่วนสำคัญที่สุด
คือผู้รู้...ซึ่งเป็นรากฐานแห่งอาการทั้ง ๕
รูปกายนี้ ปรากฏขึ้นมาได้เพราะเหตุแห่งใจดวงนี้
เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ แต่ละอย่าง
ก็เหมือนกับกิ่งแขนงของต้นไม้ พิจารณาจนชำนาญประสานกันกับความรู้ และสิ่งที่เกิดขึ้นจาก...ความรู้
เมื่อพอแล้ว...
ก็จะเห็นความรู้อันนั้น ว่า...สังสารจักรปฏิเสธสิ่งอื่น ว่าเป็นสังสารจักร เป็นตัวกิเลสตัณหา และอวิชชา
ใด ๆ

การพิจารณา...
ต้องรู้รอบและปล่อยวางได้ เพราะถ้ายังไม่เห็นโทษในความรู้...ของตนเอง ก็จะยกความรู้ขึ้นเหยียบย่ำ
ในสิ่งทั้งหลายที่ตนเข้าใจว่า ตนรู้...
แท้จริงความรู้ชนิดนี้ เป็นความรู้ภายใต้ของอวิชชาต่างหาก จนกว่า...จะรู้รอบความรู้นี้ อีกครั้งหนึ่ง

เพราะความรู้นี้
เป็นตัวเหตุตัวการ ที่จะก่อความรัก ความชัง
ความดี ความชั่ว หรือความสุข ความทุกข์
ทั้งหมด มันก่อตัวขึ้น จาก...
ความรู้อันนี้ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญ."
.............................................................................
องค์หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์อบรมพระ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร
เมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๐๕
"จิตเป็นของแปลกประหลาดและน่าอัศจรรย์"


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 38 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร