วันเวลาปัจจุบัน 25 เม.ย. 2024, 08:44  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 พ.ย. 2022, 05:29 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 มี.ค. 2009, 10:48
โพสต์: 5091


 ข้อมูลส่วนตัว


“... เวลามีความทุกข์ ก็ให้รู้ว่า เดี๋ยว
ความทุกข์ก็ผ่านไป
... เวลามีสถานการณ์แย่ๆ เกิดขึ้น ก็
ให้รู้ทันว่า
... เรื่องราวเหล่านี้​ มันไม่ได้อยู่กับเรา
จนวันตาย ...”

#สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ_สมเด็จพระสังฆราชฯ








…ดังนั้นควรพยายามทำจิตให้สงบ
ให้มีสติอยู่เรื่อยๆ ดึงใจให้อยู่ในปัจจุบัน
“ อย่าปล่อยให้ไปไกล “

.ให้อยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง
เพราะจะทำให้..จิตนิ่ง
ถ้าอยู่กับหลายอารมณ์แล้วจะ..ไม่นิ่ง จะ
แกว่งไปแกว่งมา

.ถ้าให้อยู่กับพุทโธก็พุทโธไป
อยู่กับลมก็ดูลมไป อยู่ที่จุดเดียว
อยู่ตรงจุดที่..ลมสัมผัส
ถ้าจะสวดมนต์ไปก่อนก็สวดมนต์ไป
ให้อยู่กับบทสวดมนต์ไป

.หรือจะพิจารณาด้วยปัญญาเลยก็ได้
เรียกว่าปัญญาอบรมสมาธิ
พิจารณาดูอาการ 32 ของร่างกายไปเรื่อยๆ
ก็ทำให้จิตสงบได้เหมือนกัน
แล้วแต่จะถนัด

.เมื่อจิตสงบนิ่ง
อยู่ได้นานเท่าไหร่ก็ปล่อยให้นิ่งไป
ตอนนั้นไม่ต้องทำอะไร
“..อย่าไปเจริญปัญญาในตอนนั้น.. “

.ตอนที่จิตสงบนิ่งปล่อยให้นิ่งไป
เหมือนคนนอนหลับ
อย่าไปปลุกให้ขึ้นมาทำงาน จะรำคาญ
จะหงุดหงิด ให้นอนหลับให้พอ
“ ให้จิตพักให้พอ “

.พอจิตพักพอแล้ว..จะถอนออกมาเอง
จะเริ่มคิดปรุง
ก็อย่าปล่อยให้คิดเรื่อยเปื่อยเหมือนที่เคยคิด
ให้คิดเป็นเรื่องเป็นราว
ให้คิดพิจารณาร่างกายในเบื้องต้น
พิจารณาดูไตรลักษณ์ของร่างกาย
ว่าเป็นอย่างไร

.พิจารณาดูให้เห็นว่าเป็นธาตุ ๔
พิจารณาให้เห็นว่า..เป็นอสุภ ไม่สวยไม่งาม
เพื่อจะได้ไม่หลงยึดติดกับร่างกาย
จากนั้นก็พิจารณาเวทนา
มีสุข มีทุกข์ มีไม่สุขไม่ทุกข์
ต้องปล่อยให้เขาเป็นไปตามเรื่องของเขา

.พิจารณาสังขาร สัญญา
ว่าเกิดดับ เกิดดับอยู่ตลอดเวลา
สังขารความคิดปรุงแต่ง คิดแล้วก็ดับไป
แล้วก็คิดใหม่
สัญญาจำได้ แล้วก็ดับไป
แล้วก็จำขึ้นมาใหม่
ไม่มีตัวตน ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา
“ เป็นสภาวธรรม “

.ให้รู้ทัน จะได้ไม่หลงตาม เช่น
สัญญาว่า คนนั้นเป็นคน เป็นหญิง เป็นชาย
ก็จะไม่หลงตาม ถ้ามีปัญญา
จะเห็นว่าเป็นแค่ธาตุสี่ ดินน้ำลมไฟ
เป็นแค่อาการ 32 มารวมกัน
แล้วก็อยู่กันไปชั่วระยะหนึ่ง
แล้วก็ล้มหายตายจากไป

.” ขอให้ปฏิบัติไปเรื่อยๆ
จนกว่า…จะถึงจุดหมายปลายทาง
หรือ ตายไปก่อน “.
……………………………………………
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี
จุลธรรมนำใจ 13 กัณฑ์ที่ 382
24 พฤษภาคม 2551






...ต่อจากนี้ไปก็ขอให้นั่งในอิริยาบถที่เหมาะสม ที่เอื้อที่สุดต่อการฝึกจิตใจ ถ้านั่งกับพื้นได้ นั่งขัดสมาธิได้จะดีที่สุด แต่ถ้ามีโรคประจำตัว มีมาร มีอะไรมาขัดข้องทำให้นั่งกับพื้นไม่ได้ ก็นั่งเก้าอี้ก็ได้เหมือนกัน แต่สิ่งที่เราต้องการจากอิริยาบถนั่งคือความนิ่ง เท่าที่จะนิ่งได้ และความรู้สึก ความรู้สึกว่าเราเป็นตัวของตัว เรากำลังรับผิดชอบชีวิตของตัวเองเต็มที่ ซึ่งถ้านั่งพิงความรู้สึกนี้จะไม่ได้

อิริยาบถที่ต้องการมีอีกประเด็นหนึ่งคือ ต้องการให้ร่างกายเราตรง แต่ไม่ตรงจนเกร็ง นิ่งเท่าที่จะนิ่งได้ ตรงแต่ไม่เกร็ง รับผิดชอบกายของตน รู้สึกในกายตั้งแต่ศีรษะลงไปถึงเท้า

ชีวิตของเราใช้เวลากับการรับใช้ความต้องการของร่างกายมากกลัว กลัวลำบาก กลัวลำบากกาย ไม่ชอบลำบาก อยากให้ร่างกายสะดวกสบาย แต่ถึงจะเป็นเช่นนี้แล้ว ปรากฏว่าเราไม่ค่อยรู้จักกาย ไม่รู้จักกายของตน อาจจะรู้จักแต่ภาพของกายที่ปรากฏในเงากระจกหรือในเซลฟี (selfie) เป็นต้น แต่ตัวกายนี่เราไม่ค่อยจะรู้จัก...

พระอาจารย์ชยสาโร
นำสมาธิภาวนา ในวาระปฏิบัติธรรมออนไลน์ ครั้งที่ ๑
วันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๖๕ ณ ภาวนาราม วัฒนา กรุงเทพมหานคร







"ทุกวันนี้ บางทีก็ร้าย บางทีก็ดี
บางทีก็ชอบใจ บางทีก็ไม่ชอบใจ
คนทุกๆ คน นั่งอยู่ในนี้ ก็เหมือนกัน
จะทำให้ถูกใจเราทุกคนมีไหม มันไม่ได้
นอกจากเราปฏิบัติธรรมะให้รู้ว่า
คนๆ นี้ มันเป็นอย่างนี้ นานาจิตตัง"

หลวงพ่อชา สุภัทโท






"...การทำบาปทำกรรม สิ่งที่เรียกว่าเป็นบาป เป็นการ
กระทำด้วยกาย ด้วยวาจา โดยมีใจเป็นผู้เจตนา คือ
มีความตั้งใจ ทำลงไปแล้วเป็นบาปทันที มีแต่ละเมิด
ศีล ๕ ข้อเท่านั้นเอง นอกนั้นไม่มีปัญหา เพราะฉะนั้น
ใครรักษาศีล ๕ ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์จึงเป็นการตัดทอน
ผลเพิ่มของบาป

บาปที่เราเคยทำมาตั้งแต่เมื่อวานนี้ หรือตั้งแต่เช้านี้
บัดนี้เรามางดเว้นจากการทำบาปตามกฎของศีล ๕
เราได้ชื่อว่าตั้งใจตัดเวรตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ถ้าหาก
เราสามารถปฏิบัติต่อๆ ไปจนกระทั่งตลอดชีวิตของ
เรา เราก็จะได้ตัดกรรมตัดเวรตลอดชีวิตของเรา

การตัดกรรม ก็คือหยุดทำความชั่ว ความบาป
การตัดเวร ก็คือหยุดการพยาบาทอาฆาตจองเวรซึ่ง
กันและกัน คือไม่แก้แค้นซึ่งกันและกัน รู้จักคำว่า
ให้อภัยซึ่งกันและกัน ผู้ทำผิดก็ให้รู้จักคำว่าขอโทษ
ผู้ถูกขอโทษก็ควรรู้จักคำว่า ให้อภัย ไม่เป็นไรหรอก
อันนี้เป็นอุบายตัดกรรมตัดเวร..."

#ที่มา หนังสือ สุขสงบด้วยศีล หน้า ๑๓
พระราชสังวรญาณ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย)







#โอวาทธรรม #องค์หลวงตามหาบัวญาณสัมปันโน

"ผู้จะไปสุ่ภพชาติใดๆ ต้องขึ้นอยู่กับ #จิตนี้ เท่านั้น

เพราะฉะนั้นจงสร้างจิต ฝึกฝนอบรมจิตให้ดีเป็นสำคัญ

คือถ้าอบรมจิตนี้ด้วยดี โดยศีล โดยธรรมแล้ว

จิตจะเกิดในภูมิที่ดีเท่านั้น

ที่เหมาะสมกับ #วาสนาบารมี ของตน"

หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน










รักษาศีลแปด ๓ ชั่วโมง

"หลวงพ่อคะ ลูกรักษาศีล ๘ ตั้งแต่ ๗ โมงเช้าถึง ๙ โมงเช้าเป็นประจำ หลังจากนั้นก็รับไม่ได้เพราะมีความจำเป็น อานิสงส์รับแค่ ๗ โมงเช้าถึง ๙ โมงเช้า กับรักษาศีล ๕ เป็นประจำ อันไหนจะได้อานิสงส์มากกว่ากันเจ้าคะ...?"
ศีล ๘ ก็มากกว่า อย่าลืมนะ คนมี ๘๐๐ กับ ๕๐๐ ราคาไม่เท่ากัน ศีล ๘ เป็นศีลพรหมจรรย์ รักษาแค่ ๓ ชั่วโมง ต่อไปรักษาศีล ๕ ก็ยิ่งดีมาก
"หลวงพ่อคะ ลูกได้รักษาศีล ๘ ก็แล้ว ศีลอะไรก็แล้วแต่ว่าไม่สามารถจะระงับความโกรธได้ เป็นคนขี้โกรธอยู่เสมอ ไม่ทราบว่าความโกรธที่เกิดขึ้นในดวงจิตนี้จะทำให้ศีลขาดหรือเปล่า และจะแก้ไขให้หายโกรธได้อย่างไรเจ้าคะ...?"
โกรธนี่ศีลยังไม่ขาดนี่ ศีลขาดต้องฆ่าสัตว์ให้ตาย ความโกรธจะระงับได้ต้องถึงอนาคามี ถ้ายังคาอยู่ก็อดโกรธไม่ได้ ต้องหัดคา อคาหรือไม่คา ไม่เกาะในอารมณ์ของกามารมณ์ ใช่ไหม ทำประเดี๋ยวเดียวจะหายโกรธ ทำไม่ได้หรอก อย่าจู่โจมให้มากเกินไป พระโสดาบัน พระสกิทาคาท่านยังโกรธ แต่ความโกรธจะเบาลงกว่าเดิมใช่ไหม
พระโสดาบันขั้น สัตตักขัตตุง ยังโกรธแรงนิดหน่อย แต่ว่ายังเบากว่าธรรมดา โกลังโกละ ก็ยังเบากว่าสัตตักขัตตุง เอกพิชี เกือบไม่รู้สึกตัว ก็มีบ้างเล็กน้อยนิดหน่อย คนที่จะไม่โกรธจริงๆ ต้องเป็นพระอนาคามี ถ้าทำกำลังใจสูงเกินจะไม่มีผล อันดับแรกคือ จะต้องรู้จักว่าอารมณ์พระโสดาบันทรงอารมณ์แค่ไหน สกิทาคามีทรงอารมณ์แค่ไหน อนาคามีทรงอารมณ์แค่ไหน อารมณ์ที่ว่านั้นเป็นอารมณ์กลุ้มระวังให้ดีนะ จิตเต สังกิลิฏเฐ ทุคคติ ปาฏิกังขา ถ้าจิตกลุ้มก่อนตายลงนรกทันที นี่เรื่องจริงนะ

ธรรมปฏิบัติ ๑๙
โดยหลวงพ่อพระราชพรหมยาน (พระมหาวีระ ถาวโร) วัดจันทาราม (ท่าซุง) อ.เมือง จ.อุทัยธานี
หน้า ๗-๘






"สติ ปัญญา" (หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี)

" .. ในทางพุทธศาสนารวมลงแล้วถือเอา สติเป็นใหญ่ สติกับปัญญามันมาด้วยกัน
เพราะฉะนั้นทุกคนเมื่อฝึกฝนอบรม สมาธิ - ภาวนา อย่าลืม สตินั้นต้องตั้งให้มั่น
สตินั้นให้พร้อมอยู่เสมอทุกขณะ เมื่อสติตั้งมั่นพร้อมอยู่เสมอแล้ว
ตัวปัญญาเกิดจากสตินั่นแหละ

ปัญญา คืออะไร คือรู้ตัวเอง เห็นตัวเองอยู่ทุกขณะ คิดดีคิดชั่ว คิดหยาบละเอียดก็รู้ตัวทุกเมื่อ
อันนั้นเป็นปัญญา ปัญญาที่กว้างขวางไปสักเท่าไรก็ตาม ก็มารวมอยู่ที่สติตัวนั้น
ถ้าสติไม่มีเสียแล้วปัญญาก็จะไม่เกิด

สิ่งสารพัดทั้งปวงหมดที่มากระทบจิต เกิดความรู้สึกตัวเห็นตัวเองขึ้น นั่นตัวปัญญา
ถ้าไม่มีสติเสียแล้ว ถึงรู้สึกขึ้นก็ไม่รู้ไม่เห็นตัวเอง ไม่ทราบว่าอะไรต่ออะไรจะไม่รู้สึกตัว
สติจึงเป็นหลักสำคัญ

เมื่อพระพุทธเจ้าทรงเทศน์ให้สาวกทั้งหลายฟัง ทรงเทศน์ถึงที่สุดหมายถึงมรรค ผล นิพพานเป็นที่สุด
ก็คือสติตัวนี้เอง แต่หากว่าผู้ทำนั้นจะถึงหรือไม่ถึง นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

จึงตรัสว่าเทศน์ถึงที่สุดแล้ว หมดเรื่องเท่านี้เรื่องศาสนา มีสติสมบูรณ์แล้วก็หมดเพียงเท่านั้น
ที่จะปฏิบัติเป็นไปได้หยาบละเอียดสักเท่าใด มันอยู่ที่ตัวเรา .. "

หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: Google [Bot] และ บุคคลทั่วไป 146 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร