วันเวลาปัจจุบัน 18 เม.ย. 2024, 16:22  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 พ.ย. 2022, 07:19 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 มี.ค. 2009, 10:48
โพสต์: 5091


 ข้อมูลส่วนตัว


“ เมื่อเวลา..จิตสงบ “

ถาม : เวลานั่งไปถึงตรงที่จิตแยกออกจากกาย ควรดึงกลับมาหรือควรจะเฉยๆ ปล่อยเขาไป

พระอาจารย์ : เวลาจิตสงบจะปล่อยวางร่างกายชั่วคราว ตอนนั้นไม่ต้องทำอะไร

ถาม : ปล่อยให้เขาแยกหรือคะ

พระอาจารย์ : ให้เขาอยู่ตามลำพัง ปล่อยวางร่างกายชั่วคราว ปล่อยตาหูจมูกลิ้นกาย ปล่อยรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ เวลาทำสมาธิจะดึงกระแสของจิต ที่ไปเกาะติดอยู่กับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ให้เข้ามาข้างในจิต เหมือนเดินเข้าไปในถ้ำ จะปล่อยวางเหตุการณ์ต่างๆที่อยู่นอกถ้ำ พอเข้าไปถึงก้นถ้ำแล้ว จะไม่รับรู้กับเหตุการณ์ต่างๆที่อยู่นอกถ้ำ จะพักอยู่ในนั้น เพราะเป็นที่เย็นสบาย มีความสุขมาก จนกว่ากำลังของสติจะอ่อนลง กระแสของกิเลสก็จะผลักออกมา ออกมารับรู้รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะต่อไป

ถาม : ไม่ดึงออกมา

พระอาจารย์ : ไม่ต้องดึงออกมา ทำแทบเป็นแทบตายเพื่อให้จิตเข้าไป พอเข้าไปแล้วก็อย่าดึงออกมา ปล่อยให้อยู่ในความสงบจนกว่าจะออกมาเอง ที่ออกมาก็เพราะยังไม่ได้เข้าไปถึงที่ ถ้าถึงที่แล้วจะไม่อยากออกมา เพราะมีความสุขมาก เบาสบายมาก

ถาม : เวลาออกมาจะรู้ว่าอยู่ที่ไหน

พระอาจารย์ : เวลาออกมาก็กลับมารับรู้รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ มาคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ถ้าไม่มีสติปัญญาคอยกำกับดูแล ก็จะเป็นเหมือนเดิม จะคิดไปตามกระแสของกิเลสตัณหา จะคิดเรื่องลาภยศสรรเสริญ เรื่องการหาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย ถ้ามีสติมีปัญญาก็จะต่อสู้กับความคิดเหล่านั้น จะสอนว่าทางนั้นไม่ใช่ทางที่จะพาไปสู่ความสุข ทางที่จะไปสู่ความสุขก็คือกลับเข้าไปข้างใน ด้วยการตัดความสุขภายนอก เวลากิเลสตัณหาจะดึงให้ไปหาลาภยศสรรเสริญ ไปหาความสุขทางรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ก็ต้องใช้ปัญญาสกัด ว่าไม่ใช่เป็นความสุข เป็นการไปหาความทุกข์ กลับเข้าข้างในดีกว่า เดินจงกรมนั่งสมาธิดีกว่า แทนที่จะไปหาเครื่องดื่มมาดื่ม หาขนมมารับประทาน เปิดโทรทัศน์ดู เปิดเพลงฟัง จะหาแต่สติสมาธิปัญญา จะทำให้สงบมากขึ้นไปตามลำดับ ทั้งในขณะที่อยู่ในสมาธิและออกจากสมาธิ

เวลาออกจากสมาธิ ความสงบจะติดค้างอยู่นานขึ้น เวลาอยู่ในสมาธิความสงบจะแน่นและนิ่งมากขึ้น จะสงบได้นานขึ้น เวลาออกมาจากสมาธิจะไม่วูบวาบ เหมือนตอนที่ไม่มีสมาธิ จะอ่อนไหวกับเหตุการณ์ต่างๆ ง่ายและรวดเร็ว ได้ยินเสียงปั๊บก็หลุดแล้ว เห็นอะไรไม่ถูกใจก็หลุดแล้ว อารมณ์เกิดขึ้นแล้ว ถ้าได้ปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง จะไม่หลุดง่าย จะหลุดยากขึ้นไปเรื่อยๆ จะเฉยมากขึ้น จนเฉยตลอดเวลา ไม่วุ่นวาย ใครจะชมก็เฉย ใครจะด่าก็เฉย ใครจะไม่ชอบก็เฉย ใครจะชอบก็เฉย เป็นเรื่องของเขาไม่ใช่เรื่องของเรา เรามีหน้าที่เฉยอย่างเดียว เพราะสั่งเขาไม่ได้ ห้ามเขาไม่ได้ ห้ามไม่ให้ชอบไม่ได้ ห้ามไม่ให้ชังไม่ได้ แต่ห้ามใจเราได้ ให้ใจอยู่เฉยๆได้ ไม่ดีใจเสียใจ

นี่คือจุดที่เราต้องการจะไปกัน จากการนั่งสมาธิเจริญปัญญา ขณะที่อยู่ในสมาธินี้ จะเจริญปัญญาไม่ได้ เพราะกำลังสร้างฐานของความนิ่งของความเฉยอยู่ ก็ให้เฉยให้นิ่งให้นานที่สุด เวลาออกมาจะได้นิ่งเฉยได้นาน ถ้าไม่นิ่งเฉยก็ต้องใช้ปัญญาสอนให้ปล่อยวาง สิ่งที่ทำให้ใจไม่นิ่ง เช่นเสียงสรรเสริญนินทา พอได้ยินเสียงนินทาใจจะวูบขึ้นมา ต้องใช้ปัญญาสอนว่าเป็นอนิจจังเป็นอนัตตา ไม่เที่ยงแท้แน่นอน บางทีก็สรรเสริญ บางทีก็นินทา อนัตตาก็คือสั่งไม่ได้ ว่าต้องเป็นเสียงสรรเสริญอย่างเดียว ใจเราต้องรับได้ทั้ง ๒ อย่าง รับได้ทั้งเสียงสรรเสริญและเสียงนินทา แล้วใจจะเฉยได้

ถาม : นั่นคือความตั้งมั่นใช่ไหมคะ

พระอาจารย์ : เป็นอุเบกขา ไม่มีอารมณ์ เหมือนตอนนี้เราไม่มีอารมณ์ เฉยๆ แต่ถ้าพูดอะไรไม่ดีขึ้นมา ก็อาจจะไม่เฉยก็ได้ ถ้าพูดไม่ดีแล้วเฉยได้ก็ถือว่ามีสติปัญญาคุมจิตได้ ดังที่เคยเล่านิทานให้ฟังว่า คุณหญิงคุณนายที่ได้ฟังเทศน์หลวงพ่อหลวงตาแล้วก็บอกว่า ฟังแล้วจิตใจเฉยเย็นสบาย ไม่มีกิเลสตัณหา ท่านก็ตอบไปว่า อีตอแหล ตอนนั้นจะรู้ว่าเฉยได้จริงหรือเปล่า ท่านช่วยทดสอบอารมณ์ ถ้าไม่แน่ใจว่าเราเฉยจริงหรือเปล่า ก็ต้องให้คนเขาด่าเรา ขัดใจเรา ดูว่าจะเฉยได้หรือเปล่า ถ้าเฉยได้ก็สบาย

ถาม : จะรู้เมื่อไหร่คะว่าเราพร้อม

พระอาจารย์ : เหมือนกินข้าว อิ่มเมื่อไหร่ก็รู้เอง ถ้าพร้อมก็จะแยกกันอยู่คนละห้อง นอนคนละห้อง จะรู้เอง เวลาเกิดความเบื่อหน่าย เห็นทุกข์ในการอยู่ร่วมกัน ตอนนี้ยังไม่เห็นทุกข์ เห็นแต่สุขอย่างเดียว เวลาทุกข์ก็ลืมเร็ว ทะเลาะกันเดี๋ยวเดียว ไม่นานก็ลืม ถ้าจำได้ก็จะไม่อยากอยู่ด้วยกัน กิเลสชอบให้ลืมความทุกข์ ให้กลับไปรักเขาเหมือนเดิม เพราะอยู่คนเดียวไม่ได้ ยังต้องมีเขาให้ความสุขกับเรา ก็เลยยอมทนกับความทุกข์ ถ้ามีความสุขที่เกิดจากความสงบ ก็จะไม่เอาแล้ว เบื่อแล้ว เบื่อที่จะต้องทุกข์เพื่อแลกกับความสุข เพราะมีความสุขที่ดีกว่าเหนือกว่า ก็จะอยู่คนเดียวได้ ต้องทำจิตให้รวมให้ได้ เป็นอุเบกขาให้ได้ แล้วจะอยู่คนเดียวได้ จะปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างได้ เพราะเวลาอยู่ด้วยกันหลายคนจะวุ่นวาย ไม่สงบ เวลาอยู่คนเดียวจะสงบสบาย.

กำลังใจ ๕๕ กัณฑ์ที่ ๔๓๒
๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๔

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี







“... สติเป็นของสำคัญมากในทางความเพียร
ถ้าขาดสติวรรคใดตอนใด เรียกว่าขาดความเพียรแล้ว
เดินจงกรมอยู่ก็ไม่มีความหมาย นั่งสมาธิอยู่
ก็ไม่มีความหมาย

... อริยาบถต่างๆ ถ้าขาดสติแล้ว​ เรียกว่า
ขาดความเพียรในการชำระกิเลส​ มีสติกำกับอยู่เท่านั้น เรียกว่าเจริญภาวนาเพื่อทำจิตให้สงบ​ ...”

#หลวงตามหาบัว_ญาณสัมปันโน
#วัดป่าบ้านตาด_จังหวัดอุดรธานี






ความรู้สึกลึกๆ ของปุถุชนทุกคน คือ พร่อง ความรู้สึกว่าภายในจิตใจมันไม่สมบูรณ์ มันยังไม่ใช่ มันขาดอะไรสักอย่าง คนส่วนใหญ่จึงใช้ชีวิตด้วยการแสวงหาอะไรสักอย่าง ทั้ง ๆ ที่ไม่ค่อยรู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไรกันแน่

กิเลสบอกเราว่าความรู้สึกพร่องเกิดเพราะเราขาดความสุขทางเนื้อหนังบ้าง ขาดความยอมรับ ความเคารพ ความรักจากคนรอบข้างบ้าง ขาดเงิน ขาดเกียรติยศบ้าง เรามักหวังว่าในสิ่งทั้งหลายที่แสวงหาได้ มันน่าจะมีอะไรสักอย่างที่ทำให้จิตใจสามารถพ้นจากความรู้สึกว่าพร่องเสียได้

แต่สิ่งที่เรามักมองข้าม คือ ตัวจิต ผู้ที่รู้สึกว่าพร่อง ที่จริงจิตของปุถุชนรู้สึกว่าพร่องเพราะมันรั่ว ถ้าภาชนะรั่ว หาอะไรมาใส่มันก็เต็มไม่ได้ ปัญหาอยู่ที่ตัวจิต การปฏิบัติธรรมช่วยเราซ่อมตัวภาชนะ คือตัวรู้นี่เอง

พระอาจารย์ชยสาโร






“รักได้ ชอบได้ อย่าไปหวังอะไรไปมากมายกว่านี้
มีหวังได้ แต่อย่าหวังมากมายจนเกินไป เพราะว่า
สุดท้ายแล้ว มนุษย์ก็ย่อมเป็นมนุษย์วันยังค่ำ
ยังมีความเห็นแก่ตัวอยู่ดี เพราะมันคือความจริง
ความจริง ก็ย่อมคือความจริง ไปวันยังค่ำ สุดท้าย
ความจริง ก็ย่อมปรากฏเสมอ ไม่วันใดหรือวันหนึ่ง”

ท่านพุทธทาสภิกขุ






“ผู้ที่มีจิตใจผ่องใส สะอาด ไม่มีโทษ
จะมีหน้าตาผ่องใส ไม่เศร้าหมอง
ไม่ขุ่นมัว เป็นที่น่าคบค้าสมาคมด้วย
บุคลิกลักษณะนั้น บ่งบอกถึงความสุขของใจ”

หลวงปู่ท่อน ญาณธโร






การกระทำ ทางกาย ทางวาจา ทางใจ ก็ให้ทำใจเป็นกลางๆวางอุเบกขา อย่าไปอิจฉาเขา ไม่ว่าทางกายทางวาจาและทางใจ ให้ช่วยเหลือเอื้อเฟื้อต่อกัน ให้มีน้ำจิตน้ำใจต่อสัตว์โลก หรือมนุษย์เรา คนเราถ้ามีเมตตาธรรมต่อกันแล้ว ก็จะสุขในจิตในใจนี้

โอวาทธรรม หลวงตาสมหมาย อตฺตมโน
วัดป่าสันติกาวาส อ.ไชยวาน จ.อุดรธานี






เรามีสติคุ้มครองจิต
เราจึงไม่โกรธ ไม่เกลียด และ
สามารถให้อภัยทานเขาได้

ถ้าเราบังคับตัวเองไม่ได้
หลงไปฟาด ไปบวกกับเขา
นั่นแหละ คือ ความพ่ายแพ้ !

มันอยู่ที่จิต
โดนกระทบแล้วทำให้เราโกรธ หรือ ไม่โกรธ
ถ้าเขาทำให้เราโกรธได้ ก็คือ "เราแพ้"

โอวาทธรรม พระอาจารย์คม อภิวโร


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 38 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร