วันเวลาปัจจุบัน 28 เม.ย. 2024, 01:47  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 เม.ย. 2023, 06:41 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 มี.ค. 2009, 10:48
โพสต์: 5091


 ข้อมูลส่วนตัว


.
ความจนใจของบุคคลผู้ไม่มีสมาธิภาวนา โดยมากย่อมจนใจอยู่ในข้อที่ว่า ทำบุญล้างบาปก็ล้างไม่ได้หรือคำว่าทำบุญแก้บาปก็แก้ไม่ได้

เมื่อเป็นเช่นนี้ บุคคลที่จะละบาปบำเพ็ญบุญนั้นจะต้องทำอย่างไรกัน ข้อนี้ตอบได้ง่ายๆ ว่า ต้องนั่งสมาธิภาวนา

นอกจากนั่งสมาธิภาวนาแล้วไม่มีวิธีอย่างอื่นจะพึงแก้ได้ เพราะเหตุว่า การนั่งสมาธิภาวนานี้มีอานิสงส์มาก เป็นวิธีแก้จิตที่บาปให้กลับเป็นบุญได้

ตลอดแก้จิตที่เป็นโลกีย์ให้เป็นโลกุตตระได้ เมื่อแก้จิตให้บริสุทธิ์ดีแล้ว บาปอกุศลก็หลุดหายไปเอง อุทาหรณ์ข้อนี้พึงเห็นพระองคุลิมาลเป็นตัวอย่าง

คำสอนหลวงปู่ สิงห์ ขันตยาคโม
วัดป่าสาลวัน อ.เมือง จ.นครราชสีมา







หลวงพ่อชา กับ ศิษย์พระยามาร

ในสมัยแรกที่เริ่มสร้างวัดหนองป่าพง มีชาวบ้านก่อคนหนึ่งชื่อ “พ่อหนูผี” เป็นคนที่มีนิสัยชอบใฝ่รู้ ใฝ่ศึกษา และเป็นที่รู้จักของคนในหมู่บ้านว่า อัตตา และทิฏฐิมานะสูง ไม่ยอมรับใครง่าย ๆ ถึงแม้ว่าเคยมาฟังธรรมจากหลวงพ่อบ้างแต่ก็ยังคิดและพูดโต้แย้งเสมอ จนกระทั่งในที่สุดหลวงพ่อได้อนุญาต
ให้พ่อหนูผีว่า..

“มีอะไรก็ให้พูดอย่างเปิดอก ไม่ต้องเกรงใจ จะได้รู้เรื่องกันสักที”

“ถ้าผมพูดอย่างเปิดอก เกรงว่าหลวงพ่อจะโกรธผม เพราะคำพูดของผมมันไม่เหมือนคนอื่นเขา” พ่อหนูผีออกตัว

“พูดมาตามสบายเถอะ อาตมาไม่โกรธหรอก”

เมื่อหลวงพ่อเปิดทางให้ พ่อหนู่ผีซึ่งรอโอกาสนี้มานานแล้ว จึงนึกในใจว่า.. เมื่อท่านรับรองเช่นนี้ หากเราพูดแรง ๆ ไป ถ้าท่านโกรธ เราจะต่อว่าให้สาสมเลยว่า พระกรรมฐานอะไร ช่างไม่มีความอดทนเสียเลย แล้วพ่อหนูผีก็เริ่มระบายความในใจออกมา

“หลวงพ่อเคยพูดว่า ผมเป็นคนหลงผิด แต่ผมว่าหลวงพ่อนั่นแหละหลงผิดมากกว่า เพราะศาสนาทุกศาสนาไม่มีจริง เป็นเรื่องที่คนแต่งขึ้น สมมุติขึ้น เพื่อให้คนอื่นหลงเชื่อตาม และของทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ ก็มีแต่ของสมมุติทั้งนั้น เช่น ควาย นี่เราก็สมมุติชื่อให้มัน ถ้าเราจะเรียกมันว่าหมูก็ได้ ควายก็ไม่ว่าอะไร... คน สัตว์ สิ่งของทุกอย่างก็สมมุติเอาทั้งนั้น แม้แต่ศาสนาก็เป็นเรื่องสมมุติเหมือนกัน ทำไมหลวงพ่อจะต้องกลัวบาปกรรม จนต้องหนีเข้าป่าเข้าดง ไปทรมานร่างกายให้ลำบากเปล่า ๆ ผมไม่เชื่อเลยว่า บาปบุญมีจริง เป็นเรื่องหลอกเด็กมากกว่า กลับไปอยู่วัดตามบ้านตามเมืองเหมือนพระอื่น ๆ เสียเถอะ หรือทางที่ดีก็ควรสึกออกมาเสีย จะได้รับความสุขและรู้รสกาม ดีกว่าอยู่อย่างทรมานตัวเองอย่างนี้ ไม่เห็นมีประโยชน์อะไร”

พ่อหนูผีสรุปแนวความคิดของตน แล้วถามหลวงพ่อ “ผมคิดของผมอย่างนี้... หลวงพ่อล่ะมีความเห็นอย่างไร?”

หลังจากปล่อยให้พ่อหนูผีพูดจนสะใจแล้ว หลวงพ่อซึ่งนั่งนิ่งรับฟังอยู่นาน จึงกล่าวขึ้น

“คนที่คิดอย่างพ่อหนูผีนี้ พระพุทธเจ้าท่านทิ้ง โปรดไม่ได้หรอก เหมือนบัวใต้ตม ถ้าพ่อหนูผีไม่เชื่อว่าบาปมีจริง ทำไมไม่ทดลองไปลักไปปล้น หรือไปฆ่าเขาดูเล่า จะได้รู้ว่าเป็นอย่างไร”

“อ้าว... จะให้ผมไปฆ่าเขาได้อย่างไร เดี๋ยวญาติพี่น้องเขาก็ตามล่าผม หรือไม่ก็ติดคุกน่ะซิ!”

“นั่นแหละผลของบาป รู้มั๊ย?”

พ่อหนูผีชักลังเล เมื่อเจอเหตุผลอย่างนี้ แต่ก็ยังยอมรับอยู่ในทีว่า

“บางทีบาปอาจจะมีจริงก็ได้ แต่บุญล่ะ... หลวงพ่อมาอยู่ป่าทรมานตัวเองอย่างนี้ ไม่เห็นว่าจะเป็นบุญตรงไหนเลย?”

“พ่อหนูผีจะคิดอย่างนั้นก็ได้ แต่อาตมาจะเปรียบเทียบให้ฟัง ที่อาตมาประพฤติตามพระธรรมวินัยอยู่อย่างนี้ ถ้าบาปไม่มี... บุญไม่มี ก็เสมอทุน แต่ถ้าบาปมี บุญมี อาตมาจะได้กำไร... คนหนึ่งเสมอตัวหรืออาจได้กำไร กับคนที่มีแต่ทางขาดทุน ใครจะดีกว่ากัน”

พ่อหนูผีเริ่มคล้อยตามบ้าง แต่ก็ยังตอบแบบไว้เชิง

“ไอ้เรื่องบาปเรื่องบุญนี้ ผมคิดจนปวดศรีษะมานานแล้ว จะเชื่อก็ยังไม่แน่ใจ ไปถามพระรูปไหน ก็พูดให้ผมเข้าใจไม่ได้ แต่ที่หลวงพ่ออ้างเหตุผลมานี่ ผมก็พอจะรับได้บ้าง แต่ถ้าบาปบุญไม่มีจริง หลวงพ่อจะให้ผมทำอย่างไร”

“ทำยังไงก็ได้” หลวงพ่อตอบ

“ถ้าบาปไม่มีจริง ผมตายไป ผมจะมาไล่เตะหลวงพ่อนะ?”

“ได้! แต่ข้อสำคัญพ่อหนูผีต้องละบาปแล้วมาบำเพ็ญบุญจริง ๆ จึงจะได้รู้ว่าบาปบุญมีจริงหรือไม่”

“ถ้าอย่างนั้น หลวงพ่อเทศน์โปรดผมด้วย ผมจะได้รู้จักวิธีทำบุญ”

“คนเห็นผิดอย่างพ่อหนูผีนี้ โปรดไม่ได้หรอก เสียเวลาเปล่า ๆ”

เมื่อถูกหลวงพ่อเหน็บเอาเช่นนี้ พ่อหนูผีผู้มากด้วยปฏิภาณและโวหาร จึงย้อนกลับไปว่า

“คนในโลกนี้ ใครมีปัญญาและวิชาความรู้เลิศกว่าเขาทั้งหมด พระพุทธเจ้าใช่ไหม ถ้าพระพุทธเจ้าเป็นผู้เลิศจริง หลวงพ่อก็เป็นศิษย์พระพุทธเจ้า ส่วนผมเป็นศิษย์พระยามาร เมื่อเทศน์โปรดผมไม่ได้ ก็โง่กว่าพระยามารซี่”

“ถ้าพ่อหนูผีอยากต้องการอย่างนี้จริง ๆ ก็ขอให้ตั้งใจฟัง จะให้ธรรมะไปคิดพิจารณา แล้วทดลองปฏิบัติตามดู จะเชื่อหรือไม่ก็ตาม แต่ให้ทำดูก่อน เรื่องศาสนาที่พระสงฆ์เคยสอนมา พ่อหนูผีไม่เชื่อใช่ไหม?”

“ใช่... ผมไม่อยากเชื่อใครเลย นอกจากตัวเอง”

“ถ้าไม่เชื่อคนอื่นแล้ว ก็ไม่ต้องเชื่อตนเองด้วย พ่อหนูผีเป็นช่างไม้ใช่ไหม เคยตัดไม้ผิดหรือเปล่า?”

“เคยครับ”

“เรื่องอื่น ๆ ก็เหมือนกัน พ่อหนูผีเคยมีแต่คิดถูก ทำถูกอย่างเดียวหรือว่าเคยคิดผิด ทำผิดมาบ้าง”

“ใช่... ทำถูกก็มี ทำผิดก็เคย” พ่อหนูผียอมรับ

“ถ้าอย่างนั้น ตัวเราเองก็ยังเชื่อไม่ได้ เพราะมันพาทำผิด พูดผิด คิดผิดได้เหมือนกัน”

พ่อหนูผีรู้สึกพอใจต่อเหตุผลของหลวงพ่อ จึงขอคำแนะนำว่า “ผมควรจะประพฤติตนอย่างไรดีครับ?”

“อย่าเป็นคนคิดสงสัยมาก และอย่าพูดมากด้วย” หลวงพ่อตอบ

หลังจากวันนั้น พ่อหนูผีจะไปอยู่ที่ไหน คำพูดของหลวงพ่อติดตามไปทุกหนทุกแห่ง ทั้งที่พยายามไม่ให้ใจคิด แต่ก็ต้องคิด เมื่อคิด ๆ ไปก็ยิ่งเห็นจริงตามคำสอนของหลวงพ่อ และของพระพุทธเจ้ามากขึ้นทุกที พระพุทธองค์ตรัสไว้อย่างไร ก็เป็นอย่างนั้น ไม่มีทางคัดค้านได้เลย

ต่อมา พ่อหนูผีจึงคลายพยศ ลดมานะ ละทิฏฐิ ทิ้งนิสัยหัวรั้นหัวแข็ง เข้ามาฝากตัวเป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อ แล้วรักษาศีลห้าอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งฝึกหัดปฏิบัติภาวนา จนกลายเป็นพ่อหนูผีคนใหม่ ที่มีอัธยาศัยดี (หลวงพ่อชาเปลี่ยนชื่อให้ใหม่เป็น หนูดี) ช่วยกิจการงานวัดอย่างแข็งขันด้วยความจริงใจตลอดมา.

หลวงพ่อชา สุภัทโท








“ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้น เมื่อปัญญาพิจารณารอบคอบแล้ว ก็ดับไป ในขณะนั้น จิต ก็ลงสู่ความสงบได้อย่างเต็มที่ ในระยะเช่นนี้จะว่า
จิต ว่าง... ก็ได้อยู่
แต่ว่างในสมาธิ

พอจิตถอยออกมา ความว่างก็หายไป จากนั้น...ก็พิจารณาไปอีก และพิจารณาต่อไปเรื่อยๆ จนจิตมีความชำนาญในด้านสมาธิ

ขอสรุปความให้ย่อลงเพื่อให้พอดีกับเวลา เมื่อสมาธิมีกำลังทางด้านปัญญาก็เร่งพิจารณาตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย จนรู้เห็นชัด และสามารถถอดถอนอุปาทานของกายได้โดยสิ้นเชิง

จากนั้น...จิต ก็จะเริ่มว่าง แต่ยังไม่แสดงความว่างอย่างเต็มที่ ยังมีนิมิตภายในแสดงภาพปรากฏ อยู่...กับใจ

เพราะในระยะนี้
ใจว่าง...จากกาย และวัตถุภายนอก แต่ยังไม่ว่างจากนิมิตภายในของตัวเอง จนกว่าจะมีความชำนาญโดยอาศัยการฝึกซ้อมไม่ลดละ นิมิตภายในใจก็นับวันจางไปสุดท้ายก็หมด ไม่ปรากฏ นิมิตทั้งภายนอกภายในใจ นั่นท่านก็เรียกว่า จิต ว่าง... ว่างชนิดนี้ ว่าง...จากร่างกาย เพราะความรู้รอบด้วยนิมิตภายใน ก็หมดสิ้นไป เพราะอำนาจของสติปัญญารู้เท่าทันด้วย นี่แลชื่อว่า ว่างตามฐานะของจิต

เมื่อถึงขั้นนี้แล้ว
จิตว่างจริงๆ แม้กายจะปรากฏตัวอยู่ ก็สักแต่ความรู้สึกว่ากายมีอยู่เท่านั้น
แต่ภาพแห่งกายหาได้ปรากฏเป็นนิมิตภายในจิตไม่ ว่างเช่นนี้แลเรียกว่า ว่าตามภูมิของจิต และมีความว่างอยู่อย่างนี้ประจำ -ถ้าว่างเช่นนี้ว่าเป็นนิพพาน ก็เป็นนิพพานของผู้นั้น หรือของจิตชั้นนั้น —แต่ยังไม่ใช่นิพพาน ว่างของพระพุทธเจ้า

ถ้าผู้จะถือสมาธิเป็นความว่างของนิพพาน ในขณะจิตที่ลงสู่สมาธิ ก็เป็นนิพพานของสมาธิแห่งโยคาวจรผู้ปฏิบัติผู้นั้น เสียเท่านั้น

ความว่างทั้งสองประเภทที่กล่าวมานี้ ไม่ใช่ เป็นนิพพาน ว่าง...ของพระพุทธเจ้า เพราะเหตุใด

เพราะจิตที่มีความว่างในสมาธิ จำต้องพอใจ และติดในสมาธิ จิต ที่มีความว่างตามภูมิของจิตจำต้องมีความดูดดื่ม และติดใจในความว่างประเภทนี้ จำต้องถือความว่างนี้เป็นอารมณ์ของใจจนกว่าจะผ่านไปได้

ถ้าผู้ถือความว่างนี้ว่าเป็นนิพพาน ก็เรียกว่าผู้นั้นติดนิพพานในความว่างประเภทนี้โดยเจ้าตัวไม่รู้ เมื่อเป็นเช่นนี้ความว่างประเภทนี้จะจัดว่าเป็นนิพพานได้อย่างไร ถ้าไม่ต้องการนิพพานขั้นนี้ —-ก็ควรกาง เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ออกตรวจตราดูให้ชัดเจนและละเอียดถี่ถ้วน เพราะความว่างที่กล่าวนี้ เป็นความว่างของเวทนา คือสุขเวทนามีเต็มอยู่ในความว่างนั้น สัญญาก็หมายว่าง สังขารก็ปรุงแต่เรื่องความว่างเป็นอารมณ์ วิญญาณก็ช่วยรับรู้ทางภายใน ไม่เพียงจะรับรู้ภายนอก เลยกลายเป็นนิพพานของอารมณ์

ถ้าพิจารณาสิ่งเหล่านี้ให้ชัด และความว่างให้ชัด โดยเห็นเป็นเรื่องของสังขารธรรม คือสิ่งผสมนั่นแล จะมีช่องทางผ่านไปได้ในวันหนึ่งแน่นอน เมื่อพิจารณาตามที่กล่าวนี้ —ขันธ์ทั้ง ๕ และความว่างซึ่งเป็นสิ่งปิดบังความจริงไว้ ก็จะค่อยเปิดเผยตัวออกมาทีละเล็กละน้อย —จนปรากฏได้ชัด จิตย่อมมีทางสลัดตัวออกได้ แม้ฐานที่ตั้งของสังขารธรรมที่เต็มไปด้วยสิ่งผสมนี้ ก็ทนต่อสติปัญญาไม่ได้ เพราะเป็นสิ่งเกี่ยวโยงกัน สติปัญญาประเภทค้นแร่แปรธาตุ จะฟาดฟันเข้าไป เช่นเดียวกับไฟได้เชื้อลุกลามไปไม่หยุด จนกว่าจะขุดรากเหง้าของธรรมผสมนี้ขึ้นได้เสียเมื่อใด เมื่อนั้น...จึงจะหยุดการรุกการรบ เวลานี้มีอะไรที่เป็นข้าศึกต่อเป็นเรื่องว่างประจำนิสัยของจิตที่มีภูมิธรรมประจำขั้นแห่งความว่างของตน

นี่! ไม่ใช่ว่างสมาธิ และไม่ใช่ว่างในขณะที่นั่งสมาธิ ขณะที่นั่งสมาธิเป็นความว่างของสมาธิ

แต่จิตที่ปล่อยวาง นิพพานว่างตามแบบของพระพุทธเจ้า คือสิ่งที่ติดใจอยู่ในขั้นนี้ และขณะนี้แลเป็นข้าศึก สิ่งที่ติดใจ

ก็ได้แก่ความถือว่าใจของเราว่างบ้าง
สบายบ้าง ใสสะอาดบ้าง ถ้าจะเห็นว่า...ใจมันว่างแต่มันอยู่กับความไม่ว่าง ใจมันเป็นสุข แต่มันอาศัยอยู่กับทุกข์ ใจใสสะอาด แต่มันอยู่กับความเศร้าหมองโดยไม่รู้สึกตัว

ความว่าง...ความสุข ความใส นั่นแลเป็นธรรมปิดบังตัวเอง เพราะธรรมทั้งนี้คือเครื่องหมายของภพชาติ

ผู้ต้องการตัดภพชาติจึงควรพิจารณาให้รู้เท่า และปล่อยวางสิ่งเหล่านี้ อย่าหวงไว้เพื่อก่อไฟเผาตัว ถ้าปัญญาขุดค้นลงตรงที่สามจอมกษัตริย์แห่งภพปรากฏอยู่ นั้นแล จะถูกองค์การใหญ่ของภพชาติ และจะขาดกระเด็นออกจากใจทันที ที่ปัญญาหยั่งลงถึงฐานของเขาตั้งอยู่

เมื่อสิ่งทั้งนี้สิ้นไปแล้วเพราะอำนาจของปัญญา นั้นแล เป็นความว่างอันหนึ่ง เครื่องหมายของสมมุติใดๆ จะไม่ปรากฏในความว่าง...นั้นเลย นี่คือความว่าง ที่ผิดกับความว่างที่ผ่านมาแล้ว

ความว่างประเภทนี้ เราจะว่าเป็นความว่างของพระพุทธเจ้า หรือความว่างของใครนั้น ผู้แสดงไม่สามารถจะเรียนให้ทราบได้ว่าจะควรเป็นความว่างของใคร นอกจากจะเป็นความว่าง ที่รู้เห็นกันอยู่ด้วยสันทิฏฐิโกของผู้บำเพ็ญเท่านั้น ความว่างอันนี้ไม่มีกาลสมัย เป็นอกาลิโกอยู่ตลอดกาล

ความว่างในสมาธิมีความเปลี่ยนแปลงไปได้ ทั้งด้านความเจริญ และความเสื่อม ความว่างในขั้นอรูปธรรม ซึ่งกำลังเป็นทางเดิน ก็แปรสภาพ หรือผ่านไปได้

แต่ความว่างในตนเองโดยเฉพาะนี้ ไม่มี ความเปลี่ยนแปลง เพราะตนไม่มี อยู่...ในความว่างนั้น และไม่ถือความว่างนั้น ว่าเป็นตน นอกจากยถาภูตัง ญาณทัสสนัง เห็นตามเป็นจริงในหลักธรรมชาติแห่งความว่างนั้น และเห็นตามเป็นจริงในสภาวธรรมที่ผ่านมาเป็นลำดับ และที่มีอยู่ทั่วไปเท่านั้น

แม้ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งเป็นธรรมเครื่องแก้ไขก็รู้เท่า และปล่อยวางไว้ตามเป็นจริง ไม่มี สิ่งใดจะเข้าไปแฝงอยู่ในธรรมชาติแห่งความว่างในวาระสุดท้ายนั้นเลยโปรดนำความว่างทั้งสามประเภทนี้ ไปพิจารณา และพยายามบำเพ็ญตนให้เข้าถึงความว่างทั้งสามนี้ เฉพาะอย่างยิ่ง...ความว่างในวาระสุดท้าย ซึ่งเป็นความว่างในหลักธรรมชาติ ไม่มี ผู้ใดและสมมุติใดๆ อาจเอื้อมเข้าไปทำการเกี่ยวข้องได้อีกต่อไป

ความสงสัยนับแต่ขั้นต้นแห่งธรรม จนถึงความว่างอย่างยิ่ง จะเป็นปัญหาที่ยุตืกันลงได้ ด้วยความรู้ความเห็นของตนเป็นผู้ตัดสินเอง.”

หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน







"พ่อแม่อยู่บนบ้าน มึงไม่ทำบุญเลย
มึงควรทำบุญทุกวันก็จะได้มาก
มึงอย่ามัวรอทำบุญ ๑๐๐ วัน มึงจะได้สักเท่าไร"

คำสอน หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ





#สูงสุด_คืนสู่สามัญ
ยามขึ้น อย่าเหลิง ยามตกอย่าท้อ ชีวิตเป็นอนิจจัง ไม่มีอะไรตั้งอยู่ตลอดไปมีแต่..เกิดและดับ เจริญและเสื่อมเป็นธรรมดาของสรรพสิ่งเป็นไป ตามกฏธรรมชาติหน้าที่ของเราคือ ตั้งสติเรียนรู้ สร้างบุญสร้างกุศลให้ยิ่ง ยอมรับในกฏธรรมชาติและพร้อมปรับเปลี่ยนตัวเอง เพื่อเอาตัวรอดในทุกสภาวะการณ์ได้

สมบัติในโลก เงินสักบาท ตายแล้ว..ก็เอาไปไม่ได้ เว้นแต่บุญกุศล เพียงข้าวทัพพีหนึ่งสมาธิชั่วครู่หนึ่งกลับมีอนิสงส์ไปยังชาติหน้า

โอวาทธรรม
หลวงตาอินทร์ถวาย สนฺตุสฺสโก
วัดป่านาคำน้อย อ.นายูง จ.อุดรธานี








ทำไมต้องรอทำบุญวันเกิด ทำวันอื่นไม่เป็นบุญหรือ คิดอยากจะทำบุญเมื่อไหร่ ก็ให้รีบทำวันนั้น อย่าไปรอวันเกิด กว่าจะถึงวันเกิด เราอาจจะถึงวันตาย มัวแต่นึกถึงวันเกิด ให้นึกถึงวันตายบ้าง

โอวาทธรรม
ท่านพ่อเฟื่อง โชติโก
วัดธรรมสถิต อ.เมือง จ.ระยอง






"...ถ้ามันเกิดเจ็บปวดขึ้นมา ก็ให้พิจารณาดูมัน ดีไม่ดี
อาจจะหายเลยก็ได้ ไม่ต้องกลัวมันนะ ภาวนามันไม่
เป็นอะไรหรอก เราเองเคยนั่งเครื่องบินไปกรุงเทพฯ
เจ็บก้นปวดมากๆ กำหนดพิจารณาดูว่ามันปวดมันเจ็บ
อะไร พิจารณาจิตดู ถามมันว่าอะไรมันเจ็บ พิจารณา
ไปๆ ไม่รู้ว่ามันหายไปตอนไหน เรื่องธาตุเรื่องขันธ์
ฝืนมันไม่ได้หรอก ถ้ามันจะเป็น ไปห้ามมันไม่ได้
ความเจ็บความตาย ชาติ ชรา มรณะ ธรรมะของ
พระพุทธเจ้านั้นไม่ได้เลือกกาลเวลานะ ว่าอยู่ที่ไหน
ให้เราอยู่กับคำภาวนา มีสติรู้พร้อม เวลาธาตุขันธ์
จะแตกดับจิตมันก็รู้ มันก็ไม่ต้องลงอบายเท่านั้นล่ะ
มันมีที่หวังของจิต ถ้าเราภาวนาไม่ต้องกลัวมันหรอก
ความเจ็บความตาย เกิดแล้วไม่ตายไม่มี ตายหมด
สัตว์โลก ใช่คำที่พระพุทธเจ้าท่านพูดไว้นะ มันเป็น
ของใช้ ใช้กินใช้อยู่ใช้ภาวนาไปด้วย จึงไม่ต้องห่วง
กับมัน ไม่ต้องกลัวกับความตาย ถ้าเราภาวนาไม่ต้อง
กลัวมัน มันไม่ตายง่ายหรอก ถ้าเรามีสติ ให้มีสติ
ดูจิตไปกำหนดไป ความเจ็บความปวด มันก็หายไป
เองหรอก

เอ้อ... ธาตุขันธ์นะ แก่มาแล้วมันเป็นไปทุกอย่าง
เดี๋ยวอันนั้นเดี๋ยวอันนี้ เจ็บนั่นปวดนี่หาเรื่องไปเรื่อยๆ
ไม่หยุด มันเป็นไปตามสังขาร ชาติปิ ทุกขา ชะราปิ
ทุกขา มะระณัมปิ ทุกขัง ความเกิดความแก่ความตาย
มันเป็นทุกข์ ให้ดูมันนั่นล่ะ ดูใจนั่นล่ะ เผื่อบางที
จิตมันรวม ดูมันเข้า พระพุทธเจ้าท่านว่าธาตุขันธ์มัน
เป็นก้อนโรคเว่ย พิจารณามันนั่นล่ะ..."

#ที่มา หนังสือ ธรรม...ย้ำเตือน หน้า ๖๗ - ๖๘
หลวงปู่เพียร วิริโย วัดป่าหนองกอง จ.อุดรธานี


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 216 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร