วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 14:45  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 มิ.ย. 2023, 06:23 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 มี.ค. 2009, 10:48
โพสต์: 5091


 ข้อมูลส่วนตัว


"พระพุทธเจ้าทรงสอนให้อยู่กับปัจจุบันนี้
ที่นี่ และเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่อยู่กับอดีต หรืออนาคต"

หลวงปู่ชา สุภทฺโท






"...จิต เป็นสมบัติสำคัญ
มากในตัวเรา ที่ควรได้รับ
การเหลียวแล ด้วยวิธีเก็บ
รักษาให้ดี ควรสนใจรับ
ผิดชอบต่อจิต อันเป็น
สมบัติที่มีค่ายิ่งของตน
วิธีที่ควรกับจิตโดยเฉพาะ
ก็คือภาวนา ฝึกหัด
ภาวนาในโอกาสอันควร
ตรวจดูจิตว่ามีอะไร
บกพร่องและเสียไป
จะได้ซ่อมสุขภาพจิต
นั่งพินิจพิจารณาดูสังขาร
ภายใน คือความคิดปรุง
แต่งของจิตว่า คิดอะไร
บ้าง มีสาระประโยชน์ไหม
คิดแส่หาเรื่อง หาโทษ
ขนทุกข์มาเผาตนอยู่นั้น
พอรู้ผิด-ถูกของตัวบ้างไหม

พิจารณาสังขารภายนอกว่า
มีความเจริญขึ้นหรือ
เจริญลง สังขารมีอะไร
ใหม่หรือมีความเก่าแก่
ชราหลุดไป พยายาม
เตรียมตัวเตรียมใจเสีย
แต่เวลาที่พอจะทำได้
ตายแล้วจะเสียการให้
ท่องในใจอยู่เสมอว่า
เรามีความแก่-เจ็บ-ตาย
อยู่ประจำตัวทั่วหน้ากัน..."

โอวาทธรรม
พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
วัดป่าหนองผือ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร






สมาธิภาวนา กับนิมิต

หลวงพ่อเพิ่ม ได้เล่าถึงประสบการณ์ในการปฏิบัติกัมมัฏฐานสมัยเริ่มต้น เมื่อครั้ง...ยังเป็นสามเณรว่า ตอนที่ฝึกกัมมัฏฐานใหม่ๆ นั้น
ท่านยังไม่ประสีประสาอะไรเลย หลวงปู่ดูลย์
ได้แนะนำถึงวิธีการทำสมาธิว่า ควรนั่งอย่างไร ยืน เดิน นอน ควรทำอย่างไร

ในชั้นต้น...
หลวงปู่ให้เริ่มที่การนั่ง เมื่อนั่งเข้าที่เข้าทางแล้ว
ก็ให้หลับตาภาวนา “พุทโธ” ไว้ อย่าส่งใจไปคิดถึงสิ่งอื่น ให้นึกถึงแต่ พุทโธ พุทโธเพียงอย่างเดียว ก็จดจำนำไปปฏิบัติตามที่หลวงปู่สอน

ปกติของใจ เป็นสิ่งที่ไม่หยุดนิ่ง
มักจะคิดฟุ้งซ่านไปโน่นไปนี่เสมอ ในระยะเริ่มต้นคนที่ไม่เคยฝึกมาก่อน อยู่ๆ จะมาบังคับให้มันหยุดนิ่ง คิดอยู่แต่พุทโธประการเดียว เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก

สามเณรเพิ่มก็เช่นเดียวกัน
เมื่อภาวนาไปตามที่หลวงปู่สอนได้ระยะหนึ่ง
ก็เกิดความสงสัยขึ้น จึงถามหลวงปู่ว่า...
“เมื่อหลับตาภาวนาแต่พุทโธแล้ว จะเห็นอะไรครับหลวงปู่”

หลวงปู่บอก “อย่าได้สงสัย อย่าได้ถามเลย
ให้เร่งรีบภาวนาไปเถิด ให้ภาวนาพุทโธไปเรื่อยๆ แล้วมันจะรู้เองเห็นเองแหละ”

มีอยู่คราวหนึ่ง...
ขณะที่สามเณรเพิ่มภาวนาไปได้ระยะหนึ่ง
จิตเริ่มสงบ ก็ปรากฏร่างพญางูยักษ์ดำมะเมื่อม
ขึ้นมาอยู่ตรงหน้า มันจ้องมองท่าน ด้วยความ
ประสงค์ร้าย แผ่แม่เบี้ยส่งเสียงขู่ฟ่อ-ฟ่อ อยู่
ไปมา

สามเณรเพิ่มซึ่งเพิ่งฝึกหัดภาวนาใหม่ๆ
เกิดความหวาดกลัว ผวาลืมตาขึ้นก็ไม่เห็นพญา
งูยักษ์ จึงรู้ได้ทันทีว่า สิ่งที่ท่านเห็นนั้นเป็นการเห็นด้วยสมาธิจิตที่เรียกว่า...นิมิต นั่นเอง
จึงได้หลับตาลงภาวนาต่อ พอหลับตาลงเท่านั้น
ก็พลันเห็นงูยักษ์แผ่แม่เบี้ย ส่งเสียงขู่ทำท่าจะ
ฉกอีก แม้จะหวาดกลัวน้อยลงกว่าครั้งแรก แต่
ก็กลัวมากพอที่จะต้องลืมตาขึ้นอีก

เมื่อนำเรื่องนี้ไปถามหลวงปู่ ได้รับคำอธิบายว่า
“อย่าส่งใจไปดูไปรู้ในสิ่งอื่น การภาวนา...
ท่านให้ดูใจของตนเองหรอก ท่านไม่ให้ดูสิ่งอื่น”

“การบำเพ็ญกัมมัฏฐานนี้...
ไม่ว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดจะเกิดขึ้น ไปรู้ไปเห็นอะไร
เราอย่าไปดู ให้ดู...แต่ใจ ให้ใจอยู่ที่พุทโธ
เมื่อกำลังภาวนาอยู่ หากมีความกลัวเกิดขึ้น
ก็อย่าไปคิดในสิ่งที่น่ากลัวนั้น อย่า...ไปดูมัน
ดู...แต่ใจของเราเพียงอย่างเดียว เท่านั้น
แล้วความกลัวมันจะหายไปเอง”

หลวงปู่ได้ชี้แจงต่อไป ว่า...
"สิ่งที่เราไปรู้ไปเห็นนั้น...บางทีก็จริง บางทีก็ไม่จริง เหมือนกับว่า คนที่ภาวนาแล้วไปรู้ไปเห็น
สิ่งต่างๆ เข้า การที่เขาเห็นนั้น...เขาเห็นจริง
แต่สิ่งที่เห็นนั้น...มันไม่จริง เหมือนอย่างที่เราดูหนัง เห็นภาพในจอหนัง ก็เห็นภาพในจอจริงๆ แต่สิ่งที่เห็นนั้น...ไม่จริง
เพราะความจริงนั้นภาพมันไปจากฟิล์มต่างหาก

ฉะนั้น ผู้ภาวนาต้องดูที่ใจอย่างเดียว
สิ่งอื่น นอกจากนั้น...จะหายไปเอง
ให้ใจมัน อยู่...ที่ใจ นั้นแหละ อย่าไปส่งออกนอก

ใจนี้ มันไม่ได้อยู่จำเพาะ ที่ว่า...
จะต้องอยู่ตรงนั้น...ตรงนี้..
.คำว่า ใจ อยู่กับใจ นี้คือ...คิด ตรงไหน
ใจ ก็อยู่...ตรงนั้นแหละ
ความคิดนึก ก็คือ...ตัวจิตตัวใจ

หากจะเปรียบไปก็เหมือน เช่นรูปกับฟิล์ม
จะว่า...รูป เป็นฟิล์ม ก็ได้ จะว่าฟิล์มเป็นรูป ก็ได้ ใจอยู่...กับใจ จึงเปรียบเหมือนรูปกับฟิล์มนั่นแหละ

แต่โดยหลักปฏิบัติ แล้ว...
ใจ ก็เป็นอย่างหนึ่ง สติ...ก็เป็นอย่างหนึ่ง
แต่ที่จริงแล้ว...มัน ก็เป็นสิ่งเดียวกัน
เหมือนหนึ่ง ว่า...ไฟ กับกระแสไฟ ความสว่าง
กับไฟ ก็อันหนึ่งอันเดียวกันนั่นแหละ แต่เรา
มาพูด ให้เป็นคนละอย่าง

ใจ อยู่.. กับใจ
จึงหมายถึง ให้มีสติ อยู่...กำกับมันเอง
ให้อยู่...กับสติ...

แต่สติสำหรับปุถุชน
หรือสติสำหรับผู้เริ่มปฏิบัติ เป็นสติที่ยังไม่มั่นคงมันจึงมีลักษณะขาดช่วง เป็นตอนๆ
ถ้าเราปฏิบัติ จนสติมันต่อกันได้เร็ว จนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ให้เป็นแสงสว่างอย่างเดียวกัน
อย่างเช่น สัญญาณออด ซึ่งที่จริง มันไม่ได้มี
เสียงยาวติดต่อกันเลย
แต่เสียงออด-ออด-ออด ถี่มาก จนความถี่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เราจึงได้ยินเสียงออดนั้นยาว

ในการปฏิบัติ ที่ว่า...
ปฏิบัติจิต ปฏิบัติใจ โดยให้ใจ อยู่...กับใจนี้
ก็คือ...
ให้มีสติกำกับใจ ให้เป็นสติถาวร ไม่ใช่...
เป็นสติคล้ายๆ หลอดไฟที่จวนจะขาด
เดี๋ยวก็สว่างวาบ...เดี๋ยว...ก็ดับ เดี๋ยว...ก็สว่าง
แต่ให้มันสว่างต่อกันไป ตลอดเวลา

เมื่อสติมันติดต่อกันไปอย่างนี้แล้ว...
ใจ มันก็มีสติควบคุม อยู่...ตลอดเวลา
เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า...อยู่...กับตัวรู้ตลอดเวลา

ตัวรู้ ก็คือ...
สติ นั่นเอง หรือจะเรียกว่า...พุทโธ ก็ได้
พุทโธ ที่ว่า...
รู้...ตื่น...เบิกบาน...ก็คือ...ตัวสติ นั่นแหละ

เมื่อมีสติ ความรู้สึกนึกคิดอะไรต่างๆ
มันก็จะเป็นไปได้โดยอัตโนมัติของมันเอง
เวลาดีใจก็จะไม่ดีใจจนเกินไป สามารถ
พิจารณารู้ได้โดยทันทีว่า สิ่งนี้...
คือ อะไรเกิดขึ้น และเวลาเสียใจ มันก็ไม่
เสียใจจนเกินไป เพราะว่า...สติมันรู้อยู่แล้ว

คำชม ก็เป็นคำชนิดหนึ่ง
คำติ ก็เป็นคำชนิดหนึ่ง เมื่อจับสิ่งเหล่านี้
มาถ่วงกันแล้ว จะเห็นว่า...
มันไม่แตกต่างกันจนเกินไป มันเป็นเพียงภาษา
คำพูด เท่านั้นเอง ใจ...มันก็ไม่รับ

เมื่อใจมันไม่รับ
ก็รู้ว่า...ใจ มันไม่มีความกังวล ความวิตกกังวล
ในเรื่องต่างๆ ก็...ไม่มี
ความกระเพื่อมของจิต ก็...ไม่มี ก็เหลือ แต่...
ความรู้ อยู่...ในใจ."

สามเณรเพิ่มจดจำคำแนะนำสั่งสอนจากหลวงปู่
ไปปฏิบัติต่อ ปรากฏว่าสิ่งที่น่าสะพึงกลัวไม่ทำให้
ท่านหวาดหวั่นใจอีกเลย
ทำให้ท่านสามารถโน้มน้าวใจสู่ความสงบ ค้นพบปัญญา ที่จะนำสู่ความสุขสงบในสมาธิธรรม
ตั้งแต่บัดนั้นมา

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล







ผู้ดับไม่เหลือ

อย่าเข้าใจไปว่าต้องเรียนมาก
ต้องปฏิบัติลำบากจึงพ้นได้
ถ้ารู้จริงสิ่งเดียวก็ง่ายดาย
รู้ดับให้ไม่มีเหลือเชื่อก็ลอง

เมื่อเจ็บไข้ความตายจะมาถึง
อย่าพรั่นพรึงหวาดไหวให้หม่นหมอง
ระวังให้ดีดีนาทีทอง
คอยจดจ้องให้ตรงจุดหลุดได้ทัน

ถึงนาทีสุดท้ายอย่าให้พลาด
ตั้งสติไม่ประมาทเพื่อดับขันธ์
ด้วยจิตว่างปล่อยวางทุกสิ่งอัน
สารพันไม่ยึดครองเป็นของเรา

ตกกระไดพลอยกระโจนให้ดีดี
จะถึงที่มุ่งหมายได้ง่ายเข้า
สมัครใจดับไม่เหลือ; เมื่อไม่เอา
ก็ดับ “เรา” ดับตนดลนิพพาน ฯ

พุทธทาสภิกขุ






ตัดกรรม ตัดที่ใจ ไม่ใช่ตัดที่ใคร
โยมบอก เขานั้นเป็นต้นเหตุให้โยมทุกข์
ไม่ใช่...โยมนั้นแหละที่เป็นต้นเหตุให้ตัวเองทุกข์
หาใช่ผู้อื่น ยิ่งโยมบอกคนอื่นเป็นต้นเหตุ
โยมกำลังสร้างเวรพยาบาทไม่จบสิ้น
ถ้าโยมจะดับทุกข์ ต้องดับที่ใจตน

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี)


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: Google [Bot] และ บุคคลทั่วไป 28 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร