วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 23:35  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 9 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 ก.ค. 2010, 10:17 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่มหาปิ่น ปญฺญาพโล


วัดป่าแสนสำราญ
ต.ธาตุ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี


๏ ชาติกำเนิดและชีวิตปฐมวัย

“หลวงปู่มหาปิ่น ปญฺญาพโล” มีนามเดิมว่า ปิ่น บุญโท เป็นพระน้องชายของ หลวงปู่สิงห์ ขนฺตฺยาคโม เกิดเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๔ ปีมะโรง พุทธศักราช ๒๔๓๕ ณ บ้านหนองขอน ตำบลหัวทะเล อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี (ตำบลหัวตะพาน อำเภอหัวตะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ ในปัจจุบัน) โยมบิดาชื่อ เพียอัครวงศ์ (อ้วน บุญโท) [เพียอัครวงศ์ เป็นตำแหน่งข้าราชการหัวเมืองลาวกาว-ลาวพวน เมืองเวียงจันทน์ มีหน้าที่จัดการศึกษาและการพระศาสนา] โยมมารดาชื่อ นางหล้า บุญโท มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด ๗ คน ท่านเป็นบุตรคนที่ ๕ และหลวงปู่สิงห์ ขนฺตฺยาคโม เป็นบุตรคนที่ ๔ อายุห่างจากท่าน ๓ ปี

ท่านเกิดมาท่ามกลางวงศ์ตระกูลที่มีอันจะกิน อุดมสมบูรณ์ ท่านมีความเฉลียวฉลาดมาตั้งแต่เด็ก มีความจำดี จดจำคำสอนของโยมบิดา-โยมมารดาได้ขึ้นใจ รู้สิ่งใดควรไม่ควร เชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสอนไม่เคยละเมิด มีความเชื่อมั่นในตนเองสูง โยมบิดา-โยมมารดาของท่านมีความเข้าใจพิธีกรรมและหลักปฏิบัติเกี่ยวกับพระสงฆ์ได้อย่างถูกต้อง อยากเห็นอนาคตของลูกก้าวหน้า จึงตั้งใจให้บวชเรียน

๏ ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรม และปฏิปทา

ดังนั้น เพียอัครวงศ์ (อ้วน บุญโท) และนางหล้า บุญโท จึงส่งเสริมให้บุตรชายได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ให้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยในบวรพระพุทธศาสนาเป็นพระภิกษุปิ่น ปญฺญาพโล เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๗ ขณะที่ท่านมีอายุ ๒๒ ปีบริบูรณ์ เป็นการบวชในตระกูลต่อจากที่ได้บวชพระภิกษุสิงห์ ขนฺตฺยาคโม ผู้เป็นพระพี่ชาย ซึ่งบวชอยู่ที่วัดสุทัศนาราม ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ในปี พ.ศ. ๒๔๕๒

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๕๘ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ได้เดินทางกลับมาจากการพักจำพรรษาที่วัดสระปทุม (วัดปทุมวนาราม) กรุงเทพฯ มายังจังหวัดอุบลราชธานี โดยพักจำพรรษาอยู่ที่วัดบูรพาราม ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี พระภิกษุสิงห์ ขนฺตฺยาคโม ซึ่งในขณะนั้นเป็นครูสอนวิชาสามัญแก่นักเรียนวัดสุทัศนารามเป็นเวลาหลายปีมาแล้ว ท่านได้ยินกิตติศัพท์ว่า ท่านพระอาจารย์มั่นฯ เป็นพระนักปฏิบัติที่เคร่งครัดมาก ก็ใคร่ที่จะได้ศึกษาธรรมปฏิบัติ จึงได้เข้าไปถวายตัวเป็นศิษย์ และต่อมาก็ได้นำพระภิกษุปิ่น ปญฺญาพโล ผู้เป็นพระน้องชาย ไปกราบฟังธรรมกับท่านพระอาจารย์มั่นฯ ทำให้พระภิกษุปิ่นเกิดความศรัทธามาก รวมทั้ง เกิดความสนใจการศึกษาแบบปฏิบัติมากกว่าการศึกษาแบบปริยัติ ท่านจึงตัดสินใจหันเหจากการเรียนพระปริยัติธรรมมาเป็นพระธุดงค์กรรมฐาน และได้ให้ปฏิญาณว่าจะขอลาไปศึกษาพระปริยัติธรรมที่กรุงเทพฯ สัก ๕-๖ ปี แล้วจึงจะออกมาปฏิบัติธรรมด้วย หลังจากนั้นพระภิกษุปิ่นจึงไปพักจำพรรษาอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร

ด้วยความที่ท่านขวนขวายสนใจศึกษาเล่าเรียนอย่างพากเพียร ในปีประมาณ พ.ศ. ๒๔๖๐ พระภิกษุปิ่นจึงได้ออกเดินทางจากจังหวัดอุบลราชธานี เข้าไปอยู่จำพรรษาที่วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ ท่านได้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนจากสำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหารนั้นเป็นเวลา ๕ ปี (ประมาณ พ.ศ. ๒๔๖๐ ถึง พ.ศ. ๒๔๖๖) และได้หาความรู้อย่างทุ่มเทชีวิต ความมุมานะอดทนทำให้ท่านสามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรี โท เอก รวมทั้งสอบได้เปรียญธรรม ๕ ประโยค ตามลำดับ ท่านมีความเข้าใจหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าได้อย่างดี

ทางด้านหลวงปู่สิงห์ เมื่อได้ทราบว่าท่านพระอาจารย์มั่นฯ ได้ออกธุดงค์จากวัดบูรพาราม จังหวัดอุบลราชธานี ในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ เพื่อไปติดตามท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล ซึ่งขณะนั้นท่านพักจำพรรษาอยู่ที่ถ้ำภูผากูด ตำบลคำบก อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร ในปัจจุบัน ท่านก็ได้ออกธุดงค์ตามไปติดๆ แต่พอก่อนจะถึงถ้ำภูผากูด ท่านก็ล้มเจ็บเป็นไข้จึงได้เดินทางกลับมารักษาตัวอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อท่านหายป่วยแล้วก็ได้ติดตามท่านพระอาจารย์มั่นฯ ไป เพื่อหวังในการศึกษาธรรมปฏิบัติอีก โดยมิได้มีการย่นย่อท้อถอยแต่ประการใด และก็ได้ติดตามไปปฏิบัติกับท่านพระอาจารย์มั่นฯ ทุกหนทุกแห่ง ซึ่งเริ่มติดตามพบที่ถ้ำภูผากูดในปีนี้เอง

จนกระทั่งในช่วงประมาณปี พ.ศ. ๒๔๖๖ หลังจากพระมหาปิ่นสอบได้เปรียญธรรม ๕ ประโยคจากสำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ แล้ว จึงได้เดินทางกลับมายังจังหวัดอุบลราชธานีบ้านเกิดตามที่ได้ปฏิญาณไว้ แล้วมาพักจำพรรษาอยู่ที่วัดสุทัศนาราม ได้เป็นครูสอนนักธรรมบาลีแก่พระภิกษุ สามเณร ตลอดจนชาวบ้าน เพื่อสนองคุณของอุปัชฌาย์ครูบาอาจารย์ ๑ พรรษา ต่อมาท่านได้รับฟังคำย้ำเตือนจากหลวงปู่สิงห์ พระพี่ชาย ซึ่งไปขอคำปรึกษาอุบายธรรมจากหลวงปู่ดูลย์ อตุโล มากล่อมใจพระน้องชายว่า หากต้องการพ้นทุกข์จะมาหลงปริยัติเพียงอย่างเดียวไม่ได้ เพราะปริยัติธรรมนั้นเป็นเพียงแผนที่แนวทางเท่านั้น

ในปีนั้นเองโยมมารดาของหลวงปู่สิงห์ ขนฺตฺยาคโม และพระมหาปิ่น ปญฺญาพโล ซึ่งอยู่ที่บ้านหนองขอน จังหวัดอุบลราชธานี นั้นเอง ก็ได้ถึงแก่กรรม ขณะนั้นหลวงปู่สิงห์ได้ออกธุดงค์ไปกับท่านพระอาจารย์มั่นฯ ดังนั้น พระมหาปิ่น ผู้เป็นพระน้องชาย จึงได้เป็นผู้จัดการเกี่ยวกับงานศพของโยมมารดาและจัดการฌาปนกิจศพ ส่วนหลวงปู่สิงห์เมื่อได้ข่าวเรื่องโยมมารดาถึงแก่กรรม และทราบว่าพระน้องชายกลับจากกรุงเทพฯ มาอยู่ที่วัดสุทัศนารามแล้ว ก็ได้พาคณะรวม ๖ องค์ คือ พระ ๔ องค์ สามเณร ๒ องค์ มาจำพรรษาที่วัดสุทัศนารามด้วย

รูปภาพ
หลวงปู่สิงห์ ขนฺตฺยาคโม พระพี่ชายหลวงปู่มหาปิ่น ปญฺญาพโล

รูปภาพ
หลวงปู่ดูลย์ อตุโล


๏ หลวงปู่สิงห์ร่วมกับหลวงปู่ดูลย์
ชักจูงพระน้องชายให้มาสนใจกรรมฐาน


ต่อมา หลวงปู่สิงห์ ขนฺตฺยาคโม ผู้เป็นพระพี่ชาย เห็นว่าพระมหาปิ่น ปญฺญาพโล ผู้เป็นเปรียญธรรมจากสำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร มีความรู้ด้านพระปริยัติธรรมอย่างแตกฉานนั้น สนใจแต่ทางปริยัติอย่างเดียว ไม่นำพาต่อการบำเพ็ญภาวนา ฝึกฝนอบรมจิต และธุดงค์กรรมฐานเลย จึงได้คิดหาทางชักจูงพระน้องชายให้หันมาในใจทางด้านการปฏิบัติพระกรรมฐานบ้าง มิฉะนั้นต่อไปจะเอาตัวไม่รอด

พอดีปี พ.ศ. ๒๔๖๗ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ซึ่งได้กราบลาท่านพระอาจารย์มั่นฯ ซึ่งจำพรรษาอยู่ที่บ้านค้อ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี แล้วก็ออกเดินทางมุ่งไปจังหวัดสุรินทร์ ในระหว่างทางหลวงปู่ดูลย์ได้แวะเยี่ยมหลวงปู่สิงห์ ขนฺตฺยาคโม พระสหธรรมิกผู้มีคุณูปการใหญ่หลวงแก่ท่าน ขณะนั้นหลวงปู่สิงห์ธุดงค์อยู่ในแถบจังหวัดกาฬสินธุ์ หลวงปู่สิงห์เมื่อได้พบกับหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ก็ปรารภปัญหาเกี่ยวกับพระมหาปิ่น ผู้เป็นพระน้องชาย และขอคำปรึกษาและอุบายธรรมจากหลวงปู่ดูลย์ และขอร้องให้มาช่วยกล่อมใจพระน้องชาย ในเรื่องว่าหากต้องการพ้นทุกข์ จะมาหลงปริยัติเพียงอย่างเดียวไม่ได้ เพราะปริยัติธรรมนั้นเป็นเพียงแผนที่แนวทางเท่านั้น

หลวงปู่สิงห์จึงชักชวนหลวงปู่ดูลย์ ให้เดินทางไปจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อให้ช่วยชักนำพระมหาปิ่นให้สนใจในทางปฏิบัติพระกรรมฐานบ้าง ไม่เช่นนั้นจะไปไม่รอด หลวงปู่ทั้ง ๒ องค์ได้พักจำพรรษาที่วัดสุทัศนาราม วัดที่ท่านเคยอยู่มาก่อน คราวนี้ท่านได้ปลูกกุฏิหลังเล็กๆ อยู่ต่างหาก ปฏิบัติพระกรรมฐานอย่างเคร่งครัด แล้วก็ค่อยๆ โน้มน้าวจิตใจให้พระมหาปิ่นเกิดความศรัทธาเลื่อมใสทางด้านการปฏิบัติด้วย

ทั้งหลวงปู่สิงห์และหลวงปู่ดูลย์ ได้ชี้แจงแสดงเหตุผลว่า ในการครองสมณเพศนั้น แม้ว่าได้บวชมาในบวรพระพุทธศาสนาก็นับว่าดีประเสริฐแล้ว ถ้าหากมีการปฏิบัติให้รู้แจ้งในธรรม ก็จะยิ่งประเสริฐขึ้นอีก คือจะเป็นหนทางออกเสียซึ่งความทุกข์ ตามแนวคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

พระมหาปิ่น ปญฺญาพโล เป็นพระสงฆ์ที่มีสติปัญญา พิจารณาปฏิปทาข้อวัตรปฏิบัติธรรม พร้อมทั้งคำเทศน์ของพระอาจารย์ทั้ง ๒ องค์ที่ได้กระทำเป็นแบบอย่าง ก็เกิดความเลื่อมใสเป็นอย่างยิ่ง

โดยปกติแล้วหลวงปู่สิงห์และหลวงปู่ดูลย์ เป็นนักปฏิบัติธรรมขั้นสูง แม้จะมีความอาวุโสแต่ก็มีลักษณะประจำตัวในการรู้จักนอบน้อมถ่อมตน ระมัดระวังกาย วาจา ใจ ไม่คุยโม้โอ้อวดว่าตนเองได้ธรรมขั้นสูง และเห็นว่าธรรมะเป็นสมบัติอันล้ำค่าของนักปราชญ์มาประจำแผ่นดิน ซึ่งควรระมัดระวังให้สมกับผู้มีภูมิธรรมในใจ

พระมหาปิ่นได้พิจารณาด้วยเหตุด้วยผลอย่างรอบคอบแล้ว พอถึงกาลออกพรรษา จึงรีบเตรียมบริขาร แล้วออกธุดงค์ติดตามหลวงปู่สิงห์ พระพี่ชาย ไปทุกหนทุกแห่ง ทนต่อสู้กับอุปสรรคความยากไร้ท่ามกลางป่าเขา มุ่งหาความเจริญในทางธรรม จนสามารถรอบรู้ธรรมด้วยสติปัญญาของท่านในกาลต่อมา

การที่พระมหาปิ่นออกธุดงค์พระกรรมฐานในครั้งนั้น ประชาชนในภาคอีสานได้แตกตื่นชื่นชมกันมากว่า “พระมหาเปรียญธรรมหนุ่มจากเมืองบางกอก ได้ออกฝึกจิตดำเนินชีวิตสมณเพศ ตัดบ่วง ไม่ห่วงอาลัยในยศถาบรรดาศักดิ์ ออกป่าดงเดินธุดงค์พระกรรมฐาน ฝึกสมาธิภาวนาเป็นองค์แรกในสมัยนั้น”

ชื่อเสียงของพระมหาปิ่น ปญฺญาพโล ในครั้งนั้นจึงหอมฟุ้งร่ำลือไปไกล ท่านได้ยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับพระพี่ชาย คือ หลวงปู่สิงห์ ขนฺตฺยาคโม นำกองทัพธรรมออกเผยแผ่พระธรรมคำสอนในสายพระกรรมฐาน จนมีผู้เลื่อมใสศรัทธาอย่างกว้างขวางมาจนปัจจุบัน

(มีต่อ ๑)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 ก.ค. 2010, 10:18 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
ท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล

รูปภาพ
ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต


๏ หลวงปู่สิงห์พาพระน้องชายออกธุดงค์

ในปี พ.ศ. ๒๔๖๗ เมื่อออกพรรษาหมดเขตกฐินแล้ว หลวงปู่สิงห์ได้พาพวกศิษย์เป็นคณะใหญ่ออกเดินธุดงค์ การออกเดินธุดงค์ครั้งนี้ ผู้ที่ออกธุดงค์ใหม่นอกจากพระมหาปิ่นแล้ว ยังมีพระเทสก์ เทสรํสี พระคำพวย พระทอน บ้านหัววัว อำเภอลุมพุก จังหวัดอุบลราชธานี และสามเณรอีก ๒ รูป รวมทั้งหมดแล้ว ๑๒ องค์ด้วยกัน พระมหาปิ่นจึงเป็นพระเปรียญรูปแรกที่ออกเดินธุดงค์ เมื่อมีอายุ ๓๐ ปี ในพรรษาที่ ๘ ท่านมุ่งปฏิบัติธรรมอย่างมั่นคง

คณะธุดงค์ของหลวงปู่สิงห์ได้เดินทางออกจากเมืองอุบลราชธานี ในระหว่างเดือน ๑๒ แล้วได้พักแรมมาโดยลำดับ จนถึงบ้านหัวตะพาน อำนาจเจริญ แล้วพักอยู่นั่นนานพอควร แล้วย้ายไปพักที่บ้านหัวงัว อำเภอกุดชุม เตรียมเครื่องบริขารพร้อมแล้ว จึงได้ออกเดินรุกขมูล การออกเดินรุกขมูลครั้งนี้ ถึงแม้จะไม่ได้วิเวกเท่าที่ควร เพราะเดินด้วยกันเป็นคณะใหญ่ แต่ก็ได้รับรสชาติของการออกเที่ยวรุกขมูลพอสมควร

หลวงปู่สิงห์พาคณะบุกป่ามาทางจังหวัดร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ผ่านดงลิงมาออกอำเภอสหัสสขันธ์ เข้าเขตกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี แต่ไม่ได้เข้าในเมือง เว้นไปพักอยู่บ้านเชียงพินตะวันตก จังหวัดอุดรธานี เพื่อรอ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) สมัยเมื่อดำรงสมณศักดิ์เป็น ท่านเจ้าคุณพระเทพเมธี เจ้าคณะมณฑลอีสาน ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ของหลวงปู่สิงห์ด้วย ที่กำลังเดินทางมาจากกรุงเทพฯ

การที่หลวงปู่สิงห์ให้คณะมารออยู่ที่จังหวัดอุดรธานีในครั้งนี้ ท่านมีจุดประสงค์อยากให้พระมหาปิ่นมาประจำอยู่ที่นี่ เพราะที่จังหวัดอุดรธานียังไม่มีคณะธรรมยุต แต่ความมุ่งหมายของหลวงปู่สิงห์นั้นก็ไม่เป็นไปดังประสงค์ เนื่องจากเมื่อเจ้าคณะมณฑลอีสานมาจากกรุงเทพฯ ครั้งนี้ พระยาราชนกูลวิบูลยภักดีพิริยพาห (อวบ เปาโรหิตย์) อุปราชมณฑลภาคอีสาน (ภายหลังได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยามุขมนตรี ศรีสมุหพระนครบาล) ได้นิมนต์พระมหาจูม พนฺธุโล เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็น พระครูสังฆวุฒิกร (สมณศักดิ์สุดท้ายเป็นที่ พระธรรมเจดีย์) มาด้วยเพื่อจะให้มาอยู่วัดโพธิสมภรณ์ ตำบลหมากแข้ง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี

ฉะนั้น เมื่อเจ้าคณะมณฑลอีสานมาถึงแล้ว หลวงปู่สิงห์จึงพาคณะเข้าไปกราบนมัสการ ท่านจึงกำหนดให้เอาพระมหาปิ่นไปไว้ที่จังหวัดสกลนคร และให้พระเทสก์ เทสรํสี อยู่ช่วยพระมหาปิ่น

รูปภาพ
พระธรรมเจดีย์ (หลวงปู่จูม พนฺธุโล)

รูปภาพ
พระอาจารย์เทสก์ เทสรํสี


๏ พบพระอาจารย์มั่นเป็นครั้งที่สอง

เมื่อตกลงกันเรียบร้อยดังนั้นแล้ว หลวงปู่สิงห์ ขนฺตฺยาคโม ได้พาคณะออกเดินทางไปกราบนมัสการ ท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล และท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ที่บ้านค้อ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ซึ่งท่านทั้งสองก็ได้จำพรรษาอยู่ ณ ที่นั้น ตกกลางคืนท่านพระอาจารย์มั่นฯ ได้เทศนาอบรมธรรมคณะหลวงปู่สิงห์ พระอาจารย์เทสก์ เทสรํสี ได้เล่าเรื่องนี้ไว้ในหนังสืออัตตโนประวัติของท่านไว้ดังนี้

“คืนวันนั้นเสร็จจากการอบรมแล้ว ท่านก็สนทนาธรรมสากัจฉากันตามสมควร แล้วจบด้วยการพยากรณ์พระมหาปิ่น แลตัวเรา ในด้านความสามารถต่างๆ นานา ตอนนี้ทำให้เรากระดากใจตนเองในท่ามกลางหมู่เพื่อนเป็นอย่างยิ่ง เพราะตัวของเราเองพึ่งบวชใหม่ แลมองดูตัวเราแล้วก็ไม่เห็นมีอะไรพอที่ท่านจะสนใจในตัวของเรา มันทำให้เราขวยเขินอยู่แล้ว แต่คนอื่นเราไม่ทราบ เพราะเห็นสถานที่แลความเป็นอยู่ของพระเณร ตลอดถึงโยมในวัด เขาช่างสุภาพเรียบร้อย ต่างก็มีกิจวัตรและข้อวัตรประจำของตนๆ นี่กระไร พอท่านพยากรณ์พระมหาปิ่นแล้วมาพยากรณ์เราเข้า ยิ่งทำให้เรากระดากใจยิ่งเป็นทวีคูณ แต่พระมหาปิ่นคงไม่มีความรู้สึกอะไร นอกจากท่านจะตรวจดูความสามารถของท่านเทียบกับพยากรณ์เท่านั้น”

ในช่วงนี้ พอดีกันกับที่ท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต และบรรดาพระคณาจารย์ทั้งหลาย ได้มาร่วมประชุมกันที่บ้านค้อ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี แห่งนี้ ซึ่งท่านพระอาจารย์มั่น ท่านได้วางแผนแนวคำสอนทั้งฝ่ายบรรพชิตและฝ่ายคฤหัสถ์ไว้ เพื่อให้พระคณาจารย์สายของท่านมีการสอนให้เป็นแนวเดียวกัน คือ สำหรับบรรพชิต ให้สอนตรงต่ออริยสัจจ์ มีการพิจารณากายเป็นเบื้องต้น ส่วนคฤหัสถ์หรือฆราวาสนั้น ท่านเน้นให้พยายามแก้ไขความเชื่อแบบงมงายต่างๆ เช่น การเคารพนับถือภูตผีปีศาจ ฯลฯ แนวทางดังกล่าวนี้ได้ถูกกำหนดให้เป็นแนวทางถือปฏิบัติสืบต่อกันมาจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้

รุ่งเช้าฉันจังหันแล้ว หลวงปู่สิงห์ได้พาคณะเดินทางต่อไปยังบ้านนาสีดา ได้พาพักอยู่ ณ ที่นั่น ๔ คืนแล้วย้อนกลับทางเดิม มาพักอยู่กับท่านพระอาจารย์มั่นฯ ที่บ้านค้ออีกหนึ่งคืน จึงเดินทางกลับอุดรธานี แล้วได้เดินทางต่อไปสกลนครตามที่ได้ตกลงไว้กับเจ้าคณะมณฑลอีสาน แต่การนั้นไม่เป็นไปตามจุดประสงค์ของเจ้าคณะมณฑลอีสาน เพราะพระมหาปิ่นอาพาธไม่สามารถจะไปรับหน้าที่ที่มอบหมายให้ได้ ฉะนั้น ในพรรษานั้น หลวงปู่สิงห์จึงได้พาคณะไปจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าหนองลาด อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร

รูปภาพ
พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก

รูปภาพ
พระอาจารย์สีลา อิสฺสโร


๏ พระอาจารย์มั่นให้ตามท่านไปตั้งวัดที่บ้านสามผง

ส่วนท่านพระอาจารย์เสาร์ฯ กับท่านพระอาจารย์มั่นฯ พอออกพรรษา ปี พ.ศ. ๒๔๖๗ ท่านก็ออกจากบ้านค้อ อำเภอผือ จังหวัดอุดรธานี พาคณะออกธุดงค์แสวงหาที่สงัดวิเวก แยกกันออกเป็นหมู่เล็กๆ เพื่อมิให้เป็นปลิโพธในหมู่มาก ปีนี้ท่านได้เดินธุดงค์ไปทางบ้านนาหมี บ้านนายูง (อุดรธานี) และบ้านผาแดง-แก้งไก่ (หนองคาย) ครั้นท่านพระอาจารย์มั่นฯ ได้พักวิเวกอยู่ที่ผาแดง-แก้งไก่ พอสมควรแล้วก็ได้ออกเดินทางไปทางอำเภอท่าบ่อ ท่านพระอาจารย์เสาร์ฯ ได้พักจำพรรษาที่วัดราช ใกล้บ้านน้ำโขง อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ส่วนท่านพระอาจารย์มั่นฯ ได้เข้าไปพักอยู่ที่ราวป่าใกล้กับป่าช้าของอำเภอท่าบ่อนั้น (ปัจจุบันเป็น วัดอรัญญวาสี)

ขณะเดียวกันพระกรรมฐานกลุ่มของหลวงปู่สิงห์ ขนฺตฺยาคโม กับพระมหาปิ่น ปญฺญาพโล ยังคงพักจำพรรษาอยู่ที่เดิม ที่วัดป่าหนองลาด บ้านปลาโหล อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร

ท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล และคณะศิษย์ ได้อยู่จำพรรษาที่วัดพระงามแห่งนี้นาน ๒ พรรษา คือในปี พ.ศ. ๒๔๖๗-๒๔๖๘ เป็นพรรษาที่ ๔๔ และ ๔๕ ของท่าน

ปี พ.ศ. ๒๔๖๘ เมื่อใกล้จะออกพรรษา ทางด้านท่านพระอาจารย์มั่นฯ ก็ได้ประชุมหมู่ศิษย์เพื่อเตรียมออกเที่ยวธุดงค์หาที่สงัดวิเวก และได้จัดหมู่ศิษย์ออกไปธุดงค์เป็นพวกๆ สำหรับท่านพระอาจารย์มั่นฯ เองนั้น พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก และพระอาจารย์สีลา อิสฺสโร ได้อาราธนาให้ท่านไปอยู่บ้านสามผง อำเภอท่าอุเทน (ปัจจุบันอยู่ในอำเภอศรีสงคราม) จังหวัดนครพนม หลังจากออกพรรษาแล้ว ท่านพระอาจารย์มั่นฯ จึงได้เดินทางมาถึงวัดป่าหนองลาดที่หลวงปู่สิงห์ พระมหาปิ่น และคณะพักจำพรรษาอยู่ และท่านให้หลวงปู่สิงห์ พระมหาปิ่น และคณะตามท่านไปตั้งสำนักที่บ้านสามผง อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม

ในปี พ.ศ. ๒๔๖๙ ท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล ธุดงค์ออกจากวัดพระงามศรีมงคล ตำบลน้ำโมง อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย แล้วก็ไปอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ขึ้นไปที่ภูฟ้า ภูหลวง แล้วก็กลับมายังจังหวัดอุดรธานี พักจำพรรษาอยู่ที่เสนาสนะป่าบ้านดงยาง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี

ท่านพระอาจารย์มั่นฯ และพระภิกษุสามเณรหลายรูป พักจำพรรษาอยู่ที่เสนาสนะป่าบ้านสามผง อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม ศิษย์อาวุโสองค์อื่นๆ แยกพักจำพรรษาในที่ต่างๆ ดังนี้

หลวงปู่สิงห์ พระอาจารย์มหาปิ่น ผู้เป็นน้องร่วมสายโลหิต และพระอาจารย์เทสก์ เทสรํสี พักจำพรรษาอยู่ที่ป่าบ้านอากาศ ตำบลอากาศ อำเภอวานรนิวาส (ปัจจุบันเป็นอำเภออากาศอำนวย) จังหวัดสกลนคร, พระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน พักจำพรรษาอยู่ที่บ้านโนนแดง, พระอาจารย์อุ่น ธมฺมธโร พักจำพรรษาอยู่ที่บ้านข่าใกล้บ้านสามผง, ท่านพระอาจารย์มั่นฯ และคณะส่วนหนึ่งได้ไปพักจำพรรษาอยู่ที่เสนาสนะป่าบ้านสามผง อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม ใกล้กับวัดโพธิ์ชัย ตามคำอาราธนาของพระอาจารย์เกิ่ง และพระอาจารย์สีลา

วันที่ ๑๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๙ พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก และพระอาจารย์สีลา อิสฺสโร ก็ได้ทำญัตติกรรมพร้อมกับพระภิกษุที่เป็นศิษย์ของท่านทั้งสองอีกประมาณ ๒๐ องค์ อีกด้วย ในจำนวนพระภิกษุที่มาทำการญัตติ มี พระอาจารย์สิม พุทฺธาจาโร ซึ่งครั้งนั้นยังเป็นสามเณรรวมอยู่ด้วยรูปหนึ่ง โดยได้กระทำพิธีที่อุทกุกเขปสีมา (โบสถ์น้ำ) หนองสามผง สำหรับโบสถ์น้ำที่ท่านจัดสร้างขึ้นนี้ ใช้เรือ ๒ ลำลอยเป็นโป๊ะ เอาไม้พื้นปูเป็นแพ แต่ไม่มีหลังคา เหตุที่สร้างโบสถ์น้ำทำสังฆกรรมคราวนี้ ก็เพราะในป่าจะหาโบสถ์ให้ถูกต้องตามพระวินัยไม่ได้ การทำญัตติกรรมครั้งนี้ ได้อาราธนาท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (หลวงปู่จูม พนฺธุโล) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็น พระครูชิโนวาทธำรง มาเป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตฺยาคโม เป็นพระกรรมวาจาจารย์, พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล เป็นพระอนุสาวนาจารย์ และท่านพระอาจารย์มั่นฯ นั่งหัตถบาสร่วมอยู่ด้วย

รูปภาพ
พระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน

รูปภาพ
พระอาจารย์อุ่น ธมฺมธโร

รูปภาพ
พระอาจารย์สิม พุทฺธาจาโร

(มีต่อ ๒)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 ก.ค. 2010, 10:18 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

๏ ตามพระอาจารย์มั่นไปอุบลราชธานี

หลังจากออกพรรษา ปี พ.ศ. ๒๔๖๙ แล้ว หลวงปู่สิงห์ ขนฺตฺยาคโม ได้พาคณะไปกราบนมัสการท่านพระอาจารย์มั่นฯ ที่บ้านสามผง ซึ่งท่านได้พักจำพรรษาอยู่ที่นั่น แล้วท่านพระอาจารย์มั่นฯ ก็ได้พาคณะเดินทางมาที่บ้านโนนแดง อำเภอท่าอุเทน (ปัจจุบันอยู่ในกิ่งอำเภอนาหว้า) จังหวัดนครพนม พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณรประมาณ ๗๐ รูป และได้มีการประชุมหารือกันในเรื่องที่จะไปเผยแผ่ธรรมและไปเทศนาสั่งสอนโปรดชาวบ้านญาติโยมที่เมืองอุบลราชธานี และได้วางระเบียบการปฏิบัติเกี่ยวกับการอยู่ป่า เกี่ยวกับการตั้งสำนักปฏิบัติ เกี่ยวกับแนวทางแนะนำสั่งสอนปฏิบัติจิต เพื่อให้คณะศิษยานุศิษย์นำไปปฏิบัติให้เป็นระเบียบเดียวกัน

จากนั้นท่านพระอาจารย์มั่นฯ ก็ได้ปรารภเรื่องจะนำโยมแม่ออก (โยมมารดาของท่านซึ่งบวชเป็นแม่ชี) ไปส่งมอบให้นางหวัน จำปาศีล น้องสาวของท่านที่จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อให้ช่วยดูแล เพราะท่านเห็นโยมแม่ออกท่านชราภาพมาก อายุ ๗๘ ปีแล้ว เกินความสามารถของท่านผู้เป็นพระจะปฏิบัติได้แล้ว หลวงปู่สิงห์ ขนฺตฺยาคโม และพระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล ต่างก็รับรองเอาโยมแม่ออกของท่านไปส่งด้วย เพราะโยมแม่ออกของท่านพระอาจารย์มั่นฯ แก่มาก หมดกำลัง ต้องไปด้วยเกวียนจึงจะไปถึงเมืองอุบลราชธานีได้

การเดินทางไปจังหวัดอุบลราชธานีอันเป็นถิ่นบ้านเกิดเมืองนอนของท่านในครั้งนี้ ถือว่าเป็นครั้งสำคัญครั้งหนึ่ง เพราะบรรดาศิษยานุศิษย์ทั้งใหญ่และเล็กก็ได้เตรียมที่จะเดินทางติดตามท่านในครั้งนี้แทบทั้งนั้น การเดินทางเป็นการเดินแบบเดินธุดงค์ แต่การธุดงค์นั้นเพื่อให้เป็นประโยชน์ด้วยท่านจึงจัดเป็นคณะๆ ละ ๓ รูป ๔ รูปบ้าง ท่านเองเป็นหัวหน้าเดินทางไปก่อน เมื่อคณะที่ ๒ ไปก็จะพักที่เดิมที่คณะที่ ๑ พัก คณะที่ ๓-๔ เมื่อตามคณะที่ ๒ ไปก็จะพักที่เดิมนั้น ทั้งนี้เพื่อจะได้สอนคณะศรัทธาญาติโยมตามรายทางด้วย การสอนนั้นก็เน้นหนักไปในทางกรรมฐานและการถึงพระไตรสรณคมน์ ที่ให้ละมิจฉาทิฏฐิ เลิกจากการเคารพนับถือภูตผีปีศาจต่างๆ นานา เป็นการทดลองคณะศิษยานุศิษย์ไปในตัวด้วยว่าองค์ใดจะมีผีมือในการเผยแผ่ธรรม

ในการเดินทางนั้น พอถึงวันอุโบสถก็จะนัดทำปาฏิโมกข์ หลังจากนั้นแล้วก็จะแยกย้ายกันไปตามที่กำหนดหมาย

การเดินธุดงค์แบบนี้ท่านบอกว่าเป็นการโปรดสัตว์ เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่พุทธบริษัททั้งหลาย และก็เป็นจริงเช่นนั้น แต่ละแห่งที่ท่านกำหนดพักนั้น ตามหมู่บ้านประชาชนได้เกิดความเลื่อมใสยิ่งในพระคณะกรรมฐานนั้นเป็นอย่างดี และต่างก็รู้ผิดชอบในพระธรรมวินัยขึ้นมาก ตามสถานที่เป็นที่พักธุดงค์ในการครั้งนั้น ได้กลับกลายมาเป็นวัดของคณะกรรมฐานเป็นส่วนใหญ่ในภายหลัง โดยญาติโยมทั้งหลายที่ได้รับรสพระธรรมได้พากันร่วมอกร่วมใจกันจัดการให้เป็นวัดขึ้น โดยเฉพาะให้เป็นวัดพระภิกษุสามเณร ฉันมื้อเดียว ฉันในบาตร บำเพ็ญสมาธิกรรมฐาน

อย่างไรก็ตาม คณะธุดงค์ทั้งหลายก็เผอิญไปพบกันเข้าอีกที่จังหวัดสกลนคร เพื่อร่วมงานศพมารดานางนุ่ม ชุวานนท์ และงานศพพระยาประจันตประเทศธานี บิดาของพระพินิจฯ เมื่อเสร็จงานฌาปนกิจทั้งสองศพนั้นแล้ว หลวงปู่สิงห์ พระอาจารย์มหาปิ่น และสานุศิษย์ต่างก็แยกย้ายกันธุดงค์ต่อไปเพื่อมุ่งไปยังจังหวัดอุบลราชธานี

ส่วนท่านพระอาจารย์มั่นฯ ธุดงค์ไปทางบ้านเหล่าโพนค้อ ได้แวะไปเยี่ยมพระอุปัชฌาย์พิมพ์ ต่อจากนั้นท่านก็ธุดงค์ต่อไป และพักบ้านห้วยทราย ๑๐ วัน โดยจุดมุ่งหมายท่านพระอาจารย์มั่นฯ ต้องการจะเดินทางกลับไปที่จังหวัดอุบลราชธานี ก็ได้บรรลุถึงหมู่บ้านหนองขอน อยู่ในเขตอำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี (ในขณะนั้น) ซึ่งเป็นบ้านเกิดของท่านหลวงปู่สิงห์ ขนฺตฺยาคโม ซึ่งชาวบ้านเมื่อได้ฟังธรรมเทศนาของท่านแล้ว เกิดความเลื่อมใสจึงได้พร้อมใจกันอาราธนาให้ท่านพักจำพรรษา เมื่อท่านเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ก็รับอาราธนา ชาวบ้านจึงช่วยกันจัดแจงจัดเสนาสนะถวายจนเป็นที่พอเพียงแก่พระภิกษุที่ติดตามมากับท่าน

ปี พ.ศ. ๒๔๗๐ ในพรรษานี้ท่านพระอาจารย์มั่นฯ ได้จำพรรษาอยู่ที่บ้านหนองขอนตามที่ชาวบ้านได้อาราธนาไว้ ส่วนพระที่เป็นศิษยานุศิษย์แต่ละคณะก็แยกกันจำพรรษาอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน อาทิเช่น พระอาจารย์สิงห์ และพระอาจารย์มหาปิ่นจำพรรษาอยู่ที่บ้านหัวตะพาน ซึ่งเป็นบ้านเกิดของท่านทั้งสอง, พระอาจารย์ฝั้น พระอาจารย์กู่ และพระอาจารย์กว่าจำพรรษาอยู่ที่เดียวกัน คือที่บ้านบ่อชะเนง เป็นต้น

รูปภาพ
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส)

รูปภาพ
หลวงปู่สิงห์ ขนฺตฺยาคโม

รูปภาพ
พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร


๏ พระกรรมฐานโดนพระเถระผู้ใหญ่ขับไล่

ระหว่างปีนั้น ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นพระราชาคณะชั้นเทพพิเศษ ในพระราชทินนามที่ พระโพธิวงศาจารย์ เจ้าคณะมณฑลและเจ้าคณะธรรมยุตในภาคอีสาน ทราบข่าวว่ามีคณะพระกรรมฐานของท่านพระอาจารย์มั่นฯ เดินทางมาพักอยู่ที่บ้านหัวตะพาน จึงสั่งให้เจ้าคณะแขวงอำเภอม่วงสามสิบ กับเจ้าคณะแขวงอำเภออำนาจเจริญ พร้อมด้วยนายอำเภออำนาจเจริญ ไปทำการขับไล่พระกรรมฐานคณะนี้ออกไปให้หมด ทั้งยังได้ประกาศด้วยว่า ถ้าผู้ใดใส่บาตรพระกรรมฐานเหล่านี้จะจับใส่คุกให้หมดสิ้น แต่ชาวบ้านก็ไม่กลัว ยังคงใส่บาตรกันอยู่เป็นปกติ นายอำเภออำนาจเจริญทราบเรื่อง จึงไปพบพระกรรมฐานคณะนี้อีกครั้งหนึ่ง แล้วแจ้งมาว่าในนามของจังหวัด ทางจังหวัดสั่งให้มาขับไล่

หลวงปู่สิงห์ ขนฺตฺยาคโม ซึ่งเป็นคนจังหวัดอุบลราชธานี ได้ตอบโต้ไปว่า ท่านเกิดที่นี่ท่านก็ควรจะอยู่ที่นี่ได้ นายอำเภอไม่ยอม พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ก็ได้ช่วยพูดขอร้องให้มีการผ่อนสั้นผ่อนยาวกันบ้าง แต่นายอำเภอก็ไม่ยอมท่าเดียว จากนั้นก็จดชื่อพระกรรมฐานไว้ทุกองค์ รวมทั้ง ท่านพระอาจารย์มั่นฯ หลวงปู่สิงห์ พระอาจารย์มหาปิ่น พระอาจารย์เที่ยง พระอาจารย์อ่อน พระอาจารย์ฝั้น พระอาจารย์เกิ่ง พระอาจารย์สีลา พระอาจารย์กู่ พระอาจารย์กว่า เป็นต้น นายอำเภอจนหมดแม้กระทั่งนามโยมบิดา-โยมมารดา สถานที่เกิด วัดที่บวช ทั้งหมดมีพระภิกษุสามเณรกว่า ๕๐ รูป และพวกลูกศิษย์ผ้าขาวอีกมากร่วม ๑๐๐ คน นายอำเภอต้องใช้เวลาจดตั้งแต่กลางวันจนถึงสองยามจึงเสร็จ ตั้งหน้าตั้งตาจดจนกระทั่งไม่ได้กินข้าวเที่ยง เสร็จแล้วก็กลับไป

ทางฝ่ายพระทั้งหลายก็ประชุมปรึกษากันว่า ทำอย่างไรดีเรื่องนี้จึงจะสงบลงได้ ไม่ลุกลามออกไปเป็นเรื่องใหญ่ พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ และพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร รับเรื่องไปพิจารณาแก้ไข

เสร็จการปรึกษาหารือแล้ว พระอาจารย์ฝั้นก็รีบเดินทางไปพบท่านพระอาจารย์มั่นฯ ที่บ้านหนองขอน ซึ่งอยู่ห่างออกไป ๕๐ เส้น ท่านพระอาจารย์มั่นฯ ทราบเรื่องจึงให้พระอาจารย์ฝั้นนั่งพิจารณา พอกำหนดจิตเป็นสมาธิแล้วปรากฏเป็นนิมิตว่า “แผ่นดินตรงนั้นขาด” คือแยกออกจากกันเป็นสองข้าง ข้างโน้นก็มาไม่ได้ ข้างนี้ก็ไปไม่ได้ พอดีสว่างพระอาจารย์ฝั้นจึงเล่าเรื่องที่นิมิตให้ท่านพระอาจารย์มั่นฯ ฟัง

เช้าวันนั้นเอง พระอาจารย์มหาปิ่นกับพระอาจารย์อ่อน ได้ออกเดินทางไปจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อพบกับเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะจังหวัดชี้แจงว่า ท่านไม่ได้รู้เรื่องอะไรเลย จากนั้นได้ให้นำจดหมายไปบอกนายอำเภอว่า ท่านไม่ได้เกี่ยวข้อง เรื่องยุ่งยากทั้งหลายจึงได้ยุติลง

รูปภาพ
พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ

รูปภาพ
พระอาจารย์กว่า สุมโน

รูปภาพ
พระอาจารย์บุญมา ฐิตเปโม

รูปภาพ
พระอาจารย์หล้า เขมปตฺโต


๏ พระอาจารย์มั่นปรารภเรื่องปลีกตัวออกจากหมู่เพื่อวิเวก

ครั้นออกพรรษาในปี พ.ศ. ๒๔๗๐ แล้ว ท่านพระอาจารย์มั่นฯ ก็ได้เดินธุดงค์ไปถึงตัวจังหวัดอุบลราชธานี ก็ได้นำโยมแม่ออกของท่านไปมอบให้น้องสาวในเมืองอุบลฯ ท่านพระอาจารย์มั่นฯ และคณะศิษยานุศิษย์พักที่วัดบูรพาราม คณะศิษยานุศิษย์เก่าๆ ทั้งหลายอันมี พระอาจารย์อุ่น ธมฺมธโร, พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ, พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร, พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก พร้อมด้วยศิษย์, พระอาจารย์หลุย จนฺทสาโร, พระอาจารย์กว่า สุมโน, พระอาจารย์คูณ, พระอาจารย์สีลา อิสฺสโร, พระอาจารย์ดี ฉนฺโน, พระอาจารย์บุญมา ฐิตเปโม, พระอาจารย์ทอง อโสโก, พระอาจารย์บุญส่ง (บ้านข่า), พระอาจารย์หล้า เขมปตฺโต, หลวงตาปั่น (อยู่พระบาทคอแก้ง) เป็นต้น เมื่อได้ทราบข่าวว่าท่านพระอาจารย์มั่นฯ เดินทางมาพำนักอยู่ในจังหวัดอุบลราชธานี ทุกองค์เหล่านี้ก็ได้ติดตามมาในเดือน ๓ เพ็ญ บรรดาคณะศิษยานุศิษย์ทั้งหมดมีหลวงปู่สิงห์ ขนฺตฺยาคโม เป็นต้น ก็ได้ร่วมประชุมอบรมธรรมปฏิบัติอย่างที่เคยๆ ปฏิบัติกันมา

ในค่ำคืนวันหนึ่ง ท่านพระอาจารย์มั่นฯ ได้เข้าที่ทำสมาธิภาวนา ก็ได้ปรารภขึ้นในใจว่า

“จะออกจากหมู่คณะไปแสวงหาสถานที่วิเวก เพื่อจะได้มีโอกาสพิจารณาค้นคว้าในปฏิปทาสัมมาปฏิบัติให้ได้รับความเข้าใจชัดเจน และแจ่มแจ้งเข้าไปอีก แล้วจะได้เอาปฏิปทาอันถูกต้องนั้นฝากไว้แก่เหล่าสานุศิษย์ในอนาคตต่อไป เพราะพระธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พระองค์ทรงตรัสไว้ดีแล้วนั้น ย่อมมีนัยอันสุขุมลุ่มลึกมาก ยากที่จะทำความเข้าใจให้ถูกต้องตามพุทธประสงค์ได้

ผู้ปฏิบัติตามรอยพระบาทพระพุทธองค์และตามปฏิปทาที่พระอริยเจ้าได้ดำเนินมาก่อนแล้วนั้น เมื่อไม่เข้าใจแจ่มแจ้งแล้ว ย่อมจะเขวไปจากปฏิปทาที่ถูกต้องก็เป็นได้ หรืออาจดำเนินไปโดยผิดๆ ถูกๆ เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ผู้ปฏิบัติดีทั้งหลายก็จะเข้าไม่ถึงศีลถึงธรรม หรืออาจถึงกับป่วยการไม่เป็นประโยชนแก่ตนของตน การปฏิบัติพระธรรมวินัยในพระพุทธศาสนาก็จะมีแต่ความพอกพูนกิเลสให้เจริญงอกงามขึ้นในตนของตนเท่านั้น ซึ่งไม่สมกับว่าพระธรรมวินัยเป็นของชำระกิเลสที่มีอยู่ให้สิ้นไปจากสันดานแห่งเวนัยสัตว์ทั้งหลาย

อนึ่ง การอยู่กับหมู่คณะจะต้องมีภาระการปกครอง ตลอดถึงการแนะนำพร่ำสอนฝึกฝนทรมานต่างๆ ซึ่งทำให้โอกาสและเวลาที่จะค้นคว้าในพระธรรมวินัยไม่เพียงพอ ถ้าแลเราปลีกตัวออกไปอยู่ในสถานที่วิเวก ซึ่งไม่มีภาระแล้ว ก็จะได้มีโอกาสเวลาในการค้นคว้ามากขึ้น ผลประโยชน์ในอนาคตก็จะบังเกิดขึ้นมาให้เป็นที่น่าพึงใจ”


ครั้นปรารภในใจอยู่อย่างนั้นแล้ว ท่านพระอาจารย์มั่นฯ จึงได้เรียกคณะศิษยานุศิษย์ทั้งหลายมีหลวงปู่สิงห์เป็นต้น มาประชุมกัน ท่านได้แนะนำให้มีความมั่นคงดำรงอยู่ในข้อวัตรปฏิบัติอย่างที่ได้เคยแนะนำสั่งสอนมาแล้วนั้น จึงได้มอบหมายให้อำนาจหลวงปู่สิงห์ ขนฺตฺยาคโม และพระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล เป็นผู้บริหารปกครองแนะนำพร่ำสอนตามแนวทางที่ท่านได้แนะนำมาแล้วต่อไป

เมื่อเสร็จจากการประชุมแล้วในการครั้งนั้น ท่านพระอาจารย์มั่นฯ ก็กลับไปที่บ้านของท่านอีก ได้แนะนำธรรมปฏิบัติซึ่งท่านได้เคยแนะนำมาก่อนแก่โยมมารดาของท่าน จนได้รับความอัศจรรย์อันเป็นภายในอย่างยิ่งมาแล้ว ท่านจึงได้ไปลาโยมมารดา และได้มอบให้นางหวัน จำปาศีล ผู้น้องสาวเป็นผู้อุปัฏฐากรักษาทุกประการ

จากนั้นออกพรรษาแล้ว ประมาณเดือน ๓ หรือเดือน ๔ ท่านก็ได้ออกเดินทางต่อไปยังกรุงเทพฯ กับท่านเจ้าคุณพระปัญญาพิศาลเถร (หนู ฐิตปญฺโญ) เพื่อจำพรรษาที่วัดสระปทุม (วัดปทุมวนาราม) ครั้นออกพรรษาแล้ว ก็ได้ติดตามท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) ไปจำพรรษายังจังหวัดเชียงใหม่

รูปภาพ
พระปัญญาพิศาลเถร (หนู ฐิตปญฺโญ)

รูปภาพ
พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท)

(มีต่อ ๓)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 ก.ค. 2010, 10:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


๏ ติดตามหลวงปู่สิงห์ไปจังหวัดขอนแก่น

ในปี พ.ศ. ๒๔๗๑ ระหว่างนี้หลวงปู่สิงห์ และพระมหาปิ่น กับพระภิกษุสามเณรรวมกันถึง ๘๐ รูป ได้เดินทางเที่ยววิเวกไปในสถานที่ต่างๆ ก็ได้เที่ยวเทศนาอบรมศีลธรรมประชาชนโดยการขอร้องของเจ้าเมืองอุบลฯ เมื่อจวนเข้าพรรษาได้ไปพักจำพรรษาอยู่วัดบ้านหัวงัว ตำบลกำแมด อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร ซึ่งเป็นบ้านญาติท่าน

ในช่วงที่หลวงปู่สิงห์ และพระมหาปิ่น พักจำพรรษาอยู่ที่วัดบ้านหัวงัว จังหวัดยโสธร ท่านก็ได้ทราบข่าวจากพระครูพิศาลอรัญญเขต (จันทร์ เขมิโย ป.ธ. ๓) เจ้าคณะธรรมยุตจังหวัดขอนแก่น และเจ้าอาวาสวัดศรีจันทร์ (วัดศรีจันทราวาส) ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นญาติของท่านด้วย ว่าทางจังหวัดขอนแก่นมีเหตุการณ์ไม่สู้ดี ขณะนั้นพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ซึ่งจำพรรษาอยู่สำนักสงฆ์ที่หนองน่อง บ้านห้วยทราย อำเภอคำชะอี จังหวัดนครพนม ก็ได้มากราบนมัสการและได้ร่วมปรึกษาหารือกับหลวงปู่สิงห์ และพระมหาปิ่น ในเรื่องดังกล่าว และพิจารณาเห็นควรลงไปช่วยพระครูพิศาลอรัญญเขต (จันทร์ เขมิโย ป.ธ. ๓) เมื่อเห็นพ้องต้องกันแล้ว ต่างก็แยกย้ายกันออกเดินทาง โดยกำหนดให้ไปพบกันก่อนเข้าพรรษาที่วัดป่าเหล่างา (วัดป่าวิเวกธรรม) ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น

เมื่อเป็นดังนั้น ชาวอำเภอยโสธร มีพระอาจารย์ริน พระอาจารย์แดง พระอาจารย์อ่อนตา เป็นหัวหน้า พร้อมด้วยชาวบ้านร้านตลาด ได้จ้างเหมารถยนต์ให้ ๒ คัน หลวงปู่สิงห์ พระมหาปิ่น และคณะได้พากันออกเดินทางจากอำเภอยโสธรโดยทางรถยนต์ ไปพักแรมอยู่จังหวัดร้อยเอ็ด ๑ คืน แล้วออกเดินทางไปพักอยู่ที่จังหวัดมหาสารคาม ที่ดอนปู่ตา ที่ชาวบ้านกล่าวกันว่าผีดุ มีชาวบ้านร้านตลาดและข้าราชการพากันมาฟังเทศน์ฟังธรรมมากมาย จากนั้นเดินทางต่อไปถึงบ้านโนนยาง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ตรงกับเดือน ๓ แรม ๖ ค่ำ และได้ไปรวมกันอยู่ที่วัดป่าเหล่างา (วัดป่าวิเวกธรรม) ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองขอนแก่น

รูปภาพ
พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ


๏ เหตุการณ์ไม่สู้ดีที่ขอนแก่น

ที่เมืองขอนแก่นนั้น คณะของหลวงปู่สิงห์ และพระมหาปิ่น ได้พบว่าเหตุการณ์ก็ไม่สู้ดีตามที่พระครูพิศาลอรัญญเขต (จันทร์ เขมิโย ป.ธ. ๓) ว่าไว้ ดังที่ปรากฏในหนังสืออัตตโนประวัติพระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ ซึ่งในสมัยนั้นท่านได้ร่วมอยู่ในคณะด้วย ท่านได้เขียนไว้ว่า

“ข้าได้พักอยู่กับพระอาจารย์สิงห์ ฟังเสียงพวกโยมคนเมืองขอนแก่น ไม่เคยเห็นพระกรรมฐาน ตื่นเต้นกล่าวร้ายติเตียนกันไปสารพัดต่างๆ นานา มิใช่เขาตื่นเต้นไปทางกลัวทางเสื่อมใส ดังพวกชาวเมืองราชคฤห์ตื่นเต้นคราวได้เห็นพระพุทธเจ้าออกบรรพชาใหม่ไปเที่ยวบิณฑบาตนั้น

โยมคนเมืองขอนแก่นพากันตื่นเต้นอย่างเห็นพระกรรมฐานเป็นสัตว์ เรียกพวกพระกรรมฐานว่า “พวกบักเหลือง” คำว่า “บักเหลือง” นี้เขาว่าพระกรรมฐานทั้งหลายเป็นงูจงอาง อีหล้าคางเหลือง

ฉะนั้น จึงมีคนเขาออกมาดูพวกพระกรรมฐาน เขาจำต้องมีมือ ถือไม้ค้อนกันมาแทบทุกคน เมื่อมาถึงหมู่พวกข้าแล้ว เขาถือไม้ค้อนเดินไปมาเที่ยวดูพระเณรที่พากันพักอยู่ตามร่มไม้และร้านที่เอากิ่งไม้ แอ้ม และมุงนั้น ไปๆ มาๆ แล้วก็ยืนเอาไม้ค้อนค้ำเอว ยืนดูกันอยู่ก็มีพอควร แล้วก็พากันกลับบ้าน เสียงร้องว่า เห็นแล้วละพวกบักเหลือง พวกอีหล้าคางเหลือง พวกมันมาแห่น (แทะ) หัวผีหล่อน (กะโหลก) อยู่ป่าช้าโคกเหล่างา มันเป็นพวกแม่แล้ง ไปอยู่ที่ไหนฝนฟ้าไม่ตกเลย จงให้มันพากันหนี ถ้าพวกบักเหลืองไม่หนีภายในสามสี่วันนี้ ต้องได้ถูกเหง้าไม้ไผ่ค้อนไม้สะแกไปฟาดหัวมันดังนี้ไปต่างๆ นานา จากนี้ไปก็มีเขียนหนังสือปักฉลากบอกให้หนี ถ้าไม่หนีก็จะเอาลูกทองแดงมายิงบูชาละ ดังนี้เป็นต้น

ไปบิณฑบาตไม่มีใครยินดีใส่บาตรให้ฉัน จนหลวงปู่สิงห์ภาวนาคาถาอุณหัสสวิชัย ว่าแรงๆ ไปเลยว่า ตาบอดๆ หูหนวกๆ ปากกืกๆ (ใบ้) ไปตามทางบิณฑบาตนั้นแหละ ทั้งมีแยกกันไปบิณฑบาตตามตรอกตามบันไดเรือนไปเลย จึงพอได้ฉันบ้าง ทั้งพระอาจารย์ก็มีการประชุมลูกศิษย์วันสองวันต่อครั้งก็มี

ท่านให้โอวาทแก่พวกลูกศิษย์ได้มีความอบอุ่นใจ ไม่ให้มีความหวาดกลัวอยู่เสมอ แต่ตัวข้าก็ได้อาศัยพิจารณากำหนดจิตตั้งอยู่ในคำสอนของพระพุทธเจ้า ว่า ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารี นี้อยู่เรื่อยไป”


รูปภาพ
พระอาจารย์ภุมมี ฐิตธมฺโม

รูปภาพ
พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ

รูปภาพ
พระอาจารย์หลุย จนฺทสาโร


๏ แยกย้ายกันไปตั้งวัดใหม่

ที่วัดป่าเหล่างา (วัดป่าวิเวกธรรม) พระปฏิบัติสัทธรรมชุดนี้ได้ประชุมตกลงให้แยกย้ายกันไปตั้งเป็นสำนักสงฆ์วัดป่าฝ่ายอรัญวาสีขึ้นหลายแห่งใน จ.ขอนแก่น เพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาฝ่ายวิปัสสนาธุระ เทศนาสั่งสอนประชาชนให้ละมิจฉาทิฏฐิ เลิกจากการเคารพนับถือภูตผีปีศาจ และให้ตั้งอยู่ในพระไตรสรณคมน์ นับถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะที่พึ่งอย่างแท้จริง โดยได้แยกกันอยู่จำพรรษาตามสำนักสงฆ์ต่างๆ ดังต่อไปนี้

๑. พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตฺยาคโม, พระอาจารย์ภุมมี ฐิตธมฺโม, พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ, พระอาจารย์หลุย จนฺทสาโร อยู่จำพรรษาที่สำนักสงฆ์วัดป่าเหล่างา (วัดป่าวิเวกธรรม) ตำบลโนนทัน อำเภอพระลับ จังหวัดขอนแก่น

๒. พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล, พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ อยู่จำพรรษาที่สำนักสงฆ์วัดป่าบ้านพระคือ ตำบลพระลับ อำเภอพระลับ จังหวัดขอนแก่น

๓. พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณร อยู่จำพรรษาที่สำนักสงฆ์วัดป่าบ้านผือ ตำบลโนนทัน อำเภอพระลับ จังหวัดขอนแก่น

๔. พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณร อยู่จำพรรษาที่สำนักสงฆ์วัดป่าชัยวัน บ้านสีฐาน ตำบลในเมือง อำเภอพระลับ จังหวัดขอนแก่น

๕. พระอาจารย์สีลา อิสฺสโร อยู่จำพรรษาที่สำนักสงฆ์วัดป่าบ้านคำไฮ ตำบลเมืองเก่า อำเภอพระลับ จังหวัดขอนแก่น

๖. พระอาจารย์อุ่น ธมฺมธโร พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณร อยู่จำพรรษาที่สำนักสงฆ์วัดป่าบ้านทุ่ง อำเภอพระลับ จังหวัดขอนแก่น

๗. พระอาจารย์ดี ฉนฺโน พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณร อยู่จำพรรษาที่สำนักสงฆ์วัดป่าบ้านโคกโจด อำเภอพระลับ จังหวัดขอนแก่น

๘. พระอาจารย์ซามา อาจุตฺโต พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณร อยู่จำพรรษาที่สำนักสงฆ์วัดป่าบ้านยางคำ อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น

๙. พระอาจารย์นิน อยู่จำพรรษาที่สำนักสงฆ์วัดป่าสุมนามัย อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น

รูปภาพ
พระอาจารย์ดี ฉนฺโน

รูปภาพ
พระอาจารย์ซามา อาจุตฺโต


เมื่อออกพรรษาแล้ว หลวงปู่สิงห์ พระมหาปิ่น พร้อมด้วยเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล และพระอุปัชฌาย์ในท้องที่อำเภอพระลับ จังหวัดขอนแก่น ได้ออกเทศนาสั่งสอนประชาชนให้ละมิจฉาทิฏฐิ เลิกจากการเคารพนับถือภูตผีปีศาจ และให้ตั้งอยู่ในพระไตรสรณคมน์ทุกปี ตลอดมาเป็นเวลา ๓ ปี

พระมหาปิ่น ปญฺญาพโล ได้ติดตามหลวงปู่สิงห์ พระพี่ชาย พร้อมด้วยหมู่คณะออกเผยแผ่ธรรม อีกทั้งก่อสร้างเสนาสนะเพื่อปฏิบัติธรรม เฉพาะที่จังหวัดขอนแก่นรวมได้ถึง ๖๐ แห่งเศษ โดยเฉพาะที่ป่าช้าบ้านพระคือ ได้กลายเป็นที่ชุมนุมฟังธรรมและปฏิบัติธรรมของบรรดาชาวบ้านญาติโยม ทั้งจากที่ใกล้และไกล ด้วยชื่นชอบศรัทธาพระมหาปิ่น ว่าท่านเป็นพระที่มีความสามารถทั้งทางด้านปริยัติและปฏิบัติ

เมื่อครั้งพระมหาปิ่นได้อยู่อุปัฏฐากรับใช้ท่านพระอาจารย์มั่นฯ ท่านได้ทราบถึงการที่ท่านพระอาจารย์มั่นฯ สามารถรู้วาระจิตของผู้อื่นได้ ที่เรียกว่า เจโตปริยญาณ ตลอดจนปัจจุปปันนังสญาณ ญาณหยั่งรู้เหตุปัจจุบันว่าขณะนี้ใครทำอะไรอยู่ และมีสภาพอย่างไรแล้ว ท่านจึงเลิกทิฏฐิว่าตนเองรู้มากเรียนมามากจนถึงขั้นเปรียญ ๕ ประโยค หันมาเชื่อฟังยอมรับปฏิบัติตามโอวาทของท่านพระอาจารย์มั่นฯ ด้วยดี เนื่องจากมีความรู้มากด้านพระปริยัติธรรม ท่านจึงมองเห็นแก่นธรรมด้วยจิตใจ หากมีสิ่งใดสงสัยติดขัด ท่านจะรีบเข้าสอบถามเพื่อแก้ไขโดยเร็ว ไม่ปล่อยทิ้งไว้ให้เป็นภัย ท่านจึงจดจำคำแนะนำสั่งสอน อีกทั้งอุบายธรรมในการปฏิบัติธรรมของท่านพระอาจารย์มั่นฯ เป็นอย่างดี และได้เคยร่วมเดินธุดงค์ติดตามพระเถระผู้ใหญ่หลายองค์

พระมหาปิ่นมีข้อวัตรปฏิบัติอย่างจริงจัง คือ ลุกขึ้นตั้งแต่ ๐๓.๐๐ น. เดินจงกรมประมาณ ๑ ชั่วโมง แล้วนั่งสมาธิจนสว่าง จากนั้นก็จะไปปรนนิบัติรับใช้ท่านพระอาจารย์มั่นฯ ถวายน้ำบ้วนปาก ไม้สีฟัน ปัดกวาดบริเวณห้องนอน เก็บบาตรจีวรมาไว้ที่ศาลา แล้วจากนั้นจึงออกบิณฑบาตด้วยการกำหนดสติไม่ให้เผลอ เวลานั่งฉันก็สำรวมสติอยู่แต่ในบาตร และจะพิจารณาปฏิสังขาโย ให้มีสติกำหนดพิจารณาอาหารก่อนฉัน จนสติแน่วแน่จึงฉันจังหัน เมื่อเสร็จกิจวัตรแล้ว ต้องเข้าที่เดินจงกรมอีกประมาณ ๑ ชั่งโมงเศษ แล้วจึงพักกลางวันพอสมควร จากนั้นจึงมีการประชุมกวาดลานวัด ทำความสะอาดทั่วบริเวณ ต่อจากนั้นจึงไปถวายน้ำสรงให้แก่ท่านพระอาจารย์มั่นฯ อุปัฏฐากรับใช้ท่านตามควร แล้วมาเดินจงกรมรักษาสติ จนถึง ๒ ทุ่ม จึงมาประชุมนั่งฟังธรรมรับโอวาทเกี่ยวกับการปฏิบัติ จนถึงเวลา ๒๓.๐๐ น. จึงแยกกันกลับไปปฏิบัติบำเพ็ญสมาธิ ณ ที่อยู่ของตน

รูปภาพ
คณะศิษย์พระป่ากรรมฐานสายหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต จากซ้ายไปขวา :
๑. หลวงปู่ศรีจันทร์ วณฺณาโภ วัดศรีสุทธาวาส จ.เลย (อายุ ๖๘ ปี)
๒. หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ วัดป่านิโครธาราม จ.อุดรธานี (อายุ ๗๑ ปี)
๓. หลวงปู่ชอบ ฐานสโม วัดป่าสัมมานุสรณ์ จ.เลย (อายุ ๗๒ ปี)
๔. หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร วัดถ้ำผาบิ้ง จ.เลย (อายุ ๗๒ ปี)
๕. หลวงปู่ซามา อาจุตฺโต วัดป่าอัมพวัน จ.เลย (อายุ ๖๘ ปี)


(มีต่อ ๔)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 ก.ค. 2010, 10:23 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
พระอุดมญาณโมลี (หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป)

รูปภาพ
รูปหล่อสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) ณ วัดบรมนิวาส


๏ สมเด็จฯ สั่งให้ไปนครราชสีมา

หลังจากเสร็จงานพิธีอุปสมบทท่านเจ้าคุณพระอุดมญาณโมลี (หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป) เมื่อครั้งยังเป็นสามเณร เมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๔ ซึ่งสามเณรจันทร์ศรี แสนมงคล ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดศรีจันทร์ (วัดศรีจันทราวาส) ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น โดยมี พระครูพิศาลอรัญญเขต (จันทร์ เขมิโย ป.ธ. ๓) เจ้าคณะธรรมยุตจังหวัดขอนแก่น เป็นพระอุปัชฌาย์, หลวงปู่สิงห์ ขนฺตฺยาคโม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระมหาปิ่น ปญฺญาพโล เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ในเดือนถัดมา คือเดือนกุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. ๒๔๗๔ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเจ้าคณะรองหิรัญบัฏ หรือรองสมเด็จพระราชาคณะ ในพระราชทินนามที่ พระพรหมมุนี เจ้าคณะมณฑลนครราชสีมา ท่านได้บังเกิดมีความสังเวชสลดใจ โดยได้ทัศนาการเห็นท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) วัดบรมนิวาส กรุงเทพฯ ป่วยหนัก ระลึกถึงตัวเองว่าไม่มีกัลยาณมิตรที่ดีทางฝ่ายวิปัสสนา จึงใคร่จะหาที่พึ่งอันประเสริฐต่อไป

ดังนั้น จึงตกลงใจต้องไปเอาหลวงปู่สิงห์ พระมหาปิ่น ซึ่งกำลังออกเที่ยวธุดงค์ไปจังหวัดขอนแก่น มาเป็นกัลยาณมิตรที่ดีให้จงได้ เมื่อตกลงใจแล้วก็เดินทางไปโดยฐานะเป็นเจ้าคณะตรวจการ ครั้นไปถึงจังหวัดขอนแก่น แล้วถามได้ทราบความว่า หลวงปู่สิงห์ พระมหาปิ่น กำลังออกไปเทศนาสั่งสอนประชาชนอยู่อำเภอน้ำพอง ก็โทรเลขถึงนายอำเภอให้ไปอาราธนาหลวงปู่สิงห์ พระมหาปิ่น เอารถยนต์มาส่งถึงจังหวัดขอนแก่นในวันนั้น

เมื่อหลวงปู่สิงห์ พระมหาปิ่นมาถึงจังหวัดขอนแก่นแล้ว ท่านบอกว่าจะเอาไปอยู่ด้วยที่จังหวัดนครราชสีมา เพื่อปรึกษาหารือกันด้านวิปัสสนาและอบรมสมถวิปัสสนาแก่พุทธบริษัททั้งหลายด้วย เพราะได้เห็นท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) ป่วยขาหักเสียแล้ว ท่านสลดใจมาก

และในปีนี้เอง พ.ต.ต.หลวงชาญนิยมเขต ได้ถวายที่ดินหลังสถานีรถไฟ จำนวน ๘๐ ไร่เศษ ให้สร้างเป็นวัด ซึ่งต่อมาก็คือ วัดป่าสาลวัน นั่นเอง หลวงปู่สิงห์จึงได้เรียกลูกศิษย์ที่อยู่ทางขอนแก่นลงไป เมื่อคณะศิษยานุศิษย์มาถึงนครราชสีมา ก็ได้ออกเดินทางไปพักที่สวนของคุณหลวงชาญนิยมเขต

รุ่งขึ้นจากวันที่มีการถวายที่ดิน หลวงปู่สิงห์ ขนฺตฺยาคโม และพระมหาปิ่น ปญฺญาพโล ก็เดินทางเข้ากรุงเทพฯ โดยเดินทางร่วมมากับพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ซึ่งเป็นการเข้ากรุงเทพฯ เป็นครั้งแรกของท่านอาจารย์ฝั้น เพื่อเข้ามาเยี่ยมอาการป่วยของท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) ที่วัดบรมนิวาส เมื่อถึงกรุงเทพฯ ก็ได้เข้าพักอยู่ที่วัดบรมนิวาส ตั้งแต่เดือน ๓ จนถึงเดือน ๖

ในระหว่างนั้นท่านก็ได้ฝึกสอนพุทธบริษัทวัดบรมนิวาสให้นั่งสมาธิภาวนา และได้ไปฝึกสอนพุทธบริษัทวัดสัมพันธวงศ์ให้นั่งสมาธิภาวนา มีประชาชนพุทธบริษัทมาสดับตรับฟังและฝึกหัดนั่งสมาธิเป็นอันมากทั้ง ๒ สำนัก

รูปภาพ
วัดป่าสาลวัน ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา ในปัจจุบัน

รูปภาพ
อุโบสถวัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา ในปัจจุบัน


๏ แยกย้ายกันสร้างวัดและเผยแผ่ธรรม

ในระหว่างที่หลวงปู่สิงห์ และพระมหาปิ่น เดินทางเข้ากรุงเทพฯ คณะศิษย์ก็ร่วมกันจัดสร้างเสนาสนะชั่วคราวขึ้น พอท่านกลับมาถึงแล้วเมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๔๗๕ หลวงปู่สิงห์ พระมหาปิ่น ก็ไปพักที่วัดป่าสาลวัน ซึ่งคุณหลวงชาญนิยมเขต ได้เริ่มสร้างมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ๒๔๗๔ ได้กุฏิ ๑ หลัง ศาลายังสร้างไม่เสร็จ ๑ หลัง

จากนั้นพระมหาปิ่นก็ได้พาหมู่ศิษย์อีกหมู่หนึ่งไปสร้างเสนาสนะที่ข้างกรมทหาร ตำบลหัวทะเล อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งแต่ก่อนเคยเป็นป่าช้าที่ ๒ สำหรับเผาศพผู้ที่ตายด้วยโรคติดต่อ เช่น อหิวาตกโรค และกาฬโรค เป็นต้น ให้ชื่อว่า วัดป่าศรัทธารวม พรรษานั้นมีพระผู้ใหญ่ด้วยกันหลายองค์ คือ พระอาจารย์เทสก์ เทสรํสี, พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร, พระอาจารย์ภุมมี ฐิตธมฺโม, พระอาจารย์หลุย จนฺทสาโร และพระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ โดยมีพระมหาปิ่น ปญฺญาพโล เป็นหัวหน้า พรรษานี้พระมหาปิ่นก็ได้รับแขกและเทศนาอบรมญาติโยมตลอดพรรษา ปีเดียวเกิดมีวัดป่าพระกรรมฐานขึ้น ๒ วัดเป็นปฐมฤกษ์ของเมืองโคราช

พรรษาแรก ได้แยกกันอยู่จำพรรษา ดังนี้คือ

๑. หลวงปู่สิงห์ ขนฺตฺยาคโม
๒. พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ
๓. พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ

เผยแผ่พระพุทธศาสนาฝ่ายวิปัสสนาธุระ อยู่จำพรรษาที่วัดป่าสาลวัน ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา มีพระภิกษุ ๓๘ รูป สามเณร ๑๒ รูป

๑. พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล ป.ธ.๕
๒. พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร

เผยแผ่พระพุทธศาสนาฝ่ายวิปัสสนาธุระ อยู่จำพรรษาที่วัดป่าศรัทธารวม ตำบลหัวทะเล อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา มีพระภิกษุ ๑๐ รูป สามเณร ๔ รูป

รูปภาพ
บูรพาจารย์เจดีย์ (เจดีย์หลวงพ่อพุธ ฐานิโย) วัดป่าสาลวัน

รูปภาพ
รูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งพระบูรพาจารย์สายพระป่ากรรมฐาน
ณ บูรพาจารย์เจดีย์ (เจดีย์หลวงพ่อพุธ ฐานิโย) วัดป่าสาลวัน



คณะหลวงปู่สิงห์ ขนฺตฺยาคโม และพระมหาปิ่น ปญฺญาพโล ได้มีการอบรมศีลธรรมให้แก่ประชาชน จนประชาชนเกิดความเลื่อมใสและตั้งตนอยู่ในพระไตรสรณาคมน์ ถือวัดป่าสาลวันเป็นจุดศูนย์กลางปฏิบัติกรรมฐานและเป็นสถานที่ชุมนุมประจำ ครั้นเมื่อจะเข้าพรรษาก็ให้แยกย้ายพระภิกษุไปวิเวกจำพรรษาในวัดต่างๆ ที่ไปตั้งขึ้น สำหรับตัวท่านหลวงปู่สิงห์ได้ไปจำพรรษาอยู่ที่ศูนย์กลางคือ วัดป่าสาลวัน

นอกจากวัดป่าศรัทธารวมแล้ว ระยะต่อมาก็มีการกระจายกันไปสร้างวัดโดยรอบวัดป่าสาลวัน เช่น สร้างวัดศรัทธาวนาราม ข้างกรมทหาร ตำบลหัวทะเล สร้างวัดป่าคีรีวัลย์ อำเภอท่าช้าง วัดป่าอำเภอกระโทก วัดป่าอำเภอจักราช วัดป่าสะแกราช อำเภอปักธงไชย วัดป่าบ้าใหม่สำโรง อำเภอสีคิ้ว วัดป่าบ้านมะรุม อำเภอโนนสูง เป็นต้น เพื่อเป็นกองทัพธรรมกระจายแยกย้ายกันไปเทศนาอบรมประชาชน

พระมหาปิ่น ปญฺญาพโล ได้จำพรรษาอยู่ที่วัดป่าศรัทธารวม ได้ ๕ พรรษา ปี พ.ศ. ๒๔๘๐ ท่านได้ติดตามหลวงปู่สิงห์ ขนฺตฺยาคโม ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาฝ่ายวิปัสสนาธุระในจังหวัดปราจีนบุรี ตามคำอาราธนาของท่านเจ้าคุณพระปราจีนมุนี ตั้งแต่เมื่อยังไม่ตั้งสำนักสงฆ์วัดป่าทรงคุณ ท่านพักที่สวนมะม่วงของอาจารย์พร บรรลือคุณ

ปี พ.ศ. ๒๔๘๑ เมื่อครั้งจัดงานบำเพ็ญกุศลครบรอบ ๘๐ ปี ของท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล หลวงปู่สิงห์ ขนฺตฺยาคโม กับพระมหาปิ่น ปญฺญาพโล ได้ร่วมกันเรียบเรียงหนังสือที่ระลึกเรื่องกติกาวิธีสัมมาปฏิบัติ ว่าด้วยข้อปฏิบัติดีปฏิบัติชอบสำหรับสำนักชีกรรมฐาน ถวายมุทิตาจิตแด่ท่านพระอาจารย์เสาร์เพื่อพิมพ์แจกในงาน ซึ่งก่อนหน้านี้หลวงปู่สิงห์และพระมหาปิ่นก็ได้ร่วมกันเรียบเรียงหนังสือแบบถึงพระไตรสรณคมน์ กับแบบวิธีนั่งสมาธิภาวนา ตามที่คุณหา บุญมาไชย์ ปลัดขวาอำเภอพระลับ จังหวัดขอนแก่น อาราธนาให้เรียบเรียงไว้เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๔ โดยถวายท่านพระอาจารย์เสาร์ให้พิจารณาตรวจทานด้วย

ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๘๒ พระมหาปิ่น ปญฺญาพโล ได้ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่จังหวัดปราจีนบุรีอีก ในครั้งนี้ท่านพักจำพรรษาอยู่ที่สำนักสงฆ์วัดป่าทรงคุณ ตำบลดงพระราม อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี ๕ พรรษา

ปี พ.ศ. ๒๔๘๔ พระมหาปิ่นท่านได้เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ในพิธีอุปสมบทพระอาจารย์สุวัจน์ สุวโจ (ทองศรี) ในคราวพระอาจารย์สุวัจน์ได้ญัตติใหม่ในฝ่ายธรรมยุติกนิกาย เมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ณ พัทธสีมาวัดสุทธจินดา ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา

ครั้นเมื่อท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล ได้มรณภาพลงที่วัดอำมาตยาราม นครจำปาศักดิ์ ประเทศลาว เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๕ หลวงปู่สิงห์ พระมหาปิ่น และคณะศิษยานุศิษย์ ได้เดินทางไปรับศพท่านพระอาจารย์เสาร์กลับเมืองไทย และยังเป็นกำลังสำคัญในการจัดงานถวายเพลิงศพของท่านพระอาจารย์เสาร์ ณ วัดบูรพา ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๘๖

รูปภาพ
พระอาจารย์สุวัจน์ สุวโจ

(มีต่อ ๕)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 ก.ค. 2010, 10:24 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

๏ พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล มรณภาพ

ในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๘๗ หลวงปู่สิงห์ ขนฺตฺยาคโม ได้พักจำพรรษาอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี ในปีนั้น ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) อาพาธหนักถึงขนาดฉันอาหารไม่ได้ ต้องถวายอาหารทางเส้นโลหิต หลวงปู่สิงห์จึงเรียกพระเถระฝ่ายกรรมฐานเข้าไปปรึกษาหารือ เพื่อหาทางบำบัดโรคในทางธรรมปฏิบัติ สมเด็จฯ ได้นิมนต์หลวงปู่สิงห์ ขนฺตฺยาคโม พระอาจารย์ทอง อโสโก และพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ให้มาอธิบายธรรมให้ท่านฟัง ปีนั้นเป็นปีเดียวกันกับที่พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล ซึ่งได้ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาฝ่ายวิปัสสนาธุระที่จังหวัดปราจีนบุรีอยู่นานถึง ๕ พรรษา ได้เดินทางกลับมายังจังหวัดอุบลราชธานี

ครั้นเมื่อกลับจากจังหวัดปราจีนบุรี มาอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานีแล้ว ในปี พ.ศ. ๒๔๘๗-๒๔๘๘ พระอาจารย์มหาปิ่นได้อาพาธด้วยโรคปอดอยู่ที่วัดป่าแสนสำราญ ตำบลธาตุ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ในช่วงนั้น พระอาจารย์ฝั้นซึ่งได้รับคำสั่งจากสมเด็จฯ ซึ่งอาพาธอยู่ ให้เข้ามาถวายธรรมโอสถ ซึ่งสมเด็จฯ พอใจในพระธรรมเทศนานั้น จึงได้สั่งให้พระอาจารย์ฝั้นอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานีเพื่ออุปัฏฐากสมเด็จฯ

ในพรรษานั้น ในช่วงเวลาที่พ้นเวลาอุปัฏฐากสมเด็จฯ พระอาจารย์ฝั้นก็ประกอบยารักษาโรคถวายพระอาจารย์มหาปิ่น พระอาจารย์ฝั้นได้พยายามหาสมุนไพรต่างๆ มาปรุง แล้วกลั่นเป็นยาถวายพระอาจารย์มหาปิ่น หยูกยาที่ทันสมัยก็ไม่มี เพราะขณะนั้นกำลังอยู่ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ เมื่อออกพรรษาในปี พ.ศ. ๒๔๘๗ เสร็จฤดูกาลกฐินแล้ว พระอาจารย์ฝั้นได้เข้ากราบนมัสการลาท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) ที่วัดสุปัฏนาราม อำเภอเมืองอุบลราชธานี ขอเดินทางไปจังหวัดสกลนคร อันเป็นจังหวัดบ้านเกิดของท่าน

พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล ท่านอาพาธอยู่ ๒ พรรษา ก็ไม่หายจากอาการอาพาธนั้น และในที่สุดได้ถึงแก่มรณภาพ เมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๙ สิริรวมอายุได้ ๕๔ พรรษา ๓๒ หลวงปู่สิงห์ ขนฺตฺยาคโม พระพี่ชาย ก็ได้เป็นธุระในเรื่องเกี่ยวกับการศพของพระอาจารย์มหาปิ่นจนเสร็จการ

รูปภาพ
พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ผู้ประกอบยาถวายพระอาจารย์มหาปิ่น

รูปภาพ
หลวงปู่สิงห์ ขนฺตฺยาคโม พระพี่ชายพระอาจารย์มหาปิ่น
ผู้เป็นธุระในเรื่องเกี่ยวกับการศพของพระอาจารย์มหาปิ่นจนเสร็จการ



๏ ธรรมโอวาท

ธรรมโอวาทโดยสรุปของพระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล ความว่า ธรรมจะเกิดขึ้นกับจิตใจได้จริงถ้าเราตั้งใจ แต่จิตใจของบุคคลปกตินั้นมีกำลังอ่อน จึงไม่สามารถจะกำจัดความชั่วอันเป็นมารที่มีอารมณ์เป็นอาวุธ ซึ่งเข้ามารบกวนจิตใจได้ ผู้ปรารถนาจะต่อสู้กับกิเลสมารภายใน จำต้องทำศรัทธาความเชื่อให้เกิดขึ้น ด้วยการพิจารณาจับเหตุจับผลสอดส่องแสวงหาความจริง แล้วกำจัดความไม่เชื่อให้เสื่อมสูญไป คือ

๑. ความเชื่อเมื่อเกิดขึ้นเป็นกำลังกล้า ก็ได้ชื่อว่าเป็นศรัทธาพละ

๒. ทำความเพียรให้เกิดขึ้น กำจัดความเกียจคร้านเสียได้ เมื่อความเกียจคร้านไม่มีเข้ามาครอบงำใจ ก็เป็นวิริยะความบากบั่น หรือความเพียรนี้ เมื่อมีกำลังกล้าก็เป็นวิริยะพละ

๓. ทำสติความระลึกได้ให้เกิดมีขึ้น กำจัดความหลงลืมสติให้เสื่อมไป เมื่อมีกำลังแก่กล้าก็เป็นสติพละ

๔. ทำใจให้มั่นคงไม่คลอนแคลน กำจัดความฟุ้งซ่านเสียได้ เมื่อมีกำลังกล้าก็เป็นสมาธิพละ

๕. ทำความพิจารณาตามความเป็นจริงในอารมณ์ที่ได้ประสบพบเห็น เป็นเครื่องกำจัดความรู้ผิดเห็นผิดให้เสื่อมหายไป เมื่อมีกำลังกล้าก็เป็นปัญญาพละ

ฉะนั้น ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา จึงเป็นธรรมดาที่มีอุปการะ เป็นเครื่องอุดหนุนใจ เพื่อเป็นกำลังเข้าต่อสู้กับข้าศึกภายในใจของตนเสียได้ ก็ถึงความเป็นใหญ่เป็นไทแก่จิตใจของบุคคลนั้นๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ กิเลสมารย่อมสงบไม่เกิดขึ้นครอบงำจิตใจอีก ผู้ปฏิบัติเท่านั้นจะได้ชื่อว่าเป็นผู้รู้

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นผู้รู้ เพราะทรงทำความเป็นผู้รู้ให้เกิดมีขึ้นด้วยอาศัยพละ ตลอดจนถึงอินทรีย์ เป็นลำดับ ด้วยประการฉะนี้

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ทรงสั่งสอนโปรดเวไนยสัตว์ว่า อคติ แปลว่า ความลำเอียง พระพุทธองค์ทรงจัดเป็นสิ่งที่เป็นบาปทางใจ คือ

๑. ท่านไม่ลุอำนาจด้วยความพอใจ
๒. ท่านไม่ลุอำนาจด้วยความโกรธเคือง
๓. ท่านไม่ลุอำนาจด้วยความหลง
๔. ท่านไม่ลุอำนาจด้วยความกลัว

เพราะบาปทางใจนี้ คือ อคติทั้ง ๔ ได้แก่ ฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ ภยาคติ ธรรมบทนี้เมื่อไม่ลุอำนาจด้วยอคติทั้ง ๔ แล้ว ย่อมเป็นผู้ตั้งอยู่ในศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งเป็นเครื่องสำรวมระวัง พยายามปรารภความเพียร ชำระสิ่งที่เป็นบาปเหล่านี้มิให้ครอบงำจิตใจของท่าน

นอกจากนี้แล้ว พระพุทธเจ้ายังทรงชี้เหตุแห่งความฉิบหายของโภคสมบัติอีก ๖ ประการ คือ

๑. ไม่ให้ดื่มน้ำเมา อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทและความฉิบหายแห่งโภคทรัพย์สมบัติ
๒. ไม่ให้เที่ยวกลางคืน
๓. ไม่ให้เที่ยวดูการเล่น
๔. ไม่ให้ประกอบการเล่นการพนัน
๕. ไม่ให้คบคนชั่วเป็นมิตร
๖. ไม่ให้ประกอบไว้ซึ่งความเกียจคร้านเนืองๆ

คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามีว่า ผู้มีศีล มีธรรม แม้จะใช้ชีวิตเป็นฆราวาสก็อยู่ด้วยความสันติสุข ไม่มีกิเลสเครื่องหยาบๆ ทะเลาะเบาะแว้งกัน ย่อมตั้งอยู่ในสังคหวัตถุ ๔ ประการ คือ

๑. ทาน การให้
๒. ปิยวาจา วาจาอันไพเราะ
๓. อัตถจริยา ประพฤติตนให้เป็นประโยชน์แก่โลก
๔. สมานัตตตา ความมีตนเสมอในบุคคลนั้น ในธรรมนั้นๆ ไม่เป็นผู้ถือตัว

ดังที่ท่านได้แสดงไว้ในทิศ ๖ นั้นเอง คือ

๑. อาจารย์กับศิษย์ ก็เคารพบำรุงซึ่งกันและกัน
๒. มารดาบิดากับบุตร ก็เคารพบำรุงซึ่งกันและกัน
๓. สามีภรรยา ก็สงเคราะห์บำรุงซึ่งกันและกัน
๔. เพื่อนกับมิตร ก็สงเคราะห์บำรุงซึ่งกันและกัน
๕. นายกับบ่าว ก็สงเคราะห์บำรุงซึ่งกันและกัน
๖. สมณพราหมณ์กับกุลบุตร คือ อุบาสก อุบาสิกา ก็สงเคราะห์บำรุงซึ่งกันและกัน

พระอริยะย่อมอยู่เป็นสุขก็เพราะมีธรรมเป็นที่พึ่งและที่อาศัย ดังต่อไปนี้

๑. สักกายทิฐิ ไม่เห็นกายเป็นตน ไม่เห็นตนเป็นกาย ไม่เห็นกายมีในตน ไม่เห็นตนมีในกาย เหล่านี้เป็นต้น เช่น ใน เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ก็เหมือนกัน

๒. วิจิกิจฉา ท่านข้ามทิฐิทั้ง ๒ ได้แล้ว เชื่อต่อกรรม และผลของกรรม

๓. สีลัพพตปรามาส ท่านเป็นผู้ไม่ถอยหลัง มีแต่เจริญก้าวหน้าไปจนถึงที่สุด

ท่านพิจารณาเห็นแล้วในสัจธรรมตามเป็นจริงว่า นี่ทุกข์ นี่เหตุให้เกิดทุกข์ นี่คือธรรมเป็นที่ดับทุกข์ นี่คือข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมอันเป็นที่ดับทุกข์ คือ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ดังนี้

๏ ปัจฉิมบท

พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล เป็นพระมหาเปรียญรูปแรกที่มีการศึกษาพระปริยัติธรรมทรงจำไว้มาก แล้วหันมาสนใจปฏิบัติธรรมออกธุดงค์รอนแรมไปยังถิ่นทุรกันดาร เพื่อแสวงหาความหลุดพ้น อย่างไม่สนใจใยดีต่อลาภ ยศ สักการะ แม้ท่านสามารถที่จะตักตวงได้ แต่กลับไม่แยแส จนกลายมาเป็นพระนักปฏิบัติ นักแสดงธรรม สู่เป้าหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา จนเป็นที่ยอมรับเคารพนับถือของท่านผู้ใฝ่ในการปฏิบัติธรรม ท่านเป็นพระสงฆ์ที่มีศีลาจารวัตรอันงดงาม ท่านได้ปฏิบัติตนสมกับคำสวดพรรณนาคุณของพระสงฆ์หรือสังฆคุณ ที่ว่า

สุปฏิปนฺโน อุชุปฏิปนฺโน ญายปฏิปนฺโน สามีจิปฏิปนฺโน อาหุเนยฺโย
ทกฺขิเณยฺโย อญฺชลีกรณีโย อนุตฺตรํ ปุญฺญกฺเขตฺต โลกสฺส
โดยแท้

รูปภาพ
ป้ายชื่อศาลาอาจาโร ณ วัดป่าศรัทธารวม อ.เมือง จ.นครราชสีมา ในปัจจุบัน

รูปภาพ
จากซ้าย : หลวงปู่ฝั้น อาจาโร, หลวงปู่มหาปิ่น ปญฺญาพโล,
พระญาณวิศิษฏ์สมิทธิวีราจารย์ (หลวงปู่สิงห์ ขนฺตฺยาคโม)
๓ แม่ทัพใหญ่แห่งกองทัพธรรมพระกรรมฐาน


.............................................................

♥ รวบรวมและคัดลอกเนื้อหามาจาก ::
(๑) หนังสือแก้วมณีอีสาน : รอยชีพรอยธรรมพระวิปัสนาจารย์อีสาน
(๒) หนังสือภาพ ชีวประวัติ และปฏิปทาของพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร
วัดป่าอุดมสมพร ตำบลพรรณา อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร
หนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร
(๓) หนังสือบูรพาจารย์ รวบรวมโดย มูลนิธิพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต


:b44: ประมวลภาพ “หลวงปู่มหาปิ่น ปัญญาพโล”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=48719

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 ก.ค. 2010, 12:43 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 03 ม.ค. 2010, 02:43
โพสต์: 4467

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

:b8: อนุโมทนา..สาธุ..ด้วยนะครับ..ท่านสาวิกาน้อย :b8:

.....................................................
แบ่งปันกันกิน,รักษาศีล คือ กาย วาจา
เจริญสมาธิภาวนา, กาย- วาจา-ใจอ่อนน้อม
ยอมตนรับใช้, แบ่งให้ความดี
มีใจอนุโมทนา, ใฝ่หาฟังธรรม
นำแสดงออกไม่ได้เว้น, ทำความเห็นให้ถูกต้อง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 มิ.ย. 2011, 04:23 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 7
สมาชิก ระดับ 7
ลงทะเบียนเมื่อ: 03 ต.ค. 2010, 09:11
โพสต์: 597


 ข้อมูลส่วนตัว


อนุโมทนาสาธุๆๆขอบพระคุณมากค่ะ :b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 ม.ค. 2015, 14:11 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2863


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8:
:b8:
:b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 9 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: Google [Bot] และ บุคคลทั่วไป 7 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร