วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 16:41  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 5 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 พ.ย. 2009, 12:58 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ประวัติและปฏิปทา
พระภาวนาวิเทศ
(หลวงพ่อเขมธัมโม)
Chao Khun Bhavanavitayt
(Luang Por Khemadhammo)


วัดป่าสันติธรรม (Watpah Santidhamma)
เมืองวอริค มณฑลวอริคเชียร์ ประเทศอังกฤษ

รูปภาพ
Luang Por Khemadhammo is holding an OBE (Officer of the Most Excellent Order of the British Empire) insignia in the Queen's Birthday Honours, June 2003 for 'services to prisoners'.

:b8: :b8: :b8:

“วัดป่าสันติธรรม” นี้เป็นวัดที่ลูกศิษย์ “พระฝรั่ง” รุ่นแรกของ “หลวงพ่อชา สุภัทโท” แห่งวัดหนองป่าพง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ไปจัดตั้งขึ้น คือ หลวงพ่อเขมธัมโม ซึ่งเป็นชาวอังกฤษโดยกำเนิด โดยปกติ หลวงพ่อเขมธัมโมจะไม่อยากพูดถึงประวัติความเป็นมาของตัวท่านเองมากนัก แม้แต่ชื่อเดิมของท่าน โดยท่านให้เหตุผลว่า ตอนนี้ท่านเป็น “พุทธบุตร” โดยแท้แล้ว มีนามฉายาทางพระพุทธศาสนาว่า “เขมธัมโม” ขอให้รู้จักท่านในชื่อนี้ก็แล้วกัน ลูกศิษย์และผู้ที่เคยไปกราบไหว้ท่านจึงรู้จักท่านในชื่อ “หลวงพ่อเขมธัมโม” ตลอดมา

ตามประวัติโดยสังเขปของท่าน ทราบเพียงสั้นๆ ว่า ท่านเกิดเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ.2487 ทางตอนใต้ของประเทศอังกฤษ เข้ารับการศึกษาตามเกณฑ์บังคับ พอถึงอายุ 17 ปีได้เข้าศึกษาต่อด้านการแสดงที่โรงเรียน Central School of Speech & Drama ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงเรียนการแสดงที่ดีที่สุดของประเทศนี้


2 ปีต่อมา ท่านได้เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ก่อตั้งศูนย์การแสดง Drama Centre London ในกรุงลอนดอน โดยใช้เวลาตรงนั้น 1 ปี ก่อนที่จะออกจากกลุ่มเพื่อไปตั้งกิจการบริษัทโรงภาพยนตร์ของตัวเอง ต่อมาในฤดูใบไม้ผลิ เมื่อปี พ.ศ.2508 ท่านได้ออกเดินทางตระเวนทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นเวลา 4 เดือน และในปี พ.ศ.2509 ท่านได้เข้าร่วมทำงานในบริษัท National Theatre Company อยู่กับบริษัทนี้เป็นเวลา 3 ปีครึ่ง ในช่วงนั้นท่านได้มีโอกาสศึกษาพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จนเกิดความสนใจอย่างมาก แล้วหันมานับถือพระพุทธศาสนา รวมทั้ง ได้ตัดสินใจที่จะเดินทางมาเมืองไทยเพื่อบำเพ็ญภาวนาในทางพระพุทธศาสนาอย่างเต็มตัว ต่อมาจึงได้ขายบ้านหลังหนึ่งที่เคยซื้อไว้ในอังกฤษ

หลวงพ่อเขมธัมโม เล่าว่า ความประสงค์ในการเดินทางครั้งนี้เพื่อเป็นการแสวงบุญโดยแท้จริง การเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลในครั้งนั้นได้ผ่านหลายประเทศ อาทิเช่น อิหร่าน อัฟกานิสถาน ปากีสถาน และอินเดีย เป็นต้น

สำหรับที่อินเดีย ท่านได้ใช้เวลา 2 เดือนในการเดินทางแสวงบุญไปยังสังเวชนียสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางพระพุทธศาสนา จากนั้นจึงได้เดินทางเข้ามาถึงประเทศไทย เมื่อราวต้นเดือนธันวาคม ปี พ.ศ.2514 แล้วได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดมหาธาตุฯ ในกรุงเทพฯ ต่อมาในช่วงปีใหม่ พ.ศ.2515 ท่านจึงได้ไปยัง จ.อุบลราชธานี

ย้อนไปเมื่อ 35 ปีที่แล้วท่านเป็นดาราทีวี สนใจเรื่องพระพุทธศาสนาจนได้พบหลวงพ่อชา นับเป็นศิษย์ฝรั่งรุ่นแรกๆ ที่ฉันปลาแดกข้าวเหนียวเป็น เหมือนกับลูกอีสานขนานแท้ ตอนไปอยู่เมืองดอกบัวใหม่ๆ ท่านพูดภาษาไทยไม่ได้สักคำ แต่ก็ฟังหลวงพ่อชารู้เรื่อง ด้วยการหมั่นสังเกตและปฏิบัติตาม แล้วก็สะสมวันละนิดจนเป็นความรักอันบริสุทธิ์จนมากเป็นหลายเท่าทวีคูณ ว่ากันว่าหลวงพ่อชานั้น ท่านมีเทคนิคการสอนธรรมที่ไม่ค่อยเหมือนใคร คือจะบอกให้รู้ ทำให้ดู เช่น บอกให้ยกท่อนไม้ขึ้น แล้วก็ให้หยุดอยู่ พอรู้ว่าเมื่อยแล้วก็จะใช้ภาษามือสื่อให้พระฝรั่งโยนท่อนไม้ทิ้งแล้วก็จะพูดสั้นๆ ว่า แบกไว้มันทุกข์ ทิ้งไปมันก็สุขเอง เพียงปริศนาธรรมเล็กน้อยแค่นี้ ทำให้ลูกศิษย์อึ้งถึงกับลงมือฝึกจิตตนเอง ไม่สนใจเปลือกนอก หลวงพ่อชาท่านช่างมีพรสวรรค์ในการปั้นคนจริงๆ


รูปภาพ
พระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท)


หลวงพ่อเขมธัมโม มีความเคารพศรัทธาเลื่อมใสในหลวงพ่อชามากเป็นพิเศษ เพราะได้ยินชื่อเสียงเกียรติคุณของหลวงพ่อชามาตั้งแต่ยังอยู่ที่ประเทศอังกฤษ โดยท่านได้เขียนบันทึกเป็นหนังสือเล่มเล็กๆ เล่มหนึ่ง ชื่อ “รำพึงถึงความหลังกับพระอาจารย์ชา” โดยสรุปได้ว่า

เมื่อตอนที่ท่านกำลังจะเดินทางมาบวชในประเทศไทย ซึ่งช่วงนั้นหลวงพ่อชายังไม่เป็นที่รู้จักกันดีนัก แต่ได้มีพระรูปหนึ่งซึ่งขณะนั้นกำลังพักอยู่ที่วัดไทยในกรุงลอนดอน ได้รู้จักหลวงพ่อชามาก่อนแล้ว พระรูปนั้นได้แนะนำท่านว่า เมื่อมาถึงเมืองไทยควรจะไปหาหลวงพ่อชา วัดหนองป่าพง ให้ได้

ต่อมาเมื่อท่านได้มาถึงเมืองไทยแล้ว และได้เข้าพิธีบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ท่าพระจันทร์ กรุงเทพฯ ปรากฏว่าพระภิกษุที่ท่านได้รู้จักในกรุงลอนดอนรูปนั้น ก็ได้มาถึงเมืองไทยเช่นกัน และได้อยู่ควบคุมดูแลการบวชสามเณรของท่านอีกด้วย

พระภิกษุรูปนั้นได้คะยั้นคะยอที่จะพาท่านไปกราบหลวงพ่อชา ที่วัดหนองป่าพง ก่อนที่ท่านจะออกเดินทาง ท่านได้ออกไปยืนบนถนนอันวุ่นวายคับคั่งของกรุงเทพฯ เมื่อมองออกไปไกลก็ได้แลเห็นเพื่อนสนิทเก่าแก่คนหนึ่ง ซึ่งท่านเคารพเชื่อถือในความคิดเห็นตัดสินของเพื่อนท่านผู้นั้นมาก ตอนนี้ท่านผู้นั้นได้บวชเป็นพระสงฆ์ครองผ้าเหลืองมาแล้วเป็นเวลานานพอสมควร และจากการได้เยี่ยมเยือนวัดมาหลายแห่ง พระสงฆ์รูปนี้ได้บอกท่านอย่างมั่นอกมั่นใจว่า สถานที่ดีที่สุดสำหรับการบวชและฝึกอบรมเป็นพระภิกษุนั้น ก็คือกับหลวงพ่อชา วัดหนองป่าพง ดังนั้น ในวันขึ้นปีใหม่หลวงพ่อเขมธัมโมกับพระสงฆ์ไทยจากลอนดอนก็ได้เดินทางไปยัง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี และได้เข้าไปกราบนมัสการ หลวงพ่อชา สุภัทโท ณ วัดหนองป่าพง เป็นครั้งแรก

หลวงพ่อเขมธัมโม บันทึกถึงตอนนี้ว่า “...หลวงพ่อชา เดินลงบันไดมา ท่านนั่งขัดสมาธิบนม้านั่ง ยกสูงทำด้วยไม้แข็ง อยู่ต่อหน้าเราพร้อมกับจิบน้ำชาจากแก้วไปด้วย ขณะกำลังคุยกับเรา ท่าทางท่านดูเหน็ดเหนื่อย แต่ก็ยิ้มแย้มร่าเริง เราได้พยายามสื่อสารอย่างเต็มที่กับท่าน โดยมีพระไทยซึ่งไม่สู้จะคล่องภาษา (อังกฤษ) นัก ช่วยเป็นล่าม...”

หลวงพ่อเขมธัมโม บันทึกต่อไปอีกว่า... เมื่อหลวงพ่อชาตอบรับท่านเป็นศิษย์แล้ว ท่านก็ได้เริ่มใช้ชีวิตภายใต้การชี้นำของหลวงพ่อชา ซึ่งมิใช่เป็นชีวิตบนแปลงดอกกุหลาบโดยสิ้นเชิงเสียทีเดียว ปัญหาทั้งหมดเกิดจากตัวของท่านเองทั้งสิ้น แต่นั่นมักจะเป็นสิ่งที่คนเรามักจะมองไม่เห็น อย่างไรก็ตาม หลวงพ่อเขมธัมโม ก็ได้อยู่กับหลวงพ่อชาด้วยดีตลอดมา เพราะเริ่มปรับตัวเข้ากับสภาพสิ่งแวดล้อมได้ดีขึ้นตามลำดับ จนเกิดความซาบซึ้งใจในหลายสิ่งหลายอย่างของความเป็นพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา


รูปภาพ
พระภาวนาวิเทศ (หลวงพ่อเขมธัมโม) กับ ศ.(พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก

(มีต่อ)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 พ.ย. 2009, 13:05 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
หลวงพ่อชา สุภัทโท (ถือไม้เท้า) ถ่ายภาพกับคณะศิษย์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวต่างประเทศ
แถวสอง องค์ยืนขวามือสุด คือ พระภาวนาวิเทศ (หลวงพ่อเขมธัมโม)



หลวงพ่อเขมธัมโม ได้เขียนบันทึกอย่างเปิดใจตอนหนึ่งว่า “...เมื่อหลายปีผ่านไป อาตมาก็หันมานิยมชมชื่นในตัวหลวงพ่อชามาก อาตมาได้เรียนรู้และซึมทราบจากท่านมากขึ้นทุกทีทุกที ความรักของอาตมาที่มีต่อหลวงพ่อชานั้นเกิดขึ้นช้าๆ ทว่ามันเติบโตขึ้นเรื่อยๆ อย่างสม่ำเสมอ...”

พระป่าชาวอังกฤษ กล่าวว่า การใช้ชีวิตอยู่กับหลวงพ่อชานั้นก็มิใช่ง่ายเสมอไป บางอย่างดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้เอาทีเดียว ท่านยังจำได้ดีถึงความอึดอัดใจที่ทำอะไรผิดๆ นับครั้งไม่ถ้วน และต่อหน้าผู้คนด้วย

การกระทำทุกอย่างนั้นมีวิธีการของมันอยู่ และมีมากทีเดียวที่พระพุทธองค์ได้ทรงบัญญัติไว้ในพระวินัย แต่บางอย่างนั้นก็เป็นของตัวหลวงพ่อเอง ในขณะที่หลวงพ่อสามารถที่จะบอกกับอาตมา ได้เสมอว่าอะไรผิด แต่ท่านก็จะไม่บอกอาตมาเสมอไปว่าอะไรถูก ปล่อยให้ท่านเข้าใจเอาเอง

หลวงพ่อเขมธัมโม กล่าวว่า ในเวลาต่อท่านก็เข้าใจว่าอะไรถูกอะไร ผิดพร้อมกับยกย่องว่าหลวงพ่อชามีลักษณะพิเศษเฉพาะตน ในการสั่งสอนอบรมลูกศิษย์ได้เป็นอย่างดีเลิศ ทำให้เข้าใจในหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าได้อย่างง่าย

พระป่าชาวอังกฤษรูปนี้ ได้กล่าวถึง วิธีการทำสมาธิตามแบบที่หลวงพ่อชาส่งเสริมให้ปฏิบัตินั้น มักจะไม่รวมเอาการแผ่เมตตาเข้าไว้ด้วย แต่ก็ยังไม่เคยพบผู้ใดที่มีความเมตตากรุณามากเท่ากับหลวงพ่อชามาก่อนเลย หลวงพ่อชาได้ดูแลลูกศิษย์ทุกคนด้วยความรักอันบริสุทธิ์ตลอดเวลา แม้บางครั้งท่านจะดุด่าว่ากล่าวบ้างก็ตาม แต่ก็เป็นสิ่งที่เกิดมาจากความห่วงใย อยากให้ลูกศิษย์ได้รับความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องมากกว่า ลูกศิษย์ที่เข้าใจในเจตนาอันดีนี้ต่างมีแต่ความปลาบปลื้มใจในตัวของหลวงพ่อมาก

หลวงพ่อชาชอบเดินเล่นรอบๆ วัดในตอนเช้าหลังจากออกบิณฑบาต ขณะที่พระรูปอื่นๆ ซึ่งออกไปบิณฑบาตไกลๆ เพิ่งจะกลับมา และมีการตระเตรียมอาหาร บางครั้งหลวงพ่อชาจะเดินตามลำพัง และมักจะกวักมือเรียกใครสักคนให้เดินไปกับท่านเพื่อสนทนาธรรมไปในตัว

ครั้งหนึ่งหลวงพ่อเขมธัมโม กำลังมีปัญหาบางอย่างเกี่ยวกับคำสอน หลวงพ่อชาก็จะพาท่านไปเดินด้วย 2-3 วัน เพื่อช่วยแก้ปัญหาให้ การได้อยู่ใกล้ชิดกับหลวงพ่อชาเป็นส่วนตัวนี้ทำให้หลวงพ่อเขมธัมโมมีความยินดีมาก

วันหนึ่ง มีกิ่งไม้หนักขวางทางอยู่ หลวงพ่อชาได้ยกไม้ท่อนนั้นขึ้น พร้อมกับบอกให้หลวงพ่อเขมธัมโม ยกอีกข้างหนึ่ง แล้วถามว่า “หนักไหมล่ะนี่ ?”

และเมื่อได้เหวี่ยงท่อนไม้นั้นเข้าไปในป่าแล้วก็ถามอีกว่า “ตอนนี้ล่ะเป็นไง หนักไหม ?”

หลวงพ่อชาจะสอนลูกศิษย์ให้เห็นธรรมะในสิ่งที่พบเห็นใกล้ตัว ให้รู้จัก “การปล่อยวาง” ถ้าทำได้ก็จะเบาตัว (เหมือนกิเลสตัณหา)

การฝึกปฏิบัติกับหลวงพ่อชานั้น ทำให้กฎระเบียบพิธีการและรูปแบบของชีวิตนักบวชในวัด มิใช่เป็นเพียงประเพณีที่ทำสืบต่อกันมาอย่างไม่มีจุดหมายเหมือนในวัดอื่นๆ การสอนของหลวงพ่อชาทุกอย่างเป็น “วิธีการอันแยบยล” ในการสร้างทัศนคติแห่งการรู้แจ้งเห็นจริง

หลวงพ่อเขมธัมโม บันทึกไว้ตอนหนึ่งว่า “เราคือพระภิกษุผู้ซึ่งมิใช่อยู่เพื่อแสวงหาลาภสักการะ หรือชื่อเสียง มิใช่เพื่อความก้าวหน้าทางโลก เราเป็นพระภิกษุที่ต้องเผชิญกับกิเลส และสิ่งที่เป็นอิทธิพลทำลายหัวใจและจิตใจของมนุษย์ มองเห็นและเข้าใจสิ่งต่างๆ เหล่านี้ แล้วทิ้งมันไป เพื่อบรรลุถึงความสงบอันจริงแท้แน่นอน คือความสุขแห่งพระนิพพาน”

ครั้งหนึ่งเพื่อนของหลวงพ่อเขมธัมโม ได้พูดถึงความประทับใจที่มีต่อหลวงพ่อชา สุภัทโท ว่า ท่านเหมือนกับกบตัวใหญ่ ที่มีความสุขที่นั่งอยู่บนใบบัว เรามักจะรู้สึกว่าความสัมพันธ์ระหว่างพระพุทธศาสนากับชีวิต ความเป็นอยู่เป็นเรื่องที่ถูกเมินเฉย เพราะพระพุทธศาสนาจะพูดเกี่ยวกับความทุกข์และแนวโน้มทางลบของใจ การวิเคราะห์จิตและสังขาร รวมทั้งคำนิยามต่างๆ ที่เข้าใจยาก


รูปภาพ
หลวงพ่อชา สุภัทโท (นั่ง) ถ่ายภาพกับคณะศิษย์ชาวต่างประเทศ


แต่สำหรับหลวงพ่อชาแล้วมิได้เป็นเช่นนั้น หลวงพ่อจะแผ่ความสุขให้กับทุกคน ดึงดูดผู้คนเข้าหาท่าน และอยากจะอยู่กับท่าน แล้วท่านก็จะอบรมสั่งสอนธรรมแบบง่ายๆ โดยไม่ทำให้ผู้ฟังเบื่อหน่ายกับการเทศน์แบบแห้งแล้งที่มีแต่คำบาลียาวๆ แต่ท่านจะนั่งคุยกับผู้คนอย่างสนุกสนาน หัวเราะพูดเล่น และเมื่อมีจังหวะท่านก็จะสอดแทรกธรรมะที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตให้กับพวกเขา หลวงพ่อชาจะอบรมสั่งสอนชาวบ้านอย่างนี้ตลอดทั้งวัน หลังจากฉันอาหารจนกระทั่งดึกดื่นค่อนคืน ในขณะที่ผู้คนพากันมากราบไหว้ท่านอย่างต่อเนื่อง กลุ่มหนึ่งไปกลุ่มหนึ่งมาเป็นอยู่เช่นนี้ตลอดเวลา หลวงพ่อมีความอดทนในเรื่องนี้มาก และไม่เคยเบื่อหน่ายเลย

หลวงพ่อเขมธัมโม ได้เรียนรู้อะไรอีกหลายอย่างจากหลวงพ่อชา ที่ท่านได้หยิบยกเอาสภาพสิ่งแวดล้อมที่พบเห็นใกล้ตัวมา เป็นตัวอย่างในการสอนธรรมะ

ปี พ.ศ.2520 หลวงพ่อเขมธัมโม ได้นิมนต์หลวงพ่อชาเดินทางไปประเทศอังกฤษเป็นครั้งแรกในชีวิต โดยได้ที่เมืองแฮมป์สเตด อันเป็นสถานที่หลวงพ่อเขมธัมโมได้พบกับสัจจธรรมแห่งพระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรก นอกจากนี้ ยังได้พาหลวงพ่อไปทางตอนใต้ของอังกฤษ เพื่อเยี่ยมโยมพ่อโยมแม่ของหลวงพ่อเขมธัมโมด้วย นับเป็นเวลาที่หลวงพ่อเขมธัมโมได้ใกล้ชิดกับหลวงพ่อชามากที่สุดและนานที่สุด


หลวงพ่อชาได้เดินทางกลับเมืองไทย แต่หลวงพ่อเขมธัมโมยังอยู่ต่อในอังกฤษต่อไป ทั้ง 2 ไม่ได้พบกันเป็นเวลานานถึง 9 ปีครึ่ง แล้วก็มีข่าวว่าหลวงพ่อชาอาพาธหนัก หลวงพ่อเขมธัมโมจึงรีบเดินทางมาเมืองไทยอีกครั้งหนึ่ง เพื่อกราบเยี่ยมพระอาจารย์ของท่าน ช่วงนั้นหลวงพ่อชามีอาการที่ช่วยตัวเองไม่ได้เลย

หลวงพ่อเขมธัมโม บันทึกไว้ในตอนท้ายว่า... “เราไม่อาจทราบได้ว่า ในช่วงเวลานั้น (หลวงพ่อชา) ท่านทำอะไรบ้าง หรือทำไมมันจึงต้องเป็นแบบนั้น แต่หลังจากที่ท่านได้มีเวลาให้กับตนเอง บางทีท่านอาจจะได้สำเร็จในกิจภาระของตัวท่านเองแล้ว เราไม่มีทางรู้ได้เลย แต่อาตมาก็หวังว่าท่านได้จบชีวิตลงเมื่อสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว...”

หลวงพ่อเขมธัมโม ได้พูดถึงตัวเองว่า...ในชีวิตของท่านนับว่าโชคดีที่ได้รู้จักกับบุคคลที่เด่นด้วยคุณค่าหลายท่าน โดยมีหลวงพ่อชาเป็นผู้ที่ดีเด่นที่สุด ชื่นชอบในตัวหลวงพ่อชามาก เคารพและรักหลวงพ่อชาอย่างสุดชีวิตและจิตใจ อีกทั้งยังรู้สึกสำนึกในบุญคุณเสมอที่โชคดีได้เป็นลูกศิษย์ของท่าน เป็นผู้ให้กำเนิดแก่ท่านในฐานะเป็น “พุทธบุตร” ที่ท่านได้เลือกทางเดินเองแล้ว และนี่คือ...เส้นทางเดินของชีวิตที่ประเสริฐสุด

เมื่อข่าวว่า หลวงพ่อชาได้มรณภาพแล้ว ความคิดหนึ่งที่ผุดขึ้นมาในสมองของหลวงพ่อเขมธัมโมก็คือ ความตั้งใจแน่วแน่ที่จะพยายามทำตัวให้มีคุณค่ามากขึ้นเพื่อหลวงพ่อชา และสามารถดำเนินภารกิจสืบทอดสิ่งที่หลวงพ่อชาท่านได้มอบให้กับลูกศิษย์ทุกคน

หนึ่งสัปดาห์หลังจากการมรณภาพของหลวงพ่อชา หลวงพ่อเขมธัมโมก็ได้เดินทางมาถึงเมืองไทย และตรงไปยังวัดหนองป่าพงทันที เพื่อแสดงความคารวะแด่สรีระของหลวงพ่อชา พระอาจารย์ผู้มีพระคุณอย่างใหญ่หลวง สำหรับหลวงพ่อเขมธัมโม ลูกศิษย์ชาวอังกฤษที่ได้มีโอกาสบวชเรียนเป็นพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา และเป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศอังกฤษ

หลวงพ่อเขมธัมโม ต้องเดินทางมาเมืองไทยทุกปีเพื่อกราบเยี่ยมหลวงพ่อชา ครั้งหนึ่งหลวงพ่อชาได้กล่าวกับหลวงพ่อเขมธัมโม ว่า... นี่เป็นกรรมของท่าน และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำอะไรกับมัน หลวงพ่อชาต้องอยู่กับเตียงและเก้าอี้ตลอดเวลา ต้องอาศัยผู้อื่นให้ทำทุกอย่างเกี่ยวกับร่างกายของท่านเป็นเวลาเกือบ 10 ปี ก่อนที่หลวงพ่อชาจะมรณภาพเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2535 ณ วัดหนองป่าพง สิริรวมอายุได้ 74 ปี พรรษา 52 ขณะดำรงสมณศักดิ์พระราชาคณะชั้นสามัญ ในราชทินนามที่ “พระโพธิญาณเถร”


รูปภาพ
หลวงพ่อเขมธัมโม ขณะบวชให้กับกุลบุตรชาวต่างชาติ

(มีต่อ)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 พ.ย. 2009, 13:06 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
พระภาวนาวิเทศ (หลวงพ่อเขมธัมโม - Luang Por Khemadhammo)


ภารกิจสำคัญของหลวงพ่อเขมธัมโมในประเทศอังกฤษ คือ การจัดตั้งวัดในทางพระพุทธศาสนาขึ้นในเมืองวอริค เป็นรูปแบบของ “วัดป่า” ตามแบบของหลวงพ่อชา เมื่อปี พ.ศ.2530 โดยตั้งชื่อว่า “วัดป่าสันติธรรม” (Santidhamma Forest Hermitage) ดำเนินการเผยแผ่หลักธรรมคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแก่ชาวอังกฤษโดยเฉพาะ รวมทั้งชาวต่างชาติอื่นๆ ที่สนใจ ทั้งนี้ หลวงพ่อจะสอนวิธีนั่งสมาธิแบบง่ายๆ และแนะแนวทางการแก้ปัญหาชีวิตประจำวันด้วยหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเป็นที่ตั้ง โดยสรุปว่าเป็นการแก้ปัญหาตรงจุดที่สุด

การทำงานของหลวงพ่อเขมธัมโม ได้รับการสนับสนุนจากชาวไทยที่ไปทำงานในอังกฤษ รวมทั้ง บรรดานักเรียนนักศึกษาไทยต่างก็ให้ความร่วมมืออย่างกว้างขวางตลอดระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา จนปัจจุบันวัดป่าสันติธรรมได้เติบโตขยายตัวออกไปมาก มีพระภิกษุพำนักอยู่ที่วัดนี้รวมทั้งหมด 4 รูป ซึ่งล้วนเป็นชาวอังกฤษทั้งสิ้น

เมื่อวันที่ผู้เขียนไปเยี่ยมชม “วัดป่าสันติธรรม” แห่งนี้ ก็ได้พบกับพระภิกษุหนุ่มชาวอังกฤษหน้าตาดีมาก 3 รูป ท่านนั่งรอหลวงพ่อเขมธัมโม เพื่อฉันภัตตาหารเพล ด้วยกิริยาอาการที่วางนิ่งเฉยมาก สำรวมระวังอย่างที่สุด ได้กราบเรียนถามท่านอะไร ท่านก็ตอบสั้นๆ แต่เพียงว่า “ให้รอถามหลวงพ่อเขมธัมโม” และที่สำคัญคือท่านพูดภาษาไทยไม่ได้เลย เพราะท่านเกิดที่ประเทศอังกฤษ ไม่เคยมาเมืองไทยเลย จึงพูดแต่ภาษาอังกฤษเท่านั้น และพูดน้อยมาก การเรียนหนังสือธรรมะก็เรียนฉบับที่เป็นภาษาอังกฤษ

สำหรับการฉันภัตตาหารเพลของหลวงพ่อเขมธัมโม และพระลูกศิษย์ทั้ง 3 รูป เป็นการฉันรวมในบาตรด้วยอาหารมังสวิรัติ และฉันเพียงมื้อเดียวใน 1 วัน

ภารกิจอันยิ่งใหญ่อีกด้านหนึ่งของหลวงพ่อเขมธัมโม คือ การจัดตั้งสำนักงานใหญ่ขององค์การ “องคุลิมาล” ซึ่งเป็นองค์กรการสอนพระพุทธศาสนาในเรือนจำ (Angulimala - the Buddhist Prison Chaplaincy Organization) และจัดอบรมการปฏิบัติงานด้านพระพุทธศาสนาสำหรับอนุศาสนาจารย์ด้วย คาบเกี่ยวกันนี้ ท่านได้ผันตัวเองไปทำหน้าที่ช่วยเหลือสังคมคุก คือ เข้าไปสอนนักโทษในเรือนจำโดยไม่จำกัดว่าศาสนาอะไร สอนให้สวมมนต์ และปฏิบัติกรรมฐาน

ในช่วงเริ่มต้นใหม่ๆ ก็ได้รับแรงกดดันไม่น้อย ทั้งการกีดกันจากผู้มีอิทธิพลทางลัทธิศาสนาไม่อนุญาตเข้าไปสอนบ้าง อ้างเลศบ่ายเบี่ยงบ้าง แต่ท่านก็มิได้ท้อถอย สวมบทวิญญาณตื้อเท่านั้นที่ครองโลก จนในที่สุดทางเรือนจำก็ต้องยอมอนุญาตให้เข้าไปอบรมสอนได้ แต่ก็ไม่เต็มร้อย เพราะเนื่องจากนักโทษมีพฤติกรรมที่แข็งกร้าว และเกรงจะทำร้ายท่าน กลัวว่าท่านจะปั่นหัวนักโทษ เอาลัทธิความเชื่อแบบตะวันออกมาเผยแพร่ กีดกันขนาดไหนไม่รู้ รู้แต่เพียงว่าถึงขนาดต้องมีการตรวจสอบกลั่นกรองการนำเสนอของท่านเป็นเวลาหลายเดือน


รูปภาพ

รูปภาพ
หลวงพ่อเขมธัมโม สอนปฏิบัติกรรมฐานให้ชาวต่างชาติ


เมื่อรู้ว่าท่านนำเสนอข้อเท็จจริงและพูดแต่ความดีงามไม่กระทบความเชื่อของศาสนาใดเลย จึงอนุญาตเพราะเป็นความต้องการของคนคุก ต่อมามินานนัก หลังจากท่านได้นำเอากรรมฐานไปอบรม ปรากฏว่านักโทษมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจากก้าวร้าวเป็นสงบเสงี่ยม บางรายถึงกับขอบวชเณร 7 วัน แล้วกลับเข้าไปอยู่ในคุกต่อ จนกระทั่งเกิดรวมกลุ่มนักโทษที่หันมานับถือพระพุทธศาสนา

ณ วัดป่าสันติธรรมแห่งนี้ มีการอบรมสมาธิสำหรับผู้ที่สนใจ ทุกๆ วันจันทร์และวันศุกร์ รวมทั้ง จัดงานทำบุญในวันสำคัญต่างๆ ทางพระพุทธศาสนา ตลอดจน การแนะนำพระพุทธศาสนาให้แก่กลุ่มนักเรียน และองค์กรต่างๆ ที่มาศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา นับเป็นความวิริยะอุตสาหะอย่างสูงของหลวงพ่อเขมธัมโม ที่ท่านได้เพียรพยายามเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้แก่เพื่อนร่วมชาติของท่านเอง เพื่อให้เขาเหล่านั้นได้พ้นทุกข์ และประสบแสงสว่างแห่งชีวิต ประสบปัญญาแห่งธรรมะโดยแท้จริง สมควรที่พุทธศาสนิกชนชาวไทยในเมืองไทยจะได้มีส่วนช่วยเหลือหลวงพ่อเขมธัมโมท่านบ้างเมื่อมีโอกาส

หลวงพ่อเขมธัมโม ได้ก่อตั้ง วัดป่าสันติธรรม ขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1987 (พ.ศ.2530) โดยได้รับการสนับสนุนจากพุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทยและชาวอังกฤษอย่างกว้างขวาง

ตลอดระยะเวลา 15 ปี ที่ผ่านมา วัดป่าสันติธรรมได้เติบโตขยายตัวมาก จนกระทั่งปัจจุบันมีพระภิกษุ พำนักอยู่ที่วัดรวมทั้งหมด 4 รูป นอกจากนี้ วัดป่าสันติธรรมยังเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ขององค์การองคุลิมาล (องค์กรการสอนพุทธศาสนาในเรือนจำ) ซึ่งจัดอบรมปฏิบัติงานด้านศาสนาสำหรับอนุศาสนาจารย์ด้วย

หลวงพ่อเขมธัมโม กล่าวว่า เนื่องจากคณะสงฆ์ได้เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ทางวัดจึงไม่สามารถที่จะรองรับการขยายตัวดังกล่าวได้อีกต่อไป เนื่องจากมีที่พำนักอาศัยและที่เก็บของจำกัด ทั้งยังไม่มีห้องพักรับรองพระอาคันตุกะ (พระสงฆ์ที่มาเยี่ยมเยือน) นอกจากนี้ ยังขาดที่ปฏิบัติธรรมสำหรับผู้หญิง ทำให้ไม่สามารถรับบวชแม่ชีได้ การรองรับผู้มาเก็บตัวเพื่อปฏิบัติธรรมที่วัดก็ทำได้ไม่เต็มที่

หลวงพ่อเขมธัมโม กล่าวว่า ในละแวกวัดป่าสันติธรรม มีบ้านวู้ด คอทเทจ (Wood Cottage) อยู่หลังหนึ่ง ซึ่งเป็นสถานที่เหมาะมากที่สุดสำหรับรองรับการขยายตัวของวัดป่าสันติธรรม ด้วยอาณาเขต ที่ใกล้เคียงกัน ทั้งความเก่าแก่และรูปแบบอาคารก่อสร้างก็คล้ายคลึงกัน นอกจากนี้ ยังตั้งอยู่ในเขตพื้นที่มณฑลวอริคที่สงบ ห่างไกลจากถนนและความวุ่นวายอึกทึก เจ้าของบ้านวู้ด คอทเทจ คนปัจจุบันได้ปรับปรุงสถานที่จนมีสภาพที่ดีเยี่ยม พร้อมที่จะรองรับการขยายตัวของวัดป่าสันติธรรมได้ทันที

หลวงพ่อเขมธัมโม ได้อุทิศชีวิตบำเพ็ญประโยชน์ให้กับชาวอังกฤษกว่า 27 ปี จนเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ.2546 สมเด็จพระราชินีแห่งสหราชอาณาจักร ได้พระราชทาน “เครื่องราชอิสริยาภรณ์ โอ.บี.อี.” (Officer of the Most Excellent Order of the British Empire) แก่ท่าน ซึ่งเป็นรางวัลเกียรติยศสูงสุด


อนึ่ง ท่านได้เผยแผ่พุทธรรมด้วยความวิริยอุตสาหะ ไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยาก จนกระทั่งมหาเถรสมาคม (มส.) โดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ได้เสนอขอพระราชทานสมณศักดิ์ให้ขึ้นเป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ในพระราชทินนามที่ “พระภาวนาวิเทศ” เพื่อยกย่องคุณงามความดีและสร้างขวัญกำลังใจแก่ท่าน

รูปภาพ
พระภาวนาวิเทศ (หลวงพ่อเขมธัมโม) ขณะรับบิณฑบาต

.............................................................

♥ รวบรวมและเรียบเรียงเนื้อหามาจาก ::
(1) หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก วันที่ 7 ต.ค. พ.ศ. 2545
เรื่องโดย แล่ม จันท์พิศาโล
(2) หนังสือพิมพ์ข่าวสด หน้า 1 คอลัมน์ สดจากหน้าพระ
วันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 15 ฉบับที่ 5589

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 มี.ค. 2011, 15:55 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
“ห้องพระ” วัดป่าสันติธรรม ประเทศอังกฤษ


วัดป่าสันติธรรม
เมืองวอริค มณฑลวอริคเชียร์ ประเทศอังกฤษ


Santidhamma Forest Hermitage
(Watpah Santidhamma)
Lower Fulb rook, near Sherbourne
Warwichshire CV35 8AS, United Kingdom


Telephone & Fax 01926624385

หรือส่ง Email address ถึง “หลวงพ่อเขมธัมโม” ได้ที่
prakhem@foresthermitage.org.uk

เว็บไซต์วัดป่าสันติธรรม
http://www.foresthermitage.org.uk/
http://www.watpa.iirt.net/about/index.html


รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ
พระภาวนาวิเทศ (หลวงพ่อเขมธัมโม)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 มิ.ย. 2011, 10:26 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

Ajahn Khemadhammo
Chao Khun Bhavanavitayt
(Luang Por Khemadhammo)


Venerable Ajahn Khemadhammo, OBE (alternatively Chao Khun Bhavanavitayt or Achaan Khemadhammo, occasionally with honorific titles Luang Por and Phra) is a Theravada Buddhist monk.

He was born in England in 1944. In 1971, after training at the Central School of Speech and Drama and Drama Centre London in Clerkenwell, London and practising as a professional actor, working for several years at the Royal National Theatre in London with Sir Laurence Olivier, he travelled to Thailand via the Buddhist holy places in India.

In December 1971 in Bangkok he became a novice monk and about a month later moved to Ubon Ratchathani to stay with Venerable Ajahn Chah Subhaddo (Chao Khun Bodhinyanathera) at Wat Nong Pah Pong. On the day before Vesakha Puja of that year, 1972, he received upasampada as a bhikkhu, a fully ordained Buddhist monk.


In 1977, Venerable Khemadhammo returned to the U.K. and, after staying in London and Birmingham, set up a small monastery on the Isle of Wight. In 1984, at the invitation of a group of Buddhist meditators that he had been visiting monthly for some years, he moved to Banner Hill near Kenilworth and formed the Buddha-Dhamma Fellowship. In 1985, he moved to his current residence, the Forest Hermitage, a property in Warwickshire; in 1987, with considerable help from devotees in Thailand, this land was purchased by the Buddha-Dhamma Fellowship. A stupa was built there in 1988, known as the 'English Shwe Dagon'.

Ajahn Khemadhammo began Buddhist prison chaplaincy work in 1977. In 1985, with the help of others, Angulimala, the Buddhist Prison Chaplaincy, was launched with him as its Spiritual Director.

Currently, Ajahn Khemadhammo lives with two other monks, continuing to visit prisons and teaching meditation both at his monastery and Warwick University.


Ajahn Khemadhammo was appointed an O.B.E. (Officer of the Most Excellent Order of the British Empire) in the Queen's Birthday Honours, June 2003 for 'services to prisoners'. In December 2004, on the birthday of the King of Thailand, he was made a Chao Khun with the ecclesiastical title of Phra Bhavanavitayt; he was only the second foreign-born monk to receive such an honour.

รูปภาพ

รูปภาพ

:b8: :b8: :b8: ที่มา... http://en.wikipedia.org/wiki/Ajahn_Khemadhammo

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 5 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 9 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร