ลานธรรมจักร
http://dhammajak.net/forums/

หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี
http://dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=24738
หน้า 1 จากทั้งหมด 4

เจ้าของ:  สาวิกาน้อย [ 07 ส.ค. 2009, 18:05 ]
หัวข้อกระทู้:  หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี

รูปภาพ

ประวัติและปฏิปทา
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน


วัดป่าบ้านตาด
ต.บ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี


จาก...หนังสือหยดน้ำบนใบบัว คติธรรมและชีวประวัติ
พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน)

เรียบเรียงจากเทศนาธรรมของท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน
ในวาระต่างๆ เพื่อใช้ในการเรียนการสอนแก่สถานศึกษาทุกระดับชั้น
ผู้แต่ง : กระทรวงศึกษาธิการ


สารบัญ

ตอนที่ 1 ลูกกตัญญู
ตอนที่ 2 เหตุแห่งการบวช
ตอนที่ 3 ศรัทธา...ในธรรม
ตอนที่ 4 แสวงหาครูบาอาจารย์
ตอนที่ 5 อุตสาหะพากเพียรฝึกฝนจิต
ตอนที่ 6 สมาธิแน่นหนามั่นคง
ตอนที่ 7 ก้าวเดินทางปัญญา
ตอนที่ 8 ปรนนิบัติรับใช้ครูบาอาจารย์
ตอนที่ 9 สติปัญญาอัตโนมัติ
ตอนที่ 10 คืนแห่งความสำเร็จ
ตอนที่ 11 สมบูรณ์ด้วยปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ
ตอนที่ 12 ปฏิปทาสายท่านอาจารย์มั่น
ตอนที่ 13 สอนตนให้ได้ก่อน จึงค่อยสอนผู้อื่น
ตอนที่ 14 ไปถิ่นไหน...ร่มเย็นถิ่นนั้น
ตอนที่ 15 เสาหลักกรรมฐาน
ตอนที่ 16 การเทศนาสอนโลก
ตอนที่ 17 ประสบการณ์จากพระธุดงค์
ตอนที่ 18 ธรรมสากัจฉาตามกาล
ตอนที่ 19 แสงธรรม ส่องทาง
ตอนที่ 20 อยู่อย่างพอดี
ตอนที่ 21 วัดมุ่งปฏิบัติในถิ่นทุรกันดาร
ด้วยธรรมะและจตุปัจจัยไทยทาน
ตอนที่ 22 โรงเรียน
ตอนที่ 23 หน่วยราชการ
ตอนที่ 24 โรงพยาบาล
ตอนที่ 25 สงเคราะห์ผู้ด้อยโอกาส
ตอนที่ 26 สงเคราะห์สัตว์
ตอนที่ 27 หลวงตาไม่ห่วงตนเองยิ่งกว่าชาติ
ตอนที่ 28 หลักทรัพย์ หลักใจ ไม่อิ่ม ไม่เลิกรา
ตอนที่ 29 กิจวัตรหลวงตา
ตอนที่ 30 อยู่...เพื่อลูก เพื่อหลาน
ตอนที่ 31 สภาพวัด
ตอนที่ 32 กิจวัตรประจำวันของพระเณร (ตอนจบ)

เจ้าของ:  สาวิกาน้อย [ 24 ธ.ค. 2010, 10:22 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

รูปภาพ

ตอนที่ 1 ลูกกตัญญู

หลวงตา ถือกำเนิดในครอบครัวชาวนาแห่งสกุล "โลหิตดี" ณ ตำบลบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี เมื่อวันอังคารที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2456 โดยบิดา "นายทองดี" และมารดา "นางแพง" ได้ให้มงคลนามว่า "บัว"

ท่านเป็นบุตรคนที่ 2 ในจำนวนพี่น้องทั้งหมด 16 คน ในจำนวนพี่น้องของท่านมีท่านผู้เดียวที่ดำรงอยู่ในสมณเพศ และกอปรด้วยศีลาจารวัตรอันงดงาม ทรงไว้ซึ่งคุณธรรมอันประเสริฐ เป็นที่เคารพสักการะบูชาของชาวพุทธเราอย่างกว้างขวางทั้งในและนอกประเทศ

ถิ่นฐานบ้านเดิม

ต้นตระกูลเดิมของท่านอยู่ที่จังหวัดมหาสารคาม ต่อมาพากันอพยพไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ในครั้งนั้นได้ตามกันมาหลายบ้านหลายครอบครัวด้วยกัน กระทั่งมาพบสถานที่อันเหมาะสม จึงตั้งบ้านเรือนขึ้นและเจริญสืบมา ท่านเล่าสาเหตุที่โยกย้ายจนมาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนที่หมู่บ้านตาด ดังนี้

"...พวกที่มาจากมหาสารคามนั้น เดิมเป็นคนละหมู่บ้านๆ ตกลงกันเรียบร้อยแล้วก็ยกพวกมา มาตั้งรวมอยู่ด้วยกัน จนกลายเป็นอันเดียวกันหมด เลยเหมือนกับว่าญาติกัน มีเหตุมาจากแม่น้ำชีท่วม ถ้าเวลาท่วมก็ท่วมซะจนไม่มีอะไรจะกิน มันจะตายทนไม่ไหว ก็เลยมาหาทำเลดูที่ตรงไหน เลยมาได้ตรงนี้ เลยเอาตรงนี้...

ถ้าว่าแล้งก็แล้งไปเสีย ถ้าว่าท่วมก็ท่วมไปเสีย มีแต่ท่าเสียท่าเดียวมาหลายปีมันเลยจะตาย คนไม่มีข้าวกินแล้ว ก็เลือกกระเสือกระสนกัน จึงได้มาตั้งอยู่นี้ ทีแรกมาตั้งที่บ้านคำกลิ้งก่อน ยกมากันมากอยู่นะ ไม่ใช่คนหนึ่งคนเดียวครอบครัวเดียวนะ...

มันมาหลายบ้านรวมกัน มาตั้งเป็นบ้านคำกลิ้ง จากนั้นก็แยกออกมาเป็นบ้านตาด บ้านโนนทัน...พอสงครามโลกครั้งที่ 2 พวกทหารญี่ปุ่นพากันยกมาตั้งฐานทัพขึ้น เลยยกบ้านโนนทันนี้ออก มาตั้งเป็นบ้านหนองใหญ่ บ้านหนองตูม ทุกวันนี้..."

สภาพความเป็นอยู่สมัยนั้น

สมัยก่อน ณ บ้านตาดนี้เป็นป่าดงดิบ มีทั้งต้นยาง ตะเคียนทอง ประดู่ และต้นไม้อื่นๆ หลากหลายพันธุ์ มากทั้งปริมาณและขนาด สัตว์ป่าจึงมีชุกชุม ไม่ว่าจะเป็นหมูป่า เสือ ช้าง กวาง เป็นต้น ท่านเคยบรรยายสภาพความเป็นอยู่ในสมัยนั้นว่า

"...โอ๊ย...เป็นดงใหญ่ที่สุดเลยนะ ตั้งแต่กรมทหาร (ค่ายประจักษ์ศิลปาคม) มาเลยละ ตั้งแต่เราเป็นเด็กยังเห็นกรมทหารนี้ เป็นดงทั้งนั้นนะ เขามาตั้งใหม่นะเนี่ย หลวงตาเกิดแล้วเขาถึงมาตั้งใหม่ แต่ก่อนกรมทหารอยู่ทางบ้านหนองสำโรง เขาเพิ่งย้ายมาทีหลัง แต่ก่อนเป็นดงทั้งหมด...มีแต่ดงช้าง ดงเสือ เต็มหมด...

แม้หลวงตามาบวชแล้ว บ้านจั่นก็ยังเป็นดงอยู่นะ มาใหม่ๆ บ้านคำกลิ้งอยู่กลางดงเลย ช้างลงกินน้ำตอนกลางคืนเต็มไปหมด เพราะฉะนั้นการทำมาหากินจึงสะดวก หารอบบ้านเอาก็พอแล้ว สมัยนั้นการซื้อการขายมันก็ไม่มี

ตอนหลวงตาเป็นเด็ก เราจำได้ ใครได้หมูได้กวางมาตัวหนึ่งเขาก็กินกันทั้งหมู่บ้านแจกกันทั้งบ้านเลยนะ ไม่มีการซื้อการขาย ส่งบ้านนั้นบ้านนี้...เขาหากินกันตามท้องไร่ท้องนา พวกอีเห็น กระจ้อน กระแต มันเต็มแถวนี้หมด พวกปูปลาอะไรไม่อดไม่อยาก

ตั้งแต่เรายังไม่บวชเนี่ย เสือโคร่งนี้แอบเข้าไปกัดวัว โอ๋ย ข้างต้นเสาเรือนเลยนะ ติดกับบ้านเลยนะ เพราะดงติดกับบ้านสัตว์เลี้ยงตามบ้านเขาก็ไม่ได้ผูกไว้ ดังนั้น เสือมันพอกินได้มันก็กินทันที เพราะมันกินได้ง่ายกว่าสัตว์ป่า สัตว์ตามบ้านมันไม่ค่อยระวังตัว

ช้างมันก็เข้าไปกินในสวนเขา สวนก็ติดกับบ้านนั่นนะ มันกินพวกกล้วยพวกอะไรตอนกลางคืนดังโป๊กๆ เป๊กๆ เขาก็ไม่ว่าอะไรนะ...เฉยมาก ขนาดนั้นนะ ทางล้อทางเกวียนอะไรก็ไม่ค่อยได้ใช้ เพราะไม่ค่อยได้ไปมาหาสู่ ทำนาก็ทำพอกินเท่านั้น เพราะว่าไม่ได้ซื้อได้ขาย พอเสร็จสรรพการทำนาแล้ว เขาก็สนุกสนานกัน เพราะไม่ได้ทำงานอะไร

การซื้อการขายการรับจ้างอะไรไม่มีแต่ก่อนไม่มี แล้วใครจะมีเงิน ครัวเรือนหนึ่งมี 9 บาท 10 บาท ถือว่าเป็นธรรมดาแล้วนะ ถือว่ามีฐานะพอสมควร ถ้ามีเป็นร้อยเป็นชั่งเขาถือว่ามีมากจริงๆ เป็นคนมั่งมีในบ้านนั้น..."

ครอบครัวของท่านทำนาเป็นอาชีพหลัก และเพราะเหตุที่อยู่ท่ามกลางป่าดงเช่นนี้ จึงย่อมหนีไม่พ้นที่จะเจอะเจอสัตว์เหล่านั้น ฉะนั้น ยามว่างจากนา พ่อของท่านจึงเข้าป่าล่าสัตว์อยู่เป็นประจำ เป็นธรรมดานายพรานย่อมชำนาญในการแกะรอยสัตว์ พ่อของท่านก็เช่นกัน นอกจากจะชำนาญในการแกะรอยสัตว์ ยังขึ้นชื่อลือชาในการแกะรอยคนด้วย นิสัยช่างสังเกตช่างพินิจพิจารณาจึงน่าจะถูกถ่ายทอดมาถึง "เด็กชายบัว"

หากสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งหล่อหลอมให้บุคคลมีอุปนิสัยหนักไปทางใดทางหนึ่งจริง การอยู่ท่ามกลางป่าเสือดงช้างและสัตว์ร้ายนานาชนิดที่เป็นภัยอันตรายรอบด้านย่อมสร้างให้คนอยู่ด้วยความไม่ประมาท มีจิตใจเด็ดเดี่ยวอาจหาญและอดทนเป็นเลิศ "เด็กชายบัว" ก็น่าจะรับผลนี้อย่างเต็มภาคภูมิ

สกุลชาวนา...ผู้มีอันจะกิน

แม้ท่านจะถือกำเนิดเป็นลูกชาวไร่ชาวนา แต่หากพูดถึงฐานะการเงินของสกุลของท่านแล้ว ก็ไม่ได้ต่ำต้อยกว่าใครในละแวกบ้านใกล้เรือนเคียง จัดเป็นอันดับหนึ่งในหมู่บ้านนั้นก็ไม่น่าจะผิดไป เพราะคุณตาของท่านประสบผลดีในการค้าขายจากนิสัยที่ขยันขันแข็งและฉลาด ท่านเคยเล่าความเป็นมาไว้บ้างดังนี้

"...พออายุเราได้ 11 ปี คุณตาก็ตายจาก...แม่เล่าให้ฟังว่า คุณตาเป็นคนฉลาด...ในเรื่องความขยันก็จนกระทั่งเขาร่ำลือทั้งบ้านเลยล่ะ แล้วมาได้เมียสกุลนี้ (สกุลของยาย) คือสกุลนี้เขาก็เป็นสกุลมั่งคั่ง ลูกสาวเขาก็สวยงาม คุณตาเลยมาได้กับลูกสาวคนนี้ (คุณยาย) เขายอมยกให้เพราะเห็นว่าคุณตาเป็นคนขยัน แต่งงานแต่งการกันแล้วก็มาได้ลูกสาวคนเดียวคือโยมแม่

คุณตาเป็นคนค้าขาย ทำคนเดียวแกนะ ในบ้านนี้มีคนเดียว...นี่แหละพวกหนังอีเก้งหนังอะไรต่ออะไรเอาไปขายๆ ทำอย่างนี้อยู่ตลอดประจำมาตั้งแต่ไหนแต่ไร เวลาคุณตาจะซื้อวัวซื้อควาย ก็ซื้อมาราคา 20-30 บาทก็เอา...แต่ก่อนวัวควายราคา 30 บาทนี้ถือว่าแพงมากนะ ส่วนมากจะ 15-16 ไปถึง 20 บาท ที่เรียกว่า ควายตัวนี้สวยงามมาก คุณตาก็ซื้อมาขาย...

พอขายได้แล้วก็ไม่ได้ซื้ออะไร...ได้มาเท่าไหร่ไม่รู้ หากขายอยู่อย่างนั้นตลอด...มีแต่เก็บกับเก็บ...เงินแต่ก่อนเป็นเงินเหรียญเหรียญบาท มันจึงมีมากขึ้น ใส่เป็นถุงยาวๆ 80 บาทเป็นมัดหนึ่ง เขาเรียก 1 ชั่ง...แม่เล่าให้ฟังว่า คนแต่ก่อนถือเป็นสำคัญมาก ประหยัดมาก ไม่ใช่เป็นนักจ่ายนะ ไม่ได้สุรุ่ยสุร่ายอย่างทุกวันนี้...

แม่นี้เป็นนักประหยัด ยกให้เลย คุณตามอบเงินให้แม่หมด เพราะมีลูกสาวคนเดียว ส่วนคุณยายตายตั้งแต่แม่ยังเป็นเด็กอยู่...

นี้ละ มรดกจึงมาตกทางนี้มาก แม่จึงได้มีฐานะมาตั้งแต่โน้น...แต่ไม่ให้ใครทราบง่ายๆ นะ...ทางนี้ไม่มีที่จะพูดอะไรๆ คนโบราณเป็นอย่างนั้น มีแต่เก็บแต่หาอยู่อย่างนั้น พูดออกมาเขาจะหาว่าโอ้อวดเสีย โบราณเราถือย่างนั้น ถือแบบปกเอาไว้ปิดเอาไว้ แม่เอาเงินมาเทใส่ขันใหญ่ๆ ให้เห็น จึงได้ทราบชัดเจนว่า ฐานะของเราไม่ใช่เล่นเหมือนกันนะ เป็นขันลงหิน เงินนี้เต็มเลย 2 ขัน 3 ขัน เอามาสรงน้ำ เสร็จแล้วก็เอาใส่ถุง ถุงละชั่ง เป็นถุงผ้านะ...เราจึงรู้ว่าพ่อแม่มีเงินมาก เรียกว่า ฐานะเป็นที่ 1 ของหมู่บ้านนี้เลย คุณตาเป็นผู้มอบมรดกให้ ถึงได้มั่งมีอย่างนั้น ถ้าธรรมดาแล้ว โอ๋ย ไม่มีละ..."

ส่อแววแต่ทารก ว่าเป็นคนจริง

ในขณะที่แม่ตั้งครรภ์ท่านอยู่นั้น ได้ปรารภขึ้นในครอบครัวและวงศาคณาญาติว่า

"...ธรรมดาทารกในครรภ์ เมื่อเติบใหญ่ขึ้นมาต้องดิ้นบ้างไม่มากก็น้อยพอให้แม่รู้สึก แต่กับลูกคนนี้แปลกกว่าคนอื่น ตรงที่นอนนิ่งเงียบเหมือนไม่มีลมหายใจ จนบ่อยครั้งทำให้แม่คิดตกอกตกใจว่า

"ไม่ใช่ตายไปแล้วเหรอ ? ทำไมจึงเงียบผิดปกตินัก"

ครั้นเวลาจะดิ้นก็ดิ้นผิดทารกทั่วๆ ไป คือดิ้นเสียจนแม่เจ็บในท้อง แต่พอเลิกดิ้นแล้วก็กลับเงียบผิดปกติอีก เหมือนกับว่า

"คงจะตายไปแล้วละมั้ง ?"

ครั้นพอถึงระยะเจ็บท้องจะคลอด ก็เจ็บท้องอยู่ถึง 3 วันก็ไม่เห็นว่าจะคลอดแต่อย่างใด ตอนเจ็บท้องอยู่นั้นก็ชนิดจะเอาให้ล้มให้ตายเลย เสร็จแล้วก็หายเงียบไปเลยจนกระทั่งคิดว่าไม่ใช่ตายไปอีกแล้วหรือ ? แล้วก็ดิ้นขึ้นมาอีก..."

คุณตาของท่านทายถึงอุปนิสัยของทารกในครรภ์ว่า

"...ถ้าหากว่าเป็นผู้ชายแล้วละก็ ชอบไปทางไหนเรียกว่าขาดเลยทีเดียว เป็นคนจิตใจหนักแน่น ลงได้ทำอะไรแล้ว ต้องจริงทุกอย่าง ไม่มีเหลาะๆ แหละๆ..."

หลานรักของตา

เมื่อทารกคลอดออกมาปรากฏว่ามีสายรกพาดเฉวียงบ่าออกมาด้วย คุณตาเห็นดังนั้นจึงทำนายเป็น 3 อย่างว่า

1. สายบาตร
ถ้าเป็นนักปราชญ์ ก็จะเหยียบแผ่นดินสะเทือน

2. สายกำยำ
ถ้าเป็นนายพราน ก็จะมีความชำนิชำนาญลือลั่นป่า

3. สายโซ่
ถ้าเป็นโจร ก็เป็นประเภทคุกตะรางแตก

ตอนออกจากท้องแม่ ทารกไม่ได้ส่งเสียงร้องเลย แม้ปลดสายรกออกแล้ว กระนั้นเด็กก็ยังคงนอนเฉยอยู่ จึงเอาน้ำมาเทใส่ก้น เด็กถึงจะร้องขึ้นว่า "แว้" เพียงคำเดียวเท่านั้น แต่แล้วก็กลับนิ่งเฉยอีก

ในตอนนั้นคุณตายังได้ทักว่า

"เออ ก็ร้องเป็นเหมือนกันนี่ ดูอ้วนท้วนสมบูรณ์ดีนะ"

คุณตารักหลานคนนี้มาก จะเป็นผู้ดูแลด้วยตนเองทีเดียว คอยจุดไต้ส่องดูหลานทั้งคืน ไม่อยากให้ลูกสาวต้องมาเป็นกังวล เพราะทั้งห่วงหลานก็ห่วง ห่วงลูกสาวคนเดียวก็ห่วง ไม่อยากให้ต้องลำบากคอยลุกขึ้นดู คุณตาเลยคอยดูอยู่ทั้งคืน ดูแล้ว ดูเล่าคอยส่องอยู่อย่างนั้นบ่อยครั้ง พอมาดูอีกทีหนึ่ง ปรากฏว่าไฟจากไต้เลยตกใส่ตะกร้าลุกไหม้ผ้าอ้อมหลานเลย

"กลัว" เหมือนไม่มีวัน "กล้า"

เมื่อหลานเติบโตขึ้น คุณตาก็จะมีอุบายสอนหลานอยู่เนืองๆ มีอยู่ครั้งหนึ่งเมื่อเห็นหลานน้อยกินมะยมหรือกระท้อนเข้าไปแล้วกลืนเม็ดเข้าไปด้วย คุณตากลัวว่าเม็ดอาจจะติดคอได้ เพราะหลานยังเล็กเกินไป จึงบอกหลานว่า

"ระวัง ! กลืนลงไปทั้งเม็ด เดี๋ยวมันจะไปเกิดเป็นต้นอยู่ในท้อง ใบก็จะงอกออกทางจมูกทางปาก รากจะงอกออกมาทางก้น

ระวังให้ดี ! เดี๋ยวจะตายได้นะ"

หลานได้ยินเช่นนั้นเกิดความกลัวจนถึงกับร้องไห้เสียใหญ่โต จากนั้นมาไม่กล้ากลืนเม็ดมะยมนั้นอีกเลยจวบจนโตขึ้นจึงได้รู้เรื่อง

อีกครั้งหนึ่ง ในตอนที่ท่านยังเด็กๆ อยู่นั้น จัดว่าเป็นคนขี้กลัวมากคนหนึ่ง คงจะเป็นเพราะผู้เฒ่าผู้แก่เคยพูดถึงเรื่องผีเรื่องปอบหรือเรื่องสัตว์เรื่องเสือให้ฟังมาก่อน เพราะแม้เวลาจะไปขับถ่าย ยังต้องให้น้องๆ เป็นเพื่อนคอยเฝ้าอยู่ใกล้ๆ กันนั้นอยู่ตลอด

"อย่าไปไกลกูหลาย"

จากนั้นก็บอกให้น้องคนหนึ่งอยู่หน้าอีกคนหนึ่งอยู่หลัง เมื่อได้อยู่ตรงกลางเป็นที่สบายใจแล้วจึงยอมถ่าย

สิ่งนี้ทำให้เห็นชัดว่า แต่เดิมคนเราอาจเป็นคนขี้กลัวมาก่อนปานว่าจะไม่มีความกล้าได้เลย แต่เมื่อได้รับการฝึกฝนในระยะต่อๆ มาแล้ว ย่อมสามารถพลิกนิสัยได้อย่างสิ้นเชิง กลายเป็นนักต่อสู้ที่องอาจกล้าหาญไม่หวั่นเกรงต่อสิ่งใดทั้งนั้น ไม่กินของดิบ

ทางอีสานในตอนนั้นความรู้ทางโภชนาการยังไม่ค่อยเจริญนัก ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงชอบกินอาหารสุกๆ ดิบๆ แม้คุณตาของท่านก็เช่นกัน ดังนั้น ด้วยความรักของคุณตาที่มีต่อหลาน เมื่อได้อะไรแปลกๆ ใหม่ๆ ก็อยากจะให้หลานได้ลองกินดูบ้าง

แต่สำหรับเด็กชายบัวนั้น เป็นมาแต่เล็กแต่น้อยแล้ว คือจะไม่ยอมกินอาหารสุกๆ ดิบๆ เลย แม้พวกปลาร้าอย่างนี้ หากยังดิบอยู่ก็จะไม่ยอมเอาเข้าปากโดยเด็ดขาด ด้วยเหตุผลว่า "มันคาว"

คราวหนึ่งคุณตาไปได้นกเขามา จึงเอามาทำลาบ ในใจคิดอยากให้หลานได้ลองกินดู อีกทั้งอยากทดสอบดูว่า หลานคนนี้จะไม่ยอมกินของดิบๆ จริงๆ หรือ เพราะก็เห็นเด็กคนอื่นรวมทั้งพี่ๆ น้องๆ ก็กินกันได้เป็นปกติ ไม่เห็นมีใครบ่นว่าเหม็นคาวแต่อย่างใดเลย

การทดสอบหาความจริงของคุณตาจึงเริ่มขึ้น หลังจากทำลายนกเขาเสร็จแล้วจึงยกออกมาวาง และหลานก็คงจะมองสีสันและลักษณะดูแปลกตาไป จึงยกขึ้นมาดมแล้วถามคุณตาอย่างไม่ค่อยวางใจเท่าไหร่นักว่า

"มันสุกแล้วจริงเหรอ ? คุณตาไม่ได้หลอกข้อยเหรอ ?" ("ข้อย" หมายถึง "ผม")

"ไม่ได้หลอกหรอก ตาไม่โกหกลูกหรอก กินเถอะลูก ตาทำให้สุกแล้ว"

ความที่หวังดี ทั้งก็อยากทดสอบดูว่าหลายคนนี้จะไม่ยอมกินจริงๆ หรือ ทำไมมันจะแปลกกว่าพี่น้องคนอื่นๆ นักเล่า ?

หลานไม่แน่ใจจึงถามย้ำเข้าไปอีกว่า

"ไม่หลอกจริงๆ เหรอ ?"

"ไม่ ไม่หลอกหรอก" แต่แท้ที่จริงแล้วคุณตาหลอกหลานเสียเต็มประตู

คุณตายืนยันเช่นนั้น หลานก็เลยเอาข้าวเหนียวปั้นเป็นคำน้อยๆ แล้วจิ้มลาบนกใส่ปาก จากนั้นก็เคี้ยวไว้สักพักหนึ่งแล้วก็อมไว้ ไม่ยอมกลืนแต่อย่างใด แค่อมๆ ไว้เท่านั้น แล้วก็จิ้มคำที่สอง ก็ทำในลักษณะเดิมอีก คือพอเอาใส่ปากแล้วเคี้ยวอยู่พักหนึ่ง แต่ก็ไม่ยอมกลืน ยังคงอมไว้เหมือนเดิม เหตุการณ์ในตอนนี้คุณตาแอบสังเกตเห็นโดยตลอด

พอคำที่สามเท่านั้น คราวนี้หลานอาเจียนแทบเป็นแทบตาย ชนิดในท้องมีอะไรเท่าไหร่ก็เอาออกมาหมดเกลี้ยงเลย ถึงตอนนี้คุณตาเห็นท่าไม่ดีเสียแล้วจึงรีบเข้าไปลูบหลังพร้อมพูดปลอบขวัญหลานด้วยความสงสารเป็นที่สุดว่า

"โอ๋ ลูกเอ๋ย ตาหลอกลูกจริงๆ น่ะแหละ ตาขอโทษนะ ตาอยากทดสอบดูลูก ว่าลูกเป็นยังไง บางทีพอตาหลอกให้กินก่อนแล้วเดี๋ยวต่อไปลูกก็คงจะกินเป็นเหมือนคนอื่นๆ เขา"

หลานตอบว่า "ก็ข้อยบอกแล้วว่ามันคาว มันกินไม่ได้จริงๆ"

ภายหลังมา น้องๆ ของท่านได้กล่าวย้อนอดีตถึงคุณตาในตอนนั้นว่า

"...คุณตาเลยไม่เป็นอันหลับอันนอนสงสารหลาน เห็นหลานกินข้าวไม่ได้จึงคอยเทียวลุกไปดูหลานอยู่ตลอด เที่ยวหาฝ้ายมาผูกแขนให้หลาน ทั้งปลอบขวัญ ทั้งเป่าหัวให้หลานอยู่อย่างนั้นตลอดคืนเลยก็ว่าได้ เรียกว่ามีวิชาอะไรก็จะขุดจะลอกออกมาใช้ให้หมดสิ้น เพราะอยากให้หลานหายโดยเร็ว..."

ในเรื่องนี้ แม้เมื่อท่านโตขึ้นแล้วก็ตาม หากเห็นน้องๆ พากันกินของดิบ ท่านก็มักจะดุเอาบ้างเหมือนกัน เช่น คราวหนึ่งน้องกำลังกินส้มตำผสมกุ้งสดๆ กันอยู่ ท่านเห็นเข้าก็เลยดุเอาว่า

"เอาไปทำให้สุกเสียก่อน"

น้องตอบว่า "โอ๊ย แค่กุ้งดิบ มันไม่มีเลือดมียาง มันไม่คาวหรอก จะเป็นอะไรไป"

ท่านก็ยังคงยืนยันตามเดิมเหมือนเมื่อตอนยังเล็กว่า "มันคาว ?"

อุบายฝึกหลานของคุณตา

เมื่อท่านเติบโตขึ้นพอปีนป่ายได้แล้ว คุณตามักมีอุบายฝึกให้หลานชายทั้ง 2 คน (คือพี่ชายและตัวท่าน) ปีนขึ้นต้นไม้แข่งกัน หากว่าใครปีนขึ้นไปถึงกิ่งนั้นกิ่งนี้ได้ก่อน คุณตาก็จะให้รางวัล ปรากฏว่าท่านเป็นผู้ชนะพี่ชายทุกครั้งไป สำหรับของรางวัลก็คือผลไม้ป่าบ้าง หรือข้าวจี่บ้าง คุณตาจะให้เพียงปั้นเดียวเท่านั้น ไม่ได้ให้อะไรมาก

เมื่อคนน้องได้รางวัลมาแล้ว คุณตาจะคอยแอบสังเกตดูอยู่ห่างๆ ตลอดมา พบว่าน้องจะแบ่งของรางวัลนั้นให้พี่ชายทุกครั้งไป และให้มากกว่าตัวเองเสียอีก คุณตาไม่เคยเห็นน้องหวงเลย จนต้องได้มาพูดกับแม่ของท่านว่า

"บัวนี่ มีน้ำใจ มีความเมตตาแท้ๆ นะ มันรู้จักสงสาร

พี่ชายมันปีนสู้ไม่ได้ มันเลยเอาให้พี่ชายมันเกินมากกว่า แทนที่ว่ามันผู้ไปปีนได้จะกินมากกว่าพี่ชาย มันกลับกินน้อยกว่าพี่ชาย

ดูซิมันมีน้ำใจนะไอ้นี่ มันแปลกนะ แปลกทุกอย่าง"

ทั้งๆ ที่คุณตาก็ให้ความรักแก่หลานทุกคนพอๆ กัน แต่คงเป็นด้วยอุปนิสัยที่มีน้ำจิตน้ำใจเช่นนี้นี่เอง ทำให้คุณตามักมีข้ออ้างชมเชยหลานคนนี้อยู่เสมอๆ

นิสัยอีกอย่างหนึ่งของหลานคนนี้ก็คือ ตั้งแต่เด็กแต่เล็กมาแล้ว ชอบที่จะเล่นกับสัตว์เฉพาะอย่างยิ่งคือสุนัข ยิ่งตัวไหนอ้วนๆ ดำๆ ด้วยแล้ว ยิ่งชอบหยอกเล่นด้วย จนถึงกับมีบางครั้งที่ทำให้แม่ต้องได้ดุได้ว่าเอาบ้าง

แม้ท่านจะชอบหยอกสุนัขอยู่บ่อยๆ แต่อย่างไรก็ตาม ท่านจะไม่ยอมตีหรือแกล้งมันให้เจ็บ ตรงกันข้าม หากเห็นน้องๆ แกล้งมันคราวใด ท่านจะดุจะว่าทันที

คำสอนคุณตา

สมัยที่ท่านยังเป็นเด็กอยู่ มีคนมาขอใบพลูกับแม่ ในคราวที่เขามาขอแม่ แม่มักจะให้ทุกอย่างไม่เคยเห็นปฏิเสธเลย แต่พอมีความจำเป็นไปขอเขาบ้าง ทุกครั้งเขากลับไม่เคยให้เลย เรื่องนี้หลานๆ มักได้ยินคุณตาสอนเป็นข้อเตือนใจว่า

"เขาไม่ให้ครั้งที่ 1 ก็อย่าโกรธให้เขา บางทีของมันอาจไม่พอให้ แล้วก็คนเก่านั้นแหละ ให้ไปขอเขาอีกครั้งที่ 2 เผื่อว่าเขาได้อะไรมา เช่น พวกของป่า ของอะไรๆ ก็ตาม

ถ้าหากครั้งที่ 2 นี้ก็ไม่ได้ ก็อย่าเพิ่งไปโกรธให้เขา บางทีเราอาจไปขอเขาทีหลัง ไม่ทันคนอื่น ของมันเลยไม่พอกัน

ให้ลองกับคนคนนี้อีกเป็นครั้งที่ 3 ถ้าไม่ได้ก็เลิกซะ แต่ว่าอย่าโกรธให้เขานะ อย่าไปโกรธให้เขา"

รูปภาพ
น้องสาวและหลานของหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน


(มีต่อ 1)

เจ้าของ:  สาวิกาน้อย [ 24 ธ.ค. 2010, 10:24 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

รูปภาพ

"อ้อย" เป็นเหตุ

ป้าฝ้ายซึ่งเป็นญาติอยู่ใกล้ๆ กันนั้น แกมีสวนอ้อย เมื่อป้าฝ้ายเห็นท่าน แกก็จะหักอ้อยให้ท่านกินอยู่บ่อยๆ คราวหนึ่งท่านนึกอยากกินอ้อยจึงเดินไปที่สวนนั้น แต่วันนั้นป้าฝ้ายไม่อยู่ แกไปทุ่งนา

ด้วยความที่ยังเด็กอยู่มาก อีกทั้งป้าฝ้ายก็เคยหักอ้อยให้กินเป็นประจำอยู่แล้ว คราวนี้นึกอยากขึ้นมาอีกก็เลยขอถือโอกาสหักอ้อยมากินเองเสียเลย ทั้งก็ไม่มากอะไรเพียงลำหนึ่งเท่านั้น คงจะไม่เป็นไร คิดเช่นนั้นจึงหักเอามากิน

คุณตาเห็นหลานกำลังกินอ้อยอยู่และก็ทราบด้วยว่าวันนั้นป้าฝ้ายไม่อยู่ คิดจะสอนหลาน จึงพูดขู่ให้หลานกลัวว่า

"เอ้า ก่อนๆ เคยไปกับป้าฝ้าย แกเอาให้กินก็จริง แต่ทีนี้ป้าฝ้ายไม่อยู่ แล้วไปเอามากิน มันก็ผิดนะ พ่อแม่ก็ไม่ได้ส่งเสริมให้เป็นขโมยนะ"

จากนั้นคุณตาแกล้งหันไปพูดกับแม่ของท่านว่า

"...สูเอ้ย ตำข้าวใส่ถุงใส่ไถ้ให้มันเน้อ เดี๋ยวตำรวจก็จะมามัดคอมันไปใส่คุกใส่กรงขังหรอก"

ได้ยินดังนั้น ปรากฏว่าหลานร้องไห้เสียจนจะเป็นจะตาย กลัวว่าตำรวจจะมาจับจริงๆ จากนั้นก็รีบวิ่งอย่างเร็วไปหาป้าฝ้าย จนถึงที่นาของแกเลยทีเดียว พอไปถึงก็พยายามจะบอกป้าฝ้ายว่าได้เอาอ้อยไปกินลำหนึ่งแล้ว เมื่อป้าฝ้ายเข้าใจเรื่องราวทั้งหมดแล้ว รู้สึกสงสารหลานเลยพูดปลอบว่า

"โอ๊ย กูไม่หวงหรอกบัว เอาได้เลยนะ ทีหน้าทีหลังถ้ารู้ว่าอะไรที่เป็นของป้าฝ้ายก็ให้เอาได้เลยนะ"

ป้าฝ้ายว่าอย่างนั้น หลานก็เลยรู้สึกอุ่นใจ สบายใจขึ้นทันที

ปกติท่านเป็นที่รักของคนทั่วไป ทั้งผู้ใหญ่และเพื่อนฝูงวัยเดียวกัน เพราะนิสัยที่เป็นคนมีน้ำใจ ชอบช่วยเหลือการงานผู้อื่นอยู่เสมอ หากไปไร่ไปสวนกับใครก็ตาม ท่านจะช่วยเหลือทุกอย่างที่จะช่วยได้ เช่น ช่วยทำการทำงาน ช่วยหาบช่วยถือสิ่งของ ใครๆ ก็เลยรักท่านทั้งนั้น ไม่มีใครคิดหวงข้าวหวงของอะไรกับท่าน

ตอนไม่รู้ ก็ผิดบ้าง พอรู้แล้ว ไม่ยอมให้ผิด

ชีวิตของท่านมิได้มีสิ่งใดผิดแผกแตกต่างจากเพื่อนฝูงวัยเดียวกัน แต่เล็กแต่น้อยก็ให้ความเคารพในพระศาสนา มีความเลื่อมใสในพระในเณรมาโดยตลอด ในตอนเด็กก็ชอบใส่บาตรกับผู้ใหญ่ เมื่อเข้าเรียนหนังสือชั้นประถมศึกษาแล้ว ท่านก็รับผิดชอบในการเล่าเรียนดี จะมีบางครั้งที่ซุกซนบ้างตามประสาวัยที่กำลังรักสนุกเพลิดเพลิน แต่ก็ไม่ได้เป็นเรื่องร้ายแรงอะไร ดังเช่น ครั้งหนึ่งท่านยกเอาเรื่องสมัยเด็กมาสอนนักเรียนว่า

"...นี่หลวงตาบัวเคยเป็นนักเรียนมาแล้วนี่ เป็นนักเรียนเป็นยังไงละ วันไหนขี้เกียจเรียนหนังสือก็หาอุบายลาไปเลี้ยงน้อง

"วันนี้ลาเอาน้องครับ พ่อแม่หนีหมด" ว่ายังงั้นนะ "พ่อแม่บอกดูน้องให้ด้วย" นั่นว่าไปยังงั้นนะ ครูเขาก็ต้องอนุญาตนะสิ ใช่ไหมละ

พอครูอนุญาต ที่แท้ก็เผ่นแน่บเข้าป่าหายจ้อยไปเลย...เคยเป็นแล้วจึงเอามาพูด อย่าให้เป็นนะเด็กเหล่านี้ หลวงตามันเคยเป็นมาแล้ว...มันไม่ดี จึงได้เอามาสอนลูกสอนหลาน...

วันหนึ่งๆ นี้ ขาดโรงเรียนไป ขาดวิชาไป บางทีเขาโน้ต จดวิชาอะไรต่ออะไรนี้ เราไม่ได้จดกับเขา แล้วถ้าเราจะไปโน้ตหรือจดวันหลังเช่นนี้ก็จะเสียเวลาไปอีกมากมาย แล้วถ้าครูสอนอะไรมันก็ไม่ได้เรื่องได้ราว เพราะวันนั้นเป็นวันที่เราขาดโรงเรียน นั้นแหละ

เพราะฉะนั้น พอโตขึ้นมา พอรู้เรื่องรู้ราวแล้ว...รู้จักผลรู้จักประโยชน์ในการศึกษาเล่าเรียนแล้ว ทีนี้...โอ๊ย ไม่ยอมให้ขาดเรียนเลยนะ หมายถึงว่าตอนเล็กกว่านั้นมันเคยเถลไถล พอโตขึ้นมาพอรู้ภาษีภาษาบ้าง...เป็นไม่ยอม

แม้แต่พ่อแม่ให้ลาเวลาจำเป็นที่ยังไม่ยอมลา มันจะขาด...ถ้าไปแล้วมันต้องเสียวิชานี้...วันนี้ครูจะสอนอันนั้นๆ บอกไว้เลย ถ้าไปแล้วจะไม่ได้เรียนไม่ได้ฟังวิชานี้..."

โดยปกติท่านเป็คนรักกฎระเบียบรักษาคำพูดและเคารพเชื่อฟังผู้หลักผู้ใหญ่ ครูบาอาจารย์มาแต่เดิม จะไม่ยอมทำสิ่งใดให้เป็นที่หนักอกร้อนใจแก่ท่าน จึงไม่เคยถูกด่าว่ากลุ่มรุนแรงอะไร หากจะมีอยู่บ้างก็คือ

ครั้งหนึ่ง ระหว่างที่ผู้ใหญ่กำลังนั่งพูดคุยกันอยู่นั้น ท่านก็เดินเข้าไปในบริเวณกองไม้ซึ่งอยู่สูงกว่าผู้ใหญ่ ทำให้ดูเหมือนว่า ท่านไม่ให้ความเคารพ ครูใหญ่เห็นดังนั้น คิดจะสอนท่าน จึงพยายามมองสบตาและส่งสายตาเตือนให้รู้ตัว ท่านก็เลยรีบลงมา

เมื่อผู้ใหญ่ไปแล้ว ครูก็พูดด้วยความเมตตา บอกให้ทราบเหตุผลว่า

"บัวเอ๊ย อย่าขึ้นนั่งสูงกว่าผู้ใหญ่นะ อย่างนั้นมันดูไม่งาม"

ในตอนนั้นท่านไม่ทันคิดว่ามันไม่เหมาะไม่ควร ต่อเมื่อครูทำสัญญาณบอกดังกล่าว ท่านจึงทราบและรีบปฏิบัติตามทันทีด้วยความเชื่อและเคารพในเหตุผลแก้หน้าให้พี่ชาย

ในสมัยนั้น โรงเรียนอยู่ตรงวัดร้างบริเวณป่าสักทางทิศตะวันตกของหมู่บ้านตาด เมื่อเข้าโรงเรียน ท่านก็ตั้งอกตั้งใจเรียน มีความรับผิดชอบสูง จะเห็นได้จากผลการเรียนที่ดีเยี่ยมของท่านคือ

ประถม 1 สอบได้ที่ 2

ประถม 2 สอบได้ที่ 1

ประถม 3 สอบได้ที่ 1

การเรียนหนังสือในตอนนั้นก็ไม่ได้มีฝากั้นแบ่งแยกเป็นห้องๆ ดิบดีอะไร ทำให้มองเห็นกันและได้ยินเสียงครูข้างๆ ห้องสอนหนังสือนักเรียนชัดเจน เหตุนี้เองทำให้มีเรื่องน่าขบขันเรื่องหนึ่งเกิดขึ้นในระหว่างเวลาที่เรียนหนังสือ

พี่ชายของท่าน (ชื่อคำไพ) ซึ่งกำลังเรียนหนังสืออยู่ห้องติดกัน ถูกครูถามขึ้ว่า

"คำไพ ค้างคาวคืออะไร"

ถูกถามเช่นนั้น พี่ชายของท่านเลยเงียบไปพักใหญ่ๆ เพราะไม่รู้คำตอบ ทางท่านเองซึ่งกำลังนั่งเรียนอยู่ห้องข้างๆ แอบได้ยินเข้าและก็ทราบคำตอบดี อยากจะช่วยพี่ชายให้ตอบคุณครูให้ได้ พยายามเอาใจช่วยอย่างเต็มที่ นึกร้องตะโกนบอกพี่ชายอยู่แต่ในใจว่า

"ก็ อีเจียดังวัก ไง...ทำไมแค่นี้ก็ตอบไม่ได้ๆๆ..." เมื่ออดรนทนไม่ไหวจึงร้องบอกพี่ชายว่า

"ก็ อีเจียดังวีก ไง อีเจียดังวีก"

พอพี่ชายได้ยินดังนั้นก็เลยนึกขึ้นได้ รีบตอบครูทันทีว่า

"อีเจียดังวีก ครับผม"

เคารพเชื่อฟังครูบาอาจารย์

เมื่อจบชั้นประถม 3 ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดของการศึกษาภาคบังคับในเวลานั้นแล้ว ท่านก็ไม่ได้ศึกษาในชั้นต่อๆ ไปอีก ทราบกันว่าช่วงที่เป็นนักเรียนอยู่นั้น ท่านเป็นที่รักที่วางใจของคุณครูอยู่ไม่น้อย

สังเกตได้ชัดเจนก็คือ เวลาไปไหนมาไหน คุณครูมักพาไปด้วย คงจะเป็นเพราะอุปนิสัยช่างสังเกต ขยันขันแข็ง ถึงคราวจะใช้จะวานอะไร ก็คล่องแคล่วว่องไว และเข้าใจกาลใดควรไม่ควร

สิ่งนี้ทำให้คุณครูให้ความสนิทสนมเป็นกันเองกับท่านตลอดมา แม้ภายหลังท่านจะเข้าสู่เพศบรรพชิตแล้วก็ตาม แต่การติดต่อสัมพันธ์ก็มิได้จืดจางห่างเหินแต่อย่างใดเลย

คุณครูชาลี สิงหะสุริยะ เป็นครูใหญ่โรงเรียนประชาบาลบ้านตาดในระยะนั้น เป็นผู้ที่ท่านกล่าวถึงเสมอมาด้วยความชื่นชมและซาบซึ้งในพระคุณไม่เสื่อมคลายว่า

"...ท่านเป็นครูของอาตมา เป็นครูตั้งแต่อาตมายังเป็นนักเรียน ท่านเป็นครูที่ดีจริงๆ หายากมาก อาตมารักและเคารพครูของอาตมาคนนี้มาก ซึ่งความจริงแล้วอาตมามีครูที่สอนไม่รู้กี่คน ตั้งแต่ชั้นนั้นชั้นนี้ ตั้งแต่ ก ไก่ ก กา ก็มีครูท่านนี้แหละที่อาตมาติดใจมากที่สุด รักมากที่สุด เคารพมากด้วย ไปไหนของเอาไปด้วยนะนี่ ท่านชอบเอาไปด้วย

โอ...หายากนะนี่ คนไม่ลืมเนื้อลืมตัวคือครูคนนี้แหละ ไม่ลืมเนื้อลืมตัวเลย เข้านอกออกในได้หมด ไม่ถือสีถือสา ถือยศถาบรรดาศักดิ์ ความประหยัดนี่เก่งมากทีเดียว ไม่สุรุ่ยสุร่าย ไม่ลืมเนื้อลืมตัว การเล่นเกะกะเกเรไม่มีเลย ไปไหนมาไหนเรียบๆ

ชอบทำบุญให้ทานเป็นประจำนิสัยและเป็นคนกว้างขวางมาก ไม่เห็นแก่ตัวเพื่อนฝูงรักมาก ช่วยเหลือคนไม่กลัวหมดกลัวสิ้น แต่ตัวเองรับประทานและใช้สอยน้อย ประหยัดดี หายาก อาตมารักท่านมาก

โอ...หายากมาก อาตมารักมาแต่ไหนแต่ไร จนกระทั่งทุกวันนี้แหละ ความรักของอาตมา ความเห็นบุญเห็นคุณ ไม่เคยจืดจางไปเลย ฝังลึก อาตมาไม่ค่อยเหมือนใครง่ายๆ ครั้นว่าลงก็ลงจริงๆ ครั้นว่าไม่ลง ก็ไม่ลงนะ ครั้นว่าลงก็ลงจนกระทั่งวันตาย ไม่มีอะไรมาแก้ให้ตกดอก

นี่ก็ลงแท้ๆ ลงชื่อว่าเป็นครูของอาตมา ให้กำเนิดวิชาความรู้อาตมามาโดยตลอด กิริยามารยาท การปฏิบัติตนอย่างไร อาตมาได้ยึดเป็นคติเป็นตัวอย่างมาตลอดเหมาะสมกับที่เป็นครู..."

หยอกล้อประสาพี่น้อง

ย้อนมากล่าวถึงความผูกพันประสาพี่น้องในครอบครัว เริ่มต้นด้วนเรื่องที่น้องๆ เล่าถึงอุปนิสัยและความจริงจังของท่านในวัยหนุ่มว่า

"...ท่านเป็นคนดุเพราะนิสัยเป็นคนจริงจัง ทำให้น้องๆ เกรงกลัวอยู่ไม่น้อยทีเดียว บางทีถ้าหากท่านไม่อยู่หรือออกไปนอกบ้าน จะรู้สึกโล่งอกโล่งใจ แต่ถ้ากลับมาเมื่อใด ต้องได้แอบบอกกันว่า

"นั่นๆ บัวมาแล้วๆ..."

โดยมากน้องๆ จะเกรงท่านมากเป็นพิเศษก็คือช่วงที่กำลังทำงาน เพราะท่านจะทำจริงทำจังมาก น้องๆ จะมัวมาหยอกมาเล่นกันไม่ได้ ท่านจะดุทันที

แม้ท่านจะจริงจังขนาดนั้น แต่อย่างไรก็ตามจะเป็นเฉพาะเวลางานเท่านั้น ถ้าเป็นช่วงปกติกันเองพี่ๆ น้องๆ ท่านกลับชอบหยอกล้อน้องๆ เล่น ดังเหตุการณ์ในวันหนึ่ง

ตอนนั้นท่านมีอายุประมาณ 18-19 ปี ขณะที่น้องๆ กำลังวิ่งเล่นกันอยู่นั้น ท่านก็คิดหาอุบายหยอกน้อง โดยเก็บมะละกอมา ขณะเดินผ่านน้องๆ ก็พูดขึ้นว่า

"จะยากอะไร ตำบักหุ่ง"

จากนั้นก็ขึ้นไปบนบ้าน แล้วก็ทำท่าตำส้มตำเสียงโขลกครกดังโป๊กๆ อยู่ครู่หนึ่ง สักประเดี๋ยวก็เรียกน้องๆ ขึ้นไปกินส้มตำ

"กูตำแล้ว จะกินก็มาเด้อ กูตำแล้ว รีบมาๆ กูตำบักหุ่งเสร็จแล้ว มาเอาลงไปกิน"

ว่าดังนี้แล้วก็ทำท่าไปยืนอยู่ใกล้ๆ ครัวไฟ และไม่ยอมหันหน้ามาทางน้องๆ อีกด้วย จากนั้นก็เอาใบตองมาห่อส้มตำที่เพิ่งโขลกเสร็จแล้วก็วางไว้

น้องส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง เพิ่งเล่นกันมาเหนื่อยๆ จึงต่างมุ่งมาที่ห่อส้มตำด้วยความดีใจว่าจะได้กินกัน พอคว้าได้ก็หัวเราะเริงร่าวิ่งลงมาข้างล่างเพื่อจะได้เปิดออกมากินพร้อมๆ กัน

พอเปิดห่อใบตองออกเท่านั้น ก็ได้ยินเสียงแหลมๆ ร้องประสานกันขึ้นทันทีว่า

"ว้าย เขียดตะปาด"

น้องๆ ผงะจาก "เขียดตะปาดตาโปนๆ" ในห่อด้วยกลัวว่ามันจะโดดออกมาเกาะ และต่างพากันวิ่งหนีไปคนละทิศละทาง วงส้มตำจึงล้มสลายไปโดยฉับพลันท่ามกลางเสียงหัวเราะงอหายตามมาอีกยกใหญ่

ความรักของพ่อ

เวลาที่พ่อพาลูกๆ เข้าไปในป่า พ่อจะคอยแนะคอยเตือนถึงวิธีการรักษาและป้องกันตัวจากภัยอันตรายรอบด้าน โดยเฉพาะพวกสิงสาราสัตว์ประเภทต่างๆ เช่นคราวหนึ่ง พ่อพาลูกๆ ไปเก็บลูกเร่ว ที่ขึ้นอยู่ตามป่า เพราะขายได้ราคาดี ดังนี้

"...เวลาเข้าดง ระหว่างเดินไป ให้ใช้สายตาคอยสังเกตดูแถวๆ ขอนไม้นะ เสือมันมักจะหมอบอยู่ข้าง ขอน ถ้าเห็นมันให้รีบวิ่งมาหาพ่อนะ

...ก่อนจะเก็บลูกเร่ว ให้สังเกตดูสิ่งรอบข้างว่ามีงูมีสัตว์ร้ายหรือไม่ ถ้าไม่มีก็รีบเก็บลูกเร่วได้

ตอนเข้าในดงในป่าลึกๆ โน่น ให้มองดูต้นไม้ที่เด่นๆ สังเกตว่ากิ่งไม้มันยื่นไปทางทิศไหน ตะวันออกหรือตะวันตก ให้สังเกตทิศของดวงอาทิตย์ด้วย ให้จำไว้ เวลากลับจะได้ไม่หลงทาง..."

พ่อมักจะพาท่านไปตีผึ้งอยู่บ่อยๆ (โดยตอกทอยฝังเป็นขั้นๆ ไว้ในเนื้อไม้ จากนั้นก็ปีนขึ้นไปเอารังผึ้ง) บางครั้งก็เอาน้องของท่านไปด้วย ในคราวที่พาลูกไป พ่อจะบอกหนทางไปกลับให้ลูกรู้จักหมดและจำให้ได้

เรื่องนี้น้องๆ ของท่านเคยเล่าไว้ว่า

"...พ่อพาท่านไปตีผึ้งบ่อยๆ บางทีก็เอาน้องไปด้วย พ่อจะบอกทางหมดว่าทางนี้ไปนั้น ทางนั้นจะไปนั้น ส่วนลูกมักกลัวเสือ จึงต้องได้เหลียวดูอยู่ตลอด

ถ้าไปเอาผึ้งพุ่ม (ผึ้งโพรง)...เมื่อไปถึงทางแยก พ่อจะบอกว่า

"ทางเส้นนี้ ไปหนองปากด่านนะ ออกบ้านคำกลิ้งนะ ไปทางนี้ไปเข้าดงใหญ่ดงหลวงไปได้เตลิดเลยนะ ถ้าไปทางที่เรามานี้จะคืนกลับบ้านเรานะ"

ท่านบอกไว้หมด พาไปไหนก็จะบอกไว้หมดเรื่องหนทาง...พ่อคงจะคิดเผื่อไว้ว่า หากปีนพลาดพลัดตกต้นไม้ตาย ลูกก็จะไม่รู้หนทางคืนกลับบ้านได้ จึงต้องบอกกันไว้ก่อน...พ่อเป็นคนปีนขึ้นไปตีผึ้ง ปีนเก่งเป็นทั้งพราน เป็นทั้งหมอผึ้งด้วย"

ในสมัยก่อนยังไม่มีธนาคาร เวลามีเงินมีทอง เขามักจะเอาไปฝังดินไว้ พ่อของท่านบางทีเวลาไปดงไปป่าก็จะเอาเงินไปด้วยทีละชั่ง แม้เข้าป่าล่าสัตว์ก็จะเอาติดตัวไปด้วย เวลาลงอาบน้ำในหนอง ก็จะเอาเงินไปซ่อนไว้ในพุ่มไม้ก่อน

การที่พ่อต้องเก็บต้องหา ต้องระแวดระวังทรัพย์สมบัติดังกล่าว ก็ด้วยเหตุผลที่พ่อเคยบอกลูกๆ ว่า

"โอ๊ย...สาธุ พ่อทำอะไรก็หาไว้เผื่อลูกเผื่อเต้าทั้งนั้นแหละ ตัวเองไม่รู้ว่าจะได้อยู่ได้กินยังไงก็ช่างไม่ว่า ขอแต่ให้ลูกได้อยู่ได้กินมีความสุขก็พอ"

แป้วใจเมื่อยิงหมี

โดยปกติแล้วการตีผึ้งจะทำกันในตอนกลางคืนเดือนมืด แต่ตอนท่านเป็นหนุ่มเป็นคนไม่กลัวอะไรง่ายๆ จึงอยากจะทดลองตีผึ้งในตอนกลางวันดูบ้าง

ครั้งนั้นผลปรากฏว่า ผึ้งจำนวนมากเลยบินตามไล่ต่อยตลอดทาง ถึงขนาดที่ว่า ต้องได้ถอดเสื้อถอดผ้าออกหมดและรีบกระโจนลงไปอยู่ในน้ำ แม้ขนาดนั้นฝูงผึ้นก็ยังวนเวียนอยู่เหนือน้ำ แต่ที่สุดก็รอดพ้นไปได้ ครั้นเมื่อกลับมาถึงบ้านแล้ว มาดูตามเนื้อตัวปรากฏว่ามีแต่เหล็กในผึ้งฝังอยู่เต็มไปหมด

มีอยู่คราวหนึ่ง ท่านตามผู้ใหญ่ไปในป่า บังเอิญเหลือบไปเห็นหมีตัวหนึ่งเข้าก็เป็นระยะที่ประชิดตัวมากแล้วเพราะอยู่ใกล้มาก ครั้งนั้นท่านช่วยพ่อแบกปืนอยู่จึงจำเป็นต้องยิงทันที ทราบว่าหมีตัวนั้นได้รับบาดเจ็บไม่น้อย ท่านบอกว่าวันนั้นทั้งวันรู้สึกไม่สบายใจเลย

เมื่อกลับถึงบ้าน จึงถามพ่อว่า

"ยิงหมีนี่บาปไหม ?"

คงเป็นเพราะท่านได้รับการปลูกฝังมาแต่เด็กว่า การฆ่าและการเบียดเบียนสัตว์เป็นบาป หากเป็นวันพระด้วยแล้วยิ่งบาปมาก ทำให้ท่านแสดงความเสียใจปรากฏออกมาจนพ่อสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน ยิ่งลูกตั้งคำถามกับพ่อดังกล่าวด้วยแล้ว ความที่พ่อเกรงว่าลูกจะสลดหดหู่เศร้าสร้อยเกินไป จึงได้กล่าวปลอบขวัญพอเป็นกำลังใจแก่ลูกแทนการให้คำตอบที่แท้จริง

ภายหลังเมื่อบวชแล้ว ท่านยังรู้สึกแป้วๆ ในใจอยู่ตลอดมา ดังนั้น เวลาภาวนาไหว้พระสวดมนต์คราวใด ท่านจะต้องแผ่เมตตา อุทิศส่วนกุศลให้หมีตัวนั้นทุกครั้งทุกคราไป ท่านเคยกล่าวกับพระด้วยว่า แม้จนทุกวันนี้ท่านก็ยังแผ่เมตตาให้มันอยู่ตลอดมิเคยขาดเลย

คำกล่าวของท่านตอนหนึ่งเล่าถึงความคิดในสมัยเด็กๆ เกี่ยวกับเรื่องความตาย จากนั้นก็กล่าวมาถึงเรื่องการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ดังนี้

"...พูดถึงเรื่องเป็นเรื่องตายนี้กลัวมาก ตอนเป็นเด็กเรากลัวมากพอพูดถึงเรื่องตายนี้ไม่อยากให้ระลึกขึ้นเลย มันเหี่ยวมันห่อในใจให้ระลึกเรื่องอื่นมากลบมันเอาไว้ เราไม่ลืมนะ นี่ข้อหนึ่ง

ข้อที่สอง มีเพื่อนฝูงเขาพูด เราก็พากันไปหากินตามเรื่องตามราวนั่นละ เขามาพูดว่า

"วันพระนี้ทำบาปเป็นบาปมากนะ วันพระนี้ไปฆ่าอะไรทำบาปอะไรเป็นบาปมากนะ"

มันก็ฝังใจ เลยฝังมาตลอด วันพระนี้ไม่กล้าฆ่าสัตว์..."

คำกล่าวข้างต้นทำให้ทราบได้ว่า คนในสมัยนั้นท่านเน้นเตือนกันเสมอในเรื่องบุญเรื่องบาป ไม่มองข้ามหรือเพิกเฉยไป จะเห็นได้ชัดเจนอีกตัวอย่างหนึ่งเกี่ยวกับพ่อและแม่ของท่านเอง คือ ทุกครั้งที่พ่อเข้าป่าเข้าดงได้เนื่อมา แต่จะต้องเอาเนื้อนั้นมาทำแห้งบ้างทำแหนมหรือทำส้มบ้างเพื่อไม่ให้บูกให้เสียทิ้ง จะได้เอาไปทำบุญกับพระที่วัด แม่ทำเช่นนี้เสมอมา ทุกครั้งจะต้องอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้กับสัตว์ที่เอาเนื้อมาทำอาหารด้วยทุกๆ ตัวไปไม่ให้ขาด ความใกล้ชิดติดพันของพ่อและแม่ต่อพระศาสนาเช่นนี้เอง มีส่วนปลูกฝังความคิดที่ถูกต้องกอปรด้วยเมตตาธรรมแก่ท่านอยู่ไม่น้อย ให้มีความละอายและเกรงกลัวต่อบาปเป็นพื้นฐาน ประทับไว้ภายในจิตใจตลอดมากระทั่งก้าวสู่เพศบรรพชิต


(มีต่อ 2)

เจ้าของ:  สาวิกาน้อย [ 24 ธ.ค. 2010, 10:24 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

รูปภาพ

เลือกคบเพื่อน

นิสัยที่จริงจังของท่านเป็นข้อเด่นอีกข้อหนึ่ง ใช่แต่เพียงเรื่องการงานเท่านั้น แม้แต่การคบเพื่อน ท่านก็ยังชอบคนที่รักความสัตย์ความจริงไม่เหลาะแหละ ท่านกล่าวถึงเพื่อนสนิทคนหนึ่งในสมัยหนุ่มว่า

"...ผู้ใหญ่เถิงเป็นเพื่อนกัน แกขยันมากนะ เขาเรียกว่า หลานหลวงกำแหงเขาก็เรียกเราว่า หลานพ่อเฒ่าแพง แพง นี่หน่ะชื่อแม่เรา พ่อของแม่ขยันไม่มีใครสู้ในบ้าน ถ้าหลานหลวงกำแหงกับหลานพ่อเฒ่าแพงได้ทำงานแล้วไม่มีใครสู้แหละ เราก็สนิทกัน ไปเที่ยวบ้านคุยกัน บางทีมันก็ไปบ้านเรา เราก็มาบ้านมัน...ผู้ใหญ่เถิงนี่

เวลาไป มีอะไรก็กินโน้นเลย เราก็เหมือนกัน มาบ้านเขาก็กินเลย ถือเป็นอันเดียวกัน สนิทกันขนาดนั้นละ พ่อแม่ไม่เคยสนใจ ไม่เคยจะเล่าให้ฟัง ไอ้นั่นไปกินข้าวบ้านกูๆ เฉยเหมือนไม่ได้กิน เขามากินข้าวบ้านเราก็เหมือนกัน เราไปกินข้าวบ้านเขาก็เหมือนกัน...

...เรานี่จะว่าความฉลาด แต่ก่อนก็ไม่ปรากฏนะ แต่เรื่องความสัตย์ความจริงนี้เด่น เป็นมาแต่ครั้งเป็นฆราวาส คือเจ้าของรู้ตัวเองว่ามีความสัตย์ความจริง แต่ไม่ได้สนใจด้วย มันหากเป็นอยู่ในจิต ถ้าใครเหลาะแหละไม่อยากคบ ถ้าพูดเชื่อถือไม่ได้ก็ไม่คบ เวลาว่าอยู่ อยู่ เวลาว่าไป ไป นิสัยเรา ว่าทำ ทำ ไอ้ที่ว่าอย่างนี้แล้วไปเป็นอย่างนั้น เราไม่คบ

อันที่สองพวกฉกพวกลักขโมยนี้ไม่คบ พวกหนุ่มด้วยกันที่ชอบฉกลักขโมยนี้ก็หลีกไม่คบ อันนี้เป็นนิสัยอันหนึ่งไม่ชอบคบคนเหลาะแหละ เรายังไม่ลืมนะ

พ่อของผู้ใหญ่เถิงเขาก็ขยันเก่ง...เขามาชวนเราไปหาล่าสัตว์ในป่า หาตะกวดหาอะไร เพราะหมาราเป็นพรานดี มาชวนเราไปวันพรุ่งนี้

"โอ๊ย ! ยังไปไม่ได้หรอก เพราะได้รับคำแล้วว่าจะทำสวนตรงนั้นๆ ให้พ่อ ถ้าอันนี้ยังไม่เสร็จ ไปไม่ได้หรอก"

ก็เลยขอผ่าน เขาเลยไม่ไป แล้วเขาก็ไปถามพ่อ ถามลับๆ เรามารู้ทีหลังนะว่า

"ไหน บัว ชวนมันไปหาล่าตะกวด มันบอกว่า มันทำงานให้พ่อมันอยู่ มันยังไปไม่ได้ เป็นยังไง มันทำงานอะไร ทำจริงไหม ?"

"มันทำแล้ว ทำเสร็จเรียบร้อยแล้วโอ๊ย ไอ้นี่ถ้ามันได้ลั่นคำแล้ว เป็นแน่ทีเดียว ไม่สงสัยละ นอกจากมันเฉยละ อย่าไปใช้มัน ถ้ามันลั่นคำแล้ว ตายใจเลย ไอ้นี่"

ผู้ใหญ่เถิงคนนี้แหละ เป็นเพื่อนของเรา เพื่อนการเพื่อนงานเพื่อนคบ เพราะไอ้นี่มันขยันมากนะ ทำถึงใจๆ ทุกอย่าง ไม่เหลาะแหละ เอาจริงเอาจัง ขยัน

คนเหลาะแหละนี่เราไม่เล่นนะ มันเป็นนิสัยเอง มันเป็นอยู่ในจิตนะ เราก็ไม่รู้ว่ามันมีธรรมนะ จนไปเรียนหนังสือถึงรู้คำสัตย์นี้เรามีมาแต่ดั้งเดิม มันหากเป็นอยู่ในหัวใจเราเอง..."

ผู้ใหญ่ให้การยอมรับ

อีกเรื่องหนึ่งเป็นที่ประหลาดใจอยู่ไม่น้อย แม้กระทั่งแม่ของท่านเองก็ยังรู้สึกแปลกใจว่า ทำไมผู้หลักผู้ใหญ่ในหมู่บ้านมักชอบมาหาและมาปรึกษาหารือกับท่าน จนครั้งหนึ่งแม่ถึงกับได้ออกปากว่า

"พ่ออาวพ่อลุง (คุณอาคุณลุง) มาหาบัวทำไม ? ปะสาเด็กน้อย"

บรรดาผู้ใหญ่จึงตอบว่า

"โอ๋ แม่อาแม่ป้า มันไม่ใช่เด็กน้อยนะ ถ้าทำอะไรไม่เอาตามคำมัน จะพลาดหมดเลย ต้องได้ทิ้ง

มันทำอะไรไม่พลาดสักอย่างเลย มันไม่ใช่เด็กน้อยนะนั่นนะ"

ในเรื่องนี้ น้องๆ ของท่านอธิบายเพิ่มเติมว่า "...เพราะท่านเป็นคนความรู้ดี...เช่นอย่างทำแบบแปลนแผนผังนี้ ไม่มีทางผิดพลาดไม่มีทางตกทางเสียใดๆ

ชาวบ้านกะว่าจะเลื่อยไม้...คิดกันว่า จะทำยังงั้นๆๆ แต่พอทำจริงๆ แล้ว มันกะคำนวณผิดพลาดหมด คนอื่นๆ คำนวณผิดหมด แต่ท่านไม่เคยกะผิด จึงไม่เสียไม้ไปโดยเปล่าประโยชน์

อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องไปตีผึ้ง ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เพราะเมื่อก่อนเขาเอาเป็นอาชีพเลย ขายได้ราคาดีมาก จนมีผู้มารับเอากับบ้านเลยทีเดียว..."

ด้วยความสามารถเช่นนี้เอง ทำให้ผู้ใหญ่หลายต่อหลายคนในหมู่บ้านให้ความคุ้นเคยสนิทสนมกับท่าน อย่างไรก็ตาม สำหรับการคบค้าสมาคมกับเพื่อนวัยเดียวกันนั้น ท่านก็ยังมีการละเล่นสนุกสนานแบบเด็กหนุ่มทั่วๆ ไป ไม่ได้มีอะไรผิดแผกแตกต่าง ตัวอย่างหนึ่งก็คือ ท่านยังเคยได้ฝึกหัดชกมวยเล่นกันระหว่างเพื่อนๆ แต่ไม่นานก็เลิกราไป เพราะคำขอร้องของแม่ว่า

"ลูกเอ๊ย ! อย่าไปหาชกมันเลย แม่เป็นห่วง มันเสียตับเสียปอด"

การงานจริงจัง

อุปนิสัยของท่านอีกอันหนึ่ง คือเวลาทำการงานจะไม่อยากให้คนรู้คนเห็น เช่น ในตอนเช้าเวลาจะต้อนควายไปทำนา ท่านจะเที่ยวเก็บพวกไม้ไผ่หรือไม้กะลาที่หล่นอยู่ตามทางโยนขว้างออกข้างทาง

มิฉะนั้น เวลาฝูงควายเดินผ่าน มันอาจเดินเตะมีเสียงดังได้ ท่านเกรงว่าชาวบ้านจะได้ยิน จึงโยนออกข้างทางหมด วันใดที่ออกไปนาท่านชอบไปตั้งแต่เช้ามืด ส่วนแม่ก็จะทำอาหารจนเสร็จแล้วห่อไว้ทันเวลาที่ลูกไปพอดี

การไถนาของท่านก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่บ่งถึงนิสัยที่ทรหดอดทน คือท่านจะทำไปเรื่อยๆ จนเสร็จ เช่น ควาย 4 ตัว อย่างนี้ จะสลับให้มันทำงาน เมื่อตัวหนึ่งทำจนเหนื่อยแล้ว ก็ปลดไถออกให้มันไปอาบน้ำกินหญ้า เป็นการพัก แล้วก็เอาตัวที่ 2 ที่ 3 มาสลับแทนเช่นนั้นตลอดจนเสร็จ ถ้าไม่มืดก็ไม่เลิก หรือไม่ใช่เวลากินข้าวกลางวันก็ไม่ยอมเลิก

มีอยู่คราวหนึ่ง พ่อแม่และน้องเขย ซึ่งปกติเป็นกำลังสำคัญในการทำนา บังเอิญมาป่วยขึ้นพร้อมๆ กัน ทำให้ท่านต้องเป็นหัวหน้าพาน้องๆ ไปแทน น้องสาวคนรองๆ ของท่านคนหนึ่งรู้ดีถึงนิสัยจริงจังโดยเฉพาะในเวลาทำงาน จึงนึกหวาดๆ ในใจว่า

"ต๊ายกู คราวนี้ หมดทั้งวันมีแต่ทำงาน ก็ตายกันเท่านั้นแล้วทีนี้"

และก็เป็นความจริงอย่างที่น้องสาวคิดไว้ คือท่านเองไม่พาพักพาเลิกสักที ทำงานอยู่อย่างนั้นเรื่อยไปชนิดหากไม่ค่ำไม่ยอมเลิกรา น้องสาวของท่านเล่าถึงเหตุการณ์ในตอนนี้ว่า

"...แม้น้องพยายามบอกว่า

"อยากกินข้าวแล้ว...บัว"

ท่านก็ทำงานไปเฉย ไม่พากินข้าว ไม่พาหยุดพักสักที พาขุดพาทำอยู่หมดมื้อหมดวัน...

ตอนนั้นเป็นช่วงบุกร้างถางพงทำนาใหม่...ท่านขุดเองเลย ไม่ใช้ควายคราดเพราะมันเพิ่งตัดไม้ลงใหม่ๆ รากที่อยู่ในดินยังไม่เน่า (ไถยังไม่ทันได้)...

ท่านก็ทำงานไม่สนใจน้องเลย เดี๋ยวอ้อมทางนั้นแล้วอ้อมทางนี้ แล้วอ้อมไปทางนั้นอยู่อย่างงั้นไม่จบไม่สิ้นสักที จนน้องว่า

"โอ๊ย ไม่ไหวแล้ว คิดถึงแม่"

เลยมีแต่จะร้องไห้นั่นแหละ...ปรากฏว่าในปีนั้นได้ข้าว 17 เล่มเกวียน จัดว่าได้เยอะทีเดียว..."

อีกตอนหนึ่ง คือในระยะที่ท่านพาน้องๆ มานอนเฝ้านา น้องสาวเล่าเหตุการณ์ดังนี้

"...สมัยแต่ก่อนมีแต่เป็นดงเป็นป่า เสือช้างก็เยอะ เสียงช้างหักกิ่งไม้โป๊กๆ เป๊กๆ อยู่ในป่า บ่างชะนีก็ร้องฟังดูโหยหวนน่ากลัว เดี๋ยวร้องขึ้นทางนั้นทางนี้ รู้สึกวังเวงใจทำให้คิดถึงแต่พ่อแต่แม่

นาทีเฝ้านั้นอยู่ติดกับป่าดงห่างจากตัวบ้านประมาณ 4-5 กิโลเมตร ในช่วงที่ต้นข้าวเริ่มโตขึ้น ชาวบ้านก็มานอนเฝ้านากัน ถ้าไม่เช่นนั้นแล้วช้างจะพากันมาถอนต้นข้าวกินหมด

ช้างเวลากินต้นข้าวจะต่างจากวัวควายตรงที่มันจะถอนทั้งต้นขึ้นมาแล้วเอาฟาดกับขาของมันเพื่อสลัดดินออก แล้วจึงม้วนเข้าปาก ถ้าชาวบ้านไม่มาเฝ้า มันจะถอนกินจนหมดเกลี้ยงนาเลยทีเดียว แต่วัวควายเวลากินข้าวมันจะกัดกินเฉพาะส่วนยอดไม่ถอนหมดทั้งต้น

ฉะนั้น เวลาเฝ้านา เขาจึงต้องเอาปืนไปด้วยเพื่อใช้ยิงไล่ช้าง บางคนก็ยิงขึ้นฟ้าให้มีเสียงดัง มันตกใจก็ไป..."

พี่ๆ น้องๆ

ด้วยนิสัยจริงจังเช่นนี้ทำให้บางครั้งบรรดาน้องๆ ที่ร่วมงานกับท่าน ถึงกับต้องนำเรื่องนี้มาฟ้องแม่ตามภาษาท้องถิ่นสมัยนั้นว่า

"...โอ๊ย อีแม่เอ๊ย คันหมู่เจ้าบ่ไปทำงานนำ บักนี่ มันเฮ็ดอีหยังบ่ฮู้จักขึ้นจักหยุด หมู่ข้อยเลยสิตาย...

มันบ่ได้พาขึ้นเด๊ะ พาเกี่ยวข้าวกะดี พาดำนากะดี มันบ่พาขึ้น คันหมู่เจ้าบ่ไปนำ มันสิเอาให้ตายอีหลี..."

หมายถึงว่า ถ้าพ่อแม่ไม่ไปทำงานด้วยแล้ว ท่านจะทำงานไม่ยอมเลิกราสักที เหมือนว่าจะเอาให้น้องๆ ตายไปข้างหนึ่งเลย อย่างไรอย่างนั้นทีเดียว

แม่แทนที่จะเห็นคล้อยไปกับน้องๆ ด้วย กลับพูดตัดบทลูกทันที

"จังซั่นหละ สูบ่เป็นตาซะแตก"

หมายถึง "ก็อย่างงั้นละซิ พวกเรามันไม่เอาไหนเสียเอง" คือน้องๆ ของท่านทำงานเหนื่อยแล้ว ก็อยากจะเลิก อยากจะกลับบ้าน ส่วนท่านเองก็ไม่พาเลิกงานสักที

ท่านเคยกล่าวถึงอุปนิสัยดังกล่าวของท่านเองไว้เช่นกัน ดังนี้

"นิสัยมันก็ไม่เคยเหละแหละมาตั้งแต่เป็นฆราวาสอยู่แล้ว หากเป็นไปตามฆราวาสนั่นแหละ ตามธรรมดาฆราวาสก็ไม่มีกฎข้อบังคังอะไรๆ แต่นิสัยมันก็มีของมันอยู่ ว่างั้นเถอะนะ

ถึงจะเป็นแบบฆราวาสทั่วๆ ไปก็ตาม แต่ความจริงจังของมันมี มันฝังลึกอยู่อย่างเช่นว่าจะทำอะไรอย่างนี้ ถ้าลงว่าจะทำยิ่งกับพ่อกับแม่ หากได้ลั่นคำว่าจะทำให้แล้ว...ไม่เป็นอื่นแหละ...อันนี้เป็นนิสัยเรา ถ้าเราเป็นหัวหน้า เราก็เป็นอย่างนั้นนะ...

ทุกอย่างเรื่องของเราต้องให้พ่อแม่ไว้วางใจได้เลยถ้าเราได้ทำอะไรแล้ว ถ้าเวลาไปทำงานกับพ่อกับแม่ก็เป็นอีกแบบหนึ่งนะ พาทำอะไรก็ทำ พาลุกพาขึ้นเราก็ขึ้น ธรรมด๊าธรรมดา ถ้าพ่อแม่ไม่ไปร่วมทำงานด้วย น้องๆ มันจะตาย..."

ท่านเคยกล่าวถึงพี่น้องในครอบครัวของท่านอยู่บ้างว่า

"...น้องๆ ก็ดีทุกคนนะเท่าที่ดูวี่แววของพวกน้องๆ ที่อยู่ในครั้งโน้น...

พี่ชายคนใหญ่...เน้นหนักไปทางการค้า จะเป็นไปทางคุณตา พี่ชายเริ่มค้ามาตั้งแต่เป็นหนุ่ม แม่เลยมอบเงินให้ไปหาซื้อวัวซื้อควาย คือนิสัยชอบทางสังเกตสัตว์ สัตว์ตัวไหนมีลักษณะอย่างไร ดูไม่ค่อยผิดนะ พวกใครในบ้านจะซื้อวัวซื้อควายต้องให้ไปช่วยหาดูให้

"ไปช่วยดูให้หน่อย"

แกดูเฉยๆ นะ ไม่ต้องทดลองใช้งานใช้การอะไรละ ถ้าแกว่า "ควายตัวนี้ชนคนนะ" ก็ถูก...จับได้ตรงไหนก็ไม่รู้นะ "ควายตัวนี้ดื้อ ใช้ไม่ได้นะ" มันก็เป็นจริงๆ ถ้าว่า "ดี" ยังไงก็ถูกอย่างนั้นนะ มันแปลกอยู่นะ ดูยังไงไม่ทราบ เป็นแยบคายอันหนึ่ง

พวกคนหนุ่มด้วยกันในหมู่บ้านก็ไม่มีใครดูเป็น มีแต่ให้พี่คนนี้ไปหาซื้อ พ่อแม่ให้เงินไปซื้อ จากนั้นมาก็ติดต่อมาเรื่อย เป็นนักซื้อนักขายทางวัวทางควาย

เวลามีครอบครัวเหย้าเรือนอยู่โน้นแล้ว แม่ยังใช้ให้ไปซื้อควายให้มาเป็นหลักแหล่งของคอกเป็นหัวหน้าฝูง ก็เป็นจริงๆ นิสัยชอบเหมือนตา ตาก็ไปหาซื้อวัวซื้อควายมาขายไม่ได้ขาด แม่เลยปล่อยให้ซื้อขายมาเรื่อยจนกระทั่งตาย กับน้องๆ นี้รักมาก เพราะเขาใจดีกับน้อง แต่เรานี้ไม่ค่อยมีใครมาใกล้นอกจากไม่ติดแล้วยังกลัวด้วย...

...พวกน้องๆ ไม่ค่อยชอบหละ เพราะเราเป็นคนดุ แต่ดุเพราะความจริงจัง นิสัยนี้มันมีนะ ไม่เหมือนพี่ชาย เป็นอีกแบบหนึ่ง อยากทำก็ทำ อยากไปเมื่อไหร่ก็ไปเฉย...ไม่ได้สนใจกับใคร

ไอ้เรานี้ โห...ไม่เสร็จเป็นไม่ยอม พี่ชายก็เป็นแบบหนึ่ง ทีนี้น้องก็นักนะซิ เพราะไม่ดุ เวลาไปไหนนี้ พวกน้องๆ นี้รุมเลยทั้งหญิงทั้งชาย

กับเรานี้ โอ้โห...คนเดียวไม่มีไปเกี่ยว เขาเบื่อจะตาย เขาชังเราจะตาย แต่ก็ไม่กล้าพูด...เฉย เราก็ไม่ชอบด้วย เวลาใครไปยุ่งด้วย เวลาไปไหน...

แกล้งดัดน้องด้วย "สิงควาย"

ครั้งหนึ่งไปเลี้ยงควายกันตามประสาพี่ๆ น้องๆ ท่านเป็นหัวหน้าพาไป เมื่อถึงเวลาเที่ยงจึงเอานกแซงแซวมาปิ้ง ระหว่างนั้นท่านก็นึกครึ้มอกครึ้มใจจึงสิงควายขึ้นว่า

"...อีตู่เขาเล่น่ะ ตั๊กเขาเลงก็ดั๊กเค้าเป็งเส่งดั๊ก เขาเด่งก็ดั๊กเค้าล้ำเด๊งดั๊ก เขาเล้งกะดักเขาดำตั๊ก..."

น้องๆ ได้ยินดังนั้นต่างพากันหัวเราะชอบใจจนจะล้มจะตายกันเลยทีเดียว เมื่อปิ้งจนสุกได้ที่แล้ว จึงเอากระติบข้าวเหนียวและกับข้าวอื่นๆ มาวางเตรียมพร้อมจะกินกันอยู่แล้ว น้องๆ ก็ขอร้องท่านขึ้นว่า

"สิงควายตัวนั้นให้ฟังอีกหน่อยซิ ฟังแล้วมันม่วนดีหลาย (สนุกดี)"

"อะไรกัน ? จะกินข้าวอยู่แล้ว ยังจะให้สิงอีกเหรอ ?"

"เอ้อ สิงเลย มันอยากฟังหลาย"

ท่านเลยทั้งสิงไปกินไป กินไปสิงไปอยู่อย่างนั้น น้องๆ ก็มัวแต่ฟังเสียจนเพลิน พากันหัวเราะพออกพอใจจนน้ำหูน้ำตาไหล และเมื่อหันมาดูนกปิ้งอีกครั้งหนึ่งปรากฏว่าหมดเกลี้ยงแล้ว ท่านเลยพูดขึ้นว่า

"ถ้าไม่อยากฟังกันหลาย ก็ไม่กินหมดหรอก เห็นอยากฟังกันเหลือเกิน ก็เลยแกล้งดัดเส้นเอาซะเต็มที่เลย นกปิ้งก็เลยหมดเลย"

การสิงควายเป็นที่พอใจของน้องๆ เป็นอย่างมาก แทนที่น้องจะต่อว่าต่อขานอะไรพี่บ้าง กลับพูดว่า

"ก็ไม่เครียดหรอก ถึงจะกินหมดก็ช่าง พวกเราก็หาเรื่องเองแหละ เที่ยวอยากจะมาฟังเอาตอนคนกำลังจะกินอยู่แล้ว แม้จะกินหมด ก็ว่าพอดีอยู่หรอก พอดีกันกับที่ขอให้ร้องอยู่หรอก"

แต่นั้นมา ท่านก็แกล้งพูดหยอกน้องว่า "อยากฟังอีกไหมละ สิงควายนั่นหน่ะ"

ศาสนาก็เลื่อมใสแต่ใจ

ในระยะนี้ แม้ความเคารพเลื่อมใสในพระศาสนาของท่านจะยังมีอยู่มากก็ตาม แต่ด้วยวัยที่โตเป็นหนุ่มเต็มที่แล้ว ทำให้เริ่มคิดคำนึงถึงเรื่องหญิงสาวที่จะมาเป็นคู่ครอง จิตใจตอนนั้นท่านกล่าวว่า

"กิเลสมันก็มีมากอยู่เหมือนกัน เห็นเขามีลูกมีเมียก็คิดอยากมีลูกมีเมียมีครอบมีครัวกับเขา"

มีอยู่วันหนึ่ง ขณะที่ท่านกำลังสนทนากันกับหนุ่มเถิง เพื่อนสนิทของท่านอยู่นั้น ผู้เฒ่าคนหนึ่งอายุราว 50 ปี มาจากอำเภอกุมภวาปี อุดรธานี ลักษณะของแกเป็นคนสุขุมไม่ค่อยพูด แกนั่งอยู่ในบริเวณนั้นจึงได้ยินสองหนุ่มพูดคุยกันมาตลอด หนุ่มเถิงพูดแต่ว่าจะบวชๆ คงจะพูดเรื่องบวชอยู่นานจนแกชักจะรำคาญละมัง แกจึงว่า

"ไหน พ่อขอดูลายมือหน่อยหน่ะ มานั่งฟังอยู่นี้มีแต่จะบวชๆ มันจะได้บวชจริงๆ หรือ ไหนให้พ่อดูลายมือหน่อยนะ"

ผู้เฒ่าดูลายมืออยู่เงียบๆ สักพักหนึ่ง แกก็พูดขึ้นว่า

"...จ้างก็ไม่ได้บวช นี่ไม่กี่วันมันจะมีเมีย มันติดกันอยู่แล้ว นี่คู่ของมันติดอยู่นี่ มันแยกไม่ออก มันจะแยกออกได้ยังไง..."

ผู้เฒ่าไม่ใช่พูดแบบธรรมดาๆ แต่พูดแบบยืนยันเลย แกเป็นคนนิสัยไม่ค่อยพูดเป็นคนเคร่งขรึม พอเห็นผู้เฒ่าทำนายเพื่อนแบบนี้ เลยทำให้หนุ่มบัวรู้สึกยิ่งคึกคักมั่นใจไปด้วย เพราะไม่ต้องการจะบวช แต่ต้องการจะเอาเมีย เมื่อเพื่อนดูเสร็จเรียบร้อย หนุ่มบัวจึงขอให้ดูบ้าง

"...ดูให้ผมหน่อย..."

หนุ่มบัวพูดด้วยความกระหยิ่มใจว่า อย่างไรต้องได้เมียแน่คราวนี้ แต่การณ์กลับตรงข้าม ผู้เฒ่าดูอยู่ครู่หนึ่ง แกพูดขึ้นว่า

"เอ้อ ! ผู้นี้ใช่ละนี่ ผู้นี้ถึงถูก ได้บวชแน่ๆ จะได้บวช นี่สายบวชเต็มแน่วแล้วเวลานี้ จะบวชเร็วๆ นี้..."

ผู้เฒ่ากล่าวด้วยความมั่นใจเช่นนี้ถึงกับทำให้หนุ่มบัวหน้าซีดเผือดลงทันที ดังนั้นเพื่อความแน่ใจว่าผู้เฒ่าอาจจะดูผิดไปหรือไม่อย่างไรกัน จึงรีบบอกไปว่า

"เอ๊ะ ! ว่าจะเอาเมียอยู่นะ ผมอยากจะแต่งเมียอยู่นะ"

แทนที่ผู้เฒ่าจะลังเลใจ กลับยิ่งพูดอย่างยืนยันเลยว่า

"...จ้างก็ไม่ได้แต่ง...!!"

และในที่สุดท่านก็ไม่มีครอบครัวเหย้าเรือนตามที่เคยตั้งใจไว้เดิม แม้จะมีหญิงสาวที่หมายมั่นตกลงปลงใจระหว่างกันแล้วก็ตามที แต่ครั้นพอจะให้เป็นจริงเป็นจังขึ้นมาครั้งใด กลับหาจุดที่เหมาะสมลงตัวลงใจกันมิได้สักที

อีกทั้งด้วยนิสัยที่เป็นคนเคารพในเหตุผลเหนือสิ่งอื่นใด ดังนั้น เมื่อเหตุผลยังเป็นที่ลงกันไม่ได้ แม้ความรักจะมากเพียงใด ท่านก็ยอมอดยอมทนได้ และด้วยเหตุนี้เอง ความคิดของท่านที่จะมีครอบมีครัวจึงเหมือนมีสิ่งมากีดขวางให้คลาดแคล้วจนได้ทุกทีไป ชะรอยจะเป็นเพราะ ปุพเพ จ กตปุญญตา อำนาจบุญกรรมที่ท่านเคยสร้างสมอบรมมาแต่ดั้งเดิมให้ผลมากกว่าจะเป็นเรื่องการทำนายทายทักจากหมอดู บุญนี้จึงให้ผลอุดหนุนผลักดันชีวิตของท่านให้ไปในทางอันประเสริฐ

ทอดสมอความรัก

ท่านกล่าวย้อนอดีตถึงสมัยหนุ่มซึ่งเป็นเหตุการณ์ในช่วงที่กำลังคิดจะมีครอบครัวว่า

"...ถ้าจะเอาเมียทีไรก็ผิดก็พลาดไปทุกที ทั้งๆ ที่พ่อผู้หญิงชอบหมดทั้งนั้นแหละ พอเราขึ้นไปบ้านไหน แต่ก่อนเขามีทำงานปั่นฝ้ายปั่นไหมกันทางภาคอีสาน ทุกวันนี้ก็มี เขาไปเที่ยวกันแต่เขาว่าไปเล่นสาว ภาษาทางนี้

ถ้าเราไปขึ้นบ้านไหน โอ๋ย เสียงลั่นไปแหละ คือพ่อแม่ทางผู้สาวน่ะชอบมาก แต่ลูกสาวไม่เห็นชอบอะไร คือเขาอยากได้เรา เขาเห็นเราขยันก็รู้กันอยู่แล้วนี่..."

ท่านเคยเล่าให้ลูกหลานฟังเกี่ยวกับเรื่องความรักว่า

หลวงตาบัวก็เคยรักสาวเหมือนกัน เคยพูดมาแล้ว หลวงตาบัวเป็นบ้า โถ เราก็เห็นโทษของมันเหมือนกันนี่นา หลังมานี้จึงเห็นโทษ เวลานั้นมันไม่เห็นเลย นอนไม่หลับก็ยังไม่เห็น มันคิดเห็นหน้าแต่ผู้สาวคนเดียว

โห...ไม่มีอะไรในโลกธาตุ ไม่มีใครมีคุณค่ายิ่งกว่าสาวคนเดียวนี้นะ มันนั่งอยู่ในหัวใจตลอดเวลา ทำหน้าที่การงานใดมันก็เป็นพุทโธอยู่ในใจนี้ล่ะ สาวคนนั้นนั่น มันเป็นพุทโธแทน มันอย่างงี้ล่ะ หือ ทำงานทำการใดมีแต่อีนั่นล่ะ อยู่ในนี้นะ โอ้โห มันเป็นก็บอกว่าเป็นซิ...

โห...อกจะแตกนะ รักผู้หญิงนี่ไม่ใช่เล่นๆ เราเคยรักมาแล้วนี่โถ ถึงขนาดนี้ ถึงขนาดจะกินข้าวไม่ลง นอนไม่หลับ...อยู่ที่ไหน หากทำอะไรก็ตาม งานการอะไรก็ตาม ทำไปบืนไป เดินก็เดินไป แต่พุทโธหญิงสาวนั้น มันไม่ได้พรากจากใจหนา มันติดอยู่นั้นตลอด ถึงว่ามันฝังลึก

ทุกข์มากที่สุดนะ โห พิลึก...ความหนักหน่วงถ่วงจิตใจ ความทุกข์ความลำบากทรมานที่สุดในเวลานั้น ทีนี้ความรักมันก็ดึงไป ดึงไป มันไม่ให้เห็นโทษ ทุกข์ขนาดไหน มันก็ไม่เห็นนะ..."

แม้ว่าท่านจะไม่ได้คาดคิดเรื่องบวชมาก่อน แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับเรื่องความรักของท่านที่มีต่อหญิงสาวนั้น ถึงจะมีมากจนถึงกับทำให้ทุกข์ร้อนภายในใจเพียงใด ท่านก็จะไม่ยอมทำสิ่งผิดพลาดเสียหายใดๆ โดยเด็ดขาด อันอาจจะก่อให้เกิดความกระทบกระเทือนถึงจิตใจของพ่อแม่และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้ ดังนั้น ถึงแม้สมัยเมื่อครั้งยังเป็นฆราวาสอยู่ ท่านก็จะพยายามใช้หลักต่อไปนี้ตลอดมา

"...เอ้า ! มึงจะรักไปไหนรักไป มึงไม่ได้เกิดกับอีหญิงคนนี้ละน่ะ ถึงขนาดนี้ละน่ะ มึงทำไมมึงรัก ลืมพ่อลืมแม่ได้ บังคับมัน เอ้าเคยเป็นนี่ เอาความจริงมาพูด...ก็เรื่องของเราเป็นมาแล้วนี่ แต่ทีนี้เวลามันจะแยกของมันได้ ก็เพราะศีลธรรมนะนี่ สำคัญอันนี้นะ ธรรมแยกออกได้ขาดสะบั้นไปเลยเชียว...ให้ถอยไม่ถอย จะแก้

แม้รักจนน้ำตาไหว รักเต็มหัวใจเจ้าของ ใครๆ ก็ไม่รู้ จนเจ้าของจะเป็นบ้า ไม่ใช่รักธรรมดา...ไม่ลืมนะจนบัดนี้ เพราะรักครั้งแรกด้วย เอ้าจริงๆ...รักครั้งแรกถอนไม่ขึ้นง่ายๆ

โธ่ๆ แต่ดีอย่างหนึ่ง มันมีหลัก หัวใจมีหลักของมัน เป็นฆราวาสก็มีอยู่ ความสัตย์ความจริง ความเด็ดมันเด็ดอยู่ตลอด เมื่อเห็นว่ารักนี้จะทำลายเจ้าของแล้ว ก็ทอดสมอลงกึ๊กเลย ให้เรือมันไปไม่ได้ ให้มันหมุนอยู่นี่ มันถอนสมอไม่ได้...มันก็ดิ้นอยู่นี่ เรือหมุนอยู่นี่ มันไม่ออก ถ้าลงสมอหลุด เรือมันก็พาไปทะเลหลวงโน้นล่ะ นี่ไม่ให้มันไป..."


(มีต่อ 3)

เจ้าของ:  สาวิกาน้อย [ 24 ธ.ค. 2010, 10:26 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

รูปภาพ
ใบสุทธิของหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน


ตอนที่ 2 เหตุแห่งการบวช

ลูกที่ไว้ใจ วางใจได้

ในระยะก่อนที่หลวงตาจะออกบวช ปรากฏว่าท่านเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงของครอบครัวเป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจในการงานทั้งปวง จนบิดามารดาหวังฝากผีฝากไข้ฝากเป็นฝากตายไว้กับท่าน ความไว้วางใจของพ่อแม่ที่มีต่อท่านและพี่ชาย เห็นได้อย่างชัดเจนจากคำกล่าวของท่านที่ว่า

"...แต่ก่อนพ่อแม่ของเรามีเป็นหลายๆ ชั่งนะ คือเงินชั่งแต่ก่อนไม่ใช่เล็กน้อย เป็นเงินหมื่นๆ ทุกวันนี้ละนะ เงินมีหลายชั่งในครัวเรือนของเรา...

พอเดือนเมษาฯ สรงน้ำพระปีใหม่ พ่อแม่ถึงจะเอาออกมาทีหนึ่ง...ใส่ขันใหญ่นี้ออกมาเต็มเลย เวลาสรงน้ำไม่ให้ใครรู้นะ รู้เฉพาะเรากับพี่ชายคนหนึ่ง นอกนั้นไม่ยอมให้เห็นเลย ทำอยู่ข้างบนบ้าน เอาน้ำอบน้ำหอมมาล้าง จนถึงน้ำดำเลย เต็มขันๆ เสร็จแล้วเก็บเงียบ แต่ก่อนไม่มีฝากธนาคารนะ เก็บแบบลี้ลับของคนโบราณ..."

เกี่ยวกับเรื่องการเก็บรักษาเงินทองภายในครอบครัวของท่านนั้น แม่เป็นผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกว่าพ่อ เพราะเป็นผู้มีความจดจำดีกว่าพ่อมาก ประการแรกคงเป็นเพราะแม่ได้ความเฉลียวฉลาดจากคุณตามาไม่น้อย ดังท่านเคยกล่าวว่า

"...โยมแม่นี้ยกให้เลย ความจำนี่เก่งมาก อันนี้เด่นจริงๆ ลูกไม่ได้สักคนเดียว ทางนี้เขามีกลอนลำเหมือนเพลง พอเขาขึ้นลำนี่ โยมแม่ฟังอยู่นั่นแล้ว ฟังลำจบ จำได้หมดเลย เก่งขนาดนั้น อะไรๆ นี่จำได้หมด

ลูกคนไหนเกิดวันไหนเดือนไหน ข้างขึ้นข้างแรม ไม่ได้มีอะไรจดนะ แต่ก่อนไม่มีละหนังสือจะจด โยมแม่จดด้วยความจำทั้งนั้น ลูกทุกคนจำได้หมด ไม่มีพลาด นี่แหละเก่งจริงๆ ความจำความฉลาดก็ยกให้อยู่นะ แม่รู้สึกว่าจะได้สืบมาจากพ่อคือตา..."

น้องๆ ของท่านกล่าวเช่นกันว่า

"...ที่แม่มีความสามารถทางการจดจำดีกว่าพ่อก็น่าจะเป็นเพราะพ่ออาจจะต้องรับผิดชอบการงานหลายอย่าง ทำให้มักจะลืมสิ่งนั้นสิ่งนี้อยู่บ่อยครั้ง

ถ้าพ่อถือเงินไปไหนต่อไหน ความที่จำไม่ได้ทำให้เหมือนกับว่าอยู่ดีๆ เงินก็ถูกขโมยหายไป บางครั้งก็กลับมีเงินเพิ่มขึ้นทั้งๆ ที่ไม่มีใครเอามาใส่ให้ แต่สำหรับเงินที่เก็บอยู่กับแม่นั้นไม่เคยมีปัญหาใดๆ เหมือนของพ่อเลย

เวลาที่เขาหาบฟ่อนข้าวมากองที่ลานในนา ทางพ่อว่าข้าวมีเท่านั้น ส่วนแม่ว่ามีเท่านี้ จะนับได้ไม่เท่ากัน ท่าน (หมายถึงหลวงตา) จะเชื่อถือในจำนวนที่แม่บอกเพราะท่านว่าแม่พูดมีเหตุผลมากกว่า ส่วนพ่อมักลืมเก่ง และสิ่งนี้เองทำให้ท่านตัดสินใจพูดกับพ่อแม่ว่า

"เอ้า ตั้งแต่นี้ต่อไป ให้แม่เป็นคนเก็บเงินทั้งหมด เอาไว้ให้พ่อใช้นิดหน่อย ถ้าไม่มีจึงค่อยเอาจากแม่ไปใช้ เป็นการตัดปัญหาจะได้ไม่มีใครมาลักมาปล้นอีก..."

การที่พ่อแม่ยอมให้ท่านได้เห็นเงินจำนวนมาก อีกทั้งยอมเชื่อคำแนะนำของท่านในเรื่องการจัดเก็บเงินดังกล่าว ย่อมชี้ชัดถึงความเป็นที่เชื่อใจวางใจได้ของพ่อแม่ที่มีต่อท่าน เพราะหากเป็นลูกที่ไม่ดี ก็ย่อมอาจจะคิดลักขโมยเงินทองของพ่อแม่ได้ หรืออาจแนะนำพ่อแม่เพื่อหวังประโยชน์เข้าสู่ตนเอง โดยอาศัยจุดอ่อนในเรื่องความจำเป็นของพ่อเป็นช่องทางได้

ความซื่อสัตย์ต่อพ่อแม่ดังกล่าวนับเป็นคุณธรรมของบุตรที่หาได้ยากยิ่งในปัจจุบัน

สะเทือนใจน้ำตาพ่อแม่

เมื่อท่านมีอายุครบสมควรที่จะบวชได้แล้ว ตามหลักประเพณีของไทยเราแต่โบราณมา เมื่อบุตรชายอายุครบบวชมักจะให้บวชเสียก่อน ก่อนที่จะมีครอบครัวเหย้าเรือนต่อไป ดังนั้น บิดามารดาจึงคิดจะนำเรื่องนี้มาปรึกษาปรารภกับท่าน

ครอบครัวของท่านมีพ่อแม่และลูกชายหญิงหลายคน โดยปกติจะร่วมรับประทานอาหารกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา เย็นวันหนึ่งขณะกำลังรับประทานอยู่อย่างเงียบๆ พ่อก็พูดขึ้นมาชนิดไม่มีอะไรเป็นต้นเหตุเลยว่า

"...เรามีลูกหลายคนทั้งหญิงทั้งชาย แต่ก็ไม่พ้นความวิตกกังวลในเวลาเราจะตาย เพราะจะไม่มีลูกคนใดใจเป็นผู้ชายคิดบวชให้ พอเราได้เห็นผ้าเหลืองก่อนตาย ได้คลายความกังวลใจในเวลานั้น แล้วตายไปอย่างเป็นสุขหายห่วง...ลูกผู้ชายเหล่านั้นกูก็ไม่ว่ามันแหละ ส่วนลูกผู้หญิงกูก็ไม่เกี่ยวข้องมัน ลูกผู้ชายกูก็มีหลายคน แต่นอกนั้นกูก็ไม่สนใจอะไรพอจะอาศัยมันได้ แต่ไอ้บัว (หมายถึงหลวงตา) นี่ซิ ที่กูอาศัยมันได้น่ะ..."

ทั้งๆ ที่โดยปกติพ่อไม่เคยชมท่านแม้เรื่องอะไรต่างๆ พ่อก็ไม่ชม มีแต่กดลงเรื่อยๆ ท่านว่านิสัยของพ่อและแม่ของท่านเป็นอย่างนั้น

จากนั้นพ่อก็พูดต่อไปว่า

"ไอ้นี่ลงมันได้ทำการทำงานอะไรแล้ว กูไว้ใจมันได้ทุกอย่าง กูทำยังสู้มันไม่ได้ ลูกคนนี้กูไว้ใจที่สุด ถ้าลงมันได้ทำอะไรแล้วต้องเรียบไปหมด ไม่มีที่น่าตำหนิติเตียน กูยังสู้มันไม่ได้ ถ้าพูดถึงเรื่องหน้าที่การงานแล้ว มันเก่งจริง กูยกให้ ลูกกูทั้งหมด ก็มีไอ้นี่แหละเป็นคนสำคัญ เรื่องการงานต่างๆ นั้นกูไว้ใจมันได้

แต่ที่สำคัญตอนกูขอให้มันบวชให้ทีไร มันไม่เคยตอบไม่เคยพูดเลย เหมือนไม่มีหู ไม่มีปากนั่นเอง บทเวลากูตายแล้ว จะไม่มีใครลากกูขึ้นจากหม้อนรกเลยแม้คนเดียว เลี้ยงลูกไว้หลายคนเท่าไร กูพอจะได้อาศัย มันก็ไม่ได้เรื่อง ถ้ากูอาศัยไอ้บัวนี้ไม่ได้แล้ว กูก็หมดหวัง เพราะลูกชายหลายคน กูหวังใจอาศัยไอ้นี่เท่านั้น"

ท่านเล่าให้ฟังต่อว่า "พอพ่อว่าอย่างนั้น น้ำตาพ่อร่วงปุบปับๆ เรามองไปเห็น แม่เองพอมองไป เห็นพ่อน้ำตาร่วม แม่ก็เลยน้ำตาร่วงเข้าอีกคน เราเห็นอาการสะเทือนใจทนดูอยู่ไม่ได้ ก็โดดออกจากที่รับประทาน ปุ๊บปั๊บหนีไปเลย นั่นแหละเป็นต้นเหตุให้เราตัดสินใจบวช มันมีเหตุอย่างนั้น"

การที่แม่ก็น้ำตาไหลเหมือนกันกับพ่อ เพราะว่าแม่ก็เคยอบรมและขอร้องลูกเกี่ยวกับเรื่องนี้มาก่อนแล้ว แต่ท่านก็ยังยืนยันทุกครั้งไปว่า

"ไม่บวช กำลังรักสาวอยู่"

พิจารณาหาเหตุผล ก่อนตัดสินใจ

เมื่อหลบอยู่ตามลำพัง ท่านนำเรื่องนี้ไปคิดอยู่ 3 วันไม่หยุดไม่ถอย และไม่ยอมมารับประทานร่วมวงพ่อแม่อีกเลยใน 3 วันนั้น กลัวจะโดนปัญหาดังกล่าวนี้อีก เพราะตอนนั้นใจยังไม่คิดอยากบวช จึงทำเป็นทองไม่รู้ร้อนเรื่อยมา แต่คราวนี้เห็นเป็นเรื่องหนักหนาสาหัสสากรรจ์ ขนาดถึงกับทำให้พ่อแม่ต้องเสียน้ำตา ท่านจึงคิดเทียบเคียงหาเหตุผลในใจว่า

"...เอ๊ พ่อมาน้ำตาร่วง ยกลูกก็เรียกว่ายกแบบยกทุ่มลง พูดง่ายๆ ยกยอก็ยกยอเพื่อทุ่มลง บทเวลาจะให้บวชนี่ละทุ่มลง คิดเอ๊ พ่อน้ำตาร่วงเพราะเรา คิดเอามากจริงๆ นะ ไม่สบายหัวใจเลย

คิดสงสารพ่อ พ่อแม่ก็เลี้ยงเรามาทั้งบ้านทั้งเมืองเขาก็มีลูกมีเต้า ลูกเต้าเขายังบวชได้ แม้แต่ติดคุกติดตะราง เขายังมีวันออก นี่ไปบวช ไม่ใช่ติดคุกติดตะราง คนอื่นๆ เขายังบวชได้ เขาสึกมาถมไป บางองค์ท่านบวชจนเป็นสมภารเจ้าวัด จนตายกับผ้าเหลือง ก็ไม่เห็นท่านเป็นอะไร ทำไมเราบวชให้พ่อแม่เล็กๆ น้อยๆ ไม่ได้ มีอย่างเหรอ เอาละนะทีนี้นะ คิด...

เพื่อนฝูงที่เขาบวชกัน ตลอดถึงครูบาอาจารย์ที่บวชเป็นจำนวนมาก ท่านยังบวชกันได้ทั่วโลกเมืองไทย การบวชนี่ก็ไม่เหมือนการติดคุกติดตะราง แม้เขาติดคุกติดตะราง เช่น ติดตลอดชีวิต เขาก็ยังพ้นโทษออกมาได้ เราไม่ใช่ติดคุกติดตะรางนี่ หมู่เพื่อนบวชเขายังบวชได้ เขาเป็นคนเหมือนกัน และครูบาอาจารย์ทั้งหลายที่ท่านบวชจนเป็นสมภารเจ้าวัด ท่านยังอยู่ได้ เหตุใดเราเป็นคนทั้งคน พ่อแม่เลี้ยงมาเหมือนคนทั้งหลาย อย่างอื่นๆ เรายังอดได้ทนได้ แต่การบวชนี่มันเหมือนติดคุกติดตะรางเชียวเหรอ เราถึงจะบวชไม่ได้ ทนไม่ได้ เราทำไมถึงจะด้อยเอาเสียนักหนา ต่ำช้าเอานักหนากว่าเพื่อนฝูงทั้งหลาย ถึงขนาดพ่อแม่ต้องน้ำตาร่วงเพราะเรานี่ ไม่สมควรอย่างยิ่ง

...สุดท้ายก็ลง เราเป็นคนทั้งคน เป็นลูกชายคนหนึ่ง เป็นคนคนหนึ่ง คนอื่นเขาบวชได้ เราบวชไม่ได้เป็นไปไม่ได้ เอ้า บวชอยู่ในผ้าเหลืองมันอยากสึกจนกระทั่งตายก็ให้ตายดูซี พ่อแม่เลี้ยงมาก็ยาก ถึงขนาดที่ว่าร้องห่มร้องไห้เพราะเราไม่บวชเท่านี้มันพิลึกเหลือเกิน เราเป็นลูกของคนแท้ๆ..."

ท่านคิดวกไปวนมาอยู่นั้นได้ 3 วัน จึงตัดสินกันได้

"...เอาละทีนี้ ตัดสินใจปุ๊บ เราทำไมจะบวชไม่ได้ ตายก็ตายไปซิ เขาบวชกันมาไม่เห็นตาย พ่อแม่ก็ไม่ได้บอกให้บวชจนถึงวันตาย หรือบอกให้บวชถึงปีสองปี พ่อแม่ก็ไม่เห็นว่านี่ แล้วทำไมถึงจะบวชไม่ได้ล่ะ เราก็คนคนหนึ่งแท้ๆ ...เอ้า ! ต้องบวช..."

เมื่อท่านตัดสินเป็นที่ลงใจแล้ว ท่านจึงกลับมาหาแม่ และบอกแม่ว่า

"เรื่องการบวช จะบวชให้ แต่ว่าใครจะมาบังคับไม่ให้สึกไม่ได้นะ บวชแล้ว จะสึกเมื่อไรก็สึก ใครจะมาบังคับว่าต้องเท่านั้นปีเท่านี้เดือนไม่ได้นะ"

แม่ตอบทันทีว่า

"เอ้อ สาธุ ถ้าเจ้าจะบวชให้ แม่ก็สาธุ โถ แม่ไม่ว่าอะไรหรอกเรื่องสึก ขอแต่ว่าได้บวชก็พอแล้ว ถ้าลูกบวชแล้วสึกออกมาทั้งๆ ที่คนที่ไปบวชยังไม่กลับบ้านก็ตาม แม้จะสึกต่อหน้าต่อตาคนมากๆ อย่างนั้น แม่ก็ไม่ว่า"

คำตอบของแม่เช่นนี้ทำให้สะดุดใจคิดทันทีว่า "...ก็ใครจะเป็นพระหน้าด้าน มาสึกต่อหน้าต่อตาคนมากๆ ที่ไปบวชเราได้ ไม่บวชเสียมันดีกว่า เมื่อบวชแล้วมาสึกต่อหน้าต่อตาคน มันยิ่งขายหน้ากว่าอะไรเสียอีกนั่น"

เหตุการณ์ในตอนนี้ ท่านเล่าแบบขบขันถึงความฉลาดของแม่ที่รู้ถึงนิสัยจิตใจท่านเป็นอย่างดี ดังนี้

"...ฉลาดไหมล่ะฟังเอา ใครไปบวชแล้ว ออกมาจากอุปัชฌาย์ อุปัชฌายะก็ยังไม่หนี พระกรรมวาจาฯ ก็ยังไม่หนี พระสงฆ์ก็ยังไม่หนีกัน คนก็แน่นอยู่นั้น ออกมาจะมาสึกต่อหน้าต่อตาคนมากๆ นี้มันไม่ขายหน้าโลกกระเทือนโลกเหรอ ไม่บวชเสีย ไม่ดีกว่าหรือ มันดีกว่าบวชแล้วมาทำอย่างนั้นนี่นะ แม่ก็ต้องทราบว่ามันทำไม่ลง เพราะรู้อยู่แล้วว่านิสัยของเราเป็นยังไง

นิสัยเราไม่เคยเป็นคนเสียหายนี่ การประพฤติเนื้อประพฤติตัวแต่ไหนแต่ไรมา เราไม่เคยเสียหาย เราพูดคุยได้จริงๆ การประพฤติตัวไม่เคยเถลไถล พอแม่ว่างั้น เอ้าบวช บวชละทีนี้ พอบวชเข้าไป เราจะตั้งหน้าบวชให้สมบูรณ์แบบ ไม่ให้ตำหนิติเตียนเจ้าของได้ในหลักธรรมวินัยข้อใดเลย เราจะเอาจริงเอาจังจนกระทั่งวันสึก กะไว้อย่างนาน 2 ปี คิดไว้นะ บวชแล้วทำหน้าที่บวชให้สมบูรณ์ คือจะเรียนหนังสืออะไรๆ ก็แล้วแต่เถอะ จะทำหน้าที่ให้สมบูรณ์... "

เมื่อตกลงกันได้แล้ว ท่านจึงตัดสินใจบวช และเป็นที่น่าแปลกใจว่า การเตรียมการบวชนี้กลับไม่มีอุปสรรค ไม่มีสิ่งใดมากีดมาขวาง ทุกสิ่งทุกอย่างดูพร้อมไปหมดเลย การตัดสินใจในครั้งนี้สร้างความปีติยินดีแก่พ่ออย่างมาก ท่านเล่าเหตุการณ์ตอนนี้ว่า

"...พอมาบวชเท่านั้นนะ พ่อ แหม รู้สึกดีใจจริงๆ นะ อะไรๆ เตรียมให้หมดทุกอย่างเลย เรียกพี่ชายมา ให้พี่ชายเป็นคนจัดบริขาร เพราะพี่ชายเคยบวชเป็นเณรมาแล้ว เขารู้เรื่องผ้าสบงจีวร อะไรๆ มอบให้พี่ชายเลย ซื้ออะไรๆ ให้ก็เอาของดีๆ นะ...บวชก็ไม่ได้คิดว่าจะอยู่นาน จะบวชปีสองปีเท่านั้นแหละ แล้วก็จะสึกตามประเพณีของโลกเขา บวชให้พ่อดีใจ..."

คำสอนของมารดา

เมื่อใกล้วันบวชเต็มที แม่จึงได้เรียกลูกมานั่งต่อหน้าและหยิบยกเรื่องๆ หนึ่งขึ้นมาสอนลูกด้วยความเป็นห่วงว่า

"นี่ลูก ให้มานั่งนี่ ฟัง...นี่แม่จะพูดอะไรให้ฟังนะ นี่ลูกคนนี้ แม่ไม่มีที่ต้องติ ไม่ว่าอะไรๆ แม่ตายใจได้หมดทุกอย่างเลย หน้าที่การงานอะไร การประพฤติอะไรนี้ แม่เห็นลูกเป็นที่หนึ่งเลยในลูกทั้งหลาย แม่ตายใจ พ่อก็ตายใจ เรื่องทุกสิ่งทุกอย่าง แม่ไม่มีวิตกวิจารณ์แล้ว แต่ที่แม่หนักใจที่สุดคือการนอนของลูกนะ

การนอนของลูกนี่ เหมือนตายเชียวนะ พี่ชายเขาเวลาบอกแม่ ตื่นเช้าแล้ว วันพรุ่งนี้ให้ปลุกหน่อยนะ จะไปนู้นแต่เช้าแล้วก็เข้านอน บางทียังไม่ได้ปลุก เขาไปแล้ว

ส่วนลูกนี้ ว่าแม่ปลุกหน่อยนะ วันพรุ่งนี้เช้าจะไปไหนแต่เช้า แล้วตายเลย ไม่มีคราวไหนที่จะลุกขึ้นด้วยตัวเอง นี่ละที่แม่หนักใจมากที่สุด กลัวจะไปขายหน้า เวลาบวชแล้วยังนอนหลับครอกๆ อยู่ เพื่อนไปบิณฑบาตกลับมาแล้ว มาปลุกฉันจังหัน โอ๋แม่นี่ ให้ตายซะดีกว่านะ อย่าให้ได้ยินนะลูกนะ

นี่ละที่แม่วิตกมากที่สุด นอกนั้นแม่ไม่มีอะไรเลยละ วิตกการนอนของลูกเหมือนตายนะลูกนะ ให้ตั้งตัวใหม่นะ"

ท่านฟังคำสอนของแม่ตั้งแต่ต้นจนตลอด ภายนอกอาจดูเหมือนเพียงแค่การรับฟังไว้เฉยๆ แต่ความเป็นจริงแล้วท่านแอบเก็บคำสอนระคนความห่วงใยของแม่ครานี้ฝังแนบแน่นจดจารึกไว้ภายในจิตใจอย่างเงียบๆ

และด้วยความห่วงใยนี้เอง ได้เปลี่ยนอุปนิสัยการนอนของท่านอย่างเด็ดขาด ทำให้ท่านประสบความสำเร็จในการศึกษาและปฏิบัติธรรมในลำดับต่อมา

รูปภาพ
พระประธานและรูปถ่ายของพ่อแม่ครูบาอาจารย์พระกรรมฐาน
ภายในศาลาการเปรียญวัดป่าบ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี



(มีต่อ 4)

เจ้าของ:  สาวิกาน้อย [ 24 ธ.ค. 2010, 10:27 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

รูปภาพ
พระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล)


ตอนที่ 3 ศรัทธา...ในธรรม

วันบวช

หลวงตาบรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดโยธานิมิตร บ้านหนองขอนกว้าง ตำบลหนองบัว อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ในวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 7 ปีจอ (ตรงกับวันอังคารที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2477) พระอุปัชฌาย์ของท่านคือ ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) วัดโพธิสมภรณ์ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี

เคารพธรรม เคารพวินัย

นิสัยที่เป็นคนทำอะไรทำจริง ท่านจึงระลึกเตือนตนเองว่า "พ่อแม่ไม่ได้ติดตามมาแนะนำ มาคอยตักเตือนเราอีกแล้ว เราต้องเป็นเราเต็มตัว ด้วยเหตุนี้เอง นับแต่วันเข้านาคเป็นต้นมา ท่านจึงฝึกฝนเรื่องการตื่นนอนใหม่ ให้สะดุ้งตื่นทันทีที่รู้สึกตัวขึ้นมา

ท่านเคยเล่าว่า "...ครั้นบวชแล้ว ก็ตั้งใจเอาบุญเอากุศลจริงๆ พยายามรักษาสิกขาบทวินัยให้เป็นไปตามหลักของพระอย่างแท้จริง ขณะที่เป็นพระอยู่นั้น จะไม่ให้ต้องติตนได้แต่อย่างหนึ่งอย่างใด จนกระทั่งถึงวันลาสิกขาบท นี้เป็นความคิดเบื้องต้น...

...ครั้นเวลาก้าวเข้าไปสู่วัดแล้วก็ปฏิบัติตัวอย่างนั้นจริงๆ ไม่เคยเถลไถลออกนอกวัดไปเที่ยวเตร็ดเตร่เร่ร่อนยังสถานที่ต่างๆ ดังเพื่อนฝูงที่มาฝึกหัดนาคเพื่อจะบวชเป็นกัน แม้ในการเรียนทางปริยัติธรรม ก็ตั้งใจศึกษาจริงๆ อยู่อ่านหนังสือจนดึกดื่นเที่ยงคืน ตีสองบ้าง ตีสามบ้าง เป็นประจำ ตีห้าบ้างเป็นบางคืน แต่ก็สามารถตื่นทำวัตรเช้าและออกบิณฑบาตได้ทันทุกครั้งไป ไม่เคยขาดแม้แต่ครั้งเดียว..."

ท่านได้ตั้งสัจอธิษฐานว่า

"...ตลอดพรรษานี้จะไม่ให้ขาดทำวัตรสวดมนต์เช้าเย็นรวมกันกับหมู่เพื่อนพระเณรแม้แต่วันเดียว แม้บางครั้งมีกิจนิมนต์ข้างนอก ก็กราบเรียนขอให้ท่านพระครูอาจารย์เจ้าอาวาสรอทำวัตรรวมพร้อมกัน เพื่อไม่ให้ขาดตามที่ตั้งสัจอธิษฐานนั้นไว้..." สำหรับการทำวัตรสวดมนต์ส่วนตัวของท่าน จะทำอีกครั้งหนึ่งที่กุฏิของท่านเอง

แรงบันดาลใจ ให้ฝักใฝ่ภาวนา

ท่านเล่าเหตุการณ์ในช่วงเริ่มต้นของการเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ไว้ว่า

"...ท่านพระครูท่านชอบภาวนานะ ท่านให้เราไปอยู่ในโบสถ์ด้วยกัน ท่านอยู่เตียงนอนทางหลังพระพุทธรูป พวกเราก็นอนในโบสถ์นั่นแหละ แต่เป็นหน้าพระพุทธรูปออกไปโน่นประตูออกโน่น พวกนาค 2-3 คน นอนอยู่โน่น ท่านสวดมนต์เก่งนะ แล้วก็ภาวนา

ตื่นเช้าออกมาตั้งแต่ตี 4 ท่านออกไปเดินจงกรมที่หน้าโบสถ์ มันโล่งหมดนะ แต่ก่อนเราเป็นนาค เราเห็นอยู่ ท่านออกไปเมื่อไหร่เราก็เห็นอยู่ เวลาท่านเดินจงกรม เราคอยสังเกตดูอยู่

เมื่อบวชแล้วเราจึงเดินจงกรม แล้วไปถามคำภาวนากับท่าน เราไม่ลืมนะ เพราะเราชอบภาวนา

"กระผมอยากภาวนา จะให้ภาวนายังไง ? " เราถามท่าน

"เออ ให้ภาวนาว่า พุทโธ นะ เราก็ภาวนา พุทโธ เหมือนกันแหละ"

ท่านก็สอนเท่านั้น เราก็ไปภาวนาพุทโธด้วยความเลื่อมใส พอใจในการภาวนาอยู่กุฏิใหญ่ทางด้านทิศเหนือ กลางคืนดึกๆ จะลงมาเดินจงกรมทุกคืนนะ...เวลาจะหลับจะนอน จะเหลือเวลาไว้ คือหยุดเรียนหนังสือ 1 ชั่วโมงเพื่อนั่งภาวนา...สมมติว่าจะพักนอนตี 2 ตอนตี 1 จะหยุดเรียนหนังสือแล้ว

ชั่วโมงนั้นแหละเป็นชั่วโมงภาวนาเป็นประจำนะ...ถึงเวลาก็ลงมาเดินเงียบๆ จากนั้นก็นั่งภาวนา แล้วก็หลับ... "

เกี่ยวกับเรื่องภาวนาและกรรมฐานนั้น ท่านมีความเคารพเลื่อมใสมาแต่เดิมแล้ว แม้เริ่มบวชทีแรกที่วัดโยธานิมิตรแห่งนี้ หากเห็นพระกรรมฐานมาพักด้วย ท่านจะต้องรีบไปถึงก่อนเพื่อจะได้พูดคุยเรื่องธรรมะเรื่องจิตกับท่าน

แรงดึงดูดใจ ให้ไม่ทิ้งภาวนา

ท่านพยายามปฏิบัติเช่นนี้อยู่เป็นประจำไม่ลดละ แรกๆ จิตใจก็ไม่สงบเท่าใดนัก แต่เมื่อทำอยู่หลายครั้งหลายหน จิตก็เริ่มสงบตัวลงไปโดยลำดับๆ จนเกิดความอัศจรรย์ ดังนี้

"...นี่แหละที่ได้เห็นความอัศจรรย์ของจิต ทำไปสะเปะสะปะ ไปนั่งภาวนาพุทโธ พุทโธ...สำรวมจิตตั้งสติไว้กับพุทโธ พุทโธ...มันไม่เคยเป็น ไม่เคยรู้เคยเห็น ไม่เคยคาดเคยฝันว่ามันจะเป็นอย่างนั้น พอพุทโธไปๆ ปรากฏว่ามันเหมือนเราตากแหไว้นะ แล้วตีนแหก็หดเข้ามา หดเข้ามา พร้อมๆ กัน

พอนึกพุทโธกับสติถี่ยิบเข้าไปเหมือนดึงจอมแห กระแสของจิตที่มันซ่านไปในที่ต่างๆ มันจะหดตัวเข้ามา เหมือนตีนแหหดตัวเข้ามา ลักษณะมันเป็นอย่างนั้น เราก็ยิ่งเกิดความสนใจ ก็เลยพุทโธถี่ยิบเข้ามา หดเข้ามา หดเข้ามา ถึงที่...กึ๊ก เลย...ขาดสะบั้นไปหมดโลกนี้...ขาดออกไปจากทุกสิ่งทุกอย่าง มีเด่นอยู่แต่จิต...

จิตนี้เป็นเหมือนเกาะอยู่ในท่ามกลางมหาสมุทร จิตที่รู้ๆ เด่นๆ อัศจรรย์นี้ นอกนั้นก็เป็นโลกสงสารเป็นมหาสมุทรไปหมด แต่เกาะนี้เป็นเกาะที่เด่นดวงอัศจรรย์สง่างาม อัศจรรย์ตื่นเต้น เราไม่เคยเห็น เลยตื่นเต้น เจ้าของเลยกระตุกตัวเอง ทีนี้จิตมันก็ถอนออกมา โอ๊ย เสียดายจะเป็นจะตาย

วันหลังขยับใหญ่เลย ก็ไม่ได้เรื่องแม้ขยับเท่าไหร่ก็ไม่ได้เรื่อง นั่นแหละ เลยเฮ้อ เอาละ ทำไปตามประสีประสาก็แล้วกัน ทีนี้มันก็ปล่อยอารมณ์ความยึดอดีตน่ะสิ พอทำไปๆ ก็เลยเป็นอย่างนั้นอีก เลยขยับบ้าเข้าอีกๆ เลยไม่ได้เรื่อง...

จิตที่ว่าอัศจรรย์อย่างนี้นะ วันนั้นทั้งวันจิตไม่พรากไม่ห่างจากอัศจรรย์ที่ปรากฏในจิตนั้น มันกระหยิ่มอยู่อย่างนั้น เรียนหนังสือมันก็อยู่ด้วยกัน จิตไม่ส่งไปไหนเลยนี่แหละ เป็นหลักใหญ่ที่เป็นเครื่องยึดของใจเอามากอันหนึ่ง... "

ตั้งจุดมุ่งหมายชีวิต

นับแต่ท่านได้เรียนหนังสือตำรับตำราทางธรรม ธรรมะซึ่งเป็นของจริงอยู่แล้ว กับนิสัยที่จริงจังของท่านก็รู้สึกว่าเข้ากันได้อย่างสนิท ดังท่านเคยเล่าว่า

"...เมื่อเรียนธรรมะไปตรงไหน มันสะดุดใจเข้าไปเรื่อยๆ โดยลำดับ นับตั้งแต่หนังสือธรรมะชื่อ นวโกวาท ที่เป็นพื้นฐานแห่งการศึกษาเบื้องต้น จากนั้นก็อ่านพุทธประวัติ ทำให้เกิดความสลดสังเวช สงสารพระองค์ท่านในเวลาที่ทรงลำบาก ทรมาน พระองค์ก่อนตรัสรู้ธรรม จนถึงกับน้ำตาร่วงไปเรื่อยๆ

จนกระทั่งอ่านจบ เกิดความสลดใจอย่างยิ่ง ในความพากเพียรของพระองค์ซึ่งเป็นกษัตริย์ทั้งองค์ ทรงสละราชสมบัติออกทรงผนวชเป็นคนขอทานล้วนๆ ซึ่งสมัยนั้นไม่มีศาสนา คำว่าการให้ทานได้บุญอย่างนั้น การรักษาศีลได้บุญอย่างนี้ไม่เคยมี พระองค์ก็ต้องเป็นคนอนาถาและขอทานเขามาโดยตรง และฝึกอบรมพระองค์เต็มพระสติกำลังทุกวิถีทางเป็นเวลา 6 ปี ถึงได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมา

ในขณะที่อ่านประวัติของพระพุทธเจ้าที่ได้ตรัสรู้ธรรม รู้สึกอัศจรรย์อย่างยิ่งถึงกับน้ำตาร่วงเช่นเดียวกัน..."

แม้เมื่อท่านได้อ่านประวัติพระสาวกอรหันต์ทั้งหลายที่ท่านออกมาจากสกุลต่างๆ กัน ตั้งแต่พระราชามหากษัตริย์ มหาเศรษฐีกระฎุมพี พ่อค้า ประชาชน ตลอดคนธรรมดา ท่านกล่าวว่า

"...องค์ไหนออกมาจากสกุลใด หลังจากได้รับพระโอวาทจากพระพุทธเจ้าแล้ว ต่างก็ไปบำเพ็ญในป่าในเขาอย่างเอาจริงเอาจัง เดี๋ยวองค์นั้นสำเร็จเป็นพระอรหันต์อยู่ที่นั้น องค์นั้นสำเร็จอยู่ในป่านั้น ในเขาลูกนั้น ในถ้ำนั้น ในทำเลนี้มีแต่ที่สงบสงัด ก็เกิดความเชื่อเลื่อมใสขึ้นมาทำให้ใจหมุนติ้ว เรื่องภายนอกก็ค่อยจืดไปจางไป..."

ท่านเล่าถึงความรู้สึกที่ค่อยแปรเปลี่ยนไป แปรเปลี่ยนไป เช่นนี้ว่า

"...ทีแรกก็คิดจะไปสวรรค์ ทีแรกคิดจะไปพรหมโลก พออ่านประวัติสาวกมากๆ เข้า มันไม่อยากไปละซิ อยากไป นิพพาน สุดท้ายก็อยากไปแต่นิพพานอย่างเดียวอยากเป็น พระอรหันต์ อย่างเดียวเท่านั้น ไม่มีเปอร์เซ็นต์อื่นเข้ามาเจือปนเลย ทีนี้จิตมันก็พุ่งลงตรงนั้นลงช่องเดียว

ความตั้งใจเดิมว่าจะบวชเพียง 2 พรรษาแล้วสึกหาลาเพศนั้น ค่อยจืดจางลงไปๆ ทุกขณะ กลับเพิ่มพูนความยินดีในเพศนักบวชมากเข้าไปทุกที เรื่องธรรมะก็รู้สึกดูดดื่มยิ่งขึ้นเรื่อยๆ จิตใจก็เปลี่ยนแปลงไป..."

ด้วยเหตุนี้เอง ในระยะต่อมาท่านจึงได้ออกจากบ้านตาดไปศึกษาเล่าเรียนในที่ต่างๆ จนกระทั่งได้ตั้งสัจอธิษฐานไว้เลยว่า

"เมื่อจบเปรียญ 3 ประโยคแล้ว จะออกปฏิบัติโดยถ่ายเดียวเท่านั้น ไม่มีข้อแม้ ไม่มีเงื่อนไข เพราะอยากพ้นทุกข์เหลือกำลังอยากเป็นพระอรหันต์นั่นเอง"

แม้มีอุปสรรค ก็ไม่ท้อถอย

ด้วยความคิดที่เปลี่ยนแปลงไปดังกล่าวถึงกับทำให้ท่านเคยพูดเชิงทีเล่นทีจริงกับโยมแม่ของท่านเองว่า

"...แม่ เสื้อผ้าที่ลูกเก็บไว้นั้น เอาให้หมู่เพื่อน เอาให้พี่ให้น้องนะ ถ้าเกิดตอนหลังคิดจะสึกมา จะหาถากเปลือกไม้เอามาใส่แทนหรอก"

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าท่านเกิดความเชื่อความเลื่อมใสในธรรมแล้ว และคิดอยากบำเพ็ญตนให้เป็นเช่นนั้นตามเสด็จพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ แต่สิ่งที่เป็นอุปสรรคแก่ท่านในระยะเริ่มต้นก็คือ ท่านมีความลังเลสงสัยว่า ปฏิปทาแนวทางการปฏิบัติที่เราดำเนินตามท่านเหล่านั้นจะบรรลุถึงจุดที่ท่านบรรลุหรือไม่ หรือว่าทางเหล่านี้จะกลายเป็นขวากเป็นหนาม เป็นโมฆะและกลายเป็นความลำบากแก่ตนผู้ปฏิบัติไปเปล่าๆ อีกประการหนึ่งก็สงสัยว่า

"เวลานี้ มรรคผลนิพพาน จะมีอยู่เหมือนครั้งพุทธกาลหรือไม่ ?"

ท่านได้เก็บความสงสัยนี้ฝังอยู่ภายในใจเพราะไม่สามารถจะระบายให้ผู้ใดฟังได้ และเข้าใจว่าคงไม่มีใครสามารถแก้ไขความสงสัยนี้ให้สิ้นซากไปได้ แต่อย่างไรก็ตาม ท่านเล่าว่า ท่านมีความรู้สึกเชื่อมั่นอย่างเต็มใจตามวิสัยของปุถุชน ถึงการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า และการตรัสรู้เป็นพระอรหันต์ของพระสาวกท่าน

ความสงสัยดังกล่าวนี้ จึงเป็นเหตุให้ท่านมีความสนใจและมุ่งหวังที่จะพบท่านอาจารย์มั่น ภูมิทัตโต อยู่เสมอ ทั้งๆ ที่ก็ยังไม่เคยพบเห็นท่านมาก่อนก็ตาม แต่เพราะได้ยินชื่อเสียงของท่านมานานแล้ว ตั้งแต่ตอนเด็กสมัยที่ท่านอาจารย์มั่นมาอยู่ทางอำเภอบ้านผือ อุดรธานี จึงทำให้รู้สึกเชื่อมั่นอยู่ลึกๆ ภายในใจว่า ท่านอาจารย์มั่นจะสามารถไขปัญหานี้ให้กระจ่างได้

ค้นคว้าตำราจริงจัง

ความมุ่งมั่นอย่างจริงจังที่จะออกปฏิบัติเมื่อจบมหาเปรียบแล้วนี้เอง ทำให้การเรียนของท่านจึงมิใช่จะหาความรู้เพียงแค่วิชาในชั้นเรียนเท่านั้น แต่หากความรู้ใดจะเป็นประโยชน์ต่อการออกปฏิบัติกรรมฐาน ท่านจะพยายามศึกษาค้นคว้าตำรับตำราเพิ่มเติมเข้าไปอย่างเต็มที่ เฉพาะอย่างยิ่งจากพระไตรปิฎก สังเกตได้จากความตั้งใจของท่านที่ว่า

"...เราจะเรียนทุกสิ่งทุกอย่าง ที่พอจำได้เราจะจำ เราจะจดโน้ตคัดเอาไว้ๆ มีสมุดเล็กๆ คัดเอาไว้ในนั้นๆ อันนี้มาจากเล่มนั้นๆ ชาดกเล่มนั้นๆ หน้าที่เท่านั้นจดไว้ๆ เวลาเราต้องการความพิสดาร เราก็ไปเปิดดูง่ายๆ ที่เราจด

แต่ส่วนมากพอมองเห็นที่คัดไว้เท่านี้ มันก็เข้าใจไปหมดแล้ว เพราะอ่านมาแล้วนี่ ก็ไม่จำเป็นต้องไปค้นดูพระไตรปิฎกละ เพราะฉะนั้น เวลาหนังสือผ่านมาที่ไหนๆ ถึงรู้ทันทีๆ เพราะได้อ่านมาหมด มันอยู่ในข่ายของพระไตรปิฎกทั้งนั้นละ

ทีนี้พระไตรปิฎกเราก็ค้นเสียจนพอก่อนที่จะออกมาปฏิบัติ เวลาว่างจากเรียนหนังสือ ปิดโรงเรียนนั้นละ เป็นเวลาค้นหนังสือ เวลาเรียนหนังสือก็เรียนไปตามหลักวิชานั้นเสีย

ครั้นเวลาหยุดเรียนหนังสือ ก็ค้นพระไตรปิฎก โน้ตๆ เอาไว้ เพื่อให้เป็นประโยชน์ในเวลาจะออกปฏิบัติ เพราะตั้งใจจะออกปฏิบัติเท่านั้นไม่เป็นอย่างอื่น..."

สมัยที่เรียนปริยัติอยู่นั้น แม้จะมีอุปสรรคบางประการที่ทำให้มีข้อเสียเปรียบเพื่อนที่เรียนหนังสือด้วยกันอยู่บ้าง แต่ด้วยความอุตสาหะวิริยะของท่าน ปัญหาดังกล่าวก็ไม่มีผลแต่อย่างใด ดังนี้

"...หัวสมองเรานี่ เกี่ยวกับความจำมันอยู่ในย่านกลางนะ ดีก็ไม่ใช่ ต่ำกว่านั้นก็ไม่ใช่ อยู่ในย่านกลางนี่แหละ เราจะเห็นได้จากพวกหมู่เพื่อนที่เขาเรียนหนังสือด้วยกัน ท่องสองหนสามหนเท่านั้น เขาจำได้แล้วนะ

เรานี่เอาจนแทบเป็นแทบตายมันก็ไม่ได้ ผิดกันมากนะ ท่องสูตรเดียวกันนี้ เขาไปท่องมาชั่วโมงสองชั่วโมง เขาจำได้แล้วสูตรหนึ่ง เราฟาดมันจนไม่ทราบกี่ชั่วโมง มันก็ไม่ได้นะ

ผู้ที่หนากว่าเราก็ยังมีอีก นี่มันเทียบได้ เราจึงอยู่ในย่านนี้ ไม่ใช่ย่านนั้น คือ ย่านสูงกว่านั้นเราก็ไม่ได้..."

เหตุข้างต้นนี้เอง ทำให้ท่านต้องขยันหมั่นเพียรอย่างหนัก อย่างไรก็ตามท่านก็ไม่ได้รู้สึกท้อถอยน้อยใจ กลับตั้งอกตั้งใจเรียนยิ่งขึ้นไปอีก

ไปฟังธรรมจากพระปฏิบัติ

ระยะต่อมา ท่านได้ย้ายมาเรียนปริยัติอยู่ที่วัดสุทธจินดา ในอำเภอเมืองนครราชสีมา แม้ต้องมีภาระเพิ่มขึ้นจากการเรียนหนังสือ แต่ท่านก็ยังไม่ละทิ้งเรื่องการภาวนา นอกจากนี้ ยังพยายามหาโอกาสไปฟังเทศน์ท่านอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ที่วัดป่าสาลวัน อีกด้วย เหตุการณ์ในตอนนั้นท่านกล่าวว่า

"เราเรียนหนังสืออยู่วัดสุทธจินดา พอวันไหนว่างจากเรียนหนังสือ เราจะไปฟังเทศน์ท่านอาจารย์สิงห์ที่วัดป่าสาลวัน ท่านจึงพบเราบ่อย ไปตามประสาของเราที่มันชอบภาวนา

หมู่เพื่อนใครไม่ไปเราไม่สนใจกับใคร ถ้าวันไหนท่านประชุมฟังธรรมตรงกับวันที่เราว่างจากการเรียนเราก็ไป ไปบ่อย ท่านอาจารย์สิงห์ยังชมว่า

"พระหนุ่มองค์นี้ภาวนาดีนะ"

และท่านยังไปเล่าให้พระฟังอีกด้วยว่า "นั่งเหมือนหัวตอ" เพราะเราไปฟังเทศน์ของท่านตลอด ตอนนั้นเราภาวนายังไม่เป็น ยังไม่ทราบว่าท่านเทศน์มีบทหนักบทเบาขนาดไหน แต่เรื่องวิถีจิตที่ท่านแสดงนั้นเรายังไม่เคยได้ยิน..."

เอื้อเฟื้อ มีน้ำใจ

ต่อมาเมื่อท่านเข้าเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ จึงได้มาพักอยู่ที่วัดบรมนิวาส ที่วัดนี้มีการจัดแบ่งพระเณรออกเป็นคณะ คณะของท่านมีเจ้าคุณอาจารย์เป็นหัวหน้าคณะอยู่ แต่เจ้าคุณมอบให้ท่านเป็นผู้ช่วยดูแลคณะ ภาระหลายประการจึงตกมาถึงท่าน นอกเหนือจากภาระการเรียนซึ่งปกติก็หนักมากอยู่แล้ว

เป็นที่รับทราบกันดีในหมู่พระเณรถึงความมีน้ำใจเอื้อเฟื้อไม่ตระหนี่ถี่เหนียวของท่าน ในยามที่มีจตุปัจจัยไทยทานเข้ามามากน้อย ท่านจะแบ่งปันสิ่งของต่างๆ ออกแจกจ่ายพระเณรอย่างทั่วถึงหมด เหตุนี้เองทำให้คณะของท่านมีพระเณรมาอยู่ด้วยจำนวนมาก ท่านเคยกล่าว ดังนี้

"...ตั้งแต่เราเป็นพระหนุ่มน้อย เราไปอยู่วัดไหน หากสมภารตระหนี่ เราอยู่ไม่ได้นะ มันคับหัวอก เราเป็นอย่างนั้นจริงๆ ไม่ใช่พูดเล่นนะ เรียนหนังสือก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน คณะของเรานี้มีเรามีเขาที่ไหน ของตกมาหาเรานี่ พระเณรนี้รุมพรึบเดียวหมดเลย

นั่นแหละเป็นอันเดียวกันมาตลอด เรียนหนังสือก็เป็นอย่างนั้น ไม่เคยว่านี่เป็นของเรานั้นเป็นของท่าน...เหมือนครัวเรือนเดียวกัน...เราไปไหนมา ได้ของมากน้อย พระเณรนี้พรึบเดียวหมดเลย

พระเณรแย่งกันก็เหมือนกับเราอยู่ในครัวเรือน คือแย่งกันในฐานะพระเณรในวัดแย่งกันแบบพระ ว่างั้น แย่งแบบฆราวาส แย่งแบบพ่อแม่กับลูกในครอบครัวเป็นอย่างหนึ่ง การแย่งกันมีหลายประเภท นี่แย่งแบบพระมันก็น่าดู ดูด้วยความตายใจ พออะไรมานี้ตายใจแล้ว พรึบเลย...

...ไม่เคยเก็บไม่เคยสั่งสมแต่ไหนแต่ไร คณะของเราช่วงเรียนหนังสือจึงมีพระเต็มไปหมด เราไปอยู่ที่ไหนคณะของเรา จะมากที่สุด มากกว่าเพื่อน ลูกศิษย์ลูกหาเพื่อนฝูงเต็มไปหมด...เพราะความเสียสละ..."

รูปภาพ
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิมพ์ ธัมมธโร)


เจ้าคุณนักเสียสละ

ท่านให้ความเคารพนับถือเจ้าคุณอาจารย์อย่างสูง ไม่เพียงเพราะเจ้าคุณฯ เป็นอาจารย์สอนปริยัติธรรมให้แก่ท่านเท่านั้น คุณธรรมของท่านเจ้าคุณฯ เฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความเป็น "นักเสียสละ" นั้น เป็นสิ่งที่ทำให้ท่านต้องกล่าวถึงอยู่เสมอๆ อย่างไม่มีวันลืมเลือนได้เลย ดังคำพูดคราวหนึ่งว่า

"...เรายังได้คิดถึง สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิมพ์ ธัมมธโร) เปรียญ 6 ประโยค นั่นท่านเป็นนักเสียสละนะ เราเคยอยู่ด้วยแล้วถึงไหนถึงกัน...ท่านไปไหนมานี้ พระเณรรุมพรึบเลย

หมดเลยๆ ท่านเป็นนักเสียสละ ไม่สนใจได้มาเท่าไหร่ บทเวลาท่านจะพูด ท่านก็พูดของท่าน พูดเฉยๆ เอาของมาเต็มอยู่นี่ มันมีผ้าไหมดีๆ อยู่ มาจากเมืองอุบล ผ้าไหม ผ้าอะไรเขาทอมาถวายท่าน

พอมาถึงท่าน "เออ...ผ้าไหมให้ระวัง ให้รีบเก็บนะ เดี๋ยวอีตา...จะมาเอาของท่านเอง บอก "ให้รีบเอาไปซะ ของไหนดีๆ เดี๋ยวมันเอาไปหมด" ว่าเท่านั้นแหละ แล้วไม่เคยพูดถึงอีกเลย มีเท่านั้น นี่เรียกว่า คำพูดติดปากเฉยๆ

ท่านไม่ได้พูดด้วยความหึงหวง ความหมายก็คือว่า เอาไว้เผื่อว่ามันจำเป็น องค์ไหนที่ควร ท่านจะสั่งจัดให้เลย นี่เรียกว่า นักเสียสละ เราเทิดที่สุดเลย...

เพราะนิสัยท่านกับนิสัยเราเข้ากันได้ปุ๊บ ปุ๊บ เลย เราฝังลึกแล้วว่าท่านคือนักเสียสละ นี่องค์หนึ่งที่เป็นพระนักเสียสละ ท่านไม่มี ได้มาเท่าไหร่หมด ไม่มีเหลือ หมด หมดเลย..."

ท่านกล่าวยกย่องน้ำใจของท่านเจ้าคุณอาจารย์ว่า เป็นผู้มีจิตใจกว้างขวางไม่สั่งสม และไม่ตระหนี่ถี่เหนียวในจตุปัจจัยไทยทานต่างๆ เลย มีแต่นำออกจ่ายแจกแก่บรรดาลูกศิษย์ลูกหาพระเณรเสมอมา ท่านเจ้าคุณฯ เคยสั่งให้นำของจำนวนมากออกทำสลาก และให้พระเณรทุกรูปได้จับสลากแบ่งปันกัน

ท่านเจ้าคุณก็ไม่ได้เคยให้ความสนใจในสิ่งของเหล่านั้นเพื่อตัวของท่านเองเลย เหตุนี้เอง ด้วยความระลึกถึงท่านเจ้าคุณฯ อยากให้ท่านได้ใช้ของดีๆ บ้าง ในคราวหนึ่งท่าน (หมายถึงหลวงตา) จึงได้แอบเอาจีวรชุดหนึ่งแยกเก็บไว้ต่างหาก เพื่อมิให้นำมาติดสลากร่วมด้วย คิดไว้ในใจว่าเผื่อจะไว้เปลี่ยนถวายใหม่ให้ท่านเจ้าคุณบ้าง

แต่ต่อมาภายหลัง เมื่อท่านเจ้าคุณฯ สังเกตเห็นจีวรยังคงเก็บอยู่ในตู้ 1 ชุดดังเดิม จึงถามท่านว่า

"ทำไมไม่ได้นำจีวรชุดนี้ไปจับสลากแจกให้พระเณร ?"

ท่านให้เหตุผลแก่ท่านเจ้าคุณว่า

"ในบางคราว จีวรของเจ้าคุณอาจารย์อาจชำรุดเสียหายด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง เช่น ไฟไหม้ หรือหนูกัด ก็จะมีเปลี่ยนได้ทันทีครับกระผม"

คำตอบนี้ทำให้ท่านเจ้าคุณต้องจำยอมด้วยเหตุผล

พบเห็นสมณะผู้ประเสริฐ

ในระยะที่ท่านยังเรียนหนังสืออยู่นั้น กิตติศัพท์กิตติคุณของ ท่านอาจารย์มั่น ภูริทัตโต มิเคยได้จืดจางลงไปแม้แต่น้อย กลับยิ่งฟุ้งขจรขจายอย่างกว้างขวางมาจากจังหวัดเชียงใหม่ ว่าท่านเป็นพระสำคัญรูปหนึ่ง

ส่วนมากผู้ที่มาเล่าเรื่องของท่านอาจารย์มั่นให้ฟังนั้น จะไม่เล่าธรรมขั้นอริยภูมิธรรมดา แต่จะเล่าถึงขั้นพระอรหัตภูมิทั้งนั้น จึงทำให้ท่านมั่นใจว่า เมื่อเรียนจบตามคำสัตย์ที่ตั้งไว้แล้ว จะต้องพยายามออกปฏิบัติ ไปอยู่สำนักและศึกษาอบรมกับท่านอาจารย์มั่น เพื่อตัดข้อสงสัยที่ฝังใจอยู่นี้ออกไปให้จงได้

โอกาสอำนวยให้ท่านเดินทางไปศึกษาปริยัติต่อที่ วัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเดินทางไปถึง เผอิญเป็นระยะเดียวกันกับที่ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (พระอุปัชฌาย์) ได้อาราธนานิมนต์ท่านอาจารย์มั่นด้วยตนเอง เพื่อขอให้ไปพักจำพรรษาอยู่ที่จังหวัดอุดรธานี ท่านอาจารย์มั่นเมตตารับนิมนต์นี้ จึงได้ออกเดินทางจากสถานที่วิเวกบนเขาในเขตจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อจะเข้าพักชั่วคราวอยู่ที่วัดเจดีย์หลวงนั้นเช่นกัน

เหตุการณ์ก็บังเอิญเป็นระยะเวลาไล่เลี่ยกันกับที่ท่านเดินทางไปถึง จึงมีโอกาสดีที่ได้เห็นท่านอาจารย์มั่น ความรู้สึกของท่านในตอนนั้นท่านเคยล่าว่า

"...เกิดความรู้สึกเลื่อมใสในองค์ท่านขึ้นอย่างเต็มที่ในขณะนั้นว่า เราไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์ทั้งชาติ ได้เห็นพระอรหันต์ในคราวนี้แล้ว..."

ความรู้สึกในครั้งนี้ท่านว่า หากแม้ไม่เคยมีใครบอกว่าท่านอาจารย์มั่นเป็นพระอรหันต์มาก่อนเลยก็ตาม แต่ว่าใจของท่านกลับหยั่งเชื่อแน่วแน่ลงไปอย่างนั้นทีเดียว พร้อมทั้งปลื้มปีติยินดีจนขนพองสยองเกล้าอย่างบอกไม่ถูกในขณะที่ได้เห็นท่าน เหตุการณ์ในระยะนี้ท่านเคยเล่าให้พระเณรฟัง ดังนี้

"...ท่านเทศน์ที่วัดเจดีย์หลวง 3 ชั่งโมงเทศน์วิสาขบูชา ผมก็ไปถึงใหม่ๆ ท่านมาถึงก่อนผม 2 วันหรือ 3 วัน ผมก็ไปถึง ท่านป่วยอยู่ที่บ้านปาเปอะ ท่านออกมาครั้งนั้นเพราะรับนิมนต์ท่านเจ้าคุณอุปัชฌายะของเรานี่เอง

ท่านออกมาเพราะนัดกันแล้วว่าเดือนนั้นๆ ระยะนั้นๆ ให้มา ท่านก็ออกมามีท่านอาจารย์อุ่นกับคุณนายทิพย์ภรรยาของผู้บังคับการตำรวจ ทุกวันนี้เรียกผู้กำกับมานิมนต์ ท่านอาจารย์อุ่นไปรับท่านมา

ผมก็อยู่นั้นเวลาท่านเทศน์ แต่ก่อนไม่มีรถนี่ เทศน์อยู่วิหารใหญ่ ทางรถผ่านหน้าวัด จนเขาแตกตื่นเข้ามาดู เขาว่าพระทะเลาะกัน มาดูก็เห็นท่านอาจารย์มั่นเทศน์อยู่บนธรรมาสน์ นั่นละขนาดนั้นละ ท่านเทศน์เปรี้ยงๆ เอาอย่างถึงเหตุถึงผล แต่เราก็เพลินไปด้วยความเลื่อมใสท่านนะ จะให้รู้เรื่องรู้ราวในเรื่องท่านเทศน์ เรื่องวิถีจิตวิถีอะไรก็ไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่มันเพลินด้วยความเชื่อท่าน ความเลื่อมใสว่า เราเกิดมาไม่เสียชาติ ได้พบท่านอาจารย์มั่นที่ร่ำลือมานาน

ครูบาอาจารย์องค์ไหนที่เคยไปอยู่กับท่านมาแล้ว มาพูดเป็นเสียงเดียวกันหมดไม่เป็นอื่นว่า ท่านอาจารย์มั่นคือพระอริยบุคคล เราก็ยิ่งอยากจะทราบ อริยบุคคลชั้นไหน มันก็หลายชั้นนี่นะ อริยบุคคล อรหันต์นั่นแหละ ว่างี้เลย อรหัตบุคคลว่างี้ มันก็ยิ่งซึ้งน่ะซี

เวลาไปถึงไหนๆ ท่านไปบิณฑบาตสายไหนๆ สอบถามได้ความว่า ท่านออกไปนี่แล้ว ท่านบิณฑบาตแล้วกลับมาทางนี้ ธรรมดาท่านไปสายๆ ท่านกลับมาสายๆ เราบิณฑบาตแต่เช้า กลับมาก็เตรียมท่าคอยดูทาง เรายังไม่เห็น เดี๋ยวพระมาบอกว่า

"มาแล้ว นู่นๆ กำลังเข้ากำแพงวัด"

เราก็ปุ๊บเข้าในห้องเลย มันมีช่องอยู่ ยังไม่ลืมนะ จากนั้นเข้าไปในห้อง แล้วส่องดู...ลักษณะของท่านเหมือนไก่ป่านะ คล่องแคล่ว ตามแหลมคม ท่านเดินมา เราก็ดู...ฟังด้วยความสนใจ ดูด้วยความเลื่อมใส นี่มันซึ้งจริงๆ เราไม่ลืมนะ ไม่เสียชาติเป็นมนุษย์ แต่ท่านจะเห็นเรายังไงก็ไม่รู้นะ เราหากเป็นบ้า ดูแบบบ้าเรานั่นแหละ..."

หลังจากนั้นไม่นาน ท่านอาจารย์มั่นก็ออกเดินทางมุ่งหน้าไปจังหวัดอุดรธานี สำหรับท่านยังคงอยู่เรียนหนังสืออยู่ที่วัดเจดีย์หลวงนี้ต่อไป โดยศึกษาบาลีกับนักธรรมควบคู่กันไป

สอบได้คะแนนเต็มร้อย

ในการศึกษาวิชาภาษาบาลีของท่านนั้น ถึงแม้การสอบครั้งแรกจะยังไม่ผ่าน ท่านก็ไม่ได้รู้สึกเสียใจแต่อย่างใด ท่านยอมรับตามนั้น เพราะทราบดีว่าภูมิความรู้ของตนในตอนนั้นยังไม่เต็มที่จริงๆ

สำหรับการสอบในครั้งต่อๆ ไปนั้น ท่านมีความมั่นใจอย่างเต็มภูมิว่า แม้จะสอบหรือไม่สอบก็ไม่มีความแตกต่างกันในเรื่องความรู้ ทั้งนี้ก็ด้วยความสามารถที่ได้แสดงให้ครูสอนบาลีของท่านคือสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิมพ์ ธัมมธโร) เห็นในระหว่างที่เรียนเพื่อจะสอบมหาเปรียบให้ได้ ในการสอบเป็นครั้งที่ 3 ครูของท่านถึงกับออกปากว่า

"ท่านบัวนี้ ได้แต่ก่อนสอบนะ ให้เป็นมหาเลยนะ ถ้าลงท่านบัวตก นักเรียนทั้งชั้นตกหมด"

ซึ่งก็เป็นจริงตามนั้น คือท่านสอบได้เป็นมหาเปรียญ โดยได้คะแนนบาลีเต็มร้อย ในเวลาต่อมาท่านเล่าให้ลูกศิษย์ลูกหาฟังว่า

"การสอบได้ในครั้งนั้น ไม่มีอะไรดีใจเลย เพราะรู้สึกว่าความรู้ได้เต็มภูมิตั้งแต่การสอบครั้งที่ 2 แล้ว แต่ในครั้งนั้นปรากฏว่าสอบตก เหมือนกับจะให้คอยการศึกษาทางนักธรรมเขยิบขึ้นมาตามจนถึงปีที่สอบมหาได้ก็สำเร็จนักธรรมเอกพร้อมกันเลย ซึ่งน่าคิดว่าเหมือนมีสายเกี่ยวโยงกัน ทำให้การศึกษาทางโลกจบประถม 3 ทางบาลีก็จบเปรียญ 3 และทางนักธรรมก็จบนักธรรมเอก เป็น 3 ตรงกันหมด 3 วาระ..."

ด้วยผลการเรียนดีและเป็นที่ไว้วางใจของผู้ใหญ่ซึ่งเป็นครูบาอาจารย์ ทำให้ผู้ใหญ่หวังจะให้ท่านเป็นครูสอนนักเรียนในโรงเรียน แต่ท่านก็ได้ปฏิเสธอย่างละมุนละม่อมดังนี้

"...เรียนออกมา นักธรรมตรี นักธรรมโท นักธรรมเอก เปรียบ ไม่สอนใครทั้งนั้น เป็นครูสอนนักเรียนในโรงเรียนก็ไม่เอา ผู้ใหญ่ท่านจะให้เป็นครูสอน...

ไม่เอา ครูไม่อดไม่อยาก เอาองค์ไหนก็ได้ เราว่าอย่างนั้นเสีย เราเลยหลีกได้ ถ้าหากว่าครูไม่มีจริงๆ เราจะหลีกอย่างนั้น มันก็ไม่งาม แต่นี้ครูก็มีอยู่ ผู้มีภูมินั้นมีอยู่ที่จะเป็นครู

เราก็ทิ้งให้องค์นั้นๆ ไปเสีย เราก็ออกได้ เราจึงไม่เป็นครูใครเลย นักธรรมตรี นักธรรมโท นักธรรมเอก มหาเปรียญ ไม่เคยเป็นครูสอนใครทั้งนั้น..."

การศึกษาด้านปริยัติของท่านเป็นอันสิ้นสุดลงที่วัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2484 นับเป็นปีที่ท่านบวชได้ 7 พรรษาพอดี โดยสอบได้ทั้งนักธรรมเอกและเปรียญ 3 ประโยคในปีเดียวกัน

รูปภาพ
รูปหล่อสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสฺโส อ้วน) ณ วัดบรมนิวาส กรุงเทพฯ


รักคำสัตย์ยิ่งกว่าชีวิต

เพื่อมุ่งหน้าออกปฏิบัติกรรมฐานตามคำสัตย์ที่ตั้งไว้ ท่านจึงเดินทางเข้ากรุงเทพพฯ เพื่อหาโอกาสกราบลาพระเถรผู้ใหญ่ อาจารย์ของท่าน แม้พระเถระผู้ใหญ่ซึ่งเมตตาหวังอนุเคราะห์ให้ท่านศึกษาปริยัติต่ออีก ด้วยเห็นว่าในสมัยนั้นพระภิกษุที่มีความรู้ระดับมหาเปรียญมีน้อยมาก แต่ท่านได้เคยพิจารณาแล้วว่า

"...ความรู้ระดับมหา 3 ประโยคนี้ ก็เพียงพอแล้วกับการจะออกปฏิบัติกรรมฐานวิชาความรู้ขนาดเป็นมหาแล้วย่อมไม่จนตรอกจนมุมง่าย..."

และอีกประการหนึ่ง ท่านยังคงระลึกถึงความสัตย์ที่เคยตั้งต่อตนเองไว้ว่า

"...ฝ่ายบาลีขอให้จบเพียงเปรียญ 3 ประโยคเท่านั้น ส่วนนักธรรมแม้จะไม่จบชั้นก็ไม่ถือเป็นปัญหา...แล้วจะออกปฏิบัติโดยถ่ายเดียว จะไม่ยอมศึกษาและสอบประโยคต่อไปเป็นอันขาด..."

ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงพยายามคิดหาทางหลีกออกเพื่อปฏิบัติให้ได้ เผอิญในระยะนั้นพระเถระอาจารย์ของท่านรับนิมนต์ไปต่างจังหวัด ท่านจึงถือโอกาสนั้นเข้านมัสการกราบลา สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสฺโส อ้วน) ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส ในขณะนั้น ท่านก็ยินดีอนุญาตให้ไปได้ เหตุการณ์ในตอนนั้นท่านเล่าไว้ ดังนี้

"...บุญกรรมก็ช่วยด้วยนะ ผู้ใหญ่ท่านไม่อยากให้ออก ท่านห้ามไว้เลยเทียว...ยังไม่ให้ออก...ให้เรียนจบได้เปรียญ 6 ประโยคเสียก่อน จึงค่อยออก

แต่เรายังไงก็ไม่อยู่ แต่จะหาออกด้วยมารยาทอันดีงามเท่านั้นเอง สบโอกาสเมื่อไรแล้วเราจะออก พอดีท่านไปต่างจังหวัดละซิ นั่นละโอกาสมันก็เหมาะ พอท่านไปต่างจังหวัดพั้บ เราก็ปั๊บออกเลย..."


(มีต่อ 5)

เจ้าของ:  สาวิกาน้อย [ 24 ธ.ค. 2010, 10:29 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

รูปภาพ
พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต พระบูรพาจารย์ใหญ่สายพระกัมมัฏฐาน


ตอนที่ 4 แสวงหาครูบาอาจารย์

เรียนปริยัติ แอบปฏิบัติ

ช่วงที่ท่านเรียนปริยัติอยู่นั้น เมื่อว่างจากการเรียน ท่านจะพยายามหลบหลีกจากหมู่เพื่อนที่เรียนหนังสือด้วยกัน โดยแอบนั่งสมาธิในกุฏิคนเดียว หรือ เดินจงกรม ในช่วงเวลาดึกๆ อยู่เสมอ ด้วยเกรงผู้อื่นจะพบเห็นอันทำให้ท่านเกิดความเก้อเขินในการปฏิบัติ ท่านเคยเล่าแบบขบขันถึงเหตุผลที่ต้องแอบหลบเพื่อนมาภาวนา ดังนี้

"...เราภาวนาอยู่ทุกวันนี้ เรียนหนังสือเราไม่เคยละนะ หากไม่บอกใครให้รู้ เพราะอยู่กับพวกลิงด้วยกัน ถ้าไปภาวนาเดี๋ยวมันมาพูดแหย่กัน

"โอ้ ! จะไปสวรรค์นิพพานเดี๋ยวนี้เชียวหรือ ?" นั่นน่ะ พวกเดียวกันมันพูดกันได้นี่นะ จะว่าไง ไม่ถือสีถือสากัน "นี่ จะไปสวรรค์นิพพานนะนี่ พวกเราอย่าไปกวนท่านนะ ท่านกำลังเตรียมจะไปสวรรค์นิพพาน" ต้องมีแหย่กันอยู่อย่างนั้น

เพราะฉะนั้น จึงไม่ให้รู้ นั่งภาวนาเฉย ไม่ให้รู้นะ ปิดประตู เราไม่ให้เสีย ถ้าออกมาก็เป็นลิงเหมือนเขาเสีย ถ้าเข้าในห้องเป็นแบบนั้น กลางคืนดึกๆ ออกมาเดินจงกรม มันเป็นอยู่ในหัวใจนี่จะว่าไง หากบอกใครไม่ได้ อย่างนี้ไม่บอกใครเลย เพื่อนฝูงอยู่ด้วยกันก็ไม่บอก เป็นลิงไปกับเขาเสียอย่างนั้น..."

ด้วยเหตุนี้เองการปฏิบัติจึงไม่ค่อยเต็มที่เท่าใดนัก ท่านเคยเล่าถึงการภาวนาในช่วงที่เรียนหนังสืออยู่ 7 ปีเต็มว่า

"...เป็นเพียงสงบเล็กๆ น้อยๆ ธรรมดาๆ จิตสงบของมันอยู่ธรรมดา...

...จะมีก็เพียง 3 หนเท่านั้นเป็นอย่างมากที่จิตลงถึงขนาดที่อัศจรรย์เต็มที่ คือ ลงกึ๊กเต็มที่แล้วอารมณ์อะไรขาดหมดในเวลานั้น เหลือแต่รู้อันเดียว กายก็หายเงียบเลย..."

ท่านว่ามันน่าอัศจรรย์มาก และนี้เองเป็นเครื่องฝังจิตฝังใจของท่านให้มีความสืบต่อที่จะออกปฏิบัติและกล้าที่จะพูดเปิดเผยให้หมู่เพื่อนได้ฟังถึงความตั้งใจที่จะเรียนจบแค่เปรียญ 3 ประโยคเท่านั้น

มารรบกวนจิตใจ

ครั้นเมื่อถึงคราวออกปฏิบัติเต็มตัว ท่านจึงออกเดินทางมุ่งหน้าสู่จังหวัดนครราชสีมา โดยพกหนังสือปาฏิโมกข์เพียงเล่มเดียวติดย่ามไปเท่านั้น และเข้าจำพรรษาที่วัดในอำเภอจักราช นับปีบวชได้ 8 พรรษาพอดี ท่านว่า พอเริ่มปฏิบัติอย่างจริงจังขึ้น กลับเหมือนมีมารมาคอยก่อกวน สิ่งที่ไม่เคยรู้สึก ไม่เคยเป็นในสมัยเรียนหนังสือ กลับปรากฏขึ้นเป็นความรุ่มร้อนฝังลึกอยู่ในใจ ท่านเล่าถึงความรู้สึกตอนนี้ว่า

"...แปลกจริง เวลาเราเอาจริงเอาจังตั้งแต่อยู่เรียนหนังสือ จิตก็ไม่เห็นเป็น เวลาออกปฏิบัติตอนจะเอาจริงเอาจัง มันจะมีมารหรือยังไงนะ ได้ยินเสียงผู้หญิงก็ไม่ได้นะ ทำไมเรื่องของราคะมันแย็บทันทีๆ เลย จนเรางงเหมือนกัน

เอ้า เราก็ตั้งใจมาปฏิบัติธรรมไม่เคยสนใจกับผู้หญิงเลย ทำไมเพียงได้ยินเสียงผู้หญิงเท่านั้นมันก็แย็บ แต่มันแย็บอยู่ภายใน จิตต่างหากนะ มันแย็บๆๆ ของมัน เอ๊ะชอบกลว่ะ ทำไมมันเป็นอย่างนี้..."

ท่านก็ตั้งใจอย่างเต็มที่ที่จะไปหาภาวนาอยู่ในป่าเพื่อฆ่ากิเลส แต่กลับโดนเข้าแต่เรื่องทุกข์ร้อนจากอารมณ์ที่คอยกวนจิตใจ สงครามการต่อสู้ในระยะนั้น ท่านเล่าว่า

"...ไปหาภาวนาอยู่ในป่า ทั้งๆ ที่จะฆ่ามันอยู่นี่น่ะ มันเห็นสาว มันก็ยังขยับอยู่นะ โถ ยังงี้ซิ มันเป็นของมันนี้นะ ตัวนี้มันไม่ให้ภาวนากับเรานี่นะ มันจะหาแต่เรื่องของมันอยู่นั่นล่ะ

หือ ไปภาวนาอยู่ในป่า เราก็บอกตรงๆ อยู่นี่นะ พอไปเห็นสาวสวยๆ สวยในหัวใจมันเองนะ เขาจะสวยไม่สวยก็ตาม มันหาว่าสวย สาวคนนี้สวยว่ะ แต่มันสำคัญที่เราปฏิบัติอยู่แล้วนะ มันขยับมานั้น ตีกันพัวะเลยเชียว

ไม่ได้นี่ ทีนี้ภาวนาไม่ได้แล้วซิ มันจะเป็นเหตุแล้ว หนีเลย หนีเลยนะ แต่ส่วนมากชนะ เพราะมันตั้งท่าจะฆ่ากันอยู่แล้ว แล้วมันยังมาตั้งหมัดตั้งมวยต่อหน้าต่อตา นี่มันจะไม่ให้โมโหได้ไง...

นี่เรื่องกิเลส มันมีมากน้อยเพียงไร มันจะแสดงอยู่ภายในใจ มันเป็นข้าศึกของใจ มันเป็นอย่างนี้ เป็นตลอดมา เก่ง...มีมากมีน้อย มันจะเป็นของมันอยู่ในจิตนะ...เพราะเราจะฆ่ามันอยู่กับจิต..."

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ต่อมาท่านได้พิจารณาย้อนหลังเทียบกับสมัยที่ยังเรียนหนังสืออยู่ กิเลสราคะตัณหาก็ไม่เห็นเป็นพิษเป็นภัยอะไรมากมาย คงสงบตัวอยู่เงียบๆ ครั้นพอออกปฏิบัติตั้งใจจะฆ่ากิเลสโดยตรง กลับดูเหมือนว่ามันกำเริบเสิบสานมากยิ่งขึ้น ท่านอธิบายเหตุผลที่เป็นเช่นนี้ว่า

"...เวลามาพิจารณาทีหลัง ไม่ใช่อะไรนะ คือ เรามีสติสตังบ้าง เวลาแย็บออกไปมันเลยรู้ รู้ได้ง่าย...ไม่ใช่เราเป็นอย่างนั้น มันกลับกำเริบขึ้นมาก็ไม่ใช่ เวลาผ่านไปถึงรู้

อ๋อ แต่ก่อนจิตของเรามันมืดมันดำ มันไม่รู้เรื่องรู้ราวเหมือนหลังหมีนี่ แล้วมันจะไปทราบอะไรสีขาวสีด่างสีอะไร มันเป็นหลังหมีเสียหมด

ทีนี้พอเราผ่านไปแล้วค่อยๆ รู้ เวลาจิตละเอียดเข้ามันรู้ได้เร็ว เป็นเหมือนกับว่ามันแสดงกิเลสขึ้นอย่างรวดเร็ว แย็บเท่านั้นละ พอให้รู้ ไม่เลยจากนั้น จึงได้เร่งกันใหญ่..."

ยอมมอบกายถวายชีวิตต่อ "ธรรม"

ที่อำเภอจักราชแห่งนี้ ท่านได้พยายามเร่งทำความเพียรทั้งวันทั้งคืนตั้งแต่มาถึงทีแรกจนตลอดพรรษา โดยไม่ยอมทำงานอะไรทั้งนั้น นอกจากงานสมาธิภาวนาเดินจงกรมอย่างเดียว เพราะได้ตั้งใจแล้วว่า

"คราวนี้จะเอาให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เต็มเหตุเต็มผล เอาเป็นเอาตายเข้าว่าเลย อย่างอื่นไม่หวังทั้งหมด หวังความพ้นทุกข์อย่างเดียวเท่านั้น จะให้พ้นทุกข์ในชาตินี้แน่นอน

ขอแต่ท่านผู้หนึ่งผู้ใดได้ชี้แจงให้เราทราบเรื่องมรรคผลนิพพานว่ามีอยู่จริงเท่านั้น เราจะยอมมอบกายถวายชีวิตต่อท่านผู้นั้น และมอบกายถวายชีวิตต่ออรรถต่อธรรมด้วยข้อปฏิบัติอย่างไม่ให้อะไรเหลือหลอเลย

ตายก็ตายไปกับข้อปฏิบัติ ไม่ได้ตายด้วยความถอยหลัง จิตปักลงเหมือนหินหัก"

เหตุนี้เอง หลังจากนั้นไม่นาน ท่านว่าจิตก็ได้รับความสงบ ปรากฏว่าได้ผลดีตลอดพรรษา อย่างไรก็ตาม ด้วยความเมตตา สงสารของพระเถระผู้ใหญ่ อยากให้ท่านกลับกรุงเทพฯ เพื่อเรียนต่อในชั้นสูงขึ้นอีก

ทีแรกพระเถระท่านก็ฝากผ้าห่มผืนใหญ่พร้อมแนบจดหมายมาถึงโคราช ข้อความในจดหมายมีเพียง 2-3 ประโยค มีใจความว่า

"ให้มหาบัวกลับกรุงเทพฯ โดยด่วน ให้กลับกรุงเทพฯ โดยด่วน"

ท่านรู้สึกซาบซึ้งในความเมตตาของพระเถระที่มีต่อท่านเป็นอย่างสูง แต่เพราะได้ตัดสินใจแน่วแน่แล้วจึงมิได้ตอบจดหมายกลับไปแต่อย่างใด

แม้กระนั้นก็ตาม พระเถระท่านยังอุตส่าห์เขียนจดหมายตามมาสั่งให้ไปพบที่สถานีรถไฟอีก ท่านเล่าถึงเหตุการณ์ตอนนั้นว่า

"...ทีนี้พอออกพรรษาแล้ว ท่านก็มา ท่านเขียนจดหมายมาบอก วันนั้นๆ เราจะผ่านไปโคราช บอกขบวนรถ มันก็มีขบวนเดียว ออกตอนเช้าถึงอุบลฯ ให้เราไปรอดักอยู่สถานี ท่านจะเอากลับกรุงเทพฯ ให้เราไปรออยู่สถานี พอไปถึงก็ว่า

"มหาบัวต้องกลับกรุงเทพฯ" จี้เลยนะ มีแต่ "ต้องกลับกรุงเทพฯ" รถไฟมันจอดนาทีเดียวนี่นะ รถไฟก็ช่วยเราด้วยๆ พูดกันยังไม่สักกี่คำ

"มหาบัวต้องกลับกรุงเทพฯ โดยด่วนนะ...ต้องกลับกรุงเทพฯ"

สักเดี๋ยวรถก็เคลื่อน เราก็โดดลงรถไฟไป รอดตัว แปลกอยู่นะ อะไรๆ ก็ดี รู้สึกว่ามันพร้อมๆ นะ อุปสรรคไม่ค่อยมี ว่าจะออกทางนี้นะรู้สึกว่าคล่องตัวๆ

อย่างผู้ใหญ่ท่านห้ามอย่างเข้มงวดกวดขันอย่างนี้ก็เหมือนกัน รอดไปได้ แม้แต่ขึ้นไปสถานีรถไฟ รถไฟยังช่วย สักเดี๋ยวรถไฟเคลื่อนที่ปึ๋งปั๋ง ก็โดดลงรถไฟได้เท่านั้น ท่านก็ไม่ทราบจะว่ายังไง ไม่ได้รับคำตอบจากเราเลย ตามขู่อยู่เรื่อยนะ

ท่านสงสาร ท่านเมตตามากนะกับเรา มอบให้เราหมดแแหละในคณะนั้นๆ (ภายในวัดบรมนิวาส) เป็นคณะใหญ่ เพราะท่านเป็นเจ้าคุณนี่ ให้เราเป็นผู้ดูแลคณะ เพราะฉะนั้นท่านถึงได้เข้มงวดกวดขึ้นในการไปการมาของเรา ท่านไม่ให้ไปหน เหมือนว่าผูกมัดในตัว...

เราเคารพผู้ใหญ่เราก็เคารพ แต่เราเคารพความสัตย์นี้สุดหัวใจเรายิ่งกว่าผู้ใหญ่ เราจึงหาทางออกจนได้..."

"ของดี" หาง่าย "น้ำใจ" หายาก

ระยะที่ท่านพักอยู่ที่โคราชนี้ วันหนึ่งเป็นวันที่ฝนตกฟ้าคะนอง ท่านจึงต้องหลบฝนอยู่ที่กุฏิ สายฝนที่ตกจากท้องฟ้าทำให้ท่านหวนระลึกถึงร่มคันหนึ่งซึ่งเคยได้มาจากจังหวัดเชียงใหม่ เป็นร่มที่มีราคาแพงและสวยงามมาก

ขณะที่ท่านกำลังพินิจชมร่มอยู่นั้น มีชาวศรีสะเกษสองสามีภรรยาแต่ไปทำงานอยู่ทางภาคกลางได้เดินโซซัดโซเซด้วยพิษไข้เข้ามาหาท่านหวังจะขอยาแก้ไข เพราะเงินติดกระเป๋าแม้สตางค์หนึ่งก็ไม่มีเลย เหตุการณ์ตอนนี้ท่านเล่าว่า

"...เราได้ร่มเชียงใหม่มาคันหนึ่ง โอ๊ยสวยงามมากนะ ร่มคันนั้นแต่ก่อนมัน ถ้าราคาถึงสิบสลึง สามบาท เรียกว่าแพงที่สุด ร่มเชียงใหม่ทำนี้เป็นร่มที่ดีที่สุด ได้ร่มมาคันหนึ่ง เราก็เอามาชมของเรา ถ้าภาษาอีสานเรียกว่า มาแยงเบิ่ง มันสวย พอดีสองสามีภรรยามา ผัวไข้สั่นงอกๆ แงกๆ มาไม่มีร่มกั้น

มาขอยา ยาก็ไม่มี สั่นงอกๆ แงกๆ อยู่งั้นแหละ พอดีเราก็มีร่มคันหนึ่ง "จะไปทางไหนละนี่ ทั้งไปทั้งสั่นอยู่นี้ ทั้งฝนก็ตก ฟ้าก็ลงอยู่นี้ จะไปได้ยังไง"

"โอ๊ย ก็ไปยังงั้นแหละ...จะกลับบ้านศรีสะเกษ" เราก็เลยว่า

"เอาซะร่มคันนี้ สวยงามมาก แน่นหนามั่นคงมาก เราให้" เขาไม่กล้ารับเพราะเห็นว่ามันเป็นของดี ก็เลยว่า

"โอ๊ย แล้วญาคู (คำเรียกพระทางอีสาน) จะใช้ไหมละ"

เราว่า "ใช้อันไหนก็ช่างเถอะ เรามีร่มใหญ่อยู่นี้ ร่มมีอยู่นี่ ก็กุฏิ ยังไง นี่แหละ ร่มใหญ่ของเรา เอาร่มน้อยไปเถอะ" จากนั้นแกให้พรด้วยนะ

(แกพูดว่า) โอ๊ย เอาของดิบของดีให้ ขอให้ท่านจงเจริญรุ่งเรืองในธรรมเด้อ ! ตั้งแต่เกิดมาก็ยังไม่เคยมีกับเขาสักที..."

ที่แกพูดเช่นนี้เพราะร่มคันนี้ยังเป็นของใหม่อยู่ ท่านเองก็ยังไม่เคยได้ใช้สักครั้งเลย เมื่อได้ร่มไปแล้วทั้งคู่จึงต่างดูแล้วดูเล่า พลิกทางนั้นหันทางนี้อย่างชื่นชมในความงามและด้วยความดีใจจนลืมทุกข์จากพิษไข้ไปได้ชั่วขณะ เพราะไม่เคยมีของดีๆ เช่นนี้มาก่อนเลย

เมตตาจิตของท่านที่มีแต่ให้ของดีๆ แก่ผู้อื่นเช่นนี้เป็นสิ่งที่มีอยู่ประจำนิสัยของท่านมาแต่เดิมและตลอดมา

ข่าวอันเป็นมงคล

ท่านออกเดินทางมาจากจังหวัดนครราชสีมา มุ่งหน้าไปจังหวัดอุดรธานี ตั้งใจว่าจะไปจำพรรษากับท่านอาจารย์มั่นที่วัดป่าโนนนิเวศน์ อุดรธานี แต่ก็ไม่ทันท่าน เพราะท่านรับนิมนต์ไปจังหวัดสกลนครเสียก่อน ท่านจึงเลยไปพักอยู่ที่วัดทุ่งสว่าง จังหวัดหนองคาย ท่านเล่าถึงเหตุการณ์ในตอนนั้นว่า

"...ไปพักรอที่วัดทุ่งสว่างเพื่อจะไปหาท่านอาจารย์มั่น ตอนนั้นยังไม่ได้มีกำหนด แต่จะต้องไปแน่ๆ ก็พอดีมีพระองค์หนึ่งชื่อพระศรีนวล เพิ่งมาจากวัดบ้านโคกนามน แล้วเผอิญเข้าไปพักด้วยกันที่วัดทุ่งสว่าง...

เราถามท่านว่า "มาจากไหน ?"

"มาจากบ้านนามน จากท่านอาจารย์มั่น"

"หือ ? หือ ?" ขึ้นทันทีเลยนะ เพราะพอได้ยินชื่อว่า ท่านอาจารย์มั่น รู้สึกตื่นเต้นดีใจ จึงถามย้ำเข้าไปอีก ท่านจึงว่า

"มาจากท่านอาจารย์มั่น"

"เวลานี้ท่านอาจารย์มั่นพักอยู่ไหน ?"

"พักอยู่บ้านนามน"

"แล้วมีพระเณรพักอยู่กับท่านมากน้อยเพียงไร ?"

"8-9 องค์ ท่านไม่รับพระมาก อย่างมากขนาดนั้นเท่านั้นแหละ"

"ได้ทราบว่าท่านดุเก่งใช่ไหม ?"

"โห ไม่ต้องบอก พอไล่ ไล่หนีเลย" พระองค์นั้นว่างั้นเลยนะ..."

พอท่านได้ยินดังนี้ แทนที่จะคิดเป็นผลลบกับท่านอาจารย์มั่น กลับรู้สึกถึงจิตถึงใจกับความเด็ดขาดของท่านอาจารย์มั่น และแอบคิดอยู่แต่ผู้เดียวในใจว่า

"...อาจารย์องค์นี้ละ จะเป็นอาจารย์ของเรา ต้องให้เราไปเห็นเอง ท่านจะดุแบบไหน แบบไหนๆ ครูบาอาจารย์ชื่อเสียงโด่งดังทั่วประเทศไทยมานานขนาดนี้จะดุจะด่าขับไล่ไสส่งโดยหาเหตุผลไม่ได้นี้ เป็นไปไม่ได้..."

ท่านพักอยู่ที่วัดทุ่งสว่างประมาณกว่า 3 เดือน จากนั้นพอถึงเดือนพฤษภาคม 2489 (เป็นพรรษาที่ 9 ของท่าน) ท่านก็ออกเดินทางจากหนองคายไปจังหวัดสกลนคร เพื่อมุ่งสู่ท่านอาจารย์มั่น

ยอมมอบกายถวายชีวิตต่อครูอาจารย์ผู้รู้จริง

จากจังหวัดสกลนคร ท่านก็เดินทางต่อไปจนถึงวัดที่ท่านอาจารย์มั่นพักอยู่ในระยะนั้น คือที่บ้านโคก ตำบลตองโขบ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร เหตุการณ์ในระยะนี้ท่านเล่าว่า

"...ไปถามชาวบ้านเขา เพราะทางเข้าไปวัดของท่านอาจารย์มั่นเป็นทางด่านนะ มันไม่ได้เป็นทางล้อเกวียนอะไร ทางเป็นด่านพอคนเดินไปพ้นตัวไปเท่านั้นแหละ ชาวบ้านเขาบอก...เขาบอกให้มานี่

"นี่ ทางนี้ไปวัด ให้จับทางสายนี้นะ...นี่แหละต้นทาง ให้เดินไปตามทางนี้ละ อย่าปลีกทางนี้ และจะเข้าถึงวัด"

พอเขาบอกอย่างนี้แล้วเราก็ไป ไปทั้งมืดๆ ไปพอซ่วมซ่ามๆ เข้าไปในวัด จากนั้นก็ดูนั่นดูนี่มืดๆ จนไปเห็นศาลาหลังหนึ่งทำให้สงสัยนะ

"เอ๊ นี่ถ้าเป็นศาลามันก็ดูว่าเล็กไปสักหน่อย" หมายถึงศาลากรรมฐานนะ...

"ถ้าว่าเป็นกุฏิ ก็จะใหญ่ไป" กำลังดูอยู่อย่างนั้นแล้วก็เดินเซ่อซ่าๆ เข้าไป ท่านอาจารย์มั่นกำลังเดินจงกรมอยู่นี่นามันก็ไม่เห็น เอ้อ ท่านเดินจงกรมอยู่ข้างศาลา ท่านกั้นห้องศาลาพักอยู่นั่น พักจำวัดอยู่ที่ห้องศาลาเล็กๆ นั่นนะ

เราก็เดินซุ่มซ่ามๆ มองนั้นมองนี้ไป ก็เราไม่เห็นนี่ มันกลางคืนแล้ว ท่านก็ยืนอยู่ใกล้ๆ นี้..."

ท่านเดินไปจนพบท่านอาจารย์มั่นบนทางจงกรม ท่านอาจารย์มั่นจึงถามขึ้นว่า

"ใครมานี่ ?" ท่านกราบเรียนว่า

"กระผมครับ"

ด้วยคำตอบนั้นของท่าน ทำให้ท่านอาจารย์มั่นกล่าวขึ้นอย่างดุๆ พร้อมกับใส่ปัญหาให้ได้คิดในทันทีนั้นว่า

"...อันผมๆ นี้ ตั้งแต่คนหัวล้านมันก็มีผมไอ้ตรงที่มันไม่ล้าน..."

ถึงตรงนี้ท่านรู้สึกเสียวแปล๊บในหัวใจ เพราะเข้าใจทันทีว่า ไม่เกิดประโยชน์อันใดด้วยการตอบเช่นนี้เลย ขณะเดียวกัน ทั้งๆ ที่กลัวเกรงท่านอาจารย์มั่นมาก แต่ก็รู้สึกถึงใจอย่างที่สุดกับคำดุชนิดหาที่ค้านไม่ได้เลย ท่านยอมรับทันทีในไหวพริบปฏิภาณของท่านอาจารย์มั่น ดังนั้น ถึงแม้จะกลัวท่านเพียงใดก็ตาม แต่กลับรู้สึกดีใจอยู่ลึกๆ ว่า "...นี่แหละอาจารย์ของเรา..."

จากนั้นท่านก็เลยรีบกราบเรียนใหม่ทันทีว่า "กระผมชื่อพระมหาบัว"

"เออ ! ก็ว่าอย่างงั้นซี่มันถึงจะรู้เรื่องกัน อันนี้ว่า ผม ผม ใครมันก็มี ผม เต็มหัวทุกคน...ไป...ไปพักข้างศาลานะ"

จากนั้นท่านอาจารย์มั่นก็ออกจากทางจงกรมขึ้นไปบนศาลา ภายในศาลาจะกั้นเป็นห้องใช้เป็นที่พักสำหรับท่านอาจารย์มั่นเมื่อขึ้นบนศาลาแล้ว ท่านอาจารย์มั่นเตรียมจะจุดตะเกียงหรือโป๊ะเล็กๆ ก็พอดีมีพระขึ้นไปจุดให้ท่าน เมื่อท่านอาจารย์มั่นนั่งลงแล้ว ท่านจึงถือโอกาสเข้ากราบเรียนถวายตัวเป็นลูกศิษย์และเรียนให้ท่านทราบถึงที่มาที่ไปพอให้ท่านได้รู้จัก ในตอนนั้นท่านอาจารย์มั่นยังคงฟังอยู่นิ่งๆ

ด้วยความมุ่งมั่นอยากจะมาศึกษาอยู่กับท่านเต็มเปี่ยมมานานหลายปีแล้ว ประกอบกับรู้สึกประทับใจในสติปัญญาฉับไวของท่านอาจารย์มั่น ความที่กลัวว่าจะไม่ได้อยู่ด้วยทำให้ท่านเกิดความวิตกกังวลและครุ่นคิดอยู่ในใจว่า

"ไม่อยากได้ยินเลยคำที่ว่าที่นี่เต็มแล้วรับไม่ได้แล้ว กลัวว่าหัวอกจะแตก"

สักครู่หนึ่ง ท่านอาจารย์มั่นก็พูดขึ้นว่า

"นี่พอดีนะนี่ เมื่อวานนี้ท่านเนตรไปจากนี้ แล้ววันนี้ท่านมหาก็มา ไม่เช่นนั้นก็ไม่ได้อยู่ กุฏิไม่ว่าง"

คำพูดของท่านอาจารย์มั่นครั้งนั้น ทั้งๆ ที่ก็เมตตารับท่านไว้ แต่อย่างไรก็ตาม ท่านเองก็ยังอดไม่ได้ที่จะรู้สึกใจหายใจคว่ำเป็นอย่างยิ่ง เพราะกลัวว่าจะไม่มีโอกาสได้อยู่ศึกษาด้วย คำกล่าวของท่านอาจารย์มั่นครั้งนั้นจึงทำให้ท่านไม่สามารถจะลืมได้ แม้จนทุกวันนี้


(มีต่อ 6)

เจ้าของ:  สาวิกาน้อย [ 24 ธ.ค. 2010, 10:29 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

รูปภาพ
พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต


ปฏิบัติจิตตภาวนา...จึงจะฆ่ากิเลสได้

ถึงแม้ท่านจะเคยปฏิบัติด้านจิตภาวนามาบ้างและก็มีโอกาสศึกษาค้นคว้าด้านปริยัติถึง 7 ปีก็ตาม แต่สิ่งนี้ก็ยังไม่ทำให้ความสงสัยของท่านในเรื่องมรรคผลนิพพานหมดไป ยังคงเก็บความสงสัยอยู่ในใจตลอดมา และก็ดูเหมือนกับท่านอาจารย์มั่นจะล่วงรู้ถึงวาระจิตของท่าน จึงพูดจี้เอาตรงๆ ในคืนแรกนี้เลยว่า

"...ท่านมาหามรรคผลนิพพาน มรรคผลนิพพานอยู่ที่ไหน? ดินเป็นดิน น้ำเป็นน้ำ ลมเป็นลม ไฟเป็นไฟ ฟ้าอากาศเป็นฟ้าอากาศ แร่ธาตุต่างๆ เป็นของเขาเอง เขาไม่ได้เป็นมรรคผลนิพพาน เขาไม่ได้เป็นกิเลส

กิเลสจริงๆ มรรคผลนิพพานจริงๆ อยู่ที่หัวใจ ขอให้ท่านกำหนดจิตจ่อด้วยสติที่หัวใจ ท่านจะเห็นความเคลื่อนไหวของทั้งธรรมของทั้งกิเลสอยู่ภายในใจ แล้วขณะเดียวกัน ท่านจะเห็นมรรคผลนิพพานไปโดยลำดับลำดา..."

เทศนาดังกล่าวนี้ ทำให้ท่านมีความมั่นใจในเรื่องมรรคผลนิพพาน และเชื่อมั่นในความรู้ความเห็นของท่านอาจารย์มั่นที่พูดไขข้อข้องใจได้ตรงจุดแห่งความสงสัย จากนั้นท่านอาจารย์มั่นมีเมตตาชี้แนะบทธรรมในภาคปฏิบัติให้ ด้วยทราบว่าท่านมีความรู้ในภาคปริยัติเต็มภูมิมหาเปรียญและนักธรรมเอกและมีความสนใจใคร่ต่อการประพฤติปฏิบัติ บทธรรมบทนี้ แม้จนบัดนี้ยังคงฝังลึกอยู่ภายในใจของท่านตลอดมา ดังนี้

"...ท่านมหาก็นับว่าเรียนมาพอสมควร จนปรากฏนามเป็นมหา ผมจะพูดธรรมให้ฟังเพื่อเป็นข้อคิด แต่อย่าเข้าใจว่าผมประมาทธรรมของพระพุทธเจ้านะ เวลานี้ธรรมที่ท่านเรียนมาได้มากได้น้อยยังไม่อำนวยประโยชน์ให้ท่านสมภูมิที่เป็นเปรียญ นอกจากจะเป็นอุปสรรคต่อการภาวนาของท่านในเวลานี้เท่านั้น เพราะท่านจะอดเป็นกังวลและนำธรรมที่เรียนมานั้นเข้ามาเทียบเคียงไม่ได้ในขณะที่ทำใจให้สงบ

ดังนั้น เพื่อความสะดวกในเวลาจะทำความสงบให้แก่ใจ ขอให้ท่านที่จะทำใจให้สงบยกบูชาไว้ก่อนในบรรดาธรรมที่ท่านได้เรียนมา ต่อเมื่อถึงกาลที่ธรรมซึ่งท่านเรียนมาจะเข้ามาช่วยสนับสนุนให้ท่านได้รับประโยชน์มากขึ้นแล้ว ธรรมที่เรียนมาทั้งหมดจะวิ่งเข้ามาประสานกันกับทางด้านปฏิบัติและกลมกลืนกันได้อย่างสนิท ทั้งเป็นธรรมแบบพิมพ์ ซึ่งเราควรจะพยายามปรับปรุงจิตใจให้เป็นไปตามนั้น

แต่เวลานี้ผมยังไม่อยากจะให้ท่านเป็นอารมณ์กับธรรมที่ท่านเล่าเรียนมา อย่างไรจิตจะสงบลงได้หรือจะใช้ปัญญาคิดค้นในขันธ์ก็ขอให้ท่านทำอยู่ในวงกายนี้ก่อน เพราะธรรมในตำราท่านชี้เข้ามาในขันธ์ทั้งนั้น แต่หลักฐานของจิตยังไม่มี จึงไม่สามารถนำธรรมที่เรียนมาจากตำราน้อมเข้ามาเป็นประโยชน์แก่ตนได้ และยังจะกลายเป็นสัญญาอารมณ์คาดคะเนไปที่อื่น จนกลายเป็นคนไม่มีหลัก เพราะจิตติดปริยัติในลักษณะไม่ใช่ทางของพระพุทธเจ้า ขอให้ท่านนำธรรมที่ผมพูดให้ฟังไปคิดดู ถ้าท่านตั้งใจปฏิบัติไม่ท้อถอย วันหนึ่งข้างหน้าธรรมที่กล่าวนี้จะประทับใจท่านแน่นอน..."

สังเกตพินิจพิจารณาด้วยเหตุผลก่อนตัดสินใจ

เมื่อได้อยู่ศึกษากับท่านอาจารย์มั่น ท่านจะคอยเฝ้าสังเกตทั้งทางหู ทางตาอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าการชี้แจงแสดงเรื่องใด ท่านจะสนใจใคร่รู้ตลอดมาด้วยความอัศจรรย์ ท่านกล่าวถึงข้อปฏิบัติและคุณธรรมของท่านอาจารย์มั่นด้วยความเคารพบูชาว่า

"...ไม่เห็นมีสิ่งใดจะคลาดเคลื่อนจากหลักธรรมหลักวินัยข้อใดเลย ปฏิปทาการดำเนินของท่านก็มีแบบมีฉบับมีตำรับตำราหาที่ค้านที่ต้องติมิได้ การพูดอะไรตรงไปตรงมา

แม้การแสดงเรื่องมรรคผลนิพพานก็แสดงชนิดถอดออกมาจากใจท่านแท้ๆ ที่ท่านรู้ท่านเห็นท่านปฏิบัติมา ทำให้ผู้ฟังฟังด้วยความถึงใจ เพราะท่านแสดงเหมือนว่าท้าทายความจริงจังของท่านและท้าทายความจริงของธรรม..."

สิ่งนี้ทำให้ท่านเกิดความมั่นใจและเชื่อแน่ว่ามรรคผลนิพพานมีอยู่จริง ความสงสัยในเรื่องนี้ที่เคยค้างคามาแต่เดิมก็หมดสิ้นไป จากนั้นท่านจึงย้อนกลับมาถามตัวเองว่า

"...แล้วเราจะจริงไหม ?..."

ด้วยนิสัยทำอะไรทำจริง ทำให้ท่านตั้งใจแน่วแน่ว่า

"...ต้องจริงซี ถ้าไม่จริง ให้ตาย อย่าอยู่ให้หนักศาสนาและหนักแผ่นดินต่อไป..."

ตั้งแต่นั้นมาท่านก็เร่งความเพียรต่อสู้กับกิเลสอย่างเต็มเหนี่ยว และตั้งสัจอธิษฐานว่า "...หากว่าท่านอาจารย์มั่นยังมีชีวิตอยู่ตราบใดแล้ว เราจะไม่หนีจากท่าน จนกระทั่งวันที่ท่านล่วงไปหรือเราล่วงไป

แต่การไปเที่ยวเพื่อประกอบความพากเพียรตามกาลเวลานั้น ขอไปตามธรรมดา แต่ถือท่านเป็นหลัก เหมือนกับว่าบ้านเรือนอยู่กับท่าน ไปที่ไหนต้องกลับมาหาท่าน..."

ฝันที่ต้องทำให้จริง

หลังจากที่อยู่กับท่านอาจารย์มั่นได้ประมาณสัก 4-5 คืนเท่านั้น ท่านก็ฝันเรื่องประหลาดอัศจรรย์เรื่องหนึ่ง ดังนี้

"ความฝันนี้ก็เป็นความฝันเรื่องอัศจรรย์เหมือนกัน ฝันว่าได้สะพายบาตร แบกกลดครองผ้าด้วยดีไปตามทางอันรกชัฎ สองฟากทางแยกไปไหนไม่ได้ มีแต่ขวากแต่หนามเต็มไปหมด นอกจากจะพยายามไปตามทางที่เป็นเพียงด่านๆ ไปอย่างนั้นแหละ รกรุงรัง หากพอรู้เงื่อนพอเป็นแถวทางไป พอไปถึงที่แห่งหนึ่งก็มีกอไผ่หนาๆ ล้มทับขวางทางไว้ หาทางไปไม่ได้ จะไปทางไหนก็ไปไม่ได้ มองดูสองฟากทางก็ไม่มีทางไป

"เอ นี่เราจะไปยังไงนา"

เสาะที่นั่นเสาะที่นี่ไป ก็เลยเห็นช่องช่องที่ทางเดินไปตรงนั้นแหละ เป็นช่องนิดหน่อยพอที่จะบึกบึนไปให้หลวมตัวกับบาตรลูกหนึ่ง พอไปได้ เมื่อไม่มีทางไปจริงๆ ก็เปลื้องจีวรออก มันชัดขนาดนั้นนะความฝันเหมือนเราไม่ได้ฝัน เปลื้องจีวรออกพับเก็บอย่างที่เราพับเก็บเอามาวางนี้แล เอาบาตรออกจากบ่า เจ้าของก็คืบคลานไป แล้วก็ดึงสายบาตรไปด้วย กลดก็ดึงไปไว้ที่พอเอื้อมถึง พอบืนไปได้ก็ลากบาตรไปด้วยลากกลดไปด้วย แล้วก็ดึงจีวรไปด้วย

บืนไปอยู่อย่างนั้นแหละ ยากแสนยาก พยายามบึกบึนกันอยู่นั้นเป็นเวลานาน พอดีเจ้าของก็พ้นไปได้ เดี๋ยวก็ค่อยดึงบาตรไป บาตรก็พ้นไปได้ แล้วก็ดึงกลดไป กลดก็พ้นไปได้ พยายามดึงจีวรไป จีวรก็พ้นไปได้ พอพ้นไปได้หมดแล้วก็ครองผ้า มันชัดขนาดนั้นนะความฝัน ครองจีวรแล้วก็สะพายบาตรนึกในใจว่า "เราไปได้ละทีนี้" ก็ไปตามด่านนั่นแหละ ทางรกมาก พอไปประมาณสัก 1 เส้นเท่านั้น สะพายบาตร แบกกลด ครองจีวรไป

ตามองไปข้างหน้าเป็นที่เวิ้งว้างหมด คือข้างหน้าเป็นมหาสมุทร มองไปฝั่งโน้นไม่มีเห็นแต่ฝั่งที่เจ้าของยืนอยู่เท่านั้น และมองเห็นเกาะหนึ่งอยู่โน้น ไกลมาก มองสุดสายตา พอมองเห็นเป็นเกาะดำๆ นี่แหละ นี่เราจะไปเกาะนั้น

พอเดินลงไปฝั่งนั้น เรือไม่ทราบมาจากไหน เราก็ไม่ได้กำหนดว่าเรือยนต์เรือแจวเรือพายอะไร เรือมาเทียบฝั่ง เราก็ขึ้นนั่งเรือ คนขับเรือเขาก็ไม่ได้พูดอะไรกับเรา พอลงไปนั่งเรือแล้วก็เอาบาตรเอาอะไรลงวางบนเรือ เรือก็บึ่งพาไปโน้นเลยนะโดยไม่ต้องบอก มันอะไรก็ไม่ทราบ บึ่งๆๆ ไปโน้นเลย ไม่รู้สึกว่ามีภัยมีอันตรายมีคลื่นอะไรทั้งนั้นแหละ ไปแบบเงียบๆ ครู่เดียวเท่านั้นก็ถึงเพราะเป็นความฝันนี่

พอไปถึงเกาะนั้นแล้ว เราก็ขนของออกจากเรือแล้วขึ้นบนฝั่ง เรือก็หายไปเลย เราไม่ได้พูดกันสักคำเดียวกับคนขับเรือ เราก็สะพายบาตรขึ้นไปบนเกาะนั้น พอปีนเขาขึ้นไปๆ ก็ไปเห็นท่านอาจารย์มั่นกำลังนั่งอยู่บนเขาบนเตียงเล็กๆ กำลังนั่งตำหมากจ๊อกๆ อยู่ พร้อมกับมองมาดูเราที่กำลังปีนเขาขึ้นไปหาท่าน

"อ้าว ! ท่านมหามาได้ยังไงนี่ ? ทางสายนี้ใครมาได้เมื่อไหร่ ท่านมหามาได้ยังไงกัน ?"

"กระผมนั่งเรือมา ขึ้นเรือมา"

"โอ้โฮ ทางนี้มันมายากนา ใครๆ ไม่กล้าเสี่ยงตายมากันหรอก เอ้า ถ้าอย่างนั้นตำหมากให้หน่อย"

ท่านก็ยื่นตะบันหมากให้ เราก็ตำจ๊อกๆๆ ได้ 2-3 จ๊อกเลยรู้สึกตื่น แหมเสียใจมาก อยากจะฝันต่อไปอีกให้จบเรื่องค่อยตื่นก็ยังดี..."

พอตื่นเช้ามาท่านเลยเอาเรื่องนี้ไปเล่าถวายให้ท่านอาจารย์มั่นฟัง ท่านอาจารย์มั่นก็ได้เมตตาพูดเสริมกำลังใจให้ศิษย์เพิ่มเติมอีก ให้พากเพียรดำเนินปฏิปทาตามความฝันนั้น อดทนประพฤติปฏิบัติจนให้กลายเป็นจริงขึ้นมา ท่านอาจารย์มั่นเมตตาพูดอธิบายความฝันว่า

"...อ้อ ที่ฝันนี้เป็นมงคลอย่างยิ่งแล้วนะ นี้เป็นแบบเป็นฉบับในปฏิปทาของท่านไม่เคลื่อนคลาดนะ ให้ท่านดำเนินตามปฏิปทาที่ท่านฝันนี้ เบื้องต้นจะยากลำบากที่สุดนะ...

ท่านต้องการเอาให้ดี ท่านอย่าท้อถอย เบื้องต้นนี้ลำบาก ดูท่านลอดกอไผ่มาทั้งกอนั่นแหละลำบากมากตรงนั้น เอาให้ดี อย่าถอยหลังเป็นอันขาด พอพ้นจากนั้นไปแล้วก็เวิ้งว้างไปได้สบายจนถึงเกาะ...อันนั้นไม่ยาก ตรงนี้ตรงยากนา...พอพ้นจากนี้แล้ว ท่านจะไปด้วยความสะดวกสบายไม่มีอุปสรรคอันใดเลย มีเท่านั้นแหละ เบื้องต้นเอาให้ดีอย่าถอยนะ...

ถ้าถอยตรงนี้ไปไม่ได้นะ เอ้า เป็นก็เป็น ตายก็ตาย ฟาดมันให้ได้ตรงนี้น่ะ...มันจะยากแค่ไหน มันก็ไปได้นี่ อย่าถอยนะ..."

ท่านฟังอย่างถึงใจ พร้อมกับเก็บความมุ่งมั่นจริงจังอยู่ภายในว่า แม้การปฏิบัติจะยากเพียงใด เราก็จะต้องสู้อย่างไม่มีถอยเป็นก็เป็น ตายก็ตาย

รูปภาพ
พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต


คติเตือนใจจากฝัน

ระยะที่ท่านเข้าอยู่ศึกษาใหม่ๆ ท่านรู้สึกเกรงกลัวท่านอาจารย์มั่นมาก อาจเป็นเพราะเหตุนี้เอง ทำให้วันหนึ่งในตอนกลางวัน หลังจากท่านเอนกายลงพักผ่อนอิริยาบถได้ไม่นานก็เลยเคลิ้มหลับไป ขณะที่เคลิ้มหลับไปนั้น ปรากฏว่าท่านอาจารย์มั่นมาดุเอาเสียยกใหญ่ว่า

"ท่านมานอนเหมือนหมูอยู่ทำไมที่นี่ เพราะที่นี่มิใช่โรงเลี้ยงหมู ผมจึงไม่เสริมพระที่มาเรียนวิชาหมู เดี๋ยววัดนี้จะกลายเป็นโรงเลี้ยงหมูไป"

เสียงของท่านอาจารย์มั่นในฝันนั้นเป็นเสียงตะโกนดุด่าขู่เข็ญให้ท่านกลัวเสียด้วย จึงทำให้ท่านสะดุ้งตื่นขึ้นด้วยความตระหนกตกใจ ท่านพยายามโผล่หน้าออกมาที่ประตูเพื่อมองหาท่านอาจารย์มั่น แต่ก็ไม่พบ ความรู้สึกของท่านในตอนนั้น ท่านเล่าว่า

"ทั้งตัวสั่นใจสั่นแทบเป็นบ้าไปในขณะนั้น เพราะปกติก็กลัวท่านแทบตั้งตัวไม่ติดอยู่แล้ว แต่บังคับตนอยู่กับท่านด้วยเหตุผลที่เห็นว่าชอบธรรมเท่านั้น แถมท่านยังนำยาปราบหมูมากรอกเข้าอีก นึกว่าสลบไปในเวลานั้น พอโผล่หน้าออกมา มองโน้นมองนี้ไม่เห็นท่านมายืนอยู่ตามที่ปรากฏ จึงค่อยมีลมหายใจขึ้นมาบ้าง"

พอได้โอกาส ท่านจึงกราบเรียนเล่าถวาย ท่านอาจารย์มั่นก็เมตตาแก้ให้เป็นอุบายปลอบโยนโดยอธิบายความฝันนั้นให้ฟังว่า

"...เรามาหาครูอาจารย์ใหม่ๆ ประกอบกับมีความระวังตั้งใจมาก เวลาหลับไปทำให้คิดและฝันไปอย่างนั้นเอง

ที่ท่านไปดุว่าเราเหมือนหมูนั้น เป็นอุบายของพระธรรม ท่านไปเตือนไม่ให้เรานำลัทธินิสัยของหมูมาใช้ในวงของพระและพระศาสนา โดยมากคนเราไม่ค่อยคำนึงถึงความเป็นมนุษย์ของตัวว่ามีคุณค่าเพียงไร เวลาอยากทำอะไรทำตามใจชอบ ไม่คำนึงถึงความผิดถูกชั่วดี จึงเป็นมนุษย์เต็มภูมิได้ยาก..."

พระธรรมท่านมาสั่งสอนดังที่ท่านปรากฏนั้น เป็นอุบายที่ชอบธรรมดีแล้ว จงนำไปเป็นคคิเตือนใจตัวเอง เวลาเกิดความเกียจคร้านขึ้นมาจะได้นำอุบายนั้นมาใช้เตือนสติกำจัดมันออกไป

นิมิตเช่นนี้เป็นของดีหายาก ไม่ค่อยปรากฏแก่ใครง่ายๆ ผมชอบนิมิตทำนองนี้มาก เพราะจะพลอยได้สติเตือนตนมิให้ประมาทอยู่เนืองๆ ความเพียรจะได้เร่งรีบ...ถ้าท่านมหานำอุบายที่พระธรรมท่านมาเทศน์ให้ฟังไปปฏิบัติอยู่เสมอๆ ใจท่านจะสงบได้เร็ว...

เรามาอยู่กับครูอาจารย์ อย่ากลัวท่านเกินไป ใจจะเดือดร้อนนั่งนอนไม่เป็นสุข ผิดถูกประการใดท่านจะสั่งสอนเราไปตามจารีตแห่งธรรม

การกลัวท่านอย่างไม่มีเหตุผลนั้น ไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย จงกลัวบาปกลัวกรรมที่จะนำทุกข์มาเผาลนตน ให้มากกว่ากลัวอาจารย์ ผมเองมิได้เตรียมรับหมู่คณะไว้เพื่อดุด่าเฆี่ยนตีโดยไม่มีเหตุผลที่ควร


(มีต่อ 7)

เจ้าของ:  สาวิกาน้อย [ 24 ธ.ค. 2010, 10:31 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

รูปภาพ

ตอนที่ 5 อุตสาหะพากเพียรฝึกฝนจิต

แม้ประสบทุกข์เจียนตาย แต่ความมุ่งมั่นไม่ถอย

ระยะก่อนที่ท่านจะเข้าอยู่ปฏิบัติกับท่านอาจารย์มั่นนั้น ท่านได้ไปพักอยู่ ณ บ้านตาดซึ่งเป็นบ้านเกิดของท่าน ช่วงนี้เองเป็นช่วงที่ท่านประสบภาวะจิตเสื่อม ด้วยเหตุที่ท่านใช้เวลาส่วนใหญ่ในการทำกลดเพื่อเตรียมออกวิเวก ขณะที่เริ่มทำยังไม่ทันเสร็จดี กลับปรากฏว่าในด้านสมาธิของท่านเริ่มเสื่อมลงๆ ท่านเล่าถึงภาวะจิตเสื่อมนี้ว่า

"...เป็นภาวะที่จิตรู้สึกเข้าสมาธิไม่ค่อยสนิทเหมือนที่เคยเป็นมา บางครั้งเข้าสงบได้ แต่บางครั้งเข้าไม่ได้ ภาวะเสื่อมนี้มันถึงขนาดจะเป็นจะตายจริงๆ เพราะทุกข์มาก

เหตุที่ทุกข์มากเพราะได้เคยเห็นคุณค่าของสมาธิที่แน่นปึ๋งมาแล้ว และก็กลับเสื่อมเอาชนิดไม่มีอะไรติดเนื้อติดตัวเลย มีแต่ฟืนแต่ไฟเผาหัวใจตลอดเวลา ทั้งวันทั้งคืน ทั้งยืนทั้งเดิน ทั้งนั่งทั้งนอน จึงเป็นทุกข์เพราะอยากได้สมาธินั้นกลับมา มันเป็นมหันตทุกข์จริงๆ ก็มีคราวที่จิตเสื่อมนั้นแลที่ทุกข์มากที่สุด..."

ความทุกข์นี้ท่านเปรียบให้ฟังเหมือนกับเคยเป็นมหาเศรษฐีมีเงินหมื่นแสนล้านมาก่อน แล้วจู่ๆ มาล่มจมสิ้นเนื้อประดาตัวด้วยเหตุการณ์อันใดอันหนึ่ง ผู้ที่เคยมีเงินมากมายขนาดนั้นย่อมร้อนกว่าผู้ที่หาเช้ากินค่ำ และไม่เคยมีเงินหมื่นแสนล้านนั้นมาก่อนเลย ผู้นั้นจะเอาอะไรมาเสียใจในความล่มจมของเงินก้อนนั้นได้เล่า สำหรับเรื่องนี้ก็เช่นกัน ภาวะที่จิตเจริญด้วยสมาธิ ก็เปรียบเหมือนกับผู้เป็นมหาเศรษฐีมีเงินก้อนใหญ่นั่นเอง

ความเด็ดเดี่ยว ความมุ่งมั่นจริงจังของท่านเพื่อที่จะครองชัยชนะในการต่อสู้กับกิเลสให้ได้นี้ ท่านพูดเสมอว่า

"ถ้ากิเลสไม่ตาย เราก็ต้องตายเท่านั้น จะให้อยู่เป็นสองระหว่างกิเลสกับเรานั้น...ไม่ได้"

ด้วยจิตใจที่หนักแน่นเข้มแข็งดังกล่าวนี้ จึงไม่มีสิ่งใดจะมาเป็นอุปสรรคต่อความตั้งใจจริงของท่านได้ เพราะยอมต่อสู้ชนิด "เอาชีวิตเป็นเดิมพัน" นั่นเอง

ผู้เชี่ยวชาญ...วาระจิต หูทิพย์ ตาทิพย์

ตอนท่านเข้าอยู่ศึกษากับท่านอาจารย์มั่นใหม่ๆ นั้น ในวันที่ไม่มีการประชุมฟังธรรม หลังจากท่านอาจารย์มั่นเสร็จจากการเดินจงกรมราว 2 ทุ่ม จะได้ยินเสียงองค์ท่านทำวัตรสวดมนต์เบาๆ ทุกคืน เป็นเวลานานๆ กว่าจะจบ และนั่งสมาธิภาวนาต่อไปจนถึงเวลาจำวัด

แต่ถ้าวันที่มีการประชุม จะได้ยินตอนหลังจากเลิกประชุมแล้วทุกคืนเช่นเดียวกัน และได้ยินองค์ท่านสวดอยู่เป็นเวลานานเช่นเดียวกับคืนที่องค์ท่านสวดตั้งแต่หัวค่ำวันเช่นนั้นองค์ท่านต้องเลื่อนการจำวัดไปตอนดึก ราวเที่ยงคืนหรือตีหนึ่ง

ในระยะนั้นท่านเองอยากรู้จริงๆ ว่าท่านอาจารย์มั่นสวดมนต์พระสูตรใดบ้าง ถึงได้ใช้เวลามานานกว่าจะจบแต่ละคืนๆ ท่านเล่าถึงเหตุการณ์นี้ในแบบขบขันตนเองว่า

"...เราแอบไปฟังท่านสวดมนต์ เรายังไม่ลืมนะ ท่านก็กั้นห้องอยู่ เราไปใหม่ๆ ไม่รู้ประสีประสาอะไร เราเดินจงกรมอยู่ได้ยินเสียงท่านสวดมนต์ พึม พึม พึม พึม เงียบๆ เราก็ด้อมไปนะ ท่านสวดบทอะไรนา ไม่ลืมนะ

"โอ๊ย ! เราขนลุกนะ กลัวย้อนหลังนะ เวลาทราบไปข้างหน้าไปเรื่อยๆ โอ๊ย ! กูตาย มันไม่รู้ประสีประสาอะไรเลย เหมือนลิง..." ว่าให้เจ้าของนะ

เราเดินจงกรมอยู่ ท่านอยู่ในห้องสูงแค่นี้แหละนะ พักนี้เป็นพักต่ำสำหรับพระเณรอยู่ พักที่ท่านอยู่นี้กั้นห้อง ออกจากนี้แล้วก็เป็นพักอีกพักหนึ่ง ได้ยินเสียงท่านสวดมนต์ พึม พึม...

"โอ้โห ท่านสวดมนต์เก่งนะ"

สวดมนต์ พึม พึม...เราก็ค่อยแอบเข้าไป แอบเข้าไป พอไปถึงที่...ท่านก็หยุดสวดแล้ว...เงียบไป...เราก็คอยฟังอยู่นะ ท่านก็เงียบเลย ตอนนั้นเรายังไม่รู้ตัวนะ เลยว่าเดี๋ยวถอยออกมาซะก่อน เลยถอยออกไป พอเราถอยออกไปข้างนอกไม่นาน สักเดี๋ยวท่านก็ขึ้น พึม พึม สวดมนต์ขึ้นอีกแล้ว เราจึงแอบเข้ามาอีก คือไอ้วัวไม่รู้จักเสือ หนูไม่รู้จักแมว ว่าอย่างนั้นเถอะน่า โอ้ ขบขันดีนะ

ทีนี้พอเข้าไปอีก ท่านก็นิ่งเงียบอีกนะ เราก็เลยยืนอยู่นานคราวนี้ แต่ท่านก็ยังเงียบอยู่อย่างนั้น ก็เลยถอยออกมาอีก พอเราถอยออกไปทีไร สักเดี๋ยวท่านก็ขึ้นอีกแล้วอย่างนั้นนะ ครั้งที่สามถึงรู้ตัวนะ ครั้งที่สามเข้าไปอีก ก็เงียบอีก เลยมาสะดุดใจ

"เอ นี่หรือท่านรู้เราแล้วน้า ?..."

พอครั้งที่สามนี้ มาสะดุดใจแล้วก็รีบออกมาเลย แล้วทีนี้ก็สังเกตดูตอนเช้าออกมา โอ้โห ตาท่านถลึงจ้องใส่เราเลยนะ

"โอ๊ย กูตายแหลกแล้ว กูตายเมื่อคืนนี้แหลกแล้วหละ"

ก็ท่านจ้องดูจริงๆ เนี่ย นั่นแหละแสดงว่าบอกชัดเจนแล้วนะนั่น ตั้งแต่นั้นมา เรากลัวยิ่งกว่าหนูกลัวแมว..."

ระยะแรกที่ท่านอยู่ศึกษากับท่านอาจารย์มั่นนั้น ท่านเล่าถึงความรู้สึกที่เกรงกลัวท่านอาจารย์มั่นมากว่า "...เวลาไปพบไปเห็นท่านทีแรก โอ๋ย ตัวสั่นนั่นแหละ ตาท่านเหลือบมาพั้บเท่านั้น มันก็อยากจะหงายไปแล้ว ตาท่านสำคัญมากนะ ตามีอำนาจด้วย เสียงก็มีอำนาจ พูดออกมานี้แหลมคม ไม่ขนาดนั้นกิเลสก็ไม่หมอบจะว่ายังไง..."

นึก "พุทโธ" ในใจ จะไม่ "จิตเสื่อม"

หลังจากที่ท่านอาจารย์มั่นเมตตารับไว้ เมื่อโอกาสอันควรมาถึง ท่านก็กราบเรียนปรึกษาถึงภาวะจิตเสื่อมว่าควรแก้ไขอย่างไร และด้วยกุศโลบายแยบยลของครูบาอาจารย์ ท่านอาจารย์มั่นกลับแสดงเป็นเชิงเสียใจไปด้วย พร้อมกับให้กำลังใจศิษย์ว่า

"...น่าเสียดาย มันเสื่อมไปที่ไหนกันนา เอาเถอะ ท่านอย่าเสียใจ จงพยายามทำความเพียรเข้ามากๆ เดี๋ยวมันจะกลับมาอีกแน่ๆ มันไปเที่ยวเฉยๆ พอเราเร่ง ความเพียรมันก็กลับมาเอง หนีจากเราไปไม่พ้น

เพราะจิตเป็นเหมือนสุนัขนั่นแลเจ้าของไปไหนมันต้องติดตามเจ้าของไปจนได้ นี่ถ้าเราเร่งความเพียรเข้าให้มาก จิตก็ต้องกลับมาเอง ไม่ต้องติดตามมันให้เสียเวลา มันหนีไปไหนไม่พ้นเราแน่ๆ...

จงปล่อยความคิดถึงมันเสีย แล้วให้คิดถึง พุทโธ ติดๆ กันอย่าลดละ พอบริกรรม พุทโธ ถี่ยิบติดๆ กันเข้า มันวิ่งกลับมาเอง คราวนี้แม้มันกลับมาก็อย่าปล่อย พุทโธ มันไม่มีอาหารกิน เดี๋ยวมันก็วิ่งกลับมาหาเรา

จงนึก พุทโธ เพื่อเป็นอาหารของมันไว้มากๆ เมื่อมันกินอิ่มแล้วต้องพักผ่อน เราสบายขณะที่มันพักสงบตัวไม่วิ่งวุ่นข่นเคืองเที่ยวหาไฟมาเผาเรา ทำจนไล่มันไม่ยอมหนีไปจากเรา นั่นแลพอดีกับใจตัวหิวโหยอาหาร ไม่มีวันอิ่มพอ ถ้าอาหารพอกับมันแล้ว แม้ไล่หนีไปไหนมันก็ไม่ยอมไป ทำอย่างนั้นแล จิตเราจะไม่ยอมเสื่อมต่อไป..."

พรรษาที่ 9 นี้ เป็นพรรษาแรกที่ท่านได้จำพรรษาด้วยกันกับท่านอาจารย์มั่น ณ บ้านโคก จังหวัดสกลนคร คำสอนดังกล่าวของท่านอาจารย์มั่นทำให้ท่านตั้งคำมั่นมัญญาขึ้นว่า

"...อย่างไรจะต้องนำคำบริกรรม พุทโธ มากำกับจิตทุกเวลา ไม่ว่าเข้าสมาธิ ออกสมาธิ ไม่ว่าจะที่ไหน อยู่ที่ใด แม้ที่สุดปัดกลาดลานวัด หรือทำกิจวัตรต่างๆ จะไม่ยอมให้สติพลั้งเผลอจากคำบริกรรมนั้นเลย..."

จากนั้นท่านก็หมั่นทำจนกระทั่งตั้งหลักลงได้ จิตเป็นสมาธิ ไม่เสื่อมอีกต่อไป

รักษาระเบียบวินัย ข้อวัตรปฏิบัติต่างๆ อย่างเคร่งครัด

ในปีแรกที่ได้อยู่ศึกษากับท่านอาจารย์มั่น ท่านก็ได้ยินท่านอาจารย์มั่นพูดถึงเรื่องธุดงควัตร เพราะท่านอาจารย์มั่นเคร่งครัดมากตามวินัย ด้วยเหตุนี้ท่านจึงถือเป็นข้อปฏิบัติเสมอมาในการสมาทานธุดงค์เมื่อถึงหน้าพรรษาอย่างไม่ลดละ เฉพาะอย่างยิ่งในธุดงค์ข้อที่ว่าฉันอาหารเฉพาะของที่ได้มาในบาตรจากการบิณฑบาตเท่านั้น สำหรับธุงดงค์ข้ออื่นๆ ก็ถือสมาทานอยู่เป็นประจำอยู่แล้วเช่น การฉันหนเดียวในวันหนึ่งๆ เท่านั้น การถือผ้าบังสุกุล การใช้ผ้า 3 ผืน (สบง จีวร สังฆาฏิ) การฉันในบาตร การอยู่ป่าเขา เป็นต้น

การทำข้อวัตรปฏิบัติทำความสะอาดเช็ดถูก กุฏิ ศาลา และบริเวณ ท่านก็ตั้งใจปฏิบัติสม่ำเสมอ ด้วยนิสัยที่จริงจังและเป็นคนเคารพข้อปฏิบัติมาก ท่านจึงไม่ยอมให้ขัอวัตรเหล่านั้นขาดตกบกพร่องใดๆ เลย แต่พยายามรักษาทั้งความตรงต่อเวลา ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความสะอาด ความพร้อมเพรียงกันในการทำข้อวัตรปฏิบัติ ความละเอียดถี่ถ้วน ความคล่องแคล่งไม่เหนื่อยหน่ายท้อแท้อ่อนแอ ทำสิ่งใดให้ทำอย่างมีสติ ใช้ปัญญาพินิจพิจารณาใคร่ครวญให้รอบคอบ ไม่ทำแบบใจร้อนใจเร็ว การหยิบจับวางสิ่งใดจะพยายามมิให้มีเสียงดัง ข้อวัตรต่างๆ เหล่านี้ พระเณรท่านจะช่วยกันดูแลรับผิดชอบบริเวณอย่างทั่วถึง ตั้งแต่กุฏิท่านอาจารย์มั่น กุฏิตนเอง ศาลา ทางเดินตลอดแม้ในห้องน้ำห้องส้วม มีการเติมน้ำใส่ตุ่มใส่ถังให้เต็มไม่ให้พร่อง และข้อปฏิบัติต่างๆ เช่นนี้ พระเณรท่านจะพยายามทำอย่างตั้งใจ สมกับที่ท่านเป็นสมณะผู้รักความสงบ สะอาด และรักธรรมรักวินัย

พูดคุยเกี่ยวข้องในสิ่งที่ชอบที่ควร

การปฏิบัติจิตตภาวนาถือเป็นงานหลักอันสำคัญที่สุด ดังนั้น ในแต่ละวันท่านจึงพยายามพูดคุยแต่น้อย หากมีความจำเป็นต้องพูดสนทนากันบ้าง ก็ควรให้มีเหตุผลมีอรรถธรรม ไม่พูดคะนอง เพ้อเจ้อ หยาบโลน ควรพูดตามความจำเป็นและเป็นไปเพื่อความเจริญในธรรม การตักเตือนชี้แนะหมู่คณะภิกษุสามเณรให้เป็นไปด้วยความเมตตากรุณาต่อกัน เพื่อให้รู้ให้เข้าใจคุณและโทษจริงๆ

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ท่านกล่าวเสมอๆ ว่า

"...ควรพูดคุยกันในเรื่องความมักน้อยสันโดษ ความวิเวกสงัด ความไม่คลุกคลีซึ่งกันและกัน พูดในเรื่องความเพียร ศีล สมาธิ ปัญญา ในการต่อสู้กิเลส...

...พระในครั้งพุทธกาล ท่านไม่ได้คุยถึงการบ้านการเมือง การได้การเสีย ความรื่นเริงบันเทิง การซื้อการขายอะไร ท่านมีความระแวดระวังว่า อันใดจะเป็นภัยต่อความเจริญทางจิตใจของท่าน ท่านจะพึงละเว้นหลบหลีกเสมอ ส่วนสิ่งใดเป็นไปเพื่อส่งเสริมให้จิตใจมีแความแน่นหนามั่นคงจนสามารถถอดถอนกิเลสออกได้เป็นลำดับลำดานั้น ควรส่งเสริมให้มีมากขึ้น ให้สูงขึ้น..."

ท่านอาจารย์มั่นล่วงรู้วาระจิต

ท่านเคยเล่าให้ลูกศิษย์ฟังว่า เมื่อครั้งไปอยู่กับหลวงปู่มั่นนั้น จิตของท่านเคยคิดไปว่า ท่านอาจารย์มั่นจะสามารถทราบวาระจิตของท่านได้หรือไม่หนอ จากนั้นไม่นาน ท่านได้ขึ้นไปกราบพระประธานที่ศาลา เห็นท่านอาจารย์มั่นกำลังเย็บผ้าอยู่ จึงได้คลานเข้าไป เพื่อจะกราบขอโอกาสช่วยเย็บให้ขณะนั้นเอง ท่านอาจารย์มั่นแสดงอาการแปลกกว่าทุกครั้งที่เคยเป็นมา โดยจ้องมองมาที่ท่านอย่างดุๆ พร้อมกับปัดมือห้าม แล้วพูดขึ้นว่า

"หืย ! อย่ามายุ่ง"

ในตอนนั้นท่านคิดในใจว่า "โอ๊ย ตามกู...ตาย" และหลังจากเงียบไปพักหนึ่ง ท่านอาจารย์มั่นก็กล่าวต่อว่า

"ธรรมดาการภาวนากรรมฐานก็ต้องดูหัวใจตัวเอง ดูหัวใจตัวเองมันคิดเรื่องอะไรๆ ก็ต้องดูหัวใจตัวเองสิผู้ภาวนา อันนี้จะให้คนอื่นมาดูให้รู้ให้ กรรมฐานบ้าอะไร"

จึงเป็นอันรู้เหตุรู้ผลชัดเจนทันทีว่า ที่ท่านอาจารย์มั่นแสดงปฏิกิริยาดังกล่าวขึ้นเช่นนี้ ก็เพราะความคิดสงสัยของท่านนั่นเอง คราวนี้ท่านถึงกับหมอบราบในใจอย่างสุดซึ้งว่า

"ยอมแล้วๆ คราวนี้ขออ่อนขอยอมแล้ว"

หลังจากนั้นท่านจึงได้กราบขอโอกาสเข้าช่วยเย็บผ้าอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้องค์ท่านก็ไม่ได้ดุหรือห้ามอะไรอีก เพราะทราบดีว่าลูกศิษย์ผู้นี้ได้ยอมแล้วอย่างสนิทใจ

น้ำตานักสู้

โดยปกติธรรมดาท่านใช้เวลาในการนั่งสมาธิครั้งละประมาณ 3-4 ชั่วโมง ตอนกลางวันพอฉันจังหันเสร็จ ล้างบาตร เช็ดบาตรเรียบร้อยแล้ว เอาบาตรไปวางที่ร้านแล้วเข้าทางจงกรมเลย โดยเดินจงกรมไปตลอดจนถึงเวลาประมาณ 11 โมงเป็นอย่างน้อยหรือถึงเที่ยงวัน แล้วจึงพัก ออกจากพักแล้วก็นั่งภาวนาอีกราวชั่วโมง แล้วก็ลงเดินจงกรมอีก ท่านทำอย่างนั้นอยู่เป็นกิจวัตรประจำ

เมื่ออยู่กับท่านอาจารย์มั่นพอสมควร ท่านอยากจะทดลองทำความเพียรโดยลำพังอย่างเต็มที่ดูบ้างเผื่อว่าจะเกิดผลดี แต่เมื่อออกวิเวกจริงๆ แล้ว ความเพียรกลับไม่ค่อยเป็นผลเลย ต้องล้มลุกคลุกคลานอย่างหนักจนหลายครั้งทำให้ท่านรู้สึกท้ออกท้อใจ แต่ด้วยใจที่ "สู้ไม่ถอย" ท่านก็สามารถผ่านไปได้ ดังนี้

"...เข้าไปอยู่ในป่าในเขา ตั้งใจจะไปฟัดกับกิเลสเอาให้เต็มเหนี่ยวละนะคราวนี้ หลีกจากครูบาอาจารย์ออกไปเข้าไปอยู่ในภูเขา ป่ามันสงบสงัด ป่าไม่มีเรื่องอะไร แต่หัวใจมันสร้างเรื่องขึ้นมาละซิ วุ่นอยู่กับเจ้าของคนเดียว เป็นบ้าอยู่คนเดียว โอ๊ย อย่างนี้จะอยู่คนเดียวได้ยังไง นี่หนีจากครูบาอาจารย์ไม่ได้ ถ้าเป็นอย่างนี้แล้ว"

สู้มันไม่ได้จนน้ำตาร่วง ไม่ได้ลืมนะ...น้ำตาร่วง โอ้โห สู้มันไม่ได้ ตั้งสติพั้บล้มผลอยๆ ตั้งเพื่อล้มไม่ใช่ตั้งเพื่ออยู่ ตั้งต่อหน้าต่อตานี่มันล้มต่อหน้าต่อตาให้เห็น ปัดทีเดียวตก 5 ทวีปโน่น

สมมติว่าเราต่อยเข้าไปนี้ มันปัดแขนเรานี้ตก 5 ทวีป อำนาจแห่งความรุนแรงของกิเลส มันแรงขนาดนั้นนะอยู่ในหัวใจนี่...ลงออกถึงกูถึงมึงทีเดียว ซัดกับกิเลสนี่ ฟังซิว่ากูมึง กูมึงในใจไม่ใช่กูมึงออกมาข้างนอก

"มึงยังไงมึงต้องพังวันหนึ่ง กูจะเอาให้มึงพังแน่ๆ มึงเอากูขนาดนี้เชียวนะ...ยังไง กูได้ที่แล้วกูจะเอามึงเหมือนกัน ยังไงมึงต้องพัง มึงไม่พังวันหนึ่ง มึงต้องพังวันหนึ่ง มึงไม่พังกูต้องพัง ต้องตายกัน"

มาก็เอากันแหละ ซัดกันไม่ถอย...ต้องตายกัน ต่างคนต่างสู้กันไม่มีถอยกัน

"เอ้า กิเลสกับเราเป็นคู่ต่อสู้กันนี้ จนกระทั่งถึงวันตายไม่ให้เป็น เอาให้ตายด้วยกัน กิเลสไม่ตายก็เราตายเท่านั้น..."

เหตุการณ์ในตอนนั้น ท่านเคยยกเอามาสอนพระว่า ตอนที่กองทัพกิเลสมีกำลังมากกว่านั้น ยังไม่สมควรที่จะอยู่คนเดียว ต้องเข้าหาครูบาอาจารย์ เพราะการอยู่กับครูบาอาจารย์ แม้จะยังไม่ก้าวหน้าอะไร แต่ก็เป็นที่อบอุ่นใจได้

มารกระซิบ

ท่านพูดเสมอว่า การอยู่คนเดียวมันสนุกประกอบความเพียร วันๆ หนึ่งไม่พูดคุยกับใครเลย ถ้าไม่กินข้าวกี่วันก็ไม่เห็นใครทั้งนั้น จึงไม่มีอะไรมายุ่งเกี่ยวในวงความเพียรตลอด เว้นแต่เวลาหลับ แต่บางทีกิเลสก็กล่อมเอาบ้างเหนือมกันว่า

"...โธ่ !! มาอยู่อย่างนี้เหมือนคนสิ้นท่า ไม่มีคุณค่ามีราคาอะไรเลย โลกสงสารเขาก็อยู่ได้สะดวกสบาย สนุกสนาน ไม่ต้องมารับความทุกข์ทรมานเหมือนเราซึ่งเปรียบเหมือนคนสิ้นท่านี่ ทำไมจึงต้องมาทรมานอยู่ในป่าในรก กับสัตว์กับเสืออย่างนี้ ไม่มีคุณค่าราคาอะไร..."

ด้วยความคิดเช่นนี้ ทำให้ท่านรู้สึกท้อถอยน้อยใจและอ่อนความเพียรลงไปบ้างเหมือนกัน ท่านเล่าว่ากิเลสมารมันคอยแอบกระซิบ คอยสอดแทรกอยู่ตลอด ทั้งๆ ที่ก็พยายามทำความเพียรอยู่เช่นนั้น ดังนี้

"...วันหนึ่ง ผมยังไม่ลืม ผมไม่ได้ดูนาฬิกา เราก็นั่งภาวนาจะไปดูนาฬิกาอะไร มันดึกจริงๆ นะวันนั้น จิตมันยังลงไม่ได้...ก็พอดีเขามีลำกัน ทางภาคอีสานเขาเรียกลำยาวข้ามทุ่งนาไปจากบ้านนามน

เขามาเที่ยวสาวทางบ้านนามน เขาอยู่บ้านโพนทอง ด้านตะวันออกวัดบ้านนามนนู้นน่ะ เขาลำยาวไปตามทุ่งนา ฟังอาการเขาร้องเพลง เขาลำยาวเพลงภาคนี้ จิตมันยังวิตกขึ้นมาได้ในขณะนั้น

"โอ้ เขายังมีความสนุกสนานรื่นเริงเดินขับลำทำเพลงตัดทุ่งนาไปอย่างเพลิดเพลิน ไม่มีความทุกข์กายทรมานใจเหมือนเรา ไอ้เรานี้กำลังตกนรกทั้งเป็น...ไม่มีใครที่จะทุกข์ยิ่งกว่าเราคนในโลกนี้ กำลังตกนรกทั้งเป็นอยู่เวลานี้"

ความคิดปรุงดังกล่าวมีขึ้นขณะได้ยินเสียงลำเพลงอยู่นั้น แต่แล้วท่านก็หวนระลึกเป็นธรรมขึ้นมาแก้ว่า "...เราเคยตกนรกทั้งเป็นกับกิเลส ตกนรกทั้งตายกับกิเลสมากี่กัปกี่กัลป์แล้ว นี่จะตะเกียกตะกายตนให้พ้นจากนรกของกิเลส ทำไมจึงเห็นว่าเป็นความทุกข์ความลำบาก เราประกอบความเพียรหาอะไร ? หานรกอเวจีที่ไหนเวลานี้..."

ท่านว่ามันคิดขึ้นปุ๊บแก้กันทันทีเลย จากนั้นไม่นานจิตก็สงบลงได้

หลงป่า

มีอยู่คราวหนึ่งระหว่างที่ท่านพร้อมหมู่คณะกำลังเที่ยววิเวกหาสถานที่ภาวนาในป่าในภูอยู่นั้น เมื่อยิ่งเดินหน้าไปเรื่อยก็ยิ่งพลัดหลงทางไปเรื่อย ยิ่งเข้าป่าลึกขึ้นๆ จนไม่พบบ้านผู้คนเลย เหตุการณ์คราวนั้นท่านกล่าวว่ารอดมาได้ด้วยอำนาจของบุญของทานดังนี้

"...ไปเที่ยวในภูเขาจากระหว่างสกลนครกับกาฬสินธ์ เข้าไปในเขาไปหลงป่าละซี เข้าไปในหุบเขาเลยนะ เขาไม่รู้กี่ลูกกี่ชั้น เข้าไปจมอยู่ในเขาเลย พอดีไปเจอพวกเขาไปทำไร่อยู่ในเขามี 4-5 หลังคา เขาไปทำไร่อยู่ในหุบ หลงเข้าไปตรงนั้น เขาจนงงเลย

"โห ท่านมาได้ยังไง ?"

คือตอนกลางคืนนั้นมีนิมิตเสียก่อนนะ หลงป่าไปด้วยกัน 3 องค์ยังไม่ได้แยกจากกัน ตามธรรมดาออกจากวัดแล้วก็ไปทีละ 2 องค์ 3 องค์ แล้วก็ไปแยกกันข้างหน้า ไปวันนั้นยังไม่ได้แยกเลย ไปก็ไปหลงป่ากลางคืนงมเงาไป

"เอ้า นอนในป่านี่แหละ งมไปไหนแล้วตั้งสัจอธิษฐานนะ จะออกทางภาวนาก็ได้ ออกทางความฝันก็เอา แล้วบ้านอยู่ทางไหน มันหลงถนัดแล้ว เข้าในหุบเขา บ้านอยู่ทางไหน ให้ตั้งสัจอธิษฐานนะ"

องค์นั้นก็ตั้ง องค์นี้ก็ตั้ง เราก็ตั้ง ตั้งสัจอธิษฐาน จะออกทางภาวนาก็ได้ ออกทางไหนก็ได้ พอดีกลางคืนมานิมิตแล้ว...ทีนี้พอกลางคืนมาก็ฝันละที่นี่ องค์นั้นก็ฝัน องค์นี้ก็ฝัน ฝันด้วยกันทั้ง 3 องค์ด้วยนะ แปลกอยู่

องค์หนึ่งฝัน "บ้านอยู่ทางไหน ?"

"บ้านอยู่ทางนี้" ชี้ไปทางทิศใต้

"รู้ได้ยังไงว่าบ้านอยู่ทางนี้ ?"

"มีแต่ผู้หญิงหาบอะไรต่ออะไรหลั่งไหล ผ่านมานี่ไปทางนี้แหละ ไปทางทิศใต้นี้"

"แล้วองค์นี้ล่ะฝันว่ายังไง ?"

"บ้านอยู่ทางนี้อีก"

"รู้ได้ยังไง ?"

"มีแต่ผู้หญิงหาบสิ่งหาบของพะรุงพะรังไปนี้" แล้วว่า "วันนี้เราจะพบผู้หญิงก่อนนะ"

"เอ้า อยู่ในกลางเขาจะพบผู้หญิงได้ยังไง ?"

"หากจะพบก็เพราะความฝันบอกอย่างนั้น"

เราก็อีกเหมือนกัน หมู่เพื่อนมาถามเราว่า "เป็นยังไง ?"

"บ้านอยู่ทางนี้จริง แต่ไม่ใช่บ้านนะเป็นทับ เขามาตั้งทับอยู่ทางด้านนี้ เมื่อคืนเห็นโยมแม่มาหา มีเด็ 2-3 คนติดตามโยมแม่มา โยมแม่มาหามาถางนั้นถางนี้ปุบปับๆ แล้วก็พาเด็กขนของไป ไปทางนี้แหละ บ้านอยู่ทางนี้หรือทับอยู่ทางนี้แหละ เอ้า ไปทางนี้"

นั่นละ พอตื่นแล้วก็บุกตามทิศเลย ไปอยู่ในหุบเขาเล็กๆ นะ มีบ้านอยู่ 4 หลังคาเรือน เขามาทำไร่อยู่ในหุบเขา ไป...เขางงเลย

"โอ๊ย ท่านมาได้ยังไงนี่ โถ ตายๆๆๆ"

ไปได้พบผู้หญิงก่อนจริงๆ มีแต่ผู้หญิงตำข้าวกันตุบตับๆ ผู้ชายไม่มีสักคนเดียว มีเด็กเล่นอยู่ 2-3 คนอีก เด็กก็ลักษณะที่ว่านั่นแหละ เขาว่าญาครูเป็นความเคารพ ญาครูญาชาหลวงตา นี่เป็นความเคารพของเขา

"มาได้ยังไง ? เมื่อคืนนี้ก็ฝันกัน มาเล่าสู่กันฟังอยู่นี่ ฝันว่าพระท่านมาโปรด 3 องค์เมื่อคืนนี้ บ้านนั้นก็ฝัน บ้านนี้ก็ฝันก็แปลกอยู่นะ

ฝันว่าญาครู (คือพระ) ท่านมาโปรด 3 องค์เมื่อคืนนี้ พูดกันจบเดี๋ยวนี้ พวกผู้ชายเขาไปไร่นอกบริเวณนั้น เพิ่งไปตะกี้นี้ว่าพระมาโปรด 3 องค์"

พอดีไปพวกนั้นเขาก็งง เขาว่า

"ถ้าไม่พบบ้านนี้ต้องตายไม่มีทางอื่นทางใด นอกจากจะไปพบพวกนายพรานเขานะ ถ้าผู้มีแก่ใจเขาก็จะพาย้อนกลับหลังไปย้องทางไปสู่บ้าน มานี้มันลึกพอแล้วนี่ ข้ามเขาแต่เพียงลูกเดียวสองลูกเท่านั้นตายเลย เพราะแถวนี้ไม่มีบ้านเลย อยู่ในหุบเขา"

เราก็เลยได้กินข้าวกับเขา แล้วบอกเพื่อนฝูงด้วยว่า "วันนี้เราอย่าพูดอะไรนะ จะมีคนตามส่งเรานะวันนี้ เพราะมีเด็กมาเอาของบริขารผมไป เราไม่ได้ไปบอกเด็ก เด็กมาขนบริขารไปเลย วันนี้คอยดูจะมีคนไปส่งเรา"

พอกินข้าวแล้วเขาบอกว่า "พวกผมต้องไปส่งท่าน ถ้าไม่ไปส่ง ท่านก็ตายอีก" เขาตามส่งย้อนหลังไปส่งใส่ทางเข้าหมู่บ้าน

นี่เรามันอัศจรรย์ที่ว่า อยู่ในหุบเขาลึกๆ มันหลงไปได้ยังไง หลงไปในหุบเขาเท่ากำปั้นนี่นะ ภูเขานี่กว้างเท่าท้องฟ้ามหาสมุทร แล้วมันหลงไปได้ยังไงนี่อัศจรรย์อยู่เหมือนกันนะ เวลาจะตายไม่ตายนะ ที่ว่าจะตายๆ ก็เพราะปีนเขา เขาพูดว่า

"ไม่ใช่อะไรหรอกท่าน ปีนเขาลูกนี้ลงลูกนี้ขึ้นลูกนั้น กว่าจะถึงบ้านคนมันกี่สิบเขา ท่านไปได้เพียง 2-3 วันท่านก็แย่แล้ว ตายแล้ว นี่มาเจอพวกผมดีแล้วท่านไม่ตายแหละคราวนี้"

นี่เราเชื่อเวลาจำเป็นเป็นอย่างนั้นจริงๆ นะมันหากบันดลบันดาล มิหนำซ้ำเทวบุตรเทวดายังบันดลบันดาลให้เขาฝันทางโน้นว่า พระท่านมาโปรด 3 องค์ ทางนี้ก็ฝันว่าจะไปหาโยม โยมตามส่ง เราเลยฝังใจจนกระทั่งทุกวันนี้...

ภายในใจนี้เราเชื่อ เชื่อในหัวใจเจ้าของเองว่าเปิดโล่งอยู่ตลอด...นี่แหละอำนาจแห่งการทำบุญให้ทานไม่อดอยาก ถึงเวลาจำเป็น หากมีผู้มาช่วยจนได้นั่นแหละ หากมี ฟังแต่ว่า "มี" เถอะ อำนาจทานบันดลบันดาลให้มีผู้ใดผู้หนึ่งมีใจบุญเข้ามาช่วยสงเคราะห์สงหา เพราะอำนาจแห่งบุญของเรามีเป็นเครื่องดึงดูดกัน..."

รูปภาพ
หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล


เร่งความเพียรเต็มกำลัง

ที่บ้านนามน อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร เป็นพรรษาที่ 2 ของการไปศึกษาอยู่กับท่านอาจารย์มั่น ภูริทัตโต และนับเป็นพรรษาที่ 10 ของการบวช ท่านเริ่มหักโหมความเพียรมาตั้งแต่เดือนเมษายนก่อนเข้าพรรษาปีนี้ หลังจากท่านอาจารย์มั่นเสร็จงานเผาศพ หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล แล้ว ท่านก็ไปรับท่านอาจารย์มั่นมาด้วยกัน และเดินทางจาก พระธาตุพนม เข้ามาอยู่บ้านนามน

แต่ในพรรษานี้ท่านเร่งความเพียรอย่างเต็มเหนี่ยวยิ่งกว่าธรรมดา หักโหมทั้งร่างกายและจิตใจ กลางวันไม่นอนเลย เว้นแต่วันที่นั่งสมาธิตลอดรุ่ง วันนั้จึงจะยอมให้พักกลางวัน ถ้าวันไหนทำความเพียรธรรมดาๆ กลางวันท่านจะไม่ยอมพักเลย

ในคืนที่นั่งสมาธิตลอดรุ่งนั้น ท่านจะไม่ยอมให้มีการพลิกเปลี่ยนหรือขยับแข้งขาใดๆ ทั้งสิ้นเลย ท่านเคยเล่าถึงความเจ็บปวดที่ได้รับจากการนั่งตลอดคืนเช่นนั้นให้ฟังว่า "...เหมือนกับก้นมันพองหมวด กระดูกเหมือนจะแตกทุกข้อทุกท่อนกระดูกมันต่อกันตรงไหน หรือแม้แต่ข้อมือก็เหมือนกันจะขาดออกจากกัน ทุกขเวทนาความเจ็บปวดเวลาขึ้น มันขึ้นหมดทุกสิ่งทุกอย่างทุกแง่ทุกมุมในร่างกายเลย..."

การโหมความเพียรหลายต่อหลายครั้งเข้าเช่นนี้ทำให้ก้นของท่านถึงกับพองและแตกเลอะเปื้อนใส่สบงเลยทีเดียว ดังนี้ "...หากวันไหนที่หักโหมกันเต็มที่แล้ว จิตไม่สามารถลงได้ง่ายๆ วันนั้นมันแพ้ทางร่างกายมาก บอบช้ำมาก คือในเวลานั่งจะแสบก้นเหมือนถูกไฟเผา ถึงขนาดต้องได้นั่งพับเพียบฉันจังหันเลยทีเดียว

แต่ถ้าวันไหนที่พิจารณาทุกขเวทนาติดปั๊บๆ เกาะติดปั๊บๆ วันนั้นแม้จะนั่งสมาธิภาวนาตลอดรุ่งเหมือนกันก็ตาม แต่กลับไม่มีอะไรชอกช้ำภายในร่างกายเลย พอลุกขึ้นก็ไปเลยธรรมดาๆ เหมือนกับว่าเรานั่งแค่ 3-4 ชั่วโมงเป็นประจำตามความเคยชินนั้นเอง..."

ความอัศจรรย์ที่เกิดขึ้นจากการนั่งตลอดรุ่งนี้เกิดจากผลของการพิจารณาทุกขเวทนา ในเรื่องนี้ท่านสอนพระเณรอย่างถึงใจ ดังนี้ "...ตอนที่เห็นความอัศจรรย์ ก็เห็นตอนนั่งภาวนาตลอดรุ่ง ตั้งแต่เริ่มคืนแรกเลย พิจารณาทุกขเวทนา แหม มันทุกข์แสนสาหัสนะ ทีแรกก็ไม่นึกว่าจะนั่งสมาธิภาวนาตลอดรุ่ง นั่งไปๆ ทุกขเวทนาเกิดขึ้นๆ พิจารณายังไงก็ไม่ได้เรื่อง

"เอ๊ะ มันยังไงกันนี่ว่ะ ! เอ้า วันนี้ ตายก็ตาย"

เลยตั้งสัจอธิษฐานในขณะนั้น เริ่มนั่งตั้งแต่บัดนี้ไปจนถึงสว่างถึงจะลุก

"เอ้า เป็นก็เป็น ตายก็ตาย !"

...เวลานั่งก็ไม่ให้มีข้อแม้ใดๆ เช่น ปวดหนักปวดเบา อยากถ่ายถ่ายไป ถ่ายไปแล้ว เราจะล้างไม่ได้เหรอ ล้างไม่ได้อย่าอยู่ให้หนักศาสนา ตายเสียดีกว่า เพราะฉะนั้นจึงไม่มีข้อแม้...แต่มันก็ไม่เคยปวดถ่ายนะ เรื่องปวดเบานี่ไม่มีหละ เพราะจีวรมันเปียกหมด เปียกเหมือนเราซักผ้าจริงๆ นะ ไม่ใช่ธรรมดา...เปียกหมดตัวเลยเพราะมันจะตาย

มันไม่ใช่เหงื่อละ ภาษาภาคอีสานเขาเรียก ยางตาย อันนี้มันจะไปปวดเบาที่ตรงไหน เหงื่อมันออกหมด ส่วยการถ่ายหนักนั้นมันอาจเป็นได้ แต่ที่ผ่านมานี้มันก็ไม่เห็นเป็นอะไรนี่ หากเป็นขึ้นมาจริงๆ ก็เอาจริงๆ นี่ ขนาดนั้น...

...จากนั้นก็ฟาดกันเลยทีเดียว จนกระทั่งจิตซึ่งไม่เคยพิจารณา ปัญญายังไม่เคยออกแบบนั้นนะ แต่พอเวลามันจนตรอกจนมุมจริงๆ โอ๋ย ปัญญามันไหวตัวทันเหตุการณ์ทุกแง่ทุกมุม จนกระทั่งรู้เท่าทุกขเวทนารู้เท่ากาย รู้เรื่องจิต ต่างอันต่างจริง มันพรากกันลงอย่างหายเงียบเลย ทั้งๆ ที่เราไม่เคยเป็นอย่างนั้นมาก่อนเลย

กายหายในความรู้สึก ทุกขเวทนาดับหมด เหลือแต่ความรู้ที่สักแต่ว่ารู้ ไม่ใช่รู้เด่นๆ ชนิดคาดๆ หมายๆ ได้นะ คือ สักแต่ว่ารู้เท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อนที่สุด อัศจรรย์ที่สุดในขณะนั้น

พอถอนขึ้นมา ก็พิจารณาอีก แต่การพิจารณาเราจะเอาอุบายต่างๆ ที่เคยพิจารณาแล้วมาใช้ขณะนั้นไม่ได้ผล มันเป็นสัญญาอดีตไปเสีย ต้องผลิตขึ้นมาใหม่ให้ทันกับเหตุการณ์ในขณะนั้น จิตก็ลงได้อีก คืนนั้นลงได้ถึง 3 ครั้งก็สว่าง โอ๋ย อัศจรรย์เจ้าของละซิ..."

รูปภาพ
พระธาตุพนม (ในปัจจุบัน) ประดิษฐาน ณ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร
บ้านธาตุพนม ต.ธาตุพนม อ.ธาตุพนม จ.นครพนม



(มีต่อ 8)

เจ้าของ:  สาวิกาน้อย [ 24 ธ.ค. 2010, 10:31 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

รูปภาพ

รู้ชัดประจักษ์ "ตาย"

พอถึงรุ่งเช้าเมื่อได้โอกาสอันเหมาะสม ท่านก็ขึ้นกราบเรียนท่านอาจารย์มั่น ซึ่งตามปกติท่านเองมีความเกรงกลัวท่านอาจารย์มั่นมาก แต่วันนั้นกลับไม่รู้สึกกลัวเลย เป็นเพราะอยากจะกราบเรียนเรื่องความจริงของท่านให้ท่านอาจารย์มั่นได้รับทราบและให้ท่านเห็นผลแห่งความจริงว่าปฏิบัติมาอย่างไร จึงได้ปรากฏผลเช่นนี้ ท่านจึงพูดขึ้นมาอย่างอาจหาญแบบที่ไม่เคยพูดกับท่านอาจารย์มั่นอย่างนั้นมาก่อน ดังนี้

"ทั้งๆ ที่เราพูดขึงขังตึงตังใส่เปรี้ยงๆ ท่านก็คงจับได้เลยว่า

"โหย ทีนี้แหละกำลังบ้ามันขึ้นแล้ว"

ท่านคงว่างั้น "มันรู้จริงๆ"

ความหมายว่ามันรู้จริงๆ เพราะเราพูดแบบไม่สะทกสะท้าน เล่าอะไรๆ ให้ฟัง ท่านจะค้านเราตรงไหน ท่านก็ไม่ได้ค้านมีแต่ เออ...เอา พอเราจบลงแล้ว ก็หมอบลงฟังท่านจะว่ายังไง...ท่านก็ขึ้นเต็มเหนี่ยวเหมือนกันนะ ท่านรู้นิสัยบ้า ว่างั้นนะ

"มันต้องอย่างนี้ เอ้า ทีนี้ได้หลักแล้วเอ้า เอามันให้เต็มเหนี่ยว อัตภาพเดี๋ยวนี้มันไม่ได้ตายถึง 5 หนนะ มันตายหนเดียวเท่านั้นนะ ทีนี้ได้หลักแล้ว เอาให้เต็มเหนี่ยวนะ"

ว่าอย่างนั้นเลยเชียว ท่านเอาหนักอธิบายให้ฟังจนเป็นที่พอใจ เราก็เป็นเหมือนหมาตัวหนึ่ง พอท่านยอบ้าง ยุบ้าง หมาเราตัวโง่นี้ ก็ทั้งจะกัดทั้งจะเห่า...มันพอใจ มันมีกำลังใจ ทีนี้จึงฟัดกันใหญ่..."

เมื่อได้กำลังใจจากท่านอาจารย์มั่นเช่นนี้ ท่านก็ยิ่งจริงจังเพิ่มขึ้นไปอีก คือพอเว้นคืนหนึ่งสองคืนท่านก็นั่งตลอดรุ่งอีก และก็เว้น 2-3 คืนก็นั่งตลอดรุ่งอีก จนกระทั่งจิตเกิดอัศจรรย์ เข้าใจชัดเจนเรื่องความตายดังนี้

...เวลามันรู้จริงๆ แล้ว แยกธาตุแยกขันธ์ดูความเป็นความตาย ธาตุ 4 ดิน น้ำ ลม ไฟ สลายตัวลงไปแล้ว ก็เป็นดินเป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟตามเดิม อากาศธาตุก็เป็นอากาศธาตุตามเดิม ใจที่กลัวตายก็ยิ่งเด่น มันเอาอะไรมาตาย รู้เด่นขนาดนี้มันตายได้ยังไง ใจก็ไม่ตายแล้วมันกลัวอะไร มันโกหกกัน โลกกิเลสมันโกหกกันต่างหากหมายถึงกิเลสโกหกสัตวโลกให้กลัวตายทั้งที่ความจริงไม่มีอะไรตาย

พิจารณาวันหนึ่งได้อุบายแบบหนึ่งขึ้นมา พิจารณาอีกวันหนึ่งได้อุบายแบบหนึ่งขึ้นมา แต่มันมีอุบายแบบเผ็ดๆ ร้อนๆ แบบอัศจรรย์ทั้งนั้น จิตก็ยิ่งอัศจรรย์และกล้าหาญจนถึงขนาดที่ว่า

"เวลาจะตายจริงๆ มันจะเอาเวทนาหน้าไหนมาหลอกเราวะ ทุกขเวทนาทุกแง่ทุกมุมที่แสดงในวันนี้เป็นเวทนาที่สมบูรณ์แล้วเลยจากนี้ก็ตายเท่านั้น ทุกขเวทนาเหล่านี้เราเห็นหน้ามันหมด เข้าใจกันหมด แก้ไขมันได้หมด แล้วเวลาจะตายมันจะเอาเวทนาหน้าไหนมาหลอกเราให้หลงอีกวะ หลงไปไม่ได้ เวทนาต้องเวทนาหน้านี้เอง

พูดถึงเรื่องความตายก็ไม่มีอะไรตายกลัวอะไรกัน นอกจากกิเลสมันโกหกเราให้หลงไปตามกลอุบายอันจอมปลอมของมันเท่านั้น แต่บัดนี้ไปเราไม่หลงกลของมันอีกแล้ว"

นั้นละ จิตเวลามันรู้ และมันรู้ชัดตั้งแต่คืนแรกนะ ที่ว่าจิตเจริญแล้วเสื่อมๆ ก่อนมาภาวนาจนนั่งตลอดรุ่งคืนแรกมันก็ไม่เสื่อม ตั้งแต่เดือนเมษายนมาก็ไม่เสื่อม แต่มันก็ยังไม่ชัด พอมาถึงคืนวันนั้นแล้วมันชัดเจน

"เอ้อ มันต้องอย่างนี้ไม่เสื่อม"

เหมือนกับว่ามันปีนขึ้นไปแล้วก็ตกลงขึ้นไปแล้วก็ตกลงๆ แต่คราวนี้พอปีนขึ้นไปเกาะติดปั๊บ ร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่เสื่อม มันรู้แล้วจึงได้เร่งเต็มที่เต็มฐาน..."

ข้อคิดหลายแง่ หลายกระทง

ตลอดพรรษาที่บ้านนามนแห่งนี้ ท่านยังคงสมาทานธุดงค์อย่างเคร่งครัดในข้อฉันอาหารที่ได้มาในบาตรเท่านั้น เหมือนเมื่อครั้งไปอยู่กับท่านอาจารย์มั่นใหม่ๆ ในปีแรก แม้ท่านอาจารย์มั่นจะทราบดีถึงความเคร่งครัด จริงจังของท่านในเรื่องนี้ แต่ด้วยความเมตตาของครูบาอาจารย์ที่มีต่อศิษย์ประกอบกับจะหาอุบายสอนศิษย์ให้ฉลาดรอบและรู้ความพอเหมาะพอสมภายในใจ ทำให้บางครั้งท่านอาจารย์มั่นก็ได้เอาอาหารมาใส่บาตรท่านพร้อมกับพูดว่า "ขอใส่บาตรหน่อยท่านมหา นี่เป็นสมณบริโภค" หรือบางครั้งก็ว่า

"นี่เป็นเครื่องบริโภคของสมณะ ขอนิมนต์รับเถอะ" เหตุการณ์ในตอนนั้นท่านเคยเล่าไว้ ดังนี้

"...บางครั้งก็มีคณะศรัทธาทางจังหวัดหนองคายบ้างและที่สกลนครบ้าง ที่อื่นๆ บ้าง ไปใส่บาตรท่านและพระในวัดบ้านนามน อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร นานๆ มีไปทีหนึ่ง เพราะแต่ก่อนรถราไม่มีต้องเดินด้วยเท้า แต่เขาไปด้วยเกวียน จ้างล้อจ้างเกวียนไป

เขาไปพักเพียงคืนสองคืนและไม่ได้พักอยู่ในวัดกับพระท่าน แต่พากันไปพักอยู่กระท่อมนาของชาวบ้านนามน ตอนเช้าทำอาหารบิณบาตเสร็จแล้วก็มาถวายพระในวัดนั้น เขาไม่ได้ไปดักใส่บาตรนอกวัด เราก็ไม่กล้ารับ กลัวธุดงค์ขาด เดินผ่านหนีมาเลย สำหรับท่านก็รับให้ เพราะสงสารเขาเท่าที่สังเกตดู

อาหารก็เหลือจากใส่บาตรมากมายก็ได้นำขึ้นมาบนศาลา เป็นหมกเป็นห่อและผลไม้ต่างๆ นะ เราก็ไม่รับ ส่งไปไหนก็หายเงียบ หายเงียบ ไม่มีใครรับ จะมีรับบ้างเพียงองค์สององค์ ผิดสังเกตศรัทธาเขาไม่น้อย ส่วนเราไม่กล้ารับเพราะกลัวธุดงค์ข้อนี้ขาด หลายวันต่อมาท่านก็ขอใส่บาตรเรา โดยบอกว่า

"นี้เป็นสมณบริโภค ขอใส่บาตรหน่อย"

แล้วท่านก็ใส่บาตรเรา ท่านใส่เองนะ ถ้าธรรมดาแล้ว โถ...ใครจะมาใส่เราได้วะ สำหรับเราเองกลัวธุดงค์จะขาด หรืออย่างน้อยไม่สมบูรณ์...นอกจากท่านอาจารย์มั่นผู้ที่เราเคารพเลื่อมใสเต็มหัวใจเท่านั้น จึงยอมลงและยอมให้ใส่บาตรตามกาลอันควรของท่านเอง...ความจริงท่านคงเห็นว่านี่มันเป็นทิฐิแฝงอยู่กับธุดงค์ที่ตนสมาทานนั้น ท่านจึงช่วยดัดเสียบ้าง เพื่อให้เป็นข้อคิดหลายแง่หลายกระทง ไม่เป็นลักษณะเถรตรงไปถ่ายเดียว ท่านจึงหาอุบายต่างๆ สอนเราทั้งทางอ้อมและทางตรง..."

ควรหนัก...ต้องหนัก ควรเบา...ต้องเบา

จากการที่ท่านโหมนั่งภาวนาตลอดรุ่งถึง 9-10 คืน แม้จะไม่ทำติดๆ กัน โดยเว้น 2 คืนบ้าง 3 คืนบ้าง หรือบางทีก็เว้น 6-7 คืนก็มี ท่านทำเช่นนี้ตลอดพรรษาจนถึงกับเป็นที่แน่ใจในเรื่องทุกขเวทนาหนักเบามากน้อยเข้าใจวิธีปฏิบัติต่อกัน สามารถหลบหลีกปลีกตัวแก้ไขกันได้อย่างทันท่วงที จึงไม่มีคำว่า สะทกสะท้าน แม้จะตายก็ไม่กลัว เพราะได้พิจารณาด้วยอุบายอันแยบคายเต็มที่แล้ว สติปัญญาจึงเท่าทันต่อความตายทุกอย่าง

การที่ท่านหักโหมร่างกายด้วยการนั่งตลอดรุ่งซ้ำแล้วซ้ำเล่าเช่นนี้ ทำให้ผิวหนังในบริเวณก้นได้รับความกระทบกระเทือนอยู่บ่อยครั้ง จนถึงขั้นซ้ำระบม พอง และแตกในที่สุด พอนานวันเข้า ท่านอาจารย์มั่นก็เมตตาเตือนแย็บออกมาว่า "กิเลสมันไม่ได้อยู่กับร่างกายนะ มันอยู่กับจิต" ท่านพูดขึ้นมาแล้วก็ยกเอาเรื่องการฝึกม้ามาเตือนว่า

"ม้าที่เวลามันกำลังคึกคะนอง มันไม่ยอมฟังเสียงเจ้าของเลย ต้องทรมานมันอย่างเต็มที่ ไม่ควรให้กินหญ้าก็ไม่ให้มันกินเลย ทรมานมันอย่างหนัก เอาจนมักกระดิกไม่ได้

ทีนี้พอมันยอมลดพยศลงก็ผ่อนการทรมาน เมื่อมันผ่อนความพยศลงมาก การฝึกทรมานก็ผ่อนกันลงไป"

ท่านอาจารย์มั่นเตือนท่านเพียงเท่านี้ก็เป็นที่เข้าใจทันที เพราะท่านเคยร่ำเรียนเรื่องนี้ในสมัยเรียนปริยัติมาก่อนแล้ว จึงลงใจและยอมรับในคำเตือนของครูบาอาจารย์ทันที

กินอยู่ใช้สอยเรียบง่าย แต่หรูหราด้วยคุณธรรม

ในระยะที่อยู่กับท่านอาจารย์มั่นท่านจะเมตตาพร่ำสอนเสมอว่า ให้เราเป็นคนกินน้อย นอนน้อย พูดน้อย แต่ปฏิบัติให้มากหรือกินง่าย อยู่ง่าย นอนง่าย การไปการมาง่าย หมายถึง ไม่ทำตนเป็นผู้ยศหนักศักดิ์ใหญ่ หรือเป็นประเภทกรรมฐานขุนนางหรูๆ หราๆ แต่วัตถุสิ่งของภายนอก แต่จิตใจหาคุณความดีมิได้เลย อันนี้ท่านไม่สรรเสริญ ท่านชื่นชมบุคคลประเภทอ่อนน้อมถ่อมตนทำตัวประดุจผ้าขี้ริ้ว แต่ภายในใจนั้นหรูหรางดงามด้วยธรรม จะเรียกว่า เศรษฐีธรรม ก็ไม่ผิด

ช่วงออกพรรษาเป็นระยะที่พระผู้มุ่งความสงบมีโอกาสหลีกเร้นหาที่ภาวนาในป่าเขาที่สงบสงัด แม้ท่านเองก็เช่นกัน ท่านปรารถนาจะวิเวกอยู่โดยลำพัง เพราะสะดวกต่อการภาวนามาก ท่านว่าไปวิเวก 2 คนขึ้นไปเหมือนน้ำไหลบ่า มันขัดมันข้องอยู่ในตัวเพราะต้องระมัดระวังกันและกัน ต้องคอยดูคอยห่วงคอยรับผิดชอบกันอยู่ในตัวนั้นแล แต่การไปคนเดียวเป็นความเพียรอยู่ตลอดเวลา ดังท่านเล่าว่า

"...ไปที่ไหน ไปแต่องค์เดียว เป็นความเพียรตลอดเวลา ตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งถึงหลับ เดินจงกรมจากหมู่บ้านนี้ไปหมู่บ้านนั้น เดินจงกรมทั้งนั้นนะ เป็นความเพียรตลอดอยู่นั้น ก็เวลาไหนมันเผลอจากความเพียร พรากความเพียรนี้ที่ไหน นี่เป็นตามนิสัยของเจ้าของ มันเป็นอย่างนั้น

มาอยู่กับหมู่กับเพื่อนนี้ก็เป็นความจำเป็นก็อยู่เสีย เช่นอย่างมาอยู่กับพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นในพรรษา เราต้องดูแลหมู่เพื่อนต้องกังวลวุ่นวายนั่นนี่เป็นธรรมดา ทั้งเพื่อการอบรมศึกษาของเราเองอีก แต่ก็ทนเอา...ครั้นพอออกจากนั้นแล้ว ถึงได้ดีดผึงเลย เพราะฉะนั้น ท่านถึงรู้นิสัยละซิ ว่าพอรู้ว่าเราจะไปท่านก็ถาม

"ไปกับใคร ?"

"ไปองค์เดียวครับกระผม"

"เออ ท่านมหาไปองค์เดียว ใครอย่าไปยุ่งท่านนะ" ท่านรู้ทันทีนะ "ให้ท่านไปองค์เดียวนะ ท่านมหา..."

มีบางครั้งเหมือนกันที่ท่านอาจารย์มั่นพูดหยอกเล่นกับท่าน เช่น ในเวลาที่ท่านขอลาวิเวก ทั้งๆ ที่องค์ท่านก็ทราบดีว่า นิสัยของท่านจริงจังขนาดไหน แต่เวลาจะไปจริงๆ เข้า องค์ท่านก็พูดหยอกเล่นด้วยความเมตตาว่า

"เอาให้ดีนะ"

การเลือกสถานที่ภาวนาในเวลาท่านออกวิเวกนั้น เพื่อให้สะดวกต่อการบำเพ็ญเพียร ท่านมักถือปฏิบัติ ดังนี้

"...มักเลือกสถานที่ภาวนาโดยสังเกตดูว่าหมู่บ้านไหนมีบ้านสัก 3-4 หลังคาเรือน บ้าง 9-10 หลังคาเรือนบ้าง จะได้ข้าวปลาอาหารขนมคาวหวานชนิดไหนมากน้อยเพียงใดไม่เป็นเรื่องวิตกกังวลแต่อย่างใด การขบการฉันก็พอเป็นเครื่องยังชีพให้มีชีวิตเป็นไปเพื่อประพฤติพรหมจรรย์อยู่ได้ก็เอาแล้ว ไม่เห็นแก่รสชาติ ไม่เห็นแก่ร้อนหรือเย็นยิ่งกว่าความเจริญก้าวหน้าทางจิตใจ..."

การออกเที่ยวกรรมฐานของท่านอาศัยเดินด้วยเท้าเปล่า เพราะแต่ก่อนรถยนต์ไม่มี ถนนหนทางไม่มี แบกกลดสะพายบาตรเข้าป่ารกชัฏ ถ้ำ เงื้อมผา เพื่อหาสถานที่สงบวิเวก ผ้าที่ท่านนำติดตัวไปก็มีเฉพาะผ้า 3 ผืน คือ สบง จีวร สังฆาฏิ และผ้าอาบน้ำอีกผืนหนึ่งเพื่อใช้ผลัดเปลี่ยนตอนสรงน้ำหรือใช้เป็นผ้าห่อบาตรและเช็ดบาตรด้วย ความทุกข์ยากแสนสาหัสจากการออกธุดงค์นั้นมีหลายแบบหลายอย่าง

ทุกข์เพราะหนาว

ความทุกข์แบบหนึ่งที่พระกรรมฐานผู้มุ่งธรรมต้องประสบเสมอๆ คือทุกข์จากฤดูกาล เฉพาะอย่างยิ่งหน้าหนาวทางอีสานท่านกล่าวไว้ ดังนี้

"...อากาศหนาวจริงๆ เวลาออกวิเวกเพราะไม่นำผ้าห่มติดไปด้วย ใช้แค่จีวรกับผ้าสังฆาฏิพับครึ่งแล้วห่มพอกันหนาวได้บ้าง แต่ถ้าคืนไหนหนาวมากจริงๆ คืนนั้นนอนไม่ได้เลย ต้องลุกขึ้นนั่งสมาธิภาวนาสู้เอาตามหน้าตามตาแขนขารวมถึงริมฝีปากเหล่านี้แตกหมด ตกกระหมด

การอาบน้ำต้องรีบอาบตอนกลางวันหลังปัดกวาดใบไม้แล้ว อาบในคลองบ้าง ตามซอกหิกซอกผาบ้าง หรือในห้วยในคลองที่ไหนพออาบได้ก็อาบ ถ้ากะเวลาก็ประมาณบ่าย 3 โมง เพราะอาบค่ำนักไม่ได้ อากาศหนาวมากจริงๆ น้ำก็เย็นมาก ทั้งๆ ที่ตอนนั้นยังหนุ่มน้อยอยู่ แต่มันก็ยังหนาวถึงขนาดนั้น..."

สำหรับเรื่องกุฏิที่พักนั้น ท่านให้ชาวบ้านทำเพียงวันเดียวก็เสร็จแล้ว พอใจหลบแดดหลบฝน ป้องกันชื้อหรือร้อนหนาวได้ก็เพียงพอแล้ว ลักษณะก็ทำเหมือนปะรำ โดยเอาใบไม้มาวางทำเป็นร้าน เอาใบไม้วางข้างบน แล้วเอากลดแขวนข้างล่าง ท่านเคยเล่าถึงความหนาวเหน็บในระหว่างการวิเวกในป่าว่า

"...ช่วงหน้าหนาวแม้ว่าทำถึงอย่างนั้นก็ตาม น้ำค้างยังคงพัดปลิวเข้ามาถึงได้เปียกเหมือนกับเราซักผ้านั่นแล เปียกทุกคืนทุกเช้า ดังนั้น พอฉันเช้าเสร็จ ถึงได้เอาออกไปตากแดด ถ้าตากเช้าไป แดดก็ยังไม่มี ต้องทิ้งไว้นั้นก่อน กางทิ้งไว้อย่างนั้น

พอฉันเสร็จแล้วก็เอามุ้งออกไปตากที่แดด แม้ตากอย่างนั้นทุกวันๆ มันก็ยังขึ้นราได้ เป็นจุดดำๆ ของเรา มันเหมือนกับลายเสือดาวนั่นแหละ ทั้งๆ ที่มุ้งสะอาดอยู่ก็ขึ้นรา เนื่องจากมันไม่ได้แห้งตามเวล่ำเวลาของมัน..."

สำหรับบริเวณใกล้เคียงที่พักนั้น จะมีทางจงกรมหลายสายอยู่ใต้ร่มไม้เพื่อเดินในเวลากลางวัน เพราะช่วงเช้าสายหรือเที่ยงบ่ายนั้นต้นไม้จะให้แนวร่มต่างกันไป จึงต้องมีทางจงกรมไว้หลายๆ สาย สายไหนร่มในช่วงใดก็เดินจงกรมช่วงเวลานั้น

ส่วนในบางที่เป็นที่โล่งๆ แจ้งๆ ที่ไม่มีต้นไม้ มักใช้เป็นทางจงกรมไว้เดินตอนกลางคืน เผื่อว่าหากมีงู แมงป่อง หรือสัตว์มีพิษอื่นๆ ผ่านมาก็จะพอมองเห็นได้เป็นเงาดำๆ ท่านไม่ได้จุดไฟตอนเดินจงกรม เพราะในช่วงออกวิเวกนั้นท่านพกเทียนไขไปนิดหน่อยเท่านั้น หากไม่จำเป็นต้องจุดจริงๆ ท่านจะไม่จุด

เรื่องยารักษาโรค ท่านว่าไม่ต้องพูดถึง เพราะไม่เคยได้พกไปด้วยเลย ถึงแม้จะเจ็บไข้ได้ป่วยหรือเจ็บท้องปวดศีรษะก็ตาม ท่านมีแต่ใช้การทำภาวนาเท่านั้นเป็นยาเป็นธรรมโอสถอันเลิศ และแท้ที่จริงแล้วแม้ในยามปกติตอนที่อยู่ในวัดยังไม่ได้ออกวิเวก หากไม่จำเป็นจริงๆ แล้ว ท่านก็ไม่นิยมใช้ยาใดๆ ทั้งสิ้น ท่านเคยอธิบายเหตุผลว่า

"...เราไม่ปฏิเสธเรื่องยา แต่สำหรับเรื่องความกังวลจนเกินเหตุเกินผลของสมณะนั้น ผิดทางของพระพุทธเจ้า ผิดทางของผู้จะฆ่ากิเลส ผิดทางของผู้เรียนเพื่อรู้สัจธรรม

เรื่องหยูกยาก็ให้นำมารักษากันไปได้อยู่ แต่ไม่ให้หลงจนเกิดความกังวลอันเป็นเรื่องของกิเลส ท่านไม่ได้มารักษามาสงวนชีวิตจิตใจยิ่งกว่าธรรม..."

อาหารป่า

ด้วยความมุ่งมั่นที่จะพ้นจากทุกข์ให้ได้ ทำให้ท่านไม่เห็นแก่การกินการนอนยิ่งกว่าการทำความเพียรเพื่อรบกับกิเลสภายในจิตใจ จริตนิสัยของท่านในเรื่องภาวนาถูกกับการอดอาหาร เพราะทำให้ธาตุขันธ์ร่างกายเบาสบาย การตั้งสติทำสมาธิภาวนาก็ง่าย สติปัญญาในการแก้กิเลสมีความคล่องตัวกว่าการขบการฉันที่สมบูรณ์ ท่านจึงอดอาหารอยู่เป็นประจำจนร่างกายผ่ายผอม บ่อยครั้งในเวลาเดินบิณฑบาตหรือเดินจงกรมแทบจะก้าวขาไม่ออก แต่ผลการภาวนานั้นกลับเจริญขึ้นๆ ท่านเคยพูดถึงสภาพจิตใจในระยะนั้นว่า

"...จิตใจยิ่งเด่นเหมือนจะเหาะเหินเดินฟ้า ถ้าได้รับอาหารการกินดีมันก็มีแต่อยากนอน มันมีแต่ขี้เกียจขี้คร้าน การตั้งสติก็ยาก การพินิจพิจารณาทางด้านปัญญาก็ยาก..."

สมัยปัจจุบัน หากท่านเห็นอาหารประเภทที่เคยขบเคยฉันในสมัยหนุ่มซึ่งเคยต่อสู้กับกิเลสแบบสมบุกสมบันชนิดรอดเป็นรอดตายมา อาหารนั้นๆ ก็ยังทำให้สะดุดกึ๊กในใจทุกทีไปเมื่อเห็นเข้า ด้วยรำลึกบุญรำลึกคุณนั่นเอง ดังคำกล่าวของท่านกับพระเณรว่า

"...พวกหน่อไม้ พวกผักอะไร ผักกระโดนกระเดน ผักเครื่องของป่านั่นแหละมันสะดุดๆ นะ มันเหมือนกับว่าเป็นคู่มิตรคู่สหาย คู่พึ่งเป็นพึ่งตายกันมาแต่ก่อน มันเป็น มันไม่ได้ชินนี่ ทุกวันนี้ก็ไม่ชิน ผักอะไรเขาเรียกโหระพาระเพออะไรหอมๆ นั่น นั่นก็มีอยู่บนเขานะ มีอยู่ตามน้ำซับน้ำครำ พวกนี้มีแต่มันเป็นเถาวัลย์ มันไม่ใช่เป็นต้นนะ คือมันเป็นเถาเกิดอยู่ตามน้ำซับน้ำครำ...พระกรรมฐานไปอยู่ที่ไหนต้องมีน้ำ ไม่มีได้เหรอ แล้วก็ผักมันมีหลายชนิด...

ผักชนิดต่างๆ มีเยอะนะในป่า องค์หนึ่งรู้อย่างหนึ่งๆ นั่นแหละที่ได้กินผักหลายต่อหลายชนิดก็เพราะองค์หนึ่งรู้อย่างหนึ่งๆ เวลาเอามากินน่ะ เคยพบกับเพื่อนกับฝูงหลายจังหวัดต่อหลายจังหวัดนี่นะ องค์นั้นชำนาญกินผักอันนั้น องค์นี้ชำนาญผักอันนั้นๆ...หลายองค์ต่อหลายองค์พบกันหลายครั้งหลายหน มันก็จำได้ซี มันก็กว้างขวางไปเอง...บ้านไหนคนนับถือมากๆ ยุ่งมากอาหารการบริโภคมาก เขากวน มันไม่ได้ภาวนา ก็เราหาภาวนาอย่างเดียวนี่ เพราะฉะนั้น ที่เห็นว่าเป็นความสะดวกในการภาวนา เราจึงชอบที่นั่น ก็ที่คนไม่ยุ่งนั่นเอง เมื่อคนไม่ยุ่งอาหารมันก็ไม่ค่อยมีละ

และนอกจากนั้น ยังไปหาบ้านเล็กๆ น้อยๆ 3-4 หลังคาเรือนบ้าง 9 หลัง 10 หลังคาเรือนบ้างก็อยู่อย่างนั้น ถ้าเราไม่ฉันกี่วันนี้ก็ไม่ได้พบคนละ พบแต่เราคนเดียวนี่ เขาก็ไม่มา มาหากันอะไร เขาก็ไม่ใช่เป็นคนยุ่งกับพระด้วย เราก็ไปหาที่เช่นนั้นด้วย แน่ะก็อยู่สบาย..."

กินแบบนักโทษ

ท่านเข้มงวดจริงจังมากกับการควบคุมเรื่องอาหารการขบฉัน เพื่อมิให้มาเป็นโทษหรือเป็นพิษเป็นภัยต่อการภาวนา ถึงแม้จะทุกข์ยากเพียงใดท่านก็พยายามอดทน ดังนี้

"...ข้าวไม่กินภาวนายิ่งดี หลายวันกินทีหนึ่ง หลายๆ วันถึงกินทีหนึ่ง สมาธิก็แน่ว พอทางขั้นปัญญานี้ก็เหมือนกัน ปัญญาก็คล่องตัว ถ้าอดอาหารนะมันช่วยกันจริงๆ นี่หมายถึงผมเอง จะว่านิสัยหยาบอะไรก็แล้วแต่เถอะ...ถ้าฉันอิ่มๆ แล้ว โอ้โห ขี้เกียจก็มาก นอนก็เก่ง ราคะตัณหาก็มักเกิด ได้ระวังอันนี้ละมากนะ

คือธาตุขันธ์เวลามันคึกคะนองมันเป็นของมันนะ เราไม่ได้ไปคึกคะนองกับมัน ไม่ได้ไปสนใจยินดีไยดีกับมันก็ตามนะ แต่เรื่องธาตุเรื่องขันธ์เป็นเครื่องเสริม มันแสดงออกมาเราก็รู้ อย่างอาหารดีๆ ตามสมมตินิยมนี้ด้วยแล้ว พวกผัดๆ มันๆ โห เก่งมากนะ ได้ระวัง ผมไม่ได้กินแหละ ถึงจะไปในเมืองที่ไหนจำเป็นก็กินนิดๆ ระวังขนาดนั้นนะ

อาหารสัปปายะ อาหารเป็นที่สบายในธรรมที่ท่านสอนไว้ว่า ที่สบายในการภาวนาต่างหากนี่ ไม่ได้สบายเพื่อราคะตัณหาเกี่ยวกับธาตุขันธ์นี่นะ...กินแล้วธาตุขันธ์ก็ไม่กำเริบ การภาวนาก็สะดวกสบาย...ท่านหมายเอาอย่างนั้นต่างหาก...จึงต้องได้ระมัดระวัง โอ๊ย กินแบบนักโทษนั่นแหละ พูดง่ายๆ...จะเห็นแก่ลิ้นแก่ปากไม่ได้นะ มันต้องได้มองดูธรรมอยู่ตลอดเวลา อยากขนาดไหนก็ไม่เอา ถ้าเห็นว่ามันเป็นข้าศึกต่อธรรมแล้ว ต้องได้บังคับกันอยู่ตลอด...

นี่พูดถึงเวลาฝึกทรมานเจ้าของอาหาร จะต้องมีแต่อาหารอย่างว่าละ เช่น ข้าวเปล่าๆ ไม่ต้องพูดละ จนชินเรื่องฉันข้าวเปล่าๆ อยู่ในป่าในเขา บางทีถ้าสมมติว่าเขาตำน้ำพริกมาให้ เขาก็ใส่ปลาร้าเสีย ปลาร้าก็เป็นปลาร้าดิบอย่างนี้ มันก็ฉันไม่ได้เสีย จะว่ายังไงเพราะไม่ได้มีใครตามมานี่ เขาจะตามมาอะไร เราก็ไม่ให้เขาตามนี่ เราไม่ต้องการยุ่ง บางทีเขาก็ตำน้ำพริกให้สักห่อหนึ่งมา น้ำพริกถ้ามีแต่พริกล้วนๆ เราก็ฉันได้ แต่นี้มันมีปลาร้านั้น ปลาร้าดิบนี่ เขาไม่ใช่ทำปลาร้าสุกๆ มันก็เลยกินไม่ได้...

...ฉันข้าวเปล่าๆ มันฉันได้มากแค่ไหน 2-3 คำมันก็อิ่มแล้ว...ทีนี้เดินจงกรมตัวปลิวไปเลย นั่งภาวนานี่เป็นหัวตอ ไม่มีโงกมีง่วง มันก็บ่งให้เห็นได้ชัดๆ ว่า เพราะอาหารนั่นเอง มันทำให้โงกให้ง่วง...ถ้ามีกับดีๆ ก็ฉันได้มาก ฉันได้มากก็นอนมาก ขี้เกียจมากน่ะซี โงกง่วง นั่งสัปหงกงกงันไปละ ก็เคยเป็นอยู่แล้วรู้อยู่ ไปอยู่อย่างนั้นมันไม่นี่ ฉันอาหารอย่างที่ว่า นี่นะ...เพราะฉะนั้น จึงอดบ้าง อิ่มบ้าง อยู่ไป ขอให้ใจได้สะดวกสบาย..."

ยอดนักรบ

ด้วยเหตุนี้เอง ทั้งที่ทุกข์แสนทุกข์ ทั้งที่ลำบากแทบเป็นแทบตาย บางครั้งแทบจะเอาชีวิตไม่รอด แต่ความที่จิตมีความเจริญขึ้นๆ ท่านจึงยอมอดยอมทนได้ จนมีอยู่ครั้งหนึ่งหลังท่านกลับจากการออกวิเวกลงมาจากเขา

เมื่อกลับมาถึงวัดบ้านหนองผือก็เข้ากราบท่านอาจารย์มั่น รูปลักษณ์ท่านตอยนั้นปรากฏว่า เนื้อตัวซีดเหลืองเหมือนทาขมิ้น ปานผู้ป่วยเป็นโรคดีซ่าน ทั้งร่างกายก็ซูบผอมยังเหลือแต่หนังห่อกระดูก จากเดิมคนหนุ่มอายุ 30 กว่า กลับดูเหมือนคนแก่คนเฒ่า

ดังนั้น เมื่อท่านอาจารย์มั่นมองเห็นลูกศิษย์ คงตกตะลึงขนาดอุทานว่า

"โฮ้ ! ทำไมเป็นอย่างนี้ล่ะ ?"

ลูกศิษย์ยังคงนิ่งอยู่ไม่ได้ตอบอะไร ท่านเกรงจะตกใจและเสียกำลังใจ ก็กลับพูดให้กำลังใจในทันทีนั้นว่า

"มันต้องอย่างนี้ซิ จึงเรียกว่า นักรบ"

เราไม่ใช่...พระเวสสันดรนะ !!!

คราวหนึ่งของการออกวิเวกในป่า ท่านไม่ออกฉันอาหารเป็นเวลาหลายต่อหลายวันเข้าจนเป็นที่ผิดสังเกตของชาวบ้านถึงขนาดหัวหน้าบ้านต้องตีเกราะประชุมลูกบ้านพากันไปดู ก็พบว่าท่านอยู่เป็นปกติ แต่ก็ดูซูบซีดผ่ายผอมมาก เหตุการณ์ตอนนี้ท่านเล่าว่า

"...กระทั่งชาวบ้านเขาแตกบ้านไปดู เรายังไม่รู้อีกว่าเจ้าของจะตาย แต่ชาวบ้านเขารู้ เขาตีเกราะประชุม เคาะ ก็อกๆ พวกลูกบ้านก็พากันมาประชุม

"ใครๆ ว่ายังไง ? ใครเห็นว่ายังไง ? พระองค์นี้ที่มาอยู่บ้านเราเวลานี้ มาได้หลายเดือนแล้วนะ พระองค์นี้มาอยู่ที่นี่ ตั้งแต่มาไม่ได้เห็นมาบิณฑบาต หกวันเจ็ดวันด้อมๆ มาสักวันแล้วหายเงียบ หายเงียบ หายมาอย่างนี้ตลอด

ท่านไม่ตายแล้วเหรอ ? พวกเรากินวันหนึ่งสามมื้อสี่มื้อยังทะเลาะกันได้ ทะเลาะเพราะไม่มีอาหารกิน มันกินข้าวเปล่าๆ ไม่ได้มันจะทะเลาะกัน แต่นี่ท่านไม่เห็นกินเลยนี่ ท่านไม่ตายแล้วเหรอ?"

ผู้ใหญ่บ้านถามลูกบ้าน "ถ้าท่านไม่ตาย ท่านไม่โมโหโทโสอยู่เหรอ ? ไปดูซิ เราก็ไม่เคยเห็นตั้งแต่เกิดมา พระไม่กินข้าว" เขาก็พูดขนาดนั้นละ

"เราก็ไม่เคยเห็นพระไม่กินข้าว เพิ่งเห็นนี่แหละ ลองไปถามท่านดูซิ แต่มีข้อแม้อันหนึ่งนะ" เขาก็ฉลาดพูดอยู่

"เวลาจะไปต้องระวังนะ พระองค์นี้ไม่ใช่พระธรรมดานะ พระองค์นี้เป็นมหานะ" เขาว่า "แล้วไปเดี๋ยวท่านจะเขกหน้าผากเอานะ ไปสู้ท่านไม่ได้ท่านจะเขกหน้าผากเอานะ ให้ระวังนะ ถ้าเป็นพระธรรมดาเราก็พอจะพูดอะไรต่ออะไรกันได้ นี่ท่านเป็นมหาเสียด้วย ท่านทำอย่างนั้นนี่นะ เราไปว่าสุ่มสี่สุ่มห้าไม่ได้นะ เดี๋ยวท่านจะตีหน้าผากเอา"

เขาเตือนลูกบ้านเขา พอมาถึงเราก็เอาจริงๆ หลั่งไหลกันมานี่

"โอ้โฮ นี่มาอะไรนี่ จะมาแห่พระเวสสันดรเข้าเมืองเหรอ ? อาตมาไม่ใช่พระเวสสันดรนะ"

"ไม่ใช่ๆ"

"อย่างนั้นมาอะไร ?"

เขาก็มาเล่าตามเรื่องนี่แหละ ให้ฟังมันก็มีอยู่ 2 จุด จุดหนึ่งว่า

"ท่านไม่ตายแล้วเหรอ ? ถ้าท่านไม่ตายท่านไม่โมโหโทโสอยู่เหรอ ?"

พอเขาพูดจบลง เราก็มีอยู่ 2 จุด เราก็ถาม

"แล้วเป็นยังไง ? ตายแล้วยังล่ะ"

"เอ๊ ก็ไม่เห็นท่านตาย ท่านยิ้มแย้มแจ่มใสอยู่ ไม่เห็นมีอะไรน่าตาย"

"แล้วเป็นยังไง โมโหโทโสอยู่ไหม ?"

"ก็ไม่เห็นท่านโมโหโทโส ท่านยิ้มแย้มอยู่ตลอดเวลา"

"เอาละ ให้เข้าใจนะ การอดอาหารนี่อาตมาอดไม่ใช่เพื่อฆ่าตัวเองนะ อดเพื่อฆ่ากิเลสซึ่งมันฆ่ายาก กิเลสนี่มันอยู่ภายในหัวใจนี่ ต้องใช้การอดอาหารช่วย แล้วความโมโหโทโสก็เป็นกิเลส จะโมโหโทโสไปหาประโยชน์อะไร มีเท่านั้นเหรอ ?"

"มีเท่านั้นแหละ"

"ไป ไล่กลับ ยังไม่ถึง 10 นาทีนะ ไล่กลับ..."

มีครั้งหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องการอดอาหารในระยะที่ท่านยังคงออกวิเวกบำเพ็ญเพียรอยู่คือในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง มีอุบาสกมาพูดอวดภูมิต่อท่าน อุบาสกผู้นี้เคยบวชเรียนมาก่อนหลายพรรษา และมีความรู้จบนักธรรมตรี จึงมีความคุ้นเคยกับชีวิตพระพอสมควร

แกเห็นท่านอดอาหารมาหลายวันแล้ว รู้สึกคัดค้านอยู่ในใจว่าไม่เห็นเป็นประโยชน์อันใด นอกเสียจากจะทำให้ทุกข์ยากลำบาก และเสียเวลาโดยเปล่าเท่านั้นเอง วันหนึ่งแกเลยยกเอาเรื่องในพุทธประวัติมาพูดกับท่านว่า

"ท่านจะอดทำไม ? ก็ทราบในพุทธประวัติว่า พระพุทธเจ้าอดข้าวตั้ง 49 วันก็ยังไม่ได้ตรัสรู้เลย แล้วท่านมาอดอะไร มันจะได้ตรัสรู้หรือ ?"

ในเรื่องนี้ท่านก็เคยรู้เคยศึกษาในตำรามาก่อนแล้วว่า พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระภิกษุอดอาหารเพื่อบำเพ็ญจิตตภาวนาได้ แต่หากเป็นไปเพื่อการโอ้อวด ท่านทรงปรับอาบัติทุกขณะการเคลื่อนไหว หรือการอดอย่างหาเหตุผลไม่ได้ คือสักแต่ว่าอดเพียงอย่างเดียวเท่านั้น โดยไม่ฝึกฝนด้านจิตตภาวนาเลย อย่างนี้ก็ไม่เกิดประโยชน์อันใด นอกเสียจากทำให้ทุกข์ยากลำบากเปล่าเท่านั้น

การอดอาหารของท่านมีความหมายตามตำราที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาต ด้วยเหตุผลคือท่านสังเกตพบว่าจริตนิสัยของท่านนั้นถูกกับการอดอาหาร เพราะช่วยให้การบำเพ็ญจิตตภาวนาเจริญขึ้นได้เร็วกว่าขณะที่ออกฉันตามปกติ ท่านได้พิจารณาอย่างรอบคอบและเห็นผลประจักษ์กับตนเองเป็นลำดับไปเช่นนี้ ทำให้ท่านจึงยังมั่นคงที่จะใช้อุบายวิธีนี้เพื่อการภาวนา และถึงแม้จะมีผู้มาพูดคัดค้านต้านทานอย่างไร ก็ไม่ทำให้ท่านลังเลใจคิดเปลี่ยนแปลงเป็นอื่นได้

ครั้นจะอธิบายเหตุผลให้เป็นที่เข้าใจ ก็ดูว่าเป็นเรื่องยืดยาวเสียเวลาโดยเปล่า เหตุนี้เองท่านจึงชอบที่จะตอบเป็นอุบายให้ได้นำไปคิดอ่าน สำหรับอุบาสกผู้นี้ก็เช่นกัน ท่านตอบกลับไปว่า

"แล้วโยนกินทุกวันเหรอ ?"

"กินทุกวันนะซิ ผมไม่อดหรอก"

ว่าดังนั้นแล้ว ท่านก็พูดใส่ปัญหาแก่อุบาสกผู้เข้าใจว่าตัวรู้เรื่องในตำราเป็นอย่างดีว่า

"...แล้วโยมได้ตรัสรู้ไหม ???..."

ถือ "ความทุกข์" เป็นครู เป็นหินลับสติปัญญา

ความเป็นนักต่อสู้ของท่านอีกประการหนึ่งก็คือ แม้อุบายวิธีบางอย่างจะทำให้ท่านต้องพบกับความทุกข์แสนทุกข์ แต่หากผลปรากฏเป็นความเจริญทางด้านจิตใจมากขึ้น ท่านก็จะพยายามอดทนต่อสู้ให้ผ่านไปให้จงได้ คำกล่าวตอนหนึ่งของท่านกับพระเณรดังนี้

"...นิสัยของผมเองนั้นเป็นนิสัยที่หยาบ จะว่าคนหยาบก็ได้ ไปอยู่ในสถานที่ธรรมดา ความเพียรไม่ค่อยดี ผลที่จะพึงได้ก็ไม่ค่อยปรากฏนัก...แต่หากเป็นบางสถานที่แล้วกลับทำให้ธรรมภายในใจเจริญขึ้นๆ...

...จึงมักแสวงหาในที่กลัวๆ เสมอ ทั้งๆ ที่เราก็กลัว แต่ผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากความกลัวนั้นเป็นผลประโยชน์อัศจรรย์มหาศาล เราจึงจำเป็นต้องได้สละเป็นสละตายเข้าอยู่บำเพ็ญเพื่อธรรม..."

ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงนิยมใช้อุบายฝึกจิต ด้วยการเข้าป่าช้าเผาหรือฝังคนตายบ้าง ในถ้ำเงื้อมผาป่าดงบ้าง ในดงที่เป็นที่อยู่ของช้าง หมี เสือ หรือสัตว์ร้ายต่างๆ บ้าง อาศัยสัตว์เหล่านั้นเป็นครู ท่านออกวิเวกบางสถานที่เป็นที่ที่เสือมักชอบผ่านมา หรือเป็นที่อาศัยของมันในบริเวณใกล้ๆ กันนั้น แม้ว่าจะเดินหรือนั่งตรงไหนอย่างไร ก็คิดกลัวอยู่ตลอดว่า มันคงจะอยู่ใกล้ๆ หรือกลัวว่ามันจะมากัดกิน ท่านเคยเล่าถึงสถานที่เช่นนี้ว่า

"...น่ากลัวจริงๆ กลางวันก็กลัว เวลาไหนก็กลัว ยิ่งกลางคืนด้วยแล้วจิตยิ่งมีแต่ตั้งหน้าตั้งตาที่จะกลัว นั่งก็กลัว เดินจงกรม กลางค่ำกลางคืนดึกดื่นก็เดินทั้งๆ ที่กลัวๆ นั้นเอง..."

ท่านเล่าถึงคราวเข้าไปดัดตัวเองที่ป่าเสือแห่งหนึ่ง ดังนี้

"...อยู่ในป่าในเขามันตื่นเต้น...แต่ก่อนเป็นป่าพวกสัตว์พวกเสือเนื้อร้ายเต็มไปหมดจริงๆ...ก้าวเข้าทางนี้ปั๊บเป็นป่าแล้วมีสัตว์แล้ว พวกสัตว์พวกเนื้อ พวกอีแก้ง พวกหมู พอลึกเข้าไปก็พวกกวาง พวกช้าง พวกเสือ เสือมีอยู่ทั่วไป สัตว์มีอยู่ที่ไหน เสือมีอยู่ที่นั่น มีอยู่ทั่วไป...

บางทีก็เสียงเสืออาวๆ ขึ้นแล้ว อาวๆ ขึ้นข้างทางจงกรม โถ เสียงเสือมันไม่เหมือนเสียงเพลงลูกทุ่งละซี มันจะงับหัวเอาประมาทได้เหรอ เสียงอาวๆ ขึ้นข้างๆ ไม่รู้มันมาตั้งแต่เมื่อไร ตอนมันหยุดเสียงคำรามมันอาว ตามภาษาของมันแล้วนั่นละ มันน่ากลัวตอนนั้น ไม่ทราบมันจะมาแบบไหนซิ ได้ยินเสียงมันอยู่ มันอยู่ตรงนั้นก็ค่อยยังชั่วนะ พอเงียบเสียงไปแล้วไม่ทราบจะมาแบบไหน...

...เราไปอยู่ในที่ดัดสันดานจริงๆ นะ ไม่ใช่ธรรมดานะ มีแต่ที่ดัดสันดานทั้งนั้นแหละ ป่าก็ป่าเสือ กลางคืนเวลาเราเดินจงกรม มันไม่ใช่ธรรมดานะ แล้วยิ่งเสียงเสือด้วยนะ เราไปอยู่แคร่ ตอนตื่นเช้ามาเห็นรอยมันผ่านไปทางนี้แล้วฉากออกไป เพราะเราปัดกวาดไว้เรียบร้อย มันเดินผ่านไปผ่านมา มันก็เห็น โอ้ เสือมา มาเมื่อไหร่ไม่รู้ แต่เขาก็ไม่ได้สนใจกับเรา เขาเดินฉากไปเฉยๆ แสดงว่าเขาไม่ได้สนใจกับเรา เขาไปตามประสาของเขา เราก็รู้

ถ้ามันเดินวกเวียนนี่สนใจนะ มันสนใจ ถ้าพอทำ (หมายถึงเสือกัดกิน) มันก็อาจจะทำอย่างว่านะ นี่ไม่มี ไม่เคยปรากฏ เราเองก็ไม่เคยปรากฏ เสือจริงๆ ก็ไม่เคยเห็นในป่า แต่เสียงมันมีอยู่ทั่วไป กระหึ่ม กระหึ่ม

โอ้ ขนนี้ไม่ทราบว่ามันลุกซู่ผึงเหมือนจรวดดาวเทียม มันเป็นเองนะ ไม่ทราบว่ากลัวไม่กลัว มันลุกซู่ จิตหดเข้ามาหันเข้ามา สมมติว่าอยู่ในขั้นบริกรรม พุทโธ ก็ติดกับ พุทโธ ไม่ให้ออกไปหาเสือ ความคิดนี้จะไปคว้าเอาพิษเอาภัย เอาอารมณ์ไม่ดีงามเช่นอย่างกลัวอย่างนี้ มันก็เป็นอันตรายอันหนึ่ง ต้องคิดอย่างนั้นไม่ให้ออก หมุนติ้วนั่นมันเป็นอย่างนั้น..."

ชนะความกลัวด้วย "พุทโธ"

ท่านว่าจากนั้นท่านก็ใช้ความกลัวนี้เองเป็นครูหรือเป็นอุบายเพื่อฝึกจิตให้เห็นเหตุเห็นผลกัน ดังท่านเคยเล่าว่า

"...พอความกลัวเริ่มขึ้นมาก สติเริ่มจับ คือจิตนี้ห้ามหรือบังคับเด็ดขาดไม่ให้เคลื่อนจากจุดที่ตนต้องการ เช่น เราบริกรรม พุทโธ พุทโธ...ก็ให้อยู่กับคำบริกรรมนี้เท่านั้น เป็นก็ตาม ตายก็ตาม เสือก็ตาม ช้างก็ตาม สัตว์อันตรายใดๆ ก็ตาม ไม่ไปคิด ไม่ไปยุ่ง ให้รู้อยู่จุดเดียวคือคำบริกรรมนี้เท่านั้น

นี่หมายถึงขั้นเริ่มแรกของการภาวนา ซึ่งต้องอาศัยคำบริกรรม กลัวมากเท่าไร จิตยิ่งติดแนบกับคำบริกรรมไม่ให้ปราศจากเลย ความมุ่งหมายนั้นคือหมายตายกับธรรมนี้เท่านั้น ไม่ให้จิตไปสู่อารมณ์ที่กลัวนั้นๆ ธรรมคืออะไร คำบริกรรมนั้นแลคือบทแห่งธรรม...

ธรรมแท้จะปรากฏที่จิต ที่จิตกำลังบริกรรมอยู่นั้นแหละคือสั่งสมพลังของธรรมให้เกิดขึ้นที่ใจมากน้อยตามความพากเพียรของตน

เมื่อสติได้ติดแนบอยู่กับคำบริกรรมบังคับจิตไม่ให้แย็บออกไปสู่อารมณ์ที่เป็นภัย ซึ่งทำให้น่ากลัวน่าหวาดเสียวนั้น ให้อยู่เฉพาะกับคำบริกรรมนี้ติดต่อสืบเนื่องกันเป็นลำดับลำดา ก็เป็นการสั่งสมพลังคือกำลังของอรรถของธรรมขึ้นภายในจิตใจ หนุนใจให้มีความแน่นหนามากขึ้นๆ

สุดท้ายจิตใจดวงนั้นก็แน่นเหมือนกับหินทั้งก้อนหรือภูเขาทั้งลูก...ที่นี้ ความที่เคยว่ากลัวๆ คิดไปถึงอันใด คำว่าน่ากลัวไม่กลัวทั้งนั้น เอ้า ! คิดหมดในแดนโลกธาตุนี้กลัวอะไร จะมีสิ่งน่ากลัวแม้สิ่งหนึ่งมาปรากฏที่ใจนี้มีไหม ไม่มีเลย นั่นฟังซิ นั่นละ เมื่อถึงขั้นจิตเป็น อัตตา หิ อัตตโน นาโถ คือช่วยตัวเองช่วยอย่างนั้น พึ่งตนเองพึ่งอย่างนั้นอยู่กับตัวเองด้วยความแน่นหนามั่นคงก็อยู่แบบนั้น...นี่เป็นสิ่งที่เราลืมไม่ได้ในชีวิตและการภาวนาของเราซึ่งไปอยู่ในสถานที่เช่นนั้น..."

เสือ : หมูป่าต่อสู้ดุเดือด

ประสบการณ์การเที่ยววิเวกของท่านทำให้ได้ยินได้ฟังเรื่องราวแปลกๆ เกี่ยวกับสัตว์ป่าหลายอย่าง เป็นต้นว่าท่านเคยเล่าการต่อสู้ระหว่างเสือกับหมูป่า ทั้งคู่นอนตายอยู่ในบริเวณใกล้ๆ กัน สภาพหมูป่าตามตัวแหลกหมด ส่วนเสือก็พุงทะลุหมด ด้วยเหตุเพราะไปเจอกันอย่างจังในช่องเขา ดังนี้

"...มันเป็นร่องลงมา ภูเขามันมีช่องลง ช่องแคบๆ นะ ทางโน้นเป็นหลังเขา ที่จากหลังเขาลงมามันก็เป็นช่องแคบลงมา ทีนี้พอดี ไอ้หมูก็ขึ้นช่องนี้ หมูใหญ่นะ...มันเห็นกันชัดๆ อย่างนั้นนะ ไอ้เสือก็ลงมาช่องนั้นพอดี มาพบกันตรงกลางนั้นเลย ฟัดกันเลย นั่นเห็นไหมล่ะ ตายทั้งสองนะ หมูตายอยู่กับที่ เสือเสือกคลานขึ้นไปตายข้างบน ตายทั้งสองเลยนั่นแหละ อย่างนั้น กำลังวังชามันฟัดกัน นี่ไปถูกที่คับขันด้วยแล้ว ต่างคนต่างก็ไม่ถอยกัน สู้กันเลย

สุดท้ายก็ตายทั้งสองเลย หมูตายอยู่กับที่ ส่วนเสือตะเกียกตะกายขึ้นไปนั้นก็ไปตายอยู่ที่นั่น พุงทะลุหมดเลย ลำไส้นี่ปลิวออกมาทะลุหมด ส่วนหมูก็ตามเนื้อตัวแหลกหมด เสือกัด ไอ้เสือก็พุงทะลุหมด หมูดันมันทำอย่างนี้นะ หมูมันทำอย่างนี้ สมมติว่ามันดันอย่างนี้ ไม่ใช่ตกง่ายๆ นะ มันขวิด ขวิดตลอดเลยนะ นี่ก็ตาย อย่างนั้นแหละ มันไม่ถอยกันง่ายๆ

ที่เสือกัดมันได้เฉพาะเวลามันเผลอ ถ้าเป็นหมูใหญ่หมูโทนอย่างนั้น เวลามันผ่านไปผ่านมาเราถึงฟังเสียงรู้ หมูนี้รู้สึกว่าไม่ขยาดครั่นคร้ามต่ออะไร เสียงดังโครมคราม โครมคราม โครมครามมา ไม่ได้เก็บเสียงนะ พวกหมูป่าเป็นฝูง ก็มีเสียงดังเหมือนกัน..."


(มีต่อ 9)

เจ้าของ:  สาวิกาน้อย [ 24 ธ.ค. 2010, 10:32 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

รูปภาพ

ตอนที่ 6 สมาธิแน่นหนามั่นคง

ติดสุขในสมาธิ

ย้อนกลับมากล่าวถึงการโหมความพากเพียรในพรรษที่ 10 ของหลวงตาจนทำให้ผลแห่งสมาธิธรรมของท่านในระยะนั้นมีความแน่นหนามั่นคงมาก ดังนี้

"...จิตมีความเจริญขึ้นเรื่อยๆ สมาธิมีความแน่นหนามั่นคง ถึงขนาดที่ว่าจะให้แน่วอยู่ในสมาธินั้นสักกี่ชั่วโมงก็อยู่ได้ และเป็นความสุขอย่างยิ่งจากการที่จิตใจไม่ฟุ้งซ่าน รำคาญ ไม่อยกาจะออกยุ่งกับอะไรเลย มันเป็นการยุ่ง กวน รบกวนจิตใจให้กระพื่อมเปล่าๆ แต่มีความพอใจยินดีอยู่กับการที่จิตหยั่งเข้าสู่ความรู้อันเดียวแน่วอยู่อย่างนั้น นี่ละมันทำให้ติดได้อย่างนี้นี่เอง

จนขนาดที่ว่า สุดท้ายก็นึกว่าความรู้ที่เด่นๆ อยู่นี้เองจะเป็นนิพพาน จ่อกันอยู่นั้นว่าจะเป็นนิพพาน สุดท้ายมันก็เป็นสมาธิอยู่อย่างนั้นละ จนกระทั่งวันตายก็จะต้องเป็นสมาธิและติดสมาธิจนกระทั่งวันตาย..."

สำหรับตัวท่านติดสมาธิอยู่เช่นนี้ถึง 5 ปีเต็ม ยังไม่ยอมก้าวเข้าสู่ขั้นปัญญาเพื่อถอดถอนกิเลสออกให้สิ้นซาก ไต่ถามผู้รู้เพื่อหาเหตุผล เหตุการณ์ในระยะที่ยังคงติดสมาธิอยู่นี้ ท่านกล่าวด้วยระลึกคุณของท่านอาจารย์มั่นว่า

"...หากไม่มีท่านอาจารย์มั่นมาฉุดมาลากออกไป ก็จะติดสมาธิอยู่เช่นนี้กระทั่งวันตายเลยทีเดียว แม้กระนั้นก็ตาม ก็ยังไม่ยอมลงใจง่ายๆ กลับมีข้อโต้เถียง หาเหตุหาผลกับท่านอาจารย์มั่นชนิดตาดำตาแดงทีเดียว จนถึงกับว่าพระทั้งวัดแตกฮือกันมาเต็มอยู่ใต้ถุนกุฎิเพื่อฟังการโต้กับท่านอาจารย์มั่น..."

ท่านไม่ได้โต้ครูบาอาจารย์ด้วยทิฐิ มานะอวดรู้อวดฉลาด แต่เป็นการโต้ด้วยความที่ท่านมีความเข้าใจและเชื่อมั่นว่า อันนี้ก็เป็นของจริงอันหนึ่งของท่าน ส่วนท่านอาจารย์มั่นก็จริงอันหนึ่งของท่านเช่นกัน จึงเป็นการโต้เพื่อหาเหตุหาผลหาหลักเกณฑ์จริงๆ แต่สุดท้ายท่านก็ยอมหมอบราบต่อเหตุผลต่อความแยบคายด้วยความรู้จริงเห็นแจ้งของครูบาอาจารย์ การโต้หาความจริงในครั้งนั้นของท่าน เริ่มด้วยคำถามของท่านอาจารย์มั่นว่า "ท่านมหา สบายดีเหรอ ใจ ?"

ลูกศิษย์ตอบ "สบายดีอยู่ สงบดีอยู่ครับกระผม"

"ท่านจะนอนตายอยู่นั้นเหรอ ?"

อาจารย์ถามต่อพร้อมกับแสดงสีหน้าสีตาแบบเอาจริงชนิดเตรียมเข่นเต็มที่แล้วว่า "ท่านรู้ไหม ? สุขในสมาธิเหมือนกับเนื้อติดฟัน ท่านรู้ไหม? สมาธิก็เหมือนกับเนื้อติดฟันนั้นแหละ มันสุขขนาดไหน เนื้อติดฟัน ท่านรู้ไหม ?ๆ" ท่านขนาบต่ออีกว่า "ท่านรู้ไหมว่า สมาธิทั้งแท่งนั้นละคือตัวสมุทัยทั้งแท่ง ท่านรู้ไหม ?ๆ"

ลูกศิษย์โต้เหตุผลกับอาจารย์ทันทีว่า "ถ้าหากว่าสมาธิเป็นตัวสมุทัยแล้ว สัมมาสมาธิจะให้เดินที่ไหน !"

อาจารย์แก้ว่า "มันก็ไม่ใช่สมาธิตาย นอนตายอยู่อย่างนี้ซิ สมาธิของพระพุทธเจ้า สมาธิต้องรู้สมาธิ ปัญญาต้องรู้ปัญญา อันนี้มันเอาสมาธิเป็นนิพพานเลย มันบ้าสมาธินี่ สมาธินอนตายอยู่นี้เหรอเป็นสัมมาสมาธิน่ะ เอ้าๆ พูดออกมาซิ"

คราวนี้ลูกศิษย์จึงยอมลงใจ ยอมหมอบราบต่อครูบาอาจารย์ เพราะชัดเจนในเหตุผลแล้ว เพราะจากบ้านไปนาน

จะขอกล่าวถึงเหตุการณ์หนึ่ง ซึ่งเป็นปีที่ท่านบวชได้ 12 พรรษา ครั้งนั้นท่านมีความจำเป็นต้องเข้ามาทำธุระที่อุดรธานี หลังจากพักได้ระยะหนึ่งแล้ว ขณะที่ท่านกำลังจะเข้าไปในตลาด ทันในนั้นหญิงสาวรุ่นคนหนึ่งอายุราว 17-18 ปี ก็ตรงรี่เข้ามาหาท่าน จากนั้นจึงนั่งลงแล้วประนมมือขึ้น และถามขึ้นด้วยน้ำเสียงที่บ่งบอกว่าเป็นคนคุ้นเคยกันมานานแล้วว่า

"เอ้า หลวงพี่จะกลับแล้วหรือ ?"

ท่านรู้สึกแปลกใจอยู่ไม่น้อย นึกอยู่ในใจว่า "ใครกันหนอ ? เด็กน้อยนี่ทำไมถึงได้ฉลาดกล้าเข้ามาถามเราในท่ามกลางฝูงชนเช่นนี้หนอ ?"

จากนั้นท่านก็ตอบด้วยท่าทางเป็นปกติว่า "ยัง เราเข้าไปธุระในตลาดเฉยๆ นางมาจากไหนละ ?"

พอถามเช่นนี้เข้า ถึงกับทำให้หญิงสาวคนนั้นระเบิดหัวเราะออกมาเสียยกใหญ่ เพราะขบขันว่าพี่ชายไปบวชแล้ว คงจะจากบ้านไปอยู่ป่าเสียนาน จนกระทั่งจำไม่ได้แม้แต่น้องสาวของตัวเอง จึงพูดทั้งที่ยังหัวเราะอยู่นั้นว่า "โอ๋ยหนอจำไม่ได้กระทั่งน้องสาวน้อ"

น้องสาวพูดขึ้นเช่นนั้น พร้อมบอกชื่อบอกนามช่วยฟื้นความจำให้ ท่านจึงนิ่งคิดอยู่นิดหนึ่ง พอระลึกได้เท่านั้นก็หัวเราะขึ้นเช่นกัน "โอ๋ย เราก็จำไม่ได้"

เหตุที่ท่านจะจำน้องสาวคนนี้ไม่ได้ ก็เพราะตอนท่านออกบวช น้องสาวอายุได้ 5 ขวบเท่านั้น เมื่อท่านจากไปในที่ต่างๆ นานๆ ครั้งจึงจะกลับมาเยี่ยมบ้าน ครั้นเมื่อน้องๆ โตเป็นหนุ่มเป็นสาวแล้ว ท่านเลยไม่สามารถจะจดจำได้

รูปภาพ


(มีต่อ 10)

เจ้าของ:  สาวิกาน้อย [ 24 ธ.ค. 2010, 10:33 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

รูปภาพ
ครูบาอาจารย์พระป่ากรรมฐาน สานุศิษย์ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ
จากภาพ..แถวยืนองค์ที่ 2 จากขวามือ คือ หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน



ตอนที่ 7 ก้าวเดินทางปัญญา

เครื่องประกอบครบ

ในช่วง 5 ปีที่ติดสมาธิอยู่นั้น ท่านกล่าวว่า ผลแห่งสมาธิธรรมของท่านในระยะนั้นมีความแน่นหนาพอตัวแล้ว ถ้าเป็นประเภทอาหารก็เรียกว่า มีทั้งผัก ทั้งเนื้อ ปลา เครื่องปรุงอะไรต่างๆ ครบหมดแล้ว จะทำเป็นแกงก็ได้ หุงต้มก็ได้ ทอดก็ได้ เป็นแต่เพียงว่าเอามาแช่ไว้เฉยๆ ยังไม่ยอมแกงเท่านั้นเอง เพราะท่านว่ามัวแต่มากินสมาธิว่าเป็นมรรคผลนิพพาน มัวมากินผักกินหญ้าด้วยเข้าใจว่าเป็นแกง ต่อเมื่อเริ่มก้าวเดินทางด้านปัญญา จึงเท่ากับเอาอาหารประเภทต่างๆ เหล่านั้นมาแกงกิน ดังนี้

"...พอออกจากสมาธิ ด้วยอำนาจธรรมอันเผ็ดร้อนของท่านอาจารย์มั่นเข่นเอาอย่างหนัก จึงออกพิจารณา พอพิจารณาทางด้านปัญญาก็ไปได้อย่างคล่องตัวรวดเร็วเพราะสมาธิพร้อมแล้ว เหมือนกับเครื่องทัพสัมภาระที่จะมาปลูกบ้านสร้างเรือนนี้มีพร้อมแล้ว เป็นแต่เราไม่ประกอบให้เป็นบ้านเป็นเรือนเท่านั้น มันก็เป็นเศษไม้อยู่เปล่าๆ ไม่เกิดประโยชน์อะไร

นี่สมาธิก็เป็นสมาธิอยู่อย่างนั้น เมื่อไม่นำมาประกอบให้เป็นสติปัญญามันก็หนุนอะไรไม่ได้ จึงต้องพิจารณาตามอย่างที่ท่านอาจารย์มั่นท่านเข่นเอา พอท่านเข่นเท่านั้นมันก็ออก พอออกเท่านั้น มันก็รู้เรื่องรู้ราว ฆ่ากิเลสตัวนั้นได้ ตัดกิเลสตัวนี้ได้โดยลำดับๆ เกิดความตื่นเนื้อตื่นตัวขึ้นมา

"โธ่ ! เราอยู่ในสมาธิ เรานอนตายอยู่เฉยๆ มากี่ปีกี่เดือนแล้ว ไม่เห็นได้เรื่องได้ราวอะไร"

คราวนี้ก็เร่งทางปัญญาใหม่ หมุนติ้วทั้งกลางวันกลางคืนไม่มีห้ามล้อบ้างเลย แต่ผมมันนิสัยโลดโผนน่ะ ถ้าไปแง่ไหนมันไปแง่เดียว พอดำเนินทางปัญญาแล้ว มันก็มาตำหนิสมาธิว่า

"มานอนตายอยู่เปล่าๆ"

ความจริงสมาธิก็เป็นเครื่องพักจิต ถ้าพอดีจริงๆ ก็เป็นอย่างนั้น นี่มันกลับมาตำหนิสมาธิว่ามานอนตายอยู่เปล่าๆ กี่ปีไม่เห็นเกิดปัญญา..."

บ้าหลงสังขาร

โดยปกติท่านอาจารย์มั่นจะพูดกับท่านแบบธรรมดาคล้ายพ่อแม่พูดกับลูก แต่หากเป็นเรื่องเกี่ยวกับการภาวนาแล้ว จะไม่พูดแบบธรรมดาเลย แต่จะจริงจังเด็ดขาดและพูดอย่างคึกคักเต็มที่ ซึ่งถูกกับจริตนิสัยที่ผาดโผนจริงจังของท่านมาก คราวนี้ก็เช่นกัน หลังจากที่เพลินกับการพิจารณาทางด้านปัญญาถึงกับลืมหลับลืมนอน จนกระทั่งท่านอาจารย์มั่นต้องได้ใส่ปัญหาแก่ท่าน ดังนี้

"...เวลามันออกทางด้านปัญญาแล้วนะ

"โห ! มันพิจารณาทั้งวันทั้งคืน ไม่ได้หลับได้นอน นี่ก็ไม่ได้นอนมา 2 คืน 3 คืนแล้ว มันหมุนติ้วๆ เลย ทั้งวันเลย"

"นั่นละ มันหลงสังขาร" ท่านอาจารย์มั่นว่า

จึงโต้เหตุผลกับอาจารย์มั่นว่า

"ไม่พิจารณามันก็ไม่รู้ ถ้าไม่พิจารณา มันก็ไม่รู้"

"นั่นละ บ้าสังขาร บ้าหลงสังขาร..."

ทีแรกนี้ท่านไม่เข้าใจคำว่า บ้าหลงสังขาร เพราะท่านอาจารย์มั่นก็ไม่ได้อธิบายถึงความหมายไว้ให้ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะท่านรู้ถึงอุปนิสัยของลูกศิษย์ว่าเป็นคนผาดโผน จึงได้ใส่ปัญหาแบบผาดโผนให้ ต่อเมื่อผ่านไปแล้ว ท่านจึงเข้าใจความหมายดังนี้

"...ความหมายท่านว่า ถ้าจะพูดให้พอเหมาะนะคือ เราจะใช้ทางด้านแก้กิเลสก็ตาม เรื่องของมรรคก็ตาม เรื่องของสมุทัยก็ตาม จะต้องเอาสังขารนี้ออกใช้ แต่เวลานี้สังขารมันใช้จนเลยเถิด มันเกินประมาณ มันเป็นสมุทัย ให้ใช้พอเหมาะพอดีมันจึงเป็นมรรคฆ่ากิเลส นี่มันเลยเถิดแล้ว จึงไม่ได้หลับได้นอน

เพราะงั้นท่านถึงบอก มันหลงสังขารคือสังขาร มรรคที่แก้กิเลสนี้ มันเป็นสมุทัยอยู่ในตัวของมันนั้น นี้เราไม่รู้นี่ ท่านเหนือกว่า ท่านรู้นี่ เราถึงได้เถียงกับท่าน

"ถ้าไม่พิจารณามันก็ไม่รู้"

"นั่นแหละมันหลงสังขาร บ้าหลงสังขาร"

ขนาบเลย ทิ้งหมดเลยปัญหานี้ท่านไม่เอาไว้เลยนะ ท่านโยนทิ้งหมด ให้เราหาใหม่..."

แบ่งพัก แบ่งสู้

ถึงตอนนี้เมื่อท่านอาจารย์มั่นใส่ปัญหาให้ท่านได้ขบคิด ท่านจึงใคร่ครวญดูใหม่พบว่า

"...จึงได้มายับยั้งชั่งตัว เวลามันไปเต็มเหนี่ยวของมันแล้วก็ลืมใต้จิต แล้วก็หลงสังขาร ก็เอาอันนั้นเข้ามาพิจารณาย้อนเข้ามา หักเอาไว้ เบรกเอาไว้ เบรกอย่างแรงเลย เมื่อมั่นไปเต็มเหนี่ยวแล้วมันเมื่อยมันเพลีย แต่จิตไม่ยอม สติปัญญาไม่ถอย รั้งเอาไว้ๆ ให้เข้าสู่สมาธิเพื่อความสงบพักงาน บีบบังคับให้เข้ามาๆ

จนกระทั่งเอาคำบริกรรม พุทโธ มาบริกรรม พุทโธ พุทโธ...ให้มาอยู่กับ พุทโธ ไม่ให้มันออกไปทำงาน นี่มันจะเลยเถิดอีกให้มันรั้งเข้ามา ให้มันอยู่กับความสงบคือสมาธิของเรานั่นแหละ สมาธิมันเต็มภูมิอยู่แล้ว แต่ไม่ได้ใช้ เห็นว่าสมาธินี้เหมือนเรานอนตายว่างั้นเถอะ ติดสมาธินี้

ทีนี้มันก็หมุนสติปัญญา ทีนี้มันจะเลยเถิดอีก รั้งเข้ามา ทีนี้เวลาจิตมันเข้าสู่ความสงบนะ แน่ว โอ้โห เหมือนถอดเสี้ยนถอดหนาม สงบเย็น...แต่กระนั้นยังต้องบังคับไว้นะ ไม่งั้นมันพุ่งออกทำงานอีก งานมันยังเหนืออันนี้อีก ต้องบังคับไว้ แต่จับเงื่อนได้ว่า เมื่อเข้าพักสงบแล้ว มันมีกำลังวังชาแล้วออกไปทำงานได้ เหมือนกับเราทำการทำงานมามากแล้วเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า เราก็มาพักผ่อนนอนหลับหรือรับประทานอาหารเสร็จแล้วก็มาพักผ่อนนอนหลับซะ

ถึงจะเสียเวล่ำเวลาหน้าที่การงานไปในเวลานั้นก็ตาม แต่เสียไว้เพื่อสั่งสมกำลังในงานต่อไป อันนี้จิตของเรามันจะพุ่ง พุ่งเข้างานก็ตาม แต่การพักนี้เพื่อเป็นกำลังของจิตที่จะดำเนินงานต่อไป นี่มันถึงได้รู้ เวลาออกทางด้านปัญญานี่ โถ ! ไม่มีในตำรา ว่างั้นเถอะ เราก็เรียนมาเหมือนกัน เพราะฉะนั้น จึงกล้าพูดได้...ตามต้อนกิเลส กิเลสประเภทไหนเป็นยังไง สติปัญญานี้เหนือกว่าๆ ตามต้อนกันทัน เผากันไปเรื่อยๆ มันเป็นเอง นั่นละที่มันเพลิน มันไม่ได้หลับได้นอน มันเพลินฆ่ากิเลส เพราะมันเห็นอภัยอย่างสุดหัวใจแล้ว ถึงขนาดที่ว่า

"ยังไงกิเลสไม่ตาย เราต้องตาย"

มวยคลุกวงใน

เมื่อถึงขั้นนี้แล้ว ท่านว่ามันยิ่งเห็นโทษเห็นภัยของกิเลสอย่างหนัก ขณะเดียกวันก็เห็นคุณค่าของความหลุดพ้น มีน้ำหนักเท่าๆ กัน เมื่อเป็นเช่นนี้ การต่อสู้ห้ำหั่นระหว่างธรรมกับกิเลสจึงไม่มีวันที่จะยอมแพ้กันได้เลย ท่านเล่าอย่างถึงใจว่า

"...มันก็พุ่งน่ะสิ มีแต่ว่าตายเท่านั้น เรื่องแพ้ไม่พูดเลย แพ้ก็ต้องแบกหามลงเปลไปเลย ที่จะให้ยกมือยอมแพ้นั้น ไม่มีซัดกันขนาดนั้น...ถ้าได้ลงทางจงกรมแล้ว มันไม่รู้จักหยุด ไม่ว่าเวล่ำเวลาร้อนหนาวมันไม่ได้สนใจ คือจิตมันอยู่ที่นี่ มันไม่ได้ออกนะ ออกไปตามดินฟ้าอากาศนี้ไม่ได้ ออกไปหาร่างกายนี้วันหนึ่งมันก็ไม่ได้ออก มันฟัดกันอยู่ภายในเหมือนนักมวยเข้าวงในว่างั้นเถอะนะ ใครจะไปสนใจเรื่องความเจ็บปวด มันไม่สนใจนะ

อันนี้กิเลสมันเข้าวงในนะ ระหว่างธรรมกับกิเลสฟัดกันวงใน มันเป็นอย่างนี้หมุนติ้วๆ เดินจงกรมตั้งแต่ฉันอาหารเสร็จแล้ว จนกระทั่งถึวเวลาปัดกวาดตอนเย็นนะ มันเดินได้ยังไง คือมันไม่รู้เวล่ำเวลา

จนกระทั่งเวลาหยุดจากทางจนงกรมแล้ว มองเห็นกาน้ำนี้มันจะตายเลย มันไม่ได้กินน้ำ โดดคว้ากาน้ำมารินนี้ กลืนนี่ โหกลืนไม่ทัน สำลัก กั๊กๆๆ เวลามันฟัดกันนี่ ไม่ได้สนใจกับสิ่งเหล่านี้นะ เวลาออกมาแล้วมาเห็นกาน้ำนี่สิ โอ้โห โดยใส่เลยเชียวนะ มันจะตาย แหมมันขนาดนั้นนะ

เราไม่ถึงฝ่าเท้าแตกแต่ออกร้อน โอ้โหเหมือนไฟลนแหละ พอมาถึงที่พักถึงรู้นะ ตอนนั้นไม่รู้ แดดก็ไม่รู้ร้อน มันไม่สนใจกับแดดกับฝนอะไร แต่ไม่ได้เคยตากฝนเดินจงกรม แต่ตากแดดนี่เคยแล้ว เราเอาผ้าอาบน้ำมาพับครึ่ง แล้วก็มัดผูกบนศีรษะนี่ แล้วก็มาผูกใส่คางเหลือแต่ตา

เดินจงกรมกลางแจ้งทีเดียว บนไร่ร้างสวนร้าวเขา เอากันอยู่นั่น ไม่มีร่มเลย ร่มไม่ร่มช่างหัวมัน ฟาดลงนั้นเลย ทำได้นะไม่สนใจช่างหัวมัน ฟาดลงนั้นเลย ทำได้นะ ไม่สนใจกับร้อนกับหนาวอะไรเลย เพราะอันนี้มันรุนแรงภายในใจ

นี่...แล้วไม่ใช่เดินอยู่วันหนึ่งวันเดียว นั่นซี มันเป็นประจำของมันอย่างนั้น พอเข้าทางจงกรมแล้ว เท่านั้นแหละ ไม่มีเวล่ำเวลานาทีมายุ่งกวน มีแต่อันนี้ฟัดกันอยู่ภายใน หมุนติ้วๆ เราก็เดิน ก็เดินไปยังงั้นล่ะ แต่ทางนี้ทำงานอยู่ตลอดเวลา เดินสะเปะสะปะไปตามเรื่องของมัน ที่นี้เดินไม่หยุดสิวันนี้ก็เดิน วันหน้าก็เดิน เดินหลายวันต่อหลายวัน...

...เดินจงกรมไม่รู้จักหยุด...ไม่รู้ว่าเหนื่อยว่าอะไร เพราะมันหมุนติ้วๆ อยู่นี่ งานอยู่นี้ เดินไปบางทีเดินจงกรมนี้ โน่นเซซัดเข้าไปในป่าโน่น โครมครามในป่าโน่น เพราะจิตมันไม่ออก ตาก็มืดมัวไปหมดละซี มีแต่ขาก้าวไปๆ ก็เข้าไปโน่น แล้วออกมาอีกที เอาอีกอยู่งั้น คำว่าทำน้ำท่าอะไรๆ ไม่สนใจทั้งนั้นเมื่อถึงขั้นตะลุมบอนกัน..."

มองดูคน...เนื้อหนังแดงโร่

ย้อนกล่าวถึงอุบายวิธีพิจารณาด้านปัญญาที่ท่านดำเนินเป็นลำดับมานี้ ท่านเคยกล่าวไว้ในคราวอบรมพระเณรเสมอๆ เพราะเป็นสิ่งที่ท่านเน้นหนักมาก เฉพาะอย่างยิ่งแก่นักบวช จะได้รู้จักวิธีพิจารณาอันนำมาซึ่งความสงบร่มเย็นภายในใจ ดังนี้

"...ก็เร่งทางด้านปัญญา เร่งทางกายนี้ก่อน ตอนอสุภะ นี่สำคัญอยู่มากนะ สำคัญมากจริงๆ พิจารณาอสุภะนี่มันคล่องแคล่งแกล้วกล้า มองดูอะไรทะลุไปหมด ไม่ว่าจะหญิงจะชายจะหนุ่มจะสาวขนาดไหน

เอ้า พูดให้เต็มตามความจริงที่จิตมันกล้าหาญน่ะ ไม่ต้องให้มีผู้หญิงเฒ่าๆ แก่ๆ ละ ให้มีแต่หญิงสาวๆ เต็มอยู่ในชุมนุมนั้นน่ะ เราสามารถจะเดินบุกเข้าไปในที่นั่นได้ โดยไม่ให้มีราคะตัณหาอันใดแสดงขึ้นมาได้เลย นั่นความอาจหาญของจิตเพราะอสุภะ

มองดูคนมีแต่หนังห่อกระดูก มีแต่เนื้อแต่หนังแดงโร่ไปหมด มันเห็นความสวยความงามที่ไหน เพราะอำนาจของอสุภะมันแรง มองดูรูปไหนมันก็เป็นแบบนั้นหมด แล้วมันจะเอาความสวยงามมาจากไหนพอให้กำหนัดยินดี เพราะฉะนั้น มันจึงกล้าเดินบุก เอ้า ! ผู้หญิงสาวๆ สวยๆ นั้นแหละ บุกไปได้อย่างสบายเลยถึงครามมันกล้า เพราะเชื่อกำลังของตัวเอง

แต่ความกล้านี้ก็ไม่ถูกกับจุดที่จิตอิ่มตัวในขั้นกามราคะ จึงได้ตระหนักตัวเองเมื่อจิตผ่านไปแล้ว ความกล้านี้มันก็บ้าอันหนึ่งเหมือนกัน แต่ตอนที่ดำเนินก็เรียกว่าถูกในการดำเนิน เพราะต้องดำเนินอย่างนั้น เหมือนการตำหนิอาหารในเวลาอิ่มแล้วนั่นแล จะผิดหรือถูกก็เข้าในทำนองนี้

การพิจารณาอสุภะอสุภัง พิจารณาไปจนกระทั่งว่าราคะนี้ไม่ปรากฏเลย ค่อยหมดไปๆ และหมดไปเอาเฉยๆ ไม่ได้บอกเหตุบอกผล บอกกาลบอกเวลาบอกสถานที่ บอกความแน่ใจเลยว่า ราคะความกำหนัดยินดีในรูปหญิงรูปชายนี้ได้หมดไปแล้ว ตั้งแต่ขณะนั้น เวลานั้น สถานที่นั้น ไม่บอก จึงต้องมาวินิจฉัยกันอีก ความหมดไปๆ เฉยๆ นี้ไม่เอา คือจิตมันไม่ยอมรับ

ถ้าหมดตรงไหนก็ต้องบอกว่าหมดให้รู้ชัดว่า หมดเพราะเหตุนั้น หมดในขณะนั้น หมดในสถานที่นั้น ต้องบอกเป็นขณะให้รู้ซิ ฉะนั้น จิตต้องย้อนกลับมาพิจารณาหาอุบาย วิธีต่างๆ เพื่อแก้ไขกันอีก เมื่อหมดจริงๆ มันทำไมไม่ปรากฏชัดว่าหมดไป ในขณะนั้นขณะนี้นะ

พอมองเห็นรูป มันทะลุไปเลย เป็นเนื้อเป็นกระดูกไปหมดในร่างกายนั่น ไม่เป็นหญิงสวยหญิงงาม คนสวยคนงามเลย เพราะอำนาจของอสุภะมีกำลังแรง เห็นเป็นกองกระดูกไปหมด มันจะเอาอะไรไปกำหนัดยินดีเล่าในเวลาจิตเป็นเช่นนั้น ทีนี้ก็หาอุบายพลิกใหม่ว่า

"ราคะนี้มันสิ้นไปจนไม่มีอะไรเหลือนั้น มันสิ้นในขณะใดด้วยอุบายใด ? ทำไมไม่แสดงบอกให้ชัดเจน"

จึงพิจารณาพลิกใหม่ คราวนี้เอาสุภะเข้ามาบังคับ พลิกอันที่ว่าอสุภะที่มีแต่ร่างกระดูกนั้นออก เอาหนังหุ้มห่อให้สวยให้งาม นี่เราบังคับนะ ไม่งั้นมันทะลุไปทางอสุภะทันที เพราะมันชำนาญนี่ จึงบังคับให้หนังหุ้มกระดูกให้สวยให้งาม แล้วนำเข้ามาติดแนบกับตัวเอง นี่วิธีการพิจารณาของเรา เดินจงกรมก็ให้ความสวยความงามรูปอันนั้นน่ะติดแนบกับตัว ติดกับตัวไปมาอยู่อย่างนั้น

"เอ้า มันจะกินเวลานานสักเท่าไร ? หากยังมีอยู่มันจะต้องแสดงขึ้นมา หากไม่มีก็ให้รู้ว่าไม่มี..."

เหมือนว่าหมดกามราคะ

หลังจากเอาวิธีการนี้มาปฏิบัติได้ 4 วันเต็มๆ ก็ไม่แสดงความกำหนัดยินดีขึ้นมาแต่อย่างใด ถึงจุดนี้ท่านกล่าวว่า

"...ทั้งๆ ที่รูปนี้สวยงามที่สุดมันก็ไม่แสดง มันคอยแต่จะหยั่งเข้าหนังห่อกระดูก แต่เราบังคับไว้ให้จิตอยู่ที่ผิวหนังนี่ พอถึงคืนที่ 4 น้ำตาร่วงออกมา บอกว่า "ยอมแล้วไม่เอา" คือมันไม่ยินดีนะ มันบอกว่า

"ยอมแล้ว"

ด้านทดสอบก็ว่า "ยอมอะไร ถ้ายอมว่าสิ้น ก็ให้รู้ว่าสิ้นซิ ยอมอย่างนี้ ไม่เอา ยอมชนิดนี้ ยอมมีเล่ห์เหลี่ยม เราไม่เอา"

กำหนดไป กำหนดทุกแง่ทุกมุมนะ แง่ไหนมุมใดที่มันจะเกิดความกำหนัดยินดี เพื่อจะรู้ว่าความกำหนัดยินดีมันจะขึ้นขณะใด เราจะจับเอาตัวแสดงออกมานั้นเป็นเครื่องพิจารณาถอดถอนต่อไป พอดึกเข้าไปๆ กำหนดเข้าไปๆ แต่ไม่กำหนดพิจารณาอสุภะนะ ตอนนั้นพิจารณาแต่สุภะอย่างเดียวเท่านั้น 4 วันเต็มๆ เพราะจะหาอุบายทดสอบหาความจริงมันให้ได้

พอสัก 3-4 ทุ่มล่วงไปแล้ว ในคืนที่ 4 มันก็มีลักษณะยุบยับเป็นลักษณะเหมือนจะกำหนัดในรูปสวยๆ งามๆ ที่เรากำหนดติดแนบกับตัวเป็นประจำในระยะนั้น มันมีลักษณะยุบยับชอบกล สติทันนะ เพราะสติมีอยู่ตลอดเวลานี่ พอมีอาการยุบยับก็กำหนดเสริมขึ้นเรื่อยๆ

"นั่นมันมีลักษณะยุบยับเห็นไหม จับเจ้าตัวโจรหลบซ่อนได้แล้วที่นี่ นั่นเห็นไหม มันสิ้นยังไง ถ้าสิ้นทำไมจึงต้องเป็นอย่างนี้"

กำหนดขึ้นๆ คือ คำว่า ยุบยับนั้นเป็นแต่เพียงอาการของจิต แสดงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ไม่ได้ทำอวัยวะให้ไหวนะ มันเป็นอยู่ภายในจิต พอเสริมเข้าๆ มันก็แสดงอาการยุบยับๆ ให้เป็นที่แน่ใจว่า

"เอ้อ นี่มันยังไม่หมด เมื่อยังไม่หมดจะปฏิบัติยังไง ?"

ทีนี้ ต้องปฏิบัติด้วยอุบายใหม่โดยวิธีสับเปลี่ยนกัน ทั้งนี้เพราะทางไม่เคยเดิน สิ่งไม่เคยรู้ จึงลำบากต่อการปฏิบัติอยู่มาก พอเรากำหนดไปทางอสุภะนี้ สุภะมันดับพึบเดียวนะ มันดับเร็วที่สุดเพราะความชำนาญทางอสุภะมาแล้ว

พอกำหนดอสุภะมันเป็นกองกระดูกไปหมดทันที ต้องกำหนดสุภะ ความสวยงามขึ้นมาแทนที่ สับเปลี่ยนกันอยู่นั้น นี่ก็เป็นเวลานานเพราะหนทางไม่เคยเดิน มันไม่เข้าใจก็ต้องทดสอบด้วยวิธีการต่างๆ จนเป็นที่แน่ใจ จึงจะตัดสินใจลงทางใดทางหนึ่งได้ที่นี้..."

ตื่นเงาตัวเอง

หลังจากได้ลองทดสอบกำหนดอสุภะและสุภะสลับสับเปลี่ยนกันไปมาอยู่นั้น วาระสุดท้ายที่จะทำให้ท่านได้รู้ความจริงก็คือ

"เวลาจะได้ความจริง ก็นั่งกำหนดอสุภะไว้ตรงหน้า จิตกำหนดอสุภะไว้ให้ตั้งอยู่อย่างนั้น ไม่ให้เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างหนึ่งอย่างใด คือตั้งให้คงที่ของมันอยู่อย่างนั้นละ จะเป็นหนังห่อกระดูกหรือว่าหนังออกหมดเหลือแต่กระดูกก็ให้มันรู้อยู่ตรงหน้านั้น แล้วจิตเพ่งดูด้วยความมีสติจดจ่อ อยากรู้อยากเห็นความจริงจากอสุภะนั้นว่า

เอ้า ! มันจะไปไหนมาไหน กองอสุภะกองนี้จะเคลื่อนหรือเปลี่ยนตัวไปไหนมาไหน คือเพ่งยังไงมันก็อยู่อย่างนั้นละ เพราะความชำนาญของจิต ไม่ให้ทำลายมันก็ไม่ทำ เราบังคับไม่ให้มันทำลาย ถ้ากำหนดทำลายมันก็ทำลายให้พังทลายไปในทันทีนะ เพราะความเร็วของปัญญา แต่นี่เราไม่ให้ทำลายให้ตั้งอยู่ตรงหน้านั้นเพื่อการฝึกซ้อมทดสอบกัน หาความจริงอันเป็นที่แน่ใจ

พอกำหนดเข้าไปๆ อสุภะที่ตั้งอยู่ตรงหน้านั้นมันถูกจิตกลืนเข้ามาๆ อมเข้ามาๆ หาจิตนี้ สุดท้ายเลยรู้เห็นว่าเป็นจิตเสียเอง เป็นตัวอสุภะนั้นน่ะ จิตตัวไปกำหนดว่าอสุภะนั้นน่ะมันกลืนเข้ามาๆ เลยมาที่ตัวจิตเสียเองไปเป็น สุภะ และ อสุภะ หลอกตัวเอง จิตก็ปล่อยผลัวะทันที ปล่อยอสุภะข้างนอกว่าเข้าใจแล้วที่นี่ เพราะมันขาดจากกัน มันต้องอย่างนี้ซิ

นี่มันเป็นเรื่องของจิตต่างหาก ไปวาดภาพหลอกตัวเอง ตื่นเงาตัวเอง อันนั้น เขาไม่ใช่ราคะ อันนั้นไม่ใช่โทสะ ไม่ใช่โมหะ ตัวจิตนี้ต่างหากเป็นตัวราคะ โทสะ โมหะ ทีนี้พอจิตรู้เรื่องนี้ชัดเจนแล้ว จิตก็ถอนตัวจากอันนั้นมาสู่ภายใน พอจิตแย็บออกไป มันก็รู้ว่าตัวนี้ออกไปแสดงต่างหาก ทีนี้ภาพอสุภะนั้นมันก็เลยมาปรากฏอยู่ภายในจิตโดยเฉพาะ

กำหนดอยู่ภายในพิจารณาอยู่ภายในจิต ทีนี้มันไม่เป็นความกำหนัดอย่างนั้นน่ะซิ มันผิดกันมาก เรื่องความกำหนัดแบบโลกๆ มันหมดไปแล้ว มันเข้าใจชัดว่า มันต้องขาดจากกันอย่างนี้ คือมันตัดสินกันแล้วเข้าใจแล้ว ทีนี้ก็มาเป็นภาพปรากฏอยู่ภายในจิต ก็กำหนดอยู่ภายในนั้น พอกำหนดอยู่ภายใน มันก็ทราบชัดอีกว่า ภาพภายในนี้ก็เกิดจากจิต มันดับ มันก็ดับไปที่นี่ มันไมดับไปที่ไหน

พอกำหนดขึ้นมันดับไป พอกำหนดไม่นานมันก็ดับไป ต่อไปมันก็เหมือนฟ้าแลบนั่นเอง พอกำหนดพั้บขึ้นมาเป็นภาพก็ดับไปพร้อมๆ กัน เลยจะขยายให้เป็น สุภะ อสุภะ อะไรไม่ได้ เพราะความรวดเร็วของความเกิดดับ พอปรากฏขึ้นพั้บ ก็ดับพร้อมๆ

ต่อจากนั้นนิมิตภายในจิตก็หมดไป จิตก็กลายเป็นจิตว่างไปเลย ส่วนอสุภะภายนอกนั้นหมดปัญหาไปก่อนหน้านี้แล้ว เข้าใจแล้วตั้งแต่ขณะที่มันกลืนตัวเข้ามาสู่จิต มันก็ปล่อยอสุภะข้างนอกทันทีเลย รูป เสียง กลิ่น รส อะไรข้างนอกมันปล่อยไปหมด เพราะอันนี้ไปหลอกต่างหากนี่ เมื่อเข้าใจตัวนี้ชัดแล้ว อันนั้นไม่มีปัญหาอะไร มันเข้าใจทันทีและปล่อยวางภายนอกโดยสิ้นเชิง..."

อัศจรรย์จิต

ท่านเล่าถึงความอัศจรรย์ของจิตที่เกิดขึ้นในขณะนั้นต่อไปว่า

"...หลังจากภาพกายในดับไปหมดแล้วจิตก็ว่าง ว่างหมดทีนี้ กำหนดดูอะไรก็ว่างหมด มองดูต้นไม้ภูเขาตึกรามบ้านช่อง เห็นเป็นเพียงรางๆ เป็นเงาๆ แต่ส่วนใหญ่คือจิตนี้มันทะลุไปหมด ว่างไปหมด แม้แต่มองดูร่างกายตัวเอง มันก็เห็นแต่พอเป็นเงาๆ ส่วนจิตแท้มันทะลุไปหมด ว่างไปหมด ถึงกับออกอุทานในใจว่า

"โอ้โฮ ! จิตนี้ว่างถึงขนาดนี้เชียวนา ว่างตลอดเวลา ไม่มีอะไรเข้าผ่านในจิตเลย"

ถึงมันจะว่างอย่างนั้นมันก็ปรุงภาพเป็นเครื่องฝึกซ้อมอยู่เหมือนกัน เราจะปรุงภาพใดก็แล้วแต่เถอะ เป็นเครื่องฝึกซ้อมจิตใจให้มีความว่างช่ำชองเข้าไป จนกระทั่งแย็บเดียวว่างๆ พอปรุงขึ้นแย็บมันก็ว่างพร้อมๆ ไปหมด

ตอนนี้แหละ ตอนที่จิตว่างเต็มที่ความรู้อันนี้จะเด่นเต็มที่ที่นี่ คือ รูปก็ดี เวทนาก็ดี สัญญาก็ดี สังขารก็ดี วิญญาณก็ดี มันรู้รอบหมดแล้ว แล้วปล่อยของมันหมด ไม่มีอะไรเหลือ เหลือแต่ความรู้เดียว มันมีความปฏิพัทธ์ มันมีความสัมผัสสัมพันธ์อ้อยอิ่งอยู่อย่างละเอียดสุขุมมาก ยากจะอธิบายให้ตรงกับความจริงได้ มันมีความดูดดื่มอยู่กับความรู้อันนี้อย่างเดียว

พออาการใดๆ เกิดขึ้นพั้บมันก็ดับพร้อม มันดูอยู่นี่ สติปัญญาขั้นนี้ ถ้าครั้งพุทธกาลเรียกว่า มหาสติมหาปัญญา แต่สมัยทุกวันนี้ เราไม่อาจเอื้อมพูด เราพูดว่า สติปัญญาอัตโนมัติ ก็พอตัวแล้วกับที่เราใช้อยู่ มันเหมาะสมกันอยู่แล้ว ไม่จำเป็นจะต้องให้ชื่อให้นามสูงยิ่งไปกว่านั้น มันก็ไม่พ้นจากความจริงซึ่งเป็นอยู่นี้เลย จิตดวงนี้ถึงได้เด่น ความเด่นอันนี้มันทำให้สว่างไปหมด..."

หลักเกณฑ์อันใหญ่หลวง

หลังจากที่จิตลงอยู่นานเป็นชั่วโมงๆ แล้วจึงค่อยถอนขึ้นมา เมื่อท่านกำหนดดูต้นไม้ ภูเขา กุฏิ ศาลา กลับไม่เห็นเลย ว่างไปหมด ตามองเห็นวัตถุพอเป็นรางๆ เงาๆ ส่วนใหญ่ของจิตมันทะลุไปหมดว่างไปหมดจนน่าอัศจรรย์ จากนั้นท่านก็นำเรื่องนี้ไปเล่าถวานท่านอาจารย์มั่น ท่านก็พูดร้องขึ้นทันทีอย่างขึงขังตึงตังว่า

"เอ้อ ! ถูกต้องแล้ว เหมาะแล้ว ได้หลักพยานแล้ว ได้หลักได้เกณฑ์แล้ว อย่างนี้ละ...ผมเป็นที่ถ้ำสาริกา เป็นอย่างท่านมหานี่ละ เอาเลยได้การ"

จากนั้นท่านอาจารย์มั่นเมตตาเล่าถึงความอัศจรรย์ของจิตที่เกิดขึ้นที่ถ้ำสาริกา นครนายก ให้ท่านฟังภายในห้องบนกุฏิที่วัดหนองผือ ท่านนำมาเล่า ดังนี้

"...ท่านอยู่ถ้ำสาริกา นั่นเวลาท่านได้รับความทุกข์นะ นี่ละ คนเราเวลาจนตรอก จนมุมจริงๆ ช่วยตัวเองได้นะ ปัญญามาเองของท่านก็เหมือนกัน ท่านเป็นโรคท้อง ยานี้ก็เคยบำบัดกันได้เป็นระยะๆ ไป ท่านว่า แล้วไปอยู่ในถ้ำสาริกา ก็เป็นยาสมุนไพรมีอยู่ตามที่ท่านพัก เขาก็บอกแล้วก่อนที่ท่านจะขึ้นไปว่า "พระตาย 4 องค์แล้วถ้ำนี้"

เขาจึงถามว่า "นี่ท่านจะตายองค์ที่ 5 เหรอ ?" เขาบอกท่านไม่ฟัง ท่านบอกให้เขาพาไปส่งขึ้นถ้ำสาริกา "นี่ท่านจะตายองค์ที่ 5 เหรอ ?" เขาว่าอย่างนั้น

"โอ๊ย ที่ไหนก็ไม่ว่าแหละ" ท่านว่าอย่างนั้น "ขอไปดู ควรอยู่ก็อยู่" นั่นฟังซิ ท่านพูดถ่อมตนของท่าน "ควรอยู่ก็อยู่ ควรลงก็ลง ให้ไปดูเสียก่อน" ทางจิตท่านไม่ได้เป็นอย่างนั้น ท่านเล่าให้ฟัง "ที่ไหนมันไม่ตายน่ะ" ท่านว่าอย่างนั้นทีเดียวนะ

"ถ้ำหรือไม่ถ้ำ มันก็ตายทั้งนั้นนี่นะ ป่าช้ามีอยู่ทั่วไป" นั่นในใจของท่าน แต่เวลาพูดออกมา "เข้าไปดูเสียก่อน มันควรอยู่ก็อยู่ ไม่ควรอยู่ก็ลงเสีย" ท่านว่าอย่างนั้น

พอขึ้นไปแล้วโรคก็กำเริบใหญ่เลย "นี่ เรานี่จะเป็นองค์ที่ 5 จริงๆ เหรอ ?" ท่านก็ว่าอย่างนั้น "เอ้า 5 ก็ 5" ท่านไม่ได้ถอย "เอ้า 5 ก็ 5" ว่างั้นเลย เอายาอะไรมาฉันก็ไม่มีน้ำยาเลยแหละ สุดท้ายท่านบอกว่ายากำอยู่นี้ปาเข้าป่า

"มันเป็นอะไร เอ้า ! เป็นก็เป็น ตายก็ตาย"

ยาที่กำนี้เอามาต้มแล้วปาเข้าป่าเลย ทิ้งหมดเข้าในถ้ำเลย ถ้ำเล็กๆ เราไปดูหมดแหละ ที่ท่านบอกตรงไหน ไปดู ทีนี้เวลามันเอาจริงๆ มันก็หนักจริงๆ หนักก็ฟัดกันเลย...ทุกขเวทนา เอากันเต็มเหนี่ยว

"เอ้า เป็นก็เป็น ตายก็ตาย เอาสนามรบนี่เป็นป่าช้า สนามรบกับความทุกข์ ความทรมาน กับกิเลสตัณหาที่เกิดความฟุ้งซ่านวุ่นวายต่างๆ ขึ้นในนั้น ฟัดกันในนั้นเลย

"เอ้า เป็นก็เป็น ตายก็ตาย"

พอได้ที่มันก็พรึบเลย พอลงได้จังหวะแล้วพรึบทันที ดับหมดเลยโลกธาตุ สว่างจ้าไปหมดเลย ไม่มีอะไรปิดบังลี้ลับ สว่างจ้าไปหมดเลย

ที่เราพูดถึงเรื่องผีใหญ่ที่มันจะมาตีท่าน อย่างนั้นแล้วเห็นไหมล่ะ แบกเหมือนท่อนเหล็กจะมาตีท่าน ดังที่เขียนในหนังสือประวัติท่านอาจารย์มั่น นี่ละความจริง ปีพรรษา 22 ท่านได้หลักเกณฑ์ ไม่หวั่นไหวตรงนั้นนะ ทั้งๆ ที่กิเลสมีอยู่นะ แต่ว่าหลักธรรมนี้เข้าสู่ใจแล้ว ไม่หวั่นไหวเลย เชื่อแน่ต่อมรรคผลนิพพาน กล้าหาญตั้งแต่นั้นมาไปได้หลักเกณฑ์อันใหญ่หลวงที่ถ้ำสาริกา..."

เมื่อท่านได้เล่าถวายท่านอาจารย์มั่นแล้ว ท่านรู้สึกว่าจิตใจพองขึ้น และยิ่งท่านอาจารย์มั่นเมตตาเล่าเรื่องของท่านเองดังกล่าวเป็นสักขีพยานอันเป็นเอกด้วยแล้ว ใจของท่านก็ยิ่งพองขึ้นด้วยความปีติยินดี จากนั้นจึงเร่งภาวนาอย่างเต็มที่ด้วยตั้งใจจะให้ได้ผลอัศจรรย์ดังเดิม

ท่านภาวนาอย่างหนักอยู่ 2-3 วัน ก็ไม่ปรากฏผลว่าจะเป็นเช่นเดิมแต่อย่างใด จึงได้ขึ้นกราบเรียนถามท่านอาจารย์อีกครั้งหนึ่ง ท่านเลยขนาบเอาเสียอย่างหนักว่า

"มันจะเป็นบ้านะท่าน ผมไม่ได้สอนให้คนเป็นบ้า มันเป็นมันก็เป็นหนเดียวเท่านั้น ผมก็เป็นหนเดียวเท่านั้นแหละ ผมไม่เห็นเป็นบ้า นี่มาเป็นบ้าอะไรอีก ไม่ได้สอนคนให้เป็นบ้านี่นะ

มันเป็นแล้วก็ผ่านไปแล้ว ไปยุ่งกับมันทำไม พิจารณาในหลักปัจจุบันซิ มันจะเป็นอะไรก็ให้เป็นขึ้นในหลักปัจจุบัน ท่านรู้นั้น ท่านรู้ในหลักปัจจุบันใช่ไหม นี้ไปคว้าหาที่ไหนอีก"

การพิจารณาอริยสัจ

กล่าวโดยสรุปถึงวิธีการพิจารณาอริยสัจ ท่านกล่าวไว้ ดังนี้

"...ปัญญานี้มีหลายขั้น ตั้งแต่ขั้นอสุภะอสุภัง ไปโดยลำดับจนกระทั่งถึง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทั้งส่วนหยาบ ส่วนกลาง ส่วนละเอียด ปัญญาจะเดินตลอดทั่วถึงไปหมดเช่น รูปขันธ์ ที่เห็นว่าเป็นของสวยงามน่ารัก ใคร่ชอบใจน่ากำหนัดยินดี นี่เป็นความสำคัญของกิเลสที่เสี้ยมสอนมาแต่กาลไหนๆ ทำสัตว์โลกให้ตื่นให้หลงอยู่ไม่มีวันอิ่มพอ...

ปัญญาจึงต้องสอดแทรกเข้าไปตรงนั้น แก้ความที่ว่าสวยงาม มันสวยงามยังไง ดูให้เห็น...แต่เวลาพิจารณาเข้าไปที่ไหนๆ ที่ว่าสวยงาม ไม่มีปรากฏ มีแต่สุภะอสุภังเต็มเนื้อเต็มตัว ทำไมจะทนต่อความจริงได้ ต้องยอมรับว่าหาความสวยงามไม่มีในสกนธ์กาย นี้...

เมื่อเลื่อนจากรูปขันธ์นี้ไปแล้วมักจะพิจารณาเป็น ไตรลักษณ์ เพราะสิ่งเหล่านั้นไม่เกี่ยวกับเรื่อง สุภะ-อสุภะ ซึ่งมีเฉพาะเรื่องของกายนี้เท่านั้นที่สำคัญมั่นหมายไปต่างๆ จึงต้องแก้ความสำคัญมั่นหมายว่าเป็นของสวยงามนั้น ด้วยการพิจารณาอสุภะ อสุภัง

พอขั้นนี้สมบูรณ์ภายในจิตใจ คือ ประจักษ์กับปัญญาอย่างชัดเจนแล้ว ย่อมปล่อยวางทั้งสุภะคือความสำคัญว่าสวยว่างามด้วย ทั้งอสุภะที่สำคัญว่าไม่สวยไม่งามด้วย ไม่สนใจไม่ยึดในเงื่อนใดเงื่อนหนึ่ง พอตัวในการพิจารณาแล้วผ่านไปในท่ามกลางแห่งความพอดีของตัวเองนั่น ท่านเรียกว่า ปัญญา ผ่านไป นั้นแล้วไปพิจารณาอะไร ก็เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นั่นขันธ์ละเอียด...เรียกว่า นามขันธ์

นามขันธ์ นี่พิจารณาด้วยไตรลักษณ์คือ อนิจจัง ก็ตาม ทุกขัง ก็ตาม อนัตตาก็ตาม ขอให้มีความถนัดชัดภายในจิตใจ ถนัดใจ แน่ใจในอาการใด ชอบในอนิจจังก็ดี ในทุกขังก็ดี ในอนัตตาก็ดี พิจารณาอันนั้นส่วนใดส่วนหนึ่งได้ หากวิ่งถึงกันหมด

เพราะธรรมเหล่านี้เกี่ยวโยงกัน นี่เรียกว่า ปัญญา หยั่งทราบตามความเป็นจริงในสิ่งทั้งหลายเหล่านี้แล้ว ย่อมปล่อยวางเช่นเดียวกันกับรูป คือรูปกายของเรานี้ แล้วก็เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทั้งห้านี้เป็นอาการอันหนึ่งของจิตเท่านั้น ไม่ใช่จิต นักภาวนาจะทราบเองโดยไม่ต้องสงสัย...นี่ทราบได้อย่างชัดเจนและปล่อยวางได้ตามเป็นจริง ลงได้ตามเป็นจริงของมัน..."


(มีต่อ 11)

เจ้าของ:  สาวิกาน้อย [ 24 ธ.ค. 2010, 10:34 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

รูปภาพ
ครูบาอาจารย์พระป่ากรรมฐาน สานุศิษย์ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ
จากภาพ..แถวหลังองค์ที่ ๒ จากขวามือ คือ หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน



ตอนที่ ๘ ปรนนิบัติรับใช้ครูบาอาจารย์

เป็นที่ไว้ใจของครูบาอาจารย์

ท่านเคยกล่าวถึงอุปนิสัยในการบำเพ็ญภาวนาของท่าน โดยยกเอาเหตุการณ์สมัยอยู่วัดบ้านหนองผือมาเล่า ดังนี้

"...มาอยู่บ้านหนองผืออย่างนี้ ผมจะเดินจงกรมให้หมู่เพื่อนเห็นไม่ได้ โน่นต้องเวลาสงัดสี่ทุ่มห้าทุ่มล่วงไปแล้ว หมู่เพื่อนเงียบหมดแล้ว ถึงจะลงเดินจงกรม กลางวันก็เข้าไปอยู่ในป่าโน่น ถ้าวันไหนออกมาแต่วันเช่น ห้าโมงเย็นออกมาอย่างนี้ ก็เข้านั่งสมาธิเสียในกุฏิ จนกระทั่งหมู่เพื่อนเงียบไปหมดแล้วถึงจะลงทางจงกรม เป็นนิสัยอย่างนั้นมาดั้งเดิม ไม่ให้ใครเห็นการประกอบความเพียรของเราว่ามากน้อยขนาดไหน แต่ธรรมดาใครก็รู้ ทางจงกรมจนเป็นขุมเป็นเหวไป (เดินมากจนทางจงกรมเป็นร่องลึก) ใครจะไม่รู้..."

เรื่องธุดงควัตรนี้ แม้ในช่วงที่ท่านอยู่บ้านหนองผือ ท่านก็ยังเข้มงวดจริงจังเสมอมา ดังนี้

"...อยู่ที่ไหนก็ตาม เรื่องธุดงควัตรนี้เราจะต้องเอาหัวชนอย่างไม่ถอยเลย ยืนกระต่ายขาเดียวไม่ยอมให้ขาดได้เลย บิณฑบาต มาแล้วก็รีบจัดปุ๊บปั๊บ จะเอาอะไรก็เอาเสีย นิดๆ หน่อยๆ เพราะการฉันไม่เคยฉันให้อิ่ม ในพรรษาไม่เคยให้อิ่มเลย โดยกำหนดให้ตัวเองว่าเอาเพียงเท่านั้นๆ สัก 60% หรือ 70%...ซึ่งคิดว่าพอดี เพราะอยู่กับหมู่เพื่อนหลายองค์ด้วยกัน ถ้าจะอดก็ไม่สะดวก เพราะการงานในวงหมู่คณะเกี่ยวข้องกันอยู่เสมอ เราเองก็เหมือนเป็นผู้ใหญ่คนหนึ่งอย่างลับๆ ทั้งที่ไม่แสดงตัว ทั้งนี้เกี่ยวกับการคอยดูแลความสงบเรียบร้อยของหมู่คณะภายในวัด พรรษาก็ไม่มาก สิบกว่าพรรษาเท่านั้นแหละ แต่รู้สึกว่าท่านอาจารย์มั่นท่านเมตตาไว้ใจในการช่วยดูแลพระเณรอย่างลับๆ เช่นกัน...

...พอบิณฑบาตกลับมาแล้ว มีอะไรก็รีบจัดๆ ใส่บาตร เสร็จแล้วก็รีบไปจัดอาหารเพื่อใส่บาตรท่านอาจารย์มั่น ห่อนั้นหรือห่อนี้ที่เห็นว่าเคยถูกกับธาตุขันธ์ท่าน เรารู้และเข้าใจก็รีบจัดๆ อันไหนควรแยกออก อันไหนควรใส่ ก็จัดๆ เสร็จแล้วถึงจะมาที่นั่งของตน ตาคอยดู หูคอยสังเกตฟังท่านจะว่าอะไรบ้านขณะก่อนลงมือฉัน

บาตรเราพอจัดเสร็จแล้วก็เอาตั้งไว้ลับๆ ทางด้านข้างฝาติดกับต้นเสา เอาฝาปิดไว้อย่างดีด้วย เอาผ้าอาบน้ำปิดอีกชั้นหนึ่งด้วยเพื่อไม่ให้ใครไปยุ่งไปใส่บาตรเรา เวลานั้นใครจะมาใส่บาตรเราไม่ได้ กำชับกำชาไว้อย่างเด็ดขาด แต่เวลาท่านจะใส่บาตรเรา ท่านก็มีอุบายของท่าน เวลาเราจัดอะไรของท่านเสร็จเรียบร้อยแล้วมานั่นประจำที่ ให้พรเสร็จ ตอนทำความสงบพิจารณาปัจจเวกขณะนั่นแล ท่านจะเอาตอนเริ่มจะฉัน ท่านเตรียมของใส่บาตรไว้แต่เมื่อไรก็ไม่รู้แหละ แต่ท่านไม่ใช่ซ้ำๆ ซากๆ นี่ ท่านก็รู้เหมือนกัน ท่านเห็นใจเรา บางเวลาท่านจะใส่ท่านพูดว่า

"ท่านมหาขอใส่บาตรหน่อยๆ ศรัทธามาสายๆ" ท่านว่าอย่างนั้น

พอว่าอย่างนั้นมือท่านถึงบาตรเราเลยนะ ตอนเราเอาบาตรมาวางข้างหน้าแล้วกำลังพิจารณาอาหารนี่แหละ เราเองก็ไม่ทราบจะทำอย่างไร เพราะความเคารพ จำต้องปล่อยตามความเมตตาของท่าน เราให้ใส่เฉพาะท่านเท่านั้น นานๆ ท่านจะใส่ทีหนึ่งในพรรษาหนึ่งๆ จะมีเพียง 3 ครั้ง หรือ 4 ครั้งเป็นอย่างมาก ท่านไม่ใส่ซ้ำๆ ซากๆ เพราะท่านฉลาดมาก คำว่า มัชฌิมาในทุกด้านจึงยกให้ท่านโดยหาที่ต้องติไม่ได้..."

การปฏิบัติต่อท่านอาจารย์มั่นนั้น ท่านก็พยายามใช้ความสามารถอย่างเต็มกำลังสติปัญญาทุกสิ่งทุกอย่าง เฉพาะอย่างยิ่งในระยะ 5 พรรษาสุดท้ายที่อยู่กับท่านอาจารย์มั่นที่บ้านหนองผือ

ในเรื่องนี้ หลวงปู่หล้า เขมปัตโต ซึ่งได้อยู่ร่วมจำพรรษากับท่านอาจารย์มั่นในช่วงนั้นด้วย ได้เคยเล่าเกี่ยวกับความเอาใจใส่และความเคารพบูชาของท่านที่มีต่อท่านอาจารย์มั่นว่า

"ในยุคบ้านหนองผือ พระอาจารย์มหา (หลวงตามหาบัว)...ลึกซึ้งมากทุกวิถีทาง หลวงปู่มั่นไว้ใจกว่าองค์อื่นๆ ในกรณีทุกๆ ด้าน ควรจะเปลี่ยนไตรจีวรผืนใดผืนหนึ่งก็ดี หรือครบทั้งไตรก็ดี หรือสิ่งใดที่ควรเก็บไว้เป็นพิเศษเฉพาะองค์หลวงปู่ก็ดี ในด้านจีวรและของใช้เป็นบางอย่าง ตลอดทั้งเภสัชเป็นผู้แนะนำให้คณะสงฆ์รู้ความหมายลับหลังหลวงปู่มั่นทั้งนั้น และหลวงปู่มั่นก็มิได้นัดหมายให้พระอาจารย์มหาบัวทำประโยชน์เพื่อองค์ท่านเองอย่างนั้น ทั้งทางตรงและทางอ้อม ลึกหรือตื้นด้วยประการใดๆ เลย พระอาจารย์มหาเคารพลึกซึ้งเป็นเอง..."

เรื่องความละเอียดลออเกี่ยวกับการเฝ้าสังเกตการขบการฉันของท่านอาจารย์มั่นนั้น หลวงปู่หล้าก็ยังเคยกล่าวชื่นชมท่านไว้ว่า

"...พระอาจารย์มหา เวลาอยู่กับหลวงปู่มั่น คงจะนึกอยากจะเว้นอาหารอยู่ แต่มีเหตุผลในใจว่า เราเป็นพระผู้ใหญ่อยู่กับองค์ท่าน เราจะได้สังเกตองค์ท่านว่าวันหนึ่งๆ องค์ท่านฉันได้เท่าไร ข้าวหมดขนาดไหน กับอะไรหมดขนาดไหน เราจะได้สังเกตประจำวัน เพื่อจะจัดถวายได้ถูก เท่าที่มีมาโดยเป็นธรรม แม้องค์ท่านหยิบใส่บาตรเองก็ดี เราจะสงวนรู้ว่าหยิบอะไรบ้าง เพราะเราเป็นห่วงองค์ท่านมาก เมื่อองค์ท่านฉันได้บ้าง เราก็พลอยเบาใจ..."

และด้วยเหตุนี้เอง เมื่อมีโอกาสจำเป็นต้องลาองค์ท่านอาจารย์มั่นเพื่อไปธุระที่จังหวัดอุดรธานีชั่วคราว หลังจากเสร็จธุระแล้ว ขากลับท่านจะพยายามจัดหาเอาของใช้ของฉันที่อุดรธานี ที่ถูกกับธาตุกับขันธ์ขององค์ท่าน เพราะท่านคอยสังเกตอยู่ตลอดจนรู้ว่าอันใดองค์ท่านฉันได้สะดวกธาตุขันธ์ ท่าจะเอาใส่เข่งๆ เต็มเอี๊ยดเลย แล้วให้เณรแกงหม้อเล็กๆ ถวายองค์ท่านวันละหม้อเป็นประจำ โดยมิให้ท่านอาจารย์มั่นทราบ ซึ่งต่อมาภายหลังท่านอาจารย์มั่นก็ทราบและได้ห้ามปราม แต่กระนั้นก็ตาม ด้วยความเคารพรักและเป็นห่วงในธาตุขันธ์ของครูบาอาจารย์ ซึ่งล่วงเลยเข้าสู่วัยชรามากแล้ว ท่านก็หาอุบายวิธีทำถวานท่านอาจารย์มั่นจนได้

ท่านคอยใส่ใจคอยสังเกตถึงการขบ การฉัน หยูกยา ผ้านุ่งผ้าห่ม บริขาร และเครื่องใช้ไม้สอยทุกสิ่งทุกอย่างของท่านอาจารย์มั่น อย่างตั้งใจจดจ่อด้วยความพินิจพิจารณาอย่างที่สุด เพื่อให้เกิดความสะดวกสบายแก่ธาตุขันธ์ร่างกายของท่านอาจารย์มั่นมากที่สุด

ความเหน็ดเหนื่อยอ่อนเพลียหรือทุกข์ยากลำบากส่วนตนนั้น ท่านไม่ถือเป็นประมาณหรือเป็นปัญหาอุปสรรคยิ่งกว่าการให้ครูบาอาจารย์ได้รับความสะดวก เรียกได้ว่า ยามใดที่ท่านอยู่ ยามนั้นครูบาอาจารย์ก็เบาใจ

รูปภาพ
หลวงปู่หล้า เขมปัตโต


ช่วยดูแลหมู่คณะ

ท่านทุ่มเทสติปัญญาสุดกำลังในการดูแลอุปถัมภ์อุปัฏฐากท่านอาจารย์มั่น โดยระยะแรกๆ ท่านจะเข้าถึงก่อนเพื่อน แต่นานเข้าๆ ท่านอาจารย์มั่นจึงบอกว่า

"พระที่มีอายุพรรษามากแล้วไม่ต้องมาเป็นกังวลกับการขนสิ่งขนของอะไรมาแหละ ผู้ใหญ่ก็เป็นแต่เพียงว่าคอยดูแลเท่านั้นแหละพอ"

จากนั้นมาท่านจึงคอยดูแลให้คำแนะนำเรื่องต่างๆ ว่า อันใดต้องทำ อันใดควรทำ อันใดต้องเว้น หรืออันใดควรเว้น เพื่อไม่ให้เป็นที่ขวางหูขวางตาขวางอรรถขวางธรรมแก่ท่าน นอกจากนี้แล้ว ท่านยังวางระเบียบแบ่งหน้าที่การงานตามธรรมให้สอดคล้องคล่องตัว ให้ประสานราบรื่นในงานด้วยความเข้าอกเข้าใจกัน ตามเหตุผลและเหมาะสมด้วยความเคารพตามอายุพรรษา ผู้ใดเคยดูแลบริขารชิ้นใดของท่านอาจารย์มั่น ก็ให้เอามาตามนั้น ไม่มีการก้าวก่ายกัน สำหรับตัวของท่านจะยืนอยู่บันไดหน้ากุฏิท่านอาจารย์มั่น คอยดูความเรียบร้อยของพระเณรที่ขนของลงไป

เมื่อท่านอาจารย์มั่นไม่เห็นท่านสักสองวันสามวันผ่านไป ท่านอาจารย์มั่นก็มักจะถามกับพระเณรเสมอๆ ว่า

"ท่านมหามาไหม ?"

พระเณรก็ตอบว่า

"มาครับ อยู่ข้างล่างครับกระผม"

ท่านอาจารย์มั่นก็นิ่งไปเสีย พอเว้นห่างสองสามวันผ่านไปไม่เห็นอีก ท่านก็ถามขึ้นมาลักษณะเดิมอีก พระเณรก็ตอบแบบเดิม ท่านก็นิ่งอีก แม้ในช่วงที่ท่านอาจารย์มั่นเจ็บไข้ได้ป่วย ท่านก็ถามกับพระเณรว่า

"ท่านมหาพิจารณายังไงละ ? เราเจ็บไข้ได้ป่วยเอามากแล้วนะ ท่านมหาได้พิจารณาอย่างไร ?"

พระเณรก็ตอบว่า

"ท่านจัดเวรดูแลเรียบร้อยแล้ว"

คือให้มีพระอยู่ข้างบนสององค์นั่งภาวนาเงียบๆ อยู่ข้างล่างสององค์เดินจงกรมเงียบๆ สำหรับท่านเป็นผู้คอยควบคุมเวรอีกต่อหนึ่ง

บริหารสิ่งของ

ท่านอาจารย์มั่นให้ความไว้วางใจโดยมอบให้ท่านเป็นผู้จัดสรรจตุปัจจัยไทยทานตามความจำเป็นแก่พระเณรภายในวัด ในเรื่องนี้ท่านเคยเล่าไว้ว่า

"...อย่างของที่ตกมานี่ ท่านอาจารย์มั่นมอบเลยนะ

"ท่านมหาจัดการดูแลพระเณรนะ"

ท่านอาจารย์มั่นพูดเท่านั้น แล้วปล่อยเลยนะ เขามาทอดผ้าป่ากองพะเนินเทินทึก เราเป็นผู้ดูแลทั้งหมดเลย

องค์ไหนบกพร่องตรงไหน องค์ไหนบกพร่องอะไรๆ จัดให้ๆ สำหรับเราไม่เอาครั้นเวลาเราไม่อยู่บ้าง ท่านสืบถามพระนี่

"ท่านมหาท่านได้เอาอะไรไหม ? ของที่เอามามอบให้ท่านจัดให้พระเณร ท่านเอาอะไรไหม ?"

พระตอบ "ท่านไม่เอาอะไรเลย"

ท่านนิ่งนะ เฉย ท่านจับได้หมด พิจารณาแล้ว เราทำทั้งหมดด้วยความเป็นธรรม ท่านรู้...

เราไม่เอาอะไรนี่ ขนาดท่านเอาผ้าห่มของท่านไปบังสุกุลให้เรา มีที่ไหน ไม่เคยมีนะ เพราะท่านเห็นเราไม่ใช้ผ้าห่ม หนาวขนาดไหนเราก็ไม่เอา เราเด็ดของเราอยู่อย่างนั้นตลอด...ผ้าห่ม ถ้าเอาผ้าใหม่ให้ท่านก็กลัวเราจะไม่ใช้ นั่น เห็นไหมอุบายของท่าน ต้องเอาผ้าของท่านที่ท่านห่มอยู่นั่น พับเรียบร้อยแล้วไปบังสุกุลให้เรา

เอาดอกไม้เอาเทียนไป โอ๊ย ! ทุกๆ อย่างท่านเป็นอาจารย์ ปรมาจารย์ชั้นเอกทุกอย่าง ไปก็ขึ้นไปวางไว้ที่นอนของเราเลยวางไว้กลางที่นอน มีดอกไม้มีเทียนวาง

ผ้าห่มเป็นผ้าที่ท่านห่มอยู่แล้ว ผ้าใหม่ท่านกลัวเราจะไม่ใช้ นั่นแหละ ท่านหาอุบาย ต้องเอาผ้าท่านเอง ว่างั้นเถอะ เราขึ้นไปแล้วไปดู โอ๊ย ! เรารู้ทันทีเลยว่า เราปฏิบัติอยู่ทุกวันกับผ้าท่าน ทำไมจะไม่รู้ นี่แสดงว่า ให้ใช้ ให้ใช้หน่อยเถอะ ว่างั้นเพราะท่านเห็นนิสัยอย่างนั้น เอาจริงเอาจังทุกอย่าง..."

ออกรับความผิดพลาดแทนหมู่เพื่อน

เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระแก่ท่านอาจารย์มั่น ท่านจะคอยเป็นหูเป็นตาสอดส่องดูแลพระเณร คอยสังเกตอัธยาศัยใจคอพระเณรที่อยู่รวมกัน ทราบกันว่าในยามที่พระเณรมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นคราใด ท่านมักจะออกรับผิดกับท่านอาจารย์มั่นแทนหมู่เพื่อนชนิดยอมตัดคอออกรองเลยก็ว่าได้

ท่านจะรีบดึงปัญหานั้นเข้าหาตัวท่านเองทันที เพราะเห็นหมู่เพื่อนพระเณรเกรงกลัวท่านอาจารย์มั่นมาก ทำให้ท่านรู้สึกสงสารและเห็นอกเห็นใจ อีกทั้งความจงใจทำผิดก็ไม่มี จะมีบ้างก็เพียงข้อผิดพลาดบางประการเท่านั้น สำหรับท่านเองก็พออดพอทนได้ หากว่าท่านอาจารย์มั่นจะเคาะจะตีอะไรท่านก็อดทนเอา แต่เมื่อนานๆ ไป ความผิดพลาอมีบ่อยครั้งเข้าๆ ทุกครั้งก็มีแต่ท่านเป็นผู้ออกรับผิดอยู่เรื่อย ท่านอาจารย์มั่นจึงดุเอาว่า

"ใครผิดหัววัดท้ายวัดก็มหา ใครผิดท้ายวัดหัววัดก็มาหา

มันจะโง่ขนาดนั้นหรือมหานี่น่ะ หือ ? หือ ?...เอะอะก็มหาผิด เอะอะก็มหาผิด..."

ในเรื่องนี้จริงๆ แล้วท่านอาจารย์มั่นท่านก็ทราบอะไรดีอยู่แล้ว เพราะนิสัยรวดเร็วและช่างสังเกตอยู่ตลอด จึงสามารถจับได้หมด

มีอยู่คราวหนึ่ง ท่านไม่สบาย ป่วยหนักจนลุกไม่ขึ้น ทั้งลมก็แรงตลอด ฝนก็ตกทั้งคืน ใบไม้จึงร่วงหล่นมากมาย พอเช้ามา ท่านอาจารย์มั่นไม่ได้ยินเสียงปัดกวาดใบไม้ เหมือนทุกๆ วัน รู้สึกผิดจากปกติมาก ท่านอาจารย์มั่นจึงถามขึ้นทันทีว่า

"หือ ?ๆ พระเณรไปไหนหมด หือ ? ท่านมหาไปไหน ?" พระเณรตอบว่า

"ท่านอาจารย์มหาป่วย"

ท่านอาจารย์มั่นพูดแบบดุๆ ขึ้นทันทีว่า "หือ ?ๆ ท่านมหาป่วยเพียงองค์เดียว วัดร้างหมดเลยเชียวหรือ ?"

ที่กล่าวเช่นนี้เป็นเพราะโดยปกติประจำวัน ท่านจะคอยใส่ใจเป็นธุระนำหน้าหมู่คณะออกทำข้อวัตรต่างๆ ทุกชิ้นทุกอันอยู่เสมอ เมื่อมาเจ็บป่วยจนลุกไม่ขึ้น พระเณรจึงยังไม่ทันทราบ เลยไม่มีใครพ่เริ่มต้นทำข้อวัตร ทำให้เช้าวันนั้นดูเงียบผิดปกติ

และในบางครั้งที่ท่านป่วยไข้อย่างหนักมีอยู่เหมือนกันที่ท่านอาจารย์มั่นเมตตาเอายาไปให้ฉันด้วยตนเองเลยทีเดียว ความเคารพต่ออาจารย์ทำให้จำต้องยอมฉัน ท่านเล่าให้ฟังอย่างไม่มีวันลืมเหตุการณ์นี้ไปได้เลย ดังนี้

"...ยาของท่าน ยามโหสถ ถ้าท่านเอาไปแล้วต้องได้ฉัน ยานี้ดีอย่างนั้นอย่างนี้ ท่านจี้เลย ให้เราฉัน ใครเอาไปให้ เราไม่ฉันนี่นะ

อันนี้ท่านก็รู้นิสัยเหมือนกันนะ ท่านจัดยาให้เขาเอาไปให้ ก็ไม่ฉัน ไม่เอาเลย สุดท้ายท่านเลยเอามาให้เอง..."

ญาณหยั่งทราบของท่านอาจารย์มั่น

ในระยะที่อยู่ศึกษากับท่านอาจารย์มั่นนั้น ท่านคอยสังเกตดูทุกแง่ทุกมุมของท่านอาจารย์มั่นและเห็นว่าไม่เหมือนครูบาอาจารย์องค์อื่นๆ ที่ท่านเคยประสบมา สำหรับท่านอาจารย์มั่นนั้นไม่ว่าท่านแสดงสิ่งใดออกมา ย่อมสามารถเอาเป็นคติธรรมได้ทั้งนั้น ดังนี้

"...ดูทุกแง่ทุกมุม เราดูจริงๆ นะ เพราะเราตั้งใจไปศึกษากับท่านจริง...บางทีท่านก็พูดมีทีเล่นทีจริงเหมือนกันกับเราในฐานะลูกศิษย์กับอาจารย์ ก็พ่อกับลูกนี่แหละ แต่เรามันไม่ได้ว่าทีเล่นทีจริงนี่นะ มันเอาเป็นจริงทั้งนั้นเลย ท่านจะพูดแง่ไหน ท่านมีคติธรรมออกมาทุกแง่นะ ถึงแม้จะเป็นข้อตลกนี้ ท่านก็มีคติธรรมออกมา มีธรรมแทรกออกมา ไม่ได้เป็นแบบโลกนะ...

พูดถึงเรื่องความเลิศเลอที่สุดในภายในหัวใจก็ดี ภายนอกก็ดี การประพฤติปฏิบัติของท่านก็ดี รู้สึกว่าที่เราผ่านครูบาอาจารย์มานี้ ไม่มีใครเหมือน ท่านพร้อมทุกอย่าง ยิ่งท่านเทศน์ถึงเรื่องเทวบุตรเทวดาแล้ว โอ๊ย ฟังแล้วเราพูดจริงๆ นะ เราเป็นจริงๆ นี่นะ ฟังแล้วน้ำตาร่วงเลยนะ พวกเทพ พวกเทวดามาเยี่ยมท่าน มาฟังเทศน์ท่าน แต่ท่านจะพูดในเวลาเฉพาะนะ ท่านไม่ได้พูดสุ่มสี่สุ่มห้านะ นั่นแหละเห็นไหม จอมปราชญ์

ท่านรู้หนักรู้เบา รู้ในรู้นอกนะ รู้ควรไม่ควร เวลามีโอกาสอันดีงามอยู่เพียง 2-3 องค์คุยกัน แล้วก็เสาะนั้นเสาะนี้ อยากรู้อยากเห็น ท่านก็คอยเปิดออกมาๆ ทางนี้ก็ค่อยสอดค่อยแทรกเข้าไป ครั้งนั้นบ้าง ครั้งนี้บ้าง หลายครั้งต่อหลายหน...

...นี่ท่านพูดถึงเรื่องเทวบุตรเทวดาอินทร์พรหมที่มาเยี่ยมท่าน ท่านบอกว่าท่านมาอยู่ที่สกลนครนี้ พวกเทวดามาเกี่ยวข้องน้อยมาก ท่านว่ายังงั้นนะ จะมาเป็นเวลา ว่างั้นคือ มาในวันเข้าพรรษา วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันออกพรรษา นอกนั้นเทวดาไม่ค่อยมากัน หมายถึงเทวดาชั้นสูงนะ พวกสวรรค์ พวกภูมิเทวดามาห่างๆ เหมือนกันนะ

ส่วนไปอยู่เชียงใหม่ โห ต้อนรับแทบทุกวัน ท่านว่ายังงั้น ไม่มีเวลาว่างเลย เทวดาชั้นนั้นๆ ที่มาเป็นชั้น เป็นชั้นๆ มาเป็นลำดับลำดา...พวกเทวดาเช่น ดาวดึงส์นี้มา การแต่งเนื้อแต่งตัวนี้มีลักษณะไหน รูปร่างนี้จะหยาบไปอย่างนี้ ความละเอียดนะละเอียด เรื่องของเทพนั้นละเอียด แต่เมื่อเทียบกับเทพทั้งหลายแล้วจะละเอียดต่างกันเป็นชั้นๆๆ ขึ้นไป...

...นั่นละ เห็นไหม ญาณหยั่งทราบ พวกตาดีท่านอย่างนั้น พวกตาบอดปฏิเสธวันยังค่ำว่าไม่มี...โห เวลานี้กำลังเริ่มลบล้างพวกเทวบุตรเทวดาว่าไม่มีแล้วนะ ก็ชาวพุทธเราเองนี่แหละ มันเป็นข้าศึกต่อพระพุทธเจ้าเสียเอง..."

คุณยายกั้ง ผู้มีญาณหยั่งรู้

ในหมู่บ้านหนองผือมีบ้านอยู่ ๗๐ หลังคาเรือน มีคุณยายนุ่งขาวห่มขาวคนหนึ่งชื่อ “กั้ง” อายุราว ๘๐ ปี เป็นนักภาวนาสำคัญคนหนึ่งที่หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เมตตาเป็นพิเศษเสมอมา คุณยายอุตส่าห์ตะเกียกตะกายไปศึกษาธรรมกับท่านที่วัดป่าบ้านหนองผือเสมอ ดังนี้

“...แกใช้ไม้เท้าเป็นเครื่องพยุงออกไปหาพ่อแม่ครูจารย์มั่น กว่าจะถึงวัดต้องพักเหนื่อยระหว่างทางถึง ๓-๔ ครั้ง ทั้งเหนื่อยทั้งหอบน่าสงสารมาก บางทีท่านพระอาจารย์มั่นก็ทำท่าดุเอาบ้างว่า

‘โยมจะออกมาทำไม มันเหนื่อยไม่รู้หรือ แม้แต่เด็กเขายังรู้จักเหนื่อย แต่โยมแก่จนอายุ ๘๐-๙๐ ปีแล้วทำไมไม่รู้จักเหนื่อยเมื่อยล้า มาให้ลำบากทำไม ?’

แกเรียนตอบท่านอย่างอาจหาญตามนิสัยที่ตรงไปตรงมาของแกว่า

‘ก็มันอยากมา มันก็มาซิ’…”

คุณยายแกมีหลานชายคนหนึ่งเป็นโยมอุปัฏฐากหลวงปู่มั่น คอยส่งบาตรทุกวันๆ พอองค์ท่านรับบาตรเสร็จแล้ว ก็จะสะพายบาตรไปส่งที่วัดทุกวันไม่เคยขาด องค์หลวงตากล่าวถึงการภาวนาของคุณยายว่า

“คุณยายแกภาวนาดี มีหลักเกณฑ์ทางจิตแล้ว แกยังมีปรจิตตวิชชา คือสามารถรู้พื้นเพดีชั่วแห่งจิตคนอื่นได้ด้วย และมีนิสัยชอบรู้สิ่งแปลกๆ ภายนอกด้วย เวลาแกมารับการอบรมกับท่านอาจารย์มั่น แกเล่าความรู้แปลกๆ ถวายท่านด้วยความอาจหาญมาก ท่านทั้งขบขันทั้งหัวเราะ ทั้งเมตตาว่ายายแก่นี้อาจหาญจริง ไม่กลัวใคร”

คุณยายสามารถรู้เรื่องความคิดจิตใจของใครต่อใครได้จนบางครั้งหลวงปู่มั่นยังได้ถามคุณยายแบบขบขันว่า “รู้เรื่องนั้นไหม ?”

คุณยายก็ว่า “รู้”

“แล้วเรื่องนี้รู้ไหม ?” ก็ว่า “ก็รู้อีก”

หลวงปู่มั่นเลยลองถามว่า “แล้วรู้ไหม ? จิตของพระในวัดหนองผือนี้”

คุณยายว่า “ทำไมจะไม่รู้” แถมพูดแบบขู่เลยว่า “รู้หมดแหละ”

คุณยายเคยเล่าเรื่องภาวนาให้หลวงปู่มั่นฟังอย่างอาจหาญว่า “มองมาวัดหนองผือแห่งนี้สว่างไสวทั่วหมดเลย มีแต่พระภาวนาดวงเล็กดวงใหญ่เหมือนดาวอยู่เต็มวัด”

เวลาเล่าถวายหลวงปู่มั่น คุณยายจะพูดแบบอาจหาญมากไม่กลัวใคร แม้พระเณรจำนวนร่วมครึ่งร้อยซึ่งมีท่าน (องค์หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน) รวมอยู่ด้วย จะนั่งฟังอยู่เวลานั้นด้วยก็ตาม คุณยายก็จะพูดได้อย่างสบาย ไม่สนใจว่าใครจะคิดอะไร ดังนี้

“...พวกพระทั้งหลายพากันรีบล้างบาตร แล้วค่อยมาแอบฟังคำพูดของแก อยู่ทางด้านหลังหอฉัน แกพูดอาจหาญตามหลักความจริงไม่สะทกสะท้าน

‘เวลาพวกทวยเทพทั้งหลายมากราบพ่อแม่ครูจารย์ที่หนองผือ หลั่งไหลมา เขามาทิศทางพระไม่อยู่นะ พวกทวยเทพทั้งหลาย เขาเคารพพระมาก คือเขาจะมาทางด้านไม่มีพระ ถ้าพระมากทางด้านไหน เขาจะไม่มาทางด้านนั้น เขาไม่มาสุ่มสี่สุ่มห้านะ’

พ่อแม่ครูจารย์บอกกับโยมยายกั้งพูดเข้ากันได้ ท่านบอกว่า

‘ทางด้านนี้พวกเทพมา ใครอย่าไปทำสุ่มสี่สุ่มห้าแถวนั้นนะ นอนก็เหมือนกันหลับครอกๆ แครกๆ ให้พวกเทพเขามาปลงธรรมสังเวชไม่ได้นะ ให้รักษามารยาท’

พ่อแม่ครูจารย์มั่นท่านพูดก่อน แล้วโยมยายกั้งนี้แกมาพูดแบบเดียวกัน แกรู้จิตคนอื่น แกเห็นจริงๆ รู้จริงๆ ใครสะอาดผ่องใสขนาดไหนแกเห็น เวลาแกมาเล่านี้ คือแกนิสัยตรงไปตรงมา พูดไม่กลัวใครเหมือนขวานผ่าซาก รู้อย่างไรพูดอย่างนั้น แกเป็นคนตรงไปตรงมา พวกพระก็สนุกฟัง...

ยายกั้งมาเล่าถวายถึงการล่วงรู้จิตของท่านและพระเณรในวัด รู้สึกน่าฟังมาก พระเณรทั้งแสดงอาการหวาดๆ บ้าง แสดงอาการอยากฟังแกเล่าบ้าง แกเล่าว่า

‘นับแต่จิตท่านอาจารย์ลงมาถึงจิตเณร ความสว่างไสวลดหลั่นกันลงมาเป็นลำดับลำดา เหมือนดาวใหญ่กับหมู่ดาวเล็กๆ ที่อยู่ด้วยกันฉะนั้น รู้สึกน่าดูและน่าชมเชยมาก ที่มองดูจิตพระเณรมีความสว่างไสวและสง่าผ่าเผย ไม่เป็นจิตที่อับเฉาเฝ้าทุกข์ที่กลุ้มรุมดวงใจ แม้เป็นจิตพระหนุ่มและสามเณรน้อยๆ ก็ยังน่าปีติยินดีและน่าเคารพนับถือตามภูมิของแต่ละองค์ที่อุตส่าห์พยายามชำระขัดเกลาได้ตามฐานะของตน’

บางครั้งแกมาเล่าถวายท่านเรื่องแกขึ้นไปพรหมโลกว่า ‘เห็นแต่พระจำนวนมากมายในพรหมโลก ไม่เห็นมีฆราวาสสลับสับปนกันอยู่บ้างเลย ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ?’

ท่านตอบว่า ‘เพราะที่พรหมโลกโดยมากมีแต่พระที่ท่านบำเพ็ญจิตสำเร็จธรรมขั้นอนาคามีผลแล้ว ส่วนฆราวาสมีจำนวนน้อยมากที่บำเพ็ญตนจนได้สำเร็จธรรมขั้นอนาคามีผล แล้วไปเกิดและอยู่ในพรหมโลกชั้นใดชั้นหนึ่ง ฉะนั้นโยมจึงเห็นแต่พระไม่เห็นฆราวาสสับปนอยู่เลย อีกประการหนึ่ง ถ้าโยมสงสัยทำไมจึงไม่ถามท่านบ้าง เสียเวลาขึ้นไปถึงแล้ว มาถามอาตมาทำไม ?’

แกหัวเราะแล้วเรียนท่านว่า ‘ลืมเรียนถามพระท่าน เวลาลงมาแล้วจึงระลึกได้ก็มาเรียนถามท่าน ต่อไปถ้าไม่ลืม เวลาขึ้นไปอีกจึงจะเรียนถามพระท่าน’

แล้วแกจึงเรียนถามท่านต่อไปอีกว่า ‘เมื่อคืนนี้ ใครกัน มองตรงไหนก็มีแต่หน้าเต็มไปหมด ?’

ท่านก็ตอบให้ด้วยความเมตตาว่า ‘อ๋อ ! นั่นมันท้าวมหาพรหม เขามานมัสการเรา’

ท่านอาจารย์ตอบปัญหายายกั้งมีความหมายเป็นสองนัย

นัยหนึ่งตอบตามความจริง นัยสองตอบเป็นเชิงแก้ความสงสัยของยายกั้งที่ถาม ต่อมาท่านห้ามไม่ให้แกออกรู้สิ่งภายนอกมากไป เสียเวลาพิจารณาธรรมภายในซึ่งเป็นทางมรรคทางผลโดยตรง ยายกั้งก็ปฏิบัติตามท่าน...”


ความรู้ที่พิเศษอีกตอนหนึ่งก็คือที่คุณยายทายใจหลวงปู่มั่นอย่างอาจหาญมาก และไม่กลัวว่าท่านจะดุจะว่าอะไรบ้างเลย คุณยายทายว่า

“จิตหลวงพ่อพ้นไปนานแล้ว ฉันทราบจิตหลวงพ่อมานานแล้ว จิตหลวงพ่อไม่มีใครเสมอ ทั้งในวัดนี้หรือที่อื่นๆ จิตหลวงพ่อประเสริฐเลิศโลกแล้ว หลวงพ่อจะภาวนาไปเพื่ออะไร ?”

หลวงปู่มั่นจึงตอบทั้งหัวเราะ และเป็นอุบายสอนคุณยายไปพร้อมว่า

“ภาวนาไปจนวันตายไม่มีถอย ใครถอยผู้นั้นมิใช่ศิษย์ตถาคต”

คุณยายเรียนท่านว่า “ถ้าไปได้ก็พอไป แต่นี่จิตหลวงพ่อหมดทางไปทางมาแล้ว มีแต่ความสว่างไสวและความประเสริฐเต็มดวงจิตอยู่แล้ว หลวงพ่อจะภาวนาไปไหนอีกเล่า ฉันดูจิตหลวงพ่อสว่างไสวครอบโลกไปหมดแล้ว อะไรมาผ่านหลวงพ่อก็ทราบหมด ไม่มีอะไรปิดบังจิตหลวงพ่อได้เลย

แต่จิตฉันมันยังไม่ประเสริฐอย่างจิตหลวงพ่อ จึงต้องออกมาเรียนถามเพื่อหลวงพ่อได้ชี้แจงทางเดินให้ถึงความประเสริฐอย่างหลวงพ่อด้วยนี้”


ทุกครั้งที่คุณยายมา จะได้รับคำชี้แจงจากหลวงปู่มั่นทางด้านจิตตภาวนาด้วยดี ขณะเดียวกันพระเณรต่างองค์ต่างก็มาแอบอยู่แถวบริเวณข้างๆ ศาลาฉัน ซึ่งเป็นที่ที่คุณยายสนทนากับท่าน เพื่อฟังปัญหาธรรมทางจิตตภาวนา ซึ่งโดยมากเป็นปัญหาที่รู้เห็นขึ้นจากการภาวนาล้วนๆ เกี่ยวกับอริยสัจทางภายในบ้าง เกี่ยวกับพวกเทพพวกพรหมภายนอกบ้าง ทั้งภายในและภายนอก เมื่อคุณยายเล่าถวายจบลง ถ้าท่านเห็นด้วยท่านก็ส่งเสริมเพื่อเป็นกำลังใจในการพิจารณาธรรมส่วนนั้นให้มากยิ่งขึ้น ถ้าตอนใดที่ท่านไม่เห็นด้วย ก็อธิบายวิธีแก้ไขและสั่งสอนให้ละวิธีนั้น ไม่ให้ทำต่อไป

หลวงปู่มั่นเคยชมเชยคุณยายท่านนี้ให้พระฟังว่า

“แกมีภูมิธรรมสูงที่น่าอนุโมทนา พวกพระเรามีหลายองค์ที่ไม่อาจรู้ได้เหมือนคุณยาย”


รูปภาพ
หุ่นขี้ผึ้งหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต และอัฐิคุณยายกั้ง เทพิน
บนกุฏิหลวงปู่มั่น ที่วัดป่าบ้านหนองผือ จ.สกลนคร

(มีต่อ)

เจ้าของ:  สาวิกาน้อย [ 24 ธ.ค. 2010, 10:35 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

รูปภาพ

พลาด...เทศน์ครั้งสุดท้าย

ท่านกล่าวถึงตอนท่านอาจารย์มั่นเทศน์แบบฟ้าดินถล่ม คือเอาอย่างเต็มเหนี่ยวถึง 3 ชั่วโมงที่วัดเจดีย์หลวง เทศน์ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายที่เชียงใหม่ ซึ่งท่านมีโอกาสได้ร่วมฟังด้วย แต่ในคราวที่หนองผือ ท่านกลับพลาดโอกาสฟังเทศน์ครั้งนี้ของท่านอาจารย์มั่น ซึ่งเทศน์ชนิดฟ้าดินถล่มเช่นกันถึง 4 ชั่วโมงเต็ม ที่สำคัญก็คือเป็นเทศน์ครั้งสุดท้ายจะเป็นด้วยสาเหตุใด ท่านเคยเล่าให้พระเณรฟัง ดังนี้

"...พูดง่ายๆ ว่าเป็นครั้งสุดท้ายเทศน์ที่หนองผือเหมือนกัน เราก็พูดกับท่านอย่างชัดเจนก่อนที่จะลาท่านไปเที่ยว มาทางวาริชภูมิ...จากอำเภอวาริชภูมิไปหาหนองผือทางตั้งพันกว่าเส้น

ท่านก็ถามว่า "จะไปทางไหน ?"

"ว่าจะไปทางถ้ำพระทางโน้น ทางบ้านตาดภูวง"

ก่อนจะไปท่านก็ให้ปัญหาถึง 4 ข้อ ผมไม่ลืมนะ เพราะตามธรรมดาผมขึ้นไปหาท่าน ไม่ค่อยครองผ้าแหละ เพราะไม่มีผู้มีคน ก็มีแต่พระแต่เณรในวัด ไม่มีใครไปยุ่งกวน สงบสงัด ตอนเช้าจะไปหาท่าน ฉันจังหันเสร็จแล้วก็ขึ้นไป มีแต่ผ้าอังสะ เพราะท่านก็ไม่ได้ถืออะไรนี่มีแต่พวกกันเอง

วันนั้นผมครองผ้าไป พอขึ้นไป "จะไปไหนนี่ ?" ท่านว่าอย่างนั้นนะ เราก็เฉย ไม่รู้จะว่าไง ขึ้นไปกราบแล้วท่านก็คุยไป ไม่ได้ปรารภถึงว่าเราจะไปไหนมาไหนเลย สักครู่ท่านก็ปรารภมา

"ถ้าอยู่ก็ได้กำลัง ไปก็ได้กำลัง อยู่ก็ดี ถ้าอยู่ไม่ได้กำลัง ไปได้กำลัง ไปก็ดี"

ท่านพูดของท่านไปเรื่อยๆ ก่อน จนนานพอสมควรแล้วก็เปิดโอกาสให้อย่างนี้ละ เราก็กราบเรียนถามถึงเรื่องการงานภายในวัด

"ถ้ามีอะไรที่จะจัดจะทำ กระผมก็จะได้ช่วยหมู่เพื่อนทำให้เสร็จเรียบร้อยทุกอย่าง หากว่าไม่มีอะไร ก็อยากจะกราบนมัสการปรึกษาพ่อแม่ครูอาจารย์ไปภาวนาสักชั่วระยะหนึ่ง"

ท่านถาม "จะไปทางไหนล่ะ ?"

"คราวนี้คิดว่าจะไปไกลสักหน่อย" คือตามธรรมดาผมไม่ค่อยไปไกล ไปประมาณสัก 20-30 กิโลเท่านั้นละ...45 กิโล

"คราวนี้จะไปไกลหน่อย ไปทางอำเภอวาริชภูมิ"

"เอ้อ ดี ทางโน้นก็ดี" ท่านว่า "สงบ สงัดดี มีแต่ป่าแต่เขาทั้งนั้นแหละ" ท่านว่า "แล้วไปกี่องค์ล่ะ ?"

"ผมคิดว่าจะไปองค์เดียว"

"เออ ดีละ ไปองค์เดียว" ท่านก็ชี้ไป "ใครอย่าไปยุ่งท่านนะ ท่านมหาจะไปองค์เดียว"

ทีนี้เวลาจะไปก็จำได้ว่า เดือน 3 ขึ้น 3 ค่ำ ผมไม่ลืมนะ ก่อนจะไปก็ "กระผมไปคราวนี้คงจะไม่ได้กลับมาร่วมทำมาฆบูชาคราวนี้" เราก็ว่าอย่างงั้น ไป 9 วัน 10 วันกลับมา ทางมันไกลนี่ เดินด้วยเท้าทั้งนั้นแหละ

"เอ้อ บูชาคนเดียวนะ มาฆบูชาคนเดียวจริงๆ นี่"

ท่านว่าอย่างนั้น แล้วชี้เข้าตรงนี้นะ "พุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา เป็นมาฆบูชาทั้งนั้นแหละ เอาตรงนี้นะ"

จากนั้นก็ไป ทีนี้พอถึงวันมาฆบูชาสายๆ หน่อยประมาณสัก 11 โมง ท่านถามพระ "ท่านมหาไม่มารึ ? เห็นท่านมหาไหม ?" พระว่า "ไม่เห็นครับกระผม"

"ไปไหนกันนา ?" พอบ่าย 2 โมง 3 โมงเอาอีกถามอีก ตกเย็นเข้ามาอีกถามอีก

"เอ๊ มันยังไง ท่านมหาไปยังไงนา ?" เหมือนกับว่าท่านมีความหมายของท่านอยู่ในนั้น เหมือนกับว่าท่านจะเทศน์ให้เต็มที่ เพราะท่านจะป่วย ก่อนนั้นท่านไม่ได้ป่วยนี่นะ แต่ท่านทราบของท่านไว้แล้วเรื่องเหล่านี้ ตอนที่เราจะลาท่านไป ท่านก็ดีๆ อยู่นี่ พอถึงเวลาท่านลงมาศาลาหันหน้าปุ๊บมา

"หือ ? ท่านมหาไม่ได้มารึ ?"

"ไม่เห็นครับ" ใครก็ว่าอย่างงั้น

"เอ๊ มันยังไงนา ? ท่านมหานี่ยังไงนา ?" ว่าอย่างนี้แปลกๆ อยู่ ทั้งๆ ที่ได้ตกลงเรียบร้อยแล้ว ท่านมีอะไรของท่านอยู่แล้วท่านก็เทศน์ตั้งแต่นั้นจนกระทั่งถึง 6 ทุ่ม ฟาดวันมาฆบูชานี้ โอ๋ย เอาอย่างหนักเทียวนะ 4 ชั่วโมง ตั้งแต่ 2 ทุ่มถึง 6 ทุ่มเป๋ง

เทศน์จบลงแล้ว "โอ๊ย เสียดายท่านมหาไม่ได้มาฟังด้วยนะ" ว่าอีกนะซ้ำอีก ก็เหมือนอย่างว่าเทศน์ครั้งสุดท้าย จากนั้นมาท่านไม่ได้เทศน์อีกเลยนะ

พอเดือน 4 แรมค่ำหนึ่ง ผมก็มาถึง ผมไปเดือน 3 ขึ้น 3 ค่ำ ถึงเดือน 4 ขึ้น 3 ค่ำ ก็เป็น 1 เดือนพอดี เดือน 4 แรม 1 ค่ำ ผมกลับมา ผมจำได้แต่ข้างขึ้นข้างแรมจำวันที่ไม่ได้ เหตุที่จะจำได้ก็เพราะว่าพอผมขึ้นไปกราบท่านตอนบ่าย พอท่านออกจากที่แล้วผมก็ขึ้นไปกราบ

"มันยังไงกันท่านมหานี่"

ท่านว่าอะไรนี้ "เทศน์เสียจนฟ้าดินถล่มก็ไม่มาฟังกัน" นี่เราถึงได้ย้อนพิจารณา อ๋อ ที่พระท่านเล่าให้ฟังอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นเพราะเหตุนี้เอง

"เทศน์เสียจนฟ้าดินถล่ม นี่ผมเริ่มป่วยแล้วนะ เริ่มป่วยมาตั้งแต่วานซืนนี้" นั่นท่านว่า..."

คำเตือนล่วงหน้า

เมื่อท่านอาจารย์มั่นชราภาพมากแล้ว ท่านจะพูดเตือนพระเณรอยู่เสมอให้ตั้งอกตั้งใจ เพราะการอยู่ด้วยกันมิใช่เป็นของจีรังถาวร มีแต่ธรรมเท่านั้นเป็นสิ่งที่ควรยึดอย่างมั่นใจตายใจ ครูอาจารย์เป็นของไม่แน่นอน อย่านอนใจว่าได้มาอยู่กับครูกับอาจารย์แล้วท่านจะอยู่กับเราตลอดไป เมื่อนานเข้าๆ ท่านอาจารย์มั่นก็เปิดออกมาอีกว่า

"...ใครจะเข้มแข็ง ความพากเพียรอะไรก็ให้เข้มแข็ง มีความรู้ความเป็นอะไรภายในจิตใจ เอ้า ให้มาถามมาเล่าให้ฟังภิกษุเฒ่าจะแก้ให้...นี่เวลาภิกษุเฒ่าตายแล้วยากนะ ใครจะแก้เรื่องจิตใจทางด้านจิตตภาวนา นี่ไม่นานนะ"

ท่านย้ำลง "ไม่เลย 80 นะ 80 ก็นี่ มันนานอะไร พากันมานอนใจอยู่ได้เหรอ..."

เมื่อท่านอาจารย์มั่นพูดเตือนดังกล่าว พระเณรทั้งหลายต่างสลดสังเวชใจรีบตั้งหน้าตั้งตาเร่งปฏิบัติกัน สำหรับตัวท่านเองท่านเล่าถึงเหตุการณ์ตอนสำคัญนี้ให้พระเณรฟังว่า

"...เหมือนกันว่าจิตนี่มันสั่นริกๆ อยู่ พอได้ยินอย่างนั้นแล้ว ความเพียรก็หนัก เวลาครูบาอาจารย์ยังมีชีวิตอยู่ เราก็ได้พึ่งพาอาศัยร่มเงาท่านแก้ข้ออรรถข้อธรรมที่สงสัย ก็เร่งความเพียรเข้าเต็มที่ที่ พอท่านย่างเข้า 80 พั้บ ท่านก็เริ่มป่วยแหละ พอป่วยแล้ว ท่านบอกไว้เลยเชียว แน่ะฟังซิ ซึ่งท่านเคยป่วย เคยไข้มาไม่รู้กี่ครั้งกี่หน เป็นไข้มาลาเรีย เป็นไข้อะไร ท่านไม่เคยพูดถึงเรื่องเป็นเรื่องตาย

แต่พอเป็นคราวนี้ เพียงเริ่มเป็นเท่านั้น ไม่ได้มากอะไรเลย ท่านบอกว่า

"ผมเริ่มป่วยมาตั้งแต่วานซืนนี้นะ"

เพราะเราอยู่อำเภอวาริชภูมิ เราไปถึงวันค่ำหนึ่ง ท่านก็ป่วย ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 4 ผมจำได้ขนาดนั้นนะ วันค่ำหนึ่งเราก็ไปถึงท่าน

"ผมเริ่มป่วยตั้งแต่วานซืน" วานซืนก็หมายถึงวันขึ้น 14 ค่ำ "นี่ป่วยครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายนะ ไม่หาย ยาจากเทวดาชั้นพรหมไหนๆ ก็มาเถอะ" ท่านว่า

"ไม่มียาขนานใดในโลกนี้จะมาแก้ให้หาย ไข้นี้จึงเป็นไข้สุดท้าย แต่ไม่ตายง่ายนะ เป็นโรคทรมาน เขาเรียกว่า โรคคนแก่ อย่าไปหาหยูกหายามาใส่มารักษา มันเป็นไปตามสภาพของขันธ์นี้แหละ" ท่านว่าอย่างนั้น

"เอามารักษาก็เหมือนกับใส่ปุ๋ยแล้ว รดน้ำต้นไม้ที่ตายยืนต้นแล้วนั่นแหละ จะให้มันผลิดอกออกใบออกผลเป็นไปไม่ได้ ยังแต่เวลาของมันเหลืออยู่ที่จะล้มลงจมแผ่นดินเท่านั้น...

...นี่ก็อยู่แต่มันยังไม่ล้มเท่านั้นเอง จะให้หายด้วยยาไม่หายนะ นี่เพียงเริ่มเป็นเท่านั้น" ท่านบอกแล้ว

แน่ไหม ? ท่านอาจารย์มั่น ฟังซิ ผมถึงได้กราบสุดหัวใจผม ท่านเปิดออกมาอย่างนั้นไม่มีอะไรผิด

"ย่างเข้า 80 ไม่เลย 80 นา" ก็ฟังซิ

"โรคนี้เป็นไข้วาระสุดท้าย จะไม่หายจนกระทั่งตาย จะตายด้วยป่วยคราวนี้แหละ" ท่านว่า "แต่ไม่ตายง่าย เป็นโรคทรมาน" ก็จริง ตั้งแต่เดือน 4 ถึงเดือน 12 ฟังซิ 7-8 เดือน ท่านเริ่มป่วยไปเรื่อยๆ เหมือนกับค่อยสุมเข้าไปๆ สุดท้ายก็เป็นอย่างว่านั้น..."

เทิดทูนท่านอาจารย์มั่นสุดหัวใจ

หมู่พระเณรที่บ้านหนองผือทราบกันดีว่า ช่วงเวลาที่ท่านอาจารย์มั่นป่วยหนักมากๆ นี้ ถ้าองค์ท่านไม่นอนทั้งคืน ท่านก็ไม่ยอมนอนทั้งคืนด้วยเช่นกัน และถึงแม้จะต้องได้นั่งอยู่กับที่นานมากเข้าๆ จนเริ่มรู้สึกเจ็บเอวมาก แต่ด้วยความเคารพรักท่านอาจารย์มั่น แม้จะเจ็บมากเพียงไรก็ตามก็ไม่ถือเป็นอารมณ์กับมันยิ่งกว่าการคอยเฝ้าดูแลองค์ท่านอาจารย์มั่นอย่างใจจดจ่อที่สุด

เมื่อองค์ท่านงีบหลับไปบ้าง ท่านก็ถือโอกาสนั้นออกไปเปลี่ยนอิริยาบถบ้าง ด้วยการไปเดินจงกรมในบริเวณใกล้เคียง โดยไม่ลืมที่จะให้พระที่ไว้ใจได้คอยดูแลองค์ท่านอยู่เงียบๆ ตลอดเวลาแทน ท่านบอกพระองค์นั้นไว้ด้วยว่า

"หากมีอะไรให้รีบบอกทันที และคอยสังเกตดูว่า ถ้าองค์ท่านมีทีท่าว่าจะตื่นขึ้นก็ให้รีบบอกทันทีเช่นกัน"

การที่พระผู้เฝ้าไข้องค์ท่านต้องคอยบอกท่านอยู่เสมอๆ เพราะต่างก็สังเกตพบว่า เวลาองค์ท่านตื่นขึ้น เมื่อลืมตาขึ้นมามักจะถามขึ้นว่า

"ท่านมหาไปไหน ?ๆ"

พระผู้เฝ้าไข้ก็จะรีบวิ่งไปบอกท่านทันทีในจุดที่นัดหมายกันไว้แล้ว

ท่านเองก็รีบมาทันทีเช่นกัน

ยามที่ท่านอาจารย์มั่นป่วยหนักเช่นนี้ ท่านจะเป็นผู้ทำธุระต่างๆ เกี่ยวกับองค์ท่านด้วยตัวเองทั้งหมด เฉพาะอย่างยิ่งการถ่ายหนักถ่ายเบาขององค์ท่าน เหตุผลที่เป็นเช่นนี้ท่านเมตตาอธิบายว่า

"...เราทำต่อท่านด้วยความจงรักภักดี เทิดทูนขนาดไหน ไม่ให้ใครเข้าไปยุ่งเลยและท่านก็ไม่เคยตำหนิอะไร ไม่ให้ใครเข้าไปยุ่งเลย และท่านก็ไม่เคยตำหนิอะไร เราทำกับท่านถึงจะโง่หรือฉลาด เราขอถวายทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว ท่านไม่เคยตำหนิเรา จะถ่ายหนักถ่ายเบาอะไร เราจัดการเองหมด ไม่ให้ใครมายุ่งกลัวใครจะไปคิดไม่ดีในเรื่องอะไรๆ ที่เป็นอกุศลต่อท่าน เพราะปุถุชนเป็นได้นี่นะ

เราถึงเป็นปุถุชนก็ตาม แต่เรามันไม่ใช่อย่างนั้น เรามอบหมดแล้วนี่ มันต่างกันตรงนี้นะ สติปัญญาที่เรานำมาใช้กับท่านก็เรียกว่า เต็มกำลังของเรา...

เวลาถ่ายหนักนี่สำคัญมาก ไม่ให้ใครเห็นด้วยนะ เราทำของเราไม่ให้ใครมองเข้าไปเห็นเลยนะ เอาร่างกายเอาตัวของเราบังไว้หมดเลย ทำคนเดียวของเรา แต่ก่อนไม่มีถุงพลาสติก มีแต่กระโถนกับผ้าขี้ริ้ว ผ้าอะไร กระดาษก็มีแบบกระดาษห่อพัสดุ

เวลาท่านถ่าย เราก็เอามือรองที่ทวารท่านเลย หย่อนปั๊บใส่ปุ๊บ หย่อนปั๊บใส่ปุ๊บ เสร็จแล้วเอาผ้าคอยเช็ดตรงนั้น ให้ท่านถ่ายลงกับมือเราเลยนะ ไม่ให้ใครเข้าไปยุ่งเลย

เสร็จเรียบร้อยแล้วเราทำความสะอาดเอง ทำเองเสร็จแล้ว เราก็วิ่งออกมา เพราะพระอยู่ข้างนอกเต็มหมด อยู่ในนั้นมีแต่เราคนเดียว..."

เป็นตายไม่ว่า ถ้าเพื่อพ่อแม่ครูอาจารย์

ในระยะที่ท่านอาจารย์มั่นไอด้วยโรควัณโรคซึ่งเป็นโรคติดต่อร้ายแรง หากมีผู้ที่เข้าไปใกล้ชิดติดพันด้วยแล้ว โอกาสที่จะได้รับเชื้อยิ่งสูงมากและอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้โดยง่าย

เรื่องนี้เคยมีผู้ถามท่านอยู่เหมือนกันว่าไม่กลัวจะติดเชื้อวัณโรคนี้บ้างหรือ ท่านว่า ท่านไม่ได้สนใจกับวัณโรคที่ร้ายแรงนี้เลย ยิ่งกว่านั้นยังได้อยู่คลอเคลียใกล้ชิดติดพันกับองค์ท่านอยู่ตลอด แม้เวลาองค์ท่านไอ ท่านก็เอาสำลีกว้านเสลดออกช่วยท่าน ยิ่งในเดือนสิบเอ็ด สิบสอง อากาศหนาวเย็นเข้ามา องค์ท่านก็จะไอหนักขึ้น ถ้าคืนไหนไม่ได้นอน ท่านก็ไม่นอนด้วย เพราะต้องช่วยกว้านอยู่ตลอดคืน ท่านว่าสำลีที่ใช้แล้วนี้ถึงกับล้นพูนกะละมังเลย เพราะต้องกว้านออกเรื่อยๆ เหตุการณ์ในตอนนี้ท่านก็เคยเล่าไว้ว่า

"...ถ้าวันไหนท่านไม่หลับ เราก็ไม่ได้หลับ ถ้าวันไหนท่านได้หลับบ้าง เราก็ออกไปเดินจงกรม กลางวันไม่ไอท่านจะอยู่สบาย ก็ให้พระที่พอไว้ใจได้องค์ใดองค์หนึ่งอยู่แอบๆ ท่าน อยู่ข้างๆ แต่ไม่ได้เข้ามุ้งกับท่าน เราก็ได้พักในตอนนั้น ถ้ากลางคืนนี้เตรียมพร้อมตลอดเวลา

ถ้าพูดถึงพ่อแม่ครูอาจารย์มั่น เราเทิดทูนสุดหัวใจ เรามอบหมดทุกอย่าง ไม่มีอะไรเหลือติดเนื้อติดตัวเรา เรามอบหมดเลย ความลำบากลำบน เราไม่สนใจ เรามอบหมดเลย..."

ที่ท่านอาจารย์มั่นคอยถามถึงท่านมหาอยู่เสมอนี้ ไม่ใช่เพิ่งจะมีขึ้นในระยะนี้เท่านั้น ก่อนหน้านี้ก็มี และแม้ในคราวที่ท่านออกเที่ยววิเวกหลายต่อหลายวันเข้า องค์ท่านก็เริ่มถามกับพระเณรขึ้นแล้วว่า

"...เอ ท่านมหาไปไหนนา ? ไปหลายวันแล้วนะ..."

ครั้นเมื่อท่านกลับมาถึงวัด องค์ท่านก็ไม่พูดอะไร แต่พระเณรก็แอบเอาเรื่องนี้ไปเล่าให้ท่านฟัง ท่านก็ทำเหมือนกับไม่รู้อะไร แต่พอท่านได้ออกเที่ยวอีกหลายวัน องค์ท่านก็ได้ถามพระเณรขึ้นอีก เช่นว่า

"เออ มหาไปหลายวันแล้วนะ ไม่เห็นนะ"

ความเมตตาอย่างน่าประทับใจที่ครูบาอาจารย์มอบให้นี้ ก็คงด้วยเพราะองค์ท่านล่วงรู้ถึงหัวใจของท่านที่ยอมมอบทุกอย่างชนิดไม่มีอะไรเหลือ เพื่อเทิดทูนเคารพบูชาคุณอย่างสุดหัวใจต่อองค์ท่านนั่นเอง

สลดสังเวช...ผู้มีพระคุณสูงสุดจากไป

ด้วยสมาธิที่แน่นหนาและด้วยความเพียรด้านปัญญาอย่างจริงจัง ทำให้ท่านสามารถถอดถอนกิเลสออกได้เป็นลำดับๆ ไป จนก้าวเข้าถึงความละเอียดอ่อนของจิต และเห็นอวิชชา ในจิตเป็นของอัศจรรย์ เป็นของน่ารัก น่าสงวน น่าติดข้อง น่าเฝ้ารักษาอยู่อย่างนั้นเป็นอัศจรรย์ทั้งวันทั้งคืน ระยะนี้อยู่ในช่วง 4 เดือน ก่อนหน้าที่ท่านอาจารย์มั่นจะมรณภาพ

ท่านมีโอกาสอยู่จำพรรษาร่วมกับท่านอาจารย์มั่นโดยลำดับดังนี้ บ้างโคก 1 พรรษา บ้านนามน 1 พรรษา บ้านโคกอีก 1 พรรษา และแห่งสุดท้าย ที่บ้านหนองผือ 5 พรรษา สำหรับวันมรณภาพของท่านอาจารย์มั่น ตรงกับเวลา 2 นาฬิกา 23 นาที ของวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492 ณ วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร สิริรวมอายุได้ 80 ปี ยังความสลดสังเวชแก่ท่านอย่างเต็มที่ด้วย เพราะท่านทราบดีว่า ถึงแม้สติปัญญาจะเป็นอัตโนมัติหมุนตลอดทั้งวันทั้งคืน หรือแม้จิตจะละเอียดเพียงใด แต่ยังมีภาระการงานทางใจอยู่ ยังต้องการครูบาอาจารย์ที่เป็นที่ลงใจและสามารถช่วยชี้แนะจุดสำคัญที่กำลังติดอยู่นี้ให้ผ่านพ้นไปได้ ท่านเล่าเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า

"...วันท่านอาจารย์มั่นมรณภาพได้เกิดความสลดสังเวชอย่างเต็มที่จากความรู้สึกหมดที่พึ่งทางใจแล้ว เพราะเวลานั้นใจก็ยังมีอะไรๆ อยู่ และเป็นความรู้ที่ไม่ยอมจะเชื่ออุบายของใครง่ายๆ ด้วย เมื่อชี้ไม่ถูกจุดสำคัญที่เรากำลังติดและพิจารณาอยู่ได้อย่างท่านอาจารย์มั่นเคยชี้ ซึ่งเคยได้รับผลจากท่านมาแล้ว ทั้งเป็นเวลาเร่งความเพียรอย่างเต็มที่ด้วย

ฉะนั้น เมื่อท่านอาจารย์มั่นมรณภาพแล้วจึงอยู่กับหมู่คณะไม่ติด คิดแต่จะอยู่คนเดียวเท่านั้น จึงพยายามหาที่อยู่โดยลำพังตนเอง และได้ตัดสินใจว่าจะอยู่คนเดียวจนกว่าปัญหาของหัวใจทุกชนิดจะสิ้นสุดลงจากใจโดยสิ้นเชิง จึงยอมรับและอยู่กับหมู่เพื่อนต่อไปตามโอกาสอันสมควร..."

ความอาลัยอาวรณ์ถึงครูบาอาจารย์อย่างสุดหัวจิตหัวใจนี้ เป็นเพราะท่านมีความเคารพรักและเลื่อมใสท่านอาจารย์มั่นอย่างสูงสุด ขณะเดียวกันก็รู้สึกหมดหวัง หมดที่พึ่งทางใจระคนกันไป แต่แล้วท่านก็กลับได้อุบายต่างๆ ขึ้นมาในขณะนั้นว่า

"...วิธีการสั่งสอนของท่านเวลามีชีวิตอยู่ ท่านสั่งสอนอย่างไร ต้องจับเงื่อนนั้นแลมาเป็นครูสอน และท่านเคยย้ำว่า

"อย่างไรอย่าหนีจากรากฐานคือผู้รู้ภายในใจ เมื่อจิตมีความรู้แปลกๆ ซึ่งจะเกิดความเสียหาย ถ้าเราไม่สามารถพิจารณาความรู้ประเภทนั้นได้ ให้ย้อนจิตเข้าสู่ภายในเสีย อย่างไรก็ไม่เสียหาย..."

เมื่อการมรณภาพของท่านอาจารย์มั่นผ่านไป ผู้คนที่อยู่แวดล้อมเรือนร่างองค์ท่านอาจารย์มั่นก็เริ่มเบาบางลง โอกาสเช่นนั้นท่านจึงเข้าไปกราบที่เท้า และนั่งรำพึงรำพันปลงความสลดใจสังเวชน้ำตาไหลนองอยู่ปลายเท้าเกือบ 2 ชั่วโมง พร้อมทั้ง พิจารณาธรรมในใจของตนกับโอวาทที่ท่านอาจารย์มั่นให้ความเมตตาอุตส่าห์สั่งสอนมาเป็นเวลาถึง 8 ปีที่อาศัยอยู่กับท่าน ว่า

"...การอยู่เป็นเวลานานถึงเพียงนั้น แม้คู่สามีภรรยาซึ่งเป็นที่รักยิ่ง หรือลูกๆ ผู้เป็นที่รักของพ่อแม่อยู่ด้วยกันก็จะต้องมีข้อข้องใจต่อกันเป็นบางกาล แต่ท่านอาจารย์กับศิษย์ที่มาพึ่งร่มเงาของท่านเป็นเวลานานถึงเพียงนี้ไม่เคยมีเรื่องใดๆ เกิดขึ้น

ยิ่งอยู่นานก็ยิ่งเป็นที่เคารพรักและเลื่อมใสหาประมาณมิได้ ท่านก็ได้จากเราและหมู่เพื่อนผู้หวังดีทั้งหลายไปเสียแล้ว ในวันนั้น อนิจจา วต สังขารา เรือนร่างของท่านนอนสงบนิ่งอยู่ด้วยอาการอันน่าเลื่อมใสและอาลัยยิ่งกว่าชีวิตจิตใจซึ่งสามารถสละแทนได้ด้วยความรักในท่านกับเรือนร่างของเราที่นั่งสงบกายแต่ใจหวั่นไหวอยู่ด้วยความหมดหวังและหมดที่พึ่งต่อท่านผู้จะให้ความร่มเย็นต่อไป

ทั้งสองเรือนร่างนี้รวมลงในหลักธรรมคือ อนิจจา อันเดียวกัน ต่างก็เดินไปตามหลักธรรม คือ อุปปัชชิตวา นิรุชฌันติ เกิดแล้วต้องตาย จะให้เป็นอื่นไปไม่ได้

ส่วนท่านอาจารย์มั่นท่านเดินแยกทางสมมติทั้งหลาย ไปตามหลักธรรมบทว่า เตสัง วูปสโม สุโข ท่านตายในชาติที่นอนสงบให้ศิษย์ทั้งหลายปลงธรรมสังเวชชั่วขณะเท่านั้น

ต่อไปท่านจะไม่มาเป็นบ่อแห่งน้ำตาของลูกศิษย์เหมือนสมมติทั่วๆ ไป เพราะจิตของท่านที่ขาดจากภพชาติเช่นเดียวกับหินที่หักขาดจากกันคนละชิ้นจะต่อให้ติดกันสนิทอีกไม่ได้ฉะนั้น..."

ท่านนั่งรำพึงอยู่ด้วยรู้สึกหมดหวังในใจว่า

"...ปัญหาทั้งหมดภายในใจที่เคยปลดเปลื้องกับท่าน บัดนี้เราจะไปปลดเปลื้องกับใคร ? และใครจะมารับปลดเปลื้องปัญหาของเราให้สิ้นซากไปได้เหมือนอย่างท่านอาจารย์มั่นไม่มีแล้ว...

...เป็นกับตายก็มีเราคนเดียวเท่านั้น เช่นเดียวกับหมอที่เคยรักษาโรคเราให้หายไม่รู้กี่ครั้ง ชีวิตเราอยู่กับหมอคนเดียวเท่านั้น แต่หมอผู้ให้ชีวิตเรามาประจำวันก็ได้สิ้นไปเสียแล้วในวันนี้ เราจึงกลายเป็นสัตว์ป่าเพราะหมดยารักษาโรคภายใน..."


(มีต่อ 13)

เจ้าของ:  สาวิกาน้อย [ 24 ธ.ค. 2010, 10:36 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

รูปภาพ

ตอนที่ 9 สติปัญญาอัตโนมัติ

หมู่เพื่อนแอบจดจ้อง

ย้อนมากล่าวถึงระยะที่ท่านอาจารย์มั่นเริ่มป่วย หลวงตาเล่าสภาวะจิตในระยะนั้นให้พระเณรฟัง ดังนี้

"...ตอนท่านอาจารย์มั่นเริ่มป่วย จิตเราก็เริ่มชุลมุนวุ่นวายของมันไม่มีวันมีคืนเลยตั้งแต่นั้นมาเรื่อยๆ จิตเราก็ไม่ว่างเลย ท่านป่วยหนักเข้าเท่าไร เราก็ยิ่งต้องเป็นตัวตั้งตัวตีเกี่ยวกับการดูแลรักษา ตลอดถึงหมู่เพื่อนที่จะไปเกี่ยวข้องกับท่าน เราเป็นผู้คอยให้อุบาย คอยแนะนำตักเตือน ไอ้เราเองก็หมุนติ้วๆ ซิ ลงจากกุฏิท่านก็เข้าทางจงกรมแน่ะ พอออกจากทางจงกรมมาก็ขึ้นกุฏิท่าน นี่หมายถึงอยู่หนองผือ ออกจากกุฏิท่านก็เข้าทางจงกรม ปล่อยท่านก็ปล่อยให้เป็นเรื่องสำคัญมากที่เราจะปล่อยไม่ได้แม้หมู่เพื่อนจะมีมากก็ตาม แต่เราคอยแนะคอยให้อุบายคอยอะไรอยู่ตลอดเวลานั่นแหละ

พอมีเวลาบ้างนิดหน่อยก็เข้าทางจงกรม เพราะตอนนั้นจิตมันพิลึกพิลั่นจริงๆ ที่เรียกว่ามันเป็นของมันเอง ไม่มีใครบอกใครสอนไม่มีใครแนะใครนำแหละ หากเป็นในตัวของมันเองถึงวาระที่มันเป็น นี่ถ้าเราเรียก ก็เรียกว่าภาวนามยปัญญาอย่างว่า เมื่อก้าวถึงขั้นภาวนามยปัญญาแล้ว ต้องหมุนตัวไปเองเป็นอัตโนมัติ ไม่หยุดไม่ถอย มีแต่หมุนอยู่ตลอด หมุนกับกิเลสนั่นแหละไม่ใช่หมุนอะไร ลืมวันลืมคืนลืมปีลืมเดือนลืมเวล่ำเวลา ไม่ได้ส่งออกนอก มีแต่พันกันอยู่กับกิเลสอาสวะประเภทต่างๆ อยู่ภายในนั้น..."

ก่อนท่านอาจารย์มั่นจะมรณภาพ และเป็นระยะที่ท่านยังอยู่ระหว่างการออกวิเวก ท่านอาจารย์มั่นได้เคยปรารภถามพระที่ขึ้นไปทำข้อวัตรอุปัฏฐากว่า

"ถ้าผมตาย พวกท่านจะพึ่งใคร ?"

สักครู่หนึ่งท่านอาจารย์มั่นพูดขึ้นว่า

"เออ ให้พึ่งท่านมหานะ มหาฉลาดทั้งภายนอกภายในนะ..."

ด้วยเหตุนี้เอง จึงมีพระเณรหมู่เพื่อนต่างแอบจดจ้องท่านอยู่เงียบๆ และตั้งใจว่าเมื่อสิ้นท่านอาจารย์มั่นไป ก็ยังมีความหวังจะได้อาศัยท่านเป็นที่พึ่งที่แนะนำทางการภาวนาต่อไปได้

ดังนั้น เมื่อเสร็จงานพิธีศพท่านอาจารย์มั่น พระเณรหลายสิบรูปต่างคอยติดตามท่านอยู่ตลอด แม้ท่านจะพยายามหลบหลีกปลีกตัวหนีไปทางอื่น ด้วยเพราะเป็นระยะที่ต้องการอยู่ลำพังคนเดียว แต่ก็มีหมู่เพื่อนคอยสืบรอยติดตามไปตลอดเวลาแทบจะทุกสถานที่ เพราะเพิ่งขาดร่มโพธิ์ร่มไทรใหญ่คือท่านอาจารย์มั่นไปไม่นานนี้ เดี๋ยวองค์นี้ตามมา สักเดี๋ยวองค์นั้นตามมาอีกแล้ว เป็นอยู่อย่างนั้นตลอดในระยะนั้น

ท่านเล่าถึงเหตุการณ์ระยะนี้ว่า

"...ถึงระยะที่จะอยู่กับหมู่เพื่อนไม่ได้...มันอยู่ไม่ได้จริงๆ เสียเวล่ำเวลา ใครมายุ่งไม่ได้นะ คิดดูซิไปบิณฑบาตที่ไหน หมู่บ้านใหญ่ๆ ไม่อยู่ ไปหาอยู่บ้าน 5-6 หลังคาเรือน...บ้านใหญ่ไม่เอา ถ้ายิ่งบ้านไหนไปแล้วเขารุมมาหา โอ๋ย บ้านนี้ไม่ได้เรื่องแน่ นั่นเขาจะมายุ่งเราจนหาเวลาภาวนาไม่ได้ ไม่เอา

หนีไปหาอยู่หมู่บ้าน 3-4 หลังคาเรือน บิณฑบาตกับเขาพอมีชีวิตบำเพ็ญธรรมให้เต็มเม็ดเต็มหน่วยเท่านั้น ไปบิณฑบาต ก็ทำความเพียรตลอด ยุ่งกับใครเมื่อไร ทั้งไปทั้งกลับมีแต่เรื่องความเพียรเหมือนกับเดินจงกรม มันเป็นอยู่ในหลักธรรมชาติของมันเองเวลามันหมุนของมัน เห็นชัดๆ อยู่ในหัวใจว่า

"อยู่กับใครไม่ได้"

นี่มันก็รู้อยู่กับใจเราเอง ระยะหนึ่งมันบอกว่า "อยู่คนเดียวไม่ได้ ต้องได้วิ่งหาครูหาอาจารย์ไม่งั้นจมแน่ๆ"

มันรู้ชัดอยู่ ก็ต้องได้เข้าหาครูหาอาจารย์ ถึงวาระที่จะอยู่คนเดียวนี่ จะอยู่กับใครไม่ได้แล้วมันก็รู้อีก ใครติดตามไม่ได้นะ โอ๋ย ! ขโมยหนีจากพระจากเณรเหมือนขโมย ขโมยใหญ่ๆ เลยนี่ โน่น หัวโจรหัวโจกนั่น ขโมยหนีกลางคืน กลางวันหมู่เพื่อนจะเห็น

ถ้าพอไปกลางวันได้ก็ไป พอไปกลางคืนได้ก็ไปกลางคืน ดึกดื่นไม่ว่านะ หนีจากหมู่เพื่อน มันไม่สบาย มันอยู่ไม่ได้ ก็งานของเราเป็นอยู่อย่างนี้มีเวลาว่างเมื่อไร อยู่อย่างนี้ตลอด แล้วจะไปอ้าปากพูดคุยกับคนนั้น อ้าปากพูดกับคนนี้ได้ยังไง งานเต็มมืออยู่นี่ นั่น ถึงวาระมันเป็นในหัวใจรู้เอง..."

นางงามจักรวาล...อวิชชา

วันหนึ่ง ช่วงเดือน 3 ข้างแรม หลังเสร็จพิธีถวายเพลิงท่านอาจารย์มั่นแล้ว ท่านก็ไปภาวนาที่วัดดอยธรรมเจดีย์ ระยะนั้น ท่านยังคงอัศจรรย์กับความสว่างไสวของจิต ดังคำปรารภกับพระตอนหนึ่งว่า

"...จิตของเรามันสว่างไสว ก็อย่างว่านั่นแหละ คนเป็นบ้าอัศจรรย์ตัวเอง ไม่มีใครอัศจรรย์เท่าเจ้าของอัศจรรย์บ้าในตัวเอง ไม่ใช่อัศจรรย์ธรรมแต่เป็นอัศจรรย์บ้า ความหลงความยึดจิตอวิชชา มันจึงอัศจรรย์ตัวเอง เวลาเดินจงกรมอุทานออกมาในใจว่า "แหม...จิตเราทำไมสว่างเอานักหนานะ ร่างกายเรามองดูมันเห็นพอเป็นรางๆ เป็นเงาๆ เพราะความรู้ทะลุไปหมด" สว่างไปหมดเลยก็อัศจรรย์ล่ะซิ เราถึงว่าอัศจรรย์บ้า..."

ท่านอดอาหารมาได้เพียง 3 วัน เนื่องจากระยะนั้นอดนานมากไม่ได้แล้ว เพราะนับแต่เริ่มปฏิบัติมาจนขณะนี้เป็นเวลา 9 ปี ตอนนี้ก็พรรษาที่ 16 แล้ว ท่านก็อดอาหารแบบสมบุกสมบันอย่างนี้ตลอดมา วันนั้นท่านจึงตั้งใจจะฉันจังหัน เนื่องด้วย ท่านอาจารย์กงมาอนุญาตให้ชาวบ้านมาใส่บาตรที่วัดทุกวันพระ พระเณรจึงไม่จำเป็นต้องออกไปบิณฑบาตนอกวัด

ดังนั้น พอได้อรุณแล้ว เพื่อรอเวลาฉันอาหาร ท่านจึงออกจากกุฏิไปเดินจงกรมทางด้านตะวันตกของวัด ตั้งใจว่าจะเดินอยู่จนกระทั่งได้เวลาบิณฑบาต ขณะที่ท่านเดินจงกรมไปมาอยู่นั้น เกิดรำพึงขึ้นในใจว่า "เอ...จิตนี่ทำไมอัศจรรย์นักหนานะ มันสว่างไสวเอามาก..."

พอรำพึงถึงเรื่องความอัศจรรย์ของจิตจบลงเท่านั้น อุบายก็ผุดขึ้นมาในขณะจิตหนึ่งเป็นคำๆ เป็นประโยคๆ อย่างไม่คาดไม่ฝันว่า

"ถ้ามีจุดมีต่อมแห่งผู้รู้อยู่ที่ไหนนั้นแลคือตัวภาพ"

ในตอนนั้นท่านเล่าว่า ท่านงงเป็นไก่ตาแตกไปเลย เพราะยังไม่เข้าใจในอุบายที่ผุดขึ้น จึงได้แบกปัญหานี้ไปคนเดียวในป่าในเขา ทางอำเภอบ้านผือ ท่าบ่อ

ในช่วงนี้เอง ทีแรกท่านจำเป็นต้องให้ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ พระอุปฌาย์ของท่านร่วมเดินทางไปด้วย แต่กระนั้นก็ตาม การสนทนาธรรมระหว่างท่านกับท่านเจ้าคุณก็มีไม่บ่อยนัก เพราะกลัวจะขาดการสืบต่อทางความเพียร จึงจำเป็นต้องได้เลี่ยงท่านเจ้าคุณอยู่เรื่อยๆ ส่วนท่านเจ้าคุณเองก็คงสังเกตเห็นได้ชัดเจน จนมีอยู่ครั้งหนึ่งท่านเจ้าคุณจึงได้กล่าวขึ้นมา

"เธอเอ๊ย เรากลับไปแล้วเธอก็จะสบายหรอก เธอยุ่งเพราะเรา"

ถึงตอนนี้ท่านเคยให้เหตุผลว่า ท่านไม่สะดวกจะอยู่ด้วยใครๆ ในเวลานั้นจริงๆ เพราะไม่อยากให้เสียเวลาขาดความเพียรเลย ท่านเจ้าคุณก็มีเรื่องจำเป็นต้องพูดคุยอยู่บ่อยครั้ง เวลาพูดคุยทำให้ชะงักไปบ้างในทางความเพียร อีกประการหนึ่ง เมื่อท่านเจ้าคุณไปในที่ใดๆ คณะพระเณรฆราวาสลูกศิษย์ลูกหาก็มักมากราบมาเยี่ยมท่านอยู่ไม่ขาดสาย ดังนั้น เมื่อท่านเจ้าคุณจากท่านไป ความต่อเนื่องทางความเพียรจึงมีขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

ความจำเป็นของครูอาจารย์

ท่านกล่าวถึง อุบาย ที่ผุดขึ้นในกาย ในจิตของท่านที่ว่า "ถ้ามีจุดมีต่อมแห่งผู้รู้อยู่ที่ไหน นั้นแลคือตัวภพ"

ในตอนนั้นท่านยังไม่เข้าใจความหมาย จึงได้แต่รู้สึกเสียดายเป็นอย่างยิ่งว่า หากท่านอาจารย์มั่นยังมีชีวิตอยู่ องค์ท่านจะสามารถแก้ปัญหานี้ให้ได้ทันที ดังนี้

"...หากท่านอาจารย์มั่นยังทรงธาตุทรงขันธ์อยู่ ท่านจะแก้อุบายนี้ได้ทันที และจิตอวิชชาดวงสว่างไสวน่าอัศจรรย์นี้ก็จะต้องพังทลายขาดสะบั้นลงไปในตอนนี้เลยทีเดียว แต่เพราะด้วยขณะนั้นปัญญายังไม่ทันกับอุบายที่ผุดขึ้น จึงไม่สามารถพังทลายได้ มิหนำซ้ำยังติดยังยึดมันเข้าเสียอีกด้วย..."

ด้วยเหตุนี้เองท่านจึงพูดอย่างถึงใจอยู่เสมอว่า ครูบาอาจารย์ผู้รู้จริงนั้นมีความจำเป็นอยู่ทุกระยะ ดังนี้

"...ถ้าสมมติว่านำปัญหานี้มาเล่าถวาย ท่านอาจารย์มั่นตรงนี้ปั๊บ...ท่านจะใส่ผางมาทันที ทีนี้จะเข้าใจปุ๊บเดียว จุดนั้นก็พังทลายไปเลย นี่มันไม่เข้าใจ ปัญหาก็บอกชัดอยู่แล้ว นี่ซิถึงได้ว่าความจำเป็นมีอยู่ทุกระยะนา...

เรื่องจิตนี่จึงสำคัญที่ครูที่อาจารย์ผู้ให้การอบรมสั่งสอน ผู้ที่ท่านรู้แล้วไม่ต้องพูดมากเลย ท่านใส่ปั๊บเดียวได้ความ ใครจะมาสุ่มครอบทั้งหนองทั้งบึงไม่ได้ จะโยนยาใส่กันทั้งตู้ทั้งหีบมันไม่ได้

เรื่องความจำเป็นกับครูอาจารย์ มันจำเป็นอย่างนี้ไม่ว่าขั้นไหนๆ ความก้าวหน้าของเรามันช้าผิดกัน ปัญหาบางอย่างแก้กันอยู่ 2 วัน 3 วันแก้กันยังไม่แตก...ไม่ตกมันก็ไม่ถอย จะต้องแก้ให้ตกจนได้ นี่ซิมันจะตาย เพราะคำว่าแพ้นั้นมีไม่ได้ ถ้าจะแพ้ให้ตายเสียดีกว่า นอกจากต้องทะลุโดยถ่ายเดียว ถ้าไม่ทะลุก็ต้องเจาะกันอยู่อย่างนั้นหมุนติ้วๆ อยู่นั้น..."

พบปราชญ์กลางป่าเขา

ราวปี 2493 ท่านได้ไปพักอยู่กับท่านอาจารย์หล้าในเขาลึกราวครึ่งเดือน ที่พักเป็นป่าเขา อาศัยอยู่กับชาวไร่ บิณฑบาตพอเป็นไปวันหนึ่งๆ เดินจากที่พักออกมาหมู่บ้าน กว่าจะพ้นจากป่าก็เป็นเวลา 3 ชั่วโมง 20 นาที ถึงหมู่บ้านก็ร่วม 4 ชั่วโมง

ท่านได้มีโอกาสศึกษาเรียนถามธรรมกับท่านอาจารย์หล้า รู้สึกว่าซาบซึ้งจับใจท่านมาก ดังปรากฏอยู่ในตอนหนึ่งของหนังสือ "ปฏิปทาพระธุดงคกรรมฐาน"

"...ท่านอาจารย์หล้าอธิบานปัจจยาการคืออวิชชาได้ดี ละเอียดลออมาก ยากจะมีผู้อธิบายได้อย่างท่าน เพราะปัจจยาการเป็นธรรมละเอียดสุขุมมาก ต้องเป็นผู้ผ่านการปฏิบัติภาคจิตตภาวนามาอย่างช่ำชอง จึงจะสามารถอธิบายได้โดยละเอียดถูกต้อง เนื่องจากปัจจยาการหรืออวิชชาเป็นกิเลสประเภทละเอียดมาก ต้องเป็นวิสัยของปัญญา วิปัสสนาขั้นละเอียดเท่าๆ กัน จึงจะสามารถค้นพบและถอดถอนตัวปัจจยาการคืออวิชชาจริงได้ และอธิบายได้อย่างถูกต้อง..."

ท่านอาจารย์หล้าเป็นศิษย์ผู้ใหญ่ของท่านพระอาจารย์มั่น ภูมิลำเนาเดิมอยู่เวียงจันทน์ ท่านไม่รู้หนังสือเนื่องจากไม่เคยเรียนมาก่อน นับแต่อุปสมบทแล้ว ท่านอยู่ที่ฝั่งไทยตลอดมาจนวันมรณภาพ เพราะทางฝั่งไทยมีหมู่คณะและครูอาจารย์ทางฝ่ายปฏิบัติมาก

ท่านอาจารย์หล้าเริ่มฉันหนเดียว และเที่ยวกรรมฐานอยู่ตามป่าตามเขากับท่าน พระอาจารย์มั่นและท่านพระอาจารย์เสาร์มาแต่เริ่มอุปสมบท ไม่เคยลดละข้อวัตรปฏิบัติและความเพียรทางใจตลอดมา

ท่านกล่าวถึงการบำเพ็ญสมณธรรมของท่านอาจารย์หล้าไว้เช่นกันว่า "...ท่านอาจารย์หล้ามีนิสัยเด็ดเดี่ยวอาจหาญ ชอบอยู่และไปคนเดียว ท่านมีนิสัยชอบรู้สิ่งแปลกๆ ได้ดี คือพวกกายทิพย์ มีเทวดา เป็นต้น พวกนี้เคารพรักท่านมาก ท่านว่าท่านพักอยู่ที่ไหนมักมีพวกนี้ไปอารักขา" อยู่เสมอ ท่านมีนิสัยมักน้อยสันโดษมากตลอดมา และไม่ชอบออกสังคมคือหมู่มาก ชอบอยู่แต่ป่าแต่เขากับพวกชาวป่าชาวเขา เป็นปกติตลอดมา ท่านมีคุณธรรมสูงน่าเคารพบูชามาก คุณธรรมทางสติปัญญารู้สึกว่า ท่านคล่องแคล่วมาก...

...เวลาท่านจะจากขันธ์ไป ก็ทราบว่าไม่ให้ใครวุ่นวายกับท่านมาก เป็นกังวลไม่สบาย ขอตายอย่างเงียบแบบกรรมฐานตาย จึงเป็นความตายที่เต็มภูมิของพระปฏิบัติ ไม่เกลื่อนกล่นวุ่นวาย..."

รูปภาพ

ป่วยหนัก...รักษาด้วยธรรมโอสถ

คราวหนึ่งท่านออกวิเวกโดยเดินธุดงค์ไปทางบ้านกะโหมโพนทอง ซึ่งอยู่ระหว่างอำเภอบ้านผือกับอำเภอท่าบ่อ ต่อเขตต่อแดนกัน มีแม่น้ำทอนเป็นเขตแดน ชาวบ้านหมู่บ้านกะโหมโพนทองจำนวนมากต่างพากันล้มป่วยด้วยโรคเจ็บขัดในหัวอก ดารดาษกันไปหมดเหมือนโรคอหิวาต์หรือฝีดาษ ถึงขนาดที่ว่าวันหนึ่งๆ เป็นกันตายกันวันละ 3-4 คนบ้าง 5 คนบ้าง บางวันก็มีถึง 7-8 คนบ้าง

ท่านพักอยู่ในป่า เขาก็ไปนิมนต์ท่านมาสวด กุสลา มาติกา ให้คนตาย เพราะแถวนั้นไม่มีพระ วันทั้งวันเดี๋ยวมีคนนั้นตายแบกเข้ามาแล้ว สักพักเดี๋ยวแบกเข้ามาใหม่อีกแล้ว ท่านเลยจะไม่ได้หนีห่างจากป่าช้าเลย จนสุดท้ายโรคนี้ก็มาเป็นขึ้นกับตัวท่านเอง

อาการของโรคเจ็บเหมือนกับเหล็กแหลมหลาวทิ่มแทงประสานกันเข้าไปในหัวอกในหัวใจ จะหายใจแรงก็ไม่ได้ ยิ่งถ้าหากว่าจามด้วยแล้วแทบจะสลบไปในตอนนั้นเลยทีเดียว เมื่ออาการเกิดขึ้นเช่นนี้ทำให้ท่านทราบได้ทันทีว่า ถ้าขืนเป็นเช่นนี้แล้ว ไม่นานก็คงต้องตายอย่างแน่แท้ เพราะแม้แต่การหายใจก็จะไม่ได้ มันคับเข้าแน่นเข้าเรื่อยๆ หายใจแรงแทบไม่ได้เลย เมื่ออาการเช่นนี้ปรากฏขึ้น ท่านจึงบอกชาวบ้านว่าเป็นโรคแบบเดียวกันนี้แล้ว ต้องขอหลบตัว

จากนั้นท่านก็เก็บตัวพักอยู่ที่ป่าไผ่ตีนภู แล้วจึงพิจารณาว่า "...คราวนี้เราจะไปตายเสียแล้วเหรอ ในเวลานี้เรายังไม่อยากไป เพราะในหัวใจถึงจะละเอียดขนาดไหนก็ตาม แต่ก็รู้อยู่ว่าจิตนี้ยังไม่ได้เป็นอิสระ ยังมีอะไรอยู่ในจิต หากว่าตายไปในตอนนี้ก็แน่ใจใน ภูมิของจิตภูมิของธรรม ว่าจะต้องไปเกิดในที่นั้นๆ ยังไงก็ต้องค้างอยู่ ยังไม่ถึงที่ เหล่านี้ทำให้วิตกวิจารณ์ว่า

"ยังไม่อยากตาย"

เพราะจิตยังจะค้างอยู่ในชั้นใดชั้นหนึ่งในความรู้สึกยังมีอาลัยอาวรณ์อยู่ แต่ไม่ใช่กับชีวิต เป็นความอาลัยอาวรณ์อยู่กับมรรคผลนิพพานที่ตนต้องการจะได้..."

แต่ด้วยเหตุที่โรคมันบีบบังคับตลอดเวลา ทำให้ท่านต้องหมุนกลับมาพิจารณาย้อนหลังว่า

"...ไม่อยากตายก็ต้องได้ตาย เมื่อถึงกาลมันแล้วห้ามไม่ได้ สิ่งเหล่านี้เป็นคติธรรมดายุ่งไปทำไม เรื่องทุกขเวทนานี้ก็เคยผ่านเคยรบมาด้วยการนั่งหามรุ่งหามค่ำ นั่งตลอดรุ่ง

แม้ทุกขเวทนามากแสนสาหัสก็เคยได้ต่อสู้จนได้ความอัศจรรย์มาแล้ว โรคนี้ก็เป็นทุกขเวทนาหน้าเดียวกัน อริยสัจอันเดียวกัน จึงถอยไปไม่ได้..."

มีชาวบ้านยกทั้งบ้านพากันไปเยี่ยม ท่านเป็นร้อยๆ ท่านก็ให้เขากลับหมด ไม่ให้ใครมายุ่งเลย จะเหลืออยู่ก็แต่ผู้เฒ่าคนหนึ่งเท่านั้น แกแอบซุ่มดูท่านอยู่ตลอดทั้งคืนด้วยความเป็นห่วงที่กอไผ่ในป่าใกล้ๆ กันนั้น โดยไม่ให้ท่านรู้ตัว ท่านตั้งใจจะขึ้นเวทีต่อกรกันกับทุกขเวทนาของโรคนี้ในคืนนี้ ชนิดจะให้ถึงเหตุถึงผลถึงพริกถึงขิงถึงเป็นถึงตายเลยทีเดียว จากนั้นก็เข้าที่นั่งภาวนา โหมกำลังสติปัญญาหมุนเข้าพิจารณาทุกขเวทนาในจุดตรงกลางอกที่กำลังเจ็บเสียดแทงอยู่นี้ ท่านเล่าไว้ดังนี้

"...พิจารณาทุกขเวทนาในหัวอกนี้ว่าเป็นยังไง เกิดขึ้นจากอะไร เสียดแทงอะไร เวทนาเป็นหอกเป็นหลาวเมื่อไรกัน มันก็เป็นทุกข์ธรรมดานี้เอง ทุกข์นี้เป็นสภาพอันหนึ่งเป็นของจริง...ค้นกันไปมาไม่ถอย เป็นตายไม่สนใจ สนใจแต่จะให้รู้ความจริงในวันนี้เท่านั้น

พิจารณาดังนี้จนกระทั่งถึง 6 ทุ่มกว่า พอเต็มที่เห็นประจักษ์ เวลาถอนนี้ถอนอย่างประจักษ์เช่นเดียวกับทุกขเวทนา จากการนั่งตลอดรุ่ง จิตรอบด้วยปัญญา ทุกขเวทนาถอนแบบเดียวกัน ถอนออกจนโล่งหมดเลย หายเงียบไม่มีอะไรเหลือ ว่างไปหมดเลยเหมือนกับร่างกายไม่มี พักอยู่จนกระทั่งจิตมันพอตัวแล้วก็ยิบแย็บๆ ถอยออกมาๆ จิตก็ยังว่าง ร่างกายแม้จะมีอยู่ แต่ไม่มีเจ็บมีปวดมีเสียดแทงในหัวอกอย่างที่เป็นอยู่ จึงแน่ใจว่าไม่ตายแล้วทีนี้ โรคนี้หายแก้กันด้วยอริยสัจ

พอหลังจากนั้นแล้วก็ลงเดินจงกรม เขาเรียกตะเกียงอะไร แก้วครอบเล็กๆ...ภาคอีสานเขาเรียกตะเกียงโป๊ะ...จุดไว้ข้างนอกมุ้งโน้น...ตั้งแต่ต่อสู้กันอยู่โน้นนะ จุดไว้แล้วก็เข้าที่ละ มองเห็นไฟอยู่นอกมุ้งโน้น ไม่ได้เอาเข้ามาในมุ้ง จากนั้นก็ลงเดินจงกรม โอ๋ย เดินก็ตัวปลิวไปเลย หายเงียบไม่มีอะไรเหลือ..."

ท่านเดินจงกรมจนตลอดรุ่ง คืนนั้นท่านจึงไม่ได้นอนเลย เมื่อแสงอาทิตย์สว่างพอรำไร ผู้เฒ่าที่แอบอยู่ข้างกอไผ่ก็ปุบปับออกมาด้วยความดีใจ ท่านเห็นผู้เฒ่าจึงทักว่า

"เอ้า โยมมาทำไมล่ะ ?"

"โห ผมนอนอยู่นี้ ข้างกอไผ่นี่" แกว่า

"เอ้า นอนทำไม ? ก็บอกให้ไปตั้งแต่เมื่อคืนนี้"

"โอ๊ย ผมไม่ไป ผมกลัวท่านจะตาย ผมคอยแอบอยู่นี้ ผมก็ไม่ได้นอนเหมือนกันทั้งคืน ไฟของท่านสว่างตลอดรุ่ง เห็นท่านมาเดินจงกรม ผมก็ดีใจบ้าง"

การพิจารณาทุกขเวทนาจากการป่วยคราวนี้ ท่านเคยยกเอามาเป็นตัวอย่างสอนพระให้รู้หลักว่า

"...เวลาพิจารณาแล้วแก้ถอนกัน มันก็ถอนให้เห็นชัดๆ นี่นะ...มันแก้กันได้ด้วยอริยสัจ ปัญญาพิจารณากองทุกข์ แยกแยะกันกับร่างกายของเราออกให้เห็นอย่างชัดเจน ดังที่เราเคยปฏิบัติมาในสมัยที่นั่งหามรุ่งหามค่ำ ไม่ได้ผิดกันเลย แต่เรื่องสติปัญญาต้องขึ้นสดๆ ร้อนๆ เราจะไปเอาเรื่องเก่า เรื่องที่เคยเป็นมา มาปฏิบัติไม่ได้...เรื่องแก้กิเลส แก้อะไรทุกสิ่งทุกอย่าง แก้ทุกขเวทนานี้ มันต้องสดๆ ร้อนๆ...อย่าให้เกิดขึ้นมาด้วยการคาดการหมาย...มันถึงแก้สดๆ ร้อนๆ จริงๆ..."

ผีปอบสาว

ปี พ.ศ. 2493 เดือนเมษายน เป็นช่วงที่ท่านพักที่วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร ที่นั่นท่านได้พบกับคุณหมอเจริญ ซึ่งกำลังเตรียมตัวจะบวชตามประเพณี

วันหนึ่ง มีหญิงสาวผู้หนึ่งเข้ามาสนทนากับคุณหมอเจริญ หลังจากพูดคุยกันอยู่ครู่ใหญ่ เรื่องราวที่สนทนากันทำให้หญิงสาวผู้นั้นถึงกับยอมเปิดเผยความในใจว่าแกเป็นปอบ ในตอนนั้น ท่านเองก็อยู่ในเหตุการณ์นั้นด้วย ท่านเล่าไว้ ดังนี้

"...อย่างเขาว่าเป็นปอบเป็นผีก็เหมือนกัน คนนั้นเป็นปอบ คนนี้เป็นปอบ มันมีผีมาสิงอยู่ในคนเขาเรียกปอบ เอ๊ ชื่อว่าอะไรนาหญิงคนนี้ หมอเจริญซักเอาเสียจนตาแห้ง นั่งดูหญิงคนนั้น หมอเจริญน่ะเป็นนักเรียนแพทย์ปัจจุบัน อยากรู้ชัดๆ เป็นยังไงแน่ แกก็เล่าให้ฟังจริงๆ โห แกเล่าอย่างอาจหาญนี่ นั่งเหมือนกับอ้าปากด้วย ลืมตาไม่หลับด้วย อ้าปากด้วย คือแกพูดมันน่าฟัง

ถ้าวันไหนมันหิวมันดิ้นอยู่ในนี่ เจ้าของจะรู้สึกรำคาญ ว่างั้น ปอบส่วนมากมันจะออกทางตา แพล็บๆ ทางตา แล้วก็ไป แล้วทางเจ้าของนี้ก็คอยร้อนใจละซิ กลัวว่ามันจะไปกินใครเข้า ถูกหมอเขาเก่งเขาไล่ติดตามผีมา ก็มาหาเราได้ ถ้าคนไล่ผีไม่เก่ง คนไล่ผีไม่รู้ มันก็กินคน พอมันกินอิ่มแล้ว ก็กลับมาหาคน กลับมาหาเจ้าของนั่นแหละ มาเข้าเจ้าของ เข้าทางหูบ้าง เข้าทางตาบ้าง แวบเดียว ทีนี้ก็จะรู้สึกง่วงนอนทั้งวัน ถ้ามันได้ไปกินอิ่มๆ มาแล้ว จะง่วงนอนทั้งวันเลย แต่ถ้ามันหิวแล้ว เจ้าของก็จะรู้สึกกระวนกระวาย คือมันกวนอยู่ภายใน ครั้งถ้าออกไปกินเขา ก็ถูกเขาไล่ละซิว่า

"อีนี้เป็นปอบ อีนั้นเป็นปอบ"

เขาไล่ตามมาก็มาโดนเอาเราเข้า เหตุที่จะเป็นปอบก็เพราะแกไปสักว่าน เขาเรียกว่ากระจาย สักอยู่บนหัวนี่...ให้เขาสักว่านให้ที่กระหม่อม แล้วอยู่ยงคงกระพันด้วยนะ เมื่อสักว่านแล้ว แทงก็ไม่เข้า ฟันไม่เข้า ปืนยิงไม่ออก นั่นละ เหตุที่จะมาเป็นปอบก็เพราะว่านอันนี้ คือรักษาไม่ได้

แกว่ามีวิชาที่ขัดกันกับสิ่งนี้ เช่นกินของดิบอย่างนี้นะ ถ้าหากกินเนื้อดิบปลาดิบอย่างนี้เข้าไปมันจะขัดกับวิชานี้ ถ้าขัดแล้วก็ทำให้เป็นปอบได้ ถ้าไม่ขัดก็ไม่เป็นอะไร สิ่งที่ทำให้ขัดกันก็เช่น ไม่ให้กินเนื้อหรือไม่ให้กินปลาดิบ หรืออย่างลาบเลือด หรือเครือกล้วยก็ห้ามไม่ให้ไปลอด นี้ก็ไปลอดไม่ได้มันผิด นี่ละที่แกเล่าให้ฟัง

เราก็ฟังดูเหมือนกัน เอ๊ พิลึก ที่วัดป่าสุทธาวาสนี่ละ เรากำลังจะไปวัดดอยธรรมเจดีย์กับหมอเจริญ หมอเจริญกำลังจะบวช ให้ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ไปบวช...แกบวชให้แม่ แม่ขอก็เลยบวชให้ ก็พอดี ผู้หญิงคนนั้นแกมาคอยรถอยู่ที่หน้าวัด แต่ก่อนรถไม่ค่อยมีแหละ มาที่กุฏิ พวกนี้ก็นั่งอยู่นั้น แกมาก็เลยพูดกันไปพูดกันมาจึงได้รู้เรื่องรู้ราวว่าแกเป็นปอบ

"ทุกวันนี้ยังเป็นอยู่เหรอ ?"

"เป็นอยู่" แกว่างั้นนะ "ทุกวันนี้ก็ยังเป็นอยู่ ยังแก้ไม่ตก เพราะว่านเขาสักไว้กระหม่อมนี้ แล้วไปทำผิดเลยกลายเป็นปอบไป..."

...ถ้าหมอเขาเก่งๆ มันไปกินใครอย่างนี้ เขาไปขับผี พอจับมัดได้แล้ว เอาเชือกนะมัด เขาเรียกเชือกระกำ เป็นเชือกวิชา เมื่อเขามัดผูกนี้ไว้แล้วมันก็ออกไม่ได้ จากนั้นเขาก็ซักถามซิ

"เป็นใคร ? มาจากไหน ?"

เป็นนั้น ชื่อว่าอย่างนั้นๆ "แล้วใครเป็นเจ้าของ ?" มันก็ชี้บอกเจ้าของ

"ยายนี้แหละ" คนยังสาวๆ อยู่นะ ไม่ใช่ยายอะไรแหละ หมอเจริญนี้เชื่อเลย...

โอ้โห ! วิชามันแปลกนะ เอาไปคิดแหละพวกหมอแผนปัจจุบันนี่นะ สิ่งเหล่านี้เขาไม่เชื่อว่ามี ทีนี้หมอเจริญนี่แหละเชื่อ ไปเห็นแล้วไม่เชื่อได้ยังไง เพราะเขาพูดเป็นตุเป็นตะ พูดเป็นหลักความจริง หลักฐานพยานก็สักอยู่บนกระหม่อมเขา ก็บอกว่าสักอยู่ตรงนี้ นี่ละตัวมันพาเป็นเหตุ ก็มีหลักฐานพยานอยู่ทุกสิ่งทุกอย่างแล้วจะไม่เชื่อได้ยังไง มันกินคนเขาก็บอกว่ามันไปกินคน..."


(มีต่อ 14)

หน้า 1 จากทั้งหมด 4 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/