วันเวลาปัจจุบัน 19 เม.ย. 2024, 17:41  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 พ.ย. 2009, 14:33 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ประวัติและปฏิปทา
สมเด็จพระญาณวโรดม (ประยูร สนฺตงฺกุโร)


วัดเทพศิรินทราวาส ราชวรวิหาร
แขวงวัดเทพศิรินทร์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ



๏ ชาติภูมิ

ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระญาณวโรดม (ประยูร สนฺตงฺกุโร) เป็นพระนักเผยแผ่ธรรมที่ธำรงวัตรปฏิบัติตามแบบพระสงฆ์สายคณะธรรมยุตแท้ๆ อีกรูปหนึ่ง เป็นสมณะผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตนเป็นตัวอย่าง ด้วยมีวัตรปฏิบัติอันน่ายกย่องและศรัทธายิ่งของบรรดาศิษยานุศิษย์ ตลอดจนพุทธศาสนิกชนทั่วไป เน้นหลักธรรมคำสั่งสอน มิให้ตกอยู่ในความฟุ้งเฟ้อลุ่มหลงต่อวัตถุ ลาภยศ ชื่อเสียงต่างๆ

สมเด็จพระญาณวโรดม มีนามเดิมว่า ประยูร พยุงธรรม เกิดเมื่อวันศุกร์ เดือน 4 แรม 2 ค่ำ ปีมะโรง ตรงกับวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2459 (จะเป็นปีมะเส็ง พ.ศ.2460 ในปัจจุบัน) ณ บ้านท่าเรือ ต.ประจันตคาม อ.ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี โยมบิดา-โยมมารดาชื่อ นายธูป และนางทองหยิบ พยุงธรรม มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันรวม 7 คน (ถึงแก่กรรมตั้งแต่ยังเล็ก 3 คน เหลือ 4 คน) ท่านเป็นบุตรคนสุดท้อง

ปัจจุบัน สิริอายุได้ 93 พรรษา 72 (เมื่อปี พ.ศ.2552) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส ราชวรวิหาร แขวงวัดเทพศิรินทร์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ, กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) และอุปนายกสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.) และพระอุปัชฌาย์


๏ การศึกษาเบื้องต้น

ในช่วงวัยเยาว์ เริ่มเรียนหนังสือเมื่ออายุราว 6 ขวบ โดยบิดาเป็นครูสอนหนังสือ

ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2468 ได้เข้าเรียนหนังสือที่โรงเรียนประชาบาลประจำอำเภอประจันตคาม ในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดของการศึกษาในอำเภอนั้น ทั้งนี้ ท่านสอบ ปธ.5 ได้เป็นคนแรก โดยสอบคนเดียว ได้คนเดียว เมื่อปี พ.ศ.2472

รูปภาพ
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวรเถร)


๏ การบรรพชาและอุปสมบท

จากนั้นได้มาอยู่ที่วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อ พ.ศ.2474 และได้เข้าพิธีบรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ.2476 โดยมี สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวรเถร) เป็นพระอุปัชฌาย์

กระทั่งอายุครบ 21 ปีบริบูรณ์ ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2480 โดยมี สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวรเถร) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอุดมศีลคุณ (อินทร อคฺคิทตฺตเถร) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูวินัยธรเพ็ชร (ปภงฺกรเถร) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ซึ่งมีหม่อมเจ้าหญิงกรณิกา จิตรพงศ์ พระธิดาพระองค์เล็กในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเป็นอุปัฏฐากเจ้าภาพในการบวช ณ พัทธสีมาวัดเทพศิรินทราวาส

ได้รับนามฉายาว่า “สนฺตงฺกุโร” อันมีความหมายว่า “หน่อหรือเชื้อสายหรือทายาทของผู้สงบ” (ฉายานี้ได้มาตั้งแต่เป็นสามเณรพรรษาแรก) และได้อยู่จำพรรษาที่วัดเทพศิรินทราวาสแห่งนี้มาโดยตลอด มิได้ไปจำพรรษาที่อื่นเลย ท่านเป็นประดุจร่มไทรของคณะศิษยานุศิษย์

รูปภาพ
สมเด็จพระวันรัต (นิรันตร์ นิรนฺตโร ป.ธ.9)

รูปภาพ
พระสารประเสริฐ (ตรี นาคะประทีป)

รูปภาพ
อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ


๏ การศึกษาพระปริยัติธรรม

ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้ศึกษาพระปริยัติธรรมทั้งแผนกธรรมและแผนกบาลี โดยสามารถสอบไล่ได้นักธรรมชั้นตรี-โท-เอก และสอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค สำหรับภาษาสันสกฤตนั้น ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้เคยศึกษากับพระสารประเสริฐ (ตรี นาคะประทีป) ร่วมกับเพื่อนร่วมรุ่นกัน คือ อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ และสมเด็จพระวันรัต (นิรันตร์ นิรนฺตโร ป.ธ.9) จนแตกฉานในวรรณคดีสันสกฤต


๏ งานด้านส่งเสริมศาสนกิจของคณะสงฆ์

ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ถือเป็นพระสงฆ์ที่มีผลงานมีมากมายเหลือคณานับ เป็นผู้ริเริ่มโครงการต่างๆ ในคณะสงฆ์มากกว่า 100 โครงการ อาทิ ด้านการศึกษา เป็นผู้ริเริ่มเปิดโรงเรียนพระสังฆาธิการและจัดหลักสูตรระดับต้นและระดับสูง, เป็นผู้ริเริ่มโครงการและดำเนินงาน โดยเปิดอบรมวิชาการนวกรรมกับการพัฒนาชุมชน, เป็นผู้ริเริ่มโครงการอบรมภิกษุพัฒนาภูมิภาคและปฏิบัติ โดยการอบรมภิกษุพัฒนาภูมิภาค และดำเนินงานโครงการอบรมวิชาเคหพยาบาลแก่พระภิกษุ สามเณร และแม่ชี ร่วมกับสภากาชาดไทย เป็นต้น


๏ งานด้านเผยแผ่พระพุทธศาสนา

ท่านเป็นหัวหน้าพระธรรมทูตสายที่ 7

นอกจากนี้ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ยังได้เรียบเรียง จัดแปล และจัดพิมพ์หลักสูตรนักธรรม ธรรมศึกษาทุกชั้นเป็นภาษาอังกฤษ, สวดมนต์แปลเป็นภาษาอังกฤษ, การเรียนรู้พระพุทธศาสนาในเวลาจำกัด เป็นภาษาอังกฤษ และภาษาเยอรมัน เพื่อเผยแผ่แก่ชาวต่างประเทศ, ชุดแบบเรียนไวยากรณ์สันสกฤต 5 เล่ม จัดพิมพ์โดยมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และหนังสือชื่อ ศาสนาต่างๆ ซึ่งมีเนื้อหาในแนวศาสนาเปรียบเทียบ ครอบคลุมทั้งพระพุทธศาสนา, ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู, ศาสนาสิกข์, ลัทธิขงจื้อ, ลัทธิเต๋า, ศาสนาชินโต, ศาสนาโซโรอัสเตอร์ ตลอดจน ท่านยังได้เรียบเรียงและจัดพิมพ์หนังสือท่องเที่ยวอิงธรรมะ (แบบใหม่ อ่านเข้าใจ สนุกสนาน ไม่น่าเบื่อ), หนังสืออ่านสำหรับวัยรุ่น รวมทั้งผู้เฒ่า กว่า ๓๐ เล่ม ฯลฯ นับว่าท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นผู้คงแก่เรียน และเป็นนักเขียนฝีมือดีท่านหนึ่งก็ว่าได้

รวมทั้ง งานเผยแผ่พระพุทธศาสนา การเดินทางไปต่างประเทศจนครบ 6 ทวีป 45 ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นทวีปเอเชีย ยุโรป อเมริกา แอฟริกา ออสเตรเลีย เป็นต้น


๏ งานด้านสาธารณูปการ

ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นผู้ทำและเป็นผู้แนะนำชักจูงให้ทั้งฝ่ายบรรพชิต ทั้งฝ่ายคฤหัสถ์ให้ขุดบ่อ ทำแหล่งน้ำ สร้างถนน ให้แสงสว่าง ปลูกต้นไม้ สร้างศาลาพักร้อน สร้างวัดให้เป็นอารามให้เป็นศูนย์แห่งความฉลาด ให้เป็นแหล่งรวมประชาชน ให้เป็นที่พึ่งของประชาชนให้ทำห้องสมุดประจำวัดให้มีพิพิธภัณฑ์ประจำวัด

นอกจากนี้ ได้เปิดอบรมวิชาโบราณคดีและการนวกรรมแก่พระสังฆาธิการเพื่อให้รู้จักคุณค่าของโบราณวัตถุ โบราณสถาน วิธีการสร้าง วิธีการซ่อม เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ได้เป็นประธานในการผูกพัทธสีมา 25 วัด ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ

(มีต่อ 1)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 พ.ย. 2009, 14:36 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
สมเด็จพระญาณวโรดม (ประยูร สนฺตงฺกุโร) ท่ามกลางสานุศิษย์


๏ งานด้านวรรณกรรม

ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้เรียบเรียงและจัดพิมพ์หนังสือเรียน หนังสือธรรมะ หนังสือท่องเที่ยวอิงธรรมะ (แบบใหม่ อ่านเข้าใจ สนุกสนาน ไม่น่าเบื่อ) หนังสืออ่านสำหรับวัยรุ่น รวมทั้งผู้ใหญ่ กว่า 30 เล่ม บางเล่มได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศก็มี


๏ ลำดับสมณศักดิ์

พ.ศ.2495 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ในราชทินนามที่ พระศรีวิสุทธญาณ

พ.ศ.2500 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ในราชทินนามที่ พระราชสุมนมุนี

พ.ศ.2505 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ในราชทินนามที่ พระเทพกวี

พ.ศ.2515 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ในราชทินนามที่ พระธรรมธัชมุนี

พ.ศ.2528 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเจ้าคณะรองหิรัญบัฏ หรือรองสมเด็จพระราชาคณะ ในราชทินนามที่ พระญาณวโรดม

เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2546 เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 76 พรรษา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ ในราชทินนามที่ “สมเด็จพระญาณวโรดม”


๏ อายุวัฒนมงคล 91 ปี

ในวันศุกร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2550 นี้ เป็นวาระอันมงคลฤกษ์อีกคราหนึ่งที่สมเด็จพระญาณวโรดม (ประยูร สนฺตงฺกุโร) จะมีชนมายุครบรอบ 91 ปี คณะศิษยานุศิษย์ได้เตรียมทำบุญอายุวัฒนมงคลในวันดังกล่าวอย่างเรียบง่าย

เป็นที่ปลาบปลื้มยินดีแก่บรรดาเหล่าศิษย์ผู้ใกล้ชิดและญาติโยมผู้เลื่อมใสพระมหาเถระแห่งวัดมกุฏกษัตริยาราม ด้วยสมเด็จฯ มีวัตรปฏิบัติอันน่ายกย่องและศรัทธายิ่งของบรรดาศิษยานุศิษย์ ตลอดจนพุทธศาสนิกชนทั่วไป

สมเด็จพระญาณวโรดม เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีลาจารวัตร มีความรอบรู้ทั้งในทางคดีโลกและคดีธรรม เป็นพระมหาเถระนักบริหารชั้นสูงองค์หนึ่งของเมืองไทย ทั้งในฐานะกรรมการมหาเถรสมาคม

ขณะเดียวกัน ยังดำรงตำแหน่งอุปนายกสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นพระมหาเถระผู้มีความรู้ความสามารถในการบริหารระดับสูง ชีวิตและงานของสมเด็จพระญาณวโรดม ล้วนทำเพื่อพระศาสนาอย่างแท้จริง


๏ การมรณภาพ

สมเด็จพระญาณวโรดม (ประยูร สนฺตงฺกุโร) ได้มรณภาพด้วยอาการสงบ เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2552 เวลาประมาณ 06.00 น. ณ กุฎิปิยะสมบัติกุล วัดเทพศิรินทราวาส ทั้งนี้ ได้รับการเปิดเผยจาก พระเสกสันต์ ศิริวรรณ พระอุปัฏฐาก (พระผู้ดูแล) ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ว่า เมื่อช่วงเวลา 05.30-05.45 น. ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ มีอาการไอและมีเสมหะ โดยไอเพียง 2 ครั้ง ก็หมดสติ หัวใจหยุดเต้น จึงได้นำตัวส่งโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ซึ่งคณะแพทย์ได้ให้ความช่วยเหลืออย่างเต็ม แต่ก็ไม่สามารถช่วยชีวิตได้ เนื่องจากท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ชราภาพมาก ทำให้มรณภาพในที่สุด รวมสิริอายุได้ 93 ปี 8 เดือน พรรษา 72

พระเสกสันต์ กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ มีอาการป่วยมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 ด้วยอาการเส้นเลือดในสมองตีบ ประกอบกับมีโรคประจำตัว คือ มีโรคหัวใจและโรคไต ทำให้ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลโดยตลอด จนกระทั่งเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2552 ท่านมีอาการเป็นหวัด ไอ มีน้ำมูก ทางแพทย์จึงได้จัดยาให้รับประทาน และพาท่านไปพักตากอากาศยังต่างจังหวัด ท่านก็มีอาการดีขึ้น แต่พอกลับมาอาการไอก็กำเริบขึ้นมาอีก ประกอบกับท่านแพ้ยาปฏิชีวนะ ยาฆ่าเชื้อต่างๆ แพทย์จึงไม่สามารถถวายยาดังกล่าวให้ฉันได้ จึงทำให้ไม่หายขาด และมาเกิดอาการไอจนทำให้มรณภาพ ส่วนกำหนดเวลาในการประกอบพิธีบำเพ็ญกุศลศพท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ จะไม่ต่ำกว่า 100 วัน ที่ศาลากวีนิรมิตหรือศาลากลางน้ำ วัดเทพศิรินทราวาส โดยการบำเพ็ญกุศลอยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เป็นเวลา 7 วัน

ขณะเดียวกัน ณ ศาลากวีนิรมิตหรือศาลากลางน้ำ เจ้าหน้าที่จากสำนักพระราชวังได้มาจัดเตรียมสถานที่ โดยมีการนำโกฐไม้สิบสอง ซึ่งเป็นโกฐพระราชทานตามชั้นยศสมณศักดิ์สมเด็จพระราชาคณะ พร้อมทั้งจัดเตรียมสถานที่ในการพระราชทานน้ำสรงศพ จากนั้นเวลา 13.00 น. ขบวนเคลื่อนศพท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ก็มาถึงบริเวณศาลากลาง โดยมีคณะสงฆ์ คณะศิษยานุศิษย์ มารอรับศพในบริเวณดังกล่าวเป็นจำนวนมาก จากนั้นทางวัดได้เปิดให้คณะสงฆ์วัดเทพศิรินทราวาส นำโดย พระพรหมเมธี (สมชาย วรชาโย) ผู้ช่วยเจ้าอาวาส ประกอบพิธีสรงน้ำศพ โดยมีคณะครู-นักเรียนโรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ และคณะศิษยานุศิษย์เข้าร่วม พร้อมทั้งมีคณะสงฆ์และแม่ชีจากวัดต่างๆ ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เข้าสรงน้ำศพอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเวลา 17.43 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์มาพระราชทานน้ำหลวงสรงศพ

พระเทพปริยัติวิมล (แสวง ธมฺเมสโก) อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย (มมร.) ในฐานะลูกศิษย์ผู้ใกล้ชิด กล่าวว่า ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นอดีตอธิการบดี มมร. ปัจจุบันดำรงตำแหน่งอุปนายกสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย อีกทั้งท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ยังดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการที่ปรึกษาสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตคณะธรรมยุต ท่านได้สร้างผลงานให้แก่คณะสงฆ์อย่างมากมาย ทั้งในด้านปกครอง งานเผยแผ่ โดยเฉพาะด้านการศึกษาของคณะสงฆ์ ท่านจะสนับสนุนเรื่องการศึกษาทั้งเรื่องตำราเรียน อุปกรณ์ ทุนการศึกษา หรือแม้แต่ให้กำลังใจกับพระทุกรูป ก่อนหน้านี้ท่านยังได้เป็นประธานในพิธีเปิดห้องสมุดที่มหามกุฏฯ แห่งใหม่ที่ศาลายา ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ยังได้ปรารภว่า ต้องการให้มหามกุฏฯ ได้รวบรวมหนังสือตำราที่มีคุณค่าไว้มากๆ เพื่อให้พระภิกษุหรือผู้ที่ได้เข้าไปใช้บริการห้องสมุดได้นำไปต่อยอดความรู้ เกิดประโยชน์อย่างมหาศาล การมรณภาพของท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ถือเป็นความสูญเสียของคณะสงฆ์เป็นอย่างมาก

พระมหาปัญญา ปญฺญาวุฑฺโฒ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย (มมร.) กล่าวว่าการมรณภาพของท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ นับว่าเป็นการสูญเสียพระผู้ใหญ่ที่มีคุณูปการต่อวงการพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในด้านการศึกษาของคณะสงฆ์ที่ท่านได้เป็นผู้ริเริ่มและบุกเบิกให้มีการจัดการศึกษาระดับปริญญาตรี-ปริญญาเอก ของฝ่ายธรรมยุต และยังได้เป็นอดีตเลขาธิการ มมร. หรือตำแหน่งอธิการบดี มมร. คนที่ 2 และปัจจุบันยังเป็นอุปนายกสภามหาวิทยาลัย มมร. ด้วย นอกจากงานด้านการศึกษาแล้ว ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ยังเป็นผู้ริเริ่มให้มีพระธรรมทูตไทยในต่างประเทศด้วย

รูปภาพ

รูปภาพ
ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระญาณวโรดม (ประยูร สนฺตงฺกุโร) เป็นประธานสงฆ์
ในงานมุทิตาสักการะครูบาอาจารย์ที่ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์
เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2551 ณ วัดเทพศิรินทราวาส


รูปภาพ
พระอุโบสถ วัดเทพศิรินทราวาส

รูปภาพ
พระประธานในพระอุโบสถ วัดเทพศิรินทราวาส

(มีต่อ 2)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 พ.ค. 2011, 09:02 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


๏ กำหนดการพระราชทานเพลิงศพ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปในการพระราชทานเพลิงศพ สมเด็จพระญาณวโรดม (ประยูร สนฺตงฺกุรเถร ป.ธ.9) ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส ในวันเสาร์ที่ 20 มีนาคม พุทธศักราช 2553 เวลา 17.00 น.


๏ กำหนดการบำเพ็ญกุศล
ณ ศาลากวีนิรมิต วัดเทพศิรินทราวาส


วันศุกร์ที่ 19 มีนาคม พุทธศักราช 2553

เวลา 17.00 น. พระสงฆ์ 10 รูป สวดพระพุทธมนต์
เวลา 17.30 น. - พระราชาคณะถวายพระธรรมเทศนา 1 กัณฑ์
- พระสงฆ์ 4 รูป สวดคาถาธรรมบรรยาย
เวลา 19.00 น. พระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม

วันเสาร์ที่ 20 มีนาคม พุทธศักราช 2553

เวลา 10.30 น. พระสงฆ์ 10 รูป ถวายพรพระ รับพระราชทานฉัน
เวลา 11.00 น. ถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์ 100 รูป
เวลา 12.00 น. พระสงฆ์ 100 รูป บังสุกุล
เวลา 14.30 น. พระสงฆ์ 10 รูป สวดมาติกา-บังสุกุล
เวลา 15.00 น. เชิญโกศศพขึ้นรถวอจตุรมุขจากศาลากวีนิรมิต วัดเทพศิรินทราวาส
ไปยังเมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส
หยุดรถเชิญโกศศพแห่เวียนเมรุ แล้วเชิญขึ้นตั้งบนจิตกาธาน
เวลา 17.00 น. เสด็จพระราชดำเนินทอดผ้าไตรถวายพระสงฆ์ 10 รูป
บังสุกุลแล้วพระราชทานเพลิง

วันอาทิตย์ที่ 21 มีนาคม พุทธศักราช 2553

เวลา 07.00 น. พระสงฆ์ 3 รูป บังสุกุล รับพระราชทานภัตตาหารสามหาบในการเก็บอัฐิ
เวลา 08.30 น. เชิญอัฐิไปประดิษฐาน ณ ศาลากวีนิรมิต
เวลา 10.30 น. พระสงฆ์ 10 รูป เจริญพระพุทธมนต์ฉลองอัฐิ
เวลา 11.00 น. ถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์ 100 รูป
เวลา 12.00 น. พระสงฆ์ 10 รูป สวดมาติกา-บังสุกุล เป็นเสร็จพิธี



.............................................................

:b8: :b8: :b8: รวบรวมและเรียบเรียงมาจาก ::
(1) หนังสือพิมพ์ข่าวสด หน้า 1 คอลัมน์ มงคลข่าวสด
(2) เว็บไซต์ http://www.bangkokbiznews.com/

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 31 พ.ค. 2011, 11:18 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

พระดีๆ ยังมีในเมืองกรุง
สมเด็จพระญาณวโรดม วัดเทพศิรินทราวาส

เจ้าประคุณสมเด็จพระญาณวโรดม (ประยูร สนฺตงฺกุโร) เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส ราชวรวิหาร (พระอารามหลวง) นับเป็นสมเด็จพระราชาคณะรูปล่าสุด (รูปที่ ๙) ที่ไม่ค่อยจะมีผู้คนรู้จักกันมากนัก เพราะท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ มักจะไม่ค่อยเป็นข่าวหรือปรากฏภาพตามสื่อต่างๆ บ่อยนัก บางคนเคยพบเห็นท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ โดยตรง ก็ยังไม่ทราบเลยว่าท่านเป็นใคร นึกว่าเป็นพระหลวงปู่หรือหลวงตาที่ไหนสักแห่งหนึ่ง

อุปนิสัยส่วนตัว ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นคนเรียบง่าย สมถะ มักน้อย รักสันโดษ ไม่โอ้อวดคุณวิเศษใดๆ ทั้งๆ ที่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นพระนักบริหาร นักพัฒนา นักเขียน นักแต่งตำรา ที่มีผลงานมากมาย รวมทั้งยังมีตำแหน่งหน้าที่การงานในมหาเถรสมาคม เป็นเลขาธิการและอุปนายกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา และมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย มาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๒ จนถึงปัจจุบัน

ในวันพรุ่งนี้ (วันพุธที่ ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๘) เป็นวันที่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ จะมีอายุครบ ๘๘ ปี คณะสงฆ์วัดเทพศิรินทร์ และคณะศิษยานุศิษย์ จะได้ร่วมกันจัดงานทำบุญบำเพ็ญกุศลที่วัดเทพศิรินทร์ หน้าพระเครื่อง “คม ชัด ลึก” จึงขอนำประวัติและผลงานต่างๆ ของท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ มาลงเผยแพร่ รวมทั้งคำสัมภาษณ์ที่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้เมตตาให้บันทึกไว้...ดังต่อไปนี้

* ปีนี้ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ มีอายุเท่าไรแล้วครับ ?

- ปีนี้อาตมาอายุครบ ๘๘ ปี จะทำบุญในวันพุธที่ ๙ มีนาคมนี้ โดยจัดกันแบบเรียบๆ ง่ายๆ เลี้ยงเพลพระเณร ๖๐๐ รูป ซึ่งเป็นพระนักศึกษาของวัดนี้ เป็นพระลูกศิษย์ทั้งนั้น เพราะอาตมายังสอนหนังสือพระเณรอยู่ที่นี่ โดยสอนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๒ จนถึงทุกวันนี้

* สุขภาพพลานามัยดี ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บนะครับ ?

- ก็พอไหวอยู่ ไปไหนมาไหนได้อย่างสบายๆ โรคภัยไข้เจ็บก็มีบ้างตามประสาคนมีอายุมากแล้ว หมอก็ให้ยามาฉัน แต่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย เวลาส่วนใหญ่จะเขียนหนังสือจนดึก จำวัดเอาตอนตี ๒ กลางวันก็ไม่ค่อยได้พักผ่อน มีงานต้องทำมาก

* ในหนังสือประวัติ เห็นมีรายการหนังสือที่เขียนไว้มากมาย แสดงว่าท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นนักเขียนคนหนึ่งใช่ไหมครับ ?

- อาตมาเป็นเลขาธิการและอุปนายกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา และมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๒ จนถึงปัจจุบัน มีหน้าที่ในการบันทึกเรื่องราวการเรียนการสอนของพระภิกษุสามเณร การบริหารศาสนกิจต่างๆ รวมทั้งต้องติดตามสมเด็จพระสังฆราช ในการเสด็จไปประกอบศาสนกิจในต่างประเทศ ต้องไปบ่อยครั้งและไปทั่วโลกมาแล้ว ไปบ่อยที่สุดคือเมืองจีน ไปเชื่อมสัมพันธไมตรี ไปไหว้พระ ก็ต้องบันทึกเรื่องราวต่างๆ เอาไว้ แล้วเอามาเขียนเป็นหนังสือเพื่อเผยแผ่พระศาสนา

* เวลานี้ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ยังค้นคว้าศึกษาเรื่องอะไรอยู่บ้างครับ ?

- ก็มีเรื่องการศึกษาของพระเณร ปกติเขียนหนังสือเป็นประจำทุกวันถึงตี ๒ ตื่น ๖ โมงเช้า ทำมานานแล้ว จนเคยชิน ตั้งแต่ยังเป็นเณร สมัยเป็นเณรต้องขยันมากๆ มาถึงตอนนี้จึงไม่รู้สึกลำบากแต่อย่างไร

* สังเกตเห็นว่า สมเด็จพระราชาคณะและพระเถระที่วัดนี้ ส่วนใหญ่มีปฏิปทาอันน่าเคารพศรัทธาเลื่อมใส คล้ายๆ กัน นับตั้งแต่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ) มาจนถึงสมเด็จพระวันรัต (นิรันตร์) และพระเถระรูปอื่นๆ รวมทั้งเจ้าประคุณสมเด็จฯ เอง อันนี้มีการถ่ายทอดกันมาอย่างไรหรือครับ ?

- เป็นอุปนิสัยที่ติดตัวกันมาของแต่ละท่าน จะว่ามีการถ่ายทอดกันก็คงได้ เพราะได้เห็นพระผู้ใหญ่ทำตัวอย่างไร เราก็ทำตามท่าน อย่างท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ (เจริญ) ท่านเป็นคนง่ายๆ จำวัดกับพื้น ไม่มีเตียงนอนแต่อย่างใด ก็เป็นตัวอย่างให้พระในวัดนี้ทำตามกันทุกรูป รวมทั้งอาตมาด้วย จำวัดกับพื้น แล้วก็เป็นความพอใจด้วยที่ได้ทำตามพระผู้ใหญ่

* ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ มาอยู่วัดนี้เมื่อไร และได้พบกับท่านเจ้าคุณนรฯ ไหมครับ ?

- อาตมามาอยู่วัดนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๔ ท่านเจ้าคุณนรฯ ได้มาบวชแล้ว (เจ้าคุณนรฯ บวชเมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๔๖๘) ท่านอายุมากกว่าอาตมา ๑๕ ปี ก็ได้พบท่านเสมอ ท่านเป็นพระปฏิบัติ ไม่ค่อยพูดคุยกับใคร แต่ใครไปถามไปคุยกับท่าน ท่านก็จะคุยด้วย ท่านเป็นคนไม่ชอบแสดงตัว ไม่อวดอ้าง เป็นคนเรียบง่าย ไม่ต้องการอะไรทั้งนั้น มีแต่จะให้ ท่านเป็นผู้มีความรู้สูง บางอย่างพวกเปรียญ ๙ ประโยค ยังไม่รู้เลย แต่ท่านก็รู้ นอกจากนี้ท่านยังมีความจำแม่นเป็นเลิศ อาตมามีความประทับใจในตัวท่านมาก

* ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้เรียนวิปัสสนากรรมฐานบ้างไหมครับ ?

- ก็พอรู้อยู่ ได้เรียนมาบ้าง ที่วัดนี้ก็มีการสอน ทั้งปริยัติธรรมและปฏิบัติ พระบวชใหม่ต้องเรียนตามหลักสูตรการเรียนการสอนด้านปริยัติธรรม พอกลางคืนก็ต้องไปเรียนวิปัสสนากรรมฐานด้วย ควบคู่กันไป

* เคยได้รับนิมนต์ไปนั่งปรกปลุกเสกพระเครื่องบ้างไหมครับ ?

- ไม่เคย อาตมาไม่เอาทางนี้อยู่แล้ว เอาแต่เรื่องเรียนเรื่องสอนหนังสือมากกว่า รวมทั้งบริหารการศึกษาของพระเณร การปกครองพัฒนาวัดให้มีความเจริญรุ่งเรือง มีความเรียบร้อย สะอาดสะอ้าน ญาติโยมมาวัดเห็นแล้วจะได้สบายตา สบายใจ สบายกาย

* พระเครื่องหรือวัตถุมงคลเป็นเรื่องงมงายไหมครับ ?

- ในพระวินัยสงฆ์ไม่มีเรื่องนี้ เรื่องพระเครื่องเป็นความนิยมของแต่ละคน เป็นระดับภูมิจิตของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน จะไปว่าเขางมงายก็ไม่ได้ เพราะภูมิจิตของเขามีอยู่ในระดับหนึ่ง ก็มีสิ่งยึดเหนี่ยวอย่างหนึ่ง ถ้าคนที่มีภูมิจิตสูงขึ้นไปมากๆ ก็ไม่จำเป็นต้องยึดเหนี่ยวอะไรเลย เป็นความหลุดพ้นของบุคคลผู้นั้น โดยส่วนตัวอาตมาก็ไม่ได้ยึดถือสิ่งเหล่านี้อยู่แล้ว แต่ก็ไม่ไปว่าเขา เมื่อเขายึดถือพระเครื่องแล้วเป็นคนดี มีศีลธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริต ยึดถือแล้วสบายใจ ไม่ไปทำให้คนอื่นเดือดร้อน ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีงามอยู่แล้ว

* มีธรรมะอะไรบ้างที่จะสอนให้ชาวบ้านได้ดำรงชีวิตอยู่ด้วยความสุข ในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ ?

- คนเราจะมีความสุขในชีวิตได้ ก็ต้องไม่มีอบายมุข ไม่เล่นการพนัน ไม่เสพยาเสพติด แม้แต่บุหรี่ สิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้องรู้จักประหยัด อดออม ไม่ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย ฟุ่มเฟือย อะไรที่ไม่จำเป็นก็ไม่ต้องไปซื้อหาให้เป็นภาระ

* ในวัดนี้มีข้อห้ามไม่ให้พระเณรสูบบุหรี่ไหมครับ ?

- ไม่มี ไม่ได้ห้าม แต่ก็ไม่เคยเห็นพระเณรสูบบุหรี่กันเลย อาจจะเพราะเห็นพระผู้ใหญ่ไม่มีใครเขาสูบกัน พระเณรอื่นๆ ก็เลยถือเป็นตัวอย่างก็ได้ อาตมาเองก็ไม่ได้สูบบุหรี่มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว

* เหตุการณ์ทาง ๓ จังหวัดภาคใต้ที่มีความไม่สงบ ทางวัดได้ให้ความช่วยเหลือพระสงฆ์ทางโน้นอย่างไรบ้างครับ ?

- ก็มี...ได้ส่งเงินไปช่วยเหลือก่อนหน้านี้แล้ว ตอนแรกๆ ทางราชการไม่ได้พูดถึงความเดือดร้อนของพระเณรเลย บอกแต่ความเดือดร้อนของชาวบ้าน แต่พระทางโน้นบอกมาว่า เดือดร้อนมาก ไม่มีปัจจัยอะไรเลย สบงจีวรก็มีอยู่ชุดเดียว ก็เลยส่งความช่วยเหลือไปให้

* เห็นรูปปั้นข้างนอกหน้ากุฏิท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นรูปคนปิดหู ปิดตา ปิดปาก มีความหมายอย่างไรครับ ?

- มีความหมายว่า ปิดตาทั้งคู่ ปิดหูสองข้าง ปิดปากเสียบ้าง นอนนั่งสบาย คือ คนเราทำเป็นคนตาบอดเสียบ้าง จะได้ไม่เห็นอะไรที่ไม่ดีงาม หูหนวกเสียบ้าง จะได้ไม่ยินเสียงอะไร เสียงคนนินทาว่าร้ายใคร ปิดปากเป็นใบ้เสียบ้าง จะได้ไม่พูดจากับใครให้มันมากเรื่อง พูดอะไรให้คนเขาทะเลาะกันก็อย่าไปพูด ปัญหาอะไรๆ ก็จะได้ไม่มี...ทำได้อย่างนี้ก็สบาย ไม่มีเรื่อง จะนั่งจะนอนก็สบาย

* มีญาติโยมมาหาบ้างไหม และส่วนใหญ่มาหาเรื่องอะไรครับ ?

- ก็มีมาบ่อยๆ มาปรึกษาหารือ ถามปัญหา ถามธรรมะ บางคนก็มาฝากเด็กเข้าเรียนหนังสือ ก็ต้องมอบหมายให้พระรูปอื่นรับหน้าที่ไปบ้าง คนที่มาปรึกษาปัญหาชีวิตประจำวัน ก็ต้องสอดแทรกธรรมะ สอนเขาไปบ้าง โดยเฉพาะเรื่องการนินทาว่าร้ายคนอื่น เรื่องนี้พวกผู้หญิงชอบทำกันนัก พวกผู้ชายไม่ค่อยเท่าไร ก็ต้องสอนว่า การนินทานั้นเป็นของเน่าเสีย ของไม่ดี เขาไม่เอาแล้ว เอามาโยนใส่เรา แล้วเราจะไปรับเอามาทำไม ของเสียของเน่าทั้งนั้น รับมาแล้วก็ต้องเป็นภาระ เป็นทุกข์เป็นร้อน ต้องคิดอย่างนั้นคิดอย่างนี้ ไปต่อว่ากัน ไปทะเลาะกัน จนแตกความสามัคคี รกสมองเปล่าๆ อย่าไปรับเอามา อย่าไปฟังเขานินทาว่าใคร เราก็จะได้สบายใจไปด้วย ก็อย่างที่เห็นในรูปปั้นนั่นแหละ ทำเป็นหูหนวกเสียบ้าง จะได้ไม่มีเรื่องรกสมอง สุขภาพจิตก็ดีด้วย เพราะไม่ต้องไปเครียดมัน

* เจ้าประคุณสมเด็จฯ เห็นว่าพระพุทธศาสนาของเราเวลานี้มีปัญหาอะไรบ้างไหมครับ ?

- ก็มีปัญหาอยู่เหมือนกัน เวลานี้เรากำลังจะมีการประชุมกันระหว่างนิกายมหายานกับเถรวาท จะประชุมกันที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในราวเดือนพฤศจิกายนนี้ จะหารือกันระหว่าง ๒ นิกายนี้ เรื่องการเผยแผ่ เรื่องความมั่นคงของพระพุทธศาสนาในปัจจุบัน โดยจะไม่พูดถึงเรื่องในอดีตที่ผ่านมาแล้ว การประชุมก็เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ที่กำลังประสบอยู่ จะมีพระเถระจากต่างประเทศมากันมาก รวมทั้งของไทยเรา การประชุมนี้ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพ โดยมาใช้สถานที่เมืองไทย นอกจากนี้ก็มีพระจีน ซึ่งมีปัญหาคล้ายๆ กับเรา โดยเฉพาะความมั่นคงของพระพุทธศาสนา อันตรายที่สุดคือ เวลานี้ชาวพุทธเราในบางครั้งไม่มีความรู้ทางพระพุทธศาสนา จึงทำอะไรบางอย่างไปอย่างผิดๆ หรือไม่รู้ นึกว่าเป็นเจตนาดี แต่แท้จริงเป็นการทำลายมากกว่า คือรู้เท่าไม่ถึงการณ์

* เรื่องพระที่ประพฤติตัวไม่ดี ทำให้เสื่อมเสียต่อพระศาสนา จะมีวิธีการแก้ไขอย่างไรบ้างครับ ?

- มันเป็นเรื่องธรรมดาของคนหมู่มาก ที่ย่อมต้องมีคนชั่วรวมอยู่ด้วย เปรียบเหมือนป่าใหญ่ ไม่ใช่จะมีแต่ต้นสัก ต้นรัง ต้นไม้ใหญ่ๆ เท่านั้น พวกต้นตำแย วัชพืช กาฝาก ก็มีเหมือนกัน เหมือนกับพระที่ทำตัวเป็นกาฝาก แอบเอาผ้าเหลืองมาห่มคลุม หลอกชาวบ้าน แล้วทำตัวนอกลู่นอกทาง ก็ต้องมีบ้าง แต่หากเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์แล้ว ถือว่าน้อยมาก หากเราอ่านเรื่องต้นบัญญัติสมัยพุทธกาล จะเห็นว่าสมัยโน้นก็มีพระทำในสิ่งที่ไม่สมควรมากเหลือเกิน จนพระพุทธเจ้าต้องนำมาบัญญัติเป็นสิกขาบท อย่างพระไตรปิฎก ๒๒๗ ข้อ หนา ๘ เล่ม เล่มหนึ่งประมาณ ๕๐๐ หน้า ก็พูดถึงเรื่องนี้ทั้งนั้น แต่คนสมัยโน้นก็ยังเลื่อมใสศรัทธาพระพุทธศาสนา ศาสนาไม่เสื่อม ยืนยงคงมั่นมาจนถึงทุกวันนี้ เรื่องพระบางรูปที่ทำตัวไม่เหมาะสม ก็ต้องช่วยกันขจัดออกไป พระในวัดเดียวกัน ถ้าพบเห็นพฤติการณ์ที่ไม่เหมาะสม ก็ต้องรายงานให้พระผู้ใหญ่ หรือเจ้าหน้าที่บ้านเมืองทราบ จะได้จัดการพระกาฝากนี้ออกไปเสีย ตัวบุคคลนั้นอาจจะมีคนเสื่อมศรัทธา แต่พระศาสนาจะไม่มีวันเสื่อม พระส่วนใหญ่ยังทำตัวอยู่ในกรอบพระวินัย ศาสนาถึงอยู่ได้นานมาจนบัดนี้ แต่ทุกวันนี้ “สื่อ” ชอบลงข่าวที่ไม่ดีของพระมากกว่าข่าวดี ข่าวดีๆ ก็มีแต่ไม่ค่อยลงกัน พระที่ทำชั่วเพียงรูปเดียว ก็ลงข่าวกันใหญ่โต ติดต่อกันหลายวัน แต่พระที่ทำดีมีมากมาย ทำดีมาโดยตลอด กลับไม่เป็นข่าว อันนี้ “สื่อ” ก็ต้องช่วยกันด้วย ศาสนาถึงจะไปได้ไม่มีปัญหา

* พระที่ทำผิดปาราชิก ถูกสึกออกไป ทรัพย์สมบัติที่มีอยู่ก็น่าจะเป็นของวัดทั้งหมด ไม่น่าจะเป็นของส่วนตัว ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ มีความเห็นอย่างไรครับ ?

- เรื่องสมบัติทรัพย์สินเงินทองที่ญาติโยมถวายวัด มี ๒ อย่าง คือ ถวายเป็นของส่วนตัวพระรูปนั้น อันนี้พระเอาไปได้ แต่ของที่ถวายให้วัดให้คณะสงฆ์ ย่อมเป็นสมบัติของวัดโดยชอบธรรม อันนี้เอาไปไม่ได้ ขืนเอาไปจะตกนรกเป็นเปรตทันที จึงมีการพูดกันว่า ใครอยากเป็นเปรต ก็ต้องไปเป็นสมภารวัด เพราะมีโอกาสเบียดบังของวัดมาเป็นของส่วนตัว ได้ง่ายกว่าคนอื่น เหมือนอย่างที่ครั้งหนึ่ง ทางรัฐบาลจะออกพระราชบัญญัติควบคุมบริหารจัดสรรที่ดินของคณะสงฆ์ หรือของวัด เสียเอง...อันนี้ทำไม่ได้ ถ้าหากพระให้ทำอย่างนั้น พระก็เป็นอาบัติ ผิดพระวินัยทันที พระวินัยบัญญัติไว้แล้ว พระปาฏิโมกข์ก็บอกไว้อย่างนี้ นั่นเป็นเรื่องของวัดของสงฆ์ จะยกให้ใครง่ายๆ ทำอย่างนั้นอย่างนี้ไม่ได้เด็ดขาด

* แล้วที่ชาวบ้านไปเบียดบังเอาของสงฆ์มาเป็นสมบัติส่วนตัวล่ะครับ ไม่ตกนรกเป็นเปรตหรือครับ ?

- นั่นก็ไม่ดี ไม่ถูกต้อง ตกนรกเป็นเปรตแน่นอนเหมือนกัน อย่าไปทำเป็นอันขาด

* ที่วัดนี้มีเมรุใหญ่โตมาก ไม่ทราบว่ารายได้ในส่วนนั้น ทางวัดได้จัดสรรการใช้จ่ายอย่างไรบ้าง มีใครดูแลอยู่หรือครับ ?

- มีเจ้าหน้าที่ มีคณะกรรมการดูแลใกล้ชิด โดยเฉพาะรายได้ส่วนนั้นก็เอามาใช้จ่ายในศาสนกิจของสงฆ์ที่วัดนี้ เป็นค่าน้ำค่าไฟ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ทั้งหมด ส่วนรายได้ของวัดเราไม่แตะต้อง เอาแต่ดอกผลมาใช้เท่านั้น บางส่วนก็เอาไปบริจาคช่วยที่อื่นบ้าง อย่างน้ำท่วมหรือไฟไหม้ ก็ให้ความช่วยเหลือไปเหมือนกัน

* ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ จะมีคำสอนฝากให้ผู้อ่าน “คม ชัด ลึก” อะไรบ้างไหมครับ ?

- ก็อย่างที่ว่า ขอให้ทุกคนรู้จักภาระหน้าที่การงานของตนเองให้ดี ให้มีความผิดชอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องละเลิกอบายมุขทุกอย่าง รวมทั้งยาเสพติด การพนัน ขอให้ทุกคนขยันทำมาหากินด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่ทำผิดกฎหมาย เป็นคนดีของแผ่นดิน รู้จักอดออม ประหยัด ไม่ฟุ่มเฟื่อยสุรุ่ยสุร่าย อะไรที่ไม่จำเป็นก็อย่าไปซื้อ อย่าไปสิ้นเปลืองของที่ไม่มีประโยชน์ อีกอย่างที่สำคัญมากคือ ต้องคำนึงถึง “ชาติ” ความเป็นเอกราชของไทยต้องภาคภูมิใจเอาไว้ ต้องรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ไว้เหนือสิ่งอื่นใด

ต้องมีความสำนึกในความเป็นไทย และต้องมีชาตินิยมไว้บ้าง ไม่ใช่แต่จะเอาขนบธรรมเนียมของต่างชาติมาใช้ เราต้องรักษาประเพณีอันดีงามของชาติไทยเอาไว้ด้วย ขนบธรรมเนียมประเพณีของไทยเราหลายอย่างดีกว่าของต่างชาติด้วยซ้ำไป วัฒนธรรมที่ไม่ดีงามของต่างชาติอย่าเอามาใช้ ความฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยหลายอย่างควรลดเลิกเสียที อย่างรถยนต์คันละ ๔๕ ล้านบาท ซื้อไปทำไม รถคันละไม่กี่แสน ก็ขับไปไหนมาไหนได้เหมือนกัน จะว่าอวดรวยหรือ ก็สู้เขาไม่ได้หรอก ต่างชาติเขารวยล้นฟ้ามหาศาล รวยกว่าเราเยอะเลย อย่างเรื่องประกวดเครื่องเพชรแพงๆ ก็เหมือนกัน ซื้อไปทำไม จะว่าเป็นความสุขส่วนตัวก็ได้ แต่ก็น่าจะคิดถึงคนอื่นที่ลำบากยากจน ยังมีอีกมากมายในบ้านเมืองนี้ อย่างพวกอยู่ป่าอยู่เขา หน้าหนาวเสื้อผ้าจะสวมใส่ก็ไม่มี มีความเดือดร้อนมาก คิดถึงพวกเขาบ้าง ช่วยเหลือกันไปบ้าง การเกื้อหนุนจุนเจือคนไทยด้วยกันจะดีกว่าเป็นไหนๆ ได้บุญกว่าด้วย...อย่างรถยนต์คันละ ๔๕ ล้านบาท ไปเฉี่ยวชนที่ไหน เจ้าของก็ต้องเป็นทุกข์ เครื่องเพชรทำหายไปก็เป็นทุกข์ แล้วไปเอาความทุกข์มาใส่ตัวทำไม คิดให้ดี...ของแพงๆ พวกนี้ก่อให้เกิดความทุกข์ทั้งนั้น คนเราเกิดมาก็ไม่มีสิ่งเหล่านี้ ตายไปก็เอาไปไม่ได้ มีอยู่ก็เป็นทุกข์ กลัวหายกลัวแตกก็เป็นทุกข์ แล้วไปเอาความทุกข์มาใส่ตัวทำไม ?


.............................................................

:b8: :b8: :b8: คัดลอกเนื้อหามาจาก ::
หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก เรื่องโดย แล่ม จันท์พิศาโล
ฉบับวันที่ ๐๘ เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๔๘

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 9 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร