วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 18:51  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 30 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 ส.ค. 2011, 17:32 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

“บุคคลผู้เกียจคร้านย่อมอยู่เป็นทุกข์
ย่อมระคนอยู่ด้วยอกุศลธรรมอันลามกทั้งหลาย...”



:b44: กิจวัตรขัดเกลากิเลส

พระอาจารย์ชาท่านเน้นมาเสมอ คือ การทำเหมือนพูด พูดเหมือนทำ
ดังนั้น แนวทางการวางกิจวัตรเพื่อการดำเนินไปของการปฏิบัติภายในวัดหนองป่าพง
มีแบบแผนที่ขัดเจนเพื่อปกครองพระเณรจำนวนมาก
เพื่ออบรมกุลบุตรให้เข้าสู่เส้นทางอันชอบ เพื่อสร้างจริต นิสัยอันดีงาม

กิจวัตรประจำวันยังเป็นเครื่องทดสอบจิตใจของภิกษุสามเณรได้ด้วย
ว่าเป็นผู้มีคุณธรรมของสมณะมากน้อยเพียงใด
สิ่งเหล่านี้จะรู้ได้ในขณะที่สัญญาณระฆังดังขึ้น
จิตใจจะแสดงความรู้สึกเช่นใดออกมา
มันอาจเป็นความกระตือรือร้นด้วยศรัทธา
หรือเป็นความรู้สึกที่เบื่อหน่าย เกียจคร้าน
ถึงกับคิดหลีกเลี่ยงด้วยอำนาจตัณหาก็ได้

กิจวัตรคือเครื่องวัดความเป็นพระ
หรือเป็นเครื่องวัดระดับจิตใจของบุคคลว่าสูงต่ำเพียงใด


:b44: ธรรมโอวาทสั้นๆ แก่นักปฏิบัติ

พระอาจารย์ชาได้ให้ธรรมโอวาทสั้นๆ พอเป็นข้อเตือนใจ
ซึ่งศิษยานุศิษย์ได้รวบรวมไว้เกี่ยวกับการอยู่ร่วมกันของนักปฏิบัติดังนี้

“การมาอบรมในการบวช ก็เลิกสิ่งชั่วกันไปเลย
เลิกอะไรที่มันเป็นกรรมเป็นเวร
เอาชนะตนเอง ไม่เอาชนะคนอื่น...”


:b47: :b47:

“เป็นพระ เป็นเณรเรา อยู่ดีกินดีแล้ว จะอยู่สบายไม่ได้
กามสุขัลลิกานุโยค นี่มันเป็นพิษอย่างมาก
ให้พวกท่านทั้งหลายกระเสือกกระสน หาข้อประพฤติปฏิบัติของตน
เพิ่มข้อวัตรขึ้น เตือนตนเองมากขึ้น
อันใดที่มันบกพร่อง ก็พยายามทำดีขึ้นไป...”


:b47: :b47:

“อย่าทำให้เป็นตัณหา
อย่าพูดให้เป็นตัณหา
ยืนอยู่ เดินอยู่ นั่งอยู่ นอนอยู่
ทุกประการท่านไม่ได้ให้เป็นตัณหา
คือทำด้วยการปล่อยวาง...”


:b47: :b47:

“ผู้ปฏิบัติควรสนใจการกระทำกิจวัตร
อาจริยวัตร อุปัชฌายวัตร อันนี้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจ
ของพวกเราทั้งหลายให้เป็นกลุ่ม เป็นก้อน
มีความสามัคคีพร้อมเพรียงซึ่งกันและกัน...”


:b47: :b47:

“ผู้ปฏิบัติ จะต้องเป็นผู้มักน้อยสันโดษ
กินน้อย นอนน้อย พูดน้อย
และให้เป็นคนที่ง่ายที่สุด
กินง่าย นอนง่าย อะไรๆ ก็ให้ง่ายๆ
แบบตาสีตาสาธรรมดา
สิ่งเหล่านี้ทำไปแล้ว มันจะให้กำลังใจ”


:b47: :b47:

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 ส.ค. 2011, 17:50 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

:b44: เอกลักษณ์ของพระอาจารย์ชา

เมื่อหลวงพ่อตัดสินใจตั้งหลักแหล่งที่วัดหนองป่าพงในปี พ.ศ.๒๔๙๗
ชีวิตการเดินธุดงค์ของท่านก็สิ้นสุดลง
ท่านได้อยู่ประจำที่วัดตั้งแต่นั้นมาจนกระทั่งมรณภาพในปี พ.ศ.๒๕๓๕
มีเว้นอยู่เพียง ๓ ปี ซึ่งท่านไปจำพรรษาที่วัดสาขา
แต่ไม่เคยได้กลับไปใช้ชีวิตทรหดตามป่าเขาอย่างนักธุดงค์
เช่นที่เคยทำมาก่อนหน้านั้นเลย
มีบ้างที่ท่านพาลูกศิษย์และโยมใกล้ชิดออกธุดงค์เป็นครั้งคราว
เพื่อให้ผู้ใหม่ได้ประสบการณ์เท่านั้นเอง
ชีวิตในครึ่งหลังของหลวงพ่อที่วัดหนองป่าพงนี้
เป็นชีวิตแห่งการปกครอง การบริหารและการอบรมสั่งสอน
พาพระภิกษุสามเณรและฆราวาสญาติโยมประพฤติปฏิบัติธรรมเป็นงานหลัก

หลวงพ่อประจำอยู่ที่วัดหนองป่าพงเกือบ ๔๐ ปี
ตลอดช่วงเวลาอันยาวนานนี้ ก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่บุคลิกนิสัยของท่าน
จะเปลี่ยนแปลงตามอายุสังขารบ้าง
ดังที่ทราบว่า เมื่อหลวงพ่อตั้งวัดหนองป่าพงนั้นท่านอายุ ๓๖ ปี
อายุพรรษา ๑๗ วัยกำลังฉกรรจ์ และท่านกำลังเร่งการปฏิบัติอยู่อย่างเต็มที่
ภาพของหลวงพ่อที่คนสมัยนั้นรู้จัก
จึงเป็นภาพพระภิกษุหนุ่มผู้เคร่งขรึม เอาจริงเอาจัง
พูดน้อยทำงานหนัก ผอมคล้ำ กระฉับกระเฉงว่องไว
และอดทนอย่างยิ่งต่ออุปสรรคนานาชนิด

ที่แผ้วพานเข้ามาในระยะแรกของการบุกเบิกสร้างวัด

ต่อมาเมื่อการปฏิบัติของท่านเสร็จสมบูรณ์
และหลวงพ่อมีประสบการณ์ในงานบริหารและการอบรมสั่งสอนมากขึ้น
มีลูกศิษย์ลูกหาหลากหลายจากทิศต่างๆ เข้ามาสู่วัดหนองป่าพง
ภาพของหลวงพ่อที่คุ้นตาคนรุ่นหลังจึงค่อยปรากฏขึ้น
คือ หลวงพ่อที่อบอุ่นและเป็นกันเอง
เปี่ยมด้วยเมตตาและมากด้วยอารมณ์ขัน


อย่างไรก็ตาม ความเป็นกันเองของหลวงพ่อนั้น
ก็เป็นที่รู้กันในบรรดาลูกศิษย์ลูกหาว่า
ทุกรูปต้องตื่นตัวเตรียมพร้อมอยู่เสมอ
เพราะถ้าใครเผลอเรอ ขาดสติเมื่ออยู่ต่อหน้าท่าน ก็จะได้พบกับ
“กบแก่ที่ร่าเริงเปลี่ยนเป็นเสือกินพระที่น่ากลัว” ภายในพริบตาเดียว

ผู้ใกล้ชิดหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า หลังปี พ.ศ.๒๕๑๙ เป็นต้นมา
หลวงพ่อดูแก่ลงอย่างรวดเร็ว แม้พระลูกศิษย์ที่เคยโหมงานหนัก
ในการสร้าง วัดถ้ำแสงเพชร กับท่านเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๑
ก็ยังอดแปลกใจไม่ได้ เมื่อพบว่าในการสร้างโบสถ์วัดหนองป่าพง
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๙ นั้น หลวงพ่อไม่อยู่ในสภาพที่ช่วยงานหนักได้เลย
ตัวท่านเองก็ยอมรับและให้ความเห็นว่า
คงเป็นผลของการปฏิบัติอย่างอุกฤษฏ์ในสมัยก่อน
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงของบุคลิกนิสัย
เป็นต้นว่า คุณธรรมบางประการ เช่น เมตตาธรรม
ซึ่งได้รับการบ่มจนสุกงอมเต็มที่ในวัยปลายของท่าน

หลวงพ่อก็ยังมีลักษณะเด่นบางอย่างซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว
ดังที่จะยกมากล่าวต่อไป เืพื่อผู้สนใจจะได้มองเห็น
ความเป็นหลวงพ่อ ในแง่มุมที่ละเอียดชัดเจนยิ่งขึ้น

เอกลักษณ์ของพระอาจารย์ชาที่ศิษยานุศิษย์สังเกตได้
สรุปได้หลายประการ ดังนี้


๑) ปฏิปทาสม่ำเสมอและเป็นกันเอง

“เหมือนแม่เหล็ก” พระลูกศิษย์บางรูปปรารภถึงหลวงพ่ออย่างนี้
“ท่านมีแรงดึงดูดให้เราเข้าไปหา ไม่ว่าท่านจะทำอะไร พูดกับใคร
การได้เข้าไปอยู่ใกล้ ได้ฟังท่านพูด เป็นความบันเทิงในธรรมอย่างยิ่ง
แม้ว่าท่านจะไม่ได้เทศน์เป็นงานเป็นการ
เพียงแต่คุยกับญาติโยมไปตามธรรมดาในเวลาที่ท่านรับแขก
ก็รู้สึกว่าน่าฟัง เพลิน ฟังไม่เบื่อ ลืมเวลาทุกครั้งเลย”


“เข้าใกล้หลวงพ่อเหมือนได้ส่องกระจก”
เป็นความเห็นของลูกศิษย์อีกรูปหนึ่ง
“ท่านราบเรียบสม่ำเสมอ ไม่เปลี่ยนแปลง
สะท้อนให้เราเห็นความไม่เอาไหนของเราได้ดีจริงๆ”

ปีที่ท่านพำนักที่ถ้ำแสงเพชร
อุบาสิกาคนหนึ่งได้เล่าความรู้สึกประทับใจ
จากการได้ติดตามไปกราบนมัสการ
และฟังธรรมของหลวงพ่อในครั้งนั้นให้ฟังดังนี้

ทุกเช้าหลวงพ่อเดินช้าๆ จากกุฏิของท่าน
มาบิณฑบาตที่บริเวณลานหินระหว่างศาลากับโรงครัว
ทันทีที่เห็นท่าน ทุกคนต่างก็กรูเข้าไปเพื่อจะใส่บาตร
หลังอาหารเช้าก็คอยเวลากลางวัน
ซึ่งท่านจะออกมานั่งรับแขกคุยกับญาติโยม
ญาติโยมก็ไปรวมกันที่ศาลา คนเยอะจริงๆ มาอยู่เรื่อยๆ ตลอดวัน

กลางคืนค่อยยั่งชั่วหน่อย คนน้อยลงเพราะบางพวกมาแล้วก็กลับ
ฟังหลวงพ่อเทศน์ตั้งแต่หัวค่ำ
ท่านไม่ได้ขึ้นธรรมาสน์ นั่งบนอาสนะที่พื้นศาลา
ท่านเทศน์ไปเรื่อยๆ สบายๆ เป็นกันเอง
คุยกับญาติโยมจากกรุงเทพฯ สลับไปบ้าง


จำได้ว่ามีอยู่ตอนหนึ่งระหว่างที่กำลังเทศน์
หลวงพ่ออธิบายเรื่องการทำสติให้ต่อเนื่อง
ท่านยกกาน้ำขึ้นและหยดน้ำให้เราดู
เปรียบเทียบกับสติของเราเป็นตัวอย่าง
ที่ท่านใช้บ่อยๆ ในธรรมเทศนาของท่าน

เมื่อได้เวลาพักผ่อน พระอุปัฏฐากก็ขอโอกาส
กราบเรียนเตือนให้หลวงพ่อกลับกุฏิ
ญาติโยมก็ได้แต่กลั้นหายใจกลัวท่านกลับ
เพราะรู้สึกว่าเพิ่งฟังท่านเทศน์นิดเดียว
หลวงพ่อก็ยิ้มแต่ไม่ได้ลุก สักประเดี๋ยวท่านก็เทศน์ต่อไปอีกระยะหนึ่ง
พระอุปัฏฐากก็กราบเรียนเตือนอีก
คนฟังส่งเสียงอื้ออ้า ฮือฮาเป็นทำนองอ้อนวอนแกมประท้วง

หลวงพ่อก็ยิ้มแล้วพูดกับพระอุปัฏฐากว่า
“ให้เขาอีกหน่อยเนาะ”


แล้วท่านก็เทศน์ต่อจนถึงครั้งที่ ๓ คงจะได้เวลาสมควรจริงๆ
เพราะพระอุปัฏฐากประนมมือและถือโอกาสรวบรัดว่า
“นิมนต์ครับหลวงพ่อ” พลางคว้าไม้เท้าของท่าน
และไฟฉายมาถือไว้อย่างเตรียมพร้อม
แถมหันมาพูดกับญาติโยมเป็นเชิงปรามว่า “เลยเวลาไปมากแล้ว”

หลวงพ่อยิ้มปลอบใจญาติโยมลูกๆ หลานๆ
แล้วก็บอกเสียงเย็นว่า “เขาไม่ให้อยู่แล้ว ต้องไปละเนาะ”


รูปภาพ
รูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งพระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท)
ประดิษฐานอยู่ภายในพระเจดีย์ วัดถ้ำแสงเพชร
(วัดสาขาที่ ๕ ของวัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี)
บ้านดงเจริญ ต.หนองมะแซว อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 ก.ย. 2011, 19:52 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

๒) อดทนเป็นเลิศ

“ความอดทนนี้เป็นแม่บทของการปฏิบัติ”
คำนี้หลวงพ่อท่านย้ำเสมอ

ในประวัติการปฏิบัติของท่าน
จะเห็นได้ว่าหลวงพ่ออยู่อย่างอุกฤษฏ์เป็นเวลาหลายปี
ชนิดที่ว่าคงเป็นไปไม่ได้เลยสำหรับคนที่ไม่มีน้ำอดน้ำทนถึงขนาด
สมัยที่ยังหนุ่มและกามราคะกลุ้มรุม
ท่านก็ได้อาศัยความอดทนนี่เอง
ช่วยให้ผ่านพ้นอุปสรรคสำคัญของวัยหนุ่มมาได้ตลอดรอดฝั่ง

ถึงตอนที่มาตั้งวัดหนองป่าพงในสมัยแรกๆ
ท่านก็ต้องอดทนต่อการขาดแคลนปัจจัย ๔
ทนต่อการต่อต้านขัดขวางของผู้ไม่หวังดีทั้งฝ่ายสงฆ์และฝ่ายคฤหัสถ์
ท้ายที่สุดก็ทนต่อโรคาพยาธิในตอนปลายของชีวิต
หลวงพ่อเคยปรารภให้ลูกศิษย์ลูกหาฟังว่า

“คนปฏิบัติธรรมได้นี่ ผมว่าทนทานจริงๆ
เพราะมันไม่ใช่เบาๆ มันหนัก เอาชีวิตเข้าแลกก็ว่าได้”


แม้ในการทำความเพียรของลูกศิษย์
ท่านก็สนับสนุนและให้กำลังใจในข้อปฏิบัติที่ทำได้ยาก
แต่ไม่ให้หักโหมหรือตึงเครียดเกินไป จนเป็นการทรมานตัวเปล่าๆ

รูปภาพ

๓) เย็นด้วยเมตตาอย่างยิ่ง

พระลูกศิษย์ คือ พระครูบรรพตวรกิต ได้กล่าวถึงหลวงพ่อชา
ในด้านความเมตตาของท่านว่า

“...ถ้าจิตเมตตาเกิดถึงที่สุดแล้ว บางทีเดินไปไหนเห็นอะไรก็พูด
อย่างหลวงพ่อเราเห็นมด ท่านก็บอก
เออ ไปดีนะลูก อย่าขวางทาง เดี๋ยวเขาจะเหยียบเอา
เห็นนกท่านก็บอกรักษาเนื้อรักษาตัวนะ เดี๋ยวจะถูกลูกปืนเขา อย่างนี้เป็นต้น”


เมตตาของหลวงพ่อนั้นเห็นได้ชัด
ในการอบรมสั่งสอนลูกศิษย์ทั้งบรรพชิตและฆราวาส
ท่านทุ่มเทความอุตสาหะวิริยะ
อุทิศเวลาให้กับการฝึกและขัดเกลาลูกศิษย์จริงๆ
จนกล่าวได้ว่า งานสร้างคนเป็นงานอันดับหนึ่งของท่านทีเดียว

รูปภาพ

พระครูบรรพตวรกิตยังได้สรุปปฏิปทา
ในการสอนลูกศิษย์ของหลวงพ่อไว้ด้วยความประทับใจ

“แม้พ่อแม่บังเกิดเกล้าของเรายังไม่ได้สอนมากอย่างนี้
หลวงพ่อท่านสอนให้เราประพฤติปฏิบัติ
ท่านสอนจริงๆ สอนละเอียดลออ
ตั้งแต่การกิน การถ่าย บ้วนน้ำลาย คายน้ำหมาก
สอนทุกอย่าง จ้ำจี้จ้ำไช อยากให้ลูกศิษย์ได้พ้นทุกข์”


นอกจากการแนะนำพร่ำสอนแล้ว
หลวงพ่อยังคอยระวังสอดส่องดูแล
กลัวภิกษุสามเณรจะถูกกระแสของโลกดึงดูดออกไป
ว่ากันว่าหลวงพ่อเป็นครูบาอาจารย์ที่ห่วงและหวงลูกศิษย์ยิ่งนัก
ถ้าทราบว่าพระเณรรูปใดจะลาสิกขา
ท่านจะหาอุบายช่วยเหลือและป้องกันทุกวิถีทาง
จนสุดความสามารถแล้วจึงจะปล่อยไปตามกรรม

ที่น่าสังเกตข้อหนึ่งคือ หลวงพ่อมักเอ็นดูคนที่ไม่ค่อยเก่งเหมือนคนอื่นๆ
ดูเหมือนท่านเมตตาศิษย์ที่มีปัญหาเป็นพิเศษ
ให้เวลา ให้โอกาสได้อยู่ใกล้ชิด
เช่น ให้ไปบิณฑบาตด้วย ให้ติดตามไปในที่ต่างๆ เป็นต้น

คอยปลุกปลอบ ให้กำลังใจ ไม่รำคาญ ไม่ท้อถอย
ทั้งการกระทำและคำที่พูดด้วย รู้สึกนุ่มนวลอบอุ่นเป็นพิเศษ

สำหรับฆราวาสญาติโยมนั้น แม้ไม่ได้ใกล้ชิดเท่ากับพระสงฆ์
ชาวบ้านที่ไปรักษาอุโบสถศีลและถือเนสัชชิกในวันพระที่วัดหนองป่าพง
ย่อมประจักษ์ได้ดีในความเมตตาอันหาที่สุดหาประมาณมิได้
ที่หลวงพ่ออุทิศตนอบรมสั่งสอนญาติโยมติดต่อกันมา
เป็นเวลาหลายปีจนกระทั่งเริ่มอาพาธ

ในขณะที่ท่านเคี่ยวเข็ญพระภิกษุสามเณร
ให้มุ่งมั่นอยู่กับศีล สมาธิ ปัญญา ของตน
ญาติโยมก็มีไตรสิกขา คือ ศีล ทาน ภาวนา
ที่หลวงพ่อสอนย้ำให้ประพฤติปฏิบัติ
ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องมาแต่ต้นเช่นเดียวกัน


ถ้าลูกศิษย์ลูกหาหรือญาติโยมไปกราบเยี่ยม
หากไม่เหลือวิสัยจริงๆ หลวงพ่อต้องให้การต้อนรับ
ปฏิสันถารและให้โอวาททุกครั้ง
แม้คณะแพทย์และผู้อุปัฏฐากพยาบาลจะรบเร้าให้ท่านพักผ่อนก็ตาม
แต่พอเห็นญาติโยมท่านก็อดสงสารไม่ได้

เพราะบางคนก็มาหาท่านด้วยความทุกข์ โศกเศร้าเสียใจ
ซึ่งบางทีท่านก็อาจช่วยให้เขาสบายใจขึ้นบ้าง ไม่มากก็น้อย
เพราะท่านมุ่งแต่สงเคราะห์ผู้อื่นเป็นสำคัญ
จนในที่สุดท่านอาพาธหนักรับแขกไม่ได้
ไปไหนมาไหนไม่ได้ ได้แต่นอนหายใจระรวยอยู่บนเตียง
ลูกศิษย์ลูกหาทั้งบรรพชิตและฆราวาสจากที่ใกล้ที่ไกล
ยังหลั่งไหลกันมากราบแสดงความเคารพคารวะต่อหลวงพ่ออยู่ทุกวันมิได้ขาด

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 ก.ย. 2011, 20:29 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


๔) เกี่ยวกับอิทธิฤทธิ์ปาฏิหารย์

สำหรับหลวงพ่อเอง ท่านไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์เลย
เหมือนไม่สนใจ ท่านไม่กล่าวถึงแต่ก็ไม่ปฏิเสธ
ถ้ามีคนไปถามเรื่องชนิดนี้หลวงพ่อก็ตัดบท
หรือพูดชักนำออกไปในเรื่องของการประพฤติปฏิบัติพื่อการพ้นทุกข์เสีย
อย่างเช่นครั้งหนึ่งมีคนไปถามท่านว่า

“เขาว่าหลวงพ่อเป็นพระอรหันต์ เป็นจริงเหาะได้หรือเปล่า”
หลวงพ่อจึงได้ตอบว่า
“เรื่องเหาะเรื่องบินนี่ไม่สำคัญหรอก แมงกุดจี่มันก็เหาะได้”


และอีกครั้งหนึ่ง เมื่อครูคนหนึ่ง
ถามท่านเกี่ยวกับการเหาะเหินเดินอากาศของพระอรหันต์ในครั้งพุทธกาล
ซึ่งเคยอ่านพบ ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ท่านตอบว่า
“ถามไกลตัวเกินไปแล้วล่ะครู
มาพูดถึงตอสั้นๆ ที่จะตำเท้าเรานี่ดีกว่า


ส่วนเรื่องการรู้วาระจิตนั้น
สมัยหนึ่งมีพระรูปหนึ่งไปบิณฑบาตบ้านผึ้ง
เดินไปก็คิดไป คิดอยู่ในใจว่า วันนี้หิวข้าวมาก จะฉันเยอะๆ
จะปั้นเอาข้าวเหนียวก้อนโตๆ ให้เท่าศรีษะของตัวเองถึงจะอิ่ม
พอกลับจากบิณฑบาตกำลังเดินเข้าประตูวัด หลวงพ่อถามว่า

“มันหิวมากจนคิดจะปั้นเอาข้าวเหนียวก้อนโตๆ เท่าศรีษะของตัวเองหรือ”

พระที่ถูกท่านทักอย่างนั้นเลยไม่รู้จะพูดอย่างไร
เงียบเลยทั้งอายด้วยที่หลวงพ่อท่านรู้ใจ

และครั้งหนึ่ง คุณหมออุทัย เจนพาณิชย์
ลูกศิษย์ใกล้ชิดคนหนึ่ง ที่ได้เจอเรื่องอย่างนี้หลายครั้ง
ได้ถามหลวงพ่อด้วยความอัศจรรย์ใจว่าทำได้อย่างไร
หลวงพ่อตอบเพียงแต่ว่า

“หมอ นี่เป็นเรื่องของการทำสมาธิ
ไม่ลึกซึ้งอะไรหรอกแต่ไม่น่าเอามาคุยกัน”


รูปภาพ

๕) งามทุกกาลเทศะ

หลายคนประทับใจว่า หลวงพ่อชำนาญในการปรับตัว
หรือวางตัวต่อกาละและเทศะ ในลักษณะที่โบราณเรียกว่า
“บัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น แต่เอาปลามากินได้”
โดยปฏิปทาที่ยืดหยุ่น แต่ไม่เคยขัดต่อธรรมวินัย

พระลูกศิษย์รูปหนึ่งได้เล่าปฏิปทาบางประการ
ของหลวงพ่อในเรื่องนี้ให้ฟังว่า

“เมื่อท่านไปเมืองนอกท่านก็ปฏิบัติไม่ให้ขัดกับประเพณี
ดูกาลเทศะ ท่านบอกว่าแม้เราจะเป็นผู้ปฏิบัติ
ก็อย่าเอาของเราไปขัดกับประเพณีของเขา
จะเอาแต่ของเราท่าเดียวไม่ได้ ต้องดูของเขาก่อน
ไม่เฉพาะแต่ที่เมืองนอก เวลารับนิมนต์ไปฉันในเมือง
หรือไปร่วมฉันกับพระวัดบ้าน
ท่านก็สอนว่า ดูพิธีของเขาก่อน
สิ่งไม่เสียหาย ไม่เป็นอาบัติ ไม่ขัดกับพระวินัยโดยตรง
แต่เป็นกฎที่เราตั้งของเราเอง ก็รู้จักผ่อนปรนแก้ไขจึงจะฉลาด
อย่างเช่น ของบางอย่าง เขาถวายก็รับไว้ อย่าฉันเสียก็หมดเรื่อง
ไม่ต้องไปพูด ต้องกัปปิยะก่อน มันจะขัดกัน
แต่ถ้ามีโยมของเราอยู่จะกัปปิยะก็ได้
มีอะไรสมควรฉัน ไม่ผิดก็ฉันเสีย
อย่างอยู่เมืองนอก เขาจะข้ามหัวข้ามหู ท่านก็ไม่ให้ถือ
ท่านบอกว่าประเพณีคนละอย่าง ถือกันคนละอย่าง ไม่เสียหายหรอก”


รูปภาพ

๖) สันโดษอย่างยิ่ง

ครั้งหนึ่งลูกศิษย์กลุ่มหนึ่งได้ปรารภกัน
เรื่องที่อยากให้วัดหนองป่าพงได้มีมูลนิธิ อย่างเช่นกับที่บางวัดมีอยู่แล้ว
เพื่อวัดจะได้มีความมั่นคง เพราะหลวงพ่อก็มีอายุมากขึ้นทุกวัน
เมื่อปรึกษาหารือกันดีแล้ว จึงนำเรื่องเข้ากราบเรียนถวายความเห็น
หลวงพ่อฟังแล้วก็ตอบว่า

“อย่างนั้นก็ดีอยู่ แต่ผมคิดว่ามันยังไม่ถูกต้อง
เพราะพวกท่านก็ยังไม่อาศัยปฏิปทาที่บริสุทธิ์ของตัวเอง
ถ้าพวกท่านปฏิบัติดีปฏิบัติชอบแล้วก็คงจะไม่อด
พระพุทธเจ้าท่านก็ยังไม่เคยมีมูลนิธิเลย
ท่านก็โกนหัวปลงผม ทำอะไรเหมือนพวกเรา ท่านก็ยังอยู่ได้
ท่านได้ปูทางไว้ให้แล้ว เราก็เดินตามทางของท่านก็น่าจะพอไปได้นะ”


หลวงพ่อหยุดไปครู่หนึ่ง ก่อนที่จะสรุปอย่างเด็ดเดี่ยวว่า
“บาตรกับจีวรเนี่ยแหละ
มูลนิธิที่พระพุทธเจ้าตั้งไว้ให้เรา กินไม่หมดหรอก!”


หลวงพ่อท่านย้ำ
“เราพอกิน พออยู่แล้ว จะมากอะไรทำไมนะ กินข้าวมื้อเดียว”

หลายครั้งที่โยมเคยมาตัดพ้อต่อว่า
เพราะได้ปวารณาถวายปัจจัยไว้ให้หลวงพ่อใช้ในกิจส่วนตัว
แต่ท่านไม่เคยเรียกใช้สักที แต่กลับปรารภกับลูกศิษย์ลูกหาว่า

“ยิ่งเขามาปวารณาแล้วผมก็ยิ่งกลัว”

พระอาจารย์เอนกได้เล่าความประทับใจในปฏิปทาข้อนี้ของหลวงพ่อว่า

“แต่สิ่งที่ผมภูมิใจ พอใจ และศรัทธาในตัวท่าน
ก็คือปฏิปทาของท่านเอง ท่านไม่ใช่นักสะสมวัตถุไม่ว่าจะมีมูลค่าเท่าใดก็ตาม
ท่านเคยบอกว่า พระถ้าบวชเข้ามาแล้วสะสมของพวกนี้ก็หมดกัน"

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 ก.ย. 2011, 20:41 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ
พระอาจารย์ชากับลูกศิษย์ชาวต่างชาติ


:b44: หลวงพ่อชากับลูกศิษย์ชาวต่างชาติ

เป็นที่ยอมรับกันว่าหลวงพ่อชาเป็นครูบาอาจารย์
ที่มีลูกศิษย์ลูกหาชาวต่างประเทศเป็นจำนวนมาก
โดยเฉพาะชาวตะวันตกซึ่งคนไทยทั่วไปเรียกกันติดปากว่า “ฝรั่ง”

และก็เป็นที่น่ายินดีที่ลูกศิษย์ฝรั่งของหลวงพ่อ
ได้เป็นตัวแทนที่เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ
ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้กว้างไกลออกไปยังต่างประเทศ
ชาวตะวันตกที่สนใจในการปฏิบัติภาวนา
และการบรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาททวีจำนวนขึ้นเรื่อยๆ
ดังจะเห็นได้ว่ามีสำนักสาขาของวัดหนองป่าพง
ได้รับการจัดตั้งขึ้นแล้วหลายแห่งในประเทศตะวันตก

ส่วนในประเทศไทยมี วัดป่านานาชาติ
ซึ่งเป็นวัดพระฝรั่งวัดแรกที่หลวงพ่อให้จัดตั้งขึ้น
ณ บ้านบุ่งหวาย อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
เป็นวัดป่าสาขาลำดับที่ ๑๙ ของวัดหนองป่าพง
โดยมุ่งหมายให้เป็นอาวาสสำหรับชาวต่างประเทศที่เข้ามาศึกษา
และอุปสมบทในพระพุทธศาสนา ได้อบรมสั่งสอนกันเองนั้น

และก็ได้กลายเป็นสถานที่ดึงดูดความสนใจใคร่รู้ของชาวไทยไปด้วย
ในแต่ละวันจึงมีผู้คนทั้งชายไทยและชาวต่างประเทศ
เดินทางมาขอพักปฏิบัติธรรมอยู่มิได้ขาด
บ้างก็มาพักในช่วงสั้นเพียง ๒-๓ วัน
เพื่อสัมผัสบรรยากาศพอรู้รสชาติแล้วก็จากไป
บ้างก็มาพักเป็นอาทิตย์เป็นเดือนและเป็นปี

สำหรับชาวต่างประเทศนั้นมีจำนวนไม่น้อย
และนับวันจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ที่ยุติการเดินทางลงด้วยการขอบรรพชาอุปสมบท
ยอมละทิ้งถิ่นฐานบ้านช่องในต่างประเทศขอพักพิงในประเทศไทย
เพื่อมุ่งมั่นแสวงหาบ้านอันแท้จริงของตัวเองต่อไป

รูปภาพ
ทางเข้าวัดป่านานาชาติ บ้านบุ่งหวาย

รูปภาพ
ศาลาการเปรียญ วัดป่านานาชาติ

รูปภาพ
ปฏิปทาของพระชาวต่างชาติที่งดงามตามอย่างสมณะ


:b44: ภาษาไม่ใช่ปัญหา

“หลวงพ่อสอนฝรั่งอย่างไร ในเมื่อท่านพูดภาษาอังกฤษไม่ได้
และลูกศิษย์ฝรั่งเองก็ไม่คุ้นกับภาษาไทย”

คำถามทำนองนี้มีอยู่เสมอและหลวงพ่อก็มีคำตอบ
ท่านเปรียบเทียบให้ฟังอย่างคมคายว่า

“น้ำร้อนก็มี น้ำฮ้อนก็มี ฮอทวอเตอร์ก็มี
มันเป็นแต่ชื่อภายนอก ถ้าเอามือจุ่มลงไปก็ไม่ต้องใช้ภาษาหรอก
คนชาติไหนก็รู้ได้เอง (ว่ามันร้อน)”


บางทีท่านตั้งคำถามเอากับพวกช่างสงสัยในเรื่องเหล่านี้ว่า

“ที่บ้านโยมมีสัตว์เลี้ยงไหม อย่างหมาแมว หรือวัวควายอย่างนี้
เวลาพูดกับมัน โยมต้องรู้ภาษาของมันด้วยหรือเปล่า?”


เคล็ดลับในการสอนของหลวงพ่อมีอยู่เพียงประการเดียว
และไม่ใช่เรื่องลี้ลับเลย นั่นคือ ท่านสอนด้วยการกระทำ

จึงไม่จำเป็นต้องใช้ภาษามาก ดังที่ท่านชี้แจงให้ฟังว่า

“ถึงแม้มีลูกศิษย์เมืองนอกมาอยู่ด้วยมากๆ อย่างนี้
ก็ไม่ได้เทศน์ให้เขาฟังมากนัก พาเขาทำเอาเลย
ทำดีได้ดี ถ้าทำไม่ดีก็ได้ของไม่ดี พาเขาทำดู
เมื่อทำจริงๆ ก็เลยได้ดี เขาก็เลยเชื่อ
ไม่ใช่มาอ่านหนังสือเท่านั้นนะ ทำจริงๆ นั่นแหละ
สิ่งใดไม่ดีก็ละมัน อันไหนไม่ดีก็เลิกมันเสีย มันก็เป็นความดีขึ้นมา”


การสอนแบบ “พาเขาทำเอาเลย” นี้
บางทีหลวงพ่อก็เปรียบเทียบให้ฟังว่า
“ไม่ยากหรอก ดึงไปดึงมาเหมือนควาย เดี๋ยวมันก็เป็นเท่านั้นล่ะ”

จุดเด่นและจุดอ่อนของมนุษย์เรามักจะอยู่ในที่เดียวกัน
สำหรับพระฝรั่งส่วนใหญ่ที่มามอบตัวเป็นศิษย์ของหลวงพ่อ
จุดนั้นอยู่ที่ความสงสัย หลวงพ่อจึงมีลูกศิษย์ช่างซักช่างถามอยู่หลายรูป

“เมื่อเราทำให้เขาหยุดได้ เขาก็มองเห็นข้างหลังถนัดเลยฝรั่งเหล่านี้
แต่ครั้งแรกก็เปลืองอาจารย์นิดหน่อย
อยู่กับอาจารย์ที่ไหนก็ต้องถามทั้งนั้นแหละ
ก็คนไม่รู้จักนี่ ต้องถามจนกว่าหมดสงสัยนั่นแหละ
ไม่มีอไรจะถามถึงหยุด ไม่ยังงั้นก็วิ่งตลอดเวลา...มันร้อน...”

รูปภาพ
พระอาจารย์ชากับคณะศิษย์ต่างชาติ

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 ก.ย. 2011, 20:59 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ
พระอาจารย์สุเมโธ (โรเบิร์ต แจ็คแมน)
ลูกศิษย์ชาวต่างชาติรูปแรกในหลวงพ่อชา
อ่านประวัติและปฏิปทาได้ที่นี่
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=19591


:b44: ลูกศิษย์ต่างชาติรูปแรก

มีคนถามหลวงพ่อเช่นเดียวกันว่า
ได้เคยทำความรู้จักมักคุ้นกับชาวต่างประเทศมาตั้งแต่ครั้งไหนและอย่างไร
เขาจึงได้พากันมาสมัครเป็นลูกศิษย์ลูกหามากมายเช่นนี้
แท้ที่จริงหลวงพ่อรู้จักฝรั่งจากหนังที่ท่านเคยดูสมัยเป็นเด็กเท่านั้นเอง
ซึ่งท่านได้เล่าถึงสายใยในเรื่องนี้ว่า

“มันมีนิมิตอยู่ ฝรั่งมาวัดหนองป่าพงมันเป็นนิมิต
ตั้งแต่เป็นเด็กไม่กี่ปีหรอก เคยไปดูหนังกับเขา
แล้วก็เห็นฝรั่งสูบยาตัวยาวๆ ดูแล้วก็คิดสนใจ
เอ! คนอะไรน้อตัวใหญ่ร่างใหญ่เหลือเกิน
ยังติดตาติดใจมาตลอดทุกวันนี้ อันนี้จึงมีพวกฝรั่งมาเยอะ
อันนี้พูดเป็นเหตุมันมีปรากฏอยู่นะ

ต่อมาก็พอดี สุเมโธ (พระราชสุเมธาจารย์) มาเลย
เหมือนสุเมโธน่ะแหละ...
จมูกยาวๆ พอเห็น อื้อ! พระรูปนี้มันเป็นฝรั่งเว้ย
เราเคยเห็นอยู่ในหนังเลยเล่าให้สุเมโธฟัง
มันเป็นเหตุมันเป็นปัจจัย ยังงั้นมันถึงมีญาติฝรั่งมาก
ทั้งที่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ แต่ว่าฝรั่งยอมมาอยู่ด้วย

เราก็พยายามฝึกให้เขารู้จักธรรมะตามความพอใจของเรา
ถึงแม้เขาไม่รู้จักประเพณีอะไรของไทยก็ช่างมันเถอะ
เราก็ไม่ถือ เพราะว่ามันเป็นยังงั้น
แล้วก็ค่อยๆ ช่วยมาเรื่อยๆ มา อันนี้พูดถึงนิยายมันเป็นยังงั้นมา”

รูปภาพ
พระราชสุเมธาจารย์ (พระอาจารย์สุเมโธ)


ก่อนจะมาสู่สำนักวัดหนองป่าพง
ท่านพระอาจารย์สุเมโธ (โรเบิร์ต แจ็คแมน)
อดีตทหารหน่วยเสนารักษ์แห่งกองเรือในสงครามเกาหลี
จบการศึกษาด้านเอเชียศึกษา ระดับปริญญาโท
จากมหาวิทยาลัยเบิร์คเลย์ คาลิฟอร์เนีย
เคยทำงานเป็นอาสาสมัครสันติภาพ (PEACE CORPS)
เป็นครูสอนภาษาอังกฤษที่เกาะบอร์เนียว

จากนั้นย้ายมาสอนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เริ่มฝึกปฏิบัติธรรมที่วัดมหาธาตุ จนตัดสินใจเข้าสู่เพศบรรพชิตในที่สุด

ท่านบรรพชาอยู่ที่จังหวัดหนองคายเป็นวลา ๑ ปี
หลังจากอุปสมบทแล้วไม่นาน
ในปี พ.ศ.๒๕๑๐ ท่านก็มีโอกาสได้พบกับพระสมชายลูกศิษย์ของหลวงพ่อ
ซึ่งเดินธุดงค์ไปเขตนั้น และบังเอิญที่พระสมชายพูดภาษาอังกฤษได้

พระอาจารย์สุเมโธจึงได้ฟังกิตติศัพท์และเกิดความสนใจ
ในวัตรปฏิบัติอันเคร่งครัดของหลวงพ่อชาเป็นอย่างมาก
จนถึงกราบลาอุปัชฌาย์ของท่านที่จังหวัดหนองคาย
เดินทางมาฝากตัวเป็นศิษย์
ขออยู่ศึกษาและปฏิบัติพระธรรมวินัยกับหลวงพ่อที่วัดหนองป่าพง
ซึ่งหลวงพ่อก็เมตตารับไว้ แต่ตั้งเงื่อนไขเอากับท่านว่า

“จะมาอยู่กับผมก็ได้ แต่มีข้อแม้
ว่าผมจะไม่หาอะไรมาบำรุงท่านให้ได้ตามอยาก
ต้องทำตามระเบียบข้อวัตรเหมือนที่พระเณรไทยเขาทำกัน”

ปีแรก ในวัดหนองป่าพงผ่านไปอย่างอบอุ่น
เพราะหลวงพ่อให้ความเมตตามาก ทำให้ท่านอาจารย์สุเมโธมีกำลังใจ
สามารถอดทนต่อความลำบากขัดข้องต่างๆ โดยไม่ท้อถอย
แต่พอขึ้นปีที่ ๒-๓ หลวงพ่อก็เริ่มเคี่ยวเข็ญท่านมากขึ้น
แถมมีอุบายในการสอนและการทดสอบหลายอย่างหลายประการ
ดังเรื่องที่ท่านได้เมตตาเล่าให้ฟังต่อไปนี้

(๑)
“...บางครั้งหลวงพ่อก็เล่าให้โยมทั้งศาลาฟังถึงเรื่องที่ผมทำไม่สวยไม่งาม
เช่น การฉันข้าวด้วยมือแต่เปิบไม่เป็น
ขยุ้มอาหารขึ้นมาเต็มกำมือแล้วโปะใส่ปากใส่จมูกเลอะเทอะไปทั้งหน้า
ทั้งพระทั้งโยมหัวเราะกันลั่นศาลา ผมนั้นทั้งโกรธทั้งอาย


(๒)
มีอยู่ครั้งหนึ่งเณรไปหยิบผ้าสังฆาฏิของผมมาส่งให้หลวงพ่อ
ท่านบอกว่า รู้ทันทีว่าหยิบผิดเพราะมันเหม็น
ผมได้ยินเข้าก็เคืองอยู่เหมือนกัน รู้สึกไม่ค่อยพอใจ
แต่ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ทนได้ไม่แสดงออกมาเท่าไรก็เพราะความเคารพท่าน
หลวงพ่อเลยถามว่า สบายดีหรือ ผมก็ตอบว่า สบายดีครับ
แต่ว่าหูแดงคือเราโกรธ อันนี้เป็นอุบายที่ท่านจะสอบอารมณ์เรา
ว่ามีพื้นฐานที่จะรองรับธรรมะได้มากน้อยแค่ไหน

อีกอย่างหนึ่งผมเป็นพระฝรั่งรูปเดียวในเวลานั้น
เป็นจุดเด่นที่ญาติโยมให้ความสำคัญและสรรเสริญอยู่เสมอ
พระไทยก็เคารพเพราะผมตั้งใจปฏิบัติเอาจริงเอาจัง
บางทีก็มีการอิจฉาริษยาบ้าง เพราะพระฝรั่งย่อมเด่นเป็นธรรมดา
แต่หลวงพ่อท่านไม่ลำเอียง พระไทยอยู่อย่างไรพระฝรั่งก็อยู่อย่างนั้น
กุฏิก็เหมือนกัน อาหารก็เหมือนกันไม่มีอะไรพิเศษ
จะดุด่าว่ากล่าวตักเตือนอะไรก็เป็นเรื่องของพระธรรมวินัยทั้งนั้น
ท่านไม่เคยเลือกที่รักมักที่ชัง...”


(๓)
“...ทุกเช้าเวลาหลวงพ่อกลับจากบิณฑบาต
จะมีพระเณรหลายรูปไปรอที่หน้าศาลาเพื่อคอยล้างเท้าท่าน
ระยะแรกๆ ที่ผมไปอยู่ที่วัดหนองป่าพงได้เห็นกิจวัตรอันนี้ทีไร
ก็ได้แต่นึกค่อนขอดพระเณรเหล่านั้นอยู่ในใจ
ล้างเท้าท่านรูปเดียวสองรูปก็พอทำไมต้องไปมากมาย
แต่พออยู่นานเข้าผมก็ชักจะเป็นไปด้วย
แล้วก็มีอยู่เช้าวันหนึ่ง ก่อนที่จะรู้ตัวว่าอะไรเป็นอะไร
ผมก็ปราดเข้าไปอยู่หน้าพระเณรรูปอื่นๆ เสียแล้ว
ขณะก้มลงล้างเท้าถวายท่าน เราก็ได้ยินเสียงนุ่มๆ เย็นๆ
กลั้วเสียงหัวเราะของหลวงพ่อ พูดอยู่บนหัวเราว่า
สุเมโธ ยอมแล้ว บ่...”


รูปภาพ

รูปภาพ

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ก.ย. 2011, 19:09 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

อตฺตนา โจทยตฺตานํ จงเตือนตนด้วยตนเอง.


:b44: การบวชนั้นไม่ยาก แต่บวชแล้วนี้ซิยาก

“เมื่อได้ศรัทธาแล้ว ย่อมเห็นตระหนักว่า
การครองเรือนคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี (กิเลส)

บรรพชาเป็นทางปลอดโปร่ง
การที่ฆราวาสจะประพฤติพรหมจรรย์
ให้บริสุทธิ์สมบูรณ์โดยส่วนเดียว
ดุจสังข์ขัด ไม่ใช่ทำได้ง่าย

อย่ากระนั้นเลย เราพึงปลงผมและหนวด
นุ่งห่มผ้ากาสวพัสตร์ ออกบวชเป็นบรรพชิต”


พระอาจารย์ชาจะเข้มงวด
และอบรมปฏิปทาของภิกษุและนักบวชอย่างมาก
ท่านจะเน้นย้ำเรื่อง การทำปฏิปทาให้บริสุทธิ์

วัตถุประสงค์อันแท้จริงของการบวช
ซึ่งไม่ใช่สักแต่ว่าทำตามประเพณี
สมัยปัจจุบันจึงหาผู้มีความศรัทธาในการออกบวชเพื่อานิสงส์จริงๆ ได้ยาก
“บวชเพื่ออะไร” คนที่ยังไม่ได้บวชอาจจะสงสัย
แม้คนที่บวชแล้วบางคนก็อาจจะยังไม่กระจ่าง
มีคำตอบที่แจ่มแจ้งชัดเจนที่สุดในโอวาทสั้นๆ ของหลวงพ่อดังนี้

“เราบวชเข้ามา ไม่ใช่ว่าจะมักใหญ่ใฝ่สูง ปฏิบัติเป็นนั้นเป็นนี้
บวชมาเพื่อให้หมดทุกข์ในใจของเรา
ถ้าอยากเป็นนั้นเป็นนี้มันทุกข์ ไม่ให้เป็นอะไร
พระนิพพานก็ไม่ต้องอยากไป
ปฏิบัติอยากจะไปพระนิพพานมันก็เป็นทุกข์เข้าไปอีก”


“คนเราไม่รู้จักจะต้องฟังคำครูบาอาจารย์แล้วเอาไปพิจารณา
ทำอยู่ในนี้มันไม่ไปไหนหรอก
ฉะนั้น การบวชในที่นี้ก็เรียกว่า บวชกันให้มีเหตุผล
จะบวชสามเดือน ก็ต้องมาปรึกษากันพอสมควร
ว่าบวชอะไร เพื่ออะไร บวชเดี๋ยวนี้มันไม่ได้อะไร
โง่ก็ไม่อยากทิ้งของชั่ว ชอบเอาความชั่วไว้ในใจ
แต่ธรรมะช่วยเปิดได้ เปิดให้เห็นความชั่ว เห็นความผิด
แต่ปุถุชนคนหนาเราช่วยปิดความชั่ว
ช่วยปิดความชั่วของตัวไว้ไม่ให้ใครรู้
มันต่างกันอย่างนี้ คนมีกิเลสตัณหาอยู่ มันก็เป็นอย่างนั้น”

สำหรับการบวชนั้น หลวงพ่อมีหลักของท่านว่า
“บวชง่ายสึกง่าย บวชยากสึกยาก”
ฉะนั้น ที่วัดหนองป่าพงจึงระเบียบในการบวช
และมีขั้นตอนต่างๆ ซึ่งทำหน้าที่คัดเลือกคนที่มีนิสัยปัจจัย
พอที่จะอบรมให้เป็นนักบวชได้

คือก่อนจะบวชพระ จะต้องผ่านการฝึกหัดอบรม
ในฐานะเป็นปะขาวและเณรมาก่อนตามลำดับ
เพื่อเรียนรู้และปรับตัวให้เข้ากับการที่จะอยู่ในวัดอย่างนักบวช
รู้เรื่องพระวินัยพอเป็นพื้นฐาน
และขัดเกลานิสัยหยาบๆ ออกเสียบ้างก่อนที่จะห่มผ้าเหลือง
ระยะเวลาในการฝึกหัดก็แล้วแต่บุคคล อาจจะหลายเดือนหรือเป็นปี

อย่างที่ท่านพระอาจารย์ชาย้ำบ่อยๆ
“การบวชนั้นไม่ยาก แต่บวชแล้วนี้ซิยาก”

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ก.ย. 2011, 19:27 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

:b44: ความเมตตาต่อคณะชีแห่งสำนักวัดหนองป่าพง

บุตรคนใด ชักจูง ปลูกฝัง ประดิษฐาน
ซึ่งมารดาบิดาผู้ไม่มีศรัทธาไว้ในศรัทธาสัมปทา...
ซึ่งมารดาบิดาผู้ทุศีลไว้ในศีลสัมปทา...
ซึ่งมารดาบิดาผู้มัจฉริยะ (ตระหนี่) ไว้ในจาคสัมปทา (ถึงพร้อมด้วยการบริจาค...)
ซึ่งมารดาบิดาผู้ทรามปัญญา ไว้ในปัญญาสัมปทาด้วย
การกระทำเพียงนี้ จึงชื่อว่าเป็นอันได้ทำคุณ ได้ตอบแทนแก่มารดาบิดา


นอกจากภิกษุ สามเณรทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ
ในฝ่ายนักบวชหญิง คือ แม่ชีสำนักวัดหนองป่าพง
ท่านก็มีเมตตาอบรมและให้โอกาสแก่สตรีได้ปฏิบัติพรหมจรรย์

ย้อนไปถึงช่วงที่หลวงพ่อได้ตั้งหลักแหล่งที่วัดหนองป่าพงประมาณเดือนเศษ
ท่านก็ได้อนุเคราะห์โยมมารดาของท่านพร้อมด้วยเพื่อนอีก ๓ คน
ให้ได้บวชเป็นแม่ชีชุดแรกของวัดใหม่
นับเป็นการทำหน้าที่ที่สมบูรณ์ที่สุด
ที่บุตรพึงกระทำเพื่อตอบแทนพระคุณของบุพการี

ต่อมาก็มีผู้หญิงมาขอบวชอีกหลายคน แต่หลวงพ่อได้ปฏิเสธ
เพราะเจตนารมณ์ดั้งเดิมของท่านนั้นไม่ประสงค์จะให้มีแม่ชีในวัด
แต่ที่ท่านเปลี่ยนใจเนื่องจากความกตัญญู
ใคร่สงเคราะห์โยมมารดาให้ได้ประกอบสัมมาอาชีพ

เพราะในขณะนั้นแม้ว่าโยมแม่ของท่านอายุมากแล้ว
แต่ก็ยังเลิกทำปาณาติบาตไม่ได้
ซึ่งหลวงพ่อก็มองไม่เห็นทางอื่นที่เหมาะสมกว่า
จึงได้ให้โยมแม่ละทิ้งการครองเรือนเยี่ยงฆราวาสมาสู่เพศนักบวช
ซึ่งเป็นสัมมาอาชีพที่ประเสริฐและสูงส่งที่สุด
เป็นผลให้ผู้หญิงอีก ๓ คนได้พลอยมีชีวิตที่ประเสริฐไปด้วย

แต่สำนักชีของวัดหนองป่าพงนั้นแยกจากสำนักของพระภิกษุ
มีเสนาสนะ ตลอดจนศาลาธรรมที่ประกอบกิจวัตรต่างๆ
อยู่ภายในอาณาเขตของตนเอง ซึ่งมีรั้วรอบขอบชิดเป็นสัดส่วน


หลวงพ่อจึงมอบหมายงานบริหารให้แม่ชีได้ปกครองกันเอง
โดยมีคณะกรรมการบริหารซึ่งประกอบด้วย
หัวหน้าแม่ชีและแม่ชีอาวุโสรวม ๕ คนเป็นผู้ดำเนินงาน
แต่ทั้งนี้อยู่ในความควบคุมดูแลของประธานสงฆ์อีกต่อหนึ่ง

ในปี พ.ศ.๒๕๐๗ หลวงพ่อได้กำหนดกติกาข้อปฏิบัติ
ประจำสำนักรวมทั้งหมด ๑๕ ข้อ
และใน พ.ศ.๒๕๑๒ ได้กำหนดเพิ่มขึ้นอีก ๖ ข้อ รวมเป็น ๒๑ ข้อ
ซึ่งแม่ชีทุกคนก็ได้น้อมรับไปประพฤติปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
เพื่อความเป็นผู้ไม่ประมาทในข้อวัตร
อันเป็นเสมือนไม้บรรทัดที่หลวงพ่อมอบไว้
ให้แม่ชีทุกคนได้ใช้กำกับและตะล่อมตนเองให้เดินอยู่ในเส้นทางที่ถูกต้อง
ดังพุทธพจน์ที่หลวงพ่อชอบยกมาอ้างอิงอยู่เสมอ
“อัตตะโน โจทะยัตตะนัง จงเตือนตนด้วยตนเอง”

ข้อวัตรปฏิบัติ ๒๑ ข้อของแม่ชีที่หลวงพ่อกำหนดไว้
http://portal.in.th/i-dhamma/pages/11248/

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ก.ย. 2011, 13:40 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

:b44: ปฏิปทาและธรรมะที่เน้นย้ำกับฆราวาส

(๑) ฟังธรรมให้ได้ธรรม

หลวงพ่อเล่าว่า ตอนมาอยู่วัดหนองป่าพงใหม่ๆ
ชาวบ้านยังฟังเทศน์แบบพระวัดป่าไม่ค่อยถนัด

“ก็มีแต่เทศน์มหาชาติหรือโจทย์รับเท่านั้น
เทศน์ฉลองสังฆทาน เทศน์ปัญญาบารมี
ทำการสะเดาะเคราะห์เรียกขวัญ ทำกันไปอย่างนั้น
การเทศน์เพื่อจะให้ลดละกิเลสตัณหานี้
ปฏิบัติกรรมฐานนี้ ไม่ค่อยมี ไม่รู้จัก”


ฉะนั้น หลวงพ่อจึงต้องอธิบายบ่อยๆ ว่า
ควรฟังเทศน์อย่างไร ฟังเทศน์เพื่ออะไร
แล้วท่านชี้ให้เห็นว่า สังคมเปลี่ยนไปแล้ว
ชาวบ้านจะฟังเหมือนสมัยก่อนไม่ได้

“การฟังธรรมเป็นประเพณีของเราชาวพุทธทั้งหลายที่อยู่ในเมืองไทย
และการฟังธรรมก็คือมาทำเพื่อให้มีประโยชน์นั่นเอง
การฟังธรรมในสมัยก่อนนี้ ญาติโยมเราทั้งหลายนั้น
โดยมากก็ ฟังธรรมเอาบุญ กัน

เมื่ออาตมายังเป็นเด็กๆ ถึงวันพระวันธรรมสวนะ
พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ก็ไปฟังธรรมกัน ไปฟังธรรมเอาบุญกัน
ผู้เทศน์ก็เทศน์ให้ฟังเรื่องอะไรต่างๆ ก็ไม่ค่อยจะรู้เรื่อง
ผู้นั่งฟังก็นั่งฟังจะเอาบุญเท่านั้นแหละ
คือได้ยินเสียง ก็เรียกว่ามันเป็นบุญ นั่นเรียกว่า ฟังธรรมเอาบุญกัน

ในสมัยต่อมาปัจจุบันนี้การศึกษามันเจริญขึ้น
ความรู้สึกนึกคิดของพวกญาติพี่น้องทั้งหลาย เป็นต้น
มันก็วิ่งขึ้นสู่ความเจริญ ความฉลาด ทั้งนั้น
การฟังธรรมมันจึงเลื่อนขึ้นไปหาเหตุผล
ในปัจจุบันนี้ ควรจะฟังธรรมเพื่อหาเหตุผล
เพื่อให้เกิดปัญญาว่า อะไรมันเป็นอะไรกัน
ฟังธรรมเพื่ออะไร ฟังแล้วมันเป็นอย่างไร มีอานิสงส์อย่างไร
จิตใจเราเป็นผู้ศึกษามันถึงรู้อย่างนี้”


แล้วหลวงพ่อสอนวิธีฟังเทศน์อย่างสงบ

“ในเวลานี้ ปัจจุบันนี้ อาตมาจะได้ให้ธรรมะ
ให้โยมตั้งใจเสมือนว่าพระพุทธเจ้าของเรานั้นตั้งอยู่ในที่เฉพาะหน้าของโยม
จงตั้งใจให้ดี กำหนดจิตให้เป็นหนึ่ง หลับตาให้สบาย
น้อมเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์มาไว้ที่ใจ
เพื่อเป็นการแสดงความเคารพต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

อย่าฟังธรรมเพื่อเอาบุญ ถ้าฟังธรรมะเพื่อเอาบุญแล้วจะง่วง
เกิดความสุขความสบายก็ง่วงเท่านั้นเอง
เมื่อฟังเทศน์ง่วงนอนก็ไม่รู้อะไร
และเมื่อไม่รู้อะไรก็โง่อยู่ตามเคย ก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นสักที

เราฟังธรรมต้องให้เกิดความฉลาด ฉลาดคือกุศล
เรื่องบุญและเรื่องกุศลนั้นต่างกัน
ถ้าเป็นกุศลแล้วมันตื่นหูตื่นตาตื่นใจ
รู้จักผิดรู้จักถูก รู้จักดีรู้จักชั่ว รู้จักสิ่งที่ควรละ รู้สิ่งที่ควรบำเพ็ญ
ส่วนคำว่า ‘บุญ’ นั้น มันคอยแต่จะเก็บใส่กระบุงอยู่เรื่อย
สบายอยู่เรื่อย สนุกอยู่เรื่อย ไม่ตื่นตัวไม่ตื่นเต้น ไม่ชอบค้นหาธรรมะ”


รูปภาพ

(๒) ให้รู้จักบาปบุญที่แท้จริง

ดังที่หลวงพ่อท่านเทศนาไว้ตอนหนึ่ง
ซึ่งได้มีการรวบรวมไว้เป็นธรรมเทศนา ชื่อว่า ทำใจให้เป็นบุญ
บรรยายที่วัดหนองป่าพง ให้แก่ชมรมพุทธศาสตร์เอสโซ่
เมื่อวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๒๔ ความตอนหนึ่งว่า

“โดยมากก็มาแสวงหาบุญกัน
แต่ว่าไม่เคยเห็นญาติโยมที่แสวงหาการละบาป
มีแต่แสวงบุญเรื่อยไป ไม่รู้จะเอาบุญไปไว้ตรงไหนก็ไม่รู้
ผ้าสกปรกไม่ฟอก แต่อยากจะรับน้ำย้อมนะ นี่มันเป็นอย่างนั้น


สพฺพปาปสฺสอกรณํ กุสลสูปสมฺปทา สจิตฺตปริโยทปนํ
สามคาถาเท่านี้ ไม่มากเลย


สพฺพปาปสฺสอกรณํ การไม่กระทำบาปทั้งปวงนั่นน่ะ
เอตัง พุทธานะสาสะนัง เป็นคำสอนของพระ
อันนี้เป็นหัวใจของพุทธศาสนา
แต่เราข้ามไปโน้น เราไปเอาอย่างนี้
การละบาปทั้งปวงน้อยใหญ่ทางกายวาจาใจน่ะเป็นเลิศประเสริฐแล้ว
เอตัง พุทธานะสานะนัง อันนี้เป็นคำสอนของพระ
อันนี้เป็นตัวศาสนา อันนี้เป็นคำสั่งสอนที่แท้จริง”

อ่านพระธรรมเทศนาได้ที่
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=38519


หลวงพ่อชาย้ำกับญาติโยมเสมอ ให้พากันรักษาศีล ละการทำบาป
มีคำสอนในเรื่องการละบาป บำเพ็ญบุญอีกตอนหนึ่ง ความว่า

“ทุกวันนี้มีแต่คนชอบทำบุญ เป็นนักแสวงบุญ
แต่ไม่มีคนละบาป บุญก็ทำบาปก็ไม่ทิ้ง นั่นคือคนไม่รู้จักดี ไม่รู้จักชั่ว
การที่เรามาทำบุญสุนทานกันวันนี้ ก็เรียกว่า บำรุงพระพุทธศาสนา
แต่ว่าต้องให้รู้จักพุทธศาสนา
ถ้าเราบำรุงพระพุทธศาสนาเพื่อเอาบุญกันอย่างเดียวนั้น
บางทีมันจะไม่ถึงพุทธศาสนา”


“คำว่า ‘บาป’ นั้น ประชาชนชาวพุทธเราไม่เห็น
ทำไมคนไม่เห็นบาป คือไม่เห็นความผิดนั่นเอง
ความผิดนั่นแหละมันเป็นบาป
ถ้าไปทำแล้วมันผิด ผิดแล้วมันก็เป็นทุกข์ เป็นเหตุให้เดือดร้อน
ความเดือดร้อนนั่นแหละมันเป็นบาป”

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ก.ย. 2011, 21:19 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

(๓.) ให้พากันภาวนา

หลวงพ่อชา ย้ำเสมอให้หากันภาวนา
การภาวนานี้มีความหมายว่า การกระทำให้เกิดขึ้นทำให้ดีขึ้น
ท่านว่า "การภาวนา คือ การคิดให้มากๆคิดให้ถูกต้อง" นั่นเอง

การลืมตาการหลับตาก็คือการภาวนา การยืน เดิน นั่ง นอนก็ภาวนา
ไม่เบียดเบียนตน ไม่เบียดเบียนผู้อื่น
ทำอะไรก็ให้เกิดประโยชน์ กระทำแต่สิ่งที่ถูกต้อง
พูดถูกต้อง คิดถูกต้อง ความถูกต้องทั้งหมดนั่นแหละคือบุญแล้ว
เป็นบุญที่เกิดจากการภาวนา ทานก็ดี ศีลก็ดี จะต้องภาวนาทุกสารพัดอย่าง

ภาวนาไม่ใช่ว่าจะไปนั่งหลับตาภาวนา
ความเป็นจริงการประพฤติการปฏิบัติภาวนานี้น่ะ
เมื่อไรก็ตามมันเถอะ จะอยู่ในวัดก็ตาม นอกวัดก็ตาม

เหมือนกับเราได้เรียนหนังสือในโรงเรียนที่ดี ๆ
เมื่อเราเรียนหนังสือในโรงเรียนที่ดี ๆ แล้ว
เราเรียนหนังสืออ่านหนังสือได้ในโรงเรียนแล้ว เราจะไปอ่านอยู่ที่บ้านก็ได้
จะอ่านอยู่ในทุ่งในป่าก็ได้ จะอ่านในชุมชนก็ได้ อ่านคนเดียวก็ได้
อ่านที่ไหนก็ได้ถ้าเราเข้าใจดีแล้ว
ไม่ใช่ว่าเราจะอ่านหนังสือ จะต้องวิ่งมาโรงเรียนถึงจะอ่านหนังสือได้ ไม่ใช่อย่างนั้น
การภาวนานี้ก็เหมือนกัน ฉันนั้น

เมื่อเรามีปัญญาแล้ว มันจะไปในทุ่งก็ดี
จะเข้าไปในป่าก็ดี อยู่ในคนจำนวนมากก็ดี อยู่ในคนจำนวนน้อยก็ดี
จะถูกนินทาก็ดี จะถูกสรรเสริญก็ดีเป็นต้น
ก็มีความรอบรู้อยู่อย่างสม่ำเสมอเรียกว่า
คนที่ภาวนา ให้มันรู้เท่าอารมณ์ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้น
เช่นนี้ก็เรียกว่าเราสบายแล้ว
นี่เรียกว่า คนภาวนาเป็น มีอารมณ์เป็นอันเดียว


ดังที่ท่านเทศน์อบรมว่า


“วันคืนล่วงไป ๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่
ดูตัวเองแก่ขนาดไหน อายุมากน้อยขนาดไหน
เราทำผิดอยู่หรือเปล่า ทำถูกหรือเปล่า
เราคิดชอบแล้วหรือยัง คิดผิดอยู่หรือเปล่า

ถ้าคิดผิดอยู่ก็ให้พยายามละ ให้รีบปฏิบัติเมื่อเรายังมีชีวิตอยู่นี้
พระพุทธเจ้าท่านสรรเสริญปัจจุบันธรรม
ทุก ๆ คนให้พากันตั้งอกตั้งใจพยายาม
ไม่ใช่ของเสียหาย ไม่ใช่ของยากลำบากอะไร
สร้างจิตใจของเรา ให้ดี ให้สบาย

คนเรานี้ถ้าทิ้งความดีแล้ว มันก็ไม่เป็นคนดี มันไม่เกิดประโยชน์
พระพุทธเจ้าสอนพวกเราทั้งหลายอย่าให้เบียดเบียนซึ่งกันและกัน
ให้มีความเห็นอกเห็นใจกัน
ต่างคนก็จะมีอายุไม่ค่อยจะถึง ๑๐๐ ปีหรอกทุกวันนี้ เดี๋ยวก็จากกันไป
พากันตรวจดูจิตของตัวเอง

ให้พิจารณาปฐมวัย มัชฌิมวัย ปัจฉิมวัย
ปฐมวัยก็เบื้องแรก มัชฌิมวัยก็สร้างฐานะ
ปัจฉิมวัยก็เบื้องปลายอายุหกสิบกว่าไปหาเจ็ดสิบแล้ว มันเป็นเรื่องตาย
ให้รู้จักอะไรควรทำ ควรละควรวาง
ควรทำจิตของตัวเองให้มันสบาย
ให้มันสงบระงับ อย่าให้มันทุกข์ นี่คือคนผู้ฉลาดที่เกิดมาในโลกนี้
ฉะนั้น จงพากันตั้งอกตั้งใจปฏิบัติ ให้สมกับที่เราเกิดมาเป็นมนุษย์ อย่าให้มันเสียทีทุก ๆ คน”


รูปภาพ

(๔.) ทำใจให้เป็นศีลเป็นธรรมสมเป็นพุทธบริษัท

ทุกคนให้เริ่มจากใจ การประพฤติปฏิบัติ
การบัญญัติก็เรียกว่า ให้ตั้งศีล ๕ ไว้ในใจ
ให้มีศีล ๕ ถ้าศีล ๕ ยังไม่สมบูรณ์ ยังเป็นคนไม่ครบนะ
เป็นคนไม่เต็มคน คือคนไม่พอ แต่เราก็ไม่เข้าใจ
ถ้าเราเดินไปเห็นคนมาถามว่าคนไม่พอน่ะ เราก็โกรธนะ
ความเป็นจริงมันคนไม่พอน่ะ
ถ้าคนมันพอคน มันจะสบายมากที่สุด
อันนี้ให้เริ่มจากศีล ๕ เป็นที่พึ่งของเรา
คือคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

จงตั้งต้นออกจากใจ ให้มีศีล ๕ ประจำใจทุกคน
จึงจะเป็นคนพอคน ถ้าขาดจากศีล ๕ แล้วก็จะไม่พอคน
อันนี้ให้ไปดูเอาเองในใจของเจ้าของ
อะไรมันไม่ค่อยดีค่อย ๆ เขี่ยออก
กลัวคนจะเห็นก็เขี่ยคนเดียวก็ได้ เขี่ยออกให้หมด
ให้มันถึงใบไม้ที่ลมไม่โกรก ให้มันถึงจิตที่บริสุทธิ์
ตรงนั้นแหละพระพุทธเจ้าของเราว่าเป็นทางที่จะพ้นทุกข์

การเป็นพุทธบริษัทมีหลายอย่างเหมือนกัน
บางคนก็สำคัญตนว่าเป็นพุทธบริษัทแล้วอย่างสมบูรณ์
เพราะว่าอาศัยการมากราบมาไหว้ มาไหว้พระสวดมนต์ มาฟังพระธรรมเทศนา
ความเข้าใจเช่นนี้ ก็เป็นความเข้าใจที่ถูกต้องเสียครึ่งหนึ่งเท่านั้น

การที่มันถูกครึ่งหนึ่งก็เรียกว่า มันยังไม่สมบูรณ์
พุทธบริษัทนี้มีกฏเกณฑ์ อย่างบริษัทอะไรต่าง ๆ ทุกประเภท
จะต้องมียี่ห้อเครื่องหมาย บริษัทของพระพุทธเจ้าก็เหมือนกัน
จะต้องมีเครื่องหมายสำหรับบุคคลแต่ละคน
ผู้จะเข้ารับธรรมะนับถือพุทธศาสนานั้นเป็นต้น
จะต้องเป็นผู้มีกาย วาจา อันสะอาดเรียบร้อย สมกับที่ได้รับธรรมะ
เปรียบเหมือนผ้าที่มันสกปรก
ก็ไม่สามารถจะรับน้ำย้อมได้สวย เพราะผ้าไม่สะอาด

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 ต.ค. 2011, 13:39 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


(๕.) ภารกิจสำคัญ คือ การมีสติ

รูปภาพ

ในเบื้องต้นของการประพฤติปฏิบัติ
คุณธรรมที่หลวงพ่อย้ำมากที่สุดคือ สติ นั่นเอง
ซึ่งตรงกับพุทธพจน์ว่า
ความไม่ประมาทเป็นทางอมตะ
ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย


ดังเช่นวันหนึ่งมีสุภาพสตรีคนหนึ่งไปกราบหลวงพ่อ

(สุภาพสตรี) ถาม : “หลวงพ่อคะ
ขอให้หลวงพ่อให้ข้อปฏิบัติเริ่มต้นสำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน”

หลวงพ่อ : “เริ่มต้นให้มีสติ มีสติเป็นเจ้าของอยู่เรื่อย”

(สุภาพสตรี) ถาม : “แล้วการปฏิบัติเล่าคะ”

หลวงพ่อ : “นี่แหละปฏิบัติ ให้กำหนดสติอย่าให้มันผิด
ไม่ให้ทำชั่ว ให้เห็นเจ้าของ อย่าเรียนหลายเลย
หลายมัดหลายผูกหลายเล่ม หลายเล่มขี้เกียจผูก
อยู่ตรงนี้แหละ ดูจิตของเรา ภาวนาตรงนี้ ออกไปแล้วก็จับตรงนี้ รู้สติรู้จิตของเรา”


ถาม : “ทำได้ทั้งวันหรือเปล่าคะ”

หลวงพ่อ : “จนวันตายเลยโยม ทั้งวันนี่น้อยไปหน่อย
บางคนก็ว่า โอ้ย! ฉันทำนึกว่าทำขนาดไหน
ตอนเช้าฉันก็ทำ ตอนเย็นฉันก็ทำ ตอนเช้าฉันก็ทำวัตร ตอนเย็นฉันก็ทำวัตร ไม่ได้พัก
หลวงพ่อก็ถามกลางวันทำอะไรหรือโยม ไม่ได้ทำ มันอย่างนั้นแหละโยม
ก็หายใจตอนเช้าตอนเย็นไม่ได้หายใจหรือ?
ตอนกลางวันหายใจหรือเปล่าก็ไม่รู้ เอาอย่างนั้นไหม?”


ถาม : “ชีวิตประจำวันของเราก็ต้องมีภารกิจ”

หลวงพ่อ : “นั่นแหละภารกิจ ถ้ามันมีสติมันก็เป็นภารกิจแหละโยม
คนที่มีสตินั่นแหละ คนทำภารกิจเรียบร้อย ถ้าขาดสติสองนาทีก็เป็นบ้าสองนาที
นาทีเดียวก็เป็นบ้า อย่าไปว่ากันและกัน


นี่คือสติ ให้เรารู้จักว่ามันเป็นอะไร อย่างไร สตินั่นแหละ ตลอดเวลา
ความคิดของเราไปคิดเบียดเบียนคนอื่นหรือเปล่า มันผิดหรือเปล่า ให้มันเห็น
คนอื่นไม่เห็นเราก็เห็นของเรา นี่มีสติไว้ครอบ ครอบงำ
นี่แหละจะมีทั้งศีล จะมีทั้งสมาธิ จะมีทั้งปัญญา


รูปภาพ

(๖.) ให้พิจารณาชีวิตเนือง ๆ จะเกิดปัญญา

หลวงพ่อท่านให้โอวาทว่า

"ได้ยินแต่ข่าวคนนั้นคนนี้ตาย ต่อไปก็ถึงตาเรา
ข่าวมาถึงเราบางทีก็ยังไม่รู้จัก ให้ระวังอายุ
เราอยู่ไม่นานมันครึ่งมันค่อนเข้าแล้ว สร้างใจมันผ่องใสให้ได้
อันนี้เป็นของสำคัญที่สุด มันตายหนีจากไม่ได้บุญ – บาปนี้"

"สมบัติไร่นาเรือนชานมันหนีจากเราได้
เราสร้างในใจนี้มันไปด้วยกัน สมบัติภายนอกมันไม่ได้ไปด้วย
ทางใจนี้ถ้ามีความชั่วก็พาไปทางชั่ว
มีความดีก็พาไปทางดีได้ อันเรือนชานไร่นาสาโทมันนำไปทางดีทางชั่วไม่ได้
นอกจากจิตของเราเท่านั้น ให้เข้าใจ"

"ฉะนั้นให้รู้จักที่อยู่ของเรา ให้เป็นมวยฉลาดซ้อมไว้
เห็นไหมนักมวยเขาฟิตซ้อม
หากระสอบมา หาทรายมาเตะมาถีบมัน เล่นอยู่อย่างนี้
ถึงเวลาขึ้นเวลา อย่างหนึ่งก็เสมอเขา อย่างหนึ่งก็ชนะเขา
ถ้าบุญไม่หัดสักที ไม่เตะกระสอบทรายแตกสักใบน่ะ
ขึ้นเวทีก็ถูกเขาต่อยฟันหลุดเท่านั้นแหละ นี่ก็เหมือนกัน"

"เมื่อถึงคราวเจ็บไข้ลูกหายตายเสีย เมื่อสมบัติพลัดพรากไปก็มีแต่ร้องไห้
เพราะไม่ได้ตั้งใจ คนไม่เป็นมวยไม่ได้ซ้อมสักทีนี้
จะต้องซ้อมอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันก็สบาย
ไม่ทุกข์หลายเพราะเห็นตามเป็นจริง ให้ซ้อมเข้าไว้

ป่านนี้แล้วเราจะอยู่เฉย ๆ ไม่ได้หรอก
ไปขึ้นเวทีก็ตกเวทีเท่านั้นแหละ อันนี้ต้องฝึกไว้ ธรรมะก็เหมือนกันฉันนั้น"

"เมื่อความจริงมันปรากฏ ไม่ต้องไปร้องไห้โศกเศร้า
ให้พากันหาของที่ดี ๆ ของที่มันดีกว่าในเรือนในชานของเรานี้
คือทำใจของเราให้มันถูกต้อง นี่เป็นของดี ถ้าเราทำใจเราให้ดีได้
เมื่อของเสียมันก็เสียแต่ของ แม้ไฟจะมาไหม้น้ำจะมาท่วม
ก็ปล่อยให้มันไหม้มันท่วมทั้งใจ
ผู้อื่นตาย เราก็ตายด้วย มันก็ไม่มีที่อยู่เท่านั้นแหละ”

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ต.ค. 2011, 19:29 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


ภาค ๓ ปัจฉิมกาล

รูปภาพ

:b44: โอวาทครั้งสุดท้าย

พระอาจารย์ชา สุภทฺโท ได้สงเคราะห์โลกด้วยความเมตตา
นับแต่วันที่ท่านปักกลดครั้งแรกที่หนองป่าพง
ยุติการเดินธุดงค์ มุ่งสงเคราะห์ภิกษุ สามเณร ชี
และฆราวาสอย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย
จนสถานที่แห่งนั้นได้กลายเป็นวัด
เป็นสถานที่สำหรับผู้แสวงหาทางพ้นทุกข์ได้มาฝึกหัดขัดเกลาจิตใจ

นับจากวันนั้น...จนถึงวันศุกร์ที่ ๑๑ เมษายน พ.ศ.๒๕๒๕
หลวงพ่อได้แสดงปัจฉิมวาจามอบหมายงานแก่ลูกศิษย์ลูกหาที่วัดหนองป่าพง
ในโอวาทสั้น ๆ ที่หลวงพ่อให้แก่สานุศิษย์ในครั้งนี้
เป็นโอวาทครั้งสุดท้ายจากปากของท่าน เพราะในเวลาต่อมาไม่นาน
หลวงพ่อก็อาพาธหนัก ไม่ได้พูดอีกเลย

ปัจฉิมโอวาทมีดังต่อไปนี้


“คณะสงฆ์สานุศิษย์ทั้งหลาย ที่ผมได้มาในคราวนี้นั้น
เพื่อจะได้มอบหมายงานให้ท่านทั้งหลายอยู่ได้สะดวก
ให้ มหาอมรฯ (พระมงคลกิตติธาดา - หลวงพ่ออมร เขมจิตโต
เจ้าอาวาสวัดป่าวิเวกธรรมชาน์) เป็นผู้ว่าหน้าที่พระอุปัชฌาย์ต่อไป
ให้มหาอมรฯ มาทำการอุปสมบทพระและสามเณรในที่นี้ต่อไป
ให้อาจารย์จันทร์ อาจารย์เที่ยง พระเถระทุกองค์นั้น ให้รับทราบไว้

ส่วนผมมันหมดภาระแล้ว จะลาออกจากการทำอะไรนี่ทุกประเภท
จึงมอบภาระทั้งหลายเหล่านี้ ให้สาธุสงฆ์ทั้งหลายรับทราบทุกองค์
แม้แต่ประชาชนทั้งหลายที่มาร่วมกันนี้ ให้รู้จัก ให้ทราบกันในเวลานี้
ต่อไปให้ทำกันเป็นสัดเป็นส่วนดังที่เคยทำกันมา
เพราะผมหมดเวลาแล้ว ที่จะทำการงานทั้งหลายเหล่านี้

สงฆ์ทุก ๆ ท่านจงได้ทราบ และพร้อมใจกันทุกท่าน อย่าให้มีอะไรขัดแย้ง
ส่วน อาจารย์เลี่ยม (พระราชภาวนาวิกรม - หลวงพ่อเลี่ยม ฐิตธมฺโม
เจ้าอาวาสวัดหนองป่าพง พ.ศ. ๒๕๒๕ ถึงปัจจุบัน)
อาจารย์ชูเป็นพระที่อยู่กับถิ่น เคยปลูกสร้างทุกสิ่งทุกอย่างนั้น
จงพากันอยู่สบาย ตลอดจตุปัจจัยกับไวยาวัจกรเช่น มหาอ่อน เป็นต้น
ให้อาจารย์เลี่ยม อาจารย์ชู ศึกษากันให้เรียบร้อย จึงค่อย ๆ ทำ
อย่าทำคนละฝักละฝ่าย ใครทำก็ให้รู้จัก อย่าทำคนละอย่างสองอย่าง
ใครอยากจะเอานี่ก็เอาไป ใครอยากจะทำก็ทำไปอย่างนั้นมันไม่ดี
ให้พากันเข้าใจทุก ๆ ท่านปฏิบัติให้เป็นธรรม

ส่วนนอกนั้น พระสงฆ์ทั้งหลาย สิ่งที่สำคัญให้หนักแน่นในการปฏิบัติ
ถ้าอยากมารวมปฏิบัติกับอาจารย์เลี่ยม อาจารย์ชูที่วัดใหญ่ก็ได้
เพราะที่วัดใหญ่นี้มันใหญ่กว้างขวาง ทำอะไรทุกสิ่งทุกอย่างมันก็สมควร
เพราะวัดมันกว้าง เท่านี้ละกระมั้ง
ต่อจากนี้ ก็มีแต่การปฏิบัติเป็นใหญ่เท่านั้นแหละ
ผมจะพูดอะไรมากกว่านั้นไม่ได้ ที่มาพูดกับสงฆ์วันนี้ก็ดีแล้ว พอแล้ว มนต์ซะ”


ท่านบอกว่าโรคของท่านมันไม่หาย เพราะเป็นกรรมของท่านเอง
กล่าวถึง กุฏิที่ญาติโยมกำลังสร้างถวาย
ที่จริงท่านไม่อยากให้สร้าง เพราะจะอยู่ไม่คุ้ม แต่จะไปขวางกั้นศรัทธา
ก็จะเป็นการตัดบุญเขา ก็ต้องให้สร้าง

การอาพาธหนักช่วงบั้นปลายชีวิตนี้
หลวงพ่อเสียการควบคุมตัวเองแทบทุกประการ (อัมพาต)
อย่างที่ท่านเปรยอยู่เสมอว่า “โรคของผมมันรักษาไม่หาย”

มีคนเป็นจำนวนมากที่เพิ่งมารู้จักหลวงพ่อในระยะหลัง
ซึ่งท่านอาพาธหนัก และสอนไม่ได้แล้ว
อย่างไรก็ตาม แม้หลวงพ่ออาพาธหนักถึงขั้นอัมพาต พูดไม่ได้อยู่ถึงเก้าปี
ตลอดเวลาอันยาวนานนี้ ก็ยังมีสาธุชนหลั่งไหล
มากราบนมัสการหลวงพ่อที่วัดป่าพงมิได้ขาดเลย

แม้จะได้ฟังเพียง เทศน์เงียบ ของท่านก็ตาม
ถ้าไปถึงวัดในตอนกลางคืน ก็กราบที่ด้านนอกห้องกระจก
ซึ่งมองเข้าไปเห็นองค์หลวงพ่อชัดเจน
ตอนเย็นพระอุปัฏฐากก็เข็นรถพาหลวงพ่อออกมารับอากาศบริสุทธิ์ข้างนอก
เว้นไว้แต่วันที่มีฝนและอากาศเย็นเกินไป ญาติโยมก็ได้โอกาสกราบท่านอย่างใกล้ชิด

หลายปีก่อนหลวงพ่อพุธ ฐานิโย ได้เคยแนะนำว่า
หลวงพ่อท่านเก่งเรื่องปฏิจจสมุปบาท
ถ้าสวดวิปัสสนาภูมิถวายให้หลวงพ่อฟังบ่อย ๆ
หลวงพ่อจะมีความสบาย และอาจทำให้ท่านหายได้
หลังจากนั้นพระภิกษุสามเณรจากวัดป่านานาชาติพร้อมด้วยญาติโยมที่มาจำศีลที่วัด
ก็ได้ร่วมกันไปสวดวิปัสสนาภูมิและบทอื่น ๆ
อาทิ โพชฌงค์เจ็ดถวายหลวงพ่อทุกวันพระ จนเป็นกิจวัตร
เป็นภาพที่คุ้นตาญาติโยมที่ไปรักษาศีล หรือไปกราบหลวงพ่อในวันพระที่วัดหนองป่าพง

:b44: ปลงสังขาร

ที่จริงแล้วความเจ็บไข้ได้ป่วย
เป็นเรื่องที่หลวงพ่อมีประสบกาณ์มากในชีวิตการประพฤติปฏิบัติของท่าน
เพราะฉะนั้นท่านอบรมศิษยานุศิษย์ให้หัดพิจารณาเรื่องนี้อยู่บ่อย ๆ
อย่างเช่นโอวาทตอนหนึ่ง ซึ่งหลวงพ่อให้กับพระภิกษุสามเณร ดังนี้

“เรื่องของเบญจขันธ์นั้นมันเป็นไป
ถึงคราวมันร้อนมันก็ร้อน ถึงคราวมันเย็นมันก็เย็น
ถึงคราวมันเจ็บมันก็เจ็บ มันสักแต่ว่าเป็นทุกขเวทนา-สุขเวทนาเกิดขึ้นมาเท่านั้น
คือไม่มีตัวมีตนของเราเข้าไปฝังอยู่ในที่นั้น ที่เรียกว่าการปล่อยวาง
ไม่ใช่ว่ามันไม่มีอะไรปรากฏขึ้นมานะ มันมีปรากฏอยู่แล้ว
การปล่อยวางก็คือ เราเห็นว่า อันนั้นเราบอกมันไม่ได้"


"เหมือนม้าตัวหนึ่งนะ มันฮึด เราเลี้ยงมันยากลำบาก
จับเชือก มันวิ่ง เราจับมันไว้อย่าเพิ่งปล่อยมันครับ
แต่ถ้ามันวิ่งเต็มที่ อย่าไปจับมันครับ ปล่อย ประเดี๋ยวมือมันจะขาดน่ะ
ให้มันไปแต่เชือกกับม้า อย่าให้เราเสียอะไร ปล่อยมัน
ถ้ามันไปขนาดหนึ่งเราก็ดึงมันไว้ สู้มันได้ อะไรทุกอย่างก็เหมือนกันนั่นแหละ"

"ร่างกายเรานี้ก็เหมือนม้าตัวหนึ่ง ถ้าปล่อยมันป่วยขนาดนี้
เราก็ให้ยารักษามันไป ถ้ามันเอาเต็มที่ไม่ไหว เราก็ให้มันเลย
อย่าไปยุ่งมันเลย ให้มันไปเถอะ มันมีเท่านั้นแหละ
มันเกิดมาแล้วมันก็ไป หมดที่จะรักษากันแล้ว
มันหมดที่ของมันแล้ว ให้มันมีที่จบอย่างนั้น"


โอวาทเรื่อง สังขาร หลวงพ่อท่านเคยเทศนาไว้เสมอ
ดังเช่นในครั้งหนึ่งท่านเทศนาไว้ดังนี้

“สังขารเสื่อมไปอย่างไร เปรียบให้ฟังเหมือนก้อนน้ำแข็ง
แต่ก่อนมันเป็นน้ำ เขาเอามาทำให้เป็นก้อน
แต่มันอยู่ไม่กี่วันหรอก มันก็เสื่อมไป
เอาก้อนน้ำแข็งก้อนใหญ่ ไปวางไว้กลางวัน
จะดูความเสื่อมของก้อนน้ำแข็ง ก็เหมือนสังขารนี้
มันจะเสื่อมทีละน้อยทีละน้อย ไม่กี่นาที ไม่กี่ชั่วโมง ก้อนน้ำแข็งก็จะหมด
ละลายกลายเป็นน้ำไป นี่เรียกว่าเป็น ขัยยะวัยยัง ความสิ้นไป
ความเสื่อมไปแห่งสังขารทั้งหลาย
เป็นมานานแล้ว ตั้งแต่มีโลกขึ้นมา
เราเกิดมา เราเก็บเอาสิ่งเหล่านี้มาด้วย
ไม่ใช่ว่าเราทิ้งไปไหน พอเกิด
เราเก็บเอาความเจ็บ ความแก่ ความตาย มาพร้อมกัน”


พระอาจารย์องค์สำคัญที่พระอาจารย์ชาฝากภารกิจให้สานต่อ


รูปภาพ
พระมงคลกิตติธาดา (หลวงพ่ออมร เขมจิตฺโต)
อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าวิเวกธรรมชาน์
ละสังขารเมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๓
สิริอายุรวมได้ ๗๙ ปี ๑๐ เดือน ๑๙ วัน พรรษา ๖๐


รูปภาพ
พระราชภาวนาวิกรม (หลวงพ่อเลี่ยม ฐิตธมฺโม)
เจ้าอาวาสวัดหนองป่าพง ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๕-ปัจจุบัน

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


แก้ไขล่าสุดโดย Hanako เมื่อ 04 ต.ค. 2011, 06:06, แก้ไขแล้ว 2 ครั้ง.

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ต.ค. 2011, 19:38 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


:b44: มรณกาล

รูปภาพ

ความแก่ ความเจ็บ ความตาย
เป็นสภาวธรรมที่มีความหมายสำหรับผู้ที่เป็นเจ้าของสังขาร
แต่สำหรับผู้ที่ได้สละกรรมสิทธิ์ในกายและจิตหมดแล้ว
ท่านย่อมมองความเลื่อมสลายของสังขารว่า
เป็นสักแต่ความแปรปรวนของธรรมชาติเท่านั้นเอง
โดยไม่อาจมีสิ่งใดมากระทบกระเทือนใจเลย เป็นผู้ที่พ้นแล้วจากบ่วงของมาร

หลวงพ่อเองเคยตอบโยมที่ถามถึงอายุของท่านว่า
“ไม่มีอายุ”

และก่อนหลวงพ่อล้มป่วยหนัก ได้ปรารภปลอบใจลูกศิษย์ผู้อยู่ใกล้ชิดว่า
“ผมไม่มีอะไร ไม่ต้องเป็นห่วง ผมไม่มีอะไร”


ในวาระสุดท้ายของชีวิต ถ้าหลวงพ่อพูดได้
ท่านคงจะเอ่ยอ้างพระสูตรที่ท่านชอบมากที่สุดตอนหนึ่ง

คือ คำตอบของพระยมกะ ตอบคำถามของพระสารีบุตรว่า
“ถ้ามีใครถามท่านว่า พระอรหันต์ตายแล้วไปไหน? ท่านจะตอบเขาว่าอย่างไร?”
พระยมกะ ตอบว่า
“ข้าพเจ้าจะตอบว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เกิดขึ้นแล้วดับไป”

ซึ่งในสมัยก่อนเมื่อกล่าวถึงคำนี้ ท่านจะหัวเราะเบาๆ ด้วยความพอใจทุกครั้ง

ฉะนั้นกองสังขารที่ปรากฏแก่โลกในนามว่า หลวงพ่อชา นั้น
อาจเปรียบเทียบได้กับเรือที่ยังแล่นอยู่ หลังจากดับเครื่องแล้ว
ด้วยอำนาจแรงของเครื่องยังมีอยู่ แต่มันก็ช้าลงๆ เรื่อยๆ
และในที่สุดมันก็หยุดนิ่งสงบ


หลวงพ่อชาที่โลกรู้จัก ได้ถึงจุดนิ่งอย่างถูกต้อง
ตามหลักตายตัวของธรรมชาติ
ในวันครูที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ.๒๕๓๕ ที่วัดหนองป่าพง

ลำดับเหตุการณ์สู่มรณกาลของหลวงพ่อชา สุภทฺโท

๕-๑๑ มกราคม ๒๕๓๕
หลวงพ่อมีอาการอ่อนเพลีย เสมหะเหนียว
ความดันโลหิตสูงเกินระดับปกติมาก และมีอาการหอบ
หายใจลำบาก ชักกระตุก ปัสสาวะน้อยลง

๑๒ มกราคม ๒๕๓๕
คณะแพทย์และพยาบาลขออนุญาตจากคณะสงฆ์
เพื่อนิมนต์หลวงพ่อเข้ารับการรักษา
ที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จังหวัดอุบลราชธานี
ผลการตรวจจากห้องปฏิบัติการ โดยเอ็กซเรย์คลื่นไฟฟ้าหัวใจและเลือด
พบว่า มีน้ำท่วมปอด หัวใจวายจากเส้นเลือดอุดตัน
ร่วมกับภาวะไตวายเฉียบพลัน
ผลการรักษา ๓ วันแรก อาการน้ำท่วมปอด
และหัวใจวายดีขึ้นเล็กน้อย แต่ภาวะไตวายกำเริบมากขึ้น
ความดันโลหิตและชีพจรอยู่ในเกณฑ์ปกติ
การหายใจหอบเป็นระยะปัสสาวะน้อยมาก

เช้าวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๓๕
ความดันโลหิตลดต่ำลงผิดปกติ
คณะแพทย์ลงความเห็นว่า สาเหตุน่าจะเป็นทางด้านหัวใจ
และมีการติดเชื้อในกระแสโลหิตร่วมด้วย
หลังจากให้ยาช่วยเพิ่มความดันโลหิตและยาปฏิชีวนะ
ความดันโลหิตขึ้นสูงแต่ยังไม่ถึงเกณฑ์ปกติ
เอ็กซเรย์พบว่าหัวใจโต และน้ำท่วมปอดเพิ่มขึ้นกว่าวันก่อน
ปัสสาวะไม่ออกเลย ผลการตรวจเลือด อาการไตวานแทรกซ้อนร้ายแรงขึ้น

๒๐.๐๐ น. ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี (นายสายสิทธิ์ พรแก้ว)
นำรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กราบเยี่ยมดูอาการหลวงพ่อ

๒๑.๐๐ น. คณะแพทย์ได้ประเมินอาการหลวงพ่อแล้วว่า
ช็อคจากหัวใจวายไม่ดีขึ้น ร่วมกับภาวะไตวายที่เป็นมากขึ้นเรื่อยๆ
สุดวิสัยที่จะเยียวยารักษาได้
จึงกราบเรียนปรึกษาพระอาจารย์เลี่ยมและท่านผู้ว่าราชการจังหวัด
ในที่สุดเห็นพ้องกันว่า จะนิมนต์หลวงพ่อกลับวัด

๒๒.๐๐ น. คณะสงฆ์ร่วมกับท่านผู้ว่าราชการจังหวัดฯ
และคณะแพทย์พยาบาลโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จังหวัดอุบลราชธานี
นิมนต์หลวงพ่อกลับวัดหนองป่าพง

๒๒.๔๐ น. หลวงพ่อกลับถึงกุฏิพยาบาลวัดหนองป่าพง

๐๕.๒๐ น. วันพฤหัสบดีที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๓๕
หลวงพ่อได้ละสังขารไปด้วยอาการสงบ
จบการเดินทางอันยาวนานในวัฏสงสารลงอย่างงดงาม

ช่าวการมรณภาพของพระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภทฺโท)
วัดหนองป่าพง แพร่กระจายไปทั่วประเทศ
ศิษยานุศิษย์และพุทธบริษัทในเขตจังหวัดอุบลราชธานีและใกล้เคียง
ต่างหลั่งไหลมาคารวะศพอย่างเนืองแน่น

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ในการบำเพ็ญพระราชกุศลศพ
พระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) กำหนด ๗ วัน

๑๘.๒๐ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้ ดร.เชาน์ ณ ศีลวันต์ องคมนตรี
เป็นผู้แทนพระองค์นำน้ำพระราชทานสรงศพ
พร้อมกับพระราชทานพวงมาลาวางหน้าหีบศพ
พระโพธิญาณเถร ณ วัดหนองป่าพง

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ฯ
ทรงพระราชทานพวงมาลาวางหน้าหีบศพ

๑๘.๕๐ น. เคลื่อนศพหลวงพ่อจากกุฏิพยาบาลมายังธรรมศาลา
เพื่อประกอบพิธีบำเพ็ญกุศล และให้พุทธบริษัทกราบคารวะบูชา

พระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา วัดหนองป่าพงและสำนักสาขา
รวมทั้งสาธุชนทั่วไปร่วมปฏิบัติบูชา นั่งสมาธิ ทำวัตรสวดมนต์
ฟังพระธรรมเทศนา ตั้งแต่ ๑๙.๐๐-๒๔.๐๐ น.
เป็นเวลา ๑๕ วัน (๑๖-๓๐ มกราคม ๒๕๓๕)

๑๗ มกราคม ๒๕๓๕
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ
เสด็จนมัสการศพหลวงพ่อ
และทรงพระราชทานพวงมาลาวางหน้าหีบศพ

๑๘ มกราคม ๒๕๓๕
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร
ทรงพระราชทานพวงมาลาวางหน้าหีบศพ

๒๐ มกราคม ๒๕๓๕
นิมนต์พระสมณศักดิ์ในจังหวัดอุบลราชธานี สวดมาติกา บังสุกุล
พระอาจารย์แบน ธนากโร
และศิษยานุศิษย์วัดดอยธรรมเจดีย์ จังหวัดสกลนคร มาคารวะศพ

๒๒ มกราคม ๒๕๓๕
มรณภาพครบ ๗ วัน
นิมนต์พระสมณศักดิ์ในจังหวัดอุบลราชธานี
รับภัตตาหาร สวดมาติกาบังสุกุล

ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสมฺปนฺโน
วัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี ได้เมตตามาเยี่ยมและได้แสดงธรรม
พร้อมกับพักค้างคืนด้วย ๑ คืน

๓๐ มกราคม ๒๕๓๕
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก
เสด็จเยี่ยมและทรงประทานโอวาทแก่พุทธบริษัทที่มาร่วมบำเพ็ญกุศล

หลังจากร่วมปฏิบัติบูชาบำเพ็ญกุศลของศิษยานุศิษย์ เป็นเวลาครบ ๑๕ วัน
คณะสงฆ์วัดหนองป่าพงและสำนักสาขา มีมติให้บำเพ็ญกุศลต่อไป
จนถึงวันพระราชทานเพลิงศพในเดือนมกราคม ๒๕๓๖
เพื่อเป็นการบูชาพระคุณของหลวงพ่อ
และเพื่อประโยชน์ทางธรรมปฏิบัติของพุทธศาสนิกชนทั่วไป

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ต.ค. 2011, 19:48 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ
สารคดีอัตชีวประวัติโดยย่อ ของหลวงพ่อชา สุภัทโท



:b8: :b8: :b8:

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 ธ.ค. 2015, 20:49 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


Quote Tipitaka:
อัทธุวัง เม ชีวิตัง ชีวิตของคนเราไม่ยั่งยืน
ธุวัง เม มะระณัง ความตายของเรายั่งยืน
อนิยะตัง เม ชีวิตัง ชีวิตของเราไม่เที่ยง
นิยะตัง เม มะระณัง ความตายของเราเที่ยง

สักวันหนึ่งเราก็จะต้องทับถมดินเหมือนคนเหล่านั้น
เราเกิดมาเพื่อถมดินให้สูงขึ้นหรือ? หรือเกิดมาทำไม


ไม่แน่...คือ อนิจจัง

สัมมาทิฐิ คือความเข้าใจว่า
สิ่งทั้งหลายเหล่านี้มันเป็นของไม่แน่นอน


:b41: :b42: :b42: :b41:



:b20: :b20: :b20:


:b8: :b46:

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 30 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 13 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร