ลานธรรมจักร
http://dhammajak.net/forums/

พระธรรมเจดีย์ (กี มารชิโน) วัดทองนพคุณ
http://dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=57927
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เจ้าของ:  สาวิกาน้อย [ 28 ก.ย. 2009, 09:01 ]
หัวข้อกระทู้:  พระธรรมเจดีย์ (กี มารชิโน) วัดทองนพคุณ

พระธรรมเจดีย์ (กี มารชิโน)
วัดทองนพคุณ (วัดทองแอ๋)
แขวงคลองสาน เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร
เขียนโดย ศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก
:b44: :b47: :b44:

รูปภาพ

บุคลิกของพระธรรมเจดีย์

ศึกษาจริยาของบุคคลจริต (จริยา) ทั้งหกประการแล้ว หลวงพ่ออยู่ในประเภท ราคจริต ในความหมายว่า “รักสวยรักงาม” ผสม พุทธิจริต (ใช้เหตุใช้ผล) และ มหจริต (ในแง่ยึดมั่นความเห็นของตน อะลุ้มอล่วยยาก) แถม โทสจริต (ใจร้อน) อีกหน่อย

(ขาดแค่สองก็ครบหก !)

ในเรื่องรักสวยรักงาม หรือความเป็นระเบียบนี้ค่อนข้างชัด ของใช้ของสอยจะต้อง “เนี้ยบ” โดยเฉพาะของจะถวายพระในงานบุญงานกุศล ท่านจะจัดพิถีพิถันมาก ท่านมักจะตำหนิที่ชาวบ้านนำของสักแต่ว่าทำบุญมาถวายพระ “สบงจีวร ก็เอาผ้าบางๆ สั้นเต่อ แล้วจะให้พระท่านนุ่งห่มใช้สอยได้ยังไง ซื้อผ้าจีวงจีวร ไม่ปรึกษาผู้รู้ ไปถูกเจ๊กมันหลอก”

คำว่า “เจ๊ก” นี่เน้นเป็นพิเศษ ไม่รู้ว่ามีความฝังใจอะไรกับคนจีน ทั้งที่ทั้งชื่อ ทั้งรูปร่างของผู้พูด มองยังไงก็เป็น “ไทกั๋ว” ไปไม่ได้ (ฮา)

สมัยยังไม่มีรถประจำตัว (ทราบว่ามีในสมัยหลัง สมัยผมลาสิกขาไปแล้ว) เป็นเจ้าคณะจังหวัดใหม่ๆ ก็มักจะอาศัยรถแท็กซี่ไปตรวจงานตามวัดต่างๆ บอกผมไปเรียกแท็กซี่ให้เข้ามารับที่กุฏิ ทุกครั้งที่ให้ไปเรียกรถจะกำชับว่า “เอาคันใหม่ๆ สะอาดๆ นะ” เป็นที่รู้กันว่า รถแท็กซี่เก่าๆ เบาะมีกลิ่นบุหรี่ ประมาณนั้น ท่านจะไม่ยอมนั่ง เผลอๆ บอกเลิก ให้ไปเรียกคันใหม่ ถึงขนาดจ่ายค่าเสียเวลาให้ก็ยอม

งานด้านธุรการ เช่น พิมพ์ดีด ร่างจดหมาย หลวงพ่อจะทำเองหมด เพราะลูกศิษย์ทำไม่ถูกใจ เคยให้พระลูกศิษย์พิมพ์หนังสือให้ แค่ผิดคำเดียว เอายาลบแก้เรียบร้อย ท่านก็ไม่ยอมเอา เพราะมีรอยลบดูไม่สะอาดตา จนพวกเรา ลูกศิษย์ (ชั้นดี) แอบตั้งฉายาว่า “เจ้าคุณระเบียบ” (ฮา)

ผมเองนั้น หลวงพ่อไม่ค่อยใช้ นับเป็นศิษย์คนโปรดที่ไม่รับมอบหมายให้ทำงานอะไร ที่แสดงถึงความละเอียด เพราะนิสัยเป็นคนไม่ละเอียด เรื่องให้พิมพ์จดหมายโต้ตอบไม่ต้องพูดถึง เพราะผมมักพิมพ์ผิดบ่อย เอายาลิควิดลบจนเลอะ ท่านเห็นก็โยนทิ้ง ลากเครื่องพิมพ์มาดีดเอง และก็ทำเช่นนี้ตลอดมา

ยกเว้นเวลาไหนเหนื่อย ต้องการลูกศิษย์ชั้นดีเช่นผมช่วย จะให้เด็กมาเรียก “ไปบอกเสฐียรพงษ์ซิ มันโรเนียวเป็นเรอะเปล่า มาช่วยพ่อหน่อย”

ผมได้ยินก็สะอึก “แหม หลวงพ่อนะ หลวงพ่อ ก็รู้ๆ อยู่ลูกศิษย์คนนี้โรเนียวจนเครื่องพังมาสามเครื่องแล้ว ไม่น่าถามอย่างนี้เลย จะให้ช่วยก็บอกตรงๆ ขอความช่วยเหลือแล้วยังดูถูก ‘สีมือ’ ด้วย ไม่มีจิตวิทยาเลย” ก็แค่คิดเท่านั้น ไม่กล้าพูดออกมาตรงๆ หรอก

แต่สิ่งที่ท่านต้องการให้ผมช่วยประจำ ไม่ใช่เรื่องพิมพ์ หรือโรเนียวดอกครับ ไปช่วย “แกะลายสือ” ให้ฟัง ศิษย์คนที่ไปเรียนเมืองฝรั่ง เขียนจดหมายมาหาท่าน ลายมือยิ่งกว่าไก่เขี่ย ท่านแกะยังไงก็แกะไม่ออก เรียกผมไปอ่านให้ฟัง “สุลักษณ์ มันเขียนหนังสือยังไง พ่ออ่านยังไงก็ไม่ออก ลูกอ่านให้ฟังหน่อย”

ลูกศิษย์คนนี้ช่างขยันส่ง “จารึกพ่อขุน” มาให้ผมแกะบ่อยจริงๆ ผมว่าผมคุ้นเคยกับคนลายมือแย่มาหลายราย แต่ของท่านผู้ที่พูดถึงนี้แย่ที่สุดเท่าที่เคยผ่านตา (ผมไม่ได้เอ่ยนามนะ อย่าถือสิทธิพาดพิง)

สองบุคลิกในตัวหลวงพ่อ ที่ถ้าไม่สังเกตจะไม่ทราบ ผมเฝ้าสังเกตมาตลอด สรุปได้ดังนี้

หลวงพ่อเป็นคนไม่เชื่อเรื่องไสยศาสตร์ เรื่องที่ไม่ค่อยมีเหตุมีผล ยิ่งหมอดูทำนายทายทักด้วยแล้ว ท่านถึงกับเรียกเหยียดๆ ว่า “หมอเดา” เอาทีเดียว พูดแล้วก็ชำเลืองไปทางกุฏิคณะ ๓ ที่หลวงพ่อเจ้าคุณภัทรอยู่ ตอนหลังหลวงพ่อธรรมเจดีย์ย้ายไปอยู่โรงเรียน และต่อมามาอยู่คณะ ๑ แล้ว แต่ความเป็นพุทธิจริต ชอบเหตุชอบผล ชอบเรื่องที่พิสูจน์ได้ ก็เป็นภาพภายนอกที่ปรากฏ แต่ลึกๆ แล้ว ผมสังเกตเห็นว่า ท่านก็เชื่อเรื่องเหล่านี้ไม่น้อยทีเดียว อย่างน้อยก็เชื่ออย่างหนักมาก่อนหน้านี้

ดังกรณีถูกหมอเคาะกระดูกทายว่าจะตายเมื่ออายุ ๕๐ ท่านก็เชื่อและทำตามหมอบอกทุกอย่าง จนถึงกำหนด (วันเดือนปีที่หมอ) ว่าจะตาย ท่านก็เตรียมเงินทอง และการจัดการศพของตนไว้อย่างเรียบร้อย แต่เมื่อไม่ตายจริง จึงพูดภายหลังอย่างเยาะๆ ว่า

“หมอที่ทายว่าพ่อจะตาย มันตายก่อนอีก” แล้วก็หัวเราะชอบใจ

เมื่อผมสอบเปรียญ ๙ ได้ใหม่ๆ วิทยุประกาศว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จฯ ไปพระราชทานการอุปสมบทแก่ผม ที่วัดพระแก้ว วันที่เท่านั้นเท่านี้ (จำวันที่ไม่ได้ แต่ดูเหมือนจะเดือนมิถุนายน ๒๕๐๓) ผมก็เห็นพระผู้แสดงตนว่าไม่เชื่อโหราศาสตร์ ไสยศาสตร์ อย่างหลวงพ่อพระธรรมเจดีย์ของผม ปิดประตูคำนวณดวงของผมอย่างหน้าดำคร่ำเคร่ง ผมอยู่ข้างนอกได้ยินแว่วๆ ทำนองนี้

“เวลาบวช เรากำหนดเองไม่ได้ แล้วแต่พระราชประสงค์” เสียงโหราจารย์เอ่ย

“นั่นสิ เวลาไหนถึงจะดีไม่ดี” เสียงถามจากหลวงพ่อ

จากนั้นผมก็ไม่ได้ยินอะไร รู้แต่ว่าออกมาแล้ว หลวงพ่อบอกว่า ท่านเจ้าคุณภัทรบอกว่า ถ้าไม่เลยเวลาบ่ายโมง ดวงลูกจะรุ่ง ไม่สังฆราชก็เฉียดๆ ล่ะ

และแล้ว ผมก็ได้แค่ “เฉียด” สมเด็จพระสังฆราช เพราะเวลาเสด็จพระราชดำเนินตกบ่ายสามโมงเห็นจะได้ (ซึ่งก็จริงตามคำทำนาย ผมได้เดินเฉียดสมเด็จพระสังฆราชตั้งหลายครั้ง ฮา)

คราวหนึ่งมีเด็กหนุ่มหิ้วห่อผ้าเข้ามา โฆษณาขายพระเครื่องศักดิ์สิทธิ์ ผมปฏิเสธไปว่า ไม่สนใจดอก เพราะปกตินิสัยก็ไม่ค่อยรู้เรื่องพระเคร่งพระเครื่องอยู่แล้ว เจ้าหนุ่มนั้นก็เซ้าซี้จะให้ดูให้ได้ ไม่ซื้อไม่เป็นไร ขอให้ดูก่อน เพราะพระที่นำมานี้ศักดิ์สิทธิ์จริงๆ เณรน้อยสองสามองค์ รวมทั้งเจ้าสีเด็กวัดก็มามุงด้วย

คนขายพระก็ฝอยเป็นคุ้งเป็นแควถึงความศักดิ์สิทธิ์ของพระเครื่องของตัว

หลวงพ่อมายืนอยู่ตั้งแต่เมื่อไรไม่รู้ ถามว่า “พระเอ็งศักดิ์สิทธิ์จริงหรือ” พวกเราบางคนถอยออกไป เจ้าหนุ่มนั้น ไม่รู้ว่าพระรูปที่ยืนถามอยู่นี้เป็นใคร ก็สาธยายว่า องค์นี้ป้องกันมีดป้องกันปืน องค์นี้ทำให้ร่ำรวย องค์นี้สร้างเสน่ห์มหานิยม...

“เอ็งไม่อยากได้เงินหรือ” หลวงพ่อเอ่ยขึ้น

เจ้าหมอนั่นพูดว่าก็อยากครับ (คงนึกว่าถ้าท่านซื้อสักองค์สององค์ ก็จะได้เงินแน่) หลวงพ่อกล่าวต่อว่า “ถ้าอยากร่ำอยากรวย มีเงินมีทองเป็นเศรษฐีมหาเศรษฐี เอ็งจะเอาพระเหล่านี้มาขายทำไม เก็บไว้ แล้วเอ็งก็จะรวยเอง ศักดิ์สิทธิ์มากมิใช่หรือ”

เจ้าหมอนั่นรีบหิ้วห่อพระลงกุฏิทันที

วันหนึ่งพวกเราพระเณรรวมทั้งเด็กวัดกำลังคุยกันถึงลายมือกันอยู่ อุทัย เกลี้ยงเล็ก (เมตตานุภาพ) ซึ่งมีความรู้เรื่องลายมือแบบงูๆ ปลาๆ จับมือคนนั้นคนนี้ ชี้ดูเส้นนั้นเส้นนี้ พร้อมฝอยฟุ้งตามประสา ขณะที่สนใจกันสนุกสนานนั้น หลวงพ่อเข้ามาข้างหลังเมื่อไรไม่รู้ พอรู้ว่าเราคุยเรื่องอะไรกัน ก็ตำหนิว่า เรื่องติรัจฉานวิชาไม่ได้เรื่อง พ่อไม่เชื่อดอกเรื่องอย่างนี้

แล้วท่านก็เล่าประสบการณ์ที่หมอทายท่านผิด ทำให้รู้สึกไม่ดีต่อวิชาอย่างนี้ (รู้สึกถ้าจะตำหนิเรื่องทำนายทายทักทีไร มักจะเล่าเรื่องนี้ให้ฟังบ่อย จนเบื่อฟัง)

แต่อุทัยไม่สนใจ ยังจับมือเณรน้อยรูปนั้นรูปนี้ทายส่งเดช

หลวงพ่อเผลอยื่นมือเข้ามา “ไหน ดูของพ่อซิเป็นยังไง” (ฮา)

บุคลิกส่วนตัวของเจ้าอาวาสมีทั้งในแง่บวกและแง่ลบ และมีผลในการบริหารงานพระศาสนามากบ้างน้อยบ้างตามสมควร ผมมาอยู่วัดทองนพคุณตั้งแต่อายุ ๑๔-๑๕ ปี มาใหม่ๆ ก็ตื่นเมืองกรุงตามประสาเด็กบ้านนอก แถมมาอยู่กุฏิเดียวกันกับพระเจ้าคุณ ผู้เป็นอาจารย์สอนบาลีชื่อดัง

เจ้าคุณฯที่เมตตารับผมมาอยู่ด้วย เป็นสุภาพบุรุษวัยกลางคน ร่างผอมบาง เชื้อจีนหูกางใหญ่ เสียงดังฟังชัด เสียพูดคุยธรรมดาดังกังวานได้ยินไปไกล พระมหาเสรี หลวงพี่ของผม (ซึ่งต่อมาเป็นเจ้าอาวาส) นินทาว่า “เจ้าคุณเล็กนินทาคนไม่เป็น พูดอะไรออกมาคนได้ยินหมด ไม่เป็นความลับ”

หลวงพ่อเจ้าคุณเล็กเป็นสมญานามเรียกท่าน เพื่อให้ต่างจากหลวงพ่อท่านเจ้าคุณภัทรมุนี (เจ้าคุณอิ๋น) ซึ่งได้ชื่อว่า “เจ้าคุณใหญ่” เจ้าคุณเล็กนอกจากเสียงดังแล้ว ยังพูดเพราะไม่ค่อยเป็น ใช้คำว่า มึง กู กับเด็กๆ เสมอ แต่ก็ประหลาดมักเรียกตัวเองกับผมว่า “พ่อ” เรียกผมว่า “ลูก” ทุกคำ แตกต่างจากที่พูดกับเด็กอื่นๆ

จนกระทั่งเณรน้อยที่มาบวชตอนปิดเทอมรูปหนึ่งตั้งขอสังเกตว่า “เจ้าคุณใหญ่พูดกับเณรว่า ผมอย่างนั้นผมอย่างนี้ แต่เจ้าคุณเล็กกลับพูดว่า กูมึง เว้ย” (เป็นซะอย่างนั้น!)

เมื่อผมมาอยู่ใหม่ๆ หลวงพ่อเจ้าคุณ มีสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่พระกิตติสารโศภน เป็นชาวบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา บวชแล้วตามพระครูธรรมกิจจานุรักษ์ พระที่เป็นญาติของท่านมาอยู่วัดทองนพคุณ เมื่อบวชพระเศรษฐินีตระกูลลพานุกรมเป็นโยมบวชให้ คุณนายโยมบวชมาเยี่ยมเป็นครั้งคราว สังเกตเห็นท่านตื่นเต้นเตรียมต้อนรับอย่างดี รู้สึกว่าหลวงพ่อท่านตระหนักในบุญคุณที่โยมอุปการะท่านมีต่อตัวท่านอย่างดียิ่ง เป็นเครื่องแสดงออกถึงกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณตามหลักพระพุทธศาสนา

คุณนายเองท่านไม่รู้ดอกว่าพระที่ท่านอุปการะบวชให้นั้นได้สมณศักดิ์สูงขึ้นตามลำดับอย่างไร ยังคงเรียกว่า “ท่านมหา” ตลอดมา

ในช่วงท้ายแห่งชีวิตโยมอุปการะของท่าน หลวงพ่อได้สร้างกุฏิอุทิศแก่โยมของท่าน จารึกนามโยมอุปการะเป็นที่ระลึกด้วย

คุณธรรมเรื่องความกตัญญูกตเวทีตาธรรมนี้ นับว่าเด่นชัดมากในหลวงพ่อเจ้าคุณ ใครที่มีบุญคุณต่อท่าน ท่านจะแสดงออกเป็นแบบอย่างให้ลูกศิษย์ และผู้ใกล้ชิดเอาเป็นเยี่ยงอย่างการดำเนินชีวิต

กับท่านพระครูธรรมกิจจานุรักษ์ ผู้มีบุญคุณต่อท่าน ท่านก็เคารพนอบน้อมมาก ทุกครั้งที่ท่านพระครูมาวัดทอง หลวงพ่อจะต้อนรับอย่างดี แต่ในฐานะศิษย์ก้นกุฏิอย่างผม ก็เห็นจุดยืนระหว่างกตัญญูกตเวทีกับหลักการของหลวงพ่อชัดเจน

รูปภาพ

รูปภาพ

ครั้งหนึ่งท่านพระครูมาขอร้องให้รับพระมาอยู่ด้วย บังเอิญช่วงนั้นหลวงพ่อได้ออก “คณะนิยม” (กฎของผู้มาอยู่)ใหม่ ใครที่สวดปาติโมกข์ไม่ได้ ไม่รับ ถ้าจะรับมาอยู่ก็รับเพียงเป็น อาคันตุกะเท่านั้น จะอยู่ถาวรไม่ได้ พระที่ท่านพระครูนำมาฝากนั้นมีคุณสมบัติไม่ครบตาม “คณะนิยม” ที่ออกใหม่ ท่านจึงไม่รับให้อยู่ ทำให้ท่านพระครูธรรมกิจฯไม่พอใจเป็นอย่างยิ่ง คล้ายกับจะตำหนิว่าไม่รู้จักบุญคุณ!

เป็นจุดแยกระหว่างบุญคุณกับหลักการ ที่น่าศึกษาอย่างยิ่ง

วันหนึ่งขณะที่เราคุยกันอยู่ที่ชานกุฏิ มีอาแปะคนหนึ่งเดินเข้ามา เราถามว่ามาหาใคร อาแปะชี้มือไปที่ห้องหลวงพ่อว่า “เขาอยู่ไหม” เราถามว่าเขาไหน แปะบอกว่า “คุงกิง” พวกเราคนหนึ่งพูดว่า ไม่มีคนชื่อนี้ อาแปะจะไปไหนก็ไป

อาแปะบอกว่า “อั๊วะไม่ไป อั๊วจะมาหาคุงกิง” ขณะที่พวกเราคนหนึ่งดุเสียงดังว่า “เอ๊ะ พูดไม่รู้เรื่องเรอะ นี่มันกุฏิพระนะ”

หลวงพ่อเจ้าคุณได้ยินเสียงถกเถียงกัน จึงเปิดประตูออกมา อาแปะร้องว่า “นั่งไง คุงกิง” แล้วก็รีบเข้าไปหา ส่งภาษาล้งเล้งๆ ฟังไม่รู้เรื่อง แล้วทั้งสองก็ปิดประตูคุยกันอย่างมีความสุข

พวกเราคนหนึ่งพูดว่า “อ้อ เขาถามว่า เจ้าคุณกีอยู่ไหม ไอ้เรารึฟังเป็น คุงกิงๆ นึกเป็นคุนหมิง ใครมันจะรู้เรื่อง ฮะฮะ”

หลวงพ่อเจ้าคุณท่านมีญาติพี่น้องอยู่ที่ปากน้ำโพธิ์ นครสวรรค์ นานๆ พี่ชายท่านจะลงมาเยี่ยมที ท่านก็เมตตากรุณาพี่ชายของท่านมาก ผมยังมีโอกาสติดตามท่านไปเยี่ยมพี่ชายท่านที่ปากน้ำโพธิ์ด้วย

บุคลิกอีกประการหนึ่งคือความเป็นคนทำอะไรทำจริง ไม่ถึงที่สุดไม่เลิก สมัยยังสอนบาลีชั้นสูงแก่พระนักเรียนที่มาเรียนจากต่างวัดนั้น หลวงพ่องดกิจวัตรอย่างอื่นหมด สอนและตรวจการบ้านนักเรียนอย่างเดียว ถึงขนาดย้ายมาจำวัด (นอน) ที่ห้องหน้ามุขโรงเรียนพระปริยัติธรรมเลยทีเดียว

ผมจำไม่ได้ว่าปีนั้นผมจบเปรียญ ๙ ประโยคหรือยัง แต่จำได้ว่าได้มีโอกาสช่วยงานตรวจการบ้านพระนักเรียนบ้างเป็นครั้งคราว วันนั้นเราสองคนพ่อลูก นั่งอยู่ในห้อง หลวงพ่อนั่งตรวจการบ้านพระนักเรียนอยู่ อยู่ๆ ก็ร้องว่า “ทำไมตาพ่อมองไม่เห็น”

ผมมัวอ่านหนังสือพิมพ์อยู่พูดติดตลกว่า “แก่แล้ว ตาก็ฝ้าฟางเป็นธรรมดา” หลวงพ่อร้องเสียงดังกว่าเดิมว่า “ไม่ใช่นา มันไม่เห็นจริงๆ”

ผมละจากหน้าหนังสือพิมพ์ เอากระดาษหนังสือพิมพ์แกว่งไปมาต่อหน้าท่าน พลางถามว่า เห็นไหมหลวงพ่อ ก็ได้รับคำตอบว่า “ไม่เห็น”

เท่านั้นแหละครับผมกระโดดผึงออกจากห้อง ไปโทรศัพท์ถึงหมอ นำท่านไปตรวจโรงพยาบาล ความทราบถึงสมเด็จพระสังฆราชวัดเบญจมบพิตรฯ พระองค์รับสั่งให้หมอประจำพระองค์คือ นายแพทย์สำราญ วังสะพ่าห์ มาตรวจรักษา จนนัยน์ตาท่านกลับคืนเป็นปกติ

รูปภาพ

รูปภาพ

แต่ก็ใส่แว่นตาดำ เป็น “ผู้ใหญ่ลี” ตลอดตั้งแต่นั้นมา

เมื่อสายตาไม่ดี หลวงพ่อก็งดสอนบาลีต่อมา การเรียนการสอนพระปริยัติธรรมก็ไม่มีผู้สืบทอด ถึงจะมีพวกลูกศิษย์ลูกหารับช่วงต่อมา บารมีไม่ถึง ความรู้ความสามารถจำกัด อย่างเก่งก็รักษา “ธรรมเนียม” การเล่าเรียนไว้ได้บ้างก็บุญโขแล้ว

เมื่อละจากงานสอน หลวงพ่อก็ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะจังหวัดธนบุรี (สมัยก่อนกรุงเทพฯ แบ่งเป็น กรุงเทพฯ และธนบุรี) เพราะความเป็นคนทำอะไรทำจริง ท่านก็ปรับปรุงการปกครองเป็นการใหญ่ เริ่มด้วยแอบเดินทางไปดูความเป็นอยู่เป็นไปของวัดในปกครอง รู้เห็นสิ่งไม่ดีไม่งามอะไร ก็จดๆ ไว้ วันดีคืนดีก็เรียกประชุมเจ้าคณะทั้งหลาย

เปิดประชุมก็แจงเป็นวัดๆ “วันที่เท่านั้น เดือนเท่านั้น ผมไปวัดนั้นๆ พบสิ่งที่ไม่ดีไม่งามอย่างนั้นอย่างนี้ ให้แก้ไขซะ หาไม่จะโดนถอด” พระสังฆาธิการได้ฟังก็หัวร่อเอิ้กอ้ากแทบฟันหลุด เพราะไม่เคยเห็นใครถูถอด

ประชุมครั้งหลังๆ สั่งปลดสมภารวัดที่ไม่แก้ไขกราวรูด เล่นเอาสะเทือนไปทั้งสังฆมณฑล จนสมเด็จพระราชาคณะรูปหนึ่งออกปากว่า “เจ้าคุณกีเอาจริงแฮะ” แต่ท่านก็เป็นเจ้าคณะจังหวัดธนบุรีไม่นาน

สิ่งที่หลวงพ่อวางรากฐานไว้หลายเรื่องหลายราว เป็นที่กล่าวขวัญชมเชยจนบัดนี้ เช่นการแยกบัญชีส่วนตัวกับบัญชีเงินวัด การให้การอบรมเรื่องอนุรักษ์ศิลปะของวัด โดยขอร้องให้ผู้มีความรู้ในด้านการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมมาบรรยาย

ด้านการสวดมนต์ก็เน้นการสวดให้ถูกต้องตามอักขระฐานกรณ์ เพื่อเจริญศรัทธาของผู้ฟัง มีเรื่องเดียวที่ปฏิรูปไม่สำเร็จคือการกราบพระของพระภิกษุสามเณร เวลาลงโบสถ์ทำวัตรสวดมนต์ พระเณรต่างองค์ต่างกราบไม่พร้อมกัน ดูไม่งามเอาเสียเลย

สิ้นหลวงพ่อเจ้าคุณแล้วเจ้าคุณเสรี ก็ได้เป็นเจ้าอาวาส ท่านได้สืบสานงานของหลวงพ่อหลายอย่าง โดยเฉพาะด้านความเป็นระเบียบเรียบร้อยของภูมิทัศน์ มีการสร้างและซ่อมแซมกุฏิที่อยู่ของพระเณรเป็นระบบระเบียบงดงาม ทำให้วัดเป็นวัดที่น่าทัศนาอย่างแท้จริง

แต่ก็น่าเสียดายว่าท่านเจ้าคุณเสรี (สมณศักดิ์ท้ายสุด พระเทพปริยัติสุธี) ครองวัดอยู่ไม่กี่ปีก็ถึงแก่มรณภาพ ในงานศพท่านเจ้าคุณเสรี มีผู้ไปขอให้หลวงพ่อคูณ พระเกจิอาจารย์ที่มีภูมิลำเนาเดียวกับหลวงพ่อเสรี เขียนคำไว้อาลัยเพื่อตีพิมพ์

หลวงพ่อเขียน (สำเนียงโคราช) ว่า “กูก็ไม่รู่ว่าจะเขียนว่าอย่างไร มึงก็เป็นพระผู้ใหญ่ รู่อยู่แล่วว่าอะไรดี อะไรไม่ดี ความดีมึงก็ทำมามากแล่ว กูขอพูดแค่นี่แหละ”

ครับ เป็นคติธรรมที่พึงสำเหนียกเป็นอย่างยิ่ง ใครทำอย่างใดก็ได้อย่างนั้น

(มีต่อ)

เจ้าของ:  สาวิกาน้อย [ 28 ก.ย. 2009, 09:06 ]
หัวข้อกระทู้:  พระธรรมเจดีย์ (กี มารชิโน) วัดทองนพคุณ

รูปภาพ

นิลพัทธ์ หมาของหลวงพ่อ

นิลพัทธ์ เป็นชื่อหมา ครับ ถึงจะเป็นหมาที่ผมเลี้ยงมาก็จริง แต่ภายหลังวาสนาของนิลพัทธ์มันได้กลายเป็นหมาตัวโปรดของหลวงพ่อไปแล้ว จึงต้องยกให้ท่านไปเสียเลย ตัวเองก็เอาตัวอื่นมาเลี้ยงแทน ความจริงในช่วงแรกๆ ผมไม่ได้เลี้ยงหมาเลี้ยงแมวอะไร แม้ใจจะชอบหมาเป็นทุนเดิม แต่โอกาสไม่อำนวยให้เลี้ยง เมื่อประมาณปี พ.ศ.2504-5 (ประมาณนั้น) โยมที่ตรอกเอส อาร์ คนหนึ่ง ดูเหมือนจะชื่อ สมภพ เป็นโยมอุปัฏฐากของหลวงพี่อีกรูปหนึ่ง นำลูกหมาดำปลอดมาให้ผม ผมเห็นว่าน่ารักดี เป็นหมาพันธุ์ไทยผสมนิดหน่อยกระมัง เพราะขนปุกปุย ตัวใหญ่ ผมก็เลยนำมาเลี้ยงไว้ที่กุฏิ สมัยนั้นอยู่ที่คณะ 7

จำได้ว่าในช่วงพรรษา เพราะพระใหม่มาอยู่ด้วยสองรูป ที่คณะ 7 หลวงพ่อท่านจำวัดที่โรงเรียนพระปริยัติธรรม (โรงเรียนนพคุณวิทยาประสิทธิ์) ก่อนนี้ท่านอยู่ที่คณะ 3 เมื่อสอนหนังสือหนักเข้า ก็ย้ายไปประจำที่โรงเรียนเสียเลย เพื่อสะดวกในการตรวจการบ้านพระนักเรียน วันๆ ก็นั่งตรวจการบ้านพระนักเรียน ซึ่งมีตั้งแต่ประโยค 5 ถึง ประโยค 9 สอนอย่างเดียว งดกิจนิมนต์หมด ไม่ทำอย่างอื่นเลย

ผมบวชพระแล้ว มีอินทรีย์แก่กล้าพอจะช่วยหลวงพ่อตรวจการบ้าน (เปรียญต้นๆ) ได้แล้ว ก็ช่วยหลวงพ่อตรวจ และช่วยเฉลยบ้าง เวลา “ครูใหญ่” เหนื่อย ยิ่งช่วงหลังทางวัดอำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร ขอเรียนทางไปรษณีย์ด้วย ผมยิ่งต้องช่วยหลวงพ่อหนักขึ้น การบ้านพระนักเรียนจากพิจิตร ถูกโอนมาให้ผมตรวจและส่งกลับไปทั้งหมด

จึงถือว่าพระมหาเปรียญ หรือสามเณรเปรียญชั้นสูงๆ ของสำนักนี้ ผมปั้นมากับมือ จะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ในช่วงหลังๆ พระมหาเปรียญสำนักนี้คงรู้เรื่องนี้ดี บางท่านสึกหาลาเพศไปแล้ว มาเจอผม ยังมายกมือไหว้ว่า อาจารย์เป็นครูของผม ผมสอบได้ก็เพราะอาจารย์

ในช่วงที่จำวัดอยู่ที่โรงเรียนพระปริยัติธรรม หลวงพ่อจะลงมาฉันเช้าและเพล ที่คณะ 7 ที่กุฏิตึก “พรตพิทยพยัต” (ได้รับบอกเล่าว่าผู้สร้างกุฏินี้มีประวัติรักโรแมนติคเป็นอย่างยิ่ง อยากจะเล่าแต่ไม่กล้าเล่า) หลวงพ่อ ผม และพระใหม่อีกสองรูป จะฉันร่วมกันทุกวัน ไม่ค่อยขาด เพราะหลวงพ่อไม่ยินดีรับนิมนต์ไปฉันข้างนอก เกรงว่าจะกลับมาสอนไม่ทันบ่ายโมง ซึ่งท่านจะต้องสอนทุกวัน

ลูกหมาน้อยที่ผมแอบเลี้ยงไว้ ผมต้องซ่อนไว้ไม่ให้หลวงพ่อเห็นหรือรู้เป็นอันขาด เพราะหลวงพ่อไม่ชอบหมาเป็นอย่างยิ่ง จะเรียกว่าเกลียดเลยก็ได้ ผมก็ให้มันอยู่ในห้องมีมุ้งลวดกั้นอยู่ พวกเราพระ 3 รูป ก็ออกมานั่งฉันร่วมกับหลวงพ่อ ข้างนอกที่ชานกุฏิ เหตุการณ์ก็เป็นไปด้วยดี วันหนึ่งเจ้านิลพัทธ์ก็สร้างวีรกรรม จนผมและพระใหม่แทบหัวใจวาย มันดุนประตูมุ้งลวดออกมา หลวงพ่อเห็นเท่านั้น ก็จ้องเขม็งมาที่ผมพูดเสียงเข้มว่า

“ใครเอาลูกหมามาเลี้ยงบนกุฏิ”

เงียบ ไม่มีใครตอบ

ขณะที่หลวงพ่อจ้องมาที่ผมจะเอาคำตอบ เจ้าลูกหมาดำของผมมันก็แสนรู้ มันคงรู้ว่าใผเป็นใผ (คำนี้เดิมทีผมเขียน ไผ ตอนนี้เขียนตามพจนานุกรมฉบับมติชนแล้ว แสดงว่าราชบัณฑิตยอมแพ้ ฮา) มันคลานเข้าไปหาหลวงพ่อ เอาคางพาดตักท่าน ร้องอี๊ดๆ ทำประจบ

ผมงี้หัวใจจะลงถึงตาตุ่มอยู่แล้ว เสียงหลวงพ่อเปล่งออกมาอย่างเมตตา พลางยิ้ม

“เออ เจ้านี่ขี้ประจบแฮะ”

เฮ้อ โล่งใจไปที นึกว่าจะได้ฟังเทศน์กัณฑ์ยาวซะแล้ว

เจ้านิลพัทธ์มันก็ยังเอาคางพาดตักหลวงพ่ออยู่อย่างนั้น จนท่านฉันเสร็จ นำสวดอนุโมทนา เสร็จ ลุกขึ้นจะกลับโรงเรียน มันก็เดินตามต้อยๆ ลงกุฏิไปส่งท่าน

ก่อนไปหลวงพ่อถามว่า “เจ้านี่ชื่ออะไร” ผมเรียนท่านว่า “ผมตั้งชื่อ นิลพัทธ์ ครับ” แต่หลวงพ่อก็ไม่เห็นเรียกตามผม เรียกมันว่า “ไอ้ดำ” ต่อมา

เจ้านิลพัทธ์ของผม เลยกลายเป็น ไอ้ดำ ของหลวงพ่อมาแต่บัดนั้น เจ้าของใหม่ซึ่งไม่เคยรักหมา กลับหลงมันอย่างยิ่ง นับว่าเป็นวาสนาของเจ้านิลพัทธ์มัน หลังจากวันนั้นเจ้านิลพัทธ์ก็ได้รับการดูแลอย่างดี โดยที่ผมไม่ต้องเป็นภาระแล้ว มันจะวิ่งตามหลวงพ่อระหว่างโรงเรียนพระปริยัติธรรม และกุฏิคณะ 7 และหอสวดมนต์ เวลาท่านไปทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น

ยิ่งช่วงหลัง ผมไปศึกษาบาลี สันสกฤตที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ สหราชอาณาจักร สามสี่ปี เจ้านิลพัทธ์ก็กลายเป็นสมบัติของหลวงพ่อเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ เมื่อผมกลับมาเยี่ยมบ้าน (ความจริงน่าจะเรียกว่า กลับมาเยี่ยมวัดน่ะ) ช่วง long vacation ซึ่งยาวมากจนกลับมาจำพรรษาได้เลย ทักทายเจ้านิลพัทธ์ มันทำท่าจะจำไม่ได้เอาแน่ะ หลวงพ่อบอกว่า “มันจำลูกไม่ได้หรอก”

“ต้องได้สิ หลวงพ่อ หมานะไม่ใช่คน” (ผมหมายถึงหมามันความจำดีมาก ไม่เหมือนคนบางคน พอไม่มีประโยชน์แก่ตัวแล้ว ทำเป็นไม่รู้จัก ก็มีไม่น้อย)

แล้วก็จริงอย่างผมว่า มันงงอยู่พักหนึ่ง แล้วก็กระดิกหางวิ่งเข้าหาผม

พูดตามตรงไปอยู่อังกฤษใหม่ๆ อยู่ในตรีนิตี คอลเลจ ทางมหาวิทยาลัยเขาจัดให้อยู่ตึกโบราณชื่อออกเสียงยาก (ผมไม่ยอมบอกใครเป็นครั้งที่สอง เพราะออกเสียงไม่ถูก) คือ Whewell Court เวลาปิดเทอม นักศึกษากลับบ้านกันหมด ผมอยู่คนเดียว ทุกเช้าเย็นจะได้ยินเสียงระฆังจากโบสถ์ใกล้ๆ เหง่งหง่างๆ วังเวงยิ่งนัก

(เจอเพื่อนเก่า ชฎา กฤษณามระ ปัจจุบันคือคุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม) เธอบอกว่า เขียนเรื่องวัดทองสนุกดี จำได้ไหมเจอกันที่เคมบริดจ์ ดิฉันเอาอะไรไปถวาย ผมไม่ตอบเพราะจำไม่ได้ แต่ตั้งใจจะถามว่า ไอ้ Whewell Court นั้นออกเสียงยังไง ก็ลืม)

ด้วยความคิดถึงลูกหมาคู่ใจ จึงรำพึงรำพันบทกวีจากใจว่า

ดำดีสีเหมือนหมึก นึกรักจริงยิ่งลูกหลาน
เลี้ยงเจ้าแต่เยาว์กาล เรียกขานชื่อยินนิลพัทธ์
ปุกปุยดังสำลี รูปร่างอ้วนพีเห็นถนัดชัด
แสนรู้สารพัด หลวงพ่อที่วัดเรียกอ้ายดำ

ประหลาดกว่าหมาทั้งหลาย ได้สมญาว่าเป็ดน้ำ
ชอบกระโดดลงน้ำลำ พองเล่นเช่นเป็ดลอย
ลงกุฏิไปสรงน้ำ เช้าค่ำวิ่งตามต้อยต้อย
สาดน้ำซู่ซ่าหมาน้อย เต้นหยอยชอบใจได้น้ำ

มีเจ้าเป็นเพื่อสอง ให้นอนในห้องทุกคืนค่ำ
ภายนอกคือหมาดำ แต่ใจเจ้าเลิศล้ำกว่าบางคน
จากเจ้ามาอังกฤษ คิดคราใดใจหมองหม่น
หวนภาพเจ้าดิ้นรน จะตามขึ้นรถยนต์ไปดอนเมือง

ไร้ปากจะพูดขาน แต่สัญชาตญาณรู้เรื่อง
กตัญญูเจ้าอนันต์เนือง เนื่องฝังภวังค์ลึกซึ้ง
เคยเขียนบทกลอนไว้ บันทึกจากใจครั้งหนึ่ง
บรรยายภาพรำพึง อนุสรณ์ตราตรึงมิเลือน

คิดถึงเจ้าคราวอยู่เป็นคู่สอง นอนในห้องกินข้าวเจ้าเป็นเพื่อน
มีเพียงเจ้าคอยเฝ้าเตือน เก้าเดือนเหมือนเก้าปีที่จากมา
จากนั้นจนบัดนี้ จะครบสี่ปีเมษาหน้า
จะรีบเรียนเอาปริญญา เพื่อกลับไปหาเจ้านิลเอย


เจ้านิลพัทธ์เป็นตัวอย่างอันดี ที่เป็นสาเหตุให้คนไม่รักหมาเช่นหลวงพ่อ หันมารักและเอาใจใส่หมายังกับพ่อแม่ดูแลลูก เมื่อนิลพัทธ์ตาย หลวงพ่อก็ได้นิมนต์พระมาบังสุกุลยังกับทำให้ลูกเต้า นับว่าเป็นวาสนาของนิลพัทธ์จริงๆ

วันที่หลวงพ่อมรณภาพ ผมขึ้นไปกราบศพท่าน ขณะนั่งทำใจอยู่พักหนึ่ง ก็มีสุภาพบุรุษท่านหนึ่ง มารู้ทีหลังว่าเป็นบิดาของสมภพ เด็กวัดรุ่นน้อง มายกมือไหว้ขออโหสิผม “คุณเสฐียรพงษ์ ผมเข้าใจผิดมานาน คนพูดกันมากว่าคุณเป็นคนอกตัญญู บังอาจเตะหมาหลวงพ่อทั้งที่รู้ว่าหลวงพ่อรักหมาตัวนั้นมาก”

ผมสะอึก ไม่คิดว่าจะมีเรื่องเช่นนี้ ถามว่า “เมื่อเห็นว่าผมอกตัญญู แล้วขออโหสิผมทำไม”

“ผมเพิ่งรู้ว่าหมาดำนั้น ที่จริงคือหมาของคุณ ผมขอโทษที่เข้าใจว่าหมาหลวงพ่อโดนเตะ”

“คุณเข้าใจไม่ผิดดอก เจ้านิลพัทธ์โดนเตะจริงๆ แต่คนเตะไม่ใช่ผม” ผมบอก

“ใคร ?”

ผมยังไม่ทันตอบ ทันใดนั้นก็มีเสียงว่า “เจ้าคุณใหม่มาแล้วๆ” บทสนทนาหน้าศพก็เป็นอันยุติ

ร่างผู้ทรงศีลผอมบางห่มจีวรสีทองเดินขึ้นบันไดมา สลับกับภาพเจ้านิลพัทธ์ผุดซ้อนเข้ามาในภวังค์ของผมอย่างช่วยไม่ได้ !

(มีต่อ)

เจ้าของ:  สาวิกาน้อย [ 28 ก.ย. 2009, 09:07 ]
หัวข้อกระทู้:  พระธรรมเจดีย์ (กี มารชิโน) วัดทองนพคุณ

รูปภาพ
พระธรรมเจดีย์ (กี มารชิโน)


หลวงพ่อไม่ชอบพระหลวงตา

ตอนที่ 4 เล่าเรื่องหมาชื่อ นิลพัทธ์ เจ้าหน้าที่ sub-matichon ติงว่าเรื่องทำนองนี้ดูเหมือนเคยอ่านแล้ว ก็ใช่สิครับ เรื่องจริงที่เกิดขึ้น เคยเขียนเป็นกวีนิพนธ์ใน “ฤๅสมัยนี้โลกมันเอียง” เมื่อ พ.ศ.2514 คนละ version ครับ

เขียนถึงพระเถระที่เด่นดังในทางด้านการสอนพระปริยัติธรรม และเป็นนักปกครองที่เด็ดขาด มีปฏิปทาที่ศิษย์รุ่นพี่ ใช้คำว่า “พระผู้ใหญ่ที่ไม่กะล่อน” คนทั่วไปอาจวาดภาพว่าเป็นพระที่เฮี้ยบ ดุดัน แต่อีกมุมหนึ่งจะเห็นความงาม เมตตารักสัตว์เช่นนิลพัทธ์ตัวนี้ ไม่แตกต่างจากรักลูกหลาน แสดงให้เห็นทั้งปัญญาคุณ กรุณาคุณ และวิสุทธิคุณ ตามรอยบาทพระพุทธองค์

พูดตามตรง ประวัติพระธรรมเจดีย์จะขาดตอน “นิลพัทธ์” ไปไม่ได้ เพราะเจ้าหมาตัวนี้ได้ทำให้เมตตาที่เดิมมีเฉพาะต่อคนทั่วไป ได้แผ่ขยายไปยังสัตว์ด้วยอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้น (ดุจเดียวกับประวัติของหลวงพ่อชา จะขาดตอนที่ถลกสบงเดินจงกรมกลางป่าไม่ได้ เพราะนั่นแสดงถึงวิธีเอาชนะราคกิเลสได้อย่างเฉียบขาดทีเดียว !)

หลวงพ่อของผม ไม่ชอบพระหลวงตาเอามากๆ และก็ไม่มีทางเปลี่ยนใจเป็นอันขาด ผมจำได้ว่า เมื่อครั้งคุณพยุง ตัญญะแสนสุข ไวยาวัจกร ปรารภว่าอยากบวช หลวงพ่อพูดขึ้นทันทีว่า “ที่นี่ไม่บวชหลวงตา อยากบวชไปบวชวัดอื่น”

ไม่อนุญาตให้บวช อ้างพุทธวจนะจากพระไตรปิฎกมายาวเหยียด เช่น
1. พระหลวงตาว่าง่าย หายาก
2. พระหลวงตารู้พระธรรมวินัยดี หายาก
3. พระหลวงตาสันโดษ มักน้อยในปัจจัยสี่ หายาก
4. พระหลวงตาสำรวมในพระปาติโมกข์ หายาก
5. พระหลวงตาไม่คลุกคลีด้วยหมู่ หายาก
6. พระหลวงตาไม่สะสม หายาก


ความจริงโทษของพระบวชเมื่อแก่มีหลายหมวดมาก พระพุทธวจนะตรัสไว้ หลวงพ่อขยายให้คุณพยุงฟังเป็นฉากๆ ผมไม่ได้บวชเมื่อแก่ จึงไม่สนใจจำ (ฮิฮิ)

คุณพยุงมาปรารภกับผมว่า อยากบวช แต่หลวงพ่อไม่ให้บวช ท่านหาว่าผมเข้าข่าย “หลวงตา” (เพราะบวชตอนแก่) “แต่โทษสมบัติของพระหลวงตาที่หลวงพ่อ ‘โคว้ต’ มานั้น รับรองผมไม่มีแน่” คุณพยุงแย้ง

มีหรือไม่มี หลวงพ่อคงรู้อยู่แล้ว แต่เพราะ “ความฝังใจ” ที่ยากจะลืมเลือน หลวงพ่อจึงเหมาเอาว่า ผู้บวชเมื่อแก่ทุกคนคงอีหรอบเดียวกับที่ท่านประสบมา แทบเอาชีวิตไม่รอด

เรื่องมันมีอย่างนี้ครับ หลังจากท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะจังหวัดธนบุรีใหม่ๆ (สมัยนั้นกรุงเทพมหานคร แบ่งเป็นกรุงเทพฯ กับธนบุรี) ด้วยความเป็นคนทำอะไรทำจริง ถือระเบียบแบบแผนเป๊ะๆ จึงสร้างความ “สะเทือน” ให้เกิดขึ้นในวงการสงฆ์เป็นการใหญ่ ใหญ่ยิ่งกว่าข่าวปฏิวัติของท่านนายกฯ อีกแน่ะ

เริ่มด้วยแอบไปตรวจดูวัดต่างๆ พบอะไรไม่เหมาะไม่ควรก็เตือน เตือนถึงสามครั้งแล้วยังไม่ปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ก็ถอดกันระนาว เชือดไก่ให้ลิงดูตัวหนึ่ง ลิงตัวอื่นๆ ก็เลยเกรง “เฮ้ย เจ้าคณะจังหวัดรูปนี้เอาจริงเว้ย” อะไรทำนองนั้น

ปีนั้น (ปีไหนก็จำไม่ถนัด) วัดหิรัญรุจีวรวิหาร ที่เด็กอ่านภาษาไทยไม่แตกอ่านว่า “หิรัญรูจีวร วิหาร” (ฮิฮิ) ว่างเจ้าอาวาส ท่านรักษาการเจ้าอาวาส

วัดรูจีวร เอ๊ย วัดหิรัญรูจีวรวิหาร ซึ่งชาวบ้านเรียกทั่วไปว่า “วัดน้อย”

หลวงพ่อก็ไปปรับปรุงระเบียบแบบแผนภายในวัดเป็นการใหญ่ แทบจะเรียกว่า “ยกเครื่อง” ทั้งหมดเลย บ่นว่า “สมภารก่อนๆ อยู่กันยังไง ปล่อยให้วัดรกรุงรัง ไม่เป็นระเบียบเลย”

ปรับเปลี่ยนอะไรก็ไม่กระเทือนมากนัก พระเณรก็ยินดีทำตาม เพราะทำให้วัดเป็นระเบียบ สะอาดสอ้านขึ้น สมกับเป็น “อาราม” (ที่รื่นรมย์) แต่พอมาแตะหลวงตาเท่านั้นเป็นเรื่องเลยครับ ท่านสารวัตร ปีนั้นจะมีกฐินพระราชทานพอดี หลวงพ่อก็ประชุมพระเณรในวัด ท่านบอกว่า “โบสถ์มันแคบ จุพระได้ไม่หมด ปีนี้เอาเฉพาะพระเปรียญมานั่งรับกฐินก็แล้วกัน พระอื่นๆ ก็ค่อยมาลงอนุโมทนาภายหลัง”

ความหมายของหลวงพ่อก็คือ เวลาผู้แทนพระมหากษัตริย์มาถวายผ้ากฐินพระราชทาน ก็ให้พระทรงสมณศักดิ์ และพระเปรียญ (ซึ่งมีหลายรูป) เท่านั้นมารับผ้าพระกฐิน เมื่อทำพิธีถวายเสร็จแล้ว ผู้แทนพระองค์กลับไปแล้ว พระทั้งหมดค่อยลงมาอนุโมทนาพร้อมกัน

ภาพภายในโบสถ์ก็จะดีดีขึ้น ไม่แออัดยัดเยียดเหมือนที่แล้วๆ มา

เรื่องก็น่าจะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย แต่วันหลังหลวงพ่อมาประชุมก็เกิดเรื่องระทึกใจยิ่ง

สามเณรน้อยรูปหนึ่ง ด้วยความเป็นคนปากเปราะ (คล้ายมีแววเป็นนักการเมือง !) พูดกับหลวงตารูปหนึ่งว่า “หลวงตา ปีนี้ สมภารใหม่ห้ามหลวงตารับกฐิน”

วัดนั้นมีหลวงตาครึ่งค่อนวัดเชียวนะครับ พระหลวงตาทั้งหมดได้ยินเข้า ก็ซักเณรว่า “จริงเหรอๆ”

“จริง ผมได้ยินหลวงพี่มนตรีที่เข้าประชุมด้วย บอกว่าปีนี้หลวงตา หรือพระที่มิได้เปรียญไม่ต้องลงรับกฐิน”

“เฮ่ย ทำยังงี้ได้ไง (วะ) ทุกๆ ปีก็ลงทุกรูปนี่” หลวงตารูปหนึ่งเอ่ย

“ได้ไม่ได้ ก็เรียบร้อยโรงเรียนหลวงตาแล้วละครับ ข่าวนี้เป็นข่างกรองแน่ ไม่ใช่ใบปลิวที่ใครไม่รู้ยื่นให้เหมือนข่าวปฏิวัติ”

“ยังงี้ก็แสดงว่า หลวงตาไม่ได้ปัจจัยเหมือนทุกปี” เณรน้อยปากเปราะหยอด

เท่านั้นแหละครับ ขบวนการหลวงตาก็ก่อหวอด เรื่องอื่นนะพออภัยให้ แต่เรื่องเงินเรื่องทอง อยู่ดีๆ จะมาตัดไม่ให้รับเหมือนที่เคยมา มันได้ซะทีไหน

“สมภารใหม่มันแน่มาจากไหน มายกเลิกไม่ให้พระหลวงตารับปัจจัยไทยธรรม เดี๋ยวเห็นดีกัน” หนึ่งในนั้นกล่าวเชิงอาฆาต

ถึงวันประชุม หลวงพ่อ หลวงพี่เสรี (พระเทพปริยัติสุธี ในเวลาต่อมา) และผม ก็ออกจากวัดทองนพคุณ มายังวัดน้อย เดินเข้าห้องประชุมซึ่งมีพระมหาเปรียญทั้งนั้นรออยู่แล้ว จู่ๆ หลวงตารูปนั้นก็ปรี่เข้ามาหาหลวงพ่อ ยกเก้าอี้ขึ้นจะทุ่มท่าน กล่าวเสียงดังว่า “สมภาร ก็สมภารเถอะวะ มีอย่างที่ไหนมาห้ามไม่ให้พระหลวงตารับกฐิน”

สิงห์วัดทองแอ๋ที่ว่าแน่ๆ ยืนหน้าซีดเลย ขณะที่พระทั้งนั้นตกตะลึงอยู่ หลวงพี่มหามนตรีไหวทัน รีบเข้าขวาง ไม่วายถูกทุ่มด้วยเก้าอี้แทนหลวงพ่อ บังเอิญว่าท่านมหามนตรีร่างใหญ่ จึงกันหลวงตาผู้กำลังโกรธเป็นฟืนเป็นไฟออกไปได้ เหตุการณ์ที่สภา แค่ด่า แล้วก็เอาตีนถีบเบาๆ แต่เหตุการณ์ที่วัดน้อยถึงขนาดใช้เครื่องทุ่นแรงเชียวครับ หลังเกิดเหตุวันนั้น หลวงพ่อผมฝังใจว่า พระหลวงตานี่ไม่ไหว พูดยาก สอนยาก ท่านจึงไม่บวชหลวงตาเลยตลอดชีวิต จำไม่ได้ว่า คุณพยุงได้รับการยกเว้นให้บวชเป็นกรณีพิเศษหรือเปล่า

(มีต่อ)

เจ้าของ:  สาวิกาน้อย [ 28 ก.ย. 2009, 09:13 ]
หัวข้อกระทู้:  พระธรรมเจดีย์ (กี มารชิโน) วัดทองนพคุณ

รูปภาพ

หลวงพ่อแพ้เล่ห์อลัชชี

ขอใช้คำแรงๆ อย่างนี้ก็แล้วกัน สมัยเรียนอยู่เมืองนอก หลวงพ่อจะมีลิขิตถึงผมประจำ เล่าความเป็นไปในวงการพระศาสนา ทั้งภายในวัดของเราและในวงการพระศาสนาทั่วๆ ไป วันหนึ่งหลวงพ่อบอกว่า พอกำลังเขียนเรื่อง “สนิมศาสนา” ผมได้ฟังก็เดาออกว่าหมายถึงอะไร แต่อยากอ่านถ้อยคำเต็มๆ จึงเขียนตอบมาว่า หลวงพ่อเขียนเสร็จส่งมาให้อ่านหน่อยสิ

แต่ก็ไม่มีโอกาสได้อ่าน ได้อ่านก็เมื่อกลับมาแล้ว จริงดังว่า ท่านเล่าประวัติพระศาสนา ตอนพระเทวทัต และพระวัชชีบุตรก่อความมัวหมองแก่พระพุทธศาสนา และตวัดมาที่เหตุการณ์ในเมืองไทย เดี๋ยวนี้เจ้ากูมากมายสร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้เจ้าคณะผู้ปกครอง หนักหนาสาหัสและก้าวหน้ากว่าพระเทวทัต และพระวัชชีบุตรเป็นไหนๆ

ยิ่งพวกที่เรี่ยไรรุ่มร่าม พบได้ทั่วไปดังเชื้อร้ายที่ก่อโรคแก่พระศาสนา ดังเอาน้ำส้มราดลงในบาตร ไม่ช้าไม่นานก็ก่อสนิมให้เกิดขึ้นในบาตร ทิ้งไว้นานบาตรก็อาจทะลุ “พระที่ประพฤติรุ่มร่ามพวกนี้ สืบดูแล้วส่วนมากเป็นพระหลวงตา...” (ไหมล่ะ มาลงที่หลวงตาจนได้ ฮิฮิ)

คนที่ไม่ประทับใจกับพระบวชเมื่อแก่คนหนึ่งเท่าที่ทราบคือ ศาสตราจารย์ ดร. เดือน คำดี เพื่อนผม ไม่รู้ว่าโดนหลวงตาทำให้เจ็บใจเหมือนหลวงพ่อผมหรืออย่างไร ดร.เดือนพูดว่า “สังเกตไหม พระที่บวชมาไม่ทันไรแล้วโตทันที ตั้งตนเป็นเจ้าสำนัก (ไม่ผ่านความเป็นพระ “นวกะ” เลย) ส่วนมากคือพวกบวชเมื่อแก่ เติบกล้ามาจากทางโลก มักจะมีหิริโอตตัปปะน้อย ไม่เหมือนผู้บวชตั้งแต่เด็ก”

น่าจะให้เป็นศิษย์พระธรรมเจดีย์ของผมจริงแฮะ

บุคคลที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ ถึงแม้จะมรณภาพไปแล้ว ก็ขอกล่าวถึงโดยนามแฝง เพื่อให้เกียรติแก่ผู้วายชนม์ มิได้ต้องการประจาน แต่ต้องการจะชี้ให้เห็นว่า ในความเด็ดขาดเป็นไม้บรรทัดของหลวงพ่อ ก็มีความหละหลวมแพ้เล่ห์ของอลัชชีจนได้

มีอยู่สองเรื่องที่หลวงพ่อผมถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรงสำหรับพระสงฆ์คือ เงินกับมาตุคาม (ภาษาไพเราะ หมายถึง สตรี ครับ) ท่านว่าสองอย่างนี้ทำให้พระเสียพระมานักต่อนักแล้ว ท่านจึงเข้มงวดความประพฤติของพระในปกครองอย่างยิ่ง ไม่ยอมให้มีการอยู่สองต่อสองเป็นอันขาด ถ้าพบพระรูปใดไม่ค่อยระวัง จะเรียกมาเตือน บางทีเพียงไม่เหมาะสม ยังไม่ทำผิด ก็ไล่ออกจากวัดแล้ว

เรื่องเงินท่านถือตามพุทธวจนะว่า “อสรพิษ” แว้งกัดได้ เพราะฉะนั้น เมื่อขึ้นเป็นเจ้าคณะจังหวัด จึงกวดขันเรื่องนี้ สั่งให้พระวัดต่างๆ แยกบัญชีเงินวัดกับเงินส่วนตัว อย่าให้ปนกัน มีการขอแรงฆราวาสที่มีความรู้ทางทำบัญชีมาถวายความรู้แก่พระสังฆาธิการ

ข้อความนี้เป็นจริงตั้งแต่สมัย “ท่านใหญ่” (เจ้าคุณพระเทพวิมล) แล้ว ท่านใหญ่นั้นครั้งหนึ่งมีโยมคนหนึ่งสงสัยว่า เอาเงินที่โยมถวายซ่อมโบสถ์ไปใช้ส่วนตัวหรือเปล่า ท่านโกรธมาก ถึงกับผรุสวาทว่า “แม่มัน มันไม่รู้หรือพระมีราคาแค่บาทเดียว” (สิกขาบทว่า ห้ามพระลักขโมยเงินทองราคาห้ามาสกขึ้นไป ห้ามาสกมีค่า 1 บาท ความจริง “บาท” เป็นมาตราทองสมัยโบราณ หนักเท่าข้าวเปลือก 20 เมล็ด คำนวณแล้ว “บาท” หนึ่ง ตกประมาณ 600-700 บาท แต่หลวงพ่อถือเคร่งกว่า ถือว่าบาทหนึ่งก็คือเงินราคาสี่สลึงเท่านั้นเอง)

วันหนึ่งมีสตรีนางหนึ่งมาร้องเรียนว่า พระแฟนกันทำร้ายร่างกาย หลวงพ่อถึงกับตาค้าง “อะไรนะ พระแฟน เธอเป็นแฟนพระได้อย่างไร พูดดีๆ นะ นี่มันหมิ่นประมาทนะ”

“จริง” หลวงพ่อ แล้วก็เล่าให้ฟังโดยละเอียด ว่ามีความรักกับพระผู้ใหญ่รูปนี้ได้อย่างไร

อุปถัมภ์เรื่องเงินเรื่องทองกันมาอย่างไร แล้วทำไมจึงถูกแฟนในผ้าเหลืองซ้อม ท่านย้ำแล้วย้ำอีกว่า “เรื่องจริงหรือเปล่า ถ้าจริงจะจัดการให้ทันที”

สตรีนางนั้นก็ยืนยันว่า เรื่องจริง ไม่จริงไม่กล้าเปิดเผยดอก เสร็จแล้วก็ยื่นหนังสือเป็นหลักฐาน หลวงพ่อก็รับปากว่าจะจัดการให้ภายในสามวัน แล้วให้มายืนยันอีกครั้ง เมื่อเรียกตัวมาสอบสวน แล้วสตรีผู้นั้นก็ลากลับไป

หลวงพ่อสั่งให้ผมตามหลวงพี่สมพร จากวัดพิชัยญาติมาสอบถามข้อมูล ว่าพระภิกษุที่ถูกกล่าวหานี้มีพฤติกรรมอย่างนั้นหรือไม่ ต้องหาข้อเท็จจริงก่อนจะตัดสินอะไรลงไป หลวงพี่สมพรกราบเรียนท่านว่า “เข้าใจว่าจริง เขาลือกันมานานแล้ว ‘เสี่ยเว’ นี้มีความประพฤติทำนองนี้”

“เสี่ยเว” หมายถึงเสี่ยแห่งวัดเว... เป็นนามของเจ้ากูรูปนี้ (ชื่อวัดไม่ต้องลงเต็มก็แล้วกัน)

เมื่อได้ข้อมูลอย่างนี้ ท่านจึงทำหนังสือถึง “เสี่ยเว” ให้มาแก้ข้อกล่าวหา กำหนดวันเวลาให้มาให้การเสร็จสรรพ

แต่ไม่ทันถึงวันนัด สีกาคนนั้นพาร่างบอบช้ำคล้ายถูกชกต่อยมาหาหลวงพ่อ

เมื่อถามว่า “มีข้อมูลอะไรเพิ่มเติมหรือ” ก็บอกว่า “ไม่มีเจ้าค่ะ”

“แล้วมาทำไม”

“มาถอนฟ้องเจ้าค่ะ”

“อ้าว แล้วที่ฟ้องมานั้น ไม่จริงสิ” หลวงพ่อซัก

เธอไม่ตอบ ได้แต่อึกอักๆ ขอหนังสือร้องเรียนคืนท่าเดียว “ดิฉันถอนฟ้องเจ้าค่ะ”

เป็นหน้าที่ของหลวงพี่สมพร หลวงพ่อสั่งให้ไปหาข้อมูลมาให้ทราบ หลวงพี่ก็ไปหาข้อมูลมารายงานเป็น “กะตั๊ก” ว่า พระคุณเจ้ารูปนี้มีพฤติกรรมย่ำยีพระธรรมวินัยมานาน มีคู่นอนมากมายหลายคน ค่าที่ตัวเองเป็นพระหาเงินเก่งจึงอุปถัมภ์สีกาหลายคน บางครั้งรถไฟชนกันบนกุฏิก็มี ว่ากันถึงขนาดนั้น

“แล้วที่แล้วๆ มา พระผู้ใหญ่ไม่รู้หรือ” หลวงพ่อซัก

“รู้ ก็ข่าวลือ ไม่ชัดเจนเหมือนครั้งที่ฟ้องหลวงพ่อ” มหาสมพรกราบเรียน

“ถ้ามันเป็นเช่นนี้ เอาไว้ไม่ได้ แต่เสียดาย” เสียงผู้อาวุโสเปรยเบาๆ

“เสียดายอะไรครับ หลวงพ่อ”

“ก็ผู้หญิงที่มาฟ้อง มาถอนฟ้องแล้ว บอกว่าไม่เอาเรื่อง ครั้นถามว่าที่พูดมานี้ใส่ไคล้เขาหรือเปล่า ก็อึกๆ อักๆ ไม่ตอบ ขอจดหมายคืนท่าเดียว”

เมื่อเจ้าทุกข์ไม่เอาเรื่อง เราก็ทำอะไรไม่ได้ หลวงพ่อกล่าว

ทราบว่า เสี่ยเว ที่ว่านี้ ใช้เงินวิ่งเต้นจนได้รับแต่งตั้งเป็นพระราชาคณะสมใจอยาก ก่อนหน้านี้เมื่อครั้งสมเด็จป๋า (สมเด็จพระสังฆราชวัดโพธิ์) ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชใหม่ๆ เสี่ยเว ก็พูดด้วยความดีใจว่า “คราวนี้เราได้เป็นพระราชาคณะแน่” ที่กล้าพูดเช่นนี้ เพราะ “ซี้” อยู่กับหลวงเตี่ย เลขาสมเด็จฯ แต่จนแล้วจนรอด สมเด็จก็ไม่เสนอให้เป็นพระราชาคณะ จนสิ้นพระชนม์ เพิ่งได้เลื่อนหลังจากนั้น (ไม่ทราบว่าในสมัยไหน)

ศิษย์รุ่นพี่เตือนว่า เวลาเขียนเล่าประวัติครูบาอาจารย์ อย่าพูดแต่ในแง่บวก ควรพูดถึงแง่ลบ แง่ไม่ดีบ้าง เพื่อเป็นเครื่องเตือนสติคนรุ่นหลัง เพราะท่านก็คือปัจเจกบุคคลคนหนึ่ง มีทั้งดีและไม่ค่อยดี ผมพิจารณาแล้ว หลวงพ่อผมเป็นพระบริสุทธิ์ ไม่มีตำหนิในเรื่องศีลาจารวัตรเลย พระแท้จริงๆ ถ้าถามว่า รู้ได้อย่างไรว่าพระแท้ ผมก็ขอยืมสำนวนนักนิยมพระเครื่องมาตอบว่า “แท้สิ ผมปั๊มมากับมือเอง” (ฮา)

ถ้าจะถือว่าเป็นจุดด้อยของหลวงพ่อก็มีอยู่เรื่องเดียวคือ ปาก พูดตรงเกินไป พูดไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหม พูดทีไรเสียงดังได้ยินทั่ว ไม่ว่าจะพูดชมหรือตำหนิใคร ครั้งหนึ่งมีโยมท่านหนึ่งมาหาผมที่กุฏิคณะ 2 อยู่ถัดกับคณะ 1 พอสมควร เราได้ยินเสียงหลวงพ่อดังมาจากกุฏิ โยมท่านนั้นถามว่า หลวงพ่อองค์โน้นด่าใคร ผมตะแคงหูฟัง ก็รู้ทันที จึงตอบโยมว่า “ไม่ได้ด่าหรอกโยม หลวงพ่อท่านคุยธรรมดาเอง”

การตำหนิคนอีกอย่างหนึ่ง ไม่คำนึงว่าผู้ถูกตำหนิจะโกรธหรือไม่ ถ้อยคำที่ออกมาก็เชือดเฉือนประเภท “เลือดไหลซิบๆ” ทีเดียว เวลาท่านตำหนิว่าพระเณรขี้เกียจไม่ค่อยลงทำวัตรสวดมนต์ ท่านมักจะพูดว่า “สู้อ้ายดำมันไม่ได้ ได้ยินเสียงระฆังสัญญาณทำวัตรเช้าเย็น มันหอนรับทันที เมื่อลงไปสวดมนต์มันก็เดินนำหน้าลิ่วๆ ขยันกว่าพระเณรอีก...” (โอ๊ย เจ็บแสบ)

แต่ก็ยังไม่เท่าวาทะหลวงพ่อเจ้าคุณปริยัติฯ พระผู้เฒ่า ซึ่งลงทำวัตรสวดมนต์ไม่ขาด บ่นวันหนึ่งว่า ไม่อยากลงสวดมนต์แล้ว กราบพระทีไร ก็กราบ กระโป...หมาทุกที” (ฮา)

ก็อ้ายดำมันหมอบข้างหลวงพ่อ หน้าพระเณรรูปอื่นๆ นี่ครับ

(มีต่อ)

เจ้าของ:  สาวิกาน้อย [ 28 ก.ย. 2009, 09:21 ]
หัวข้อกระทู้:  พระธรรมเจดีย์ (กี มารชิโน) วัดทองนพคุณ

รูปภาพ
พระประธานในพระอุโบสถวัดทองนพคุณ หรือวัดทองแอ๋


สำนักวัดทองนพคุณ

วันพฤหัสบดีที่ 14 มีนาคม 2551 ที่ผ่านมา ศิษยานุศิษย์ในพระเดชพระคุณ ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (กี มารชิโน) ได้จัดงานบำเพ็ญกุศลทักษิณานุประทาน วันครบ 100 ปีแห่งชาตกาล ของหลวงพ่อเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ เป็นเครื่องแสดงออกถึงกตัญญูกตเวทิตาธรรม อันเป็นหลักปุริสธรรม มีลูกศิษย์ลูกหาของพระเดชพระคุณหลวงพ่อทุกรุ่น รวมทั้งญาติโยมที่เคารพนับถือพระเดชพระคุณหลวงพ่อ มาร่วมบำเพ็ญกุศลกันพร้อมหน้า

ผมในฐานะศิษย์ “วัดทองแอ๋” และศิษย์รุ่น (เกือบจะแรก) ของหลวงพ่อ ได้รับเกียรติกล่าวปาฐกถาเป็นการฆ่าเวลา โดยมี ท่าน ส. ศิวรักษ์ ศิษย์รุ่นพี่ กล่าวนำอัญเชิญ ในช่วงที่พระเถระผู้ใหญ่ที่นิมนต์มา 10 รูป ฉันภัตตาหารเพล หลังจากเสร็จเจริญพระพุทธมนต์

เรื่องใหญ่และกว้างขวาง พูดเวลาสั้นๆ ชั่วพระฉันเสร็จ คงไม่ค่อยได้ประเด็นเท่าที่ควร ผมจึงไถลไปเล่าประสบการณ์ส่วนตัวเกี่ยวกับการมาอยู่วัดทองนพคุณ เกี่ยวข้องกับหลวงพ่อพระธรรมเจดีย์ ซึ่งเชื่อว่าไม่เป็นที่รับรู้กันมากนัก กระนั้นก็เล่าไม่ได้หมด หมดเวลาก่อน นำมาเล่าแถมอีกหน่อยหนึ่งหลังจากพระท่านกลับไปแล้ว

“วัดทองนพคุณ” เป็นวัดเล็กๆ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา สร้างมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย พระยาโชดึกราชเศรษฐี (ทองจีน ไกรฤกษ์) ได้บูรณะและได้ถวายเป็นพระอารามหลวง ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้รับพระราชทานชื่อว่า “วัดทองนพคุณ” ชาวบ้านเรียกว่า “วัดทองล่าง” คู่กับวัดทองอีกแห่งหนึ่ง อยู่ด้านเหนือหรือบน อันเรียกว่า “วัดทองบน”

ทำไมวัดทองล่างจึงกลายเป็นวัด “ทองแอ๋” บางท่านอาจสงสัย ผมเองก็สงสัย จึงถามหลวงพี่รูปหนึ่งซึ่งมาอยู่มาก่อน ท่านอธิบายว่า “คำว่าบน ภาษาจีนเรียกว่า เอ๋ วัดทองเอ๋ ก็คือวัดทองบน”

“แต่นี่ วัดทองแอ๋ ไม่ใช่ เอ๋ นี่ครับ” ผมไม่แย้ง

“เพี้ยนเสียงมาจาก ทองเอ๋ เพราะพระในวัดนี้จำนวนหนึ่ง ทำตัวเป็นพระนักเลง บางรูปดื่มยาดองนกเขาคู่เดินซึม ส่งเสียงอ้อแอ้ๆ ชาวบ้านจึงเรียกว่า วัดทองแอ๋ มาแต่บัดนั้น” หลวงพ่อรูปดังกล่าวอธิบาย

“จริงหรือเปล่า หรือว่าใส่ไข่” ผมทักท้วง

หลวงพ่อรูปดังกล่าวว่า ไม่ทราบ โบราณเล่ากันมา แต่ก็อาจมีเค้า เพราะสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 พระสงฆ์องค์เจ้าไม่ค่อยจะสงบสำรวม เล่ากันถึงว่า พระสงฆ์เอาตะกร้อไปเตะฆ่าเวลา ก่อนงานพระราชพิธี รอเวลาในหลวงเสด็จ เมื่อสังฆการีกราบทูลฟ้อง ในหลวงรับสั่งว่า “เจ้ากูจะเล่นบ้าง ช่างเจ้ากูเถิด” เป็นงั้นไป

เกียรติคุณอันเล่าขานมานานก็คือ วัดทองเอ๋ของผม เป็นสำนักวิปัสสนามาก่อน มีอาจารย์สอนกรรมฐานมีชื่อหลายรูปติดต่อกันยาวนาน สมภารในยุคต้นๆ เป็นอาจารย์วิปัสสนาชื่อดังทั้งนั้น แต่แปลก ไม่มีรูปไหนเป็นเกจิอาจารย์ปลุกเสกดังวัดทั่วไปเลย

ผมมาอยู่ใหม่ได้รับทราบเรื่องของเจ้าคุณสุธรรมสังวรเถร เจ้าอาวาส เล่ากันว่า เจ้าสัวที่เคารพในท่านเจ้าอาวาส ไปค้าขายทางทะเล เรือรั่วน้ำเข้าเรือ ทำท่าจะล่มกลางทะเล เจ้าสัวอธิษฐานจิตขอให้ท่านเจ้าคุณช่วยให้พ้นภัย

ท่านเจ้าคุณวันนั้นนำพระลูกวัดลงศาลาสวดมนต์เย็นอยู่ ก็เอาผ้าสังฆาฏิม้วนเป็นก้อนกลมๆ แล้วอุดช่องที่ร่องกระดานศาลาสวดมนต์ พลางร้องว่า เอ้า พวกเราช่วยกันอุดหน่อยๆ ท่ามกลางสายตาพระเณรลูกวัดจ้องมองด้วยความประหลาดใจว่าเกิดอะไรขึ้น หลวงพ่อจึงมีอาการประหลาดขนาดนี้ แต่ไม่มีใครปริปาก

สักพักท่านเจ้าคุณก็หยุดอุดช่อง พูดด้วยความดีใจว่า เออ พ้นแล้วๆ

เมื่อเจ้าสัวคนนั้นกลับมาบ้าน ก็รีบแจ้นมากราบเท้าท่านเจ้าคุณ เล่าว่า เรือเกือบจะล่มอยู่แล้ว แต่รอดมาได้ เพราะบารมีของหลวงพ่อช่วยเหลือ ถามไถ่เวลาเกิดเรื่องกลางทะเล ตรงกับเวลาที่ท่านเจ้าคุณแสดงอาการประหลาดต่อหน้าพระภิกษุสามเณรลูกวัดวันนั้นพอดิบพอดี

เจ้าสัวจึงได้สร้างเรือสำเภาเป็นอนุสรณ์ไว้ที่ลานวัดมีมาจนบัดนี้

วัดทองนพคุณ สวยงามมาก มีรูปทรงแปลก ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน หน้าต่างเป็นรูปวงกลมคล้ายพัดยศพระครูสัญญาบัตร บานใหญ่กลาง เป็นรูปพัดยศระดับพระราชาคณะ ลวดลายสวยงาม ยิ่งภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง ฝีมือระดับครูทีเดียว ภาพเทพชุมนุม และม่านหลังพระประธาน ดูยังกับของจริงอย่างไรอย่างนั้น

รูปภาพ
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4


เล่าขานกันว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จทางชลมารค มาถวายผ้าพระกฐินที่วัดทองนพคุณ เสด็จขึ้นท่าน้ำ เสด็จพระราชดำเนินมายังพระอุโบสถ ทอดพระเนตรเห็นภาพม่านหลังพระประธานแต่ไกล ถึงกับทรงอุทานว่า ใครเอาม่านในวังมาไว้ที่นี่ อะไรประมาณนั้น ทรงโปรดปรานภาพจิตรกรรมนั้นมาก ตรัสถามได้ความว่า พระครูกสิณสังวร เจ้าอาวาสเป็นผู้บัญชาการเขียนภาพเหล่านั้น ก็ตรัสชมเชยว่า ฝีมือดีมาก ทรงมีพระราชประสงค์จะแต่งตั้งท่านเป็นพระราชาคณะที่ “พระญาณรังษี”

แต่ครั้นทอดพระเนตรไปอีกด้านหน้าพระประธาน มีฉากเทพธิดาลงเล่นในสระน้ำ ก็ไม่พอพระทัย ทรงตำหนิว่า ไม่เหมาะที่จะเขียนไว้ตรงหน้าพระประธาน เวลาพระสงฆ์ลงทำสังฆกรรม ก็จะมองเห็นภาพอันไม่เหมาะสมนี้จนเสร็จสังฆกรรม

นัยว่าความคิดที่จะแต่งตั้งเป็นพระราชาคณะ เป็นอันงดไปโดยปริยาย พูดภาษาชาวบ้านก็ว่า หลวงพ่อเจ้าอาวาส ส้มกำลังจะหล่นทับ กลายเป็นว่า ได้แห้วไปฉันแทน (ฮา)

เรื่องไม่จบอยู่แค่นั้น พระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชปรารภเกี่ยวกับภาพวาดในพระอุโบสถวัดทองนพคุณยาวเหยียด ทรงตำหนิพระครูกสิณสังวร ทำนองว่า ท่านเจ้าอาวาสมีสติสัมปชัญญะดีอยู่ หรือวิปลาสไปแล้ว ถ้าจะว่าสติวิปลาส ทำไมจึงวาดภาพได้งามๆ อย่างนี้ อะไรประมาณนั้น รายละเอียดอยู่ในพระราชปรารภในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ผู้สนใจโปรดหาอ่านเอง ผมไม่มีต้นฉบับในมือ

ภาพจิตรกรรมฝาผนัง ในพระอุโบสถ ดูภาพรวมแล้วให้แนวคิดสอดคล้องกับสำนักวิปัสสนาอันเป็นรากฐานของสำนักวัดทองนพคุณอย่างดี

มุมหนึ่งเป็นภาพโต๊ะตั้งพระไตรปิฎก (ไม่ใช่ตู้ ถ้าตำราอยู่ในตู้กว่าจะถูกหยิบออกมาศึกษาต้องผ่านหลายขั้นตอน !) เป็นหนังสือเล่มวางซ้อนๆ กัน 3 กอง พระวินัยปิฎกหนึ่งกอง พระสุตตันตปิฎกหนึ่งกอง พระอภิธรรมปิฎกอีกหนึ่งกอง ใต้โต๊ะบรรจุคัมภีร์มีสัตว์น่ารักสองตัวคือแมวกับหนูวิ่งไล่กันอยู่ ดูแล้วอดยิ้มในอารมณ์ขันของศิลปินไม่ได้ คล้ายจะบอกว่า เมื่อศึกษาพระคัมภีร์อย่างคร่ำเคร่งแล้วทำให้เครียด ให้ผ่อนคลายอารมณ์ด้วยการดูภาพน่ารักๆ เสียบ้าง

อีกมุมหนึ่งมีภาพพระภิกษุปัดกวาดลานวัด และพิจารณาอสุภกรรมฐาน (จำได้ว่ารูปเก่า ศพขึ้นอืดเชียว แต่ที่ซ่อมภายหลังศพสวยงามไปหน่อย) ให้เห็นความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นธรรมดาของชีวิต ทำนองว่าเมื่อศึกษาตำราแล้ว ก็นำทฤษฎีสู่การปฏิบัติขัดเกลาจิต

อีกมุมหนึ่ง ซึ่งผมถือว่าเป็นไฮไลต์ทีเดียว เป็น ภาพต้นไม้ 3 ต้น กิ่งไม้พันกันยุ่ง และสูงขึ้นไปหน่อย กิ่งที่พันกันนั้นคอดกิ่วดุจจะขาดมิขาดแหล่ มองไปข้างบนสุด เป็นภาพความว่างเปล่าคล้ายสุญญตา (หรือนิพพาน) ภาพนี้ตีความได้ว่า เมื่อเรียนคัมภีร์พระไตรปิฎกแล้ว ก็นำธรรมะมาปฏิบัติขัดเกลาจิต ภาพปัดกวาดลานวัดก็ดี พิจารณาศพก็ดี ให้นัยแง่ปฏิบัติคือ การปัดกวาด ขัดเกลาจิตให้บริสุทธิ์

ภาพต้นไม้ 3 ต้นที่มีกิ่งสาขาพันกันยุ่งนุงนัง แทนกิเลส 3 ตระกูล คือ โลภะ โทสะ และโมหะ ที่ร้อยใจให้ยุ่งเหยิง เมื่อปฏิบัติไประดับหนึ่ง กิ่งที่พันกันค่อยๆ เรียว คอดเกี่ยว ดุจจะขาดจากกัน ขาดผึงเมื่อไร นั่นแหละ นับว่า บรรลุซาโตริ สว่างโพลงภายใน ถึงเป้าหมายแห่งการปฏิบัติแล้ว ครับ

(มีต่อ)

เจ้าของ:  สาวิกาน้อย [ 28 ก.ย. 2009, 09:21 ]
หัวข้อกระทู้:  พระธรรมเจดีย์ (กี มารชิโน) วัดทองนพคุณ

รูปภาพ
พระอุโบสถวัดทองนพคุณ หรือวัดทองแอ๋


จิตรกรรมวัดทองนพคุณ

ไม่ว่าวัดราษฎร์หรือวัดหลวง จะมีจิตรกรรมฝาผนังไว้ที่โบสถ์ ด้วยฝีมือช่างระดับท้องถิ่นบ้าง ช่างหลวงบ้าง แล้วแต่กรณี เรื่องเอามาเขียนเป็นภาพส่วนมากเป็นพุทธประวัติ มีน้อยมากที่เป็นเรื่องอื่น มีวัดบวรนิเวศวิหารเท่านั้น ที่ขรัวอินโข่งฝีมือระดับอินเตอร์วาดภาพฝรั่งมังฆ้องและจิตรกรรมล้ำสมัยเป็นที่ฮือฮา

ขรัวอินโข่งมีชื่อเสียงโด่งดังมากในยุครัตนโกสินทร์ วัดทองแอ๋ของผมพลอยมีชื่อเกี่ยวข้องกับศิลปะสำนักขรัวท่านด้วย โดยเจ้าอาวาสวัดทองแอ๋มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับขรัวอินโข่งอยู่ด้วย จะเป็นศิษย์ขรัวอินโข่ง หรือศิษย์ร่วมสำนักกัน ไม่แจ้ง ผมก็ฟังๆ มาแล้วก็เดาต่อเท่านั้นเอง

พระครูกสิณสังวร เจ้าอาวาสวัดทองนพคุณรูปหนึ่ง เคยอยู่วัดราชบุรณะ (วัดเลียบ) มาก่อนจะมาเป็นเจ้าอาวาสวัดทองนพคุณ เป็นศิษย์ร่วมสำนักกับขรัวอินโข่งมาก่อน คงได้เป็นศิษย์ขรัวอินโข่ง หรือเป็นจิตรกรร่วมสมัยกันมาอย่างใดอย่างหนึ่ง

พระอุโบสถวัดนี้แปลกตรงที่หน้าต่าง แทนที่จะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าทั้งหมดเหมือนที่อื่น กลับเป็นวงกลมเสียแปดบาน เฉพาะบานใหญ่ตรงกลางเท่านั้นที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ซุ้มข้างบนเป็นรูปทรงชฎา สี่บานถัดจากบานกลางทั้งสองด้าน มองจากข้างนอกเหมือนพัดยศพระราชาคณะ หรือพระเจ้าคุณ อีกสี่บานที่เหลือเหมือนพัดยศพระครู สวยงามมาก

พระครูกสิณสังวรเป็นผู้เขียนภาพด้วยตัวท่านเอง ว่ากันอย่างนั้น ภาพที่เขียนแบ่งกว้างๆ ดังนี้ ที่ผนังด้านเหนือและด้านใต้ แบ่งเป็นสองตอน ตอนบนเขียนรูปซึ่งเข้าใจว่าดัดแปลงมาจากนิทานชาดก ชาดกไหนบ้างไม่ทราบ เท่าที่สืบได้มีภาพลิงเหาะ กับนกกระยางจำศีลเท่านั้นที่คุ้นตา

ตอนกลางเป็นภาพพระเวสสันดรชาดกทั้งหมด

ส่วนตอนล่างคือระหว่างช่องหน้าต่างนั้น ผมจำไม่ได้แล้วเป็นภาพอะไร เพราะชำรุดเสียหาย และที่เขียนซ่อมใหม่ก็เป็นรูปเทวดาเหาะแทน

ผนังด้านตะวันตก คือด้านที่ตั้งพระะประธาน เป็นภาพม่านแขวนอยู่หลังพระประธาน เหมือนจริงมาก ที่มุมทั้งสองเป็นรูปเทวดาชุมนุม ภาพนี้เองทันทีที่ในหลวงรัชกาลที่ 4 เสด็จเข้ามาเพื่อพระราชทานผ้าพระกฐิน ทอดพระเนตรเห็น รับสั่งว่า “ใครเอาม่านในวังมาแขวนไว้” คงเหมือนของจริงมาก

ที่ผนังด้านตะวันออก ตรงหน้าพระประธานแบ่งเป็นสองตอน ตอนบนเป็นภาพพระไตรปิฎกแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ วาดเป็นคัมภีร์ใบลานห่อผ้าอย่างเรียบร้อย ซ้อนๆ กันบนโต๊ะ ซ้ายมือเป็นพระสูตร ขวามือเป็นพระอภิธรรม โต๊ะกลางเป็นพระวินัย

ใต้โต๊ะพระไตรปิฎก มีแมวสองตัวจ้องมองกันในท่าหยอกล้อตามประสาสัตว์ ให้อารมณ์ขันหรรษาท่ามกลางบรรยากาศขรึมขลัง

ตอนล่างคือระหว่างประตูทางเข้า ด้านขวามือเป็นภาพต้นไม้สองสามต้น หรือเรียกว่ารากไม้จะถูกกว่า กิ่งข้างบนพันรวมกันไว้มองสูงขึ้นไป กิ่งนั้นจะเรียวคอดเกือบจะขาด สูงขึ้นไปอีกเป็นภาพความว่างเปล่า ใต้ต้นไม้ประหลาดทั้งสามนี้ มีภาพพระสงฆ์ทำกิจต่างๆ กัน

มุมหนึ่งเป็นสามเณรน้อยนั่งพับเพียบ ต่อหน้าพระอาจารย์แก่ใส่แว่นนั่งชันเข่าข้างหนึ่ง มองลอดแว่นดูสามเณรน้อย มีคัมภีร์วางอยู่ ดูแล้วทำให้นึกถึงบรรยากาศการต่อหนังสือแบบมุขปาฐะสมัยโบราณ

อีกมุมหนึ่ง พระภิกษุสองรูปกำลังนั่งยองๆ ปลงอาบัติกัน อีกมุมหนึ่งกำลังเทศน์โปรดประชาชน อีกมุมหนึ่งพระอีกรูปหนึ่งกำลังชักผ้าบังสุกุลจากศพ

ภาพนี้ภาพเดียว จะได้แง่คิดในทางปฏิบัติตามที่ผู้เขียนภาพสอดแทรกไว้มากมายมหาศาล ขึ้นอยู่ที่ว่าผู้ดูจะมองทะลุได้มากน้อยแค่ไหนเท่านั้น ผมเองแม้มิใช่ศิลปิน ดูภาพนี้แล้วรู้สึกอัศจรรย์ที่ศิลปินท่านสามารถสอดแทรกแง่คิดในการปฏิบัติศาสนกิจ ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติอย่างมหัศจรรย์ยิ่ง

ไม่ทราบว่าผมคิดมากไปหรือเปล่า ผมดูแล้ว “สเก๊ตช์” ภาพออกมาได้ดังนี้

(1) ต้นไม้สามต้น (หรือรากไม้ทั้งสาม) เป็นตัวแทนอกุศลมูล คือรากเหง้าแห่งกิเลสชั้นแนวหน้าคือ ราคะ (โลภะ) โทสะ และโมหะ

(2) การที่ต้นไม้ทั้งสามพันรวมกันเป็นกิ่งเดียว หมายความว่า กิเลสทั้งสามนี้เมื่อว่าโดยสภาวะก็เป็นอย่างเดียวกัน คือสภาวะฝ่ายต่ำฝ่ายชั่ว

(3) ภาพสามเณรน้อยเรียนธรรม เป็นตัวแทนคันถธุระ หรือการท่องจำพระไตรปิฎก (ดังภาพข้างบน) ภาพบังสุกุลก็ดี ภาพปลงอาบัติก็ดี เป็นตัวแทนของวิปัสสนาธุระ คือนำเอาธรรมะที่เล่าเรียนมาปฏิบัติกรรมฐานเช่นอสุภกรรมฐาน (ภาพบังสุกุล) หรือรู้ว่าตัวเองปฏิบัติผิดพลาดในพระวินัยบัญญัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็แสดงอาบัติ หรือสารภาพต่อเพื่อนพระภิกษุ และตั้งใจแน่วแน่มิให้บาปอกุศลนั้นเกิดขึ้นอีกต่อไป เป็นการ “กวาดชำระ” กิเลสออกจากใจ (ภาพกวาดลาน)

(4) ขณะเดียวกัน ก็ไม่เอาตัวรอดคนเดียว ยังเป็นห่วงพุทธบริษัทอื่นๆ อยู่ จึงเมื่อตนได้เรียนรู้และปฏิบัติได้แล้วก็นำมาสั่งสอนประชาชนให้รู้ตามด้วย (ภาพแสดงธรรม)

(5) เมื่อบำเพ็ญกิจของสมณะครบถ้วน จิตก็จะผ่องแผ้ว ราคะ โทสะ โมหะ จะเบาบางขาดหายไปจากจิตใจ ภาพกิ่งไม้เรียวคอดข้างบน หมายถึง ระยะที่กิเลสจะหมดไปจากใจ เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างภาวะปุถุชนกับพระอรหันต์ หรือที่เรียกว่า “โคตรภูญาณ”

(6) เมื่อพ้นระยะนี้ไปแล้ว กิเลสก็จะขาดผึงจากจิตสันดาน คือบรรลุนิพพาน จิตก็จะ “ว่าง” จากความยึดมั่นถือมั่น (ภาพความว่าง)

ซ้ายมือเป็นภาพพระเวสสันดรชาดก กัณฑ์ทศพร ตอนพระอินทร์กับนางผุสดีอยู่บนศาลา หน้าศาลาเป็นสระน้ำ มีนางฟ้าลงเล่นน้ำเป็นที่สนุกสนาน บางพวกก็ฟ้อนรำอยู่บนฝั่ง

เล่ากันว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทันทีที่ทอดพระเนตรเห็นฉากเทวดาอาบน้ำไม่ทรงพอพระทัย หาว่าเป็นภาพหยาบโลน มีสตรีแก้ผ้าต่อหน้าพระประธาน ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นทรงชื่นชมว่าฝีมือช่างวิเศษมาก ครั้นทรงทราบว่าเป็นฝีมือพระครูกสิณสังวร เจ้าอาวาส ถึงกับออกพระโอษฐ์ว่า จะเลื่อนสมณศักดิ์ให้เป็นพระราชาคณะที่ “พระญาณรังษี” แต่พอทอดพระเนตรเห็นภาพเทวดาโป๊ตรงหน้าพระประธาน กลับทรงระงับเสีย

รูปภาพ
พระประธานในพระอุโบสถวัดทองนพคุณ หรือวัดทองแอ๋
ด้านหลังเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังรูปพระวิสูตร คล้ายผ้าม่านจริง



เป็นอันว่า กำลังจะได้เป็นพระเจ้าคุณอยู่รอมร่อ ก็เลยไม่ถึงดวงดาวซะอย่างนั้น นัยว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ทรงตำหนิใหญ่โต เรื่องนี้มีเล่าไว้เป็นหลักฐาน ผมขอคัดบางตอนมาดังนี้

“จึงได้ทรงพระราชดำริ จะใคร่ทรงสถาปนาเลื่อนที่พระครูกสิณสังวร ให้เป็นพระญาณรังษี ที่พระราชาคณะสำหรับพระอารามนั้น แต่ครั้นทรงพิเคราะห์ไปในจิตรกรรมการเขียนในพระอุโบสถนั้น รำคาญพระเนตรอยู่ห้องหนึ่ง ซึ่งเป็นห้องระหว่างประตูกลาง และประตูเหนือหน้าพระอุโบสถ ตรงที่เสด็จประทับ และตรงพระพักตร์พระพุทธปฏิมาในส่วนเบื้องซ้ายห้องนั้น เขียนเป็นรูปลับแลสร้างและมีกิจกรรมสำแดง เรื่องมหาเวสสันดรกัณฑ์ทศพร เขียนเป็นนันทอุทยานในดาวดึงส์สวรรค์ และมีปราสาทอันหนึ่ง มีรูปพระอินทร์และนางผุสดีนั่งอยู่ด้วยกัน แต่สองรูปในนันทอุทยานนั้น ล้วนเกลื่อนกลาดดารดาษไปด้วยนางเทพินนิกรอัปสรกัญญา เดินไปมาเก็บและชมต้นไม้ที่มีดอกมีผลบ้าง ลงอาบน้ำในสุนันทโบกขรณีบ้าง ในรูปนางอัปสรต่างๆ นั้น มีรูปวุ่นวายอยู่ถึง 7 รูป คือเป็นรูปเปิดผ้านุ่งถึงตะโพก นั่งถ่ายปัสสาวะบ้าง เป็นรูปยืนแหวกผ้านุ่งข้างหน้าบ้าง ลางนางว่ายน้ำนอนคว่ำ โก่งตะโพกขึ้นมาพ้นน้ำขึ้นมาไม่มีผ้านุ่ง ลางนางนอนหงายว่ายน้ำอ่อนกลางตัวพ้นน้ำผ้านุ่งไม่มี ลางนางขึ้นจากน้ำผลัดผ้าข้างหน้าแหวกอยู่จนถึงอุทรประเทศ ลางนางผลัดผ้าข้างหลังเปิดเห็นตะโพก ลางนางหกล้มผ้าหลุดลุ่ย ก็ซึ่งรูปภาพสตรีต่างๆ ถึง 7 รูป เขียนไว้ดังนี้ ก็เป็นรูปนางสวรรค์ล้วนประดับประดามงกุฎ ประดับด้วยเครื่องอาภรณ์ปิดทองคำเปลว เป็นรูปภาพระบายอย่างดี มิใช่เป็นของเล่นที่ห้องนั้น อยู่เบื้องหน้าพระอุโบสถตรงพระพักตร์พระประธานตรงที่เสด็จไปประทับ หรือเมื่อพระสงฆ์จะมาชุมนุมกันทำสังฆกรรม อุโบสถกรรม ก็จะต้องแลดูรูปนั้นอยู่จนสังฆกรรมเลิก ก็รูปนางสวรรค์แปลกตา 7 รูปนี้พระครูกสิณสังวรให้การเขียน หรือช่างเขียนไปเอง ถ้าให้การเขียนนั้น จะเป็นประโยชน์โภชผลเป็นปริศนาธรรมทางสังเวช หรือทางเลื่อมใสอย่างไร จึงเขียนไว้ ถ้าช่างเขียนเขียนไปเอง ช่างเขียนนั้นเป็นคนดีหรือเสียจริต ถ้าเสียจริต ทำไมจึงเขียนรูปภาพระบายได้งามๆ ได้ดีๆ”

ภาพที่ว่านั้น ทราบว่ามิได้ถูกลบทิ้งแต่ประการใด ยังคงเป็นรูปเดิม จนเลอะเลือนไปตามอายุขัย บัดนี้ได้เขียนซ่อมใหม่รักษาแนวเดิมไว้ แต่ได้ดัดแปลงให้สุภาพกว่าเดิม

อย่างว่าแหละครับ ส้มกำลังจะหล่นทับได้เป็นพระเจ้าฟ้าเจ้าคุณ ก็มีอันสะดุดเสียนี่ นี่แหละน้า วาสนาคนเรา

นอกจากจิตรกรรมลือชื่อนี้ วัดทองแอ๋ยังมีภาพปูนปั้นประดิษฐานไว้รอบศาลา เป็นฝีมือช่างชาวบ้านที่แปลกตาดี เมื่อรื้อศาลาทางวัดได้นำมาประดิษฐานไว้ที่ศาลาสร้างใหม่ ฝีมือปั้นสวยงามแปลกตาดี แต่เขียนบรรยายไม่ค่อยถูกหลักภาษาสักเท่าไร

ทราบว่าในการพิมพ์ได้รับอุปถัมภ์จากบริษัทมติชน โดยคุณขรรค์ชัย บุนปาน จัดพิมพ์ในคราวสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จพระราชดำเนิน ทรงผ้าพระกฐินพระราชทาน ทรงยกช่อฟ้าศาลาการเปรียญ และทรงทอดผ้าป่าของมติชน เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ.2522

(มีต่อ)

เจ้าของ:  สาวิกาน้อย [ 28 ก.ย. 2009, 09:51 ]
หัวข้อกระทู้:  พระธรรมเจดีย์ (กี มารชิโน) วัดทองนพคุณ

รูปภาพ
“สุลักษณ์” หรือ ส. ศิวรักษ์


ป้ายคุณธรรม

ลูกศิษย์คนหนึ่งบอกว่า เรื่องวัดทองนพคุณ ยังกับนวนิยายเชียว ถึงจะเป็นนิยายก็นิยายอิงธรรมะครับ เพราะข้อมูลที่นำมาเล่าเป็นเรื่องจริง จากประสบการณ์ตรงบ้าง ประสบการณ์อ้อมบ้างของผม ส่วนจะใส่ไข่มากน้อยแค่ไหน ให้จับผิดเอาเองครับ

ประดาศิษย์สำนักที่ความจำเลอเลิศ ไม่มีใครเกิน “ปลัดแป๊ะ” (ท่านพี่ ส. ศิวรักษ์) ไม่รู้ไปจำมาจากไหน เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ไม่น่าจำได้ก็จำ และมีวิธีเล่าอย่างน่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง ผมเป็นเณรน้อยมาอยู่วัดใหม่ๆ เห็น ชายหนุ่มนักเรียนนอก มากราบท่านใหญ่ หลวงพ่อเจ้าคุณภัทร และหลวงพ่อเจ้าคุณกิตติสารฯ (พระธรรมเจดีย์) อย่างสนิทสนม จำได้ว่าวันแรกที่เจอหน้า หนุ่มนักเรียนนอกถามว่า เณรอยู่จังหวัดไหน ด้วยความเขินเป็นเณรอีสานบ้านนอก ต้องอ้อมแอ้มว่า อยู่บ้านเดียวกับหลวงพี่เสรี ทั้งที่หลวงพี่เสรีอยู่โคราช ผมอยู่มหาสารคาม “ก็ทางเดียวกันแหละวะ ถึงสระบุรีแล้วเลี้ยวขวาไปอีกสามสี่ร้อยกิโลก็ถึง (ฮิฮิ)” ผมคิด

จำไม่ได้ว่าครั้งนั้นหนุ่มนักเรียนนอกให้หนังสือผมหรือไม่ คนคนนี้นิสัยชอบแจกหนังสือ มาวัดทีไรมีหนังสือติดมือมาแจกพระเณรแทบทุกครั้ง ทำให้นิสัยนี้ติดผมมาจนบัดนี้ เขาบอกว่ามาเยี่ยมบ้านชั่วคราว จะกลับไปเรียนต่อ จำไม่ได้ว่าตอนนั้นเขาเรียนจบ ออกมาทำงานวิทยุบีบีซีหรือยัง แต่ที่จำแม่นคือทุกครั้งที่เขาจะมาจะไป หลวงพ่อเจ้าคุณทั้งสอง ยกเว้นท่านใหญ่ (เจ้าคุณพระเทพวิมล) จะไปรับไปส่งที่สนามบินดอนเมืองตลอด จนผมสงสัยว่า เขามีความสำคัญอะไร หลวงพ่อเจ้าคุณทั้งสองจึงให้ความสำคัญปานนั้น

การที่เขาเคยบวชเณร มีท่านใหญ่เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้หลวงพ่อเจ้าคุณภัทรเป็นพระอาจารย์ และหลวงพ่อพระธรรมเจดีย์ของผมเป็นพระพี่เลี้ยง ทำให้เขาซึมซับคุณธรรมจากท่านทั้งสามโดยไม่รู้ตัว ตอนแรกที่รู้จักเขา ไม่รู้ดอกว่านิสัยใจคอเป็นคนขวางโลก ดังที่คนเขาพูดกัน เมื่อเขาเขียนเรื่อง “พระภัทรมุนีที่ข้าพเจ้ารู้จัก” เมื่อปี พ.ศ.2507 เขาเล่าว่าสมัยบวชเณรบิณฑบาตได้กับข้าว ขนมขะต้มมากมาย พระเณรบิณฑบาตรวยกันมาก จนเด็กวัดเอาไข่เค็มมาเตะเล่นสนุกสนาน ทำเอาคุณชวลิสร์ กันตามรัติ ตอนนั้นยังไม่รู้จักกัน พูดกับผมว่า “ไอ้หมอนี่มันใครกัน เขียนอะไรน่าถีบ”

จะอย่างไรก็ตาม ผมประทับใจในความเป็นคนกตัญญูกตเวทีของเขามาก ยิ่งระยะหลังเมื่อเราต่างคนต่างแก่เฒ่าแล้ว เขาต้องคดีถูกนายทหารฟ้องฐานหมิ่นพระบรมราชานุภาพ เขาขอให้ผมเป็นพยาน ศาลอ้างคำให้การของผมกับอาจารย์ ดร.ปรีดี เกษมทรัพย์ แค่สองคนเท่านั้น หักล้างคำกล่าวหาโดยสิ้นเชิง พ้นคุกไปได้ เขาก็ฝากขอบบุญขอบคุณผมมายกใหญ่

คุณธรรมข้อนี้ จะว่าเป็นคุณธรรมเด่นประจำสำนักเราก็ว่าได้ ดังภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถ มีภาพวาดชาดกเรื่องหนึ่ง (จนบัดนี้ผมก็ยังนึกชื่อชาดกไม่ออก) แต่ให้สาระด้านความกตัญญูกตเวทีชัดเจน

มีลิงทโมนตัวหนึ่ง เห็นหงส์บินไปบินมาได้ ก็อยากจะบินได้บ้าง จึงไปขอร้องให้หงส์สองตัวช่วย หงส์ก็สางสาร ไปหาขี้ผึ้งมาเสกปั้นเป็นปีกทั้งสองข้างให้ แล้วเจ้าทโมนก็บินได้ ด้วยความอนุเคราะห์ของหงส์ทั้งสอง คอยบินบังพระอาทิตย์ให้ กำชับว่า ตราบใดที่ยังอยู่ภายในร่มเงาปีกของพวกตน ลิงก็จะบินได้อย่างปลอดภัย จึงไม่ควรไปไหนตัวเดียว ใหม่ๆ ก็เชื่อฟังหงส์ทั้งสองดี แต่นานเข้าก็ชักอวดดี ไม่ยอมอยู่ใต้ปีกหงส์ทั้งสอง เรื่องอะไรมาตามบังลมบังแดดให้ รำคาญ ข้าไปตัวเดียวได้ ไม่ยอมให้หงส์ผู้มีพระคุณปกป้องให้แล้ว บินไปตัวเดียวอย่างสนุกสนาน ไม่นานปีกขี้ผึ้งก็ละลายทีละเล็กละน้อย เพราะแสงพระอาทิตย์แผดเผา ท้ายที่สุดเจ้าจ๋อก็ตกลงมาตายอย่างอนาถ สำนักของผมเน้นหนักคุณธรรมข้อนี้มาตลอด คล้ายกับว่าใครฝ่าฝืนกฎข้อนี้ จะมีอันเป็นไปไม่ต่างกับลิงตัวนั้น

ผมมีเพื่อนเณรที่มาอยู่รุ่นเดียวกับผมรูปหนึ่ง ชื่อ เณรอ๊อด (ชื่อเล่นนี้แกตั้งเอง เป็นที่รู้กันในวงแคบ) จะไม่ขอเอ่ยชื่อจริง เณรอ๊อดเป็นศิษย์ที่ท่านเจ้าคุณสมบูรณ์ คณะสิบ นำมาจากจังหวัดอุบลราชธานี เป็นคนหัวดีเรียนเก่ง เดินหลังค่อมนิดๆ เพื่อนเรียกลับหลังว่า “ไอ้ค่อม” ไอ้ค่อมสอบได้เปรียญ 7 ประโยค ขณะยังเป็นเณรอายุไม่ครบบวช ท่านเจ้าคุณสมบูรณ์ได้เพียงเปรียญ 5 ประโยค ค่าที่ตัวเองเรียนสูงๆ จึงมีทิฐิมานะ กระด้างกระเดื่อง ครูบาอาจารย์เตือนอะไรก็ไม่ค่อยฟัง ใช้วาจาสามหาวไม่รู้ที่ต่ำที่สูง ท่านเจ้าคุณสมบูรณ์ก็เตือนด้วยความเมตตา ทุกครั้งที่ถูกเตือนถูกอบรม

มันสวนทันที “โธ่ แค่ประโยค 5 ยังมีหน้ามาสอนประโยค 7 ให้มันรู้บ้างเซ้ ไผเป็นไผ”

ท่านเจ้าคุณก็รู้สึกระอา ไม่รู้จะทำอย่างไร เลยปล่อยเลยตามเลย นานๆ เข้าไอ้อ๊อดก็นอกรีตนอกรอยมากขึ้น ริคบเณรวัดทองบน จีบสาว ก็ไม่ถึงกับผิดศีลเหมือนเจ้ากูบางคนสมัยนี้ดอกครับ ความรู้ถึงหลวงพ่อเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (ตอนนั้นท่านเป็นเจ้าอาวาสแล้ว) เรื่องอย่างนี้ท่านถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรง เอาไว้ไม่ได้ ถึงกับ “ประณาม” (ไล่ออกจากวัด) กลางพรรษา เจ้าคุณสมบูรณ์ขอร้องหลวงพ่อเจ้าคุณให้ผ่อนปรน ขอให้ออกพรรษาก่อนค่อยให้ออก ท่านก็ไม่ยอม ท้ายที่สุดเณรอ๊อดก็ต้องย้ายไปอยู่ทางภาคเหนือ ดูเหมือนจังหวัดเชียงราย โยมอุปัฏฐากเณรอ๊อด ถึงกับเคืองหลวงพ่อเจ้าคุณว่าเข้มเกินไป ทั้งๆ ที่โทษก็ไม่ถึงกับไล่ออก

เณรอ๊อดตอนหลังสึกออกไปหลังจากบวชพระแล้ว ไปสมัครเป็นบุรุษไปรษณีย์ ทำงานราชการพักหนึ่ง ตอนหลังถูกไล่ออก ข้อหายักยอกเงินไปรษณีย์ ได้เมีย เมียก็ไม่มีอาชีพอะไร ตัวเองก็ตกงาน ท้ายสุดต้องขอทานเลี้ยงชีพ เฉลิมชัย (เล็ก) ศิษย์รุ่นน้องรายงานผมว่า ไอ้อ๊อดเสียชีวิตแบบที่คนโบราณว่า เหมือนหมากลางถนน ยังไงยังงั้น น่าอนาถยิ่งนัก

พวกเราผู้รู้แบ๊คกราวด์สรุปว่า ไอ้อ๊อดมันถูกสาป เพราะขัดกฎอันศักดิ์สิทธิ์ของสำนักของเรา คือเนรคุณครูบาอาจารย์นั้นแลเป็นเหตุใหญ่

ขณะปาฐกถาวันร้อยปีแห่งชาตกาลของหลวงพ่อพระธรรมเจดีย์นั้น ผมชี้ให้พวกเราศิษย์รุ่นหลังสังเกตว่า จุดที่ผมยืนปาฐกถานั้นคือ ศาลาข้างโบสถ์ ศาลานี้เป็นสถานที่แห่งแรกที่ผมได้มาเรียนบาลีประโยค 5 จากหลวงพ่อพระธรรมเจดีย์ เพราะปีนั้น (พ.ศ.2498) โรงเรียนปริยัติธรรมที่ใช้เรียนถูกอัคคีภัย จะสร้างเสร็จยังไม่สมบูรณ์ จึงต้องอาศัยเรียนกันที่ศาลาข้างโบสถ์หลังนี้ (สถานที่เดิม แต่อาคารหลังใหม่) เนื่องจากศาลาเล็ก ไม่พอจุพระเณรนักเรียน ที่เหลือจึงต้องเรียนในโบสถ์บ้าง ข้างเสมารอบโบสถ์บ้าง

รูปภาพ
สมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) วัดมหาธาตุ


โรงเรียนพระปริยัติธรรมมีชื่อว่า “โรงเรียนนพคุณวิทยาประสิทธิ์” แต่ป้ายกำแพงโรงเรียนเขียนว่า “บริเวณล้อมวิทยาประสิทธิ์” ความเป็นไปเป็นมาคือว่า สถานที่ตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรมนี้ คหปตานีชื่อ ท่านล้อม เหมชะญาติ มรรคนายิกาวัดทองนพคุณ ได้บริจาคที่สร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรม ได้รับเมตตาจาก สมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) วัดมหาธาตุ ตั้งชื่อว่า “โรงเรียนล้อมวิทยาประสิทธิ์” เมื่อเกิดอัคคีภัยขึ้น อาคารเรียนถูกไฟเผาผลาญจนหมดสิ้น สร้างขึ้นมาใหม่ได้ชื่อว่า โรงเรียนนพคุณวิทยาประสิทธิ์

แต่กำแพงล้อมรอบสถานที่อันท่านล้อมบริจาคนั้น แทนที่จะจารึกชื่อเช่นเดียวกับอาคารโรงเรียน หลวงพ่อพระธรรมเจดีย์เกรงว่าคนภายหลังจะไม่รู้ประวัติความเป็นมา ท่านจึงให้จารึกชื่อว่า “บริเวณล้อมวิทยาประสิทธิ์” เพื่ออนุสรณ์ถึงพระคุณของท่านผู้บริจาคที่ดินสร้างโรงเรียน ผมชี้ให้ลูกศิษย์ หลานศิษย์ เหลนศิษย์ทั้งหลายดูว่า ป้ายเล็กๆ สองป้ายนี้ มีความสำคัญและมีความหมายแก่พวกเรามาก เพราะนี่คือ “จารึกแห่งคุณธรรม” ที่โบราณาจารย์ได้สลักเสลาไว้ให้เป็นเนตติ (แบบอย่าง) ให้พวกเราได้น้อมนำไปปฏิบัติเพื่อความเจริญงอกงามแห่งชีวิต และเพื่อจรรโลงโลกในวงกว้าง

เขียนมาถึงตรงนี้ นึกถึง เหตุการณ์หลังตรัสรู้ ในสัปดาห์ที่สอง พระพุทธองค์เสด็จถอยออกมาทางทิศอีสานของต้นพระศรีมหาโพธิ์ ทรงจ้องต้นโพธิ์ไม่กะพริบตาตลอดเจ็ดวัน อันเรียกขานในปัจจุบันนี้ว่า “อนิมิสสเจดีย์”

ใครจะแปลความอย่างไร ไม่รู้ แต่ผมเห็นว่า นี่พระพุทธองค์ทรงขอบคุณต้นโพธิ์ ที่ให้ร่มเงาได้อาศัยนั่งพิจารณาธรรมจนตรัสรู้ ทรงแสดงแบบอย่างแห่งกตัญญูกตเวทีให้คนอื่นได้ปฏิบัติตาม ดังท่านพุทธทาสกล่าวว่า “เพียงกตัญญูกตเวทีอย่างเดียว ทำให้โลกรอดและดับเย็นได้”

ป้ายเล็กๆ ของโรงเรียนปริยัติธรรมแห่งวัดทองแอ๋ของผม ย่อมอมความสำคัญมหาศาลไม่ต่างกัน บุรพาจารย์ได้แสดงให้เป็นแบบอย่างให้สืบสานต่อไปชั่วกาล

(มีต่อ)

เจ้าของ:  สาวิกาน้อย [ 28 ก.ย. 2009, 10:03 ]
หัวข้อกระทู้:  พระธรรมเจดีย์ (กี มารชิโน) วัดทองนพคุณ

รูปภาพ
ศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก
ลูกศิษย์ของหลวงพ่อพระธรรมเจดีย์ (กี มารชิโน)
อดีตเจ้าอาวาสวัดทองนพคุณ หรือวัดทองแอ๋



อดีตชาติของ อ.เสฐียรพงษ์

ผมเป็นเด็กบ้านนอกชาวอีสาน เกิดที่จังหวัดมหาสารคาม (ไม่ใช่ในจังหวัด อยู่หมู่บ้านกลางป่ากลางดอย ชายแดนระหว่างอำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น และอำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม) ไม่มีสายสัมพันธ์อะไร ทางไหน กับวัดทองนพคุณ หรือหลวงพ่อพระธรรมเจดีย์ ซึ่งเป็นชาวบ้านโพ จังหวัดฉะเชิงเทรา แต่มาเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อได้อย่างไร ทั้งๆ ที่หลวงพ่อไม่เคยมีศิษย์สามเณรรับใช้เลย ท่านอยู่องค์เดียว มีเด็กวัดอุปัฏฐากรับใช้อยู่กุฏิเดียวกันคือ คณะ ๓ กับหลวงพ่อเจ้าคุณภัทร แล้วเณรบ้านนอกชาวอีสานโผล่เข้ามาได้อย่างไร

หลวงพ่อพระธรรมเจดีย์ท่านบอกว่าเป็น “บุพเพสันนิวาส” ซึ่งหลังจากผมสอบได้เปรียญ ๙ ประโยคแล้ว ท่านได้ปิดประตูเล่าเรื่องมหัศจรรย์พันลึกให้ผมทราบ หลังจากเล่าให้คุณพยุง ตัญญะแสนสุข ไวยาวัจกรสมัยนั้น ฟังมาก่อนแล้ว

นิสัยของหลวงพ่อนั้นไม่ค่อยเชื่อในเรื่องที่เหนือสามัญวิสัย ยิ่งเป็นเรื่องหมอดูหมอเดาแล้วยิ่งไม่เอาเลย ท่านเคยเล่าว่า หมอจีนเคยมาเคาะกระดูกขาท่าน แล้วทายว่าอายุ ๕๐ จะตาย (ประมาณนั้น ผมจำไม่แม่น) แต่แล้วก็ไม่เห็นตาย ไอ้หมอดูหมอเดามันตายก่อนพ่อเสียอีก เล่าพลางหัวเราะด้วยความขบขัน แต่เรื่องเกี่ยวกับผม ท่านไม่ยักหัวเราะเยาะ กลับเชื่อสนิทว่าเป็นเรื่องจริง ยิ่งพิสูจน์ว่าผลออกมาตรงกับข้อสมมติฐานก็ยิ่งเชื่อแบบฝังหัวเลย

เรื่องอะไรหรือครับ ก็เรื่องที่ว่า ผมชาติก่อนเคยมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับท่าน ท่านว่าก่อนท่านมาบวชนั้นท่านมีแฟนอยู่แล้ว (ชื่อ สุภาพ) และกำหนดจะแต่งงานกัน แต่พระญาติกันที่มาอยู่ที่กรุงเทพฯ ไปเยี่ยมบ้านเกิด นำท่านมาบวชเรียนอยู่ที่วัดทองนพคุณ (เข้าใจว่า พระครูธรรมกิจจานุรักษ์) เมื่อบวชแล้วก็แล้วเลยลืมเรื่องนี้สนิท

จนกระทั่งเรียนบาลีมาถึงประโยค ๕ ประโยค ๖ เป็นโรคปวดศีรษะอย่างแรง เพราะเรียนหนัก หมอแนะนำให้ไปพักผ่อนต่างจังหวัด ท่านก็กลับบ้านเกิด ก็ไปรู้จากโยมชื่อแสง ว่า แฟนเก่าของท่าน ซึ่งปฏิเสธการแต่งงานกับคนที่มาขอทุกราย ครองตัวเป็นโสดมาตลอด ตอนนี้ป่วยเป็นวัณโรค ต้องการพบท่าน โยมแสงนำท่านไปพบผู้หญิงคนนี้ซึ่งป่วยหนัก นางได้นำหนังสือสวดมนต์มาถวาย แล้วอธิษฐานว่า ถ้าชาติหน้ามีจริง ก็ขอเกิดเป็นศิษย์เล่าเรียนจากท่านให้สำเร็จชั้นสูงๆ


หลวงพ่อกล่าวว่า หลังจากท่านกลับวัดทองนพคุณแล้วไม่นาน ก็ได้ข่าวว่า สาวชื่อสุภาพนั้นก็สิ้นชีวิต และท่านก็ลืมเรื่องนี้สนิท ท่านว่าอย่างนั้น พอวันที่พบหน้าสามเณรน้อยจากอีสานรูปหนึ่ง (คือผมเอง) ภาพเก่าๆ ก็ผุดขึ้นในสมอง ถามไถ่ว่ามาเรียนบาลีประโยค ๕ กับท่าน ท่านเล่าว่า “พ่อจึงแน่ใจว่า ลูกคือสุภาพ และถ้าจริงตามนี้ ลูกจะต้องสอบได้เปรียญ ๙ ประโยคตั้งแต่เป็นเณร และบัดนี้ก็เป็นจริงแล้ว” หลวงพ่อเล่าให้ผมฟัง พร้อมกับหยิบหนังสือสวดมนต์ ซึ่งมีลายมือหญิงชื่อสุภาพมายืนยันว่า “นี่พ่อเก็บหนังสือนี้ไว้จนบัดนี้”

ผมก็ถึงบางอ้อในวันนั้นว่า “ทำไมหลวงพ่อจึงพูดกับใครต่อใคร แม้กับพระผู้ใหญ่ว่า จะสอนให้เณรได้เปรียญ ๙ ประโยค มิไยใครจะหัวเราะขบขันว่า ไม่มีทางเป็นจริงได้”

เมื่อผมมาอยู่กับท่านแล้ว หลวงพ่อได้เปลี่ยนชื่อให้ผม จากชื่อเดิม “ทองพัฒน์” เป็น “เสฐียรพงษ์” (ซึ่งเป็นชื่อที่ผมไม่ชอบเลย) เหตุผลของท่าน นอกจากจะหาว่าชื่อบ้านนอกแล้ว ลึกๆ คือ อยากให้ชื่อผมมีพยัญชนะ ส ตัวเดียวกับชื่อหญิง สุภาพ ที่ท่านเชื่อนักเชื่อหนาว่าเป็นผู้มาเกิดเป็นผมในชาตินี้ ผมเล่าถึงตอนนี้ ศิษย์รุ่นน้อง เช่น อุทัย เมตตานุภาพ วีระ บัวทอง แม้กระทั่ง สวัสดิ์ เอบกิ่ง อดีตคนขับรถหลวงพ่อ ร้องว่า ไม่เห็นรู้เลยว่า ชื่อเดิม “ทองพัฒน์” ฝ่ายอุทัยหัวไว พูดขึ้นมาทันทีว่า “สงสัยเขียน พัด มากกว่า เด็กบ้านนอกมีหรือชื่อจะเขียนแบบบาลีว่า พัฒน์” ซึ่งจริงดังอุทัยตั้งข้อสังเกตครับ (ฮิฮิ)

จำได้ว่าเคยเล่าให้คุณชูเกียรติ อุทกพันธ์ เพื่อนผู้ล่วงลับฟัง คุณชูเกียรติเอ่ยว่า “ผู้หญิงคนนั้นคงขี้เหร่น่าดูสินะ” ผมย้อนว่าทำไม “อ้าว แหมน่าจะรู้” แล้วก็หัวร่อขบขัน ตามปกติเพื่อนผมเป็นคนสุภาพมาก นานๆ จะกระเซ้าเย้าแหย่แรงขนาดนี้ คงถือว่าเป็นเขยจุฬาฯ ด้วยกัน

ขอย้อนไปอีกนิด ว่าผมได้เข้ามาอยู่วัดทองแอ๋ได้อย่างไร ตอนผมเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ ใหม่ๆ พักอยู่ที่วัดพิชัยญาติ กับหลวงพี่มหาสมพร ประวรรณากร (ซึ่งเป็นศิษย์หลวงพ่อด้วย) ได้มาเรียนบาลีประโยค ๕ ที่วัดทองนพคุณ ร่วมกับพระนักเรียนจากวัดต่างๆ ประมาณ ๑๐๐ รูปเห็นจะได้ เป็นชั่วโมงแรก ปีนั้นโรงเรียนพระปริยัติธรรมถูกไฟไหม้ โรงเรียนสร้างใหม่ยังไม่เรียบร้อยดี ท่านจึงเปิดการเรียนการสอนที่ศาลาในโบสถ์

ทันทีที่เห็นผมก็ถามว่า เณรเปี๊ยกนี้มาทำไม ผมเรียนท่านว่า มาเรียนประโยค ๕ ท่านถามอีกว่า “เณรนี่นะหรือจะเรียนประโยค ๕ อายุเท่าไหร่” ผมก็บอกท่านไป ท่านก็อธิบายวิชาเรียน สักพักหนึ่งแล้วก็แจกกระดาษคำถาม ให้นักเรียนทำในห้อง ใครทำเสร็จก็ให้กลับวัดได้

ผมก็ตั้งใจตอบ เสร็จแล้วก็เดินลงศาลาจะกลับวัด หลวงพ่อพระธรรมเจดีย์ยืนรออยู่ที่ประตูโบสถ์ (ภาพนั้นก็ติดตาผมจนบัดนี้เหมือนกัน) ท่านถามว่าอยู่กับใคร เมื่อทราบว่าอยู่กับหลวงพี่มหาสมพร ท่านก็ชวนว่า “เณรอยากมาอยู่ด้วยกันไหม” ผมไม่รู้จะตอบอย่างไร จึงว่าแล้วแต่หลวงพี่มหาสมพร ท่านจึงให้ไปบอกมหาสมพรมาหา ผมไปถึงวัดก็เล่าให้หลวงพี่ฟัง หลวงพี่ผมก็รีบมาหาท่าน กลับมาบอกหลังจากประมาณหนึ่งชั่วโมง ว่าให้รีบเก็บข้าวเก็บของ ย้ายวันนี้แหละ

ผมถามว่าจะให้ผมย้ายไปไหน หลวงพี่ว่า “ไปอยู่กับหลวงพ่อเจ้าคุณวัดทอง”

“ทำไมต้องวันนี้” ผมแย้ง

“หลวงพ่อบอกว่า วันนี้เป็นวันเปลี่ยนแปลง ชีวิตเณรจะได้เปลี่ยนด้วย”

“เปลี่ยนแปลงอะไร”

“วันนี้เป็นวันที่ ๒๔ มิถุนายน ตรงกับวันปฏิวัติ” หลวงพี่บอก ผมจึงถึงบางอ้อ


ครับ ชีวิตผมเกี่ยวข้องกับเรื่องประหลาดๆ เกี่ยวกับหลวงพ่อพระธรรมเจดีย์อีกหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนิลพัทธ สุนัขตัวโปรด และเรื่องอื่นๆ อีก ทำให้ได้เรียนรู้จิตใจของคนบางคนหรือหลายคน ซึ่งจะไม่ขอเล่า แต่จะเล่าไปตามลำดับเท่าที่นึกได้ คราวนี้ขอเล่าเรื่อง “อดีตชาติ” ของผมก่อน ความจริงก็เคยเล่าใน “ต่วยตูน” และรวมพิมพ์ใน “สองทศวรรษในดงขมิ้น” (สำนักพิมพ์มติชน) ถึงนำมาเล่าอีกก็คนละ version (ฮิฮิ)

ศิษย์รุ่นน้อง ซึ่งที่ถูกควรเรียกหลานศิษย์คนหนึ่ง หาหนังสืออนุสรณ์ฉลองและเปิดตึกโรงเรียนนพคุณวิทยาประสิทธิ์ มาให้ผม หนังสือเล่มนี้เป็นประวัติศาสตร์หลังจากโรงเรียนเก่าถูกไฟไหม้ แล้วก็ได้สร้างอาคารเรียนขึ้นมาใหม่ ด้วยเงินที่ประชาชนบริจาครวมทั้งงบประมาณจากรัฐบาล ๑ แสนบาท ถ้าสังเกตสักนิดจะเห็นป้ายโรงเรียนว่า “นพคุณวิทยาประสิทธิ์” แต่ป้ายบริเวณที่ตั้งโรงเรียนกลับเขียนว่า “บริเวณล้อมวิทยาประสิทธิ์” มิใช่ความผิดพลาด หรือเผอเรอแต่อย่างใด หากเป็นความตั้งใจที่จะปลูกสำนึกแห่งคุณธรรมความกตัญญูกตเวทีแก่อนุชนรุ่นหลัง (รายละเอียดเล่าไว้แล้วในตอนที่ ๒)

หนังสืออนุสรณ์เล่มนี้มีภาพพระนักเรียน นั่งเรียนบนศาลาในโบสถ์บ้าง ในโบสถ์บ้าง ตามเสมานอกโบสถ์บ้าง โดยพระมหาเสรี ธมฺมเวที (พระเทพปริยัติสุธี) อดีตเจ้าอาวาส เขียนกลอนบรรยายไว้ เห็นภาพยิ่งนัก ผมขออนุญาตนำมาให้อ่าน

ภาพที่หนึ่งศาลาคราไฟไหม้ ที่อาศัยศึกษาหน้าวิหาร
หลังคารั่วฝนสาดนั่งอัดกัน แดดไล่ทันหมดที่หนีกำบัง

ภาพที่สองมองไปในด้านหน้า ทั้งเณรพระเต็มหมดถึงจดหลัง
ตั้งเก้าอี้ยัดเยียดจนเบียดบัง จากหน้าหลังมองดูไม่รู้ใคร

ภาพที่สามด้านหน้าในท่าเฉลียง เฉพาะเพียงทิศเหนือก็เหลือหลาย
ต่างจังหวัดวัดวามามากมาย เวลาบ่ายโมงครึ่งจึงเข้าเรียน

ภาพที่สี่จากหลังไปข้างหน้า นักศึกษาเพ่งพิศและขีดเขียน
ท่านเจ้าคุณกิตติสารฯอาจารย์เรียน แจกข้อเขียนยืนดูหมู่ศิษยา

ภาพที่ห้าเก้าอี้ที่โยมสร้าง ไม่พอนั่งนักเรียนเขียนปัญหา
อาศัยโบสถ์พากเพียรเรียนวิชา จนถึงห้าชั่วโมงตรงทุกวัน

ภาพที่หกยังดีมีที่เขียน นั่งวงเวียนเรียงตามทั้งสามด้าน
รอบอาสน์สงฆ์นั่งชิดติดติดกัน น่าสงสารนั่งเบียดยัดเยียดกาย

ภาพที่เจ็ดเหลือทนบนอาสน์สงฆ์ ชวนกันลงข้างล่างก็ยังได้
บ้างนอนคิดนั่งเขียนเรียนกันไป ที่เมื่อยไซร้ลงนอนพักผ่อนพลาง

ภาพที่แปดในโบสถ์ก็หมดที่ ยังพอมีสีมาด้านหน้าหลัง
ทั้งสี่ทิศรองเขียนเรียนประทัง บ้างใช้ต่างโต๊ะเขียนเรียนวิชา

ภาพที่เก้าใช้ที่เก้าอี้ตั้ง สองรูปนั่งเขียนได้บ้างใช้ขา
รอญาติโยมสร้างให้ใจศรัทธา จะจัดหาสร้างให้พอได้เรียน


ท่านเป็นศิษย์รุ่นหลังเกิดไม่ทันบรรยากาศสมัยที่วัดเราเป็นสำนักให้การศึกษาแก่พระภิกษุสามเณรจากต่างวัด ดุจเป็น “มหาวิทยาลัยตักกสิลา” ก็มิปาน ลองหลับตาวาดภาพดู จะเห็นบรรยากาศดังกล่าวแจ่มชัดในใจ เป็นที่ปลื้มปีติอย่างยิ่ง

:b8: :b8: :b8:

อ่านตอนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมได้ที่... >>>
:b50: :b49: สำนักวัดทองนพคุณ (อ.เสฐียรพงษ์ วรรณปก)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=25870

เจ้าของ:  สาวิกาน้อย [ 28 ก.ย. 2009, 10:10 ]
หัวข้อกระทู้:  พระธรรมเจดีย์ (กี มารชิโน) วัดทองนพคุณ

รูปภาพ

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริ)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๗ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร
เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์เป็นที่ สมเด็จพระวันรัต
ประทานตราตั้ง “เจ้าคณะจังหวัดธนบุรี” แด่
“พระธรรมเจดีย์ (กี มารชิโน ป.ธ.๙)” วัดทองนพคุณ
เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็นที่ พระเทพเมธี
เมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๑๒




พระธรรมเจดีย์ (กี มารชิโน) กับ ส.ศิวรักษ์
ในงานศพพระยาอนุมานราชธน (๒๕๑๒)
ณ บ้านซอยเดโช (ซ.อนุมานราชธน ในปัจจุบัน)



พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ พิจารณาผ้าบังสุกุลบุพโพ
พระธรรมเจดีย์ (กี มารชิโน ป.ธ.๙) อดีตเจ้าคณะภาค ๔,
อดีตเจ้าอาวาสวัดทองนพคุณ พระอารามหลวง

เจ้าของ:  สาวิกาน้อย [ 28 ก.ย. 2009, 10:13 ]
หัวข้อกระทู้:  พระธรรมเจดีย์ (กี มารชิโน) วัดทองนพคุณ

:b44: สำนักวัดทองนพคุณ (อ.เสฐียรพงษ์ วรรณปก)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=25870

:b44: รวมคำสอน “อาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=38913

:b44: ประวัติและผลงาน “อาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=44336

:b44: สามเณรเสฐียรพงษ์ วรรณปก
สามเณรเปรียญ ๙ รูปที่สามในสมัยรัตนโกสินทร์

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=57763

เจ้าของ:  ningnong [ 28 ก.ย. 2009, 23:42 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: สำนักวัดทองนพคุณ (เสฐียรพงษ์ วรรณปก)

สาธุ ! ครับ คุณสาวิกาน้อย

เจริญในธรรมครับ
:b8: :b8: :b8:

เจ้าของ:  bbb [ 22 ต.ค. 2009, 10:12 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: สำนักวัดทองนพคุณ (เสฐียรพงษ์ วรรณปก)

:b8: :b8: :b8:

เจ้าของ:  Duangtip [ 30 ก.ค. 2019, 08:11 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: สำนักวัดทองนพคุณ (อ.เสฐียรพงษ์ วรรณปก)

:b39: :b44: ขออนุโมทนา สาธุๆๆ ค่ะ
:b8: :b8: :b8: สุดยอดจริงๆค่ะ

เจ้าของ:  AAAA [ 10 ส.ค. 2019, 09:57 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: สำนักวัดทองนพคุณ (อ.เสฐียรพงษ์ วรรณปก)

4Aขออนุโมทนาสาธุการค่ะ :b8: :b8: :b8:

หน้า 1 จากทั้งหมด 1 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/