วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 16:30  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=19



กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 พ.ย. 2008, 17:26 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 26 มิ.ย. 2008, 17:20
โพสต์: 1855

แนวปฏิบัติ: อานาปานสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: THAILAND

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

:b48: บทสัมภาษณ์และข้อคิดดีดี จากฐิตินาถ ณ พัทลุง :b48:

ฐิตินาถ ณ พัทลุง ที่ปรึกษาชีวิต

:b45: การก้าวผ่านวิกฤตครั้งใหญ่ ไม่เพียงแค่ทำให้ผู้หญิงคนหนึ่งค้นพบความสุขที่แท้จริงในชีวิต แต่ยังทำให้เธอตกผลึกทางความคิดกลั่นกรองเป็นตัวหนังสือ แล้วส่งต่อมันเป็น “เข็มทิศชีวิต” ให้กับคนที่มีปัญหาอีกมากมายในสังคม จนเป็นปรากฏการณ์ที่หนังสือธรรมะกลายเป็นหนังสือขายดีอันดับหนึ่งของประเทศ แบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ด้วยยอดขายกว่า 5 แสนเล่ม จากการพิมพ์ล่าสุดครั้งที่ 53 จดหมายนับหมื่นฉบับที่เขียนมาถึง อีเมลวันละ 160 ฉบับ ไม่รวมโทรศัพท์และคำถามที่ถามตรงกับตัว ทำให้ความคิดและคำพูดของฐิตินาถ ณ พัทลุง กลายเป็นที่ปรึกษาชีวิตของคนนับล้านในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

:b47: “สิ่งที่ ‘เข็มทิศชีวิต’ สื่อสาร คือ คนจะรู้สึกว่าถ้าอ้อยผ่านจุดนั้นมาได้อย่างดี เขาก็น่าจะทำได้เหมือนกัน เพราะชีวิตคนทุกคนต้องเจอวิกฤตการณ์ สิ่งที่หนังสือเข็มทิศชีวิตบอกก็คือไม่ว่าวันนี้คุณเจออะไร ทุกคนมีทางเลือก ณ วันที่อ้อยเจอเรื่องราว ชีวิตอ้อยติดลบร้อยล้าน ความรักไม่มี ลูกไม่มีพ่อ คนทั้งโลกมองว่าอ้อยต้องเบี้ยวหนี้แน่ๆ”

ฐิตินาถ ณ พัทลุง พูดถึงที่มาของหนังสือ “เข็มทิศชีวิต” ที่ทำให้เธอกลายเป็นที่ปรึกษาที่ต้องเผชิญสารพัดคำถามในการแก้ปัญหาชีวิตในวันนี้


ภาษิตที่ว่า If one man can do, then another can do. จึงเป็นเหตุผลของตอบรับ “เข็มทิศชีวิต” ที่คนส่วนใหญ่พร้อมจะเชื่อว่าสิ่งที่เล่าผ่านหนังสือเล่มนี้เป็นไปได้จริง

แม้เธอจะพูดเล่นๆ ว่าดีใจที่หนังสือขายดีอันดับหนึ่งของเมืองไทยเป็นหนังสือธรรมะ แทนที่หนังสือสอนใช้ซอฟต์แวร์และหนังสือผี แต่สิ่งที่เธอน่าจะดีใจอย่างเห็นได้ชัดคือการที่หนังสือเล่มนี้กลายเป็นหน่วยกู้ภัยให้กับอีกหลายชีวิตที่ต้องเจอกับปัญหาซึ่งอาจจะน้อยหรือมากกว่าที่เธอเคยเจอ และกลายเป็นเรื่องน่ายินดีที่เธอมักได้ข่าวดีต่างๆ อยู่เสมอจากคนที่ได้รับรู้เรื่องราวของเธอ

ครั้งล่าสุดที่เธอเพิ่งออกรายการโทรทัศน์ มีผู้ชายคนหนึ่งโทรมาหาเธอแล้วเล่าว่า เขาเปลี่ยนใจที่จะไม่ฆ่าตัวตายเพราะบังเอิญได้ยินเธอกำลังเล่าวิกฤตชีวิตของเธอออกทีวีเมื่อ 2 ปีก่อน และแนะนำให้คนที่มีปัญหารู้จักเลือกตัดอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต ทำให้ครอบครัวของเขายังอยู่กันพร้อมหน้า เพียงแค่เปลี่ยนจากการเป็นเจ้าของกิจการมาอยู่อย่างสมถะ แต่ภรรยาและลูกดีใจที่เขายังอยู่ และหนังสือเข็มทิศชีวิตก็อยู่บนหัวเตียงเขาตลอด 2 ปีที่ผ่านมา


:b39: ผ่านวิกฤตเพราะคิดได้ตก

วิกฤตที่ฐิตินาถผ่านมานั้น ทำให้เธอล่มสลายทั้ง ปัจจัย 4 ความรู้สึกปลอดภัย สังคมเพื่อนฝูง การยอมรับในตัวเอง และความศรัทธาในสิ่งที่มนุษย์ทำได้สูงสุด ครบตามหลัก 5 ประการของ มาสโลว์

“อ้อยเป็นคนที่ไม่ชอบสงสารตัวเอง ไม่ชอบตกอยู่ในสถานการณ์ที่เลือกไม่ได้ เพราะฉะนั้นพอเกิดอะไรขึ้นปุ๊บ ก็จะดูว่ามันมีอะไรในเรื่องนี้แล้วเราเอามาใช้ได้ อ้อยพบว่าทุกเรื่องไม่ได้ดีหรือร้ายในตัวมันเอง เหมือนอยู่ๆ ใครจะรู้ว่าการที่อ้อยต้องมาเจอหนี้ร้อยล้าน สามีตาย ถูกนินทาว่าร้าย จะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตที่ดีที่สุดในวันนี้ มองจากเหตุการณ์มันเป็นไปไม่ได้แต่มันดีได้ จึงรู้สึกว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่กระตุ้นเตือนผู้คนว่า วันนี้ไม่ว่าเขาจะเจออะไร ให้เริ่มกลับมาตั้งคำถามกับศรัทธาของตัวเราเองว่า จริงๆ เราเป็นใคร เป็นอะไร”

วิธีการที่จะหาตัวตนของตัวเองที่เธอพูดถึงไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่คนส่วนใหญ่มักจะเชื่อในสิ่งที่คนอื่นพูดเพราะอ่อนแอ

“สิ่งที่พูดถึงในเข็มทิศจะนุ่มนวลและปลอบประโลมจิตวิญญาณได้ดีในการรักษาคน ไม่ว่าจะถูกปฏิเสธอย่างไร แต่เราไม่สามารถใช้กรอบความคิดเราไปตัดสินการกระทำของใครได้ เพราะเราไม่รู้จักเขาจริงๆ ว่าเขามาจากแง่มุมไหนของความคิด ขณะเดียวกันเราก็ไม่สามารถให้ใครมาตัดสินเราได้ เพราะฉะนั้นเมื่อไรที่เราเงี่ยหูฟังหรือหวั่นไหว เมื่อไรก็ตามที่เราอ่อนแอ เราจะเชื่อในสิ่งที่คนอื่นพูด แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าเรารู้ชัดๆ ว่าเราเป็นใคร ทำอะไรอยู่ เราจะไม่กังวลในสิ่งที่คนอื่นคิดเกี่ยวกับเราเลย ชมก็ไม่ลอย ด่าก็ไม่โกรธ การรู้จักตัวเองจึงเป็นสิ่งสำคัญมากของบุคคลแต่ละคน”

ฐิตินาถใช้หนี้ร้อยกว่าล้านหมดภายใน 2 ปีครึ่ง ถ้าเธอจะเลือกทางกลับไปมีชีวิตแบบเดิมเริ่มต้นธุรกิจใหม่ก็คงไม่ใช่เรื่องยาก แต่เธอใช้เวลาอีก 4 ปีต่อมาตกผลึกทางความคิดจนเกิด เข็มทิศชีวิต ซึ่งทำให้หลายคนได้เจอทางเลือกใหม่ของชีวิตเหมือนที่เธอพบ


:b39: มุมการตลาดจาก “เข็มทิศชีวิต”

ถ้าถามว่าหนังสือเข็มทิศชีวิตขายด้วยตัวเนื้อความ โดยไม่ได้ทำการตลาดเลย ก็คงไม่ใช่

เรื่องราวของฐิตินาถถูกมองเป็นสินค้าตั้งแต่วันแรก มีสำนักพิมพ์ถึง 7 แห่ง ติดต่อให้เธอเขียนเรื่องราวที่เกิดขึ้น แต่เมื่อเธอเขียนเสร็จกลับถูกบรรณาธิการของสำนักพิมพ์ระดับแนวหน้าของประเทศถึง 3 คนปฏิเสธ ที่จะตีพิมพ์และให้เธอกลับไปเขียนมาใหม่

:b34: “เขาบอกใครจะอ่านเรื่องแบบนี้ เป็นเรื่องของจิตใจไม่ได้อิงกระแส ขายไม่ได้หรอก คนที่ 2 บอกธรรมะต้องหวานๆ ไม่ใช่วิพากษ์รัฐบาลเศรษฐกิจ ไม่เวิร์ค คนที่ 3 บอกต้องเขียนเรื่องตัวเองเหมือนเขียนเรื่องคนดังดารา เขียนเป็นเรื่องของหลักชีวิต คนไม่อ่านหรอก”


4 ปีก่อนที่เหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้น กระแสหนังสือธรรมะในเมืองไทยยังไม่เกิด แต่ฐิตินาถก็มั่นใจกับสิ่งที่ตัวเองทำ เพราะเธอบอกว่า ต่อให้ต้องเปรียบเทียบหรือแข่งกับคนอื่น ถ้าเรารู้ชัดว่าตัวเองเป็นใคร ทำอะไร เหมือนที่เรารู้จักสินค้า รู้จักธุรกิจของตัว หลับตาก็เห็นทะลุ ก็ไม่ต้องกลัวเรื่องการแข่งขัน แต่ปัญหาก็คือ จิตใจคนไม่เคยเงียบพอที่จะได้ยินเสียงภายในหรือใช้ความรู้สึกในการรับรู้สิ่งที่คนอื่นไม่ได้พูด แม้กระทั่งผู้บริโภค ก็ไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร

เมื่อคิดเช่นนี้ เธอจึงมั่นใจที่จะบอกกับบรรดาบรรณาธิการเหล่านั้นว่า เธอมั่นใจว่าเข็มทิศชีวิตจะขายได้เกินแสนเล่ม

“เขาบอกว่า คุณตลกแล้ว สามพันก็ขายให้ได้เถิด แฮรี่ พอตเตอร์ ที่ว่าขายดีตอนนั้นก็ยังไม่กี่หมื่นเอง แต่อ้อยรู้ว่า ถ้าเรารู้จักโปรดักส์ของเราชัด อ้อยไม่คิดเรื่องเงินด้วยซ้ำ อ้อยรู้ว่าอยากเสนออะไรให้คนอื่น ไม่ต้องกังวลเลย อ้อยจะขับเคลื่อนมัน”

สำนักพิมพ์อาศรมสารนาถจึงเกิดขึ้น เพื่อพิมพ์หนังสือเข็มทิศชีวิตออกขาย ลงทุนเอง จัดจำหน่ายเอง โดยมีสำนักพิมพ์วงกลมช่วยประสานงานกับโรงพิมพ์ และตลอดเวลา 4 ปีกว่า ก็มีหนังสือที่พิมพ์ออกมาเพียงเล่มเดียว โดยเพิ่งจะมีผลงานของ ศิริรัตน์ ณ พัทลุงออกมาเป็นเล่มที่ 2 เมื่อไม่นานมานี้

“อ้อยตกผลึกในช่วง 7 ปีหลังเจอวิกฤต เวลาอ้อยเกิดอะไรขึ้นอ้อยจะชอบ เดิน เราก็จะรู้ด้วยใจตัวเอง จะเห็นเลยว่าไม่มีอะไรเลยเราก็อยู่ได้ แต่ละเรื่องมันดี ทำให้เราโต ไม่ว่าคุณเจออะไรอยู่ มันดีกับชีวิตคุณทั้งนั้นเลย มันเหมือนเป็นประตูที่ทำให้ชีวิตก้าวออกไปอย่างที่คุณคิดไม่ถึงเลย เป็นความสุข ความรัก ความอบอุ่น ความมั่นคง ความเป็นอิสระของจิตใจ”

เห็นสินค้าชัดในด้านเนื้อหา ด้านการผลิตฐิตินาถอยากให้หนังสือเล่มนี้ได้มาตรฐานไม่แพ้หนังสือเมืองนอก ที่พิมพ์สี่สีในแบบที่ตัวเองอยากอ่าน ซึ่งการลงทุนตามแบบที่ตั้งใจ ได้ผลลัพธ์ในแง่ของเรื่องเงินกลับมามโหฬาร “นอกจากตัวเนื้อหา เราก็ต้องเลือกองค์ประกอบที่ดีในการนำเสนอ ไม่ใช่ของเราดีแล้วคนจะกินอย่างไรก็ได้ อ้อยไม่เห็นด้วย ของดีต้องมีแพ็กเกจดีมีการสื่อสารที่ดี”

ด้านการสื่อสาร การบรรยายตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมาของเธอ จึงเปรียบเป็นต้นทุนการตลาดในการสร้างการรับรู้ให้กับสินค้าตัวนี้นั่นเอง เพราะเป็น
‘ธรรมะ’

ยอดขายหลายแสนเล่มของหนังสือ ส่วนหนึ่งมาจากการการทำโปรโมชั่นให้แลกซื้อได้ในราคา 59 บาท เมื่อซื้อสินค้าในเซเว่นครบ 40 บาท จนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2551 ซึ่งเป็นโครงการที่บริษัท ซีพีออล จำกัด จัดขึ้นเพื่อต้องการให้คนไทยมีโอกาสได้อ่านหนังสือมากขึ้น

“โครงการนี้พนักงานเซเว่นเขาก็รู้สึกเหมือนเขาได้ทำบุญด้วย ราคาปกติ 180-200 บาทไม่มีใครซื้อหรอก อ้อยปรับราคาไม่เกิน 60 บาท ที่เหลือให้เซเว่นเป็นคนจัดการ”

ไม่เพียงแต่เด็กขายลูกชิ้นปิ้งที่ฐิตินาถเห็นกับตาว่าเขายืนอ่านเข็มทิศชีวิตระหว่างขายของ บนรถเมล์หรือที่ต่างๆ ก็มีโอกาสพบคนถือหนังสือเล่มนี้ได้บ่อยๆ

“มีผู้หญิงคนหนึ่งเป็นเกษตรกรชาวไร่ชาวนา เขียนมาหาอ้อย บอกว่าในชีวิตนี้เคยแต่ซื้อหนังสือมาตรวจรางวัลในวันหวยออก เข็มทิศชีวิตเป็นพ็อกเกตบุ๊กเล่มแรกที่ได้อ่าน ทำให้เขาได้คิดว่าทำไมเกษตรกรอย่างเขา และคนทั้งหมู่บ้านต้องรอวิ่งไปซื้อกับข้าวจากรถขายกับข้าวทั้งที่ตัวเองเป็นเกษตรกร หมู่บ้านที่อ้อยอยู่ก็เป็นเกษตรกรหมด แต่ทุกคนก็ไปซื้อของที่ร้านกับข้าวที่เอาจากในเมืองมาขาย แพงกว่าซูเปอร์อีก ตลกไหม เป็นเพราะเราใช้ชีวิตโดยไม่ได้หยุดคิดว่าเรากำลังทำอะไรอยู่”


หนังสือเล่มเดียว ขายต่อเนื่องมาตลาด 4 ปีในเมืองไทย วันนี้อยู่ระหว่างรอผลผลิตภาคภาษาอังกฤษ เกาหลี จีน และญี่ปุ่น เพื่อไปวางตลาดต่างประเทศ จากคนไทยที่เคยรับงานเขียนเรื่องธรรมะจากต่างประเทศเข้ามาทั้งที่เป็นเมืองพุทธ กำลังจะมีผลงานเเกี่ยวกับธรรมะส่งออกไปให้ต่างชาติได้อ่านเพิ่มขึ้นอีก 1 เล่ม

ส่วนคนไทยก็เป็นไปได้ว่า เสียงเรียกร้องที่ดังขึ้น อาจจะทำให้มีโอกาสได้เห็นเข็มทิศชีวิตเล่มที่ 2 ออกมาให้อ่านกัน เพราะอย่างน้อย ที่ปรึกษาชีวิตคนนี้ก็กล่าวทิ้งท้ายไว้แบบมีหวังว่า

“หลายคนถามอ้อยตรงๆ อยากได้รายละเอียดว่าจ่ายหนี้อย่างไร บอกเป็นขั้นตอนได้ไหม อ้อยกำลังคิดทีละเรื่อง เช่น ตอนที่บริษัททำร้านเพชรเพิ่งเปิดได้เดือนเดียว และขยาย 9 ร้านใน 6 เดือนทั้งที่ไม่มีเงินสักบาท หรือเรื่องความสำคัญที่รู้สึกดีกับตัวเอง ก็ดูๆ อยู่”


:b39: 3 ปัญหายิ่งใหญ่ของชีวิตคนเมือง

ปัญหาสารพัดเรื่องที่ฐิตินาถให้คำปรึกษา ในจำนวนนี้มีปัญหาฮิตๆ ของคนเมือง คนทำงาน ที่พบเห็นได้บ่อย และเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาสังคมที่พบอยู่เป็นประจำ

ปัญหาเด็ก

พ่อแม่ส่วนใหญ่กลุ่มใจกับเด็กรุ่นใหม่ซึ่งมีเพศสัมพันธ์เร็วขึ้น ขณะที่เด็กที่พบปัญหาก็มีปัญหาเช่นกัน

“พ่อแม่หลายคนเขียนมาปรึกษาลูกชิงสุกก่อนห่าม อ้อยบอกหยุดก่อน อย่างเพิ่งโทษเด็กว่าเลว ให้มองย้อนไปสมัยก่อน จีนโบราณแต่งานตอน 12-13 สังคมไทยก็แต่งงานเร็ว เพียงแต่เด็กสมัยนี้มีเรื่องให้ทำเยอะ กว่าจะเรียนจบปริญญา ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้อย่าคิดว่าเด็กเลว”


ปัญหาพ่อแม่

พ่อแม่ส่วนใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มที่ประสบความสำเร็จ คาดหวังให้ลูกเรียนเก่ง ๆ คาดหวังกับลูก แต่จะผิดหวังเมื่อไม่ได้ดังใจ ขณะเดียวกันก็กลัวลูกเครียด ไม่มีความสุข

“ปัญหานี้อ้อยคิดว่าตลกมาก สมมติเด็กแต่ละคนเป็นนก ปลา กระต่าย ที่ต้องถูกส่งไปโรงเรียนปีนต้นไม้ คุณคิดว่านกปลากระต่ายจะรู้สึกอย่างไร เด็กวันนี้ก็เหมือนกัน เด็กหลายคนไม่ถนัดคิดเลข แต่เขาต้องไปทำแบบเดียวกันหมด แล้วเราใช้ระบบเดียวกันในการวัดเด็ก มันทำลายความภูมิใจศรัทธาในตัวคนคนหนึ่ง แล้วพ่อแม่ก็ไปตัดสินว่าสอบไม่ผ่านคือล้มเหลว ถ้าถามอ้อย คนคนหนึ่งเกิดมา ไม่ว่าจะเป็นลูก เป็นพ่อ เป็นแม่ ให้เขาเป็นเขา ให้เราได้รักเขา แล้วเขารักเราพอแล้ว ไม่มีอะไรให้ต้องพิสูจน์ ทำไมเราถึงต้องให้อีกคนพิสูจน์ความรักหรือความเป็นคน ด้วยมาตรฐานที่ใครไม่รู้ตั้งขึ้นมา ถูกหรือผิดก็ไม่รู้ สิ่งที่อ้อยอยากจะบอกก็คือว่า อย่าบังคับคนอื่นเลย”

โดยส่วนตัวฐิตินาถเป็นคนเรียนเก่ง เธอจบปริญญาตรีตอนอายุเพียง 18 ปี สมัยเรียนมัธยมพิสูจน์ทฤษฎีทำซ้ำให้พ่อแม่เห็นจนได้ 4 ทุกวิชาโดยไม่เข้าห้องเรียน และเลือกที่จะกำหนดชีวิตตัวเอง

“อายุสิบขวดนิดๆ อ้อยตัดสินใจไปเรียนเมืองนอก ติดต่อทำทุกอย่างด้วยตัวเอง ทำให้พอมีปัญหาแล้วบ่นไม่ได้ ต้องจัดการทุกอย่างให้สำเร็จ แต่ถ้าเราเป็นคนเลือกให้เขาทำเมื่อเจอปัญหา เขาจะอ่อนแอและไม่ประสบความสำเร็จ”

ในการเลี้ยง น้องทะเล ลูกสาวคนเดียววัย 12 ปี เวลาส่วนใหญ่ฐิตินาถเลือกที่จะใช้ชีวิตพูดคุยกับลูกอยู่เสมอ รวมทั้งปล่อยให้ลูกสาวค้นหาและเลือกทำสิ่งที่ชอบด้วยตัวเอง ผลคือจากเด็กที่ทรงตัวไม่ดีตั้งแต่เล็ก น้องทะเล กลายเป็นนักว่ายน้ำและนักเทนนิสของโรงเรียน ชอบงานศิลปะที่ทำด้วยตัวเอง พอใจที่จะตื่นตั้งแต่ 6 โมงเช้า และตี 5 อาทิตย์ละ 2 วัน เพื่อไปซ้อมว่ายน้ำที่โรงเรียน

“ถ้าเราลดความคาดหวังเป็นศูนย์ เราจะไม่ผิดหวังกับอะไรเลย” เธอสรุป


ปัญหาครอบครัว

“พ่อแม่ในกรุงเทพฯทำงานหนักมาก กลับถึงบ้านเหนื่อยหมดแรง วิธีการก็คือลูกดูทีวีหรือเล่นเกมไปเถิด กลายเป็นเด็กติดเกม พ่อกับแม่จะได้นอนอืดแช่จมอยู่ในความคิดตัวเองแบบนิ่งๆ แต่นั่นเป็นการทำร้ายลูก มันเหมือนเป็นวงจรมะเร็งร้าย ถามว่าทำไมพ่อแม่ต้องทำงานหนัก เพราะผ่อนบ้านผ่อนรถรูดบัตรเครดิต ก็ต้องเลือกทำงานที่ผลตอบแทนสูงๆ เจ้านายก็กดดัน กลับมาถึงบ้านก็นอนแผ่หลา พอเสาร์อาทิตย์ก็ต้องหิ้วสังขารพาลูกไปเรียนพิเศษจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง”

ประเด็นนี้เป็นคำถามที่ฐิตินาถพบบ่อยจากกลุ่มคนทำงาน ซึ่งเธอแนะนำให้ทุกคนหยุดคิดเพื่อจะได้รู้ว่าทุกคนไม่ได้เกิดมาเพื่อถูกแกว่งไปตามกระแสโดยไม่มีทางเลือก และควรหาให้เจอว่าตัวชอบทำอะไร

“อ้อยเจอคนเยอะมาก ส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร ให้ออกจากงานก็ไม่รู้ว่าตัวเองชอบทำอะไร ซึ่งมันเศร้ามาก การที่ตลอดชีวิตเราอยู่กับงานตลอดเวลา ช้อปปิ้งก็ซื้อเสื้อผ้าเพื่อใส่ไปทำงาน ตื่นขึ้นมาขับรถไปทำงาน อยู่ที่ทำงาน พักผ่อนหลังเลิกงานก็อยู่กับเพื่อนทำงาน ทุกๆ อย่างเพื่องานหมด ถ้าเราไม่ได้ชอบงานที่เราทำ ก็เท่ากับเราปล่อยให้งานกลืนกินชีวิตเรา หรือตลอดเวลาใจเราไม่เคยอยู่กับสิ่งที่เราอยู่ตรงหน้า ร้อยละร้อยเราจะรู้สึกว่าเราทำชีวิตเราไม่เสร็จ”

เธอแนะนำว่า การค้นหาความชอบของตัวเอง ให้ค่อยๆ เริ่มจากตื่นมาแล้วทำในสิ่งที่รู้ชัดๆ ว่าตัวเองถนัดอะไร เริ่มแกะจากตรงนั้น เริ่มต้นอาจจะไม่ใช่งานที่ชอบหรือรัก แต่ถ้ารู้สึกว่างานแย่ ก็ให้คิดว่าเป็นเหมือนเวทีสำหรับขัดเกลาจิตใจตัวเอง แต่ถ้าคิดว่างานไม่ดี แล้วทำไม่ดี ก็จะทำให้รู้สึกล้มเหลวกับตัวตนของตัวเอง ซึ่งอาจจะส่งผลต่อทั้งระบบชีวิต และก่อให้เกิดปัญหาตามมาได้อีกหลายเรื่อง


:b39: 3 ขั้นตอนเช็คเข็มทิศ

หลักการเริ่มต้นในการปรับเข็มทิศชีวิตที่ฐิตินาถแนะนำโดยไม่อิงหลักศาสนา ซึ่งเธอเรียกว่า “เช็กเข็มทิศ” ที่สามารถปรับใช้ได้กับทุกชีวิต ทุกรูปแบบ ทุกคน แบบนำไปใช้ได้ทันที เริ่มจากให้คิดว่า

หนึ่ง - ขณะที่กำลังกระทำ ให้คิดดูว่าเบื้องหลังที่แท้จริงในตัวกำลังคิดอะไรอยู่ ต้องการพูดหรือกระทำเพื่ออะไร เช่น จะตำหนิเพื่อนร่วมงานเพื่อแก้ปัญหาหรือเพื่อหาคนรับผิด

สอง - เช็กวัตถุประสงค์ของชีวิตว่าอยากมีชีวิตเป็นอย่างไร เช่น อบอุ่นมั่นคง มีประโยชน์ มีชีวิตที่มีคุณค่า ทั้งที่บ้านและที่ทำงาน

สาม - เลือกการกระทำที่นำไปสู่การมีชีวิตแบบที่ต้องการ เช่น ถ้าอยากมีชีวิตที่อบอุ่นในที่ทำงาน ก็ไม่มานั่งไล่บี้เพื่อนร่วมงานว่าใครผิด แล้วอาจจะเปลี่ยนไปหาทางแก้ปัญหาแทน

“ตัวอย่างความสัมพันธ์ระหว่างคนทั้งที่ทำงานและที่บ้าน ส่วนใหญ่เกิดจากการที่ต้องการพิสูจน์ว่าใครถูกใครผิด มันเหมือนกับว่าเรามีบางสิ่งบางอย่างอยู่ภายใน เราเลยโยนอะไรที่ไม่ดีออกไปให้คนอื่น ถ้าหันมาเห็นความคิดเบื้องหลัง เราก็จะเลือกการกระทำที่มันสอดคล้องกับเป้าหมาย”

เพียง 3 ขั้นตอน แต่จะทำให้สำเร็จก็ต้องหมั่นฝึกฝนจิตใจ ซึ่ง ฐิตินาถ เปรียบเทียบไว้ถึงความสำคัญของการมั่นฝึกใจตัวเองว่า “หากคิดว่าการอาบน้ำชำระร่างกาย กินข้าว เป็นเรื่องสำคัญทางกาย การไม่ชำระและให้อาหารใจ ก็จะทำให้คนเราไม่สามารถควบคุมชีวิต เลือกจะทุกข์ สุข หรือมองให้ถูกต้องได้ การศึกษาภาวนาจึงเป็นสิ่งจำเป็น”


โดยส่วนตัวแม้จะคุ้นเคยกับการปฏิบัติธรรมมากกว่า 10 ปี แต่ฐิตินาถก็ยอมรับว่า เป็นเรื่องยากสำหรับการฝึกใจด้วยตัวเอง โดยเฉพาะการฝึกอยู่กับบ้าน เทคนิคที่ใช้ได้ดี คือ การเข้าร่วมปฏิบัติยังสถานที่ต่างๆ ซึ่งเป็นการยืมพลังหมู่ บรรยากาศมวลรวมแห่งธรรมะ และกุศโลบายของผู้สอนแต่ละท่านเป็นเครื่องช่วย จะทำให้ฝึกได้ง่ายขึ้น

ดังนั้นทุกวันนี้ นอกจากเธอจะเดินภาวนาในบริเวณบ้านท่ามกลางธรรมชาติขนาด 40 ไร่ ที่ศรีราชา รับบรรยายตามที่ต่างๆ เดือนละ 2 ครั้งโดยไม่รับค่าตอบแทน เขียนคอลัมน์ธรรมะให้กับหนังสือพิมพ์และนิตยสารเดือนละ 2-3 ชิ้น อีกสิ่งที่ยังต้องปฏิบัติอยู่เสมอ คือ การเข้าปฏิบัติธรรมยังสถานที่ต่างๆ


:b35: ปิยาณี รุ่งรัตน์ธวัชชัย
Positioning Magazine มิถุนายน 2551

.....................................................
[สวดมนต์วันละนิด-นั่งสมาธิวันละหน่อย]
[ปล่อยจิตให้ว่าง-ชีวิตที่เหลือเพื่อธรรมะ]


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 9 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร