วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 08:32  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=19



กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 ม.ค. 2009, 14:17 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 23 พฤศจิกายน 2551
โดย… ปรีดา เรืองวิชาธร


หากเราหวนระลึกนึกถึงสภาพจิตใจที่ถูกบีบคั้นกดดัน
หรือเจ็บปวดเป็นแผลฉกรรจ์ในบางช่วงแห่งชีวิต
เราต่างตระหนักดีถึงรสชาติของมัน
และพร้อมเสมอที่จะผลักไสหรือหลีกเลี่ยง
ที่จะเผชิญหน้ากับความรู้สึกดังกล่าว
สภาพความทุกข์ทางจิตใจที่เราแต่ละคนประสบนั้น
ย่อมมีทั้งความคล้ายคลึงเป็นประสบการณ์ร่วมและมีทั้งที่แตกต่าง
เหตุปัจจัยแห่งความทุกข์นั้นก็เช่นเดียวกัน
มีทั้งที่คล้ายคลึงและที่แตกต่างกัน
หลายคนมีประสบการณ์ร่วมในเรื่องเดียวกัน
เช่น ถูกกระทำจากครอบครัวที่ใช้ความรุนแรง
ถูกกดขี่หรือถูกทารุณกรรมในเรื่องเพศ
ถูกเอารัดเอาเปรียบหรือถูกใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม
จากคนในองค์กรเดียวกัน เป็นต้น
ในขณะที่อีกหลายคนกลับมีประสบการณ์อันเจ็บปวดในเรื่องอื่น
เช่น ถูกกระทำย่ำยีจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ
ซึ่งส่งผลให้ชีวิต ครอบครัวและชุมชนของเขาแทบสิ้นไร้ไม้ตรอก เป็นต้น

สภาพความเจ็บปวดทุกข์ทนดังที่กล่าวมานี้
ย่อมทำให้เรารู้สึกโกรธเกลียดต่อผู้ที่กระทำต่อเรา
รู้สึกชิงชังและขยะแขยงต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ดังนั้นหากคนผู้นั้นหรือเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกับอดีตอันเจ็บปวด
ได้ว่ายเวียนเข้ามาในชีวิตเราอีก
หรือแม้แต่เราเผลอคิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าถึงอดีตที่ขมขื่นนั้น
ก็อาจทำให้เราสั่งสมพลังแห่งความโกรธเกลียด
จนอาจแสดงพฤติกรรมอันก้าวร้าวรุนแรงออกไป
โดยที่เราเองก็อาจคาดไม่ถึงว่า เราแสดงออกไปได้อย่างไร
หลายครั้งเราได้แต่นั่งสำนึกเสียใจในการกระทำของเรา
และย้อนกลับมารู้สึกชิงชังรังเกียจอารมณ์ด้านร้ายของเรา
แต่ผ่านไปสักช่วงหนึ่งเราก็แสดงอย่างนั้นอีกเป็นอย่างนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
และดูเหมือนว่ามันจะมีพลังเข้มข้นและเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วด้วยกระมัง
ใช่ไหมว่า ตอนนี้พลังที่ว่านี้
มันมีอิทธิพลครอบงำเหนือจิตใจของเราอย่างยากที่จะรู้เท่าทันแล้ว

อย่างไรก็ตามอารมณ์ความรู้สึกโกรธเกลียดก็เป็นส่วนหนึ่งของเรา
เป็นส่วนหนึ่งเช่นเดียวกับความเมตตากรุณา
ความเบิกบานอันเป็นด้านดีของจิตใจเรา
เราเองก็ไม่อยากให้ความโกรธเกลียด
อันเนื่องจากความเจ็บปวดมันสำแดงพลังอำนาจ เหนือจิตใจอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
แต่ครั้นเราจะผลักไสอารมณ์ด้านร้ายของเราออกไป
ทำดังกับว่า มันเป็นศัตรูตัวฉกาจของเรากระนั้นหรือ
จริงๆแล้วเราจะสามารถผลักไสอารมณ์ด้านร้ายดังที่ว่ามาได้จริงละหรือ
กระทำเยี่ยงนี้แล้วมันจะให้ผลดีขึ้นจริงหรือ

ในทางพุทธศาสนานั้นอธิบายว่า
ความทุกข์ทางจิตใจของมนุษย์เกิดจากรากเหง้าแห่งความไม่รู้จริง
ในสัจภาวะของสรรพสิ่งทั้งปวง
ว่ามันไม่ได้ดำรงตนอยู่อย่างโดดๆ
หากแต่ประกอบกันขึ้นเป็นสิ่งนั้นเป็นสิ่งนี้ตามเหตุปัจจัย
เป็นไปตามความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน
เป็นอยู่ในสภาพที่ไม่มีตัวตนแท้ถาวร
แต่เพราะเรารับรู้อย่างผิดพลาดอยู่เกือบตลอดเวลา
จนทำให้หลงยึดมั่นถือมั่น ว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงดำรงอยู่อย่างไม่แปรเปลี่ยน
ทุกสรรพสิ่งมีตัวตนแท้ดำรงอยู่อย่างอิสระ
มองว่าตัวเราเองเป็นอิสระจากสิ่งอื่น คนอื่น
แยกตัวเราออกจากสิ่งอื่นรอบตัวอย่างเด็ดขาด
มองไม่เห็นว่าตัวเรานั้นสัมพันธ์เชื่อมโยงอย่างไรกับสิ่งอื่น คนอื่น
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เราหลงยึดว่า มีตัวกูของกูที่เที่ยงแท้แน่นอน
อันเป็นความเห็นที่ทำให้เกิดความรู้สึกว่ามีตัวกูที่กำลังทุกข์
และมีความทุกข์ที่คงที่ตายตัวที่เรามักแช่แข็งไว้ในใจตลอดเวลา เป็นต้น

ท่านติช นัท ฮันห์ พระเซนชาวเวียดนามได้อธิบายกระบวนการเกิดทุกข์
และการแปรเปลี่ยนความทุกข์ให้เป็นชีวิตที่เบิกบานและงดงามไว้ ดังนี้

จิตใจของเรานี้เปรียบไปก็คล้ายกับผืนนาอันกว้างใหญ่ไพศาล
ที่พร้อมจะรองรับเมล็ดพันธ์ทุกชนิด
ดังนั้นแต่ละขณะของชีวิตจิตใจของเราจะทำหน้าที่รับรู้
และเก็บเอาทุกสิ่งทั้งดี ร้าย และไม่ดีไม่ร้ายไว้
และหากเราหล่อเลี้ยงเมล็ดพันธุ์ชนิดใดไว้
เมล็ดพันธุ์นั้นก็จะเติบโตงอกงามขึ้นมามีอิทธิพลต่อชีวิตของเรา
ด้วยเหตุนี้จิตใจที่ถูกกระทำ
ให้เกิดความทุกข์ความเจ็บปวดดังกล่าวในข้างต้น แล้วนั้น
จิตใจของเราก็จะรับรู้และเก็บเอาเมล็ดพันธุ์แห่งความทุกข์นั้นไว้
และหากเราไม่มีสติรู้เท่าทันสรรพสิ่งตามที่เป็นจริง
ปล่อยให้เกิดการรับรู้อย่างผิดพลาดเสมอๆ
ก็เท่ากับเราได้รดน้ำพรวนดินหล่อเลี้ยงให้เมล็ดพันธุ์แห่งความทุกข์นั้นเติบโต
ซึ่งมันจะออกโรงปรากฏให้เราเห็นดังที่กล่าวมา

ไม่เฉพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความทุกข์ ความเจ็บปวด
หรือความเคียดแค้นชิงชังเท่านั้น
เมล็ดพันธุ์แห่งความละโมบ ความทะยานอยากทั้งหลาย
เมล็ดพันธุ์แห่งความรู้สึกเปรียบเทียบแล้วถือตนว่า
เหนือหรือต่ำกว่าคนอื่น ฯลฯ ก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน
ยิ่งเมล็ดพันธุ์แห่งการติดยึดภาพลักษณ์แห่งความดีด้วยแล้ว
ก็ยิ่งยากนักที่เราจะรับรู้อย่างเท่าทันตามที่เป็นจริง
จึงง่ายที่จะเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว
และยากที่จะถ่ายถอนบรรเทาให้เบาบางลง

การพลิกเปลี่ยนจากพลังด้านร้ายของชีวิตให้เป็นพลังด้านดีนั้น
กุญแจสำคัญอยู่ที่การหมั่นฝึกฝนสติให้แหลมคม
มีพลังเพียงพอที่จะรู้เท่าทัน จิตใจ
ทำให้เกิดการรับรู้อย่างตรงไปตรงมา
ไม่รับรู้อย่างผิดพลาดหรือหลงติดในภาพสัญลักษณ์ที่เราสมมุติกันขึ้น
หลงเข้าใจว่าสรรพสิ่งเป็นอิสระ ดำรงอยู่ได้ด้วยตัวมันเอง
ตัวเราเป็นอิสระดำรงอยู่อย่างไม่สัมพันธ์กับสิ่งอื่น คนอื่น
สติที่ถูกฝึกมาดีแล้วย่อมเป็นเสมือนอุปกรณ์สำคัญ
สำหรับการแปรเปลี่ยนรากเหง้าแห่งอกุศลให้เป็นกุศล
ซึ่งจะเป็นปัจจัยให้ชีวิตเกิดความเบิกบานและงดงาม
ท่านติช นัท ฮันห์ กล่าวว่ามีอยู่ ๓ ทาง
ที่เราจะแปรเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์แห่งความทุกข์
ให้ชีวิตพบกับความเบิกบานและ งดงาม ดังนี้


๑. พยายามใช้พลังแห่งสติสาดแสงเข้าไปในจิตใจ
เพื่อหล่อเลี้ยงเมล็ดพันธุ์แห่งความเบิกบานและงดงามที่มีอยู่ในตัวเรา
ให้ เติบโตงอกงามอยู่เสมอ โดยเปิดโอกาสให้เมล็ดพันธุ์ด้านดีของเรา
ปรากฏตัวออกทั้งทางกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม เท่าที่จะทำได้
ปล่อยให้เมล็ดพันธุ์ที่ว่านี้ ได้แปรสภาพเมล็ดพันธุ์แห่งความทุกข์โดยทางอ้อม
นับเป็นการแปรสภาพความทุกข์ให้อ่อนพลังลงเรื่อยๆ
โดยเราไม่จำต้องจัดการโดยตรงกับเมล็ดพันธุ์แห่งความทุกข์
วิธีการนี้เหมาะควรกับบางคนที่มีปมแห่งความทุกข์ความเจ็บปวดลึกซึ้ง
และทนได้ยากที่จะเผชิญหน้าตรงๆ กับความทุกข์
การใช้สติหล่อเลี้ยงเมล็ดพันธุ์แห่งความเบิกบานและงดงาม
จึงเป็นวิธีการทางอ้อมที่จะลดความเข้มข้นของเมล็ดพันธุ์แห่งความทุกข์
ให้เจือจางบรรเทาลงได้บ้าง จากนั้นจึงขยับไปใช้วิธีการในข้อต่อไป

๒. วันคืนแห่งการเจริญสติหากช่วงใดขณะใด
ที่เมล็ดพันธุ์แห่งความทุกข์ปรากฎตัวขึ้นมา

ให้เราใช้พลังแห่งสติลูบไล้สัมผัสกับเมล็ดพันธุ์แห่งความทุกข์นั้น
เมื่อถูกสัมผัสด้วยพลังแห่งสติแล้วเมล็ดพันธุ์แห่งความทุกข์นั้นย่อมอ่อน
กำลังความเข้มข้นลง เพียงเราใช้สติเพื่อรู้เท่าทันเมล็ดพันธุ์แห่งความทุกข์
อย่างกล้าหาญเท่า นั้น ความทุกข์ที่มีอำนาจเหนือจิตใจเรามาโดยตลอด
ก็ย่อมอ่อนกำลังแปรเปลี่ยนสภาพไป ในที่สุด

๓. เชื้อเชิญเมล็ดพันธุ์แห่งความทุกข์นั้น
ให้ปรากฎอยู่ในการรับรู้ของจิตใจเราไปเลย

วิธีการนี้เหมาะกับบางคนที่มีสติและจิตใจเข้มแข็งมั่นคงระดับหนึ่งแล้ว
จึงไม่จำเป็นต้องรอให้เมล็ดพันธุ์แห่งความทุกข์มาปรากฏตัวอย่างมิได้คาดฝัน
แต่เรากลับเป็นฝ่ายเชื้อเชิญมันมาสู่การรับรู้ของเรา
ทำดังกับว่าเราพบกับเพื่อนเก่าที่รู้จักกันมานาน
แล้วเชื้อเชิญเขามาสู่การพูดคุยกันอย่างลึกซึ้ง สติที่ถูกฝึกมามาดีระดับหนึ่งแล้ว
ย่อมทำให้เราสามารถเผชิญหน้ากับความทุกข์ได้อย่างกล้าหาญ
ซึ่งจะนำไปสู่การประจักษ์แจ้งถึงความจริงของสรรพสิ่งตามที่มันเป็น
อันจะเป็นการบั่นรอนห่วงโซ่แห่งความยึดมั่นถือมั่นให้ขาดลง
แล้วเข้าถึงสภาวะแห่งความเบิกบานและงดงามในที่สุด
เป็นการประจักษ์แจ้งในขณะที่เรายังเวียนว่ายในสังสาระนี้แล

วิธีการทั้ง ๓ ที่กล่าวมานี้ เราสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม
สอดคล้องกับตัวเรา หากเราริเริ่มใส่ใจฝึกฝนนับแต่บัดนี้
ความเบิกบานและงดงามแห่งชีวิตก็พลันจะปรากฏขึ้นในทุกขณะแห่งชีวิต
ยิ่งอำนาจแห่งสติครอบครองจิตใจได้นานและบ่อยครั้งเพียงใด
ความเบิกบานและงดงามในชีวิตยิ่งจะมั่นคงยั่งยืนมากขึ้นเท่านั้น

คัดลอกจาก...
http://www.peacefuldeath.info/article/?p=96

:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ม.ค. 2009, 19:20 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 2
สมาชิก ระดับ 2
ลงทะเบียนเมื่อ: 09 ม.ค. 2009, 18:00
โพสต์: 64


 ข้อมูลส่วนตัว


ขอบคุณที่ทำให้ได้อ่านบทความดีๆเช่นนี้ ดีมากๆค่ะ :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 ก.ย. 2015, 15:26 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 พ.ค. 2009, 05:25
โพสต์: 621


 ข้อมูลส่วนตัว


tongue


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 8 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร