วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 03:56  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=19



กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 มี.ค. 2010, 22:32 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 03 ม.ค. 2010, 02:43
โพสต์: 4467

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


โรงเรียนทอสี ทอแสงแห่งธรรม เรื่องโดย จิตติมา พลิคามิน

เดือนมีนาคมสำหรับคนทั่วไปคงไม่มีอะไรน่าจดจำมากไปกว่าจุดหนึ่งของโมงยามที่หมุนวนไปกับกงล้อของวันเวลา แต่สำหรับโรงเรียนเล็กๆแห่งหนึ่ง ทุกครั้งที่เดือนนี้เวียนมาบรรจบ นั่นหมายถึงอีกหนึ่งหลักกิโลเมตรที่ทำให้มั่นใจได้ว่า สิ่งที่ทำอยู่นั้นเดินมาถูกทาง

โรงเรียนที่ว่านี้เกิดมาจากความเชื่อว่า โลกต้องการคนดีที่รักการเรียนรู้และมีธรรมะในใจ เมื่อเป็นดังนี้ ทุกบทเรียนชีวิตที่นี้ล้วนเป็นไปเพื่อสร้างคนดีที่มีความสุขตามแนวทางของพุทธศาสนา และอีกไม่กี่วันจากนี้ไป คนดีที่มีความสุขจากรั้วทอสีรุ่นที่ ๒ กำลังจะออกไปเผชิญโลกกว้างในสภาพแวดล้อมที่ต่างจากเดิม

ท่ามกลางการทวงถามเรื่องคุณภาพการศึกษา ท่ามกลางการทวงถามเรื่องคุณธรรมจริยธรรมในสังคม และท่ามกลางการคาดหวังจากสังคมที่มีต่อครูและการปฏิรูปการศึกษาไทย ครูคนหนึ่งได้ค้นพบแล้วว่า แนวทางของพุทธองค์ คือสิ่งเดียวที่จะคลี่คลายปัญหาทั้งปวง

“อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา พุทธัง ภะคะวันตัง อะภิวาเทมิ” สิ้นเสียงสวดมนต์ เด็กๆ เปลี่ยนท่านั่งจากเบญจางคประดิษฐ์มาเป็นขัดสมาธิ .. สูดลมหายใจเข้าตามลมหายใจ ก่อนที่จะแยกย้ายกันเข้าเรียน.. ที่ทอสี ตั้งแต่อนุบาลจนถึงประถม เด็กทุคนต้องสวดมนต์ รักษาศีล นั่งสมาธิ ฟังธรรม เดินจงกรม และรู้จักพิจารณาสิ่งต่างๆ ด้วยปัญญา ทุกอย่างล้วนต้องฝึกฝน ทั้ง “ฝ.ฝืน” และ “ฝ.ฝึก” จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทั้งครูและนักเรียนต้องร่วมกันทำ

ครูอ้อน-บุบผาสวัสดิ์ รัชชตาตะนนท์ ผู้ก่อตั้งและครูใหญ่โรงเรียนทอสีเล่าถึงที่มาก่อนประกาศตัวเป็นโรงเรียนแนวพุทธว่า ทอสีเริ่มมาจากโรงเรียนอนุบาลซึ่งไม่ได้เน้นที่วิชาการ แต่เน้นที่การเตรียมความพร้อม “คือเราไม่เห็นด้วยกับแนววิชาการอยู่แล้ว เพราะคิดว่าการเรียนรู้ต่างๆ ต้องเรียนผ่านการลงมือปฏิบัติ ไม่ใช่เรียนจากหนังสือตำราเพียงอย่างเดียว แต่พอทำไปแล้วก็เริ่มรู้สึกว่าการเตรียมความพร้อมอย่างเดียวยังไม่สมบูรณ์ จนกระทั่งได้มาปฏิบัติธรรมถึงได้รู้ สิ่งที่ขาดไปในการเรียนการสอน คือความเข้าใจชีวิต”

เมื่อค้นพบคำสอนของพระพุทธเจ้าที่บอกว่า ชีวิตคือการศึกษา และการศึกษาคือชีวิต ทำให้ครูอ้อนกลับมาทบทวน จนได้คิดว่า ทุกอย่างเป็นเนื้อเดียวกัน ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนหรือทำอะไร คนเราสามารถศึกษาได้ตลอด “การทำให้เด็กเข้าใจในชีวิตว่าเขามีหน้าที่ต่อตัวเอง ต่อเพื่อนร่วมห้อง ต่อครู ต่อพ่อแม่ สังคม สรรพสัตว์ ต้นไม้ และทุกอย่างในโลกใบนี้อย่างไร มีอีกหลายอย่างที่เขาจะต้องศึกษาและทำความเข้าใจ ซึ่งเทคนิคต่างๆไม่ได้พูดถึงหรือถ้าพูดก็ได้แค่ระดับหนึ่ง แต่พอเราค้นพบตรงนี้ และนำวิธีเหล่านั้นมาใช้ มันก็มีหลัก มีทิศทางที่ชัดเจน รู้ว่าทำไปเพื่ออะไร และให้เด็กเป็นคนอย่างไร”

สำหรับทอสี ทุกอย่างจึงเป็นครู ไม่เว้นแม้แต่ต้นไม้ ใบหญ้า ก้อนหิน ดิน ทราย ต้นไม้ในทอสีไม่เพียงให้ร่มเงาทางกาย แต่ยังให้ร่มเงาทางใจแก่ผู้ผ่านไปมา แผ่นไม้เล็กๆ ที่มีตัวอักษรขนาดพอเหมาะเขียนด้วยลายมือที่อ่านง่าย ถูกนำไปติดไว้กับต้นไม้ที่แข็งแรงพอจะเผื่อแผ่ความแข็งแรงไปยังสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ด้วยความเต็มใจ “ไม่เป็นไร พอทนได้ ลืมเสียเถิด , ผู้รู้ , ผู้ตื่นเท่านั้นจึงจะเป็นผู้เบิกบาน , ธรรมะคือความพอดี , ภาวนาคือการทำให้เจริญ คือการทำสิ่งที่ดีงามเกิดขึ้นในใจเรา , บัณฑิตคือนักปฏิบัติผู้กล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง ทั้งๆ ที่ไม่ถูกใจ และกล้าไม่ทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ทั้งๆ ที่ถูกใจ ..” เด็กๆวิ่งเล่น ลมพัดใบไม้ปลิวธรรมะอยู่ที่ต้นไม้

“เอามาคืนแล้วนะ เล่นด้วยได้ไหม.. ได้สิ ไม่เป็นไร” แว่วเสียงเด็กผู้หญิง 3-4 คน ที่กำลังจับกลุ่มเล่นขายของลอยมาตามลม.. การกำหนดสติไม่ใช่แค่ช่วงปฏิบัติธรรม ไม่ใช่แค่นั่งหลับตา แต่สามารถทำได้ตั้งแต่ตื่นจนหลับ มันเกี่ยวข้องกับการปฏิสัมพันธ์กับผู้คน..แว่วเสียงครูอ้อนลอยมาเช่นกัน



วิชาการ-วิชาชีวิต

“ถ้าศึกษาพระพุทธศาสนาจริงๆ จนเข้าใจ จะพบว่าทุกอย่างล้วนเกี่ยวกับการดำรงชีวิต แม้แต่เรื่องง่ายๆ อย่างการกิน พุทธศาสนาสอนให้บริโภคอย่างพอเพียง กินอย่างรู้คุณค่า ไม่ใช่เพื่อความอร่อย รู้ว่าผักมีวิตามินอะไร มีประโยชน์อย่างไร แล้วจะนำเข้าสู่ชีวิตของเราอย่างไร นำความรู้เพื่อที่จะทำให้เกิดการยั้งคิดหรือการพิจารณาตลอดในวิถีชีวิตของเรา คือกินอย่างมีสติมากขึ้น”

ด้วยวิธีคิดเช่นนี้ ทำให้คุณพ่อคุณแม่หลายคนต้องแปลกใจ เมื่อพบว่าลูกน้อยที่เคยมองเห็นผักเป็นยาขม พอมาอยู่โรงเรียนได้ไม่เท่าไร กลับกินผักได้หน้าตาเฉย

ตลาดสดกับเด็กเล็กๆ อาจจะเป็นสถานที่ต้องห้ามสำหรับหลายๆครอบครัว บ้างก็กลัวเลอะเทอะ บ้างก็กลัวลูกจะได้รับอันตราย แต่ทอสีไม่คิดเช่นนั้น การได้เรียนรู้มากขึ้น ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญที่ควรปลูกฝังตั้งแต่ชั้นอนุบาล

ฐานทำอาหารเป็นหนึ่งในฐานการเรียนรู้ของนักเรียนชั้นอนุบาล ๒ ซึ่งพ่อครัวแม่ครัวตัวน้อยต้องจ่ายตลาดและทำกับข้าวกันเอง กติกาถูกกำหนดขึ้นคร่าวๆ เป็นธรรมดาที่ต้องมีข้อตกลงร่วมกัน อย่างน้อยก็ทำให้การเดินทางไกลครั้งนี้ปลอดภัยไร้กังวล ก่อนออกเดินทางคุณครูพาลูกศิษย์ซ้อมมือ โดยช่วยกันคิดว่าในตลาดน่าจะมีอะไรบ้าง เสียงเล็กๆ ช่วยกันตอบอย่างเพลิดเพลิน .. เนื้อหมู ไก่ ส้ม ผักบุ้ง หมูสับ มะเขือ ลำดับ ถัดมาเป็นไฮไลต์สำคัญ เพราะทั้งพวกเขาและเธอจะได้ร่วมกันคิดเมนูเอง เมื่อได้ชื่ออาหารที่ตกลงปลงใจด้วยกันทั้งห้องแล้วก็มาช่วยกันคิดว่าต้องใส่อะไรบ้าง

ทุกขั้นตอนของฐานการทำอาหาร ไม่เพียงได้กับข้าวมา 1 มื้อ เท่านั้น แต่เด็กๆ ยังได้เรียนรู้ทักษะต่างๆ มากมาย เรียนเหมือนเล่นไม่เห็นเป็นไร “ฐานทำอาหารเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนแบบบูรณาการ รวมทุกวิชามาอยู่ด้วยกัน ทั้งคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ การฝึกทักษะกล้ามเนื้อรวมไปถึงวิชาสังคม” ครูนาง-วารุณี แสนกล้า ผู้ดูแลเด็กอนุบาลมากว่า 10 ปี บอกกับเรา เมื่อได้วัตถุดิบมาจากตลาดเรียบร้อย คุณครูจะมาทบทวนเรื่องการใช้เงิน สะกดด้วยตัวอะไรทั้งไทยและอังกฤษ หยิบจับลูบคลำแล้วก็ช่วยกันเก็บเข้าที่ ชนิดไหนไว้บอก ไว้ในตู้เย็นก็ได้รู้กันไป

เช้าวันรุ่งขึ้น ทุกคนต่างตื่นเต้น วันนี้แล้วสินะจะได้ลงมือทำเอง ที่เห็นหนูๆ กำลังใช้ฝ่ามือคลึงเคล้าอยู่นั้นไม่ใช่ดินน้ำมันแต่เป็นหมูสับ โต๊ะโน้นช่วยกันหั่นแครอต มือน้อยค่อยๆ หั่นผักกาดขาว เธอเด็ดผักชีแล้วกัน “วุ้นเส้นต้องแช่น้ำก่อน” เสียงคุณครูบอกเด็กๆ ดวงตากลมโตจ้องดูความเปลี่ยนแปลงของวุ้นเส้นแบบตาไม่กระพริบ มันช่างน่าตื่นตาตื่นใจอะไรปานนี้ น้ำในหม้อเดือดแล้ว เด็กๆ ช่วยกันตักหมูสับก้อนกลมๆ ลงในน้ำ ราวกับภารกิจสำคัญในชีวิต ทุกคนตั้งอกตั้งใจ เต้าหู้และผักนานาชนิดถูกมือน้อยๆ ทยอยใส่ลงไป ใครอยู่หน้าหยิบผักกำใหญ่เพื่อนที่อยู่ข้างหลังก็ได้หยิบน้อย อยู่ร่วมกันต้องนึกถึงคนอื่น..ไม่นาน แกงจืดวุ้นเส้นฝีมือเด็กๆ ก็เสร็จสมบูรณ์ นอกจากอิ่มพุงแล้ว ยังอิ่มใจที่ได้แบ่งกับข้าวให้น้อง อ.๑ และพี่ อ.๓ ได้ลองลิ้มชิมรส

“สังคมทุกวันนี้เป็นสังคมบริโภค คุณบริโภคโดยไม่ได้รู้คุณค่าเพราะเป็นผู้เสพอย่างเดียว ซึ่งไม่ได้ทำให้ชีวิตพัฒนาขึ้น เมื่อคุณกิน คุณบริโภค คุณเอร็ดอร่อย คุณอยากจะกิน คุณไม่ได้นึกเลยว่า ที่มาก่อนจะมาเป็นอาหาร คนเตรียมอาหารที่บ้านต้องเหนื่อยอย่างไร เราต้องนึกถึงว่าอาหารแต่ละมื้อที่ได้มามีบุญคุณของผู้ที่ทำให้ ตั้งแต่ชาวนาที่ปลูกข้าวให้เรากิน เมื่อคิดแบบนี้เราก็จะรู้สึกเอื้ออาทรคนเหล่านั้นมากขึ้น เราไม่ใช่คิดแค่ว่าเขามีหน้าที่ที่จะทำอาหารให้เราแล้วก็จบกัน แต่เราจะต้องรู้สึกกตัญญูต่อคนเหล่านั้นด้วย” ครูอ้อนเผยถึงปลายทางที่มากกว่าการพาเด็กทำอาหารเพียงอย่างเดียว

“โยนิโสมนมิการ” คำคำนี้คือหัวใจหลักของทุกการเรียนรู้ในทอสี รู้จักคิดพิจารณากลั่นกรองหาเหตุผล เชื่อมโยงสิ่งต่างๆ ในชีวิตได้ การเข้าใจอย่างกระจ่างเป็นหนทางในสู่ปัญญา “ที่ผ่านมาเราให้น้ำหนักกับวิชาการมากเกินไป ทำให้สังคมทุกวันนี้มองแต่ประโยชน์ส่วนตน ต้องได้กำไรมากที่สุด เพราะคิดว่ามนุษย์เป็นศูนย์กลางของทุกอย่าง แต่จริงๆ มนุษย์เป็นเพียงเศษเสี้ยวของจักรวาล นี่คือสิ่งที่เราต้องรู้ เราเอาประโยชน์จากต้นไม้จากทรัพยากรไม่รู้เท่าไร ไม่เคยนึกถึงว่าในที่สุดแล้วตัวเราเองจะถูกกระทบ ลูกหลานจะต้องเดือดร้อน เพราะเราใช้น้ำมันกันโครมๆ เปิดแอร์กันทั้งวัน แต่ถ้าเราศึกษาที่มาที่ไปว่ากว่าที่จะได้เป็นน้ำมัน กว่าจะมาเป็นน้ำประปา มันซับซ้อนแค่ไหน นี่คือสิ่งที่ทอสีพยายามให้กับเด็ก ให้เขารู้ว่าทุกอย่างบนโลกนี้ไม่ใช่ของสำเร็จรูป แต่มีที่ไปที่เราต้องตระหนักและรู้คุณค่า”



บูรณาการผ่านหน่วยการเรียนรู้

ก่อนสิ้นปีการศึกษาจะมีงานสำคัญที่รวมทั้งนักเรียน ครูและผู้ปกครองไว้ด้วยกัน บรรยากาศการเตรียมงานคึกคัก นักเรียนทุกคนครึกครื้นที่จะได้บอกเล่าเรื่องราวที่ตนเรียนรู้มาตลอดปี การออกร้านอาหารในชื่อ “กระท่อมชายทุ่ง” เป็นหนึ่งในผลผลิตจากเรียนรู้แบบบูรณาการ “ข้าว” ถูกเลือกให้เป็นพระเอกในหน่วยการเรียนรู้ของนักเรียนชั้น ป.๓ เพราะอยู่ใกล้ตัวเด็กที่สุด หลังเรียนรู้เรื่องทฤษฎีทั้งพันธุ์ข้าว การเจริญเติบโตของข้าว รวมทั้งสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืชชนิดนี้ เมื่อถึงเวลาฝนมา ฟ้าตั้งเค้า เด็กๆ ก็จะได้ออกไปทำนากับเขาด้วย

ครูแจ๊ส-พัชนา มหพันธ์ ผู้ดูแลวิชาชีวิตในรั้วทอสี บอกว่าการออกนอกพื้นที่ทำให้เด็กได้ทักษะทางสังคม ได้เจอคุณลุง คุณป้าที่เป็นชาวนา ได้เรียนรู้จากของจริง ที่สำคัญได้ความอดทนกลับมา แต่ละคนกินข้าวหมดจาน เพราะเด็กได้รู้ว่ากว่าจะได้ข้าวออกมาแต่ละเมล็ดมันเหนื่อยขนาดไหน ถ้าไม่ได้ไปก้มหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดินอยู่ทั้งวันแบบนั้นเขาก็ไม่ซาบซึ้ง

“วิชาภาษาไทยก็เรียนรู้ผ่านงานวรรณกรรมอย่าง นาฏกรรมบนลานกว้าง ขอ งคุณคมทวน คันธนู เพลงเกี่ยวกับข้าวบทร้อยกรองเกี่ยวกับข้าว ให้เขาเขียนเรียงความเกี่ยวกับข้าวบันทึกขั้นตอนวิธีการทำหน้าที่ข้าวทำยังไง หรือแม้กระทั่งเอาข้าวมาทำอาหาร ขั้นตอน เด็กๆ ต้องเขียนทุกอย่าง ทักษะได้หมดเลย วิทยาศาสตร์ ก็เป็นเรื่องพืช สัตว์ ธรรมชาติ ในเทอม ๒ เราก็จะเน้นว่าข้าวเป็นอาหารหลักประจำชาติ วัฒนธรรมไทยทุกภาคมีหมด มีความแตกต่าง แล้วอาหารที่ทานกับข้าวของแต่ละภาคเป็นอย่างไร เจาะเรื่องการดำรงชีวิต ทำให้เขาเข้าใจความหลากหลายในสังคมไทย”

ร้านกระท่อมชายทุ่งได้รับความสนใจจากทั้งเพื่อนนักเรียนและผู้ปกครองเป็นอย่างดี ทั้งในส่วนของนิทรรศการและร้านอาหาร ทั้งข้าวเหนียวเปียกลำไย ข้าวเหนียวดอกอัญชันที่ขายดีจนฝ่ายเสบียงต้องไปหามาเพิ่ม อิ่มหนำสำราญกันดีแล้วก็มาพักกายพักใจที่สปา “ไม่กลัวหน้าแตกขอแบกความจริง” ซึ่งเป็นชื่อนิทรรศการของหน่วยการเรียนในชั้น ป.๕ ที่เรียนเกี่ยวกับโลกทั้งฟื้นผิวโลกขึ้นไปถึงชั้นบรรยากาศ และศึกษาจนถึงใต้พิภพ และเน้นทั้งวิทยาศาสตร์และสังคม “เป้าของเราคือให้เด็กรู้จักรักโลก รักแบบอนุรักษ์ ถ้าเขารู้ที่มาที่ไปและเห็นคุณค่าเข้าใจอย่างถ่องแท้ เขาก็จะไม่ทำลาย” ครูแจ๊สเล่าทั้งรอยยิ้ม

“เด็กๆ เรียนเรื่องความลับความปฐพี เรื่องเกี่ยวกับดิน เรื่องเกี่ยวกับธรรมชาติ ดินเป็นที่เกิดของอะไรหลายๆอย่างพืช สัตว์ กินพืช คนกินพืช คนกินสัตว์อีกที ตอนเด็กๆ พี่เรียนแบบท่องจำดินมีประโยชน์อย่างไร ก.ข.ค.ง. ตอบให้ถูก เขียนให้ถูก ๑ ๒ ๓ ๔ ข้อตอบจบ แต่ถามว่าเคยปลูกต้นไม้หรือเปล่า เคยรู้ไหมว่ามีอะไรอยู่ในดินบ้าง มีสัตว์อะไรที่เขาพึ่งพาดินอยู่ ก็นำมาผูกเป็นเรื่องให้เด็กได้ปฏิบัติจริง แล้วสมุนไพรก็เป็นสิ่งที่เด็กๆ เขาสนใจ” สปาที่มีทั้งนวดประคบสมุนไพร และบริการสระผมจึงเกิดขึ้นจากจุดเริ่มต้นเล็กๆ เรื่องดินนำไปสู่การเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่ในอีกหลายสาขาวิชา “ เด็กๆ ก็ต้องฝึกทำยาสีฟัน ทำสบู่ ทำแชมพูเองสาธิต แล้วทักษะวิชาการมาหมดเลย วิธีการที่คุณจะอธิบายให้คนอื่นเข้าใจ ขั้นตอนการนำเสนอยังไง ทุกอย่างเด็กเรียนรู้หมดจากการปฏิบัติจริง แล้วก็จะมีฝ่ายขาย ฝ่ายขายต้องขายเก่งคุณก็ต้องมีพีอาร์ คุณต้องทำป้ายโฆษณา คุณจะโปรโมตสินค้าก่อนวันจริงสักเท่าไร การตั้งราคา การทำบัญชีของคุณ คุณขายได้เท่าไร เด็กๆ ชอบมากเพราะได้เรียนรู้ผ่านชีวิตจริง”

ฝีไม้ลายมือ

ซ้ายมือเยื้องไปด้านหลังศาลาพระพุทธรูปเพียงเล็กน้อย เด็กๆ กำลังนั่งสานตะกร้าจากใบลาน ในขณะที่อีกด้านหนึ่งของอาคารเรียน เด็กผู้ชายกำลังขัดไม้อัดด้วยกระดาษทราย สาวน้อยผมเปียกำลังจะเดินไปเรียนดนตรีไทยที่เธอชอบ ส่วนหนุ่มน้อยร่างอ้วนกำลังมุ่งมั่นอยู่กับดินเหนียวในมือ เด็กทุกคนต่างมีความสามารถที่เรียกว่าพรสวรรค์อยู่ในตัว แต่น่าเสียดายที่พรจากสวรรค์เหล่านี้มักถูกทำลายลง เมื่อสิ่งที่เขาสนใจไม่สอดคล้องกับค่านิยมในสังคม

ครูแจ๊สบอกว่า ที่ทอสีจะเน้นให้เด็กพัฒนาตัวเองตามศักยภาพของเขาอย่างแท้จริง ครูมีหน้าที่ดึงจุดแข็งและเสริมจุดด้อยของเขา สำหรับทอสี เด็กเก่งไม่จำเป็นต้องได้คะแนนวิชาคณิตศาสตร์สูงลิ่ว แต่อาจจะเป็นเด็กสักคนที่ทำกับข้าวอร่อย “คือเราไม่ได้ใช้ไม้บรรทัดวิชาหนึ่งวิชาใดมาวัดเด็ก เราไม่ได้ละเลยวิชาหลักๆอย่างวิทย์ คณิต อังกฤษ หรือคอมพิวเตอร์ สิ่งเหล่านี้เขาต้องเรียนรู้อยู่แล้ว แต่เรามองว่าทักษะที่สามารถนำไปเป็นอาชีพได้ก็สำคัญไม่แพ้กัน ดนตรี วาดภาพ งานประดิษฐ์สิ่งเหล่านี้เป็นอาชีพได้ทั้งนั้น และที่สำคัญ อย่างน้อยถ้าเขามีงานอดิเรกของตัวเอง ในอนาคตเขาจะเป็นเด็กที่อยู่คนเดียวได้ใช้ชีวิตเป็น เมื่อเขาเหงา แหล่งมั่วสุมจะไม่ใช่คำตอบ แต่สิ่งเหล่านี้ต่างหาก นิตติ้งหรือโครเชต์ที่เขาเคยทำตั้งแต่เด็กๆ จะอยู่เป็นเพื่อนเขา”



ครูอ้อน ครูใหญ่โรงเรียนทอสี

แม้อาชีพครูจะไม่ใช่อาชีพในฝันของใครหลายคนๆ กระทั่งใจเป็นอาชีพสุดท้ายที่คนเหลียวมอง แต่ไหนเลยจะปฏิเสธว่ากว่าจะมีวิศวกรที่ดี มีแพทย์ที่เคร่งครัดในวิชาชีพ มีนักสื่อสารมวลชนที่ซื่อตรงต่อจรรยาบรรณ กระทั่งมีพ่อค้าที่ไม่หวังผลกำไรจนเกินงาม คนเหล่านี้จะเติบโตมาได้อย่างไรหากพ่อแม่คนที่ 2 ที่เรียกว่า “ครู”

คุณบุบผาสวัสดิ์ รัชชตาตะนันท์ (ครูอ้อน) คือหนึ่งในคนที่ต่างจากค่านิยมทั่วไป เธอเลือกเรียนในคณะศิลปะศาสตร์จิตวิทยาเด็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หวังจะเป็นครูที่ใจเด็ก เพราะเธอเชื่อว่าครูคืออาชีพที่มีเกียรติ เป็นเกียรติจะได้ตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน อะไรจะยิ่งใหญ่ไปกว่าการสร้างคน

เธอเริ่มเข้าสู่แวดวงการศึกษาตั้งแต่เรียนไม่ทันจบ ก่อนที่หันเหไปทำงานธนาคารตามคำซักชวนของคุณพ่อ แม้รายได้จะดีแต่มนต์ขลังในห้องเรียนที่เคยสัมผัส ดึงเธอคืนสู่ความเป็นครูอีกครั้ง และตั้งแต่นั้นมาเป็นเวลากว่า 20 ปี แล้วที่เธอมีคำนำหน้าว่า “ครู” การศึกษาก็เกิดขึ้นทุกวัน ในที่สุดโรงเรียนทอสีจึงเกิดขึ้น “ทอสี” มาจากชื่อ คุณแม่ คุณทอสี สวัสดิ์ชูโต แม่ที่นอกจากจะให้ทุนในการโรงเรียนแล้ว ยังเป็นผู้ทอสีแห่งความดีงามลงในใจของเธอมาตลอด และนี่คือสิ่งที่เธออยากสานต่อ.. ร่วมกันทอสีแห่งความดีลงผู้ใหญ่ตัวเล็กๆ ทุกคน



ทำไมถึงเลือกพุทธศาสนาเป็นแนวทางของโรงเรียน

เพราะหลักพุทธศาสนาคือการพัฒนาแบบองค์รวมครบด้าน พระพุทธเจ้าท่านให้หลักไว้อย่างชัดเจนว่า การที่จะพัฒนามนุษย์นั้นควรทำอย่างไร และโยนิโสมนสิการคือหัวใจสำคัญที่ทำให้เราดำเนินชีวิตด้วยปัญญา รู้จักคิดพิจารณาสืบหาเหตุปัจจัย ทำความเข้าใจกับทุกอย่างอย่างถ่องแท้



อาจารย์คิดว่าการปลูกฝังคุณธรรมให้กับเด็กสำคัญอย่างไร

การศึกษาทั่วๆไปเน้นเรื่ององค์ความรู้เป็นหลัก เอาวิชาการเป็นตัวตั้ง ขณะที่พุทธศาสนาเน้นเรื่องปัญญา คือความเข้าใจทุกๆ สิ่งว่ามีความไม่แน่ไม่นอน ถามว่าสอนกันตั้งแต่ชั้นอนุบาลได้หรือไม่ คำตอบคือได้ การศึกษาแบบนี้ทำให้เกิดความเข้าใจทั้งตัวเองและผู้อื่น เราชี้ให้เขาเห็นว่าต้นไม้มันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เราห้ามเล็บไม่ให้ราวไม่ได้ ห้ามผมไม่ให้ยาวไม่ได้ ห้ามไม่ให้ป่วยไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราต้องเข้าใจว่า เราไม่ใช่เจ้าของ แม้กระทั่งร่างกายตัวเอง ทุกอย่างไม่เที่ยง นี่คือหลักที่ลึกซึ้งของไตรลักษณ์ที่ทุกคนต้องความเข้าใจ



สอนให้เข้าใจชีวิต

ใช่ ให้เข้าใจว่าทุกอย่างมีเหตุปัจจัย อย่างเช่นเวลาเราพาเด็กไปปลูกข้าวโพดแล้วมันไม่โต ก็ต้องกลับมาศึกษาว่าทำไมเหตุปัจจัยอะไรที่ทำให้ต้นข้าวโพไม่โต เมื่อรู้สาเหตุแล้วก็ลองปลูกใหม่ศึกษาและเรียนรู้ต่อไปอีก สิ่งเหล่านี้คือหลักปฏิจจสมุทบาท เพียงแต่ว่าครูต้องศึกษาหลักการเหล่านี้ให้เข้าใจ แล้วค่อยนำมาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน ในขณะที่อยู่กับเด็กและในชีวิตประจำวันของตัวครูเอง ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นก็ตาม คุณใช้หลักเหล่านี้ได้ตลอดเวลา



ถ้าเด็กไม่เข้าใจพื้นฐานเหล่านี้ เขาจะเติบโตขึ้นมาเป็นอย่างไร

เขาจะทุกข์มาก ที่คนกระโดดตึกตายเพราะอะไร เพราะเขาไม่ได้ย้อนกลับมาดูที่เหตุปัจจัย เขาไม่ได้ศึกษาหาเหตุปัจจัย ว่าทุกอย่างมันมีหลายเหตุปัจจัย บางเหตุปัจจัยอาจอยู่ในความควบคุมของเราได้ แต่ในขณะเดียวกันก็มีอีกหลายเหตุปัจจัยที่อยู่เหนือการควบคุมของเรา และเราต้องยอมรับในความจริงตรงนี้ นี่คือสิ่งที่เราพยายามให้กับเด็กและครูมาตลอด



อาจารย์เคยสอนทั้งในและต่างประเทศ เห็นความแตกต่างอย่างไรบ้าง

การศึกษาตะวันตก เน้นมนุษย์เป็นศูนย์กลางของทุกสิ่งทุกอย่าง แต่การศึกษาแนวพุทธ มนุษย์เป็นเพียงเสี้ยวเดียวของจักรวาล นี่คือสิ่งที่เราต้องเข้าใจ ไม่ว่าเราจะทำอะไรมันจะมีผลกระทบต่อทุกๆ ส่วนไม่มากก็น้อย หรืออย่างเรื่องจิตใจ ปรัชญาการศึกษาของตะวันตกจะเน้นที่สุขภาพจิต คือให้เด็กมีความสุข ในขณะที่ศาสนาพุทธบอกว่า เด็กจะมีความสุขได้ต้องอาศัยสมรรถภาพที่จิตที่ดี คือจิตที่มีความอดทน ละอายต่อความชั่วและเกรงกลัวต่อบาป มีสมาธิและมีสติ คือต้องสร้างให้เด็กมีความอดทน ไม่อย่างนั้นเขาจะทุกข์ง่าย เช่น ออกไปวิ่งกลางแดดนิดเดียวก็ร้อน ทนไม่ได้ ต้องรีบกลับบ้านมาเปิดแอร์ อย่างนี้ เป็นต้น อีกทั้งการฝึกให้เขาเกรงกลัวต่อบาป และละอายต่อความชั่วนั้น ก็หมายความว่าเขาต้องนึกถึงคนอื่นด้วย อยากให้คนอื่นมีความสุขด้วย สิ่งเหล่านี้เราฝึกให้เด็กคิด เพราะถ้าคุณไม่ฝึก คุณก็จะไม่ได้คิดถึงสิ่งเหล่านี้ ความคิดความเข้าใจเช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นเพราะไม่คุ้นชิน ฉะนั้นถ้าเราพาเด็กฝึกคิดสิ่งเหล่านี้ตั้งแต่เขายังเล็กๆ ให้เขาเห็นเหตุปัจจัยในทุกสิ่งที่อยู่รอบตัวเขา แยกแยะสิ่งที่เป็นคุณและโทษได้ แยกแยะได้ว่าอะไรเป็นคุณค่าแท้ อะไรเป็นคุณค่าเทียม เขาก็จะเติบโตมาเป็นคนที่เข้าใจโลก ไม่ติดยึดกับวัตถุ วันหนึ่งข้างหน้า ไม่ว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นกับชีวิต เขาก็จะรับมือได้ นี่คือความแตกต่างอย่างแท้จริงของการสอนแบบตะวันตกกับตะวันออกที่นำพุทธศาสนามาใช้



ช่วยขยายความปรัชญาโรงเรียนที่ว่า “สร้างที่พึ่งแห่งตน เร่งฝึกฝนตนเป็นบัณฑิต”

สังคมไทยเป็นสังคมที่เด็กพึ่งตนเองไม่ได้ เพราะมีพ่อแม่คอยพะเน้าพะนอ ดังนั้นเมื่อเขาโตเป็นผู้ใหญ่ พอมีปัญหาก็พึ่งยานอนหลับ พึ่งเหล้า เพราะที่ผ่านมาเขาไม่เคยได้ฝึกการแก้ปัญหาและมองปัญหาอย่างเข้าใจ แต่ถ้าพ่อแม่ใช้หลักโยนิโสมนสิการ พาลูกวิเคราะห์หาเหตุปัจจัย พาเขาพิจารณาวาเหตุความทุกข์ที่เขาเผชิญแท้จริงมันคืออะไร ถ้าคิดวิเคราะห์อย่างนี้ก็จะเจอสาเหตุ และกลับมาแก้ที่ต้นเหตุ ไม่ใช่ไปแก้ที่ปลายเหตุ ที่ทอสีเราจะฝึกตั้งแต่อนุบาล คือให้เขาช่วยเหลือตัวเอง เพราะหลักพุทธศาสนาเชื่อว่ามนุษย์มีศักยภาพที่จะพัฒนาตัวเองเพียงแต่ต้องได้รับโอกาส แต่พ่อแม่รักลูก ทำให้หมดทุกอย่าง เขาก็เลยโตมาเป็นคนที่แก้ปัญหาไม่เป็น



นอกจากเรื่องการเข้าใจชีวิต ผู้ปกครองจะมั่นใจได้อย่างไร ว่าลูกสามารถไปสอบเรียนต่อที่อื่นได้

น้ำหนักของความเป็นวิชาการไม่ได้อยู่ในตำราอย่างเดียว ถามว่าตำรามาจากไหน ก็มาจากชีวิต เมื่อคุณเรียนจากชีวิตมันสนุกกว่า มันให้ไม่รู้เท่าไร ที่สำคัญที่สุดมันให้สัมมาทิฐิ มันให้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ว่า การเรียนรู้ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในห้องเรียน แต่มันเกิดขึ้นทุกเวลา ทุกสถานที่และทุกโอกาส นี่คือหลักของการศึกษาที่แท้จริง ดังนั้นเรามั่นใจว่าเด็กมีพื้นฐานของการเรียนรู้ตลอดเวลา อย่างนี้แล้วเขาจะไม่มีทางอ่อนวิชาการเด็ดขาด เพราะทุกอย่างมันเชื่อมโยงกันหมด ทั้งคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ มีอยู่รอบตัวเด็กทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับครูจะนำมาสอนเขาอย่างไร ซึ่งที่ผ่านมาเด็กเราจบไปรุ่นหนึ่งแล้ว ทุกคนได้เรียนต่อในสถาบันที่เขาต้องการทุกคน



เด็กโรงเรียนทอสีแตกต่างจากโรงเรียนอื่นอย่างไร

การมองสิ่งต่างๆ ควรจะต่างจากเด็กโรงเรียนอื่น เขาควรจะมองอะไรได้กว้างขึ้น เพราะ ๙ ปีที่เขาอยู่กับเรา ตั้งแต่อนุบาล๑ ถึง ป.๖ เราสอนให้เขามองอะไรอย่างรอบคอบ ทุกแง่ทุกมุม

มีเสียงสะท้อนจากผู้ปกครองว่าเห็นความเปลี่ยนแปลงในตัวลูกบ้างบ้างหรือไม่

คือจะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน ถ้าเขานำสิ่งที่เราสอนไปใช้ที่บ้าน ที่ผ่านมาเท่าที่ผู้ปกครองสะท้อนมาก็พบว่าเด็กมีฉันทะ มีความใฝ่รู้ตลอดเวลา อย่างเวลาที่เขาไปไหนมาไหนกับครอบครัว เด็กจะอ่านป้ายข้างทาง อ่านหนังสือ ซึ่งผู้ปกครองเขาสังเกตว่าลูกเขาอ่านหนังสือได้เร็ว ขณะเดียวกันสิ่งเหล่านี้จะสัมฤทธิ์ผลมากยิ่งขึ้น ถ้าพ่อแม่สร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ เช่น เวลาพาลูกไปเที่ยวก็ควรมีสมุดบันทึกไปด้วย ให้เด็กได้บันทึกสิ่งที่เขาพบเห็น



คิดอย่างไรกับการวิพากษ์วิจารณ์ว่าโรงเรียนทางเลือก เหมือนนำเด็กมาเป็นหนูทดลอง

ถ้าจะมองว่าเป็นหนูทดลองก็เป็นหนูทดลองที่คุ้มค่า เพราะถามว่าเราเชื่อมั่นในหลักของพระพุทธเจ้าไหม คำตอบคือเชื่อ เพราะยิ่งทำงานในแต่ละวันก็ยิ่งมั่นใจว่า ในแต่ละก้าวที่เราก้าวเป็นการเดินที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นใครจะมองอย่างไรก็ไม่ว่ากัน เรารู้ว่าพยายามจะให้สิ่งที่ดีที่สุดกับการศึกษาไทย ซึ่งจะว่าไปโรงเรียนแนวพุทธ ควรจะเป็นแนวทางการศึกษาของโลกด้วย



อาจารย์มองว่าการศึกษาที่นำพุทธศาสนามาเป็นปรัชญาในการเรียนการสอนเป็นทางออกของโลก

ใช่ เดี๋ยวนี้แม้แต่ตะวันตกเองก็หันมาศึกษาพุทธศาสนากันมาก เพราะเขาเจอปัญหาแล้วหลักธรรมในพุทธศาสนามันแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ นี่คือสิ่งทุกคนต้องหันมาศึกษา แล้วก็ทำความเข้าใจ เพราะนี่คือวิถีที่จะทำให้เราอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข



ผู้ปกครองบางคนกังวลว่าการส่งลูกมาเรียนแนวพุทธ เด็กอาจจะสมถะจนไม่สามารถสืบทอดกิจการให้มีกำไรต่อไปได้

เราไม่ได้มองว่า การมาเป็นแนวพุทธแล้ว จะทำให้ธุรกิจขาดทุนหรือไม่หวังผลกำไร พุทธศาสนาสอนไว้อยู่แล้วว่า ถ้าคุณเป็นปุถุชนธรรมดา คุณต้องทำงาน คุณต้องมีต้นทุนต้องเลี้ยงดูสมาชิกในครอบครัว แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องคำนึกถึงผู้บริโภคด้วย ไม่ใช่ทำกำไรสูงสุดอย่างเดียว



คิดอย่างไรกับ Child Center

คิดว่าทุกคนสำคัญหมด ปัญหาที่มันเกิดขึ้นก็เพราะเอาใครคนใดคนหนึ่งเป็นหลัก จาก Teacher Center ก็ย้ายมากเป็น Child Center ปัญหาสำคัญมันไม่ได้อยู่ที่ Child Center หรือ Teacher Center แต่คือวิธีการที่ครูนำความรู้ลงสู่เด็ก ซึ่งจำเป็นต้องใช้วิธีแยบยล ไม่ใช่มานั่งเรียน ครูก็เขียนบนกระดาน จบแค่นั้น หลักพุทธศาสนาบอกว่า คุณต้องเคารพความคิดทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ไม่ว่าจะเป็นภารโรง ไม่ว่าจะเป็นใคร ทุกหน่วยทุกคนล้วนมีคุณค่าและมีความสำคัญต่อกันและกัน เพราะฉะนั้นจะมาบอกว่าเป็น Child Center อย่างเดียว ส่วนตัวคิดว่าไม่ใช่ แต่เราต้องสร้างสภาพแวดล้อมให้เด็กกล้าที่จะแสดงความคิดเห็น โดยมีครูอยู่เคียงข้างและเดินไปพร้อมกัน



สถานการณ์ในต่างประเทศเกี่ยวกับทัศนคติในการเป็นครู เหมือนหรือต่างจากบ้านเราอย่างไร

ใกล้เคียง จริงๆ แล้วภาวะของการที่คนอยากเป็นครูมันขาดแคลนอยู่ ตอนนี้ไม่ใช่ประเทศไทยอย่างเดียว ทั่วโลกก็เป็น เพราะงานครูเป็นงานที่หนักมากๆ การเรียกร้องจากสังคมก็สูงมาก ทุกประเทศต่างต้องการครูที่ดีทั้งนั้น

เด็กทอสีจะถูกปลูกฝังให้รู้ว่าเขามีหน้าที่ต่อสังคมด้วย

ต้องคู่กัน ถามว่าถ้าเราไม่ปลูกฝังตั้งแต่เล็กๆ ความคิดที่เขาจะมีต่อสังคมจะเกิดขึ้นเองหรือเปล่า มันเป็นหน้าที่ของครูแล้วก็ผู้ใหญ่ทุกคนอยู่แล้ว ที่จะต้องส่งมอบความคิดอันนี้ให้กับเด็ก ครูจะมาหวังให้สำนึกต่อสังคมมันเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติไม่ได้ ครูต้องโยนคำถามให้เด็กว่าอันนี้เหมาะสมไหมที่จะทำ คุณพูดคำนี้ถามว่ามันเหมาะสมไหม แล้วคำพูดคำนี้มันกระทบกับใครบ้าง แล้วคุณมีวิธีการอย่างไรที่จะพูดให้เขาไม่รู้สึก เพราะฉะนั้นคุณต้องใช้การคิดมากขึ้น คุณสอนวิชาการ แต่ความรับผิดชอบทางสังคมมันไม่ได้มาเองนะ แล้วถามว่าในสังคมทุกวันนี้เกิดอะไรขึ้น ทุกคนมีหน้าที่รับผิดชอบต่อสังคมหรือเปล่า ธุระไม่ใช่ หน้าบ้านตัวเองสะอาดอย่างเดียว คุณโยนขยะออกนอกรถแล้วก็จบกันอย่างนั้นหรือเปล่า



จุดแข็ง จุดอ่อนของโรงเรียนทอสี

จุดแข็งคือครูมีความเข้าใจที่ถูกต้องตามหลักพุทธศาสนาและมีอุดมการณ์ จุดอ่อนน่าจะอยู่ที่การดึงความสามารถในตัวเด็กให้ออกมามากที่สุด เพราะอย่างที่บอกว่าครูหายาก เราต้องพัฒนาครูไปด้วย ดังนั้นศักยภาพครูที่จะทำอย่างนี้ได้ตามที่เราตั้งใจไว้ก็ต้องใช้เวลา



การสวดมนต์ไหว้พระ ทำสมาธิ จะช่วยให้เด็กสามารถรับมือกับสังคมในอนาคตได้อย่างไร

การฝึกสมาธิจะทำให้เขาควบคุมและรู้เท่าทันอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกโกรธ โลภหรือหลง เพราะฉะนั้นไม่ว่าสภาพแวดล้อมภายนอกจะเร้าเขาอย่างไร เขาก็จะมีสติและเลือกได้ว่าอะไรควรไม่ควรแค่ไหนอย่างไร



อะไรที่ทำให้อาจารย์หันมาสนใจเรื่องพุทธศาสนา

จริงๆ ต้องยกความดียกประโยชน์ให้กับหลานชาย เพราะว่าเขาไม่ค่อยมีสมาธิ พี่สาวก็เลยพาหลานชายไปกราบท่านอาจารย์ชยสาโร ตั้งแต่สมัยที่ท่านยังเป็นเจ้าอาวาสวัดป่านานาชาติที่อุบลฯ ก็เริ่มจากการฟังธรรม พอตอนหลังก็มีการปฏิบัติธรรม จากนั้นพอเราเข้าใจมันก็รู้ว่าทางนี้แหละ ที่เราควรเดิน

ท่านอาจารย์ชยสาโรสอนเรื่องชาวพุทธตามทะเบียนว่า มีผู้ชายคนหนึ่งไปสมัครงานเป็นหมอ คนรับสมัครถามว่าคุณวุฒิคุณมีอะไร ผู้ชายคนนั้นบอกว่าพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ของฉันเป็นหมอหมด เพราะฉะนั้นฉันก็สามารถจะเป็นหมอได้ เช่นเดียวกับที่คุณเป็นชาวพุทธ พ่อแม่ของคุณ ปู่ย่าตายยายของคุณเป็นชาวพุทธ แต่คุณได้ปฏิบัติได้ศึกษาหรือเปล่า เพราะฉะนั้นคุณจะเรียกตัวคุณเป็นพุทธที่ดีได้ไหม พอเราได้ฟังเราเห็นภาพเลย เพราะเราก็เป็นชาวพุทธตามระเบียนเหมือนกันการที่คุณจะเป็นชาวพุทธที่ดีก็เหมือนกับการที่คุณจะเป็นหมอ คุณเป็นลูกหมอ ตระกูลคุณเป็นหมอทั้งหมด แล้วคุณไปสมัครงานเป็นหมอ ด้วยความเข้าใจว่าครอบครัวของฉันเป็นหมอมา มันไม่ได้ เพราะคุณไม่เคยเรียนรู้วิชาการแพทย์เลย เช่นเดียวกับพุทธศาสนา คุณต้องศึกษาคุณต้องปฏิบัติ แล้วคุณถึงจะเข้าใจ คุณถึงจะเรียกว่าตัวคุณเป็นชาวพุทธ



ทอสีเป็นโรงเรียนที่มุ่งให้เกิดปัญญา ไม่ได้ถ่ายทอดเนื้อหาอย่างเดียว

ปัญญามี 2 ระดับ ปัญญาเกี่ยวกับเรื่องทั่วไป กับปัญญาที่จะเข้าใจสิ่งต่างๆ ว่าอันนี้มีคุณค่ากับชีวิตยังไง มันมีประโยชน์อย่างไร อีกหน่อยเสียใช้ไม่ได้ มันก็เป็นเศษขยะ มันก็เป็นขยะของโลก เพราะฉะนั้นคุณจะจัดการกับมันยังไง นี่คือสิ่งที่คุกคนต้องรับผิดชอบ มันมีการเปลี่ยนแปลง ของทุกอย่าง ไม่ได้ใช้ไปตลอดชีวิต นี่คือสิ่งที่เราต้องเข้าใจอีกระดับหนึ่ง



โรงเรียนทางเลือกมักมีค่าเล่าเรียนค่อนข้างสูง อาจารย์คิดอย่างไร

จริงๆแล้ว 70 % คือค่าใช้จ่ายให้ครู ถ้าเราต้องการครูดีๆ ต้องการให้ครูทุ่มเทชีวิตให้กับการทำงานด้านการศึกษา ไม่ต้องหารายได้พิเศษ เราต้องการให้ครูดูแลเด็กใกล้ชิด สัดส่วนของครูต่อเด็กต้องไม่น้อยเกินไป เราเชื่อว่าถ้าครูมีความเป็นอยู่ที่ดี อยู่ได้อย่างพอเพียงเหมาะสมกับฐานะความเป็นครู เด็กนั่นแหละจะได้รับประโยชน์สูงสุด เพราะเราคงไม่อยากเห็นครูที่สอนในห้องย่อยๆ แต่สอนที่โรงเรียนกวดวิชามากๆ เพราะฉะนั้นเป็นไปไม่ได้ที่ต้องการศึกษาดีๆ แต่ขอถูกๆ แต่ถ้ารัฐบาลเข้ามาสนับสนุนตรงนี้ ภาระทั้งหมดก็จะไม่ไปตกอยู่ที่ผู้ปกครอง เราไม่ได้บอกว่าการศึกษาแนวพุทธไม่จำเป็นต้องถูก แต่มันมีค่าใช่จ่ายของมันอยู่ เราไม่ควรคิดกำไรจากการศึกษา แต่ที่สำคัญคือครูต้องอยู่ได้ ต้องมีการเป็นอยู่ที่ดี แต่ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่ใช่มีฐานะร่ำรวย แต่มีฐานะที่พอเหมาะกับการเป็นครู แต่ ณ ตอนนี้สถานะของครูไม่ใช่ฐานะที่ควรจะเป็น น่าแปลกที่เราเสียค่าเทอมแพงๆ กันไม่ค่อยได้ แต่เสียค่ากวดวิชาแพงๆ ได้ถามว่าเกิดอะไรขึ้น



อาจารย์คาดหวังกับเด็กของทอสีที่จะจบออกไปอย่างไรบ้าง

เขาต้องมีหลักโยนิโสมนสิการนำไปใช้ เวลาทำอะไรต้องนึกถึงตัวเราเองและผู้อื่น อย่างน้อยที่สุดต้องนึกถึงพ่อแม่ การนึกถึงพ่อแม่เป็นเครื่องมือที่จะเตือนสติ และเหนี่ยวรั้งเขาไว้ เวลาที่ต้องเผชิญกับปัญหาสำคัญ เขาจะมีคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นหลักยึดเหนี่ยวในชีวิต ซึ่งทำให้ไม่ต้องไปพึ่งอย่างอื่น อันนี้เราถือว่าเป็นสิ่งที่จะนำทางชีวิตของเขาได้ ไปเรียนหนังสือที่ไหนเขาก็อยู่ได้ มีหลักในชีวิต แล้วผู้ปกครองเองที่เขาอยู่กับเราตรงนี้เขาก็ปฏิบัติธรรมกับเรา เขาจะเป็นหลักที่ช่วยพยุงต่อไปจนกระทั่งเด็กสามารถยืนด้วยลำแข้งของตัวเองจริงๆ คือการศึกษาที่ผ่านมาเรายืนแบบเอียงๆ ยืนได้แต่เอียงๆ แต่จะมีความยืดหยุ่นในสังคม หมายความว่าไม่ล้มหรือเอียงไปทางใดทางหนึ่งจนกระทั่งหัก แต่มันจะมีความยืดหยุ่นในตัว รับมือได้กับทุกปัญหา ทำไมคุณต้องออกกำลังกาย เพราะคุณต้องการความยืดหยุ่นให้ร่างกาย จิตใจก็เช่นเดียวกัน ต้องการธรรมะเพื่อความยืดหยุ่นในชีวิตเหมือนกัน

ความจะยืดหยุ่นในสังคม หมายความว่า ไม่ล้มหรือเอียงไปทางใดทางหนึ่งจนกระทั่งหักแต่มันจะมีความยืดหยุ่นในตัว รับมือได้กับทุกปัญหา ทำไมคุณต้องออกกำลังกายเพราะคุณต้องการความยืดหยุ่นให้ร่างกาย จิตใจก็เช่นเดียวกัน ต้องการธรรมะเพื่อความยืดหยุ่นในชีวิตเหมือนกัน

.....................................................
แบ่งปันกันกิน,รักษาศีล คือ กาย วาจา
เจริญสมาธิภาวนา, กาย- วาจา-ใจอ่อนน้อม
ยอมตนรับใช้, แบ่งให้ความดี
มีใจอนุโมทนา, ใฝ่หาฟังธรรม
นำแสดงออกไม่ได้เว้น, ทำความเห็นให้ถูกต้อง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 ต.ค. 2020, 10:58 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 9
สมาชิก ระดับ 9
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 เม.ย. 2015, 09:43
โพสต์: 702

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ขออนุโมทนานะครับ :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 8 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร


cron