วันเวลาปัจจุบัน 24 เม.ย. 2024, 22:59  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=19



กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 พ.ค. 2013, 19:41 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 18 มี.ค. 2011, 13:32
โพสต์: 245


 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

ความสุขที่ได้รับจากการบริจาคเลือด
(Happiness from donating blood)

หลายๆ คนเมื่อนึกถึงการบริจาคโลหิตก็คงจะรู้สึกว่าเป็นอะไรที่น่ากลัวจึงไม่กล้าที่จะไปบริจาค แต่ความจริงแล้ว การบริจาคโลหิตนั้นไม่ได้น่ากลัวอย่างที่ใครหลายๆ คนคิด แต่กลับจะเป็นผลดีต่อตัวของผู้บริจาคยิ่งกว่า ชนิดที่เรียกว่าถ้าใครลองได้บริจาคไปแล้วครั้งหนึ่ง ครั้งต่อไปไม่มีนั้นเป็นไปได้น้อยมาก ซึ่งนั่นก็อาจจะเป็นเพราะการเห็นคุณค่าและข้อดีต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวเอง

ในปัจจุบันคนรุ่นใหม่เริ่มนิยมหันมาบริจาคโลหิตกันมากขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะการบริจาคโลหิตถือเป็นการทำกิจกรรมที่มีประโยชน์ ถือเป็นกิจกรรมของนักจิตอาสาตัวยง เพราะการบริจาคโลหิตของเราถือเป็นการให้ที่ยิ่งใหญ่อย่างหนึ่ง ใครที่เคยไปบริจาคโลหิตมาแล้วจึงควรต้องภาคภูมิใจ ที่เราได้นำเลือดของเราไปช่วยชีวิตผู้อื่น

รูปภาพ

รูปภาพ

+++ทีนี้เรามาดูข้อดีของการบริจาคโลหิตกันนะครับว่ามีอย่างไรบ้าง+++

ข้อดีข้อที่ 1. ช่วยให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง

การบริจาคเลือดนั้น เป็นการบริจาคครั้งละประมาณ 350-450 ซีซี. คิดเป็น 10% ของปริมาณเลือดทั้งหมดในร่างกาย ซึ่งถือเป็นเลือดส่วนเกิน ดังนั้นจึงไม่มีผลต่อสุขภาพของผู้บริจาคเลือดแต่อย่างใด ภายหลังที่ได้บริจาคเลือดไปแล้ว ร่างกายจะมีกระบวนการในการกระตุ้นไขกระดูก ซึ่งทำหน้าที่ในการสร้างเม็ดเลือด ทำให้ร่างกายได้เม็ดเลือดใหม่ขึ้นมาทดแทนปริมาณที่ถูกถ่ายเทออกไป ซึ่งก็เป็นธรรมดาที่เม็ดเลือดใหม่ ย่อมจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งกว่า โดยเม็ดเลือดแดง (Erythrocytes) ที่ถูกสร้างขึ้นใหม่จะสามารถลำเลียงออกซิเจนไปเลี้ยงเซลล์ต่างๆของร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเม็ดเลือดขาว (Leukocytes) ซึ่งทำหน้าที่ทำลายเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมต่างๆ ในร่างกายก็จะทำงานได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

ข้อดีข้อที่ 2. ช่วยให้หุ่นดี ผิวพรรณเปล่งปลั่ง หน้าใส

การบริจาคเลือด ทำให้ร่างกายมีการไหลเวียนโลหิตดีขึ้น อีกทั้งความสุขใจที่เกิดจากการเป็นผู้ให้ ส่งผลให้ผู้บริจาคมีผิวพรรณเปล่งปลั่ง ดูมีน้ำมีนวล นอกจากนั้นเมื่อได้มีการบริจาคโลหิตออกไปแล้ว ร่างกายต้องใช้พลังงานในการสร้างเม็ดเลือดใหม่ขึ้นมาทดแทน จึงเป็นการกระตุ้นกระบวนการเผาผลาญในร่างกาย ทำให้ผู้บริจาคได้รับหุ่นที่ดี เป็นของแถมอีกด้วย

ข้อดีข้อที่ 3. ลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง

รูปภาพ

รูปภาพ

สถาบันแคโรลินสกา (Karolinska Institutet) หนึ่งในมหาวิทยาลัยแพทย์ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป ตั้งอยู่ที่ประเทศสวีเดน ได้มีผลงานวิจัยพบว่า การบริจาคโลหิตช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งได้หลายชนิด เช่น โรคมะเร็งตับ โรคมะเร็งปอด โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร เป็นต้น นอกจากนั้นในรายที่มีธาตุเหล็กในร่างกายมากเกินไป ซึ่งอาจส่งผลต่อการเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจอุดตัน การบริจาคเลือดเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยลดปริมาณธาตุเหล็กส่วนเกินเหล่านั้นออกไปจากร่างกายได้

ข้อดีข้อที่ 4. ความรู้สึกสุขใจ

หลายต่อหลายคนหลังจากบริจาคเลือดเสร็จแล้วก็ลุกออกมาจากเตียงด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใส อันเกิดจากความรู้สึกเป็นสุขที่ได้ทำบุญช่วยเหลือชีวิตของผู้อื่น เพราะผู้ป่วยที่จำเป็นจะต้องได้รับการให้เลือดเพื่อเป็นการรักษานั้น ส่วนใหญ่ย่อมจะต้องมีอาการที่ค่อนข้างหนักพอสมควร ดังนั้นการที่เราไปบริจาคเลือดจึงเท่ากับเป็นการช่วยชีวิตผู้อื่น ผลบุญกุศลย่อมส่งผลให้ผู้บริจาคเลือด มีอายุยืนและมีร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์

รูปภาพ

สำหรับคนที่กลัวเข็มกลัวเลือดหรือกลัวเจ็บ (เจ็บนิดเดียวจริงๆ) แต่อยากจะไปบริจาคเลือดก็คงต้องหากำลังใจให้กับตัวเอง เช่น ทำเพื่อคุณพ่อคุณแม่ ทำเพื่อแฟน หรืออะไรก็แล้วแต่ที่จะทำให้เรามีกำลังใจ กล้าที่จะไปในครั้งแรกให้ได้ เพราะสำหรับคนที่ยังไม่เคยไปบริจาคนั้น ครั้งแรกมักจะกลัวเสมอ ทำให้คิดไปต่างๆนานา ซึ่งความจริงแล้ว ไม่มีอะไรน่ากลัวเลย (จริงๆ) ซึ่งวิธีหนึ่งที่จะทำให้รู้สึกผ่อนคลายขึ้นสำหรับคนที่กลัวก็คือฟังเพลง โดยหาเพลงเพราะๆที่เราชอบเปิดฟังในขณะที่เรากำลังจะบริจาคเลือด

+++ต่อไปเรามาดูคุณสมบัติของผู้ที่สามารถบริจาคโลหิตได้ตามที่สภากาชาดไทยได้กำหนดเอาไว้

1. มีน้ำหนัก 45 กิโลกรัมขึ้นไป

2. มีอายุระหว่าง 17-60 ปีบริบูรณ์ โดยถ้าเป็นผู้บริจาคครั้งแรกต้องมีอายุไม่เกิน 55 ปี

3. มีสุขภาพแข็งแรง

4. ไม่มีโรคประจำตัว หรือ ไม่อยู่ในระหว่างที่ไม่สบายหรือรับประทานยาใดๆ

5. ไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ หรือติดยาเสพติด

6. กรณีผู้หญิงต้องไม่อยู่ในระหว่างมีประจำเดือน หรือตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร และไม่มีการคลอดบุตรหรือแท้งบุตร ภายในระยะเวลา 6 เดือนก่อนบริจาคโลหิต

+++เมื่อแต่ละคนได้ตรวจสอบคุณสมบัติของตัวเองผ่านเกณฑ์แล้ว ต่อไปเรามาดูการเตรียมตัวก่อนเดินทางไปบริจาคโลหิตตามที่สภากาชาดไทยได้กำหนดเอาไว้กันครับ

1. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 6 ชั่วโมง

2. รับประทานอาหารก่อนมาบริจาคโลหิต แต่ห้ามรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง เนื่องจากจะทำให้สีของพลาสมา (Plasma) เป็นสีขาวขุ่น ซึ่งไม่สามารถนำไปใช้ได้

3. ดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อเพิ่มปริมาณโลหิตในร่างกาย หรืออาจจะเป็นเครื่องดื่มอย่างอื่น เช่น นม น้ำผลไม้ น้ำหวาน ยกเว้น ชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน

4. งดสูบบุหรี่ ก่อนและหลังบริจาคโลหิตอย่างน้อย 1 ชั่วโมง

5. งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ อย่างน้อย 24 ชั่วโมง ก่อนบริจาค

และแล้วเมื่อกายพร้อมใจพร้อม เราก็เดินทางไปบริจาคโลหิตกันเลย Let's go.

สถานที่บริจาคโลหิต

สำหรับกรุงเทพมหานคร

1. ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย (อยู่หลัง ร.พ.จุฬา)
เปิดรับบริจาคทุกวัน ยกเว้น ทุกวันที่ 1 มกราคม ของทุกปี ปิดทำการ
วันจันทร์, พุธ, ศุกร์ เปิดรับบริจาคเวลา 08.00-16.30 น.
วันอังคาร, พฤหัสบดี เปิดรับบริจาคเวลา 07.30-19.30 น.
วันเสาร์, อาทิตย์, วันหยุดนักขัตฤกษ์ เปิดรับบริจาคเวลา 08.30-15.30 น.

2. หน่วยรับบริจาคโลหิตเคลื่อนที่ของสภากาชาดไทย

รูปภาพ

สภากาชาดไทยจะมีหน่วยรับบริจาคโลหิตตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งในเบื้องต้นสามารถตรวจสอบได้จากปฏิทินนี้ครับ http://www.redcross.or.th/calendar-blood

นอกจากนี้สามารถสอบถามข้อมูลหน่วยรับบริจาคที่อยู่ใกล้บ้านท่านได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์และจัดหาผู้บริจาคโลหิต โทร. 0-2256-4300, 0-2263-9600-99 ต่อ 1101

สำหรับต่างจังหวัด

ท่านใดที่อยู่ต่างจังหวัดก็สามารถไปบริจาคโลหิตกันได้ที่โรงพยาบาลประจำจังหวัดของจังหวัดนั้นๆ ซึ่งจะมีหน่วยงานของสภากาชาดไทยประจำอยู่ แต่จะเปิดรับบริจาคเฉพาะในเวลาราชการเท่านั้นนะครับ

รูปภาพ


ขอบคุณข้อมูลจาก :
1. http://www.uniserv.buu.ac.th/forum2/top ... IC_ID=5392
2. http://www.oknation.net/blog/print.php?id=241623
3. http://www.redcross.or.th/donation/blood_wholeblood.php
4. http://www.redcross-sk.or.th/news/detai ... 00058.html

.....................................................
"องค์ใดพระสัมพุทธ สุวิสุทธสันดาน ตัดมูลเกลศมาร บ มิหม่นมิหมองมัว
หนึ่งในพระทัยท่าน ก็เบิกบานคือดอกบัว ราคี บ พันพัว สุวคนธกำจร"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 พ.ค. 2013, 11:12 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 5
สมาชิก ระดับ 5
ลงทะเบียนเมื่อ: 10 พ.ย. 2008, 09:20
โพสต์: 349


 ข้อมูลส่วนตัว


บทความนี้มีประโยชน์มาก ขณะอ่านก็อมยิ้มไปด้วยคะ
ขอบคุณเจ้าของกระทู้มากคะ :b27: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 พ.ค. 2013, 22:58 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 พ.ค. 2010, 13:34
โพสต์: 1654

งานอดิเรก: ฟังเพลง และฟังธรรมตามกาลเวลา
สิ่งที่ชื่นชอบ: อภัยทาน
อายุ: 39
ที่อยู่: กรุงเทพมหานคร

 ข้อมูลส่วนตัว




กรุ๊ปเลือด.jpeg
กรุ๊ปเลือด.jpeg [ 9.92 KiB | เปิดดู 9829 ครั้ง ]
:b8: บริจาคโลหิตคือที่สุดแห่งการให้ :b8:

ปัจจุบันวิทยาการทางด้านการแพทย์เจริญก้าวหน้า การรักษาพยาบาลมีการพัฒนาตามลำดับ แต่ขณะนี้ยังไม่มีสารหรือสิ่งผลิตใดที่ทดแทนการสร้างเม็ดโลหิตของมนุษย์ได้ โลหิตมีความสำคัญต่อการรักษาพยาบาลทางการแพทย์ แม้ว่าปัจจุบันการรักษามีการพัฒนา เช่น มีการผ่าตัด เปลี่ยนหัวใจ เปลี่ยนตับ เปลี่ยนไต ซึ่งสิ่งเหล่านี้หาสิ่งทดแทนได้ แต่โลหิตจำเป็นต้องมาจากแหล่งธรรมชาติ คือ ร่างกายของมนุษย์เท่านั้น โลหิตจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตมนุษย์ เป็นสิ่งที่มีค่า เปรียบเหมือนอวัยวะหนึ่งของร่างกาย ที่มีค่าที่สุด

จากสถานการณ์การบริจาคโลหิตของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ปี 2552 พบว่า ยอดการเบิกโลหิตจากโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั้งปี จำนวน 1,304,021 หน่วย เมื่อเทียบกับการจ่ายทั้งปี จำนวน 525,134 หน่วย ซึ่งมีความต่างอยู่ -59.73 % จึงทำให้โลหิตขาดแคลนบางช่วงเวลา จากการที่องค์การอนามัยโลกได้ประมาณการใช้โลหิตแต่ละประเทศไว้ว่า ควรมีโลหิตและผลิตภัณฑ์โลหิตที่ปลอดภัยที่สุดเท่าที่จะทำได้ในปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการใช้ของประเทศ จำนวนโลหิต ที่ได้จากการบริจาค ควรมีปริมาณร้อยละ 2 ถึง 4 ของประชากร (ประมาณ 1,950,000 ยูนิต) จึงจะเพียงพอต่อความต้องการของผู้ป่วยในประเทศ แต่ในปัจจุบันโลหิตที่จัดหาทั่วประเทศ มีเพียงร้อยละ 1.6 ของประชากร ซึ่งยังไม่เพียงพอสำหรับผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้โลหิตในภาวะต่าง ๆ ดังนั้น การจัดหาผู้บริจาคโลหิตเป็นส่วนสำคัญในการได้มาซึ่ง ผู้บริจาคโลหิต หรือรักษากลุ่มผู้บริจาคโลหิตไว้ด้วย ซึ่งจะมีผลพลอยได้ คือ ผู้บริจาคประจำสม่ำเสมอ บริจาคโลหิตด้วยความสมัครใจ โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน ตามนโยบายของสหพันธ์สภากาชาดไทย และสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ ที่ต้องการมุ่งเน้นให้การบริจาคโลหิตเป็นการบริจาคด้วยความสมัครใจ (“100% Voluntary, Non-Remuneraled Blood Donation)

ซึ่งประเด็นดังกล่าว องค์กรที่รับผิดชอบ คือ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ที่จะต้องจัดหาโลหิตให้เพียงพอ โดยการสร้างความรัก ความศรัทธา ความเชื่อมั่น สร้างแรงจูงใจ ให้เห็นคุณค่าของตนเองเพื่อต้องการมาบริจาคอีก และก็สรรหาผู้บริจาครายใหม่ให้เพิ่มขึ้น ก็จะช่วยให้เพิ่มจำนวนโลหิตได้มากขึ้น ตามเป้าหมายที่ได้ตั้งใจไว้ว่า จะจัดหาโลหิตให้ได้ 100% ในปี 2558 และเพื่อเป็นการตอบแทนผู้บริจาคโลหิต ทางศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ร่วมกับคณะกรรมการจัดหาและส่งเสริมผู้ให้โลหิตแห่งสภากาชาดไทย ได้จัดงานรับผู้บริจาคโลหิตโลกมาตั้งแต่ ปีพ.ศ. 2557 ซึ่งเป็นปีแรกที่องค์กรทั้ง 4 ได้แก่ องค์กรระดับโลก ทั้ง 4 ได้แก่ องค์การอนามัยโลก (World Health Organization), สหพันธ์สภากาชาดไทยและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ (The International Federation of Red Cross and Red Crescent Society), สมาคมงานบริการโลหิตนานาชาติ (The International Society of Blood Transfusion) สหพันธ์องค์กรผู้บริจาคโลหิตนานาชาติ (The International Society of Blood Donor Organization) ได้กำหนดวันที่ 14 มิถุนายน เป็นวันผู้บริจาคโลหิตโลก (World Blood Donor Day) ซึ่งเป็นวันเกิดของ ดร.คาร์ล แลนด์สเตเนอร์ ผู้ค้นพบหมู่โลหิตระบบ เอบีโอ และจากการค้นพบในครั้งนี้ ทำให้ได้รับรางวัลโนเบล จึงถือได้ว่าเป็นการค้นพบที่สำคัญยิ่งต่องานบริการโลหิตของโลก การจัดงานก็เพื่อเชิดชูเกียรติ และแสดงความขอบคุณต่อผู้บริจาคโลหิต โดยเฉพาะผู้บริจาคโลหิตซึ่งบริจาคประจำสม่ำเสมอ อันจะส่งผลให้ผู้บริจาคโลหิตรุ่นใหม่เจริญรอยตาม โดยมีแนวคิดหลักของงาน คือ “ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร…บริจาคโลหิตช่วยชีวิตผู้อื่นได้”หรือ (“I’m…..and I save lives!”

ดังนั้น ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย จึงให้ความสำคัญกับผู้บริจาคโลหิต ที่จะสร้างแรงจูงใจให้กับผู้บริจาคโลหิต ให้ผู้บริจาคโลหิตเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับ คือ ให้ชีวิตและสุขภาพดีต่อผู้ป่วย และผู้บริจาคก็มีสุขภาพกายและจิตดีขึ้น คือ มีความสุข เพื่อให้เกิดความสมดุลของกระบวนการบริจาคโลหิต โดยนิยามที่เกี่ยวข้องกับผู้บริจาคโลหิต คือ “การบริจาคโลหิตควรเป็นด้วยความสมัครและเต็มใจที่ให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน (Bolld donation should be voluntary and non-remunerated)

การได้มาซึ่งผู้บริจาคโลหิต จึงเป็นผู้ที่มีจิตใจสูง มีความเสียสละ มีความเมตตา เป็นพื้นฐาน ซึ่งทางพระพุทธศาสนากล่าวว่า การบริจาคโลหิตจัดเป็นการให้ทานอย่างหนึ่ง จัดอยู่ในข้อแรกของบุญกิริยาวัตถุ 10 คือ บุญสำเร็จได้ด้วยการบริจาคทาน จัดเป็น ทานอุปบารมี ทานระดับกลาง ในการบำเพ็ญทานบารมีแบ่งเป็น 3 ระดับ ระดับสามัญ จัดเป็น ทานบารมี ระดับรองหรือจวนจะสูงจัดเป็นทานอุปบารมี และระดับสูงจัดเป็นทานปรมัตถบารมี ในการบริจาคโลหิตถือว่าได้เสียสละสิ่งที่มีค่าที่สุดในร่างกาย ในชีวิตของคนเรานอกจากจะทำให้เกิดความภาคภูมิใจที่ได้เสียสละโลหิตในร่างกายของตัวเอง ช่วยต่ออายุให้ผู้เจ็บป่วย การบริจาคนี้ก่อให้เกิดประโยชน์มหาศาลแก่ผู้อื่น ผู้ให้ย่อมเกิดความปิติความสุขทางใจ ดังที่ว่า “ผู้ให้ชีวิต ย่อมได้ชีวิต”

จากหลักฐานทางพระพุทธศาสนา ในนิธิกัณฑสูตร พระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงถึงอานิสงส์หรือประโยชน์ที่เกิดขึ้นแก่ผู้ให้ทานไว้ 5 ประการ

1.เป็นผู้มีผิวพรรณงาม มีเสียงไพเราะ มีทรวดทรงดี (รูปงาม) และมีบริวาร

2. เป็นพระราชาครองประเทศและได้รับความสุข

3. ได้มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ และนิพพานสมบัติ

4. ได้กัลยาณมิตร ถึงความเป็นผู้รู้ (วิชชา) และถึงความหลุดพ้นได้ (วิมุตติ)

5.ได้ปฏิสัมภิทา วิโมกข์ สาวกบารมีญาณ ปัจเจกโพธิญาณ และพุทธภูมิ


หากจะกล่าวถึงบุญกุศลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอย่างหนึ่งในพระพุทธศาสนา นั่นคือ การให้ทานด้วยการบริจาคโลหิต เพราะการบริจาคนั้นนอกจากจะส่งผลดีต่อผู้ให้อย่างมาก และยังส่งผลดีต่อผู้รับอีกด้วย เพราะนอกจากจะทำบุญด้วยการบริจาคทรัพย์ สิ่งของ แล้ว ยังทำบุญได้ด้วยการบริจาคโลหิต ซึ่งเป็นบุญที่อุทิศกันได้ง่าย ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ เพราะการบริจาคนั้นเป็นเจตนาที่เป็นบุญกุศลจริง ๆ แม้จะเป็นการเสียสละ แต่ก็แฝงไว้ด้วยความเมตตา กรุณ และที่สำคัญ หากตั้งใจที่จะสร้างบุญโดยการเสียสละ ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์ สิ่งของ เลือด เนื้อ อวัยวะ ควรรีบทำขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ จะทำให้ได้บุญมาก ในทางพระพุทธศาสนาถือว่า ทานเป็นบันไดขั้นต้นของการทำบุญและเป็นจุดเริ่มต้นที่พุทธศาสนิกชนทุกคนจะได้พัฒนาจิตใจให้สูงขึ้น การบริจาคโลหิตจัดเป็นทานมัย คือ บุญที่สำเร็จด้วยการบริจาค จะเป็นกุศลติดตามตนไปทั้งในชาตินี้และชาติหน้า มนุษย์เมื่อละสังขาร ร่างกาย เลือดเนื้อ อวัยวะ เน่าเปื่อยลง ไม่สามารถนำติดตัวไปในภพหน้าได้ การเกิดใหม่ หรือกระบวนการสืบต่อเป็นเรื่องของจิตหรือวิญญาณ โดยมีกรรมเป็นเครื่องสนับสนุนตามส่งให้ไปเกิดในภพใหม่

การบริจาคโลหิต เป็นการให้ทานที่มนุษย์สามัญทั่ว ๆ ไปพึงทำได้ ท่านผู้บริจาคโลหิตจึงนับว่าเป็นส่วนสำคัญในการรับบริจาคโลหิต ซึ่งมีหลักคำสอนที่สนับสนุนเรื่องการบริจาคโลหิต ผู้บริจาคต้องมีเจตนาบริสุทธิ์ โดยไม่หวังผลประโยชน์ใด ๆ แอบแฝงอยู่เป็นการตอบแทน ถือเป็นการเสียสละอย่างมากเพื่อประโยชน์ ดังที่พระพุทธองค์ได้ทรงบริจาคมหาทาน ทั้ง 5 หรือ ปัญจมหาบริจาค คือ การบริจาคที่ยิ่งใหญ่ ที่ทำให้พระองค์ทรงสำเร็จเป็นพระสัมมาสัมโพธิญาณ ในปัจจุบัน อันได้แก่ 1. ธนบริจาค บริจาคทรัพย์ 2. อังคบริจาค บริจาคอวัยวะ 3. ชีวิตบริจาค บริจาคชีวิต 4. ปุตตบริจาค บริจาคบุตรธิดา 5. ทารบริจาค บริจาคภรรยา

ดังนั้น การบริจาค อวัยวะ เลือด เนื้อ ของพระโพธิสัตว์ นั้น ถือได้ว่าเป็นแบบอย่างในการเสียสละเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นและเป็นแบบอย่างของการให้ทาน ซึ่งไม่ได้ให้แต่เฉพาะสิ่งที่อยู่ภายนอกตัวเท่านั้น แม้แต่สิ่งที่อยู่ภายในตัวของร่างกายมนุษย์ก็สามารถบริจาคเป็นทานได้เหมือนกันและยังมุ่งถึงหลักคำสอนที่เป็นตัวคุณธรรมซึ่งเป็นนามธรรมที่อยู่ภายในบุคคลนั้น ๆ ได้สะท้อนออกมาให้เห็นจากพฤติกรรมนั้น ๆ ที่ได้บำเพ็ญทานมัย คือ บุญที่สำเร็จจากการให้ทาน เป็นทานที่มีผลานิสงส์ นอกจากจะมีผลดีต่อสังคมและร่างกายแล้ว ท่านพุทธวิริโย ได้กล่าวถึงคุณประโยชน์ทางธรรมอีกด้วย ดังนี้

๑. เกิดมาชาติหนึ่งภพใด จะเป็นผู้มีร่างกายแข็งแรง สมส่วนจะไม่เกิดในชนชั้นต่ำ ไม่เกิดในบ้านป่าเมืองเถื่อนเข้ากับเพื่อนมนุษย์ได้ง่ายประกอบอาชีพใด ๆ ก็จะเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานจิตใจเป็นสัมมาทิฐิ เรียนรู้ธรรมะเข้าใจได้ง่ายทำให้มีจิตใจเมตตา ไม่โหดร้ายเป็นการสะเดาะเคราะห์ต่อชะตาชีวิตที่ดีจะได้บุตรธิดาที่ดีมาสืบสกุลหากเจริญพระกรรมฐาน จะบรรลุธรรได้ง่าย

การให้ทานยังประโยชน์ตามที่ได้กล่าวมา เป็นการให้ทานที่มีคุณค่า เป็นการขัดเกลากิเลส เป็นการพัฒนาจิตใจในระดับพื้นฐาน เพื่อการเข้าถึงพระนิพพาน ถึงแม้ในความเป็นจริง ทุกคนให้ทานอาจจะไม่มุ่งหวังพระนิพพานอย่างเดียวเท่านั้น แต่ในการดำเนินชีวิตย่อมต้องการความสุข ความสำเร็จในหน้าที่การงาน ชื่อเสียงเกียรติยศ ทรัพย์สิน เงินทอง อันเป็นปัจจัยค้ำจุน ให้ชีวิตดำเนินไปได้อย่างมีความสุขอันเนื่องมาจากอานิสงส์ผลของทาน การให้ทานเป็นการพัฒนาจิตใจให้เป็นผู้อ่อนโยน เป็นการสั่งสมคุณงามความดี เพราะการให้ทานชื่อว่าเป็นผู้บำเพ็ญบุญในพระพุทธศาสนา เพราะคุณค่าหรืออานิสงส์ของบุญ อันมีผลมาจากการพัฒนาจิต ดังพระพุทธพจน์ที่ว่า “บุคคลฝังขุมทรัพย์ไว้ในโลก พอสิ้นบุญ ทรัพย์ทั้งหมดก็จะพินาศไป แต่ขุมทรัพย์คือบุญด้ยการให้ทาน เป็นของติดตามตนไป จะนำไปได้เพียงแต่ขุมทรัพย์คือบุญเท่านั้น” ควรหมั่นสะสมบุญเสมอ เพื่อความเจริญของตนเอง ดังปรากฏในพิฬารปทเสฏฐิ วัตถุ ปาปวรรค แห่งขุททกนิกายธรรมบทว่า “บุคคลไม่ควรดูหมิ่นบุญว่า บุญเล็กน้อยจะไม่มาถึง แม้หมอน้ำ ย่อมเต็มด้วยน้ำที่ตกทีละหยาดได้ ฉันใด คนมีปัญญา สั่งสมบุญอยู่ แม้ทีละน้อย ๆ ก็ย่อมเต็มด้วยบุญได้ ฉะนั้น”

การบริจาคโลหิต ถือเป็นการบำเพ็ญทานที่เป็นประโยชน์แก่สังคม เป็นการพัฒนาตนเองให้สมบูรณ์ โดยพระพุทธศาสนาได้แสดงหลักการพัฒนาตนไว้ 4 ประการ คือ

กายภาวนา หมายถึง พัฒนากาย เป็นการพัฒนาความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมภายนอก

ศีลภาวนา หมายถึง การพัฒนาศีล เป็นการพัฒนาความประพฤติให้อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ด้วยดี

จิตภาวนา หมายถึง การพัฒนาจิต เป็นการพัฒนาฝึกฝนอบรมจิตให้เข้มแข็ง มั่นคง เจริญงอกงามด้วยคุณธรรมทั้งหลาย

และปัญญาภาวนา หมายถึง การพัฒนาปัญญา เป็นการฝึกอบรมปํญญาให้รู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง สามารถทำให้จิตเป็นอิสระ ทำตนให้บริสุทธิ์จากกิเลสทั้งปวงได้


หลักการพัฒนาตนเองทั้ง 4 ประการ ต้องประกอบด้วยองค์ธรรมอันได้แก่ “มงคลชีวิต”มงคล คือ เหตุแห่งความสุข ความก้าวหน้าในการดำเนินชีวิต ที่พระพุทธองค์ตรัสตอบปัญหาเทวดาที่ถามว่า คุณธรรมอันใดที่ทำให้ชีวิตประสบความเจริญ ได้แก่ “มงคลสูตร”ซึ่งข้อที่ 15 ในองค์ธรรม 38 ประการ คือ การบำเพ็ญทาน เพื่อให้บุคคลรู้จักเสียสละ เพื่อสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นแก่สังคม เพราะระบบสังคมที่ดีมีความสงบสุข ย่อมจะสะท้อนกลับมาเป็นความสงบสุขถึงบุคคลได้ในที่สุด และเมื่อสังคมเข้มแข็งย่อมจะเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาด้านอื่น ๆ ต่อไป เพราะมนุษย์เป็นทรัพยากรที่มีค่าที่สุดในการพัฒนาสังคม นั้นเอง

ดังนั้น ผู้รักความมั่นคงของชีวิตในสังคม ควรได้เกื้อกูล เอื้ออาทร ซึ่งกันและกัน มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีงามต่อกัน ย่อมเป็นที่รักและทำให้สังคมสงบสุข ย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้พัฒนาตนอย่างแท้จริง

การบริจาคโลหิต นอกจากจะได้ประโยชน์ในทางธรรมแล้ว ยังส่งผลดีต่อสุขภาพร่างกายของผู้บริจาค ได้ตรวจเช็คสุขภาพทุกครั้งที่บริจาค และส่งผลดีทางจิตวิญญาณ จากการได้การรับความรู้สึกว่าเป็นผู้ให้ ได้ช่วยเหลือชีวิตคน ย่อมทำให้รู้สึกสุขใจ จึงถือเป็นการทำบุญที่ดีที่สุด และเมื่อได้ช่วยเหลือชีวิตแล้ว ยังเป็นการต่อยอดให้กับผู้อื่น ซี่งเป็นญาติพี่น้อง และสังคมของบุคคลนั้น ๆ อีกด้วย นับเป็นการให้ที่คุ้มค่าและเป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างมาก

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงชี้หนทางประเสริฐว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเที่ยวจาริกไป เพื่อประโยชน์ แก่ชนทั้งหลาย เป็นอันมาก เพื่อช่วยเหลือแก่ชาวโลกเถิด”จะเห็นว่าพระพุทธเจ้าได้ทรงตั้งเป้าหมายของการเผยแผ่ธรรมก็เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์และความสุข ตลอดจนก้าวเดินไปสู่จุดหมายปลายทางแห่งการหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งมวล เมื่อเราก้าวเดินไปบนหนทางสายนี้ จิตของเราจะได้รับการชำระให้บริสุทธิ์ขึ้น เปี่ยมไปด้วยความรัก ความเมตตา และความปราถนาดีต่อผู้อื่น

จึงกล่าวได้ว่า ประโยชน์และความสุขเป็นเป้าหมายที่สำคัญของทุกคน ทางพระพุทธศาสนาได้แบ่งประโยชน์ออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ประโยชน์ปัจจุบัน(ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์) มีร่างกายที่แข็งแรง มีการงานที่มั่นคง มีทรัพย์สินเงินทอง มีความสุข ประโยชน์ภายหน้า (สัมปรายิกัตถะประโยชน์) มีความประพฤติสุจริตดีงาม มีความสุขทางจิตใจ มีชีวิตที่มีคุณค่า ศรัทธาในศาสนาและมีธรรมะเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ผู้ที่จะได้ประโยชน์ในภายภาคหน้า จะต้องถึงพร้อมด้วยศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา และประโยชน์อย่างยิ่ง (ปรมัตถประโยชน์) ปฏิบัติตามมรรค 8 ประการ จึงเป็นเป้าหมายในการพัฒนามนุษย์ และบุคคลที่มีชีวิตอย่างมีคุณค่าในสังคมจะต้องทำประโยชน์ตน (อัตตัตถะ) ประโยชน์ผู้อื่น (ปรัตถะ) และประโยชน์สังคม (อุภยัตถะ) ให้สมบูรณ์

ดังนั้น ในฐานะที่เราเป็นเป็นพุทธศาสนิกชน จึงสามารถน้อมนำคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามาใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อตนเอง และผู้อื่นได้ ด้วยการรู้จักเสียสละเพื่อประโยชน์ผู้อื่น เป็นผู้ที่มีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยการบริจาคโลหิต ด้วยความเต็มใจ มีจิตใจที่บริสุทธิ์ เปี่ยมด้วยความรักความเมตตา ความปรารถนาดีต่อผู้อื่นอย่างจริงใจ ก็จะทำให้ตนเอง และสังคมส่วนรวม ได้รับความสุข ความสบายใจ อย่างแท้จริง ดังนั้น ในผู้ที่ร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง ก็สามารถบริจาคโลหิตช่วยชีวิตผู้อื่นได้ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติสภากาชาดไทย ยังรอรับการต่ออายุจากแรงศรัทธาของทุกท่าน และในโอกาสนี้ ในชีวิตหนึ่งจะไม่ลองบริจาคโลหิตดูสักครั้งหรือ

เขียนโดย อภิญญา ทองสุขโชติ
สำนักสารนิเทศและสื่อสารองค์กร สภากาชาดไทย

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย


ขอบคุณที่มา :: http://thairedcross.livingmuseum.sc.chula.ac.th/?p=410

.....................................................
ธรรมอำนวยพร
ขอให้.....มีจิตที่รู้ ที่ตื่น ที่เบิกบาน (พุทธะ)
ขอให้.....ทำการงานด้วยความสุข (อิทธิบาทสี่)
ขอให้.....ขจัดทุกข์ได้ด้วยปัญญา (อริยสัจสี่)
ขอให้.....มีดวงตาที่เห็นความจริง (ไตรลักษณ์)
ขอให้.....เจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไปด้วยไตรสิกขา (ศีล, สมาธิ, ปัญญา)
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 พ.ค. 2015, 19:33 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 ธ.ค. 2008, 09:34
โพสต์: 1322


 ข้อมูลส่วนตัว


4A ขออนุโมทนาสาธุค่ะ
:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 17 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร