วันเวลาปัจจุบัน 18 เม.ย. 2024, 14:10  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=19



กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 เม.ย. 2012, 12:51 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 6
สมาชิก ระดับ 6
ลงทะเบียนเมื่อ: 10 ม.ค. 2008, 20:41
โพสต์: 448

ที่อยู่: bangkok, Thailand

 ข้อมูลส่วนตัว


พระพุทธศาสนาสรุปอย่างไรเกี่ยวกับมังสวิรัติ
:
พระพุทธศาสนาสรุปอย่างไรเกี่ยวกับมังสวิรัติ

พระพุทธศาสนาให้ความสำคัญแก่ชีวิตมาก ไม่ว่าจะเป็นชีวิตของสัตว์ประเภทไหนล้วนมีความสำคัญทั้งสิ้น ในขณะเดียวกันก็ยอมรับความจริง ๒ ระดับ คือ (๑) ระดับโลกิยะ (๒) ระดับโลกุตตระ

ในระดับโลกิยะ พระพุทธศาสนาเห็นว่ามีความบกพร่องมาก มีคำพูดอยู่ประโยคหนึ่งที่พระภิกษุสามเณรในครั้งพุทธกาลพูดอยู่เสมอ เมื่อเกิดกรณีผิดพลาดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือคำพูดที่ว่า "ไม่ใช่ความผิดของท่าน ไม่ใช่ความผิดของผม แต่เป็นความผิดของวัฏฏะ" คำว่า วัฏฏะ ก็คือสังสารวัฏ หรือการเวียนว่ายตายเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่านั่นเอง เมื่อคราวตรัสรู้ไม่นาน พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า


เราแสวงหานายช่างผู้ทำเรือน เมื่อไม่พบได้ท่องเที่ยวไปสู่สังสาระ มีความ เกิดเป็นอเนก ความเกิดเป็นทุกข์ร่ำไป เราได้พบนายช่างผู้ทำเรือนแล้ว เจ้า จักทำเรือน(คืออัตภาพของเรา)ไม่ได้อีกต่อไป ซี่โครงทั้งหมดของ เจ้า เราหักเสียแล้ว ยอดเรือน(คืออวิชชา)เรารื้อแล้ว จิตของเราได้ถึง นิพพานมีสังขารไปปราศแล้ว เราได้บรรลุความสิ้นตัณหาแล้ว ์

พระพุทธพจน์นี้ทำให้สรุปได้ว่า การเกิดมาในโลกในระดับโลกิยะ มีปัญหาติดตัวมามาก สัตว์บางตนเกิดมาอยู่ในฐานะเป็นอาหารของสัตว์อื่น เช่น หมู ปลา ไก่ สัตว์บางตนเกิดมาอยู่ในฐานะต้องกินสัตว์เป็นอาหารอย่างเดียว โดยที่ตัวเองมีเนื้อเป็นพิษสำหรับสัตว์อื่น แม้แต่มนุษย์ที่ชอบกินเนื้อสัตว์เป็นอาหาร เนื้อของมนุษย์เองก็เป็นอาหารของสัตว์อื่นบางจำพวก นี่คือสังสารวัฏ

ชาวประมงมีพาอาชีพหาปลาขาย ฆ่าปลาเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน พวกเขาไม่ได้ทำผิดกฎหมาย แต่พวกเขาทำผิดหลักธรรมข้อสุจริต ล่วงละเมิดศีลข้อปาณาติบาต และวิถีชีวิตของพวกเขาไม่ยุติธรรมสำหรับปลา แม้กระนั้นชาวประมงก็ยังต้องดำรงชีพโดยการจับปลาขายต่อไป เกษตรกรเลี้ยงไก่ เลี้ยงปลาก็อยู่ในฐานะเดียวกัน คนที่มีอาชีพฆ่าหมูเพื่อชำแหละเนื้อออกขายในท้องตลาดก็อยู่ในฐานะเดียวกัน นี่คือข้อจำกัดหรือโทษของสังสารวัฏ

ในระดับโลกุตตระ วิถีชีวิตบริสุทธิ์จากข้อจำกัดเหล่านี้ สัมมาอาชีวะหรือสัมมาอาชีพซึ่งเป็นองค์หนึ่งในมรรคมีองค์ ๘ จึงหมายถึง การดำรงชีพที่ชอบเว้นจากอาชีพที่เป็นการเบียดเบียนชีวิต เช่น การค้าอาวุธแม้จะถูกต้องตามกฎหมาย การค้าแรงงานมนุษย์ การค้ายาพิษ การค้าน้ำเมา

ประเด็นเกี่ยวกับมังสวิรัติก็เช่นเดียวกัน การกินหรือไม่กินเนื้อสัตว์เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล ประเด็นสำคัญคืออย่าฆ่าสัตว์ เมื่อพระเทวทัตต์เข้าไปเฝ้ากราบทูลขออนุญาตวัตถุ ๕ ประการ วัตถุข้ออื่น ๆ พระพุทธเจ้าตรัสกับพระเทวทัตต์ "อย่าเลยเทวทัตต์ ภิกษุใดปรารถนาก็จงทำไปเถิด เช่น ภิกษุใดปรารถนาก็จงอยู่ป่า" ส่วนข้อที่เกี่ยวกับการฉันปลาและเนื้อ พระพุทธเจ้าตรัสตอบพระเทวทัตต์ว่า "เราอนุญาตปลาและเนื้อที่บริสุทธิ์ด้วยอาการ ๓ อย่าง คือ (๑) ไม่ได้เห็น (๒) ไม่ได้ยิน (๓) ไม่ได้รังเกียจ" จะเห็นว่า พระพุทธเจ้าไม่ทรงใช้คำว่า "ผู้ใดปรารถนาก็จงฉันปลาและเนื้อ" พระพุทธดำรัสนี้มีนัยสำคัญอย่างยิ่ง ถามว่า "อะไรคือนัยสำคัญแห่งพระพุทธดำรัสนี้ ?"

พระพุทธดำรัสว่า "เราอนุญาตและเนื้อที่บริสุทธิ์ด้วยอาการ ๓ อย่าง ..." หมายถึง ไม่ได้ตั้งข้อกำหนดไว้ วางไว้เป็นกลาง ๆ ไม่ได้กำหนดแม้แต่จะบอกว่า "ผู้ใดปรารถนาก็จง ..." เพราะฉะนั้น เรื่องที่พระพุทธเจ้าทรงวางไว้เป็นกลาง ๆ อย่างนี้ ในทางปฏิบัติ จะเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม จะถูกหรือผิด พระภิกษุต้องเทียบเคียงกับหลักที่เรียกว่า "มหาปเทศ" ๒ ข้อ คือ
(๑) สิ่งใดที่ไม่ได้ห้ามไว้ว่า "สิ่งนี้ไม่ควร" ถ้ามีแนวโน้มหรือจัดอยู่ในกลุ่มสิ่งที่ไม่ควร แย้งกับสิ่งที่ควร สิ่งนั้นไม่ควร
(๒) สิ่งใดที่ไม่ได้ห้ามไว้ว่า "สิ่งนี้ไม่ควร" ถ้ามีแนวโน้มหรือจัดอยู่ในกลุ่มสิ่งที่ควร แย้งกับสิ่งที่ไม่ควร สิ่งนั้นควร

เมื่อพระภิกษุเทียบเคียงถือปฏิบัติอย่างนี้ ย่อมไม่ผิดพระวินัย แต่อย่างที่กล่าวมาแล้วว่า วิถีชีวิตระดับโลกิยะ มีโทษมาก มีข้อบกพร่องมาก เช่นกรณีการกินเนื้อสัตว์ แม้จะเป็นเนื้อที่ไม่ต้องห้าม ต้องพิจารณาก่อนฉัน ถ้าไม่พิจารณาย่อมผิดพระวินัย ซึ่งต้องการให้พระภิกษุหรือแม้แต่คนที่ไม่ใช่พระภิกษุสำนึกอยู่เสมอว่า การกินเนื้อสัตว์แม้จะไม่ได้ฆ่าสัตว์ก็ถือว่มีส่วนทำให้ชีวิตถูกทำลาย ถ้าไม่กินจะดีกว่าหรือไม่ ? ส่วนวิถีชีวิตระดับโลกุตตระนั้น ย่อมบริสุทธิ์จากอกุศลเจตนาทุกประการ พระพุทธศาสนาสรุปชัดเจนในประเด็นว่า ฆ่าสัตว์ผิดศีลผิดวินัย บางกรณีผิดกฎหมายบ้านเมือง กินเนื้อสัตว์ ถ้าเป็นคฤหัสถ์ไม่ผิด ถ้าเป็นพระภิกษุฉันผิดเงื่อนไข ผิดพระวินัย ถ้าไม่ผิดเงื่อนไข ไม่ผิดพระวินัย นั่นเป็นเรื่องของศีลของคฤหัสถ์และพระวินัยของพระภิกษุ แต่อย่าลืมว่า ฆ่าสัตว์กับกินเนื้อสัตว์เป็นคนและประเด็น กินเนื้อสัตว์ในกรณีที่แม้จะไม่ผิดศีลหรือพระวินัย แต่ส่งผลต่อคน/สัตว์รอบข้างและอุปนิสัยจิตใจของผู้กินแน่นอน ในลังกาวตารสูตรแสดงเหตุผลที่ไม่ควรกินเนื้อสัตว์ สรุปได้ว่า "ในสังสารวัฏ คนที่ไม่เคยเป็นบิดามารดา ไม่เคยเป็นพี่น้องกัน ไม่มี สัตว์ทุกตัวตนมีความสัมพันธ์ทั้งสิ้นไม่ชาติใดก็ชาติหนึ่ง" เพราะฉะนั้น กินเนื้อสัตว์วันนี้ เราอาจกำลังกินเนื้อของสัตว์ที่เคยเป็นบิดามารดาของเราในชาติที่แล้วมาหรือในอีก ๕ ชาติข้างหน้าก็ได้ นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงผลเสียของการกินเนื้อสัตว์ไว้ เช่น ทำให้เป็นที่หวาดกลัวของสัตว์ ต่าง ๆ ทำให้กลิ่นตัวเหม็น ทำให้ชื่อเสียงไม่ดีกระจายไป...



โดย...พระมหาสมจินต์ สมฺมาปญฺโญ (วันจันทร์)
ป.ธ.๙, ศษ.บ.,พธ.ม.(พระพุทธศาสนา), Ph.D. (Buddhist Studies)
คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 เม.ย. 2012, 14:10 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 6
สมาชิก ระดับ 6
ลงทะเบียนเมื่อ: 10 ม.ค. 2008, 20:41
โพสต์: 448

ที่อยู่: bangkok, Thailand

 ข้อมูลส่วนตัว


การกินเนื้อสัตว์...ขัดแย้งกับพระพุทธศาสนาหรือไม่ ?

อาจารย์สมภาร พรมทา

บทสรุป ท้ายที่สุดแล้วพุทธทุกฝ่ายก็เห็นร่วมกันว่าการถือมังสวิรัติเป็นดี

การที่พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้สาวกกินเนื้อสัตว์ได้
ตามที่ปรากฏในคัมภีร์ของฝ่ายเถรวาทนั้น
ควรเข้าใจว่าเป็นคนละเรื่องกับการสนับสนุนให้กินเนื้อสัตว์

ระบบจริยธรรมของพุทธศาสนาเถรวาทนั้น
เป็นระบบที่คิดเผื่อให้มีทางออก
สำหรับสถานการณ์ที่เราไม่อาจรู้ล่วงหน้าได้

เมื่อเราเข้าไปดูหนังในโรงหนัง
โรงหนังนั้นต้องมีทางออกปิดเอาไว้
สำหรับคนที่มีภาระต้องออกไป ก่อนคนอื่น
หรือไม่ยินดีที่จะดูหนังต่อเพราะหมดสนุก

พระพุทธองค์ทรงคิดเช่นนี้
จึงทรงอนุญาตให้ชาวพุทธบริโภคเนื้อสัตว์ได้

เราจะรู้ได้อย่างไรว่าในอนาคตหลังจากที่ทรงปรินิพพานแล้ว
พุทธศาสนาอาจแพร่เข้าไปในดินแดนที่อาหารหลักของผู้คนคือเนื้อสัตว์
(เช่นบริเวณขั้วโลกเหนือที่ปลูกพืชแทบจะไม่ได้เลย
มีแต่ปลาและเนื้อเท่านั้นที่ผู้คนจะกินเป็นอาหารได้)

การปิดประตูสนิทสำหรับการกินเนื้อสัตว์
จึงอาจเป็นอุปสรรคต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
แต่การมีประตูออกที่โรงหนัง
ไม่ได้แปลว่าเป็นการเชิญชวนให้ทุกคนออกมาจากโรงหนัง

การมีอยู่ของประตูนั้น
ควรเข้าใจว่ามีอยู่ในฐานะช่องทางสำหรับการเลือก
จริยธรรมแบบที่ไม่มีช่องทางสำหรับการเลือกเลยนั้น
พุทธศาสนาเถรวาทถือว่าเป็นจริยธรรมที่สุดโต่ง

การที่ฝ่ายมหายานมีความปรารถนา
ที่จะให้โลกนี้ลดการฆ่าสัตว์เพื่อเป็นอาหารมนุษย์นั้น
ต้องถือว่าเป็นเจตนาดีอย่างไม่มีข้อสงสัย

ยิ่งในโลกปัจจุบันที่อุตสาหกรรมอาหารที่มาจากเนื้อสัตว์
กระทำในรูปธุรกิจที่มีการเลี้ยงสัตว์คราวละมากๆ
และฆ่าสัตว์เพื่อส่งตลาดคราวละมากๆ

ข้อเสนอของฝ่ายมหายานยิ่งมีน้ำหนักมากขึ้นเป็นเงาตามตัว
สิ่งที่เราไม่อาจปฏิเสธได้ก็คือ

การที่เรายังกินเนื้อสัตว์อยู่
เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความชั่วร้าย
ที่กลายเป็นระบบไปแล้วนี้ยังดำรงอยู่ต่อไป
________________________________________

สัตว์จำนวนมหาศาลต้องถูกเลี้ยงในสถานที่ที่แออัด
ถูกปฏิบัติอย่างไม่มีคุณค่าโดยเจ้าของธุรกิจและผู้ที่เกี่ยวข้อง
รอวันหนึ่งเมื่อเนื้อของมันจะให้ค่าตอบแทนสูงสุดแก่ผู้ลงทุน
พวกมันก็จะถูกกวาดต้อนไปเชือด

นี่คือปาณาติบาตที่ทำอย่างเป็นระบบ เป็นวงจร
และอย่างปราศจากความสำนึกทางศีลธรรมใดใด

การเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นอาหารบ้างในสังคมเกษตรกรรมนั้น
อาจถูกตั้งคำถามไม่มากนักในเชิงจริยธรรม

ชาวนาที่เลี้ยงไก้ไว้ในบ้านปฏิบัติต่อไก่นั้น
อย่างมนุษย์ปฏิบัติต่อเพื่อสรรพสัตว์
ให้อาหารมัน มีที่มีทางให้มันได้เดิน ได้วิ่ง
ได้เลี้ยงลูก ตามประสาของมัน

ถึงเวลาที่จำเป็นเขาอาจขอชีวิตพวกมันบางตัวเพื่อเป็นอาหาร

ปาณาติบาตในสภาพการณ็เช่นนี้ยังพอเป็นที่เข้าใจได้

แต่ไก่หรือหมูที่อยู่ในโรงเลี้ยงสัตว์จำนวนเป็นพันเป็นหมื่นตัวนั้น
ไม่มีคุณค่าหรือศักดิ์ใดใดหลงเหลืออยู่
ระบบที่ปฏิบัติต่อพวกมันก็ไม่ใช่ระบบของมนุษย์
(เมื่อเทียบกับที่ชาวนาเลี้ยงไก่)

สิ่งที่พุทธศาสนามหายานเรียกร้องชาวพุทธก็คือ

ทำไมเมตตาธรรมของเราจงไม่ควรที่จะเอื้อมาถึงสัตว์เหล่านี้

พวกมันไม่มีอำนาจต่อรองใดใด
ที่จะช่วยตัวเองให้พ้นไปจากนรกบนดินนี้
นอกจากจะมีมนุษย์ผู้มีจิตใจประเสริฐมาช่วยเหลือ

เมตตาธรรมสำหรับฝ่ายมหายาน
นอกจากจะคือความรักและหวังดีต่อเพื่อสรรพสัตว์ที่ตกทุกข์ได้ยาก
ยังหมายถึงการจะไม่ยอมให้มีการกดขี่เบียดเบียนกัน
โดยที่เราไม่ยอมยื่นมือไปช่วยด้วย
เมตตาธรรมในความหมายหลังนี้
คือความมีน้ำใจ การคิดถึงผู้อื่น

และรู้สึกว่าตราบใดที่โลกนี้ยังมีการกดขี่เบียดเบียนกัน
เราจะนิ่งดูดายคิดถึงแต่ความบริสุทธิ์ส่วนตัวไม่ได้

ชาวพุทธที่ปิดบ้านนั่งภาวนาเพื่อไปพระนิพพาน
โดยไม่มองออกไปข้างนอกบ้านว่าที่โน่นเขาทำอะไรกันบ้าง
จะถือว่ามีเมตตาได้หรือ

นี่คือคำถามที่ผู้วิจัยคิดว่าฝ่ายมหายานได้ตอบเอาไว้ชัด

ฝ่ายเถรวาทจะตอบคำถามนี้อย่างไร
นี่คือสิ่งที่เราชาวเถรวาทจะต้องช่วยกันตอบ

การไม่กินเนื้อสัตว์เป็นหลักการแก้ความชั่วร้ายโดยวิธีอหิงสาโดยแท้

เราไม่จำเป็นต้องเรียกร้องระบบการคุ้มครองสิทธิสัตว์
(คือเสนอให้มีกฏหมายยกเลิกการค้าขายเนื้อสัตว์)
อย่างที่ชาวตะวันตกบางพวกกำลังรณรงค์

เพราะการเสนอเช่นนั้นเป็นการสร้างการเผชิญหน้ากัน
สิ่งทื่เราสามารถทำได้ง่ายๆ ตรงไปตรงมาทันทีทันใด
คือ พยายามไม่กินเนื้อสัตว์
สำหรับชาวพุทธเถรวาท
คฤหัสถ์อาจถือมังสวิรัติได้ง่ายกว่าพระสงฆ์
เพราะเป็นผู้ที่สามารถเลือกได้

และคฤหัสถ์ที่ถือมังสวิรัตินั่นแหละ
ที่จะช่วยให้พระสงฆ์ถือมังสวิรัติได้อย่างง่ายดาย
ด้วยการถวายอาหารมังสวิรัติแก่ท่าน
พระสงฆ์ท่านไม่มีทางปฏิเสธการอุปถัมภ์ของชาวบ้านอยู่แล้ว
เราถวายสิ่งใดท่านก็ฉันสิ่งนั้น

แต่การเลิกกินเนื้อสัตว์ไม่ใช่ของที่จะเลิกกระทำได้ง่ายๆ
เพราะระบบวิทยาศาสตร์สุขภาพ
ที่เราถือกันเป็นหลักใหญ่ในโลกขณะนี้
เชื่อว่ามนษย์ถูกสร้างมาให้กินเนื้อสัตว์
เพื่อสร้างสมองของเด็กให้เจริญเติบโต

ถ้ามนุษย์ยังมีความจำเป็นบางประการ
ที่จะต้องกินเนื้อสัตว์อยู่
จริยธรรมแบบทางเลือกที่พุทธศาสนาเถรวาทเสนอนั้น
ก็น่าที่จะเป็นทางออกที่ดีที่สุด

การกินเนื้อสัตว์บนพื้นฐานของความสำนึกว่า
ตนเองกำลังเอาเปรียบผู้อื่นจะเป็นแรงหน่วงดึงที่สำคัญ
ที่ไม่ได้ทำให้เด็กกินเพื่อความอร่อย
แต่เพราะความจำเป็น

ยิ่งพุทธศาสนาเถรวาทมีคำสอน
ที่บรรยายโทษของการประกอบอาชีพปาณาติบาต
(เช่นเรื่องนายโคฆาตก์และนายจุนทสูกริกใน “อรรถกถาธรรมบท”)
ว่าจะทำให้มีชีวิตที่เศร้าหมองอย่างไร

คำสอนนี้จะยิ่งมีส่วนช่วยให้ผู้ที่ประกอบอาชีพปาณาติบาต
โดยเฉพาะในเชิงอุตสาหกรรมมีความตระหนักคิดมากขึ้น

ฝ่ายมหายานนั้นรณรงค์ที่ผู้บริโภค
ส่วนฝ่ายเถรวาทก็รณรงค์ที่ผู้ผลิต
เมื่อผนวกจริยธรรมจากสองฝ่ายเข้าด้วยกัน
การฆ่าสัตว์และกินเนื้อสัตว์เป็นอาหาร
ก็คงจะลดลงจากโลกนี้เรื่อยๆ อย่างแน่นอน

(คัดลอกบางตอนมาจาก : งานวิจัยเรื่อง “กิน : มุมมองของพุทธศาสนา”


โดยอาจารย์สมภาร พรมทา ภาควิชาปรัชญา

โครงการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,

พิมพ์ครั้งที่ ๒, พ.ศ ๒๕๔๗, หน้า ๗๕-๗๘)


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: Google [Bot] และ บุคคลทั่วไป 8 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร