วันเวลาปัจจุบัน 19 เม.ย. 2024, 23:43  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=19



กลับไปยังกระทู้  [ 21 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 ธ.ค. 2013, 17:31 
 
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 ต.ค. 2010, 12:11
โพสต์: 5013


 ข้อมูลส่วนตัว


ควอนตัมกับพุทธธรรม

ความก้าวหน้าของฟิสิกส์ควอนตัม
ช่วยให้เราเข้าใจในพระพุทธศาสนาได้มากขึ้นอย่างไร ?

ประการแรก ฟิสิกส์ควอนตัมช่วยสนับสนุนเรื่องอนัตตาในพระพุทธศาสนา
นั่นคือทั้งพระพุทธศาสนาและทฤษฎีควอนตัมต่างยืนยันว่าไม่มีอะตอมหรืออัตตาที่แบ่งแยกไม่ได้
อะตอมหรืออัตตาเป็นสิ่งที่แบ่งย่อยออกไปได้ ไม่มีอะไรที่เป็นแก่นสารตั้งอยู่ได้ตามลำพังตนเอง
ทุกสิ่งทุกอย่างอาศัยกันและกันเกิดขึ้นตามหลักปฏิจจสมุปบาท

ประการต่อมา หลักการแห่งความไม่แน่นอน (Uncertainty Principle) ของฟิสิกส์ควอนตัม
ช่วยให้เราเข้าใจคำสอนเรื่องอนิจจังคือความไม่เที่ยงในพระ พุทธศาสนาได้ดียิ่งขึ้น

อนิจจังหรือความไม่เที่ยงนี้มีเหตุ มีปัจจัย มีตัวแปรมากมาย
เกินกว่าที่จะมาคิดในเชิงนิยัตินิยมแบบนิวตัน
ดังที่หลักกรรมในพระพุทธศาสนากำหนดว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว”
เมื่อพูดถึงพระพุทธศาสนากับฟิสิกส์ควอนตัม
คนมักสงสัยว่าความเชื่อของชาวพุทธในเรื่องกฎแห่งกรรม
จะขัดกับหลักการของฟิสิกส์ควอนตัมหรือไม่?

ก่อนอื่น เราต้องเข้าใจกฎแห่งกรรมในมุมมองที่ว่า
ใครก็ตามที่เชื่อว่าปัจจุบันที่เราเป็นอยู่นี้เป็นผลมาจากกรรมในอดีต
ความเชื่อนี้ถูกต้อง

แต่ใครที่เชื่อว่ากรรมที่เราทำทุกอย่างในวันนี้เราจะต้องได้รับผลในอนาคตอย่างแน่นอน
ความเชื่อนี้ผิดหลักพระพุทธศาสนา

เพราะอะไร?
ก็เพราะถ้าคิดว่ากรรมที่เราทำทุกอย่างในวันนี้
เราจะต้องได้รับผลหรือวิบากตามในอนาคตทั้งหมด
คนที่ทำบาปกรรมมามากก็ไม่สามารถจะเป็นพระอริยะได้
เพราะเขาต้องไปชดใช้กรรม ไม่รู้จักจบสิ้น

หลักคำสอนของพระพุทธศาสนามีอยู่ว่า
เราสามารถทำกรรมดีในปัจจุบันเพื่อล้างบาปกรรมในอดีตได้
เราจึงสามารถเปลี่ยนอดีตได้
ด้วยเหตุนี้ คนเคยทำบาปก็สามารถเป็นพระอรหันต์ได้
ชีวิตของเราสามารถเปลี่ยนแปลงได้ด้วยการทำกรรมดีในปัจจุบัน

หลักการแห่งความไม่แน่นอน (Uncertainty Principle) ของฟิสิกส์ควอนตัม
ช่วยทำให้เราสามารถสร้างอนาคตของเราได้ใหม่ ชีวิตของเราไม่ได้ถูกลิขิตตายตัวจากอดีต
ชีวิตของเรามีความไม่แน่นอนรออยู่ข้างหน้า ถ้าเราหมั่นทำดี เราก็จะเจริญก้าวหน้า

เป็นการยากที่จะพยากรณ์ล่วงหน้าได้ว่าคนที่ทำดีอย่างนั้นๆจะได้ดีในอนาคต เมื่อไร
เพราะมีตัวแปรมากมาย เนื่องจากคนเราทำกรรมทั้งดีและชั่วคละเคล้ากันไป
จึงเป็นการยากที่จะบอกว่าที่คนคนนี้ได้ดีครั้งนี้เพราะทำความดีนั้นไว้เมื่อ
วันนั้นวันนี้ในอดีต พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า เส้นทางการให้ผลของกรรมเป็นอจินไตย
คือเป็นเรื่องที่ไม่ควรคิดปัจจัยตัวแปรมากจึงมีความไม่แน่นอนอยู่เสมอ

ครั้งหนึ่งหลวงพ่อชาวัดหนองป่าพงถูกลูกศิษย์ขอร้องให้ทำนายทายทักโชคชะตา
อนาคตของเขา ท่านทนรบเร้าไม่ไหวจึงบอกให้เขาแบมือยื่นมาให้ท่านดูลายมือ
หลวงพ่อชาเพ่งดูลายมือลูกศิษย์อยู่พักใหญ่แล้วพึมพำว่า “น่าสนใจ น่าสนใจ”
ลูกศิษย์ถามว่า “อนาคตผมเป็นอย่างไรหรือครับ” หลวงพ่อชาตอบว่า
“อนาคตของคุณน่าสนใจเพราะมันมีแต่ความไม่แน่นอน”

เป็นที่น่าสังเกตว่า คำว่า “Uncertainty (ความไม่แน่นนอน)”
ซึ่งเป็นหลักการหนึ่งของฟิสิกส์ควอนตัม
ก็ตรงกับคำว่า “อนิจจตา (ความไม่เที่ยง)” ในพระพุทธศาสนา
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาเรื่องโครงสร้างของอะตอม
กลับยิ่งมาส่งเสริมความเข้าใจในเรื่อง “ทุกขัง (เป็นทุกข์)”

คำว่าทุกข์มี 2 ความหมายที่สำคัญคือประการแรกทุกข์หมายถึง “ทุกขเวทนา”
ได้แก่ความไม่สบายกายไม่สบายใจซึ่งหมายของทุกข์ในอริยสัจ
ทุกข์ในอีกความหมายหนึ่งคือ “ทุกขลักษณะ” ซึ่งเป็นทุกช์ในไตรลักษณ์
ทุกขลักษณะหมายความว่า สรรพสิ่งตกอยู่ภายใต้การบีบคั้นให้ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราโยนก้อนดินขึ้นไปบนท้องฟ้าแล้วมันก็ต้องตกลงมาแตกบนพื้นดิน
การที่ก้อนดินตกลงมาแตกเป็นอนิจจังคือความไม่เที่ยง
แต่เหตุที่ก้อนดินตกลงมาจากท้องฟ้าก็เพราะถูกแรงดึงดูดของโลกบีบคั้นให้ต้อง ตกลงมา
ก้อนดินไม่อาจจะอยู่บนฟ้าเพราะมีแรงที่ไปกด ไปบีบ ไปดึงก้อนดินให้ตกลงมานั่น
แสดงว่าก้อนดินเป็น“ทุกขัง” คือทนอยู่ในสภาพเดิมได้ยาก

ในจักรวาลนี้ไม่มีอะไรที่อยู่ได้ด้วยตัวของมันเองโดยไม่ถูกกระทำจากพลังอื่น
อีเล็คตรอน โปรตอนและนิวตรอนไม่ได้อยู่ตามลำพัง มันมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน
ก่อให้เกิดพลังบีบถูกคั้นให้ต้องเปลี่ยนแปลง มันจึงเป็นทุกขัง คือทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้

... :b1:

การที่อนุภาคพื้นฐานของอะตอมอยู่ด้วยตัวเองไม่ได้ก็หมายถึงว่ามันเป็น “อนัตตา”
คือไม่มีแก่นสารของตัวเอง ไม่มีสิ่งใดที่ตั้งอยู่ถาวรด้วยตัวของมันเอง
สรรพสิ่งต่างอาศัยกันและกันเกิดขึ้นตามหลัก “ปฏิจจสมุปบาท” ซึ่งมาจากคำว่า “ปฏิจจะ”
แปลว่า อาศัยกันและกัน “สมุปบาท” แปลว่า เกิดร่วมกัน

ในโลกนี้ไม่มีอะไรอยู่ได้ด้วยตัวลำพังของมันเอง
เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนั้นก็มี เมื่อสิ่งนี้เกิด สิ่งนั้นก็เกิด เมื่อสิ่งนี้ดับ สิ่งนั้นก็ดับ
เรื่องนี้เรานำมาโยงกับเรื่องอริยสัจ 4 ในพระพุทธศาสนาที่ว่าด้วยทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

มีทุกข์เพราะมีสมุทัยคือมีเหตุแห่งทุกข์ เมื่อดับเหตุได้ก็เกิดนิโรธคือความดับทุกข์ จะดับทุกข์ได้ก็ต้องมีมรรคคือวิธีการดับทุกข์ นี่คือประยุกต์ปฏิจจสมุทปบาทเอามาใช้ในชีวิตจริง


พระธรรมโกศาจารย์(ประยูร ธมฺมจิตฺโต)
อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย


แก้ไขล่าสุดโดย eragon_joe เมื่อ 20 ธ.ค. 2013, 18:06, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 ธ.ค. 2013, 17:32 
 
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 ต.ค. 2010, 12:11
โพสต์: 5013


 ข้อมูลส่วนตัว


สติกับควอนตัม

ในการประยุกต์ปฏิจจสมุทปบาทเอามาใช้ในชีวิตจริงนั้น
ตัวมรรคหรือวิธีปฏิบัติที่เป็นหัวใจสำคัญก็คือ “สติ” เรามักจะพูดว่า
“สติมาปัญญาเกิด สติเตลิดมักเกิดปัญหา”
เวลาที่เรามีความทุกข์ในใจ เวลาเราเครียดเวลาเรากลุ้ม เวลาเราโกรธ เราจะดับทุกข์ได้อย่างไร

สติมี 2 อย่างคือ

1. ระลึกรู้ทันสิ่งที่เกิดกับเรา อย่างเช่น มองเห็นสิ่งต่างๆ ภายนอกในขณะปัจจุบันนี้
หรือเสียงที่เข้าหูเรา ปัจจุบันอยู่ตรงไหนรู้ทันหมด เหมือนเราขับรถก็เห็นไฟเขียวไฟแดง
นี่คือมีสติกับสิ่งภายนอก

2. ระลึกรู้ทันความคิดที่เกิดขึ้นในจิตของเรา เวลาเราเห็น เวลาเราฟังแล้วคิดอย่างไร
เรารู้ทันความคิดที่มาเกิดขึ้นภายในจิตใจ เราก็เรียกความรู้ทันนี้ว่าสติ เช่น จิตโกรธก็รู้ว่าโกรธ
เซ็งก็รู้ว่าเซ็ง เครียดก็รู้ว่าเครียด

ฟิสิกส์ควอนตัมช่วยให้เข้าใจเรื่องสติได้อย่างไร ?

ทฤษฎีเรื่องความไม่แน่นอนของฟิสิกส์ควอนตัมช่วยให้เราเข้าใจว่า
เมื่อเราพยายามจะสังเกตความเร็วหรือธรรมชาติของอีเล็คตรอน
เราก็จะต้องหยุดอีเล็คตรอนไม่ให้เคลื่อนที่ พออีเล็คตรอนหยุดมันก็จะเสียความเคลื่อนไหว
ธรรมชาติของมันก็เปลี่ยนไป เราก็ศึกษาธรรมชาติของมันไม่ได้
นี่เรียกว่ามีผลกระทบจากผู้สังเกตต่อสิ่งที่ถูกสังเกต
การสังเกตได้เข้าไปเปลี่ยนธรรมชาติของสิ่งที่ถูกสังเกต มันจึงมีความไม่แน่นอนเกิดขึ้น
เมื่อเราไปเข้าสังเกตหรือศึกษามันเมื่อใด มันก็เปลี่ยนแปลงไปเมื่อนั้น
... :b12:

เพราะฉะนั้นสิ่งนี้ก็คือความไม่แน่นอน
แม้แต่ในทฤษฎีสัมพัทธ์ก็เหมือนกัน “กาละ” หรือ “เวลา”
ขึ้นอยู่กับจุดที่เราสังเกตสิ่งต่างๆ ที่เคลื่อนไหว คนคนหนึ่งไปสังเกตสิ่งหนึ่งตรงจุดนี้
เวลาขณะนั้นผ่านไปช้ามาก เช่น เวลาแห่งการรอคอยที่ผ่านไปอย่างเชื่องช้า
อีกคนหนึ่งไปสังเกตสิ่งหนึ่งอยู่ที่อื่นเวลาก็ผ่านไปเร็วมาก
ดังเช่น เมื่อเรามีความสุข เวลาผ่านไปอย่างกับมีปีกบิน
เวลาจึงเป็นเรื่องของความสัมพัทธ์ตามทฤษฎีของไอน์สไตน์

ในทำนองเดียวกัน สิ่งที่อยู่ภายในตัวเราคือจิต มันเคลื่อนที่เร็วมาก
มันเกิดดับเร็วมาก โกรธขึ้นมาปั๊บเราไม่ทันรู้ตัวเราเลย
เมื่อเครียดขึ้นมา ความเครียดก็ท่วมทับจิตใจของเรา โดยที่เราไม่ได้สังเกตมันเลย
และเราก็มักจะปล่อยให้ความทุกข์มันท่วมหัว เราเครียด เราทุกข์
โดยไม่เคยหันมาสังเกต สภาวะจิตของเราในขณะนั้นเลย

ถามว่าเราจะสามารถสังเกตสภาวะของจิตในขณะปัจจุบันได้หรือไม่ ?
คำตอบก็คือไม่ได้
สมมติว่าตอนนี้เรากำลังมีความสุขเหลือเกิน มีความสุขจากการทานอาหารที่อร่อย
ถามว่ารู้ได้อย่างไรว่าอร่อย เราเอาจิตมองมาที่ความรู้สึกของเรา จิตเกิดต่อกันเป็นกระแสอย่างนี้
จิตปัจจุบันจะไม่สามารถรู้ตัวของมันเอง จิตที่มีความรู้สึกว่าอร่อย
มันเป็นคนละดวงกับจิตที่สังเกตความรู้สึกอร่อย

จิตผู้สังเกตเป็นดวงปัจจุบัน ขณะที่จิตที่ถูกสังเกตเป็นดวงจิตอดีต
จิตที่เป็นปัจจุบันจะมองหรือเพ่งตัวเองไม่ได้
เหมือนกับคมมีดที่ไม่อาจจะตัดตัวมันเอง
หรือ เหมือนกับไฟฉายที่ส่องไปที่อื่น ไฟฉายส่องตัวเองไม่ได้... :b17:
จิตในปัจจุบันจึงสังเกตรู้จิตที่เป็นอดีตเท่านั้น
เมื่อหนึ่งนาทีที่ผ่านมาท่านรู้สึกอย่างไร ท่านกำหนดรู้ได้ อธิบายได้
เพราะเป็นการใช้จิตปัจจุบันมองจิตอดีต

ถามว่าเป็น ‘อดีต’ ที่แท้จริงหรือเปล่า ?
นี่ก็เหมือนกับหลักการแห่งความไม่แน่นอนในทฤษฎีควอนตัม
พอเราไปหยุดจิตเพื่อศึกษามัน มันก็ไม่เป็นความจริงร้อยเปอร์เซ็นต์
เพราะจิตได้สูญเสียความเป็นผู้รู้ (subject) และกลายเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดรู้ (object)
... :b27: ยกตัวอย่างการที่เราผิดหวังเพราะไม่ได้รับการเลื่อนตำแหน่ง ฟังข่าวครั้งแรกนี่ช็อคเลย
ทำไมเจ้านายทำกับเราอย่างนี้ เราอุตส่าห์ขยันทำงาน บุญก็ทำมามาก
เราช็อคจนทำอะไรไม่ถูกแล้วก็ไม่มีความสุข

พอผ่านไปอีก 5 วัน ความรู้สึกมันคลายลงไป หายช็อค หายทุกข์ หายเครียด
แล้วเราก็มองย้อนกลับมาดูตอนที่เราได้ฟังข่าวครั้งแรกที่เราเครียด เราช็อค รู้สึกผิดหวัง
เราย้อนมองความรู้สึกตอนนั้น ถ้าให้บรรยายราก็สามารถที่จะบอกได้ว่าช็อคอย่างนั้นเสียใจอย่างนี้
แต่สิ่งที่บอกเล่าวันนี้ไม่ใช่ความรู้สึกที่แท้จริงเมื่อสามวันก่อน
ยิ่งเวลาผ่านไปปีหนึ่ง เรายิ่งรู้สึกเฉยมากกับเหตุการณ์ครั้งนั้น แม้เราพยายามจะฟื้นความรู้สึกนั้น
มันก็ไม่กลับมา มันเป็นความทรงจำที่ลางเลือน ไม่เข้มข้นเต็มที่เหมือนตอนที่เราได้ฟังข่าวร้ายครั้งแรก
เพราะอะไร
ก็เพราะสถานะของเราในปัจจุบันมันไปกระทบกับสิ่งที่ถูกมอง
เราไม่ได้ไปเสวยอารมณ์ในอดีต เรามองอดีตเหมือนกับสิ่งที่อยู่ภายนอก เหมือนกับไม่ใช่ตัวของเรา
ผลก็คือผู้มองได้เปลี่ยนสถานะความเป็นจริง เปลี่ยนความเข้มข้นของสิ่งที่ถูกมองในกระแสจิตเดียวกัน


ทำไมต้องรอให้มันผ่านไปสามวัน เราค่อยมามองตัวเอง ทำไมจึงไม่มองตัวเองในวินาทีแรก?
ในขณะที่เรากำลังโกรธ ถ้าเราลองเอาจิตของเรามองความโกรธของเราเองทันที การมองจะเปลี่ยนสถานะของสิ่งที่ถูกมอง นั่นคือ ความโกรธจะลดลงทันที... :b1:
นี่คือหลักในการปฏิบัติธรรม... :b12:

ถ้าอธิบายด้วยหลักของฟิสิกส์ควอนตัมก็คือว่าผู้สังเกตได้ไปจับสิ่งที่สังเกต
ให้หยุดนิ่งจนมันเปลี่ยนสถานะ ตัวอย่างเช่น เรากำลังร้องเพลงคาราโอเกะอย่างสนุกสนานกับเพื่อนๆ
ทันทีนั้นเรานึกถึงตัวเองว่าเรามาทำบ้าอะไรอยู่ที่นี่ ลูกกำลังอดข้าวอยู่ที่บ้านยังจะมาร้องเพลงอยู่อีกหรือ
เห็นอะไรไหม?
จิตเปลี่ยนไปเลยใช่หรือไม่?
เพราะผู้สังเกตได้เปลี่ยนสิ่งที่ถูกสังเกตนั่นก็คือเปลี่ยนตัวเอง เหมือนกับการปฏิบัติกรรมฐาน หลายคนพอนั่งกรรมฐานทีไรฟุ้งซ่านทุกที ลืมกำหนดหายใจเข้า หายใจออก คิดเตลิดไปไหนก็ไม่รู้
เห็นภาพอะไรเต็มไปหมด อาจารย์สอนว่า เวลาจิตคิดฟุ้งซ่านให้กำหนดรู้ว่าฟุ้งหนอ ฟุ้งหนอ
เรากำลังฟุ้งคิดอะไรให้รู้ทันว่ากำลังคิด
พอเราเอาจิตไปมองจิตที่กำลังฟุ้ง มันจะหยุดกระแสของความฟุ้งซ่านทันที
เพราะผู้สังเกตมีผลกระทบต่อสิ่งที่ถูกสังเกต ถ้าเวลาที่เราโกรธ เรามีสติกำหนดรู้ว่าเรากำลังโกรธ
ความโกรธจะลดลงทันที ตรงกับหลักการแห่งความไม่แน่นอน (Uncertainty Principle)
ที่ผู้สังเกตมีผลกระทบต่อสิ่งที่ถูกสังเกต เราเอาใจมองใจ ใจที่มองจะมีผลกระทบต่อใจที่ถูกมอง
แต่สิ่งสำคัญก็คือ ต้องมีสติทันที เช่นพอโดนด่าว่าแล้วเกิดความโกรธ เราย้อน มองตัวเองทันทีว่าทำไมต้องโกรธ พอเรามองดูความโกรธเท่านั้น ความโกรธก็จะเจือจางลงทันที
ปัญหาก็คือ เราไม่ได้ฝึกสติ สติจึงมาไม่ทัน เราก็เลยสติแตกเสียเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นถ้าสติมาปัญญาก็เกิด คือเห็นตัวเองตามความเป็นจริง แต่ถ้าสติเตลิด มักเกิดปัญหา
เพราะฉะนั้นในการปฏิบัติธรรมเราต้องฝึกมองด้านในคือมองตน ดังคำกลอนที่ว่า

โลกภายนอกกว้างไกลใครๆ รู้
โลกภายในลึกซึ้งอยู่รู้บ้างไหม
จะมองโลกภายนอกมองออกไป
จะมองโลกภายในให้มองตน


โลกภายนอกในระดับมหภาคขึ้นอยู่กับกฎแห่งเหตุผลในฟิสิกส์ดั้งเดิม
แต่โลกภายในอะตอมระดับจุลภาคขึ้นอยู่กับหลักการแห่งความไม่แน่นอนในฟิสิกส์ควอนตัม
การที่พระพุทธศาสนาสอนให้มองด้านใน เราก็มองให้เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาภายในจิตใจ


พระธรรมโกศาจารย์(ประยูร ธมฺมจิตฺโต)
อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย


:b16: :b16: :b16:


แก้ไขล่าสุดโดย eragon_joe เมื่อ 20 ธ.ค. 2013, 18:18, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 ธ.ค. 2013, 17:32 
 
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 ต.ค. 2010, 12:11
โพสต์: 5013


 ข้อมูลส่วนตัว


วิปัสสนากับควอนตัม

วิปัสสนาเป็นวิธีมองโลกที่ช่วยให้เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
คือสอนให้ใช้จิตมองจิตของเรา การมองจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเรา
เราสามารถปลี่ยนความคิดให้บริสุทธิ์ขึ้น นั่นคือทำจิตให้บริสุทธิ์ผ่องใสเป็นสจิตปริโยทปนะ
คือทำจิตของเราให้ผ่องใส
เราจะทำจิตผ่องใสได้ก็ต่อเมื่อผู้มองมีผลกระทบต่อกระแสจิตที่ถูกมอง... :b12:

ฟิสิกส์ควอนตัมศึกษาความจริงที่คนทั่วไปยากที่จะเข้าใจ.... :b4:
เพราะโครงสร้างอะตอมนั้นเล็กมากขนาดที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า
พระพุทธศาสนาก็เช่นเดียวกัน คือ ศึกษาเรื่องจิตที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า
ซึ่งยากที่จะเข้าใจถ้าไม่ฝึกปฏิบัติ

การค้นพบของฟิสิกส์ควอนตัม
ช่วยสนับสนุนหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาในเรื่องของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
เมื่อเรามองเห็นสิ่งต่างๆ ว่าไม่แน่นอนเช่นเดียวกับหลักการแห่งความไม่แน่นอน
เราจะไม่ยึดมั่นถือมั่น
... :b1: :b16: :b27:
แม้แต่คนที่เราคบหามานานก็ต้องเปลี่ยนไป
เพราะมีเหตุปัจจัยมากมายที่ทำให้เขา เปลี่ยนไป เมื่อเราไม่สามารถที่จะรู้เหตุปัจจัยเหล่านั้นทั้งหมด
เราก็ต้องทำใจยอมรับความไม่แน่นอน ตามหลักการแห่งความไม่แน่นอน นั่นคือตามหลักอนิจจัง
คือความไม่เที่ยงในพระพุทธศาสนา

เหตุนี้คำสอนของพระพุทธศาสนาในหลายเรื่องจึงมีลักษณะเป็นเงื่อนไข
เราไม่อาจฟันธงลงไปว่าต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เวลาที่เรามองเห็นสรรพสิ่งเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้
มันเป็นอย่างนั้นในตัวของมันเองหรือเราคิดไปเอง
บางทีสรรพสิ่งที่เราเห็นนั้น มันไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิดหรือเราเข้าใจ
มุมมองของเราต่างหากไปจัดให้มันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้
... :b16:

ในฟิสิกส์ควอนตัม เมื่อมองในมุมหนึ่ง
เราจะเห็นว่าส่วนประกอบของอะตอมเป็นอนุภาค(Particle)
เมื่อมองในอีกมุมหนึ่ง เราจะเห็นเป็นคลื่น(wave)
ของสิ่งเดียวกันจึงมีสองลักษณะตามมุมมองของเรา
ในทำนองเดียวกัน สิ่งที่เราเห็นในปัจจุบันอาจจะมีทั้งคุณและโทษก็ได้
นั่นขึ้นอยู่ที่ว่าเรามองสิ่งนั้นในมุมไหน

โลกเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับมุมมองของเรา
ความจริงจึงเป็นเรื่องสัมพัทธ์ มันไม่ได้จริงในตัวมันเอง มันสัมพันธ์กับมุมมองของผู้มอง
ดังที่ทฤษฎีสัมพัทธ์ของไอน์สไตน์ถือว่ากาลเวลาขึ้นอยู่กับจุดของผู้สังเกตการณ์
เหมือนกับที่เราพูดถึงองค์ประกอบของอะตอมว่าเป็นอนุภาคหรือคลื่นก็แล้วแต่
มุมมองของเรา เพราะฉะนั้นโลกที่เรารับรู้จึงไม่ได้เป็น “ปรวิสัย”ทั้งหมด
บางอย่างเป็น ”อัตวิสัย” คือเป็นโลกแห่งประสบการณ์ที่เราสร้างขึ้น.... :b17: :b12:
ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสกับโรหิตัสสะเทพบุตรว่า
“เราบัญญัติโลก เหตุให้เกิดโลก ความดับโลก ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับโลก ในกายอันยาววาหนึ่ง มีสัญญา มีใจครอง”
ในพุทธพจน์นี้ โลกก็คือโลกแห่งประสบการณ์ของแต่ละคน
... :b1:

ในปรัชญาปรากฏการณ์วิทยา (Phenomenology) เราเรียกโลกแห่งประสบการณ์ว่า
“Lived World” คือโลกที่เราอยู่ หมายถึงโลกแห่งประสบการณ์ของเรา
ไม่มีโลกแบบปรวิสัย มีแต่โลกที่เกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างเราผู้มองกับสิ่งที่ถูกมอง
เราให้ความหมายแก่โลกรอบตัวเราต่างกันไป ความหมายสำหรับโลกของเรา
ย่อมต่างจากความหมายที่คนอื่นให้แก่โลกของเขา
ดังเช่น ภูเขาสวยงามสำหรับนักท่องเที่ยวอย่างเรา
แต่ภูเขาเดียวกันนั้นเป็นความท้าทายสำหรับนักปีนเขา
หรือเป็นขุมทรัพย์สำหรับ พวกต้องการระเบิดหินไปสร้างถนน

เพราะฉะนั้น หน้าที่ของจิตก็คือการให้ความหมายแก่โลก (Meaning-giving activity)
และข้อสำคัญก็คือ เราจะให้ความหมายแก่โลกภายนอกตัวเราอย่างไร นั่นขึ้นอยู่กับตัวเราเอง
โลกภายนอกเป็นอย่างไรไม่สำคัญสำหรับเรา ที่สำคัญคือเราตีตราหรือกำหนดความหมายให้คุณค่าแก่มันอย่างไรต่างหาก ถ้าเราตกอยู่ใต้อำนาจกิเลสตัณหา เราก็ตีค่าสถานการณ์ไปทางหนึ่ง แต่ถ้าเรามีธรรมประจำใจ เราก็ให้ความหมายแก่โลกไปอีกทางหนึ่ง
... :b8: :b27:

ธรรมะประจำใจช่วยสร้างกรอบในการมองโลกและให้ความหมายแก่โลกในทางสร้างสรรค์
ถ้าเรามองโลกด้วยเมตตา (ความรัก) และกรุณา (ความสงสาร) เราก็สามารถที่จะมองคนในแง่ดี
และอยู่ร่วมกันอย่างสันติได้
ดังเช่นคนที่กำลังมีความรักย่อมมองโลกสดใสงดงาม
แต่คนที่มองโลกด้วยความโลภ ความโกรธและความหลง โลกของเขาก็จะมีแต่ความเร่าร้อน

... :b8: :b1:

ดั้งนั้น “สุข” หรือ “ทุกข์” จึงชึ้นอยู่กับวิธีที่เรามองโลกหรือให้ความหมายแก่โลกแห่งประสบการณ์ของเรา ดังบทกลอนที่ว่า

สุขและทุกข์อยู่ที่ใจมิใช่หรือ
ถ้าใจถือก็เป็นทุกข์ไม่สุขใส
ถ้าไม่ถือก็ไม่ทุกข์พบสุขใจ
เราอยากได้ความสุขหรือทุกข์นา


ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธศาสนาเถรวาทของเราที่สอนเรื่องวิปัสสนา
หรือเป็นพระพุทธศาสนามหายานที่สอนสมาธิแบบเซน ต่างก็บอกวิธีมองโลกแบบเดียวกัน
คือมองโลกให้เห็นศูนยตาหรือความว่างในสรรพสิ่ง
ศูนยตาในมหายานก็คืออนัตตาในเถรวาทนั่นเอง
สรรพสิ่งเป็นอนัตตาคือไม่มีแก่นสาร ก็เพราะมันเป็นศูนยตาคือว่างจากแก่นแท้ ถาวร
เมื่อใดจิตใจของเราหยุดปรุงแต่ง เราก็จะเห็นความว่างในจักรวาล
ปริศนาธรรมหรือโกอานของพระพุทธศาสนานิกายเซนสอนให้เรามองโลกแบบศูนยตา
คือ ว่างจากการปรุงแต่งที่ใจเราสร้างขึ้น
พระพุทธศาสนาเถรวาทเรียกการมองโลกแบบนี้ว่า ยถาภูตญาณทัสสนะ
แปลว่ารู้เห็นตามความเป็นจริง
... :b41: :b12:

พระธรรมโกศาจารย์(ประยูร ธมฺมจิตฺโต)
อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย


แก้ไขล่าสุดโดย eragon_joe เมื่อ 20 ธ.ค. 2013, 18:31, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 ธ.ค. 2013, 17:36 
 
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 ต.ค. 2010, 12:11
โพสต์: 5013


 ข้อมูลส่วนตัว


ปริศนาธรรมส่งท้าย

พระพุทธศาสนานิกายเซนตั้งปริศนาธรรมไว้ว่า
เสียงปรบมือของมือสองข้างดังอย่างไรไม่ถาม แต่อยากทราบว่าเสียงของมือข้างเดียวดังอย่างไร
ตอบว่า เสียงของมือข้างเดียวคือความเงียบที่เกิดจากการไม่ปรุงแต่ง
สรรพสิ่งเกิดขึ้นจากการมีปฏิสัมพันธ์กันเหมือนกับเสียงปรบมือของมือสองข้าง
ดังกรณีที่เราผู้มองโลกให้ความหมายแก่โลก หรือกรณีที่ปฏิสัมพันธ์ของอะตอม
ก่อให้เกิดสรรพสิ่งขึ้นในโลก เมื่อไม่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างอะตอมก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นในจักรวาลนี้

ในเดือนกันยายน ๒๕๕๑ สถาบันฟิสิกส์ในเยอรมนีทดลองปล่อยให้โปรตอน 2 อนุภาค
วิ่งสวนกันด้วยความเร็วแสงในอุโมงค์ใต้ดินยาว 27 กิโลเมตร
ถ้าโปรตอนชนกันก็จะเกิดพลังงานมหาศาล เรียกว่าเป็นการระเบิดครั้งใหญ่ (Big Bang) ขนาดย่อม
ซึ่งจะช่วยไขปริศนาที่ว่าจักรวาลนี้ก่อกำเนิดขึ้นมาได้อย่างไร

การทดลองที่นักวิทยาศาสตร์ทำให้โปรตอน 2 อนุภาคชนกันอย่างนี้
ช่วยให้เข้าใจเรื่องกำเนิดของจักรวาล ความเข้าใจเรื่องอะตอมในฟิสิกส์ควอนตัม
นำไปสู่การไขปริศนาความลับของกำเนิด จักรวาล จากความรู้ในเรื่องจุลภาค
นำไปสู่ความเข้าใจในระดับมหภาค ในทำนองเดียวกัน
การรู้จักธรรมชาติของจิตใจของตนเองอย่างดีก็ทำให้พระพุทธเจ้าทรงเป็นโลกวิทู
คือรู้จักโลกทั้งโลก เหมือนกับการที่เรารู้จักใบไม้หนึ่งใบเป็นอย่างดีก็ทำให้เรารู้จักใบไม้ใน ป่าทั้งป่า

การศึกษาทำความเข้าใจฟิสิกส์ควอนตัม
ช่วยให้เราเข้าใจพระพุทธศาสนาในมุมองใหม่ได้มากขึ้น
แม้จะมีความแตกต่างระหว่างพระพุทธศาสนากับฟิสิกส์ควอนตัมอยู่บ้าง
ความแตกต่างนั้นมีแต่จะทำให้เราเกิดความสนใจว่าทำไมจึงต่างกัน
ทั้งนี้เพราะเหตุผลที่ว่า ผู้ที่เหมือนกันย่อมจะคบหากัน ผู้ที่แตกต่างกันย่อมจะสนใจกัน


พระธรรมโกศาจารย์(ประยูร ธมฺมจิตฺโต)
อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 ธ.ค. 2013, 18:37 
 
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 ต.ค. 2010, 12:11
โพสต์: 5013


 ข้อมูลส่วนตัว


พระธรรมโกศาจารย์(ประยูร ธมฺมจิตฺโต)
อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย


:b8: :b8: :b8:

เอกอนขอกราบพระอาจารย์


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ส.ค. 2018, 10:06 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2758


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 21 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 7 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร