วันเวลาปัจจุบัน 18 เม.ย. 2024, 19:32  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=19



กลับไปยังกระทู้  [ 21 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ธ.ค. 2013, 13:15 
 
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 ต.ค. 2010, 12:11
โพสต์: 5013


 ข้อมูลส่วนตัว


"เราแค่เพิ่งเริ่มต้นพัฒนาศักยภาพจิตใจและสติปัญญาของมนุษย์
เรายังรู้อะไรไม่มากนักหรอก อย่าเพิ่งด่วนสรุปในตอนนี้
ยังต้องใช้เวลาอีกนานในภายภาคหน้า
เป็นความรับผิดชอบของเราที่จะต้องไม่ให้คำตอบใด ๆ
เพราะการทำเช่นนั้นจะทำให้คนรุ่นหลังไม่มีพลังขับเคลื่อน
ปล่อยให้เขาคิดเอง และค้นหาต่อไปเรื่อย ๆ
เราทำได้เพียงแค่เป็นห่วงโซ่ช่วยเชื่อมต่อยุคสมัย
ด้วยสติปัญญาอันจำกัดของเราเท่านั้น"


ริดชาร์ด ฟิลลิป ฟาร์ยแมน
นักฟิสิกส์ รางวัลโนเบล ค.ศ.1965

ผู้ที่ได้รับรางวัลระดับนี้...มักจะทิ้งวลีงาม ๆ ไว้
ให้คนรุ่นหลังได้อ่าน
ซึ่งไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน
วลีนั้นก็ยังคง กินใจ...

:b8: :b8: :b8:

พอดีกำลังถือหนังสือเล่มนี้อยู่ในมือ และหนังสืออื่น ๆ เกี่ยวกับควอนตัม
เอกอนจะค่อย ๆ อ่าน และจะค่อย ๆ คัดสรร
ทัศนะที่งาม ๆ วลีที่งาม ๆ มาลง

ขออนุญาติผู้แต่งหนังสือไว้ ณ ที่นี้ด้วย...

:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ธ.ค. 2013, 16:48 
 
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 ต.ค. 2010, 12:11
โพสต์: 5013


 ข้อมูลส่วนตัว


"ความรู้อาจพาคุณจากจุด A ถึง B ได้
แต่จินตนาการพาคุณไปทุกหนทุกแห่ง"


ไอน์สไตน์


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ธ.ค. 2013, 22:03 
 
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 ต.ค. 2010, 12:11
โพสต์: 5013


 ข้อมูลส่วนตัว


ยังไม่มีเวลาคีย์ข้อมูลลง... :b9:
ขอคั่นรายการด้วย http://www.ramamental.com/medicalstuden ... inedetail/

โรคจิตและโรคจิตเภท ฉบับละเอียด
รศ.นพ.มาโนช หล่อตระกูล

โรคจิต คืออะไร

บ้านเรายังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องโรคจิตอยู่ไม่น้อย
ตัวอย่างเช่น ในภาพยนต์โทรทัศน์ตัวแสดงที่รับบทเป็นโรคจิต ก็แสดงโดยมีลักษณะงุนงง
สับสน เดี๋ยวก็จำญาติได้เดี๋ยวก็จำไม่ได้ หรือบางครั้งก็ทำท่าทางเซ่อๆ ซ่าๆ
หรือญาติของผู้ที่เป็นโรคจิตบางครั้งก็มาปรึกษาว่าไม่คิดว่าเขาจะเป็นโรคจิต
น่าจะแค่มีปัญหาแล้วคิดมากเท่านั้น เพราะยังพูดจากันรู้เรื่องดี
ใช้ให้ทำอะไรก็ทำได้ เพียงแต่ดูเงียบลงเท่านั้น

ตามจริงแล้วโรคจิตมีด้วยกันหลายชนิด
แต่ละชนิดก็มีลักษณะอาการแตกต่างกันออกไปบ้าง อย่างไรก็ตาม
จะต้องมีบางอาการดังต่อไปนี้จึงจะถือว่าเป็นโรคจิต

1. อาการหลงผิด

2. อาการประสาทหลอน

3. พฤติกรรมผิดไปจากเดิมอย่างมาก


:b12: :b55: :b55: :b12:


แก้ไขล่าสุดโดย eragon_joe เมื่อ 19 ธ.ค. 2013, 22:05, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ธ.ค. 2013, 22:04 
 
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 ต.ค. 2010, 12:11
โพสต์: 5013


 ข้อมูลส่วนตัว


1. อาการหลงผิด

อาการหลงผิดคือการปักใจเชื่อในบางสิ่งบางอย่างอย่างฝังแน่น
ไม่ว่าจะมีใครมาชี้แจงหรือมีหลักฐานคัดค้านที่เห็นชัดว่าสิ่งที่เขาเชื่อนั้นผิด
เขาก็ยังฝังใจเชื่อเช่นนั้น

อาการหลงผิดนี้บางครั้งก็เกิดขึ้นโดยที่ไม่มีเหตุการหรือสถานการณ์ชวนให้เกิดมาก่อน
เช่น นาย ก เกิดความหวาดระแวงว่าหัวหน้างานต้องการกลั่นแกล้งตนเอง
ต้องการให้ตนเองเครียดจนเป็นบ้า ทั้งที่เดิมเขากับหัวหน้างานก็ไม่มีเรื่องอะไรกัน
แต่ส่วนใหญ่แล้ว ก่อนเกิดความหลงผิดมักมีเหตุนำมาก่อน เช่น
หลังจากมีเรื่องกระทบกระทั่งกับเพื่อนบ้านในช่วงเดือนที่ผ่านมา นาย ข
มีความเครียดมาก กังวลใจว่าจะตกลงกันไม่ได้ เวลาผ่านไปแทนที่ความกังวลนี้จะลดลง
กลับยิ่งเป็นมากขึ้น เกิดความคิดขึ้นมาว่า เพื่อนบ้านคนนั้นจะจ้างคนมาลอบทำร้าย
เห็นคนเดินผ่านหน้าบ้านก็คิดว่าเขาพยายามดูว่านาย ข ทำอะไร จนไม่กล้าออกไปไหน
ญาติพี่น้องเห็นชัดว่า ความกังวล ความกลัวของนาย ข นี้ มีมากเกินเหตุ
พยายามชี้แจงว่าเรื่องที่ทะเลาะกันนั้นเป็นเรื่องเล็กน้อยทำความเข้าใจกันได้แล้ว
นาย ข ก็ยังไม่เชื่อ หรือแม้แต่จะให้เพื่อนบ้านคนนั้นมาบอกว่าไม่คิดอะไรแล้ว นาย ข
ก็ยังไม่เชื่อ คิดว่าเพื่อนบ้านแกล้งมาหลอกให้ตายใจ
จะได้ลอบทำร้ายตอนเผลอ

ความหลงผิดนี้มีได้แทบทุกเรื่อง
บางเรื่องอาจฟังดูพิลึกพิลั่น เป็นไปไม่ได้ เช่น
เชื่อว่ามีคลื่นไฟฟ้าส่งมาจากคนบางคนเพื่อทำร้ายให้ตนเองป่วย
เชื่อว่าตนเองท้องได้หลายเดือนทั้งๆ ที่ท้องไม่โตกว่าปกติ
บางเรื่องเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน
ซึ่งหากเป็นคนที่ไม่รู้จักกันมาก่อนอาจไม่ทราบว่ามีอาการหลงผิด


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ธ.ค. 2013, 22:08 
 
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 ต.ค. 2010, 12:11
โพสต์: 5013


 ข้อมูลส่วนตัว


2. อาการประสาทหลอน

คำว่าประสาทหลอนคือเกิดการรับรู้สิ่งต่างๆ
ทั้งที่ตามจริงแล้วไม่มีสิ่งที่รับรู้นั้นเกิดขึ้น
เกิดขึ้นได้กับการรับรู้ทั้งในด้าน รูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส ตัวอย่างเช่น
หูแว่ว ภาพหลอน หรือรู้สึกว่ามีอะไรมาชอนไชตามผิวหนัง
สิ่งที่เกิดขึ้นนี้อาจเป็นสิ่งในชีวิตประจำวัน เช่น เห็นคนที่คุ้นเคยมาพูดด้วย
หรือได้ยินแต่เสียง หรืออาจเป็นภาพแปลกๆ เห็นเทพ เห็นองค์ต่างๆ ก็ได้


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ธ.ค. 2013, 22:11 
 
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 ต.ค. 2010, 12:11
โพสต์: 5013


 ข้อมูลส่วนตัว


3. พฤติกรรมเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างมาก

มีพฤติกรรมที่ไม่ว่าใครเห็นก็คิดว่าผิดปกติ เช่น ร้องตะโกนโวยวายวิ่งไปตามถนน
วุ่นวายตลอดไม่หยุด หรืออาจเป็นแบบอยู่นิ่งเฉย ไม่ทำอะไร
หรือมีท่าทางแปลกๆ

ส่วนใหญ่แล้วผู้ที่เป็นโรคจิตจะไม่ทราบว่าตนเองผิดปกติไป
เขาจะเชื่อในสิ่งที่เกิดขึ้นกับตนเองว่าเป็นเช่นนั้นจริงๆ
ไม่เคยคิดสงสัยว่าไม่น่าจะเป็นไปได้หรือสิ่งที่เกิดขึ้นไม่สมเหตุสมผล
ดังที่คนอื่นเห็นๆ กัน นอกจากในผู้ที่หมั่นสังเกตตนเอง พอมีความรู้ด้านนี้บ้าง
ในช่วงเริ่มเป็นอาจพอทราบว่ามีสิ่งแปลกๆ เกิดขึ้นกับตนเอง
หรือสิ่งที่ตนเองพบอาจไม่เป็นจริง รู้สึกสองจิตสองใจ
บุคคลเหล่านี้จะพยายามปกปิดสิ่งที่เกิดขึ้น พยายามวางตัวให้เป็นไปตามปกติ
เพราะเกรงว่าคนอื่นจะเห็นว่าตัวเองผิดปกติไป แต่เมื่ออาการเป็นมากขึ้น
ความเชื่อในสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นมีมากขึ้นเรื่อยๆ
หรือสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขานั้นมีบ่อยขึ้น
จนความสามารถในการตัดสินว่าอะไรจริงอะไรไม่จริงเสียไป การควบคุมตนเองลดลง
พฤติกรรมในระยะนี้ก็จะแสดงออกมาให้ผู้อื่นเห็นชัดว่าผิดปกติไป


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ธ.ค. 2013, 22:14 
 
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 ต.ค. 2010, 12:11
โพสต์: 5013


 ข้อมูลส่วนตัว


ดังได้กล่าวมาแล้วว่าโรคจิตนั้นมีหลายชนิด
แต่ละชนิดจะมีอาการในแต่ละข้อแตกต่างกันไป ความรวดเร็วในการเกิดอาการ ก็แตกต่างกัน
และแม้แต่ในโรคเดียวกัน เช่นโรคจิตเภท ลักษณะอาการของแต่ละคนก็ไม่ได้เหมือนกันไปหมด
*

จะเห็นได้ว่าคำว่า “โรคจิต”
นั้นเป็นเพียงชื่อเรียกกว้างๆ ของผู้ที่มีอาการดังกล่าวเท่านั้น
หากต้องการทราบต่อไปว่าต้องใช้ยารักษาไหม จะหายหรือไม่ จะเป็นเรื้อรังหรือเปล่า
ก็จะต้องมาดูกันต่อให้ละเอียดลงไปอีกว่าเขาเป็นโรคจิตชนิดไหน

โรคจิตนั้นแบ่งออกเป็นหลายชนิดมาก
แต่แต่ละชนิดยังอาจแบ่งออกเป็นกลุ่มอาการย่อยๆ ลงไปอีก
อย่างไรก็ตามพอจะจัดเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ 6 กลุ่ม


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ธ.ค. 2013, 22:14 
 
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 ต.ค. 2010, 12:11
โพสต์: 5013


 ข้อมูลส่วนตัว


กลุ่มโรคจิต

โรคจิตเภท

โรคจิตหลงผิด

โรคจิตที่เกิดจากโรคอารมณ์แปรปรวน

โรคจิตชนิดเฉียบพลัน

โรคจิตที่เกิดจากโรคทางร่างกาย

โรคจิตที่เกิดจากสารต่างๆ หรือยา

โรคจิตที่เกิดจากโรคทางร่างกายหรือสารต่างๆ นั้น
ส่วนใหญ่แล้วเมื่อรักษาโรคทางร่างกาย หรือหยุดการใช้สารหรือยาต่างๆ
แล้วอาการก็จะหายหรือดีขึ้น โรคจิตเภทและโรคจิตหลงผิดนั้นจะค่อนข้างเรื้อรัง
ส่วนโรคจิตที่เกิดจากโรคอารมณ์แปรปรวน และโรคจิตชนิดเฉียบพลันมักเป็นไม่นาน


:b12:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ธ.ค. 2013, 22:19 
 
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 ต.ค. 2010, 12:11
โพสต์: 5013


 ข้อมูลส่วนตัว


โรคจิตที่เกิดจากความเจ็บป่วยทางร่างกาย

เป็นอาการโรคจิตที่เกิดจากความเจ็บป่วยทางร่างกาย
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าโรคทางร่างกายจะทำให้เกิดโรคจิตได้ทุกโรค เช่น
เราคงไม่คิดว่าโรคลำไส้อักเสบจะเป็นสาเหตุของโรคจิต
แต่ถ้าเกิดอุบัติเหตุหมดสติไปเป็นวันพอรู้ตัวขึ้นมาก็วุ่นวาย หวาดกลัว
อย่างนี้ก็น่าจะเกี่ยวข้องกัน

จะรู้ได้อย่างไรว่าโรคจิตที่เป็นอาจเกิดจากโรคทางร่างกาย


ลักษณะต่างๆ ต่อไปนี้พอช่วยบอกได้ว่า
โรคจิตที่เป็นอาจเกิดจากโรคทางร่างกาย


1. อาการเป็นเร็ว เป็นเร็วหมายความว่า
จากเดิมที่ปกติดีอยู่ก่อนแล้วจู่ๆ ก็มีอาการขึ้นมาทันที โรคจิตโดยทั่วๆ
ไปแล้วจะเริ่มมีอาการแบบค่อยเป็นค่อยไปอาจนานเป็นเดือนๆ
โดยญาติใกล้ชิดจะพอมองเห็นว่าผู้ป่วยดูผิดไปจากเดิม หากมีอาการเกิดขึ้นเร็ว (ภายใน
2 สัปดาห์) หรือยิ่งเกิดอย่างกระทันหัน (ภายใน 2 วัน) โดยที่เดิมปกติดีมาตลอด
ก็น่าสงสัยว่าอาจเป็นจากโรคทางร่างกาย

2. มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคทางสมอง เช่น
เคยเป็นอัมพฤกษ์



:b1:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ธ.ค. 2013, 22:33 
 
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 ต.ค. 2010, 12:11
โพสต์: 5013


 ข้อมูลส่วนตัว


โรคจิตเภท

หากไม่รวมถึงโรคจิตที่เกิดจากโรคทางร่างกายหรือยาแล้ว
โรคจิตเภทเป็นโรคจิตชนิดที่พบบ่อยที่สุด ประมาณกันว่าในคนทั่วไป 100
คนจะพบผู้ที่เป็นหรือเคยเป็นโรคนี้ 0.3-1 คน ในทุกๆ ปีจะมีผู้ป่วยใหม่เกิดขึ้น 1
คนต่อประชากร 1 หมื่นคน จึงขอกล่าวถึงโรคนี้ค่อนข้างมากกว่าโรคอื่นๆ

ลักษณะอาการ

อาการของโรคแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่
ระยะเริ่มมีอาการ ระยะอาการกำเริบ และระยะอาการหลงเหลือ

1. ระยะเริ่มมีอาการ
ระยะนี้เป็นระยะที่เริ่มมีอาการน้อยๆ ส่วนใหญ่การเปลี่ยนแปลงจะค่อยเป็นค่อยไป
มักมีปัญหาในด้านหน้าที่ความรับผิดชอบ หรือด้านสัมพันธภาพ การเรียนหรือการทำงาน
ญาติหรือคนใกล้ชิดมักเห็นว่าผู้ป่วยเปลี่ยนไปไม่เหมือนคนเดิม

เริ่มแรกส่วนใหญ่เก็บตัวมากขึ้น
เดิมวันหยุดเคยออกไปกับเพื่อนก็กลายเป็นไม่ไปไหน อาจขลุกตัวอยู่แต่ในห้อง
จะพบคนในบ้านก็ต่อเมื่อถึงเวลากินข้าว อาจหันไปสนใจเรื่องทางด้านปรัชญา ศาสนา
จิตวิทยา หรือเรื่องของไสยศาสตร์ บางคนก็หันไปหมกมุ่นกับบางสิ่งบางอย่างอย่างมาก
เช่น สะสมพระเต็มห้อง ทั้งๆ ที่เดิมไม่เคยสนใจมาก่อน
หากเป็นนักเรียนผลการเรียนเริ่มตกต่ำลง ครูอาจรายงานว่าเด็กมักเหม่อลอย
หรือไม่ค่อยสนใจเรียน เพื่อนๆ มีความรู้สึกว่าผู้ป่วยห่างไปจากกลุ่ม มีความคิด
คำพูด หรือบางครั้งมีพฤติกรรมที่ดูแล้วแปลกๆ แต่ก็ไม่ถึงกับผิดปกติชัดเจน


ที่บ้านอาจเห็นว่าผู้ป่วยกลายเป็นคนขี้เกียจ
วันหยุดก็ตื่นสาย บางที่ตื่นมาก็กินข้าวเที่ยงเลย การสนใจเรื่องของร่างกาย
หรือการแต่งตัวก็ลดลง จากเดิมเป็นคนสะอาด กลายเป็นมีเสื้อกองอยู่เกลื่อนห้อง
กางเกงตัวหนึ่งใส่หลายวันโดยไม่ซัก เวลาถามเรื่องเหล่านี้ก็มักมีข้ออ้างต่างๆ นาๆ
มีการใช้คำหรือสำนวนแปลก ๆ

ระยะนี้อาจนานเป็นเดือนๆ ถึงเป็นปี
ช่วงที่ผู้ป่วยดื่มเหล้ามาก หรือเครียดจัดๆ
อาจเห็นชัดขึ้นว่าไม่ค่อยปกติ

2. ระยะอาการกำเริบ
ผู้ป่วยบางคนอาจมีระยะเริ่มต้นไม่ถึงเดือน อาการก็เป็นมากขึ้นเรื่อยๆ
จนถึงขั้นอาการกำเริบเลย ในขณะที่บางคนระยะแรกอาจนานเป็นปี ก่อนที่อาการจะกำเริบ
ส่วนใหญ่แล้วอาการจะกำเริบเมื่อผู้ป่วยเผชิญกับความกดดันทางจิตใจ ดื่มเหล้า
หรือใช้สารเสพติด แต่ในบางราย อาการเป็นมากขึ้นมาเองก็มี

ในระยะนี้ความผิดปกติจะมีมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
อาการโรคจิตเช่น อาการหลงผิด หูแว่ว วุ่นวาย ก้าวร้าว
หรือพูดแล้วคนอื่นฟังไม่เข้าใจ จะปรากฎชัด
พบว่าคนที่เป็นโรคจิตเภทมักมีอาการในระยะกำเริบที่พบบ่อย ๆ ดังนี้

1) อาการหลงผิด
ความหลงผิดที่พบในโรคจิตมีหลายรูปแบบ เช่น หวาดระแวง หลงผิดว่าเรื่องต่างๆ
ที่เกิดขึ้นรอบตัวล้วนแต่เกี่ยวโยงกับตนเอง หลงผิดว่าตนเองเป็นเทพ เป็นเจ้า
หรือเป็นคนสำคัญกลับชาติมาเกิด ชนิดที่พบบ่อยคืออาการหวาดระแวง
โดยเชื่อว่าตนเองถูกกลั่นแกล้ง มีคนปองร้าย อาจเป็นคนๆ เดียวหรือเป็นขบวนการ
ความหลงผิดที่ดึงเรื่องต่างๆ มาเชื่อมโยงกับตนเองก็พบบ่อยเช่นกัน
โดยเห็นคนคุยกันก็คิดว่าคุยเรื่องตนเอง
อ่านหนังสือพิมพ์ก็รู้สึกว่าเอาเรื่องของตนเองไปเขียน
นอกจากนี้ยังอาจมีความหลงผิดชนิดที่ไม่ค่อยพบในโรคจิตอื่นๆ ได้แก่
ความหลงผิดที่มีลักษณะแปลกพิลึกพิลั่น
เป็นความเชื่อที่ไม่ว่าใครทราบก็รู้ว่าเป็นไปไม่ได้ เช่น
เชื่อว่าตนเองมีเครื่องดักจับสัญญาณคลื่นอยู่ในสมอง
หรือมีอำนาจอะไรบางอย่างมาบังคับให้ตนเองต้องทำตามทุกอย่าง
อย่างฝืนไม่ได้เลย

2) อาการประสาทหลอน
ประสาทหลอนคือการมีการรับรู้ทั้งๆ ที่ไม่มีสิ่งกระตุ้น
ซึ่งเป็นได้กับการรับรู้ทั้งทางรูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส
อาการประสาทหลอนที่พบบ่อย คือ เสียงแว่ว
โดยผู้ที่เป็นมักได้ยินเสียงคนพูดเป็นเรื่องราว และขณะที่ได้ยินก็รู้ตัวดียู่ตลอด
มิใช่ได้ยินเพียงแค่เสียงคนเรียกชื่อบางครั้ง หรือได้ยินเฉพาะตอนเคลิ้มหลับเท่านั้น
ลักษณะที่พบบ่อยคือแว่วเสียงคนพูดคุยกัน หรือวิพากษ์วิจารณ์ตัวผู้ป่วย
หรืออาจเป็นเสียงๆ เดียวคอยพูดต่อว่า หรือผู้ป่วยจะทำอะไรก็จะวิจารณ์ไปหมด
จนผู้ที่เป็นรู้สึกทุกข์ทรมานมาก บางคนบอกว่าจนไม่อยากจะคิด ไม่อยากจะทำอะไร
เสียงนี้ได้ยินไม่เป็นเวลา กลางวันหรือกลางคืนก็ได้ยินพอๆ กัน ถ้าข้างนอกมีเสียงดัง
เสียงแว่วนี้อาจเบาลงหรือหายไป บางคนใส่ซาวอะเบาท์
เพื่อจะให้ไม่ได้ยินเสียงแว่วก็มี

ประสาทหลอนชนิดที่พบรองลงไปคือ ภาพหลอน
อาจเห็นคนใกล้ชิด เห็นเจ้าพ่อเจ้าแม่ ส่วนใหญ่จะเห็นสีสัน รายละเอียดชัดเจน
และมักมีหูแว่วร่วมด้วย ประสาทหลอนชนิดอื่นๆ เช่น ได้กลิ่นแปลกๆ
หรือลิ้นรับรู้รสแปลกๆ อาจพบได้ แต่ไม่บ่อย

ตารางที่ แสดงอาการที่มักพบเฉพาะในโรคจิตเภท
อย่างไรก็ตามโรคจิตอื่นๆ ก็พบอาการเหล่านี้ได้เหมือนกัน
แม้จะไม่บ่อยเท่า

อาการที่มักพบเฉพาะในโรคจิตเภท

1.หูแว่วได้ยินเสียงดังขึ้นมาพร้อมๆ กันกับที่ตนเองคิด
เนื้อหาใจความเหมือนกับที่คิดทุกอย่าง
ผู้ป่วยบางคนบอกว่าเป็นเสียงสะท้อนของความคิด

2.หูแว่วได้ยินเสียงคนมากกว่าสองคนถกเถียงหรือออกความคิดเห็นกัน
โดยพูดถึงเรื่องของผู้ป่วย

3.หูแว่วเสียงพูดวิจารณ์การกระทำหรือกิจกรรมต่าง ๆ ของผู้ป่วย

4.รู้สึกว่ามีการเปลี่ยนแปลงในร่างกายของตนเอง
ร่วมไปกับเชื่อว่าความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกายของตนเองนี้
เป็นมาจากการกระทำของบุคคลหรืออำนาจภายนอก

5.รู้สึกว่าจู่ ๆ ความคิดเกิดหายไปกระทันหัน
จากการที่มีบุคคลหรืออำนาจภายนอกมาดึงความคิดออกไป

6.รู้สึกว่าความคิดที่มีนั้นไม่ใช่ความคิดของตนเอง
หากแต่เป็นจากบุคคลหรืออำนาจภายนอกสอดแทรกความคิดนั้นเข้าสู่ตนเอง

7.รู้สึกว่าความคิดของตนเองแผ่กระจายออกไปภายนอก จนคนอื่น ๆ
รอบข้างทราบกันหมดว่าตนเองคิดอะไรอยู่

8. มีการรับรู้ที่ปกติแต่เชื่อมโยงเหตุการณ์ที่รับรู้เข้ากับความหลงผิดของตนเอง
ที่เกิดขึ้นมาในขณะเกิดเหตุการณ์นั้น
ทั้งที่ไม่มีความเกี่ยวเนื่องกัน เช่น มองเห็นตำรวจโบกมือให้รถไป
เกิดเชื่อขึ้นมาว่าตำรวจโบกมือเพื่อบอกว่าสามีจะต้องจากตนเองไปเร็วๆนี้

9. มีความเชื่อว่าอารมณ์ความรู้สึก แรงผลักดัน
หรือการกระทำที่มีในขณะนั้นมิใช่ของตนเอง
หากเป็นจากอำนาจภายนอกมาควบคุมบังคับให้เป็นเช่นนั้น
ตนเองเป็นเหมือนหุ่นยนต์ที่คอยทำตามการควบคุม



3) อาการด้านความคิด
ผู้ป่วยมักมีความคิดในลักษณะที่มีเหตุผลแปลกๆ ไม่เหมาะสม ตนเองเข้าใจคนเดียว เช่น
มักไปยืนหน้าต้นไม้ข้างบ้านทุกเช้าก่อนออกจากบ้าน ถามก็บอกว่าเป็นการเคารพผู้อาวุโส
จะได้เป็นสิริมงคล เพราะต้นไม้มีคุณค่าแก่โลกและยังมีอายุหลายสิบปี เป็นต้น
ผู้ป่วยไม่สามารถรวบรวมความคิดให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันได้ตลอด
ซึ่งจะแสดงออกมาให้เห็นโดยผ่านทางการพูดสนทนา โดยอาจพูดจาไม่ต่อเนื่องกัน
พูดเรื่องหนึ่งยังไม่ทันจบก็เปลี่ยนเรื่องทันที
โดยที่อีกเรื่องหนึ่งก็ไม่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องเดิม
หรืออาจเกี่ยวเนื่องเพียงเล็กน้อย หรืออาจพบว่าตอบไม่ตรงคำถามเลย หากเป็นมากๆ
การวางคำในตัวประโยคเองจะสับสนไปหมด ทำให้ฟังไม่เข้าใจเลย บางคนอาจใช้คำแปลกๆ
ที่ไม่มีใครเข้าใจนอกจากตัวเขาเอง

4) อาการด้านพฤติกรรม
พฤติกรรมในช่วงนี้จะเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งอาจเป็นจากความหลงผิด
ประสาทหลอน หรือเป็นจากความคิดแปลกๆ ของผู้ป่วย บางรายเก็บตัวมากขึ้น อยู่แต่ในห้อง
ไม่อาบน้ำหลายๆ วันติดกัน ผมเผ้ารุงรัง กลางคืนไม่นอน ชอบเดินไปมา
หรือทำท่าทางแปลกๆ บางครั้งจู่ๆ ก็ตะโกนโวยวายหรือหัวเราะขึ้นมา
หรือยิ้มกริ่มทั้งวัน แต่งเนื้อแต่งตัวแปลกๆ เช่น สวมเสื้อผ้าหลายตัวทั้งๆ
ที่อากาศร้อน บางคนจะควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ค่อยได้ กลายเป็นคนหงุดหงิดฉุนเฉียวง่าย
มีพฤติกรรมก้าวร้าวอย่างที่เดิมไม่เคยเป็นมาก่อน
โดยเฉพาะหากญาติไปขัดใจหรือห้ามไม่ให้ทำอะไรบางอย่าง
ซึ่งอาการเช่นนี้มักก่อความเดือดร้อนแก่ญาติมาก จนต้องพามาพบแพทย์

มีอาการอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งเรียกว่า อาการด้านลบ(negative symptoms)
คือ ผู้ป่วยขาดในสิ่งที่ควรจะมีในคนทั่วๆ ไป ได้แก่
ไม่อยากได้อยากดี ไม่กระตือรือร้น เฉื่อยชาลง ไม่สนใจเรื่องการแต่งกาย แต่งตัวมอซอ
ผู้ป่วยอาจนั่งอยู่เฉยๆ ทั้งวันโดยไม่ทำอะไร ไม่รู้ร้อนรู้หนาว อารมณ์เฉยเมย
พูดน้อยหรือไม่ค่อยพูด หรือไม่สนใจคบหาสมาคมกับใคร ใครชวนไปไหนก็มักปฏิเสธ
เวลาพูดคุยด้วยจะเห็นว่าผู้ป่วยจะเฉยๆ ไม่แสดงท่าทีหรือความรู้สึกเท่าไร
อาจมียิ้มบ้าง แต่โดยรวมแล้วจะเป็นแบบเฉยๆ

อาการในลักษณะนี้อาจเริ่มเห็นตั้งแต่ระยะเริ่มแรกที่ยังไม่มีอาการกำเริบชัดเจน
ในบางคนอาการเด่นจะแสดงออกมาแต่ลักษณะนี้
โดยไม่พบว่ามีอาการหลงผิดหรือประสาทหลอนที่ชัดเจนเลยก็มี

3. ระยะอาการหลงเหลือ ส่วนใหญ่แล้วอาการต่างๆ
ที่กำเริบจะเป็นอยู่ช่วงหนึ่ง เมื่อรักษาก็จะทุเลาลง
อาการหลงผิดหรือประสาทหลอนจะหายไป หรืออาจมีแต่ก็น้อยหรือเป็นนานๆ ครั้ง
พูดจาฟังรู้เรื่องขึ้น อย่างไรก็ตามผู้ป่วยมักยังมีอาการหลงเหลืออยู่บ้าง เช่น
มีความคิดแปลกๆ เชื่อในเรื่องไสยศาสตร์หรือโชคลาง
อาการด้านลบมักพบบ่อยในระยะนี้



ความเป็นไปของอาการ

พบว่าผู้ป่วยมักมีนิสัยเดิมเป็นคนเก็บตัวมาตั้งแต่เด็กหรือวัยรุ่น
เป็นคนไม่ช่างพูด มีเพื่อนไม่กี่คน ชอบเพ้อฝัน ไม่ชอบเล่นกีฬาหรือการแข่งขัน
ชอบกิจกรรมที่ทำคนเดียว ไม่ชอบเที่ยว ส่วนใหญ่จะชอบอ่านหนังสือ ฟังเพลง ดูโทรทัศน์
อยู่กับบ้าน ฯลฯ อย่างไรก็ตามการมีพฤติกรรมหรือบุคลิกเช่นนี้ไม่ได้เป็นสิ่งผิดปกติ
เพียงแต่พบว่าเมื่อสอบถามผู้ป่วยที่เป็นโรคจิตเภทย้อนหลังถึงช่วงวัยเด็กหรือวัยรุ่นแล้ว
พบว่าส่วนหนึ่งมีบุคลิกนิสัยเช่นนี้

ส่วนใหญ่ผู้ที่เป็นจะเริ่มมีอาการขณะอายุราว 20 ปี ถึง
30 ปีเศษ พบว่าเพศชายเริ่มมีอาการขณะอายุน้อยกว่าเพศหญิง
พบน้อยที่มีอาการก่อนช่วงวัยรุ่น โรคนี้ยังอาจพบได้ในคนสูงอายุ เช่น
เริ่มมีอาการหลังอายุ 45 ปี แต่พบไม่มาก

ระยะเริ่มมีอาการจะค่อยเป็นค่อยไปตามที่กล่าวมาแล้ว
และมักพบอาการกำเริบเมื่อผู้ที่เป็นประสบกับความกดดันด้านจิตใจมากๆ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ธ.ค. 2013, 22:37 
 
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 ต.ค. 2010, 12:11
โพสต์: 5013


 ข้อมูลส่วนตัว


โรคจิตเภทเกิดขึ้นได้อย่างไร

เดิมเชื่อกันว่าการเลี้ยงดูในวัยเด็กที่ไม่ถูกต้อง
ทำให้เด็กเมื่อโตขึ้นป่วยเป็นโรคจิตเภท แต่ปัจจุบันเราทราบแล้วว่า
ความเชื่อนี้ไม่จริง

ปัจจุบันเชื่อว่าสาเหตุหลักเป็นเรื่องของความผิดปกติของระบบในร่างกาย
ซึ่งเป็นมากจาก

1. กรรมพันธุ์
จากการศึกษาพบว่าญาติของผู้ป่วยมีโอกาสเป็นโรคจิตเภทสูงกว่าประชากรทั่วไป
ยิ่งมีความใกล้ชิดทางสายเลือดมากยิ่งมีโอกาสสูง ความหมายตามตารางที่ *
คือหากติดตามคนทั่วๆ ไป ไปเรื่อยๆ 100 คนจะพบว่ามีผู้ที่เกิดป่วยเป็นโรคจิตเภท 1 คน
หากติดตามพี่น้องของผู้ที่ป่วยเป็นโรคจิตเภทไปเรื่อยๆ 100
คนจะพบว่าเกิดป่วยเป็นโรคจิตเภท 8 คน
จะเห็นว่ายิ่งมีความใกล้ชิดทางสายเลือดมากเท่าไร ก็ยิ่งมีโอกาสเกิดมากขึ้น
อย่างไรก็ตามมีข้อสังเกตคือแม้แต่แฝดไข่ใบเดียวกัน
(คู่แฝดที่มีหน้าตาเหมือนกันเพศเดียวกัน) คนหนึ่งเป็นอีกคนหนึ่งก็ไม่ได้พบว่าเป็น
100 เปอร์เซ็นต์
แสดงว่าถึงแม้กรรมพันธุ์จะมีส่วนในการเกิดโรคแต่ก็ไม่ได้เป็นสาเหตุไปทั้งหมด

2. ระบบสารเคมีในสมอง
เชื่อว่าโรคนี้เป็นจากสารเคมีในสมองที่ชื่อว่าโดปามีน (dopamine)
ในบางบริเวณของสมอง มีการทำงานมากเกินไป
และพบว่าการที่ยารักษาโรคจิตรักษาโรคนี้ได้เป็นจากการที่ยาไปออกฤทธิ์ยับยั้งการออกฤทธิ์ของสารโดปามีน

3. ความผิดปกติในส่วนอื่นๆ ของสมอง
พบผู้ป่วยโรคจิตเภทอยู่จำนวนหนึ่งที่มีช่องในสมอง (ventricle) โตกว่าปกติ
ซึ่งผู้ป่วยเหล่านี้ส่วนใหญ่มีอาการด้านลบเป็นอาการเด่น
บางการศึกษาพบว่าผู้ป่วยเหล่านี้มีเลือดไปเลี้ยงสมองส่วนหน้าลดลง
และการทำงานของสมองส่วนหน้ามีไม่เต็มที่

ในแง่ของครอบครัวนั้น
พบว่าสภาพครอบครัวมีผลต่อการกำเริบของโรค
โดยในครอบครัวของผู้ป่วยที่อาการกำเริบบ่อย ๆ พบว่ามีการใช้อารมณ์ต่อกันสูง
ได้แก่ ชอบตำหนิติเตียนผู้ป่วย มีท่าทีไม่เป็นมิตร
หรือเข้าไปจู้จี้ยุ่งเกี่ยวกับผู้ป่วยมากเกินไป

ตราบจนปัจจุบัน ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของโรคจิตเภท
เชื่อว่าโรคจิตเภทเป็นกลุ่มอาการซึ่งเป็นมาจากหลาย ๆ สาเหตุ
แนวคิดที่ยอมรับกันในปัจจุบันเชื่อว่า
ผู้ป่วยนั้นมีแนวโน้มหรือจุดอ่อนบางอย่างอยู่แล้ว
เมื่อพบกับสภาพกดดันบางประการทำให้เกิดอาการของโรคจิตเภทขึ้นมา
โดยแนวโน้มหรือสภาพกดดันนี้อาจเป็นเรื่องทางร่างกาย ยาหรือสารต่างๆ
เรื่องของจิตใจหรือสภาพแวดล้อมที่กดดัน หรือเป็นจากหลายๆ ประการร่วมกัน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 ธ.ค. 2013, 17:17 
 
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 ต.ค. 2010, 12:11
โพสต์: 5013


 ข้อมูลส่วนตัว


จิตและความเป็นจริงในควอนตัมฟิสิกส์

ตามทฤษฎีของฟิสิกส์ดั้งเดิม ผู้สังเกตทดลองเป็นสิ่งที่อยู่แยกต่างหากจากปรากฏการณ์หรือสิ่งที่ถูกสังเกต คือจิตของผู้สังเกตไม่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์หรือมีอิทธิพลต่อความเป็นไปของปรากฏการณ์หรือสิ่งที่ถูกสังเกต

หากแต่ความจริงในทฤษฎีควอนตัมนั้น สิ่งต่างๆในโลกกายภาพจะมีลักษณะที่ปรากฏเป็นพลังงานคือมีลักษณะเป็นคลื่น และเป็นสสารคือมีลักษณะเป็นอนุภาค ลักษณะที่ตรงข้ามกันของทั้งลักษณะที่เป็นคลื่นและเป็นอนุภาคนี้เป็นลักษณะที่เสริมกันของสิ่งเดียวกันโดยไม่มีลักษณะใดลักษณะหนึ่งเป็นลักษณะพื้นฐาน และลักษณะที่เป็นคลื่นหรืออนุภาคนั้นยังก็มิใช่ลักษณะที่แน่นอนตายตัว หากแต่ปรากฏลักษณะที่ดูคล้ายกับว่าเป็นคลื่นหรืออนุภาคตามสถานะการณ์เท่านั้น

ทฤษฎีควอนตัมได้แสดงให้เราได้เห็นว่า คุณสมบัติใดๆของวัตถุในระดับอะตอมมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับกระบวนการสังเกตและมนุษย์ผู้สังเกต และปรากฏการณ์ที่เกี่ยวข้องกับอะตอมมิอาจทำนายได้ด้วยความแน่นอน แต่เป็นเพียงความน่าจะเป็นตามความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันของสิ่งต่างๆ แต่เราจะเข้าใจมันได้โดยขึ้นอยู่กับวิธีการที่ศึกษา

จิตของมนุษย์จึงมีความสำคัญมากต่อการสังเกต และวัดปรากฏการณ์ธรรมชาติ สสารวัตถุจะแสดงคุณสมบัติใดๆของมันออกมา ย่อมขึ้นอยู่กับวิธีการที่ผู้สังเกตใช้ตรวจสอบวัดผล คือคุณสมบัติของวัตถุจะเปลี่ยนแปลงไปตามการทดลองวัดผลนั่นเอง หรือจะกล่าวได้ว่า จิตของผู้สังเกตมีส่วนร่วมในการสร้างความจริงในโลกของควอนตัม

ตามทัศนะของผู้เขียนเมื่อเรารับรู้สิ่งใดสิ่งหนึ่ง เราจะมีทัศนะหรือภาพเกี่ยวกับสิ่งนั้นๆ ไว้ในใจตามประสบการณ์ที่เราได้รับ เกิดเป็นมุมมองหรือโลกทัศน์ที่เรามีต่อเรื่องต่างๆ แล้วเราก็มีแนวการดำเนินชีวิตไปตามโลกทัศน์ที่เรามีอยู่ เกิดความรู้สึกสุข ทุกข์ ไปตามทัศนะที่ตั้งไว้ในใจ เช่นเดียวการรับรู้ว่าเป็นคลื่น หรือเป็นอนุภาคในโลกควอนตัมตามวิธีที่เรามอง

แต่เมื่อพิจารณาตามความเป็นจริงในโลกควอนตัมที่มีความไม่เที่ยงแท้ การปรากฏว่าเป็นคลื่นหรืออนุภาคเป็นสิ่งที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย การรับรู้ที่เรามีต่อสิ่งต่างๆจึงไม่ตรงต่อความจริง เป็นการบิดเบือนไปตามวิธีที่เราศึกษา หรือทัศนะที่เรายึดมั่นไว้ในใจนั่นเอง

และทำให้นึกถึงพุทธพจน์ที่ว่า”ใจมาก่อนสิ่งทั้งปวง ทุกสิ่งสำเร็จได้ด้วยใจ”

ตามทัศนะของผู้เขียนโลกหรือชีวิตเราจะเป็นไปอย่างนั้นย่อมขึ้นอยู่กับใจเราเป็นสำคัญ การให้ความสำคัญกับ”จิต”หรือ”ใจ” ของเราเองจึงเป็นเรื่องที่เราควรพิจารณา ความไม่เที่ยงในโลกของควอนตัมเมื่อเปรียบเทียบกับความไม่เที่ยงของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับจิตใจเรา ทำให้เราตระหนักถึงปรากฏการณ์ของจิตใจเราเอง อันเป็นปรากฏการณ์อันเนื่องมาจากเหตุปัจจัยตามแนวคิดของพุทธศาสนา

ความไม่มีตัวตนที่แน่นอนของความเป็นคลื่นและอนุภาคตามทฤษฎีควอนตัม ทำให้เรานึกถึง”ความว่าง”หรือ”จิตว่าง”อันเป็นการว่างจากความยึดมั่นเอาสิ่งที่เป็นไปตามกระแสของเหตุปัจจัยว่าเป็นตัวตนอย่างที่พุทธศาสนาบอกไว้

การรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง ในทางพุทธศาสนาเป็นสิ่งที่เราสามารถเรียนรู้และพัฒนาฝึกฝนได้ เพื่อการเข้าถึงความจริงอย่างถูกต้องเพื่อประโยชน์ในการดำเนินชีวิตได้อย่างสอดคล้องกับความเป็นจริง

ขอบคุณแหล่งข้อมูล จากหนังสือสมการความว่าง ผู้เขียน รศ.ดร. วัชระ งามจิตรเจริญ

:b1: :b1: :b1:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 ธ.ค. 2013, 17:23 
 
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 ต.ค. 2010, 12:11
โพสต์: 5013


 ข้อมูลส่วนตัว


''พระพุทธศาสนากับทฤษฎีควอนตัม : ความเหมือนที่แตกต่าง''

พระธรรมโกศาจารย์

พระพุทธศาสนาไม่เคยทะเลาะกับวิทยาศาสตร์

การค้นพบทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา
มีส่วนช่วยให้เราเกิดความรู้ความเข้าใจในพระพุทธศาสนามากยิ่งขึ้น
เพราะว่าหลักของพระพุทธศาสนานั้นถือว่า พระพุทธเจ้าเป็นผู้ค้นพบสัจธรรมซึ่งมีอยู่แล้ว
พระพุทธเจ้าเพียงนำสัจธรรมนั้นมาประกาศแก่ชาวโลก ดังพุทธพจน์ที่ว่า

“อุปฺปาทา วา ภิกฺขเว ตถาคตานํ อนุปฺปาทา วา” เป็นต้น
แปลความว่า “ภิกษุทั้งหลาย พระตถาคตเจ้าทั้งหลายจะอุบัติขึ้นหรือไม่ก็ตาม
ธาตุนั้นคือ ธรรมฐิติ (ความดำรงอยู่ตามธรรมชาติ) ธรรมนิยาม (กฎธรรมชาติ)
อิทัปปัจจยตา (ภาวะที่สรรพสิ่งเกิดดับตามเหตุตามปัจจัย) ก็ยังมีอยู่
พระตถาคตเจ้าย่อมตรัสรู้ทั่วถึงซึ่งธาตุอันนั้นแล้วบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง
เปิดเผย จำแนก ทำให้เข้าใจง่าย”


พระพุทธเจ้าได้ทรงค้นพบและประกาศเปิดเผยกฎธรรมชาติไว้เมื่อ สองพันห้าร้อยปีมาแล้ว
ต่อมาวิทยาศาสตร์สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ได้ค้นพบกฎธรรมชาติเดียวกันนั้น
หรือเพิ่มเติมอื่นใด สิ่งที่ศาสตร์ทั้งหลายค้นพบย่อมจะนำไปสู่ความจริงเดียวกัน นั่นคือสัจธรรม

พระพุทธศาสนาไม่เคยทะเลาะกับวิทยาศาสตร์
เพราะพระพุทธศาสนาไม่ได้ผูกขาดความจริง เรื่องสัจธรรม
ดังนั้นสัจธรรมที่ศาสตร์ต่างๆ ค้นพบจะคลี่คลายขยายตัวมาส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจ
พระพุทธศาสนาดียิ่งขึ้น

มีข้อความตอนหนึ่งในพระไตรปิฎกที่แสดงว่าพระพุทธเจ้าทรงเป็นธรรม
วาทีคือผู้กล่าวสัจธรรม ผู้ที่เป็นธรรมวาทีย่อมไม่ขัดแย้งกับพวกธรรมวาทีด้วยกัน
เพราะต่างฝ่ายต่าง พูดถึงสัจธรรมหรือความจริง ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า

“นาหํ ภิกฺขเว โลเกน วิวทามิ” เป็นต้น แปลความว่า “ภิกษุทั้งหลาย
เราตถาคตย่อมไม่ขัดแย้งกับชาวโลก แต่ชาวโลกย่อมขัดแย้งกับเรา
ธรรมวาทีย่อมไม่ขัดแย้งกับใครๆในโลก”
เมื่อพระพุทธเศาสนาและวิทยาศาสตร์ต่างก็เป็นธรรมวาที
ที่กล่าวถึงสัจธรรมความจริงด้วยกัน จึงไม่มีอะไรที่จะต้องขัดแย้งกัน
มีแต่จะส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดความเข้าใจกันดียิ่งขึ้น
หากจะมีความแตกต่างอยู่บ้างก็เพราะมีเป้าหมายที่ต่างกันในการแสวงหาความจริง
วิทยาศาสตร์แสวงหาความจริงเพื่อเป็นนายเหนือโลกที่ควบคุมสภาวการณ์ต่างๆไว้ได้
ขณะที่พระพุทธศาสนาแสวงหาความจริง เพื่อความเป็นผู้พ้นโลกคือดับทุกข์


เมื่อเข้าใจวัตถุประสงค์ที่ต่างกันอย่างนี้แล้ว
เราจะมาลองเปรียบเทียบสัจธรรมในพระพุทธศาสนา กับความจริงที่วิทยาศาสตร์แขนงหนึ่ง
คือฟิสิกส์ควอนตัมได้นำเสนอว่า มีความเหมือนหรือความต่างกันอย่างไร



พระธรรมโกศาจารย์(ประยูร ธมฺมจิตฺโต)
อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย


(ที่มา: สารนิพนธ์)

:b8: :b8: :b8:


แก้ไขล่าสุดโดย eragon_joe เมื่อ 20 ธ.ค. 2013, 17:39, แก้ไขแล้ว 2 ครั้ง.

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 ธ.ค. 2013, 17:27 
 
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 ต.ค. 2010, 12:11
โพสต์: 5013


 ข้อมูลส่วนตัว


ฟิสิกส์ดั้งเดิม

ปัจจุบันวิทยาศาสตร์เสนอทฤษฎีฟิสิกส์ไว้ 2 สำนักใหญ่คือ
ฟิสิกส์ดั้งเดิม (Classical physics) กับฟิสิกส์ควอนตัม (Quantum physics)

ถ้าเปรียบเทียบกันระหว่างฟิสิกส์ดั้งเดิมกับฟิสิกส์ควอนตัม
ฟิสิกส์ทั้ง 2 สำนักมีแนวความคิดบางอย่างที่ขัดแย้งกัน
แต่กลายเป็นว่าฟิสิกส์ควอนตัมกลับช่วยอธิบายหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา
ได้ดีกว่าฟิสิกส์ดั้งเดิมหรือฟิสิกส์นิวตัน (Newton physics)
ในเรื่องที่สำคัญที่สุดของพระพุทธศาสนา 2 เรื่องคือ ปฏิจสมุทปบาทและไตรลักษณ์

ปฏิจสมุทปบาทหรืออิทัปปัจจยตาเป็น คำสอนที่ว่าด้วยการที่สิ่งต่างๆอาศัยกันและกันเกิดขึ้น
ที่พระพุทธเจ้าทรงค้น พบด้วยการตรัสรู้ ส่วนเรื่องไตรลักษณ์
ซึ่งก็คือคำสอนว่าด้วยลักษณะ 3 ประการของสิ่งทั้งหลาย ได้แก่
“อนิจจัง(ไม่เที่ยง) ทุกขัง(เป็นทุกข์) อนัตตา(ไม่มีแก่นสาร)”
อันเป็นหัวใจของการปฏิบัติธรรมเพื่อความหลุดพ้น

เราปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเพื่อให้เห็นไตรลักษณ์ รู้แล้วละ รู้แล้ววาง
ทุกวันนี้เราเข้าใจเรื่องไตรลักษณ์ได้ยากขึ้นเพราะมีแนวคิดของฟิสิกส์ดั้งเดิมมาขวางกั้น
เป็นอุปสรรคของการเข้าถึงธรรม เพราะฟิสิกส์ดั้งเดิมหรือฟิสิกส์นิวตันมีแนวคิดหลักอยู่ที่ 4 หัวข้อคือ
1.อะตอม 2.กาละ 3.เทศะ และ 4.แรงโน้มถ่วงหรือแรงดึงดูดของโลก

เซอร์ไอแซก นิวตัน (Sir Isaac Newton) ถือว่า
สรรพสิ่งมีมวลสารที่แบ่งแยกไม่ได้และตั้งอยู่ด้วยตัวของมันเอง ซึ่งเรียกว่าอะตอม(Atom)
จริงๆ แล้วความคิดเรื่องอะตอมเป็นแนวคิดหลักของฟิสิกส์ดั้งเดิมที่ถือว่าหน่วยที่เล็กที่สุดของสสาร(Matter)ในโลกที่ถูกแบ่งย่อยให้เล็กลงๆ ในที่สุดจะถึงจุดที่เล็กที่สุดซึ่งแบ่งย่อยต่อไปไม่ได้อีก
ซึ่งทำหน้าที่เป็นองค์ประกอบเล็กที่สุดสำหรับสร้างจักรวาล เราเรียกว่า “Building blocks”
ก็เหมือนกับก้อนอิฐแต่ละก้อนสำหรับสร้างบ้านนั่นเอง เพราะฉะนั้นหากเราแบ่งอะไรต่อมิอะไร
จนไปถึงหน่วยที่เล็กที่สุดแล้วมันจะถึง จุดที่แบ่งแยกไม่ได้ ในเชิงสสาร
จุดที่แบ่งแยกไม่ได้นี้เรียกว่า “อะตอม”

อะตอม(Atom) เป็นภาษากรีก แปลว่า “ตัดแบ่งไม่ได้ (Uncuttable)”
อะตอมคือสิ่งที่เราไม่สามารถจะแบ่งย่อยต่อไปได้อีก หลักของเรื่องนี้ก็คือไม่ว่าเราแบ่งอะไรก็ตาม
ในที่สุดมันต้องไปถึงจุดสุดท้าย จุดสุดท้ายที่แบ่งต่อไปไม่ได้นั่นแหละคือ “อะตอม”
ซึ่งเป็นอนุภาคที่เล็กที่สุดของสสาร ความคิดอย่างนี้เราเรียกว่าเป็น “paradigm”
หรือความเชื่อพื้นฐานของวิทยาศาสตร์โลกตะวันตกมากว่า 2,000 ปี
จนมาถึงสมัยนิวตันก็ยังเชื่อว่ามีอะตอม

นิวตันเชื่อว่าสสารซึ่งมีองค์ประกอบที่เล็กที่สุดคืออะตอมได้สร้างจักรวาล
สร้างดวงดาว สร้างอะไรต่างๆ ที่เคลื่อนไหวก่อให้เกิดแรงโน้มถ่วงที่กระทำต่อกันในกล่องใบใหญ่
ซึ่งเป็นที่ ว่างคือเทศะในจักรวาลอันว่างเปล่าใหญ่โตและขึ้นอยู่กับกาลเวลา

อีกประเด็นหนึ่งที่ฟิสิกส์ดั้งเดิมของนิวตันเห็นขัดแย้งกับพระพุทธศาสนาก็คือเรื่องกาลเวลา
นิวตันเชื่อว่ากาลเวลาเป็นเรื่องที่มีอยู่ในตัวของมันเอง แต่พระพุทธศาสนาถือว่ากาละหรือเวลา
เป็นสิ่งที่เราคิดขึ้น
ในพระอภิธรรมเราเรียกว่าบัญญัติ คือคนเราคิดขึ้นมาโดยที่กาลเวลาไม่ได้มีอยู่ในตัวมันเอง
แต่นิวตันถือว่ากาละหรือเวลาเป็นความจริงอีกมิติหนึ่งมีอยู่จริง

มวลสารของจักรวาลที่เรียกว่าอะตอมหรืออนุภาคที่เล็กที่สุด
มารวมตัวกันเป็นสิ่งต่างๆ เช่นดวงดาวแล้วเคลื่อนไหวในเทศะหรือที่ว่างในอวกาศ
ที่ว่างหรือเทศะนี้ก็เป็นความจริงอีกมิติหนึ่งเช่นเดียวกับกาละ
สิ่งต่างๆในจักรวาลที่เคลื่อนไหวนั้นได้สร้างแรงที่กระทำต่อกันเรียกว่า แรงดึงดูดหรือแรงโน้มถ่วง
สิ่งทั้งหลายเคลื่อนไหวและมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันภายใต้กฎที่ชัดเจนแน่นอน
เหมือนกับเครื่องจักรกลของนาฬิกาที่เดินอย่างเที่ยงตรงจนเราคาดเวลาล่วงหน้าได้
ในทำนองเดียวกัน ถ้าเรารู้ความสัมพันธ์ที่เป็นแบบแผนของสิ่งต่างๆ
ว่าอะไรกระทำต่ออะไร ณ จุดไหนในจักรวาล เราก็สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้
ว่าจะเกิดอะไรขึ้นที่ไหนเมื่อไร

เพราะฉะนั้น ฟิสิกส์ดั้งเดิมของนิวตันจึงถือว่า
ถ้าเรารู้เทศะคือจุดที่สสารตั้งอยู่ และรู้แรงทั้งหมดที่มากระทำต่อสสารนั้นๆในเวลานั้น
เราก็จะสามารถพยากรณ์ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต ดังที่นักคณิตศาสตร์ฝรั่งเศส
ชื่อปิแอร์ ซีโมน ลาปลาซ (Pierre Simon Laplace) กล่าวอย่างมั่นใจว่า

“ในขณะใดขณะหนึ่งที่กำหนดให้ปัญญาซึ่งรู้แรงทุกแรงที่กระทำอยู่ในธรรมชาติ
และรู้ตำแหน่งของสิ่งต่าง ๆ ซึ่งประกอบกันขึ้นเป็นโลก สมมติว่าปัญญาดังกล่าวนั้น
กว้างขวางพอที่จะนำเอาข้อมูลเหล่านี้ไปวิเคราะห์ มันย่อมจะรวมสูตรการเคลื่อนที่ของก้อนวัตถุ
ที่ใหญ่ที่สุดในจักรวาลและของอะตอมที่เล็กที่สุดเอาไว้ด้วย ไม่มีสิ่งที่ไม่แน่นอนสำหรับมัน
และเช่นเดียวกับอดีต อนาคตจะปรากฏแก่สายตาของมัน”

คนเราทุกวันนี้ตกอยู่ใต้อิทธิพลความคิดของฟิสิกส์ดั้งเดิมแบบนี้
เพราะเราเชื่อว่าวิทยาศาสตร์จะสามารถบอกอดีต ทำนายอนาคต ทำให้เกิดการป้องกันต่างๆ
เพราะเชื่อว่าสิ่งต่างๆ เกิดขึ้นภายใต้การควบคุมของกฎจักรวาล เมื่อเรารู้กฎวิทยาศาสตร์แล้ว
เราก็สามารถที่จะควบคุมตัวแปรต่างๆ โดยใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ได้
และสามารถที่จะปรับตัวให้สอดคล้องกับอนาคตที่จะตามมาได้

ดังนั้น ฟิสิกส์ดั้งเดิมได้สร้างภาพของจักรวาลให้เป็นเหมือนเครื่องจักรกลมโหฬาร
ที่ค่อนข้างจะมีความแน่นอน มั่นคงและปลอดภัยจนมนุษย์สามารถพยากรณ์ล่วงหน้าได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ด้วยเหตุนี้ฟิสิกส์ดั้งเดิมจึงส่งเสริมความเชื่อแบบนิยัตินิยม (Determinism)
คือแนวคิดที่ว่าทุกเหตุการณ์ในโลกนี้ถูกกำหนดล่วงหน้าไว้แล้วว่าต้องเกิด ขึ้นเมื่อนั้นเมื่อนี้


พระธรรมโกศาจารย์(ประยูร ธมฺมจิตฺโต)
อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย


แก้ไขล่าสุดโดย eragon_joe เมื่อ 20 ธ.ค. 2013, 17:48, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 ธ.ค. 2013, 17:29 
 
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 ต.ค. 2010, 12:11
โพสต์: 5013


 ข้อมูลส่วนตัว


ฟิสิกส์ควอนตัม

อย่างไรก็ตาม ฟิสิกส์ควอนตัมได้เข้ามาทำให้
ความเชื่อเรื่องความแน่นอน มั่นคงและปลอดภัยแบบนี้หมดไป
เปรียบเหมือนกับการที่เรากำลังยืนอยู่บนพรมแห่งความมั่นคงปลอดภัยของฟิสิกส์ดั้งเดิมของนิวตันแล้วอยู่ๆ ก็มีคนมากระตุกพรมออกจากใต้เท้าของเราจนเราล้มทั้งยืน
ฟิสิกส์ควอนตัมทำลายความมั่นใจของฟิสิกส์ดั้งเดิมให้หมดไป

คำว่า “ควอนตัม (Quantum)” เป็นภาษาลาตินแปลว่า “ขนาดไหน”
หรือ “จำนวนเท่าไร” เป็นคำที่ใช้พูดถึงจำนวนหรือขนาดพลังงานของอะตอม

คล้ายกับคำว่า “นาโน (Nano)” ซึ่งเป็นภาษากรีก แปลว่า “คนแคระ”
เป็นคำที่ใช้วัดขนาดของสิ่งที่เล็กมากๆ เช่น อะตอม ดีเอ็นเอ ในนาโนเทคโนโลยี

ฟิสิกส์ควอนตัมเสนอภาพใหม่ของจักรวาลที่มีความไม่เที่ยงแท้แน่นอน
ความคิดที่ว่าจักรวาลมีความเป็นเหตุเป็นผลที่เราพยากรณ์ล่วงหน้าได้กลายเป็น ความไม่แน่นอน
จนกระทั่งอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein)เจ้าของทฤษฎีสัมพัทธ์ที่มีส่วนสำคัญ
ที่ทำให้เกิดทฤษฎีควอนตัมขึ้น มาก็ได้พยายามปฏิเสธทฤษฎีควอนตัมในบั้นปลายชีวิต
โดยที่ไอน์สไตน์กล่าวว่าถ้าทฤษฎีควอนตัมเป็นจริง โลกใบนี้ก็จะไม่มีกฎระเบียบอะไรเลย
ซึ่งเขาใช้คำว่าเพี้ยน (Crazy) ดูเหมือนว่าตอนนี้โลกเพี้ยนจริงๆ คือบางครั้งดูจะไร้กฎ
ไร้ระเบียบ ไม่มีความแน่นอนอะไรเลย ดังที่เรามักจะพูดว่าไม่มีอะไรแน่นอนนอกจากความไม่แน่นอน

ทฤษฎีควอนตันจึงโยงไปถึงคำสอนเรื่อง ‘อนิจจัง ความไม่ที่ยง’ ในพระพุทธศาสนา
ทั้งนี้เพราะว่าทฤษฎีควอนตันได้เปิดเผยสภาวะที่เรียกว่าความไม่แน่นอน (Uncertainty)
เนื่องจากว่า แนวคิดสำคัญประการหนึ่งของฟิสิกส์ควอนตัมก็คือหลักการที่ว่าด้วยความไม่แน่นอน (Uncertainty Principle)

ในฟิสิกส์ดั้งเดิมของนิวตัน จักรวาลมีกฎระเบียบแน่นอนจนเราพยากรณ์ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น
โลกนี้มีกฎธรรมชาติที่แน่นอน แต่ฟิสิกส์ควอนตันกลับเสนอว่าโลกนี้มีความไม่แน่นอน
ดังนั้นไอน์สไตน์จึงกล่าวว่า ถ้าทฤษฏีของฟิสิกส์ควอนตัมเป็นจริง มันจะไม่มีความเป็นเหตุเป็นผล
ไม่มีความเป็นกฎที่แน่นอน แสดงว่าเราจะไม่สามารถบอกได้ว่ามันจะเป็นอย่างไรต่อไป เพราะมันเป็นไปตามหลักการที่ว่าด้วยความไม่แน่นอนของฟิสิกส์ควอนตัมเสียแล้ว

ควรทราบว่า การที่ทฤษฏีควอนตัมทำให้ภาพของจักรวาลเปลี่ยนไป เพราะฟิสิกส์ควอนตัมไม่ได้ไปสนใจเรื่องกฎของจักรวาลแบบมหภาค ฟิสิกส์ควอนตัมไม่ได้สนใจเรื่องการโคจรดวงดาว
เรื่องดวงจันทร์ หรือเรื่องน้ำขึ้นน้ำลงอะไรต่างๆ เหล่านี้ แต่ฟิสิกส์ควอนตัมกลับสนใจศึกษา
โครงสร้างของอะตอมที่เป็นอนุภาคพื้นฐาน สำหรับสร้างจักรวาล
ซึ่งถ้าเราเข้าใจองค์ประกอบพื้นฐานตรงนี้ เราจะเข้าใจภาพรวมของจักรวาลทั้งหมด
ดังนั้น ฟิสิกส์ควอนตัมจึงเป็นการกลับไปหาจุดเริ่มต้นดั้งเดิมของจักรวาล

ภาพรวมของจักรวาลอย่างที่เราศึกษากันอยู่ในทุกวันนี้นั้น
ส่วนใหญ่เป็นแนวคิด แบบฟิสิกส์ดั้งเดิมของนิวตัน ซึ่งเป็นการพูดถึงเรื่องใหญ่แบบมหภาค
แต่ฟิสิกส์ควอนตัมหันมาศึกษาเรื่องที่เล็กมาก แบบจุลภาค (Micro) นั่นคือโครงสร้างของอะตอม
หรือปรมาณู จึงกล่าวได้ว่า ฟิสิกส์ควอนตัมสนใจส่วนที่เล็กที่สุดของจักรวาล

นักวิทยาศาสตร์ในอดีตเชื่อว่า อะตอมไม่มีโครงสร้างอะไร
เพราะมันเป็นอนุภาคที่เล็กที่สุดในจักรวาล คนสมัยก่อนเชื่อว่าอะตอมแบ่งแยกไม่ได้
ตามที่นักปรัชญากรีกเชื่อกันมาเป็น พันๆ ปี แม้แต่ในอินเดีย ปรัชญาฮินดูสำนักไวเศษิกะ
ก็สอนว่ามีอะตอมหรือปรมาณู ตรงกับที่เรียกว่า “อัตตา” หรือ “อาตมัน”
นั่นคือ มีสิ่งที่แบ่งแยกย่อยต่อไปไม่ได้ เรียกว่า ปรมาณู อะตอม อัตตาหรืออาตมัน

ในบรรดาศาสนาสำคัญของโลกมีเพียงศาสนาเดียวเท่านั้นที่ปฏิเสธอะตอม
ปฏิเสธอัตตาหรืออาตมัน นั่นก็คือพระพุทธศาสนา

พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาเดียวที่ยืนยันว่าไม่มีแก่นสารทั้งในฝ่ายจิตและฝ่าย สสาร
แก่นสารในฝ่ายจิตเรียกว่าอาตมันหรือวิญญาณอมตะ (Immortal soul)
ส่วนแก่นสารในฝ่ายสสารเรียกว่าอะตอมหรือปรมาณู ศาสนาคริสต์ อิสลาม พราหมณ์-ฮินดู
ต่างสอนว่ามีอาตมันหรือวิญญาณอมตะในมนุษย์และมีอะตอมหรือ ปรมาณูในสสาร

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “สัพเพ ธัมมา อนัตตา” แปลว่า “สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา”
หมายความว่า สรรพสิ่งทั้งที่เป็นจิตและสสารล้วนไม่มีแก่นแท้ถาวร คือเป็นอนัตตา

เมื่อแปลคำว่าอนัตตาเป็นภาษาอังกฤษก็ต้องใช้คำ 2 คำ นั่นคือ
ถ้าใช้คำว่าอนัตตาให้หมายถึงว่าไม่มีอาตมันหรือวิญญาณอมตะในมนุษย์
เราต้องแปลว่า Not-self หรือ Non-ego แต่ถ้าใช้อนัตตา
ให้หมายถึงว่าไม่มีอะตอมหรือแก่นสารที่เที่ยงแท้ในสสาร
เราต้องแปลว่า Non-substantiality (ไม่มีแก่นแท้ถาวร)

พระพุทธศาสนาสอนเรื่องอนัตตาในจิตและสสารมากว่าสองพันปี
พระพุทธศาสนาถือว่าไม่มีอัตตาหรืออะตอมสสาร ทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีแก่นแท้ถาวร
ที่ตั้งอยู่ได้ในตัวของมันเอง สรรพสิ่งอาศัยกันและกันเกิดขึ้นตลอดเวลาตามหลักปฏิจจสมุปบาท
ดังที่ควอนตัมฟิสิกส์ระบุว่าไม่มีอะตอมที่อยู่ได้ตามลำพังตัวเอง
โครงสร้างอะตอมประกอบด้วยอีเล็คตรอน โปรตอนและนิวตรอน
อนุภาคของอะตอมที่เป็นประจุไฟฟ้าบวก(โปรตอน)และประจุไฟฟ้าลบ(อีเล็คตรอน)
ต่างมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน อีเล็คตรอนวิ่งโคจรรอบนิวเคลียสด้วยความเร็วที่สูงมาก
การเกาะกลุ่มของประจุไฟฟ้าเหล่านั้นกลายเป็นอะตอม และประจุไฟฟ้าเหล่านั้น
ก็ไม่อาจอยู่ได้ตามลำพัง ทั้งหมดต่างอาศัยกันและกันเกิดขึ้น
ตามหลักปฏิจจสมุปบาทในพระพุทธศาสนา


โดยสรุปแล้วภาพของจักรวาลในทฤษฎีควอนตัมต่างจากฟิสิกส์ดั้งเดิมของนิวตัน
ก็คือ อะตอมถูกแบ่งย่อยออกไปเป็นองค์ประกอบที่เล็กกว่าซึ่งเป็นประจุไฟฟ้า
ที่วิ่งวนกันเองคืออีเล็คตรอน โปรตอนและนิวตรอน อะตอมจึงเป็นสนามพลังงานขนาดจิ๋ว
องค์ประกอบย่อยของอะตอมนั้นบางครั้งก็เป็นอนุภาค(Particle) บางครั้งก็เป็นคลื่น (Wave)

อีเล็คตรอนของอะตอมเคลื่อนที่รอบแกนกลางคือนิวเคลียสตลอดเวลา
ขณะที่อีเล็คตรอนกำลังเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูง อีเล็คตรอนปรากฎเป็นคลื่น
ด้วยความเร็วระดับนั้น เราจึงไม่อาจกำหนดตำแหน่งที่ตั้งของอีเล็คตรอนนั้นในขณะใดขณะหนึ่งได้
ถ้าเราจะพยายามหาตำแหน่งที่ตั้งของมันก็ต้องจับให้อีเล็คตรอนหยุดนิ่งอยู่กับที่
ซึ่งจะทำให้มันสูญเสียคุณสมบัติแห่งความเป็นคลื่น อีเล็คตรอนที่หยุดนิ่งจะกลายเป็นอนุภาคทันที
ดังนั้น องค์ประกอบย่อยของอะตอมบางครั้งจึงเป็นอนุภาคบางครั้งก็เป็นคลื่น
... :b1:

ความเป็นทั้งอนุภาคและทั้งคลื่นนี้แหละที่ทำให้เกิดสภาวะที่ไม่สามารถพยากรณ์ได้(Unpredictable)
ตราบใดที่อนุภาคของอะตอมยังเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูง มันก็ปรากฎเป็นคลื่น
เราไม่มีทางที่จะกำหนดคุณสมบัติที่แน่นอนของคลื่นนี้ได้ เมื่อเราพยายามหยุดมันไว้กับที่
มันก็สูญเสียคุณสมบัติของตัวมันเอง นอกจากนี้ วงโคจรของอนุภาครอบนิวเคลียส
ก็เปลี่ยนแปลงไปตามแรงที่กระทำต่อนิวเคลียส ดังนั้น พฤติกรรมขององค์ประกอบย่อย
ภายในโครงสร้างของอะตอมจึงเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
เพราะมันมีคุณสมบัติที่เรากำหนดไม่ได้และมีวงโคจรที่ไม่แน่นอน
นี่คือหลักการแห่งความไม่แน่นอน (Uncertainty Principle)

หลักการแห่งความไม่แน่นอนของฟิสิกส์ควอนตัมได้เปลี่ยนแนวคิดของฟิสิกส์ดั้งเดิม
ที่ชูธงเรื่องความแน่นอนที่เราสามารถจะพยากรณ์อะไรก็ได้
ความเชื่อเรื่องความแน่นอนเหล่านี้เป็นไปไม่ได้อีกแล้วสำหรับฟิสิกส์ควอนตัม


พระธรรมโกศาจารย์(ประยูร ธมฺมจิตฺโต)
อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย


แก้ไขล่าสุดโดย eragon_joe เมื่อ 20 ธ.ค. 2013, 17:59, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 21 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 9 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร