ลานธรรมจักร
http://dhammajak.net/forums/

อธิปไตยมี ๓ อย่าง
http://dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=19&t=53298
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 25 ต.ค. 2016, 06:05 ]
หัวข้อกระทู้:  อธิปไตยมี ๓ อย่าง

การปกครองที่จะกล่าวต่อไปนี้แม้พระพุทธองค์จะไม่ทรงตรัสไว้โดยตรง
กับการปกครองบ้านเมืองเพราะโดยเนื้อหาพระองค์ตรัสถึงการปกครองตัวเองของ
ภิกษุ ผู้ซึ่งอิงอาศัยความเป็นใหญ่ ๓ ประการ ดังพุทธพจน์ที่ตรัสว่า
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อธิปไตย ๓ อย่างนี้ ๓ อย่างเป็นไฉน คือ

อัตตาธิปไตย ๑ โลกาธิปไตย ๑ ธรรมาธิปไตย ๑
อธิปไตยทั้ง ๓ ประการนี้หากจะนำมาตีความและใช้กับ
การปกครองบ้านเมืองก็สามารถที่จะทำได้เพราะการปกครองบ้านเมืองหรือ

การปกครองทางโลกที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ก็มีการปกครองทั้ง ๓ ทฤษฎีนี้เพียง
แต่ว่าประเทศนั้นๆ ยึดถือเอาทฤษฎีใดใน ๓ ทฤษฎีนี้มาปกครอง ผู้วิจัยขอขยาย
ความทฤษฎีการปกครองทั้ง ๓ นั้นตามนัยของการปกครองแบบชาวโลก ดังนี้

๑. อัตตาธิปไตย หมายถึง การปกครองที่ถือเอาตัวผู้ปกครอง
เป็นใหญ่อำนาจสิทธิขาดอยู่ที่ตัวผู้ปกครอง ผู้ปกครองจึงมีอำนาจสูงสุดเพียง
ผู้เดียวการปกครองอย่างนี้ในโลกปัจจุบัน เขาเรียกว่า “เผด็จการ” มีปรากฏในลัทธิคอมมิวนิสต์
ของสหภาพโซเวียต ของจีน ของเกาหลีเหนือ หรือเผด็จการของนาซีิ เยอรมัน

ฟาสต์ซิสต์ของอิตาลีในสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นต้น
พระพุทธศาสนาได้เสนอแนะผู้ปกครองด้วยระบบอัตตาธิปไตยว่า
ผู้ปกครองด้วยระบบนี้ต้องมี “สติ” กำกับตัวเองตลอดเวลา
เพราะผู้ใช้อำนาจคือปัจเจกบุคคล ต้องมีสติควบคุมตัวเองทุกครั้งที่ใช้อำนาจ

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 25 ต.ค. 2016, 06:12 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: อธิปไตยมี ๓ อย่าง

๒. โลกาธิปไตย หมายถึงการปกครองที่ถือเอาเสียงชาวโลกหรือ
เสียงของคนหมู่มากในสังคมนั้นๆ เป็นผู้ตัดสินในการใช้อำนาจเพื่อทำการนั้นๆ
ในสังคมโลกปัจจุบันนี้เรียกการปกครองอย่างนี้ว่า“ประชาธิปไตย”ถือการเลือกตั้ง

และใช้อำนาจผ่านผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้ง พระพุทธศาสนาเสนอแนะระบบ
การปกครองแบบโลกาธิปไตยนี้ว่า “พึงใช้ปัญญาครองตน และรู้จักเพ่งพินิจใน
การใช้อำนาจ” ถามว่า ทำไมจึงต้องใช้ปัญญาและรู้จักเพ่งพินิจ ตอบว่า แม้จะ

เป็นเสียงของคนหมู่มากหรือความเห็นของคนหมู่มากในการใช้อำนาจ แต่ถ้าไม่รู้
จักใช้ปัญญาไตร่ตรองให้ดีหรือเพ่งพินิจพิจารณาให้ดีเสียงหมู่มาก คนหมู่มากก็
มีสิทธิ์ผิดพลาดได้มีสิทธิ์บกพร่องได้ดังนั้น การใช้ปัญญาไตร่ตรองโดยปราศจาก
อคติใดๆก็จะสามารถให้ความยุติธรรมได้

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 25 ต.ค. 2016, 06:18 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: อธิปไตยมี ๓ อย่าง

๓. ธรรมาธิปไตย หมายถึง การปกครองที่ถือธรรมหรือความ
ถูกต้องเป็นใหญ่ ไม่ยึดถือเอาบุคคล กลุ่มบุคคลหรือกฎกติกาใดๆ ที่ไม่ถูกต้อง
ไม่ดีงามมาปฏิบัติแต่ยึดถือเอาธรรมเท่านั้น พระพุทธศาสนาเสนอแนะผู้เป็น
ธรรมาธิปกว่า “พึงประพฤติให้ถูกหลักธรรม” เพราะธรรมจะอภิบาลทั้งผู้ปกครอง
และผู้ถูกปกครองให้มีความเป็นอยู่อย่างสันติสุข สังคมสงบ สังคมมีความสามัคคี
ประเทศชาติก็เจริญรุ่งเรือง

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 25 ต.ค. 2016, 06:21 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: อธิปไตยมี ๓ อย่าง

อธิปไตยทั้ง ๓ ประการที่กล่าวมาแล้วนั้น พระพุทธศาสนาถือว่า
“ธรรมาธิปไตย” เป็นยอดของการปกครอง เพราะผู้ปกครองมีทั้งหลักธรรมในการ
ปกครองและคุณธรรมของผู้ปกครองดังกล่าวมาแล้วเป็นเครื่องมือในการปกครอง
สังคมโลกปัจจุบันที่มีความวุ่นวาย ด้วยภัยต่างๆเช่น โจรภัยราชภัย หรือแม้แต่ภัย

คือสงคราม เป็นต้น เพราะสังคมขาดธรรม ผู้วิจัยมีความเห็นว่าแม้ธรรมาธิปไตย
จะเป็นการปกครองที่เป็นอุดมคติแต่เราผู้เป็นคนสร้างสังคมก็ควรบากบั่น
ควรพยายาม ควรอดทน ทำให้สังคมมี “ธรรม” คุ้มครอง เพราะธรรมจะทำให้เรา
ทุกคน ลูกหลานของเราทุกคนอยู่กันอย่างสันติสุข ไม่มีระบบการปกครองอื่นใด
จะประเสริฐกว่านี้อีกแล้ว

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 25 ต.ค. 2016, 06:24 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: อธิปไตยมี ๓ อย่าง

คุณธรรมที่นำเสนอมาแล้วนี้คือ หลักการปกครองของนักปกครอง
หรือนักบริหาร เมื่อใช้หลักธรรมเหล่านี้มาปกครองประเทศ ก็จะทำให้ประเทศนั้น
อยู่อย่างปกติสุขและประเทศชาตินั้นจะร่มเย็นเป็นสุข บ้านเมืองมีปัญหาจนเกิด

ความวุ่นวาย ณ เวลานี้ไม่ใช่พระพุทธศาสนาไม่มีหลักธรรมให้ศาสนิกชนนำไป
ปฏิบัติพระพุทธศาสนามีหลักธรรมเกี่ยวกับการปกครองมากมายดังเสนอไว้แล้ว
ข้างบน แต่นักปกครองบางกลุ่มหรือนักบริหารบางกลุ่มไม่สนใจหรือไม่เรียนรู้

หลักธรรมเหล่านั้น พวกเขาพยายามปกครองบ้านเมืองด้วยความรู้สึกส่วนตัวและ
ปฏิบัติภารกิจเพื่อสนองตัณหาหรือความอยากของตนและพวกพ้อง พยายามให้
ร้ายฝ่ายตรงข้ามว่าชั่ว ฝ่ายตนดีฝ่ายตนไม่เคยผิด แต่อีกฝ่ายทำผิดตลอดเวลา

และพยายามชี้ชวนให้ประชาชนเห็นฝ่ายตรงกันข้ามผิด พร้อมกับปลุกเร้าให้ใช้
ความรุนแรงกับฝ่ายตรงกันข้ามกับตน นี้คือพฤติกรรมของนักปกครองที่ขาดธรรม
สังคมหรือประเทศที่ปั่นป่วนวุ่นวายก็เพราะนักปกครองที่ขาดธรรมหรือไร้คุณธรรม
เหล่านี้มาปกครอง

เอกสารอ้างอิง
พระไตรปิฎก ภาษาไทย ฉบับสังคายนาในพระธรรมราชราชูถัมภ์. 2530.
กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์การศาสนา
พระสูตรเล่มที่10,11,15,19,20,21,23,25,28
พระอภิธรรมเล่มที่35,37
พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตโต). (2551). พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับ
ประมวลศัพท์.กรุงเทพฯ : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
____________________________. (2556). พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับบ

หน้า 1 จากทั้งหมด 1 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/