วันเวลาปัจจุบัน 26 เม.ย. 2024, 15:11  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=2



กลับไปยังกระทู้  [ 11 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 ก.พ. 2009, 16:32 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว




p6h.jpg
p6h.jpg [ 4.5 KiB | เปิดดู 5393 ครั้ง ]
มีผู้กล่าวพาดพิง “โสตาปัตติยังคะ” ไว้ที่ลิงค์นี้

viewtopic.php?f=1&t=20452



โสตาปัตติยังคะ - แปลตามรูปศัพท์ว่า องค์เครื่องบรรลุโสดาบัน

บางแห่งหมายถึงธรรมที่ทำให้บรรลุโสดาปัตติผล

บางแห่งหมายถึงธรรมที่เป็นคุณสมบัติของพระโสดาบัน

คุณสมบัติของโสดาบัน มีทั้งคุณสมบัติฝ่ายมี และคุณสมบัติ่ฝ่ายหมด

คุณสมบัติฝ่ายมี มีหลายอย่าง เมื่อกล่าวโดยสรุปรวมอยู่ในหลักธรรมสำคัญ ได้ ๕ อย่าง คือ

ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ และปัญญา

คุณสมบัติฝ่ายหมด คือ การละสังโยชน์ ๓ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา และ สีลัพพตปรามาส

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แก้ไขล่าสุดโดย กรัชกาย เมื่อ 04 ก.ย. 2009, 20:32, แก้ไขแล้ว 2 ครั้ง.
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 ก.พ. 2009, 16:40 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


(จะนำโสตาปัตติยังคะจากพุทธธรรมหน้า 395 เป็นกรณีศึกษา เลือกเอาเฉพาะประเด็นที่เคยได้ยินได้ฟังบ่อยๆ)


ชีวิตและคุณธรรมขั้นพื้นฐานของอารยชน



ในสมัยปัจจุบัน ความเข้าใจและความสึกของคนทั่วไปเกี่ยวกับนิพพานและความเป็นพระอรหันต์ได้เปลี่ยนแปลงไปหมด การมองนิพพานโดยฐานะเป็นแก้ว แห่งบรมสุขนิรันดรอย่างในสมัยโบราณ ได้กลายไปเป็นความรู้สึกว่าหมดสิ้นขาดสูญ ยิ่งมาเหินห่างจากคำสอนของพระพุทธศาสนาและถูกความนิยมปรนเปรอทางวัตถุ ซ้ำเข้าอีก
คนยุคปัจจุบันก็เลยมักมีความรู้สึกต่อนิพพานในทางลบ เห็นเป็นภาวะที่พึงเบือนหรือผละหนี อย่างน้อย
ก็รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่อยู่ห่างไกลเหลือเกินซึ่งไม่เห็นเหตุผลที่จะต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง

ในสภาพเช่นนี้ นอกจากจะต้องพยายามเสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับนิพพานให้เกิดขึ้นแล้ว
มีภูมิธรรมระดับหนึ่งที่ควรช่วยกันชักจูงคนให้หันมาสนใจ คือ ความเป็นโสดาบัน ซึ่งเป็นอริยบุคคลระดับต้น
หรือสมชิกกลุ่มแรกในชุมชนอารยะ
ความจริง ความเป็นโสดาบันนี้เป็นเป็นสิ่งที่ควรสนใจ ไม่เฉพาะในระหว่างที่กำลังสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับนิพพานและความเป็นพระอรหันต์เท่านั้น แม้ตามปกติก็เป็นข้อที่ควรเน้นเสมออยู่แล้ว แต่มักถูกละเลย หรือ
มองข้ามกันไปเสีย ความจริง ความเป็นพระโสดาบันก็ดี ภูมิธรรมและการดำเนินชีวิตระดับนี้ก็ดี เป็นสิ่งทีควร
จะสนใจและเน้นกันให้มาก แม้แต่พระพุทธองค์เองก็ได้ตรัสแนะนำย้ำไว้ว่า


“ภิกษุทั้งหลาย เหล่าชนทั้งหลาย ทั้งคนที่พวกเธอพึงอนุเคราะห์ และคนที่พอจะรับฟังคำสอน ไม่ว่า
จะเป็นมิตร เป็นผู้ร่วมงาน เป็นญาติหรือสาโลหิตก็ตาม พวกเธอพึงชักชวน พึงสอนให้ตั้งอยู่
ให้ดำรงมั่นในองค์คุณของโสดาบัน ๔ ประการ”

(สํ.ม.19/1493-1497/456-458)

ภาวะและชีวิตของพระโสดาบัน ไม่ห่างไกลและไม่น่ากลัวเลยสำหรับปุถุชนทั้งหลายแม้ในสมัยปัจจุบัน
กลับจะเป็นที่น่าชื่นชมอย่างยิ่งสำหรับสาธุชนด้วยซ้ำ

พุทธสาวกโสดาบันจำนวนมากมายในพุทธกาลเป็นคฤหัสถ์ ดำเนินชีวิตที่ดีงาม ชอบด้วยศีลธรรม อยู่ท่าม
กลางสังคมของชาวโลก มีชีวิตครอบครัวที่เป็นสุด บำเพ็ญประโยชน์แก่ชุมชน แก่พระศาสนาและแก่บ้าน
เมือง มีชีวิประจำที่น่ายึดถือเป็นแบบอย่าง ยังโศกเศร้าร่ำไห้ ...(เช่นเรื่องนางวิสาขา ใน
ขุ.อุ.25/176/223 ฯลฯ) ยังมีรักมีโกรธดังสามัญชน แต่ละเมียดเบาบางกว่า และจะไม่ทำความชั่ว
ความผิดที่เสียหายร้ายแรง และความทุกข์ที่เหลืออยู่ก็มีเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับทุกข์ส่วนใหญ่ที่ละได้แล้ว
เป็นผู้มีพื้นฐานอันมั่นคง ที่จะนำชีวิตของตนเดินทางก้าวหน้าไปในมรรคาแห่งความสุขที่ไร้โทษและกุศลธรรม
ที่ไพบูลย์

พุทธสาวกโสดาบันที่พึงออกชื่อเป็นตัวอย่างแสดงหลักฐานไว้ ณ ที่นี้ เช่น พระเจ้าพิมพิสาร กษัตริย์ยิ่งใหญ่แห่งแคว้นมคธ ผู้ทรงถวายเวฬุวันเป็นสังฆารามแห่งแรก ในพระพุทธศาสนาและรักษาอุโบสถเดือนละ
๔ ครั้ง-
(วินย. 4/57-63/64-72 ฯลฯ)

อนาถบิณฑิกเศรษฐี เจ้าของทุนสร้างวัดเชตวันที่มีชื่อเสียง ผู้บำรุงพระสงฆ์และสงเคราะห์คนอนาถา
อย่างไม่มีใครอื่นเทียบเท่า -
(วินย.7/241-256/102-112 ฯลฯ)

นางวิสาขามหาอุบาสิกา เอตทัคคะฝ่ายทายิกา ผู้แม้มีบุตรธิดามากถึง ๒๐ คน แต่สามารถบำเพ็ญ
ประโยชน์ส่วนรวมได้เป็นอย่างดี มีบทบาทช่วยกิจการของสงฆ์อย่างสำคัญ เป็นผู้กว้างขวาง และมี
เกียรติคุณสูงเด่นในสังคมแคว้นโกศล -
(วินย.5/153-155/207-214 ฯลฯ)

หมอชีวก โกมารภัจ แพทย์ใหญ่ประจำพระองค์ราชาแห่งมคธ ประจำพระองค์พระพุทธเจ้าและคณะสงฆ์
ผู้มีเกียรติคุณยั่งยืนตลอดมาในวิชาแพทย์แผนโบราณ-
(วินย.5/128-138/168-193 ฯลฯ)

นกุลบิดาและนกุลมารดา คู่สามีภรรยาผู้ครองรักอันภักดีมั่นคงตราบชรา และยังปรารถนาเกิดพบกันทุกชาติไป-
(องฺ.เอก.20/151-2/33-4 ฯลฯ)


คุณสมบัติของพระโสดาบันเท่าที่รู้กันดีโดยทั่วไปก็คือ การละสังโยชน์ ๓ ข้อต้น (สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา
และ สีลัพพตปรามาส) ได้ ซึ่งนับว่าเป็นคุณสมบัติฝ่ายลบหรือฝ่ายหมดไป
แต่มีความจริงมีคุณสมบัติฝ่ายบวกหรือฝ่ายมีด้วย และตามหลักฐานปรากฏว่าท่านเน้นคุณสมบัติฝ่ายมี
เป็นอย่างมาก
คุณสมบัติฝ่ายมีนั้นมีหลายอย่าง แต่เมื่อกล่าวโดยสรุป ก็รวมอยู่ในหลักธรรมสำคัญ สำหรับตั้งเป็นเกณฑ์ได้
๕ อย่าง คือ ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ และปัญญา

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 ก.พ. 2009, 17:03 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


จะรวบรวมคุณสมบัติต่างๆ ทั้งฝ่ายหมดและฝ่ายมีมาเรียงไว้ โดยแสดงเฉพาะสาระสำคัญ ดังนี้


ก.คุณสมบัติฝ่ายมี -(แสดงฝ่ายมีก่อนฝ่ายหมดอย่างนี้ ทำตามนิยมของปัจจุบัน ย้อนกับ
ความนิยมองบาลี ซึ่งแสดงฝ่ายหมดก่อนฝ่ายมี)

๑. ด้านศรัทธา - เชื่อมั่นในความจริง ความดีงาม และ กฎธรรมดาแห่งเหตุและผล มั่นใจใน
ปัญญาของมนุษย์ที่จะดับทุกข์หรือแก้ไขปัญหาได้ตามทางแห่งเหตุผล และเชื่อในสังคมที่ดีงามของมนุษย์
ซึ่งจะเจริญงออกงามขึ้นได้ตามแนวทางเช่นนั้น ความเชื่อมั่นนี้แสดงออกด้วยความเลื่อมในอันหยั่งลงมั่นด้วย
ปัญญาในพระรัตนตรัย เป็นศรัทธาซึ่งแน่วแน่ มั่นคง ไม่มีทางผันแปร เพราะเกิดจากญาณ คือ
ความรู้ความเข้าใจ

๒. ด้านศีล -มีความประพฤติ ทั้งทางกาย วาจา และการเลี้ยงชีพสุจริต เป็นที่พอใจของ
อริยชน มีศีลที่เป็นไท คือ เป็นอิสระไม่เป็นทาสของตัณหา * ประพฤติตรงตามหลักการ ตามความหมายที่แท้ เพื่อความดี ความงาม ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความขัดเกลาลดกิเลส ความสงบใจ เป็นไปเพื่อ
สมาธิ โดยทั่วไปหมายถึงศีล ๕ ที่ประพฤตอย่างถูกต้อง จัดเป็นขั้นที่บำเพ็ญศีลได้บริบูรณ์

๓. ด้านสุตะ - เป็นสุตวา อริยสาวก หรือ อริยสาวกผู้มีสุตะ คือ ได้เรียนรู้อริยธรรม
รู้จักอารยธรรม นับว่า เป็นผู้มีการศึกษา

๔ ด้านจาคะ -อยู่ครองเรือนด้วยใจที่ปราศจากความตระหนี่ ยินดีในการสละการให้การเฉลี่ย
เจือจานแบ่งปัน

๕.ด้านปัญญา- มีปัญญาอย่างเสขะ คือรู้ชัดในอริยสัจ ๔ มองเห็นปฏิจจสมุปบาท เข้าใจ
ไตรลักษณ์คือ อนิจจตา ทุกขตา และอนัตตตา เป็นอย่างดี จนสลัดมิจฉาทิฏฐิทั้งหลายในรูปแบบต่างๆ
ได้สิ้นเชิง หมดความสงสัยในอริยสัจทั้ง ๔ นั้น เรียกตามสำนวนธรรมว่าเป็นผู้รู้จักโลกแท้จริง

๖.ด้านสังคม - พระโสดาบัน เป็นผู้ปฏิบัติตามหลักธรรมสำหรับสร้างความสามัคคี และ
เอกภาพของหมู่ชนที่เรียกว่า สาราณียธรรมได้ครบถ้วนบริบูรณ์ เพราะสามารถปฏิบัติได้ถูกต้องตามหลักข้อ
สุดท้ายที่ท่านถือว่าเป็นดุจยอดที่ยึดคุมหลักข้ออื่นๆ เข้าไว้ทั้งหมด กล่าว คือ ข้อด้วย ทิฏฐิสามัญญตา

สาราณียธรรมมี ๖ ข้อ จำแสดงข้อสุดท้ายที่กล่าวถึงเพียงข้อเดียว คือ
ทิฏฐิสามัญญตา -มีความเห็นชอบร่วมกับเพื่อนร่วมหมู่ ในอารยทฤษฎี ซึ่งนำไปสู่การกำจัดทุกข์


๗.ด้านความสุข-เริ่มรู้จักโลกุตรสุข ที่ประณีตลึกซึ้ง ซึ่งไม่ต้องอาศัยอามิส (เพราะได้บรรลุ
อริยวิมุตติแล้ว)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แก้ไขล่าสุดโดย กรัชกาย เมื่อ 07 ก.พ. 2009, 17:14, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 ก.พ. 2009, 17:11 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


* ศีลที่เป็นไท ไม่เป็นทาสของตัณหา คือ มิได้ประพฤติเพื่อหวังผลตอบแทน เช่น โลกียสุข การเกิด
ในสวรรค์ เป็นต้น
อนึ่ง พึงระลึกว่า ศีลรวมถึงสัมมาชีพด้วยเสมอ

บรรดาคำบาลีแสดงลักษณะศีลของพระโสดาบันนั้น มีอยู่ ๒ คำ ที่นิยมนำมาใช้เรียกภาษาไทย คือ
อริยกันตศีล แปลว่า ศีลที่พระอริยะใคร่ หรือ ชื่นชม คือ เป็นที่ยอมรับของอริยชน และ อปรามัฏฐศีล
แปลว่า ศีลที่ไม่ถูกจับฉวย ท่านให้แปลว่า ศีลที่ไม่ถูกตัณหาและทิฏฐิจับฉวย คือ ไม่เปรอะเปื้อน หรือ มี
ราคีด้วยตัณหาและทิฏฐิ (=บริสุทธิ์)
อีก อย่างหนึ่ง ท่านแปลไว้อีกอย่างหนึ่งว่า ศีลที่ไม่ถูกถือมั่น หรือ ศีลที่ไม่ต้องยึดมั่น หมายความว่า
เป็นศีลที่เกิดจากคุณธรรมภายใน ไม่มีกิเลสเป็นเหตุให้ละเมิด จึงเป็นไปเองเป็นปกติธรรมดา โดยไม่
ต้องคอยยึดถือเอาไว้.

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 ก.พ. 2009, 21:50 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ข.คุณสมบัติฝ่ายหมด หรือ ฝ่ายละ (แสดงเฉพาะที่สำคัญและน่าสนใจเป็นพิเศษ)

๑. ละสังโยชน์หรือกิเลสที่ผูกมัดใจได้ ๓ อย่าง คือ

๑)สักกายทิฏฐิ –ความเห็นผิดว่าเป็นตัวของตน ติดสมมุติเหนี่ยวแน่น ซึ่งทำให้เห็นแก่ตัวอย่างหยาบ และเกิด
ความกระทบกระทั่งมีทุกข์ได้แรงๆ

๒) วิจิกิจฉา - ความสงสัยไม่แน่ใจต่างๆ เกี่ยวกับพระศาสดา พระธรรม พระสงฆ์ และสิกขา เป็นต้น
ซึ่งทำให้จิตไม่น้อมดิ่งไปในทางที่จะระดมความเพียรมุ่งหน้าปฏิบัติให้เร่งรุดไปในมรรคา

๓) สีลัพพตปรามาส- ความถือเขวเกี่ยวกับศีลพรต คือ การถือปฏิบัติศีลวัตร หรือกฎเกณฑ์ ระเบียบวินัย
ข้อปฏิบัติ ขนบธรรมเนียมต่างๆ ไม่บริสุทธิ์ตามหลักการตามความมุ่งหมาย ที่มุ่งความดีงาม เช่น ความสงบ
เรียบร้อย และความเป็นบาทของสมาธิเป็นต้น แต่ประพฤติด้วยตัณหาและทิฏฐิ เช่น หวังผลประโยชน์
ตอบแทน หวังจะได้เป็นนั่นเป็นนี่เป็นต้น ตลอดจนประพฤตด้วยงมงายสักว่าทำตามๆกันมา

๒. ละมัจฉริยะ คือ ความตระหนี่ ความใจคับแคบ หวงแหน คอยกีดกันผู้อื่น ทั้ง ๕ อย่าง คือ

๑) อาวาสมัจฉริยะ - หวงที่อยู่อาศัย หวงถิ่น
๒) กุลมัจฉริยะ-หวงตระกูล หวงพวก หวงสำนัก หวงสายสัมพันธ์ เทียบกับที่พูดกันบัดนี้ว่าเล่นพวก
๓) ลาภมัจฉริยะ-หวงลาภ หวงผลประโยชน์ คิดกีดกันไม่ให้คนอื่นได้
๔) วัณณมัจฉริยะ-หวงกิตติคุณ หวงคำสรรเสริญ ไม่พอใจให้ใครมีอะไรดีมาแข่งตน ไม่พอใจให้ใคร
สวยงาม ได้ยินคำสรรเสริญคุณความดีของคนอื่นแล้วทนไม่ได้
๕) ธรรมมัจฉริยะ- หวงธรรม หวงวิชาความรู้ หวงคุณพิเศษที่ได้บรรลุ กลัวคนอื่นจะรู้หรือประสบผลสำเร็จ
เทียมเท่าหรือเกินกว่าตน
(องฺ.ปญฺจก.22/256-9/302-3...มีมัจฉริยะ ๕ แม้แต่ปฐมฌานก็ไม่สำเร็จ...วิสุทธิ.3/337)

๓. ละอคติ- คือ ทางความประพฤติที่ผิด หรือ ความลำเอียงได้ทั้ง ๔ อย่าง คือ

๑) ฉันทาคติ -ลำเอียงเพราะชอบ
๒) โทสาคติ -ลำเอียงเพราะชัง
๓) โมหาคติ -ลำเอียงเพราะหลงหรือเขลา
๔) ภยาคติ -ลำเอียงเพราะกลัว
(วินย.7/615/380 ฯลฯ)

๔. ละราคะ โทสะ โมหะ หรือ โลภ โกรธ หลง ขั้นหยาบหรือรุนแรงที่จะทำให้ถึงอบาย ไม่ทำกรรมชั่วขั้น
ร้ายแรงที่จะเป็นเหตุให้ไปอบาย
(สํ.ข.17/469/278 ฯลฯ)

๕. ระงับเวร โทมนัส และทุกข์ทางใจต่างๆ ที่จะพึงเกิดจากการไม่ปฏิบัติตามหลักศีล ๕ เป็นผู้พ้น
จากอบายสิ้นเชิง ความทุกข์ส่วนใหญ่หมดสิ้นไปแล้ว ความทุกข์ที่ยังเหลืออยู่บ้างเป็นเพียงเศษน้อยนิดที่
นับเป็นส่วนไมได้
(สํ.ม.19/1575/489 ฯลฯ)


ความจริง คุณสมบัติฝ่ายหมดและฝ่ายมีนี้ ว่าโดยสาระสำคัญ ก็เป็นอย่างเดียวกัน กล่าว คือ จะละ

สักกายทิฏฐิได้ ก็เพราะมีปัญญาหยั่งรู้สภาวธรรมที่เป็นไปตามเหตุปัจจัยพอสมควร

เมื่อเกิดปัญญาเข้าใจชัดขึ้นอย่างนี้ วิจิกิจฉา คือ ความสงสัยคลางแคลงใจก็หมดไป ศรัทธาที่อาศัยปัญญา

ก็แน่นแฟ้น พร้อมกันนั้นก็จะรักษาศีลได้ถูกต้องตามหลักการตามความมุ่งหมาย กลายเป็นอริยกันตศีล

คือ ศีลที่อริยชนชื่นชมยอมรับ สีลัพพตปรามาสก็พลอยสิ้นไป เมื่อจาคะเจริญขึ้น มัจฉริยะก็หมดไป

เมื่อราคะ โทสะ โมหะเบาบางลง ก็ไม่ตกไปในอำนาจของอคติ และ

ราคะ โทสะ โมหะเบาบางลง ก็เพราะปัญญาที่มองเห็นความจริงของโลกและชีวิต ทำให้คลายความยึดติด

เมื่อสิ้นยึดติด ความทุกขก็ผ่อนคลาย และรู้จักความสุขที่ประณีตยิ่งขึ้น

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 ก.พ. 2009, 08:04 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


กล่าวโดยย่อว่า ความเป็นโสดาบันเป็นชีวิตระดับที่ยอมรับได้ว่า น่าพอใจและวางใจได้ทั้งในด้านคุณธรรม
และในด้านความสุข

ในด้านคุณธรรม ก็มีคุณความดีเพียงพอที่จะเป็นหลักประกันว่า จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายหรือความเดือดร้อน
เสื่อมโทรมเสียหายเป็นภัยแก่สังคมหรือแก่ใคร ๆ ตรงข้ามจะมีแต่พฤติกรรมที่อำนวยประโยชน์เกื้อกูล
แก่การดำรงอยู่และดำเนินไปด้วยดีของชีวิตตนและสังคม และคุณธรรมนั้นก็มั่นคง เพราะเป็นสิ่งที่เป็นไป
เองตามธรรมดาแห่งเหตุปัจจัยของมัน คือ เพราะมีปรีชาญาณที่ให้เกิดทัศนคติอย่างใหม่ต่อโลกและชีวิต
เป็นฐานรองรับ

ส่วนในด้านความสุข พระโสดาบันก็ได้พบกับความสุขอย่างใหม่ทางจิตที่ประณีตล้ำลึก อันประจักษ์เฉพาะ
ตนว่า เป็นสิ่งมีคุณค่าสูงล้ำ ซึ่งแม้ตนจะยังเสวยกามสุขและหรือโลกียสุขอื่นๆอยู่ ก็จะไม่ยอมให้ความสุข
ที่หยาบกว่าเหล่านั้นเกินเลยออกนอกขอบเขต ซึ่งจะเป็นเหตุบั่นรอนความสุขที่ประณีต คือ จะไม่ยอมสละ
โลกุตรสุขอันประณีตเพื่อมาเติมส่วนขยายปริมาณให้แก่โลกียสุขอันหยาบกว่าอีกต่อไป


พูดอีกนัยหนึ่งว่า กามสุขและโลกียสุขอันหยาบ ถูกทำให้สมดุลด้วยโลกุตรสุขอันประณีต ความสุขนี้
เป็นทั้งผลและเป็นทั้งปัจจัยพันเนื่องอยู่ด้วยกันกับคุณธรรมที่ประพฤติ จึงเป็นหลักยืนยันถึงความไม่ไหลเวียน
กลับลงต่ำอีกต่อไป มีแต่จะช่วยค้ำชูส่งเสริมให้ก้าวสูงขึ้นไปในเบื้องหน้า
ความเป็นพระโสดาบัน มีคุณค่าเป็นที่น่าพอใจทั้งแก่ตัวบุคคลนั้นเอง และ แก่สังคมอย่างนี้

ท่านจึงจัดผู้บรรลุโสดาปัตติผลเป็นสมาชิกชุดแรกเข้าใหม่ของชุมชนอารยะ เป็นจุดต้นที่ชีวิตอารยชน
เริ่มแรก นับเนื่องในอริยสงฆ์ หรือ สาวกสงฆ์ที่แท้ อันเป็นสังคมแม่พิมพ์ที่พระพุทธศาสนา
มุ่งประสงค์จะใช้เป็นแบบหล่อหลอมมนุษย์ชาติ


พระพุทธเจ้า ได้ตรัสเน้นถึงคุณค่าและความสำคัญของความเป็นโสดาบันอย่างมากมาย ดังจะทรงเร่งเร้าให้เวไนยชนหันมาสนใจภูมิธรรม หรือ ระดับชีวิตขั้นนี้อย่างจริงจังและยึดเอาเป็นเป้าหมายของการดำรงอยู่
ในโลก เช่น ตรัสว่า การบรรลุโสดาปัตติผล ดีกว่าการได้ไปสวรรค์ ประเสริฐกว่าการได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ประเสริฐกว่าการได้ฌานสมาบัติ

ศาสดาผู้นำศาสนาที่มีสาวกมากมาย เป็นผู้ปราศจากกามราคะด้วยกำลังเจโตวิมุตติ ประกอบด้วยกรุณาคุณ
สั่งสอนลัทธิเพื่อเข้ารวมกับพรหม ทำให้สาวกไปสวรรค์ได้มากมายนับว่าเป็นผู้ประเสริฐมากอยู่แล้ว
แต่บุคคลผู้เป็นโสดาบันแม้ยังมีกามราคะอยู่ ก็ประเสริฐยิ่งกว่าศาสดาเหล่านั้น-
(องฺ.ฉกฺก.22/325/415-418 ฯลฯ)
ขอยกพุทธพจน์ในธรรมบทมาอ้างเป็นตัวอย่าง
“ยิ่งกว่าความเป็นเอกราชบนผืนปัฐพี ยิ่งกว่าการไปสู่สรวงสวรรค์ ยิ่งกว่าอธิปัตย์ทั่วสรรพโลก
สิ่งประเสริฐล้ำ คือ โสดาปัตติผล”
(ขุ.ธ. 25/23/39)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แก้ไขล่าสุดโดย กรัชกาย เมื่อ 08 ก.พ. 2009, 19:21, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 ก.พ. 2009, 17:27 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 ก.ค. 2006, 22:20
โพสต์: 5977

โฮมเพจ: http://walaiblog.blogspot.com/
แนวปฏิบัติ: กายคตาสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: สมุทรปราการ

 ข้อมูลส่วนตัว


คุณกรัชกาย

ขออนุญาติค่ะ :b8:

.....................................................
มิจฉาปณิหิตจิต จิตที่ตั้งไว้ผิด ย่อมตามพิชิตตัวเอง

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ตามการกระทำของแต่ละคน (ตามความเป็นจริง)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 ก.พ. 2009, 19:24 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


หากยังรู้สึกว่า นิพพานห่างไกลและยากเกินไปที่จะเข้าใจ
ถ้าพูดถึงนิพพานแล้ว ยังให้เกิดความรู้สึกอ้างว้างโหวงเหวง ก็พึงยึดเอาภาวะโสดาบันนี่แหละเป็นสะพานทอดไปสู่ความเข้าใจนิพพาน เพราะความเป็นโสดาบันเป็นสิ่งที่ใกล้เคียงความรู้สึกและเข้าใจได้ง่ายกว่า
สำหรับคนสมัยปัจจุบัน

ในเวลาเดียวกัน ภาวะโสดาบันนั้นก็เกี่ยวข้องกับนิพพาน โดยฐานเป็นการเข้าถึงกระแสสู่นิพพาน
หรือ ที่อรรถกถาเรียกว่าเป็น ปฐมทัศน์แห่งนิพพาน (เห็นนิพพานครั้งแรก)
( ม.อ.1/102 สํ.อ.3/123 ฯลฯ) นับว่าเป็นผลทั้งสองด้าน และยังถูกต้องตามหลักการ
ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ด้วย

เมื่อตกลงเช่นนี้แล้ว ก็ยกเอาภาวะโสดาบันเป็นเป้าหมายขั้นแรกที่จะปฏิบัติ และชักชวนกันก้าวไปให้ถึง
เป็นทั้งจุดหมายของชีวิตและจุดหมายของสังคม และในระหว่างนั้นแม้ยังก้าวไปไม่ถึง ก็ยังมีขั้นตอน
ที่แสดงถึงความก้าวหน้าในท่ามกลาง คือ ความเป็นสัทธานุสารี และธัมมานุสารี ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ได้
ชื่อว่า เป็นผู้ได้ออกดำเนินไปแล้วสู่ความเป็นโสดาบัน เป็นผู้เดินทางแล้ว หรือ อยู่ในมรรคา มีแต่เดิน
หน้าอย่างเดียว ไม่ถอยกลับ ซึ่งท่านจัดให้เข้าอยู่ในชุมชนอารยะ หรือ หมู่สาวกสงฆ์ด้วย หรือ

ถ้าหากโอ้เอ้ ห่วงหน้าห่วงหลัง ยังไม่แล่นรุดออกเดินทางจริง ก็ยังอาจก้าวมาอยู่ในขั้นเตรียมพร้อมที่
จะเดินทางได้ ท่านเรียกว่าเป็นกัลยาณปุถุชน เป็นผู้มีกัลยาณธรรม (องฺ.ทุก.20/293/93)
เริ่มได้ชื่อว่า เป็นอริยสาวกผู้มีสุตะ (สุตวา อริยสาวก) คือ ผู้ได้เล่าเรียนอริยธรรม รู้จักอารยะธรรม
หรือ เป็นผู้ที่ได้ยินเสียงกู่เรียกแล้ว เป็นเบื้องต้นที่จะเรียกผู้มีการศึกษา เป็นขั้นของผู้ที่รู้จุดตั้งต้น
ของทางแล้ว และมีอุปกรณ์ซึ่งเป็นปัจจัยของการเดินทางเตรียมไว้แล้ว กำลังเดินมุ่งออกจากบริเวณป่า
ที่หลงเพื่อมาเข้าสู่หนทาง แม้ยังอาจก้าวๆ ถอยๆ อยู่บ้าง แต่ก็พร้อมที่จะเดินทางได้

สำหรับชีวิตขั้นต้น หรือ กัลยาณปุถุชนนี้ ซึ่งมีศรัทธา ศีล จาคะ และปัญญา ยังไม่มั่นคงแน่นแฟ้น
โดยลำพังตนเอง ก็จะมีสุตะ คือ การเล่าเรียน การเรียนรู้ หรือ ความรู้ที่ได้จากการสดับ
(แว่วเสียงอารยธรรม) เป็นคุณสมบัติสำคัญซึ่งอาจจะอบรมสั่งสมให้ถึงขั้นเป็นพาหุสัจจะ คือ ความเป็น
พหูสูต (ผู้มีสุตะมาก หรือคงแก่เรียน) สุตะนี้แลคืออุปกรณ์สำคัญของการเดินทาง ทำให้รู้จุดที่ทางตั้งต้น
เป็นปัจจัยสำหรับช่วยเสริมสร้างศรัทธา ศีล จาคะ และปัญญาต่อๆไป เพราะเมื่อมีความรู้ถูกต้องแล้ว
ศรัทธาก็เกิดขึ้น และมีแรงเริ่มปฏิบัติคุณธรรมอื่นๆ เมื่อรวมสุตะเข้ากับศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา เท่าที่มี
อยู่ในระดับนี้ เรียกว่าเป็นสัมปทา ๕ หรือ ทรัพย์ ๕ ระดับโลกีย์ เมื่อก้าวหน้าไปเป็นโสดาบันแล้ว
สัมปทา หรือ ทรัพย์ทั้ง ๕ เหล่านี้ ก็จะกลายเป็นระดับโลกุตระไปเอง

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 ก.พ. 2009, 19:30 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


(ขยายความบางศัพท์ คห.บน)

สัทธานุสารี - ผู้แล่นรุดไปด้วยศรัทธา หรือ ผู้ก้าวไปด้วยความเชื่อ
ธัมมานุสารี - ผู้แล่นไปด้วยความเข้าใจธรรม

สัทธานุสารี ธัมมานุสารี - ในสมัยต่อมามีคำใหม่เกิดขึ้นอีกคำหนึ่ง คือ จูฬโสดาบัน (โสดาบันน้อย)
ซึ่งพระอรรถกถาจารย์กล่าวว่า พระเถระปางก่อนใช้เรียกบุคคลผู้มีเพียงศรัทธา และ ความรักในพระพุทธเจ้า
(หมายถึงศรัทธามั่นคง แต่ปัญญายังไม่แก่ล้าพอ) อย่างที่ตรัสต่อสัทธานุสารี และ ธัมมานุสารีบุคคล
ใน ม.มู.12/288/281 พระอรรถกถาจารย์อธิบายต่อไปว่า หมายถึงบุคคลผู้เจริญวิปัสสนามาจนสำเร็จ
ญาตปริญญา ได้กังขาวิตรณวิสุทธิ แล้วเป็นผู้มีความเบาใจ มั่นใจ ได้ที่มั่นอันแน่นอน
(ม.อ.2/160 วิภงฺค.อ.332 ฯลฯ)

กัลยาณปุถุชน - มีใช้ดื่นในอรรถกถา คู่ กับอันธพาลปุถุชน
ส่วนในชั้นบาลี มีใน ขุ.ม.29/209/158 ฯลฯ บางแห่งเป็นปุถุชนกัลยาณกะ เช่น
ขุ.ปฏิ.31/388/264 ฯลฯ

(อันธพาลปุถุชน พบในบาลีเฉพาะที่ สํ.ข.17/240/170 ฯลฯ โดยทั่วไปเรียกว่า อัสสุตวา ปุถุชน
คือ ปุถุชนผู้ไม่มีสุตะ เช่น ม.มู.12/1/1 ฯลฯ และที่มาคู่กับสุตวา อริยสาวกอีกหลายแห่ง)

กัลยาณปุถุชนนี้ (เฉพาะอย่างยิ่งท่านที่ปฏิบัติจริงจัง มีคุณสมบัติที่ทำให้มั่นใจว่าคงจะบรรลุโสดาปัตติผล
ได้ในไม่ช้า) พระอรรถกถาจารย์จัดเข้าเป็นพระเสขะ รวมกับพระอริยบุคคล ๗ โดยนับต่อจากสัทธานุสารี
และธัมมานุสารี (วินย.1/287 ฯลฯ) เรียกง่ายๆว่า กัลยาณชน

สัมปทา- ความถึงพร้อม, สมบัติ, คุณสมบัติที่มีอย่างเต็มที่

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ก.พ. 2009, 20:26 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


มีข้อน่าสังเกตที่ควรกล่าวไว้ด้วย เกี่ยวกับคุณลักษณะของบุคคลโสดาบันที่ปรากฏเด่นชัดออกมา
ในภายนอก คือ การไม่มีความหวงแหนในทรัพย์สมบัติ
ดังมีคำบรรยายในบาลีว่า “(บุคคลโสดาบัน) ครองเรือนด้วยใจปราศจากความหวงแหน มีความเสียสละเต็มที่...ยินดีในการให้และการแบ่งปัน”
“สิ่งของที่ควรให้ได้ ไม่ว่าอย่างหนึ่งอย่างใด เท่าที่มีในสกุล บุคคลโสดาบันเฉลี่ยแบ่งปันกับคน
มีศีล มีกัลยาณธรรมได้ทั้งหมด” (สํ.ม.19/1452-3/440-1)

ด้วยเหตุนี้ พฤติการณ์ของอริยสาวกเหล่านั้น จึงมีโอกาสอย่างมากที่จะเข้าลักษณะว่า ศรัทธาเพิ่ม แต่โภคะลด หรือ คุณธรรมงอกแต่ทรัพย์หด
ในทางวินัยสงฆ์ พระพุทธเจ้าถึงกับได้ทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามพระภิกษุมิให้รับอาหารจากครอบครัว
ที่สงฆ์ประกาศตั้งให้เป็นเสขะ กล่าวคือครอบครัวใด ศรัทธาเข้มแข็งมากขึ้น แต่ทรัพย์สมบัติลดน้อย
ยากจนลง สงฆ์อาจปะชุมพิจารณาสมมุติ คือ ตกลงกันแต่งตั้งครอบครัวนั้นเป็นเสขะ - (เสกขสมมุติ
ไม่ว่า เขาจะเป็นเสขะจริงหรือไม่ เพราะคุณธรรมภายในมองกันไม่เห็น แต่ถือเอาพฤติกรรมเป็นหลัก)

ภิกษุใดไม่เจ็บไข้และเขามิได้นิมนต์ไว้ ไปรับเอาอาหารจากครอบครัวนั้นมาขบฉัน ย่อมต้องอาบัติ คือ
ละเมิดวินัยมีความผิด- (วินย.2/790/524) (หมายความว่า ถึงเขาจะให้เอง เช่น ไปเยี่ยมเขา
ที่บ้านแล้วเขาถวาย ก็รับไม่ได้ ไม่ต้องพูดถึงขอเขา เพราะภิกษุออกปากขอ หรือ ทำอุบายขออาหาร
มาเพื่อตนเองฉันไม่ได้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะขอจากใครๆ (เว้นแต่ญาติหรือผู้ที่ได้ปวารณาไว้)

คติที่เห็นได้ในเรื่องนี้ ที่สำคัญมีสองอย่าง คือ วิธีการยกเอาคุณธรรมที่เป็นนามธรรมภายในตัว หรือ คุณสมบัติของบุคคลออกมาใช้เพื่อผลทางปฏิบัติระดับสังคมในกรณีที่สมควร อย่างหนึ่ง และ
อีกอย่างหนึ่ง คือ บุคคลผู้มีคุณธรรมถึงขั้นนี้ มีศรัทธาถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนา หรือ
เข้าถึงธรรมแล้ว เมื่อทำความดีจะไม่ห่วงผลที่จะได้ตอบแทนแก่ตน

พูดอีกอย่างหนึ่งว่า ทำบุญโดยไม่หวังรอผล (หมายถึงอิฏฐารมณ์ต่างๆ สนองความปรารถนาของตน)-
จะไม่มีปัญหาให้เกิดความคิดสงสัยว่า ทำไมทำดีไม่ได้ดี หรือทำบุญแล้ว ทำไมไม่รวย ไม่ได้ผล
ประโยชน์ที่หวัง เป็นต้น ทั้งนี้ เพราะเขามองเห็นธรรมแล้ว เรียกว่า มีธรรมจักษุ *
หรือ ปัญญาจักษุ คือ ตาปัญญาที่มองเห็นธรรมดาของสิ่งทั้งหลายสว่างชัด มิใช่มีแต่มังสจักษุ
หรือ ตาเนื้อหนังที่มองเห็นแต่สิ่งเสพเสวยของอินทรีย์ ๕

ควรย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า บุคคลโสดาบันนี้ มีความมั่นคงในคุณธรรมโดยสมบูรณ์ แม้จะประสบสภาพ
ไม่เกื้อกูลทางวัตถุมากสักเท่าใด ความมั่นใจในคุณธรรมก็ไม่มีทางเสื่อมถอย เมื่อได้มองเห็นเหตุผล
แห่งธรรมประจักษ์แจ้งแล้ว เมื่อเดินอยู่ในทางแห่งความดีงามถูกต้องแล้ว ก็ไม่อาจมีผู้ใดแม้แต่เทวดาจะมา
ชักจูงให้เขวออกไปได้ และไม่ว่าจะด้วยเครื่องล่ออย่างใด เรียกอย่างสมัยใหม่ก็คงว่า มีความเข้มแข็ง
ทางจริยธรรมสูง
ดังพระอรรถกถาจารย์ ยกเรื่องอนาถบิณฑิกเศรษฐีขึ้นเป็นตัวอย่าง -(ธ.อ.5/9 ฯลฯ) ให้เห็นว่าบุคคล
ระดับนี้ จะเดินแน่วอยู่ในทางของความดีงาม ไม่ยอมอยู่ใต้อิทธิพลแม้ของเทวดา เป็นผู้ที่เทพเจ้า
ไม่อาจล่อ หรือ บังคับข่มขี่ได้ แต่ตรงข้าม กลับเป็นผู้ที่เทพทั่วไปจะต้องยอมปราชัยและเคารพบูชา

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แก้ไขล่าสุดโดย กรัชกาย เมื่อ 09 ก.พ. 2009, 20:36, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ก.พ. 2009, 20:30 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


* โดยทั่วไป เช่น ในที่มาเหล่านั้นทั้งหมด ธรรมจักษุ หมายถึง ญาณที่ทำให้เป็นโสดาบัน (โสดาปัตติมัคคญาณ) ดังที่อธิบายใน วินย. อ. 3/29 ที.อ.1/344 ฯลฯ
แต่บางคราวว่า หมายถึง สกทาคามิมรรค หรือ อนาคามิมรรค ด้วยก็ได้ ดังที่อธิบาย
ใน วินย.อ.2/27 ฯลฯ บางแห่งว่าหมายถึงมรรคทั้ง ๓ และผลทั้ง ๓ ก็ได้ เช่น สํ.อ. 3/409
และในบางสูตร อาจหมายถึงมรรคได้ทั้ง ๔ หรือ ทั้งมรรค ๔ และผล ๔ คือถึงอรหัตผล เช่นที่อ้างใน นิทฺ.อ.2/315 ฯลฯ
ในบาลี ก็มีตัวอย่างกล่าวถึงธรรมจักษุเกิด ๒ คราว คราวแรกหมายถึงโสดาปัตติมรรค คราวหลัง
เป็นอนาคามิมรรค (องฺ.ติก.20/534/312)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 11 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 54 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร


cron