วันเวลาปัจจุบัน 23 เม.ย. 2024, 13:27  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=2



กลับไปยังกระทู้  [ 10 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 เม.ย. 2009, 06:26 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 6
สมาชิก ระดับ 6
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ย. 2007, 13:40
โพสต์: 464

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว


อธิบายว่า พระโยคาพจรผู้มีศรัทธา ประสงค์จักจำเริญวิปัสสนาภาวนานั้น
พึงตั้งธรรม ๖ กองไว้เป็นพื้นก่อน


ธรรม ๖ กองนั้น คือ

ขันธ์กอง ๑
อายตนะกอง ๑
ธาตุกอง ๑
อินทรีย์กอง ๑
อริยสัจกอง ๑
ปฏิจจสมุปบาทเป็นอาทิกอง ๑

รวมเป็น ๖ กองด้วยกัน
.....................
http://www.larnbuddhism.com/visut/3.2.html


แก้ไขล่าสุดโดย นัน555 เมื่อ 22 ต.ค. 2009, 21:54, แก้ไขแล้ว 3 ครั้ง.

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 เม.ย. 2009, 06:29 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 6
สมาชิก ระดับ 6
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ย. 2007, 13:40
โพสต์: 464

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว


เมื่อพระโยคาพจรตั้งธรรม ๖ กองไว้เป็นพื้น
คือพิจารณาให้รู้จักลักษณะแห่งธรรม ๖ กอง ยึดหน่วงเอาธรรม ๖ กองนี้เป็นอารมณ์

ได้ลำดับนั้นพึงเอาศีลวิสุทธิมาเป็นราก
บำเพ็ญศีลบำเพ็ญสมาธิให้ได้สำเร็จเป็นอันดีแล้ว

จึงจำเริญวิสุทธิ ๕ ประการสืบต่อขึ้นไปโดยลำดับ

เอา [1]ทิฏฐิวิสุทธิ
แล [2]กังขาวิตรณวิสุทธิ
เป็นเท้าซ้ายเท้าขวา
เอา
[3]มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ
แล
[4]ปฏิปทาญาณทัสสวิสุทธิ
เป็น มือซ้าย มือขวา
แล้ว เอา [5]ญาณทัสสนวิสุทธิ เป็นศีรษะเถิด

จึงจะอาจสามารถที่จะยกตนออกจากสงสารวัฏได้



....... :b38:

เพิ่มเติม...ผู้โพสต์

วิปัสสนา..นั้นเปรียบเหมือน คุณต่อ model สร้างบ้าน 1000ชิ้น
คุณต้องต่อไปทีละขั้นทีละขั้น เหมือน สร้างพื้นบ้านก่อน เป็น ลำดับๆไป
สะสม ความ กระจ่าง ตาสว่าง ไปทีละเรื่องๆไป ...ไม่มีเส้นทางลัด


แก้ไขล่าสุดโดย นัน555 เมื่อ 22 ต.ค. 2009, 21:26, แก้ไขแล้ว 5 ครั้ง.

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 เม.ย. 2009, 07:03 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 ก.พ. 2009, 04:12
โพสต์: 1067


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:
สาธุ...ค่ะ

.....................................................
...นฺตถิตัณหา สมานที...
ห้วงน้ำใหญ่โต เสมอด้วยตัณหาไม่มี


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 เม.ย. 2009, 11:48 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 26 มี.ค. 2009, 18:08
โพสต์: 27


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: สาธุ :b8: สาธุ :b8: สาธุ :b8:

.....................................................
จะไม่พูดว่าตนดี เมื่อไรที่ว่าตนดีแปลว่า เราเองนั้นเลวสุดๆ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 ต.ค. 2009, 21:02 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 6
สมาชิก ระดับ 6
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ย. 2007, 13:40
โพสต์: 464

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว


***ราก***
. ศีลวิสุทธิ เป็นไฉน?
ที่มา
http://www.abhidhamonline.org/visudhi.htm
..>. ศีลวิสุทธิ



หมายถึง ศีลเพื่อละกิเลส มิใช่ศีลเพื่อกิเลส ศีลแต่ละข้อล้วนมาจากอำนาจจิตใจ ไม่ใช่มาจากร่างกาย
หรือจากอำนาจภายนอก ศีลมีทั้งที่บริสุทธิ์และไม่บริสุทธิ์ ที่ไม่บริสุทธิ์ คือ ศีลที่รักษา เพราะต้องการได้บุญ อยากร่ำรวยทรัพย์สิน ปรารถนาไปเกิดอีกในที่ดี ๆ เป็นต้น ส่วนศีลที่เป็นวิสุทธินั้ต้องเป็นศีลที่ถือ เพื่อปรารถนาพระนิพพานเท่านั้น ศีลที่จัดเป็นศีลวิสุทธิมี 4 อย่าง คือ ปาติโมกข์สังวรศีล, อินทรียสังวรศีล, อาชีวะปาริสุทธิศีล และ ปัจจยสันนิสิตศีล



ปาติโมกข์สังวรศีล เป็นความบริสุทธิ์ในการประพฤติตามธรรมวินัยที่พระพุทธองค์บัญญัติไว้ พระภิกษุที่มาบวชในพระพุทธศาสนา มิใช่บวชเพื่อลาภ ยศ สรรเสริญ สุข แต่บวชเพื่อประพฤติพรหมจรรย์ ให้พ้นจากทุกข์ พ้นจากสังสารวัฏของการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เท่านั้น ปาฏิโมกข์สังวรศีลนี้จะบริสุทธิ์ได้ ก็ด้วยกำลังของศรัทธาที่จะพ้นทุกข์จริง ๆ จึงจะรักษาได้ เป็นศีลของพระภิกษุโดยตรง ส่วนฆราวาสจะใช้เพียงศีล ๕ หรืออุโบสถศีลเท่านั้น

อินทรีย์สังวรศีล คือ ความบริสุทธิ์ในการสำรวมทวารทั้ง 6 ในขณะตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นรู้รส กายถูกต้อง ใจรู้ธรรมารมณ์ โดยการสำรวมไม่ให้อภิชฌาและโทมนัสเข้าอาศัยได้ กิเลส คือ ความรัก ความโกรธ ความหลง เข้าครอบงำไม่ได้ อินทรีย์สังวรนี้จะบริสุทธิ์ได้ก็ด้วยกำลังของสติ

อาชีวะปาริสุทธิศีล คือ ความบริสุทธิ์ในการเลี้ยงชีพ สิ่งใดที่ไม่ถูกต้องด้วยพระธรรมวินัย จะไม่ก้าวล่วงเด็ดขาด ถึงแม้ชีวิตต้องตกต่ำหรือตายไปก็ยอม แต่ไม่ยอมผิดศีล โดยส่วนมากแล้วคนเรามักจะผิดศีลเพราะเห็นแก่ลาภ เห็นแก่ยศ เห็นแก่ญาติ และเห็นแก่ชีวิต แต่อาชีวปาริสุทธิศีลนี้ไม่ยอมมีที่สุด แม้เพราะลาภ ยศ หรือญาติ หรือเพราะชีวิต เพราะชีวิตเป็นไปเพื่อทุกข์ จึงรักษาพระธรรมวินัยดีกว่า เพราะพระธรรมวินัยช่วยสงเคราะห์แก่สัตว์โลก ให้ถึงความพ้นทุกข์ อาชีวปาริสุทธิศีลนี้จะบริสุทธิ์ได้ก็ด้วยกำลังของวิริยะ

ปัจจยสันนิสิตศีล คือ ความบริสุทธิ์ในการรับปัจจัย ขณะที่พระภิกษุจะรับปัจจัย ๔ ต้องพิจารณาเสียก่อนว่า ควรแก่สมณะหรือไม่ ถ้าไม่ควรก็ไม่รับ การใช้เครื่องนุ่งห่มก็เช่นกันต้องพิจารณาก่อนว่า นุ่งห่มเพื่ออะไร มิใช่เพื่อความสวยงาม แต่เพื่อกันความหนาว ความร้อน แมลงต่าง ๆ เป็นต้น อันเป็นเหตุไม่สะดวก แก่การเจริญสมณะธรรม ปัจจยสันนิสิตศีลจะบริสุทธิ์ได้ก็ด้วยกำลังของปัญญา

----
:b38:
แถม...ผู้โพสต์
พึงสละทรัพย์ เพื่อรักษาอวัยวะ
พึงสละอวัยวะ เพื่อรักษาชีวิต
พึงสละชีวิต เพื่อรักษาธรรม (ในที่นี้คือ รักษาศีล)

ถ้ายอมตายไม่ยอมผิด ศีล..หนักๆต่าง มีฆ่าสัตว์เป็นต้น
ถูกเขาฆ่า ดีกว่าไปฆ่าเขา วางแล้วซึ่งอาวุธทั้งปวง...คุณก็ ...ผ่านข้อนี้ได้
..


แก้ไขล่าสุดโดย นัน555 เมื่อ 22 ต.ค. 2009, 21:28, แก้ไขแล้ว 4 ครั้ง.

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 ต.ค. 2009, 21:05 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 6
สมาชิก ระดับ 6
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ย. 2007, 13:40
โพสต์: 464

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว


[1] ทิฏฐิวิสุทธ เป็นไฉน?

ที่มา
http://www.larnbuddhism.com/grammathan/vipassanayan3.html

[1] ทิฏฐิวิสุทธิ

หมายถึง ปัญญาที่มีความเห็นถูก หรือรู้ถูกตามความเป็นจริงโดยปราศจากกิเลส
คือ เห็นนามและรูปว่าไม่ใช่สัตว์ บุคคล เป็นสิ่งที่ไม่มีเจ้าของ ไม่อยู่ในอำนาจใด ได้แก่ นาม-รูปปริจเฉทญาณ การเห็นเช่นนี้เป็นภาวนาปัญญา ถ้าเพียงแต่คาดคะแนคิดนึก
(สุตามยปัญญ) หรือการวิพากษ์วิจารณ์ (จินตามยปัญญา) จะเข้าถึงวิสุทธิไม่ได้เลย ทิฏฐิวิสุทธิเป็นผลซึ่งเกิดจากการทำเหตุได้ถูกต้อง

จึงควรศึกษาถึงเงื่อนไขการกำหนดนาม-รูปอันเป็นตัวกรรมฐานว่าจะพิจารณาอย่างไร จะโยนิโสมนสิการอย่างไร จึงจะถูกต้อง ถ้าทำเหตุถูกต้องตามควรแก่ผลแล้ว ผลนั้นก็จะเกิดขึ้นได้ การพิจารณานามรูปจะถูกต้อง ก็เนื่องมาจากการศึกษาปริยัติมาอย่างถูกต้องตามปัญญาบารมีของผู้ปฏิบัติเป็นสำคัญ จึงจะผ่านอุปสรรค คือ ตัณหา มานะ ทิฏฐิ ที่เป็นศัตรูสำคัญที่ กีดขวางมิให้พบเหตุหรือทำเหตุที่ถูกได้



:b11:
ที่มา2
คัดลอกจากหนังสือ
แนะแนวทางการปฏิบัติวิปัสสนาและวิสุทธิ ๗
ที่จัดพิมพ์เนื่องในโอกาส ๑๐๘ ปี อุบาสิกาแนบ มหานีรานนท์

บรรยายที่พุทธสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ วันเสาร์ที่ ๑๑ กันยาน ๒๕๐๘

http://larndham.net/index.php?showtopic=19112
ทิฏฐิวิสุทธิ

ทิฏฐิ วิสุทธิคืออะไร
ขอให้เข้าใจว่า ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ คือความเห็นถูกหรือปัญญาที่รู้ถูก หรือเข้าใจถูกโดยปราศจากกิเลสที่มีความเข้าใจผิดในอารมณ์ของปัญญานั้น เพราะว่าอารมณ์นั้นเป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นด้วยปัญญาคือ สัมมาทิฏฐิ

ฉะนั้นปัญญานั้นแหละจึงเป็นอาวุธอันสำคัญที่จะทำลายกิเลสในอารมณ์นั้นให้ หมดไปได้ และอารมณ์นั้นจึงจะไม่เป็นที่อาศัยของกิเลสได้ ความรู้ที่เกิดจากปัญญานั้น จึงจะว่าเป็นวิสุทธิได้ ก็ปัญญาที่บริสุทธิ์จากกิเลสนั้นแหละที่จัดเป็นทิฏฐิวิสุทธิ ที่จะได้พูดกันในวันนี้

ฉะนั้นต่อไปนี้จะได้ทำความเข้าใจในคำ ว่า “ ทิฏฐิวิสุทธิ “ ที่เรียกว่าเห็นถูกนั้น เห็นอะไร เห็นอย่างไร เห็นที่ไหน และทิฏฐิวิสุทธิได้มาจากเหตุอะไร

ทิฏฐิวิสุทธิ คือปัญญาที่เห็นถูกนั้น คือเห็นนามและรูปทั้ง ๒ อย่างนี้ เห็นอย่างไรคือเห็นว่านามรูปนี้ไม่ใช่ตัวตนและไม่ใช่ของตนเป็นสิ่งที่ไม่มี เจ้าของ ไม่อยู่ในอำนาจของใคร และก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

ปัญญาอันนี้เอามาจากไหน ตอบว่าเอามาจากนามรูปปริจเฉทญาณ นามรูปปริจเฉทญาณนี้เอามาจากไหน ก็เอามาจากพิจารณานามรูป

การ พิจารณานามรูปนั้นจะพิจารณาอย่างไร
ต้องพิจารณาตามมหาสติปัฏฐาน มหาสติปัฏฐานนั้น พิจารณาอะไร
ก็คือพิจารณา
กาย
เวทนา
จิต
ธรรม
ใน ๔ อย่างนี้ เพราะองค์ธรรมของสติปัฏฐาน ๔ นั้น
ก็ได้แก่นามและรูปนั่นเอง
แต่ก่อนที่ผู้จะทำวิปัสสนาคือการกำหนดนามรูปนั้น ผู้นั้นจะต้องศึกษาให้เข้าใจนามรูปให้ดีเสียก่อน แล้วจึงจะลงมือกำหนดนามรูปนั้น
ถ้ามิฉะนั้นจะกำหนดนามรูปนั้นไม่ถูก
เมื่อได้ลงมือกำหนดนามรูปตามมหาสติปัฏฐานได้ถูกต้องแล้ว
ก็ต้องกำหนดหรือพิจารณานามรูปนั้นไปจนกว่าวิปัสสนาที่ชื่อว่านามรูปปริเฉท ญาณนั้นเกิดขึ้น
ทั้งนี้ก็เพราะเหตุว่านามรูปนี้เป็นตัวกรรมฐานของวิปัสสนา

ฉะนั้น ผู้เจริญวิปัสสนาจึงต้องพิจารณานามรูปจนแน่ชัดว่านามรูปนี้ มิใช่ตัวตนและก็ไม่มีสัตว์ไม่มีบุคคลในนามรูปนั้น แม้ในสากลโลกนี้ก็มิได้มีอะไรที่นอกไปจากนามรูป

มีอยู่แต่นามรูปเท่านั้นที่เป็นสิ่งปรากฏอยู่ในโลกนี้และนามกับรูปนั้นก็ ไม่ใช่เป็นอย่างเดียวกัน ปัญญาที่รู้อย่างนี้เรียกว่านามรูปปริจเฉทญาณ

นามรูปปริจเฉทญาณนี้แหละที่เป็นผู้เข้าถึงทิฏฐิวิสุทธิ ซึ่งเป็นวิสุทธิของปัญญาวิปัสสนาขั้นต้น

วิสุทธิเป็นธรรมที่เข้าถึงได้ด้วยปัญญา

ใน ตอนนี้ขอย้ำทำความเข้าใจให้แน่นอนอีกครั้งหนึ่งว่า ในคำว่า วิสุทธิ ที่หมายถึงความหมดจดแห่งกิเลสนั้น จะต้องมีได้เพราะปัญญาเท่านั้น ที่สามารถจะทำลายในอารมณ์นั้นได้ ถึงแม้สีลวิสุทธิกับจิตตวิสุทธิก็เช่นเดียวกัน จะเข้าถึงวิสุทธิได้ก็จะต้องมีสติปัฏฐานเป็นอารมณ์ร่วมกันไปกับอารมณ์ของ ปัญญา แล้วศีลกับสมาธินั้นจะเข้าถึงวิสุทธิได้ เพราะมรรคที่มีองค์ ๘ นั้น เมื่อย่อลงไปแล้วก็คงได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา ทั้ง ๓ นั้น ก็จะต้องมีอารมณ์ร่วมไปเป็นอันเดียวกัน คือต้องมีสติปัฏฐานเป็นอารมณ์ร่วมกันทั้ง ๘ องค์ ทั้งนี้ก็เพราะเหตุว่าสติปัฏฐานนั้นเป็น “ เอกายนมรรค “ ที่เป็นทางเดียวที่จะทำให้ถึงนิพพานได้ ไม่มีทางอื่น

ฉะนั้น ปัญญาที่ชื่อว่าทิฏฐิวิสุทธินี้ก็ต้องได้มาจากการเจริญสติปัฏฐานเป็นเหตุ

แต่จะต้องพิจารณาจนปราศจาก
สัตว์
บุคคล
และตัวตน
ในนามรูป
นั้นเสียก่อนแล้วจึงจะเข้าถึงทิฏฐิวิสุทธิได้
แต่ปัญญาอันนี้จะต้องเป็นปัญญาภาวนาไม่ใช่แต่เพียงสุตมยปัญญาหรือจินตามยปัญญาเท่านั้น
คือเพียงแต่จะคิด ๆ นึก ๆ เองนั้น จะเข้าถึงวิสุทธิไม่ได้

ปัญญาที่จะถึงวิสุทธิได้นั้นจะต้องเป็นภาวนามยปัญญา
เพราะการรู้ขั้นนี้จะต้องรู้ในขณะปัจจุบันอารมณ์คือ
ในขณะเห็น
ได้ยิน
ได้กลิ่น
รู้รส
และในขณะกายถูกต้องหรือ
ในขณะนั่ง
นอน
ยืน
เดิน
หรือในขณะใช้อิริยาบถย่อย ๆ
ซึ่งเกิดจากความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ที่นอกจากอิริยาบถใหญ่ ๔ อย่าง มีท่านั่ง เป็นต้น
เมื่อผู้ที่ทำวิปัสสนาได้พิจารณานามรูปนั้นจนเห็นชัดแจ้งว่าตัวตนไม่มี รู้สึกว่ามีแต่นามกับรูปเท่านั้น
ในขณะที่ประสบอารมณ์ปัจจุบัน ตามที่กล่าวมาแล้วในขณะเห็นเป็นต้นนั้น

ทิฏฐิวิสุทธิเป็นวิปัสสนาปัญญาขั้นต้นชื่อ “ นามรูปปริจเฉทญาณ “
เมื่อ ความรู้สึกดังนี้เกิดขึ้นในอารมณ์ใดแล้ว ความเห็นผิดคือ “ อัตตานุทิฏฐิ “ ตามที่เห็นว่าเป็นตัวตน
หรือมีตัวตนในนามรูปนั้นก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ ในขณะที่จิตประสบกับอารมณ์นั้น ๆ เกิดขึ้นเพราะด้วยปัญญาเข้าไปรู้แจ่มแจ้งแล้วว่า มีแต่นามรูปเท่านั้น เมื่อได้ความเข้าใจด้วยปัญญาดังนี้เกิดขึ้นในจิตใจแล้ว ความเข้าใจผิดที่สำคัญ หรือที่เคยรู้สึกว่าเป็นเรา หรือเป็นตัวเป็นตนของเราที่หมักดองอยู่ในจิตสันดานนั้น ก็จะหลุดถอนหรือหมดไปจากอารมณ์ในขณะเห็นหรือได้ยินนั้นทันที โดยไม่ต้องมีใครไปขับไล่ หากแต่ถูกประหาณ[ประหาร]ไปด้วยปัญญานั้นเอง


เมื่อ ความเข้าใจผิดหมดไป
ในขณะที่จิตรับอารมณ์ปัจจุบันนั้น ความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากความเห็นผิดที่เข้าใจว่า
เราเห็น
เราได้ยิน
เราได้กลิ่น
เรารู้รส
เราถูกต้อง
เราเย็น
เราร้อน
เป็นต้น หรือ
เรานั่ง
เรานอน
เรายืน
เราเดิน
เรายก
เราหยิบ
เป็นต้น
เหล่านี้ก็เกิดขึ้นไม่ได้
เพราะเหตุที่ปัญญาที่มีความรู้ว่าเป็นรูปหรือเป็นนามที่มีอยู่ในอารมณ์ขณะ นั้น

ฉะนั้นตัวกิเลสซึ่งได้แก่ ตัณหาและทิฏฐิ ที่มีความยึดมั่นว่าเป็นตัวเป็นตน
หรือเป็นเรา
จึงอาศัยเกิดขึ้นในขณะที่จิตมีความรู้สึกอยู่ว่าเป็นนามเป็นรูปอยู่นั้นไม่ได้
และปัญญาที่เกิดขึ้นจากการอบรมคือการที่ข้ไป[เข้าไป?]พิจารณานามรูปนั้น

ปัญญาอันนี้เป็นตัววิปัสสนาขั้นต้นของวิปัสสนาทั้งปวงชื่อว่า “ นามรูปปริจเฉทญาณ “ และก็ปัญญาอันนี้แหละที่เป็นผู้เข้าถึงคำว่า “ ทิฏฐิวิสุทธิ “ ธรรมที่เป็นวิสุทธิจะเข้าถึงได้ต้องด้วยปัญญาเท่านั้น โดยเหตุผลดังกล่าวมานี้

ฉะนั้นผู้ปฏิบัติวิปัสสนาจึงมีความจำ เป็นที่สุดที่จะต้องมี
ความเข้าใจนามรูปเสียก่อน
เมื่อเข้าใจดีแล้ว จึงไปหาธรรมที่เป็นสัปปายะเพื่อจะได้ทำการพิจาณานามรูป

หมายความว่าต้องมีนามหรือรูปเป็นอารมณ์หรือเป็นกรรมฐานตามนัยของมหาสติปัฏฐาน
จนเกิดวิปัสสนาปัญญารู้จักนามรูป จนหมดจากความเข้าใจว่าเป็นตัวเป็นตนในที่ นั้นแล้ว จึงจะเข้าถึงวิสุทธิได้

ฉะนั้นในความหมายของคำว่า “ วิสุทธิ “ ในที่นี้ก็หมายถึงการหมดจดหรือบริสุทธิ์จากความเห็นว่า เป็นตัวเป็นตนอื่นจากนามรูป ที่อาศัยเกิดขึ้นจากมิจฉาทิฏฐินั้นอีกเลย ปัญญาอันนี้แหละจึงเรียกว่า ทิฏฐิวิสุทธิ

ถ้าปัญญาใดยังไม่หมดจดจากความเห็นว่าเป็นเราหรือเป็นของเราแล้ว ปัญญานั้นก็ยังไม่จัดเข้าวิสุทธิได้

ฉะนั้นเราผู้เป็นนัก ศึกษาจึงควรทำความเข้าใจไว้ว่า
ศีลก็ดี
สมาธิก็ดี
หรือปัญญาก็ดี
นั้นย่อมมีทั้งวิสุทธิและไม่วิสุทธิ
คือหมายความว่า ศีล สมาธิ ปัญญา ที่เจือด้วยกิเลสก็มีและไม่เจือด้วยกิเลสก็มี
แต่ถ้าศีล สมาธิ ปัญญา อันเป็นหนทางที่จะบรรลุถึงพระนิพพานนั้น
จะต้องเป็นศีล สมาธิ ปัญญา ที่เข้าถึงวิสุทธิจึงจะเป็นปัจจัยให้ถึงพระนิพพานได้ ถ้าหากศีลใด สมาธิใด หรือปัญญาใด ที่ยังไม่เข้าถึงวิสุทธิแล้ว ศีล สมาธิ ปัญญาอันนั้น ก็ไม่ใช่ทางที่จะทำให้ถึงพระนิพพานได้

และท่าน ก็ต้องควรเข้าใจอีกอย่างหนึ่งด้วยว่า การที่จะเข้าถึงธรรมที่เป็นวิสุทธิ ซึ่งเป็นสิ่งบริสุทธิ์จากกิเลสได้นั้น จะต้องเข้าถึงได้ด้วยปัญญา
เพราะถ้าหากแต่ลำพังศีลและสมาธิเท่านั้น
ก็ไม่สามารถที่จะกัน หรือห้ามปรามกิเลสที่จะไม่ให้เกิดขึ้นอาศัยอารมณ์นั้น ๆ ได้
เพราะเหตุว่าอารมณ์ของศีลและสมาธิ นั้นยังเป็นปัจจัยของกิเลสอยู่
ถ้าหากศีลและสมาธินั้นเกิดขึ้นด้วยศรัทธาเป็นเหตุ
ศีลและสมาธิที่เกิดขึ้นด้วยศรัทธาเป็นเหตุนั้นก็ยัง ตกอยู่ใต้อำนาจของตัณหา ได้
ฉะนั้นอารมณ์ของศีลและสมาธิอันนั้น จึงยังเป็นที่อาศัยของตัณหาและทิฏฐิได้อยู่ และศีลหรือสมาธิทั้ง ๒ อย่างนั้น จึงยังเข้าถึงวิสุทธิไม่ได้


นอกจากศีลหรือสมาธิที่มีปัญญาเป็นเหตุ หรือศีลและสมาธิที่เกิดร่วมด้วยอารมณ์ของปัญญาคือวิปัสสนาเท่านั้น ศีลและสมาธิอันนั้นจึงจะบริสุทธิ์ได้

เพราะธรรมทั้งหลายในโลก นี้ไม่มีธรรมอันใดจะเป็นอาวุธทำลายกิเลสให้พินาศไปได้เลย นอกจากอาวุธ ๓ เล่ม คือ
สุตมยปัญญา
จินตามยปัญญา
และภาวนามยปัญญา
ได้แก่ วิปัสสนาปัญญา ปัญญาทั้ง ๓ นี้เท่านั้น

จึงจะประหาณกิเลสตามกำลังของปัญญาทั้ง ๓ นั้น ฉะนั้นถ้าศีลใด สมาธิใด ได้อาศัยปัญญาเหล่านั้นเป็นเหตุ หรือเป็นไปกับอารมณ์ของปัญญาเหล่านี้แล้ว ศีลและสมาธิเหล่านั้นจึงจะเข้าถึงวิสุทธิได้

โดยเหตุนี้ ในวิสุทธิทั้ง ๗ นั้น
จึงต้องเป็นปัจจัยร่วมกัน จะทำให้เป็นแต่วิสุทธิอย่างเดียวไม่ได้
เพราะถ้าอันอันหนึ่งไม่เป็นวิสุทธิแล้ว เหลือนอกนั้นก็จะเป็นวิสุทธิไม่ได้
ดังเช่นปัญญาที่ชื่อว่า ทิฏฐิวิสุทธิ ที่เรากำลังพูดกันอยู่นี้ก็เหมือนกัน ถ้าศีลกับสมาธิทั้ง ๒ นั้นไม่เป็นวิสุทธิ ปัญญาคือทิฏฐิวิสุทธินี้ก็มีไม่ได้ ฉะนั้นศีลและสมาธิใดที่เป็นไปร่วมกับอารมณ์ของปัญญา มีทิฏฐิวิสุทธิเป็นต้นแล้ว ศีลและสมาธิอันนั้นก็ต้องเป็นวิสุทธิที่แน่นอน

เพราะ เหตุว่าอารมณ์ของปัญญานั้น เป็นอารมณ์ที่ทำลายกิเลส กิเลสคือตัณหา ทิฏฐิเกิดขึ้นอาศัยอารมณ์นั้นไม่ได้ ฉะนั้นอารมณ์นั้นและปัญญาที่รู้อารมณ์นั้น มีทิฏฐิวิสุทธิเป็นต้น จึงเข้าถึงความบริสุทธิ์ได้ โดยเหตุนั้นถ้าศีลใดและสมาธิใดเป็นไปร่วมกันกับอารมณ์ของปัญญา มีทิฏฐิวิสุทธิเป็นต้นนั้นแล้ว ศีลนั้นและสมาธินั้นก็จัดเป็นวิสุทธิด้วย คือหมายความว่า ศีลและสมาธิใดที่ได้เป็นไปร่วมกับอารมณ์ของปัญญานั้นแล้ว ศีลและสมาธินั้นก็ต้องเป็นวิสุทธิที่แน่นอนทีเดียว

อารมณ์ของทิฏฐิวิสุทธิ

เมื่อ ได้ฟังเหตุผลกันมาถึงตอนนี้แล้วดิฉันจะขอย้อนกลับมาทำความเข้าใจกันอีกครั้ง หนึ่งว่า ก็เมื่อท่านทราบตามเหตุผลที่ได้อธิบายมาแล้ว ว่าศีลกับสมาธิที่จะเป็นวิสุทธิได้ก็จะต้องมีปัญญาเป็นเหตุหรือต้องเกิด ร่วมด้วยกับอารมณ์ของปัญญามีทิฏฐิวิสุทธิเป็นต้นนั้น ศีลและสมาธินั้นจึงจะเข้าถึงวิสุทธิแน่นอน จึงอยากจะเรียนถามอีกครั้งหนึ่งว่า ก็ปัญญาที่เรียกว่าทิฏฐิวิสุทธิที่เรากำลังพูดถึงกันอยู่นี้นั้นมีอะไรเป็น อารมณ์ หรืออารมณ์ของทิฏฐิวิสุทธินั้นคืออะไร
ความจริงใน เรื่องนี้ก็ได้อธิบายมาแล้วในตอนต้นนั้น แต่ก็อาจจะจำไม่ได้หรือยังไม่เข้าใจดี จึงขอย้อนมาทำความเข้าใจอีกครั้งหนึ่ง เพราะเหตุว่าเป็นสิ่งที่ควรทำความเข้าใจไว้ให้แน่นอน เพื่อจะได้เป็นการป้องกัน ในการที่จะได้ไม่เข้าใจผิดในอารมณ์ของวิปัสสนาในเมื่อเข้าใจในอารมณ์ของ ทิฏฐิวิสุทธิดีแล้ว ฉะนั้นจึงขอให้เข้าใจไว้ให้แน่นอนเถิดว่า อารมณ์ของทิฏฐิวิสุทธินั้น จะต้องมีนามรูปหรือมหาสติปัฏฐานเท่านั้น ถ้านอกจากนั้นก็ไม่ใช่แน่นอน ถึงศีลและสมาธิก็เหมือนกัน เพราะปัญญาใดที่ไม่ได้เกิดจากมหาสติปัฏฐานและไม่มีนามรูปเป็นอารมณ์อยู่ แล้ว ปัญญานั้นก็ไม่เป็นวิสุทธิ (ยกเว้นพระอรหันต์) เพราะว่าประโยชน์ของการทำวิปัสสนานั้น ก็เพื่อจะละความยึดมั่นที่เกิดขึ้นจากความเข้าใจผิด ที่เห็นว่านามรูปนั้นเป็นตัวตน และเป็นเราหรือของ ๆ เราและความเข้าใจผิดอันนี้ได้อาศัยอยู่ที่รูปนามเกิดขึ้น เพราะอวิชชาความไม่รู้ตามความเป็นจริง ด้วยเหตุที่ยังไม่เคยพิจารณาให้ได้ความจริง
โดยเหตุผลที่ได้ อธิบายมานี้ ผู้ทำวิปัสสนาจึงมีความจำเป็นที่สุด ที่จะต้องนำเอานามรูปที่เราเข้าใจผิดอยู่นั้นมาเป็นกรรมฐาน คือเอามาเป็นที่ตั้งรับรองการพิจารณา หรือการพิสูจน์ของปัญญา จนกว่าจะได้ความจริงในสิ่งที่ตนเข้าใจผิดนั้น จึงจะเป็นเหตุผลที่สอดคล้องต้องกัน เพราะเหตุว่าการเข้าใจถูกและเข้าใจผิดนั้น จะต้องมีวัตถุเป็นเครื่องรับรองความเข้าใจถูกและความเข้าใจผิด ไม่ใช่ว่าการเข้าใจถูกและการเข้าใจผิดนั้น จะเกิดขึ้นมาเองเฉย ๆ โดยไม่มีวัตถุรองรับความเข้าใจถูกและความเข้าใจผิดนั้น อยู่ ๆ ก็เกิดคิดผิดหรือคิดถูกขึ้นมาเองเฉย ๆ ก็ได้ ถ้ามีความเข้าใจดังนี้ ท่านผู้ฟังก็คงทราบแล้วว่าไม่ถูกเพราะเป็นความเข้าใจที่ไม่มีเหตุผล ซึ่งผิดจากพระพุทธภาษิตว่า “ ธรรมทั้งหลายย่อมมีเหตุเป็นแดนเกิด “ อาจจะเป็นความเข้าใจดังนี้ดอกกระมัง ดิฉันจึงเคยได้ยินว่า การละความยึดมั่นถือมั่นนั้น ไม่ต้องมีการศึกษาอะไร และไม่ต้องมีการปฏิบัติอย่างไร และไม่ต้องมีการพิจารณาอะไรทั้งนั้น เมื่อจะละความยึดมั่นถือมั่นปล่อยวางก็นึกละเอาเอง นึกวางเอาเองโดยไม่ต้องมีการทำอะไรทั้งหมด ก็ความเข้าใจดังนี้ขอให้ท่านพิจารณาดูว่าจะเป็นเหตุผลเป็นไปได้หรือ ถ้าหากความจริงจะเป็นไปได้เช่นนั้นแล้ว ในเวลาที่เราหิวข้าวเราก็ต้องไปหาข้างกิน เรานึกกินเอาเอง ความอิ่มก็เกิดขึ้นมาเองตามที่เราต้องการดังนั้นหรือ ก็คงเป็นไปไม่ได้แน่นอน เพราะตามธรรมดานั้นเมื่อกรรมคือการกระทำนั้นมี สิ่งที่ถูกกระทำนั้นก็ต้องมี กรรมจึงจะสำเร็จผล ก็ถ้าสิ่งที่ถูกกระทำไม่มี กรรมคือการกระทำนั้นก็ไม่มี เมื่อกรรมไม่มีแล้วความสำเร็จผลแห่งกรรมนั้น ก็ต้องมีไม่ได้อยู่เองเป็นธรรมดา

ปัญญา ๓

ฉะนั้นในตอนนี้จึงจะขอทำความเข้าใจกันในเรื่องของปัญญากันอีกหน่อยก่อนว่า ปัญญานั้นมี ๓ อย่างหรือ ๓ ขั้น คือ
๑. สุตมยปัญญา
๒. จินตามยปัญญา
๓. ภาวนามยปัญญา
และ ในปัญญาทั้ง ๓ นี้ต้องเป็นปัจจัยซึ่งกันละกัน สุตมยปัญญานั้นเป็นปัญญาที่เกิดจากศึกษา คือมาจากการได้ยินได้ฟัง เป็นต้น และมีความเข้าใจถูกในเรื่องราวนั้น ๆ จินตามยปัญญานั้นก็คือ มีโยนิโสมนสิการ คือมีความเข้าใจในเวลาที่ทำการงาน หรือเวลาที่ปฏิบัติเป็นต้น ถ้าไม่มีความเข้าใจหรือไม่มีโยนิโสให้ถูกต้องแล้ว ก็จะทำถูกหรือให้สำเร็จผลที่ดีนั้นไม่ได้ ส่วนภาวนามยปัญญานั้น เป็นความรู้ที่เกิดจากการปฏิบัติ คือการเข้าไปทำการพิสูจน์จนได้ความจริงของวัตถุที่ถูกพิสูจน์นั้น ความรู้ในขั้นนี้เป็นความรู้ถูกต้องและแน่นอนที่สุด เพราะเป็นความรู้ที่ได้มาจากที่ตนได้เข้าไปพิสูจน์มาแล้วด้วยตนเอง ความรู้ขั้นนี้เองที่เรียกว่า “ วิปัสสนาปัญญา” จึงจะทำลายความเห็นที่เข้าใจว่ามีตนหรือเป็นตนนั้นได้ ดังเช่นทิฏฐิวิสุทธิที่เรากำลังพูดกันอยู่นี้ ก็ต้องเข้าถึงปัญญาขั้นภาวนานี้จึงจะเข้าถึงทิฏฐิวิสุทธิได้
เพราะ ความหมายของทิฏฐิวิสุทธินี้ ก็หมายความว่าเป็นความบริสุทธิ์ในขั้นปัญญาที่เข้าไปพิจารณาจนรู้แน่ใจแล้ว ว่ารูปนามนี้ ไม่ใช่ตัวใช่ตน และไม่มีตัวตนอื่นจากรูปนาม หรือทั้งโลกนี้ก็เช่นเดียวกัน มีแต่รูปนามเท่านั้นในเวลานั้นและธรรมะทั้งหลายจะเป็นกุศลและอกุศลก็ตาม หรือสิ่งที่ไม่ใช่กุศลไม่ใช่อกุศลก็ตามก็เป็นธรรมะทั้งหมด และธรรมะทั้งหมดในโลกหรือในพระไตรปิฏกเมื่อย่อลงแล้วก็ได้แก่นามรูปนั้นเอง ที่มีเป็นของจริงปรากฏอยู่ในปัญญาคือทิฏฐิวิสุทธินั่นเอง
ทิฏฐิ วิสุทธินี้เป็นวิสุทธิขั้นต้นของปัญญาใน ๕ วิสุทธินั้น และทิฏฐิวิสุทธินี้ก็ได้มาจากเหตุคือ วิปัสสนาปัญญา ที่ชื่อว่า “ นามรูปปริจเฉทญาณ “ คือเป็นที่รู้จักนามรูปด้วยการปฏิบัติ และปัญญาขั้นนี้เป็นผู้ถึงความเข้าใจถูกดีแล้วทั้งปริยัติและปฏิบัติ และก็เข้าถึงพร้อมแล้วด้วยปัญญาทั้ง ๓ มีสุตมยปัญญา เป็นต้น ได้เข้าถึงภาวนามยปัญญา มีนามรูปปริจเฉทญาณ เป็นต้น

ปัญญากำหนดรู้นามรูปว่าไม่ใช่เรา

สิ่ง ที่ยังควรจะต้องเข้าใจในเหตุผลให้ถูกต้องและแน่นอน อยู่ในปัญหาอีกข้อหนึ่งนั้นคือ ในการที่จะเกิดวิปัสสนาปัญญาที่เรียกว่านามรูปปริจเฉทญาณนั้นน่ะ เราจะมีวิธีปฏิบัติอย่างไรกัน หมายความว่าเราจะกำหนดนามรูปอะไร และอย่างไรจึงจะรู้ว่านามรูปไม่ใช่เรา ชนิดถึงขั้นภาวนามยปัญญานั้นได้ก่อนอื่นที่เราจะทำความเข้ากันในเรื่องนี้ นั้น คือท่านจะต้องไม่ลืมว่าปัญญานั้นมี ๓ อย่าง หรือ ๓ ขั้น คือมีสุตมยปัญญาเป็นต้น ฉะนั้นการกำหนดนามรูปก็มี ๓ อย่างเหมือนกัน แต่สำหรับในขั้นต้นคือสุตมยปัญญานั้น ก็รู้ว่าขันธ์ ๕ หรือนามรูปนั้นไม่ใช่ตัวตนเหมือนกัน เพราะบรรดาท่านที่นับถือพระพุทธศาสนาหรือผู้ที่ท่านได้เคยศึกษาธรรมะมาแล้ว นั้น ก็ย่อมจะต้องมีความเข้าใจมาจากการฟังเทศน์บ้าง หรือจากการศึกษาธรรมะมาบ้างแล้ว ก็ย่อมจะต้องมีความเข้าใจอยู่แล้วว่าขันธ์ ๕ หรือนามรูปนี้เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน
แล้วในบางครั้งก็มาจินตนาการไปตามที่ได้ ฟังมานั้น แล้วก็รู้สึกว่าเห็นจริงตามไปด้วยเหมือนกันว่า นามรูปนั้นไม่ใช่ตัวใช่ตนเป็นอนัตตาจริง ๆ บางทีก็เลยเข้าใจไปว่าตนนั้นเข้าถึงวิปัสสนาแล้ว หรือตนได้ปล่อยวางแล้วไม่ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวเราหรือเป็นของเราแล้ว แต่ความจริงนั้นปัญญาที่เกิดขึ้นมาจากเหตุอย่างว่านี้ยังมิใช่วิปัสสนา ปัญญา เพราะเป็นปัญญาที่ได้มาจากเหตุภายนอก ซึ่งได้มาจากการฟังเป็นต้นนั้นเอง จะละกิเลสหรือจะปล่อยวางได้ก็แต่ในเวลาที่กำลังคิดนึกถึงความไม่ใช่ตัวตน ตามที่ได้ยินได้ฟังมาแล้วนั้นเอง เมื่อเลิกคิดเลิกนึกถึงอารมณ์นั้นแล้ว คือหมายความว่า เมื่อจิตเปลี่ยนไปรับอารมณ์ใหม่หรืออารมณ์อื่น เช่นมีการเห็น การได้ยิน ในรูปารมณ์ และสัทธารมณ์ เป็นต้น ในขณะนั้นความรู้สึกว่าไม่ใช่เราก็ไม่มี เมื่อความรู้สึกว่าไม่ใช่เรา ไม่มีในเวลานั้นแล้ว ความรู้สึกว่าเราเห็นหรือได้ยินที่เป็นอนุสัยกิเลสอย่างละเอียดที่หมักดอง อยู่ในจิตใจนั้น ก็จะเกิดขึ้นด้วยอาศัยการเห็น การได้ยิน เป็นต้น ในขณะที่เห็นที่ได้ยินนั้นเอง
ฉะนั้นปัญญาที่ได้มาจากภายนอก ที่เกิดขึ้นจากการเพียงแต่ได้ยินได้ฟังมาจากผู้อื่นนั้น จึงยังไม่สามารถที่จะถ่ายถอนความยึดมั่นความเห็นผิดว่า เป็นเรา หรือเป็นของเราที่ยังฝังหรือหมักดองอยู่ในจิตสันดานนั้นได้ เพราะยังไม่ใช่ภาวนามยปัญญา ฉะนั้นความรู้สึกที่ว่าเป็นเรานั้น จะยังไม่ถูกถ่ายถอนออกไปเลย

วิปัสสนาภาวนาเป็นปัญญาที่รู้ได้ด้วยตนเองว่าได้รู้แล้วได้เห็นแล้ว

ต่อ เมื่อใดได้เข้าทำการปฏิบัติจนได้เห็นนามและรูปโดยชัดเจนแล้วว่าไม่ใช่เรา ด้วยวิปัสสนาภาวนา คือนามรูปปริจเฉทญาณนั้นแล้ว จึงจะถ่ายถอนความยึดมั่นถือมั่นที่หมักดองอยู่ในจิตใจนั้นหรือในขณะที่เห็น ที่ได้ยินนั้นได้ว่า ไม่ใช่เราเห็น หรือได้ยิน เป็นต้น และปัญญาอันนี้เป็นปัญญาที่ผู้ปฏิบัติจะรู้ด้วยตนเองว่า ตนได้รู้แล้ว เห็นแล้ว เพราะเป็นความรู้ที่ได้มาจากที่ตนได้ปฏิบัติให้เกิดขึ้นด้วยตนเองของตนเอง และคนอื่นก็ทำให้ไม่ได้แม้แต่พระพุทธองค์
ฉะนั้น ความรู้ที่ได้มาจากที่ตนได้เข้าไปพิสูจน์ด้วยตนเองนั้น ความรู้อันนี้แหละจึงจะถ่ายถอนความสำคัญผิดที่เห็นว่านามรูปนั้นเป็นตัวตน ออกได้ ก็เพราะเหตุที่เข้าไปรู้ความจริงของนามรูปนั้นเอง และก็ขอให้เข้าใจไว้อีกข้อหนึ่งด้วยว่า การเห็นอนัตตานั้น คือเห็นนามเห็นรูปนั่นเอง ในตามหลักฐานท่านบอกไว้ว่า เครื่องหรือสิ่งที่ปิดบังไตรลักษณ์นั้นมี ๓ อย่าง คือ
๑. ฆนสัญญา ท่านก็คงทราบแล้วว่าคือความเป็นกลุ่มเป็นก้อนของนามรูปจึงปิดบังอนัตตาเสีย ทำให้เราเห็นว่า นามรูปนั้นเป็นก้อนเป็นแท่ง เช่น รูปก็มีรูปเดียว นามก็มีอันเดียว เช่นจิตมีดวงเดียว เป็นต้น เมื่อเห็นดังนั้นความรู้สึกว่ารูปนามนั้นมีสาระก็จะติดตามขึ้นมาพร้อมด้วย ความเป็นตนและเป็นเราความรู้สึกว่าไม่ใช่เราก็จะหมดโอกาสไปด้วยอำนาจของ ฆนสัญญาที่รวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนนั่นเอง
๒. สันตติ ความสืบต่อที่ทำให้เห็นติดกันอันนี้ปิดบังทำให้ไม่เห็นอนิจจังคือ ความไม่เที่ยง จึงทำให้เห็นเป็นของเที่ยงไปด้วยความเร็วที่ต่อกัน
๓. อิริยาบถปิดบังทุกข์ เพราะเหตุที่ไม่ได้พิจารณาอิริยาบถ จึงไม่เห็นว่านามรูปนั้นเป็นทุกข์ ฉะนั้นผู้ที่จะปฏิบัติวิปัสสนา เพื่อที่จะเข้าไปเห็นอนัตตาว่านามรูปนี้ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนนั้น จึงจำเป็นจะต้องเข้าใจในอุบายที่จะทำลายฆนสัญญาให้กระจายออกมาเสียก่อน แล้วจึงจะเห็นอนัตตาได้
ฉะนั้นการเห็นอนัตตานั้นจึงไม่ใช่การ นึกเห็นเอาเองได้ เพราะการเห็นอนัตตานั้น จะต้องเห็นได้ด้วยวิปัสสนาปัญญาที่เกิดขึ้นจากการพิจารณานามรูปนั้นเอง ฉะนั้นการกำหนดรู้นามรูปนี้เองจึงเป็นการทำลายฆนสัญญาด้วย แต่ข้อสำคัญของการพิจารณานามรูปนั้นอยู่ที่ผู้พิจารณา คือในเวลาที่ตนทำการกำหนดนามรูปนั้น จะต้องรู้ด้วยว่าตนกำหนดนามอะไรและรูปอะไรด้วย ไม่ใช่รู้แต่เพียงว่าเป็นนามและรูปเฉย ๆ เท่านั้น จะต้องรู้ว่านามอะไรและรูปอะไรด้วย
อุปมาเหมือนอ่านหนังสือ ถ้าเราอ่านโดยแยกตัวหนัวสือออกเป็นตัว ๆ แล้วจะไม่มีความหมายอะไรเลยสำหรับในตัวหนังสือเหล่านั้น สมมติว่าเราจะเขียนหนังสืออะไรขึ้นสักคำหนึ่ง เช่น คำว่า “ เรือน “ เป็นต้น เราก็จะต้องเอาตัวสะกดของคำว่า “ เรือน “ มารวมกันเข้าแล้ว ความหมายของคำว่าเรือนก็เกิดขึ้น แต่ถ้าเราแยกเอาตัวสะกดคำว่า “ เรือน “ ให้ออกไปจากกันแล้ว ความหมายของคำว่า “ เรือน “ ก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ ฉันใดก็ดีการทำลายฆนสัญญาก็ฉันนั้น ก็เมื่อฆนสัญญาถูกทำลายแล้ว อันความสำคัญว่ามีตัวมีตนก็เกิดขึ้นไม่ได้เอง โดยไม่ต้องมีใครห้ามปรามเลย
อีก นัยหนึ่ง ความหมายของคำว่า “ บ้าน “ นั้น ถ้าหากวัตถุต่าง มีไม้และตะปู เป็นต้น ยังรวบรวมเกาะกุมกันอยู่ตราบใด ความสำคัญว่าบ้านหรือเรือนก็ยังมีอยู่ตราบนั้น และความมีเจ้าของก็ต้องมีอยู่ เมื่อความสำคัญในของสิ่งนั้นหรือในบ้านเรือนนั้นเกิดขึ้น ความสำคัญในความมีสาระในความหมายของสิ่งนั้นก็เกิดตามขึ้นมา ความยึดถือที่รู้สึกว่าเป็นของเราก็เกิดขึ้นติดตามมาด้วยทั้งนี้ก็เพราะเห ตุฆนสัญญานั้นเอง ก็ถ้าหากว่าเราทำลายความเกาะกุมของวัตถุเหล่านั้นออกแล้ว เช่น เอาไม้ออกมากองไว้เป็นพวก ๆ หรือเป็นกอง ๆ นั้นแล้ว ความรู้สึกว่าเป็นบ้านหรือเป็นเรือนนั้นก็จะหมดไปเอง พร้อมทั้งสาระด้วยโดยไม่ต้องไปมีวิธีที่จะปฏิบัติอย่างใดเลย เพราะความรู้สึกอันนั้นเป็นผลที่เกิดขึ้นมาจากเหตุ คือการปฏิบัติที่ได้โยนิโสมนสิการในการพิจารณานามรูปนั้นด้วยความถูกต้อง แล้วนั่นเอง

วิปัสสนาญาณเป็นธรรมที่เกิดขึ้นจากการสร้างเหตุที่ถูกต้อง

ฉะนั้น ผู้ทำวิปัสสนาจึงไม่ควรจะไปสนใจในพระไตรลักษณ์ทั้ง ๓ นั้นให้มากนัก ซึ่งเป็นการถือว่าเป็น อโยนิโสมนสิการ เพราะผิดจากหน้าที่และกาลเทศะที่ควรจะรู้ในเวลานั้น เพราะธรรมที่เป็นพระไตรลักษณ์ก็ดี หรือปัญญาที่เรียกว่า นามรูปปริจเฉทญาณ ก็ดี ธรรมอันนี้เป็นผลที่จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อได้ทำเหตุให้ถูกต้องและสมบูรณ์ แล้วเท่านั้น
โดยเหตุดังที่ได้อธิบายมานี้เองในทางที่ถูกนั้น ผู้ปฏิบัติควรจะสนใจศึกษาแต่ในเรื่องที่จะทำการกำหนดนามรูป ซึ่งเป็นกรรมฐานของวิปัสสนาเท่านั้น ว่าจะพิจารณาอย่างไร และจะมีโยนิโสมนสิการอย่างไร คือ จะทำความรู้สึกอย่างไรในเวลาพิจารณานามรูปนั้น จึงจะถูกต้องเท่านั้น ก็อุปมาเหมือนคนที่เข้ามาฝึกงานที่ตนยังไม่เคยทำ ในเวลาทำงานนั้นจึงมีหน้าที่จะทำความรู้สึกหวังแต่เพียงว่าจะให้เข้าใจใน การทำงานนั้นให้ถูกและให้ดีเสียก่อน ยังไม่ควรรีบหวังผลในการกระทำที่ยังไม่เข้าใจดีหรือที่ตนยังทำไม่ถูกนั้น เพราะถึงหวังก็ยังไม่ได้เพราะผลนั้นก็เกิดจากเหตุ ไม่ได้เกิดจากความต้องการของใคร ก็เมื่อเราได้ทำเหตุให้ถูกต้องและควรแก่ผลนั้นๆ แล้ว ผลนั้นก็จะเกิดขึ้นมาเอง โดยไม่ใช่เพราะปรารถนาความต้องการของเรา
ข้อ สำคัญจึงมีอยู่ว่าถ้าเราจะต้องการผลอย่างไร เราก็ควรศึกษาให้เข้าใจในวิธีที่จะกระทำเหตุให้ตรงต่อผลนั้น ๆ ให้ถูกต้องนั่นแหละ จึงจะตรงกับคำว่า “ อุชุปฏิปันโน “ ที่หมายความว่า เป็นผู้ปฏิบัติตรงต่อเหตุผลนั้น จึงจะได้ผลตามที่ตนต้องการนั้นได้ ก็เหมือนกับเรื่อง ทิฏฐิวิสุทธิ ที่เรากำลังพูดกันนี้ก็เหมือนกัน ก็ต้องได้มาจากเหตุคือ นามรูปปริจเฉทญาณ
นามรูปปริจเฉทญาณ ก็เกิดจากการพิจารณานามรูปที่ถูกต้อง การพิจารณานามรูปที่ถูกต้องนั้นก็ต้องได้มาจากปริยัติ คือการศึกษาที่ถูกต้อง โดยเหตุนี้แหละจึงขอให้เข้าใจเถิดไม่ว่าอะไรทุกอย่างก่อนจะถึงความสำเร็จ ได้ด้วยดีแห่งผลนั้น ๆ แล้ว ก็จะต้องมีความเข้าใจ และทำให้ถูกต้องด้วยเหตุผลซึ่งเป็นไปตามลำดับดังที่ได้อธิบายมานั้น จึงเป็นความสำเร็จด้วยดีได้ ความสำคัญขั้นต้นของผู้ปฏิบัติอยู่ที่ความเข้าใจในการกำหนดรูปนาม โดยถูกต้องเท่านั้น ฉะนั้นในเหตุสำคัญขั้นต้นของทิฏฐิวิสุทธินี้ ก็อยู่ที่ผู้ปฏิบัติต้องมีความเข้าใจที่จะกำหนดรู้จักแยกนามรูปออกจากกัน ได้แล้ว จนเห็นว่ารูปแต่ละรูป และนามแต่ละนามนั้น ไม่ใช่อันเดียวกัน
ถ้า ผู้ปฏิบัติยังไม่เข้าถึงความเข้าใจดังกล่าวนี้แล้ว ก็ย่อมจะเข้าใจผิดไปว่ารูปที่จำแนกออกไปแต่ละอย่าง ๆ หรือนามแต่ละอย่าง ๆ นั้น ก็เป็นอันเดียวกันที่จำแนกออกไปหลายอย่างเช่น รูปนั่งก็ดี รูปยืนก็ดี รูปเดินก็ดี รูปนอนก็ดี รูปเหล่านี้ก็คือรูปอันเดียวกันนั้นเอง ส่วนอาการที่นั่ง นอน ยืน เดิน นั้นก็เป็นเพียงอาการของรูปอันนั้นเอง แต่ก็คงไม่ทราบว่ารูปอันนั้น คือรูปอะไร ทั้งก็คงจะบอกไม่ได้เหมือนกันว่าที่ว่ารูปอันเดียวกันนั้นคืออะไร และทางนามก็เช่นกันไปเข้าใจเสียว่าเป็นนามอันเดียวกัน ที่เป็นดังนี้ก็เพราะเหตุว่า ยังไม่มีความเข้าใจที่จะกำหนดให้รูปและนามกระจายออกจากฆนสัญญานั้นได้ ความเห็นผิดเช่นนั้นจึงละไม่ได้
ที่ว่าความรู้สึกเช่นนั้นผิด ก็เพราะเหตุว่าไม่ตรงต่อความเป็นจริงของนามรูปนั้น เพราะความจริงนั้น สิ่งใดที่เกิดขึ้นแล้วสิ่งนั้นก็จะต้องดับไปเป็นธรรมดา ไม่ใช่ว่าเกิดขึ้นแล้วสิ่งนั้นไม่ดับ หากแต่เปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่น ดังเช่นรูปนั่งกับรูปนอนนั้นก็เป็นคนละรูป ไม่ใช่รูปเดียวกัน เพราะเหตุว่าเมื่อรูปนั่งเกิดขึ้นแล้วก็ต้องดับไป รูปนั่งที่ดับไปแล้วนั้นก็ย่อมต้องหมดไปแล้วและรูปนั่งนั้นก็ไม่ได้กลับมา เป็นรูปนอนหรือยังเหลืออยู่ในรูปนอนนั้นอีกเลยและรูปนอนที่เกิดต่อจากรูป นั่งนั้น ก็เป็นรูปที่เกิดขึ้นใหม่อีกต่างหาก ไม่ใช่มาจากรูปนั่งหรือเป็นอันเดียวกันกับรูปที่นั่งหรือเป็นอันเดียวกัน กับรูปที่นั่งแล้วเปลี่ยนมาเป็นรูปนอนอีก ถึงแม้นามก็เช่นเดียวกัน

การกำหนดรู้ในนามรูปปริจเฉทญาณ
ใน ข้อนี้อุปมาเหมือนเราทำขนมอะไรกินสักอย่างหนึ่ง เมื่อทำขึ้นแล้วและก็กินหมดไปแล้ว จะทำใหม่อีกอย่างหนึ่งก็ต้องปรุงใหม่ทำใหม่ และก็ต้องใช้เครื่องปรุงและส่วนสัดคนละอย่าง ไม่ใช่ว่าเอาขนมอีกอย่างหนึ่งแล้วเอาอันนั้นมาทำเป็นอันนี้ ต้องใช้วัตถุคนละอัน ถึงแม้จะใช้ไข่ด้วยกัน แต่ก็เป็นไข่คนละลูก ไม่ใช่ลูกเดียวกัน ถึงแม้รูปและนามก็เป็นฉันนั้น หากรูปทั้งหมดจะเกิดจากมหาภูตรูป ๔ ก็จริงอยู่ แต่ในรูปนั่ง นอน ยืน เดิน นั้น การปรุงของมหาภูตรูปก็ต้องมีส่วนสัดต่าง ๆ ไม่เท่ากัน คือที่ปรุงให้นั่งก็อย่างหนึ่ง ให้เดินอย่างหนึ่ง เป็นคนละส่วนละสัด
ในเรื่องนี้ท่านก็กล่าวไว้ในวิสุทธิมรรคในปัญญานิเทศว่า
“ ในการก้าวเท้าไปครั้งหนึ่งนั้น ผู้มีปัญญาอาจจะเห็นความดับในส่วนสัดของรูปก้าวนั้นได้ถึง ๖ ครั้ง หรือ ๖ รูป แต่สำหรับเราผู้มีปัญญาน้อย ก็ไม่จำเป็นจะต้องเห็นถึงแค่นั้นก็ได้ เป็นเพียงให้รู้ว่ารูปนั่งกับรูปนอนนั้น ไม่ใช่รูปเดียวกันเท่านั้นก็พอแล้ว “
ก็ชื่อว่าได้ทำลาย ฆนสัญญาแตกออกไปแล้ว ความเข้าใจผิดที่สำคัญว่านามรูปเป็นตัวหรือเป็นของตัวก็เกิดขึ้นในปัญญา นั้นไม่ได้แล้วปัญญานั้นแหละชื่อว่า “ รูปปริจเฉทญาณ “
ถึง แม้การกำหนดนามก็ต้องมีความเข้าใจอย่างเดียวกัน มีเวทนาสติปัฏฐาน เป็นต้น ตามสติปัฏฐานนั้นท่านแตกเวทนาออกเป็น ๓ อย่าง มีสุขเวทนา ทุกขเวทนา และอุเบกขาเวทนา วิธีกำหนดเวทนานั้น ก็คือ เมื่อเวทนาอะไรเกิดขึ้น จะเป็นสุขหรือทุกข์ก็ตามก็ต้องมีสติสัมปชัญญะให้รู้ว่าเวทนาอย่างนั้นเกิด ขึ้นและก็เมื่อเวทนาอะไรดับไปให้รู้ว่าเวทนาอย่างนั้นดับไปให้กำหนดไปอย่าง นี้จนรู้แน่ชัดเจนแล้วว่า เวทนาที่เกิดขึ้นและดับไปแต่ละอย่าง ๆ นั้น เป็นคนละอันไม่ใช่อันเดียวกัน ความรู้อย่างนี้เรียกว่า “ นามปริจเฉทญาณ “
เมื่อ รวบรวมแล้วทั้งสองอย่างก็เป็น นามรูปปริจเฉทญาณ เพราะในอารมณ์ของปัญญาเวลานั้น มีแต่รูปกับนามเท่านั้น ไม่มีสัตว์บุคคลตัวตนอาศัยอยู่ในอารมณ์นั้นเลย และก็นามรูปปริจเฉทญาณนี้แหละที่เป็นญาณให้เกิดหรือให้เข้าถึงทิฏฐิวิสุทธิ ซึ่งได้แก่ความเห็นถูกที่ปราศจากกิเลสคือ ความเห็นผิดที่สำคัญว่านามรูปนั้นเป็นตัวเป็นตน และเป็นของ ๆ ตน ไม่มีอยู่ในที่นั้น ฉะนั้นจึงเรียกว่าทิฏฐิวิสุทธิ
ในข้อสุด ท้ายนี้ก็ขอเรียนให้ทราบไว้ด้วยว่า การเห็นนามรูปในที่นี้นั้นไม่ใช่ความเห็นที่เกิดขึ้นจากการคิดนึกเห็นเอา ความเห็นในที่นี้เป็นความรู้สึกของปัญญาภาวนาที่เกิดขึ้นจากสติสัมปชัญญะ ที่ได้เจริญให้เกิดขึ้น เป็นความรู้ที่เกิดขึ้นจากการที่ได้เข้าไปพิสูจน์มาแล้วด้วยตนเอง เป็นความรู้ที่เกิดขึ้นจากการรู้เองเห็นเอง หาใช่ครูบาอาจารย์หรือบุคคลหนึ่งบุคคลใด หรือมาจากตำรับตำราอันหนึ่งอันใดนั้นก็หาไม่
ความรู้นี้เป็น ความรู้ที่ได้มาจากสภาวธรรมที่ถูกพิสูจน์นั้นเองเป็นผู้สอนให้รู้ หมายความว่าสภาวธรรมคือ นามรูปที่ไม่ใช่สัตว์ใช่บุคคลนั้นเองที่เป็นผู้สอนให้รู้ จึงขอให้ท่านนักศึกษาทั้งหลายจงเข้าใจด้วยเถิดว่า ครูอาจารย์ที่จะสอนให้เราเกิดปัญญาวิปัสสนาโดยแท้จริงได้นั้น มิใช่ครูบาอาจารย์คนใดคนหนึ่ง หรือจะเป็นตำรับตำราอันหนึ่งอันใด ครูอาจารย์ที่แท้จริงของท่านนั้น ก็คือ “ นามรูป “ นั้นเอง ส่วนตำราหรือครูอาจารย์ที่เป็นบุคคลนั้น ก็เป็นเพียงแต่จะแนะนำให้ท่านเดินไปหาหรือไปพบกับครูคือ นามรูป เท่านั้น เพราะการที่จะได้พบครู คือ นามรูป นั้น ไม่ใช่ไปด้วยยวดยานต่าง ๆ ในโลกนี้ซึ่งมีรถยนต์หรือเรือยนต์ เป็นต้น นั้นไม่ได้ จะต้องไปโดยโยนิโสมนสิการคือความเข้าใจถูกประกอบไปด้วยสติสัมปชัญญะ ซึ่งเป็นผู้เดินทางไปหานามรูปนั้น จึงจะไปพบกับนามรูปนั้นได้
แต่ ในการที่จะทำโยนิโสมนสิการ คือความเข้าใจถูกที่จะต้องประกอบไปด้วยการงาน (ของจิต) ซึ่งจะเป็นผู้ประคับประคองให้ทำได้ถูกต้องหรือเดินไปให้ถูกทางได้นั้น ความสำคัญในข้อนี้อยู่ที่โยนิโสมนสิการ ซึ่งโยนิโสมนสิการนี้จะต้องได้มาจากปริยัติ คือ การศึกษามาจากตำรับตำราหรือครูอาจารย์ที่เข้าใจในเหตุผลนั้นดีด้วยตนเอง ไม่ใช่เป็นแต่เพียงจำมาได้เท่านั้น เมื่อได้ประกอบด้วยเหตุผลสมบูรณ์ดังว่ามานี้แล้ว ท่านจึงจะได้ไปพบกับครูคือรูปนามนั้นได้ เมื่อได้เดินทางเข้าไปพบกับครูคือ นามรูปนั้นแล้ว ต่อไปก็เป็นหน้าที่ของนามรูป ซึ่งจะเป็นผู้สอนให้ท่านรู้ความจริงทุกสิ่งทุกอย่างของนามรูป ตามกำลังของบารมีที่จะได้รู้ตามนัยของวิปัสสนาญาณ มีนามรูปปริจเฉทญาณ เป็นต้นนั้นได้

ปัญญาบารมีเป็นปัจจัยสำคัญต่อการปฏิบัติถูกต้อง

แต่ ก็ยังมีบางสิ่งที่ควรเข้าใจอยู่อีกข้อหนึ่งว่า ในการที่บุคคลจะเข้าถึงหรือจะได้พบกับความสมบูรณ์ในเหตุผลดังที่ได้อธิบาย มานั้น มีการพบกับบุคคล คือ มีอาจารย์เป็นต้นที่จะเป็นผู้สอนให้ถูกต้องได้นั้นจะต้องเป็นผู้ที่ได้มี บารมีมาแล้วจึงจะฝ่าอุปสรรค คือ ตัณหา มานะ ทิฏฐิ ที่เป็นศัตรูตัวสำคัญที่จะมาเป็นผู้กีดขวางมิให้ท่านไปพบเหตุที่ถูก มีอาจารย์ เป็นต้น เหล่านั้นได้ ถ้ามิฉะนั้นแล้วจะไม่มีหวังเลย
ฉะนั้น เรื่องของการปฏิบัตินั้นจึงย่อมขึ้นอยู่กับปัญญาบารมีและการปฏิบัติที่ถูก ต้องตามวิธีนั้น ๆ ด้วย สำหรับอาจารย์นั้นก็มีแต่เพียงจะแนะนำให้ท่านมีความเข้าใจให้ถูกในเวลาที่ ทำการปฏิบัติอยู่นั้นเท่านั้นเอง เมื่อผู้ปฏิบัติมีความเข้าใจและมีมนสิการที่ถูกต้องดีแล้ว ผลที่ถูกต้องก็จะปรากฏแก่ผู้ปฏิบัติเอง และผู้ปฏิบัตินั้นก็รู้เองไม่ใช่เป็นหน้าที่ของอาจารย์ที่จะต้องรับรองและ ความรู้ที่ถูกนั้นจึงมิใช่ว่าถูกเพราะความรับรองของอาจารย์จะต้องเป็นความ รู้ที่เกิดขึ้นจากปัญญาของตนเอง ที่เกิดขึ้นจากตนพิสูจน์แล้วนั้นเองเป็นความรู้ที่ได้มาจากนามรูป ๆ นั้น และเป็นผู้สอนให้รู้
ถ้าความรู้อย่างนี้เกิดขึ้นในจิตเมื่อใด ก็จะได้ชื่อว่าเข้าถึงนามรูปปริจเฉทญาณ ก็นามรูปปริจเฉทญาณนี้เกิดขึ้นเมื่อใด ก็จะขับไล่ความเห็นผิดที่ทำให้รู้สึกว่านามรูปนั้นเป็นตัวเป็นตน หรือเป็นของตนที่เข้าไปฝังอยู่ในจิตใจนั้น ก็จะออกไปเมื่อนั้น ก็เมื่อความรู้สึกที่ผิดออกไปแล้ว ก็จะไม่เกิดขึ้นแทรกแซงในความรู้สึกในอารมณ์ของปัญญานั้นได้ เมื่อความรู้สึกที่ผิดเกิดขึ้นในอารมณ์ของปัญญานั้นไม่ได้แล้ว ปัญญานั้นก็เข้าถึงความบริสุทธิ์ที่เรียกว่า ทิฏฐิวิสุทธิ ที่กำลังพูดถึงกันอยู่นี้แหละ ฉะนั้นในทิฏฐิวิสุทธิอันนี้หรือขั้นนี้นั้น ก็หมายถึงว่าเป็นความบริสุทธิ์ของปัญญาที่ปราศจากความเห็นผิดหรือสำคัญผิด ที่ว่า รูปนามนั้นเป็นตัวเป็นตนนั่นเอง
ข้อสำคัญในสิ่งที่ควร จะทำความเข้าใจให้ถูกนั้นอีกประการหนึ่งคือคำว่า “สติสัมปชัญญะ” นั้น หมายความว่ากระไร และความรู้สึกอย่างไร และอยู่ที่ไหนจึงเรียกว่าสติสัมปชัญญะ และความรู้สึกอย่างไร จึงเรียกว่าไม่มีสติสัมปชัญญะ ถ้าท่านมีความเข้าใจตามลักษณะที่ว่านี้แล้ว ท่านก็สามารถที่จะยกจิตของท่านขึ้นสู่อารมณ์ของมัชฌิมาปฏิปทาที่ถูกต้องได้
จึงขอยุติการอธิบายในเรื่องของทิฏฐิวิสุทธิเพียงแค่นี้


แก้ไขล่าสุดโดย นัน555 เมื่อ 22 ต.ค. 2009, 22:14, แก้ไขแล้ว 6 ครั้ง.

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 ต.ค. 2009, 21:16 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 6
สมาชิก ระดับ 6
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ย. 2007, 13:40
โพสต์: 464

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว


http://th.wikisource.org/wiki/%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%84_%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%A1_%E0%B9%93_%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%8D%E0%B8%B2_%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B9%80%E0%B8%89%E0%B8%97%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88_%E0%B9%91%E0%B9%98_%E0%B8%97%E0%B8%B4%E0%B8%8E%E0%B8%90%E0%B8%B4%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8_%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88_%E0%B9%92%E0%B9%93%E0%B9%97_-_%E0%B9%92%E0%B9%94%E0%B9%90
ต้นฉบับ

วิสุทธิมรรค เล่ม ๓
ภาคปัญญา ปริเฉทที่ ๑๘
ทิฎฐิวิสุทธินิเทศ
หน้าที่ ๒๓๗ - ๒๔๐
จาก วิกิซอร์ซ
ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น

<<

(หน้าที่ 237)


[แก้ไข] ปริจเฉทที่ ๑๘ ทิฏฐิวิสุทธินิเทศ

แสดงบรรยายความเห็นบริสุทธิ์

………………..


วิสุทธิใดที่ท่านกล่าวไว้แล้วว่า ครั้นโยคาวจรทำการบ่มญาณ (ของตน) ด้วยการเล่าเรียนและสอบถามในธรรมทั้งหลาย ที่เป็นภูมิ (แห่งวิปัสสนาปัญญา) เหล่านี้ (โดยทางปริยัติ) แล้วควรทำวิสุทธิที่เป็นรากเหง้า ๒ ประการ คือ สีลวิสุทธิ (ความบริสุทธิ์ของศีล) และ จิตตวิสุทธิ (ความบริสุทธิ์ของจิต) ให้สมบูรณ์ (โดยทางปฏิบัติ) นั้น ศีล ๔ อย่างมีความสำรวมในพระปาติโมกข์เป็นต้น ซึ่ง (รักษา) บริสุทธิ์ดีแล้ว เรียกว่า สีลวิสุทธิ และศีล ๔ อย่างนั้น ได้กล่าวไว้พิสดารแล้วใน สีลนิเทศ สมาบัติ ๘ พร้อมทั้งอุปจารสมาธิ เรียกว่า จิตตวิสุทธิ แม้จิตตวิสุทธินั้นก็กล่าวไว้โดยพิสดารในอาการทุกอย่างแล้วเช่นกัน ใน สมาธินิเทศ ซึ่งท่านกล่าวไว้ด้วยคำว่า “จิตตะ (คือ จิตตํ ปญญญจ ภาวยํ - พึงทำสมาธิจิตและอริยปัญญาให้เกิด)” เป็นหลัก เพราะฉะนั้น พึงทราบ จิตตวิสุทธิ นั้น โดยนัยซึ่งกล่าวไว้พิสดารแล้วใน สมาธินิเทศ นั้นเช่นกัน

แต่ที่กล่าวไว้ว่า “วิสุทธิ ๕ เหล่านี้ คือ ทิฏฐิวิสุทธิ (ความเห็นบริสุทธิ์) ๑ กังขาวิตรณวิสุทธิ (ความบริสุทธิ์ด้วยข้ามพ้นความสงสัย) ๑ มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ (ความบริสุทธิ์ด้วยความรู้เห็นว่าเป็นทางปฏิบัติถูกถูกและทางปฏิบัติไม่ถูก) ๑ ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ (ความบริสุทธิ์ด้วยความรู้ความเห็นในทางปฏิบัติถูก) ๑ ญาณทัสสนวิสุทธิ (ความบริสุทธิ์ของความรู้ความเห็น) ๑ เป็นสรีระ (ร่างกาย)” นั้น

ณ บัดนี้ (พึงทราบว่า) ความเห็นนามและรูป ตามเป็นจริงเรียกว่า ทิฏฐิวิสุทธิ

-**ยังมีตาม link ข้างบน***

----------


:b27: ผู้โพสต์......เป็นตำราเล่มเดียวที่ 10ปีแล้ว ยังศึกษาไม่ถ้วนเลย


แก้ไขล่าสุดโดย นัน555 เมื่อ 22 ต.ค. 2009, 21:19, แก้ไขแล้ว 4 ครั้ง.

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 ต.ค. 2009, 21:43 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 6
สมาชิก ระดับ 6
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ย. 2007, 13:40
โพสต์: 464

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว


แล [2]กังขาวิตรณวิสุทธิ เท้า..ซ้าย เป็นไฉน?


พระพุทธานุญาตถั่วเขียว

ท่านพระกังขาเรวตะ ได้เห็นถั่วเขียวงอกขึ้นในกองอุจจาระ ณ ระหว่างทาง แล้วรังเกียจว่า ถั่วเขียวเป็นอกัปปิยะ แม้ต้มแล้วก็ยังงอกได้ จึงพร้อมด้วยบริษัทไม่ฉันถั่วเขียว แม้พวกภิกษุที่เชื่อฟังคำของท่านก็พลอยไม่ฉันถั่วเขียวไปด้วย ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มี พระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถั่วเขียวแม้ที่ต้ม แล้วก็ยังงอกได้ เราอนุญาตให้ฉันถั่วเขียวได้ตามสบาย

ด้วยความที่ท่านเป็นผู้มักสงสัยอยู่เป็นประจำ จนเป็นที่ทราบกันทั่วไปในหมู่พระภิกษุทั้งหลาย ดังนั้น คำว่า “กังขา” จึงถูกเรียกรวมกับชื่อเดิมของท่านว่า “กังขาเรวตะ” หมายถึง พระเรวตะผู้ชอบสงสัย


๐ ทรงสถาปนาพระเถระไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ

ครั้นเมื่อท่านได้อุปสมบทแล้ว บรรลุพระอรหัตแล้ว โดยมากท่านจะเข้าสมาบัติ ได้เป็นผู้มีชำนาญที่สั่งสมแล้วในฌานทั้งหลาย ทั้งกลางวันและกลางคืน พิจารณาอยู่ ซึ่ง
กังขาวิตรณวิสุทธิ ของตน
คือความบริสุทธิ์ด้วยหมดสงสัยในนามรูป
คือ กำหนดรู้ปัจจัยแห่งนามรูปได้ว่า
เพราะอะไรเกิดนามรูปจึงเกิด เพราะอะไรดับ นามรูปจึงดับ


เพราะเหตุที่ท่านมีความสงสัยเป็นปกติมานาน
ท่านจึงนั่งพิจารณาอริยมรรคที่ตนบรรลุแล้วนั้น
ให้หนักแน่นว่า เราละความสงสัยเหล่านี้ได้เด็ดขาด เพราะอาศัยมรรคธรรมนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ในสมัยนั้น ท่านพระกังขาเรวตะนั่งขัดสมาธิ ตั้งกายตรง
พิจารณากังขาวิตรณวิสุทธิของตนอยู่ในที่ไม่ไกลจากที่พระผู้มีพระภาคประทับ อยู่นัก พระผู้มีพระภาคได้ทรงเห็นท่านพระกังขาเรวตะ นั่งพิจารณากังขาวิตรณวิสุทธิของตนอยู่ จึงได้ทรงเปล่งอุทานขึ้นว่า

:b42: ความสงสัยอย่างหนึ่งอย่างใดในอัตภาพนี้ หรือในอัตภาพอื่น
ในความรู้ของตน หรือในความรู้ของผู้อื่น
บุคคลผู้เพ่งพินิจ มีความเพียร ประพฤติพรหมจรรย์อยู่
ย่อมละความสงสัยเหล่านั้นได้ทั้งหมด ฯ
:b42:

ที่มา
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=7595


แก้ไขล่าสุดโดย นัน555 เมื่อ 22 ต.ค. 2009, 21:46, แก้ไขแล้ว 2 ครั้ง.

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 ต.ค. 2009, 21:59 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 6
สมาชิก ระดับ 6
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ย. 2007, 13:40
โพสต์: 464

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว


ที่มา
http://topicstock.pantip.com/religious/topicstock/2007/06/Y5488192/Y5488192.html

--->>> พรรณนากังขาวิตรณวิสุทธิ

กังขาวิตรณวิสุทธินิทเทส
(พรรณนากังขาวิตรณวิสุทธิ)



วิสุทธินี้ หมายถึงความหมดจดเพราะข้ามพ้นความสงสัย ในอดีต อนาคต และปัจจุบัน โดยสืบเนื่องมาจากการพิจารณานามรูป ที่กล่าวแล้ว ในทิฏฐิวิสุทธินั่นเอง สามารถละวิจิกิจฉาความสงสัยเสียได้



วิจิกิจฉาในอดีต ๕


๑. ในอดีต เราได้มีไหมหนอ ?

๒. ในอดีต เรามิได้มีหรือหนอ ?

๓. ในอดีต เราได้เป็นอะไรหนอ ?

๔. ในอดีต เราได้เป็นอย่างไรหนอ ?

๕. ในอดีต เราเป็นอะไรแล้วได้เป็นอะไรหนอ ?




วิจิกิจฉาในอนาคต ๕


๑. ในอนาคต เราจักมีหรือหนอ ?

๒. ในอนาคต เราจักไม่เป็นหรือหนอ ?

๓. ในอนาคต เราจักเป็นอะไรหนอ ?

๔. ในอนาคต เราจักเป็นอย่างไรหนอ ?

๕ ในอนาคต เราเป็นอะไรแล้วจักเป็นอะไร ?




วิจิกิจฉาในปัจจุบัน ๖


๑. เรามีอะไรหนอ ?

๒. เราไม่มีหรือหนอ ?

๓. เราเป็นอะไรหนอ ?

๔. เราเป็นอย่างไรหนอ ?

๕. สัตว์นี้มาแต่ไหนหนอ ?

๖. เขาไปไหนหนอ ?






กรรม ๑๒


ในกังขาวิตรณวิสุทธินี้ ท่านแสดงกรรม ๑๒ ไว้ด้วยโดยแยกเป็นกรรมที่ให้ผลตามกาล ๔ ให้ผลตามแรงหนักเบา ๔ และกรรมซึ่งทำหน้าที่อีก ๔



กรรมที่ให้ผลตามกาล ๔


๑. ทิฏฐิธัมมเวทนียกรรม กรรมที่ให้ผลในปัจจุบัน

๒. อุปปัชชเวทนียกรรม กรรมที่ให้ผลในชาติหน้า ต่อจากชาติปัจจุบัน

๓. อปราปรเวทนียกรรม กรรมที่ให้ผลในชาติ ต่อ ๆ ไป ได้โอกาสเมื่อใดให้ผลเมื่อนั้น ซึ่งท่านเปรียบเหมือนสุนัขไล่เนื้อ ทันที่ไหนกัดที่นั้น

๔. อโหสิกรรม กรรมที่ไม่ผลิตผล คือไม่ให้ผลเพราะรอคอยอยู่นานเกินไป เหมือนเมล็ดพืชเก็บไว้นานเกินไปจนไม่อาจปลูกให้ขึ้นได้




กรรมที่ให้ผลตามแรงหนักเบา ๔


๑. ครุกรรม กรรมหนัก ฝ่ายกุศลหมายถึงมหัคคตกุศล คือ กรรมของผู้บำเพ็ญฌาน ฝ่ายอกุศลหมายถึงอนันตริยกรรม ๕ คือ ฆ่าบิดามารดา ฆ่าบิดา ฆ่าพระอรหันต์ ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนพระโลหิตห้อ ทำสังฆเภท คือ ทำลายสงฆ์ผู้สามัคคีกันให้แตกกัน

๒. พหุลกรรม หรือ อาจิณณกรรม หมายถึง กรรมที่กระทำจนเคยชิน เช่นบุคคลทำความดี หรือความชั่วเป็นอาจิณ ให้ผลเป็นที่สองรองลงมาจากประเภทที่หนึ่ง

๓. อาสนันกรรม กรรมที่ทำเมื่อจวนจะตายกรรมนี้แม้จะให้ผลเพลากว่ากรรม ๒ ประเภทแรก แต่ก็ให้ผลก่อน ท่านเปรียบเหมือนโคแก่ซึ่งอยู่ปากคอกเมื่อนายโคบาลเปิดประตูคอก ย่อมจะออกมาก่อน แต่เนื่องจากกำลังน้อย เมื่อเดินไปได้เพียงเล็กน้อยโคที่มีกำลังมากกว่าย่อมจะเดินออกหน้าไป

๔. กตัตตากรรม หรือ กตัตตวาปนกรรม หมายถึงกรรมสักแต่ว่าทำ คือ กรรมที่บุคคลทำโดยไม่มีเจตนากรรมนี้จะให้ได้ผลก็ต่อเมื่อกรรมประเภทอื่นให้ ผลหมดแล้ว และไม่มีอะไรจะให้อีกต่อไป




กรรมซึ่งทำหน้าที่ ๔


๑. ชนกกรรม กรรมที่ก่อให้เกิด หรือกรรมประเภทนำไปสู่ปฏิสนธิในภพใหม่

๒. อุปถัมภกรรม กรรมที่อุปถัมภ์ชนกกรรมให้ มีผลรุนแรงยิ่งขึ้น เช่น บุคคลเกิดมาลำบากยากจน เพราะผลแห่งกรรมชั่วในอดีต เมื่อเขาเกิดมาแล้วก็ทำกรรมชั่วมากขึ้น กรรมชั่วนั้นจะช่วยให้เขาประสบความลำบากมากขึ้น

๓. อุปปีฬกกรรม กรรมที่บีบคั้น ทำให้ชนกกรรมเพลากำลังลง เช่นบุคคลเกิดมาในตระกูลที่มีความมั่งคั่งร่ำรวยเพราะชนกกรรมที่เป็นกุศล แต่เขากระทำกรรมชั่วในปัจจุบัน เช่นประกอบอาชญากรรม เกียจคร้านในการตั้งเนื้อสร้างตัวกรรมชั่วนี้จะบีบคั้นผลแห่งกรรมดีในอดีต ให้เพลาลง

๔. อุปฆาตกรรม กรรมที่ตัดรอนมีอำนาจเด็ดขาดในการให้ผลตามหน้าที่ของตน ห้ามและกีดกันกรรมอื่นอย่างเด็ดขาดตามหน้าที่ของตน ห้ามและกีดกันกรรมอื่นอย่างเด็ดขาด เช่นอนันตริยกรรมฝ่ายอกุศลมีอำนาจห้ามมรรคผลของบุคคลผู้กระทำในชาตินั้น หรือกุศลกรรมที่สูงส่งเช่นอริยมรรค อริยผล ย่อมตัดรอนกรรมชั่วอย่างอื่นมิให้ผลอีกต่อไป ในเมื่อท่านผู้นั้นปรินิพพานแล้วโดยการดับขันธ์



กรรมทั้งหมดที่ระบุชื่อมานี้เป็นได้ทั้งฝ่ายกุศล และ อกุศล คือทั้งฝ่ายดีและฝ่ายชั่ว



ผู้บำเพ็ญเพียรพิจารณาถึงกรรมอยู่อย่างนี้ ย่อมข้าม ความสงสัย ในเรื่องกัมมวัฏ (ความหมุนเวียนเพราะกรรม) และวิปากวัฏ (ความหมุนเวียนเพราะผลแห่งกรรม) เสียได้ย่อมทราบชัดว่า



กรรมและวิบากเป็นไปอยู่ วิบากย่อม

เกิดแต่กรรม ภพใหม่มีขึ้น เพราะกรรม

โลกวนเวียนอยู่เยี่ยงนี้



ผู้บำเพ็ญเพียรพิจารณาอยู่อย่างนี้ ย่อมเห็นชัดว่าโลกทั้งโลกมีแต่เรื่องกรรมและผลของกรรม มีแต่ความเกี่ยวเนื่องกันในเรื่องกรรมและผลของกรรม


ไม่มีสัตว์หรือบุคคลเป็นผู้ทำกรรม หรือเสวยผลของกรรม มีแต่เหตุกับผล เธอสามารถล่วงพ้นความสงสัย ๑๖ ประการเสียได้ มีทรรศนะอันถูกต้องสมที่ท่านกล่าวไว้ว่า


กมฺมสฺส การโถ นตฺถิ วิปากสฺส จ เวทโก
สุทฺธธมฺมา ปวตฺตนฺติ เอเวตํ สมฺมทสฺสนํ



ผู้ กระทำกรรมไม่มี ผู้เสวยผลแห่งกรรมก็ไม่มี ธรรมล้วน ๆ เป็นไปอยู่ นี่คือทรรรศนะที่ถูกต้อง เรื่องนี้ หมายความว่าให้ถอนสัตตสัญญาออกเสีย ให้เห็นแต่ความสัมพันธ์ระหว่างเหตุผลเท่านั้น เป็นทรรศนะที่บริสุทธิ์ล้วน ๆ เป็นไปอยู่



บุคคลผู้มีปัญญาเห็นแจ้งประกอบด้วยญาณ คือ กังขาวิตรณวิสุทธินี้ ย่อมเป็นผู้ได้ความแช่มชื่น ได้ที่พึ่งทางพระพุทธศาสนา มีคติแน่นอน (นิยตคติโก)
ชื่อว่า โสดาบันน้อย ๆ (จูฬโวจสปนฺโน)



เพราะฉะนั้นผู้ ต้องการญาณ เครื่องข้ามความสงสัย (กังขาวิตรณะ) พึ่งเป็นผู้มีสติทุกเมื่อ พึงกำหนดปัจจัยแห่งนามรูปโดยอาการทุกอย่างเถิด


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 พ.ย. 2009, 10:42 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 ม.ค. 2009, 20:45
โพสต์: 1094

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


อนุโมทนาครับ

:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 10 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 17 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร