วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 03:31  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=2



กลับไปยังกระทู้  [ 41 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 พ.ค. 2009, 00:23 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


เมื่อธรรมบรรยายก่อให้เกิด ปีติ วิริยะ หรือธัมมวิจยะแล้ว
ผู้ปฏิบัติควรใช้ประโยชน์จากสภาวะเช่นนี้
ในการพยายามปรับจิตของตนให้กำหนดสิ่งต่าง ๆ
ให้ได้แม่นยำ และชัดเจนมากขึ้น
จนกระทั่งสามารถระลึกรู้อารมณ์ต่าง ๆ ได้อย่างแจ่มแจ้ง


ในบางขณะ โยคีอาจมีประสบการณ์แปลก ๆ
หรือด้วยเหตุผลบางอย่าง ผู้ปฏิบัติอาจพบว่า
ตนเองกำลังมีจิตใจที่ชื่นบาน มีปีติ
และความสุขอย่างท่วมท้นพลุ่งพล่าน

ในระหว่างการปฏิบัติ
จะเห็นโยคีเหล่านี้มีใบหน้าที่เบิกบาน มีอาการเดินตัวลอย
เนื่องจากจิตมีพลังมากเกินไป
สติจึงพลาดพลั้ง ไม่สามารถอยู่กับปัจจุบันขณะได้
และแม้ผู้ปฏิบัติเหล่านี้จะกำหนดอารมณ์กรรมฐานได้บ้าง
ก็จะเป็นการกำหนดแบบเฉียด ๆ ผ่านเลยไป ไม่ตรงปัจจุบัน


หากผู้ปฏิบัติพบว่าตัวเองมีจิตใจฟูฟ่องเกินไป
ก็อาจปรับให้สมดุลได้โดย
โพชฌงค์ ปัสสัทธิ สมาธิ และอุเบกขา
โดยอาจเริ่มจากการยอมรับว่า
จิตตนเองมีพลังมากเกินไปจริง ๆ แล้วระลึกว่า


“ ไม่จำเป็นต้องรีบร้อน พระธรรมจะปรากฏให้เห็นเอง
เราควรที่จะนั่งดูอย่างสงบเยือกเย็น
และรับรู้อารมณ์ต่าง ๆ ด้วยสติอันสุขุมอ่อนโยน ”


ความคิดเช่นนี้จะช่วยให้ความสงบเกิดขึ้น
และเมื่อพลังจิตส่วนเกินอ่อนตัวลง
ผู้ปฏิบัติจะสามารถเริ่มตั้งสมาธิได้อีก

วิธีการนี้เป็นการทำให้การปฏิบัติแคบเข้ามา
แทนที่จะพยายามกำหนดหลาย ๆ สิ่ง
ก็ให้ลดสิ่งที่ใช้เป็นอารมณ์ให้น้อยลง
และตั้งใจกำหนดอย่างเต็มที่มากขึ้น

จิตจะเริ่มช้าลง และกลับสู่สภาวะปรกติในไม่ช้า

ประการสุดท้าย
ผู้ปฏิบัติอาจเลือกใช้อุเบกขาตะล่อมจิตด้วยความคิดที่ว่า

“ โยคีไม่ควรเลือกที่รักมักที่ชัง ไม่จำเป็นต้องรีบร้อน
สิ่งที่สำคัญที่สุดเพียงประการเดียวก็คือ
ต้องเฝ้าดูทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น ไม่ว่าดีหรือเลว ”


(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 พ.ค. 2009, 00:27 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


หากผู้ปฏิบัติสามารถรักษาความสมดุลในจิตเอาไว้ได้
ลดความตื่นเต้น และทำจิตที่หดหู่ให้ผ่องใส
ก็แน่ใจได้ว่าปัญญาญาณจะเกิดขึ้นในไม่ช้า


ความจริง ผู้ที่จะทำหน้าที่ปรับความสมดุลในการปฏิบัติได้ดีที่สุดคือ
วิปัสสนาจารย์ที่มีความสามารถ
หากวิปัสสนาจารย์ติดตามการปฏิบัติของลูกศิษย์อย่างต่อเนื่อง

โดยการสอบอารมณ์
วิปัสสนาจารย์จะสามารถเห็นและแก้ไขปัญหา
ความไม่สมดุลในการปฏิบัติต่าง ๆ เหล่านี้ให้แก่โยคีได้


อาตมาอยากเตือนมิให้โยคีท้อถอย
เมื่อคิดว่าตนประสบกับปัญหาในการปฏิบัติ

โยคีเปรียบเหมือนเด็กทารก
ซึ่งต้องผ่านการพัฒนาหลายขั้นตอน
ในระหว่างขั้นตอนเหล่านี้
ทารกอาจต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางจิตใจ
และร่างกายอย่างมากมาย


บางครั้งอาจรู้สึกหงุดหงิดง่าย ๆ เอาใจไม่ถูก
ทารกอาจร้องไห้โยเย โดยไม่เลือกเวลา
มารดาที่ขาดประสบการณ์ อาจวิตกมากในช่วงดังกล่าว

ข้อเท็จจริงก็คือ หากทารกไม่เผชิญกับความทุกข์เหล่านี้
ทารกก็ไม่อาจเติบโตเป็นผู้ใหญ่ได้
ความคับข้องใจของทารกส่วนใหญ่จะเป็นสัญญาณของการพัฒนา


ดังนั้นหากผู้ปฏิบัติคิดว่า
การปฏิบัติของตนกำลังจะล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง
จงอย่าวิตก ผู้ปฏิบัติอาจเป็นเหมือนเด็กทารก
ซึ่งกำลังพัฒนาเป็นขั้น ๆ ก็ได้


(มีต่อ : ๗. พยายามอย่างกล้าหาญ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 พ.ค. 2009, 20:28 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


๗. พยายามอย่างกล้าหาญ

วิธีที่ ๗ ในการสร้างเสริมพละทั้ง ๕

คือการปฏิบัติธรรมด้วยความกล้าหาญ
ถึงขนาดที่ผู้ปฏิบัติพร้อมที่จะสละร่างกายและชีวิต
เพื่อการปฏิบัติธรรมอย่างต่อเนื่องได้


หมายถึง การให้ความสำคัญแก่ร่างกายน้อยลงกว่าปรกติ
แทนที่จะเสียเวลาในการตกแต่งร่างกาย
หรือดูและความสะดวกสบายของตนเอง
ผู้ปฏิบัติจะทุ่มเทพลังให้มากที่สุดให้แก่การเจริญกรรมฐาน


ถึงแม้ว่าร่างกายเราอาจจะยังแข็งแรงในขณะนี้
แต่ร่างกายจะเป็นสิ่งไร้ประโยชน์อย่างสิ้นเชิง
เมื่อเราตายเราจะใช้ประโยชน์อะไรได้จากซากศพ
ร่างกายเปรียบเหมือนภาชนะที่บอบบาง
มันจะยังใช้งานได้ตราบเท่าที่ยังไม่แตกสลาย
ทันทีที่มันหมดลมล้มลง มันจะไม่มีประโยชน์กับเราอีกต่อไป

เมื่อเรายังมีชีวิต และมีสุขภาพดีพอควร
นับว่าเรายังโชคดีที่มีโอกาสที่จะปฏิบัติธรรมได้
เราควรที่จะเร่งดึงเอาสาระอันประเสริฐออกมาจากร่างกายของเรา
ก่อนที่จะสายเกินไป ก่อนที่ร่างกายเราจะกลายเป็นซากศพ
แน่นอนว่าเราจะไม่จงใจทำให้เราอายุสั้นลง
แต่จะปฏิบัติอย่างสมเหตุสมผล
โดยรักษาสุขภาพเพียงเพื่อให้มีโอกาสปฏิบัติธรรมต่อไปได้เท่านั้น

อาจมีผู้ถามว่า เราจะเอาสาระอะไรจากร่างกายนี้

ครั้งหนึ่งมีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์
เพื่อประเมินราคาของธาตุที่ประกอบกันเป็นร่างกายมนุษย์
เช่น ธาตุเหล็ก แคลเซียม เป็นต้น

อาตมาคิดว่า ร่างกายของคนเรา
คงมีราคาไม่ถึงหนึ่งดอลลาร์สหรัฐฯ
ค่าใช้จ่ายในการแยกส่วนประกอบเหล่านี้
คงสูงกว่าราคาของร่างกายทั้งหมดหลายเท่า

หากปราศจากวิธีแยกสารดังกล่าวแล้ว
ซากศพก็เป็นสิ่งไร้ค่า
นอกเสียจากเอาไปทำปุ๋ย
ยกเว้นกรณีที่เอาอวัยวะของผู้ตายไปผ่าตัดให้กับผู้ป่วยอีกผู้หนึ่ง
ในกรณีนี้ ก็เป็นเพียงการยืดระยะเวลากลายเป็นซากศพเท่านั้น


(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 พ.ค. 2009, 20:33 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


ร่างกายอาจเปรียบได้กับกองขยะ
น่าขยะแขยงเต็มไปด้วยสิ่งสกปรกโสโครก
คนทั่ว ๆ ไป ไม่เห็นประโยชน์อะไรจากกองขยะ

แต่คนที่ฉลาดก็อาจนำเอาสิ่งของบางอย่างกลับมาใช้ประโยชน์ได้

โดยเอาของสกปรกบางชิ้น
นำมาล้างแล้วนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีก
มีคนจำนวนมากร่ำรวยจากการทำธุรกิจนำของเก่ามาใช้ใหม่เช่นนี้

จากกองขยะที่เรียกว่าร่างกายของเรานี้
เราก็อาจสกัดเอาทองคำออกมาได้ด้วย การปฏิบัติธรรม


ทองคำแท่งหนึ่งก็คือ ศีล
ความบริสุทธิ์ทางความประพฤติ
เป็นความสามารถในการฝึกฝน
และพัฒนาพฤติกรรมของมนุษย์ให้ถึงความเป็นอารยชน


เมื่อสกัดคุณลักษณะที่ดีงามต่อไปอีก
ก็จะได้ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา
เหล่านี้คืออัญมณีที่หาค่ามิได้
ที่เราสามารถสกัดจากร่างกายได้ด้วย การเจริญกรรมฐาน


เมื่อพละเจริญเต็มที่แล้ว
จิตจะสามารถเอาชนะความโลภ ความโกรธและความหลงได้

เมื่อจิตปราศจากกิเลสเหล่านี้
ก็จะพบกับความสันติสุขที่มิอาจซื้อหาได้
บุคคลผู้นั้นจะมีแต่ความสงบเยือกเย็นและอ่อนหวาน
จนทำให้ผู้พบเห็นมีจิตใจสูงขึ้นไปด้วย

ความเป็นอิสระภายในนี้
ไม่ขึ้นกับสถานการณ์หรือเงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้น
และจะเกิดได้จากการปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังเท่านั้น


(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 พ.ค. 2009, 20:36 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


ใคร ๆ ก็รู้ว่าความทุกข์ใจไม่อาจถูกทำลายได้
ด้วยความปรารถนาจะพ้นทุกข์แต่เพียงอย่างเดียว


ใครบ้างไม่เคยต่อสู้กับความต้องการที่จะทำอะไรบางอย่าง
ซึ่งตนเองรู้ว่าหากทำไปแล้วจะสะเทือนใจผู้อื่น

มีใครบ้างที่ไม่เคยหงุดหงิดหัวเสีย
ทั้งที่ใจจริงอยากจะรู้สึกพอใจและเป็นสุขมากกว่า

ใครบ้างที่ไม่เคยรู้จักว่าความสับสนเป็นความทรมานเพียงใด

เราสามารถกำจัดความเจ็บปวดและความไม่น่าพอใจเหล่านี้ได้
แม้จะไม่ง่ายนักสำหรับคนส่วนใหญ่

การฝึกจิตนั้นอาศัยความทุ่มเทมากพอ ๆ กับรางวัลที่จะได้รับ
แต่เราก็ไม่ควรท้อถอย


เป้าหมายและผลของวิปัสสนา
ก็คือความหลุดพ้นทุกประเภท ทุกรูปแบบ และทุกระดับ
จากความทุกข์ทางกายและจิตใจ


หากปรารถนาความหลุดพ้นเช่นนี้
โยคีก็ควรจะยินดีกับโอกาสที่จะได้ปฏิบัติธรรม

เวลาที่เหมาะสมที่สุดก็คือเดี๋ยวนี้
เมื่อร่างกายยังแข็งแรง
ก็นับเป็นโชคที่เรายังมีพละกำลังในการปฏิบัติ
เมื่ออายุมากขึ้น กำลังกายก็จะถดถอยลง

อย่างไรก็ตามบางครั้งอายุก็ช่วยให้มีปัญญามากขึ้น
เช่นอาจช่วยให้เข้าใจความแปรปรวนของชีวิตได้ดีขึ้น


(มีต่อ : ความจำเป็นเร่งด่วนทำให้ต้องปฏิบัติธรรม)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 พ.ค. 2009, 16:08 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


“ ความจำเป็นเร่งด่วนทำให้ต้องปฏิบัติธรรม ”

ในสมัยพุทธกาล
มีพระภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งมีชื่อว่า รัฐบาล มาจากครอบครัวที่ร่ำรวย
เนื่องจากยังหนุ่มแน่นและแข็งแรง
จึงได้ใช้ชีวิตหาความสำราญมาเกือบทุกประเภทก่อนบวช

แม้จะร่ำรวย มีเพื่อนฝูง ญาติพี่น้องมาก
และสามารถใช้ทรัพย์สมบัติแสวงหาความสุข
ในรูปแบบต่าง ๆ จนนับไม่ถ้วน
แต่ในที่สุดท่านก็สละสิ่งเหล่านี้ออกแสวงหาความหลุดพ้น

วันหนึ่ง เมื่อ พระเจ้าโกรัพยะราช เสด็จประพาสป่า
ก็มาพบพระภิกษุรูปนี้เข้าโดยบังเอิญ
พระราชาจึงตรัสถามว่า

“ ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ท่านยังหนุ่มและแข็งแรงกำลังอยู่ในวัยฉกรรจ์
ท่านทิ้งครอบครัวที่ร่ำรวย และโอกาสแสวงหาความสุขต่างๆ
ละญาติพี่น้อง มานุ่มห่มผ้ากาสาวพัสตร์
อยู่อย่างโดดเดี่ยวเพื่ออะไร ไม่รู้สึกเหงาบ้างหรือ ไม่เบื่อบ้างหรือ ”


พระรัฐบาลจึงตอบว่า

“ มหาบพิตร เมื่ออาตมาได้สดับพระธรรมเทศนาของพระพุทธองค์
ก็ทำให้อาตมารู้สึกถึงความจำเป็นเร่งด่วนยิ่งนักที่จะต้องปฏิบัติธรรม
อาตมาประสงค์จะแสวงหาประโยชน์สูงสุดจากร่างกายนี้ก่อนที่จะตายไป
ดังนั้น อาตมาจึงละทิ้งชีวิตทางโลก และเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์นี้ ”


หากผู้ปฏิบัติยังไม่ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องเร่งรีบปฏิบัติ
โดยไม่ผูกพันกับร่างกายหรือชีวิต
บางทีพระพุทธพจน์ต่อไปนี้อาจช่วยได้


พระพุทธองค์ตรัสว่า

เราควรที่จะระลึกว่า โลกนี้มิได้ประกอบด้วยอะไรเลย
นอกจากรูปกับนาม ที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป
รูปกับนามมิได้หยุดนิ่งอยู่กับที่แม้ขณะเดียว
แต่แปรปรวนเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
เมื่อเรามาอาศัยร่างกายและจิตใจนี้
เราก็ไม่อาจหยุดยั้งความชราได้

เมื่อเรายังเด็ก เราก็ยินดีที่จะเติบโต
แต่เมื่อเราแก่ตัวลง
เราก็พบว่าเราตกอยู่ในวังวนของความเสื่อมอย่างไม่มีวันกลับคืน

เราพอใจที่จะมีสุขภาพดี
แต่ก็ไม่มีใครรับประกันได้ว่าเราจะสมปรารถนา
เราถูกรบกวนด้วยความเจ็บป่วยไม่สบายอยู่เนื่อง ๆ ตลอดชั่วชีวิต
ความเป็นอมตะไม่มี ทุกคนต้องตาย
ไม่มีใครอยากตาย แต่ก็ไม่มีใครเลี่ยงได้

คำถามอยู่ที่ช้าหรือเร็วเท่านั้น


(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 พ.ค. 2009, 16:13 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


ไม่มีใครเลยในโลก
ที่จะรับประกันได้ว่าความปรารถนาของเราที่จะเจริญเติบโต
มีสุขภาพดี และไม่ตาย จะเป็นจริงได้


แต่คนก็ปฏิเสธที่จะยอมรับความจริงข้อนี้
คนแก่ก็พยายามแต่งตัวให้ดูหนุ่มสาว
นักวิทยาศาสตร์คิดหาวิธีรักษา และวิธีการต่าง ๆ ที่จะชะลอความชรา
และพยายามแม้แต่จะให้คนตายฟื้นขึ้นมา

เมื่อเราป่วยเราก็ทานยาเพื่อให้รู้สึกดีขึ้น
แต่เราก็จะต้องป่วยอีกที่สุดแล้วเราไม่สามารถเอาชนะธรรมชาติได้
เราไม่อาจหลีกเลี่ยงความแก่และความตายได้

นี่คือจุดอ่อนของชีวิต

ชีวิตนี้ไร้ความมั่นคง
ไม่มีที่ปลอดภัยให้หลบซ่อนจากความแก่ ความเจ็บ และความตาย
ไม่ว่าสิ่งมีชีวิตใด ๆ ทั้งสัตว์ มนุษย์ และที่สำคัญที่สุดคือตัวผู้ปฏิบัติเอง

หากโยคีปฏิบัติอย่างลึกซึ้ง
ข้อเท็จจริงเหล่านี้จะไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่
หากผู้ปฏิบัติมีญาณเห็นปรากฏการณ์ทางกาย ทางจิต
เกิดขึ้นและดับไปทุก ๆ ขณะ


ผู้ปฏิบัติจะสามารถรู้ได้เองว่าไม่มีที่หลบภัยใด ๆ ไม่มีสิ่งใดที่มั่นคง
แต่หากปัญญาญาณยังไม่ถึงขั้นนี้
การคิดคำนึงถึงความเปราะบางไร้สาระของชีวิต
ก็อาจช่วยกระตุ้นให้เรารู้สึกถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องปฏิบัติธรรมขึ้นมาได้
การเจริญวิปัสสนากรรมฐานจะช่วยให้รอดพ้นจากสิ่งน่ากลัวเหล่านี้ได้

สิ่งมีชีวิตยังมีจุดอ่อนอีกอย่างหนึ่งคือ การไร้สมบัติที่แท้จริง

การกล่าวดังนี้อาจฟังดูแปลก

เมื่อเราเกิดมา เราก็เริ่มสะสมความรู้ในทันที
เราได้รับ ลาภ ยศ ตามควรแก่ฐานะ
ส่วนใหญ่ก็ทำงานนำเงินเดือนที่ได้มาซื้อสิ่งต่าง ๆ
เราเรียกสิ่งเหล่านี้ว่าทรัพย์สมบัติ
และในทางหนึ่งมันก็เป็นทรัพย์สมบัติจริง ๆ

แต่หากทรัพย์สมบัตินี้เป็นของเราจริง ๆ
เราจะต้องไม่มีวันพรากจากมัน
แต่เมื่อมันแตกหัก หรือสูญหาย หรือถูกขโมยไป
จะกล่าวว่าเรายังเป็นเจ้าของมันอย่างแท้จริงได้อยู่หรือ
เมื่อเราตายไม่มีอะไรเลยที่เราเอาไปด้วยได้
ทุกอย่างได้มา สะสมแล้วก็ทิ้งไว้เบื้องหลัง
จึงอาจกล่าวได้ว่า ชีวิตไร้สมบัติที่แท้จริง

สมบัติของเราทุกชิ้น ต้องทิ้งไว้เบื้องหลังทันทีที่เราตาย
ทั้งนี้สมบัติอาจแบ่งออกเป็น ๓ ประเภท คือ


๑. อสังหาริมทรัพย์

เช่น อาคาร ที่ดิน ฯลฯ
โดยปรกติสิ่งเหล่านี้เป็นของเรา แต่ก็ต้องทิ้งไว้เมื่อเสียชีวิต

๒. สังหาริมทรัพย์

เช่น เก้าอี้ แปรงสีฟัน เสื้อผ้า
และอื่นๆ ที่เรานำติดตัวไปเวลาเดินทางไปในที่ต่าง ๆ บนโลกในชั่วชีวิตหนึ่ง

๓. ความรู้ ศิลปะ และวิทยาการ ความชำนาญ

ที่เราใช้เลี้ยงชีวิตของเราและคนอื่น ๆ
ตราบเท่าที่เรายังมีร่างกายที่ทำงานเป็นปรกติ
วิทยสมบัตินี้เป็นสิ่งสำคัญ

แต่ก็ไม่มีหลักประกันว่า
เราจะไม่สูญเสียสมบัตินี้เช่นเดียวกัน
เราอาจลืม หรือถูกห้ามมิให้ใช้ความรู้นั้น
โดยรัฐบาลหรือโดยความโชคร้ายอื่น ๆ

เช่น หากศัลยแพทย์ต้องสูญเสียแขน
หรือประสบกับสิ่งที่ทำลายชีวิตอันเป็นปรกติสุข
ศัลยแพทย์ผู้นั้นอาจได้รับความสะเทือนใจ
จนไม่สามารถประกอบอาชีพได้

ไม่มีสมบัติใดเลยที่จะสร้างความมั่นคงให้แก่ชีวิตในโลกนี้ได้
อย่าว่าแต่โลกหน้า หากเราสามารถมองเห็นได้ว่า
เราไม่มีอะไรเลย และชีวิตนี้เป็นสิ่งชั่วคราวยิ่งนัก
เราก็จะมีความสงบมากขึ้น
เมื่อพบกับสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ทั้งหลายข้างต้น


(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 พ.ค. 2009, 16:17 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


เอกสมบัติที่แท้จริงของมนุษย์

อย่างไรก็ตาม มีสมบัติบางอย่างที่ติดตามเราไปหลังความตายได้
สิ่งนี้ก็คือ กรรม หรือผลของการกระทำของเราเอง
กรรมดีและกรรมชั่วจะติดตามเราไป
และเราก็จะไม่อาจหลีกหนีมันได้ด้วย


ความเชื่อว่ากรรมเป็นเอกสมบัติที่แท้จริง
ก่อให้เกิดความปรารถนาอย่างแรงกล้า
ที่จะปฏิบัติธรรมอย่างบากบั่น และถี่ถ้วน


ความเข้าใจว่า กรรมดี เป็นการลงทุนให้เกิดความสุขในอนาคต
กรรมชั่วจะตามกลับมาสนองผู้กระทำนั้น
จะทำให้เรากระทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยการระลึกถึงความดี
มีความเผื่อแผ่ ใจกว้าง และเมตตา

เราจะพยายามบริจาคเงินให้แก่โรงพยาบาล
และผู้ประสบภัยต่าง ๆ เราจะช่วยเหลือสมาชิกในครอบครัว
ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส เพื่อนฝูง
และคนอื่น ๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือ

เราอาจจะปรารถนาที่จะสร้างสังคมให้ดีขึ้น
โดยการระวังรักษา กิริยา วาจา และการกระทำต่าง ๆ ของตัวเราเอง
เราจะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่สงบสุขเมื่อเราพยายามที่จะปฏิบัติธรรม
และเอาชนะกิเลสที่เกิดขึ้นและหมักหมมอยู่ในจิตใจ

การกระทำดังกล่าวจะนำพาให้เรามีปัญญาญาณที่สูงขึ้น
จนถึงเป้าหมายสูงสุด


ผลของกุศลกรรมจาก ทาน ศีล และภาวนา
โดยการพัฒนาจิตหรือเจริญกรรมฐาน
จะติดตามเราไปในภพหน้า ราวกับเงาตามตัว
ฉะนั้น จงอย่าได้หยุดยั้งในการสร้างกุศลกรรมเหล่านี้


เราทุกคนล้วนเป็นทาสของตัณหา
แม้จะเป็นเรื่องน่าละอายแต่ก็เป็นเรื่องจริง
ตัณหานั้นไม่มีที่สิ้นสุด

ทันทีที่เราได้รับอะไรบางอย่าง
เราจะพบว่ามันไม่ดีอย่างที่คาดหวังไว้
และเราก็จะพยายามหาอย่างอื่นต่อไป
นี้คือธรรมชาติของชีวิต

คล้ายกับการพยายามตักน้ำด้วยตะข่ายจับแมลง
ชีวิตไม่มีวันเต็ม ด้วยการตามใจตนเอง
หรือไล่ตะครุบสิ่งต่าง ๆ มาเป็นของตน
ตัณหาไม่อาจสนองตัณหาได้

หากเราเข้าใจความจริงข้อนี้
เราก็จะมุ่งแสวงหาความพอใจในลักษณะเช่นนี้

ดังนั้น พระพุทธองค์ จึงตรัสไว้ว่า

ความสันโดษเป็นทรัพย์ที่ยิ่งใหญ่

(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 พ.ค. 2009, 16:20 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


มีเรื่องเกี่ยวกับชายคนหนึ่ง มีอาชีพสานตะกร้าขาย
เขาเป็นคนง่าย ๆ มีความสุขอยู่กับการสานตะกร้า
เขาจะผิวปาก ร้องเพลง และใช้เวลาอย่างมีความสุข

ในเวลากลางคืน เขาก็จะนอนในกระท่อมเล็ก ๆ
และหลับอย่างมีความสุข

วันหนึ่ง มีเศรษฐีผ่านมา
และเห็นชายสานตะกร้าที่ยากจนผู้นี้ แล้วเกิดความสงสาร
จึงให้เงินแก่ชายคนนี้ ๑๐๐๐ เหรียญ

“ โปรดรับเงินไว้ ” เขากล่าว “ และนำไปหาความสุข ”

ชายสานตะกร้ารับเงินมาด้วยความขอบคุณ
เนื่องจากเขาไม่เคยมีเงินถึง ๑๐๐๐ เหรียญมาก่อนในชีวิต
เขานำมันกลับไปที่กระท่อมของตน
และเริ่มกังวลว่าจะเก็บไว้ที่ไหนดี
เขารู้สึกว่ากระท่อมไม่ปลอดภัยพอ
เขาจึงนอนไม่หลับทั้งคืน ด้วยความวิตกว่า
โจรหรือแม้แต่หนูอาจมาขโมยหรือกัดแทะเงินก้อนนี้

วันรุ่งขึ้น เขาก็เอาเงิน ๑๐๐๐ เหรียญ ไปทำงานด้วย
แต่เขาก็ไม่อาจร้องเพลงหรือผิวปากได้
เพราะมัวแต่วิตกกังวลเรื่องเงินนั้น
อีกคืนหนึ่งเขาก็ไม่อาจหลับตาลงได้

ในวันรุ่งขึ้น เขาจึงนำเงินไปคืนเศรษฐีผู้นั้น

โดยกล่าวว่า “ เอาความสุขของผมคืนมา ”

ผู้ปฏิบัติอาจคิดว่า

พระพุทธศาสนาไม่ส่งเสริมให้คนแสวงหาความรู้ หรือเกียรติยศ
หรือทำงานหนักเพื่อหาเงินมาสนับสนุนครอบครัวตนเอง และเพื่อนฝูง
ตลอดจนบริจาคให้แก่กิจกรรม และสถาบันที่ทำคุณประโยชน์

มิใช่เลย ศาสนาพุทธสนับสนุนให้คนใช้ประโยชน์จากชีวิต
ความรู้และสติปัญญาอย่างเต็มที่
ตราบเท่าที่เขาแสวงหาสิ่งเหล่านี้มาอย่างถูกกฎหมาย และซื่อสัตย์


ประเด็นก็คือ ให้พอใจในสิ่งที่ตนมี อย่าเป็นทาสของตัณหา
ให้หมั่นคำนึงถึงจุดอ่อนของชีวิต
เพื่อที่เราจะได้สร้างคุณประโยชน์จากร่างกายและชีวิต
ก่อนที่เราจะล้มป่วย หรือแก่เกินไปที่จะปฏิบัติ
และทิ้งร่างอันเป็นซากศพที่ไร้ค่านี้ไป


(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 31 พ.ค. 2009, 20:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


๘. อดทนและบากบั่น

หากเราปฏิบัติอย่างอาจหาญ
ไม่คำนึงถึงร่างกายหรือชีวิต
เราก็จะสามารถพัฒนาพลังที่จะผลักดันเรา
ขึ้นสู่การปฏิบัติขั้นสูงเพื่อความหลุดพ้น


ทัศนคติที่กล้าหาญเช่นนี้
นอกจากจะเป็นปัจจัยที่สนับสนุนที่ ๗
ของการเจริญพละดังกล่าวแล้ว

ยังก่อให้เกิดปัจจัยที่ ๘
ซึ่งหมายถึง ความอดทนและบากบั่น อีกปัจจัยหนึ่ง
โดยเฉพาะเวลาต้องสู้กับความเจ็บปวดในร่างกาย


โยคีทุกคนเคยประสบกับทุกขเวทนาในการนั่งวิปัสสนามาแล้ว
จากการที่จิตต้องเป็นทุกข์ เพราะความเจ็บปวดเหล่านี้
และการที่จิตดิ้นรนจากการถูกควบคุมในระหว่างการปฏิบัติ

การจะนั่งให้ได้สักหนึ่งชั่วโมง
ต้องอาศัยความพยายามอย่างสูง


เบื้องต้นเราจะต้องพยายามรักษาใจ
ให้อยู่กับเป้าหมายหลักในการกำหนดให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
การยับยั้งและควบคุมนี้อาจทำให้จิตถูกบีบคั้นได้มาก
เนื่องจากจิตคุ้นเคยกับการโลดแล่นไปในที่ต่าง ๆ
การพยายามรักษาสมาธิ ทำให้เกิดความเครียด
อันเกิดจากการดิ้นรนของจิตนี้ เป็นความทุกข์อีกประเภทหนึ่ง

เมื่อจิตดิ้นรนมากเข้า ร่างกายก็จะเริ่มมีอาการตามไปด้วย
ความเครียดจะเกิดขึ้น ความทุกข์จากการดิ้นรนของจิต
รวมกับเวทนาทางกายก็นับว่าเป็นงานที่หนักเอาการอยู่
จิตใจที่บีบคั้นและร่างกายที่เคร่งตึง
อาจทำให้ผู้ปฏิบัติไม่สามารถเฝ้าดูความเจ็บปวดตรง ๆ ได้
จิตใจจะเริ่มหวั่นไหวด้วยความรู้สึกผลักไสและความโกรธ

คราวนี้ความทุกข์กลายเป็นสามเส้าคือ
จิตที่ดิ้นรนในตอนแรก ความเจ็บปวดทางกาย
และความทุกข์ใจที่เกิดจากทุกข์ทางกาย


นี่เป็นโอกาสที่จะนำหลักธรรมข้อที่ ๘ ในการพัฒนาพละมาใช้
คือความอดทนและบากบั่น


ให้โยคีพยายามจับตาดูความเจ็บปวดโดยตรง
หากผู้ปฏิบัติไม่พร้อมที่จะเผชิญหน้ากับความเจ็บปวดอยู่

“ โอฉันเกลียดความปวดจริง ๆ
อยากให้สบายเหมือนเมื่อสัก ๕ นาทีที่ผ่านมาจัง ”


เมื่อเผชิญหน้ากับความโกรธและความโลภ
หากปราศจากความอดทน
จิตก็จะสับสนและตกเป็นเหยื่อของโมหะ
ไม่สามารถกำหนดอะไรได้ชัดเจน
ไม่อาจมองเห็นลักษณะของความปวดที่แท้จริงได้


(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 31 พ.ค. 2009, 20:26 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


ในกรณีเช่นนี้ ผู้ปฏิบัติอาจคิดว่าเวทนาเป็นเสี้ยนหนาม
เป็นอุปสรรคของการปฏิบัติ
ผู้ปฏิบัติอาจจะอยากขยับตัวเพื่อ “ ให้สมาธิดีขึ้น ”


แต่หากขยับตัวจนเป็นนิสัย การปฏิบัติก็จะไม่ก้าวหน้า
ความสงบและสมาธิของจิตมีพื้นฐานมาจากกายที่สงบนิ่ง


อันที่จริง การเคลื่อนไหวอยู่เสมอเป็นวิธีที่ดี
ในการปิดบังลักษณะที่แท้จริงของความเจ็บปวด
ความปวดอาจปรากฏอยู่ตรงหน้าผู้ปฏิบัติอย่างเด่นชัดที่สุด
ในประสบการณ์ทั้งหลาย


แต่ผู้ปฏิบัติกลับเคลื่อนไหวเพื่อจะได้ไม่ต้องมองเห็นความปวดนั้น
ผู้ปฏิบัติจะเสียโอกาสสำคัญในการเข้าใจว่า
จริง ๆ แล้วความเจ็บปวดคืออะไร


ความจริง เราก็อยู่กับความเจ็บปวดมาตั้งแต่เกิด
มันอยู่ใกล้ชิดกับชีวิตของเรา แล้วจะวิ่งหนีมันไปทำไม
ถ้าหากความเจ็บปวดเกิดขึ้น
จงเฝ้าดูมันราวกับโอกาสที่มีค่าที่จะเข้าใจบางอย่างที่คุ้นเคย
ให้ถ่องแท้และในแง่มุมที่ลึกซึ้งขึ้น

ในขณะที่มิได้ปฏิบัติอยู่
บ่อยครั้งเราก็สามารถฝึกความอดทนต่อความรู้สึกเจ็บได้
โดยเฉพาะเมื่อกำลังทุ่มเทความสนใจให้กับอะไรบางอย่างที่เราชอบ


เช่น คนที่ชอบเล่นหมากรุก
ก็อาจนั่งจ้องมองกระดานหมากรุก
ขณะที่ฝ่ายตรงข้ามกำลังรุกฆาต

บุคคลนั้นอาจนั่งมาแล้ว ๒ ชั่วโมง
แต่ก็ไม่รู้สึกถึงตะคริวที่เกิดขึ้น
เนื่องจากกำลังคิดหาทางออกจากสถานการณ์อันจนแต้มนั้น
จิตใจจะจับจ้องอยู่ที่ความคิดนั้น
และหากมีความเจ็บปวดอยู่บ้าง
ก็อาจไม่ใส่ใจจนกว่าจะบรรลุถึงจุดหมาย

ในการปฏิบัติธรรมนั้น
ความอดทนยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นไปอีก
เพราะเป็นการพัฒนาปัญญาที่สูงส่งยิ่งกว่าการเล่นหมากรุก
และทำให้เราพ้นจากความหายนะอย่างแท้จริง


(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 มิ.ย. 2009, 22:14 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


กลยุทธ์ในการต่อสู้ความเจ็บปวด

ความสามารถในการหยั่งรู้ธรรมชาติอันแท้จริงของสรรพสิ่ง
ขึ้นอยู่กับระดับสติและสมาธิที่ผู้ปฏิบัติสามารถพัฒนาขึ้นได้

ยิ่งจิตสามารถรวมเป็นหนึ่งได้มากเท่าใด
จิตก็จะมีความสามารถในการหยั่งรู้
และทำความเข้าใจสัจธรรมได้มากขึ้น


โดยเฉพาะเมื่อเรากำลังเผชิญอยู่กับความเจ็บปวด


หากสมาธิอ่อนแอ เราก็ไม่อาจรับรู้ได้ถึงความรู้สึกไม่สบาย
อันปรากฏที่ร่างกายของเราอยู่ตลอดเวลา
เมื่อมีสมาธิดีขึ้น แม้แต่ความเจ็บปวดเล็กน้อย
ก็มีความชัดเจนราวกับผ่านแว่นขยายจนเกินจริง

มนุษย์ส่วนใหญ่ “ มีสายตาสั้น ” ในเรื่องนี้
หากปราศจากแว่นขยายคือ สมาธิ
โลกก็จะดูมัว ๆ เบลอ ๆ และไม่ชัดเจน
แต่เมื่อเราสวมแว่น (มีสมาธิ) สิ่งต่าง ๆ ก็สว่างไสวและชัดเจน
ทั้งที่วัตถุนั้นมิได้เปลี่ยนแปลงแต่อย่างไร
สิ่งที่เปลี่ยนคือความคมชัดของสายตาเรานั่นเอง

เมื่อเรามองดูหยดน้ำด้วยตาเปล่า
เราก็ไม่เห็นอะไรมากนัก
แต่ถ้านำหยดน้ำไปส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์
เราก็จะเห็นหลายสิ่งหลายอย่าง
บางอย่างกำลังเคลื่อนไหวเต้นไปมาอย่างน่าสนใจ


ถ้าหากเราสามารถสวมแว่นแห่งสมาธิในระหว่างการปฏิบัติธรรม
เราจะประหลาดใจกับความเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ อย่าง
ที่เกิดขึ้นในจุดที่เจ็บปวด ที่ดูเหมือนแน่นิ่งและไม่น่าสนใจ

ยิ่งสมาธิหยั่งลึกลง ความเข้าใจในความเจ็บปวดก็จะยิ่งสูงขึ้น
ผู้ปฏิบัติจะรู้สึกตื่นใจที่พบว่า

ความจริงแล้ว ความเจ็บปวดนี้มีการแปรปรวนตลอดเวลา
จากความรู้สึกแบบหนึ่งไปเป็นอีกแบบหนึ่ง
เปลี่ยนแปลงไป ลดลง เพิ่มขึ้น ผกผัน และเคลื่อนย้ายไปมาได้


สมาธิและสติจะยิ่งหยั่งลึกลง และมีความเฉียบคมมากขึ้น
และเมื่ออาการเหล่านี้ถึงจุดน่าสนใจที่สุดแล้ว
ทันใดนั้น ความรู้สึกก็จะขาดหายไปราวกับม่านเวทีการแสดงได้ปิดลง
และความปวดก็หายไปอย่างอัศจรรย์


(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 มิ.ย. 2009, 22:17 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


ผู้ปฏิบัติที่ขาดความกล้า
หรือความเพียรที่จะเฝ้าดูความเจ็บปวด
จะไม่มีวันเข้าใจความจริงที่ซ่อนเร้นอยู่ในความเจ็บปวด


เราจึงต้องสร้างความกล้าในจิตใจ
มีความพยายามอย่างเด็ดเดี่ยว ที่จะเฝ้าดูความเจ็บปวด
เราต้องเรียนรู้ที่จะไม่วิ่งหนีความเจ็บปวด
แต่มุ่งหน้าเข้าหามันตรง ๆ

เมื่อความเจ็บปวดเกิดขึ้น
กลยุทธ์แรกคือให้กำหนดจิตมุ่งไปที่ความเจ็บปวดโดยตรง
และเข้าไปยังศูนย์กลางของความเจ็บปวดนั้น


ผู้ปฏิบัติจะพยายามหยั่งให้ถึงรากของมัน
ดูความเจ็บปวดอย่างที่มันเป็น กำหนดอย่างต่อเนื่อง
พยายามหยั่งลึกเข้าไปในความเจ็บปวด
โดยไม่ต้องมีปฏิกิริยาตอบโต้ใด ๆ


บางครั้ง เมื่อผู้ปฏิบัติพยายามมาก ๆ ก็อาจเหนื่อยล้า
ความเจ็บปวดอาจทำให้หมดแรงได้
เช่นเดียวกัน หากผู้ปฏิบัติไม่สามารถรักษาระดับความเพียร
สติ และสมาธิไว้ในระดับที่เหมาะสมได้
ก็ถึงเวลาที่จะถอนจิตออกมา

กลยุทธ์ที่สอง ในการจัดการกับความเจ็บปวดก็โดยการเล่นกับมัน
ผู้ปฏิบัติจะเข้าไปหาความเจ็บปวดแล้วผ่อนคลายจิตลง
เอาจิตจับที่ความเจ็บปวด
แต่ลดความเข้มข้นของสติและสมาธิลงเบา ๆ
วิธีนี้ทำให้จิตได้พักผ่อน


เสร็จแล้วก็กลับเข้าไปดูความเจ็บปวดอย่างใกล้ชิดอีกครั้ง
และหากยังไม่ประสบความสำเร็จ
ก็ถอยออกมาอีกเข้าไปกำหนดแล้วถอยออกมาเช่นนี้ ๒-๓ ครั้ง

หากความเจ็บปวดรุนแรงมาก
และพบว่าจิตตึงเครียด รู้สึกบีบคั้น
แม้ว่าจะได้ใช้กลยุทธ์ต่าง ๆ แล้ว ก็ถึงเวลาที่จะหยุดพัก

แต่มิได้หมายถึงการเคลื่อนไหวกายในทันที
แต่ให้ปรับสิ่งที่สติเข้าไปรับรู้ก่อน โดยไม่สนใจความเจ็บปวด
ให้หันไปกำหนดพองยุบ หรือเป้าหมายอื่น ๆ ที่ใช้กำหนดอยู่
พยายามทำให้สมาธิตั้งมั่นให้มากที่สุดจนไม่รู้สึกถึงความเจ็บปวดนั้น


(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 มิ.ย. 2009, 22:50 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


การรักษาโรคทางร่างกายและจิตใจ

ผู้ปฏิบัติต้องพยายามเอาชนะความอ่อนแอของจิตใจทุกรูปแบบ
ด้วยความเข้มแข็งกล้าหาญราววีรบุรุษเท่านั้น
ผู้ปฏิบัติจึงจะสามารถอาชนะความเจ็บปวด
และเข้าใจมันอย่างที่มันเป็นจริง ๆ


ความรู้สึกที่ทนได้ยากอาจเกิดขึ้นได้เสมอระหว่างการปฏิบัติ
โยคีเกือบทุกคนจะเห็นความทุกข์ทางกายของตน
ซึ่งมีอยู่ตลอดชีวิตได้อย่างชัดเจน
โดยได้รับการขยายด้วยพลังของสมาธิ ในระหว่างการปฏิบัติเข้ม


ความเจ็บปวดจากแผลเก่าเคราะห์กรรมสมัยเด็ก
หรือความเจ็บปวดในอดีต ก็อาจหวนกลับคืนมาได้
การเจ็บป่วยในขณะนั้น หรือก่อนหน้านั้นไม่นาน
อาจเลวลงอย่างกะทันหัน

หาก ๒ ประการหลังนี้เกิดขึ้น
ผู้ปฏิบัติควรคิดว่าเป็นโชคของตน


กล่าวคือ ผู้ปฏิบัติมีโอกาสที่จะรักษาความเจ็บป่วย
หรืออาการเรื้อรังได้ด้วยความพากเพียรอันแรงกล้าของตนเอง
โดยไม่ต้องอาศัยยาแต่อย่างไร
โยคีหลายคนสามารถเอาชนะปัญหาสุขภาพของตน
ด้วยการปฏิบัติกรรมฐานแต่เพียงอย่างเดียว


ประมาณ ๑๕ ปี มาแล้ว มีชายคนหนึ่งป่วยเป็นโรคลม
ในระบบทางเดินอาหารมาเป็นเวลานาน
เมื่อไปพบแพทย์ หมอบอกว่าเขาเป็นเนื้องอกและต้องทำการผ่าตัด
ชายคนนี้กลัวว่าการผ่าตัดอาจล้มเหลว และเขาจะต้องตาย

ดังนั้นเขาจึงตัดสินใจเข้ามาปฏิบัติกรรมฐานกับอาตมา

ในไม่ช้าเขาก็รู้สึกเจ็บปวดอย่างรุนแรง
ตอนแรก ๆ ก็ไม่มาก แต่เมื่อการปฏิบัติของเขาคืบหน้า
จนถึงญาณที่หยั่งรู้ความเจ็บปวดอย่างชัดเจน
เขารู้สึกทรมานอย่างสาหัส เขารายงานให้อาตมาฟัง
อาตมาบอกเขาว่าถ้าเขาอยากกลับบ้าน
ไปหาหมอก็ได้ แต่อาตมาอยากให้เขาอยู่อีก ๒-๓ วัน

เขาคิดดูว่า การผ่าตัดก็ไม่อาจรับประกันได้ว่าเขาจะไม่ตาย
เขาจึงตัดสินใจที่จะปฏิบัติต่อไป
เขาต้องทานยา ๑ ช้อนชาทุก ๆ ๒ ชั่วโมง

บางทีความเจ็บปวดกำเริบจนทนไม่ได้
บางทีเขาก็สามารถกำราบมันได้
มันเป็นการต่อสู้ที่ยาวนาน มีทั้งแพ้และชนะ
แต่เขาเป็นคนมีความกล้าหาญมาก

(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 มิ.ย. 2009, 22:55 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


ในระหว่างการนั่งสมาธิคราวหนึ่ง
ความปวดรุนแรงทำให้ร่างของเขาสั่นเทา
เสื้อผ้าชุ่มไปด้วยเหงื่อ
เขารู้สึกว่าเนื้องอกนั้นแข็งมากขึ้นเรื่อย ๆ
มีความบีบคั้นมากขึ้นตามลำดับ

ทันใดนั้น การรับรู้เกี่ยวกับท้องของเขาหายไป
มีแต่ความรู้ และก้อนความเจ็บปวด
มันเจ็บมากแต่ก็น่าสนใจมาก
เขาเฝ้าดูมันโดยมีแต่จิตที่รู้
กับความเจ็บปวดเท่านั้นที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ


ทันใดนั้นก็เกิดการระเบิดขึ้น
โยคีผู้นั้นกล่าวว่า เขาได้ยินเสียงระเบิดที่ดังมาก


หลังจากนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างก็จบลง
เขาลุกขึ้นด้วยเหงื่อที่ท่วมตัว
เขาเอามือคลำที่ท้องแต่ตรงบริเวณที่เคยเป็นเนื้องอกนั้น มันหายไป
เขาหายจากโรคนั้นโดยสิ้นเชิง
และยิ่งไปกว่านั้น เขาได้ปฏิบัติจนได้เห็นพระนิพพานด้วย

หลังจากนั้นไม่นาน ชายคนนั้นก็จากศูนย์ปฏิบัติไป
อาตมาขอให้เขาบอกให้อาตมาทราบด้วย ว่าหมอว่าอย่างไร

คุณหมอตกใจมากที่เห็นว่าเนื้องอกหายไป
ชายคนนั้นเลิกควบคุมอาหารที่กระทำมา ๒๐ ปี
และยังมีชีวิตอยู่จนถึงทุกวันนี้ และมีสุขภาพดี
แม้แต่คุณหมอก็เข้ามาปฏิบัติวิปัสสนาด้วย


อาตมาไปพบกับคนจำนวนมาก
ที่หายจากอาการปวดหัวเรื้อรัง โรคหัวใจ วัณโรค
แม้แต่มะเร็ง และอาการบาดเจ็บรุนแรงจากสมัยเด็ก ๆ

บางคนหมอไม่รับรักษาแล้ว
ทุก ๆ คนต้องเผชิญความเจ็บปวดที่รุนแรง
และพวกเขามีความบากบั่นและกล้าหาญจนรักษาตนเองได้

ที่สำคัญ หลายคนได้รับความรู้
ความเข้าใจ สัจธรรมที่ลึกซึ้งมากขึ้น
ด้วยการเฝ้าดูความเจ็บปวดด้วยความกล้าหาญจนได้ ญาณทัศนะ


ผู้ปฏิบัติไม่ควรท้อถอยจากอาการเจ็บปวด
แต่ควรมีศรัทธาและความอดทนบากบั่น
จนกว่าจะเข้าใจธรรมชาติที่แท้จริงของตนเอง


(มีต่อ)


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 41 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 4 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร