วันเวลาปัจจุบัน 16 เม.ย. 2024, 18:50  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=2



กลับไปยังกระทู้  [ 41 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2, 3  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 พ.ค. 2009, 23:08 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
[พระมหาธาตุเจดีย์ชเวดากอง ตั้งอยู่บนเนินเขาเชียงกุตระ เมืองย่างกุ้ง ประเทศเมียนม่าร์ (พม่า) :
เชื่อกันว่าเป็นมหาเจดีย์ที่บรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้าจำนวน ๘ เส้น]



รู้แจ้งปรมัตถธรรมด้วยการเจริญพละ ๕
พระกัมมัฏฐานาจริยะ อู บัณฑิตาภิวังสะ

การเจริญวิปัสสนากล่าวได้ว่า
เป็นการพัฒนาองค์ประกอบของจิต (เจตสิก) ฝ่ายกุศล
ให้เข้มแข็งจนกระทั่งสามารถคุ้มครองจิตได้อย่างต่อเนื่อง

องค์ธรรมเหล่านี้มีชื่อเรียกว่า “ พละ ” ซึ่งมี ๕ ประการ
ได้แก่ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา


ในการเข้าอบรมวิปัสสนากรรมฐานการปฏิบัติที่ถูกต้อง
จะช่วยพัฒนาศรัทธาให้เข้มแข็ง มั่นคง
มีความพากเพียรอย่างแรงกล้า มีสมาธิหยั่งลึก
มีสติรู้รอบเป็นผลให้ปัญญาสูงขึ้นตามลำดับ

ผลแห่งการปฏิบัติ อันได้แก่ ญาณทัศนะ หรือปัญญา
จะเป็นพลังจิตที่สามารถหยั่งรู้ความเป็นจริงอันสูงสุด
จนสามารถกำจัดอวิชชาให้หมดสิ้นไปพร้อม ๆ
กับ ทุกข์ อุปาทาน และโทมนัสทั้งปวง


พัฒนาการดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการสร้างเหตุที่เหมาะสม ๙ ประการ
ที่จะนำไปสู่ความเจริญของพละคือ

๑. การใส่ใจสังเกตดูความเป็นอนิจจังของอารมณ์ในขณะกระทบอายตนะทั้งหก

๒. การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานด้วยความเคารพ เอาใส่ใจและละเอียดอ่อน

๓. การมีสติปฏิบัติอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย

๔. อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการปฏิบัติ

๕. พยายามจดจำสถานการณ์หรือพฤติกรรมที่มีส่วนช่วยให้
การปฏิบัติดำเนินไปด้วยดีในอดีต
เพื่อที่จะรักษา หรือเสริมสร้างปัจจัยเหล่านี้ให้เกิดขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่เผชิญกับความยามลำบาก

๖. ปลูกฝังโพชฌงค์ทั้งเจ็ด

๗. มีความตั้งใจที่จะปฏิบัติอย่างเด็ดเดี่ยว

๘. มีความอดทนและบากบั่นเมื่อเผชิญกับความเจ็บปวด หรืออุปสรรคอื่นใด

๙. มีความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติไปจนกว่าจะบรรลุถึงจุดมุ่งหมายของการปฏิบัติ
อันได้แก่ความพ้นทุกข์


การปฏิบัติของโยคีนั้นจะสามารถก้าวหน้าไปได้ไกล
แม้เพียงการเจริญเหตุที่เหมาะสมข้างต้นเพียง ๓ ประการแรก

กล่าวคือ จิตใจของผู้ปฏิบัติจะเริ่มมี
ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา

หากผู้ปฏิบัติเฝ้าดูสิ่งที่ปรากฏทางกายและทางจิตอย่างพิถีพิถัน
ด้วยความเคารพและอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสายในสภาวะเช่นนี้
นิวรณ์ต่าง ๆ จะถูกกำจัดไปอย่างรวดเร็ว


พละทั้ง ๕ จะทำให้จิตใจเข้าสู่ความสงบ ปราศจากสิ่งรบกวน
โยคีที่ปฏิบัติมาถึงขั้นนี้จะพบกับความสงบเยือกเย็น
อย่างที่ไม่เคยพบมาก่อนจนบางคนอาจรู้สึกอัศจรรย์ใจว่า

“ สิ่งที่ครูบาอาจารย์กล่าวถึง ทั้งความสันติสุขและสงบเยือกนั้น
เราสามารถประสบได้ด้วยตัวเองจริง ๆ ”


การปฏิบัติดังกล่าวนี้ก็จะช่วยสนับสนุนให้ศรัทธา
ซึ่งเป็นพละประการแรกเริ่มเกิดขึ้น


(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 พ.ค. 2009, 23:14 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


ศรัทธาชนิดนี้เรียกว่า

“ ศรัทธาเบื้องต้นที่เกิดจากการประจักษ์แจ้งความจริงด้วยตนเอง ”

กล่าวคือ ประสบการณ์ดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ปฏิบัติเกิดความรู้สึกว่า
ผลการปฏิบัติขั้นสูงไปที่พระอาจารย์กล่าวถึงนั้น
อาจปรากฏแก่ตนเองได้จริงเมื่อมีศรัทธา
ก็ทำให้เกิดแรงบันดาลใจ และทำให้จิตมีพลังมากขึ้น

เมื่อมีพลังใจ ก็มีความพากเพียร บากบั่นตามมา

ผู้ปฏิบัติจะกล่าวกับตัวเองว่า

“ นี่เป็นเพียงการเริ่มต้น และหากเราพยายามมากกว่านี้ก็จะได้ผลดียิ่งขึ้นไปอีก ”

ความพยายามที่ได้รับการเสริมสร้างขึ้นอีกเช่นนี้
จะทำให้จิตสามารถกำหนดอารมณ์อันเป็นเป้าหมายในการกำหนดได้ทุกขณะ
สติก็จะแนบแน่นขึ้นและหยั่งลึกลงยิ่งขึ้นตามลำดับ

สติเป็นปัจจัยให้เกิดสมาธิ
กล่าวคือจิตที่รวมเป็นหนึ่งได้ เมื่อสติกำหนดรู้อารมณ์ในแต่ละขณะ
จิตก็จะมีความมั่นคง ไม่วอกแวก และมีปีติอยู่ในการกำหนดนั้น ๆ

ในสภาพธรรมชาติเช่นนี้ สมาธิก็จะรวมลงและตั้งมั่นขึ้น
ดังนั้นยิ่งสติมีกำลังมากขึ้นเท่าใด
สมาธิก็มีความมั่นคงมากขึ้นเท่านั้น


เมื่อ ศรัทธา วิริยะ สติ และสมาธิ มีอยู่พร้อมกัน
ปัญญาซึ่งเป็นพละประการที่ ๕ ย่อมจะเกิดขึ้นเอง
ตราบเท่าที่พละทั้งสี่ประการแรกปรากฏอยู่
ปัญญาหรือญาณ ก็จะเกิดขึ้นเอง


ผู้ปฏิบัติจะเริ่มตระหนักแก่ใจตนเองอย่างชัดแจ้งว่า

รูปกับนามเป็นคนละสิ่งกัน
และเริ่มเห็นว่ารูปกับนาม
เป็นปัจจัยในการเกิดขึ้นของกันและกันอย่างไร
เมื่อญาณปัญญาก้าวหน้าขึ้น
ความศรัทธาอันเกิดจากการเข้าไปประจักษ์ความจริงด้วยตนเอง
ก็จะเข้มแข็งขึ้น


ผู้ปฏิบัติที่หยั่งรู้การเกิดดับของอารมณ์ในทุกขณะจะพบปีติอย่างสูง

“ เป็นประสบการณ์ที่ประเสริฐยิ่งนัก
ที่เห็นปรากฏการณ์เหล่านี้ผ่านไปเป็นขณะ ๆ
โดยปราศจากตัวตน ไม่มีใคร ไม่มีอะไรเลย ”


การค้นพบนี้จะก่อให้เกิดความโล่งอกและสบายใจอย่างมาก

ญาณทัศนะต่อ ๆ มาที่หยั่งรู้ อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา
จะยิ่งเสริมสร้างความศรัทธายิ่งขึ้น
และจะทำให้ผู้ปฏิบัติมีความเชื่อมั่นหนักแน่นว่า
ธรรมะที่ได้ยินได้ฟังมานั้นเป็นของจริงแท้

การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน
อาจเปรียบได้กับการลับมีดด้วยหินลับมีด
ผู้ลับต้องวางมีดให้อยู่ในมุมที่เหมาะสม
ไม่สูงเกินไปหรือไม่ต่ำเกินไป กดลงด้วยน้ำหนักที่พอดี

ผู้ลับจะเคลื่อนใบมีดไปอย่างสม่ำเสมอบนหินลับมีด
จนกระทั่งมีดข้างหนึ่งเริ่มเกิดขึ้น
เสร็จแล้วจึงกลับใบมีดไปอีกข้างหนึ่ง
กดลงด้วยน้ำหนักเท่า ๆ กัน ในมุมเดียวกัน


ตัวอย่างนี้แสดงอยู่ในพระไตรปิฎก
ความเที่ยงตรงของมุมเปรียบได้กับความพิถีพิถันในการปฏิบัติ
ส่วนแรงกดและการเคลื่อนไหว เปรียบเสมือนสติที่ต่อเนื่องกัน

หากความพิถีพิถันและความต่อเนื่องคงอยู่ในการปฏิบัติ
ผู้ปฏิบัติก็มั่นใจได้ว่าในระยะเวลาไม่นาน
จิตจะมีความเฉียบแหลม เพียงพอที่จะหยั่งลงสู่สัจธรรมของชีวิตได้


(มีต่อ : ๑. การใส่ใจสังเกตความเป็นอนิจจังของสิ่งทั้งปวง)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 พ.ค. 2009, 23:42 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


๑. การใส่ใจสังเกตความเป็นอนิจจังของสิ่งทั้งปวง

ปัจจัยสนับสนุนประการแรกในการพัฒนาพละ

คือ การเฝ้าสังเกตว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น
ล้วนแต่จะต้องเสื่อมสลายและดับสิ้นไป


ในระหว่างการปฏิบัติวิปัสสนา
ผู้ปฏิบัติจะเฝ้าดูอารมณ์ที่เกิดขึ้นตามอายตนะทั้งหก

ในการนี้ ผู้ปฏิบัติควรจะตั้งเจตนาในการกำหนดว่า

การกำหนดนี้เพื่อให้เห็นว่า
ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในที่สุดก็จะดับไปดังที่ผู้ปฏิบัติทราบดี
ปรากฏการณ์นี้จะเห็นจริงได้
ก็ด้วยประสบการณ์จากการปฏิบัติจริง ๆ เท่านั้น


การวางท่าทีจิตใจเช่นนี้สำคัญมากในการเตรียมตัวเพื่อการปฏิบัติ
การยอมรับตั้งแต่ต้นว่าสิ่งต่าง ๆ เป็นอนิจจัง
และจะต้องเปลี่ยนแปรไป
เป็นการป้องกันปฏิกิริยา (อันไม่พึงปรารถนา) ที่อาจเกิดขึ้น

เมื่อผู้ปฏิบัติเผชิญหน้ากับความจริงดังกล่าวในภายหลัง
ซึ่งบางครั้งเป็นความจริงที่เจ็บปวด

หากปราศจากการยอมรับนี้ ผู้ปฏิบัติอาจจะต้องเสียเวลาไปมาก
จากความเข้าใจที่ตรงข้ามว่าสิ่งต่าง ๆ ในโลกนี้เป็นนิจจัง
ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาของญาณ
ทั้งนี้ ในเบื้องต้นผู้ปฏิบัติอาจยอมรับอนิจจังด้วยศรัทธาไปก่อน

แต่เมื่อการปฏิบัติก้าวหน้าไป
ความศรัทธานี้จะได้รับการพิสูจน์ด้วยประสบการณ์ของแต่ละบุคคลเอง


(มีต่อ : ๒.ความพิถีพิถันเอาใจใส่ด้วยความเคารพ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 พ.ค. 2009, 17:26 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


๒. ความพิถีพิถันเอาใจใส่ด้วยความเคารพ

ปัจจัยพื้นฐานประการที่สองในการเสริมสร้างพละได้แก่

การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานด้วยท่าทีจิตใจที่ระมัดระวัง
มีความเคารพและความพิถีพิถันยิ่ง


การจะสร้างทัศนคติเช่นนี้
ผู้ปฏิบัติอาจจะคิดถึงประโยชน์ที่ตนจะได้รับจากการปฏิบัติ

เมื่อปฏิบัติได้ถูกต้องแล้ว
การระลึกรู้กาย ความรู้สึก จิต และอารมณ์
จะทำให้จิตมีความบริสุทธิ์
เอาชนะความทุกข์และความโศกเศร้าพิไรรำพัน
ทำลายความเจ็บปวดและความเครียดโดยสิ้นเชิง
และเข้าถึงพระนิพพานได้ในที่สุด


พระพุทธองค์ทรงเรียกการปฏิบัตินี้ว่า สติปัฏฐานสี่
หมายถึงการเจริญสติบนฐานทั้งสี่ซึ่งเป็นสิ่งหาค่ามิได้โดยแท้จริง


การระลึกถึงสิ่งเหล่านี้
จะทำให้ผู้ปฏิบัติมีกำลังใจในการกำหนดปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
ที่อายตนะทั้งหกอย่างระมัดระวังและเอาใจใส่
ในระหว่างการเข้าปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน

โยคีควรจะเคลื่อนไหวให้ช้าที่สุดเท่าที่จะทำได้
โดยระลึกว่าสติของตนยังอ่อนมาก
การทำสิ่งต่าง ๆ ช้าลง
เปิดโอกาสให้สติติดตามความเคลื่อนไหวของร่างกายได้ทัน
สามารถกำหนดการเคลื่อนไหวแต่ละครั้งได้อย่างละเอียด

พระไตรปิฎกเปรียบเทียบความเอาใจใส่ระมัดระวังและพิถีพิถันนี้
กับภาพของคน ๆ หนึ่ง กำลังข้ามแม่น้ำบนสะพานแคบ ๆ ไม่มีราวจับ
มีแม่น้ำไหลเชี่ยวอยู่เบื้องล่าง
แน่นอนว่าบุคคลผู้นั้นจะไม่สามารถกระโดดเร็ว ๆ หรือวิ่งข้ามสะพานได้
เขาจะต้องก้าวอย่างระมัดระวังไปทีละก้าว


นักปฏิบัติยังอาจเปรียบได้กับบุคคลที่กำลังถือบาตรที่มีน้ำมันอยู่เต็มเปี่ยม
เราคงพอคาดเดาได้ถึงระดับความระมัดระวังที่เขาใช้เพื่อมิให้น้ำมันหก
ระดับของสติเช่นนี้เองที่ควรมีอยู่ในการปฏิบัติธรรม


(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 พ.ค. 2009, 17:31 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


ตัวอย่างทั้งสองนี้มาจากพระโอษฐ์ของพระพุทธองค์เอง

เนื่องจากในสมัยหนึ่งมีพระสงฆ์กลุ่มหนึ่งดูทีว่าจะปฏิบัติธรรมอยู่ในป่า
แต่พระสงฆ์เหล่านั้นปฏิบัติอย่างไม่สำรวม
เช่นหลังจากการนั่งสมาธิ จะผุดลุกขึ้นอย่างขาดสติ
เดินจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งโดยไม่สำรวม
มองนกบนต้นไม้และเมฆในท้องฟ้า
อย่างปราศจากความระมัดระวังสำรวมใจ

จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าการปฏิบัติของพวกท่าน
จะไม่คืบหน้าเลยเมื่อพระพุทธองค์ทรงทราบ
ก็ทรงสำรวจดูและพบว่าความบกพร่องของพระสงฆ์เหล่านี้
ก็คือการขาดความเคารพในความจริงของสิ่งทั้งปวง
ในพระธรรมคำสั่งสอนและการปฏิบัติธรรม

พระพุทธองค์จึงเสด็จไปหาพระสงฆ์เหล่านั้น
และตรัสเทศน์ถึงภาพของคนถือบาตรน้ำมันข้างต้น
พระธรรมเทศนาดังกล่าวเป็นแรงบันดาลใจให้พระสงฆ์เปล่านั้น
ตั้งปณิธานว่าจะพิถีพิถันและระมัดระวังในทุกอิริยาบถ
จนสามารถบรรลุธรรมได้ในเวลาไม่นาน

ผู้ปฏิบัติสามารถพิสูจน์สิ่งนี้ได้ด้วยตนเองในการเข้าอบรมพระกรรมฐาน
โดยการเคลื่อนไหวให้ช้าลง
มีความเอาใจใส่ระมัดระวังยิ่งและปฏิบัติด้วยความเคารพยิ่ง


ผู้ปฏิบัติเคลื่อนไหวช้าลงเท่าไร
ก็จะมีความก้าวหน้าในการปฏิบัติเร็วขึ้นเท่านั้น


อย่างไรก็ตาม เมื่ออยู่ในโลกนี้
บุคคลย่อมต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เป็นอยู่
บางครั้งเราต้องทำอะไรเร็ว ๆ


เช่นคนที่ขับรถช้า ๆ บนทางด่วนก็อาจประสบอุบัติเหตุ
หรือปฏิบัติผิดกฎจราจรได้

ในทางกลับกัน การดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาล
ก็ต้องกระทำอย่างทะนุถนอมทำอย่างช้า ๆ
ถ้าหากแพทย์หรือพยาบาลเร่งรีบจนเกินไป
เพียงเพื่อทำงานให้เสร็จเรียบร้อยแล้ว
ผู้ป่วยอาจต้องทนทุกข์ทรมานหรือเสียชีวิตได้

ผู้ปฏิบัติต้องเข้าใจสถานการณ์ของตนเองว่าเป็นอย่างไร
และพยายามปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์นั้น
ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงอบรมพระกรรมฐานหรือในภาวะปรกติ


การมีความเกรงใจ และเคลื่อนไหวในระดับปรกติ
ย่อมเป็นสิ่งสมควรหากมีผู้รออยู่

อย่างไรก็ตาม หากผู้ปฏิบัติเข้าใจว่า
เป้าหมายหลักของการปฏิบัตินั้นก็คือ การเจริญสติ


ดังนั้น เมื่ออยู่คนเดียวก็ควรกลับไปทำอะไร ๆ ช้าลง
เช่น การรับประทานอาหารช้า ๆ ล้างหน้า แปรงฟัน
และอาบน้ำด้วยสติอย่างถี่ถ้วน

(มีต่อ : ๓. มีสติอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 พ.ค. 2009, 21:08 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


๓. มีสติอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย

ความต่อเนื่องไม่ขาดสายของสติเป็นปัจจัยที่สำคัญประการที่สาม

ในการพัฒนาพละทั้ง ๕
ผู้ปฏิบัติต้องพยายามที่จะอยู่กับปัจจุบันให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
ทุก ๆ ขณะโดยไม่ขาดตอน
ด้วยวิธีนี้ สติก็จะเริ่มก่อตัวและเจริญขึ้นได้

การเจริญสติ เป็นการป้องกันมิให้กิเลส
ที่ก่อให้เกิดความทุกข์ ความเศร้าหมอง
ได้แก่ ความโลภ ความโกรธ ความหลง
แทรกซึมเข้ามาบ่อนทำลาย และนำเราไปสู่ความมืดบอดได้


ตราบใดที่สติยังเข้มแข็งอยู่ กิเลสจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้
และเมื่อจิตใจปราศจากกิเลส จิตก็จะเป็นอิสระ โปร่งเบา และเป็นสุข

ฉะนั้น จงพยายามทุกวิถีทางที่จะรักษาความต่อเนื่องของสติ
เมื่อจะเปลี่ยนอิริยาบถ จงแยกความเคลื่อนไหวเป็นส่วน ๆ
และกำหนดการเคลื่อนไหวแต่ละส่วนอย่างระมัดระวังยิ่ง


เช่น เมื่อจะลุกจากท่านั่ง ให้กำหนดความตั้งใจที่จะลืมตา
แล้วกำหนดความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่อเปลือกตาเริ่มเคลื่อนไหว
กำหนดการยกมือออกจากหน้าตัก การขยับขา และอื่นๆ ตลอดทั้งวัน

จงมีสติระลึกแม้ในอิริยาบถย่อยที่ละเอียดที่สุด
นอกเหนือจากการยืน เดิน นั่ง และนอน
เช่น การหลับตา การหันหน้า การหมุนลูกบิดประตู ฯลฯ

นอกจากในเวลาที่หลับไปแล้ว
โยคีควรจะรักษาสติไว้ตลอดระยะเวลาการปฏิบัติ
ความต่อเนื่องควรจะมีความถี่
ถึงขนาดที่ผู้ปฏิบัติไม่มีเวลาในการคิดทบทวนลังเล วิเคราะห์
หาเหตุผลเปรียบเทียบประสบการณ์กับตำราที่เคยอ่านใด ๆ ทั้งสิ้น
จะมีเวลาพอสำหรับการมีสติตามรู้ปัจจุบันอารมณ์เท่านั้น


(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 พ.ค. 2009, 21:13 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


พระไตรปิฎกเปรียบเทียบ การปฏิบัติธรรมเหมือนกับการจุดไฟ

ในสมัยก่อนเมื่อยังไม่มีไม้ขีดไฟหรือแว่นขยายนั้น
การจุดไฟต้องอาศัยวิธีโบราณที่นำวัตถุมาเสียดสีกัน

อุปกรณ์ประกอบด้วยคันธนูที่เอาสายธนูไปพันกับไม้อีกท่อนหนึ่ง
โดยปลายไม้นี้นำไปเสียบไว้ในหลุมเล็ก ๆ
บนแผ่นกระดาษที่มีเศษไม้และใบไม้กองอยู่

เมื่อคนไสคันธนูไปมา ท่อนไม้ก็จะหมุนขัดสีกับแผ่นกระดาน
ก่อให้เกิดความร้อนพอที่จะทำให้ใบไม้และกิ่งไม้ลุกไหม้ได้

อีกวิธีหนึ่งก็คือ ใช้มือหมุนท่อนไม้โดยตรง

ทั้งสองวิธีนี้คนจะต้องถูท่อนไม้นั้นกลับไปกลับมา
จนกว่าจะเกิดแรงเสียดทานที่เพียงพอจะทำให้ไฟลุกขึ้นได้


คราวนี้ลองสมมุติดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น
หากบุคคลผู้นั้นเสียดสีไม้เป็นเวลา ๑๐ วินาที
แล้วพัก ๕ วินาที เพื่อพิจารณาดู ไฟจะติดขึ้นได้อย่างไร


ในทำนองเดียวกัน
ความพยายามที่ต่อเนื่องเป็นสิ่งจำเป็นในการจุดไฟแห่งปัญญาให้เกิดขึ้น


พฤติกรรมของกิ้งก่าก็เป็นตัวอย่างที่ (ไม่) ดี
อีกอย่างหนึ่งของการปฏิบัติธรรม

พระไตรปิฎกใช้กิ้งก่าเป็นอุทาหรณ์สำหรับ การปฏิบัติที่ขาดความต่อเนื่อง

กล่าวคือ เวลากิ้งก่ามองเห็นอาหารหรือกิ้งก่าตัวเมีย
มันจะวิ่งไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว
แต่จะไม่จู่โจมเข้าสู่เป้าหมายในทันที มันจะโผไปสั้น ๆ แล้วหยุด
มองดูท้องฟ้า เอียงคอไปมา

เสร็จแล้วก็ทะยานไปอีกหน่อยหนึ่ง
ก่อนจะหยุดลงอีกเพื่อมองโน่นมองนี่ต่อไป
มันจะไม่เคยถึงเป้าหมายในคราวเดียวเลย

โยคีที่ปฏิบัติแบบลักปิดลักเปิด
มีสติชั่วครู่ชั่วยามแล้วหยุดเพื่อคิดโน่นคิดนี่ เป็นโยคีกิ้งก่า


ถึงแม้ว่ากิ้งก่าจะเอาชีวิตรอดได้ด้วยพฤติกรรมแบบนี้
แต่การปฏิบัติของโยคีอาจไม่รอด
ผู้ปฏิบัติบางคนรู้สึกว่าจำเป็นต้องหยุดคิดทุกครั้งที่มีประสบการณ์ใหม่ ๆ
เฝ้าสงสัยว่าเขาถึงญาณขั้นไหนแล้ว
ในขณะที่บางคนอาจไม่นึกถึงสิ่งใหม่
แต่คอยคิดกังวลถึงเรื่องเดิม ๆ ที่คุ้นเคย

บางคนอาจบ่นว่า

“ เหนื่อยเหลือเกินวันนี้ สงสัยเมื่อคืนจะนอนไม่พอ
หรือทานมากไป น่าจะงีบสักพักหนึ่ง
หรือเท้าเจ็บเหลือเกิน ไม่รู้เป็นแผลหรือเปล่า
ถ้าเป็นเดี๋ยวการปฏิบัติจะแย่ ขอลืมตาดูหน่อยดีกว่า ”


เหล่านี้คือความลังเลของกิ้งก่า

(มีต่อ : ๔. สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 พ.ค. 2009, 21:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


๔. สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

องค์ประกอบประการที่ ๔ ในการพัฒนาพละ ๕ ได้แก่

การมีปัจจัยที่เกื้อกูลต่อการเจริญสติและปัญญา ๗ ประการ คือ

๑. สถานที่ที่เหมาะสม

บริเวณสถานที่ปฏิบัติวิปัสสนาควรจะมีเครื่องอำนวยความสะดวกพอสมควร
และเอื้ออำนวยต่อการปฏิบัติธรรม

๒. อยู่ในถิ่นที่เหมาะสม

หมายถึงการออกบิณฑบาตเป็นประจำวันของพระสงฆ์
สถานที่ปฏิบัติธรรมควรอยู่ไกลพอควรจากหมู่บ้านเพื่อหลีกเลี่ยงการรบกวน
แต่ต้องใกล้ชุมชนพอที่จะออกบิณฑบาตได้

สำหรับฆราวาสผู้ปฏิบัติธรรม
ต้องมีความสะดวกในเรื่องอาหารพอควร
แต่ไม่ถึงกับเป็นเครื่องล่อใจหรือรบกวนต่อการปฏิบัติธรรม
และผู้ปฏิบัติพึงหลีกเลี่ยงสถานที่ที่ทำลายสมาธิ

เช่น บริเวณที่มีคนพลุกพล่าน
โดยย่อ ความสงบระดังหนึ่งเป็นสิ่งจำเป็น
แต่ก็ต้องไม่หนีจากความเจริญ
จนไม่สามารถแสวงหาปัจจัยที่จำเป็นในการประทังชีวิตได้

๓. วาจาที่เหมาะสม

ในระหว่างการปฏิบัติธรรม
ความจำเป็นในการพูดจามีน้อยมาก
อรรถกถากำหนดให้เพียงการฟังธรรมเทศนาเท่านั้น
แต่เราอาจจะเพิ่มการสนทนาธรรมกับพระอาจารย์ (การสอบอารมณ์) เข้าไว้ด้วยได้

บางครั้งการสนทนาเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมเป็นสิ่งจำเป็น
โดยเฉพาะเมื่อผู้ปฏิบัติเกิดความสับสน
หรือไม่แน่ใจว่าจะต้องทำอย่างไรต่อไป


แต่โปรดจำไว้ว่า อะไรก็ตามที่มากเกินไปย่อมเป็นโทษ

อาตมาเคยสอนในสถานที่แห่งหนึ่ง
ซึ่งมีกระถางต้อนไม้ที่กัปปิยะของอาตมาเอาใจใส่รดน้ำมากเกินไป
ผลก็คือใบไม้กลับร่วงหลุดไปหมด

สิ่งเดียวกันนี้อาจเกิดขึ้นได้กับสมาธิของผู้ปฏิบัติ
หากผู้ปฏิบัติสนทนาธรรมมากเกินไป
หรือแม้แต่การบรรยายธรรมของพระอาจารย์เอง
โยคีต้องประเมินดูอย่างระมัดระวัง

หลักการง่าย ๆ ก็คือ
ให้ดูว่าสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมานั้นช่วยให้สมาธิดีขึ้นหรือไม่
หรือทำให้เกิดสมาธิหรือไม่
หาไม่แล้ว ผู้ปฏิบัติก็ควรหลีกเลี่ยง
เช่น ไม่เข้าฟังธรรม หรืองดสอบอารมณ์ เป็นต้น


โยคีที่เข้าอบรมแบบเข้มงวด
ควรหลีกเลี่ยงการพูดจาทุกชนิดให้มากที่สุด
โดยเฉพาะการพูดเรื่องทางโลก


แม้แต่การสนทนาธรรมอย่างลึกซึ้งก็อาจไม่เหมาะสม
ในระหว่างการปฏิบัติที่เข้มงวด
ผู้ปฏิบัติควรหลีกเลี่ยงการโต้เถียงประเด็นความเชื่อ
กับเพื่อนโยคีในระหว่างการปฏิบัติ


นอกจากนั้น สิ่งที่ไม่สมควรที่สุด
ได้แก่สนทนาเกี่ยวกับอาหาร สถานที่ต่าง ๆ ธุรกิจ เศรษฐกิจ การเมือง ฯลฯ
เหล่านี้เป็น “ คำพูดทางโลก ”


(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 พ.ค. 2009, 21:27 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


เป้าหมายของข้อห้ามเหล่านี้
ก็เพื่อป้องกันสิ่งที่อาจรบกวนจิตใจโยคี

พระพุทธองค์ตรัสแก่โยคีด้วยความเมตตายิ่งว่า

“ นักปฏิบัติที่เอาจริง ไม่ควรพูด
เพราะการพูดบ่อย ๆ จะทำให้โยคีมีสิ่งรบกวนจิตใจมาก ”


อย่างไรก็ตาม การพูดจาอาจเป็นสิ่งจำเป็นในบางครั้งระหว่างการปฏิบัติธรรม

ในกรณีเช่นนี้ ผู้ปฏิบัติต้องระมัดระวังที่จะไม่พูดอะไร
นอกเหนือจากสิ่งที่จำเป็นจะต้องสื่อสารจริง ๆ
และควรมีสติตลอดกระบวนการของการพูด


ในเบื้องต้นจะเกิดความต้องการพูดก่อน
แล้วตามด้วยความคิดว่าจะพูดอะไรและอย่างไร


ผู้ปฏิบัติควรกำหนดความคิดดังกล่าวทั้งหมด
ตั้งแต่การเตรียมความคิดที่จะพูด
และอาการพูดจริง ๆ ความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ขณะพูด
เช่น ริมฝีปาก ใบหน้า ตลอดจนท่าทางประกอบ ล้วนต้องกำหนดทั้งสิ้น


หลายปีมาแล้วในประเทศพม่า
มีข้าราชการระดับสูงผู้หนึ่งเพิ่งเกษียณอายุ
เขาเป็นชาวพุทธที่เคร่งครัดมาก
ได้อ่านพระไตรปิฎกและหนังสือเกี่ยวกับพุทธศาสนา
ที่แปลเป็นภาษาพม่าดี ๆ จำนวนมาก

และได้ผ่านการปฏิบัติกรรมฐานมาบ้าง
ถึงแม้ว่าการปฏิบัติของเขายังไม่ลึกซึ้งนัก
แต่เขาก็มีความรู้พื้นฐานค่อนข้างมาก
และประสงค์ที่จะสอนสิ่งที่เขารู้ เขาจึงได้หันไปเป็นอาจารย์

วันหนึ่งเขาเข้ามาปฏิบัติที่ศูนย์ปฏิบัติกรรมฐานในเมืองย่างกุ้ง

และเมื่ออาตมาสอนโยคี
อาตมาก็จะอธิบายหลักการปฏิบัติ
แล้วถึงเปรียบเทียบคำสอนของอาตมากับพระไตรปิฎก
โดยพยายามประสานแนวคิดที่อาจดูเหมือนไม่ตรงกัน
ชายคนนี้จะเริ่มตั้งคำถามทันทีว่า

“ คำกล่าวนี้มาจากไหน มีเอกสารอ้างอิงหรือเปล่า ”

อาตมาพยายามแนะนำเขาอย่างสุภาพให้เลิกวิตกในประเด็นเหล่านั้น
แล้วตั้งหน้าปฏิบัติต่อไป แต่เขาอดไม่ได้
เป็นเวลาติดต่อกัน ๓ วัน
ที่เขาทำอย่างนี้ในระหว่างการสอบอารมณ์

(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 พ.ค. 2009, 21:36 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


ในที่สุด อาตมาถามเขาว่า

“ ท่านมาที่นี่ทำไม ท่านมาเพื่อที่จะเรียน หรือมาสอนอาตมากันแน่ ”

ในสายตาของอาตมา เขามาเพื่ออวดความรู้มิใช่มาปฏิบัติธรรม
ชายคนนั้นตอบอย่างร่าเริงว่า

“ เอ้อ ผมมาเป็นนักเรียนสิครับ ท่านสิเป็นอาจารย์ ”

อาตมากล่าวว่า

“ อาตมาได้พยายามบอกท่านอ้อม ๆ ตลอด ๓ วันที่ผ่านมา
แต่ถึงตอนนี้ อาตมาจำต้องบอกท่านตามตรง
ท่านทำตัวเหมือนบาทหลวง
ซึ่งตามปรกติจะทำหน้าที่ประกอบพิธีแต่งงานให้ชาวบ้าน

จนกระทั่งถึงคราวที่บาทหลวงจะแต่งงาน
แทนที่จะไปยืนในตำแหน่งเจ้าบ่าว
กลับขึ้นไปบนแทนพิธี แล้วประกอบพิธีแต่งงานเสียเอง
ซึ่งสร้างความประหลาดใจให้แก่ผู้มาร่วมงานเป็นอันมา “


ชายคนนั้นเข้าใจประเด็นในที่สุด
เขายอมรับข้อผิดพลาด แล้วกลายเป็นนักเรียนที่ว่าง่ายหลังจากนั้น


โยคีที่ประสงค์จะเข้าใจธรรมจริง ๆ
จะต้องไม่เลียนแบบชายคนนี้


ความจริง พระอรรถกถากล่าวไว้ว่า

ไม่ว่าผู้ปฏิบัติจะมีความรู้ความสามารถมากเพียงใด
ในระหว่างการปฏิบัติกรรมฐาน
ต้องทำตัวราวกับคนไร้ความสามารถ
และเป็นคนสงบเสงี่ยมว่าง่ายอย่างยิ่ง


ในกรณีนี้ อาตมาจะขอเล่าทัศนคติอย่างหนึ่งที่อาตมามีมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก

เมื่ออาตมายังไม่มีความชำนาญ เชี่ยวชาญ
หรือประสบการณ์ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
อาตมาก็จะไม่เข้าไปก้าวก่ายในเรื่องนั้น ๆ

และถึงแม้ว่าอาตมาจะมีความชำนาญเชี่ยวชาญ
และประสบการณ์ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งก็ตาม
อาตมาก็จะไม่เข้าไปแสดงความเห็นหรือแทรกแซงในเรื่องใด
หากไม่ได้รับการขอร้องก่อน


๔.บุคคลที่เหมาะสมโดยเฉพาะวิปัสสนาจารย์

หากคำสอนของท่านช่วยให้ผู้ปฏิบัติก้าวหน้า มีสมาธิตั้งมั่นมากขึ้น
หรือทำสมาธิที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น
ก็อาจกล่าวได้ว่า วิปัสสนาจารย์ท่านนั้นเหมาะสม

นอกจากนี้ บุคคลที่เหมาะสมยังมีอีก ๒ ลักษณะ คือ

(๑) ชุมชนที่เอื้อต่อการปฏิบัติธรรม และ

(๒) ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปฏิบัติกับผู้คนในชุมชนนั้นๆ


ในระหว่างการอบรมเข้มงวด
โยคีจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างมากในหลาย ๆ ด้าน
ในการพัฒนาสติและสมาธิ ผู้ปฏิบัติต้องละทิ้งกิจกรรมทางโลก
โยคีจึงต้องพึ่งพาอุปัฏฐาก ที่สามารถทำงานบางอย่างแทนโยคี

เช่น การจ่ายตลาด และทำอาหาร ซ่อมแซมที่พัก และอื่น ๆ

สำหรับผู้ที่ปฏิบัติเป็นกลุ่ม
ก็คงต้องคำนึงถึงผลกระทบของโยคีต่อสังคมด้วย
ความเกรงอกเกรงใจเพื่อนโยคีเป็นสิ่งสำคัญ

การกระทำอะไรเร็ว ๆ หรือเสียงดัง
ก็อาจกระทบกระเทือนต่อผู้อื่นได้มาก
ด้วยการพิจารณาเช่นนี้
ผู้ปฏิบัติก็จะกลายเป็นบุคคลที่เหมาะสมสำหรับโยคีอื่น


๕. อาหาร

กล่าวคือ อาหารที่เหมาะสมกับโยคี
ก็มีส่วนช่วยให้การปฏิบัติก้าวหน้าได้

อย่างไรก็ตาม ผู้ปฏิบัติต้องระลึกอยู่เสมอว่า
จะให้ได้อย่างใจทุกประการ คงเป็นไปไม่ได้


การปฏิบัติเป็นกลุ่ม อาจมีคนจำนวนมาก
และอาหารก็ต้องทำทีละมาก ๆ สำหรับทุกคน
ในกรณีเช่นนี้ ย่อมดีที่สุด
ที่จะทำใจให้ยอมรับอาหารใด ๆ ก็ตามที่ผู้จัดหามาให้

แต่หากการปฏิบัติถูกกระทบ
เพราะเกิดความรู้สึกอดอยาก หรือรังเกียจอาหารแล้ว
ก็ควรแก้ไขเท่าที่จะทำได้

(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 พ.ค. 2009, 21:53 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


เรื่องของนางมาติกมาตา

ครั้งหนึ่งมีพระสงฆ์ ๖๐ รูป ปฏิบัติธรรมอยู่ในป่า
โดยมีนางมาติกมาตาเป็นโยมอุปัฏฐาก
นางมีความศรัทธามาก พยายามเลือกสรรอาหาร
ที่คิดว่าพระสงฆ์จะชอบและปรุงอาหารให้มีปริมาณเพียงพอ
สำหรับพระทุกรูปทุก ๆ วัน

วันหนึ่ง นางมาติกมาตาเข้าไปกราบเรียนถามพระสงฆ์ว่า
ฆราวาสจะปฏิบัติธรรมอย่างพวกท่านบ้างได้หรือไม่

“ ได้สิ ” พระสงฆ์ตอบ แล้วสอนวิธีการให้นาง

นางเพียรพยายามปฏิบัติแม้ในขณะปรุงอาหาร
และทำงานบ้านอื่น ๆ
จนในที่สุดนางก็บรรลุเป็นพระอนาคามี

และด้วยบุญที่สั่งสมมาในอดีต
นางจึงมีอภิญญา เช่นตาทิพย์ หูทิพย์
กล่าวคือสามารถมองเห็นและได้ยินในที่ไกล ๆ
และมีเจโตปริยญาณ คือสามารถหยั่งรู้ใจคนอื่น

นางมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่รู้ว่าตนได้บรรลุธรรมวิเศษ
และคิดว่าเนื่องจากตนมีงานมาก
ต้องดูและครัวเรือนและทำอาหารถวายพระสงฆ์ทุกวัน
เหล่าพระสงฆ์จึงน่าจะมีความก้าวหน้าในการปฏิบัติกว่านางมาก

ด้วยญาณวิเศษ นางจึงตรวจดูความคืบหน้าของพระสงฆ์ทั้ง ๖๐ รูป
และต้องตกใจเมื่อพบว่ายังไม่มีพระสงฆ์รูปใดเลยที่ได้บรรลุ
แม้เพียงวิปัสสนาญาณขั้นต้น

“ เกิดอะไรขึ้น ”

นางสงสัยแล้วตรวจดูสภาวะของพระแต่ละรูปด้วยอภิญญา
เพื่อหาสาเหตุของอุปสรรคในการปฏิบัติ

สถานที่ก็ไม่มีปัญหา การอยู่ร่วมกันก็มิใช่ปัญหา
อาหารนี้แหละที่เป็นอุปสรรค


เนื่องจากพระบางรูปชอบเปรี้ยว บางรูปชอบเค็ม
บางรูปชอบเผ็ด บางรูปชอบขนมหวาน และบางรูปชอบผัก

ด้วยความสำนึกในพระคุณที่พระสงฆ์สั่งสอนกรรมฐานให้
จนนางได้บรรลุธรรมะอันยิ่งใหญ่
นางมาติกมาตาเริ่มทำอาหารแบบที่พระแต่ละรูปชอบ
ในไม่ช้า พระทุกรูปก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์

การบรรลุธรรมอย่างรวดเร็วและลึกซึ้งของนาง
ประกอบกับความเฉลียวฉลาดและความเสียสละเพื่อผู้อื่น
เป็นตัวอย่างที่ดี สำหรับพ่อแม่ และผู้ที่ดูแลผู้อื่น
ซึ่งแม้จะช่วยผู้อื่นอยู่
ก็มิใช่ว่าจะสิ้นความหวังในการบรรลุสัจธรรมอันลึกซึ้ง


(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 พ.ค. 2009, 22:01 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


ในโอกาสนี้ อาตมาขอกล่าวถึงประเด็นเกี่ยวกับมังสวิรัติไว้ด้วย

บางคนคิดว่าการกินผักแต่อย่างเดียวเป็นคุณธรรมอย่างหนึ่ง
แต่ ในศาสนาพุทธนิกายเถรวาท
ไม่ปรากฏแนวคิดว่า
มังสวิรัติช่วยให้สามารถเข้าถึงธรรมได้เป็นพิเศษแต่อย่างใด


พระพุทธองค์เองมิได้ทรงห้ามการรับประทานเนื้อโดยสิ้นเชิง
เพียงแต่วางเงื่อนไขไว้บางอย่าง


เช่น สัตว์นั้นต้องมิได้ถูกฆ่าเพื่อการบริโภคครั้งนั้นโดยเฉพาะ
พระเทวทัตได้ทูลขอให้พระพุทธองค์บัญญัติพระวินัย
ห้ามการฉันเนื้อโดยเด็ดขาด
แต่หลังจากที่ได้ทรงไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วน
พระพุทธองค์ทรงปฏิเสธที่จะทำเช่นนั้น

ในสมัยนั้น ก็เช่นเดียวกันกับสมัยปัจจุบัน
คือผู้คนส่วนใหญ่จะรับประทานเนื้อและผัก
มีเพียงพวกพราหมณ์หรือชนชั้นสูงที่เป็นมังสวิรัติ


เมื่อพระสงฆ์ออกบิณฑบาตท่านต้องรับอาหารทุกชนิดที่คนถวาย
ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นใด
การแบ่งแยกระหว่างผู้ถวายที่เป็นมังสวิรัติ หรือที่รับประทานเนื้อสัตว์
ย่อมขัดแย้งต่อเจตนารมณ์ของการบิณฑบาต

นอกจากนี้ ทั้งพราหมณ์และชนชั้นอื่น ๆ
ก็อาจมาบวชเป็นพระภิกษุ ภิกษุณีได้

ซึ่งพระพุทธองค์ได้ทรงพิจารณาเรื่องนี้
ตลอดจนประเด็นต่าง ๆ ที่ตามมาทั้งหมดแล้วเช่นกัน


ดังนั้น เราจึงไม่จำเป็นต้องรับประทานมังสวิรัติเพื่อที่จะปฏิบัติธรรม

แน่นอนว่าการรับประทานมังสวิรัติที่สร้างความสมดุลให้แก่ร่างกาย
ย่อมเป็นประโยชน์กับสุขภาพ

และหากผู้ปฏิบัติไม่รับประทานเนื้อสัตว์เพราะเมตตาสงสารสัตว์
ก็นับเป็นกุศลเจตนาอย่างแน่นอน

แต่หากร่างกายของผู้ปฏิบัติคุ้นเคยกับการรับประทานเนื้อสัตว์
หรือมีปัญหาสุขภาพอันใดที่ทำให้ต้องรับประทานเนื้อสัตว์
การปฏิบัติดังกล่าวไม่ควรถือว่าเป็นบาป
หรือเป็นอุปสรรคในการปฏิบัติธรรม

การวางกฎระเบียบที่คนส่วนใหญ่ไม่สามารถปฏิบัติตามได้
ก็ย่อมจะไร้ประสิทธิผล


(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 พ.ค. 2009, 22:06 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


๖. ภูมิอากาศเหมาะสม

มนุษย์นั้นมีความสามารถในการปรับตัว
ในสภาพอากาศต่าง ๆ ได้อย่างยอดเยี่ยม
ไม่ว่าอากาศจะร้อนหรือหนาวเพียงไร
มนุษย์จะหาทางปรับตัวให้สามารถอยู่อย่างสุขสบายได้

แต่หากวิธีการเหล่านี้มีข้อจำกัด
หรือไม่มีหนทางที่จะปรับตัวได้
ก็อาจเป็นผลเสียต่อการปฏิบัติ


ในกรณีดังกล่าว หากกระทำได้
ก็ควรย้ายไปปฏิบัติธรรมในสถานที่ที่มีภูมิอากาศเหมาะสม

๗. อิริยาบถที่เหมาะสม

อิริยาบถในที่นี้ หมายถึง การยืน เดิน นั่ง และนอน

การนั่ง เป็นอิริยาบถที่เหมาะสำหรับ สมถภาวนา ที่เน้นความสงบ

ในการปฏิบัติในสายของพระอาจารย์มหาสีสยาดอนั้น
วิปัสสนากรรมฐานจะใช้อิริยาบถนั่งและเดินเป็นพื้นฐาน

แต่ไม่ว่าการปฏิบัติแบบใด
เมื่อสติมีความต่อเนื่องตั้งมั่นดีแล้ว
อิริยาบถใดก็นับว่าเหมาะสมทั้งสิ้น


โยคีที่เพิ่งเริ่มปฏิบัติ ควรหลีกเลี่ยงอิริยาบถนอนและยืน
เพราะการยืนก่อให้เกิดความเจ็บปวดได้ในระยะเวลาอันสั้น
ความตึงและน้ำหนักที่กดลงสู่ขา อาจรบกวนการปฏิบัติได้
ท่านอนมีปัญหาเพราะทำให้เกิดความง่วงเนื่องจากความเพียรต่ำ
และเป็นท่าที่สบายเกินไป

จงตรวจสอบสถานการณ์ของตนเองเพื่อดูว่า
ปัจจัยสนับสนุนทั้งเจ็ดมีครบหรือไม่


หากไม่ครบ ก็ควรหาทางทำให้ปัจจัยดังกล่าวเกิดขึ้น
เพื่อช่วยให้การปฏิบัติของตนเองมีความก้าวหน้าต่อไป

และหากการกระทำนั้น
มุ่งส่งเสริมความเจริญในธรรมปฏิบัติอย่างแท้จริงแล้ว
ก็ย่อมมิใช่การกระทำที่เห็นแก่ตัว


(มีต่อ : ๕.จดจำสภาวะที่เอื้ออำนวยในอดีต)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 พ.ค. 2009, 23:26 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


๕. จดจำสภาวะที่เอื้ออำนวยในอดีต

วิธีที่ ๕ ในการเจริญพละ ๕
คือการอาศัยสิ่งที่เป็นปัจจัยให้เกิดสมาธิในอดีต
ซึ่งหมายถึง จดจำสถานการณ์ที่ช่วยให้การปฏิบัติเป็นไปด้วยดีในอดีต
ทั้งทางด้านสติและสมาธิ ดังที่ผู้ปฏิบัติทุกคนรู้ดี

หากปฏิบัติมีขึ้นมีลง
บางครั้งเรารู้สึกเบิกบานสุขสงบในดินแดนแห่งสมาธิ
แต่บางครั้งเราอาจรู้สึกหดหู่ ถูกกิเลสเล่นงาน
ไม่สามารถกำหนดอะไรได้เลย

การใช้ “ สมาธิปัญญา ” ก็คือ
เวลาที่ผู้ปฏิบัติกำลังมีสมาธิแนบแน่น สติตั้งมั่น
ให้ผู้ปฏิบัติสังเกตว่าสถานการณ์แบบไหน
มีส่วนช่วยทำให้การปฏิบัติของตนเป็นไปเช่นนั้น
เราจัดการกับจิตใจของตนเองอย่างไร
มีสภาวะอะไรเกิดอยู่ในขณะที่การปฏิบัติที่ดีนั้นกำลังดำเนินอยู่


เมื่อประสบกับปัญหาในการปฏิบัติ
ผู้ปฏิบัติจะได้ระลึกถึงปัจจัยที่ดีเหล่านั้น
และสามารถสร้างให้เกิดขึ้นอีกได้


(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 พ.ค. 2009, 23:46 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


๖. ปลูกฝังโพชฌงค์เจ็ด

วิธีที่ ๖ ในการพัฒนาพละให้คมกล้า
คือการปลูกฝังโพชฌงค์เจ็ด
หรือองค์ธรรมแห่งการตรัสรู้ให้เกิดขึ้นได้แก่
สติ ธัมมวิจยะ วิริยะ ปีติ ปัสสัทธิ สมาธิ และอุเบกขา


คุณสมบัติของจิตเหล่านี้คือสาเหตุของการตรัสรู้ธรรม
เมื่อมีโพชฌงค์ในใจก็เท่ากับผู้ปฏิบัติสร้างเหตุแห่งการตรัสรู้ธรรม
และกำลังก้าวเข้าใกล้พระนิพพานมากขึ้นทุกขณะ

นอกจากนี้ โพชฌงค์เจ็ดก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของ
การระลึกรู้มรรคผล (มัคคญาณผลญาณ) ในทางพุทธศาสนา
เมื่อกล่าวถึงการระลึกรู้ต่าง ๆ หมายถึงความระลึกรู้ที่เจาะจงชั่วขณะ
อันเป็นปรากฏการณ์ทางจิตที่มีลักษณะพิเศษที่สามารถระลึกรู้ได้


มัคคญาณผลญาณคือสภาวะจิตที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง
และประกอบกันเป็นประสบการณ์แห่งการตรัสรู้ธรรม


มัคคญาณผลญาณคือสิ่งที่เกิดขึ้น
เมื่อสภาวะจิตเปลี่ยนจากการระลึกรู้
อยู่ในสมมุติบัญญัติเข้าสู่พระนิพพาน
ผลของการเปลี่ยนแปลงนี้จะทำให้กิเลสถูกกำจัดออกไป
ทำให้จิตเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง

ในระหว่างการพัฒนาจิตเพื่อให้เกิดมรรคผลนี้
ผู้ปฏิบัติที่เข้าใจโพชฌงค์เจ็ด
ก็อาจใช้องค์ธรรมเหล่านี้
ในการรักษาสมดุลในการปฏิบัติของตนได้


วิริยะ ปีติ และธัมมวิจยะสัมโพชฌงค์
ช่วยยกระดับจิตเมื่อจิตหดหู่เศร้าหมอง

ในขณะที่ ปัสสัทธิ สมาธิ และอุเบกขา ทำจิตให้สงบลง
เมื่อจิตโลดโผนโจนทะยานเกินไป


หลายครั้งโยคีอาจรู้สึกหดหู่ ท้อถอย ขาดสติ
และคิดว่าการปฏิบัติของตนแย่ลง ไม่ก้าวหน้า

สติไม่สามารถกำหนดสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างเคย
ในเวลาเช่นนี้ โยคีต้องพยายามกระตุ้นจิตใจของตน
ให้หลุดพ้นจากภาวะดังกล่าว
ทำให้จิตใจสดใสขึ้น โยคีควรหาวิธีสร้างกำลังใจ หรือแรงบันดาลใจ

เช่น การฟังธรรมเทศนาที่จับใจ ที่จะทำให้เกิดปีติ
บันดาลใจให้เกิดความพากเพียรยิ่งขึ้น
หรือทำให้ธัมมวิจยะสัมโพชฌงค์เจริญขึ้น
โดยการให้ความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติ

องค์ธรรมทั้งสามนี้
กล่าวคือ ปีติ วิริยะ และธัมมวิจยะ
มีประโยชน์มากเมื่อเผชิญกับความหดหู่และท้อถอย

(มีต่อ)


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 41 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2, 3  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 3 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร