วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 19:07  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=2



กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ก.ค. 2020, 08:46 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2863


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:
คัดมาจาก :
โครงการหนังสือบูรพาจารย์ เล่ม ๑๒
ดร.ปฐม-รศ.ภัทรา นิคมานนท์, มกราคม ๒๕๕๐
พระธรรมเทศนา กัณฑ์ที่ ๑๒ รีบเร่งภาวนาละกิเลส
หน้า ๕๒๑-๕๓๑


รูปภาพ

รีบเร่งภาวนาละกิเลส
พระธรรมเทศนาโดย...
พระญาณสิทธาจารย์ (หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร)
สำนักสงฆ์ถ้ำผาปล่อง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่
แสดงธรรมเมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๒๗

*************

ณ โอกาสนี้เป็นต้นไป เป็นโอกาสที่เราทุกคนจะได้ตั้งใจฟังธรรม
พร้อมกับการนั่งสมาธิภาวนา

การนั่งสมาธิภาวนานี้
พระพุทธเจ้าของพวกเรา พระองค์นั่งมาก่อนพวกเราทั้งหลาย

ตัวอย่างมีอยู่ เมื่อพระองค์จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
พระองค์นั่งสมาธิภาวนาใต้ร่มไม้โพธิ์ ในวันเดือน ๖ เพ็ญ
จึงได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

เดือน ๖ เพ็ญ นี้มีความหมายสำหรับพระพุทธเจ้าของเรา
คือเมื่อพระองค์ประสูติ วันเกิดของพระองค์ก็เดือน ๖ เพ็ญ
เสด็จออกบรรพชาภาวนา ๖ พรรษากว่า
ก็ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าก็เดือน ๖ เพ็ญ
เมื่ออายุของพระพุทธเจ้าของเราได้ ๘๐ ปี
ก็ดับขันธ์เข้าสู่นฤพานเดือน ๖ เพ็ญอีกเหมือนกัน

เดือน ๖ เพ็ญจึงมีความหมายของพระพุทธเจ้า
ที่เราจะต้องระลึกถึงว่าพระองค์นั้นอะไรๆ เป็นหลักเป็นฐาน
พระองค์ทำอะไร ปฏิบัติอะไร เรียกว่าเอาจริงเอาจัง
การปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้านั้น
จะต้องบำเพ็ญทาน รักษาศีล ภาวนา ทุกภพทุกชาติ
เมื่อยังไม่ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

แม้จะเป็นเวลานานเท่าไร พระองค์ก็มีความเพียร
นาน ๔ อสงไขยแสนมหากัป นี่เรียกว่าอย่างได้ตรัสรู้ง่ายๆ
อย่างกลางก็เรียกว่า ๘ อสงไขยแสนมหากัป จึงตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าได้
อย่างสูงสุด ๑๖ อสงไขยแสนมหากัป
นับว่าต้องมีความพากเพียรพยายามอดทนเอาจริงเอาจัง
จึงได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมาได้


ส่วนพวกเราทั้งหลายนี้ไม่ได้บำเพ็ญขนาดนั้น
คือว่าบำเพ็ญพอได้สำเร็จมรรคผลไปถึงนิพพานก็พอแล้ว เรียกว่าน้อยไม่มาก

ถึงว่าน้อยไม่มากก็จริง แต่ก็ต้องมีความอดทน
บารมีคือจิตใจมันจึงแก่กล้าสามารถขึ้นไปโดยลำดับ

อันทางไปสู่นิพพานนี้ ไม่มีใครจะตรัสรู้เองเหมือนพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เหมือนพระปัจเจกพุทธเจ้า สองพุทธะเท่านั้น ตรัสรู้ไปถึงนิพพานได้

ส่วนสาวกสาวิกา ศรัทธาญาติโยมในพุทธศาสนานี้ ต้องได้ยินได้ฟัง
ถ้าไม่ได้ยินไม่ได้ฟัง จะคิดเอาไปเองไม่ได้ทั้งนั้น ติด
เพราะว่าจิตใจมันอ่อนแอท้อแท้กลัวตาย ภาวนาเล็กๆ น้อยๆ ก็กลัวตาย
เหน็ดเหนื่อยเมื่อยหิวนิดๆ หน่อยๆ
ก็เลิกล้มความเพียร ไม่ภาวนาให้ได้ทุกวันทุกคืน

การภาวนาพุทโธ ที่ให้นึกพุทโธในใจนั้น
คือว่าไม่เฉพาะแต่เวลาที่เราจะหลับจะนอนเท่านั้น
อันนี้เรียกว่าเป็นกาลเป็นเวลา
โดยเฉพาะก่อนที่เราจะหลับจะนอนทุกๆ คืนนั้น
ให้กราบพระไหว้พระทำวัตรสวดมนต์พอสมควร
แล้วก็นั่งขัดสมาธิเพชรบริกรรม พุทโธ หรืออุบายอื่นใดก็ได้
อันนี้เรียกว่า เป็นกาลเป็นเวลา

ส่วนไม่เป็นกาลเวลานั้น
เรานึกได้เมื่อใดเวลาใดก็นึกถึงคุณพระพุทธเจ้า รวมจิตรวมใจไปเรื่อยทีเดียว
นั่งก็นึกได้ ยืนก็นึกได้ เดินไปที่ไหน ไปรถไปรา ก็นึกเจริญได้
เอาจนมันเคยชินสม่ำเสมอทุกลมหายใจเข้าออกนั้นแหละ

เรียกว่าฝึกฝนอบรมจนเกิดสติ เกิดสมาธิ เกิดปัญญา เกิดญาณอันวิเศษ
ถึงขั้นละกิเลสความโกรธ ความโลภ ความหลงในจิตใจของเราได้ด้วยตนเอง

ไม่ใช่ผู้อื่นช่วย ผู้อื่นก็เป็นเพียงแนะนำตักเตือนสั่งสอน

สมัยพระพุทธเจ้าของเรายังมีพระชนม์ชีพชีวิตอยู่นั้น
พระองค์เป็นผู้ตรัสพระธรรมเทศนาสอน เมื่อสอนแล้วเทศน์แล้ว
สาวกทั้งหลายได้ยินได้ฟังก็จดจำเอาไปประพฤติปฏิบัติบำเพ็ญภาวนา
จนได้ปัญญาเลิกละตัดปล่อยกิเลสในหัวใจของตนได้ด้วยตนเอง
ไม่ใช่พระพุทธเจ้าไปช่วยละเกิเลสให้

การละกิเลสเป็นเรื่องของสาวกทั้งหลายพวกเราทั้งหลาย
พระพุทธเจ้าก็เป็นผู้ตรัสเป็นผู้ชี้แจงแสดง
ไม่ใช่พระพุทธเจ้าไปละความโกรธ ความโลภ ความหลงให้สาวก
ให้เราเข้าใจให้ดี คือตัวเราเองต้องทำต้องปฏิบัติ

การที่เราฟังนี้ ท่านให้ชื่อว่าเป็น ปริยัติธรรม
ปริยัติธรรมก็คือว่าธรรมะคำสั่งสอนนี้
พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์นั้นแหละ

เราก็จดจำนำมาปฏิบัติให้เป็นไปได้ตามโอวาทคำสอนของพระองค์

การจดจำ นี้เรียกว่าเป็น พระปริยัติธรรม
เมื่อเราจดจำแล้วเอามาปฏิบัติตาม เป็นการปฏิบัติธรรมอีกทีหนึ่ง
ทั้งผิดทั้งถูกทั้งอะไรสูงๆ ต่ำๆ ยังไม่ถูกต้องดี ก็ยังไม่เกิดมรรคเกิดผล

เมื่อทำได้คล่องแคล่วรวดเร็วเต็มที่ จนเกิดความรู้แจ้งเห็นจริง
เลิกละกิเลสความโกรธโลภหลงได้ จึงเป็นปฏิเวธธรรม
เรียกว่าได้บรรลุมรรคผล เห็นแจ้งด้วยสติปัญญาในใจของตนได้
นั่นจึงจะจบในศาสนธรรมคำสั่งสอนพระพุทธเจ้า

ฉะนั้น การปฏิบัติจึงจำเป็นต้องประกอบกระทำตั้งแต่บัดนี้เดี๋ยวนี้

ผู้ที่ยังเด็กยังแข็งแรงก็ให้รีบทำ อย่าไปรอให้มันแก่ชราเสียก่อน
อันนั้นเป็นความไม่รู้เท่ากาลเวลา

การทำคุณงามความดีนั้น ใครทำได้แต่เมื่อเด็กเมื่อเล็กก็ยิ่งดียิ่งวิเศษ

สมัยครั้งพุทธกาล ผู้บวชเป็นสามเณรขนาด ๗ ขวบ
ท่านก็ภาวนาละกิเลส ได้เป็นพระโสดา สกิทาคา อนาคา เป็นพระอรหันตาได้

แม้เด็กๆ อยู่บ้านก็ภาวนาได้ตั้งแต่อายุ ๗ ขวบขึ้นไป
เพราะคนสมัยก่อนโน้นเป็นคนใจบุญสุนทาน
บุญบารมีท่านบำเพ็ญมาจึงได้ไปเกิดในสมัยพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้

การที่เราได้มาพบพระพุทธศาสนาในเวลานี้
คือเราไม่ได้บำเพ็ญใกล้พระพุทธเจ้า ห่างไกล จึงได้มาเกิดห่างๆ อย่างนี้แหละ
ครั้นเกิดมาแล้วก็อย่าเข้าใจว่าเราทำไม่ได้ ปฏิบัติไม่ได้

ขึ้นชื่อว่ามนุษย์คนเราแล้ว ถ้ามีความเพียร นานก็ทำได้ เพราะใจมันตั้งมั่น
ใจนี้แหละเชื่อ เลื่อมใส เลื่อมใสในคุณพระพุทธเจ้า
ในองค์พระพุทธเจ้า ในพระธรรม ในพระอริยสงฆ์สาวก

คนสมัยก่อนโน้นก็เป็นมนุษย์เหมือนเรา
พวกเราตัวเรามาเกิดในภพนี้ชาตินี้ก็ได้ภาวะความเป็นมนุษย์มาแล้ว

มนุสฺส ปฏิลาโภ ความเกิดมาเป็นคนเป็นมนุษย์นี้เป็นลาภอันประเสริฐ

เราจะทำบุญสุนทาน ปฏิบัติบูชาภาวนาได้ทุกอย่างทุกประการ
เพราะว่ามนุษย์เรานี้มันรู้จักเปลี่ยนแปลงแก้ไขสิ่งที่ไม่ดีออกไปได้
จึงให้พากันรีบเร่งประกอบกระทำ

ทำไมจึงให้รีบเร่ง ก็เพราะว่าถ้าเราไม่เร่งรีบประกอบกระทำเสีย
ในเวลาอยู่ดีสบายอย่างนี้น่ะ
เราจะไปรอว่าเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยเมื่อใดเวลาใด
จึงภาวนา พุทโธ พุทโธ เพราะเราก็จำได้

อย่าไปภาวนาในเวลานั้นเลย มันไม่ได้ เคยมีเคยเป็นมาแล้ว
อย่างว่าผู้ที่เจ็บไข้ได้ป่วยอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมา
ไปแนะนำสั่งสอนให้ภาวนา ให้ทำจิตทำใจให้สงบระงับ
คนที่เจ็บแบบสดๆ ร้อนๆ จนร้องจนคราง จนร้องไห้น้ำตาไหล
ถ้าเราไปตักเตือนว่าอย่าไปร้องเลย ให้ภาวนา

มันก็ตอบออกมาว่า มันเลยภาวนาแล้ว
นั่นไปโน้นเลย จะเลยยังไงมันยังไม่ตาย

ภาวนานี้ ท่านให้ภาวนาจนถึงวาระสุดท้ายจนหมดลมหายใจนั่นแหละ

ทีนี้พอจิตใจมันไม่เอาถ่าน มันคิดแต่ว่าจะให้ความเจ็บนั้นหาย
หายแล้วจึงจะภาวนา ไม่ได้

ความเจ็บไข้ได้ป่วยนี้มันเป็นธรรมดาของรูปขันธ์
ส่วนจิตใจนั้นมันไม่ต้องการเจ็บป่วย แต่มันก็ได้
เพราะมันยึดรูป เป็นตัวตนของตัวเอง
เวลามันเจ็บขึ้นมาแล้วมันก็ไม่ต้องการไม่ปรารถนา

แต่ไม่ปรารถนามันก็ได้ เพราะจิตมายึดว่าตัวเราเจ็บ
ตัวเราสบายก็ดีใจ ตัวเราไม่สบายก็เสียใจ
แล้วจะให้เป็นอยู่ดีสบาย เอาแต่ความสบายเข้าว่า ไม่ได้

เราต้องประกอบกระทำให้มันทันกาลเวลา อะไรเล่าจะทันเวลา
ท่านให้ตั้งใจลงไป เอาปัจจุบันธรรม
ธรรมที่เป็นปัจจุบัน คือในขณะนี้เดี๋ยวนี้
แม้จะอีก ๑๐ ปีข้างหน้าก็ตาม มันก็ไปจากปัจจุบันนี้แหละ

เมื่อผู้ใดมาภาวนารวมจิตรวมใจของตนในเวลาปัจจุบันนี้ให้ได้
จนสงบตั้งมั่นเป็นดวงหนึ่งดวงเดียวได้แล้ว มันก็ไม่ทุกข์ไม่ร้อน
นั่งอยู่ก็ภาวนา พุทโธ อยู่ในใจของตัวเองอยู่ตลอดเวลา
จะเลิกละตัวทิฐิมานะความยึดถือ
ในหน้าในตา ในชื่อในเสียง ในเราในของเราออกไป

โดยการมารู้แจ้งว่าร่างกายสังขารตัวตนคนเรานี้
ก็คือว่า ปฐวี ธาตุดิน เอาธาตุดินภายนอกมาปั้นเป็นตัวของคนเรา
เอาธาตุน้ำมาใส่ไว้ในตัวนี้ เอาธาตุลม ธาตุไฟมาไว้

ธาตุทั้ง ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม นั้นเอง ที่มันเป็นตัวตนของคนเรานี้
เมื่อธาตุเหล่านี้มันอยู่ อาศัยกันอยู่ไม่นาน ภายใน ๑๐๐ ปีนี้แหละ
ธาตุนี้มันก็ต้องกระจัดกระจายไปเป็นธรรมดา จึงได้เกิดความเจ็บไข้ได้ป่วย

เมื่อมันประสานสามัคคีกันไม่ได้ ก็เป็นอันว่าแตกดับตายไป

คำว่า ตาย ไปนี้ ธาตุดิน ที่มันมาประชุมกันอยู่นี้แตกไปดับไปต่างหาก
ส่วนจิตใจผู้รู้อยู่ในตัวในใจเราทุกคนนั้น มันไม่ได้แตกไม่ได้ดับ

ถ้าใจนี้ภาวนาดี รู้จักหน้าตากิเลส
ไม่ทำตามอำนาจกิเลส ไม่พูดไปตามอำนาจกิเลส ไม่คิดไปตามอำนาจกิเลส
เรียกว่าภาวนาแก้ไขเรื่อยไป จนจิตใจของเรามีความสงบตั้งมั่น
รู้แจ้งเห็นจริงในโลกนี้ว่า รูปนาม กายใจ ตัวตน สัตว์บุคคลนี้
มีความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

เขาเป็นอยู่แล้ว แต่เราไม่รู้ไม่เข้าใจเพราะใจไม่สงบ
จึงจำเป็นต้องทำใจของเราให้มีความสงบตั้งมั่น
เป็นดวงหนึ่งดวงเดียว อยู่ในตัวในใจให้ได้

เมื่อจิตใจดวงผู้รู้อยู่ในตัวนี้แหละสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิภาวนาได้ดีแล้ว
จึงจะได้ปัญญา วิชชา ความรู้เท่าทันในรูปนาม กายใจ ตัวตน สัตว์บุคคล

จนกระทั่งไม่ว่าจะมองเห็นอะไรด้วยสายตา
ก็เห็นสิ่งนั้นว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาอยู่ทั้งนั้น

หู ได้ฟังเสียงเพราะไม่เพราะอะไร
มันก็แสดงความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาอยู่อย่างนี้

ตลอดโลกนี้ ทั้งผืนแผ่นดิน ท้องฟ้าอากาศ ดวงอาทิตย์ พระจันทร์
ดวงดาวทั้งหลาย ก็ตกอยู่ในความไม่เที่ยงแท้แน่นอน
นานไปมันก็เปลี่ยนแปลงไป มีการเกิดได้มันก็มีการดับได้

จิตใจก็ไม่ไปหลงใหล ไปยึดมั่นถือมั่นในที่ทั้งปวง
แก้ไขจิตใจของตัวเองให้มาสงบตั้งมั่นอยู่ในกายในจิต
จนได้ปัญญา วิชชา ความรู้ความฉลาด ความสามารถอาจหาญ
ตัดบ่วงห่วงอาลัยต่างๆ ไม่ให้มาผูกมัดรัดรึงอยู่ในหัวใจของเรา

ดวงใจคนอื่นผู้อื่นก็ต้องแก้ไขของเขาไปตามเรื่อง แก้ไขจริงๆ
มันตัวใครตัวมัน จะไปแก้ให้กันไม่ได้ เพราะมันเป็นนามธรรม เป็นธรรมภายใน
คนอื่นมาช่วยแก้ไม่ไหว เป็นหน้าที่ของตัวเองจะต้องแก้ไข
ด้วยการปฏิบัติดีในทางกาย ในทางวาจาคำพูด ในทางจิตความคิด

ท่านจึงให้เอาจิตใจดวงผู้รู้นั้นมาภาวนา พุทโธ อยู่ในดวงใจ
ตั้งใจให้มั่นคงลงไปในหัวใจนี้ให้ได้

เพราะว่าใจเราตั้งมั่นได้แล้ว เป็นสมาธิภาวนาดีแล้ว
จะกำหนดพิจารณาอะไรก็ตลอดรอดฝั่ง
คือว่าเห็นจริงเห็นแจ้งไปตามความเป็นจริง
เพราะจิตมันสงบตั้งมั่นลงไปได้แล้วก็ต้องเป็นไปได้

ถ้าจิตมันยังสงบไม่ได้ จะกำหนดให้หยุดให้อยู่ก็ยังไม่ได้
จะไปกำหนดพิจารณาก็ไม่รู้เรื่อง

ฉะนั้น ข้อแรกจึงมีอยู่ว่า ต้องทำใจของตนให้มีสมาธิคือจิตตั้งมั่น
จิตหยุดจิตอยู่ จิตไม่ว่างวิตกวิจารฟุ้งซ่านรำคาญไม่มี
เป็นจิตใจอันแน่วแน่มั่นคง ไม่หลงใหลไป
ตามรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์

เป็นจิตที่มีสติความระลึกได้ตลอดเวลา
เป็นจิตที่มีสมาธิ จิตตั้งมั่น จิตหนักแน่นไม่หวั่นไหว

เมื่อจิตใจนี้มีสมาธิ มีปัญญา
จิตใจก็ย่อมสามารถอาจหาญในการที่จะปฏิบัติบูชาภาวนา
ไม่ให้จิตใจท้อถอยในการทำความเพียรภาวนา ปฏิบัติไปเรื่อยไป
จนเกิดความเชื่อความเลื่อมใสขึ้นมาในจิตใจของเราให้ได้

รู้แจ้งรู้จริงรู้อยู่ในตัวในใจของเราได้แล้ว เมื่อใดเวลาใด
เราทุกคนจึงจะเข้าใจในธรรมปฏิบัติ

เมื่อเข้าใจแจ่มแจ้งชัดเจนแล้ว ก็ละสิ่งที่ควรละให้หมดไปสิ้นไป
เจริญสิ่งที่ควรเจริญ คือเจริญภาวนา
พิจารณาให้เห็นว่าร่างกายสังขารตัวตนคนเรานี้
มันไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอนยั่งยืนเลย

ดูแต่เมื่อแรกเกิดมาตัวน้อยนิดเดียว ต่อมาก็เจริญวัยใหญ่โตขึ้นมาโดยลำดับ
เพราะมีบิดามารดาผู้บังเกิดเกล้าช่วยดูแลรักษามาโดยลำดับ
จนกระทั่งใหญ่แล้วตัวเองรักษาตัวเองเลี้ยงดูตัวเองได้
เราก็เลี้ยงดูรักษาตัวเราเป็นมาโดยลำดับ

ทีนี้เมื่อร่างกายมันเจริญสุดขีดแล้ว มันมีหน้าที่ชำรุดทรุดโทรม
เพราะว่าร่างกายของคนเรานั้น มันมีความแก่ชราเป็นธรรมดา
ใครจะไปตกแต่งอย่างไรไม่ให้มันแก่ชรานั้น มันเป็นไปไม่ได้ เปลี่ยนเรื่อยไป

ผลที่สุดความแก่ชราก็ปรากฏการณ์ออกมา กำลังวังชาไม่มี ผมสีดำก็เปลี่ยนไป
เรี่ยวแรงที่มีกำลังวิ่งเต้นได้ ก็เต้นไม่ได้ วิ่งไม่ได้ จะลุกก็โอย จะนั่งก็โอย
มันขัดนั้นขัดนี้หมดในร่างกายสังขารนั้น เอาดีไม่ได้

นี้คือว่ามันโรคชราความแก่ เมื่อแก่มาแล้วมันเป็นเหมือนกันหมด
เมื่อแก่มาแล้ว ความเจ็บไข้ได้ป่วยนั้นก็เรียกว่าหนักมาก
สิ่งที่เราไม่เคยเจ็บมันก็เจ็บ สิ่งที่เราไม่เคยเป็นมันก็เป็น
ขยับเข้าไปเรื่อยจนกระทั่งว่าถึงวันจะแตกดับตายจริงๆ แล้ว ไม่มียาแก้
ยาที่ว่าแก้ได้นั้นคือว่ามันยังไม่ถึงเวลาเท่านั้นแหละ
แก้ไปก็เหมือนแก้ไม่ได้ มันก็บรรเทาไปนิดหนึ่งหน่อยหนึ่ง
เดี๋ยวมันก็เปลี่ยนแปลงขึ้นมาใหม่อีก ผลที่สุดมันก็เอาให้ตายจนได้

ด้วยเหตุนี้จึงว่าให้รีบเร่ง ให้เร่งภาวนาซะ
ดีที่สุดก็คือว่าเราต้องเลิกกิเลสความโกรธ ความโลภ ความหลง
อันมันหมักดองอยู่ในกายในจิตในสันดานนี้ ให้หมดสิ้นไปก่อนตาย

ถ้ากิเลสเหล่านี้ยังไม่หมดสิ้นไป ตายเมื่อใด มันก็เกิดขึ้นมาอีกอย่างนี้แหละ
เกิดมาอีกก็ทุกข์ไปอีก แก่ไปอีก เจ็บไปอีก ตายไปอีก วุ่นวายอยู่อย่างนี้แหละ

เพราะจิตมันยังไม่เห็น จิตมันยังไม่เบื่อหน่าย ยังไม่คลายกิเลสเหล่านี้ออกไป
ยังมาหลงยึดหน้าถือตา ยึดตัวถือตน ยึดเรายึดของเราอยู่
แตกดับเมื่อใดมันก็เกิดมาอีก ตายต่อไปอีก วุ่นวายอยู่อย่างนี้ ไม่มีทางแก้

ไปแก้ข้างนอกมันแก้ไม่ได้ ต้องแก้ภายใน แก้ทางใจ
เพราะตัวเหตุสำคัญมันอยู่ที่จิต
ดวงจิตดวงใจผู้คิดผู้นึก ผู้รู้ผู้เห็น อันมีอยู่ในกายในจิตของเราทุกคน
คือว่าจิตใจนี้มันเป็นใหญ่ เป็นประธาน สำเร็จแล้วด้วยดวงจิตดวงใจอันนี้ทั้งนั้น

ถ้าจิตมันเอาแล้ว ไม่ว่าศีลธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
มันทำได้ ปฏิบัติได้ ละกิเลสได้ กิเลสจะมีมากน้อยเท่าไร
ถ้าใจมันตั้งใจที่จะเลิกจะละแล้ว มันละได้ทั้งหมดนั่นแหละ

ก็พระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่างให้เราท่านทั้งหลายได้เห็น
พระอริยสงฆ์สาวกเจ้าทั้งหลาย ท่านเลิกท่านละได้จริงๆ
ท่านไม่กลับมาเกิดแก่เจ็บตายวุ่นวายอย่างเราๆ ท่านๆ
ก็เป็นหลักฐานพยานปรากฏการณ์อยู่อย่างนี้

เราทุกคนจึงให้พากันตั้งอกตั้งใจปฏิบัติบูชาภาวนา
เอาจริงเอาจังเสียที อย่าได้มีความท้อแท้อ่อนแอในหัวใจเลย

วันใดคืนใดก็ตาม ไม่ใช่วันเดือนคืนปีมันมาภาวนาให้เรา
จิตใจของเรา กายวาจาจิตของเรานี้แหละ
เป็นผู้นั่งสมาธิภาวนาไหว้พระสวดมนต์
บริกรรมภาวนา พุทโธ ในใจหรือบริกรรมบทอื่นใดก็ตาม

ก็ใจนี้แหละเป็นผู้บริกรรมทำใจให้สงบตั้งมั่นลงไปให้ได้
เมื่อใจสงบระงับตั้งมั่นได้แล้ว จะนั่งที่ไหน
จะอยู่ที่ไหน จะไปที่ไหน มันก็มีความสงบตั้งมั่น
ใจก็สบายเรื่อยไป ไม่ใช่ว่าใจมันจะร้อน ใจมันสบาย

เมื่อใจสบายแล้ว อยู่ที่ไหนก็สบาย ไปที่ไหนก็สบาย
คือใจภาวนาอยู่เนืองนิจติดต่อกันไป เป็นจิตใจไม่ท้อแท้อ่อนแอในหัวใจ
จิตใจเพ่งเล็งอยู่ในสมาธิภาวนาทุกวันทุกคืน ทั้งยืนทั้งเดินทั้งนั่งทั้งนอน
ไม่ว่าเราจะอยู่ในเพศใดวัยใดก็ไม่ท้อถอย

ถ้ายิ่งเจ็บไข้ได้ป่วยเกิดมีขึ้น ก็ยิ่งภาวนาให้เยี่ยมยอดขึ้นไป
หรือว่ามันถึงวาระที่จะแตกจะตาย
จิตใจที่ภาวนาได้ดีแล้วมันไม่ถอยละ ไม่ท้อแท้อ่อนแอ ไม่กลัวตาย

เพราะว่าพระโยคาวจรเจ้าทั้งหลาย
เมื่อท่านพินิจพิจารณาเห็นแจ้งแล้วว่าไหนๆ เกิดมาแล้วมันก็ต้องแก่ชรา
ก็ต้องเจ็บไข้ได้ป่วยและผลที่สุดมันก็ต้องตาย

ตายนั้นไม่ใช่ว่าแก่เฒ่าชราไปมาไม่ได้จึงตายทุกรายไป
ไม่ใช่ ความตายนั้นมีเหตุการณ์มากมายหลายอย่าง
เวลามันถึงวาระสุดท้าย แม้อายุไม่แก่ก็ตายได้
ยังเด็กอยู่ก็ตายได้ วัยกลางคนก็ตายได้
หรือว่าแก่ชราแล้ว ไม่มีทางหลบหลีก ตายแน่ๆ เต็ม ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์

ถ้าแก่แล้วหลบไม่ได้ ยังเด็กยังหนุ่มอยู่เหมือนกับว่าพ้นมาได้
แต่ว่าแก่จริงๆ แล้ว ไม่มีทางหลบ

จึงให้พากันเร่งรีบภาวนาตั้งแต่วันนี้ คืนนี้ เดี๋ยวนี้ เป็นต้นไป
คนอื่นผู้อื่นเขาไม่ทำไม่ปฏิบัติไม่เป็นไร
ให้เราทุกคนที่มานั่งอยู่นี่ให้ทำ ให้ปฏิบัติ
ไม่ต้องไปรอคนโน้นคนนี้ รอไม่ได้ ต้องรีบทำ

เมื่อเราชำระจิตใจของเราเองให้บริสุทธิ์ผ่องใสสะอาดแล้ว
ความตายมาถึงเข้าก็ไม่ทุกข์ไม่ร้อน เป็นเรื่องของความตาย
จิตใจของเราบริสุทธิ์ผ่องใสสะอาด ปราศจากมลทินโทษอยู่แล้ว
ใจก็ไม่ทุกข์ไม่ร้อน แก่ก็สบายใจ เจ็บก็สบายใจ ตายไปก็สบายใจ

เพราะเราไม่ได้ฆ่าให้มันตาย มันตายเองของมันเอง
เราไม่ทุกข์ไม่ร้อน ภาวนาจิตใจเย็นสบายเรื่อยไป
แก้ไขเหตุขัดข้องต่างๆ ออกจากจิตใจ
จิตใจก็ย่อมมั่นคงหนักแน่นขึ้นไปโดยลำดับๆ

นี่แหละเราท่านทั้งหลาย การที่เราได้เกิดมาเป็นมนุษย์
ได้พบพระพุทธศาสนา ได้ปฏิบัติบูชาบ้างพอสมควรแล้ว
ก็อย่านิ่งนอนใจ จงภาวนาในใจของตนให้ได้ทุกคืนทุกวัน

ทั้งชีพชีวิตของเราจะเป็นอยู่ในโลกนี้ได้นานเท่าใดก็ตาม
เมื่อเราภาวนาทำความเพียรละกิเลส
ความโกรธ โลภ หลง อวิชชา ตัณหา ในจิตใจได้แล้ว
จิตใจก็จะเย็นสบาย เป็นสุข ไม่มีความทุกข์เดือดร้อนประการใด

ก็ให้กำหนดจดจำนำไปประพฤติปฏิบัติ ก็คงได้รับความสุขความเจริญ

เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้

*************

:b44: รวมคำสอน “หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=42673

:b44: ประวัติและปฏิปทา “หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=21573


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 21 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร