ลานธรรมจักร http://dhammajak.net/forums/ |
|
สัมมาทิฏฐิ http://dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=2&t=26922 |
หน้า 1 จากทั้งหมด 2 |
เจ้าของ: | กรัชกาย [ 13 พ.ย. 2009, 19:20 ] |
หัวข้อกระทู้: | สัมมาทิฏฐิ |
(พุทธธรรมหน้า 732) องค์ประกอบของมัชฌิมาปฏิปทา หมวดปัญญา ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() พุทธศาสนามองจริยธรรมในแง่ของการถือเอาประโยชน์จากกฎธรรมชาติ หรือการนำเอา (ความรู้ใน) กฎธรรมชาติมาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่มนุษย์ ดังนั้น จึงได้ให้ความหมายของจริยะอันประเสริฐ คือ จริยธรรมที่ถูกต้องแท้จริงไว้ว่า เป็นการดำเนินชีวิต โดยวิถีทางที่จะทำให้ความเป็นไปตามธรรมดาแห่งเหตุปัจจัยของธรรมชาติบังเกิดเป็นประโยชน์แก่มนุษย์ ให้มากที่สุด หรือการดำเนินชีวิตด้วยความรู้เท่าทันธรรมดาของธรรมชาติโดยประพฤติปฏิบัติในทางที่จะผลักดัน และสรรค์สร้างเหตุปัจจัยต่างๆให้เป็นไปอย่างก่อผลดีบังเกิดคุณประโยชน์แก่มนุษย์ ดังจะเห็นได้ชัดในคำสอนเกี่ยวกับหลักกรรม เป็นต้น ถ้าใช้ศัพท์ทางธรรมก็ว่า มัชฌิมาปฏิปทา คือปฏิปทาที่นำเอามัชเฌนธรรมเทศนามาใช้ให้เป็นประโยชน์ แก่มนุษย์ เพื่อบรรลุผลที่มุ่งหมายของมัชเฌนธรรมเทศนานั่นเอง ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() หลักการสำคัญของจริยะ แยกแยะออกไปได้เป็น ๓ ขั้นตอน คือ ขั้นที่ ๑ รู้เข้าใจความจริงของธรรมชาติ หรือ รู้เท่าทันธรรมดา ว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย ขั้นที่ ๒ ใช้ความรู้นั้นให้เป็นประโยชน์ คือ ปฏิบัติให้สอดคล้องกับธรรมชาติ หรือ กฎธรรมชาตินั้น โดยกระทำการที่เป็นเหตุให้เหตุปัจจัยทั้งหลายดำเนินไปในทางที่จะก่อผลดี ขั้นที่ ๓ เมื่อทำอย่างถูกต้องที่ตัวเหตุปัจจัยแล้ว ก็ปล่อยให้เหตุปัจจัยเป็นไปตามธรรมดา หรือตามกฎจนก่อผลของมันเอง วางใจเป็นอิสระคอยดูอย่างรู้เท่าทัน ไม่ต้องถือมั่นเอาตัวตนเข้าไปผูกรัดขัดติดไว้ ตามหลักการนี้ ความรู้ความเข้าใจเป็นแกนนำของความประพฤติปฏิบัติ เป็นส่วนสำคัญที่ต้องใช้ตลอดตั้งแต่ ต้นจนถึงที่สุด เมื่อพูดอย่างสั้น จึงเรียกจริยธรรมนี้ว่า การเป็นอยู่ด้วยปัญญา และเรียกบุคคลผู้มีจริยธรรมนี้ว่า บัณฑิต แปลว่า ผู้เป็นอยู่ด้วยปัญญา ด้วยเหตุที่ต้องใช้ปัญญาตั้งแต่ต้น ระบบจริยะ คือ มรรค หรือ มัชฌิมาปฏิปทานี้ จึงมีสัมมาทิฏฐิ ได้แก่ ความเห็นชอบ หรือ เข้าใจถูกต้อง เป็นองค์ประกอบข้อแรก |
เจ้าของ: | กรัชกาย [ 13 พ.ย. 2009, 19:25 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: สัมมาทิฏฐิ |
สัมมาทิฏฐิ ความสำคัญของสัมมาทิฏฐิ “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อดวงอาทิตย์อุทัยอยู่ ย่อมแสงอรุณมาก่อน เป็นบุพนิมิต ฉันใด สัมมาทิฏฐิ เป็นตัวนำ เป็นบุพนิมิตเพื่อการตรัสรู้ตามเป็นจริงซึ่งอริยสัจ ๔ ประการ ฉันนั้น ภิกษุผู้มีสัมมาทิฏฐิ ย่อมเป็นอันหวังสิ่งนี้ได้ คือ จักรู้ชัดตามเป็นจริงว่า ทุกข์คือดังนี้... เหตุให้เกิดทุกข์คือดังนี้...ความดับทุกข์คือดังนี้...ปฏิปทา(ข้อปฏิบัติ)ให้ถึงความดับทุกข์คือดังนี้” (สํ.ม.19/1720/552) |
เจ้าของ: | yahoo [ 13 พ.ย. 2009, 19:26 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: สัมมาทิฏฐิ |
อันนี้เหมือนคุณจะคัดมาจากหนังสือ...หง่ะ... งามครับ แน่อยู่แล้วละ เพราะคุณเป็นคนช่างคัดสรร สิ่งดี ๆ มาฝาก จริง ๆ นะ ... บางทีผมอยากฟังความคิดเห็น แบบลักษณะ ขับเสภาสด ๆ จากคุณบ้างจัง... ![]() หรือต้องแอบไปอ่านเอาข้างนอกครับ... ![]() |
เจ้าของ: | กรัชกาย [ 13 พ.ย. 2009, 19:27 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: สัมมาทิฏฐิ |
“ภิกษุทั้งหลาย บรรดาองค์มรรคเหล่านั้น สัมมาทิฏฐิเป็นตัวนำ สัมมาทิฏฐิเป็นตัวนำอย่างไร ? (ด้วยสัมมาทิฏฐิ) จึงรู้จักมิจฉาทิฏฐิ ว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ รู้จักสัมมาทิฏฐิ ว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ รู้จักมิจฉาสังกัปปะ ว่าเป็นมิจฉาสังกัปปะ รู้จักสัมมาสังกัปปะ ว่าเป็นสัมมาสังกัปปะ รู้จักสัมมาวาจา...สัมมาวาจา....มิจฉากัมมันตะ...สัมมากัมมันตะ ฯลฯ” (ม.อุ.14/254-280/180-187) (ขั้นรู้ว่าอะไรเป็นอะไร) |
เจ้าของ: | กรัชกาย [ 13 พ.ย. 2009, 19:30 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: สัมมาทิฏฐิ |
yahoo เขียน: อันนี้เหมือนคุณจะคัดมาจากหนังสือ...หง่ะ... งามครับ แน่อยู่แล้วละ เพราะคุณเป็นคนช่างคัดสรร สิ่งดี ๆ มาฝาก จริง ๆ นะ ... บางทีผมอยากฟังความคิดเห็น แบบลักษณะ ขับเสภาสด ๆ จากคุณบ้างจัง... ![]() หรือต้องแอบไปอ่านเอาข้างนอกครับ... ![]() บางทีผมอยากฟังความคิดเห็น แบบลักษณะ ขับเสภาสด ๆ จากคุณบ้างจัง กรัชกายไม่เหมาะขับเสภาครับ เหมาะขับ...มากกว่า ![]() ![]() |
เจ้าของ: | กรัชกาย [ 13 พ.ย. 2009, 19:31 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: สัมมาทิฏฐิ |
“ภิกษุทั้งหลาย สัมมาทิฏฐิ เป็นหัวหน้าอย่างไร ? เมื่อมีสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะจึงพอเหมาะได้ เมื่อมีสัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจาจึงพอเหมาะได้ เมื่อมีสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะจึงพอเหมาะได้ เมื่อมีสัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะจึงพอเหมาะได้ เมื่อมีสัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะจึงพอเหมาะได้ เมื่อมีสัมมาวายามะ สัมมาสติจึงพอเหมาะได้ เมื่อมีสัมมาสติ สัมมาสมาธิจึงพอเหมาะได้ เมื่อมีสัมมาสมาธิ สัมมาญาณจึงพอเหมาะได้ เมื่อมีสัมมาญาณ สัมมาวิมุตติจึงพอเหมาะได้ โดยนัยดังนี้แล พระเสขะผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ จึงกลายเป็นพระอรหันต์ผู้ประกอบด้วยองค์ ๑๐”* (ม.อุ.14/279/187) |
เจ้าของ: | yahoo [ 13 พ.ย. 2009, 19:32 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: สัมมาทิฏฐิ |
![]() ![]() ![]() ทำไมล่ะครับ... หะ หะ เจ้าหนูจำไมเริ่มทำงานอีกแล้ว... ![]() ![]() |
เจ้าของ: | กรัชกาย [ 13 พ.ย. 2009, 19:33 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: สัมมาทิฏฐิ |
(ขยายความ คห.ถัดขึ้นไปที่มี *) * นอกนี้มีความคล้ายกันที่ ที.ม.10/206/248 องฺ.ทสก.24/121/524 คำว่า “จึงพอเหมาะได้” ซึ่งอาจแปลว่า จึงพอแก่การ หรือ จึงใช้งานได้ ก็ได้ ใน สํ.ม.19/2-3/1 องฺ.ทสก.24/105/228 กล่าวลึกลงไปอีก ให้เห็นว่า ในขณะที่สัมมาทิฏฐิ เป็นหัวหน้าในบรรดาองค์มรรคทั้งหลาย แต่วิชชาเป็นหัวหน้าในการประกอบกุศลธรรมทั้งหมดรวมทั้งเป็นที่มา ของสัมมาทิฏฐิด้วย (พร้อมนั้นอวิชชาก็เป็นหัวหน้าอกุศลธรรมและเป็นที่มาของมิจฉาทิฏฐิ) |
เจ้าของ: | กรัชกาย [ 13 พ.ย. 2009, 19:36 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: สัมมาทิฏฐิ |
“ข้อที่ภิกษุ จักทำลายอวิชชา ยังวิชชาให้เกิด ทำให้แจ้งซึ่งนิพพานได้ ด้วยทิฐิที่ตั้งไว้ชอบ ด้วยมรรคภาวนาที่ตั้งไว้ชอบ นี้เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ นั่นเป็นเพราะเหตุอะไร ? ก็เพราะตั้งทิฐิไว้ชอบแล้ว” (สํ.ม.19/43/13; 281/73) “เราไม่เห็นธรรมอื่นแม้สักอย่าง ซึ่งจะเป็นเหตุให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดได้เกิดขึ้น หรือกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว เป็นไปเพื่อความเพิ่มพูนไพบูลย์ เหมือนอย่างสัมมาทิฏฐินี้เลย” (องฺ.ติก.20/182/40) ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() |
เจ้าของ: | กรัชกาย [ 13 พ.ย. 2009, 20:03 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: สัมมาทิฏฐิ |
คำจำกัดความของสัมมาทิฏฐิ คำจำกัดความที่พบบ่อยที่สุดคือ ความรู้ในอริยสัจ ๔ ดังพุทธพจน์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย สัมมาทิฏฐิคือ อะไร ? ความรู้ในทุกข์ ความรู้ในทุกขสมุทัย ความรู้ในทุกขนิโรธ ความรู้ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ” (ที.ม.10/299/348 ฯลฯ) คำจำกัดความนอกจากนี้ ได้แก่ รู้อกุศลและอกุศลมูล กับ กุศลและกุศลมูล “เมื่อใด อริยสาวกรู้ชัดซึ่งอกุศล...อกุศลมูล... กุศล...และกุศลมูล ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ เธอชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง ประกอบด้วยความเลื่อมใสแน่วแน่ในธรรม เข้าถึงสัทธรรมนี้แล้ว” (ม.มู.12/111/85 ...อกุศลมูล ๓ = โลภะ โทสะ โมหะ กุศลมูล = อโลภะ อโทสะ อโมหะ) ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() เห็นไตรลักษณ์ “ภิกษุเห็นรูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณ ซึ่งเป็นของไม่เที่ยง ว่าไม่เที่ยง ความเห็นของเธอนั้นเป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อเห็นชอบ ก็ย่อมหน่าย เพราะสิ้นเพลินก็สิ้นการย้อมติด เพราะสิ้นการย้อมติด ก็สิ้นเพลิน เพราะสิ้นเพลินและย้อมติด จิตจึงหลุดพ้น เรียกว่า พ้นเด็ดขาดแล้ว” (สํ.ข. 17/103/63) “ภิกษุเห็นจักษุ...โสตะ...ฆานะ...ชิวหา...กาย...มโน...รูป...เสียง...กลิ่น...รส... โผฏฐัพพะ...ธรรมารมณ์ ซึ่งเป็นของไม่เที่ยง ว่าไม่เที่ยง ความเห็นของเธอนั้นเป็นสัมมาทิฏฐิ ฯลฯ” (สํ.สฬ.18/245/179) (เห็นปฏิจจสมุปบาท:คำจำกัดความแบบนี้ เป็นแบบที่มีมากแบบหนึ่ง จะไม่ยกมา) (ดู สํ.นิ.16/42/20 ฯลฯ) |
เจ้าของ: | กรัชกาย [ 13 พ.ย. 2009, 20:22 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: สัมมาทิฏฐิ |
พุทธพจน์อีกแห่งหนึ่ง แยกความหมายของสัมมาทิฏฐิ เป็น ๒ ระดับ คือ ระดับที่เป็นสาสวะ กับ ระดับโลกุตระ “ภิกษุทั้งหลาย สัมมาทิฏฐิเป็นไฉน ? เรากล่าวว่าสัมมาทิฏฐิมี ๒ อย่าง คือ สัมมาทิฏฐิที่ยังมีอาสวะ ซึ่งจัดเป็นฝ่ายบุญ อำนวยวิบากแก่ขันธ์ อย่างหนึ่ง กับ สัมมาทิฏฐิที่เป็นอริยะ ไม่มีอาสวะ เป็นโลกุตระ และเป็นองค์มรรค อย่างหนึ่ง” “สัมมาทิฏฐิที่ยังมีอาสวะ จัดอยู่ในฝ่ายบุญ อำนวยวิบากแก่ขันธ์ เป็นไฉน ? คือความเห็นว่าทานที่ให้แล้วมีผล การบำเพ็ญทานมีผล การบูชามีผล กรรมที่ทำไว้ดีและชั่ว มีผลมีวิบาก โลกนี้มี ปรโลกมี มารดามี บิดามี สัตว์ที่เป็นโอปปาติกะมี สมณพรามหณ์ ผู้ประพฤติชอบ ปฏิบัติชอบ ซึ่งประกาศโลกนี้และปรโลกให้แจ่มแจ้ง เพราะรู้ยิ่งด้วยตนเอง มีอยู่ นี้แล สัมมาทิฏฐิที่ยังมีอาสวะ จัดเป็นฝ่ายบุญ อำนวยวิบากแก่ขันธ์” ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() “สัมมาทิฏฐิที่เป็นอริยะ ไม่มีอาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค เป็นไฉน ? คือ องค์มรรค ข้อสัมมาทิฏฐิ ที่เป็นตัวปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ ธรรมวิจัยสัมโพชฌงค์ ของผู้มีจิตเป็นอริยะ มีจิตไร้อาสวะ มีอริยมรรคเป็นสมังคี ผู้กำลังเจริญอริยมรรคอยู่ นี้แล สัมมาทิฏฐิที่เป็นอริยะ ไม่มีอาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค” (ม.อุ.14/258/181) |
เจ้าของ: | กรัชกาย [ 13 พ.ย. 2009, 20:35 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: สัมมาทิฏฐิ |
yahoo เขียน: ทำไมล่ะครับ เพราะว่า มีสะเปะสะปะกถา หรือ นานาทัศนะ มากพอแล้ว ควรมีหลักไว้เทียบบ้าง ![]() |
เจ้าของ: | กรัชกาย [ 13 พ.ย. 2009, 20:52 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: สัมมาทิฏฐิ |
ข้อควรทราบทั่วไปเกี่ยวกับสัมมาทิฏฐิ ทิฏฐิ หรือเขียนลดรูปเป็น ทิฐิ แปลว่า ความเห็น หมายรวมถึงความเชื่อถือ ลัทธิ ทฤษฎี ความเข้าใจตามนัยเหตุผล ข้อที่เข้ากับความเข้าใจ ของตน หลักการที่เห็นสม ข้อที่ถูกใจ ข้อที่เชิดชูเอาไว้ ความใฝ่นิยม หรือที่ปัจจุบันเรียกกันว่า ค่านิยม รวมไปถึงอุดมการณ์ แนวทัศนะในการมองโลกและชีวิต ที่เรียกกันว่า โลกทัศน์และชีวทัศน์ต่างๆ ตลอดจนทัศนคติพื้นฐานที่สืบเนื่องจากความเห็นความเข้าใจและความใฝ่นิยมเหล่านั้น * ถ้าจะจัดเข้าเป็นพวกๆก็คงมี ๒ ระดับ คือ ความเห็น ความเข้าใจเกี่ยวกับคุณค่า ว่าดี ไม่ดี ควรจะเป็น ไม่ควรจะเป็น เป็นต้น อย่างหนึ่ง ความเห็นความเข้าใจเกี่ยวกับความจริงว่า คืออะไร เป็นอย่างไร เพราะเหตุไร เป็นต้น อย่างหนึ่ง ดังจะเห็นได้ในเรื่องทิฏฐิ ๒ ประเภท ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() * ในบาลี ไวพจน์ที่มักมาด้วยกันกับทิฏฐิเป็นชุดได้แก่ ทิฏฐิ (ความเห็น) ขันติ (ข้อที่เข้ากับความเข้าใจ) และ รุจิ (ข้อที่ถูกใจหรือใฝ่นิยม) เช่น ใน วินย. 4/100/145 ขุ.ม.29/46/46 ฯลฯ |
เจ้าของ: | กรัชกาย [ 13 พ.ย. 2009, 21:20 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: สัมมาทิฏฐิ |
ทิฐิ คือ ความเห็น ความเข้าใจ ความใฝ่นิยมยึดถือต่างๆนั้น มีอิทธิพลครอบงำและมีบทบาท ในการกำหนดวิถีชีวิต และ สังคมของมนุษย์เป็นอย่างมาก ในกรรมบถ ท่านจัดทิฐิเข้าเป็นมโนกรรม ซึ่งเป็นกรรมที่สำคัญมีผลมากมายร้ายแรงที่สุด ยิ่งกว่ากายกรรมและวจีกรรม * เพราะ เป็นตัวบันดาลกายกรรมและวจีกรรม อยู่เบื้องหลังอีกชั้นหนึ่ง สามารถนำชีวิต สังคม หรือมนุษย์ชาติทั้งหมดไปสู่ความเจริญงอกงามรุ่งเรืองหลุดพ้น หรือนำไปสู่ความเสื่อม ความพินาศก็ได้ ดังจะมองเห็นในชีวิตของบุคคล ทิฏฐิ เป็นตัวชักจูงและกำหนดวิถีชีวิต ทั้งในด้านรับเข้าและด้านแสดงออก กล่าวคือ จะมองเห็นโลกและชีวิตเป็นอย่างไร และจะปฏิบัติต่อโลกและชีวิตนั้นอย่างไร เริ่มตั้งแต่ จะแปลความหมายของประสบการณ์ ที่รับรู้เข้ามาใหม่อย่างไร จะตีค่า จะตัดสินวินิจฉัยว่าอย่างไร จะหันไปหาหรือเลือกรับสิ่งใด ส่วนใด ในแง่ใด จะเห็นด้วยหรือไม่ จะอยู่ฝ่ายใด แล้วชักนำแนวความคิด การพูดการกระทำที่จะสนองตอบโต้ แสดงปฏิกิริยาออกไปว่าจะเอาอย่างไร พูด หรือ ทำอย่างไรกับบุคคล สิ่ง สภาพแวดล้อม หรือ สถานการณ์นั้นๆ พร้อมทั้งสร้างเหตุผลประกอบ สำหรับการที่จะพูดจะทำเช่นนั้น กล่าวสั้นๆ ด้วยศัพท์ธรรมว่า ปรุงแต่ง ชักนำองค์ธรรมต่างๆ ตั้งแต่สังกัปปะ คือความคิด หรือ ความดำริ เป็นต้นไป ให้เป็นมิจฉา หรือ เป็นสัมมา ตามทิฐินั้นๆ ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() * เป็นมโนกรรมในกรรมบถ เช่น องฺ.ทสก.24/165/285-290 : 194/313 ความสำคัญ ม.ม. 13/64/56 องฺ.ทสก. 24/104/226) |
เจ้าของ: | กรัชกาย [ 13 พ.ย. 2009, 21:38 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: สัมมาทิฏฐิ |
ในทางปฏิบัติ ความสำคัญของทิฐิ มองเห็นได้ไม่ยาก เช่น เมื่อคนชอบความมั่งมี เห็นว่าความพรั่งพร้อมทางวัตถุส่วนตัวเป็นจุดหมายของชีวิต เป็นเครื่องวัดความสำเร็จของบุคคล และเป็นเครื่องหมายแห่งความภาคภูมิใจ เขาย่อมพยายามดิ้นรนขวนขวายเพื่อแสวงหาความพรั่งพร้อมทางวัตถุนั้น ไม่ว่าจะศึกษาเล่าเรียนหรือประกอบ กิจการงาน ก็ทำเพื่อจุดหมายนี้ และเมื่อมองดูคนอื่น เขาก็จะวัดจะตีค่าจะให้เกียรติคนนั้นๆ หรือไม่ โดยถือเอาความมั่งคั่งพรั่งพร้อมเป็นเกณฑ์ ยิ่งถ้าเขาขาดความใฝ่สุจริตด้วยแล้ว เขาก็จะแสวงหาความมั่งคั่งโดยไม่เลือกวิธีว่าเป็นไปโดยสุจริตชอบธรรม หรือไม่ และจะมองเห็นคนประพฤติสุจริตที่ยากไร้ว่า เป็นคนเขลาครึทึ่มทื่อหรือไร้เกียรติ ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ถ้าเด็กเห็นว่าการมีอำนาจเป็นความเก่งเป็นความดี เขาก็จะน้อมไปในทางแสดงอำนาจ ทำตัวยิ่งใหญ่ ชอบครอบงำข่มเหงรังแกผู้อื่น ถ้าคนเห็นว่าบุญบาปไม่มีจริง เป็นเพียงคำขู่หลอกไว้ เขาย่อมไม่เอาใจใส่สิ่งที่สอนว่าเป็นบุญ และไม่ระวังยั้งตัว ในสิ่งที่ถือว่าเป็นบาป เมื่อคนไม่เข้าใจซึ้งถึงสภาวะของโลกและชีวิตที่เป็นสิ่งไม่เที่ยงแท้ถาวรอยู่โดยธรรมดา เขาย่อมมีความยึดมั่น ต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน และบุคคลแวดล้อมมาก แล้วเกิดความหวั่นไหว หวั่นกลัว ทำการและมีพฤติกรรม สะท้อนความทุกข์ซึ่งเป็นไปตามอำนาจของความยึดมั่น หวั่นไหว หวาดกลัวนั้น ดังนี้เป็นต้น ส่วนในด้านดีก็พึงทราบโดยนัยตรงข้าม |
หน้า 1 จากทั้งหมด 2 | เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง |
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group http://www.phpbb.com/ |