ลานธรรมจักร
http://dhammajak.net/forums/

สภาวะ หรือ สภาพของสมาธิ ตอนที่ ๒ จบ
http://dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=2&t=27744
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เจ้าของ:  จ่าสิบตรี เทวฤทธิ์ [ 16 ธ.ค. 2009, 14:03 ]
หัวข้อกระทู้:  สภาวะ หรือ สภาพของสมาธิ ตอนที่ ๒ จบ

สภาวะ หรือ สภาพของสมาธิ ตอนที่ ๒
ในตอนที่ ๑ ได้กล่าวถึง สภาพหรือสภาวะของสมาธิ ในหมวดธรรมที่กล่าวไว้ว่า สมาธิมี ๓ คือ
๑.ขณิกสมาธิ หมายถึง สมาธิชั่วขณะ หรือสมาธิเป็นครั้งคราว
๒.อุปจารสมาธิ หมายถึง ความจวนเจียนจะมีสมาธิแน่วแน่ อันเป็นสภาพที่ต่อเนื่องจาก ขนิกสมาธิ
๓.อัปปนาสมาธิ หมายถึง ความมีสมาธิแน่วแน่ คือ มีจิตใจสงบ ไม่คิดถึงสิ่งใด ไม่ฟุ้งซ่าน มีแต่ความวางเฉย คือมีจิต เป็น เอกัคคตา ซึ่งในทางพุทธศาสนา เรียกว่า จตุตถฌาน
สำหรับในตอนที่ ๒ นี้ จะกล่าวถึง สมาธิ ๓ ในอีกหมวดธรรมหนึ่ง ซึ่งเป็นคำศัพท์ที่เรียกแตกต่างจาก ขนิกสมาธิ ,อุปจารสมาธิ, อัปปนาสมาธิ และเป็นการปฏิบัติหรือพฤติกรรมหรือสภาวะสภาพของสมาธิที่แตกต่างจาก สมาธิ ๓ที่ได้กล่าวไปแล้ว ได้แก่
๑.สุญญตสมาธิ ๒.อนิมิตตสมาธิ ๓.อัปปณิหิตสมาธิ;
๑.สุญญตสมาธิ เป็นการเจริญสมาธิ ประกอบการพิจารณา หมายความถึง การมีจิตใจตั้งมั่น หรือการที่เอาใจจดจ่อฝักใฝ่ ในอันที่จะคิด พิจารณา และระลึกนึกถึง “ความเป็นสภาพสูญ”, หรือความว่าง อันได้แก่
ก. ความเป็นสภาพที่ว่างจากความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เฉพาะอย่างยิ่ง ภาวะที่ขันธ์ ๕ เป็นอนัตตา คือ ไร้ตัวมิใช่ตน ว่างจากความเป็นตน ตลอดจนว่างจากสาระต่างๆ เช่น สาระคือความเที่ยง สาระคือความสวยงาม สาระคือความสุข ฯลฯ เป็นต้น, โดยปริยายหมายถึง หลักธรรมฝ่ายปรมัตถ์ดังเช่นขันธ์ ธาตุ อายตนะ และปัจจยาการ(สิ่งที่เป็นปัจจัยต่อกันและกัน) อิทัปปัจจยตา ( คือความสัมพันธ์ของแต่ละปัจจัยที่มีต่อกันและกัน เช่น เมื่อมีอันนี้ อันนั้นจึงเกิด เมื่ออันนั้นเกิด จึงมีอันนี้ ฯลฯ )หรือ ปฏิจจสมุปบาท (สรรพสิ่ง ฯลฯ จะเกิดขึ้นได้ ย่อมต้องมีปัจจัยที่อาศัยกันและกัน เป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน) ล้วนแสดงแต่ตัวสภาวะให้เห็นความว่างเปล่าปราศจากสัตว์ บุคคล เป็นเพียงธรรมหรือกระบวนธรรมล้วนๆ คือเป็นเพียงชื่อหรือนามที่บัญญัติไว้เพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ ตามหลักธรรมชาติ
ข. ความว่างจากกิเลส มีราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้น ก็ดี สภาวะที่ว่างจากสังขารคือการปรุงทางความคิด จากการได้รับการสัมผัสทางอายตนะทั้งหลายก็ดี หมายถึง นิพพาน
ค.โลกุตตรมรรค ได้ชื่อว่าเป็นสุญญตา ด้วยเหตุผล ๓ ประการ คือ เพราะลุด้วยปัญญาที่กำหนดพิจารณาความเป็นอนัตตา มองเห็นสภาวะที่สังขาร(หมายถึงสรีระร่างกาย)เป็นสภาพว่าง (จากความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน) เพราะว่างจากกิเลสมีราคะเป็นต้น และเพราะมีสุญญตา คือ นิพพาน เป็นอารมณ์
ง. ความว่าง ที่เกิดจากความกำหนดหมายในใจ หรือทำใจเพื่อให้เป็นอารมณ์ของจิตในการเจริญสมาบัติ คือการกำหนดใจถึงสภาวะว่างเปล่าไม่มีอะไรเลย ไม่คิดอะไร จะว่ามีความจำหรือสัญญาก็ไม่ใช่ จะว่าไม่มีความจำหรือ สัญญาก็ไม่ใช่
(คัดความและเพิ่มเติม จาก พจนานุกรม พุทธศาสน์ ฉบับ พระธรรมปิฎก ป.อ.ปยุตฺโต)
๒.อนิมิตตสมาธิ หมายถึง เป็นการเจริญสมาธิ ประกอบการพิจารณา หมายความถึง การมีจิตใจตั้งมั่น หรือการที่เอาใจจดจ่อฝักใฝ่ ในอันที่จะคิด พิจารณา และระลึกนึกถึง เพื่อพิจารณาธรรมอันไม่มีนิมิต คือ วิปัสสนาที่ให้ถึงความหลุดพ้นด้วยกำหนดอนิจจลักษณะ
(คัดความและเพิ่มเติม จาก พจนานุกรม พุทธศาสน์ ฉบับ พระธรรมปิฎก ป.อ.ปยุตฺโต)
ลักษณะที่เป็นอนิจจะ,หมายถึง ลักษณะที่เห็นว่าเป็นของไม่เที่ยง ไม่คงที่ ได้แก่
ก) เป็นไปโดยการเกิดขึ้นและสลายไป คือ เกิดดับๆ มีแล้วก็ไม่มี
ข) เป็นของแปรปรวน คือ เปลี่ยนแปลงแปรสภาพไปเรื่อยๆ
ค) เป็นของชั่วคราว อยู่ได้ชั่วขณะๆ
ง) แย้งต่อความเที่ยง คือ โดยสภาวะของมันเอง ก็ปฏิเสธความเที่ยงอยู่ในตัว
๓.อัปปณิหิตสมาธิ เป็นการเจริญสมาธิ ประกอบการพิจารณา หมายความถึง การมีจิตใจตั้งมั่น หรือการที่เอาใจจดจ่อฝักใฝ่ ในอันที่จะคิด พิจารณา และระลึกนึกถึง เพื่อทำให้ถึงความหลุดพ้นด้วยการกำหนดทุกขลักษณะ
ทุกขลักษณะ หมายถึง สิ่งที่ทางพุทธศาสนากล่าวว่าเป็นทุกข์, ลักษณะที่จัดว่าเป็นทุกข์, ลักษณะที่แสดงให้เห็นว่าเป็นทุกข์คือ
ก.ถูกการเกิดขึ้นและการดับสลายบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา
ข.ทนได้ยากหรือคงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้
ค.เป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์
ง.แย้งต่อสุขหรือเป็นสภาวะที่ปฏิเสธความสุข
(คัดความและเพิ่มเติม จาก พจนานุกรม พุทธศาสน์ ฉบับ พระธรรมปิฎก ป.อ.ปยุตฺโต)
อนึ่ง ท่านทั้งหลายควรได้ ทำความเข้าใจในคำว่า “กำหนด” ซึ่งข้าพเจ้าแยกไว้เป็น ๓ รูปแบบ ในทางพุทธศาสนาเพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจไว้ว่า
ก. กำหนด หมายถึง การมีจิตใจตั้งมั่น หรือการเอาใจเข้าไปจดจ่อ หรือการเอาใจเข้าไปฝักใฝ่ ในสิ่งนั้นๆ เพื่อ คิด พิจารณา และระลึกนึกถึง ประสบการณ์ ความรู้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจ และรู้ถึงแก่นแท้ของสิ่งนั้นๆตามธรรมชาติแห่ง ความรู้ทั้งหลายเหล่านั้น
ข. กำหนด หมายถึง การมีจิตใจตั้งมั่น หรือการเอาใจเข้าไปจดจ่อ หรือการเอาใจเข้าไปฝักใฝ่ ในสิ่งนั้นๆ เพื่อให้เกิด สมาธิ คือ เพื่อให้เกิด สภาพสภาวะที่เรียกว่า วางเฉย และมีจิต เป็น เอกัคคตา
ค. กำหนด หมายถึง การมีจิตใจตั้งมั่น หรือการเอาใจเข้าไปจดจ่อ หรือการเอาใจเข้าไปฝักใฝ่ ในสิ่งนั้นๆ เพื่อให้เกิดนิมิต เพื่อเป็นนิมิต เพื่อให้เกิดความจำ และความชำนาญ แคล่วคล่องในการใช้สิ่งนั้นๆ

จ่าสิบตรี เทวฤทธิ์ ทูลพันธ์ (ผู้เขียน)
๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๒

เจ้าของ:  เช่นนั้น [ 16 ธ.ค. 2009, 15:19 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: สภาวะ หรือ สภาพของสมาธิ ตอนที่ ๒ จบ

:b4: :b17: :b27:

เจ้าของ:  จ่าสิบตรี เทวฤทธิ์ [ 21 ธ.ค. 2009, 20:06 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: สภาวะ หรือ สภาพของสมาธิ ตอนที่ ๒ จบ

ธรรมที่จะอยู่กับตัวท่านทั้งหลายเสมอ เสมอ มิเสื่อมคลาย ก็คือ ธรรมที่เป็นธรรมชาติของตัวท่านทั้งหลายในทุกด้าน
ขอให้เจริญยิ่งในปัญญาแห่งธรรม ขอรับ

เจ้าของ:  ดอกพุทธ [ 22 ธ.ค. 2009, 17:18 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: สภาวะ หรือ สภาพของสมาธิ ตอนที่ ๒ จบ

:b8: ขออนุโททนาสาธุ ด้วยนะคะ

หน้า 1 จากทั้งหมด 1 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/