วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 01:52  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=2



กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ก.ค. 2012, 23:35 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


บทอบรมกรรมฐาน ครั้งที่ ๘
วันที่ ๒๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๑

ท่านนักปฏิบัติธรรมผู้เจริญทั้งหลาย

เราได้รับการอบรมเรื่องสมถภาวนามาเป็นเวลา ๑ อาทิตย์เกี่ยวกับการปฏิบัติ ถ้าหากว่าแต่ละท่านตั้งอกตั้งใจปฏิบัติกันจริงจัง เข้าใจว่าจะมีผลบังเกิดขึ้นบ้างตามสมควร เพราะว่าการที่จะสำรวมจิตให้สงบเข้าไปสู่สมาธินั้น เหตุผลอยู่ตรงที่มีความตั้งอกตั้งใจ ความพากเพียรพยายาม พยายามที่จะกำหนดรู้จิต หรือพยายามเอาจิตไปไว้ที่บริกรรมภาวนา หรือเอาจิตไปไว้กับอารมณ์ที่เราพินิจพิจารณาอยู่ทุกลมหายใจ หรือโดยที่สุดแม้จะกำหนดรู้ลมหายใจตามสภาพความเป็นจริงอยู่ตลอดเวลา ก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้เอาใจใส่จดจ้องต่อการปฏิบัติอยู่ตลอดเวลาเช่นเดียวกัน

ทีนี้ สำหรับผู้ที่ตั้งใจปฏิบัติกันจริงจัง ย่อมจะเกิดความสงบขึ้นบ้างตามสมควร ในระยะที่จิตกำลังเริ่มจะมีความสงบนั้น บางท่านหรือบางโอกาสของนักปฏิบัติ จะต้องมีเหตุกราณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นกับความรู้สึก บางทีก็มีอาการรู้สึกว่าตัวนี้หนัก บางทีก็รู้สึกว่าตัวนี้เบา จิตก็เบา บางทีก็เกิดมีนิมิตเห็นรูปภาพต่าง ๆ บางครั้งก็เกิดมีแสง แสงที่เกิดขึ้นบางทีเราก็อาจจะมองเห็นอยู่ในระยะไกล แล้วก็ลอยใกล้เข้ามา บางทีก็มาวนเวียนอยู่รอบ ๆ ตัว หรือบางทีก็มีความสว่างรอบตัวเกิดขึ้น

เหตุกราณ์ทั้งหลายเหล่านี้ ย่อมเป็นธรรมดาของนักปฏิบัติจะต้องประสบกันแทบทุกท่าน แต่จะด้วยประการใดก็ตาม เราจะเห็นรูปภาพนิมิต เห็นแสง หรือได้ยินเสียงอะไรเกิดขึ้น พึงทำความรู้สึกภายในจิตของตัวเองว่า ทุกสิ่งทุกอย่างมันเป็นเรื่องของจิตปรุงแต่งขึ้น แสงก็ดี เสียงก็ดี ภาพนิมิตก็ดี มันเป็นสิ่งที่จิตปรุงแต่งขึ้น

คือในช่วงที่จิตเริ่มสงบในตอนแรกนั้น กระแสจิตที่ส่งไปสู่ทางไกล ๆ เพิ่งจะเริ่มหดตัวเข้ามา ในระยะที่จิตมันเกิดความสงบขึ้น ในขณะนั้นมันก็ย่อมมีนิมิตต่าง ๆ บังเกิดขึ้น หรือถ้าไม่มีรูปภาพคนหรือสัตว์อะไรเกิดขึ้น แต่มันมีแสงคล้าย ๆ กับว่าเป็นลำทอดออกไป มีลักษณะคล้าย ๆ กับแสงมันออกจากตา เหมือนแสงไฟฉาย หรือบางท่านอาจจะมองเห็นมีแสงสว่างรอบตัว ทั่วบริเวณที่ตัวอยู่

ในเมื่อเหตุกราณ์อย่างนี้เกิดขึ้น นักปฏิบัติที่มีสติไม่รู้เท่าทัน ย่อมจะตกใจกลัวหรือตื่นในเหตุกราณ์นั้น ๆ แล้วละการกำหนดจิตของตนเสีย เอาจิตไปสนใจกับเหตุกราณ์ที่เกิดขึ้น จิตก็เปลี่ยนสภาพ ในเมื่อจิตเปลี่ยนสภาพ ก็หมายถึงว่าจิตถอนจากสมาธิที่จิตกำลังเริ่ม ๆ จะเป็นอยู่นั้น ในเมื่อจิตถอนออกจากสมาธิแล้ว เสียงแสงสีต่าง ๆ ที่ปรากฏให้เห็นเป็นภาพนิมิตให้ปรากฏนั้นก็จะหายไปทันที

เพราะฉะนั้น นักปฏิบัติควรระวัง ถ้าหากว่าเหตุกราณ์ดังกล่าวนี้มันเกิดขึ้น จะด้วยประการใดก็ตาม จะเป็นลักษณะของตัวเบา ตัวหนัก ตัวใหญ่ ตัวพอง เกิดเสียง สี แสง อะไรต่าง ๆ บังเกิดขึ้น หรืออะไรก็ตาม ขอได้โปรดอย่าละจากการกำหนดรู้อยู่ที่จิตกับอารมณ์ที่บริกรรมภาวนาอยู่ ถ้าหากว่าในขณะนั้นจิตของท่านยังนึกบริกรรมภาวนาอยู่ ก็ให้นึกบริกรรมภาวนาต่อไป

ถ้าหากว่าจิตของท่านเลิกจากการบริกรรมภาวนา ให้สำรวมสติสัมปชัญญะ รู้อยู่ที่จิตอย่างเดียวเท่านั้น อย่าได้ไปสนใจกับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้น แล้วจิตของท่านจะดำรงมั่นอยู่ในความเป็นสมาธิ แล้วภายหลังถ้าหากว่าท่านไม่ไปตื่นกับสิ่งเหล่านั้น จิตของท่านจะไม่ถอนจากความเป็นสมาธิ ในเมื่อจิตไม่ถอนจากความเป็นสมาธิ จิตจะค่อยละเอียดยิ่งขึ้นไปจนกระทั่งถึงระดับอัปปนาสมาธิเป็นที่สุด

นี่ขอเตือนนักปฏิบัติทั้งหลายพึงสังวรเอาไว้ เหตุกราณ์อะไรเกิดขึ้นก็อย่าไปตื่นไปตกใจ อย่าไปนึกว่าสิ่งอื่นมาแสดงให้ท่านรู้ท่านเห็น มันเป็นกิริยาของจิตท่านแสดงออกไปเอง อย่างภาพนิมิตต่าง ๆ จิตมันก็เป็นผู้ปรุงขึ้นมา ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเรื่องจิตปรุงแต่งขึ้นมาทั้งนั้น

และอีกนัยหนึ่ง ในเมื่อพูดถึงเสียงแสงสีอะไรเกิดขึ้น มันเป็นประสบกราณ์ของนักปฏิบัติจะพึงผ่าน จึงใคร่จะขอกล่าวเรื่องเกี่ยวกับสมาธิจิตที่สามารถส่งไปรู้เห็นสิ่งต่าง ๆ ในภายนอกได้ ยกตัวอย่างเช่น สมมติว่าท่านนักปฏิบัติ กำลังบริกรรมภาวนาอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นต้นว่า บริกรรมภาวนาพุทโธก็ดี หรือกำหนดรู้ลมหายใจก็ดี หรือพิจารณาอสุภกรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ก็ดี ในเมื่อจิตมีอาการสงบลงไป แต่อยู่ในระดับกลาง ๆ ซึ่งเรียกว่า อุปจารสมาธิ

ระดับอุปจารสมาธินี้ จิตจะมีอาการสงบ แต่ยังไม่สงบแน่วแน่ ในบางครั้งเราจะมีความรู้สึกนึกคิดของเราเองอยู่ บางครั้งก็ลืมๆ ไป แต่วางเฉยอยู่ และประกอบกับมีความสว่างไสวอยู่ในความรู้สึก ซึ่งในขณะนี้จิตสามารถจะน้อมหรือส่งกระแสออกไปข้างนอกได้ ในขณะใดที่จิตมันส่งกระแสออกไปข้างนอก ถ้าหากสมมติว่าก่อนที่จะนั่งสมาธิภาวนา เรามีความมุ่งหวังอยากจะรู้จะเห็นอะไรสัญญาในอดีตมันจะมากระตุ้นเตือนให้จิตปรุงแต่งเป็นภาพนิมิตขึ้นมา อันนี้แสดงว่าจิตส่งกระแสงออกไปข้างนอก

ในเมื่อจิตอยู่ในระดับอุปจารสมาธิ ถ้าจิตส่งกระแสออกไปข้างนอกเมื่อไร เมื่อนั้นจะเกิดภาพนิมิตต่างๆ ขึ้นมาให้เห็น สุดแท้แต่จิตมันจะปรุงแต่งไป ที่เขาส่งจิตไปชมนรกชมสวรรค์กันได้ก็ใช้ระดับจิตในขั้นนี้ ถ้าหากทำจิตให้เกิดสว่างขึ้นมา ยังมีความรู้สึกที่จะน้อมนึกถึงอะไรได้อยู่ ในเมื่อเรานึกถึงนรก นึกถึงสวรรค์ นึกถึงผีสางเทวดา นึกถึงอะไรก็ตาม จิตสามารถที่จะส่งกระแสไปรู้เห็นในสิ่งนั้นได้ บางทีก็คล้ายๆ กับว่าตัวของเราทั้งตัวนี้ ลอยไปในอากาศ หรือเดินไปในสถานที่ต่างๆ ในความรู้สึกคล้ายๆ กับเราเดินไปทั้งตัว แต่แท้ที่จริงก็ไม่ได้ไป นั่งอยู่กับที่นี้แหละ แต่ว่าจิตมันส่งไปเพราะอาศัยความรู้สึกที่ว่ามีตัวมีตน
ความรู้สึกว่ามีตัวมีตนก็ปรากฏไปด้วย ลักษณะอย่างนี้นักบำเพ็ญสมาธิทั้งหลายเขาสมมิตโวหารเรียกกันว่า การถอดร่างหรือถอดจิตไปดู บางสำนักก็ว่าอันนี้เป็น ธรรมกาย เป็นกายที่ ๒ ที่แยกออกจากตัวของตัวเองตัวจริง ออกไปเป็นอีกตัวหนึ่ง แล้วก็สามารถที่จะใช้ตัวอันนี้ไปสำรวจดูอะไรที่ไหน ไปเที่ยวเมืองนอกเมืองนาหรือไปที่ไหนๆ ก็ได้ทั้งนั้น

อันนี้เป็นระดับที่เขาใช้อำนาจจิตหรือใช้พลังจิตกัน เช่นอย่างการที่ปลุกเสกเครื่องรางของขลังด้วยการอธิฐานจิตก็ต้องใช้ระดับจิตในขั้นนี้ ถ้าหากจิตอยู่ในขณิกสมาธิเพียงนิดหน่อย กำลังไม่พอ ถ้าหากจิตลึกลงไปถึงอัปปนาสมาธิก็ไร้สมรรถภาพ ไม่สามารถที่จะทำประโยชน์อะไรได้ นอกจากความสงบนิ่งอยู่เฉพาะที่จิตอย่างเดียว ถ้าหากจะใช้จิตให้เกิดประโยชน์ในทางต่างๆ ก็จะต้องใช้ในระดับอุปจารสมาธิ แม้ว่าเราจะใช้จิตพิจารณาสภาวธรรมต่างๆ พิจารณาอสุภกรรมฐาน พิจารณาธาตุววัฏฐาน พิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็ต้องใช้ระดับจิตในขั้นอุปจารสมาธิ

ซึ่งอยู่ในลักษณะครึ่งหลับครึ่งตื่น บางทีก็ลืมๆ ไป บางทีก็มีสติสัมปชัญญะพร้อม แต่ว่าลักษณะของความสว่างภายในจิตนั้นเป็นเครื่องหมายแห่งความสงบของจิต ไม่ว่าจิตจะอยู่ในระดับไหน เช่นอย่างท่านกำหนดบริกรรมภาวนาเกิดแสงวับๆ แวบๆ ขึ้นมาในความรู้สึกในทางจักษุเพียงนิดๆ หน่อยๆ แล้วก็หายไป อันนั้นเป็นขณิกสมาธิเกิดขึ้น

ทีนี้ อุปจารสมาธิ จิตสงบอยู่ได้นาน เรียกว่าเฉียดๆ เข้าไปเกือบจะถึงอัปปนาสมาธิ แล้วก็ดำรงอยู่ในความสงบได้นาน ประกอบกับความสว่างไสวภายในจิต เป็นเครื่องหมาย ทีนี้ เมื่อจิตมันรวมลงมามีความสงบนิ่งลงไป จนกระทั่งถึงเอกัคคตา จนเป็นอัปปนาสมาธิแล้ว จิตก็จะมีความรู้สึกเฉพาะภายในจิต ในตอนนี้จิตตั้งตนอยู่โดยอิสรภาพ โดยไม่ต้องพึ่งพาอาศัยอารมณ์ใดๆ ความมีสติสัมปชัญญะไปประชุมพร้อมกันอยู่ที่จิตซึ่งเป็นอัปปนาสมาธิ แต่จิตในอัปปนาสมาธินี้นอกจากสร้างสมรรถภาพความเข้มแข็งในทางกำลังจิตแล้ว จะไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นไม่ได้ เพราะในขณะที่จิตสงบนิ่งอยู่นั้น เราจะปราศจากอารมณ์สัญญาเจตนาใดๆ ทั้งสิ้น มีแต่จิตดวงเดียว

ถ้าหากว่าจิตยังอาศัยอามรณ์อื่นอยู่ จิตก็อยู่ในระดับอุปจารสมาธิ ถ้าจิตวางอารมณ์หรือวางนิมิตทั้งหลาย ยังเหลือแต่จิตที่ตั้งเด่นใสสะอาดอยู่แล้วประกอบด้วยความสว่าง มีสติสัมปชัญญะพร้อม สติก็อันนั้น สัมปชัญญะก็อันนั้น การควบคุมจิตหรือความเป็นของจิตนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปโดยอัตโนมัติ ผู้ปฏิบัติไม่ได้ตั้งใจที่จะควบคุมจิตแต่จิตถึงสภาพความเป็นอัปปนาสมาธิโดยอิสระเสรีจริงๆ แต่มีสมรรถภาพทรงตัวอยู่ในสภาพอย่างนั้นเท่านั้น ผู้ปฏิบัติไม่สามารถจะน้อมความรู้สึกนึกคิดในขณะนั้นไปที่ไหนได้ จิตในขั้นนี้เป็นการสร้างกำลัง สร้างความมั่นคงของจิต เป็นจิตนิ่ง

เมื่อจิตถอนออกจากสภาพความเป็นอย่างนี้ออกมาสู่ความเป็นอุปจารสมาธิ พอเกิดความรู้ขึ้นนิดหน่อย ผู้ปฏิบัติรีบฉวยโอกาสเหนี่ยวเอาอารมณ์วิปัสสนากรรมฐานมาพิจารณา เช่น จะยกเอารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มาน้อมนึกคิดพิจารณาไป ทีนี้ ในเมื่อเราพิจารณาอารมณ์ในขณะที่จิตมีความสงบ จิตก็เป็นสิ่งที่น้อมเข้าไปสู่การงาน ไม่มีความฟุ้งซ่าน อาศัยกำลังหนุนจากอัปปนาสมาธิ จึงทำให้จิตมีสมรรภาพ มีกำลังเพิ่ม สามารถที่จะน้อมไปสู่อารมณ์ได้

ในขณะที่จิตน้อมเข้าไปสู่อารมณ์ เราจะน้อมเอาอะไรมาพิจารณาโดยพระไตรลักษณ์ก็ตาม ในขณะนั้นเราอาจจะไม่มีความรู้แจ้งเห็นจริงแต่ประการใด ได้แต่ความรู้สึกนึกคิดโดยเจตนาเป็นช่วงๆ บางทีจิตก็ปราศจากเจตนา ปราศจากความตั้งใจ เป็นอัตโนมัติ ผุดรู้ ผุดเห็นไปเอง บางครั้งก็ทำท่าคล้ายๆ จะถอนออกจากสภาพความเป็นอย่างนั้น พอรู้ว่าจิตจะถอนออกจากความเป็นเช่นนั้น เราก็รีบควบคุมจิตให้พิจารณาในเรื่องราวที่เราต้องการ กระทำอยู่อย่างนี้

จิตในขั้นอุปจารสมาธินี้เอง สามารถใช้ในการงานทุกสิ่งทุกอย่าง แม้แต่ใช้อำนาจทางพลังจิต จะเกิดอิทธิฤทธิ์ ก็ใช้จิตในระดับนี้ จะใช้อำนาจจิตพิจารณาสอดส่องให้รู้แจ้งเห็นจริงในสภาพธรรมดาตามความเป็นจริง ก็ต้องใช้จิตในระดับนี้ ในเมื่อเราใช้จิตในระดับนี้พิจารณาอยู่ ในเมื่อจิตจะมีความรู้แจ้งเห็นจริงประจักษ์ลงไปตามความเป็นจริง ด้วยการยอมรับสภาพความเป็นจริงตามธรรมชาติตามพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจตา ความไม่เที่ยง ทุกขตา ความเป็นทุกข์ อนัตตตา ความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน

เมื่อจิตมันจะตัดสินใจอะไรให้แจ่มแจ้งลงไป จิตจะนิ่งเข้าไปสู่อัปปนาสมาธิพักหนึ่ง แล้วอีกพักหนึ่งถ้าจิตมันสามาถพิจารณาตัดสินรู้อะไร เห็นอะไรได้ มันจะมีอาการไหวพั่บ ถ้าสังเกตดูให้ดีๆ แล้ว มันจะคล้ายๆ กับหัวใจของเรานี้มันมีอาการไหว พร้อมๆ กันนั้นก็เกิดผุดรู้เป็นภาษาขึ้นมาว่าอะไรเป็นอะไร

แต่ในขณะที่จิตมันไปจ้องมองรู้เห็นสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริงอยู่นั้น จิตก็มีสภาพเป็นอีกอย่างหนึ่ง อามรณ์ที่ทำให้รู้ให้เห็นแสดงปฏิกริยาให้รู้ให้เห็นเป็นอีกเอกเทศหนึ่ง คล้ายๆ กับไม่มีความสนใจในกันและกัน ถ้าความรู้ความเห็นอันใด เรายังรู้สึกว่า อ๋อ... อันนั้นคือันนั้น อันนี้คืออันนี้ อันนี้คืออนิจจัง อันนั้นคือทุกขัง อันนั้นคืออนัตตา เรายังมีความรู้สึกนึกคิดอยู่อย่างนี้ ถึงมันจะเป็นความรู้ แต่มันก็เป็นความรู้ขั้นใช้ความคิดหรือใช้วิจาร จากการวิจัยวิจารด้วยอำนาจสัญญาเจตนา แต่ยังไม่ใช่ขั้นรู้ตามความเป็นจริง

ความรู้ตามความเป็นจริงนั้น ต้องปราศจากสัญญาเจตนา ความคิดที่มีอยู่ได้ตัดขาดตอนขาดสะบั้นลงไป แล้วจิตไปบรรลุถึงสภาวะความเป็นอีกอย่างหนึ่ง มีสภาวะรู้เด่นชัดอยู่ สภาวะที่ให้รู้ก็มีอยู่ แสดงอาการเปลี่ยนแปลงให้รู้อยู่ แต่ในขณะนั้นภาษาว่าจิตก็ไม่มี ภาษาว่าสภาวธรรมที่เปลี่ยนแปลงก็ไม่มี ทุกสิ่งทุกอย่างมันมีแต่เพียงความมีอยู่เป็นอยู่เท่านั้น เพราะอาศัยเหตุนี้ พระพุทธเจ้าจึงทรงสมมติเรียกว่า สภาวธรรม เพราะมันมีความเป็นจริงโดยธรรมชาติของมัน

ทีนี้ ในความรู้ในขั้นสัจธรรมนั้น ไม่มีภาษาสมมติบัญญัติแต่ประการใด อาจจะมีปัญหาข้องใจเกิดขึ้นมาว่า ในเมื่อความรู้จริงเห็นจริงซึ่งเรียกว่าสัจธรรมปรากฏขึ้นกับผู้ปฏิบัตินั้น ไม่มีภาษาสมมติบัญญัติที่จะเรียกกัน แล้วพระพุทธเจ้าเอาภาษาที่ไหนมาพูดกัน นี่ก็เป็นสิ่งที่น่าคิดอยู่เหมือนกัน

ขอให้เราพิจารณาดูว่าภาษาต่างๆ ที่มีอยู่กันเต็มโลก เนื่องจากพระพุทธเจ้าเป็นสัพพัญญู เมื่อตรัสรู้แล้ว ธรรมะที่พระองค์ได้ตรัสรู้ พระองค์ก็มาสมมติบัญญัติธรรมที่พระองค์ได้ตรัสรู้นั้นให้ตรงกับภาษาที่เขาเรียกขาน ซึ่งมีอยู่ก่อน ส่วนภาษาจริงจังในความตรัสรู้ของพระองค์นั้นมันไม่มีภาษาอะไร

แม้แต่ผู้ปฏิบัติในปัจจุบันนี้ ถ้ารู้จริงเห็นจริงแล้ว มันก็ไม่มีภาษาอะไรที่จะเรียก เราจะมีภาษาเรียกได้ก็เมื่อจิตออกจากสมาธิมาสู่ความเป็นปกติภาพอย่างที่เรายังไม่ได้ทำอะไร แล้วความทรงจำที่มันเกิดรู้เกิดเห็นขึ้นมานั้นมันฝังอยู่ในส่วนลึกของจิต แล้วเราจะรู้สึกว่าไม่ลืม แม้บางครั้งที่เราไม่ได้นึกถึงมัน ก็คล้ายๆ กับว่ามันมีอยู่ เป็นอยู่ อัดแน่นอยู่ในหัวอกหัวใจ เป็นเจตสิกธรรม เป็นส่วนกุศลอยู่ในจิตในใจ

ในเมื่อมันมีอยู่อย่างนั้นไม่หลงไม่ลืม สภาวะที่มันปรากฏขึ้นภายใจจิตเราก็ยังจำได้ สิ่งที่เราจำได้นั้น มันตรงกับภาษาในตำรับตำราที่ท่านเขียนเป็นแบบฉบับไว้ เราก็เอาภาษาในแบบในแผน หรือภาษาที่คนเขาพูดกันนั้นแหละ มาสมมติเรียกสิ่งที่เรารู้เราเห็น ว่าอันนั้นเป็นอันนั้น อันนี้เป็นอันนี้ เพราะสภาวะที่มันเปลี่ยนแปลงไม่หยุดยั้ง ก็สมมติมันว่าเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยงเสีย สิ่งที่มันทนอยู่กับที่ไม่ได้เราก็สมมติมันว่า ทุกขัง เสีย สิ่งที่มันไม่เป็นไปตามอำนาจที่เราปราถนาต้องการ ไม่เป็นไปตามอำนาจบังคับบัญชา เราก็สมมติสิ่งเหล่านั้นที่มันอยู่เหนืออำนาจของเราว่า อนัตตา เสีย มันเป็นอย่างนี้

ขอให้นักปฏิบัติทั้งหลายพึงทำความเข้าใจโดยนัยที่กล่าวมานี้ ไม่ว่ากรณีใดๆ การปฏิบัติการรู้ธรรมะเห็นธรรมะ ในขั้นสมถะก็ดีหรือวิปัสสนาก็ดี จะมีลักษณะอย่างเดียวกันหมด ขอให้สังเกตให้ดีอย่างนักสมถะที่สามารถทำจิตให้สงบนิ่งลงไปได้ อย่างเช่น สมมติว่าในขั้นต้นเราบริกรรมภาวนา พุทโธๆๆ ในเมื่อภาวนา พุทโธๆๆ จิตเริ่มสงบลงไป พอสงบลงไป ในบางระยะจิตมันจะละเลิกจากคำนึกว่าบริกรรมภาวนาพุทโธๆๆ แล้วจิตจะไปนิ่งเฉยอยู่ ในเมื่อจิตนิ่งเฉยอยู่ สิ่งที่มันยังมีอยู่คือลมหายใจมันจะผุดขึ้นมาให้จิตรู้

ถ้าจิตดวงใดที่เดินทางถูกต้อง มันจะต้องยึดเอาลมหายใจเป็นอารมรณ์ ดูลมหายใจเรื่อยไปจนกระทั่งลมหายใจละเอียดเข้าทุกทีๆ ลมหายใจจะละเอียดหรือไม่ละเอียดไม่รู้ล่ะ แต่จิตมันละเอียดลงไป แล้วดูทุกสิ่งทุกอย่างละเอียดลงไปหมด จนกระทั่งในที่สุดจิตสงบนิ่งลงเป็นอัปปนาสมาธิ ลมหายใจก็หายขาดไปหมด ตัวทั้งตัวนี้ก็หายไปหมด ยังเหลืออยู่แต่สภาพจิตที่รู้ชัดเด่นอยู่ สว่างไสวอยู่อย่างเดียว ตอนนี้ท่านเรียกว่าจิตถึง พุทธะ คือ พุทโธ - ผู้รู้ พุทโธ - ผู้ตื่น พุทโธ - ผู้เบิกบาน

ในเมื่อจิตสามารถรวมเอาทุกสิ่งทุกอย่างเข้าไปสู่ความเป็นสมาธิ มีสติสัมปชัญญะตื่นขึ้นมาพร้อม เป็นพุทธะปรากฏขึ้นอยู่ในจิตอย่างแจ่มแจ้งชัดเจน อริยมัคคสมังคีก็ประชุมพร้อมในองค์แห่งสมาธิ ในเมื่อจิตเป็นสมาธิ จิตเป็นผู้รู้ แม้อยู่ในสมาธิ จิตก็เป็นผู้รู้ ตื่นอยู่ ในเมื่อออกจากสมาธิแล้ว ผลของความเป็นผู้รู้ภายในสมาธิ มันก็ยังมีผลมาอำนวยให้สภาพจิตซึ่งอยู่ปกติธรรมดามีสติสัมปชัญญะรู้อยู่ตลอดกาล ถึงแม้ไม่สงบแต่ก็รู้อย่างมีสติสัมปชัญญะทั้งนั้น

เพราะฉะนั้น มรรคทั้ง ๘ ประการ มีสัมมาทิฏฐิเป็นต้น มีสัมมาสมาธิเป็นที่สุด ในเมื่อนักปฏิบัติมารวมเอามรรค ๗ เบื้องต้น เข้าไปสู่ความเป็นสัมมาสมาธิ สัมมาทิฐิ ความเห็นชอบ ก็จิตเป็นผู้เห็น สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ ก็จิตเป็นผู้ดำริ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ มันก็ล้วนแต่เกี่ยวเนื่องด้วยจิตทั้งนั้น ในเมื่อเรารวมเอาจิตเข้าไปสู่สมาธิเสียอย่างเดียว ทุกสิ่งทุกอย่างมันก็เป็นสัมมาไปหมด
เพราะฉะนั้น การรวมเอามรรคเข้าไปสู่องค์อันหนึ่งคือสัมมาสมาธิ จึงเป็นปัจจัยหนุนจิตของนักปฏิบัติให้ดำเนินไปสู่ทางที่ถูกต้อง ด้วยประการฉะนี้

การกล่าวโอวาทตักเตือนเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมะในวันนี้ ก็ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้...
ที่มา http://www.larndham.net/cgi-bin/kratoo.pl/004541.htm


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 6 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร