วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 19:46  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=2



กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 มี.ค. 2022, 13:30 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 มิ.ย. 2007, 13:49
โพสต์: 1012


 ข้อมูลส่วนตัว


อาหาเรปฏิกูลสัญญา
พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์
(หลวงปู่เทสก์ เทสฺรํสี)
เทศน์ ณ วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย
วันที่ ๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๓


รูปภาพ

วันนี้จะเทศนาเรื่องอาหาเรปฏิกูลสัญญา ให้ฟัง จงตั้งใจฟังให้ดี

อาหารเป็นสิ่งที่มนุษย์และสัตว์ทั่วไปทั้งหมดจะต้องกิน
ถ้าไม่กินก็อยู่ไม่ได้ จะต้องตาย

ฉะนั้น อาหารจึงเป็นปัจจัยเครื่องยังชีวิตให้เป็นอยู่อย่างหนึ่งในปัจจัย ๔
คือ ผ้านุ่งห่ม ๑ อาหาร ๑ ที่อยู่อาศัย ๑ ยาแก้โรคภัยไข้เจ็บ ๑

ปัจจัย ๔ แต่ละอย่างนั้น ท่านสอนให้พิจารณาโดยนัยเดียวกัน
คือ ก่อนจะรับ เวลารับอยู่ และรับแล้ว แต่แยกกันออกไปโดยตามประเภทดังนี้

เช่น จีวร ก่อนจะรับมาบริโภคใช้สอย ให้พิจารณาโดยแยบคายด้วยอุบายอันชอบ
แล้วแต่ว่าใครจะมีอุบายเห็นสมควรแก่จริตนิสัยของตน
ขอให้พิจารณาเพื่อมิให้มัวเมาประมาทในกิเลส ให้เกิดสลดสังเวชเป็นพอ

จีวรนี้สักแต่ว่า ธาตุ หาใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขาไม่
ไม่มีชีวิตจิตใจอะไร เป็นของว่างเปล่า

เมื่อธาตุภายนอก คือ จีวร เอามาห่อหุ้มธาตุภายในคือร่างกายอันนี้แล้ว
ก็เป็นของปฏิกูล เก่า คร่ำคร่า น่าเกลียด ต้องชำระซักฟอกอยู่เสมอ


พิจารณาก่อนจะรับ เรียกว่า ธาตุปัจจเวกขณ์

เมื่อรับอยู่ ก็ให้พิจารณา เราบริโภคใช้สอยจีวรนี้
ก็เพื่อป้องกันความเย็น ความร้อน ความอ่อน ความแข็ง
และสัตว์เสือกคลานต่างๆ มีริ้น เหลือบ ยุง เป็นต้น
แล้วก็ปกปิดร่างกายเพื่อป้องกันความอับอาย

พิจารณาเมื่อกำลังรับอยู่ เรียกว่า ตังขณิกปัจจเวกขณ์

เมื่อรับแล้ว ขอให้พิจารณาอย่างเมื่อกำลังรับนั้น
การพิจารณาภายหลังเมื่อรับแล้ว เรียกว่า อตีตปัจจเวกขณ์

ปัจจัยเครื่องอาศัยทั้งสี่นี้ ต้องอาศัยอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
เมื่ออาศัยแล้วทำให้เกิดกิเลส คือยินดี พอใจ ชอบใจ รักใคร่
หรือไม่พึงพอใจ ไม่ปรารถนา เกลียดแหนงหน่าย

สิ่งที่ไม่พอใจ ก็เป็นกิเลส เป็นวิสัยของปุถุชน คนหนาด้วยกิเลส

เหตุนั้นสาธุชนผู้ปรารถนาจะพ้นจากทุกข์ทั้งหลาย
โดยเฉพาะพระภิกษุในพระพุทธศาสนาของพระพุทธองค์
เมื่อบวชมาเพื่อสละเพศฆราวาส
ปรารถนาที่จะทำตนให้พ้นจากโลกิยวิสัยที่เรียกว่าเนกขัมมะ

ฉะนั้น เมื่อมาบริโภคใช้สอยปัจจัย ๔
อันทายกเขานำมาถวายเพื่ออุทิศแก่พระศาสนา
เราเป็นผู้รับแทน จงได้พิจารณาดังที่ได้อธิบายมาแล้วนั้น
จึงจะพ้นจากโทษอันเป็นหนี้ในวัตถุทานของเขา


บริโภค ท่านอธิบายไว้มี ๓ อย่าง คือ
เถยยบริโภค ๑ อิณบริโภค ๑ สามีบริโภค ๑

ภิกษุในพระศาสนานี้ บวชมาแล้ว เป็นอยู่ด้วยอาศัยเครื่องภายนอก
อาศัยด้วยคนอื่น คือทายกทายิกาเห็นครองผ้าเหลืองๆ คิดว่าเป็นผู้มีสีลาจารวัตร
เกิดศรัทธาเลื่อมใสมีใจยินดีทำบุญด้วย

แต่พระบางองค์โลภมากอยากได้ไม่พอจึงพูดค่อนแคะกับผู้มีศรัทธา
เพื่อหวังผลอยากได้ในสิ่งที่ตนต้องการ

ดังพระองค์หนึ่งพูดกับผู้เขียนว่า เขาไม่เคยไปกรุงเทพฯ เลยในชีวิต
ครั้งแรกที่เขาไปคงจะเป็นแถวเมืองนนทบุรีนั่นเอง
เห็นผู้หญิงวัยกลางคนคนหนึ่ง หิ้วทุเรียนผ่านไป กลิ่นทุเรียนเหม็นฉุ่ย

พระองค์นั้นก็ถามขึ้นว่า “กลิ่นอะไรโยม ?”
โยมบอกว่า “กลิ่นทุเรียนเจ้าค่ะ”

พระองค์นั้นจึงเอ่ยขึ้นว่า “ฉันไม่รู้จัก รสชาติของมันเป็นอย่างไร หวานหรือเปรี้ยว ลูกละเท่าไร”
(ที่จริงพระองค์นั้นเคยฉันและรู้จักรสชาติมาแล้ว
ตลอดถึงราคาเมื่อก่อน ๒ บาท หรือสิบสลึงเท่านั้น)

โยมจึงบอกว่า “ฉันได้รสชาติก็อร่อยดี ราคาก็ไม่เท่าไร สองบาท หรือสิบสลึงเท่านั้นแหละ”
พระจึงบอกเรื่องของตัวว่า “อาตมาอยู่บ้านนอก
ไม่เคยเข้ามาในกรุง เห็นของแปลกๆ ก็อยากฉันดูบ้าง”

โยมบ้ายอคนนั้นก็ฉีกทุเรียนถวายพระขี้โกหกหมดทั้งลูกเลย

นี่แหละเรียกว่า กุหนา (อ่านว่า กุหะนา) หลอกลวงโกหกเขากิน
หรือ เถยยบริโภค ลักขโมยของเขากินด้วยการเห็นแก่ปากแก่ท้อง
แล้วพูดโกหกหลอกลวงเขาด้วยอาการต่างๆ นานาให้เขาหลงเชื่อ
ไม่พิจารณาให้สมแก่สมณะ

โยมก็ศรัทธาเหลือควร เห็นเขายอเข้าก็ได้ใจใหญ่เพื่อจะเพิ่มพูนกิเลสของพระ
เมื่อพระท่านฉันของไม่ว่าหวานหรือคาวสิ่งใดมากๆ ก็ตักมาเพิ่มเติมให้

ถ้าพระมีสติรู้ตัวละอายหน่อยก็หยุดฉันทันที
ถ้าพระหายางอายไม่ได้ก็จะฉันเรื่อยไป
พูดเท่านี้ก็พอแล้ว

อิณบริโภค (อ่านว่า อิ นะ บริโภค) เมื่อภิกษุได้ปัจจัย ๔ มาแล้ว
บริโภคปัจจัยนั้นด้วยความมัวเมา
หาพิจารณา ตังขณิกปัจจเวกขณ์ ธาตุปัจจเวกขณ์ หรือ อตีตปัจจเวกขณ์ ไม่
ตามที่อธิบายมาแล้วแต่ข้างต้น

ภิกษุบวชมาในพระพุทธศาสนานี้ เพื่อรักษาไว้ซึ่งพรหมจรรย์
มาปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า
หากเห็นแก่ลาภ ยศ สรรเสริญ ลืมตัว ไม่พิจารณาปัจจัย ๔ ดังอธิบายมาแล้ว

ทรงเทศนาเฉพาะก้อนข้าวอย่างเดียวว่า
ภิกษุเช่นนั้นบริโภคก้อนเหล็กร้อนแดงยังดีกว่า
เพราะก้อนเหล็กแดงเมื่อบริโภคเข้าไปแล้ว
จะต้องไหม้ลำไส้ทะลุลงไปถึงทวารหนัก แล้วก็ตาย
ตายแล้วไม่ได้รับบาปกรรม ตกนรกทนทุกข์ทรมานนาน


ส่วนก้อนข้าวที่ชาวเมืองเขาทำบุญหวังผลอานิสงส์นี้ เป็นบาปมาก
เพราะเจตนาของเขาบริสุทธิ์ แต่พระผู้รับเป็นผู้ทุศีล
ไม่พิจารณาปัจจเวกขณ์ให้สมแก่สมณสารูป จึงเป็นบาปมาก


สามีบริโภค คือภิกษุก่อนจะรับปัจจัย ๔ มีจีวร เป็นต้น
ถ้าพิจารณาให้เป็นของจำเป็นที่เราจะต้องนุ่งห่ม เพื่อป้องกันความเย็นร้อน
และริ้น เหลือบ ยุง ทั้งหลาย เพื่อป้องกันกำบังความละอาย

เมื่อบริโภคอยู่ ให้พิจารณาเป็นแต่สักแต่ว่าธาตุทั้ง ๔
ไม่ใช่สัตว์ ตัวตนบุคคล เราเขา เป็นของว่างเปล่า
เมื่อเข้ามาถึงอัตภาพของเราแล้ว ก็เป็นของปฏิกูลเปื่อยเน่า

เมื่อบริโภคแล้ว ก็พิจารณาเหมือนก่อนได้รับนั้น จะไม่ให้เกิดความมัวเมาหลงระเริง
ดังตัวอย่างพระบางรูป เมื่อได้ปัจจัย ๔ มา เช่นอาหาร เป็นต้น
บริโภคโดยระเริงคุยกันอย่างสนุกสนาน หยอกล้อหัวเราะคิกๆ คักๆ
ผิดวิสัยสมณสารูปที่ดีงาม ไม่สำรวมทั้งกาย วาจา และใจ
ทำตัวอย่างให้กุลบุตรผู้ได้เห็นแล้วถือเป็นแบบอย่างได้
ชื่อว่าทำลายพระพุทธศาสนาโดยไม่รู้ตัว

ปัจจัยทั้งสี่นี้ เครื่องนุ่งห่มและอาหารสำคัญที่สุด จะเว้นเสียมิได้

อาหาร ก็ยังพออดได้ ๑๐ วัน ๒๐ หรือ ๓๐ วัน ก็ยังไม่ตาย
ส่วนจีวรนี่ซีไม่นุ่งห่มไม่ตายจริงแล
แต่ไม่นุ่งห่มแล้ว ใครเล่าจะกล้าออกมาเดินโทกเทกๆ ให้เขาดูได้

เหตุนั้น จีวร จึงเป็นของจำเป็นอย่างยิ่ง
ส่วนอาหารมีการหิวโหย เมื่อรับประทานแล้วมีอาการระงับไป
แล้วก็หิวโหยอีก ไม่รู้แล้วรู้รองสักที วันหนึ่งๆ ตั้งหลายครั้งหลายหน

ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบย่อมละเว้นข้อเหล่านั้นเสีย
บริโภคเพื่อยังชีวิตให้อยู่ได้ จะได้ประพฤติพรหมจรรย์ให้มั่นคงถาวรต่อไป
ถ้าไม่บริโภคก็หิวโหยทุกขเวทนามาก จะประพฤติพรหมจรรย์ลำบาก

เพราะพระพุทธศาสนานี้จะตั้งอยู่มั่นคงถาวรได้ ก็เพราะอาศัยพระสงฆ์
พระสงฆ์จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้รักษาไว้ซึ่งพระพุทธศาสนา

ทายก ทายิกา ทำบุญก็เพื่อยังพระศาสนาให้มั่นคงเจริญถาวรต่อไป

ฉะนั้น ภิกษุที่ท่านพิจารณาอาหารโดยเห็นเป็นธาตุชัดเจนแล้ว
เมื่อจะบริโภคก็ไม่มัวเมา บริโภคเพื่อยังชีวิตให้เป็นไปวันหนึ่งๆ เท่านั้น
หรือที่เรียกว่าเพื่อเป็นยาปนมัต
(อ่านว่า ยาปะนะมัด) เท่านั้นเอง

คนเป็นไข้ป่วยมาลาเรียไม่รับประทานยาควินินขมขื่นก็จะไม่หาย ฉันใดก็ฉันนั้น

ท่านอุปมาไว้ว่าเหมือนหญิงลูกอ่อนเดินข้ามทะเลทรายอันกันดาร ไปหลายวันหลายคืน
เสบียงที่เตรียมติดตัวไปก็หมดลง จึงมาคิดว่าทางอันกันดารก็ยังไกลอยู่ อาหารเราก็หมดแล้ว
อีก ๒-๓ วันเราพร้อมด้วยลูกก็จะตายลงเพราะไม่มีอาหารรับประทาน

อย่ากระนั้นเลย เรามาฆ่าลูกน้อยของเราอันแสนรักสุดชีวิต
กินเพื่อยังประทังชีวิตให้เป็นอยู่ แล้วหญิงแม่ลูกอ่อนคนนั้นก็ฆ่าลูกตายเสีย

อันการรับประทาน (เนื้อของ) ลูกรักแสนสุดใจกับการรักชีวิต พ้นวิสัยจะพรรณนา
อาหาร (เนื้อ) ที่รับประทานนั้นจะเป็นอย่างไร ขอให้ผู้อ่านพิจารณาเอาเอง

ภิกษุผู้มีสติควบคุมจิตของตนได้แล้ว
ย่อมพิจารณา ตังขณิกปัจจเวกขณ์ ธาตุปัจจเวกขณ์ อตีตปัจจเวกขณ์
ในปัจจัยทั้งสี่ ให้เห็นเป็นสักแต่ว่าธาตุเท่านั้น
ย่อมไม่มัวเมา หลงระเริงลืมตัว แล้วบริโภคปัจจัย ๔ นั้น
เรียกว่าสามีบริโภค บริโภคโดยความเป็นใหญ่
โดยเป็นเจ้าของแห้งวัตถุทานนั้น


อธิบายว่าทานวัตถุอันใดที่ทายกทายิกานำมาถวายพระนั้น มีจีวรบิณฑบาต เป็นต้น
ไม่ว่าทานวัตถุนั้นจะเป็นของหยาบและของละเอียดก็ตาม
เป็นของมีคุณค่าเสมอเหมือนกัน

ด้วยเจตนาหวังบุญอันแน่วแน่แด่พระภิกษุ
ผู้ที่ตนเห็นว่าเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์และมีจริยาวัตรอันดีงาม
แล้วหวังเพื่อบุญกุศลอันยิ่งใหญ่อันหาค่ามิได้

แต่พระภิกษุกลับทำตัวแกล้งเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยศีลและจริยาวัตร
หลอกลวงเขากิน ฉ้อโกงเขาด้วยกระเท่ห์เล่ห์กลต่างๆ
ถึงไม่ผิดกฎหมายบ้านเมือง แต่ผิดในธรรมวินัย


ด้วยเจตนาอันไม่บริสุทธิ์
เหตุนั้นจึงเรียกว่า เถยยบริโภคและอิณบริโภค
ขโมยของเขามากิน เป็นหนี้เป็นสินเขามากิน


การบริโภคทั้ง ๓ นี้ ถึงแม้พระพุทธเจ้าจะทรงเทศน์ให้พระภิกษุบริษัทฟัง
ก็จริงแล แต่ฆราวาสก็ควรนำมาพิจารณาได้เหมือนกัน
อย่างน้อยก็เพื่อลดหย่อนความฟุ่มเฟือยลงไปได้
ดีกว่าจะไม่พิจารณาเสียเลย มีแต่ความหลงมัวเมา
เอาแต่ความชอบใจของตนอย่างเดียว ไม่รู้จักผิดถูกชั่วดี

ดังเรื่อง นายโคฆาต ท่านแสดงไว้ในพระธรรมบท

นายโคฆาตคนนี้ติดเนื้อวัว
เอาแต่รับประทานเนื้อวัวเสียจนไม่ต้องรับประทานข้าวก็อิ่ม
ฆ่าวัวขายเป็นประจำตั้งหลายสิบปี

วันหนึ่งแกออกจากบ้านไปทำงาน ภรรยาแกอยู่เฝ้าบ้าน
ตอนกลางวันมีเพื่อนสามีมาเยี่ยมถึงบ้าน
เมื่อถามหาสามี ก็บอกว่าไม่อยู่ ไปทำงานนอกบ้าน

ภรรยาของเพื่อนจึงถามว่ารับประทานอาหารเที่ยงหรือยัง
เขาบอกว่าไม่เป็นไรหรอก ยังไม่หิว รับประทานไปตะกี้นี้เอง

ภรรยาของเพื่อนก็ได้ต้อนรับด้วยน้ำใสใจดี
ให้รอสักประเดี๋ยว จะจัดอาหารอย่างดีมาให้รับประทาน
แล้วก็ไปหยิบเอาเนื้อวัวที่เหลือไว้ให้สามีรับประทานนั้นมาปรุงเป็นอาหาร

แต่ลืมไป หาได้คิดว่า สามีกลับจากทำงานมาแล้ว มาถึงบ้านจะรับประทานอะไร
ถ้าขาดเนื้อวัวแล้วก็รับประทานไม่ได้เด็ดขาด

เพื่อนของสามีเมื่อรับประทานอาหารแล้วก็ขอบพระคุณลาไป
ก่อนจะลาไปสั่งภรรยาของเพื่อนให้บอกสามีว่าฉันมาเยี่ยมแต่ไม่พบ

พอตอนบ่ายหน่อย นายโคฆาตก็กลับมาถึงบ้าน ถามหาเนื้อวัวที่เก็บไว้
ภรรยาก็บอกว่าได้เอาไปทำอาหารให้เพื่อนของแกรับประทานเสียแล้ว

นายโคฆาตกำลังหิวจัดจึงจับมีดอันคมจัดลงไปใต้ถุนบ้าน
ล้วงจับเอาลิ้นของโคที่ผูกไว้ เชือดเอามาปิ้งกิน

โคนั้นก็ชักดิ้นตายอยู่กับที่ นายโคฆาตก็รับประทานลิ้นวัวด้วยความเอร็ดอร่อย
เพลินไปในรสอาหาร เลยกัดลิ้นของตนเองขาดตายคาที่นั่นเอง
ก่อนจะตายก็ร้องเหมือนเสียงโค แล้วก็กลิ้งไปกลิ้งมาจนสิ้นใจตาย


นี่แลผลกรรมที่ตัดลิ้นวัวมาเป็นอาหาร ไม่รู้ตัว กว่าจะรู้ตัวก็ตายเสียแล้ว
และความหลงรสชาติในอาหารด้วยการไม่พิจารณาก่อน
ใครๆ ก็บอกว่าไม่มีโทษ เพราะไม่ได้ลักขโมยเขากิน

ย่อมเป็นอย่างนี้แหละ

วันนี้อธิบายเพียงเท่านี้ เอวํฯ


(นั่งสมาธิ)
หลวงปู่อบรมนำก่อน

นั่งภาวนาต่อไป ปัจจัย ๔ มีอาหาร เป็นต้น
ก็เป็นกรรมฐานด้วยหรือ ทำไมจึงต้องพิจารณากรรมฐานด้วย

แน่นอน ถ้าพิจารณาให้เป็นกรรมฐานไม่ว่าแต่เป็นปัจจัย ๔ เท่านั้น
สิ่งทั้งปวงหมดที่มีอยู่ในโลกนี้
ถ้าพิจารณาให้เป็นกรรมฐานก็เป็นด้วยกันทั้งนั้น

เพราะท่านให้พิจารณาสิ่งที่มีอยู่แล้ว
ให้เห็นตามเป็นจริงของมันทุกประการ เรียกว่า กรรมฐาน


ที่ท่านยกเอาปัจจัย ๔ มาให้พิจารณา
ก็ด้วยปัจจัย ๔ เป็นของจำเป็นแก่ชีวิตทุกคน และต้องอาศัยอยู่เป็นนิตย์ด้วย

สิ่งที่เราอาศัยอยู่เป็นนิตย์นี้ มันเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราหลงและเกิดกิเลสได้
เมื่อเกิดกิเลสขึ้นบ่อยๆ ก็หุ้มห่อจิตใจให้หนาแน่นขึ้นทุกวันๆ

เหตุนี้ท่านจึงให้พิจารณา ก่อนจะรับให้เห็นเป็นธาตุ
รับอยู่ก็ให้พิจารณาด้วยแยบคาย เพื่อมิให้หลงตามของเหล่านั้น
เมื่อรับแล้วเอามาพิจารณาอีกซ้ำๆ ซากๆ อยู่อย่างนั้น
ตราบใดยังมีชีวิตอาศัยของ ๔ อย่างนี้อยู่ ก็จะต้องพิจารณาอยู่อย่างนั้นเรื่อยไป

เมื่อพิจารณาอยู่อย่างนั้นแล้ว
สติจะแน่วแน่อยู่ในอารมณ์อันเดียว คือ ปัจจเวกขณ์ นั่นแล


แล้วจะเอากรรมฐานที่ไหนอีก เมื่อพิจารณาอยู่อย่างนั้นจนชำนาญแล้ว
ปัญญาความฉลาดในการพิจารณานั้นก็ดี
หรือปัญญาอันเกิดจากแยบคายที่พิจารณาสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ดี
หากจะเกิดขึ้นด้วยตนเอง เอาละ

:b8: :b8: :b8:
พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
โครงการหนังสือบูรพาจารย์ เล่ม ๑๐
ดร.ปฐม-รศ.ภัทรา นิคมานนท์, ธันวาคม ๒๕๔๘
พระธรรมเทศนา กัณฑ์ที่ ๑๕ อาหาเรปฏิกูลสัญญา หน้า ๖๑๕-๖๒๓


:b44: ประวัติและปฏิปทา “หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=35963

:b44: รวมคำสอน “หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=43000

:b44: ประมวลภาพ “หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี” วัดหินหมากเป้ง
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=42782

:b50: :b49: ธาตุปัจจเวกขณปาฐะ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=28&t=26224

:b50: :b49: ตังขณิกปัจจเวกขณปาฐะ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=28&t=26219

:b50: :b49: อตีตปัจจเวกขณปาฐะ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=28&t=26210

.....................................................
ทำความดีทุกๆ วัน


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 18 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร