วันเวลาปัจจุบัน 20 เม.ย. 2024, 09:53  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=2



กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ต.ค. 2010, 12:59 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 10 ก.ค. 2009, 20:44
โพสต์: 341

ที่อยู่: ภาคตระวันออก

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

ทางออกจากโลกโดยทางพระวิสุทธิมรรค
พระธรรมเทศนา
โดย
พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท)


การที่ท่านทั้งหลายได้สลัดตัดกังวลในกิจการงานแห่งเคหะสถานบ้านเรือน มายังที่ประชุมนี้ สำเร็จมาแต่ความไม่ประมาท ปรารถนาจะทำตนให้เป็นที่พึ่ง คือตั้งใจจะประกอบการกุศลส่วนที่ตนยังไม่เคยมีให้มีขึ้น และเพื่อจะบำรุงบุญกุศลที่ตนได้ประพฤติมาแล้วให้เจริญภิยโยยิ่งขึ้นตามลำดับ ความจริงการที่จักได้อัตตภาพมาเป็นมนุษย์ท่านแสดงว่าเป็นของแสนยาก เพราะเป็นชาติที่อุดม อาจที่จักประกอบคุณงามความดีได้ทุกประเภท ชีวิตความเป็นอยู่ตลอดมาถึงวัยนี้ขัยนี้ ก็เป็นของแสนยากแสนลำบาก ต้องฝ่าฝืนอุปสรรคขัดข้องมาโดยลำดับ การฟังธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าก็แสนยาก ต้องมีศรัทธาความเชื่อพอจึงจะฟังได้ ทั้งเป็นของละเอียดยากที่จักถือเอาเนื้อความได้ พุทธบุคคลทั้งหลายจะเกิดขึ้นมาในโลกแต่ละครั้งแต่ละคราวก็เป็นของแสนยาก เพราะต้องบำเพ็ญพระบารมีทั้ง ๑๐ ประการ มีทาน ศีล เป็นต้น บริบูรณ์แล้วจึงจะมาเกิดขึ้นได้ ในพวกเราทั้งหลายทุกวันนี้ ของหาได้ด้วยยากทั้ง ๔ ประการนี้ ได้มาถึงจำเพาะหน้าแล้ว มิหนำซ้ำเกิดในตระกูลอันเป็นสัมมาทิฏฐิ ส่วนตนก็มีศรัทธา เชื่อกรรม เชื่อผลของกรรม และเชื่อคุณพระรัตนตรัยว่าเป็นสรณะที่พึ่งได้ แต่มักพูดกันโดยมากว่า ความเพียรของตนยังอ่อน ถ้าเช่นนั้นก็ควรปรารภความเพียรให้หนักขึ้น เอาตัวออกจากความทุกข์ได้ในชาตินี้เป็นดี เพราะชาติหน้า หมายไม่ได้ว่าจะได้อัตตภาพเป็นอะไร จึงจะได้อัตตภาพเป็นมนุษย์อีก จะวางใจว่าเราคงมีศรัทธาเหมือนชาตินี้ไม่ได้ เพราะข้ามภพข้ามชาติไปแล้ว ตั้งความเพียรเอาตัวรอดเสียในชาตินี้เป็นดี เพราะทางออกจากทุกข์ ก็พากันเข้าใจอยู่โดยมากแล้ว

บัดนี้ จักแสดงพระธรรมคุณ ถือเอาเนื้อความในบทว่า สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม นั้นแสดงต่อไป จักแสดงปฏิบัติธรรมกับปฏิเวธธรรม ทางออกจากโลก หรือทางออกจากทุกข์โดยทางวิสุทธิมรรค ในวันพระก่อน ได้แสนดงทางออกจากโลกโดยทางพระ อัฏฐังคิกมรรค วันนี้จะแสดงโดยทางวิสุทธิมรรค ทางทั้งสองนี้เมื่อตรงได้ความแล้ว ก็คงกลมเกลียวลงรอยเดียวกัน ต่างแต่อัฏฐังคิกมรรคมีองค์ ๘ วิสุทธิมรรคมีองค์ ๗ เท่านั้น ในองค์ทั้ง ๗ ของวิสุทธิมรรคนั้น คือ

สีลวิสุทฺธิ ความบริสุทธิ์ของศีล ๑

จิตฺตวิสุทฺธิ ความบริสุทธิ์ของจิต ๑

กงฺขาวิตรณวิสุทฺธิ ความบริสุทธิ์แห่งการพ้นความสงสัยเสียได้ ๑

มคฺคามคฺคญาณทสฺสนวิสุทฺธิ ความบริสุทธิ์แห่งความรู้ความเห็นว่า นี่ทาง นี่ใช่ทาง ๑

ปฏิปทาญาณทสฺสนวิสุทฺธิ ความบริสุทธิ์แห่งความรู้ความเห็นว่า นี่ปฏิปทาทางปฏิบัติตรง ๑

ญาณทสฺสนวิสุทฺธิ ความบริสุทธิ์แห่งความรู้ความเห็นอันสำเร็จมาแต่ปฏิปทา ชื่อว่าญาณทัสสนวิสุทธิ์ ๑


ญาณทัสสนวิสุทธิ์นี้ท่านแสดงว่าเป็นมรรค ตามนัยอภิธัมมัตถสังคหะว่า ญาณทสฺสนวิสุทธิ นามมคฺโค ปวุจฺจติ ความว่า ญาณทัสสนวิสุทธิ์นี้ ท่านกล่าวว่าเป็นชื่อของมรรคดังนี้

จักอธิบายวิสุทธิทั้ง ๗ นั้นต่อไป สำหรับเป็นทางศึกษา ความจริงก็คือปฏิบัติธรรม คือ ศีล สมาธิ ปัญญานั้นเอง จึงไม่แก่งแย่งกันกับอัฏฐังคิกมรรค สีลวิสุทธิก็คือแสดงกองศีล จิตตวิสุทธิก็คือแสดงกองสมาธิ ทิฏฐิวิสุทธิถึงญาณทัสสนวิสุทธิก็คือแสดงกองปัญญา

สีลวิสุทธิท่านหมายถึงอริยกันตศีล คือศีลในอริยมรรค คือ สมฺมาวาจา สมฺมากมฺมนฺโต สมฺมาอาชีโว เหมือนกัน ตั้งเจตนาให้เป็นสมุทเฉททวิรัติก็นับว่าเป็นสีลวิสุทธิได้ จิตตวิสุทธินั้นก็หมายอัปปนาจิต คือตั้งใจบำรุงสติปัฏฐาน อันสัมปยุตตด้วยสัมมาวายามะจนบรรลุอัปปนาจิต ชื่อว่า จิตตวิสุทธิ

ทิฏฐิวิสุทธินั้น ท่านหมายทิฏฐิที่ตรง เป็นองค์สัมมาทิฏฐิ คือเห็นว่าความดีความชั่วเป็นของมีจริง สัตว์ทำดีได้ดีจริง สัตว์ทำชั่วได้ชั่วจริง โลกนี้โลกหน้าเป็นของมีจริง มรรค ผล นิพพาน เป็นของมีจริง กันสัญญาวิปลาศออกเสียได้ สัญญาวิปลาสนั้น ชื่อว่า มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดเหมือนอย่างผู้เห็นว่าตายแล้วสูญ ไม่มีอะไรไปเกิดอีก ข้อนี้พึงกำหนดดูธรรมชาติ สิ่งใดซึ่งเป็นของมีอยู่แล้วและจักสูญไป สิ่งนั้นจะพึงมีได้ด้วยเหตุไร

บางพวกเห็นว่า ตายแล้วเกิดอีก เคยเกิดเป็นสิ่งใดก็ต้องเป็นสิ่งนั้น เหมือนอย่างผู้เกิดเป็นมนุษย์ก็จักเกิดเป็นมนุษย์ร่ำไป เคยเป็นสตรีก็จักเป็นสตรีร่ำไป เคยเป็นสัตว์ประเภทใด ก็จะต้องเป็นสัตว์ประเภทนั้นร่ำไป ดังนี้ ข้อนี้พึงกำหนดดูให้เข้าใจ ส่วนรูปร่างเหมือนอย่างเป็นมนุษย์ หรือเป็นสัตว์ต่าง ๆ นั้น เป็นภพ เป็นชาติ ส่วนหนึ่งไม่กลับกลายคงที่ แต่สัตว์ผู้เป็นเจ้าของภพชาตินั้นอีกส่วนหนึ่ง ส่วนสัตว์นั้นจะไปถือเอาภพใดชาติใดก็ได้ สุดแต่กุศลจะนำไป

บางพวกเห็นว่า บุญไม่มี บาปไม่มี เหตุไม่มี ผลไม่มี ดีชั่วเป็นเองทั้งนั้น อย่างนี้ชื่อว่า นัตถิกทิฏฐิ บางพวกเห็นว่าความไม่ทำ เป็นหมดกิเลส ทำสิ่งไรเป็นกิเลสทั้งสิ้น อย่างนี้ชื่อว่า อกิริยทิฏฐิ

เมื่อกันทิฏฐิวิปลาสออกได้แล้วเป็นผู้เชื่อกรรมเชื่อผลโดยแน่แท้ ตั้งใจปฏิบัติตามพุทธโอวาท เจริญสมถะวิปัสสนาจริง ๆ แต่อย่างนั้น สัญญาวิปลาสยังแอบเข้าไปเป็นเจ้าของเสียอีก ทำให้ทิฏฐิไม่บริสุทธิ์ได้ เหมือนอย่างผู้ยกสังขารขึ้นสู่พระไตรลักษณ์ เห็นสังขารเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาได้แล้ว ก็ยังไม่พ้นวิปลาส เพราะยังเห็นซีกเดียว เห็นแต่เขา ไม่เห็นเรา

ถ้าจะให้เป็น ทิฏฐิวิสุทธิ ต้องให้เห็นเขาด้วย เห็นเราด้วย เห็นไม่ใช่เขาด้วย เห็นไม่ใช่เราด้วย จึงเป็นสัมมาทิฏฐิ เป็นทิฏฐิวิสุทธิ ส่วน กังขาวิตรณวิสุทธิ ความบริสุทธิ์แห่งการข้ามความสงสัยนั้นคือทิฏฐิวิสุทธิ ชำระวิปลาสเสียได้แล้ว คือเห็นสรรพสังขารไม่ใช่เขา ไม่ใช่เรา คือเห็นปัจจุบันธรรมชัดขึ้น เพราะรู้เท่าสังขาร คือที่รู้ว่าร่างกายจิตใจของตนเป็นสังขารนั้น ไม่ใช่วิชชาของเราเอง จำเขามาทั้งนั้น ทั้งพระไตรลักษณ์ที่กาความว่า สังขารไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ก็เป็นสัญญาอดีต จำเขามาทั้งนั้น ตกลงก็คือสังขารผู้ถูกไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ก็สัญญาอดีต ส่วนตัวไม่เที่ยง ตัวทุกข์ ตัวอนัตตาเอง ก็สัญญาอดีตเหมือนกัน

เมื่อเห็นธรรมที่เป็นปัจจุบันเต็มที่ สัญญาอดีตดับหมด คือสังขารผู้จำเลยก็ดับ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ผู้โจทก์ก็ดับ ยังเหลือแต่ปัจจุบันธรรม เป็นธรรมอันแน่นอน เป็นธรรมอันไม่กำเริบ เป็นผู้สิ้นสงสัยในอดีตอนาคตด้วย เห็นปัจจุบันธรรมนี้ ชื่อว่า กังขาวิตรณวิสุทธิ ส่วนมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิสั้น เป็นผลสำเร็จมาแต่ กังขาวิตรณวิสุทธิเหมือนกัน คือสิ้นสงสัยในอดีตอนาคต เห็นปัจจุบันธรรมเป็นตนแล้ว ก็ตั้งหน้าสำรวจทางเดินต่อไป ให้รู้แน่ว่า นี่ทางผิด นี่ทางถูก เมื่อสมาธิฟอกจิตให้ผ่องใสแล้ว จักได้ประสบวิปัสสนูปกิเลส ๑๐ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง

โอภาโส คือเกิดแสงสว่างอย่างยิ่งที่ไม่เคยได้พบได้เห็น
ปีติ ความอิ่มกาย อิ่มใจ
ปสฺสทฺธิ ความสงบใจ
อธิมกฺโข ความน้อมใจเชื่อต่อพระนิพพาน
ปคฺคโห ความประคองอารมณ์
สุขํ ความสุข
ญาณํ สิ่งที่รู้
อุปฏฺฐานํ ความเพียรเป็นไปมั่น
อุเปกฺขา ความเพิกเฉยต่ออารมณ์
นิกนฺติ ความรักใคร่ในพระนิพพาน


แต่ละอย่าง ๆ ล้วนเป็นของประณีต ทำให้พิศวงงงงวยไปได้ ให้สำคัญว่าตนเป็นผู้สำเร็จ ความจริงเป็นกิเลส เครื่องกั้นจิตมิให้สำเร็จพระนิพพาน เมื่อไต่สวนเห็นความผิดอย่างนี้ก็เพ่งหาทางที่ถูกต่อไป เห็นวิปัสสนาญาณ ๑๐ ประการ ว่าเป็นทางที่ถูก การพิจารณารู้แน่ว่า นี่ทางผิด นี่ทางถูก เพียงเท่านี้ ชื่อว่า มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ

ส่วน ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ นั้น เป็นผลสำเร็จมาแต่ มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ คือ เมื่อวินิจฉัยตกลงว่า นี่ทาง ก็ลงมือดำเนิน คือน้อมจิตสู่วิปัสสนญาณ ยกสังขารขึ้นเป็นอารมณ์ เห็นความเกิดดับแห่งสังขารชัดใจ ชื่อว่า อุทยัพพยญาณ แล้วพิจารณาแต่ความดับอย่างเดียวเป็น ภังคญาณ แล้วพิจารณาเห็นสังขารเต็มไปด้วยโทษ เป็น อาทีนวญาณ แล้วเกิดความเบื่อหน่ายในสังขารเป็นนิพพิทาญาณ แล้วเกิดความสะดุ้งหวาดต่อสังขารเป็นภยญาณ แล้วหาทางหนีออกจากสังขารเป็น มุญจิตุกัมยตาญาณ แล้วพิจารณาหาทางออกเป็น ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ เมื่อพิจารณาเห็นไม่มีทางออกที่จะออกได้ เกิดเพิกเฉยต่อสังขาร ชื่อว่า สังขารุเปกขาญาณ ถ้ากำลังปัญญาน้อย มาถึงเพียงแค่นี้แล้วก็ถอย ยกจิตให้สูงขึ้นไปอีกไม่ได้

พระโยคาวจรเมื่อเห็นแต่เพียงเพิกเฉยต่อสังขาร เห็นสังขารเป็นแต่เพียง อนิจฺจํ ทุกขํ อนตฺตา เท่านี้ หาพ้นจากโลกไม่ จึงกลับพิจารณาญาณทั้ง ๘ นั้น เป็นอนุโลมปฏิโลม ยกขึ้นสู่ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เป็น สัจจานุโลมิกญาณ เมื่อสัจจานุโลมิกญาณแก่กล้า มีกำลังเต็มที่ ก็แลเห็นโลกุตรธรรม เรียกว่า โคตรภูญาณ จะได้จะเสียก็โคตรภูญาณนี้เอง ถ้ากำลังน้อยก็กลับหลัง ถ้ากำลังมากก็ไปหน้า ถึงโลกุตระทีเดียว โลกิยวิปัสสนาเห็นโลกุตระมีแต่โคตรภูญาณอย่างเดียว การที่ยกวิปัสสนาขั้นต่ำขึ้นสู่อริยสัจ ๔ เป็นข้อสำคัญ คือให้เห็นสังขารเป็นตัวทุกข์ ให้เห็นความไม่รู้เท่าสังขารเป็นสมุทัย ความรู้เท่าสังขารแล้วสังขารดับเป็นนิโรธ ปัญญาที่รู้อาการแห่งสังขารเป็นทุกข์ เป็นสมุทัย เป็นนิโรธ ชื่อว่า สัมมาทิฏฐิ เป็นมรรค

การที่แสดงอริยสัจ ได้เคยแสดงขยายออกเป็นหลายประเภท ค่าที่ไม่ได้ไต่สวนให้ได้ความจริงจัง ก็ถือเอาเนื้อความไม่ได้ บัดนี้จะตั้งปัญหาไว้ให้สักปัญหาหนึ่ง ทุกขอริยสัจนั้น จะบัญญัติลงที่กายที่ใจนี้หรือ ? สมุทัยอริยสัจก็ดีจะบัญญัติลงที่กายที่ใจนี้หรือ ? นิโรธอริยสัจก็ดีจะบัญญัติลงที่กายที่ใจนี้หรือ ? มัคคอริยสัจก็ดีจะบัญญัติลงที่กายที่ใจนี้หรือ ? ถ้าบัญญัติลงในที่อื่นก็แล้วไป ถ้าบัญญัติทุกข์ลงที่กายที่ใจ ถ้าบัญญัติสมุทัยลงที่กายที่ใจ ถ้าบัญญัตินิโรธลงที่กายที่ใจ ถ้าบัญญัติมรรคลงที่กายที่ใจ เมื่อกายและใจยังมีอยู่ ทุกข์จะดับได้ด้วยอย่างไร สมุทัยจะดับได้ด้วยอย่างไร นิโรธจะดับได้ด้วยอย่างไร มรรคจะดับเป็นผลขึ้นด้วยอย่างไร ปัญหานี้สำหรับนำไปตรอง ได้แสดงทางออกจากโลกด้วยวิสุทธิมรรคพอเป็นวิธีทางดำเนินของพระโยคาวจรผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสารพอเป็นสังเขปไว้เพียงเท่านี้

ทางวิสุทธิมรรคที่แสดงมานี้ก็เป็น สวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม เหมือนนัยหนหลัง และเป็น สนฺทิฏฐิโก ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นด้วยตนเอง และเป็น อกาลิโก ไม่ต้องอ้างกาล เพราะเป็นธรรมมีอยู่ทุกเมื่อ และเป็น เอหิปสฺสิโก อาจอวดผู้อื่นให้มาดูได้ เพราะเป็นของมีจริง และเป็น โอปนยิโก ควรน้อมเข้ามาสู่ตนได้ คือให้มีขึ้นในตน และเป็น ปจฺจตฺตํ ผู้รู้ทั้งหลายจะพึงรู้แจ้งจำเพาะที่ตน จึงเป็นของควรเชื่อได้ว่าเป็นพุทธโอวาทโดยไม่ต้องสงสัย ควรพุทธบริษัทจะกำหนดนำไปตรวจตรอง จนเกิดความบริสุทธิ์สิ้นสงสัยในพุทธโอวาท จักได้เป็นคนฉลาดในทางแห่งความสุข โดยนัยดังวิสัชนามาด้วยประการฉะนี้


:b8: ตีพิมพ์ในวารสารธรรมจักษุ ปีที่ ๘๒ ฉบับที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๔๑
http://www.dharma-gateway.com/monk/prea ... ali-08.htm

:b44: รวมคำสอน “พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท)”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=47595

.....................................................
การให้ธรรมะเป็นทานชนะการให้ท้งปวง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ต.ค. 2010, 13:20 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 3
สมาชิก ระดับ 3
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 ต.ค. 2010, 17:16
โพสต์: 177

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


อนุโมทนา สาธุ สาธุ

:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ม.ค. 2015, 16:43 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


:b8:

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 33 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร