วันเวลาปัจจุบัน 17 เม.ย. 2024, 04:33  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=2



กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ม.ค. 2011, 18:15 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


ธรรมเทศนา โครงการ…วิปัสสนาจารย์

ระหว่างวันที่ ๒๔ – ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๔๘

ณ ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ถนนเพชรเกษม

ธรรมบรรยายในวันที่ ๗ ของการปฏิบัติ

วันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๔๘

โดย...ท่านอาจารย์ พระสว่าง ติกฺขวีโร

วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ คณะ ๓

ท่าพระจันทร์ กรุงเทพมหานคร

วันนี้เป็นวันที่ 7 ของ การประพฤติปฏิบัติ เป็นคืนสุดท้ายของโครงการ ถือได้ว่าวันนี้เป็นวันพิเศษวันหนึ่ง เหตุที่กล่าวว่าเป็นวันพิเศษก็เพราะว่า ตลอดเวลาที่เราประพฤติปฏิบัติมานี้ สติและสมาธิที่เรากำหนดมาตามลำดับจนถึงวันนี้นั้น สติก็ดี สมาธิก็ดี ศรัทธาก็ดี ปัญญาก็ดี ที่สะสมมาตามลำดับนั้น ถือว่าวันนี้มีมากที่สุด …เหมือนเราเดินใกล้เข้าไปทุกทีทุกขณะ ฉะนั้น ใครที่ยังไม่ได้กำหนดหรือยังไม่ได้ทำกิจใดก็ตาม ก็พยายามทำกิจนั้นให้ได้ในวันนี้ ถ้าวันนี้ยังทำไม่ได้ ก็จะไม่มีโอกาสปฏิบัติได้อีกแล้วในโครงการนี้ โอกาสเช่นนี้หาไม่ได้ง่ายๆ หายากมากทีเดียว เพราะการที่จะบริบูรณ์ไปได้ทั้งหมดเป็นสิ่งที่หาไม่ได้โดยง่าย

คำว่า “ บริบูรณ์ทั้งหมด ” ในที่นี้หมายถึงอะไร บาง ครั้งเมื่อเราคิดอยากจะมา ความพร้อมในส่วนของเรานั้นพร้อมหมด แต่สถานที่กลับไม่ว่าง เราสมัครมาแล้วแต่สถานที่เต็มหมด ไม่รับสมัครแล้ว เราอยากจะประพฤติปฏิบัติ ก็ทำไม่ได้ ไม่มีโอกาส หรือ แม้ในกรณีที่ส่วนของเราก็พร้อม สถานที่ก็พร้อม ยังเปิดรับสมัครอยู่ แต่ครูบาอาจารย์กลับไม่พร้อม ถึงเราอยากจะมาประพฤติปฏิบัติก็ทำไม่ได้อีก …ยิ่งไปกว่านั้น ในบางครั้ง สถานที่ก็พร้อม ตัวเราก็พร้อม ครูบาอาจารย์ก็พร้อม แต่ไม่มีปัจจัยที่สนับสนุน ไม่มีเจ้าภาพก็ทำไม่ได้อีก….หรือบางกรณี สถานที่ก็พร้อม ตัวเราก็พร้อม ครูบาอาจารย์ก็พร้อม เจ้าภาพก็พร้อม แต่คนรอบข้างไม่ให้มา ก็มาลำบากอีก…และ ท้ายที่สุด สถานที่ก็พร้อม ตัวเราก็พร้อมทุกอย่าง เจ้าภาพก็พร้อม แต่พอถึงวันจริง ใจของเราถูกกิเลสฉุดเอาไปกิน ไม่ยอมมา มาไม่ได้ เพราะฉะนั้นอาจารย์จึงบอกว่า โอกาสตรงนี้ ตัวเราก็พร้อม สถานที่พร้อม ครูบาอาจารย์พร้อม คนที่สนับสนุนโครงการนี้พร้อม สิ่งรอบข้างต่างๆอำนวยหมด อยู่ ที่เราเปิดใจพร้อมที่จะกระทำให้เต็มที่หรือเปล่า หากเราไม่เปิดใจ ปัญหา ก็อยู่ที่ตัวเราเอง เพราะฉะนั้น เมื่อเหตุปัจจัยตรงนี้พร้อมหมด อาจารย์จึงเปิดโอกาสให้วันนี้เป็นวันพิเศษ ประพฤติปฏิบัติเป็นพุทธบูชา

สิ่งไหนที่เราคิดว่าดีแล้ว ท่านว่าให้รีบทำเลย โอกาส ที่เราจะได้สร้างกุศลนั้นยากมาก เพราะฉะนั้น เมื่อคิดว่าจะทำ พึงทำทันที ถ้าไม่ทำอกุศลมันจะได้ช่อง พออกุศลได้ช่องแล้วโอกาสที่จะทำกุศลตรงนั้นก็น้อยลงไปหรือไม่มีโอกาสเหลือ เลย ท่านจึงบอกว่า หากคิดจะทำเมื่อใดอย่าเปิดโอกาสให้อกุศลเข้า พึงลงมือทำทันที ในชีวิตหนึ่งโอกาสที่เราจะได้ประพฤติปฏิบัติเป็นพุทธบูชา อาจาริยบูชา มาตาปิตุบูชา นั้นหาได้ยาก สมมติว่านานออกไปเมื่อเราไม่มีโอกาสได้ทำอีก ช่วง ที่เราไม่มีโอกาสจะทำอีกแล้วนั้น พอเราระลึกถึงกุศลในส่วนนี้ก็จะเกิดความสบายใจว่า ครั้งหนึ่งเราเคยทำสิ่งนี้ลงไปด้วยความยากลำบากมาก จะรู้สึกภูมิใจว่าได้เคยกระทำสิ่งนี้ แต่ถ้ากลับกัน บางครั้งเราเผลอทำสิ่งที่เป็นบาปอกุศล เช่น เผลอโกรธ แล้วไปด่าว่าหรือทำร้ายบุคคลที่มีบุญคุณต่อเรา ทุกครั้งที่เราย้อนนึกถึงขึ้นมาเราย่อมเศร้าหมอง เพราะฉะนั้น จึงเปิดโอกาสให้โยมทั้งหลายได้ทำกุศลให้เต็มที่ในวันนี้ ในสมัยก่อนก็ได้เคยมีตัวอย่างที่ทำอย่างนี้มาและได้ผลมาแล้ว

ครั้งพุทธกาล เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า“ปลงอายุสังขาร”กำหนดวันที่จะปรินิพพานนั้น มีเหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่ พระ อานนท์ได้ทูลถามถึงสาเหตุให้เกิดแผ่นดินไหวนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงเหตุอันก่อให้เกิดแผ่นดินไหวในครั้งพุทธกาลไว้ว่า มีแผ่นดินไหวใหญ่ทั้งสิ้น ๖ ครั้ง คือ สมัยที่พระโพธิสัตว์ลงจากดุสิตสู่ครรภ์พระมารดา๑ สมัยที่พระโพธิสัตว์ประสูติ๑ สมัยที่พระโพธิสัตว์ตรัสรู้๑ สมัยที่แสดงปฐมเทศนาธัมมจักกัปปวัตตนสูตร๑ สมัยที่พระพุทธองค์ปลงอายุสังขาร๑ และ เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพาน๑ ) และเมื่อพระพุทธเจ้าใกล้จะเสด็จปรินิพพาน ผู้คนต่างมาเฝ้าพระพุทธองค์พร้อมดอกไม้บูชามากมาย เทวดาทั้งหลายก็โปรยดอกไม้ทิพย์ที่เรียกว่า ”ดอกมณฑารพ”ลงมาบูชาพระพุทธองค์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้แสดงพระธรรมเทศนาถึงการบูชาไว้สองประการด้วยกัน คือ “อามิสบูชา”(บูชาด้วยดอกไม้ของหอมต่างๆ) และ“ปฏิปฏิบูชา”(บูชาด้วยการประพฤติปฏิบัติ) การบูชาอันเป็นเลิศที่สุดได้แก่ปฏิปฏิบูชา ก่อนจะเสด็จปรินิพพานพระอานนท์ได้ทูลถามว่า ผู้ใดจะเป็นตัวแทนของพระองค์หลังจากพระองค์ปรินิพพานไปแล้ว พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า “ดูก่อนอานนท์...พระธรรมกับพระวินัยที่เราแสดงไว้ดีแล้ว บัญญัติไว้ดีแล้ว จะเป็นตัวแทนของเราตถาคต หลังจากที่ตถาคตปรินิพพานแล้ว” เพราะฉะนั้นที่เรามาประพฤติปฏิบัติตรงนี้ก็ถือว่าได้บูชาพระพุทธเจ้า พระวินัยตั้งอยู่ พระธรรมตั้งอยู่ ศาสนาจึงตั้งอยู่ได้ พระธรรมวินัยจะตั้งอยู่ได้ก็เพราะเราประพฤติปฏิบัติกัน ณ วันนี้ อาจารย์จึงได้ชักชวนให้โยมทั้งหลายทำปฏิปฏิบูชา

คัมภีร์อังคุตตรนิกายกล่าวถึงเหตุที่จะทำให้พระศาสนาหมดไปหรือสิ้นไปไว้ ๕ ประการ คือ “ภิกษุทั้งหลายไม่สนใจในการฟังธรรม๑ ไม่สนใจในการศึกษาเล่าเรียน๑ ไม่สนใจในการท่องบ่นสาธยายจนขึ้นใจ๑ ไม่สนใจศึกษาจนขึ้นใจ จดจำไว้จนขึ้นใจ๑ ปฏิบัติผิด๑” ทั้งห้าประการนี้เป็นเหตุให้ศาสนาเสื่อมหรือหมดไป “ภิกษุ”ในที่นี้แปลว่า”ผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร” ผู้ปฏิบัติที่มาประพฤติปฏิบัตินี้เป็นผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร ก็ชื่อว่าเป็นภิกษุ เพราะฉะนั้น ตราบเท่าที่ยังสนใจในการศึกษา สนใจในการประพฤติปฏิบัติ ก็ได้ชื่อว่าช่วยยืดอายุของพุทธศาสนาด้วย พระศาสนาจะหมดไปก็เพราะเราไม่สนใจในการประพฤติปฏิบัติ ไม่สนใจในการศึกษาเล่าเรียน ดังนั้น แม้ว่าเบื้องแรกผู้ได้ประโยชน์เต็มๆจากการปฏิบัติคือตัวเราเองก็ตาม แต่เราก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้ช่วยยืดอายุพระศาสนาโดยอ้อมด้วย

ในครั้งพุทธกาล ช่วงเข้าพรรษาพระภิกษุทั้งหลายจะแยกย้ายไปหาสถานที่ที่สงบสงัดประพฤติปฏิบัติธรรม บำเพ็ญสมณธรรม และ ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติว่าเมื่อออกพรรษาแล้วจะต้องมาเฝ้าพระพุทธเจ้า ดังนั้นหลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว จึงยังมีพระภิกษุมากมายที่จำพรรษาอยู่ไกลๆได้ออกเดินทางมาเฝ้าพระพุทธองค์ โดยยังไม่ได้ข่าวการปรินิพพานที่กุสินารา เมื่อเดินทางสวนกันกับภิกษุจากกุสินาราจึงถามข่าวคราวกัน ครั้นทราบข่าวว่าพระพุทธเจ้าปรินิพพานเสียแล้ว ปุถุชนก็พากันร้องไห้ พระโสดาบันก็ร้องไห้ ส่วนพระเถระที่เป็นพระอรหันต์ พระอนาคามี ต่างก็เกิด“ธรรมสังเวช” เกิดความสลดใจ

ระหว่าง ที่พระมหากัสสปะกำลังเดินทางมาถวายพระเพลิงพระศาสดานั้น ท่านได้พบเห็นว่า มีภิกษุรูปหนึ่งซึ่งเป็นปุถุชนผู้บวชตอนแก่ เมื่อเห็นภิกษุทั้งหลายร้องไห้ก็มีเจตนาดี เข้าไปปลอบว่า “ท่านจะร้องห่มร้องไห้เสียใจไปใย เมื่อพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ เราอยากจะทำอะไรก็ทำไม่ได้ จะ ทำตรงนี้ก็ผิด ตรงนั้นก็ไม่ถูก ทรงบัญญัติสิกขาบทนั้น สิกขาบทนี้ เมื่อพระพุทธองค์ปรินิพพานแล้ว น่าจะเป็นการดีแล้ว เราอยากจะทำอะไร ก็จะได้ทำตามอำเภอใจ” พระมหากัสสปะผู้เป็นบัณฑิตได้ ยินดังนั้น ท่านคิดในใจว่า พระพุทธเจ้าปรินิพพานยังไม่นานก็มีคนทำให้พระศาสนามัวหมองเสียแล้ว แต่ท่านก็ยับยั้งมิได้ว่ากล่าวตรงนั้นเลย ท่านกลับรอจนพร้อมหมู่สงฆ์ ท่านจึงแจ้งให้สงฆ์ทั้งหลายได้ทราบ แล้วเสนอให้ทำสังคายนาขึ้น การคัดเลือกภิกษุเพื่อประชุมสังคายนานั้น ได้คัดเลือกเฉพาะแต่พระอรหันต์ที่เป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทาทั้งสิ้น (“เอหิภิกขุอุปสัมปทา” หมาย ถึงภิกษุที่บวชกับพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเป็นพระอุปัชฌาย์ ทุกท่านได้ญาณอภิญญาทั้งหมด) คัดเลือกได้ทั้งสิ้นสี่ร้อยเก้าสิบเก้ารูป เหลือไว้ที่หนึ่งสำหรับพระอานนท์ แต่ขณะนั้นพระอานนท์ยังเป็นพระโสดาบันอยู่

แม้ ว่าขณะนั้นพระอานนท์ยังเป็นพระโสดาบันอยู่ แต่พระมหากัสสปะท่านก็รู้ว่าที่ตรงนี้สมควรแก่พระอานนท์ เพราะตอนที่พระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ พระอานนท์ได้รับยกย่องจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าเป็นพหูสูตร ทรงจำไว้มาก เพราะพระอานนท์เคยทูลขอพรไว้ข้อหนึ่งก่อนที่จะเป็นพุทธอุปัฏฐากว่า ไม่ว่าครั้งใดก็ตามที่พระพุทธองค์เสด็จไปทรงแสดงธรรม ณ แห่งหนใดที่พระอานนท์มิได้ตามเสด็จด้วย เมื่อเสด็จกลับมาแล้ว ขอให้พระพุทธองค์มีพระกรุณาแสดงธรรมต่อท่านอีกครั้งด้วย เพราะฉะนั้น ธรรมะซึ่งพระพุทธองค์ทรงแสดงที่พระอานนท์ไม่รู้จึงไม่มี การกระทำสังคายนาครั้งนั้นจึงขาดพระอานนท์ไม่ได้

เมื่อภิกษุทั้งหลายประชุมคัดเลือกกันแล้ว ก็แจ้งให้พระอานนท์ทราบว่าจะกระทำสังคายนาในวันรุ่งขึ้น พระ อานนท์จึงร้อนใจ ด้วยว่าตนยังเป็นพระโสดาบันอยู่ ยังไม่สำเร็จกิจ ท่านได้ตั้งใจปฏิบัติเต็มที่ เดินจงกรมตลอดทั้งคืน จนใกล้สว่างแล้วก็ยังไม่สำเร็จมรรคผลที่เหลืออยู่อีกสามขั้น จึง มาพิจารณาว่าชะรอยตนเองคงประพฤติปฏิบัติบกพร่องอย่างใดอย่างหนึ่ง การเดินจงกรมเป็นการเพิ่มวิริยะ วิริยะได้สามส่วน สมาธิได้ส่วนหนึ่ง อินทรีย์ไม่สมดุลกัน จึงไม่เอื้อต่อมรรคผล พระอานนท์ตั้งใจระลึกถึงพระดำรัสของพระพุทธเจ้าซึ่งเคยตรัสไว้ว่า พระอานนท์มีเหตุมีปัจจัยพร้อม ถ้ามีความพยายามพอ อีกไม่นานก็สามารถยังมรรคยังผลให้เกิดขึ้นในชาตินี้ได้ พระ ดำรัสของพระพุทธเจ้าเป็นหนึ่งไม่มีสอง เมื่อพิจารณาถึงตรงนั้นจึงตั้งใจจะเข้าไปพักสักครู่ ท่านเดินไปด้วยการกำหนดอิริยาบถใหญ่และอิริยาบถย่อยไปตามลำดับ ขณะที่นั่งลง ย่อตัวลงนั่ง ก็กำหนดรู้อาการตรงนั้น ขณะที่เอนลงไปก็รู้อาการเอนตรงนั้น ขณะที่เอนลงๆในอาการกึ่งนอนกึ่งนั่ง ศีรษะกึ่งนอน ท่านก็ได้ยังอริยมรรคอริยผลที่เหลือทั้งสามขั้น( สกทาคามี อนาคามี และ อรหัตต์)ให้เกิดขึ้น จนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ณ ขณะนั้น เมื่อพระอานนท์ท่านบรรลุมรรคอภิญญาแล้ว ท่านก็แสดงความพิเศษไปปรากฏตรงที่สงฆ์กำลังประชุมกันอยู่ บางคัมภีร์กล่าวว่าท่านดำดินไปโผล่แล้วลงนั่งตรงอาสนะที่ปูลาดรออยู่เลย บางคัมภีร์กล่าวว่าท่านเหาะไปแล้วลงนั่งตรงอาสนะที่ปูไว้

มรรค หนึ่งผลหนึ่งขณะที่เกิดจริงๆนั้นจะเร็วมาก มรรคนั้นเกิดชั่วขณะจิตเดียว ส่วนผลจะเกิดได้มาก มรรคผลจะเกิดต่อเนื่องเลย เมื่อบุคคลบรรลุสกทาคามีมรรคแล้ว ก็จะบรรลุสกทาคามีผลต่อไปเลย เมื่อบรรลุอนาคามีมรรคแล้ว ก็บรรลุอนาคามีผลต่อเนื่องไปเลยอีกเช่นกัน และเมื่อบรรลุอรหัตตมรรคแล้ว ก็อรหัตตผลต่อเนื่องไปเลย มรรค เกิดครั้งเดียว แต่ผลเกิดไปตลอด ดังจะเห็นว่าพระอรหันต์หรือพระอริยบุคคลที่เข้าพละสมาบัติสามารถอยู่ได้ถึง เจ็ดวัน มรรคเกิดเพียงขณะจิตเดียวเพราะมรรคทำหน้าที่ประหารกิเลส ท่านอุปมาไว้ว่า เหมือนมีศัตรูอยู่สี่เมืองด้วยกัน เมื่อรบจนชนะศัตรูในเมืองไหนได้ก็ประหารศัตรู จาก นั้นก็เข้าครอบครองเมืองนั้น การประหารศัตรูเป็นมรรค การครอบครองเมืองนั้นเป็นผล การประหารศัตรูสั้นเพียงชั่วขณะจิต แต่การครอบครองเมืองจะอยู่นานเท่าใดก็ได้ ท่านอุปมาว่ามรรคเหมือนกับสายฟ้าแลบ ง่ายนิดเดียว แต่ผู้ปฏิบัติกว่าจะถึงมรรค จะรู้สึกนานเหลือเกิน มรรคนี้ได้แก่ตัวปัญญาที่พัฒนาขึ้นทำหน้าที่ประหารกิเลสโดยเด็ดขาด เรียกว่า “สมุจเฉทปหาน” กิเลสที่มรรคประหารไปแล้วจะไม่มีโอกาสกลับมาเกิดอีก ต่างกับโลกิยปัญญาอื่นๆที่ทำหน้าที่ประหารร กิเลสชนิดนั้นมีโอกาสกลับมาเกิดอีก ไม่ว่าโลภะ โทสะ หรือโมหะ (กิเลสมีสามขั้นตอน ได้แก่ อย่างหยาบ อย่างกลาง และอย่างละเอียด)

“สีเลนะ วีติกะมันตัง ปริยุทธัง สมาธินา ปัญญายะ อนุตสยังฉินนัง ขเฉนิพพานะมุตตนัง”ศีลประหารกิเลสอย่างหยาบ สมาธิประหารกิเลสอย่างกลาง ปัญญาประหารกิเลสอย่างละเอียด มรรคนั้นทำหน้าที่ประหารกิเลสอย่างละเอียด ฉะนั้น วิปัสสนาปัญญาหรือภาวนามยปัญญาตัว นี้ทำหน้าที่ประหารกิเลสอย่างละเอียด ตั้งแต่ชั้นโสดาบันประหารสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ชั้นสกทาคามีก็ประหารกิเลสละเอียดต่อๆไป (กิเลสมีทั้งสิ้น ๑๐ ประการ อันเป็นปัจจัยให้สัตว์ทั้งหลายต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารภพแล้วภพเล่า ตราบเท่าที่ยังมีกิเลสเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สัตว์ทั้งหลายต้องเวียนว่าย)

วิปัสสนานั้นมี ๒ แบบ แบบแรกเอาฌาณเป็นบาทเรียกว่า “สมถะยานิกะ” แบบที่สองเรียกว่า“สุกขวิปัสสกะ” ซึ่ง บุคคลมักจะกล่าวว่า ผู้ที่เจริญสุกขวิปัสสกะแล้วไม่สามารถยังฌาณให้เกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าพระอานนท์ท่านเจริญวิปัสสนาแบบสุกขวิปัสสกะ แต่เมื่อท่านบรรลุธรรม ท่านได้บรรลุพร้อมด้วยฌาณอภิญญาด้วย อันเรียกว่า“มรรคสิทธิฌาณ” ตรงนี้อาจฟังดูขัดกัน อันที่จริงแล้ว พระอานนท์ท่านมิได้ประพฤติปฏิบัติเพียงแค่ตรงนั้น มรรค ที่เกิดขึ้นพร้อมกับฌาณได้แสดงว่าในอดีตชาติท่านได้เคยเจริญฌาณมาก่อน เคยทำสมถะมาก่อน เมื่อมีเหตุปัจจัยอย่างนี้ เมื่อบรรลุธรรม ผลจึงเกิดขึ้นเลย มรรคสิทธิฌาณเกิดขึ้นโดยอาศัยเหตุปัจจัยในอดีตที่ทำมา

เพราะ ฉะนั้น สิ่งใดที่เป็นกุศลอันผู้ใดเคยทำไว้ในอดีตย่อมมิได้สูญหายไปไหน ย่อมเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สะสมไว้และติดตามไปเป็นเหตุเป็นปัจจัยอยู่ร่ำไป ตราบเท่าที่ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ จนกระทั่ง ปรินิพพานแล้วเหตุปัจจัยทั้งหลายจึงตามไปไม่ได้ เหตุผลก็คือ กุศลและอกุศลจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยขันธ์ห้า อาศัยรูปนามขันธ์ห้า เมื่อไม่มีรูปนามขันธ์ห้าแล้วกิเลสทั้งหลายย่อมเกิดไม่ได้ ผลของกรรมที่เป็นกุศลหรืออกุศล ก็เกิดไม่ได้เช่นกัน

ผลของกรรมที่เราทำไว้เกิดได้ ๒ ช่วงด้วยกัน ช่วงหนึ่งเมื่อให้สัตว์ปฏิสนธิเรียกว่า “ปฏิสนธิกาล” บางคนเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เกิดเป็นมนุษย์ เกิด เป็นพรหม เป็นอสูรกาย เป็นเปรต นั่นคือผลของกรรมที่เป็นกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม ส่งไปปฏิสนธิในสุขคติหรือในทุกข์คติ ผลของกรรมยังจะส่งผลอีกช่วงหนึ่ง เรียกว่า “ช่วงปวัตติ”(ช่วงเป็นไป) มนุษย์ย่อมมีอกุศล เทวดาก็มีอกุศล แม้แต่พรหมก็ย่อมมีอกุศล ซึ่งจะส่งผลในช่วงปวัตติ-ช่วงที่เป็นไปหลังจากปฏิสนธิแล้ว โดยส่งผลทางปัญจทวาร-ทวาร ทั้งห้า อันได้แก่อะไร ตา หู จมูก ลิ้น กาย ปัญจทวารนี้เป็นตัวรับผลของกรรมทั้งที่เป็นกุศลและอกุศลหลังจากปฏิสนธิมา แล้ว ตัวอย่างเช่น สัตว์เดรัจฉานบางจำพวกแม้เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานด้วยอำนาจของอกุศลปฏิสนธิก็ จริง แต่มีที่กิน ที่นอน ที่อยู่ ดีกว่าคนบางคน เช่นคุณทองแดงและตระกูลคุณทองแดงเป็นต้น แต่ใครเล่าอยากจะเปลี่ยนกับคุณทองแดงบ้าง ย่อมไม่มีใครต้องการ เพราะถึงอย่างไรสัตว์เดรัจฉานก็ไม่มีปัญญาที่จะมาพิจารณาสร้างกุศลชนิดที่ เรากำลังสร้างอยู่นี้ได้ โอกาสของสัตว์เดรัจฉานมีน้อยมาก เช่น นกกระจอก จิ้งจก ตุ๊กแก อาจจะได้ยินเสียงพระธรรมเทศนาอันเป็นกุศล แต่ก็ฟังไม่รู้เรื่อง แม้ว่าจะได้ยินเสียงอันเป็นกุศลแต่ก็รับกุศลทางหูได้ไม่เต็มที่ เพราะฉะนั้น กุศลและอกุศลจึงส่งผลในช่วงเป็นไป-ช่วงปวัตติดังนี้ เมื่อผลของกุศลหรืออกุศลส่งผลแล้ว หากเรารับเป็น เราย่อมสามารถเจริญกุศลได้ แต่ หากรับไม่เป็น อกุศลก็ย่อมจะเกิด จึงอยู่ที่การรับ หากรับเป็นก็ย่อมได้ประโยชน์ หากรับไม่เป็นก็จะขาดทุน หากผู้ปฏิบัติเข้าใจตรงนี้ ก็จะป้องกันอกุศล และเจริญกุศลได้ง่าย

ไม่มีใครห้ามผลของกรรมไม่ให้เกิดได้ ผลของกรรมที่จะส่งผลเวลาตาย เห็นรูปเราห้ามไม่ให้เห็นไม่ได้ ห้ามไม่ให้ได้ยิน ได้กลิ่น รู้ รสก็ไม่ได้เช่นกัน พระพุทธเจ้าเองยังห้ามผลกรรมของสัตว์ไม่ได้เลย แม้พระพุทธองค์เองก็ต้องประสบอย่างนั้นต้องเผชิญอย่างนั้น เมื่อทำกรรมไปแล้ว จะต้องได้รับอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ในการเจริญวิปัสสนา อาจารย์แนะนำว่า เมื่อเห็นให้กำหนดว่า “เห็นหนอๆ” เมื่อได้ยินกำหนดว่า”ได้ยินหนอๆ” เพื่อเจริญกุศล

มี คำพูดว่า วิปัสสนาสามารถแก้กรรมได้ คำตอบก็คือ ถูกครึ่งหนึ่งผิดครึ่งหนึ่ง เพราะว่าหากเราไม่รู้เท่าทันกรรมที่ส่งผลไปแล้ว เราก็จะสร้างกรรมใหม่ต่อไปอีก แต่หากเรารู้เท่าทันผลของกรรมที่ส่งผลไปแล้ว กรรมตรงนั้นก็จะไม่มีโอกาสส่งผลต่อไปได้อีกแล้ว เกิดกุศลกรรมใหม่ที่ไปเรียกกันว่าแก้กรรม หากเรายึดหลักที่ว่า “พึงละอกุศลที่เกิดไม่ให้เกิด ที่เกิดขึ้นแล้วไม่ให้เกิดอีก ส่วนที่ยังไม่เกิดก็ไม่ให้เกิดขึ้น” พึงสังวรระวังอย่างนี้ เช่น เวลาที่จิตฟุ้งเป็นอกุศล…ฉะนั้นเราจึงกำหนดว่า “ฟุ้งหนอๆๆ” ไม่เปิดโอกาสให้อกุศลเกิด สำหรับอกุศลที่ผ่านมาแล้วเราย่อมแก้กรรมใดๆไม่ได้ จึงกล่าวได้ว่า ข้อที่ว่า”วิปัสสนาแก้กรรมได้”นั้นจึงถูกครึ่งหนึ่งผิดครึ่งหนึ่ง เพราะแก้ได้เฉพาะกรรมที่ยังไม่เกิดไม่ให้เกิดขึ้นได้

ผลของกุศลและอกุศลที่ส่งผลแล้วเรียกว่า“วิบาก” พอส่งผลขึ้นมาและเรากำหนดรู้ทันที เช่น เห็นก็”เห็นหนอ” ได้ยินก็”ได้ยินหนอ” เสียง ที่ด่าเป็นผลของอกุศล ทันทีที่ได้ยินเสียงด่า หากเราไม่มีสติกำหนดรู้ เราจะสร้างอกุศลต่อ เกิดความโกรธ เกิดความไม่พอใจต่อไป แต่หากเรามีสติกำหนด”ได้ยินหนอๆๆ” ละอกุศลที่เกิดไม่ให้เกิดต่อ และที่ยังไม่เกิดไม่ให้เกิดขึ้น ในกรณีตรงกันข้าม หากมีเสียงคำพูดที่ดีๆที่สรรเสริญ ซึ่งเป็นผลของกุศล หากเรายินดีพอใจในเสียงนั้น ในบุคคลที่ชมนั้น ก็จะเกิดอกุศลโดยอาศัยกุศลเป็นปัจจัย “กุสโลธัมโม อะกุสะละสะธัมมะสะ อารัมมานะปัจจะเยนะ ปัจจะโย” กรณี หลังกุศลเป็นปัจจัยให้อกุศลเกิดได้ ส่วนกรณีแรกอกุศลเป็นปัจจัยให้กุศลเกิดก็ได้ ฉะนั้น จึงขึ้นอยู่กับว่าเรามีสติหรือไม่ ถ้าเรามีสติกำหนดรู้ทั้งกุศลและอกุศลก็เป็นปัจจัยให้กุศลเกิด แต่ถ้าเราขาดสติในการกำหนดเสียแล้ว ทั้งกุศลและอกุศลก็เป็นปัจจัยให้อกุศลเกิดทั้งสิ้น

จะเห็นได้ว่าผลของกรรมที่ส่งผลถึงตรงนี้นั้นเราห้ามไม่ได้ แต่ที่เกิดขึ้นมาแล้ว เราสามารถห้ามไม่ให้พัฒนาต่อไปได้ด้วย“สติ” สติเตสังนิวรณัง-สติเป็นเครื่องกั้นกระแสทั้งปวง สติตัวนี้มิได้เกิดเพียงตัวเดียว แต่มีตัวปัญญาเป็นตัวช่วยที่สำคัญ “สติเป็นตัวกั้น ปัญญาเป็นตัวตัด” จะไม่ให้อกุศลทั้งหลายพัฒนาต่อไปต้องใช้ปัญญาตัด สติ กับปัญญาเกิดขึ้นเหมือนกับน้ำดี น้ำดีเข้าไปแทรก น้ำเสียก็ไม่เกิด หากเราเจริญกุศลตรงนี้ได้มากเท่าไร อกุศลก็ไม่มีโอกาสไม่มีกำลังจะพัฒนา เราเองเป็นคนสะสมเอง พึงระวังสังวรให้ดี เพราะเมื่อออกไปจากการอบรม เรามักจะสะสมแต่ฝ่ายอกุศลมากกว่า เช่นเวลาที่เห็น เราไม่ได้กำหนดรู้ เห็นก็เห็นเต็มที่ ผลของวิบากตัวนั้นเกิดขึ้นแล้ว สร้างอกุศลกรรมต่อ โดยเฉพาะมโนกรรมที่เป็นฝ่ายอกุศลเกิดแล้ว หลังจากนั้น วจีกรรม กายกรรม ก็ตามมามากมาย แต่ถ้าเรามีสติระลึกรู้ตรงนั้น อกุศลก็จะไม่พัฒนา กุศลก็จะเจริญขึ้น พัฒนาขึ้น

ฉะนั้น การเจริญวิปัสสนาคือการมาสร้างกุศลให้เกิดขึ้นบ่อยๆ ความมุ่งหมายของการเจริญวิปัสสนาคือเจริญตัวปัญญาให้เกิดขึ้น แต่ตัวปัญญาจะเกิดขึ้นลอยๆไม่ได้หากขาดสติ ต้องอาศัยสติเป็นตัวนำตลอด ฉะนั้นขณะที่จะคู้ จะเหยียด จะหยิบ จะจับ จะก้ม จะเงย ฯลฯ ต้องเอาสติเป็นตัวนำไประลึกรู้กาย เวทนา จิต ธรรม

ตราบใดที่ยังมีขันธ์๕ ผลของกรรมก็ต้องตามติดไปทุกภพทุกชาติ สัตว์เดรัจฉาน สุนัข ปลา มด ยุง ก็มีขันธ์๕ ส่วนรูปพรหมนั้นขาดนาม อสัญญีสัตว์ขาดนามขันธ์ อสัญญีก็คือไม่มีสัญญา ไม่มีสังขาร ไม่มีวิญญาณ ไม่มีเวทนา แต่มีรูปขันธ์ อย่างที่เรียกกันว่า”พรหมรูปฟัก”คือมีรูปอย่างเดียว รูปนั้นเสวยวิบากอันเป็นผลของกรรม สร้างกรรมตรงนั้นจึงไปเป็นวิบากตรงนั้น เพราะรูปเป็นปัจจัย เมื่อจุติ(ตาย)และจะต้องปฏิสนธิมาเป็นมนุษย์ ก็พิกลพิการ เพราะไม่มีนามขันธ์ จึงถือเอาจุติตอนที่เป็นมนุษย์คืออยากเป็นมนุษย์แต่มาเกิดเป็นพรหม จึงถือเอาปฏิสนธิตอนที่จุติจากมนุษย์มาเป็นพรหมอีกทีหนึ่ง กรรมนิมิต คตินิมิต มาปฏิสนธิอีกที

ทุกคนเกิดมาแล้วก็ต้องตาย ตายแล้วไม่เกิดก็มี ตายแล้วเกิดก็มี เกิดเป็นอะไรก็แล้วแต่กรรม “กัมมุนาวะตะตีโลโก”-สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ทำกรรมไว้อย่างไรก็เป็นไปตามนั้น ถ้าทำกุศลกรรมไว้มากก็เป็นไปด้วยอำนาจของกุศลกรรม หากทำอกุศลกรรมไว้มากก็เป็นไปด้วยอำนาจของอกุศลกรรมนั้น มีกุศลกรรมชนิดหนึ่งที่ส่งผลให้ตายแล้วไม่ต้องเกิดอีก กุศลชนิดนี้ก็คือ“วิปัสสนากุศล” เป็นกุศลที่ไม่เป็นปัจจัยให้เกิด ทั้งนี้เพราะกิเลสเป็นตัวสร้างรูปนามขันธ์ห้า เมื่อไม่มีกิเลสก็ไม่มีปัจจัยให้เกิดรูปนามขันธ์ห้าอีก สภาพนิพพานไม่มีรูปนามขันธ์ห้า สภาพของนิพพานก็คือไม่ต้องเกิด เมื่อหมดการเกิดแล้วก็ไม่ต้องทุกข์เพราะการเกิดอีก

มี คำถามว่าเหตุไรพระอรหันต์จึงยังมีรูปนามขันธ์ห้า ก็เพราะมีปัจจัยมาจากเศษของเหตุปัจจัยของกิเลสยังมีอยู่ จึงต้องยังมีชีวิตอยู่ เมื่อหมดตรงนั้นไปแล้วก็ปรินิพพานคือดับ รอบก็คือกิเลส กรรม วิบาก ไม่มี เพราะ ฉะนั้นทุกครั้งที่เรากำหนดแต่ละหนอ แต่ละหนอ เรากำลังสร้างปัจจัยที่จะไม่ให้เกิดอีก เพราะการเกิดเป็นทุกข์ เมื่อเราเห็นโทษของการเกิดจริงๆได้ ก็จะเห็นประโยชน์ของนิพพานจริงๆได้ เราจะรู้สึกว่าโลกนี้ไม่มีอะไรน่าอยู่ แต่ถ้ายังไม่เห็นทุกข์เห็นโทษของรูปนามขันธ์๕ ยังไม่เห็นสภาพของนิพพาน เราก็ยังคิดว่าโลกนี้น่าอยู่ ท่านอุปมาเหมือนว่า เราอยู่ในแดนถิ่นทุรกันดารที่เต็มไปด้วยหมู่โจรและโรคภัยต่างๆมากมาย แต่ก็อยู่ตรงนั้นโดยไม่เห็น ตราบใดที่เรายังไม่เห็นเมืองอีกเมืองหนึ่งซึ่งสุขสบายกว่า เราก็จะยังคิดว่าดินแดนที่เราอยู่นั้นน่าอยู่ แต่ ครั้นวันหนึ่งเราได้เห็นความจริงว่า ดินแดนตรงนี้เต็มไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บต่างๆและโจรผู้ร้ายมากมาย ทั้งได้เห็นว่าเมืองอีกเมืองหนึ่งน่าอยู่กว่า เมื่อนั้นเราก็ย่อมจะจากถิ่นเดิมตรงนั้นไปโดยไม่มีเยื่อใยในดินแดนนั้นเช่น กัน

ท่าน อุปมาว่า ความจริงแล้วรูปนามขันธ์๕นี้มีทุกข์มีโทษมาก แต่เราไม่เห็นโทษของมัน และยังไม่เห็นสภาพอารมณ์ของพระนิพพาน เราจึงยังคิดว่ารูปนามขันธ์๕นี้มีประโยชน์ จนกระทั่งเมื่อเกิดญาณขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมุญจิตุกัมยตาญาณเกิดขึ้น ท่าน อุปมาว่าเหมือนคนสุ่มปลา ขณะสุ่มปลาได้ ก็เอามือล้วงลงไปในสุ่ม คิดว่าเป็นปลาตัวใหญ่ รู้สึกดีอกดีใจ จับปลาไว้มั่น แล้วค่อยๆดึงมือขึ้นมา พอโผล่ขึ้นมาจึงเห็นว่าเป็นงู เกิดความกลัว อยากจะเขวี้ยงงูทิ้งไปให้ไกลที่สุด ฉันใดก็ฉันนั้น ขณะที่วิปัสสนาญาณโดยเฉพาะมุญจิตุกัมยตาญาณเกิดขึ้นกับบุคคลใด ก็จะมีลักษณะอย่างนั้น ตอนแรกเราคิดว่ารูปนามนี้น่ายินดีน่าปรารถนา เหมือนกับที่เราล้วงลงไปครั้งแรกคิดว่าเป็นปลา เราไม่เห็นทุกข์โทษของรูปนามขันธ์๕ แต่พอดึงขึ้นมาแล้วเห็นว่าเป็นงู ก็อยากจะสลัดรูปนามขันธ์๕นี้ไปให้ไกลที่สุด อยากจะหลุดพ้นตรงนั้นให้ไกลที่สุด เรียกว่ามุญจิตุกัมยตาญาณ จากญาณนั้นก็เป็นปฏิสังขาญาณ แล้วก็เป็นสังขารุเบกขาญาณ จะ กำหนดง่าย ผู้ที่เข้าถึงสภาพตรงนั้นจะรู้สึกอย่างนั้น แต่ถ้ายังไม่เข้าถึงตรงนั้น ถึงแม้ว่าอาจารย์จะอธิบายอย่างไรก็จะยังคงเห็นรูปนามขันธ์๕น่าปรารถนาน่า ยินดีอยู่นั่นเอง เพราะยังเข้าไม่ถึงจุดนั้น ยังยินดีพอใจในรูปนามขันธ์๕อยู่

กุศล ธรรมที่ประพฤติปฏิบัตินี้ไม่ได้หนีไปไหน ยังคงติดตามไป ไม่ว่าจะเดินจงกรม นั่งสมาธิ การคู้ การเหยียด การหยิบจับ การก้มเงยอะไรต่างๆอย่างมีสติ กุศลที่เราทำตรงนี้จะติดตามไป มีผู้สงสัยว่า กุศลก็ดี อกุศลก็ดี เมื่อทำตรงนี้ก็ดับไปตรงนี้แล้ว แล้วจะติดตามไปได้อย่างไร บ้างก็เข้าใจไปว่าติดตามไปทางใจ เพราะเข้าใจผิดไปว่ารูปดับไปแต่ใจไม่ดับ จึงเชื่อว่ารูปดับ แต่ใจจะล่องลอยหาร่างใหม่เข้า ความจริงแล้ว ท่านอุปมาให้เห็นง่ายๆว่าเหมือนเมล็ดพันธุ์ที่เราปลูกลงไป เมล็ดพันธุ์ที่เราปลูกลงไปก็ย่อยสลายตอนนั้น แต่เมล็ดพันธุ์นั้นมันก็เป็นปัจจัยให้เกิดเป็นลำต้นขึ้นมา เป็นใบ เป็นกิ่งก้านสาขา ผลิดอกออกผลขึ้นมา โดยอาศัยเมล็ดพันธุ์นั้นเป็นปัจจัย แม้เมล็ดพันธุ์ที่ปลูกจะย่อยสลายไปแล้วแต่ผลที่ออกมาอาศัยเมล็ดพันธุ์นั้น เป็นปัจจัย เพราะฉะนั้น กุศลที่เราทำก็เป็นปัจจัยให้กุศลตัวใหม่เกิดขึ้น เช่นเดียวกับอกุศลที่ทำก็เป็นปัจจัยให้อกุศลตัวใหม่เกิด เป็นปัจจัยเกื้อกันเหมือนกับพันธุ์มะม่วง เราปลูกมะม่วงลงไปก็ย่อมงอกเป็นมะม่วง ปลูกลำไยก็ย่อมได้ลำไย การ จะปลูกทุเรียนแล้วได้เป็นลำไยย่อมเป็นไปไม่ได้ อุปมาเช่นเดียวกัน เมื่อเราสร้างอกุศลแล้วจะให้เป็นกุศลย่อมไม่ได้ ผลก็ต้องเป็นไปตามนั้น แต่เมื่อผลเป็นอย่างนั้นแล้วเรามาอาศัยปัจจัยตรงนี้สร้างกุศลอีกทีหนึ่ง ย่อมเป็นคนละประเด็นกัน

เพราะฉะนั้น กุศลก็ดี อกุศลก็ดี ที่เราสร้างไว้ย่อมจะติดตามเราไป ท่านอุปมาไว้ว่า “สี่คนหาม สามคนแห่ หนึ่งคนนั่งแคร่ สองคนนำไป” สี่คนหามได้แก่ ธาตุทั้ง๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ… สามคนแห่ได้แก่ ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา…หนึ่งคนนั่งแคร่ได้แก่ ใจ ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นใหญ่ มีใจเป็นหัวหน้า นั่งแคร่คอยบัญชาการขวาซ้าย….สอง คนนำไปได้แก่ บุญและบาป ฉะนั้น บุญกับบาปเท่านั้นที่จะติดตามเราไปได้ สิ่งอื่นทั้งหลายไม่สามารถจะติดตามเราไปได้เลย ไม่ว่าเราจะทำทรัพย์สินไว้มากมายเพียงใดก็ตาม คนรอบข้างจะดีกับเราขนาดไหนก็ตาม ก็ไม่มีทางติดตามไปได้ แต่บุญกับบาปจะติดตามเราไปทุกหนทุกแห่งตราบใดที่เรายังมีกิเลสอยู่ แต่ถ้าไม่มีกิเลสแล้ว บุญกับบาปก็ติดตามไปไม่ได้ มันจะติดตามไปได้หากเรายังเกิดอยู่เท่านั้น หากเราไม่เกิดแล้ว บุญกับบาปก็ติดตามไปไม่ได้ ฉะนั้น บุญกับบาปจึงติดตามไปสู่พระนิพพานไม่ได้ เป็นขันธวิมุตติ-หลุดพ้นจากรูปนามขันธ์๕ อันเป็นที่อาศัยของบุญและบาป

บัดนี้อาจารย์อยากจะให้ผู้ปฏิบัติทั้งหลายได้มีโอกาสประพฤติปฏิบัติกัน เพราะโอกาสอย่างนี้มิได้หาได้ง่ายๆ ขอ ให้ปฏิบัติกันตามความสมัครใจ บุญไม่มีใครบังคับ อยากจะทำก็เปิดโอกาสให้ แต่ถ้าไม่อยากจะทำโดนกิเลสยึดไว้ก็ไม่ว่ากัน ขอให้เทวดาทั้งหลายในที่นี้ได้อนุโมทนากับผู้ที่อยากจะประพฤติปฏิบัติเป็น พุทธบูชา อาจาริยบูชา มาตาปิตุบูชาด้วย ก่อนที่จะเดินจงกรมและนั่งสมาธิ พึงอธิษฐานก่อนว่า “บุญ กุศลที่เราทำมาตลอดแล้ว โดยเฉพาะวันนี้เป็นพิเศษ ขอน้อมถวายเป็นพุทธบูชา อาจาริยบูชา มาตาปิตุบูชา ขณะที่เราประพฤติปฏิบัติอยู่นี้ ขออย่าได้มีปัญหาและอุปสรรคมาขัดขวางในการประพฤติปฏิบัติของเราเลย” จาก นั้นก็น้อมใจกระทำเดินจงกรมนั่งสมาธิสลับกัน ได้แค่ไหนก็ไม่เป็นไร อยู่ที่ความตั้งใจของเรา บางคนที่ตั้งใจว่าจะปฏิบัติจนถึงสว่างก็พยายามให้เต็มที่ สัจจะของเรานี้สำคัญ ถ้าเราทำอะไรด้วยสัจจะก็จะทำให้การงานต่างๆสำเร็จได้ หากเราไม่รักษาสัจจะกับตัวเราแล้ว ก็ไม่ต้องพูดถึงสัจจะกับผู้อื่นเลย ฉะนั้น ไม่ว่าเราจะทำอะไรต้องเชื่อมั่นในตัวเราจริงๆ โดยเฉพาะกุศล เมื่อทำแล้วก็ให้ระลึกถึงบ่อยๆ ท่านว่าเหมือนกับเราทำใหม่ ระลึกถึงกุศลที่เราทำไว้แล้ว กุศลจิตก็จะเกิดขึ้นบ่อยๆ

ขอ อนุโมทนาด้วย สำหรับวันนี้คงฝากไว้แต่เพียงเท่านี้ ขอให้ตั้งใจให้เต็มที่ ใครที่รู้ตัวว่าพร่องวันนี้ก็พึงทำให้เต็มที่ ต้องสละจริงๆ กุศลธรรมก็จะเกิดกับเราเต็มที่ สิ่งใดที่จะเป็นปัจจัยให้อกุศลเกิดก็ไม่พึงทำ ขอ อำนาจบุญกุศลที่ญาติโยมทั้งหลายได้สั่งสมอบรมมาในอดีตชาติก็ดี ในปัจจุบันชาติก็ดี จงมารวมกันเป็นตบะ เดชะ พลวปัจจัย เป็นนิสัยตามส่ง ให้ท่านทั้งหลายได้เกิดวิริยะอุตสาหะในการประพฤติปฏิบัติยิ่งๆขึ้นไป จนกว่าจะยังอริยมรรคอริยผลให้เกิดโดยพลันด้วยกันทุกท่านทุกคนเทอญฯ ขอเจริญพร สาธุ…สาธุ…สาธุ อนุโมทามิ



คุณรัตชลัน จันทร์เลิศฟ้า ถอดเทปคำบรรยาย

คุณมณฑาทิพย์ คุณวัฒนา จัดรูปแบบ ตรวจอักษร

ที่มาhttp://www.sati99.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=202625


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 8 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร