วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 21:23  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=2



กลับไปยังกระทู้  [ 10 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 เม.ย. 2011, 04:34 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 2
สมาชิก ระดับ 2
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 ก.พ. 2011, 15:38
โพสต์: 80


 ข้อมูลส่วนตัว


หนังสือ จตุรารักขกัมมัฏฐาน ของหลวงปู่เสาร์
โดย พระราชสังวรญาณ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย)
วัดป่าสาลวัน อ.เมือง จ.นครราชสีมา :b8: :b8: :b8:


คำนำหนังสือ

ณ โอกาสที่อาตมาภาพ และคณะได้เดินทางไปปฏิบัติศาสนากิจ ณ วัดดอนธาตุ อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี ราวเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๖ เพื่อเตรียมฉลองเจดีย์ ที่สร้างขึ้น ณ วัดนั้น เพื่อบรรจุอัฐิธาตุของท่านพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล ซึ่งงานได้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี นอกจากนี้ได้กราบนมัสการอัฐิธาตุท่านพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล และพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต แล้ว อาตมาภาพและคณะยังได้พบเห็นหนังสือ “จาตุรารักขกัมมัฏฐาน” ที่ท่านพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล ได้ลิขิตไว้อีกด้วยยังความปลื้มปิติแก่อาตมาภาพและคณะอย่างยิ่ง ทั้งนี้ เนื่องจากข้อเขียนที่ท่านลิขิตไว้พบได้ไม่บ่อยนัก

อาตมาภาพและคณะ จึงเห็นควรรวบรวมจัดพิมพ์หนังสือ “จาตุรารักขกัมมัฏฐาน” ของท่านพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล พร้อมทั้งผนวกด้วยหนังสือ “ขันธะวิมุติสะมังคี” ของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต และหนังสือ “มุตโตทัย” ที่ท่านพระญาณวิริยาจารณ์ วัดธรรมมงคล รวบรวมธรรมคำสอนของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ไว้ให้อยู่ในเล่มเดียวกันเพื่อเป็นมรดกธรรมแด่ ศิษยานุศิษย์ และพุทธศาสนิกชนต่อไป

ทั้งนี้ในการจัดพิมพ์ครั้งที่ ๑ หนังสือชุดนี้หมดลงแล้ว การจัดพิมพ์ครั้งนี้จึงเป็นครั้งที่ ๒ มีการเปลี่ยนแปลงรูปเล่มบ้างบางตอน เพื่อความสมบรูณ์ยิ่งขึ้นอาตมาภาพและคณะทำงาน ขออนุโมทนา ในกุศลเจตนาของทุกท่านมา ณ ที่นี้


พระสาคร ธัมมาวุโธ
วัดเวฬุวัน อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 เม.ย. 2011, 04:39 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 2
สมาชิก ระดับ 2
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 ก.พ. 2011, 15:38
โพสต์: 80


 ข้อมูลส่วนตัว


"จตุรารักขกัมมัฏฐาน " ของหลวงปู่เสาร์

วิธีระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย

อนึ่งเมื่อจะระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย พึงระลึกดังนี้ได้ว่า

เพลิงกิเลสเพลิงทุกข์ ลุกโพลงรุ่งเรืองไหม้สัตว์เผาสัตว์ให้รุ่มร้อนอยู่เป็นนิตย์ในภพทั้ง ๓ เพลิงกิเลส นั้นคือราคะ ความกำหนัดยินดี แลโทสะ ความเคืองคิดประทุษร้าย แลโมหะ ความหลงไม่รู้จริง ราคะ โทสะ โมหะ ทั้ง ๓ นี้ ท่านกล่าวว่าเป็นเพลิง เพราะเป็นเครื่องร้อนรนกระวนกระวายของสัตว์

เพลิงทุกข์ นั้นคือ
ชาติ ความเกิด คือขันธ์
แลอายตนะ
แลนามรูป ที่เกิดปรากฏขึ้น
แลชรา ความแก่ทรุดโทรมคร่ำคร่า
แลมรณะ ความตาย คือชีวิตขาด กายแตกวิญญาณดับ
แลโสกะ ความเหือดแห้งเศร้าใจ
แลปริเทวะ ความบ่นเพ้อคร่ำครวญร่ำไร
แลทุกข์ ทนยากเจ็บปวดเกิดขึ้นในกาย
แลโทมนัส ความเป็นผู้มีใจชั่วเสียใจ
แลอุปายาส ความคับแค้นอัดอั้นใจ

ทุกข์ มีชาติเป็นต้นเหล่านี้ ท่านกล่าวว่าเป็นเพลิง เพราะเป็นทุกข์ให้เกิดความร้อนรนกระวนกระวายต่างๆ แก่สัตว์

เพลิงกิเลสเพลิงทุกข์เหล่านี้ ยกพระพุทธเจ้าเสียแล้ว ไม่มีผู้ใดผู้หนึ่งในโลกดับได้ แต่ผู้ที่จะรู้ว่าเป็นเพลิงเครื่องร้อนเท่านั้นก็หายากเสียแล้ว ผู้ที่จะดับเพลิงนั้นจะได้มาแต่ไหนเล่า ก็ในโลกหมดทั้งสิ้น ไม่มีผู้ใดผู้หนึ่งในโลกดับได้ จึงพากันร้อนรนกระวนกระวายอยู่ด้วยเพลิงหมดทั้งโลก ก็ไม่รู้สึกตัวว่าเพลิงมันไหม้เผาเอาให้เร่าร้อนอยู่เป็นนิตย์ เพราะอวิชชาความหลงไม่รู้จริง

"สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา"
พระผู้มีพระภาคเจ้าที่เป็นที่พึ่งของเรา พระองค์ตรัสรู้ชอบตรัสรู้ดีแล้วเอง ตรัสรู้จริงเห็นจริง ดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์ของพระองค์ได้แล้ว คือทำให้แจ้งซึ่งกิเลสนฤพานแลขันธ์นฤพานได้แล้ว ทรงสั่งสอนสัตว์ให้รู้ตามเห็นตาม ดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์ทำให้แจ้งซึ่งพระนฤพานได้ด้วย พระองค์นั้นจึงเป็นผู้เลิศกว่าสัตว์ประเสริฐกว่าสัตว์ เป็นผู้อัศจรรย์ใหญ่ยิ่งนัก ควรเลื่อมใสจริงๆ

"สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม"
พระธรรมที่เป็นที่พึ่งของเรา ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว ทรงคุณ คือดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์ของสัตว์ เป็นผู้ปฏิบัติชอบช่วยให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้นได้คือ ศีล สมาธิ ปัญญา มรรค ผล นฤพาน พระธรรมนั้นท่านทรงคุณ คือดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์ได้อย่างนี้ จึงเป็นอัศจรรย์ใหญ่ยิ่งนัก ควรเลื่อมใสจริงๆ

"สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ"
พระสงฆ์ผู้สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ที่เป็นที่พึ่งของเรา ท่านปฏิบัติดีแล้ว ทำให้บริบูรณ์ในศีล สมาธิ ปัญญา บรรลุมรรคผล ทำให้แจ้งซึ่งพระนฤพาน ดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์ของตนได้แล้ว สั่งสอนผู้อื่นให้รู้ตามเห็นตาม ดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์ได้ด้วย และเป็นเขตต์ให้เกิดบุญเกิดกุศลแก่เทวดาแลมนุษย์มากนัก พระสงฆ์นั้นท่านปฏิบัติดีอย่างนี้ จึงเป็นอัศจรรย์ใหญ่ยิ่งนัก ควรเลื่อมใสจริงๆ


เมื่อนึกถึงคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สามรัตนะนี้ ตรึกตรองด้วยปัญญา ครั้นเห็นจริง เกิดเลื่อมใสขึ้นแล้ว จะนึกแต่ในใจหรือเปล่งวาจาว่า

อะโห พุทโธ พระพุทธเจ้าที่เป็นที่พึ่งของเรา พระองค์ตรัสรู้จริงเห็นจริง สำเร็จประโยชน์ตน สำเร็จประโยชน์ผู้อื่นได้แล้ว ควรซึ่งทักขิณาอันเลิศ เป็นผู้ประเสริฐกว่าสัตว์หมดทั้งสิ้น เป็นอัศจรรย์น่าเลื่อมใสจริง

อะโห ธัมโม พระธรรมที่เป็นที่พึ่งของเรา ท่านทรงคุณ คือดับกิเลสเครื่องร้อนใจของสัตว์ได้ นำสัตว์ออกจากทุกข์ได้ เป็นอัศจรรย์น่าเลื่อมใสจริง

อะโห สังโฆ พระสงฆ์ที่เป็นที่พึ่งของเรา ท่านปฏิบัติดีแล้ว เป็นเขตต์บุญอันเลิศ หาเขตต์บุญอื่นยิ่งกว่าไม่มี เป็นอัศจรรย์น่าเลื่อมใสจริง

ภาวนา ดังนี้ก็ได้ดีทีเดียว

เมื่อถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สามรัตนะนี้เป็นที่พึ่งของตนจริงๆ เสมอด้วยชีวิตแล้ว ท่านกล่าวว่าถึงสรณะแล้ว มีผลอานิสงส์ใหญ่ยิ่งกว่าทานหมดทั้งสิ้น

อนึ่ง ผู้ใดได้ความเชื่อความเลื่อมใสในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สามรัตนะนี้แล้ว ผู้นั้นได้ชื่อว่าเลื่อมใสแล้วในที่อันเลิศ ผลที่สุดวิเศษ เลิศใหญ่ยิ่งกว่าผลแห่งกุศลอื่นๆ ทั้งสิ้น ย่อมมีแก่ผู้เลื่อมใสในรัตนะทั้งสามนั้น

อนึ่ง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นรัตนะอันเลิศวิเศษยิ่งกว่ารัตนะอื่นๆ หมดทั้งสิ้น ย่อมให้สำเร็จความปรารถนาแก่สัตว์ผู้ที่เลื่อมใสได้ทุกประการ

เหตุนั้น เราทั้งหลายจงอุตส่าห์นึกถึงคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ให้เกิดความเลื่อมใสทุกๆ วันเถิด จะได้ไม่เสียทีที่ประสพพบพระพุทธศาสนานี้ นี้วิธีระฤกถึงคุณพระรัตนตรัย


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 เม.ย. 2011, 04:41 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 2
สมาชิก ระดับ 2
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 ก.พ. 2011, 15:38
โพสต์: 80


 ข้อมูลส่วนตัว


วิธีเจริญเมตตา

อนึ่ง เมื่อจะเจริญเมตตา พึงเจริญดังนี้ก็ได้ว่า

สัพเพ สัตตา สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกันหมดทั้งสิ้น
อะเวรา จงเป็นสุขๆเถิด อย่าได้มีเวรแก่กันแลกันเลย
สัพเพ สัตตา สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกันหมดทั้งสิ้น
อัพยาปัชฌา จงเป็นสุขๆเถิด อย่าได้มีความเจ็บไข้ ลำบากกาย ลำบากใจเลย
สัพเพ สัตตา สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกันหมดทั้งสิ้น
อะนีฆา จงเป็นสุขๆ เถิด อย่าได้มีความทุกข์กาย ทุกข์ใจเลย
สัพเพ สัตตา สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกันหมดทั้งสิ้น
สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ จงมีความสุขกายสุขใจ รักษาตนพ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้นเถิด


เมตตาภาวนานี้ เป็นข้าศึกแก่พยาบาทโดยตรง เมื่อเจริญเมตตานี้ ย่อมละพยาบาทเสียได้ด้วยดี
เมตตานี้ชื่อว่า เจโตวิมุติ เพราะเป็นเครื่องหลุดพ้นจากพยาบาทของใจ มีผลอานิสงส์ยิ่งใหญ่กว่าทานแลศีลทั้งหมด

อนึ่ง เมตตานี้ พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า มีอานิสงส์ ๑๑ ประการ อานิสงส์ ๑๑ ประการนั้น
คือ ผู้ที่เจริญเมตตานี้
หลับก็เป็นสุข ที่ ๑
ตื่นก็เป็นสุข ที่ ๒
ฝันก็เป็นมงคลไม่ลามก ที่ ๓
เป็นที่รักของมนุษย์ ที่ ๔
เป็นที่รักของอมนุษย์ ที่ ๕
เทวดาย่อมรักใคร่รักษา ไว้ให้พ้นภัย ที่ ๖
ไฟก็ไม่ไหม้ไม่ ทำให้ร้อนได้ แลพิษต่างๆ แลศาสตราวุธก็ไม่ประทุษร้ายทำอันตรายแก่ชีวิตได้ ที่ ๗
จิตกลับตั้งมั่นได้โดย เร็วพลัน ที่ ๘
มีผิวหน้าผ่องใส งาม ที่ ๙
เป็นผู้มีสติไม่หลงตาย ที่ ๑๐
ตายแล้วไปเกิดในพรหม โลกด้วยเมตตาฌานนี้ ที่ ๑๑


เมตตา มีอานิสงส์วิเศษมากต่างๆ ดังว่ามานี้ เหตุนั้น เราทั้งหลายจงอย่าได้ประมาทในเมตตาภาวนานี้เลย อุตส่าห์เจริญเถิด จะได้ประสพอานิสงส์วิเศษต่างๆ ซึ่งว่ามานี้เทอญ ฯ นี้วิธีเจริญเมตตา


แก้ไขล่าสุดโดย warrior of light เมื่อ 08 เม.ย. 2011, 04:46, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 เม.ย. 2011, 04:43 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 2
สมาชิก ระดับ 2
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 ก.พ. 2011, 15:38
โพสต์: 80


 ข้อมูลส่วนตัว


วิธีเจริญอสุภะ

อนึ่ง เมื่อจะเจริญอสุภะ พึงเจริญดังนี้ก็ได้ว่า

อัตถิ อิมัสมิง กาเย ของไม่งามเป็นของปฏิกูลน่าเกลียดมีอยู่ในกายนี้
เกสา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง
มังสา นะหารู อัฏฐี อัฏฐิมิญชัง วักกัง คือ เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม
หะทะยัง ยะกะนัง กิโลมะกัง ปิหะกัง ปัปผาสัง คือ เนื้อหัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด
อัน ตัง อันตะคุณัง อุทะริยัง กะรีสัง คือ ไส้ใหญ่ สายเหนี่ยวไส้ ราก ขี้(คูถ)
มัต ถะเกมัตถะลุงคัง คือ เยื่อในสมองศีรษะ
ปิตตัง เสมหัง ปุพโพ โลหิตัง เสโท เมโท คือ น้ำดี น้ำเสมหะ น้ำเหลืองน้ำหนอง น้ำเลือด น้ำเหงื่อ น้ำมันข้น
อัสสุ วะสา เขโฬ สิงฆานิกา ละสิกา มุตตัง คือ น้ำตา น้ำมันเปลว น้ำลาย น้ำมูก น้ำไขข้อ น้ำเยี่ยว


ผมนั้น งอกอยูตามหนังศีรษะ ดำบ้างขาวบ้าง
ขนนั้น งอกอยู่ตามขุมขนทั่วกาย เว้นไว้แต่ฝ่ามือฝ่าเท้า
เล็บนั้น งอกอยู่ตามปลายมือปลายเท้า
ฟัน นั้น งอกอยู่ตามกระดูกคางข้างบนข้างล่าง สำหรับ เคี้ยวอาหาร ชุ่มอยู่ด้วยน้ำลายเป็นนิตย์
หนัง นั้น หุ้มทั่วกาย เอาผิวนอกออกเสียแล้ว มีสีขาว เนื้อ นั้น มีสีแดง เหมือนกับชิ้นเนื้อสัตว์

เอ็น นั้น รัดรวบโครงกระดูกไว้ มีสีขาว
กระดูกนั้น เป็นร่างโครงค้ำแข้งอยู่ในกาย มีสีขาว
เยื่อในกระดูกนั้น มีสีขาว เหมือนกับยอดหวายที่เผาไฟอ่อน แล้วใส่ไว้ในกระบอกไม้ฉะนั้น
เยื่อ ในขมองศีรษะ นั้น เป็นยวงๆ เหมือนกับเยื่อในหอจุ๊บแจง
ม้ามนั้น คือแผ่นเนื้อมีสีแดงคล้ำๆ สองแผ่นมีขั้วอันเดียวกัน เหมือนกับผลมะม่วงสองผลมีขั้วอันเดียวกันฉะนั้น อยู่ข้างซ้ายเคียงกับหัวใจ
เนื้อ หัวใจนั้น มีสีแดง สัณฐานดังดอกบัวตูม ตั้งอยู่ท่ามกลางอก
ตับนั้น คือแผ่นเนื้อสองแผ่น สีแดงคล้ำๆ ตั้งอยู่ข้างขวาเคียงเนื้อหัวใจ
พังผืดนั้น มีสีขาว เหนี่ยวหนังกับเนื้อ เอ็นกับเนื้อ กระดูกกับเอ็น ติดกันไว้บ้าง
ไตนั้น เป็นชิ้นเนื้อสีดำคล้ำเหมือนกะลิ้นโคดำอยู่ชายโครงข้างซ้าย
ปอดนั้น เป็นแผ่นเนื้อสีแดงคล้ำ ชายเป็นแฉกปกเนื้อหัวใจอยู่ท่ามกลางอก
ไส้ใหญ่นั้น ปลายข้างหนึ่งอยู่คอหอย ปลายข้างหนึ่งอยู่ทวาร ทบไปทบมา มีสีขาว ชุ่มอยู่ด้วยเลือดในท้อง สายเหนี่ยวไส้ใหญ่ นั้น มีสีขาว

รากนั้น คือของที่กลืนกินแล้วสำรอกออกมาเสียฉะนั้น
คูถนั้น คือของที่กินขังอยู่ในท้องแล้วถ่ายออกมาฉะนั้น
น้ำดีนั้น สีเขียวคล้ำๆ ที่เป็นฝักอยู่ท่ามกลางอก ที่ไม่เป็นฝักซึมซาบอยู่ในกาย
น้ำเสมหะนั้น มีสีขาวคล้ำๆ เป็นเมือกๆ ติดอยู่กับพื้นไส้ข้างใน
น้ำเหลืองน้ำหนองนั้น มีอยู่ในที่สรีระมีบาดแผล เป็นต้น
น้ำเลือดนั้น มีอยู่ตามขุมถูกในกายและซึมซาบอยู่ในกาย
น้ำเหงื่อนั้น ซ่านออกตามขุมขนในกายเมื่อร้อนหรือกินของเผ็ด
น้ำมันข้นนั้น มีสีเหลือง ติดอยู่กับหนังต่อเนื้อ
น้ำตานั้น ไหลออกมาจากในกายเมื่อไม่สบาย
น้ำมันเหลวนั้น เป็นเปลวอยู่ในพุงเหมือนกับเปลวสุกร
น้ำลายนั้น ใสบ้าง ข้นบ้าง
น้ำมูกนั้น เหลวบ้าง ข้นบ้าง เป็นยวงออกจากนาสิก
น้ำ ไขข้อนั้น ติดอยู่ตามข้อกระดูก
น้ำเยี่ยวนั้น เกรอะออกจากรากแลคูถ

อะยะเมวะ กาโย กายประชุมส่วนเป็นของปฏิกูลน่าเกลียดนี้นั่นแล
อุท ธัง ปาทะตะลา เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นมา
อะ โธ เกสะมัตถะกา เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงไป
ตะจะปะริยันโต มัน มีหนังหุ้มอยู่ที่สุดรอบ
ปุโร นานับปะการัสสะ อะสุจิโน มันเต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น
เชคุจโฉ ปะฏิกุโล แต่ล้วนเป็นของไม่งามมีกลิ่นเหม็น ปฏิกูลน่าเกลียดหมดทั้งสิ้น

อสุภกัมมัฏฐานหรืออสุภสัญญานี้ เป็นข้าศึกแก่ราคะ ความกำหนัดยินดีโดยตรง ผู้ใดมาเจริญอสุภะ เห็นเป็นของไม่งามในกาย เห็นกายเป็นของไม่งามปฏิกูลน่าเกลียด จนเกิดความเบื่อหน่ายไม่กำหนัดยินดี ดับราคะ โทสะ โมหะ เสียได้ ผู้นั้นได้ชื่อว่า ดื่มกินซึ่งรสพระนฤพานเป็นสุขอย่างยิ่ง

เหตุนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสรรเสริญ กายะคตาสติอสุภกัมมัฏฐานนี้ว่า “ผู้ใดได้เจริญกายคตา สตินี้ ผู้นั้นได้ชื่อว่าบริโภคซึ่งรสคือนฤพาน เป็นธรรมที่ผู้ตายไม่มี” ดังนี้ นฤพานนั้นก็ดับราคะ โทสะ โมหะนั้นเอง

เหตุนั้น เราทั้งหลายจงอย่าได้ประมาทในกายะคตาสติ นี้เลย อุตส่าห์เจริญเถิด จะได้ประสพพบพระนฤพานเป็นสุขอย่างยิ่ง เลิศกว่าธรรมหมดทั้งสิ้นนี้ วิธีเจริญอสุภะ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 เม.ย. 2011, 04:45 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 2
สมาชิก ระดับ 2
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 ก.พ. 2011, 15:38
โพสต์: 80


 ข้อมูลส่วนตัว


วิธีเจริญมรณสติ

อนึ่ง เมื่อจะเจริญมรณสติ พึงเจริญได้ดังนี้ก็ได้ว่า

มะระณะ ธัมโมมหิ มะระณัง อะนะตีโต (ชายว่า)
มะระณะ ธัมมามหิ มะรณัง อะนะตีตา (หญิงว่า)

แปลว่า เรามีความตายเป็นธรรมดา ล่วงความตายไปไม่ได้แล้ว
ความตายนั้นคือ สิ้นลมหายใจ กายแตก วิญญาณดับ

อนึ่ง พึงเจริญดังนี้ก็ได้ว่า

อะ ธุวัง ชีวิตัง ชีวิตของเรามันไม่ยั่งยืน
ธุ วัง มะระณัง ความตายของเรามันยั่งยืน
อะ วัสสัง มะยา มะริตัพพัง เราคงตายเป็นแน่
มะระณะปะริโยสานัง เม ชีวิตัง ชีวิตของเรามีความตายเป็นที่สุด
ชีวิตัง เม อะนิยะตัง ชีวิตของเรามันไม่เที่ยง
มะระณัง เม นิยะตัง ความตายของเรามันเที่ยงแล้ว

อนึ่ง พึงเจริญดังนี้ก็ได้ว่า

สัพ เพ สัตตา มะรันติ จะ สัตว์ที่ตายอยู่เดี๋ยวนี้ก็ดี
มะ ริงสุ จะ มะริสสะเร ที่ตายดับสูญไปแล้วก็ดี จักตายต่อไปข้างหน้าก็ดี
ตะเถวะหัง มะริสสามิ เราก็จะตายดับสูญไปเช่นนั้นเหมือนกันนั่นแหละ
นัตถิ เม เอตถะ สังสะโย ความสงสัยในความตายนี้ ไม่มีแก่เรา

เรา ไม่สงสัยในความตายนี้แล้วเหตุนั้น เราจงเร่งขวนขวายก่อสร้างบุญกุศล ซึ่งเป็นที่พึ่งของตนเสียให้ได้ทันที่ยังมีชีวิตอยู่นี้เถิด อย่าให้ทันความตายมาถึงเข้า ถ้าความตายมาถึงเข้าแล้ว จะเสียทีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนานี้ทีเดียว

ผู้ใดได้เจริญมรณสติ นึกถึงความตาย ได้เห็นความจริงจนเกิดความสังเวชได้ ผู้นั้นย่อมไม่เมาในชีวิต ละอาลัยในชีวิตเสียได้ เป็นผู้ไม่ประมาท รีบร้อนปฏิบัติละบาปบำเพ็ญกุศล ชำระตนให้เป็นผู้บริสุทธิ์โดยเร็วพลัน

เพราะเหตุนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสสรรเสริญ มรณสติที่บุคคลเจริญทำให้มากนี้ ว่ามีผลานิสงส์ใหญ่ยิ่งมากนัก นับเข้าในพระนฤพานเป็นธรรมที่ผู้ตายไม่มี ดังนี้ มรณสติ มีผลานิสงส์มากอย่างนี้

อนึ่ง พระพุทธเจ้าก็ตรัสสั่งสอนไว้ ให้คิดถึงความตายให้ได้ทุกๆ วัน มานะอภิณหปัจจเวกขณ์


เหตุนั้น เราทั้งหลาย จงอุตส่าห์เจริญมรณสติ คิดถึงความตายให้เห็นจริงจนเกิดความสังเวชให้ได้ทุกๆ วันเถิด จะได้ประสพผลอานิสงส์ที่วิเศษ เป็นเหตุไม่ประมาทในการก่อสร้างบุญกุศล ซึ่งเป็นที่พึ่งของตน นี้วิธีเจริญมรณสติ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 เม.ย. 2011, 04:51 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 2
สมาชิก ระดับ 2
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 ก.พ. 2011, 15:38
โพสต์: 80


 ข้อมูลส่วนตัว


วิธีเจริญจตุรารักษ์

ที่นึกถึง ๑. คุณพระรัตนตรัย ๒. แลเจริญเมตตา ๓. แลอสุภะ ๔. แลมรณสติ

ทั้งสี่อย่างซึ่งว่ามานี้ท่านกล่าวว่า จตุรารักษ์ เพราะเป็นธรรมป้องกันปกครองรักษาผู้ที่เจริญนั้น ให้พ้นจากทุกข์ภัยอันตรายวิบัติทั้งสิ้นได้ แลเป็นทางสวรรค์แลนฤพานด้วย


เหตุนั้น เราทั้งหลาย จงอุตส่าห์เจริญให้ได้ทุกวันๆ เถิด อย่าให้ขาดได้เลย จะได้เป็นความดีความชอบอย่างยิ่งของเรา ที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนานี้ เทอญ นี้วิธีเจริญจตุรารักษ์


วิธีเจริญวิปัสสนา (โดยย่อ)

วิธีเจริญวิปัสสนาเมื่อเจ็บไข้หรือเมื่อจะตาย พึงศึกษาธรรมไว้ในใจดังนี้ว่า

อาตุระกายัสสะ เม สะโต เมื่อกายของเราอาดูรกระวนกระวายอยู่ด้วยทุกขเวทนา
จิตตัง อะนาตุรัง ภะวิสสะติ จิตของเราจักไม่อาดูรเดือดร้อนไปตามกาย
ภิทุรายัง กาโย กายนี้มันจักแตก
วิราคะธัมมัง วิญาณัง วิญญาณจิตผู้รู้แจ้งนี้มันจักดับไป เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ช่างมันเถิด
อนิจจา สังขารา เพราะสังขารคือร่างกาย จิตใจนี้มันไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วแตกดับไป เป็นของธรรมดาของมันอย่างนั้นเอง
ตัง กุเตตถะ ลัพภา ความเที่ยงยั่งยืนอยู่นั้นจะได้มาแต่ไหน ในสังขารคือร่างกายจิตใจเหล่านี้เล่า

อนึ่ง พึงเห็นจริงแจ้งชัดด้วยปัญญา ดังนี้ว่า

เปล่า ไม่มีใครเกิด ไม่มีใครตาย
รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ขันธ์ห้า มันเกิด
ขันธ์ห้า มันแตกไปต่างหาก
ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน
ขันธ์ห้า ต่างหาก ช่างมันเถิด

เปล่า ไม่มีใครเกิด ไม่มีใครตาย
จักขุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย ใจ อายตนะหก มันเกิดขึ้น
อายตนะหก มันดับไปต่างหาก
ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน
อายตนะหก ต่างหาก ช่างมันเถิด

เปล่า ไม่มีใครเกิด ไม่มีใครตาย
ดิน น้ำ ไฟ ลม อากาศ วิญญาณ ธาตุหก มันเกิดขึ้นต่างหาก
ไม่ใช่ ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน
ธาตุหก ต่างหาก ช่างมันเถิด

เปล่า ไม่มีใครเกิด ไม่มีใครตาย
นามรูป มันเกิดขึ้น
นามดับ รูปแตก ไปต่างหาก
ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน
นามรูป ต่างหาก ช่างมันเถิด

อนึ่ง เมื่อเกิดก็ไม่ได้เอาอะไรมา เมื่อตายก็ไม่ได้เอาอะไรไป
ข้าวของที่มีวิญญาณ แลไม่มีวิญญาณ หมดทั้งสิ้น เป็นของกลางสำหรับแผ่นดิน ไม่ใช่ของใคร ช่างมันเถิด

เมื่อ พิจารณาด้วยปัญญา เห็นจริงแจ้งชัดอย่างว่ามานี้แล้ว
จิตก็ ไม่อาดูรเดือดร้อนไปตามกายที่กระวนกระวายอยู่ด้วยทุกขเวทนา
อนึ่ง ก็ไม่อาลัยพัวพันติดอยู่ในเข้าของเหล่านั้นหมดทั้งสิ้น ด้วยความเห็นจริงแจ้งชัดดังนี้


เมื่อปฏิบัติทำใจได้อย่างนี้ ขณะหนึ่งครู่หนึ่งนั้นก็ดี ก็ได้ชื่อว่าดื่มกินซึ่งรสคือพระนฤพาน เป็นธรรมที่ผู้ตายไม่มี
เป็นอันได้ประสพพบพระ สัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยน้ำใจ ในขณะหนึ่งนั้นครู่หนึ่งนั้น
เพราะ พระองค์ทรงตรัสไว้ว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเราผู้ตถาคตดัง นี้


อนึ่ง พึงพิจารณาด้วยปัญญา ให้เห็นจริงแจ้งชัดดังนี้ว่า

รูปัง อะนิจจัง รูปเป็นของทรุดโทรมไม่เที่ยง
เกิด ขึ้นแล้วแตกทำลายไป ดังฟองก้อนใหญ่ตั้งขึ้นแล้ว แตกละลายเป็นน้ำไป ฉะนั้น

เวทนา อะนิจจา ความสบาย แลไม่สบาย แลเฉยๆอยู่ที่วิญญาณรู้แจ้ง มันไม่เที่ยง
เกิด ขึ้นแล้วดับไป ดังต่อมน้ำตั้งขึ้นใสๆ แล้วแตกไปโดยเร็ว ฉะนั้น

สัญญา อะนิจจา ความสำคัญจำหมายไว้ มันไม่เที่ยง
ปรากฏขึ้นแล้วหายไป ดังพยับแดดเข้าใกล้แล้ว หายไปหมดไม่ปรากฏ ฉะนั้น

สังขารา อะนิจจา ความคิดเป็นเครื่องตกแต่งจิตที่เป็นบุญแลบาป มันไม่เที่ยง
เกิด ขึ้นแล้วดับสูญไป ไม่มีแก่นสารอันใด ดังต้นกล้วยฉะนั้น

วิญญาณัง อะนิจจัง จิตผู้รู้แจ้งอารมณ์ มันไม่เที่ยง
เกิดขึ้น หลอกลวงให้สัตว์ลุ่มหลง ว่าของเรา ว่าเรา ว่าตัว ว่าตน แล้วดับไป ดังมายาหลอกลวงให้ลุ่มหลง เหมือนกะเล่นกล ฉะนั้น

รูปัง อะนัตตา รูป เป็นของทรุดโทรม ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน
เวทนา อะนัตตา สุขทุกข์อุเบกขาเฉยๆ ที่วิญญาณรู้แจ้ง ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน
สัญญา อะนัตตา ความสำคัญจำหมายไว้ ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน
สังขารา อะนัตตา เจตนาเป็นเครื่องตกแต่งจิตที่เป็นบุญแลเป็นบาป ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน
วิญญาณัง อะนัตตา จิตผู้รู้แจ้งอารมณ์ ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน

สัพเพ สังขารา อะนิจจา ธรรมที่ปัจจัยตกแต่งสร้างขึ้นคือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หมดทั้งสิ้น
มันไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วแปรปรวนแตกดับไป

สัพเพ ธัมมา อะนัตตา ธรรมทั้งสิ้น ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา
เพราะ ว่าตัวตนสัตว์บุคคลไม่มี มีแต่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นตัวทุกข์

แลมี ทุกข์ดับหมดคือพระนฤพาน แลมีสภาวะธรรมอย่างหนึ่งไปต่างหาก ไม่มีใครผู้ใดผู้หนึ่ง

เมื่อพิจารณาด้วยปัญญาเห็นจริงแจ้งชัดว่า เรา เขา สัตว์บุคคล ตัวตน ไม่มีดังนี้แล้ว
ก็ปล่อยวางเสียได้ ไม่ถือว่าของเรา ว่าเราว่าตัวตน ละสักกายทิฏฐิได้ ในขณะหนึ่งครู่หนึ่งนั้นก็ดี
ก็ได้ชื่อว่า ดื่มกินซึ่งรสคือพระนฤพาน เป็นธรรมที่ผู้ตายไม่มี
แลได้ ประสพพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยน้ำใจ ในขณะหนึ่งนั้นครู่หนึ่งนั้น
เพราะพระองค์ทรงตรัสไว้ ว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเราผู้ตถาคต ดังนี้

อนึ่ง เมื่อพิจารณาด้วยปัญญาเห็นจริงแจ้งชัดว่า เรา เขา สัตว์บุคคล ตัวตน ไม่มีดังนี้แล้ว
ใจก็บริสุทธิ์เป็นสุขใหญ่ยิ่ง ทุกข์โทมนัสคับแค้นเครื่องร้อนใจก็ดับเสียได้

คุณ คือ ใจบริสุทธิ์ของพระพุทธเจ้า แลคุณพระธรรมที่ดับเพลิงเครื่องร้อนใจได้ แลคุณพระสงฆ์ที่ปฏิบัติดี คือละกิเลสเครื่องเศร้าหมองเสียได้ ก็ย่อมปรากฏขึ้นในใจของตน
เป็น ผู้มีความเชื่อความเลื่อมใส หยั่งลงไปในคุณพระรัตนตรัย เป็นอันได้ถึงสรณะทั้งสามนี้ เป็นที่พึ่งของตนด้วยดี ด้วยปัญญาที่มาพิจารณาเห็น ซึ่งสภาวะธรรมทั้งสิ้นเป็นอนัตตา ดังว่ามานี้

นี้วิธีเจริญวิปัสสนาก็ วิปัสสนานี้ มีผลอานิสงส์ยิ่งใหญ่กว่า ทาน ศีล พรหมวิหารภาวนา ย่อมทำผู้ที่เจริญนั้นให้มีสติ ไม่หลงทำกาลกิริยา มีสุคติภพ คือมนุษย์แลโลกสวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า นี้ว่าโดยยังไม่บรรลุมรรคผลทำให้แจ้งซึ่งพระนฤพาน ถ้าอุปนิสัยมรรคผลมี ก็ย่อมทำผู้นั้นให้บรรลุมรรคผลทำให้แจ้งซึ่งพระนฤพานได้ ในชาตินี้นั่นเทียว

อนึ่ง เมื่อเกิดก็ไม่ได้เอาอะไรมา เมื่อตายก็ไม่ได้เอาอะไรไป ทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทองหมดสิ้น ไม่ใช่ของเรา เป็นของกลางสำหรับแผ่นดิน ตายแล้วทิ้งเสียหมด เอาไปก็ไม่ได้ อย่าหลงมัวเมาไปเลย

แต่ ความแก่ความเจ็บความตายนี้ เป็นของๆ เราแท้หนีไม่พ้น เหตุนั้น เราจงอุตส่าห์รีบเร่งก่อสร้างบุญกุศล ซึ่งเป็นที่พึ่งของตน จงอุตส่าห์บำเพ็ญศีล แลเจริญจตุรารักข์ แลวิปัสสนา ซึ่งว่ามานี้เป็นทางสวรรค์แลนฤพานเถิด ดีกว่าประกอบกิจอื่นๆ ที่ไม่เป็นประโยชน์แก่ตน เตรียมตัวไว้รอความตายเถิดดีกว่า เพราะเราจะต้องตายเป็นแท้ แต่ไม่รู้ว่าเมื่อไร

อนึ่ง ยากนักที่จะได้เกิดเป็นมนุษย์ เพราะต้องตั้งอยู่ในธรรมของมนุษย์คือ ศีล ๕ แลกุศลกรรมบถ ๑๐ จึงจะได้มาเกิดเป็นมนุษย์ ได้ชีวิตที่เป็นมานี้ก็ได้ด้วยยากยิ่งนัก เพราะอันตรายของชีวิตทั้งภายในภายนอกกาย มีมากต่างๆ

การ ที่ได้ฟังธรรมของสัตบุรุษ คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ได้ด้วยยากยิ่งนัก เพราะกาลที่เปล่าว่างอยู่ ไม่มีพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในโลกยืดยาวนานนัก บางคาบบางสมัยจึงจะมีพระพุทธเจ้าเกิดในโลกสักครั้งสักคราวหนึ่ง

เหตุ นั้น เราทั้งหลายพึงอยู่ด้วยความไม่ประมาทเถิด อย่าให้เสียทีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ พบพระพุทธศาสนานี้เลย

ขอท่านผู้สัตบุรุษที่ได้รับหนังสือนี้ไป จงอ่านให้ได้ทุกวันๆ เถิด เมื่ออ่าน จงตรอง ตามไปให้ได้เห็นความจริง เมื่อได้เห็นความจริงแล้ว ก็เป็นอันได้ประสพพบพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยน้ำใจ

อนึ่ง ก็เป็นอันได้ เจริญภาวนามัยกุศล มีผลใหญ่เลิศเกิดขึ้นแก่ตนด้วย เพราะทำความเห็นจริงให้เกิดขึ้นในจิตได้นี้ จึงเป็นภาวนามัยกุศล มีผลเลิศ

ถ้ากิจการมีมากไม่มีโอกาสที่จะอ่านแล้ว เมื่อจะนอนพึงอ่านเสียก่อนจบหนึ่งแล้วจึงนอน จะได้เป็นนิพัทธกุศล

มีผล เลิศแก่ตนทุกวันๆ เพราะภาวนามัยกุศลนี้ พระพุทธเจ้าทรงตรัสสรรเสริญว่ามีผลใหญ่กว่าทานแลศีล ในสูตร มี เวลามะสูตรเป็นตัวอย่าง

เหตุนั้น ควรที่เราทั้งหลายจะพึงไม่ประมาทในภาวนามัยกุศลนี้ จงอุตส่าห์เจริญให้ได้ทุกวันๆ เทอญ ฯ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 เม.ย. 2011, 04:52 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 2
สมาชิก ระดับ 2
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 ก.พ. 2011, 15:38
โพสต์: 80


 ข้อมูลส่วนตัว


กัมมัฏฐาน ๔๐ ทัศ

ประเภทกัมมัฏฐาน

กัมมัฏฐานนั้น มีมากถึง ๓๘ ประการ มีมาในบาลีอรรถกถาเพิ่มอากาศกสิณ และ อาโลกกสิณทั้ง ๒ เข้าด้วยกัน
จึง เป็นกัมมัฏฐาน ๔๐ ทัศ คือ

กสิณ ๑๐
อสุภะ ๑๐
อนุสสติ ๑๐
อัปปมัญญา ๔
จตุธาตุววัตถาน ๑
อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑
อรูปฌาน ๔

วิธีเจริญกัมมัฏฐาน


เมื่อจะเจริญให้รู้จักลักษณะในกัมมัฏฐานเหล่านั้น จะว่าโดยสังเขป ดังนี้

๑. กสิณ ๑๐ นั้น เป็นกัมมัฏฐาน สำหรับชำระใจให้บริสุทธิ์ ด้วยมานึกถึงกสิณ ทำใจให้นิ่งอยู่อย่างเดียว

๒. สมาธิอสุภะ ๑๐ นั้น เป็นกัมมัฏฐานสำหรับชำระใจให้บริสุทธิ์ ด้วยมานึกเห็นว่าเป็นของปฏิกูลเสียอย่างเดียว

๓. พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ สีลานุสสติ จาคานุสสติ เทวตานุสสติ ทั้ง ๖ นี้ เป็นกัมมัฏฐาน สำหรับชำระใจให้บริสุทธิ์ ด้วยมานึกให้เกิดความเลื่อมใส อิ่มใจ จนถึงจิตนิ่งอยู่ในคุณนั้น ๆ

๔. อานาปานสติ นั้นเป็นกัมมัฏฐาน สำหรับชำระใจให้บริสุทธิ์ ด้วยมานึกถึงลมหายใจ จนใจนิ่งอยู่ได้เป็นสมาธิ

๕. กายคตาสติ นั้นเป็นกัมมัฏฐาน สำหรับชำระใจให้บริสุทธิ์ ด้วยมานึกถึงกาย คือ ประชุมส่วนที่เป็นของน่าเกลียด มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น ให้เห็นเป็นของปฏิกูล จนเกิดความเบื่อหน่าย

๖. มรณสติ นั้นเป็นกัมมัฏฐาน สำหรับชำระใจให้บริสุทธิ์ ด้วยมานึกถึงกาย ให้เกิดความสังเวชสลดใจ อยู่เป็นนิตย์

๗. อุปสมานุสสติ นั้นเป็นกัมมัฏฐาน สำหรับชำระใจให้บริสุทธิ์ ด้วยมานึกถึงคุณพระนฤพาน เป็นที่ระงับทุกข์ทั้งปวง จนใจของตนบริสุทธิ์ ไม่คิดถึงอันใด

๘. อัปปมัญญา ๔ นั้น เป็นกัมมัฏฐาน สำหรับชำระใจให้บริสุทธิ์ ด้วยมาปรารภสัตว์ไม่มีประมาณเป็นอารมณ์ นึกไปให้เขาได้สุข และ ให้เขาพ้นทุกข์ และ ชื่นชมอยู่ด้วยความสุขของเขา และมัธยัสถ์เฉย ๆ ไม่ดีใจ เสียใจ ด้วยสุขและ ทุกข์ของเขา

๙. ธาตุววัตถาน นั้นเป็นกัมมัฏฐาน สำหรับชำระใจให้บริสุทธิ์ ด้วยมาแยกกายออกให้เห็นว่าเป็นธาตุทั้ง ๔ จนไม่ถือว่าเป็นสัตว์เป็นบุคคล เป็นตัว เป็นตน ทำใจให้เหมือน ดิน น้ำ ไฟ ลม เช่นนั้น

๑๐. อรูปณาน ๔ นั้น เป็นกัมมัฏฐาน สำหรับชำระใจให้บริสุทธิ์พ้นจากรูปธรรมฝ่ายเดียว ให้รู้จักลักษณะกัมมัฏฐานเป็นเครื่องชำระใจให้บริสุทธิ์ โดยสังเขปดังว่ามานี้


ก่อนผู้ที่ปฏิบัติ ชำระใจให้บริสุทธิ์นั้น เมื่อจะเจริญกัมมัฏฐานอันใด ก็ให้ถูกต้องลักษณะ อย่างว่ามานี้เถิด ไม่ผิดแล้ว นี่หยิบยกเอาแต่ยอดขึ้นมาว่า พอให้เข้าใจ ก็แต่วิธีภาวนานั้นมีอยู่มาก จะว่าในกายคตาสติก่อน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 เม.ย. 2011, 04:56 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 2
สมาชิก ระดับ 2
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 ก.พ. 2011, 15:38
โพสต์: 80


 ข้อมูลส่วนตัว


ตัวอย่างการเจริญกัมมัฏฐาน : การเจริญกายคตาสติ

๑. ให้เจริญกายคตาสติด้วยบาลี

เมื่อจะเจริญกายคตาสติ ให้เจริญโดยนัยที่มาในบาลี ดังนี้ว่า

อะยัง โข เม กาโย, อุทธัง ปาทะตะลา, อะโธ เกสะมัตถะกา, ตะจะปะริยันโต, ปุโร นานัปปะการัสสะ อะสุจิโน, อัตถิ อิมัสมิง กาเย, เกสา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ, มังสัง นะหารู อัฏฐี อัฏฐิมิญชัง วักกัง, หะทะยัง ยะกะนัง กิโลมะกัง ปิหะกัง ปัปผาสัง, อันตัง อันตะคุณัง อุทะริยัง กะรีสัง, ปิตตัง เสมหัง ปุพโพ โลหิตัง เสโท เมโท, อัสสุ วะสา เขโฬ สิงฆานิกา ละสิกา มุตตัง
อะยัง โข เม กาโย, อุทธัง ปาทะตะลา, อะโธ เกสะมัตถะกา ตะจะปะริยันโต, ปุโร นานัปปะการัสสะ, อะสุจิโนติ


๒. ให้รู้เนื้อความในการเจริญกายคตาสติ

ให้จำบาลีกายคตาสตินี้เสียใหม่ก่อนให้ได้ แล้วให้รู้เนื้อความดังนี้ ว่า

อะยัง โข เม กาโย กายของเรานี้แหละ
อุทธัง ปาทะตะลา เบื้องบนตั้งแต่พื้นเท้าขึ้นมา
อะโธ เกสะมัตถะกา เบื้องต่ำตั้งแต่ปลายผมลงไป
ตะจะปะริยันโต มีหนังหุ้มอยู่ที่สุดรอบ
ปุโร นานัปปะการัสสะ อะสุจิโน เต็มไปด้วยเครื่องโสโครกไม่สะอาด มีประการต่าง ๆ
อัตถิ อิมัสมิง กาเย มีอยู่ในกาย เป็นที่ประชุมของน่าเกลียดนี้
เกสา ผมทั้งหลายที่อยู่ตามศีรษะทั้งสิ้น ดำบ้าง ขาวบ้าง
โลมา ขนทั้งหลาย ที่งอกอยู่ตามขุมขนทั่วกาย เว้นไว้แต่ฝ่ามือ และ ฝ่าเท้า สีมิได้ดำนัก ขาวนัก
นะขา เล็บทั้งหลาย ที่งอกอยู่ตามปลายมือปลาย เท้า มีวรรณะขาว
ทันตา ฟันทั้งหลายที่งอกอยู่ตามกระดูกคางข้างบน ข้างล่าง สำหรับบดเคี้ยวอาหารชุ่มอยู่ด้วยน้ำลายเป็นนิตย์
ตะโจ หนังหุ้มทั่วกาย ผิวนอกออกเสีย แล้วมี วรรณะอันขาว

มังสัง เนื้อมีวรรณะอันแดง
นะหารู เอ็นทั้งหลายที่รึงรัดรวบโครงกระดูกไว้ มีวรรณะอันขาว
อัฏฐิ กระดูกทั้งหลาย ที่เป็นร่างโครงค้ำแข็งอยู่ในกาย มีวรรณะอันขาว ประมาณ ๓๐๐ ท่อน
อัฏฐิมิญชัง เยื่อในกระดูก มีวรรณะอันขาว เหมือนกะยอดหวายที่เผาอ่อน แล้วใส่ไว้ในกระบอกไม้ฉะนั้น
เยื่อ ในกระดูกสมองศีรษะ เป็นยวงขาวเหมือนกะเยื่อในหอยจุ๊บแจง หรือนุ่นคลุกกะทิ
วักกัง ม้าม คือก้อนเนื้อ มีสีแดงคล้ำ ๒ ก้อน มีขั้วอันเดียวกัน เหมือนกับผลมะม่วง ๒ ผลมีขั้วอันเดียวกันฉะนั้น อยู่ข้างซ้ายเคียงกับหัวใจ
หะทะยัง เนื้อหัวใจ มีสีแดงสัณฐานเหมือนกะดอกบัวตูมตั้งอยู่ท่ามกลางอก
ยะกะนัง ตับ คือแผ่นเนื้อ ๒ แผ่น มีสีแดงคล้ำ ตั้งอยู่ข้างขวาเคียงเนื้อหัวใจ
กิโลมะกัง พังผืด มีวรรณะอันขาว เหนี่ยวหนังกับเนื้อ เอ็นกับเนื้อ กระดูกกับเนื้อติดกันไว้บ้าง
ปิหะกัง ไต เป็นชิ้นเนื้อสีดำคล้ำ เหมือนลิ้นโคดำ อยู่ข้างชายโครงข้างซ้าย
ปัปผาสัง ปอด เป็นแผ่นเนื้อมีวรรณะอันแดงคล้ำ ๆ ชายเป็นแฉกปกเหนือหัวใจ และ ม้าม อยู่ท่ามกลางอก
อันตัง ไส้ใหญ่ ปลายข้างหนึ่งอยู่ทวาร ทบไปทบมา มีวรรณะอันขาว ชุ่มอยู่ด้วยเลือดในท้อง เหมือนกับงูขาวเขาตัดศีรษะ แล้วแช่ไว้ในรางเลือดฉะนั้น
อันตะคุณัง สายติดเหนี่ยวไส้ใหญ่ มีวรรณะอันขาว
อุทะริยัง อาหารนอนท้อง เช่นกับของที่กินกลืนเข้าไปถึงท้องแล้ว และรากออกมาเสียเช่นนั้น
กะ รีสัง ของที่กินค้างอยู่ในท้องกลายเป็นคูถ เช่น อุจจาระ ที่ถ่ายออกมาฉะนั้น
เสมหัง น้ำเสลด มีน้ำวรรณะขาว คล้ำ ๆเป็นมวก ๆ ติดอยู่กับพื้นไส้ข้างไน
ปิตตัง น้ำดี สีเขียวคล้ำ ๆ ที่เป็นฝักตั้งอยู่ท่าม กลางอกที่ไม่เป็นฝักซึมซาบซ่านอยู่ในกาย
ปุพโพ น้ำเหลือง น้ำหนอง ย่อมตั้งอยู่ในสรีระมีบาแผล เป็นต้น
โลหิตัง น้ำเลือด มีขังอยู่ตามขุมในกาย และ ซึมซาบซ่านอยู่ในกาย
เสโท น้ำเหงื่อ ที่ซ่านออกตามขุมขน ในกาลเมื่อร้อนหรือกินของเผ็ด
เมโท น้ำมันข้น มีสีเหลืองติดอยู่กับหนังต่อเนื้อ
อัสสุ น้ำตา ที่ไหลออกจากตา ในกาลเมื่อทุกข์โทมนัสมาถึง
วะสา น้ำมันเหลว ที่เป็นเปลวอยู่ในพุง เหมือนเปลวสุกร
เขโฬ น้ำลาย ใสและข้น
สิงฆานิกา น้ำมูก เหลวบ้างข้นบ้าง เป็นยวงออกจากนาสิก
ละสิกา น้ำไขข้อ ติดอยู่ตามข้อกระดูก
มุตตัง น้ำเยี่ยว เกรอะออกจากรากและคูถ


๓. ให้เจริญสติโดยพิจารณาทุกส่วนของกาย

อะยะเมวะ เม กาโย กายของเรานี้แล
อุท ธัง ปาทะตะลา ข้างบนตั้งแต่พื้นเท้าขึ้นมา
อะโธ เกสะมัตถะกา ข้างล่างตั้งแต่ปลายผมลงไป
ตะจะ ปะริยันโต มีหนังหุ้มอยู่ที่สุดรอบ
ปุโร นานัปปะการัสสะ อะสุจิโน เต็มไปด้วยเครื่องโสโครก ไม่สะอาดมีประการต่าง ๆ มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น

ดังว่ามานี้
ให้ พิจารณาอาการ ๓๒ ในกายของตัวนี้ ให้เป็นเครื่องปฏิกูลน่าเกลียดทุกส่วนๆ
ถ้า ไม่เห็นเป็นปฏิกูลลงได้ ยังกำหนัดยินดีอยู่ในกายของตัวนี้ ก็ให้ถามตัวว่า
สิ่งอันใดเป็นของหอมของดี ของงาม มีอยู่ในกายนี้ จึงมาหลงกำหนัดยินดี รักใคร่ในกายนี้อยู่ แต่ล้วนเป็นเครื่องปฏิกูลพึงเกลียดทั้งนั้นมิใช่หรือ
แล้วก็ให้ไล่ไปว่า นั่นก็ผม นั่นก็ขน นั่นก็เล็บ จนถึงมูตรเป็นที่สุด แล้วจึงกลับถามตัวว่าไหนเล่า เป็นของดี ของงาม ของหอม เป็นของสะอาดในกาย จึงมาหลงกำหนัดยินดีรักใคร่ ถ้าพิจารณาดังว่ามานี้ก็จะเห็นเป็นปฏิกูลพึงเกลียดลงได้ในกายนี้
ถ้าพิจารณาไม่เห็นเป็นของปฏิกูลลงได้ทุกส่วนๆ ส่วนอันใดที่เป็นของปฏิกูล พึงเกลียดปรากฏชัด คือ มูตรคูถ หรือเสมหะ ปุพโพโลหิต ก็มนสิการ นึกแต่ส่วนนั้น ๆ ให้เป็นปฏิกูลไว้
เพราะ ว่าเห็นส่วนหนึ่งแล้วส่วนอื่น ๆ ก็คงปรากฏเป็นของปฏิกูลเหมือนกันหมดทั้งสิ้น เหมือนกับ ผักงอกขึ้นที่คูถ เขาก็เกลียด ฉันใด ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ก็อาศัยมูตรคูถ ปุพโพโลหิตชุ่มอยู่ ก็เป็นของปฏิกูลเหมือนกัน


๔. ให้พิจารณาความน่าเกลียดของกาย เปรียบเทียบกับสิ่งใกล้ตัว

อนึ่ง ข้าวของผ้าผ่อนอันใดถึงบริสุทธิ์สะอาดดี ถ้าแปดเปื้อนด้วยเลือด หนอง มูตรคูถ ก็เป็นของปฏิกูลพึงเกลียด ฉันใด ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง จะสำคัญว่างามก็แปดเปื้อนอยู่ด้วย มูตรคูถ เลือด หนอง เป็นของปฏิกูลพึงเกลียดเหมือนกัน ฉันนั้น

อนึ่ง หม้อจะวาดเขียนตกแต่งให้งาม ก็ข้างนอก ข้างในเต็มไปด้วยมูตรคูถ เป็นของปฏิกูลน่าเกลียดฉันใด

กายนี้เล่า ถึงจะตกแต่งประดับประดา ให้วิจิตรงามด้วยเครื่องประดับต่าง ๆ
ก็ ข้างในเต็มไปด้วย มูตรคูถ เป็นของปฏิกูลน่าเกลียดเหมือนกะหม้อ ฉันนั้น


๕. ให้รักษาปฏิกูลสัญญาที่เป็นอุบายใช้พิจารณากายคตาสติของตนได้

ถ้าพิจารณากาย ของตนนี้ เห็นเป็นปฏิกูลลงได้ ด้วยอุบายอันใดอันหนึ่งดังกล่าวมาแล้ว
ก็ให้ รักษาปฏิกูลสัญญานั้นไว้ อย่าให้หายไปเสีย
ถึงจะเห็นก็ให้เห็นเป็นของปฏิกูล ตามสัญญานั้นไว้
อย่าให้เกิด กามราคะ ความกำหนัดขึ้นได้

ถ้าปฏิบัติได้ดังว่ามานี้แล้ว พรหมจรรย์ที่ตนรักษานั้น ก็จะเป็นอันบริสุทธิ์ด้วยดี
เพราะ พรหมจรรย์จะเศร้าหมองจะทำลาย ก็อาศัยการกำหนัดยินดีในกามารมณ์

เหตุ นั้น กุลบุตรเมื่อจะบรรพชา อุปสมบท ท่านบอกกัมมัฏฐาน คือ กายคตาสติ ซึ่งว่ามานี้ให้เสียแต่เดิมที
เพราะ เป็นอุบาย สำหรับระงับ กามราคะ ความกำหนัดยินดี ในกามารมณ์

อนึ่ง ใครได้เจริญกายคตาสตินี้ ให้เกิดปฏิกูลพึงเกลียดขึ้นในใจ ก็ระงับความกำหนัดยินดีเสียได้
เพราะ กายคตาสตินี้ เป็นข้าศึกแก่ ราคะ ความกำหนัดยินดีโดยตรง ถึง โทสะ โมหะ ก็เป็นระงับเสียได้ด้วย

อานิสงส์ของการเจริญกายคตาสติ

ผู้ที่เจริญกายคตาสตินั้น ชื่อว่าดื่มกินซึ่งรส คือ พระนฤพาน เพราะ พระพุทธเจ่าท่านตรัสไว้ดังนี้ว่า

อะมะ ตันเตสัง ภิกขะเว แน่ะภิกษุทั้งหลาย
ใครเจริญกายคตาสติ ผู้นั้นได้ชื่อว่าดื่มกินซึ่งรส คือ พระนฤพาน เป็นธรรมอันไม่ตายแล้ว
เพราะว่า พระนฤพานเป็นธรรมดับ ราคะ โทสะ โมหะ ก็ที่เจริญกายคตาสตินี้
ทำให้ เกิดปฏิกูลพึงเกลียดระงับดับ ราคะ โทสะ โมหะ เสียได้
พระองค์ จึงตรัสว่า ดื่มกินซึ่งรส คือ พระนฤพาน

เหตุนั้น เมื่อปรารถนาจะรักษาพรหมจรรย์ของตนให้บริสุทธิ์ และ จะใคร่ดื่ม ซึ่งรส คือ พระนฤพานแล้ว
ก็พึงเจริญเถิด ซึ่งกายคตาสติกัมมัฏฐานนี้

เมื่อเจริญ ก็ให้เกิดปฏิกูลขึ้นในใจของตนให้ได้
ครั้น เกิดแล้ว ให้รักษาปฏิกูลสัญญานั้นไว้
ถ้าเพียรไปก็อาจให้เกิด สมาธิฌานได้ อันนี้ก็เป็นอุบายชำระใจให้บริสุทธิ์ เป็นกุศลอันวิเศษอย่างหนึ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 เม.ย. 2011, 04:59 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 2
สมาชิก ระดับ 2
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 ก.พ. 2011, 15:38
โพสต์: 80


 ข้อมูลส่วนตัว


ตัวอย่างการเจริญกัมมัฏฐาน : การเจริญมรณสติ

แต่นี้ไป จะว่าในการเจริญมรณสติ เมื่อจะเจริญตามบาลี ว่าดังนี้

มะระณะ ธัมโมมหิ มรณัง อนตีโต (ชายว่า)
มะระณะ ธัมมามหิ มรณัง อนตีตา(หญิงว่า)
หรือว่า ตัวเรามีความตาย เป็นธรรมดา ล่วงความตายไปไม่ได้แล้วดังนี้ก็ได้

หรือ จะคิดถึงความตาย โดยนัยนี้ว่า

อะธุ วัง ชีวิตัง, ธุวัง มะระณัง, อะวัสสัง มะยา มะริตัพพัง, มะระณะ ปะริโยสาณัง เม ชีวิตัง, ชีวิตัง เม อะนิยะตัง, มะระณัง เม นิยะตัง

แปลว่า
อะธุ วัง ชีวิตัง ชีวิตไม่เที่ยง
ธุวัง มะระณัง ความตายเที่ยงแท้
อะวัส สัง มะยา มะริตัพพัง ตัวเราต้องตายแน่
มะระ ณะ ปะริโยสาณัง เม ชีวิตัง ชีวิตของเรามีความตายเป็นที่สุด
ชีวิ ตัง เม อะนิยะตัง ชีวิตของเราไม่เที่ยง
มะระ ณัง เม นิยะตัง ความตายของเราเที่ยง


๑. ต้องรู้จักตัวความตายและเห็นความตายจริง ๆ

เมื่อจะนึกถึงความตาย ให้เห็นความตายจริง ๆ ให้เกิดความสังเวชจึงจะเอา
ถ้า ไม่เห็นความตายแล้ว ถึงจะนึกไปก็ไม่ได้ความสังเวช

เหตุนั้น เมื่อจะเจริญมรณสติ นึกถึงความตายก็จำจะต้องรู้จักตัวความตายก่อน

ความตายนั้นอย่างไร ความตายนั้นคือขาดชีวิตินทรีย์ที่เลี้ยงรูปกายไว้
เพราะ ชีวิตินทรีย์ขาดแล้ว รูปกายนี้ก็เน่าเปื่อยไป
ชีวิ ตินทรีย์สำหรับเลี้ยงรูปกาย ให้สดใสอยู่ เหมือนกับไฟอาศัยน้ำมันชุ่มอยู่ที่ไส้ติดรุ่งเรืองอยู่ได้
พอ น้ำมันขาดสิ้น ไฟก็ดับฉันใด
รูปกายเหมือนกับไฟ
ชีวิ ตินทรีย์ เหมือนน้ำมัน
ถ้าชีวิตินทรีย์ขาด รูปกายก็แตกเน่าเปื่อยสูญไป เหมือนกะไฟดับ
อนึ่ง ชีวิตินทรีย์เลี้ยงรูปกายไว้ เหมือนกับน้ำเลี้ยงดอกอุบลไว้
น้ำ แห้งขาด ดอกอุบลเหี่ยวฉันใด ชีวิตินทรีย์ขาดรูปธรรม ก็ทำลายเหมือนกัน ฉะนั้น
เหตุนั้นความตาย ได้แก่ ขาดชีวิตินทรีย์ ว่าด้วยปรมัตถ์สุขุมเห็นยาก

ถ้า ไม่เห็นความตายโดยนัยนี้แล้ว ก็ให้พิจารณาโดยนัย ดังนี้ว่า
ความ ตาย คือ สิ้นลมหายใจ ครั้นลมหายใจสิ้นแล้ว
วิญญาณดับ ตาก็ไม่เห็น หูก็ไม่ได้ยิน จมูกก็ไม่ได้กลิ่น ลิ้นก็ไม่รู้รส กายก็แข็งเป็นท่อนไม้ หารู้จักเย็นร้อนอ่อนแข็งไม่
ครั้ง ทิ้งไว้ก็เหม็นสาบเหม็นสาง พองขึ้น พึงน่าเกลียด เปื่อยเน่าพังไป จนถึงคนที่รักใคร่สนิท ก็เอาไว้ไม่ได้
ต้อง เอาไปเผาเสียให้สูญในไฟบ้าง เอาไปฝังเสียในแผ่นดินบ้างอย่างนี้แล เรียกว่า ความตาย


๒. ให้นึกน้อมเอาความตายใส่ตัว

ครั้นเห็นความตายชัดดังว่าแล้วนี้ ก็ให้นึกน้อมเอาความตายนั้นมาใส่ตัวดังนี้ว่า
เรามี ความตายดังนี้เป็นธรรมดา ล่วงความตายดังนี้ไปไม่ได้แล้ว

หรือ นึกว่า
ชีวิตของเราไม่เที่ยง ความตายเที่ยง เราต้องตายเป็นแท้ อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้

ก็แต่ให้เกิดความสังเวช สลดใจขึ้นให้ได้
เพราะ มรณสติกัมมัฏฐานนี้สำหรับชำระใจให้บริสุทธิ์ คือ ให้เกิดความสังเวชเท่านั้นเอง

มรณสติ การระลึกถึงความตายนี้ จะสำเร็จเป็นอันได้เจริญมรณสติกัมมัฏฐานนี้ ด้วยเป็นบุญเป็นกุศลใหญ่ยิ่ง

จะ สำเร็จได้ก็ต้องพร้อมด้วยองค์ ๓ คือ
สติระลึกถึงความตายอยู่ ๑
ญาณะ รู้ตัวว่าจะตายเป็นแท้ ๑
ความ สังเวชสลดใจ ๑

พร้อมด้วยองค์ ๓ นี้ จึงสำเร็จ ในการภาวนามรณสติ

ถ้านึกถึงความตาย ความสังเวชไม่เกิดขึ้นแล้ว ก็ไม่เป็นอันเจริญมรณสติกัมมัฏฐานนั้น
เพราะ กัมมัฏฐานนี้เป็นอุบายชำระใจให้บริสุทธิ์ คือ ให้เกิดความสังเวชอย่างเดียวเท่านั้นเอง
ก็ ความสังเวชนั้นเป็นตัวบุญกุศลอย่างเดียวเหตุนั้น


๓. ให้รักษาอุบายที่ใช้เจริญมรณสติของตนได้ผล

เมื่อเจริญมรณสติ คิดถึงความตายด้วย อุบายอันใดอันหนึ่ง ถ้าเกิดความสังเวชขึ้นแล้ว ก็เป็นอันสำเร็จกิจในกัมมัฏฐานอันนี้

ให้ อุตส่าห์เพียรรักษาจิตสังเวชนั้นไว้ อย่าให้เสื่อมเสีย
เพราะ ว่าความสังเวชนั้นเป็นเหตุไม่ประมาท ย่อมให้รีบร้อนทำบุญทำกุศล อันเป็นที่พึ่งของตนโดยเร็วพลัน

เหตุนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสสรรเสริญมรณสตินี้ ว่ามีผลอานิสงส์ใหญ่ยิ่ง นับเข้าในพระนฤพาน เป็นธรรมอันไม่ตายแล้ว ดังนี้

อนึ่ง เมื่อเห็นความตายได้ความสังเวชแล้ว ให้คิดถึงตัวเหมือนคนตาบอดตกจากยอดไม้อันสูง ธรรมดาว่าคนตาบอด ตกจากยอดไม้อันสูง เมื่อพลัดแล้วก็ลิ่ว ๆ ต่ำลงมาหาที่แตกที่ตาย ก็หารู้ว่าตัวจะกระทบกระทั่งอันใดไม่ ก็แต่ความตายนั้น ใกล้ตัวเข้ามาอยู่เสมอเป็นนิตย์ฉันใด ตัวเราก็เหมือนกัน เกิดมาได้ชื่อว่าพลัดตกลงแล้ว วันคืนเดือนปีล่วงไป ๆ ได้ชื่อว่าตัวลิ่ว ๆ ลงมาหาความแตกความตาย ใกล้อยู่เป็นนิตย์ หารู้ตัวไม่ว่าจะแตกจะตาย อยู่ที่ไหน จะตายด้วยโรคอะไร จะตายเมื่อไรก็ไม่รู้ แต่เที่ยงที่จะตายอย่างเดียว เหมือนคนตาบอดที่ตกจากยอดไม้ฉะนั้น

อนึ่ง ให้คิดถึงความตายเหมือนกับนักโทษ ที่เขาจะฆ่าเสีย ธรรมดา ว่านักโทษที่เขาจะฆ่าจะตายด้วยอาการ ๒ อย่าง เมื่อนายเพชฌฆาตจูงไป ถ้าขัดขืนดุร้ายขึ้น เขาก็ตัดศีรษะเสียในที่นั้น ทันใดถ้าไม่ขัดขืน เดินตามเขาไป ก็ใกล้ความตายเข้าทุกก้าว ๆ ครั้นถึงที่ฆ่าเขาก็มัดเข้ากับหลักแน่น ไหวกายไม่ได้แล้ว และลงดาบตัดศีรษะฉันใด ตัวเราก็เหมือนกัน ความเกิดเป็นโทษผิดของเรา จะต้องตายแท้ ด้วยอาการทั้ง ๒ อันใดอันหนึ่ง บางทีก็เป็นโรคปัจจุบันทันด่วนตาย เหมือนกับ นักโทษ ขัดขืน เขาก็ตัดศีรษะเสียในที่นั้นทันใด บางทีก็เจ็บไข้ประกอบด้วยทุกขเวทนาใหญ่ ปวดเจ็บทั่วสรรพางค์กาย จนถึงลุกนั่งไหวกายไม่ได้ ยังอยู่แต่ใจริก ๆ คอยจะดับอยู่ เหมือนกับนักโทษเขามัดเข้ากับหลักแน่น พอสิ้นวิญญาณดับ เหมือนกับนักโทษ เขาลงดาบตัดศีรษะฉะนั้น


๔. ให้พิจารณาความตายของตนทุกวัน โดยเปรียบเทียบกับคนตาบอด

:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 เม.ย. 2011, 12:29 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.พ. 2011, 19:56
โพสต์: 1798


 ข้อมูลส่วนตัว


สาธุ สาธ สาธุ


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 10 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 9 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร