ลานธรรมจักร
http://dhammajak.net/forums/

โอฆะคืออะไร (พระปราโมทย์ ปาโมชฺโช)
http://dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=2&t=41810
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เจ้าของ:  wincha [ 18 เม.ย. 2012, 19:34 ]
หัวข้อกระทู้:  โอฆะคืออะไร (พระปราโมทย์ ปาโมชฺโช)

รูปภาพ

พระปราโมทย์ ปาโมชฺโช

ถาม: เคยได้ยินหลวงพ่อเล่าพระสูตรหนึ่งว่า
มีเทวดาไปถามพระพุทธเจ้าว่าพระองค์ข้ามโอฆะได้อย่างไร
พระพุทธองค์ตอบว่าพระองค์ไม่พัก และพระองค์ไม่เพียร
อยากจะเรียนถามว่า โอฆะคืออะไรคะ

กิเลสที่เราต้องข้ามให้ได้ เค้าเรียกว่าโอฆะ จะเรียกอาสวะก็ได้ มีอยู่ ๔ ตัว
โอฆะแปลว่าห้วงน้ำ หมายถึงกิเลสที่เหมือนเราหล่นลงไปแล้วจมน้ำตายอยู่ในนั้นเลย
พาให้เราจมตายอยู่ในสังสารวัฏ เวียนตายเวียนเกิดซ้ำแล้วซ้ำอีกนั่นเอง
อาสวะเป็นกิเลสที่ยั่วย้อมใจทำให้กิเลสอย่างอื่นเข้ามาครอบงำจิตใจได้

องค์ธรรมของโอฆะหรือองค์ธรรมของอาสวะเป็นอันเดียวกัน
คือมีกาม มีทิฏฐิ มีภพ มีอวิชชา มี ๔ อย่างนี้
มันเหมือนทะเลใหญ่ ๔ ทะเล เราจะต้องข้ามให้ได้ถ้าจะข้ามสังสารวัฏนะ
ข้ามห้วงมหรรณพอันใหญ่ ในทะเลใหญ่นี้มีทะเลย่อยๆ อยู่ ๔ อัน ต้องข้ามให้ได้
แต่ละอันข้ามยากมากเลย

ทะเลอันที่ ๑ ชื่อว่าทิฏฐิ โอฆะอันที่ ๑ ชื่อ ทิฏฐิ
ทิฏฐิคือความเห็นผิด เช่น เราเห็นผิดว่าตัวเรามีอยู่จริงๆ
พอร่างกายนี้ตายไป จิตใจที่ไปเกิดใหม่ ยังเป็นจิตใจคนเก่าอยู่
จิตใจดวงเดิมไปเกิดใหม่ อันนี้เป็นมิจฉาทิฏฐินะ ชื่อสัสสตทิฏฐิ
แท้จริงจิตไม่ได้ไปเกิดใหม่ จิตเกิดขึ้นตรงนี้ก็ดับตรงนี้
เกิดตรงตาก็ดับที่ตา เกิดที่หูก็ดับที่หู เกิดที่ใจก็ดับที่ใจนั่นเอง จิตเกิดดับอยู่อย่างนี้ตลอด
เหมือนเวลาที่เราตาย จิตดวงสุดท้ายในชีวิตนี้เรียกว่าจุติจิตดับลงไปปั๊บ
มันเกิดจิตดวงใหม่ในชีวิตใหม่ เรียกว่า ปฏิสนธิจิต
มันเกิดสืบเนื่องไปเรื่อยๆ มันไม่ใช่จิตดวงเก่า ไม่ใช่ตัวนี้ถอดออกจากร่างนะ
ส่วนใหญ่ชอบคิดว่า วิญญาณเราออกจากร่างไปหาที่เกิดใหม่ อันนั้นเป็นมิจฉาทิฏฐิ
ถ้าเราหัดภาวนาก็จะเห็นว่าจิตเกิดดับตลอดเวลา
ไม่มีหรอกจิตที่อยู่นานๆ ถึงขนาดถอดออกจากร่างไปเกิดใหม่ได้ ไม่มี
มิจฉาทิฏฐิอีกอย่างนึงคือคิดว่าถ้าตายแล้วสูญไปเลย
พวกนี้เชื่อทางวัตถุ คิดว่าตายแล้วสูญไปเลย มองไม่เห็นความสืบต่อของจิต
ถ้าเราจะข้ามมิจฉาทิฏฐิพวกนี้ได้ต้องมาดูที่กายที่ใจของเรา
จนเห็นความจริงของกายของใจนี้ จึงจะข้ามมิจฉาทิฏฐิได้ ข้ามความเห็นผิดได้

มิจฉาทิฏฐิมีเยอะนะ เช่น ไม่เชื่อเรื่องกรรมกับผลของกรรม
ไม่เชื่อเรื่องการกระทำกับผลของการกระทำ ไม่เชื่อเรื่อง action กับ reaction
พวกหนึ่งก็เชื่อว่าสัตว์มีเฉพาะที่เรามองเห็น เทวดา สัตว์นรก เปรต อสุรกาย พวกนี้ไม่มี
เพราะตัวเองไม่เห็นก็ว่ามันไม่มี พวกนี้เป็นมิจฉาทิฏฐิทั้งนั้นเลย
มันไม่เชื่อในปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้านะ มันเป็นพวกมิจฉาทิฏฐิ
ทีนี้เราจะข้ามมิจฉาทิฏฐิได้ยังไง

มิจฉาทิฏฐิเป็นทะเลที่กว้างที่สุด ลักษณะของทะเลมิจฉาทิฏฐิคือทะเลที่กว้างมากเลย ไม่เห็นฝั่ง
คนทั้งหลายที่ตกอยู่ในมิจฉาทิฏฐิจะเวียนว่ายตายเกิดซ้ำแล้วซ้ำอีกอยู่อย่างนั้นเอง
เพราะไม่รู้ว่าฝั่งอยู่ตรงไหน ขึ้นฝั่งไม่ได้
พระพุทธเจ้าท่านถึงสอนบอกว่าเราตถาคตไม่เห็นว่าอะไรจะมีโทษเท่ากับมิจฉาทิฏฐิเลย
มิจฉาทิฏฐิมีโทษมากที่สุด ตัวศาสนาพุทธแท้ๆ นั่นแหละคือตัวสัมมาทิฏฐิ

แล้วเราจะข้ามทะเลที่กว้างนี้นั้น เราไม่มีปัญญาจะข้ามด้วยตนเองเพราะเราไม่ใช่พระพุทธเจ้า
อาศัยพระพุทธเจ้าท่านบอกทางให้ เหมือนท่านอยู่บนบกนะ ท่านตั้งประภาคารขึ้นมา
เราเห็นแสงไฟแล้ว เรารู้ทิศทางแล้วว่าต้องเข้ามาทางนี้นะ ถึงจะเข้าฝั่งได้
ผู้ที่ข้ามทะเลทิฏฐิที่กว้างขวางอันนี้ได้คือพระโสดาบันเท่านั้น
จะเป็นโสดาบันได้จะต้องเห็นความจริงของกายของใจ
ถ้าเห็นความจริงก็จะล้างความเห็นผิดได้ เห็นความจริงของกายของใจ
มันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ มันเป็นอนัตตานะ มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป
มันเป็นสิ่งที่ถ้ามีเหตุมันก็เกิดอีก ถ้าไม่มีเหตุมันก็ไม่เกิดอีก มันจะเห็นอย่างนี้
เพราะฉะนั้นมันจะไม่มีตายแล้วเกิดหรือตายแล้วสูญหรอก
มันมีแต่ว่ามันสืบเนื่องไปเรื่อยๆ ถ้ามันมีเหตุ
ถ้าไม่มีเหตุ คือไม่มีกิเลสแล้ว มันจะไม่สืบเนื่องไป
แต่ก็ไม่ได้แปลว่าสูญนะ อย่าไปแปลว่าสูญนะ
มันมีธรรมชาติอย่างหนึ่งซึ่งมีแต่ไม่มี หรือไม่มีความมี
เป็นธรรมะอีกชนิดนึงซึ่งเรายังไม่รู้จัก มันไม่ใช่สาบสูญไปเลย
เพราะฉะนั้นให้คอยมาดูกายมาดูใจมากๆ
วันนึงละความเห็นผิดได้ ได้โสดาบัน ข้ามทะเลอันที่หนึ่งได้แล้ว คือทะเลของทิฏฐิ

ทะเลตัวที่สองคือทะเลกาม ถ้าบอกว่าทะเลทิฏฐิคือทะเลที่กว้างหาขอบเขตไม่เจอนะ
ทะเลกามนี้มีขอบมีเขต ขอบเขตของกามอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้เอง
อยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่ทะเลกามเป็นทะเลน้ำวนนะ
จิตเราจะวนเที่ยวแสวงหาอารมณ์อยู่ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อยู่ตลอดเวลา
มันหิวตลอด มันหิวอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะหมุนติ้ว ติ้ว ติ้ว อยู่ทั้งวัน
เดี๋ยวก็อยากได้อารมณ์ทางตา เดี๋ยวอยากทางหู เดี๋ยวอยากทางลิ้น ทางจมูก ทางกาย ทางใจ
จะหมุนจี๋ จี๋ จี๋ อยู่ทั้งวันทั้งคืน เป็นทะเลตัณหานั่นเอง ทะเลของกาม หมุนติ้ว ติ้ว ติ้ว ไม่หยุด

คนที่จะข้ามทะเลกามได้หรือทะเลน้ำวนนี้ได้ ต้องเห็นความจริงลงมาในกายนี้ได้
เห็นถ่องแท้เลย ตา หู จมูก ลิ้น กาย รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่เนื่องด้วยตา หู
จมูก ลิ้น กาย ล้วนเป็นของไม่เที่ยง ล้วนเป็นของเป็นทุกข์ ล้วนเป็นของไม่ใช่ตัวเรา
ถ้าเห็นอย่างนี้แจ่มแจ้ง เห็นกายนี้เป็นทุกข์ล้วนๆได้นะ
ปล่อยวางความยึดถือกายได้ก็จะข้ามกามได้

แต่คำว่ากามนี้ ในตำรานะ ตำราชั้นหลังๆ อธิบายมากกว่านี้
กามไม่ใช่แค่กามราคะ ถ้ากามราคะนี่ แค่พระอนาคามีละได้
ถ้าไปถือเอารูปราคะ อรูปราคะเป็นกามด้วย ก็จะมีแต่พระอรหันต์ถึงจะละได้เด็ดขาด
ทีนี้พวกเราเข้าใจยากอย่างนี้ ก็จะพูดแค่กามที่พวกเรารู้จักก็แล้วกัน พระอนาคาก็ละได้แล้ว
เพราะฉะนั้นทะเลน้ำวนนี้ข้ามยากนะ ถูกดูด เห็นมั้ยมันดึงดูดใจเรา กามมันดึงดูดนะ
ใครเคยได้ยินชื่อเจ้าคุณนรฯ บ้างมั้ย เจ้าคุณนรฯ แต่งกลอนไว้อันนึงนะ
แต่งไว้เจ็บๆ แสบๆ นะ เออ..คนสมัยนี้อาจจะว่าไม่ค่อยสุภาพ
ท่านบอกว่า บ่อน้อยเท่ารอยโค รอยโค คือบ่อน้อยเนี่ยเท่าตีนวัวเท่านั้นแหละ เท่ารอยตีนวัว
บ่อน้อยเท่ารอยโค หรือจะโผข้ามพ้น หมายถึงข้ามยาก เป็นมหาเปรียญก็ยังเวียนไปหาก้น
ท่านบอกอย่างนี้ ท่านว่าแสบนะ กามไม่ใช่ของสู้ได้ง่ายนะ
ถ้าใจไม่ถึงจริงๆ สติปัญญาไม่แก่รอบจริงๆ รู้ลงมาไม่เห็นความจริงของกายนี้
มันยังรักกาย ยังหวงแหนกายอยู่ มันจะรักรูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ ไปด้วย
ถ้าเราเห็นกายเรา มีแต่ความทุกข์ล้วนๆ มันจะไม่รักรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
ยกตัวอย่าง อย่างเราชอบอะไรที่นุ่มๆ ใช่มั้ย อย่างหนุ่มๆ นี่ ชอบสาวๆ ตัวนุ่มๆ
ถ้าตัวเราเป็นแผลนะ เป็นแผลเหวอะหวะ ทั้งตัวเลย ใครมาถูกเรา เราก็เจ็บก็แสบ
เราจะไม่อยากสัมผัสทางกายแล้ว
ถ้าสติปัญญาเราแก่รอบจริงๆ เห็นกายนี้เป็นทุกข์ล้วนๆ เลยนะ มันจะไม่เอากาม มันจะไม่เอากาม
เพราะฉะนั้นทะเลน้ำวนมันจะดูดเราไม่ได้ เพราะเรารู้แล้วว่ามันทุกข์นะ มันทุกข์

ทะเลที่สามนะมีชื่อว่าภพ ภวโอฆะ
ภพก็คือ การทำงานของจิต มันก็เนื่องมาจากตัณหานั่นแหละ
จิตของเรามันทำงานทั้งวันทั้งคืน ไม่เคยหยุดพักเลย
ปรุงแต่ง คิดนึกปรุงแต่ง ปรุงดี ปรุงชั่ว ปรุงสุข ปรุงทุกข์ มันปรุงทั้งวันทั้งคืน
ทันทีที่จิตปรุงแต่งอะไรขึ้นมา จิตก็มีความทุกข์ขึ้นมาทุกที
ทะเลภพนี้เป็นทะเลที่ไม่ใช่หมุนวนแล้ว มีลักษณะอีกชนิดหนึ่ง เป็นทะเลที่น้ำเชี่ยว
มันพัดพาเราจากภพหนึ่งไปสู่อีกภพหนึ่งตลอดเวลาเลย
จิตเราจะเปลี่ยนภพตลอดเวลานะ จากภพอันนึงไปสู่ภพอีกอันนึง จากภพหนึ่งไปสู่ภพอีกอันหนึ่ง
เราจะเวียนตายเวียนเกิดไม่มีเงื่อนต้นเงื่อนปลายใดๆ ในสังสารวัฏนี้
แม้กระทั่งในชีวิตเดียวของเราขณะนี้ จิตของเราก็เปลี่ยนภพย่อยๆ อยู่ในใจตลอดเวลา
เดี๋ยวเราก็เป็นคนดี เดี๋ยวเราก็เป็นคนร้าย เดี๋ยวเราเป็นนักปฏิบัติ เดี๋ยวเราเป็นจอมเจ้าเล่ห์แสนกล
เดี๋ยวเราเป็นคนเมตตา เดี๋ยวเราเป็นคนขี้โมโห จิตใจเราเปลี่ยนภพอยู่ตลอดเวลา
เวลาเราโมโหทีนะ เราก็เป็นสัตว์นรกที เพราะมันเป็นโทสะ
เวลาเราโลภขึ้นมาทีนะ เราก็เป็นเปรตทีนึง
เวลาเรายึดถือในความคิดความเห็น เราก็ไปอยู่ในภพของอสุรกายทีนึง
เวลาเราใจลอยไป เผลอไป เหม่อไป เราไปภพของเดรัจฉาน
ถ้าเราเป็นคนมีศีลมีธรรมนะ เราก็ไปภพมนุษย์
ถ้าเราเป็นคนที่มีหิริโอตตัปปะ ละอายบาป กลัวผลของบาป เราก็ไปภพของเทวดา
ถ้าเรามีใจสงบ มีใจตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์อันเดียว เราก็ไปภพของพรหม
จิตใจของเราหมุนเวียนอยู่ตามภพต่างๆ ภพทั้งหมดเป็นทุกข์ทั้งหมดนะ
ไม่มีนะภพที่ไม่ทุกข์ ถึงเป็นพรหมเป็นเทวดาก็มีความทุกข์ ทุกข์แบบเทวดา ทุกข์แบบพรหม
ไม่ว่าภพอะไรก็ลำบากหมดเลย มีแต่ความทุกข์ล้วนๆ เลย
นี่ถ้าสติปัญญาของเราแก่กล้าไม่พอ เราจะมองไม่ออก
การจะข้ามทะเลน้ำเชี่ยวอันนี้ได้ มีทางเดียว ต้องละอวิชชาได้
เพราะฉะนั้นการข้ามภพ กับการละอวิชชานี้จะควบกันไป เป็นเรื่องของพระอรหันต์ที่จะเห็น

ทะเลของอวิชชานี้ไม่เหมือนทะเลของทิฏฐิที่เป็นทะเลกว้างไม่มีขอบมีเขต หาฝั่งไม่เจอ
ไม่เหมือนทะเลกามที่เป็นทะเลน้ำวน ไม่เหมือนทะเลภพที่เป็นทะเลน้ำเชี่ยว
ทะเลของอวิชชาเป็นทะเลน้ำตื้น คลื่นลมสงบ แต่หมอกลง เป็นทะเลหมอกนะ
เพราะฉะนั้นเราว่ายน้ำมาจนถึงริมฝั่งแล้ว ขึ้นฝั่งไม่ได้หรอก
ว่ายไปว่ายมานะมันหลุดออกไปทะเลลึกได้อีกนะ
เพราะฉะนั้นอย่างปุถุชนหลายคนนะ ที่คิดจะสู้อวิชชา ไม่ได้กินหรอก แป๊ปเดียวก็กลับไปมีทิฏฐิอย่างเดิม
อย่างถ้าเราไม่ใช่พระอนาคานะ จะมาริหาญสู้อวิชชา มวยคนละชั้นนะ แป๊ปเดียวก็หลงกามไปอีกแล้ว
หลงในกาม หลงในทิฏฐิอีกแล้ว ถ้าไม่ใช่พระอนาคานะ
ทีนี้เราจะละอวิชชา ทะเลน้ำตื้นหรือทะเลหมอกนี้ได้ต้องมีวิชชา คือรู้แจ้งอริยสัจจ์ก่อน
การรู้แจ้งอริยสัจจ์นี้ทำให้เราขึ้นฝั่งได้ ถ้ายังไม่รู้แจ้งอริยสัจจ์ได้นะ จะขึ้นฝั่งไม่ได้
พระไตรปิฎกสอนไว้ว่า ตราบใดที่ไม่รู้แจ้งอริยสัจจ์ ยังข้ามภพไม่ได้ ยังวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏ
เพราะฉะนั้นการเรียนธรรมะนะ ต้องรู้แจ้งอริยสัจจ์ถึงจะข้ามภพข้ามชาติได้ ข้ามทุกข์ได้
ถ้ารู้แจ้งอริยสัจจ์ซะอย่างเดียว ทิฏฐิก็ไม่มี กามก็ไม่มีนะ ภพก็ไม่มี อวิชชาก็ไม่มี

การรู้แจ้งอริยสัจจ์ตัวที่ ๑ เรียกว่า ทุกขสัจจ์
ทุกขสัจจ์คืออะไร คือกายกับใจนี้เอง
เพราะฉะนั้นหน้าที่ของผู้ปฏิบัติ ตั้งแต่เบื้องต้นเลย จนสุดท้ายมีแต่การรู้กายรู้ใจตนเอง
รู้ลงมาเรื่อยๆ กายของเราเป็นยังไง รู้สึกไว้ จิตใจของเราเป็นยังไง คอยรู้สึกไว้
อย่าลืมกาย อย่าลืมใจ ถ้าลืมกายลืมใจเรียกว่าขาดสติ
แต่ก็ห้ามเพ่งกายเพ่งใจ ให้รู้กายรู้ใจ ไม่ได้ให้เพ่งกายเพ่งใจ
ไม่ได้ให้กำหนดกายกำหนดใจ คนละเรื่องเลยนะ
รุ่นหลังๆ นี้ชอบกำหนดนะ กำหนดเป็นสมถะ กำหนดลงไป จิตจะไปแน่วไปนิ่งอยู่ในอารมณ์อันเดียว
บังคับให้อยู่ในอารมณ์อันเดียว ถ้าบังคับไม่เป็น หรือบังคับแบบฝืนใจ ก็จะหนักๆ ขึ้นมา
แน่นๆ แข็งๆ ทื่อๆ เครียดๆ ขึ้นมา
ถ้าน้อมใจเก่ง จะสงบ จะสบาย จะโปร่ง โล่ง เบานะ จะเป็นสมาธิไปอีกแบบนึง
แต่ส่วนใหญ่ที่พวกเราทำจะเป็นมิจฉาสมาธิแท้ๆ เลย
เป็นสมาธิที่หนักๆ แข็งๆ ตัวก็เกร็งๆ กายก็เกร็งๆ ใจก็เกร็งๆ ใช้ไม่ได้จริงนะ
เราคอยรู้สึกนะ คอยรู้ รู้ลงมาในกาย รู้ลงมาในใจ
ร่างกายของเราเคลื่อนไหวคอยรู้สึก จิตใจของเราเคลื่อนไหวเราคอยรู้สึก
แต่อย่าไปเพ่งให้นิ่ง ไม่ใช่คอยบังคับกายให้นิ่ง
จะเดินก็เดินไม่เหมือนคนธรรมดา คล้ายๆ ผีดิบนะ เดินต้องตัวทื่อๆ อย่างนั้นใช้ไม่ได้นะ
จิตใจก็อย่าไปข่มให้มันซึมกะทือซื่อบื้ออยู่อย่างนั้นทั้งวันทั้งคืน
เราต้องการเห็นความจริงของกายของใจ เพราะฉะนั้นอย่าไปบังคับมัน แต่คอยดูมันไป
แต่ถ้ามันจะเอากายเอาใจไปทำผิดศีลห้าไม่เอานะ ตรงนี้ต้องฝืนใจ
ศีลห้านี้มาตรฐานปราการขั้นสุดท้ายแล้ว มาตรฐานของเราเลย
ถ้าขาดศีลห้าเราไม่ใช่มนุษย์แล้ว ต้องระมัดระวังนะ
ขนาดพระโพธิสัตว์ยังตกนรกได้เลย นับประสาอะไรกับพวกเราจะไม่ตก ยังเชื่อใจตัวเองไม่ได้นะ
อย่าประมาทกิเลสนะ

http://dungtrin.com/mag/?19.pra
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=13066

เจ้าของ:  student [ 19 เม.ย. 2012, 14:36 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: โอฆะคืออะไร (พระปราโมทย์ ปาโมชฺโช)

อนุโมทนาครับ อธิบายได้ความหมายของอาสวะ4 ที่เข้าใจง่ายขึ้นครับ

หน้า 1 จากทั้งหมด 1 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/