วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 00:54  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=2



กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ส.ค. 2012, 09:16 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

พระธรรมเทศนา
ของ
พระครูสุทธิธรรมรังษี
หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท

วัดป่าภูริทัตตปฏิปทาราม
ต.คลองควาย อ.สามโคก จ.ปทุมธานี


แสดง ณ วัดธรรมสถิตย์ อ.เมือง จ.ระยอง
เนื่องในโอกาสงานบำเพ็ญกุศลวันครบรอบการมรณภาพ
ของพระครูญาณวิศิษฏ์ (พระอาจารย์เฟื่อง โชติโก)

(ถอดความจากบันทึกเสียงเทศน์ขององค์ท่าน)


:b45: :b45:

อาตมาไม่ใช่เป็นนักเทศน์นะ
เพราะฉะนั้นการเทศน์ในบางสิ่งบางอย่างมันก็ไม่ค่อยสันทัด
เพราะฉะนั้นเวลาเทศน์ไปบางทีก็ไพเราะ บางทีก็ไม่ไพเราะ
เพราะฉะนั้นก็ต้องให้อภัย เมื่อเราเป็นสานุศิษย์ครูบาอาจารย์เดียวกัน
สิ่งอันใดหนักไปก็ต้องให้อภัยผู้แสดง สิ่งใดไม่เพราะก็ให้อภัยผู้แสดง
แล้วอย่างนั้นก็ไม่มีโทษซึ่งกันและกัน
ไม่รู้จะเทศน์ดีไม่เทศน์ดี มันจะออกมาไหม ฯลฯ (เทปไม่ชัด) นี่โยมฟังเก่ง

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมา สมฺพุทฺธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมา สมฺพุทฺธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมา สมฺพุทฺธสฺส

เอกายโน อยํ มคฺโค


นี่จะแสดงธรรม บรรดาพุทธบริษัทที่เข้ามาอบรม
ในท่านอาจารย์เฟื่องก็ดี (พระอาจารย์เฟื่อง โชติโก),
ครูบาอาจารย์ท่านเจ้าคุณหรือหลวงพ่อลีก็ดี (พระอาจารย์ลี ธมฺมธโร)
อาตมาเองก็ดี ก็ได้เป็นลูกศิษย์ลูกหา เพราะฉะนั้นวันนี้พวกท่านทั้งหลาย
ได้มีโอกาสได้อาราธนาให้อาตมาขึ้นมาแสดงธรรม
ก็เป็นการยกขึ้นมาให้โอกวาทพวกท่าน
เพราะฉะนั้นสิ่งใดที่เป็นประโยชน์แล้วก็ควรเอาไปกำหนดพินิจพิจารณา
สิ่งใดที่ไม่เป็นประโยชน์ก็วางทิ้งอยู่ตามลำดับ อยู่ที่เก่าในวัดนี้เสีย
เพราะฉะนั้นต่อแต่นี้จะได้แสดงธรรม

ธมฺมา เอกายโน อยํมคฺโค

บรรดาเราพุทธบริษัทต่างทุกคนตั้งใจปฏิบัติการทำสมาธิ
การทำสมาธิเขาก็ต้องการให้ใจมั่นอยู่ในอารมณ์อันหนึ่งอันใด เป็นหลักการอันนี้
เป็นสิ่งสำคัญที่สุดของนักปฏิบัติ เช่น ยกตัวอย่างเราต้องการบริกรรม “พุทโธ” ก็ดี
อย่างนี้ก็ต้องว่าตัวนั้นให้กระชับอยู่กับจิตของเรา
เมื่อในขณะที่เราว่าไปอย่างนั้นยังมีอารมณ์เข้ามาแทรกอย่างนี้
แสดงว่าจิตนั้นยังไม่กระชับเข้ามาอยู่กับจิตของเรา เพราะฉะนั้นวิธีแก้ก็ต้องทำยังไง...
นี่ ตัวนี้เป็นเหตุกังขากันมากที่สุด แล้วอีกอย่างหนึ่งมันมีอีกอันหนึ่งเรื่อง “อานาปา”
เป็นที่ข้องใจมากนัก การที่จะทำอานาปา
องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศาสดาเอกของเราได้ศึกษาการปฏิบัติ
ทำมากับอุททกดาบส กับ อาฬารดาบส ได้สำเร็จฌานสมาบัติทุกอย่าง
นี่ฟังให้เข้าใจ ได้ฌานสมาบัติจนถึงอภิญญาฌาน
เนวสัญญานาสัญญา อภิญจยาฌาน มาหมดแล้ว
แต่พวกเราจะทำอานาปา สมาธิน่ะ..ตัวเดียวไม่มีเลย แล้วทำได้ยังไง...
นี่ว่ากันอย่างชัดๆองค์ไหนจะมาคัดค้าน...เชิญเลย...สู้ตาย นะ..เนี่ย...ต้องฟังให้เข้าใจ

การปฏิบัติเจริญอานาปา ต้องการใจตัวนั้นให้สงบเป็นสมาธินะ...ต้องเป็นสมาธิ
ไม่เป็นสมาธิ มาดูลม มันก็คิดออกไป แล้วจะได้สมาธิอย่างไร
อานาปาแบบไหน นั่นสิ ให้ฟังให้เข้าใจ
เพราะฉะนั้นนี่เป็นการเตือนกันในสิ่งที่ดี ไม่ใช่พูดกันด้วยราคะ โทสะ โมหะ
เอาความโกรธเข้ามาพูดกัน เราเป็นลูกศิษย์ครูบาอาจารย์ด้วยกันทั้งหมดนะ
การศึกษา ธัมมสากัจฉาอย่างนี้
เพื่อจะให้เป็นทัศนะเอาไปพินิจพิจารณาให้มันเกิดประโยชน์
สิ่งที่อาตมาพูดไปถึงแม้จะรุนแรงแต่ว่าเราก็ควรพิจารณา
อย่างบางคนภาวนามาตั้ง ๑๐ ปี ๒๐ ปีแล้ว
อานาปา...ใจไม่เคยสงบสักที นะ...เคยผ่านมาแล้ว

บางองค์ที่สอนเขาหรือ นั่งไปด้วยกันนั่นเอง
ไม่ถึง ๕ นาทีสัปหงกงึกๆ อยู่ตลอดเวลา
แล้วเป็นอาจารย์สอนอานาปาได้ยังไงแต่ไม่ต้องเอ่ยชื่อ
จนสมเด็จพระสังฆราชท่านออกปากว่า กรรมฐานทำไมนั่งสัปหงก
นั่น...เห็นองค์ไหนนั่งสัปหงกท่านว่าเอาขนาดนี้ (เทปไม่ชัด)

ถึงว่า ให้พวกเราสังวรในการปฏิบัติธรรมะ
สมาธิเรายังไม่ทันเป็น แล้วจะไปทำอานาปาได้ยังไง
อานาปานั้นก็ดูแค่ความสุขอันหนึ่งเท่านั้น มันไม่ใช่จะเข้าไปถึงมรรคถึงผล
อย่างนั้นมันต้องเล่นมากมายเลย
หลายชั้นหลายเชิง หลายแบบหลายแผน หลายตำรับ

เพราะฉะนั้นอย่างที่อาตมาแสดง เอกายโน อยํมคฺโค อันนี้เป็นต้น
เมื่อใจอันนั้นสงบแล้วเราถึงค่อยมาพินิจพิจารณากายนี้มีอยู่ในสูตร
เมื่อใจของเรานั้นสงบแน่นิ่งอยู่เป็นสมาธิ เราก็ต้องมาพิจารณากายอย่างนี้
เรานึกไปถึงตาขวา ตาซ้าย จมูกขวา จมูกซ้าย ริมฝีปากบน ฝีปากล่าง หูขวา หูซ้าย
แก้มขวา แก้มซ้าย หน้าผากเบื้องซ้าย หน้าผากเบื้องขวา
อย่างนี้ในตำรับตำราท่านแสดงถึงว่า “กายาวิปัสสนา”

แต่ลักษณะที่จะเป็นกายาวิปัสสนานั้นน่ะ ในขณะที่พิจารณาลงไปลึกถึงสิ่งใด
การที่ว่าพิจารณาก็เป็นตัวนึกตัวนั้นเอง ในขณะที่นั้นถ้าว่าเรานั่งไปประมาณครึ่งชั่วโมง
เมื่อเรากำหนดตามส่วนสัดของร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งอย่างนี้
ในขณะนึกไปอย่างนั้นไม่มีอารมณ์อันใดที่จะเข้ามาผ่านเลย เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
นีวรณธรรมทั้ง ๕ ไม่ได้มาสัมผัสเกี่ยวข้องกับอารมณ์ที่ตนได้พิจารณาอย่างนั้น
อย่างนั้นจึงเรียกว่า เป็นการค้นคว้าที่ถูกต้อง ถ้ายังมีอารมณ์เข้ามาปัดเป่า
ความคิดนีวรณธรรมทั้ง ๕ เข้ามาแทรกแทนอยู่แล้วอย่างนั้นไม่เป็นตัวปัญญา
เป็นสัญญาเข้ามาแทรก จิตมันกระสับกระส่าย ไม่เป็นหนึ่ง อย่างนี้

สมาธิอย่างนั้นยังใช้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าเป็นอย่างนั้นเราควรทำยังไง
ถ้าเรายังเห็นว่ามีอารมณ์มากเข้า เมื่อเรากำหนดพินิจพิจารณาลงไปแล้ว
ก็ยังมีนีวรณ์เข้ามาแทรกแซงอยู่ตลอดเวลา เราก็ต้องหวนกลับไปบริกรรม
ให้ใจนั้นมันสงบเข้ามาให้มันแน่นิ่งลง
เมื่อแน่นิ่งลงไปแล้วเราก็ต้องไปใช้กำหนดพิจารณาอย่างเก่า
นึกตา หู จมูก ลิ้น ร่างกาย ส่วนอวัยวะ ๓๒ ประการนี้
มานึกดูอย่างนั้นแล้วมันยังมีอารมณ์เข้ามาแทรกอยู่บ่อยๆ ก็ใช้บริกรรม

วิธีทำมันไม่ใช่ว่าพูดเอาได้ง่ายๆ นะ ทำนี่แทบเป็นแทบตาย
เพราะฉะนั้นต้องสังเกตสังกาให้ดี สักแต่เขาทำภาวนา ภาวนา ๓ ปี ๑๐ ปียังไม่รู้เรื่อง
บางที ๒๐ ปียังไม่รู้เรื่องเลยก็แย่ นี่การปฏิบัติ แต่อย่างนั้นมันก็ยังไม่ขาดทุน เรายังมีกำไร
ถึงยังไม่ได้สมาธิดีก็ยังมีกำไรในการปฏิบัติ

แต่เราต้องคิดถึงว่า เราสละบ้านช่อง เคหสถาน
สละครอบครัวมาอย่างนี้เพื่อบำเพ็ญอย่างไร
...แน่ะ ก็ต้องคิดถึงตัวนั้น แล้วโลกอันนี้มีอันใดที่เป็นสาระแก่นสาร
สาระแก่นสานสำคัญแก่ชีวิต คือ อะไร...คือ ความตาย ความเจ็บ
นั่นเป็นตัวพยานสำคัญที่ว่าเราต้องละจากโลกนี้ไป
ไม่มีใครที่ว่าจะอยู่ค้ำฟ้า อยู่ไปได้นานๆ เลย ร้อยปีขึ้นไปก็หมดทุกคน
เพราะฉะนั้นจึงว่า การปฏิบัติก็ต้องให้มันเข้มแข็ง
ส่วนร่างกายไม่เข้มแข็งแต่หัวใจเข้มแข็งนั่นมันก็ใช้ได้

การบริกรรมก็ต้องบริกรรมพุทโธๆ อยู่อย่างนั้น
ต่อเนื่องจนไม่มีนิวรณ์เข้ามาแทรกแซงอย่างนั้นสักประมาณครึ่งชั่วโมงอย่าเพิ่งไปหยุด
เมื่อเป็นอย่างนั้นแล้วจิตของเราไม่มีนิวรณ์เข้ามามันก็จะเริ่มสงบขึ้น
เมื่อเป็นอย่างนั้นเราก็จะต้องถอนมาพิจารณากายอีกบ้าง เป็นหลักสำคัญ
แสดงถึง เอกายโน อยํ มคฺโค เป็นหนทางอันเอกไปสู่อริยมรรค
เมื่อใจมันดับนั้น เข้าไปพิจารณาดูส่วนต่างๆ ของร่างกายอย่างนั้น
จนเป็นเวลาสักครึ่งชั่วโมง นิวรณ์ก็ไม่เข้ามาแทรกเลย ตามลำดับเข้าไปอีกครึ่งชั่วโมง
เป็นหนึ่งชั่วโมง นิวรณ์ความคิดทั้งหลายไม่เข้ามาเลย
มีแต่ใจอันหนึ่งระลึกอยู่เฉพาะร่างกายอย่างนี้
นั่น...ท่านเรียกว่า เป็น “สมาธิประกอบด้วยปัญญา”
เรียกว่า “สมฺมาวายาโม” เพียรชอบ “สมฺมาสติ” การระลึกถึงอวัยวะต่างๆ นั้น
สมฺมาวายาโม สมฺมาสติ สมฺมาสมาธิ ความชอบปกคลุมอยู่ไม่มีอารมณ์เข้ามาแทรก
เรียกว่า เป็น สมฺมาวายาโม เพียรชอบ ไม่มีอารมณ์ส่ายเข้ามา
นิวรณ์ ๕ ไม่เข้ามาเกี่ยวข้องกับใจที่กำลังระลึกพิจารณาอยู่เดี๋ยวนั้น

แต่ฟังอย่างนี้เป็นสิ่งที่ฟังยากนะ...ฟังไม่ค่อยเข้าใจ เพราะอะไร
โบราณเขาเปรียบว่า เหมือนสีซอให้ควายฟัง ควายมันไม่รู้ภาษา
คนที่ไม่เคยภาวนาให้จิตสงบอย่างนี้ก็ฟังยาก มันเป็นสิ่งที่ยากการภาวนา

เพราะฉะนั้นการภาวนานี่ก็ต้องสังเกตให้ดี เราบริกรรมพุทโธลงไปอยู่อย่างนั้น
ให้มันนานอยู่อย่างนั้น ให้มันเหนื่อย จนอ่อนเพลีย จนใจละเหี่ย
ก็เอาอยู่อย่างนั้น อย่าไปหยุด นี่...อันนี้เป็นหลักการสำคัญที่สุด
บางคนบอกว่าไม่ชอบ ไม่ชอบมันก็เอาทิฏฐิ กิเลสตัณหามาดื้อรั้น
เมื่อไปเชื่อกิเลส ความสงบมันก็ไม่เกิดขึ้นกับเรา


ตรงนี้เป็นหลักการสำคัญที่สุด สิ่งอันใด อันใดก็ได้ทุกอย่างที่ทำใจให้สงบตรงนั้น
ว่า “ตายๆ” ก็ได้ หรือ “สิ่งไม่เที่ยง” ก็ได้
อันใดอันหนึ่งมาประจำให้แนบแน่นคิดอยู่กับใจอย่างนั้นแล้ว
ไม่ให้มีอารมณ์ส่ายเข้ามาได้เป็นใช้ได้ทุกอย่าง แล้วว่ามากเข้ามันก็จะเกิดความสงบ
เนี่ยตัวนี้เป็นตัวสำคัญ เพราะฉะนั้นให้ญาติโยมพากันเข้าใจให้ดี
เพราะการภาวนาบางทีเสียเวลาตั้งหลายๆ ปีอย่างนี้มันก็เสียเวลาไป
ทำแล้วก็ต้องทำให้จริง ให้เห็น ความจริงเกิด

พระพุทธศาสนาเป็นสิ่งที่มีค่า ราคา หาประมาณที่สุดในชีวิตไม่ได้สมดั่งที่ว่า
ถ้าว่าใจรวมลงไป น้ำตาไหล เกิดความปีติก็แล้วจะมารู้สึกคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ว่ามีประโยชน์แก่กับชีวิตมนุษย์เท่าไรนะ...ต้องในขณะที่จิตเรารวมลงไปเต็มที่
น้ำหูน้ำตาไหล เห็นความเกิดแก่เจ็บตายนี้เป็นสิ่งที่แน่นอน
ไม่มีมนุษย์คนใดที่จะมาขัดขืนความเกิดแก่เจ็บตายตัวนี้ได้
นั่นขณะนั้นน้ำตามันจะไหลพรากลงมาโดยที่เราไม่รู้ประมาณเรียกว่า “ปีติ”
คนที่ใจแข็งขนาดไหน เมื่อเป็นขนาดนั้นแล้ว น้ำหูน้ำตามันจะไหลออกมาเลย

เนี่ยเพราะฉะนั้น การภาวนาก็ต้องให้ได้จังหวะจะโคน
เพราะฉะนั้นบางคนก็ดื้อรั้นไปก็ว่าก็ต้องว่ากันหน่อย
มาว่าการภาวนานี้มันของต่ำ...แน่ะ !
ปีนต้นไม้จะเก็บลูกไม้มันก็ต้องขึ้นจากโคนนะ...ไม่ใช่โดดขึ้นไปเลยถึงยอดนู่น
มันต้องไต่ขึ้นไป ค่อยๆ ไต่ขึ้นไปทีละกิ่งสองกิ่ง ลูกอยู่ไกลก็ต้องเหนี่ยวเข้ามา
แน่ะ...มันก็ต้องเป็นแบบนั้น เหมือนใจก็เหมือนกัน
มันไม่ค่อยสงบ มันคิดวุ่นคิดวาย
...อ้าว...ทำไมเอ็งจะมาวุ่นมาวาย ข้าจะมาพุทโธ
ก็ว่าอยู่อย่างนั้น อย่าให้มันมาไอ้ความวุ่นวายน่ะ

เมื่อเราว่าพุทโธต่อเนื่องติดต่ออย่างนั้นไอ้ความวุ่นวายก็ไม่ค่อยเข้ามา
เมื่อความวุ่นวายไม่เข้ามาใจมันก็เริ่มเป็นสมาธิ ก็ว่า พุทโธๆ อย่างต่อเนื่อง
เอาเข้า อย่าไปถอย ว่าให้นานๆจนจะเป็นชั่วโมงยิ่งดี
เพราะเดี๋ยวใจนั้นจะต่อเนื่องตลอดตั้งชั่วโมงก็ว่า
นั่นเขาเรียกว่า เป็น “เอกะ” เป็นหนึ่ง นั่นก็เป็นสมาธิ ไม่ใช่ไม่เป็นสมาธิ
แต่ยังไม่เป็น “อุเบกขาสมาธิ” นี่เป็นเอกะ หรือเป็นหนึ่ง
เป็นหนึ่งอยู่กับอารมณ์ที่เรานึก
เพราะฉะนั้นการภาวนาเนี่ยต้องสังเกตตัวนี้เป็นหลักการสำคัญ
ถ้าเราไม่สังเกตตัวนี้แล้ว สักภาวนาก็ภาวนาไปอย่างนั้น
สามปีห้าปีหกปีไม่รู้เรื่องรู้ราว...เสียเวลา

หลวงตาเทศน์เปรียบเป็นพระก็เหมือนอย่างเป็นพี่เป็นน้อง
เป็นพี่ใหญ่ หรือเป็นพี่รอง จึงได้เตือนพวกเรา
เพราะความรักความสามัคคี เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจึงได้มาตักเตือน
ว่ากล่าว สั่งสอน เพื่อให้ตั้งใจประพฤติ ปฏิบัติ

นี่เพราะฉะนั้น เมื่อการปฏิบัติพิจารณากายลงไปอย่างนี้
เรานึกถึงกาย ประมาณครึ่งชั่วโมง นึกถึงเล็บ นิ้วหัว นิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง นิ้วก้อย
ข้อมือนิ้วหัวมีกี่ข้อ ข้อนิ้วกลางมีกี่ข้อ
นิ้วชี้มีกี่ข้อ นิ้วกลางมีกี่ข้อ นิ้วนางมีกี่ข้อ นิ้วก้อยมีกี่ข้อ
เสร็จแล้วมาไล่ตามนิ้วมือมีห้านิ้ว แล้วก็ไล่มาถึงแขนขวาเสร็จแล้วก็ไปแขนซ้าย
นึกตั้งแต่เล็บนิ้วหัว นิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง นิ้วก้อย
แล้วก็ไล่ไป เอาจิตของเราผูกเข้าไปอย่างนั้น
เมื่อเป็นอย่างนั้นในขณะที่นึก ไม่มีอารมณ์เข้ามาแทรกเลย
นั่น...อย่างนั้นจึงเรียกว่า เป็น “เอกายโน” เป็นหนทางอันเอก
เพราะไม่มีนิวรณ์เข้ามาแทรก
ไม่มีอารมณ์คิดเข้ามาแยกแยะเข้ามาปัดเป่าใจให้ไปกำหนดไปนึกถึงข้อต่างๆ
นี่อย่างนี้จึงเรียกว่า เป็น “สมาธิประกอบด้วยปัญญา”

คำที่ว่า “ประกอบด้วยปัญญา” นั้น หมายถึงว่า
ในขณะที่เรานึกไปถึงส่วนใด
เป็นเวลาสักครึ่งชั่วโมงอย่างนี้ นิวรณ์ทั้งหลายก็ไม่เข้ามา
ความคิดทั้งหลายก็ไม่เข้ามา นิวรณ์กับความคิดนึก คือ ตัวเดียวกัน

ชั่วโมงหนึ่งมันก็ยังไม่มา นี่อย่างนี้เป็นสิ่งที่ดีมาก สองชั่วโมงก็ไม่เข้ามา...นี่ยิ่งดีใหญ่
สามชั่วโมงก็ไม่เข้ามายิ่งประเสริฐเลย นั่น..การภาวนาก็ต้องเป็นอย่างนั้น
เวลาจะเอาเห็นดำเห็นแดงถึงที่สุด นักปฏิบัติก็ต้องเป็นแบบนั้น
สามชั่วโมงไม่ต้องคิด ไม่ต้องนั่น...นั่นอยู่กันอย่างนั้นเลย

นี่การปฏิบัติจึงต้องอาศัยการพินิจพิเคราะห์ การได้ยิน ได้สดับตรับฟัง
แล้วก็ต้องเอาไปตรึกตรองพินิจพิจารณาว่า
เออ...แล้วเราไปลองทำดูว่ามันเป็นอย่างไร
แล้วที่เราทำมามันเป็นอย่างไรมันต่างกันอย่างไร
สิ่งใดที่ได้ผล สิ่งใดที่ไม่ได้ผล สิ่งใดที่ไม่ได้ผล
...เราก็ต้องละเว้น เราก็ต้องมาเปลี่ยนวิธีใหม่

การได้เรียนกับครูบาอาจารย์ใหญ่ เรียกว่า หลวงปู่ครูบาอาจารย์มั่นน่ะ
ไม่ให้นั่งไม่เคยสอนอานาปาสักที หลวงตาไปอยู่มาสามปีนะ
...เนี่ยว่าแป๊บๆ ก็โจมตีแต่พวกอานาปา ก็มันนั่งแต่สัปหงก ไม่โจมตียังไง
ก็กี่ที เจอกันทีไหนทีนั้น ก็เห็นว่าองค์สอนนะนั่งสัปหงกตลอดเวลานะ
...แล้วจะไม่ให้ว่ายังไง นี่เตือนก็เตือนในสิ่งที่ดีนะ ไม่ใช่โกรธแค้น
โกรธแค้นก็ต้อง (คำไม่ชัด) นี่ก็ว่า ว่ากันอย่างชัดๆ
เราเป็นลูกศิษย์ครูบาอาจารย์เดียวกัน
เราก็ปรารถนาให้หมู่คณะเป็นผู้ที่เจริญด้วยการภาวนา ทำสมาธิ
ใครเป็นผู้รู้ มีความฉลาดหลักแหลมกันต้องเสี้ยมสอนซึ่งกันและกันให้มันเกิดขึ้นมา
และหมู่นั้นคณะนั้นก็จะเกิดความเจริญรุ่งเรือง
นี่ตั้งแต่หลวงพ่อร่วงโรยลงมาแล้ว วัดอโศฯก็แย่ๆลง
เพราะฉะนั้นจึงให้พากันตั้งใจ ไม่ต้องไปเอาอะไรมาก
“พุทโธ” อันเดียวก็พอแล้ว หลวงปู่ท่านสอนนะ


เหมือนบางคนเรียนสูงไปน่ะ ก็บอกว่า โอ๊ย...มันต่ำ อือหึ...
ปีนต้นไม้ ปีนบนยอดก็ตกคอหักตาย
เพราะฉะนั้นการภาวนานี่ก็ต้องมีผ่อนหนักผ่อนเบา เวลาที่เราสู้ก็ต้องสู้
ถ้าขณะไหนที่ใจมันสงบเป็นสมาธิแรง เราก็อย่าไปอยู่ใกล้สมาธิ ก็ต้องใช้ปัญญา
คำว่า ปัญญา ก็หมายถึงความคิดนึกปรุงแต่งไปในส่วนอวัยวะของร่างกายนี้
เป็นหลักสำคัญที่สุด จึงแสดงว่า เอกายโน อยํมคฺโค
เนี่ย..ทางอันเอกที่จะไปสู่อริยมรรค
ตัวนี้ล่ะ ตัวพิจารณากายตัวนี้ล่ะ นึกถึงกายต่างๆ มันอยู่เป็นหนึ่งอย่างนั้น


เมื่อยิ่งกำหนดพิจารณาเท่าไรนึกเท่าไร
ใจนั้นไม่มีอารมณ์เข้ามาเกี่ยวเกาะ ไม่มาแผ้วพานเลย
เป็นหนึ่งอยู่ในความคิดตัวนั้น ตั้งเป็นเวลาครึ่งชั่วโมงก็อยู่อย่างนั้น
สี่สิบนาทีก็อยู่อย่างนั้น ห้าสิบนาทีก็อยู่อย่างนั้น นั่น...อย่างนั้นเป็นหนึ่ง
ชั่วโมงหนึ่งก็ต้องเป็นอย่างนั้น ชั่วโมงครึ่งก็ต้องเป็นอยู่อย่างนั้น
สองชั่วโมงก็ต้องเป็นอยู่อย่างนั้น นั่น...เป็นหนึ่ง สามชั่วโมงก็ต้องเป็นอยู่อย่างนั้น
ไม่มีความคิดเข้ามาเลย นี่อย่างนี้จึงเรียกว่า เป็นเอก

เพราะฉะนั้นการภาวนาให้เป็นลำดับขึ้นไปอย่างนั้น
ถ้าไม่เป็นอย่างนั้นสมาธิยังใช้การไม่ได้
นี่เพราะฉะนั้นจึงว่า การปฏิบัติเรามาพิจารณาถึงชีวิ่ตของมนุษย์
บางคนมีครอบมีครัวก็เลี้ยงลูกเลี้ยงเต้า จนแทบเป็นแทบตายแล้ว
บางทีก็ว่าไม่ได้ สั่งสอนไม่ได้อย่างนี้
จนกระทั่งข้าวของทุกสิ่งทุกอย่าง
ต้องการปรารถนาจะให้ลูกของเราแต่เราก็ไม่สมความปรารถนา
เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้า สมัยพระพุทธเจ้าอยู่
บางคนก็เกิดเบื่อหน่ายก็เข้ามาหาและก็มาประพฤติปฏิบัติ
แสดงธรรมให้ฟังก็ได้สำเร็จเยอะแยะ
นี่เพราะฉะนั้นในแบบแผนตำรับตำรานั้นน่ะ ที่แสดงไว้ พูดไว้น่ะ
ก็ต้องการให้คนรุ่นหลัง สุดท้ายภายหลัง ให้เป็นแบบแผน ตำรับตำราวางไว้
เพื่อจะให้เอาเป็นคตินิสัย จะได้ประพฤติปฏิบัติตาม ได้หนีจากโลก
เพราะโลกเราครองมาอยู่สามสิบสี่สิบปีแล้วก็มันได้อะไรขึ้นมา?
มีลูกมีเต้า มีหลาน วุ่นวายกันอยู่ทั้งวันทั้งคืน
เดี๋ยวขี้ เดี๋ยวเยี่ยวอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา ก็ไม่มีอะไรได้

เพราะฉะนั้นเอาสิ่งเหล่านี้มาน้อมพิจารณาก็จะได้เป็นประโยชน์
ให้มันเกิดความเบื่อ ใจนั้นเมื่อได้ถูกซักฟอกลงไปมากๆเข้าแล้ว
สิ่งที่เป็นดำมันก็ต้องกลายเป็นขาว ใจนั้นก็ยิ่งมีความคิดมีสมาธิแรงกล้า
นิวรณ์ทั้งหลายก็ไม่เข้ามาแทรก นั่นยิ่งคิดเท่าไรยิ่งปลอดโปร่ง
นิวรณ์ยิ่งไม่เข้ามาแทรกอย่างนั้น

นั่น...เอาลงไปอย่างนั้น ครูบาอาจารย์ท่านถึงว่า
เอ้า ค้นลงไปให้มากๆ อย่าไปหยุดนะ
หลวงตาได้ไปอยู่ท่านมา ถึงได้เอาอะไรที่เคยสัมผัสมาเล่าให้พวกญาติโยมฟัง
เพราะฉะนั้นการปฏิบัติจึงเป็นสิ่งสำคัญ เราครองโลกครองสงสาร
เลี้ยงลูกเลี้ยงเต้ามาตั้ง ๑๐ คน ๓ คน ๔ คน ๕ คน ทำไมเราทำได้
แล้วเราจะสร้างความดีให้ตัวเรา...เราสร้างไม่ได้รึ?
มันก็ต้องคิดแก่ใจอย่างนั้น


แล้วก็ต้องมีมานะ นั่งมันเจ็บก็ใครเจ็บ ขามันเจ็บน่ะมันบอกไหมว่าเจ็บหรือใครว่าเจ็บ
ไอ้ตัวเจ็บมันอยู่ที่ไหน อา...มันปวดหลัง ปวดเอว ใครมันเจ็บ นั่น เอาอย่างนั้น
“มึงเจ็บ กูไม่เจ็บ” ไอ้ใจที่ว่านั่นมันไม่เจ็บนี่ แล้วใครเจ็บล่ะ ขามันเจ็บเรอะ
นี่มันก็ต้องเอาอย่างนั้น นี่...สู้ สู้อย่างนั้นแล้วใจมันก็มีพละกำลัง
เกิดความสงบ เป็นสมาธิ เมื่อเป็นสมาธิแนบแน่นก็ต้องค้นคว้าพิจารณา ไหนตัวเรา
ตา หู จมูก ลิ้น ร่างกาย อวัยวะทุกส่วน ธาตุทั้ง ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ
ไหนตัวเรา อะไรเป็นตัวเรา ไหนตัวเรา...ผมรึ?
ขน เล็บ ฟัน หนัง ตัวเราอยู่ที่ไหน ถามเข้าไปให้ละเอียดลออ
แล้วตัวที่มันว่าผม ขน เล็บ ฟัน หนัง มันคือใคร ตัวนั้นมันเป็นอะไร
นั่น...เน้นเข้าไปลึกๆ มันมาจากไหนไอ้ตัวนั้น
ตัวนั้นพระพุทธเจ้าทรงแสดงว่า สังขารทั้งหลายเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง (คำไม่ชัด)
แต่ตัวที่เป็นวิสังขารคือตัวอะไร นั่น เน้นเข้าไปอีก ค้นเข้าไป
ค้นไปแล้วจะไปดูความนิ่งของใจที่มันอยู่เป็นนิ่ง เป็นเอกเทศตัวนั้น
โดยไม่มีกิริยาไป กิริยานึกอะไรทั้งหมด
แต่สิ่งใดจะนึกขึ้นตัวนั้นเป็นตัวยืน รู้อยู่ตลอดเวลา จะนึกไปอดีต อนาคต ปัจจุบัน
ตัวรู้อยู่ตัวสุดท้ายนั้นเหมือนเงา คนเราจะเป็นเงาออกไปก็ต้องอาศัยคนที่ยืนอยู่
แต่เราอย่าไปตะครุบเงา เงาตัวนั้นเป็นตัวสังขาร ไม่ใช่ตัวจิต
ตัวที่ไม่ใช่เงา ตัวที่รู้อยู่นั่น คือ ตัวจิตที่แท้ ที่เรียกว่า เป็นอมตะ ตัวแท้ ตัวที่จิตไม่ตาย

เนี่ยเพราะฉะนั้นต้องค้นต้องพิจารณาลงไปให้แยะๆ อย่าไปกลัวการเหนื่อย

เวลานั่งภาวนาเมื่อเป็นสมาธิแล้ว การค้นคว้ายิ่งสนุกสนาน ร่าเริง
เนี่ยเพราะฉะนั้นจึงว่าให้พากันตั้งอกตั้งใจภาวนา พวกญาติโยมสละมาอยู่วัดอยู่วา
หมู่นี้หลวงตาไม่ค่อยได้ไปวัดอโศฯ
ย้ายสำนักไปอยู่ที่ปทุมฯ (วัดป่าภูริทัตตปฏิปทาราม จ.ปทุมธานี)
แล้วก็ไม่ค่อยได้สัมผัสกัน แต่ก่อนๆ มาวัดอโศฯ บ่อยๆ
ตอนยังไม่ได้ตั้งวัดที่ปทุมฯ มีโยมภาวนาดีหลายคน
เพราะฉะนั้นการเทศน์มันก็ออกดี ถ้าว่าไม่มีคนภาวนาดีล่ะเทศน์ไม่ค่อยออก
หลวงตานี่เป็นไงไม่รู้มันไม่ดี หัวใจไม่ดี ไม่ต้องนึกมันก็ออกมา

เนี่ยเพราะฉะนั้นวันนี้ก็เป็นงานของท่านอาจารย์เฟื่องที่มรณะมาครบกำหนด
เพราะฉะนั้นพวกเราก็ได้มาประชุมกัน หลวงตาก็เป็นเพื่อนสหธรรมิกกันมา
ก็ได้ไปอยู่กับครูบาอาจารย์มา กับอยู่หลวงพ่อลีมา
ได้เป็นสหธรรมิกกันมาอยู่ตลอดจนกระทั่งท่านมาจากไป
เพราะฉะนั้นพวกเราทุกคนที่ได้มาบำเพ็ญกุศลวันนี้
จะได้เจริญเมตตาภาวนาแล้วก็ได้ฟังธรรมเทศนาอย่างหลวงตาแสดงไป
ก็เพราะมั่ง ไม่เพราะมั่ง ดุมั่ง ขู่มั่ง กระโชกกระชากมั่ง

เพราฉะนั้นเมื่อได้ฟังเทศน์วันนี้แล้ว
จงโอปนายิโก...น้อมไปพินิจพิจารณาเมื่อทำใจให้สงบแล้วพวกเราทั้งหลาย
จงกำหนดอนุโมทนาในขณะจิตที่สงบนี้ อุทิศส่วนกุศลตัวนี้ไปถวายอาจารย์เฟื่อง
ให้ท่านประสบความสุขความเจริญงอกงามในศาสนธรรมคำสั่งสอน
ดังได้แสดงมา ก็สมควรแก่กาลเวลา เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้


:b45: :b45:

(หลังจากนี้เป็นการสนทนาตามอัธยาศัย
ผู้ถอดความจึงขอจบการถอดความพระธรรมเทศนาเพียงเท่านี้)


:b44: ประวัติและปฏิปทา “หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=38764

:b44: รวมคำสอน “หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=38692

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 ก.ค. 2015, 06:23 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 พ.ค. 2009, 05:25
โพสต์: 621


 ข้อมูลส่วนตัว


Kiss


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ส.ค. 2015, 14:05 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 5
สมาชิก ระดับ 5
ลงทะเบียนเมื่อ: 10 พ.ย. 2008, 09:20
โพสต์: 349


 ข้อมูลส่วนตัว


สาธุค่ะ :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ส.ค. 2019, 14:22 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b39: :b44: ขออนุโมทนา สาธุๆๆ ค่ะ
:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 7 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร