ลานธรรมจักร
http://dhammajak.net/forums/

ถ้ายังไม่มีสมาธิที่แน่วแน่และชำนาญ ควรเจริญสติก่อน
http://dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=2&t=48118
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เจ้าของ:  น้องพลอย [ 09 ก.ค. 2014, 10:08 ]
หัวข้อกระทู้:  ถ้ายังไม่มีสมาธิที่แน่วแน่และชำนาญ ควรเจริญสติก่อน

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

รูปภาพ

ถ้ายังไม่มีสมาธิที่แน่วแน่และชำนาญ ควรเจริญสติก่อน

คำถาม :

การที่จิตมันพิจารณาคิดอยู่ตลอดเวลานี้มันเป็นการฟุ้งซ่านหรือเปล่าครับ
แล้วทำยังไงที่จะทำให้จิตมันดับได้


พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต :

หมายถึงต้องการหยุดพิจารณาหรือ

----------------------------------

คำถาม :

มันต้องใช้สมถะมาเป็นกำลังหรือเปล่าครับ

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต :

ใช่ ต้องใช้อารมณ์ดึงใจให้หยุดคิดก่อน เช่น ให้ระลึกถึงพุทโธๆ ไป แทนที่จะคิดพิจารณา เพราะว่าบางทีการพิจารณาของเรามันไม่อยู่วงของธรรมะ มันก็จะทำให้ใจฟุ้งซ่านได้ ตอนนั้นก็ต้องหยุดคิด พิจารณาแล้วก็บังคับให้บริกรรมพุทโธๆ ไป หรือจะใช้บทสวดมนต์ก็ได้ ท่องบทสวดมนต์ไปเรื่อยๆ จนในที่สุดหยุดคิดได้

การปฏิบัตินี้ถ้าไม่มีสมาธิแล้วพิจารณานี้มันก็จะฟุ้งซ่านได้ หรือแม้แต่มีสมาธิ ถ้าพิจารณาเลยเถิดก็ฟุ้งซ่านได้เหมือนกัน เวลาสมาธิหมดกำลังแล้วมันก็จะพิจารณาแบบฟุ้งซ่าน ไม่ได้เป็นเหตุเป็นผล ถ้าพิจารณาเป็นเหตุเป็นผลแล้วมันจะสงบ เช่น ถ้าเราพิจารณาเห็นอะไรแล้วเราปล่อยวางได้ มันจะสงบ


----------------------------------

คำถาม :

อย่างนี้ใช่ไหมครับที่จะเกิดปัญญา

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต :

ใช่ ถ้ามันเห็นไตรลักษณ์แล้วเราปล่อยว่างได้ ใจของเราก็จะสงบ เช่น เราพิจารณาร่างกายจนเห็นว่าร่างกายนี้ไม่เที่ยง ต้องเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นธรรมดา เป็นดินน้ำลมไฟ ไม่ใช่ตัวเราของเรา เราไปห้ามเขาไม่ให้แก่ ไม่ให้เจ็บ ไม่ให้ตายไม่ได้ พอเราเห็นอย่างนี้แล้วเราก็หยุด หยุดที่จะไปอยากให้ร่างกายไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ใจของเราก็จะสงบตัวลงทันที การพิจารณาถ้าเป็นปัญญาแล้วมันจะสงบ ถ้ามันไม่เป็นปัญญาแล้วมันจะฟุ้งซ่าน

ดังนั้น ถ้าพิจารณาไปแล้วรู้สึกว่ามันไม่สงบ มันไม่ได้ข้อสรุป มันปลงไม่ได้วางไม่ได้ มันปล่อยไม่ได้ มันตัดไม่ได้ อย่างนี้เราก็ควรที่จะหยุดพิจารณาก่อน แสดงว่าสติและสมาธิของเราไม่มีกำลังมากพอ ตอนนั้นเราก็ควรจะกลับไปทำสมาธิใหม่ กลับไปบริกรรมพุทโธๆ ไปนั่งหลับตาไปจนกว่าจิตจะรวมเข้าสู่ความสงบ แล้วหยุดคิด ตอนนั้นก็เวลาที่หยุดแล้วก็ปล่อยให้เขาพักอยู่ในสมาธิให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ ตอนนั้นเป็นเหมือนกับการรับประทานอาหาร เป็นการพักผ่อน เติมพลังให้แก่ใจ พอออกจากสมาธิมาแล้ว

ถ้าเรามาพิจารณาไตรลักษณ์อีก เราก็จะสามารถเห็นได้ และก็จะปล่อยวางสิ่งที่เราหลงยึดติดได้ ถ้าปล่อยได้แล้วใจก็จะเย็นจะสงบจะไม่ฟุ้ง เราสามารถที่จะพิจารณาเรื่องอื่นต่อไปได้ จนกว่าเราจะรู้สึกว่ามันพิจารณาแล้วไม่ได้เหตุไม่ได้ผล ไม่ได้ความสงบ ปล่อยไม่ได้ ตัดไม่ได้ เราก็ต้องหยุดพิจารณาแล้วก็กลับมาเข้าสมาธิใหม่ ต้องทำสมาธิกับปัญญาสลับกันไป ไม่ใช่ทำแต่สมาธิอย่างเดียว แล้วพอเข้าขั้นปัญญาก็ทำแต่ปัญญาอย่างเดียว พอได้สมาธิแล้ว พอออกจากสมาธิก็ให้ใช้ปัญญาพิจารณาไป พอพิจารณาจนรู้สึกว่าเริ่มฟุ้งซ่านแล้ว ก็หยุดพิจารณาแล้วก็กลับมาพักในสมาธิใหม่ พอออกจากสมาธิก็ออกไปพิจารณาใหม่


ท่านเปรียบเทียบว่าเหมือนกับคนตัดไม้ เวลาตัดไปสักระยะหนึ่งแล้วแรงก็จะหมด มีดก็จะทื่อ ไม้ที่ตัดไม้ที่ฟันนี้ฟันเท่าไรก็ไม่ขาด ท่านบอกว่าตอนนั้นก็ควรที่จะหยุด หยุดการทำงานแล้วก็กลับไปพักผ่อนหลับนอน รับประทานอาหาร พอออกมาจากการพักผ่อนหลับนอน รับประทานอาหารแล้ว ก็จะมีกำลังแล้วก็ลับมีดให้คม พอมาฟันไม้ ไม้ท่อนเดิมนั้นฟันเพียง ๒-๓ ครั้งไม้ก็จะขาดได้ เพราะมีดก็คม คนที่ฟันก็มีกำลัง ฉันใด

การทำงานก็คือการพิจารณาทางปัญญา ถ้าพิจารณาไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่หยุดพักผ่อนบ้างเลย มันก็จะเกิดการฟุ้งซ่านได้ คือพิจารณาแล้วไม่ได้เหตุไม่ได้ผล ไม่สามารถตัดกิเลส ตัดอุปทานความยึดมั่นถือมั่นได้ ตอนนั้นเราก็ต้องหยุดพิจารณาแล้วกลับมาพักในสมาธิก่อน พักจนกระทั่งจิตอิ่มมีความสุขมีความสบายแล้วก็ถอนออกมาเอง พอถอนออกมาเองแล้วเราก็กลับไปพิจารณาเรื่องเดิมนั่นแหละ แล้วไม่นานเราก็จะสามารถปล่อยวางอุปทาน ตัดกิเลสตัณหาได้

นี่คือขั้นตอนของการปฏิบัติ ตลอดไปจนถึงขั้นสูงสุดเลย พอเราได้เข้าสู่ขั้นปัญญาแล้วเราจะต้องใช้ปัญญาสลับกับสมาธิ ท่านเปรียบเทียบว่าเป็นเหมือนกับการเดิน เราต้องใช้เท้าซ้ายกับเท้าขวาสลับกันไป เราไม่ได้ใช้เท้าเดียว ถ้าเราใช้เท้าเดียวเราก็ต้องกระโดดเขย่งไป เราต้องใช้เท้าซ้ายสลับกับเท้าขวา เช่น เวลาเราก้าวเท้าซ้าย เราก็ไม่ได้ก้าวเท้าขวา พอเราจะก้าวเท้าขวา เราก็ไม่ได้ก้าวเท้าซ้าย

เวลาทำสมาธิ เราก็จะไม่เจริญปัญญา เวลาเราเจริญปัญญา เราก็จะไม่เข้าไปในสมาธิ เราต้องสลับกัน เวลาพิจารณาแล้วเหนื่อยหรือว่าไม่ได้เหตุไม่ได้ผล เกิดอาการฟุ้งขึ้นมาก็หยุด แล้วก็กลับเข้าไปในสมาธิ สงบระงับความฟุ้งก่อน ทำจิตให้สงบมีพลังใหม่ขึ้นมา แล้วค่อยออกมาพิจารณาใหม่ พิจารณาไปเรื่อยๆ อย่างนี้ต่อไปมันก็จะขาด มันก็จะปล่อยวางได้ ไม่ว่าจะทำขั้นไหนก็ตาม ขั้นของพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี หรือพระอรหันต์ ท่านก็ต้องปฏิบัติแบบนี้ไป ท่านต้องมีทั้งปัญญาและสมาธิสลับกัน ช่วยกันสนับสนุนกันไป

แต่ถ้ายังอยู่ในขั้นสมาธิอยู่ ยังไม่มีสมาธิที่ชำนาญหรือว่าที่แน่นหนามั่นคง ช่วงนั้นก็ควรที่จะเจริญสติ กับสมาธิให้มากก่อน เช่น เวลาไม่อยู่ในสมาธิก็ควบคุมจิตให้อยู่กับพุทโธๆ บริกรรมพุทโธๆ ไป อย่าปล่อยให้ไปคิดอะไร แล้วพอนั่งสมาธิก็ทำใจให้รวมเข้าสู่ความสงบ ฝึกไปจนเรามีความชำนาญ สามารถเข้าออกสมาธิได้ทุกเวลา อยากจะเข้าสมาธิเมื่อไหร่ก็เข้าได้ ถ้าเราชำนาญแล้วเราค่อยออกมาทางปัญญาต่อไป ถ้าเราไม่ชำนาญทางสมาธิ เราออกไปทางปัญญา เวลาเราอยากจะกลับเข้าสมาธิบางทีเรากลับเข้าไม่ได้ เพราะว่าเรายังไม่ชำนาญ เราอาจจะเคยเข้าได้ครั้ง ๒ ครั้ง ซึ่งอาจจะยังไม่รู้จุดที่แท้จริงว่าเข้าไปได้อย่างไร อาจจะเป็นการแบบว่าเข้าไปโดยฟลุกโดยที่เราไม่รู้สึกตัว เราไม่รู้ว่าเข้าไปได้อย่างไร พอครั้งหน้าอยากจะเข้าอีกก็เข้าไม่ได้ อย่างนี้แสดงว่าเรายังไม่ชำนาญ เราต้องจับเคล็ดให้ได้ว่า วิธีเข้าสมาธิเข้าได้เพราะสติเราต่อเนื่อง สติเราใจเราไม่ไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ พอให้กำหนดดูลมหายใจหรือให้กำหนดพุทโธ มันก็จะอยู่กับพุทโธอย่างเดียวหรืออยู่กับลมอย่างเดียว แล้วก็เข้าไปในสมาธิได้ทุกครั้ง อย่างนี้เราก็จะรู้ว่าวิธีเข้าสมาธิที่ถูกต้องเข้าอย่างไร พอเราเข้าเป็นแล้วทีนี้เราก็ออกทางปัญญาได้ พอเราพิจารณาแล้วใจฟุ้งเราก็หยุดพิจารณา แล้วเราก็กลับเข้ามาในสมาธิได้

ถ้าเราไม่รู้จักวิธีเข้าสมาธิ พอเราอยากกลับเข้าสมาธิเราก็อาจจะเข้าไม่ได้ ดังนั้น ก็ต้องพยายามฝึกสมาธิให้ชำนาญก่อน เหมือนกับก่อนที่เราจะเดินหรือจะวิ่งได้ เราก็ต้องยืนให้ได้ก่อน ยืนให้ได้มั่นคงก่อน ไม่ใช่พอยืนขึ้นปั๊บแล้วก็ล้มลงไป เราต้องยืนให้ได้อย่างมั่นคงก่อน แล้วเราถึงค่อยออกเดินออกวิ่งต่อไป เข้าใจนะ.



ธรรมะบนเขา กัณฑ์ที่ ๑๓ วันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๖
“สร้างสรณะทางใจ” : พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

https://www.facebook.com/Suchart.Abhijato

:b47: :b50: รวมคำสอน “พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=47981

เจ้าของ:  asoka [ 02 ธ.ค. 2014, 20:06 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ถ้ายังไม่มีสมาธิที่แน่วแน่และชำนาญ ควรเจริญสติก่อน

:b8:
สาธุ คำสอนของบัณฑิตและกัลยาณมิตร
smiley

เจ้าของ:  Duangtip [ 05 ธ.ค. 2019, 12:28 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ถ้ายังไม่มีสมาธิที่แน่วแน่และชำนาญ ควรเจริญสติก่อน

:b39: :b44: ขออนุโมทนา สาธุๆๆ ค่ะ
:b8: :b8: :b8:

เจ้าของ:  sirinpho [ 23 ธ.ค. 2021, 14:51 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ถ้ายังไม่มีสมาธิที่แน่วแน่และชำนาญ ควรเจริญสติก่อน

:b8: :b8: :b8:

เจ้าของ:  อายะ [ 19 ส.ค. 2023, 05:22 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ถ้ายังไม่มีสมาธิที่แน่วแน่และชำนาญ ควรเจริญสติก่อน

กราบนมัสการพระอาจารย์ คำตอบของพระอาจารย์มาจากสภาวะที่เกิดจากการปฏิบัติจริงโดยแท้ครับ

หน้า 1 จากทั้งหมด 1 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/