วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 21:17  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=2



กลับไปยังกระทู้  [ 5 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 เม.ย. 2019, 23:31 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.พ. 2011, 19:56
โพสต์: 1798


 ข้อมูลส่วนตัว


นำมาจาก ปกรณ์ วิสุทธิมรรค เรียบเรียงโดยท่านพระพุทธโฆสะ
อรรถาธิบาย ผลอันเป็นที่สุดของพรหมวิหาร ตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง
เห็นว่าเป็นประโยชน์เลยนำมาแชร์



อัปปมัญญา ๔ ประการนี้ แม้จะได้ดำรงสภาพอยู่เป็น ๒ ส่วน
ด้วยอำนาจให้สำเร็จฌาน ๓ หรือฌาน ๔ อย่างหนึ่ง

(คือ เมตตา กรุณา มุทิตา ย่อมให้สำเร็จ ตติยฌาน โดย จตุกกนัย หรือ จตุตถฌาน โดย ปัญจกนัย)

ด้วยอำนาจที่ให้สำเร็จฌานสุดท้ายฌานเดียวอย่างหนึ่ง

(คือ อุเบกขา ย่อมให้สำเร็จ ฌานขั้นสุดท้ายของรูปฌานอย่างเดียว โดย จตุกกนัย หรือ ปัญจกนัย)


ซึ่งมีลักษณะดังแสดงมาแล้วนั้นก็ตาม แต่ก็ยังมีอานุภาพพิเศษซึ่งซึ่งไม่เหมือนกันแต่ละประการ ๆ ด้วยอำนาจที่มีสุภวิโมกข์เป็นผลขั้นสุดยอดเป็นต้นอันนักศึกษาจะพึงศึกษาให้เข้าใจต่อไปดังนี้

ในหลิททวนสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงแสดงอัปปมัญญา ๔ ประการนี้ไว้โดยมีความต่างกัน ด้วยภาวะที่มีสุภวิโมกข์เป็นผลขั้นสุดยอดเป็นต้น ดังมีพระบาลีในคัมภีร์ สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ซึ่งมีใจความว่า : -


" ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่า เมตตาเจโตวิมุติ มีสุภวิโมกข์เป็นผลขั้นสุดยอด,
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่า กรุณาเจโตวิมุติมีอากาสานัญจายตนฌานเป็นผลขั้นสุดยอด
ดูก่อนภิกษุทั้งหลายเรากล่าวว่า มุทิตาเจโตวิมุติ มีวิญญาณัญจายตนฌานเป็นผลสุดยอด
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่า อุเบกขาเจโตวิมุติ มีอากิญจัญญายตนฌานเป็นผลขั้นสุดยอด "





ถาม – เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงแสดงอัปปมัญญา ๔ ประการนี้ โดยมีความต่างกันแต่ละประการดังนั้น ?
ตอบ – เพราะอัปปมัญญา ๔ ประการนี้ ต่างเป็นอุปนิสัยปัจจัยแก่วิโมกข์ ๆ อันมีสุภวิโมกข์เป็นต้น ดังจะอธิบายต่อไป


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 เม.ย. 2019, 23:56 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.พ. 2011, 19:56
โพสต์: 1798


 ข้อมูลส่วนตัว


เมตตามีสุภวิโมกข์เป็นผลขั้นสุดยอด


มีความจริงอยู่ว่า สรรพสัตว์ทั้งหลายย่อมไม่เป็นสิ่งที่พึงรังเกียจสำหรับเมตตาวิหารีบุคคล (คนมีจิตประกอบด้วยเมตตา)

ฉะนั้นเมื่อโยคีบุคคลผู้เมตตาวิหารีนั้นน้อมจิตไป ในอารมณ์กรรมฐานทั้งหลาย เช่นสีเขียวเป็นต้น อันเป็นสีที่บริสุทธิ์สะอาด ซึ่งเป็นสิ่งที่เมตตาวิหารีบุคคลไม่พึงรังเกียจ เพราะได้อบรมมาโดยอาการที่ไม่น่ารังเกียจด้วยอำนาจเมตตาภาวนา จิตของเธอย่อมจะแล่นไปในอารมณ์ของกรรมฐานมีสีเขียวเป็นต้น โดยง่ายดายทีเดียว เพราะฉะนั้น เมตตาจึงเป็นอุปนิสัยปัจจัยแก่สุภวิโมกข์โดยปกตูปนิสัย นอกเหนือไปจากสุภวิโมกข์แล้ว เมตตาย่อมเป็นอุปนิสัยปัจจัยแก่วิโมกข์อะไรอื่นหาได้ไม่

ด้วยประการฉะนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงแสดงว่า เมตตาเจโตวิมุติมีสุภวิโมกข์ เป็นผลขั้นสุดยอด

............................................................................................................

อธิบายว่า เมตตาวิหารีบุคคล ย่อมเห็นสัตว์ทั้งหลายเป็นที่รัก งาม ไม่น่ารังเกลียดเลย
เมื่อน้อมจิตไปในวรรณกสิณ ที่งาม เช่นสีเขียวบริสุทธิ์ จิตย่อมแล่นไปได้โดยง่าย





กรุณามีอากาสานัญจายตนฌานเป็นผลขั้นสุดยอด


ก็แหละ เมื่อโยคีผู้กรุณาวิหารีบุคคล (ผู้มีจิตประกอบด้วยกรุณา) พิจารณาเห็นทุกข์ของสัตว์ทั้งหลาย ซึ่งมีลักษณะรูปร่างที่มีไม้ค้อนอันเป็นเครื่องประหารกันเป็นต้น เป็นนิมิต เธอย่อมเห็นแจ้งชัดซึ่งโทษในรูป เพราะรูปเป็นที่บังเกิดเป็นไปของกรุณา เมื่อเป็นเช่นนี้ โยคีผู้กรุณาวิหารีบุคคลนั้น จึงเพิกถอนกสิณ ๙ อย่าง (เว้นอากาศกสิณ) มีปถวีกสิณเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะเหตุที่ได้เห็นแจ้งชัดซึ่งโทษในรูปนั้น แล้วน้อมภาวนาจิตไปในอากาศตรงที่เพิกถอนรูปออกแล้วนั้น จิตของเธอก็ย่อมจะแล่นไปตรงที่อากาศนั้นโดยง่ายดายทีเดียว เพราะฉะนั้น กรุณาจึงเป็นอุปนิสัยปัจจัยแก่อากาสานัญจายตนฌานโดยปกตูปนิสัย นอกเหนือไปจากนั้นแล้ว กรุณาย่อมเป็นอุปนิสัยปัจจัยแก่วิโมกข์อะไรอื่นหาได้ไม่
ด้วยประการฉะนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงแสดงว่า กรุณาเจโตวิมุติมีอากาสานัญจายตนฌานเป็นผลขั้นสุดยอด

.........................................................................................................

กรุณาวิหารีบุคคล ย่อมเห็นสรรพสัตว์ได้รับโทษทุกข์เพราะรูป เห็นโทษของรูป
เมื่อกรุณาวิหารีบุคคลนั้น เพ่งกสิณจนกระทั่งถึงจตุถฌานแล้ว เพิกดวงกสิณแล้วน้อมจิตไปใส่ใจในช่องว่างซึ่งเป็นอรูป จิตย่อมแล่นไปโดยง่าย


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 เม.ย. 2019, 00:54 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.พ. 2011, 19:56
โพสต์: 1798


 ข้อมูลส่วนตัว


มุทิตามีวิญญานัญจายตนฌานเป็นผลขั้นสุดยอด



ก็แหละ เมื่อมุทิตาวิหารีบุคคล (ผู้มีจิตประกอบด้วยมุทิตา) พิจารณาเห็นวิญญานของสัตว์ทั้งหลายผู้ได้ความปราโมทย์ ด้วยเหตุอันให้เกิดความปราโมทย์นั้น ๆ มีโภคสมบัติเป็นต้น จิตที่ถูกอบรมมาด้วยการยึดถือวิญญาณย่อมเกิด เพราะวิญญาณเป็นที่บังเกิดเป็นไป ของมุทิตา เมื่อเป็นเช่นนี้ โยคีผู้มุทิตาวิหารีบุคคลนั้นย่อมก้าวล่วงอากาสานัญจายตนฌานที่ตนได้บรรลุมาแล้วโดยลำดับ แล้วน้อมภาวนาจิตไปในอรูปวิญญาณที่หนึ่ง อันมีอากาศนิมิตเป็นอารมณ์นั้น วิญญาณัญจายตนจิตของเธอย่อมจะแล่นไปในอรูปวิญญาณที่หนึ่งนั้นโดยง่ายดายทีเดียว เพราะฉะนั้น มุทิตาจึงเป็นอุปนิสัยปัจจัยแก่วิญญาณณัญจายตนฌานโดยปกตูปนิสัย นอกเหนือไปจากนั้น มุทิตาย่อมเป็นอุปนิสัยปัจจัยแก่วิโมกข์อะไรอื่นหาได้ไม่
ด้วยประการฉะนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงแสดงว่า มุทิตาเจโตวิมุติ มีวิญญาณัญจายตนฌานเป็นผลขั้นสุดยอด
.......................................................................................................

อธิบายว่า มุทิตาวิหารีบุคคล เป็นผู้มีความยินดี ในความยินดีของสัตว์ทั้งหลาย คือยินดีในวิญญาณอันประกอบด้วยปราโมทย์ของสัตว์

เมื่อมุทิตาวิหารบุคคลนั้น หลังจากได้บรรลุอากาสานัญจายตนฌานแล้ว น้อมจิตไปในวิญญาณที่มีช่องว่างนั้นแหละเป็นอารมณ์ จิตย่อมแล่นไปได้โดยง่าย



อุเบกขามีอากิญจัญญายตนฌานเป็นผลขั้นสุดยอด

ก็แหละ โยคีผู้อุเบกขาวิหารีบุคคล (ผู้มีจิตประกอบด้วยอุเบกขา) นั้น ย่อมมีจิตเหนื่อยหน่ายต่อการยึดถืออารมณ์อันไม่มีอยู่โดยปรมัตถ์ โดยเบือนหน้าหนีจากการยึดถือโดยปรมัตถ์เช่นสุขทุกข์เป็นต้น เพราะไม่มีความห่วงใยว่า ขอสัตว์ทั้งหลายจงมีสุขเถิด หรือขอสัตว์ทั้งหลายจงพ้นจากทุกข์เสียเถิด หรือขอสัตว์ทั้งหลายอย่าได้พรากจากสุขที่ตนได้แล้วเลยฉะนี้ เมื่อเป็นเช่นนี้โยคีบุคคลผู้อุเบกขาวิหารีนั้น ซึ่งเป็นผู้มีจิตใจได้อบรมมาโดยความเบือนหน้าหนีจากการยึดถือโดยปรมัตถ์ และเป็นผู้มีจิตเหนื่อยหน่ายต่อการยึดถืออารมณ์อันไม่มีอยู่โดยปรมัตถ์ ย่อมก้าวล่วงวิญญาณัญจายตนฌานที่ตนได้บรรลุมาแล้วโดยลำดับเสีย แล้วน้อมภาวนาจิตไปในภาวะอันไม่มีอยู่ของวิญญาณอันเป็นปรมัตถ์ ซึ่งไม่มีอยู่โดยสภาวะอากิญจัญญายตนจิตของเธอ ย่อมจะแล่นไปในภาวะที่ไม่มีอยู่ของวิญญาณนั้นโดยง่ายดายทีเดียว เพราะฉะนั้น อุเบกขาจึงเป็นอุปนิสัยปัจจัยแก่อากิญจัญญายตนฌานโดยปกตูปนิสัย นอกเหนือไปจากนั้น อุเบกขาย่อมเป็นอุปนิสัยปัจจัยแก่วิโมกข์อะไรอื่นหาได้ไม่
ด้วยประการฉะนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงแสดงว่า อุเบกขาเจโตวิมุติมีอากิญจัญญายตนฌานเป็นผลขั้นสุดยอด


...........................................................................
เพราะ อุเบกขาวิหารีบุคคล เหนื่อยหน่ายการยึดอารมณ์อันไม่มีอยู่ เช่น เหนื่อยหน่ายการยึดถือสุขทุกข์ที่ไม่มีอยู่ ในจตุถฌานหรือปัญจมฌาน
โดยเบือนหน้าหนีการยึดถือ เช่น เบือนหน้าหนีการยึดถือสภาวะสุขทุกข์ของสัตว์

เมื่อน้อมจิตไปในความไม่มีวิญญาณของอากิญจัญญายตนฌาน จิตย่อมแล่นไปได้โดยง่าย เพราะไม่ยึดถือความไม่มีวิญญาณนั้น และเหนื่อยหน่ายในการยึดถือวิญญาณที่ไม่มีในอากิญจัญญายตนะนั้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 เม.ย. 2019, 01:01 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.พ. 2011, 19:56
โพสต์: 1798


 ข้อมูลส่วนตัว


อัปปมัญญาทำให้กัลยาณธรรมทั้งปวงบริบูรณ



เมื่อนักศึกษาได้เข้าใจอานุภาพพิเศษที่ต่างกันของอัปปมัญญานี้ โดยมีสุภวิโมกข์เป็นผลขั้นสุดยอดเป็นต้นดังแสดงมาฉะนี้แล้ว พึงศึกษาให้เข้าใจต่อไปอีกว่า อัปปมัญญา ๔ ประการนี้ เป็นคุณสมุทัยทำให้กัลยาณธรรมทั้งปวงมีทานบารมีเป็นต้นให้เต็มบริบูรณ์ เป็นประการสุดท้าย ดังต่อไปนี้

เป็นธรรมดา พระโพธิสัตว์ทั้งหลายซึ่งเป็นผู้มีจิตเป็นไปอย่างสม่ำเสมอในสรรพสัตว์ทุกจำพวก
โดยเป็นผู้มีอัธยาศัยมุ่งทำประโยชน์ให้แก่สัตว์ทั้งหลาย ด้วยอำอาจเมตตา ๑
โดยเป็นผู้นิ่งดูดายไม่ได้ต่อทุกข์ของสัตว์ทั้งหลาย ด้วยอำนาจกรุณา ๑
โดยเป็นผู้มีความประสงค์ที่จะให้สมบัติอันวิเศษที่สัตว์ทั้งหลายได้มาแล้วให้ดำรงคงสภาพอยู่นาน ๆ ด้วยอำนาจมุทิตา ๑
โดยเป็นผู้ไม่ตกไปในความเป็นฝักเป็นฝ่ายในสัตว์ทั้งหลายด้วยอำนาจอุเบกขา ๑

พระโพธิสัตว์ทั้งหลายผู้มีคุณลักษณะเห็นปานฉะนี้ ย่อมเพียรสร้างบารมีธรรม ๑๐ ประการ ให้บริบูรณ์ในขันธสันดานอย่างนี้ คือ

บำเพ็ญทานอันเป็นเหตุแห่งความสุขแก่สัตว์ทั้งหลาย โดยทั่วหน้ากัน โดยไม่แบ่งพรรคแบ่งพวกว่า คนนี้ควรให้ คนนั้นไม่ควรให้ (๑. ทาน),
สมาทานศีล เว้นการประหัตประหารสัตว์ทั้งหลายทุกตัวตน โดยไม่มีการยกเว้น (๒. ศีล),
บำเพ็ญเนกขัมมะ ได้แก่การถือบวชเป็นต้น อันเป็นเหตุแห่งความสุขของสัตว์ทั้งหลาย และเพื่อทำศีลให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ยิ่งขึ้น (๓. เนกขัมมะ),
อบรมบ่มปัญญาให้สว่างกระจ่างแจ้ง เพื่อทำลายโมหะไม่ให้หลงงมงายในสิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์แก่สัตว์ทั้งหลาย (๔. ปัญญา),
บำเพ็ญเพียรชนิดที่ติดต่อกันไปไม่ให้ชะงักงัน เพื่อความเจริญแห่งประโยชน์สุขของสัตว์ทั้งหลาย (๕. วิริยะ),
แม้เมื่อได้บรรลุถึงความเป็นวีรภาพด้วยอำนาจความเพียรขั้นสุดยอดแล้ว ย่อมอดกลั้นได้ต่อความผิดมีประการต่าง ๆ ของสัตว์ทั้งหลายที่ตกมาถึงตน (๖. ขันติ),
รักษา ปฏิญญาที่ตนได้ทำไว้ว่า จักทำสิ่งนี้จักให้สิ่งนั้นแก่ท่านไม่ให้เคลื่อนคลาด (๗. สัจจะ),
เป็นผู้มุ่งมั่นไม่หวั่นไหวในพุทธการกธรรมที่ตนสมาทานแล้ว เพื่อประโยชน์สุขของสัตว์ทั้งหลาย (๘. อธิฏฐานะ),
เป็นผู้เริ่มต้นทำอุปการะแก่สัตว์ทั้งหลายด้วยเมตตาปรารถนาดีอย่างแน่วแน่ (๙. เมตตา),
และไม่หวังผลตอบแทนอย่างใด ๆ ทั้งสิ้นจากสัตว์ทั้งหลายด้วยอุเบกขา (๑๐. อุเบกขา)



พระโพธิสัตว์ทั้งหลายผู้อัปปมัญญาวิหารี ย่อมเพียรสร้างบารมีธรรมทั้งหลาย ดังบรรยายมานี้ ตลอดถึงสรรพกัลยาณธรรมแม้ทุกอย่าง ต่างด้วยทศพลญาณ ๑๐ เวสารัชญาณ ๔ อสาธารณญาณ ๖ และพุทธรรม ๑๘ ให้เต็มบริบูรณ์ในขันธสันดาน ด้วยประการฉะนี้
อัปปมัญญา ๔ ประการนี้ ย่อมเป็นคุณสมุทัยทำสรรพกัลยาณธรรมทุก ๆ อย่าง มีทานบารมีเป็นต้นให้เต็มบริบูรณ์ ด้วยประการดังที่ได้พรรณนามาฉะนี้แล



พรหมวิหารนิเทศ ซึ่งนับเป็นปริทเฉทที่ ๙

ในอธิการแห่งสมาธิภาวนา ในปกรณ์วิเศษวิสุทธิมรรค

อันข้าพ(พระพุทธโฆสะ)เจ้ารจนาขึ้นไว้

เพื่อให้เกิดความปีติปราโมทย์แก่สาธุชนทั้งหลาย

ยุติลงเพียงเท่านี้


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 เม.ย. 2019, 01:07 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.พ. 2011, 19:56
โพสต์: 1798


 ข้อมูลส่วนตัว


ตัวอักษรสีแดงนั้นผมเขียนเองตามความเข้าใจของตน


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 5 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 8 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร