วันเวลาปัจจุบัน 19 เม.ย. 2024, 16:25  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=2



กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 พ.ย. 2019, 11:13 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ก.พ. 2007, 20:39
โพสต์: 174


 ข้อมูลส่วนตัว


จิตกับอวิชชาใครเกิดก่อนหลังกัน?
.
หลวงพ่อพุธ ฐานิโย
วัดป่าสาละวัน อ.เมือง จ.นครราชสีมา
.
ก่อนที่จะตอบปัญหาคำนี้ ขอทำความเข้าใจก่อนว่า ไอ้สิ่งที่เราเรียกกันว่า จิตจิต ใจใจเนี๊ยะ ดั้งเดิม มันไม่ใช่จิต ไม่ใช่ใจ มันเป็นธาตุอันหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า ธาตุรู้ ท่านอาจารย์มั่น ท่านว่า มันเป็น มโนธาตุ
.
เป็นมโนธาตุซึ่งมันมีหน้าที่ พร้อมที่จะน้อมไปสู่อารมณ์ ในเมื่อมันน้อมไปสู่อารมณ์แล้ว เพราะอาศัยอวิชชา คือความไม่รู้ มันจึงเป็นผู้ดิ้นรน ก่อสั่งสม เกิดตัวสังขารขึ้นมาปรุง เป็นโน่น เป็นนี่ ปรุงเป็นผู้ชาย ปรุงเป็นผู้หญิง ปรุงเป็นคน ปรุงเป็นสัตว์
.
แต่แท้ที่จริง มันก็เป็น ธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟด้วยกันทั้งนั้นแหล่ะ ไม่เห็นว่าอะไรจะมีอะไร ในจักรวาลนี้มันมีแต่ธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ ธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟก็สมมุติบัญญัติเรียกกันพอรู้เรื่องกันเท่านั้นเอง
.
แต่เสร็จแล้วไม่ทราบว่า อะไรเป็นอะไรทั้งสิ้น ที่มันจะเกิดมีอะไรต่อมิอะไรขึ้นมา เพราะอวิชชา ความไม่รู้ มันจึงเป็นเหตุให้ปรุง ปรุงว่าอันนี้มันก็ดี ปรุงว่าอันนี้ มันก็เลว ปรุงว่าอันนี้มันก็เป็นที่พอใจและไม่พอใจ
.
อวิชชา ปัจจยา สังขารา อวิชชา ความไม่รู้ เป็นเหตุให้เกิดสังขาร สังขาระ แปลว่าปรุง แปลว่าแต่ง เมื่อคืนนี้ ได้พูดฝาก ๆ เอาไว้แล้วว่า รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ เค้าเป็นสิ่งที่มีอยู่ เป็นอยู่ โดยธรรมชาติของเค้า เค้าเป็นกลาง ๆ
.
เค้าจะดี จะชั่ว จะเลว จะประณีตละเอียดอย่างไร ก็ไอ้เจ้าใจ ที่มันมี อวิชชา ห่อหุ้มนี้แหล่ะ มันจึงไปเที่ยวปรุงว่าให้เค้าดี เค้าชั่ว เค้าเลว แต่แท้ที่จริงมันไม่ ชะโงกดูเงาหน้าของตัวเอง ไปเที่ยวตู่สิ่งโน้น ตู่สิ่งนี้ ว่าเค้าเป็นอย่างนั้น เค้าเป็นอย่างนี้
.
แต่แท้ที่จริง ไอ้เจ้า มโนธาตุ ที่มันน้อมออกมาสู่อารมณ์เนียะ พอมันมาสัมผัสรู้อารมณ์พั๊บเข้า ตัวอวิชชา ความไม่รู้ มันก็วิ่งเข้ามา
.
ผู้ถาม ๆ ว่า อวิชชา กับ จิต สิ่งไหนเกิดก่อนหลังกัน ไอ้เจ้าอวิชชานี่แหล่ะ มันอาศัยแฝงอยู่ที่จิต ถ้าจิตใจไม่มี อวิชชามันจะไปเกิดที่ไหน
.
โดยธรรมชาติของจิตใจมนุษย์นี่ เรามีความรู้สึกนึกคิดเฉพาะเวลาที่เรามีส่วนประกอบคือร่างกาย บางที อาตมะ ได้หัดตายเล่น ๆ ลองดู ในเมื่อมันตายจริงลงไปแล้ว ปฏิสนธิวิญญาณที่มันครองอยู่ในร่างนี่ มันหนีออกจากร่างกายไปลอยเด่นอยู่เฉพาะตัวมัน
.
จะว่าเฉพาะตัวมัน มันก็ไม่เข้าท่า เพราะมันไม่มีตัว มันมีแต่ธาตุรู้ ปรากฏเด่นชัดอยู่เท่านั้น แต่เสร็จแล้วมันก็ไม่มีปฏิกิริยาอาการใด ๆ ที่จะแสดงความหวั่นไหว มันมีแต่แน่นิ่งอยู่เฉย ๆ แม้มันจะมองเห็นโลกทั่วหมดทุกมุมโลก มันก็เฉยอยู่อย่างนั้น
.
โดยที่สุดแม้แต่ร่างกาย คือตัวมันที่เคยอาศัยอยู่ มันก็ไม่ได้นึกว่าตัวมัน แม้ร่างกายมันจะเน่าเปลื่อยผุพังไปประการใดก็ตาม มันก็นิ่งเฉยของมันอยู่อย่างนั้น
.
ถ้าไม่เชื่อ ท่านทั้งหลาย ถ้าหากเป็นนักปฏิบัติ สามารถทำจิตให้บรรลุถึงขั้นที่ เป็นสมถะอย่างละเอียดจนตัวหาย ท่านจะรู้ได้ทันทีว่า จิต ในเมื่อมันเข้าไปสู่ภพเดิมของมัน ซึ่งเป็นธาตุแท้ของมโนธาตุ เป็นปฐมวิญญาณ มันจะไม่มีปฏิกิริยาอาการอันใดแสดงออก อย่างดีมันก็เพียงแต่ไปนิ่ง ว่าง สว่างอยู่เฉย ๆ
.
ที่มันไม่มีปฏิกิริยาอาการอย่างนั้น ก็เพราะมันไม่มีเครื่องมือ ไม่มีเครื่องใช้ แม้ว่าไอ้เจ้าจิตหรือมโนธาตุตัวนี้มันจะเก่งวิเศษสักปานใดก็ตาม เมื่อมันมาสัมผัสกับร่างกาย ซึ่งมีความไม่เป็นปกติ มีความผิดปกติทางประสาทสั่งการ
.
เช่น คนที่เป็นบ้าวิกลจริต มันจะแสดงความเป็นบ้า เฉพาะเวลาที่มโนธาตุตัวนี้ มันมาสัมพันธ์กับร่างกายเท่านั้นเอง แต่เมื่อมันออกจากร่างกายที่พิกลพิการ อันนี้ไปแล้ว ความเป็นบ้ามันก็หายไป
.
อย่าว่าแต่ความเป็นบ้ามันจะหายไป แม้แต่ความสำคัญมั่นหมายว่า ผู้หญิง ผู้ชาย ว่าตัวว่าตน มันก็ไม่มีทั้งนั้น เพราะมันไม่มีอวัยวะประกอบ ซึ่งจะเป็นสิ่งให้เกิด หรือเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้แสดงกิริยา เปลี่ยนแปลงจากสภาพปกติ
.
เพราะฉะนั้น โดยธรรมชาติของจิต ถ้าหากผู้ปฏิบัติมัวแต่จะไปงมเอาแต่ส่วนที่จิตมันสงบนิ่งแนบเป็นสมาธิ เป็นอัปนาสมาธิ โดยไม่มีสติ กิริยาอาการใด ๆ บังเกิดขึ้น เอากันแต่เพียงแค่นี้
.
ภาวนากันทีไร ก็เอาแต่จิตสงบนิ่ง นิ่ง นิ่ง นิ่งอย่างไม่มีตัวมีตนปรากฏ โดยที่สุดแม้ว่าโลกคือแผ่นดิน อันนี้ก็หายสาบสูญไปหมดสิ้น ในจักรวาลนี้มีแต่จิตดวงเดียวซึ่งปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว แต่ความปล่อยวางของจิตในขั้นนี้ อย่าเพิ่งเข้าใจว่าท่านถึงความบริสุทธิ์สะอาดแล้ว
.
แต่แท้ที่จริง มันเปรียบเหมือนดังว่า เมล็ดในของผลไม้ ในเมื่อก่อนที่มันจะหล่นลงจากต้นของมัน มันได้เก็บเอาอวัยวะต่าง ๆ เข้าไปรวมอยู่ในเมล็ดในมัน ในเมื่อเราผ่าออกมาแล้ว เราจะไม่มองเห็นอะไร
.
ไม่มองเห็นอวัยวะซึ่งเป็นส่วนประกอบของมัน รากแก้วรากฝอย เปลือก แก่น ใบ ดอก ผล ไม่ปรากฎในเมล็ดในของผลไม้ แต่เมื่อท่านเห็นแล้ว ท่านจะปฏิเสธได้หรือว่า อวัยวะส่วนประกอบ ส่วนอันเป็นต้นผลไม้นั้น เปลือก แก่น ใบ ดอก ผล มันจะไม่มี
.
แม้ว่าเราจะมองไม่เห็นก็ตาม แต่เชื้อแห่ง รากแก้ว แก่น ใบ ดอก ผล มันเก็บรวบรวมเอาไว้ในแก่นในของมันหมดแล้ว
.
สภาพจิตที่เราสามารถภาวนาแล้ว เก็บทุกสิ่งทุกอย่างเข้าไปบรรจุเอาไว้ข้างใน แม้มันจะเหลือแต่แกนในของมัน คือความเป็นหนึ่งของจิต ซึ่งเรามองเห็นแล้วว่ามันใสสะอาด สว่างไสวอยู่ อย่าไปเข้าใจว่ามันหมดกิเลสแล้ว
.
แต่แท้ที่จริงมันเก็บเอาเชื้อของ อวิชชา ตัญหา อุปาทาน ไปรวมไว้ในแก่นของจิตของใจ ของมโนธาตุ ปฐมวิญญาณ และตัววิญญาณอันนี้ ซึ่งมันไม่มีอวัยวะส่วนประกอบ ที่จะแสดงปฏิกิริยาอันใดออกมาให้เรามองเห็น ในแง่ที่เป็นกิเลส โลภ โกรธ หลง
.
เราจึงเข้าใจผิดว่า จิตใจของเราบริสุทธิ์สะอาดแล้ว ถ้าหากเราจะมาสำคัญมั่นหมายเอาเพียงแค่นี้เป็นผล สำเร็จ ถ้าจะสำเร็จได้ อย่างดีก็ถึงแค่ พระนิพพานพรหม เท่านั้นเอง
.
นี่คือขั้นตอนแห่งศาสนาพราหมณ์ ที่เค้ามีความเข้าใจว่า เมื่อเค้าทำจิตใจ ให้เข้าไปถึงจุดที่สงบนิ่งสว่าง โดยที่ไม่มีอะไรเหลือ มีแต่จิตดวงเดียวล้วน ๆ แล้วเค้าก็เข้าใจว่าของเค้าสำเร็จพระนิพพานแล้ว
.
เพราะฉะนั้น การที่เรามาทำสมาธิภาวนา ถ้าเราไปติดอยู่แต่เพียงความสงบของจิต จิตนิ่ง นิ่งแล้ว นิ่งอย่างไม่มีอะไร ร่างกายตัวตนหายไปหมด สติปัญญาหายไปหมด ความรู้สึกนึกคิดใด ๆ ไม่มีเหลืออยู่แล้ว แล้วก็ไปเข้าใจว่า เพียงแค่นี้ เป็นจุดสำเร็จพระนิพพาน เหลวไหลทั้งเพ
.
อันนี้เป็นแต่เพียงแค่ว่า ความสงบของจิตซึ่งปราศจากความคิด ทำไมมันจึงไม่คิด เพราะมันไม่มีเครื่องมือ จิตมันไม่มีตัว มันจะเอาอะไรไปคิด แต่ถ้าเผื่อว่า มันมาสัมผัสกับร่างกาย มันก็เอาร่างกายนี่เป็นเครื่องมือ เป็นเครื่องใช้
.
ความรู้สึกนึกคิดต่าง ๆ มันจะเกิดขึ้นมาทันที ในเมื่อมันมีตัวมีตนแล้วมันต้องมีตา ถ้าตาเห็นรูป ถ้ามันยังมีกิเลสอยู่ มันก็ยังรู้สึกชอบ หูได้ยินเสียง ถ้ามันยังมีกิเลสอยู่ มันก็รู้สึกยินดียินร้าย ในส่วนอื่น ๆ ถ้ามันยังมีกิเลสอยู่ มันประสบเข้าแล้ว มันก็พอใจไม่พอใจ
.
ดังนั้น ในลัทธิศาสนาพราหมณ์ ที่เค้าเข้าใจว่า เค้าสำเร็จพระนิพพานแล้ว ก็เพราะเค้าทำจิตไปถึงจุดดังที่กล่าวนี้ ในเมื่อจิตอยู่ในจุดดังที่กล่าวนี้ ความรู้สึกในอาการของกิเลสและความรู้สึกนึกคิดใด ๆ มันไม่มีจริง ๆ จึงเป็นเหตุให้คนที่มีปัญญายังอ่อน เข้าใจว่า ตัวเองนี่ สำเร็จ มรรคผล นิพพานไปซะแล้ว
.
แต่ลืมนึกถึงว่า เมื่อเค้าออกจากสมาธิในขั้นนี้มาแล้ว ในเมื่อมามี ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ เค้าลืมนึกไปว่า เค้ายังมีความ ยินดี ยินร้าย ถึงแม้ว่าเค้าจะรู้สึกว่าเค้ายังมีความยินดียินร้ายอยู่ เค้าก็ยังชะล่าใจ ยังนึก ว่าจะตายเมื่อไหร่ ก็รีบไปเข้าไปสู่พระนิพพานในจุดดังกล่าว แล้วก็นิพพานหมดกิเลสไปเลยไม่ต้องมาเกิดอีก อันนี้คือ ความเข้าใจของผู้มีสติปัญญาน้อย
.
แต่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา พระองค์เคยทำจิตของพระองค์ให้ถึงขั้นนี้ ทดสอบไม่รู้กี่พันครั้ง หมื่นครั้ง เมื่อจิตบรรลุถึงขั้นนี้ออกมา ตา หู จมูก ลิ้น กายใจ ยังมี รูปเสียงกลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ ผ่านเข้ามา
.
พระองค์จึงถือเอาเป็นปรอทเครื่องวัดว่า สภาพจิตที่มันเป็นอย่างนั้นแต่ก่อน มันยังคงสภาพเดิมอยู่หรือเปล่า พระองค์ก็มาทราบว่า ในเมื่อประสบสิ่งเหล่านั้นแล้ว อวิชชา ความไม่รู้ หรือความรู้เท่าเอาทัน มันยังไม่เพียงพอ คือ สติปัญญายังอ่อน
.
ความรู้สึก ยินดี ยินร้าย ความชอบ ความไม่ชอบ มันก็ยังเหลืออยู่ ถ้าเราจะไปรอเอาต่อเมื่อว่า เราใกล้จะตายแล้วรีบเข้าสมาธิ ทำจิตให้มันไปบรรลุคุณธรรมถึงขั้นนี้แล้วนิพพานไป หากเมื่อว่าเราเผลอไปแล้ว เราเข้าฌาน หรือเข้าสมาธิขั้นนี้ไม่ทัน ตายเสีย ระหว่างกลางคัน เราจะไม่ตกนรกหรือ อันนี้เป็นพระปัญญาของพระพุทธเจ้า
.
ถ้าในจุดที่มันมีความละเอียดสุขุม จนกระทั่ง ตัวหาย ทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีแล้วในโลกนี้ จักรวาลนี้มีแต่จิตของเราอันเดียวเท่านั้น ถ้าหากว่าออกมา ข้างในที่เราอยู่ข้างในสภาพจิตมันเป็นอย่างไร
.
เมื่อออกมาข้างนอก มาเห็นสิ่งต่าง ๆ มาประสบกับสิ่งต่าง ๆ แล้ว ถ้าความรู้สึกในด้านกิเลส มันไม่มีปรากฏขึ้นมาสักนิดหนึ่ง ก็แสดงว่าจิตใจของเรานี่มันบริสุทธิ์สะอาดตลอดกาล
.
แม้ว่าอยู่ในข้างใน ซึ่งไม่มีตัวมีตน ความเป็นของจิตในแง่ความยินดี ยินร้าย ทุกสิ่งทุกอย่าง มันหายไปหมดแล้ว เมื่อออกมาสู่บรรณโลกนี้ เรามีสถานการณ์ และสิ่งแวดล้อม ที่ผ่านเข้ามาอยู่ทุกลมหายใจ ถ้าสภาพจิตของเราหมดกิเลสจริง ๆ แล้ว มันก็ไม่มียึด ไม่มีปรุง ไม่มีความยินดี ยินร้าย มันก็ยังทรงสภาพปกติอยู่ตลอดเวลา อันนี้ จึงจะได้ชื่อว่าเป็นผู้สำเร็จแล้ว
.
ดังนั้นปัญหาที่ว่า อวิชากับจิต ใครเป็นผู้เกิดก่อนหลังกัน อวิชชาเป็นเจตสิกอันหนึ่งซึ่งมันคอยติดตาม เพราะเจ้าดวงจิตดวงนี้มีอวิชชา อวิชชา ความไม่รู้เป็นเหตุให้ทำกรรม ครั้นทำกรรมแล้วได้รับผลของกรรม รับผลของกรรมแล้ว ต้องเป็นเหตุให้มาเกิดอีก
.
เมื่อเกิดอีก ก็อาศัย อวิชชา ตัวเดียวนั่นแหล่ะ แล้วก็หลงทำกรรมต่าง ๆ ตามความเข้าใจของตัวเอง กรรมดีบ้าง กรรมชั่วบ้าง ทำกรรมดีก็เรียกว่าทำบุญ ทำกรรมไม่ดีก็เรียกว่าทำบาป สิ่งที่เรียกว่าบุญและบาป ทั้งสองอย่างนี้ เป็นผลซึ่งเกิดโดยผลของธรรมชาติ
.
คนเรามีกายมีใจ ในกายของเรามีใจเป็นใหญ่ ในเมื่อไอ้เจ้าใจนี้มันสั่งให้ไปตีหัวคนสักโป้กนึงลงไป เขาตายลงไป ภายหลังมันมานึกว่า โอ้ยเผลอไป ฉันทำเล่น ๆ ไม่ต้องการผลตอบแทน จ้าง จิตมันก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะอันนี้มันเป็นผลที่จะพึงได้รับโดยผลของธรรมชาติ
.
ความยุติธรรมอันใดในโลกนี้ จะไปยิ่งใหญ่กว่าความยุติธรรมที่ว่า ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว ในเมื่อไอ้เจ้าใจนี่มันสั่งกายให้ทำอะไรลงไป ให้พูดลงไป จะเป็นกรรมดีก็ตาม เป็นกรรมชั่วก็ตาม เค้าจะหลีกเลี่ยงผลงานที่เค้าสั่งการลงไปไม่ได้เลย
.
เค้าจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ รับผิดชอบทุกสิ่งทุกอย่าง ปฏิเสธไม่ได้เลยเป็นอันขาด อันนี่คือกฎธรรมชาติ ที่เราจะต้องยอมรับ ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงกระตุ้นเตือนให้เราพิจารณาอยู่บ่อย ๆ ว่าเรามีกรรมเป็นของ ๆ ตน มีกรรมเป็นผู้ให้ผล มีกรรมเป็นแดนเกิด มีกรรมเป็นผู้ติดตาม มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เราจะทำกรรมอันใดไว้ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เราจะต้องได้รับผลของกรรมนั้นอย่างแน่นอน จริงหรือไม่จริง ก็ขอให้ท่านผู้ฟังไปพิจารณาเอาเอง.

.....................................................
เมื่อเจ้าจักเห็น จงเห็นฉับพลัน พอตั้งต้นคิด หนทางปิดตัน


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 14 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร