ลานธรรมจักร
http://dhammajak.net/forums/

วัดจิตของตน (หลวงปู่ฝั้น อาจาโร)
http://dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=2&t=58513
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เจ้าของ:  น้องพลอย [ 11 ม.ค. 2020, 20:06 ]
หัวข้อกระทู้:  วัดจิตของตน (หลวงปู่ฝั้น อาจาโร)

รูปภาพ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙
และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ ๙
เสด็จฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์
ทรงกราบนมัสการและสนทนาธรรมกับ “หลวงปู่ฝั้น อาจาโร”
เมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๑๕
ณ พระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร (วัดบวรนิเวศ ราชวรวิหาร)

ในการนี้ หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน,
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาสนโสภณ,
พระญาณวโรดม (สนธิ์ กิจฺจกาโร)
และพระพรหมมุนี (วิชมัย ปุญญาราโม) ร่วมเฝ้ารับเสด็จ
--------------


วัดจิตของตน
พระธรรมเทศนาโดย...พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร
แสดง ณ พระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร
เมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๘


จาก...นิตยสารธรรมจักษุ
ปีที่ ๘๒ ฉบับที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๐

:b50: :b49: :b50:

เราทุกคนมาชุมนุมกันที่นี้ ประชุมทั้งในทั้งนอก เข้าถึงวัดแล้วให้พากันวัดดูจิตของเรา มันอยู่ในวัดหรือนอกวัด วัดเพื่อเหตุใด นี่หละ เราอาศัยพุทธศาสนา ศาสนานี้เป็นเครื่องแก้ทุกข์และดับทุกข์

พระพุทธเจ้าท่านบัญญัติศาสนาในพุทธบริษัททั้ง ๔ นี่หละ ไม่ได้บัญญัติในที่อื่นบริษัททั้ง ๔ คืออะไร ภิกษุ ภิกษุณี แต่เวลานี้ภิกษุณีไม่มีแล้ว มีแต่ภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกา สี่เหล่านี่หละศาสนาจะเจริญได้ก็อาศัยเหล่านี้ ศาสนาจะเสื่อมก็อาศัยเหล่านี้ เสื่อมเพราะเหตุใด เราไม่ประพฤติไม่ปฏิบัติเนื่องในคุณพระพุทธเจ้า เราไม่มีความเคารพ ในคุณพระธรรมก็ไม่เคารพ ในคุณพระอริยสงฆ์ก็ไม่เคารพ ในทานก็ไม่มีความเคารพ ในศีลก็ไม่มีความเคารพ ในภาวนาก็ไม่มีความเคารพ ในปฏิสันถาร การต้อนรับซึ่งกันและกันก็ไม่มีความเคารพ เมื่อเราไม่มีความเคารพในเจ็ดสถานนี้จึงเป็นเหตุให้ศาสนาเสื่อม ถ้าพวกเรายังมีความเคารพในเจ็ดสถานนี้แล้ว ศาสนาก็เจริญรุ่งเรืองขึ้นไป ท่านบัญญัติศาสนาในพระไตรปิฎกในพระอภิธรรมท่านไม่ได้บัญญัติอื่น เราทั้งหลายว่าบางคนก็ไม่ได้เรียนบัญญัติ ให้รู้จักบัญญัติ

ท่านบัญญัติธรรมวินัย ท่านว่า ฉปัญญัตติโย ขันธปัญญัตติ อายตนปัญญัตติ ธาตุปัญญัตติ อินทริยปัญญัตติ บุคคลปัญญัตติ นี่ท่านบัญญัติศาสนาไว้อย่างนี้ นี่ท่านวางไว้ให้พากันถึงรู้ถึงเข้าใจ

ขันธปัญญัตติ คือท่านบัญญัติในเบญจขันธ์ เคยอธิบายไปแล้ว คือบัญญัติในรูป บัญญัติในเวทนา สัญญา สังขารวิญญาณ เราก็น้อมดูซิ รูปอยู่ไหนเล่า คือนั่งอยู่นี่หละ เรียกว่ารูปขันธ์ ที่บัญญัติตรงขันธ์เพื่อเหตุใด เพื่อให้รู้จักสิ่งเหล่านี้ เป็นอยู่อย่างไร มันเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ มันดีหรือมันชั่ว เวทนาขันธ์เล่า ทุกขเวทนา สุขเวทนา อุเบกขาเวทนาเราก็ลองดูซิ ตรงนี้แหละท่านบัญญัติ สัญญาขันธ์ความสำคัญมั่นหมาย ความจำโน่นจำนี่ ท่านบัญญัติไว้ตรงนี้ สังขารขันธ์ ความปรุงความแต่ง ดูซี่ เวลานี้เราปรุงเป็นกุศลหรืออกุศล ให้พึงรู้ พึงเห็น ไม่ใช่ว่าฟ้าอากาศปรุงเป็นกุศลอกุศลเราจะรู้ยังไงเล่า รวมเป็นสั้นๆ แล้วคือ ใจเราดี มีความสุขความสบาย เย็นอกเย็นใจ นี่เรียกว่ากุศลธรรม นำความสุขความสบายเย็นอกเย็นใจ นี่เรียกว่ากุศลธรรม นำความสุขความเจริญมาให้ในปัจจุบันและเบื้องหน้า อกุศลธรรม จิตไม่ดี จิตทุกข์ยากวุ่นวายเดือดร้อน ธรรมนี้นำสัตว์ทั้งหลายตกทุกข์ได้ยาก ให้ฉิบหายในปัจจุบันและเบื้องหน้า นี่เป็นอย่างนี้ วิญญาณขันธ์เล่า วิญญาณนี้เป็นผู้รู้ และจะได้ไปปฏิสนธิในสิ่งที่เราได้ปรุงแต่งไว้นี่หละ กรรมเหล่านี้นำไปตกแต่ง ไม่มีใครตกแต่งให้เรา ธรรมนำมาเอง ธรรมมันอยู่ตรงนี้ จะเรียนธรรมจะรู้ธรรมให้มาดูตรงนี้ มาดูรูป ดูเวทนา ดูสัญญา ดูสังขาร ดูวิญญาณนี้ ให้พิจารณารูปนั้นละ เพราะเหตุใด ท่านว่ามันหลงรูป รูปนี้มีอะไรจึงพากันหลงหนักหนา พระพุทธเจ้าจึงได้วางไว้ให้พิจารณารูปนี้หละ


อายตนปัญญัตติ นั่นเป็นบ่อเกิดแห่งดีและชั่ว อายตนะภายใน ภายนอก อายตนะภายใน ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ของเรา ภายนอกได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ สิ่งเหล่านี้ ก็อยู่ในรูปนี่หละ

ธาตุปัญญัตติ บัญญัติธาตุ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟมาประชุมกันเข้า เรียกว่าตัวตน สัตว์บุคคลเราเขาเมื่อเป็นเช่นนี้ เราต้องมาพิจารณาในรูปนี้ ตั้งสติเพ่งดูรูปอันนี้ ดูเพราะเหตุใด เพื่อไม่ให้หลง เมื่อเราเห็นแล้วไม่หลงรูปอันนี้จึงว่า รู้จัก นะ รู้จัก โม หัวใจตัวเรามันจึงรักษาได้ แต่เวลานี้เราไม่รู้จัก นะ รู้จัก โม

นะโม คือความน้อมนึก นะ คือความน้อม เราน้อมอะไร อันนั้นคือ ดินและน้ำ อธิบายเรื่อง นะ แล้วมันไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่เราไม่ใช่เขา วานนี้ (อาจาโรวาท ๑๓) ไม่ได้อธิบาย นะ อธิบายแต่ โม คืออะไร

นะ นั่น นะ แปลว่าไม่ใช่ ปิตตัง น้ำดี ดูซี่ น้ำดีอยู่ที่ไหนล่ะ มันเป็นคนหรือเป็นผู้หญิงผู้ชาย เรียกว่า น้ำดี เสมหังน้ำเสลดเล่า นี่เป็นคนหรือเป็นอะไร อยู่ที่ไหนล่ะ ปุพโพ น้ำเหลือง นี่เป็นบุคคลหรืออะไร โลหิตัง น้ำเลือด เลือดล่ะมันเป็นคนหรือเป็นอะไร มันเป็นผู้หญิงหรือเป็นผู้ชายเสโท น้าเหงื่อนี่ล่ะ เมโท น้ำมันข้น อัสสุ น้ำตา วสา น้ำมันเหลว เขโฬ น้ำลาย สิงฆานิกา น้ำมูก ลสิกา น้ำไขข้อ มุตตัง น้ำมูตร สิ่งเหล่านี้เป็นคนหรืออะไร เป็นของเอาหรือของทิ้ง นี่หละจึงเรียกว่า นะ แปลว่าไม่ใช่คน เป็นขอทิ้งทั้งหมด หรือใคร เก็บไว้ สิ่งเหล่านี้อยู่ที่ไหนล่ะ นี่หละ ให้พากันพิจารณา มันจึงจะละซึ่งกามารมณ์ได้ รูปารมณ์ได้ ถ้าเรามาเห็นอย่างนี้แล้ว ให้พากันเพ่งเล็งดู สิ่งเหล่านี้ให้มันรู้มันเห็น หมดสงสัย สิ่งเหล่านี้ไม่ได้อยู่ที่อื่น อยู่ที่ตัวของเรา เรามาถืออันนี้หละมาเป็นตัวเป็นตน


เมื่อได้อธิบายให้ฟังอย่างนี้แล้ว ให้เข้านั่งเพ่งดู เอาเข้าที่นั่ง เพ่งดูให้มันรู้มันเห็น อธิบายให้ฟังแล้ว ท่านเทศน์มามากแล้ว สมเด็จฯ (คือ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระญาณสังวร - น้องพลอย) ท่านก็เทศน์อยู่วันยังค่ำคืนยังรุ่ง อาตมา (พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร) น่ะเป็นคนป่า เทศน์ไม่ดี ไม่ได้เรียนมาก เรื่องบัญญัติเหล่านี้ เอ้า ลงมือทำ ถ้าไม่ทำก็ไม่เห็น เอ้านั่งให้สบ๊ายสบายนี่หละ ให้รู้จักชั้นศาสนา แก่นศาสนา ท่านบัญญัติไว้ตรงนี้ ท่านไม่ได้บัญญัติที่อื่น

ที่เราท่านทั้งหลายได้มาที่นี้ในวันนี้ก็คือสมเด็จฯ ท่านห่วงประเทศชาติของเรา ท่านก็แผ่กุศลถวายมหาบพิตร พวกเราทั้งหลายก็ต้องการให้ประเทศของเราอยู่เย็นเป็นสุข ให้ประเทศของเรายั่งยืนถาวรและความเจริญในปัจจุบัน และเบื้องหน้า

นี่เราต้องเพ่งดูซี่ ประเทศชาติก็เกิดจากตัวของพวกเรานี้ ศาสนาจะเสื่อมเป็นยังไง ศาสนาเจริญเป็นยังไง ศาสนาจะเจริญได้คือเรามาทำกันยังงี้หละ เข้าถึงคุณพระพุทธ เข้าถึงคุณพระธรรม เข้าถึงคุณพระสงฆ์ เข้าถึงคุณพระพุทธเจ้า คือเข้าถึงพุทธะ คือความรู้นี้หละ เราวางกายให้สบายแล้ว เราระลึกถึงความรู้ของเรา ถ้าเราไม่รู้จักที่อยู่พุทธะ คือความรู้ ก็ดูว่ามันรู้ตรงไหนล่ะ


ในเบื้องต้นให้นึกถึงคำบริกรรมเสียก่อน ผู้ที่เคยแล้วก็ดี ผู้ที่ยังไม่เคยก็ดี ให้ระลึกว่าพระพุทธเจ้าอยู่ในใจ พระธรรมอยู่ในใจ พระอริยสงฆ์สาวกอยู่ในใจ เชื่อมั่นอย่างนั้นแล้วจึงระลึกคำบริกรรมภาวนาว่า พุทโธ ธัมโม สังโฆ สามหนแล้ว รวมเอาแต่พุทโธ พุทโธ คำเดียว หลับตางับปากเสีย ลิ้นก็ไม่กระดุกกระดิก ให้ระลึกอยู่ในใจรู้ว่า พุทโธ ความรู้สึกอยู่ตรงไหน แล้วตั้งสติไว้ตรงนั้นตาเราก็เพ่งดูตรงนั้น หูก็ลงไปฟังที่รู้สึกอยู่นั้น

นี่แหละเราจะรู้จักว่าศาสนามันเสื่อม ศาสนามันเจริญ ศาสนามันเสื่อมเป็นยังไง คือจิตของเราไม่ได้เจริญอิทธิบาทและไม่เจริญในศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งเป็นหลักพุทธศาสนา นี่เรื่องมันเป็นยังงี้ ศีลนี้เป็นหลักพุทธศาสนา เราดูซี่ ศีลคืออะไร ในบาลีท่านว่า อาทิกัลยาณัง มัชเฌกัลยาณัง ปริโยสานกัลยาณัง

กัลยา คือความงาม งามในเบื้องต้น งามท่ามกลาง งามในที่สุด งามเบื้องต้นคืออะไรล่ะ เป็นผู้มีศีล อะไรเป็นศีลล่ะ ท่านบอกว่าสำรวมกาย วาจาใจให้เรียบร้อย ดูชี่ กายเราเรียบร้อย วาจาเราเรียบร้อย ใจเราเรียบร้อย ไม่ได้ทำโทษน้อยใหญ่ทางกายทางใจแล้ว นี่จึงได้เป็นผู้มีศีล

ศีล แปลว่า ความปกติกายปกติใจ เดี๋ยวนี้ใจเรามันปกติหรือยัง มันปกติ มันเป็นยังไง มันก็ไม่พิกลพิการ มันไม่ทะเยอทะยาน กายของเราปกติมันก็ไม่พิกลพิการ ให้พิจารณาดูซี่ ทำจิตเป็นปกติ สิลา เหมือนกับก้อนหิน เหมือนกะหินลมพัดมาทุกทิศทั้งสี่มันก็ไม่หวั่นไหว ตอนนี้เราก็ทำใจเหมือนกับก้อนหิน ใครจะว่ายังไงก็ตาม ดีชั่วไม่เป็นเหมือนเขาว่า ให้ดูซี เมื่อเราไม่ดีแล้วเขาจะว่าดี มันก็ไม่ดีดังกับเขาว่า มันดีแล้ว เขาว่าไม่ดี มันก็ไม่เป็นเหมือนเขาว่า เราก็ดูซี่ ให้มันเห็นซี่ นี่หละ จิตเราเป็นศีลเราก็รู้จัก คืออธิบายมาแล้วนั่น ให้พากันพึงรู้พึงเข้าใจ

ทีนี้ สมาธิ งามท่ามกลางคือ สมาธิ เราก็ตั้งจิตตั้งมั่น ทีนี้จิตเราตั้งหรือไม่ตั้ง มันเอนเอียงไปทางไหน มันข้องตรงไหน มันคาตรงไหนเราได้แต่ว่า สมาธิคือจิตตั้งมั่น ลองตั้งดูซี่ มันตั้งหรือไม่ตั้ง มันตั้งนั้นเป็นยังไงล่ะ มันก็ไม่เอนเอียงไปหาความรักความชัง ไม่หลงในรูป ในเสียง กลิ่น รส สัมผัส อารมณ์ทั้งหลายต่างๆ เมื่อมันตั้ง สิ่งใดเกิดขึ้น เราก็ดับ นี่มันจึงเข้าถึงสมาธิ จิตตั้งมั่น เมื่อจิตสงบตั้งมั่นแล้ว มันก็ใส นี่หละ สมถกรรมฐาน ให้รู้จักสมถะ คือทำจิตให้สงบภายใน

เมื่อจิตเราสงบภายในแล้ว อุปมาเหมือนน้ำสงบ น้ำสงบมันก็ใส ใสแล้วก็มองเห็นเหตุ มองเห็นผล มองเห็นบุญกุศล มองเห็นสุข มองเห็นทุกข์ มองเห็นดี มองเห็นชั่ว มันสงบแล้ว อันนี้จิตของเราสงบแล้วพอมันจะออกข้างซ้าย หรือจะออกข้างขวา ข้างหน้าข้างหลัง ข้างบน ข้างล่าง เราก็รู้ จึงว่ามันตั้ง นี่ เพ่งเล็งตั้งสติอยู่ตรงนี้ นี่หละให้พึงรู้พึงเข้าไจต่อไปการที่ทำสมาธิ

อันนี้เมื่อจิตของเราเห็นแล้วอย่างนี้ เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในสังขารทั้งหลาย และมันจะได้เกิด ปัญญา ความรอบรู้ในกองสังขาร ใครเป็นผู้ปรุง ใครเป็นผู้แต่ง ไม่ใช่อันอื่นปรุงแต่ง กายสังขาร จิตสังขาร นี่หละ ปรุงแต่งขึ้นจากจิตของเรา นี่หละ มันจึงได้เกิดเป็น วิปัสสนา ขั้นต่อไปของสมถะ


เดี๋ยวนี้คนทั้งหลายว่าแท้วิปัสสนาๆ ได้ แต่ว่าไม่รู้จักว่าวิปัสสนามันเป็นยังไง นี่สมถะเป็นบาทของวิปัสสนา คือเมื่อจิตสงบแล้ว มาเห็นที่เกิดแห่งสังขาร แล้วก็เห็นที่ดับแห่งสังขารนี่หละ มันเป็นยังงี้ ให้พากันรู้ เดี๋ยวนี้เราไม่รู้ว่าอะไรมันเกิดจากไหน ไม่รู้จักที่เกิดและไม่รู้จักที่ดับ มันจะเป็นวิปัสสนาได้ยังไงล่ะ

วิปัสสนา คือเมื่อจิตเราสงบแล้วก็เห็นที่เกิดแห่งสังขาร โอ เกิดจากจิตของเรา เราก็ดับสังขารที่จิตของเรา ก็ดับได้เพราะเหตุใด เราเห็นโทษแห่งสังขาร เห็นภัยแห่งสังขารทั้งหลาย เห็นทุกข์แห่งสังขารทั้งหลาย นี่มันจะดับได้ก็ตรงนี้ เมื่อเป็นทุกข์เห็นโทษแล้วมันก็ตัด จึงเรียกว่าเป็นวิปัสสนา ความรู้แจ้งเห็นจริง เห็นสัจจธรรม สัจจะ ของจริงคืออะไรเล่า

เมื่อมีสังขารความปรุงความแต่งขึ้นแล้วมันก็เกิด มันหลง เมื่อมันหลงท่านจึงว่า อวิชชาปัจจยา สังขารา สังขารปัจจยา วิญญาณัง มันเป็นยังงี้หนา เมื่ออวิชชาความหลงมีแล้ว มันเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร สังขารมีแล้วก็เป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ เป็นยังงี้ วิญญาณมีแล้วก็เป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป รูปมีแล้วก็เป็นปัจจัยให้เกิดอายตนะ อายตนะมีแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้เกิดผัสสะความกระทบถูกต้อง เมื่อผัสสะมีแล้วก็เป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา เมื่อเวทนามีแล้วก็เป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา ความทะเยอทะยาน ตัณหามีแล้วก็เป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทานการยึดถือ นี่ ให้พิจารณาอย่างนี้ อุปาทานมีแล้วก็เป็นปัจจัยให้เกิดภพ คือเข้าไปตั้งภพมีแล้วก็เป็นปัจจัยให้เกิดชาติ ความเกิด ชาติมีแล้วก็เป็นปัจจัยให้เกิดชรา ชรามีแล้วก็เป็นปัจจัยให้เกิดพยาธิ พยาธิมีแล้วก็เป็นปัจจัยให้เกิดมรณะ คือความตาย มรณะมีแล้วก็เป็นปัจจัยให้เกิดทุกข์ นี่ พระพุทธเจ้าจึงให้พิจารณาในปฏิจจสมุปบาท เป็นเครื่องข้องอยู่

เหตุนั้นท่านจึงว่าทุกข์ควรกำหนด ควรพิจารณา ไปลงสมุทัย เราทั้งหลายก็รู้จักเรื่องสมุทัย สัตว์ทั้งหลายจมอยู่ในมหาสมุทร เป็นเหยื่อปลาทั้งหมด เรื่องเป็นอย่างนั้น ปาโป ปาปัง จมในมหาสมุทร คือหลงสมมติ นี่พระพุทธเจ้าท่านค้นแล้ว ว่าทุกข์มันมาจากไหน ท่านค้นทวนกระแส แนะทีแรกท่านพิจารณาว่าทุกข์มันมาจากไหน อะไรเป็นเหตุปัจจัยมา มาจากความเจ็บไข้ได้พยาธิอาพาธโรคา สิ่งเหล่านี้มันมาจากไหน พยาธิทั้งหลายเหล่านั้นมาจากชรา ความเฒ่าแก่ ความชำรุดทรุดโทรม อันนี้ความชำรุดทรุดโทรมมาจากไหนเล่า มาจากชาติ คือความเกิด เกิดมาจากไหน มันมาจากภพ ภพคือเข้าไปตั้ง ภพนั้นมันมาจากไหนเล่า เออ ท่านพิจารณา มาจากอุปาทานการยึดถือ ถ้าเรายึดถือที่ไหน เราก็ไปตั้งภพที่นั่น ให้ดูซี่ ภพของเราน้อยๆ ใหญ่ๆ ภพมาจากอุปาทาน อุปาทานมาจากไหนเล่า มาจากตัณหาความทะเยอทะยานตัณหานั้นมาจากไหน มาจากเวทนา มันมีทุกขเวทนา สุขเวทนา เวทนาเหล่านี้มาจากไหนเล่ามาจากผัสสะความกระทบถูกต้อง ผัสสะมาจากไหนเล่า มาจากอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเหล่านี้ อายตนะมาจากไหนเล่า มาจากรูป รูปนั้นอะไรเป็นเหตุปัจจัยมา มาจากวิญญาณ ปฏิสนธิวิญญาณ วิญญาณนั้นมาจากไหนเล่า มาจากสังขาร ความปรุงแต่ง สังขารมาจากไหนเล่า มาจากอวิชชา

นี่ท่านค้นมาจบตรงนี้ จึงว่า อวิชชาปัจจยาสังขารา เราต้องเรียนไปถึงอวิชชา ใครๆ ก็ไปหลงแต่อวิชชา เราไม่ได้โอปะนะยิโก ใครมันเป็นผู้รู้ว่าอวิชชา เราไม่ได้ระลึกถึง มันมีผู้รู้อยู่จึงรู้ว่าอวิชชา ต้องทำให้มันแจ้งจริงในตัวของเรา นี่แหละเป็นข้อปฏิบัติ


เพราะฉะนั้นให้พากันพึงรู้พึงเข้าใจ อย่าหลง เรานั่งอยู่เดี๋ยวนี้ เราหลงอะไร นี่หละ ให้รู้จักพุทธศาสนา ศาสนาจะเจริญขึ้นก็อาศัยเราประพฤติปฏิบัติ เรากระทำอย่างนี้มันก็เจริญได้ เมื่อเราไม่ประพฤติไม่ปฏิบัติ ศาสนาก็เสื่อม เรื่องเป็นอย่างนั้นไม่ได้เสื่อมจากไหน เสื่อมจากตัวบุคคล คือคนไม่ประพฤติ คนไม่กระทำ เดี๋ยวนี้บางคนว่าพระอรหัตต์ อรหันต์ก็ไม่มี พระโสดา สกิทาคา อนาคาก็ไม่มี จะมีได้ยังไง๊ ของคนไม่กระทำ ของคนไม่ปฏิบัติ ของคนไม่ได้ขัดได้เกลาและของเราไม่ได้ประพฤติ ไม่ได้ดู แน่ะ เรื่องมันเป็นยังงี้

เมื่อเราได้ยินได้ฟังแล้ว โอปนยิโก ดูซี่ว่าพระโสดาอยู่ที่ไหน ตำราท่านบอกไว้ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส เเน่ะ ก็เท่านี้ ผู้อื่นนี้ เมื่อใครรู้อันนี้แล้ว คนนั้นและเข้ามรรคในเบื้องต้น จะได้เป็นพระโสดา สักกายทิฐิ เดี๋ยวนี้เรามาถือตัวตน เมื่อเราพิจารณาดังอธิบายมาในเบื้องต้น มันไม่เป็นตัวเป็นตนแล้ว มันก็ละทิฐิ ละมานะอหังการ ความเมามัว ถือว่าเป็นตัวเป็นตน เมื่อไม่ถือ จิตมันก็ละก็วาง วิจิกิจฉา สงสัยว่าจะดี ยังโง้นยังงี้ เราก็เห็นแล้ว ขี้มูกของเรา น้ำลาย เลือดของเรา ดังที่อธิบายมานั่น จะสงสัยอะไรอีกล่ะ มันดีหรือมันชั่วล่ะ อธิบายมาแล้ว ดูซี่ เพ่งดูซี่ โลหิตัง แปลว่าน้ำเลือด เพ่งดูซิ กสิณ กสิณแปลว่าความเพ่ง เลือดสีแดง เพ่งดูซี่ เลือดของคน ของตนและของบุคคลอื่นมันเป็นยังไง เพ่งดู มันจะละได้หรือไม่ได้ เมื่อเห็นเลือดเป็นยังงั้นแล้วใครจะเอาล่ะ ใครต้องการล่ะ เอ้า ดูซี่ เลือดของเรา เพ่งกสิณซี่ เป็นอสุภะ กสิณ เพ่งให้มันเห็น เห็นแล้วจิตของเราจะไม่มีความสงสัย มันจะถอนสักกายทิฐิได้ มันจะไม่เป็นสีลัพพตความลูบคลำ ว่าศีล สมาธิ ปัญญา อยู่ที่อื่นที่ไกล มันประจำใจของเรา อยู่สุขทุกข์ทั้งหลาย นี่ พุทธศาสนาให้พากันรู้จัก

นี่ล่ะ เมื่อเราเห็นนี้แล้วจิตของเราก็หยั่งถึงศีลถึงสมาธิ มีปัญญาความรู้รอบในกองสังขารทั้งหลาย มันปรุงแต่งไม่ได้ ให้พึงรู้จึงเห็น นี่ล่ะ ศาสนาจะเจริญได้ เดี๋ยวนี้ศาสนาจะเสื่อม คือภิกษุและสามเณรบวชเข้ามาแล้ว ไม่ประพฤติ ไม่ปฏิบัติศีลของตน สมาธิของตนไม่รักษา เรื่องมันเป็นยังงี้ นี่ก็เล่าเรียนไป เรียนเสียเปล่าๆ ไม่ประพฤติ ไม่ปฏิบัติ และไม่ฝึกหัด และไม่มีความสำรวมระวัง ปล่อยไปประพฤติ ไปต่างๆ นานา

เดี๋ยวนี้น่ะ พระเณรเดินขบวนก็มี ทำไปเหลวไหล ฉันอาหารในเวลาวิกาลก็มี จับเงินจับทองก็มี ต่อของซื้อขายก็มี พูดเกี้ยวสีกาก็มี เที่ยวเล่นตามถนนหนทางก็มี พวกนี้น่ะซิ่มาย่ำยีพระศาสนา ทำศาสนาให้เสื่อม ไม่มีความสำรวมระวังศีลของตน ไม่ประพฤติปฏิบัติศีลของตน อุบาสกอุบาสิกาก็ไม่มีความเคารพในทานศีลภาวนาของตน นี่ซิมันเสื่อม หากภิกษุสามเณรบวชเข้ามาแล้วก็เล่าเรียนศึกษา สำรวมสิกขาวินัยของตนเรียบร้อย รู้จักแล้วศีลของเราก็ ๒๒๗ เณรก็ศีล ๑๐ ข้อ งดเว้นเราสำรวจอย่างนี้ศาสนามันก็เจริญรุ่งเรือง เดี๋ยวนี้มันไม่เป็นอย่างนั้นซี่ ศาสนามันเลยเสื่อมเสีย คนทั้งหลายจึงดูหมิ่นศาสนา ดูถูกศาสนา เพราะเราไม่มีศีล ไม่มีสมาธิ ไม่มีปัญญา มีแต่ศีรษะโล้นกับผ้าเหลืองว่าเป็นพระเท่านั้นข้อวัตรข้อปฏิบัติเป็นยังไง ดูซิ ท่านห้ามอะไรเราทั้งหลายก็ได้บวชแล้วได้ศึกษามาแล้วพระพุทธเจ้าท่านได้สอนไว้ทุกสิ่งทุกอย่าง ศีล ๒๒๗ ให้งดเว้น ท่านสอนไว้ นุ่งห่มท่านก็สอน นั่งนอน ท่านก็สอน เดินยืนท่านก็สอน ถ่ายอุจจาระปัสสาวะ บ้วนเขฬะท่านก็สอน พระพุทธเจ้าจนคำข้าวท่านก็สอน เอาข้าวเข้าปากท่านก็สอน นี่ ความละเอียดของท่าน ต้องการความสวยความงาม ความสำรวมระวัง นี่เป็นอย่างนี้

ทีนี้อุบาสกอุบาสิกาก็ดี ท่านก็สอนให้ถึงพระไตรสรณาคมน์ คือเอาพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะที่พึ่ง ที่ระลึก ที่กราบที่ไหว้ ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะได้ จึงว่า นัตถิเม สะระณัง อัญญัง ที่พึ่งอื่นของข้าพเจ้าไม่มีนอกจากพระพุทธเจ้าแล้ว เป็นยังงั้นหรอก ถ้าเราไม่ถือยังงั้นแล้ว พระไตรสรณาคมน์ของเราก็เศร้าหมอง เจ้าของเป็นบาป ขาดจากพระพุทธศาสนา เหตุนั้น ให้พึงรู้ พึงเข้าใจต่อไป

ผู้ปฏิบัติศาสนาอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย ท่านไม่ต้องหามื้อหาวันหาฤกษ์ยาม ทำการทำงานต้องหามื้อหาวัน ไม่ใช่วันนั้นไม่ดี วันนี้ไม่ดี วันมันไม่ได้ทำอะไรแก่คน วันดีทำไมคนตายล่ะวันไม่ดีทำไมคนยังเกิด ในเจ็ดวัน อาทิตย์ จันทร์ อังคาร พุธ พฤหัสฯ ศุกร์ เสาร์ นี้ ทำไมมันมีเท่านี้ คือสมมุติว่าเราจะทำการงานสิ่งใดพร้อมเพรียงกันหรือยัง เขาหาวันพร้อมเพรียงกัน จะเอาวันไหนเวลาไหน นัดกันพร้อมเพรียงกัน ถ้าพร้อมกันแล้วละ วันนั้นนั่นแหละดี ให้หาวันอย่างนี้ ถ้าวันใดยังไม่ได้พร้อมกัน อย่าเพ่อทำ จะแต่งงานแต่งการกัน หรือจะปลูกบ้านปลูกช่องตึกร้านอาคารก็ตามให้รู้ไว้ คือวันไหนมันพร้อมกันแล้วเรียบร้อยแล้ว ทำได้ ขึ้นได้ ถ้ายังไม่พร้อมแล้ว มันขัดข้อง เรียกว่าวันไม่ดี เขาหาวันอย่างนี้หรอก ให้เข้าใจซิ อธิบายย่อๆ ให้ฟังนี่แหละ ให้ละเว้นเหล่านี้ แล้วดูว่าดวงดี ดวงไม่ดี คนโกหกหลอกลวงกันให้วุ่นวายเดือดร้อน ในพระพุทธศาสนาดวงก็ดูซี่ มันไม่ได้มาจากฟ้าอากาศ ให้ดู ดวงดีแล้วเดี๋ยวนี้ ดวงดีมันเป็นยังไง ดวงดีรวมมาสั้นๆ คือใจเราดี มีความสุขความสบาย เมื่อใจเราสุข ใจเราสบายแล้ว ทำอะไรๆ มันก็สบาย การงานมันก็สบาย ประเทศชาติมันก็สบาย นี่เรียกว่าดวงดี ดวงไม่ดีคือใจเราไม่ดี ใจเราทุกข์ยากวุ่นวายเดือดร้อนนี่หละดวงไม่ดี ทำอะไรมันก็ไม่ดี หาอะไรมันก็ไม่ดี ดูเอาตรงนี้ จะให้ใครดูให้ ดูเอาซิทุกคน ที่มานั่งอยู่นี่ ทั้งพระทั้งเณร ทั้งอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย ดวงดีตรงนี้ อย่าไปพิจารณาอื่น แล้วอย่าเข้ารีตพวกเดียรถีย์นิครนถ์ คนนอกศาสนาเหล่านั้น เข้าไปถืออย่างนั้นแล้วขาดจากพุทธศาสนา นี่หละผู้จะปฏิบัติศาสนาต้องถือยังงี้


แล้วอุบาสกอุบาสิกาให้รักษาศีลห้า อย่าไปฆ่าควายวัว อย่าเอาแต่ว่าศีลรับกับพระ ศีลอยู่กับพระ พระว่าศีลอยู่กับพระพุทธเจ้า แน่ะ ศาสนาก็อยู่กับพระพุทธเจ้า ไม่นึกว่าเป็นของของเรา เมื่อเราไม่นึกว่าเป็นของของเราแล้ว เราก็ท้อถอยน้อยใจของเรา ถ้าว่าของเรานี้เป็นของเราแล้ว เราก็เอาใจใส่ จะไปรับกับใครเล่าศีล

นี่จะอธิบาย ตัวศีลห้าได้มาพร้อมตั้งแต่เราเกิดมา ขาทั้งสอง แขนทั้งสอง ศีรษะหนึ่ง นี่เป็นห้า อันนี้ตัวศีลห้า แล้วอย่าเอาห้าข้อนี้ไปทำโทษห้า โทษห้าคืออะไร ปาณาฯ นั่นก็โทษ อทินนาฯ นั่นก็โทษ กาเมฯ นั่นก็โทษ มุสาฯ นั่นก็โทษ สุราฯ นั่นก็โทษ แน่ะ เป็นโทษทั้งหมด ที่เรายุ่งยากทุกวันนี้ก็เพราะถ้าอย่างนี้ กลัวคนมาฆ่า กลัวขโมย กลัวคนประพฤติผิดในกาม กลัวคนมุสา ฉ้อโกงหลอกลวง กลัวคนมันเมา สุราสาโทกัญชายาฝิ่น นี่แหละเป็นโทษ ถ้าเราละเว้นเหล่านี้แล้ว ท่านว่า สีเลนะ สุคะติง ยันติ มีความสุข สีเลนะ โภคะสัมปะทา มีโภคสมบัตินี่นะให้พากันเข้าใจ ให้ละเว้นโทษทั้งหลายห้าอย่างนี้ เมื่อเรารับหรือไม่รับ อยู่ไหนๆ ก็เป็นศีล อยู่ในรถเป็นศีล อยู่ในป่าในดง ในบ้านในเมือง ถนนหนทาง ถ้าเราไม่ได้ทำโทษห้าอย่างนี้แล้ว มันก็เป็นศีล อันนี้เรามาว่ากะพระ มารับกะพระ ว่าไม่ได้รับกับพระแล้วไม่ใช่ศีล อันนั้นใช้ไม่ได้ เราก็รู้แล้ว รับกับพระว่า ปาณาติปาตา เวรมณี ยุงมากัด ตบปั้บ อยู่นี่วันยังค่ำ จะเป็นศีลเรอะ มันเป็นศีลไม่ได้ซี่ ต่อไปให้รู้จักซี่ อทินาทานา เห็นของเขาก็ขโมยเสีย ว่าสันยังค่ำก็ไม่เป็นศีล เราพึงละเว้นห้าอย่างนี้หละ ให้พากันรู้จัก

นี่อธิบายทั้งนอกทั้งใน เอ้า น้อมเข้าไป เวลานี้ สิ่งเหล่านี้มาจากไหน ให้พากันงดเว้น ให้รู้จัก เอ้า ต่อนี้ไปให้ตั้งจิตดู เพ่งดูเดี๋ยวนี้ โทษทั้งหลายอยู่ที่ไหน สุขอยู่ที่ไหน ทุกข์อยู่ที่ไหน ให้พากันพึงรู้พึงเข้าใจ ประเทศของเรามันยุ่งยากตรงไหน เหมือนกับเราทำถนนหนทางนะหละ มันขัดข้องตรงไหน เราก็แก้ไข อันนี้จิตใจของเรา มันข้องตรงไหน มันคาตรงไหน เราก็แก้ไข ไม่ใช่จะมานั่งหลับตา เจ็บบั้นเอวเสียเปล่า เรามานั่งดูของเรา เวลานี้เรามาอยู่ในชั้นใด ภูมิอันใด นี่ให้รู้จักจิตของเรา เป็นกุศลหรืออกุศลให้รู้จัก จิตของเราสงบหรือไม่สงบ จิตของเราดีหรือไม่ดี ให้รู้จักนี่หละ กามาวะจะรัง กุสะลัง จิตตัง ให้รู้จักจิตของเรา อุปปันนัง โหติ มันอุบัติขึ้นจากจนของตนนี้ เอ้า ต่อไปนี้ต่างคนต่าง โอปะนะยิโก น้อมเข้ามาดูนะ นี่หละ พิจารณาเพ่งดูหัวใจของเรา เราข้องอะไรอยู่ จิตของเราเป็นยังไง จิตของเราดี มันเป็นยังไง จิตของเราดี มันเป็นยังงี้ จิตมันสงบดี มีความสุข ความสบาย เย็นอกเย็นใจ ไม่ทุกข์ไม่ร้อน ไม่วุ่นไม่วาย พุทโธ ใจเบิกบาน สบาย นี่หละ จิตดี นำความสุขความเจริญให้ในปัจจุบันและเบื้องหน้า เรามานี้ก็ต้องการความสุขความสบาย ต้องการความสุขความเจริญ ถ้าจิตของเราเป็นยังงี้แล้วเราก็ สันทิฏฐิโก รู้เอง เห็นเอง ถ้าจิตไม่ดีแล้ว เป็นยังไง คือจิตไม่สงบ จิตไม่ดี ทะเยอทะยานดิ้นรนจิตไม่ดีแล้ว ทุกข์ยากเดือดร้อนวุ่นวายลำบากให้หนักให้หน่วง ให้ง่วงให้เหงา ให้มืดให้มัว จิตอย่างนี้นำสัตว์ทั้งหลายให้ตกทุกข์ได้ยากในปัจจุบันและเบื้องหน้า เมื่อจิตเป็นเช่นนี้แล้ว ประเทศชาติของเราก็วุ่นวาย ไม่ใช่อื่นเป็น ไม่ใช่อื่นวุ่นวาย ดวงใจของเรานี่วุ่นวาย เอ้า วัดดูซี่จะกว้างขวางอะไร สามีภรรยารักกัน บุตรบิดามารดาญาติพี่น้องรักกัน ถ้าจิตไม่ดีแล้วมันก็เกิดทะเลาะกัน ถ้าจิตดีแล้วมันไม่ทะเลาะกัน หรือว่าไง ลองเพ่งดูซี่ จริงหรือไม่จริงล่ะ ดูซี่ อยากร่ำอยากรวยอยากสวยอยากงาม ทำไมมันไม่เป็น บางคนอยากรวย ทำไมมันไม่รวย ทำไมเงินเดือนมันไม่ขึ้น ทำไมยศมันไม่เลื่อน เพราะเหตุใด ดูซี่มันไม่ขึ้นเพราะจิตเราไม่ดี เราไม่ได้สร้างคุณงามความดีไว้สำหรับปัจจุบันและเบื้องหน้า จิตไม่ดีก็ทุกข์ยากลำบากอดอยาก จิตดวงนี้นำให้เราได้ทุกข์ได้ยาก ทำอะไรมันไม่ขึ้น ทำอะไรมันไม่รวย มันรวยเป็นยังไง จิตดีมีความสุขความสบาย จิตดวงนี้นำความสุขความเจริญให้ในปัจจุบันและเบื้องหน้า เอ้า ต่อนี้ไปจะไม่อธิบายแล้ว

เมื่ออธิบายอยู่ยังงี้มันก็ไม่มีที่สิ้นสุด สรุปหัวข้อแล้วก็รวมลงที่กายและใจนี้ เอ้า เพ่งดูอธิบายดีชั่วทั้งภายนอกภายในให้รู้แล้ว ต่อไปนี้ โอปนยิโก จริงๆ หรือไม่จริง ให้พากันเพ่งดูมันข้องตรงไหน คาตรงไหน ไม่สู้ตรงไหน ให้พากันเพ่งดูอยู่ตรงนั้น อย่าส่งไปหน้า มาหลัง ข้างซ้าย ข้างขวา ข้างบน ข้างล่าง ให้ตั้งจำเพาะท่ามกลางอันที่รู้อยู่นั้น นี่หละ มันเป็นยังไงเราคอยแก้ไขตรงนั้น เราคอยชำระตรงนั้น นี่จึงว่าเล็งดู ไม่ได้ดูอื่น ดูจิตของเรา ดูภพของเรา ดูที่พึ่งของเรา นี่หละ ให้ดูให้รู้จัก ที่นั่งดีหรือไม่ดีต้องรู้จักตรงนี้ สันทิฏฐิโก ผู้ปฏิบัติรู้เองเห็นเองถ้าเราไม่รู้ คนอื่นจะบอกมันก็ไม่รู้ นี่ข้อปฏิบัติเป็นยังงี้ ต่อไปได้ยินเสียงอะไรก็ตาม ให้สัญญาไว้ว่า สิ่งนั้นไม่มีอันตรายแล้ว เราไม่ต้องเดือดร้อน ทำจิตของเรา จะไม่อธิบายต่อไป จะสงบละ ต่างคนต่างสงบ วางให้สบาย เราอยากได้ความสุขความสบาย จะได้เป็นบุญวาสนาของเรา จะได้เป็นนิสัยของเรา มันพ้นทุกข์ เราทั้งหลายอยากพ้นทุกข์ ก็ดูซี่ มันพ้นทุกข์ ก็คือจิตของเราไม่ทุกข์ จิตเราไม่ทุกข์ มันก็พ้นทุกข์มันไม่ได้พ้นตรงฟ้าอากาศ ดูเอา มันยังทุกข์อยู่ มันก็ยังไม่พ้นทุกข์ นี่แหละเราทำบุญกุศล เรียกว่าปฏิบัติบูชา บูชาอย่างเลิศอย่างประเสริฐแท้เข้าถึงธรรม ถึงวินัย ถึงพระพุทธศาสนา ถึงชั้นศาสนา เมื่อทำยังงี้ ไม่ถึงยังไงเล่า ได้บอกแล้วในเบื้องต้น ท่านบัญญัติลงทีนี่ กายกับใจเท่านี้ เอ้า เพ่งดู

ท่านมาทำบุญทำกุศลได้สองสามวันมานี้แล้ว เป็นยังไงจิตของเราทำมาระยะนี้ ต่อไปให้พากันรู้จักความสงบของประเทศชาติ และความสุขความเจริญของพวกเราในปัจจุบันและเบื้องหน้า และที่อยู่ของเราในปัจจุบันและเบื้องหน้า นี่หละ พากันนั่งดู ดูแล้วเป็นอย่างไรล่ะ ที่พึ่งของเรา ที่อยู่ของเรา ให้มันรู้จักไว้พุทโธเป็นที่พึ่งของเรา พุทโธเป็นผู้เบิกบานสว่างไสวแล้ว มนุษย์ทั้งหลายเป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งนั้น ต่างต้องการความสุขความเจริญและความพ้นทุกข์ ที่เราท่านทั้งหลายมานี้ก็ต้องการความสุขนและความสบายนั่งดูแล้วมันสุขไหม มันสบายไหม นี่แหละให้พึงรู้ถึงเข้าใจ เมื่อจิตของเรามีความสุขแล้ว การงานของเราทั้งหลายมันก็สบายไปหมด ตลอดประเทศชาติ เทวบุตรเทวธิดา พระอินทร์ พระพรหม ดินฟ้าอากาศก็ต้องรักษามนุษย์ทั้งหลาย ท่านได้บอกไว้แล้ว

ธัมโม หะเว รักขะติ ธัมมะจาริง สัตว์อาศัยซึ่งธรรม ธรรมอาศัยซึ่งสัตว์ ถ้าสัตว์ปฏิบัติธรรมดี ธรรมก็นำความดีให้แก่พวกเราถ้าเราปฏิบัติดี ประพฤติดี ธรรมก็นำคุณงามความดีให้ นำความสุขความเจริญให้ ถ้าเราปฏิบัติไม่ดีทำไม่ดี ธรรมก็นำไม่ดีให้ในปัจจุบันและเบื้องหน้านี่หละ บุญกุศลที่เราได้ทำอย่างนี้ เรียก ปฏิปัตติบูชา บูชาอย่างเลิศ อย่างประเสริฐแท้ ต่อไปให้พากันนั่งทุกวัน เข้าวัดทุกวัน ประพฤติทุกวัน อธิบายให้ฟังแล้ว มันขัดข้องตรงไหนไม่ดีตรงไหน ต้องแก้ไขตรงนั้นบางคนว่าใจไม่อยู่ มันไปไหนจึงว่าไม่อยู่แท้ที่จริงใจเราอยู่ตั้งแต่เกิดมา ที่ว่าใจไม่อยู่นั้น ต้องหลงจากอวิชชา มันหลง เราต้องนั่งดูความไม่อยู่นี่แหละมันไปก่อภพไหนล่ะ ภะเว ภะวา สัมภะวันติ มันเที่ยวก่อภพน้อยๆ ใหญ่ๆ อยู่นั่น เราต้องนั่งดู ภพนั้นเป็นกุศลหรืออกุศลกุศลคือความสุขความสบายอกสบายใจ ภพที่ไม่ดี ใจเราไม่ดี ทุกข์ยากวุ่นวายเดือดร้อนนำไปสู่ทุคติในปัจจุบันและเบื้องหน้า

เมื่อพวกท่านทั้งหลายได้สดับแล้ว ในโอวาทานุศาสนีอันเป็นธรรมะ คำสั่งสอนนี้ที่นำมาเตือนใจโดยย่นย่อพอเป็นข้อปฏิบัติประดับสติปัญญาบารมีของท่านทั้งหลาย เมื่อท่านได้ยินได้ฟังแล้ว โยนิโสมนสิการ พากันกำหนดจดจำไว้ แล้วนำไปประพฤติปฏิบัติฝึกหัดตนของตนให้เป็นไปในธรรมคำสั่งสอน สรุปหัวข้อใจความแล้วคือกายกับใจนี้เป็นที่ตั้งแห่งพระพุทธศาสนา เป็นที่ตั้งแห่งมรรคผล เมื่อเข้าใจอย่างนี้แล้ว พากันอุตสาหะพยายามกระทำให้เกิดให้มีให้เป็นขึ้นในตัวของเราซึ่งกุศลนี่หละ ในผลที่สุดคือ อัปปมาทธรรม คือความไม่ประมาท เมื่อเราท่านทั้งหลายไม่มีความประมาทแล้ว แต่นี้ต่อไปพวกท่านทั้งหลายจะประสบพบเห็นแต่ความสุขความเจริญ ดังได้แสดงมา เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้

อะภิวาทะนะสีลิสสะ นิจจัง วุฑฒาปะจายิโน จัตตาโร ธัมมา วัฑฒันติ อายุ วัณโณ สุขัง พะลัง


:b8: :b8: :b8:

• ประวัติและปฏิปทา “หลวงปู่ฝั้น อาจาโร”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=58068

• รวมคำสอน “หลวงปู่ฝั้น อาจาโร”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=44391

• ประมวลภาพ “หลวงปู่ฝั้น อาจาโร” วัดป่าอุดมสมพร
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=42819

เจ้าของ:  Duangtip [ 15 มิ.ย. 2020, 22:05 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: วัดจิตของตน (หลวงปู่ฝั้น อาจาโร)

:b39: :b44: ขออนุโมทนา สาธุๆๆ ค่ะ
:b8: :b8: :b8:

หน้า 1 จากทั้งหมด 1 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/