วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 22:49  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=2



กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 มิ.ย. 2020, 18:16 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2758


 ข้อมูลส่วนตัว


:b44: การฝึกสติปัฏฐาน
พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ)
วัดอรัญญบรรพต อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย


รูปภาพ

ต่อไปนี้พึงนั่งขัดสมาธิ คือนั่งขัดสมาธิ เอาขาขวาทับขาซ้าย เอามือขวาทับมือซ้าย ตั้งกายให้ตรงคืออย่าเงยนักอย่าก้มนักและหลับตา ต่อจากนั้นก็ตั้งสติสำรวมจิตอธิษฐาน นึกถึงคุณพระพุทธเจ้า คุณพระธรรม และคุณพระสงฆ์ ว่าเป็นที่พึ่งอันประเสริฐ โดยนึกว่าขอให้คุณพระรัตนตรัยจงมาตั้งอยู่ในจิตของข้าพเจ้าในบัดนี้ ขอให้จิตของข้าพเจ้าตั้งมั่นเป็นสมาธิ อย่าได้หวั่นไหวไปตามอำนาจของกิเลสต่างๆ ขอให้ข้าพเจ้ามีปัญญาอันประเสริฐ สามารถรู้แจ้งในธรรมของจริง ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ดีแล้วนั้นเทอญ

ต่อจากนั้นก็ตั้งสติ กำหนดเพ่งรู้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก โดยครั้งแรกนี้ ให้หายใจเข้ายาว หายใจออกยาว สักสิบครั้งเสียก่อน ต่อจากนั้นจึงหายใจตามปกติ พยายามรักษาสติ อย่าให้เผลอระลึกไปทางอื่น นอกจากลมหายใจเข้าออก

การเพ่งลมหายใจเข้าออก เป็นวิธีระงับจิตฟุ้งซ่านและรำคาญได้ เช่น หายใจเข้ายาวก็รู้ว่าหายใจเข้ายาว หายใจเข้าสั้นก็รู้ว่าหายใจเข้าสั้น เมื่อจิตหยุดนิ่งอยู่ในปัจจุบันพร้อมด้วยสติแล้ว ก็ให้กำหนดรู้ว่าร่างกายทุกส่วน มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น ก็สักแต่ว่าสมมุติว่าร่างกายเท่านั้น เมื่อว่าตามความจริงแล้วไม่ใช่สัตว์บุคคล เป็นสักแต่ว่าธาตุสี่คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม ประชุมกันอยู่ อาศัยบุญบาปที่ทำมาแต่ชาติก่อนโน้น นำจิตวิญญาณมาปฏิสนธิในธาตุของมารดาและบิดา และอุปถัมภ์บำรุงให้เจริญขึ้นไป ครบกำหนดแล้วคลอดออกมา เมื่อคลอดออกมาแล้วก็อาศัยบุญกรรมบ้าง อาหารบ้าง รักษาไว้ จึงไม่แตกทำลายไปก่อนเวลาอันสมควร เมื่อหมดเขตของบุญกรรมนั้นแล้ว ร่างกายนี้ก็ต้องแตกสลายออกจากกัน กลายเป็นสภาวธาตุตามเดิม ให้กำหนดรู้ตามเป็นจริงอย่างนี้

การกำหนดรู้ร่างกายเพียงเท่านี้ ก็ยังไม่พอที่จะให้จิตรวมลงได้ เพราะยังมีเวทนาเกิดขึ้นกระทบกับจิตอยู่ ดังนั้นจึงต้องกำหนดพิจารณาเวทนาด้วย คำว่าเวทนา แปลว่า จิตเสวยอารมณ์ต่างๆ คือเป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง และไม่สุขไม่ทุกข์บ้าง หมายความว่า อาการของร่างกายกระทบกับจิต ถ้าร่างกายปกติอยู่ ความรู้สึกของจิตก็เฉยๆ จิตก็เป็นสุข ถ้าร่างกายนี้แปรปรวน จิตก็รู้สึกไม่สบายเป็นทุกข์ ทนได้ยาก


ทีนี้ให้กำหนดดูจิต คำว่า จิต คือ ความรู้หรือความคิดนั่นแหละ เรียกว่า จิต ธรรมดาจิตย่อมคิดไปในอารมณ์ต่างๆ เช่น อารมณ์ที่น่ายินดีบ้าง อารมณ์ที่น่ายินร้ายบ้าง ดังนั้นจึงต้องกำหนดพิจารณาธรรมารมณ์อันเกิดกับจิตนั้น ให้เห็นตามเป็นจริง คือว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตนแต่อย่างใด รวมความลงว่าฐานที่ตั้งของสติทั้งสี่นี้อยู่ใกล้กัน เมื่อเห็นร่างกายนี้ ว่าไม่ใช่ตัวตนเราเขา ก็ย่อมเห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมารมณ์ที่เกิดกับใจ ว่าไม่ใช่ตัวตนเราเขาเช่นเดียวกัน ย่นลงอีกเป็นสอง คือร่างกายทุกส่วนเป็นรูปธรรม

ส่วนเวทนา จิต ธรรมารมณ์ เป็นนามธรรม มีแต่ชื่อไม่มีรูปร่าง เป็นแต่กายกับจิต กระทบกันเกิดขึ้นเท่านั้น แล้วก็ดับไป แล้วก็เกิดขึ้นใหม่อีก และก็ดับไปอีกอยู่อย่างนั้นแหละ

ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสว่าไม่ใช่ตัวตนเราเขา เมื่อจิตเห็นแจ้งอย่างนี้แล้ว ก็จะปล่อยวางไม่ยึดถือ ในขณะนั้นความคิดและความเห็นต่างๆ ก็จะดับลง เหลือแต่ความรู้กับสติเท่านั้นปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ในขณะนั้นกายก็เบา จิตก็เบา ปลอดโปร่งดี พึงมีสติ รักษาความสงบนั้นไว้ให้ได้นานเท่าใดยิ่งดี

ถ้ามันเกิดนิมิตอะไรขึ้น ก็ให้ทำความรู้เท่านิมิตตามเป็นจริงว่า นิมิตนั้นเป็นของไม่เที่ยง ไม่ใช่ธรรมของจริง อย่าหวั่นไหวไปตามนิมิตนั้น เมื่อจิตไม่หวั่นไหวไปตาม ถึงเวลามันก็ดับไปเอง แต่บางคนภาวนาก็ไม่เห็นนิมิตอะไร ไม่เป็นไร พึงเอากายเอาจิตนี้แหละเป็นนิมิต เมื่อรู้เท่ากายรู้เท่าจิตแล้ว ก็ได้ชื่อว่ารู้เท่านิมิตทั้งปวง

การเจริญสติปัฏฐานสี่นี้ ย่อมเป็นได้ทั้งสมถะและวิปัสสนา คือการเพ่งดูกาย เวทนา จิต ธรรมอยู่ ใจสงบจากนิวรณ์ทั้งห้าได้ จัดเป็นสมถะ การกำหนดจิตพิจารณา กาย เวทนา จิต ธรรม เห็นแจ้งตามเป็นจริงว่า ไม่ใช่ตัวตนเราเขา จัดเป็นวิปัสสนา

เพราะฉะนั้นพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ควรมาเจริญสติปัฏฐานธรรมทั้งสี่ประการนี้กันเถิด เมื่อเจริญให้มากแล้วจักได้รับอานิสงส์ คือความทุกข์ ความโศกเศร้า ความเสียใจ ความพิไรรำพันต่างๆ ย่อมสงบระงับไปจากดวงจิตของผู้นั้น และเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความเห็นจริง เพื่อความดับ และเพื่อพระนิพพานเป็นอวสาน แต่ทั้งนี้ต้องทำให้มาก เจริญให้มาก จึงจะเป็นไปเพื่อความดับทุกข์ดังกล่าวได้

ถ้าไม่เจริญสติปัฏฐานธรรมทั้งสี่นี้ให้มากแล้ว ย่อมดับทุกข์ทางจิตไม่ได้ ทั้งนี้ก็เพราะหลงสำคัญผิด คิดว่าร่างกายนี้เป็นตัวเป็นตนของตนจริงๆ มีแต่หวงห่วงอยู่อย่างนั้น ปลงไม่ตกวางไม่ลง ดังนั้นเมื่อขันธ์ห้านี้แปรปรวนไปจึงต้องเป็นทุกข์ใจมาก เพราะกลัวจะได้พลัดพรากจากขันธ์ห้านี้ไป เลยไม่มีสติสัมปชัญญะในเวลาจวนจะสิ้นชีพ ทำลายขันธ์ รู้ไม่เท่าเอาไม่ทัน นึกถึงความดีอะไรไม่ได้เพราะใจไม่ตั้งมั่น ความรู้จริงจึงไม่เกิดขึ้น ใจจึงยึดถือเอาแต่อกุศลกรรมไว้ เมื่อตายลง อกุศลกรรมก็นำไปสู่ทุกข์ในโลกหน้าต่อไป

เพราะฉะนั้นจึงสมควรตื่นตัวกัน อย่าปล่อยให้ความโลภ โกรธ หลง เข้าครอบงำจิตให้มัวหมอง มันเป็นเหตุให้ทำบาปคือฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม กล่าวเท็จคือคำไม่จริง และดื่มสุราเมรัย กัญชา ฝิ่น เฮโรอีน ทั้งหมดล้วนแต่เป็นของเสพติดให้โทษ ในปัจจุบัน และเบื้องหน้าทั้งนั้น ความจริงการที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้พุทธบริษัทฝึกฝนอบรมจิตของตน ก็เพื่อจะให้เกิดปัญญารู้แจ้งในบาปบุญคุณโทษนี้แหละ เป็นเบื้องต้นก่อน ทั้งนี้เพราะว่าเมื่อไม่ละบาปและบำเพ็ญบุญ ให้เจริญขึ้นในตนเสียก่อน เรื่องที่จะให้บรรลุธรรมขั้นสูงขึ้นไปนั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้

อุปมาเหมือนบุคคลผู้มีความรู้ถึงขั้นปริญญาตรี โท เอกได้ ก็ต้องเรียนตั้งแต่ขั้นประถมมัธยมไปโดยลำดับ จึงจะสำเร็จความรู้ขั้นสูงได้ก็ฉันนั้น


สำหรับท่านผู้ที่ละเว้นบาปทุจริตดังกล่าวมานั้นได้แล้ว ก็อย่าประมาท เพราะกิเลสอย่างกลางยังมีอยู่ คือนิวรณ์ ได้แก่ความรักความชัง ความหดหู่ เคลิบเคลิ้ม ความฟุ้งซ่าน รำคาญ ความสงสัยลังเลในเรื่องบาปบุญคุณโทษ เป็นต้น กิเลสเหล่านี้จะระงับได้ ก็อาศัยการทำจิตให้สงบเท่านั้น ไม่มีทางอื่นที่จะระงับได้

การที่จะทำจิตให้สงบได้ก็ต้องอาศัยความเชื่อ คือเชื่อว่าเมื่อทำใจให้สงบแล้ว กิเลสเหล่านี้ต้องระงับไปจริงๆ เมื่อรู้อย่างนี้ก็เป็นเหตุให้พากเพียรพยายามไหว้พระภาวนาไม่ให้ขาด คือพยายามกำหนดจิตเพ่งรู้ลมหายใจเข้าและหายใจออกให้เสมอติดต่อกันไป ดังกล่าวมาแล้วแต่ตอนต้นนั้น ไม่ต้องคิดถึงเรื่องอื่นใด มุ่งแต่จะให้จิตสงบเป็นหนึ่งอยู่ในปัจจุบันนี้เท่านั้น และให้กำหนดรู้ว่าเพราะจิตไม่สงบนี้แหละ จึงไม่รู้แจ้งในธรรมของจริง ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้แล้วนั้น ต่อแต่นี้ก็จะตั้งใจทำความเพียร เพ่งอยู่ในจิตนี้เรื่อยไป จนกว่าจิตจะสงบลงเป็นหนึ่ง

ลักษณะของจิตที่สงบลงเป็นหนึ่งคือ สัญญาอารมณ์ที่เป็นอดีตและอนาคตดับลง เหลือแต่ความรู้หรือจิต พร้อมด้วยสติเป็นหนึ่งอยู่ในปัจจุบันเท่านั้น ในขณะนั้นปีติคือ ความอิ่มใจจักเกิดขึ้น เพราะไม่เคยได้พบกับความสงบอย่างนี้มาแต่ก่อน

เมื่อปีติเกิดขึ้นเช่นนั้น ก็ทำความรู้เท่าปีตินั้นว่า ปีตินี้ก็ไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไปเป็นธรรมดา พยายามตั้งสติข่มปีตินั้นไว้ อย่าปล่อยให้มันรุนแรงเกินไป และอย่าคิดอยากให้มันดับ เมื่อถึงเวลาแล้วมันจะดับไปเอง เมื่อปีติดับไปจิตก็สงบลงอย่างสนิท ในวาระนี้แหละความสุขจะเกิดขึ้น ก็ต้องรู้เท่าความสุขนั้นอีกครั้งหนึ่ง เพราะความสุขนี้ก็ไม่เที่ยงเหมือนกัน เมื่อรู้เท่าความสุขได้แล้ว จิตจะสงบลงเป็นหนึ่งละเอียดเข้าไปกว่าเดิม และตั้งอยู่ได้นาน และเป็นอุเบกขาในที่สุด คือมีความรู้สึกเฉยต่ออารมณ์ต่างๆ พร้อมด้วยสติกำกับอยู่ด้วย

ในขณะนั้นร่างกายก็เบา ความเจ็บปวดและเมื่อยล้าก็จะหายไป ทางจิตก็เบาปลอดโปร่งไม่ขัดข้องอะไร เหมาะแก่การทำงานทางจิต คือได้แก่การเจริญวิปัสสนา เพื่อความรู้แจ้งเห็นจริงในธรรมของจริง แต่ก่อนไม่รู้จริง รู้แต่ธรรมไม่จริง คือไปตามสมมุติบัญญัติเฉยๆ ไม่รู้ถึงขั้นปรมัตถ์ คือความจริงอย่างยิ่ง

ดังนั้นการเจริญวิปัสสนา พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้กำหนดพิจารณาขันธ์ห้าก่อนอื่น เพราะขันธ์ห้านี้เป็นที่ตั้งแห่งอุปาทานของจิต คือหมายความว่า จิตที่ยังไม่รู้แจ้งขันธ์ห้าตามเป็นจริง ย่อมหลงยึดถือว่า เป็นตนของตนจริงๆ ดังนั้นจึงเป็นทุกข์ เพราะมันทนได้ยาก ไม่เป็นไปตามใจหวัง

ขันธ์ห้าเมื่อแยกออกก็มีสอง คือ รูปธรรม ได้แก่ร่างกายทุกส่วน นามธรรม ได้แก่เวทนา คือจิตเสวยอารมณ์ เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง ไม่สุขไม่ทุกข์บ้าง สัญญาคือความจำหมาย รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสต่างๆ สังขารได้แก่ความคิดที่เป็นบุญบ้าง เป็นบาปบ้าง ไม่ใช่บุญไม่ใช่บาปบ้าง วิญญาณคือความรู้แจ้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ส่วนนามธรรมสี่อย่างนี้ ไม่มีรูป มีแต่ชื่อเท่านั้น มองไม่เห็นด้วยตาแต่รู้ได้ด้วยใจ คือกายกับใจกระทบกัน จึงเกิดความรู้และความจำขึ้นมา เป็นต้น


การเจริญวิปัสสนา ท่านสอนให้กำหนดจิตที่สงบอยู่นั้นแหละ เพ่งพิจารณารูปกายนี้ก่อน เพราะเป็นของหยาบเห็นได้ง่าย เช่นกำหนดจิตเพ่งพิจารณาดู ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น ให้เห็นตามสภาพความเป็นจริง

ความเป็นจริงของเหล่านี้ล้วนแต่เป็นของไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วก็แปรปรวนแตกดับไปเป็นธรรมดา ทั้งเต็มไปด้วยของโสโครกสกปรก อาศัยการอาบน้ำ ชำระขัดสี และตกแต่งประดับประดาอยู่เสมอ จึงพอดูกันได้ ถ้าไม่ตกแต่งแล้วเป็นอันดูกันไม่ได้เลย เมื่อพิจารณาเห็นสิ่งทั้งห้านี้ตามเป็นจริงอย่างไรแล้ว ก็ย่อมพิจารณาเห็นอวัยวะส่วนอื่นของร่างกายนี้ เป็นอย่างเดียวกัน ไม่แปลกกันเลย

เมื่อเห็นตามเป็นจริงแล้ว ก็เพ่งพิจารณาส่วนที่เป็นนามธรรมสี่ประการนั้นต่อ คือ เพ่งดูจิตอยู่แห่งเดียวเท่านั้น ก็สามารถรู้นามธรรมทั้งสี่นั้นได้ เพราะนามธรรมเป็นอาการของจิตกับกายกระทบกัน จึงเกิดมีได้ ทั้งรูปทั้งนาม เมื่อเพ่งดูด้วยปัญญาจริงๆ ก็จะเห็นมันเกิดดับอยู่อย่างนั้นเสมอไป ไม่มีอะไรยั่งยืนอยู่ได้ตลอดไป

เมื่อมองเห็นขันธ์ห้าโดยอาการดังกล่าวมา ย่อมเห็นว่าขันธ์ห้านี้เป็นภัยที่น่ากลัวยิ่งนัก เพราะแปรปรวนกระทบกับจิตอยู่เสมอ บังคับก็ไม่ได้ ไม่เป็นไปตามใจหวัง เมื่อเป็นเช่นนี้ จะทำอย่างไร จึงจะพ้นจากภัยเหล่านั้นได้ หน้าที่ปัญญาเมื่อสอดส่องมองหาทางออกอยู่ไปมา ไม่ท้อถอย ในที่สุดก็รู้ได้ว่าควรวางเฉยต่อขันธ์ห้า คือไม่ยินดียินร้าย วางจิตให้เป็นกลาง พร้อมด้วยญาณความรู้ยิ่งเกิดขึ้นในขณะนั้น

ต่อจากนั้น ก็มีสติรักษาญาณความรู้อันนั้นไว้ อย่าให้เสื่อม เพราะในขั้นนี้ เมื่อไม่รักษาแล้ว มีทางเสื่อมได้เหมือนกัน

ต่อไปเมื่อจิตถอนจากความสงบ ก็พิจารณาต่อ โดยพิจารณาให้เห็นขันธ์ห้านี้เป็นแต่สภาวธาตุ สภาวธรรมเท่านั้น เพราะขันธ์ห้านี้ปรุงแต่งขึ้นมาจากธาตุทั้งสี่ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม อากาศธาตุและวิญญาณธาตุด้วย เมื่อหมดเหตุปัจจัยแล้ว ก็แตกดับลงเป็นธาตุอยู่ตามเดิม ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขาแต่อย่างใด เป็นสิ่งที่ควรปล่อยวางไว้ตามสภาพของมัน ถ้าขืนยึดถือไว้เป็นทุกข์เปล่าๆ ไม่ได้อะไรเป็นแก่นสารเลย

เมื่อปัญญาสอนจิตโดยอุบายแยบคายอย่างนี้แล้ว จิตก็จะเห็นตามปัญญา คือเห็นว่าควรปล่อยวางโดยแท้ เมื่อนั้นจิตก็จะหยุดคิด หยุดวิจารณ์ แล้วก็รวมลงเป็นหนึ่ง พร้อมด้วยญาณความรู้ยิ่งเช่นเคย

การเจริญวิปัสสนาดังกล่าวมานี้ เป็นการบำเพ็ญมรรคอันมีองค์แปดประการนั้น ให้รวมลงเป็นหนึ่ง ที่ท่านเรียกว่า “มรรคสมังคี” เมื่อเป็นมรรคสมังคีแล้ว ก็จะมีกำลังเข้มแข็งเต็มที่ สามารถละกิเลสขาดจากสันดานได้โดยเอกเทศบ้าง โดยสิ้นเชิงบ้าง ตามกำลังแห่งอริยมรรคที่เกิดขึ้นนั้น

เพราะฉะนั้น พุทธศาสนิกชนทั้งหลายจึงไม่ควรประมาท ในเมื่อบุญกุศลได้ตกแต่งร่างกายนี้มาโดยสมบูรณ์แล้ว สมควรเป็นภาชนะทองรองรับเอาบุญกุศล ตลอดถึงมรรคผลธรรมวิเศษได้โดยแท้

ในเมื่อไม่ประมาท มีความเพียร เพ่งพินิจอยู่ภายในกาย ภายในจิตนี้ไม่ท้อถอยแล้ว ก็จะทำให้บุญกุศลเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป จนได้บรรลุมรรคผลดังกล่าวมา



ที่มา : หนังสือ วรลาโภวาท พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา พระสุธรรมรำลึก
อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพพระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ)
วันจันทร์ที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๒ หัวข้อ การฝึกสติปัฏฐาน หน้า ๑๑๑-๑๒๐ :b8: :b8: :b8:

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=6&t=51952

:b45: รวมคำสอน “หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=43689

:b49: :b50: ชวนอ่านพระธรรมเทศนาเต็มกัณฑ์เทศน์ของ
“พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ)”

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=75&t=53080


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 มิ.ย. 2020, 21:25 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b39: :b44: ขออนุโมทนา สาธุๆๆ ค่ะ
:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 12 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร