วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 16:25  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=2



กลับไปยังกระทู้  [ 6 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 ก.ค. 2020, 15:33 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร
แสดงพระธรรมเทศนา “จิตตภาวนา พุทโธ”
ณ วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ
วันที่ ๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๘

:b50: :b47: :b50:

เราท่านทั้งหลายที่มาประชุมพร้อมเพรียงกันนี้ จากประชุมทางกายแล้วมาประชุมทางใจ ที่เรียกว่า มรรคสมังคี

ความประชุมทางกายทางใจของเรา วานนี้ก็ได้เทศน์ไปแล้ว

ไม่ใช่เรื่องอื่นเรื่องไกล เรื่องตัวของพวกเราทั้งนั้น

วันนี้เราทั้งหลายให้น้อมจิตของเรา อย่าส่งไปทางอื่น เดี๋ยวนี้เราอยากรู้จักว่าความเป็นอยู่ของเราเวลานี้อยู่ในชั้นใด ภูมิอันใด ในภพอันใด ให้พากันให้น้อมเข้าไปดู

อย่าสักว่าฟังแต่เสียง การที่ฟังธรรมคําสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เมื่อท่านสอนแต่ก่อน ผู้ใดได้สดับว่า ธรรมะคําสั่งสอนนั้นได้สําเร็จมรรค สําเร็จผลเป็นจํานวนมาก

แต่เราทุกวันนี้ การที่ฟัง - ฟังกันทุกวัน แต่ไม่ปรากฏจะได้สําเร็จมรรคสําเร็จผล

คือเราเป็นแต่ฟังแต่เป็นพิธี มิได้ฟังถึงธรรมถึงวินัย ถึงข้อปฏิบัติ ฟังแต่เป็น แต่พิธีเท่านั้น

อันนี้การสําเร็จมรรคสําเร็จผล ไม่ได้สําเร็จที่อื่นที่ไกล สําเร็จที่ดวงใจของเรา

ธรรมะ คําสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ท่านวางไว้ถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ท่านก็ไม่ได้วางไว้ที่อื่น วางที่กายที่ใจของเรานี้เอง นี่เรียกว่าเป็นที่ตั้งแห่งธรรมวินัย

มิใช่อื่นเป็นธรรม มิใช่อื่นเป็นวินัย ท่านบอกว่า คือตัวของเรานี่แหละเป็นธรรมเป็นวินัย

ท่านบอกว่า ตา เป็นธรรม ตา เป็นวินัย หู เป็นธรรม หู เป็นวินัย

คือเหตุไฉนจึงว่ายังงั้นเล่า

ตา สําหรับดู หู สําหรับฟัง เมื่อได้ยินแล้ว เราต้องน้อมเข้าภายใน


วินโย แปล นําเสียจากความชั่ว นําความชั่วจากตน นําตนออกจากความชั่ว การที่เมื่อท่านได้ยินได้ฟังแล้ว

ความชั่วทั้งหลายอยู่ที่ไหนเดี๋ยวนี้ สุขทุกข์มันอยู่ที่ไหนเดี๋ยวนี้ให้พากันให้พึงรู้พึงเข้าใจ ไม่ใช่ฟ้าอากาศเป็นสุข ไม่ใช่ฟ้าอากาศเป็นทุกข์ สิ่งทั้งหลายเขาไม่ได้สุขเขาไม่ได้ทุกข์ นอกจากใจของเราแล้วเท่านี้ ให้พากันพิจารณาดูซิ ให้น้อมอย่างนี้แหละ

เมื่อเราเห็นทุกขสัจจะอันนี้แหละ อ้า - เราจะได้พ้นจากทุกข์ เดี๋ยวนี้ความที่พ้นทุกข์ก็จะพ้นจากที่ไหนเล่า คือใจเราไม่ทุกข์ แปลว่าพ้นทุกข์ เพราะฉะนั้น ได้ยินแล้ว ให้พากันน้อมเข้าภายใน

นี่ - ศาสนาท่านได้วางไว้ - ในตัวของพวกเรา ไม่ได้วางไว้ที่อื่น นี่แหละ


เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ให้พากันให้พิจารณาถึงที่พึ่งของเรา ท่านสอนไว้ การที่ว่าสําเร็จมรรคสําเร็จผลมันเป็นอย่างไร นี่รูปเปรียบภายนอก ให้เห็นเหมือนกับเราทําการทํางาน เสร็จแล้วหรือยัง มันเสร็จแล้วเป็นยังไง

อุปมาเหมือนทํากุฏิก็ดี วิหารก็ดี หรือทําการงานก็ดี เสร็จแล้วเป็นอย่างไร สิ่งทั้งหลายทั้งหมด แต่ก่อนเขาไม่ได้ว่ากุฏิ เป็นไม้ หรือเป็นปูน หรือเป็นเหล็ก เป็นอันอื่นไป นายช่างผู้ฉลาดรวมสิ่งเหล่านั้นเข้าเป็นก้อนอันเดียว ตีเข้าติดหมด ไม้ก็หาย เหล็กก็หายปูนก็หาย อะไรก็หายไปหมด รวมแล้วเป็นกุฏิ ศาลา นี่ อันนี้

นี่ - ธรรมะคําสั่งสอนของพระพุทธเจ้า รวมเข้าไว้ในจิตดวงเดียว เอก จิตฺต ให้จิตเป็นของเดิม จิตฺต ความเป็นอยู่ ถ้าเราน้อมเข้าถึงจิตแล้ว ความสําเร็จอยู่ที่นั่น ถ้าเราไม่รวมแล้วมันก็ไม่สําเร็จ ทําการทํางานทุกสิ่งทุกอย่าง ก็ต้องรวมถึงจะเสร็จ ถ้าไม่รวมเมื่อไรก็ไม่สําเร็จ

เอกํ ธมฺมํ มีธรรมดวงเดียว มีธรรมดวงเดียว เวลานี้เราทั้งหลายขยายออกไปแล้ว ก็กว้างขวาง พิสดารมากมาย ถ้าวิตถารนัยก็พรรณนาไปถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ รวมเข้ามาแล้ว สังเขปนัยแล้ว มีธรรมอันเดียว เอกํ ธมฺมํ เป็นธรรมอันเดียว เอกํ จิตฺตํ มีจิตดวงเดียว นี่เป็นของเดิม ให้พากันให้พึงรู้พึงเข้าใจต่อไป

นี่แหละ - ต่อไปพากันให้รวมเข้ามาได้ ถ้าเราไม่รวมนี่ไม่ได้เมื่อใด จิตเราไม่รวมได้เมื่อใดมันก็ไม่สําเร็จ

ธรรมะ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ คนทั้งหลาย อ่านพระไตรปิฎก ในปิฎกทั้งสาม และตู้พระไตรปิฎก นี่อยู่ที่ไหนเล่า ตู้พระไตรปิฎก นี่เราเรียนเข้ามาภายใน อย่าไปเรียนภายนอก

เหตุฉันใดจึงว่าเช่นนั้นล่ะ ปิฎกนั้นคืออะไร มันอยู่ที่ไหนล่ะ ฟังแล้วคืออยู่ไกล คัมภีร์ทั้งหลายเราเป็นผู้ทํา เราเป็นผู้เขียน เราเป็นผู้อ่าน สิ่งเหล่านั้นล่ะ ท่านว่า สุตตปิฎก วินัยปิฎก ปรมัตถปิฎก ปิฎกทั้ง ๓ เรียกตู้พระไตรปิฎก นี่อยู่ที่ไหนเล่า ตู้พระไตรปิฎก ถ้าดูแล้ว อยู่ที่ไหนเล่า

สุตตปิฎก ก็ได้แก่ลมหายใจเข้าไป ดูซี - นี่แหละธรรมคือลมหายใจเข้าไป วินัยปิฎก ก็ได้แก่ลมหายใจออกมา ปรมัตถปิฎกได้แก่ผู้รู้ทางในรักษาชีวิตินทรีย์ นิ่งอยู่ ไม่แตกทําลาย นี่รวมแล้วเป็นตู้พระไตรปิฎก

ดูซิลมหายใจอยู่ที่ไหนเล่า ความรู้เราอยู่ที่ไหนเล่า รู้ว่าสุขก็ดี รู้ว่าทุกข์ ก็ดี นี่แหละมาเปิดคัมภีร์ตรงนี้ ถ้าเราไม่เปิดคัมภีร์ตรงนี้แล้ว เราไม่รู้จักจะพ้นจากทุกข์ได้

ถ้าเราน้อมเข้าภายในแล้ว มันจะรู้จัก

นี่ - ถ้าน้อมเข้าไปในไตรปิฎกแล้ว เช่น ปรมัตถปิฎก ท่านบอก กามาวจรํ กุสลํ จิตฺตํ นั่น - ดูซิเล่า กุศลทั้งหลายเกิดจากจิต กุสลํ จิตฺตํ อุปฺปนฺนํ โหติ อุบัติขึ้น โสมนสฺสสหคตํ ใครเป็นผู้ยินดีล่ะ ญฺาณสมฺปยุตฺตํ นั่นญาณ ญฺาณํ คือญาณความรู้ สมฺปยุตฺตํ เราไปสัมปยุตอะไรไว้เดี๋ยวนี้ สัมปยุตดีหรือสัมปยุตชั่ว ใครเป็นผู้สัมปยุตเล่า เราเอาอะไรเล่าเป็นอารมณ์

นี้เพื่อให้สังเกต และเทศน์ให้เพื่อเข้าใจแนวทางไว้ เพื่อพิจารณา นี่ - ญฺาณ สมฺปยุตฺตํ รูปารมฺมณํ วา เราเอารูปอันใดเป็นอารมณ์เดี๋ยวนี้ ท่านว่าได้แจกไปก็มากแต่ไม่อธิบายให้มาก รูปารมฺมณํ วา เอารูปอันใดเป็นอารมณ์ รูปดีรูปชั่ว ถ้าเราเอารูปดีเป็นอารมณ์ เราก็ได้ไปสุคติ ถ้าเอารูปชั่วเป็นอารมณ์ เราก็ไปทุคติ นี่ - เรื่องมันเป็นอย่างนี้

รูปดีจะรู้ได้อย่างไรเล่า ว่ารูปนั้นรูปนี้ มันไกลไป รวมมาสั้นๆ แล้ว คือใจเราไม่ดี อันนี้รูปไม่ดี รูปดีเป็นอย่างไรเล่า คือใจเราดี นี่ - มันเป็นอย่างนี้ ให้พากันให้พิจารณา

สทฺทารมฺมณํ วา เราเอาเสียงอะไรเป็นอารมณ์ นี่เป็นอารมณ์ของเรา นี่แหละ ท่านจึงสวดอภิธรรมสังคหะเวลาคนถึงแก่กรรมไป เสียงดี เสียงชั่ว นั่น - ให้พากันให้รู้จัก

คนฺธารมฺมณํวา กลิ่นดี กลิ่นชั่ว เราเอากลิ่นอันใดเป็นอารมณ์เล่า ให้พากันให้รู้จัก รสารมฺมณํ วา รสดี รสชั่ว โผฏฺฐฺพฺพารมฺมณํ วา สัมผัสดี สัมผัสชั่ว

รวมเข้า ธมฺมารมฺมณํ วา รวมเข้าธรรมอันเดียวคือดวงใจของเราไปยึดเอาสิ่งอารมณ์นั้นๆ มาไว้ในใจของเรา อันนี้คัมภีร์อภิธรรม

นั่นดูซิ ฟังแล้ว คืออยู่ไกล เฮอ - อยู่ในตู้พระไตรปิฎก ดูซิ เฮ่อ -

อันนี้คัมภีร์ที่ ๒ ปญฺจกฺขนฺธา รูปกฺขนฺโธ เวทนากฺขนฺโธ สญฺญฺากฺขนฺโธ สงฺขารกฺขนฺโธ วิญฺญฺาณกฺขนฺโธ

ขันธ์ๆ ก็แปลว่า กอง รูปขันธ์ นี่กองรูปอยู่นี่หมด นี่รูปขันธ์ รูปขันธ์ ก็ได้แก่อะไร ขาสอง แขนสอง ศีรษะอันหนึ่ง อันนี้รูปขันธ์

นี่ขันธ์อันนี้แหละ อยู่ในนี้ให้พิจารณารูปอันนี้สิ่งรูปอันนี้มันเที่ยงหรือไม่เที่ยงล่ะให้พิจารณาซี

นี่อธิบายลัดๆ ตัดให้เพื่อเข้าใจไว้ เครื่องพิจารณา นี่ล่ะ

เวทนากฺขนฺโธ ขันธ์น่ะกองเวทนา คือความเสวยสุข ความเสวยทุกข์ ไม่ใช่สุข ทุกข์ ฮ่ะอันนี้ ให้พิจารณาดูซี

สญฺญฺากฺขนฺโธ ความจําความหมาย อยู่ที่ไหนล่ะ จําว่าเป็นโน้นเป็นนี้ นั่นดูซี อะไรเป็นผู้จําล่ะ

สงฺขารกฺขนฺโธ ความปรุงความแต่ง นี่ - ให้รู้จัก ใครเป็นผู้ปรุงผู้แต่งล่ะ

วิญฺญฺาณกฺขนฺโธ ผู้รู้จะไปปฏิสนธิวิญญาณ และไปยึดเอาสิ่งทั้งหลายทั้งหมด นี่ - ให้พากันให้พึงน้อมเข้ามาพิจารณา นี่แหละ - ให้เห็นสิ่งทั้งหลายเหล่านี้

ท่านเทศนาปัญจวัคคีย์ภิกษุทั้ง ๕ ท่านก็ได้ฟังโอวาทอันนี้ ท่านก็ได้สําเร็จพระอรหันต์หมดทั้ง ๕ พระองค์

คิดดูซิ เราก็สวดอยู่แล้วในสังเวคคาถาน่ะ รูปํ อนิจฺจํ นั่น - ดูซิ มันเที่ยงหรือไม่เที่ยง ฮั่น

เราเข้าใจอยู่แล้ว เวทนา อนิจฺจา สญฺญฺา อนิจฺจา สงฺขารา อนิจฺจา วิญฺญฺาณํ อนิจฺจํ วิญญาณนี่แหละ เอาแต่มันจะเป็น มันเที่ยงหรือไม่เที่ยง

เหตุนั้นให้พิจารณาให้พึงรู้พึงเห็นซิ เรามาพิจารณาตรงนี้ นี่ท่านสอนอีก รูปํ อนตฺตา เวทนา อนตฺตา สญฺญฺา อนตฺตา สงฺขารา อนตฺตา วิญฺญฺาณํ อนตฺตา ฮั่น - มันไม่ใช่ตัวตนทั้งนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้แหละ

เอ้า - ต่อนี้ไปให้พากันเข้าดู จะอธิบายขยายมันก็มากไป เอ้า - ให้เข้าที่ นั่งสมาธิ ตั้งจิตลองดูมันจะเที่ยงหรือไม่เที่ยง มันจะเป็นยังไง ให้มันรู้มันเห็น นี่จะเทศน์อธิบายไปนี้ก็ไม่มีที่สิ้นสุด

เอ้า - ลงมือทํา ให้ดูตัวจริงมันจะเป็นยังไง

เออ - เอ้า -ให้เข้าที่นั่งสบายๆ

เออ - มานี่ อยากสุขอยากสบาย ไม่ได้โกหกหลอกลวงใครให้ต่างคนต่างดู

เอ้า - นั่งให้สบายๆ

เรามานี่ เราต้องการความสุขความสบาย

เพ่ง - เล็งดู ให้มันรู้มันเห็น

ความเป็นอยู่ความมีอยู่ นี่อธิบายให้ฟังแล้ว

เอ้า ต่อไปนั่งให้สบายๆ วางท่าวางทางให้สบายแล้ว ขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้ายตั้งกายให้สบาย

เมื่อกายสบายแล้ว นี่ - ก็เราก็วางดวงใจของเราให้น้อมเข้าไปภายใน นี่แล้วลงมือทํา

ท่านฟังแต่ก่อนท่านทําไปพร้อม เดี๋ยวนี้เรา - สักแต่ได้ยินได้ฟัง ก็จําว่า อันนั้นเป็นอย่างนี้อันนี้เป็นอย่างนั้นแล้ว สําคัญเราเข้าใจ สําคัญเราได้ เราพูดได้ เราว่าเราได้ เราดูตัวจริงซี

เราอยากพ้นทุกข์ เราอยากได้ความสุขความสบาย เราอยากพ้นทุกข์ ผู้ที่ ไม่เคยทํา เออ - ผู้ที่เคยทําแล้ว ก็นึกคําภาวนาของตน

ผู้ที่ไม่เคยก็ให้นึกว่า คุณทั้งหมดรวมแล้ว

คุณพระพุทธเจ้าอยู่ที่ใจ พระธรรมอยู่ที่ใจ พระอริยสงฆ์อยู่ที่ใจ

ให้เชื่อมั่นลงแล้ว ก็ให้นึกคําบริกรรม ภาวนาว่า พุทฺโธ - ให้ระลึกดูซิ ธมฺโม - สงฺโฆ - ในใจของเรา พุทฺโธ - ธมฺโม - สงฺโฆ สาม หนแล้ว - ให้รวมเอาแต่ พุทฺโธ พุทฺโธ คําเดียว

หลับตา งับปากนะ ลิ้นก็ไม่กระดุกกระดิก ให้ระลึกเอาในใจ นึกระลึกเพื่อเหตุใด เราอยากรู้เวลานี้น่ะ ตัวของเราอยู่ในชั้นใดในภพอันใด ภพมันมีอยู่สาม - เช่น กามภพ รูปภพ อรูปภพ ดูซิ - มันเป็นอย่างไร จึงเรียกว่า กามภพ รูปภพ อรูปภพ นี่ - ที่อยู่ของโลกทั้ง ๓ กามโลก รูปโลก อรูปโลก นั่น ภพนี้ เป็นภพที่อยู่ของเรา อันนี้ในกามภพนี้ เฮ่อ นึกดูให้เพ่งดูที่อยู่ของเรา

เมื่อจิตของเราตั้ง - อยู่ที่รู้ตรงไหนแล้ว เราจะรู้จักภพของเรา เมื่อจิตของเราตั้ง - ระลึกพุทโธ - ความรู้สึกอยู่ตรงไหนแล้ว ตั้ง - สติไว้ตรงนั้น อย่าส่งไปข้างหน้า มาข้างหลัง ข้างซ้าย ข้างขวา ข้างบน ข้างล่าง ตั้ง - เฉพาะทําการ อันที่รู้ - อยู่นั้น


นี่แหละจิตของเรา มันดีหรือไม่ดีรู้จักตรงนี้ มันไม่ดีก็รู้จักตรงนี้ วานนี้เราก็เปรียบแล้ว เหมือนกับนายช่างเขาตั้งเสา นี่เราก็ทําสมาธิ สมาธิน่ะคือ จิตตั้งมั่น นายช่าง เขาตั้งเสา เขาตั้งยังไง เขาตั้งแล้วเขาก็มอง - ดูข้างหน้าข้างหลัง เอาระดับจับดูมันเที่ยงหรือไม่เที่ยง มันเอนเอียงไปทางไหน นั่น


เขารู้จักมันเอนเอียงเขาก็ผลักขึ้นมา ผลักแล้วเขาก็เล็งดู ฮั่น - จนมันเที่ยงตรง เขาก็ฝังไว้ให้มันแน่น นี่เรียก - ฐฺิติภูตํ เราก็เดี๋ยวนี้ ก็ตั้งให้มันเป็นของเที่ยง วิญญาณของเรามันไม่เที่ยง เดี๋ยวนี้อยากให้มันเที่ยง มันจะได้เป็นพระนิพพานได้ เรื่องมันเป็นอย่างนั้น ให้มันเที่ยง นี่มันออกไปทางไหน มันเข้าไปทางไหน

นี่ - จิตของเราข้องตรงไหน คาตรงไหน ให้พึงรู้พึงเห็น

ไม่ใช่นั่ง - หลับตาเฉย - เฉย - อย่างนั้น ดูจิตของเรานี่ มันหลงอะไร มันข้องอะไร มันคาอะไร

นี่ ให้รู้จัก นี่ - จิตของเราท่องเที่ยวอยู่ในกามภพ กามภพนี้มันแบ่งเป็น ๒ นัยคือจิตอยู่ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรสสัมผัสอารมณ์ทั้งหลายต่างๆ นี่จิตของเราท่องเที่ยวอยู่นี้

นั่น - ดูซิ ในกามภพนี้ แบ่งเป็นสองนัยนะ แบ่งเป็นอบายภูมิอันหนึ่ง แบ่งเป็นฉกามาวจรอันหนึ่ง นั่น - ดูซิ มันเป็นอบายภูมิเป็นยังไง คือจิตของเรามันเศร้าหมอง จิตไม่ผ่องใส จิตวุ่นวาย จิตเดือดร้อน จิตทะเยอทะยาน จิตดิ้นรน จิตกระวนกระวาย ทุกข์ยาก นี่แหละ

นั่งอยู่เดี๋ยวนี้แหละ เราไม่ต้องคํานึงถึงอดีต อนาคต เฮ่อ ให้ดู นั่งปัจจุบันเดี๋ยวนี้นี่แหละ เมื่อจิตเป็นอย่างนั้นแล้ว มันไปอบายภูมิทั้งสี่


ให้พากันให้พิจารณา อันนี้เมื่อจิตของเราแบ่งเป็นฉกามาวจรสวรรค์ มันเป็นยังไง จิตเราผ่องใส - มันไม่ดิ้นรน ไม่กระวนกระวาย มีความสุขความสบายอกสบายใจ จิตนั้นไม่ได้วุ่นวาย ส - บ - า - ย

นี่ ดูเอาซี อันนี้เมื่อดับขันธ์ไป ก็ไปสวรรค์ นั่น - ให้รู้จัก

สวรรค์ก็คือความสุขความสบาย อะไรสุขสบาย ดวงใจเราสุข ดวงใจเราสบาย

ก็ฟังดูซี บอกให้ฟัง เรื่องมันเป็นอย่างนี้ อันนี้จิตพ้นจากกามภพ คือ จิตนั้น มันไม่ได้ไปยึดเอาในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในภายนอก มันเห็นแต่ภายใน เข้ามา เหลือแต่รูป เห็น - แต่สังขารร่างกายเรานี้ เบื้องบน เบื้องล่าง ด้านกว้าง สถานกลาง มีแต่กายของเราเท่านี้ พิจารณาสิ่งเหล่านี้อยู่ ตจปริยนฺโต มีหนังหุ้มอยู่เป็นที่สุดรอบ ปูโรนานปฺปการสฺส อสุจิโน สิ่งเหล่านี้มันเต็มไปด้วยของไม่สะอาด มีประการต่างๆ อตฺถิ อิมสฺมึ กาเย ในกายนี้ ท่านไม่ได้บอกว่า กายโน้น กายนี้ แปลว่า กายของเรานี่แหละ ไม่ใช่กายอื่น คืออะไรเล่า

ยกตัวอย่างให้เห็น เช่น เกสา คือ ผม แน่ะ - เต็มไปอย่างนี้ ของไม่สะอาด โลมา คือขน นขา คือเล็บ ทันตา คือฟัน ตโจ คือหนัง แน่ะ - มํสํ คือ เนื้อ นี่ล่ะ

อันนี้เต็มไปอย่างนี้ สิ่งเหล่านี้แหละให้พิจารณา - เห็น - อยู่ เฮ่อ - เวลานี้น่ะเป็นอย่างไร สิ่งเหล่านี้เป็นของสะอาดหรือเป็นของไม่สะอาด

นี่เราทั้งหลายมาเห็นอันนี้ ท่านจึงได้สอนมูลกรรมฐาน และว่าพระอยู่ป่า และว่าพระกรรมฐาน สมมุติว่าอาตมาภาพมานี้ ว่าพระกรรมฐาน แท้ที่จริงมันเป็นกรรมฐานหมดทั้งนั้น

อุปัชฌายะท่านบวชเรียน - บรรพชาเป็นสามเณร ท่านก็สอนมูลกรรมฐาน พระอยู่ตามบ้าน ก็ว่าไม่เป็นพระกรรมฐาน ญาติโยมผู้หญิงผู้ชายว่าเราไม่เป็นกรรมฐาน แน่ะ เป็นหรือไม่เป็นก็ดูซิ ท่านสอนไหมกรรมฐาน เกสา คือผมนั่นน่ะ ผมอยู่ที่ไหนล่ะ ดูซี - อันนี้แหละมูลกรรมฐาน เป็นมูลแห่งสัตว์ทั้งหลายหลงในโลกนี้ เวียนว่ายตายเกิดอยู่นี้ มาหลงผม นี่แหละ - ฮั่น

นี่แหละพิจารณาซิ ผมของเรามันเป็นของสวยหรือเป็นของงาม หรือเป็นของสะอาด หรือเป็นของน่าเกลียด ให้พึงรู้พึงเห็นซี่ เห็นว่ามันสวยแล้ว ถ้าผมของเราหลุดใส่ข้าวหรือใส่อาหาร เราก็รับทานมิได้ แน่ะ - เมื่อรับทานไม่ได้ มันเป็นยังไงเล่า รวมแล้วก็เป็นของน่าเกลียด แน่ะ

ดูซี โลมา คือขน ตามสรรพางค์ร่างกายของเรา ดูซิ นี่ให้พิจารณาอันนี้

นขา คือเล็บ ดูซีเล็บอยู่ปลายมือปลายเท้าของเรานี่

ทนฺตา คือฟัน ฮั่น - อยู่ในปากของเรา สิ่งเหล่านี้แหละ

ตโจ คือหนัง หนังหุ้มอยู่นี่ - เป็นที่สุดรอบ เอาหนังนี่ออกดูแล้วเป็นยังไงหรือหนังคนอยู่ในจานข้าว เราจะรับได้ไหม เมื่อรับไม่ได้ เราจะว่ามันสวยมันงามยังไง มันเป็นคนยังไง

นี่จําแนกแจกออกอย่างนี้ จึงว่า ภควา เป็นผู้จําแนกแจกธรรม

เมื่อเราพิจารณาอันนี้ จิตของเรามันจะได้นิพพิทาความเบื่อหน่าย ในรูป เสียง กลิ่น รส ทั้งหลายทั้งหมด นี่เราเห็นอย่างนี้ ให้เพ่งพิจารณานี่แหละจึงเป็นธรรม จึงเป็นผู้รู้ธรรม เห็นธรรม ถ้าเราไม่จําแนกแจกออกแล้ว แหม - เลยถือว่าเรา เป็นคนสวยคนงาม คนดี แน่ - ก็เลยหลงอยู่ซี่ เลยเกิดทิฏฐิ เกิดมานะ เกิดกิเลส เกิดตัณหา เกิดราคะ เกิดโลภะ เกิดโทสะ เกิดโมหะ เกิดอวิชชา ตัณหา อุปาทาน ภพชาติขึ้นมา

เมื่อเราพิจารณาเห็นเป็นเช่นนี้แล้ว มันไม่มีทิฏฐิ มันไม่มีมานะ อหังการ มมังการ จะถือได้อย่างไรเล่า

หนังคนใครจะเอาเล่า เถือหนังออกให้หมดเป็นยังไง ลอกหนังออกให้หมดเป็นยังไง คนเรา น่า - ดูไหม

นี่แหละให้พากันพิจารณา อันนี้จึงได้เห็นเป็นธรรม เมื่อเอาหนังออกแล้ว ก็เอาเนื้อออกดู เอาเนื้อออกดูแล้ว ก็เอากระดูกออกดู เอา - ทั้งหมดออกดู ไส้น้อย ไส้ใหญ่ ตับ ไต ออกมาดู มันเป็นยังไง มันเป็นคนหรือเป็นยังไง

ทําไม - เราต้องไปหลง

เออ - นี่แหละพิจารณาให้มันเห็นอย่างนี้แหละ มันจะละสักกายทิฏฐิ แน่

มันจะละวิจิกิจฉา ความสงสัย จะเป็นอย่างโน้น อย่างนี้ มันเลยไม่มี

สีลัพพตปรามาส ความลูบคลํามันก็ไม่ลูบคลํา อ้อ - จริงอย่างนี้

เมื่อเห็นเป็นเช่นนี้แล้ว จิตมันก็ว่าง พอจิตว่างแล้วมันก็ถึงอรูป ถึงอรูปภพจิตมันก็ว่างหมด เพราะไม่มีเหล่านี้มันละแล้ว ถึงอรูปภพ นี่ในภพทั้ง ๓ นี่แหละ จะได้นํามาชี้แจงให้พากันเข้าใจต่อไป นี่แหละนั่งดูสมาธิของเรา

อธิบายให้ฟังแล้ว มันหลงอะไร ถ้ามันหลงรูป ก็ยกรูปอันนี้ หลงรูป เสียง กลิ่น รสนี่มันข้องตรงไหนแก้ตรงนั้น เดี๋ยวนี้จึงว่า สมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน นี่รู้จักกรรมที่ทํา ฐานะที่ตั้ง เวลานี้เราตั้งฐานอะไร กรรมอันใดอยู่ ไปยึดอันใดอยู่ นี่เราต้องเพ่ง - ดูตรงนี้ ให้มันรู้ จิตของเราข้องอะไร มันหลงอะไร ต้องรู้จัก เมื่อเราจิตสงบได้แล้ว มันนิ่งแล้ว มันก็รู้จักที่ข้อง มันรู้จักที่คา

แน่ เมื่อรู้จักแล้วก็ - ตัด นี่ - มันจะได้เป็นวิปัสสนาเกิดขึ้น

วิปัสสนาญาณ ความรู้แจ้งเห็นจริงสัจจธรรมเหล่านี้ เรื่องมันเป็นอย่างนี้ เหตุนั้นให้พากันต่างคนต่างทํา ต่างคนต่างพิจารณาว่า เราในเวลานี้ เราอยู่ในชั้นใด ภูมิอันใด ในภพอันใด เวลานี้เราหัดเข้าสู่สงคราม

เฮ่อ - หัดเวลานี้ สงครามอันใด เราต้องเตรียมพร้อมเสียเดี๋ยวนี้

เฮ่อ - สงครามจะเกิดขึ้น คืออะไร คือกิเลสสงคราม อันนี้ว่าสงครามภายนอกข้าศึกสงคราม เขาก็เกณฑ์ทหารทุกปี หัดทุกวัน เมื่อสงครามมาเมื่อใด ก็ไม่ต้องกลัวยกทัพไปเมื่อนั้นอันนี้กิเลสสงคราม เราล่ะ คือ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย โรคภัยบังเกิดขึ้นมาแล้ว

เราจะรบทางไหนเล่า เราจะสู้วิธีไหนเล่า นี่ - มาหัดไว้นี้

เอ้อ - ให้มันรู้เห็นไว้เดี๋ยวนี้ ให้เพ่งเดี๋ยวนี้ เราต้องเข้าสมาธิทําจิตให้ตั้งมั่น เข้าหลุมเพลาะ คือหลุมเพลาะ คือเขารบสงครามภายนอก เขามีหลุมเพลาะแล้วเขาก็ไม่กลัว ถ้าแหล่งใดมีหลุมเพลาะตั้งภูมิชัยแล้วชนะข้าศึก

อันนี้เรามีสมาธิแน่นหนาแล้ว ทุกขเวทนาเหล่านั้น มันก็เข้าไม่ถึงจิตของเรา เพราะเราปล่อยแล้ว เราวางแล้ว เราละแล้ว

เหลือแต่อรูปจิต อันนี้ในภพทั้ง ๓ นี้เป็นทุกข์อยู่ เรื่องสมมุติทั้งหลาย จิตนั้น ก็ละ ละภพทั้ง ๓ มันก็เป็นวิมุตติ หลุดพ้นไปหมด นี่ละเป็นวิมุตติ แปลว่า หลุดพ้น จะเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ จิตนั้นจะได้เข้าสู่ปรินิพพาน ดับทุกข์ในวัฏสงสาร ไม่ต้องสงสัย แน่ - เวียนว่ายตายเกิดในโลกอันนี้ เรื่องมันเป็นอย่างนี้ วัฏสงสาร ทําไมจึงว่า วัฏฏะ เครื่องหมุนเวียนสงสาร คือความสงสัยในรูป เฮอ - ในสิ่งทั้งหลายทั้งหมด มันเลยไม่ละ วิจิกิจฉา ได้ซี่

เดี๋ยวนี้เรารู้แล้วไม่ต้องวนเวียนอีก เกิดแล้วก็รู้แล้วว่ามันทุกข์ ชราก็รู้แล้วมันทุกข์ พยาธิก็รู้แล้วมันทุกข์ มรณะเรารู้แล้วมันทุกข์

เมื่อเราทุกข์เหล่านี้ ก็ทุกข์เพราะความเกิด เราก็หยุด ผู้นี้ไม่เกิดแล้วใครจะเกิดอีกเล่า ผู้นี้ไม่เกิดแล้วผู้นี้ก็ไม่แก่ ไม่ตาย

ผู้นี้ไม่ตายแล้วอะไรจะมาเกิด มันไม่เกิดจะเอาอะไรมาตาย ดูซิ - ใจความคิดของเรา เดี๋ยวนี้เราเกิด เกิดแล้วก็ตาย ตายแล้วก็เกิด เกิดแล้วก็ตายอยู่อย่างนี้ มันก็เป็นทุกข์ไม่แล้วสักที


พระพุทธเจ้ารู้แล้วเป็น อมตํ ท่านก็ไม่ตาย แน่ะ ท่านเป็นอย่างนั้น นี่ฉันใด คือกันนั่นแหละ คือท่านเกิดท่านก็ไม่เกิด ตายท่านก็ไม่ตาย นี่แหละให้ถึงของที่ไม่ตาย จิตเดิมของเรา ฐฺิติภูตํ ความเป็นอยู่

เอ้า ต่อไปเพ่งดู ต่างคนต่างเพ่ง ได้ยินได้ฟังแล้ว โอปนยิโก ให้น้อมเข้าไปภายใน ต่างคนต่างดู อย่าไปดูข้างนอก

เออ - ได้ยิน ได้สัญญาไว้ เมื่อเทศนาอยู่นี้ จิตทั้งหลายก็มาฟังด้วยเสียงต่อนี้ ไปฟังภายใน วินโย มันจะนําเสียจากความชั่ว นําตนออกจากความชั่ว นําความชั่วออกจากตน รวมแล้ววินัยทั้งหลายก็ สติวินโย ผู้มีสติแหละเป็นองค์วินัย

ให้เพ่งเล็งดู นี่แหละให้สัญญาไว้ ได้ยินเสียงอะไรก็ตาม รู้ว่าสิ่งนั้นไม่มีอันตรายแล้วเราไม่ต้องเดือดร้อน เพ่ง - ดูใจของเราตามสมควร เอาจนได้เวลา เอ้า เพ่งพิจารณา


ต่อนี้จะไม่อธิบายละ เมื่ออธิบายแล้วจะมาฟังแต่เสียง พอได้ความแล้วให้รู้จัก มันข้องตรงไหน มันคาตรงไหน - แก้ตรงนั้น เหมือนกับเราคัน คันในตัวของเรา คันตรงไหนเราก็ต้องเกาตรงนั้น มันจะหาย - อันนี้ก็ฉันใด จิตเราข้องตรงไหน ก็ต้องแก้ตรงนั้น ต้องชําระตรงนั้น ให้มันสิ้นไปหมดไป เฮ่อ เรื่องมันเป็นอย่างนี้

เพราะฉะนั้น เราอยากพ้นทุกข์ ความที่พ้นทุกข์ รู้ได้ยังไง รวมมาสั้นๆ แล้วคือจิตเราไม่ทุกข์ เมื่อจิตเราไม่ทุกข์ ก็แปลว่ามันพ้นทุกข์ จิตยังมีทุกข์อยู่ มันก็ไม่พ้นทุกข์ มันยังมีทุกข์อยู่ตรงไหน ก็ดูตรงนั้น

เออ - อย่าไปหา อยากเห็นโน่น อยากเห็นนี่ อยากเป็นโน่นเป็นนี่ อย่าไปหาไปหา มันเป็นตัณหา มันตันเจ้าของ ทํานิ่ง - อยู่

เปรียบนายพรานเขายิงเนื้อ เขาไม่ได้วิ่งเขาไม่ได้เต้น เขานิ่งอยู่เท่านั้นแหละ เขาดักเนื้อ เนื้อเข้ามา เวลาเขาจะยิงปืน เขาก็เล็งตาเดียว นั่นมันจึงถูก

เออ นั่น - นี่ก็เราตั้งจิตนิ่ง - ดูมันจะไปข้างหน้าหรือมันจะมาข้างหลัง ข้างซ้าย ข้างขวา ให้มันรู้

เอ้า !...ต่อนี้ไปต่างคนต่างตั้ง วางให้สบาย สิ่งใดไม่ดีแล้ว เพราะเราไม่ต้องการ ใครเป็นผู้ไปยึดถือเอา คนทั้งหลายเกิดมาแต่อยากดี เราไปยึดเอาแต่สิ่งที่ไม่ดี มันก็ไม่ดีซินี่ ต่างคนต่างสงบ

วันนี้ขอถวายพระราชกุศลให้มหาบพิตร (คือ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ - Duangtip) ด้วย

เราก็เพ่งดู ต่างคนต่างสงบ ประเทศชาติของเราจะได้มีความสุขจะได้มีความเจริญ

ท่านมหาบพิตร ท่านก็เห็นเราทั้งหลาย มีความดี มีความใจดี มีความสุข ความสบาย ท่านก็ได้รับความสุข ความสบาย

วันถวายพระราชกุศลวันนี้ จึงเป็นสิริมงคล ถ้าพวกเราวุ่นวายเดือดร้อน ท่านก็ได้รับความทุกข์ความยาก

เหมือนกับบิดามารดา ลูกไม่ดี บิดามารดา ก็เป็นทุกข์ ถ้าลูกดี บิดามารดาก็เป็นสุข แน่ะ

นี่ก็ฉันใดคือกันนั่นแหละ ประเทศชาติของเรา ถ้าต่างคนต่างมีความสุข ความสบายแล้ว มันก็มีความสุขความเจริญยั่งยืนถาวร เออ ตลอดกาลไป - นี่

คนเรากลัวจะเป็นอย่างโน้น กลัวจะเป็นอย่างนี้ ประเทศเราต่อไปจะเป็นอย่างไร นั่งดูเดี๋ยวนี้แหละ ถ้าเราดีสงบเรียบร้อย อนาคตมันก็เป็นอย่างนี้ ถ้าจิตของเราวุ่นวาย ไม่สงบ อนาคตมันก็เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น เราก็เพ่งดูซิ กําจัดออกให้หมด ภัย - เวร ทั้งหลาย อาศัยพุทธานุภาเวนะ นี่แหละ

เอาพระพุทธเจ้าเป็นอานุภาพ เอาพระธรรมมีอานุภาพ เอาพระสงฆ์มีอานุภาพ

พุทธะ คือความรู้ พระธรรม คือเราทําอยู่เดี๋ยวนี้แหละ พระสงฆ์ คือเราปฏิบัติอยู่เดี๋ยวนี้แหละ


เมื่อเราปฏิบัติดีแล้วก็เรียกว่า พุทฺโธ เม นาโถ เป็นใหญ่กว่า - หมดแหละ ธมฺโม เม นาโถ เป็นใหญ่ กว่าหมด สงฺโฆ เม นาโถ เป็นใหญ่กว่า - โม๊ด - ใน ๓ โลกนี้

เอ้า - ต่อไปให้พึงรู้พึงเข้าใจ อย่าได้วิตกวิจาร


เออ - ให้เห็นจริงแจ้งประจักษ์นั่นซิ จะมาอยากรู้อยากเห็น ว่ามันเป็นอย่างไร - ต่อไป ก็เป็นอย่างนี้แหละ

แน่ะ คือเรานั่งอยู่เดียวนี้แหละ ถ้าเราสงบอย่างนี้ มันก็สงบอย่างนี้ต่อไป ถ้าเราไม่สงบมันก็ไม่สงบต่อไป จะว่าอย่างไรล่ะ มันก็ไปจากนี้แหละอนาคต เออ - เอ้า - ต่อไป ได้ความแล้วต่างคนต่างฟัง เอ้า - นั่งให้สบายๆ อาตมภาพก็จะได้นั่งต่อไปนั่งสมาธิภาวนา นิ่งเงียบ

ตัวของเราดี หรือไม่ดี นี่มาวัดดูมาเข้าวัด

วันนี้ดูมันสงบดี ใจของเรา ต่อไปพากันทําอย่างนี้เรื่อยๆ ไป ประเทศชาติของเรา เคยอธิบายให้ฟังแล้ว มันจะเจริญอยู่ได้ อาศัยพุทธศาสนา ศาสนาคือคําสั่งสอน คือสอนอย่างนี้แหละ สอนกายสอนใจของเรา เราทําคุณงามความดีจึงมีความสุขความเจริญ

เราท่านทั้งหลาย ทุกรูปทุกนามก็ต้องการความสุขความสบาย ต้องการความสุขความเจริญ ต้องการคุณงามความดี แน่ะ

อธิบายให้ฟังแล้วมันดีตรงไหน เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป มันไม่ดีแล้ว ให้พากันเลิกกันละแก้ไขต่อไป

ประเทศชาติเราจะอยู่ได้ อาศัยคุณงามความดี นี่เรื่องมันเป็นอย่างนั้น อย่าให้เป็นมิจฉาทิฏฐิ เห็นผิดเป็นชอบประกอบเหมือนกับแมงเม่าเห็นไฟ ให้เป็นสัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ คือ เรานั่งดู - แหละ

สัมมาแปลว่าความชอบ เราทําแล้วชอบอกชอบใจ ดีอกดีใจ ได้รับความเบิกบานได้รับความสุขความสบาย - ไม่วุ่นวายเดือดร้อน นี่ - เรื่องมันเป็นอย่างนี้ นําความสุขความเจริญให้ในปัจจุบันและเบื้องหน้า ดังที่อธิบายมาแล้ว

วันนี้เป็นวันถวายพระราชกุศลท่านมหาบพิตร สมเด็จญาณฯ (คือ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระญาณสังวร - Duangtip) ท่านจึงได้ดําริเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ประเทศชาติบ้านเมือง แก่พวกเราทั้งหลาย ท่านจึงได้ชักนําบําเพ็ญกุศล เรื่องมันเป็นยังงี้

บําเพ็ญกุศลก็คือบําเพ็ญอย่างนี้แหละ กุศลก็คือความสุขความสบาย คือความสุขความเจริญ เพื่อให้เราได้รับความเยือกความเย็น เรารับความเบาความสบาย

นี่แหละ ต่างคนต่างจิตใจสุขสบายแล้ว ท่านก็จะได้รับความเยือกความเย็นความสุขความสบาย ดังอธิบายมาแล้ว

ถ้าเรามีความยุ่งยากวุ่นวาย ผู้ปกครองประเทศชาติพากันหนักอกหนักใจ เป็นทุกข์เป็นร้อน

นี่เปรียบอุปมาเหมือนบิดามารดา ถ้าลูกว่ายากสอนยาก บิดา มารดาก็เป็นทุกข์เป็นร้อน ถ้าลูกว่าง่ายสอนง่าย บิดามารดาก็มีความสุข ความสบาย

นี่ก็ฉันใด ประเทศเราผู้ปกครองก็เช่นเดียวกัน นี่พากันเข้าใจไว้ข้อนี้ เพื่อเอาใจใส่ - ใครก็อยากได้ความสุขความสบายทั้งนั้น ใครมาใครก็อยากได้ความร่ําความรวย อยากได้ความสวย ความงาม ได้ความพ้นทุกข์พ้นภัย พ้นกิเลสจัญไรทั้งหลายทั้งหมด

เคยอธิบายมาแล้ว กิเลสจัญไรทั้งหลายก็ไม่ได้อยู่ที่อื่นที่ไกล อยู่ที่กายที่ใจ ของเรา ในธรรมะคําสั่งสอน ท่านได้บอกว่า มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา มโน ว่า นโม พลิก นะ เป็น โม โม เป็น นะ มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา มโนคือความน้อมนึก ธมฺมา คือความคิด ปุพฺพ ในเบื้องต้น บุญและบาปสิ่งใด ใจเราถึงก่อนสิ่งทั้งหลายทั้งหมดใจเราถึงก่อน

อนาคตก็ดีต้องดูเดี๋ยวนี้ ถ้าปัจจุบันนี้ดีแล้ว อนาคตมันก็ดีไม่ต้องสงสัย ให้พากันหายสงสัย


ถ้าในปัจจุบันนี้ไม่ดี อนาคตมันก็ไม่ดี นี่ใครต้องการสิ่งไม่ดีล่ะ ไม่มีใครสักคนเมื่อเป็นเช่นนี้ ต่างคนต่างทําสงบ มีความเยือกความเย็น ความสุข ความสบาย - เบิกบานจึงได้นามว่า “พุทโธ” พระพุทธเจ้า นั่นแหละ จึงดี

นี่แหละ ใจเราเป็นหลักฐาน ใจเป็นประธาน มันสําเร็จกับดวงใจ สิ่งไรๆ ทั้งหมด นี่แหละนํามาเตือนใจโดยย่นย่อนี้พอเป็นข้อปฏิบัติ ประดับสติปัญญาบารมีของท่านทั้งหลาย เมื่อท่านทั้งหลายได้สดับแล้วในโอวาทธรรมะคําสั่งสอนโดยย่นย่อนี้พอเป็นข้อปฏิบัติแล้ว นําไปพินิจพิจารณา ให้ทะลุหัวข้อใจความในพระพุทธศาสนา คือกายกับใจนี้ เป็นที่ตั้งแห่งพระพุทธศาสนา เป็นที่ตั้งแห่งคุณพระพุทธเจ้า เป็นที่ตั้งแห่งพระธรรม เป็นที่ตั้งแห่งพระสงฆ์ เป็นที่ตั้งแห่งมรรคและผล

เมื่อได้ยินได้ฟังดังนี้ โยนิโสมนสิการ พากันกําหนดจดจําไว้แล้ว นําไปประพฤติปฏิบัติ ฝึกหัดตนของตนเป็นไปในธรรมคําสั่งสอน

แต่นี้ต่อไป เมื่อเราท่านทั้งหลาย เมื่อไม่มีความประมาทแล้ว จักประสบพบเห็นแต่ความสุข ความเจริญ ดังได้แสดงมา เอวํ ก็มี ด้วยประการฉะนี้


:b8: :b8: :b8: ที่มา : หน้า ๓๘๕-๓๙๗
หนังสือภาพ ชีวประวัติ และปฏิปทาของพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร
วัดป่าอุดมสมพร ตำบลพรรณา อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร
หนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร


รูปภาพ
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
วัดบวรนิเวศวิหาร (วัดบวรนิเวศ ราชวรวิหาร)


:b47: :b47:

• ประวัติและปฏิปทา “หลวงปู่ฝั้น อาจาโร”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=58068

• รวมคำสอน “หลวงปู่ฝั้น อาจาโร”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=44391

• ประมวลภาพ “หลวงปู่ฝั้น อาจาโร” วัดป่าอุดมสมพร
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=42819


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 ก.ค. 2020, 15:35 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร
แสดงพระธรรมเทศนา “จิตตภาวนา พุทโธ”
ณ วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ
วันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๘

:b50: :b47: :b50:

เราทุกคนมาชุมนุมกันที่นี้ ประชุมทั้งในทั้งนอก เมื่อเข้ามาถึงวัดแล้ว ให้พากันวัดดูจิตใจของเราว่ามันอยู่นอกวัดหรือในวัด วัดดูเพื่อเหตุใด

นี่แหละเราอาศัยพระพุทธศาสนา ศาสนาเป็นเครื่องแก้ทุกข์ และเป็นเครื่องดับทุกข์

พระพุทธเจ้า ท่านบัญญัติศาสนาในพุทธบริษัททั้งสี่นี่แหละ ท่านไม่ได้บัญญัติที่อื่น บริษัททั้งสี่คืออะไร ภิกษุ ภิกษุณี แต่เวลานี้ภิกษุณีไม่มี สามเณร อุบาสก อุบาสิกา

ในสี่เหล่านี้แหละ (ที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติ) พระพุทธศาสนา (คือเป็นศาสนทายาท) ศาสนาจะเจริญได้ก็อาศัยสี่เหล่านี้ ศาสนาจะเสื่อมก็อาศัยสี่เหล่านี้เหมือนกัน

ศาสนาจะเสื่อมเพราะเหตุใด ?

เพราะเราไม่ประพฤติเราไม่ปฏิบัติ เรื่องเป็นอย่างนี้ ในคุณพระพุทธเจ้าเราก็ไม่มีความเคารพ ในคุณพระธรรมก็ไม่มีความเคารพ ในคุณพระอริยสงฆ์เราก็ไม่มีความเคารพ ในทานก็ไม่มีความเคารพ ในศีลก็ไม่มีความเคารพ ในภาวนาก็ไม่มีความเคารพ ในปฏิสัณฐานการต้อนรับซึ่งกันและกันก็ไม่มีความเคารพ เมื่อเราไม่เคารพใน ๗ สถานนี้แหละ เป็นเหตุให้ศาสนาเสื่อม ถ้าพวกเรายังมีความเคารพอยู่ในสิ่ง ๗ สถานนี้แล้ว ศาสนาก็จะเจริญรุ่งเรืองขึ้นไป

ท่านบัญญัติศาสนา ในพระไตรปิฎกท่านบอกว่า ในพระอภิธรรมท่านไม่ได้ บัญญัติอย่างอื่น เราทั้งหลายบ้างก็ว่าบางคนไม่ได้เรียนบัญญัติ เอ้อ ! ให้รู้จักบัญญัติ ท่านบัญญัติธรรมวินัย ท่านบอกว่า ฉปญฺญฺตฺติโย ขนฺธปญฺญฺตฺติ อายตนปญฺญฺตฺติ ธาตุปญฺญฺตฺติ อินฺทฺริยปญฺญฺตฺติ ปุคฺคลปญฺญฺตฺติ นี่ - ท่านบัญญัติศาสนาไว้ตรงนี้อันนี้ท่านวางไว้ นี่บัญญัติศาสนา ให้พากันพึงรู้พึงเข้าใจนะ

ขนฺธปญฺญฺตฺติ คือท่านบัญญัติในเบญจขันธ์ เมื่อวานก็ได้อธิบายไปแล้ว คือบัญญัติในรูปบัญญัติในเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี่ เราก็น้อมดูซี รูปอยู่ที่ไหนเล่า คือนั่งอยู่นี่แหละ เรียกว่า รูปขันธ์ ขนฺธปญฺญฺตฺติ นี่ บัญญัติตรงนี้ เพื่อเหตุใด เพื่อให้รู้จัก สิ่งเหล่านี้ว่ามันเป็นอยู่อย่างไร มันเป็นสุข หรือเป็นทุกข์ มันดีหรือมันชั่ว มันเกิดขึ้นมาจากนี้ เอ้อ ! เรียกว่ารูปขันธ์. เวทนาขันธ์ล่ะ ความสุขทุกข์ ทุกขา เวทนา สุขา เวทนา อุเบกขา เวทนา เราก็ต้องดูเอาซี ตรงนี้ท่านบัญญัติไว้ สัญญาขันธ์ ความสําคัญมั่นหมาย ความจําโน่นจํานี่ นี่ - ท่านบัญญัติไว้ตรงนี้. สังขารขันธ์ ความปรุงความแต่ง ดูซี เวลานี้เราปรุงเป็นกุศลหรืออกุศล ให้พึงรู้พึงเห็น ไม่ใช่ฟ้าอากาศปรุงเป็นกุศลอกุศล กุศลเราจะรู้ได้อย่างไรเล่า รวมมาสั้นๆ แล้ว คือใจเราดี - มีความสุขความสบาย - เย็นอกเย็นใจ นี้เรียกว่า กุศลธรรมนําความสุขความเจริญมาให้ในปัจจุบันและเบื้องหน้า อกุศลธรรม จิตไม่ดีทุกข์ยากวุ่นวาย เดือดร้อน ธรรมนี้นําสัตว์ทั้งหลายให้ตกทุกข์ได้ยาก ให้ฉิบหายในปัจจุบันและเบื้องหน้า เป็นอย่างนี้ วิญญาณขันธ์ล่ะ วิญญาณนี้เป็นผู้รู้และจะไปปฏิสนธิในสิ่งที่เราได้ปรุงแต่งไว้ กรรมเหล่านี้แหละนําไปตบแต่ง ไม่มีใครตบแต่งให้เรา ธรรมนํามาเอง นี่ เรื่องมันเป็นอย่างงี้ ธรรมมันอยู่ตรงนี้ จะเรียนธรรม จะรู้ธรรม ให้มาดูตรงนี้ มาดูรูป ดูเวทนา ดูสัญญา ดูสังขาร ดูวิญญาณ นี้ให้พิจารณารูปนี้แหละ เพ่ง - เพื่อเหตุใด ท่านยังว่ามันหลงรูป หลงรูป รูปอันนี่มันมีอะไรจึงพากันไปหลงอยู่นักหนา พระพุทธเจ้าจึงได้วางไว้ให้พิจารณารูปนี้

อายตนปญฺญฺตฺติ นั่นเป็นบ่อเกิดแห่งความดีและความชั่ว อายตนะภายในภายนอก อายตนะภายใน ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเรา อายตนะภายนอก ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ รวมเข้ามาแล้วสิ่งนี้ก็อยู่ในรูปนี้ นี่เป็นอย่างนั้น

ธาตุปญฺญฺตฺติ บัญญัติธาตุ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ มาประชุมกันเข้า เรียกว่าตัวตน สัตว์บุคคล เราเขา เมื่อเป็นเช่นนี้ เราต้องมาพิจารณาในรูปนี้ตั้งสติเพ่ง - ดู รูปอันนี้ ดูเพื่อเหตุใด เพื่อไม่ให้หลง เรื่องมันเป็นอย่างนี้ เมื่อเราเห็นแล้ว ไม่หลงรูปอันนี้ เราก็รู้จัก นะ รู้จัก โม หัวใจตัวเราจึงรักษาได้ แต่เวลานี้เราไม่รู้จัก นะ ไม่รู้จัก โม

นโม คืออะไรเล่า นโม คือความน้อมนึก นะ คือความน้อม เราน้อมอะไร เป็นอย่างนั้น คือดินและน้ำ ได้อธิบายเรื่อง นะ แล้ว มันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่เขาไม่ใช่เรา

เมื่อวานก็อธิบายคําว่า “โม” แล้ว นะ คืออะไรเล่า นะแปลว่าไม่ใช่ ปิตฺตํ น้ำดี ดูซน้ำดีอยู่ที่ไหนเล่า มันเป็นคนเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย เรียกว่าน้ำดี เสมฺหํ น้ำเสลด เป็นคน หรือเป็นอะไร อยู่ที่ไหนเล่า ปุพฺโพ น้ำเหลือง นี่เป็นคนหรือเป็นอะไร โลหิตํ น้ำเลือด เลือด เรานี่แหละ มันเป็นคนหรือเป็นอะไร มันเป็นผู้หญิงหรือเป็นผู้ชาย เสโท น้ำเหงื่อ อสฺสุ น้ำตา วสา น้ำมันเหลว เขโฬ น้ำลาย สิงฺฆาณิกา น้ำมูก ลสิกา น้ำไขข้อ มุตฺตํ น้ำมูตร สิ่งเหล่านี้เป็นคนหรือเป็นอะไร เป็นของเอาหรือของทิ้ง นี่แหละจึงเรียกว่านะ แปลว่าไม่ใช่คน เป็นของทิ้งทั้งหมด หรือใครจะเก็บสิ่งเหล่านี้เอาไว้ อยู่ที่ไหนเล่า นี่ให้พากันพิจารณาสิ่งเหล่านี้แหละ มันจึงจะละซึ่งกามารมณ์ได้ รูปารมณ์ได้ เมื่อเราเห็นเช่นนี้แล้ว หรือให้พากันเพ่งเล็งดูสิ่งเหล่านี้ให้มันรู้มันเห็นโดยไม่ต้องสงสัย สิ่งเหล่านี้ไม่ได้อยู่ที่อื่น อยู่ที่ตัวของเรา เรามาถือเอาสิ่งเหล่านี่แหละว่าเป็นตัวเป็นตน เมื่ออธิบายให้ฟังอย่างนี้แล้ว ให้พากันนั่งเพ่งดู...

เอ้า ! นั่งให้สบายๆ ลงมือทํา ถ้าไม่ทําแล้วก็ไม่เห็น เอานั่งให้สบายๆ นี่แหละให้รู้จักชั้นศาสนา แก่นศาสนา ท่านบัญญัติไว้ที่ตรงนี้ ท่านไม่ได้บัญญัติที่อื่น

เมื่อเป็นเช่นนี้ เราท่านทั้งหลายที่มา ณ ที่นี้ในวันนี้ เพื่อประเทศชาติของเรา สมเด็จญาณฯ (คือ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระญาณสังวร - Duangtip) ท่านดําริให้มีการแผ่พระราชกุศลถวายแด่มหาบพิตร (คือ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ - Duangtip) และพวกเราต้องการให้ประเทศชาติของเรา อยู่เย็นเป็นสุข และยั่งยืนถาวร และต้องการให้ประเทศของเราให้มีความสุขความเจริญ ในปัจจุบัน และเบื้องหน้า

เราต้องเพ่งดูซิ ประเทศชาติก็เกิดขึ้นจากตัวของพวกเรานี้

ศาสนาจะเสื่อมมันเป็นอย่างไร ศาสนาเจริญเป็นอย่างไร ศาสนาจะเจริญได้คือ เรามาทํากันอย่างนี้แหละ เข้าถึงคุณพระพุทธเจ้า เข้าถึงคุณพระธรรม เข้าถึงคุณพระสงฆ์ เข้าถึงคุณพระพุทธเจ้า คือเข้าถึงพุทธะ คือความรู้ เราวางกายให้สบาย แล้วเราระลึกถึงความรู้ของเรา ถ้าเราไม่รู้จักที่อยู่ของพุทธะ คือความรู้ว่าอยู่ตรงไหนแล้ว (เราก็ไม่สามารถเข้าถึงพุทธะ) ในเบื้องต้นก็ให้นึกถึงคําบริกรรมเสียก่อน


ผู้ที่เคยทํามาแล้ว หรือผู้ที่ยังไม่เคยทําก็ดี ให้ระลึกว่า พระพุทธเจ้าอยู่ในใจ พระธรรมอยู่ในใจ พระอริยสงฆ์สาวกอยู่ในใจ เชื่อมั่นอย่างนั้นแล้ว ให้ระลึกคําบริกรรมภาวนาว่า พุทโธ ธัมโม สังโฆ สามหนแล้ว รวมเอาแต่พุทโธ พุทโธ คําเดียว หลับตางับปากนะ ให้ระลึกเอาในใจ ลิ้นก็ไม่กระดุกกระดิก ให้ระลึกอยู่ในใจ

พุทโธ ความรู้สึกอยู่ตรงไหนแล้ว ให้ตั้งสติไว้ตรงนั้น

ตาเราก็เพ่งดูที่ความรู้สึกนั้น หูก็ไปฟังที่รู้สึกอยู่นั้น นี่แหละ เราจะรู้จักว่า ศาสนาทําไมจึงเสื่อมทําไมจึงเจริญ ศาสนาเสื่อมเป็นอย่างไรเล่า คือจิตของเราไม่ได้เจริญ อิทธิบาท และไม่เจริญใน ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นหลักพระพุทธศาสนา นี่เรื่องเป็นอย่างนี้ คือในคุณพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ดังได้อธิบายมาแล้ว

ศีลนี่เป็นหลักพุทธศาสนา เราดูซิศีลคืออะไร ศีล คือความงามในเบื้องต้น งามท่ามกลาง และงามที่สุด ในบาลีท่านกล่าวว่า อาทิกลฺยาณํ มชฺเฌกลฺยาณํ ปริโยสานกลฺยาณํ กลยาณํ คือความงาม งามเบื้องต้น คืออะไรเล่า เป็นผู้มีศีล อะไรเป็นศีลเล่า ท่านบอกว่าสํารวมกาย วาจา ใจ ให้เรียบร้อย ดูซิกายเราเรียบร้อย วาจาเราเรียบร้อย ใจเราเรียบร้อย ไม่ได้ทําโทษน้อยใหญ่ทั้งกายทั้งใจแล้ว นี่จึงเรียกว่า เป็นผู้มีศีล

ศีล แปลว่า ความปกติกายปกติใจ เดี๋ยวนี้ ใจเราปกติหรือยังไม่ปกติ มันเป็นอย่างไร ถ้าใจมันปกติ มันก็ไม่พิกลพิการ มันไม่ทะเยอทะยาน เรื่องเป็นเช่นนี้กายของเราปกติ มันก็ไม่พิกลพิการ ให้พิจารณาดูซิ ทําจิตให้เป็นปกติ เหมือนกับก้อนหิน ลมพัดมา ทุกทิศทั้งสี่ก็ไม่หวั่นไหว นี่เราก็ทําใจเราเหมือนก้อนหิน ใครจะว่าอย่างไรก็ตาม ดีชั่วไม่เป็นเหมือนเขาว่า เมื่อเราไม่ดีแล้วเขาว่าดี มันก็ไม่ดีครือเขาว่า เมื่อเราดีแล้วเขาว่าไม่ดี ก็ไม่เป็นเหมือนเขาว่า เราก็ดูซิ ให้เห็นซิ นี่แหละจิตของเราเป็นศีล เราก็รู้จัก ตามที่ได้อธิบายมาแล้วข้างต้น นี่ให้พากันพึงรู้พึงเข้าใจ

สมาธิ งามท่ามกลาง เราก็ตั้งจิตมั่น ลองดูซิว่าจิตเราตั้งหรือไม่ตั้ง มันเอนเอียงไปทางไหนมันข้องตรงไหน มันคาตรงไหน เราได้แต่ว่าสมาธิ คือจิตตั้งมั่น เราตั้งดูซิมันตั้งหรือไม่ตั้ง ถ้ามันตั้งมันเป็นอย่างไรเล่า มันก็ไม่เอนเอียงไปหาความรักความชัง ไม่หลงในรูปเสียงกลิ่นรสสัมผัสอารมณ์ทั้งหลายต่างๆ สิ่งใดเกิดขึ้นเราก็ดับ นี่มันจึงเข้าถึงสมาธิ จิตตั้งมั่นเมื่อจิตสงบตั้งมั่นแล้วมันก็ใส นี่แหละ สมถกรรมฐาน ให้รู้จักสมถคือทําจิตให้สงบภายใน

เมื่อจิตของเราสงบภายในแล้วอุปมาเหมือนน้ำสงบ น้ำสงบแล้วก็ใส ใสแล้วก็มองเห็นเหตุ มองเห็นผล มองเห็นบุญกุศล มองเห็นสุข มองเห็นทุกข์ มองเห็นดี มองเห็นชั่ว

เมื่อจิตของเราสงบแล้ว มันจะออกข้างซ้ายข้างขวา ข้างหน้าข้างหลัง ข้างบน ข้างล่าง เราก็รู้ เรียกว่า มันตั้ง เพ่งเล็งมีสติอยู่ตรงนี้ นี่แหละให้พึงรู้พึงเข้าใจต่อไปในการทําสมาธิ อันนี้เมื่อจิตของเราเห็นแล้วอย่างนั้น เห็นสิ่งที่มันเกิดขึ้นในสังขารทั้งหลาย และปัญญา ความรอบรู้ในกองสังขาร มันจะได้เกิดปัญญารอบรู้ในกองสังขาร ว่าใครเป็นผู้ปรุงแต่งเล่า ไม่ใช่ว่าคนอื่นปรุงแต่ง กายสังขาร จิตสังขาร ปรุงขึ้นจากจิตของเรา นี่แหละมันจะได้เกิดเป็นวิปัสสนา บาทของสมถะ

เดี๋ยวนี้คนทั้งหลายเข้าวิปัสสนา เข้าวิปัสสนา ได้แต่ว่าเข้าวิปัสสนา แต่ไม่รู้ว่าวิปัสสนาเป็นอย่างไร

เมื่อสมถเป็นบาทของวิปัสสนา คือเมื่อจิตเราสงบแล้ว เห็นที่เกิดแห่งสังขาร และเห็นที่ดับแห่งสังขาร นี่เป็นอย่างนี้ ให้พึงรู้พึงเข้าใจ เดี๋ยวนี้เราไม่รู้ว่ามันเกิดมาจากไหน ไม่รู้จักที่เกิดและก็ไม่รู้จักที่ดับ มันจะเป็นวิปัสสนาได้อย่างไรเล่า

วิปัสสนาคือเมื่อจิตมันสงบแล้วก็เห็นที่เกิดแห่งสังขาร โอ้เกิดจากจิตของเรา และก็ดับที่จิตของเรา

เราจะดับได้เพราะเหตุใด เราเห็นอาทีนวโทษ เห็นโทษแห่งสังขาร เห็นภัยแห่งสังขารทั้งหลาย เห็นทุกข์แห่งสังขารทั้งหลาย นี่มันจะดับได้ตรงนี้ เมื่อเห็นทุกข์เห็นโทษแล้วมันก็ตัดได้ จึงเป็นวิปัสสนา ความรู้แจ้งเห็นจริงสัจจธรรม สัจจของจริงคืออะไรเล่า เมื่อสังขารความปรุงความแต่งเกิดขึ้นแล้ว มันก็เกิด มันหลง เมื่อหลงแล้วท่านก็บอกว่า อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขารปจฺจยาวิญฺญฺาณํ วิญฺฺญฺาณปจฺจยา นามรูปํ เมื่ออวิชชาความหลงมีแล้วก็เป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร สังขารมีแล้วเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ วิญญาณมีแล้วก็เป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป นามรูปมีแล้วก็เป็นปัจจัยให้เกิดอายตนะ อายตนะมีแล้วก็เป็นปัจจัยให้เกิดผัสสะ ความกระทบ ถูกต้อง ผัสสะมีแล้วก็เป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา เวทนามีแล้วก็เป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา ความทะเยอทะยาน ตัณหามีแล้วก็เป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน การยึดถือ นี่ให้พิจารณาอันนี้ อุปาทานมีแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้เกิดภพ คือเข้าไปตั้ง ภพมีแล้วก็เป็นปัจจัยให้เกิดชาติ คือความเกิดชาติมีแล้วก็เป็นปัจจัยให้เกิดชรา ชรามีแล้วก็เป็นปัจจัยให้เกิดพยาธิ พยาธิมีแล้วก็เป็นปัจจัยให้เกิดมรณะ คือความตาย มรณะมีแล้วก็เป็นปัจจัยให้เกิดทุกข์

นี่พระพุทธเจ้าจึงได้พิจารณาในปฏิจจสมุปบาทเป็นเครื่องข้องอยู่ ท่านจึงได้ค้นทุกข์อันนี้


เหตุนั้นท่านจึงว่าทุกข์ควรกําหนด ท่านไม่ให้ละทุกข์ ทุกข์ควรกําหนดควรพิจารณา ไปละสมุทัย นี่เป็นอย่างนี้ เราก็รู้เรื่องสมุทัย สัตว์ทั้งหลายจมลงในมหาสมุทรเป็นเหยื่อปลาหมด ปาโป ปาปํ จมในมหาสมุทร คือหลงความสมมติ ท่านค้นแล้วว่าทุกข์นี้มันมาจากไหน ท่านทวนกระแส ทีแรกท่านพิจารณาว่าทุกข์มาจากไหน อะไรเป็นเหตุปัจจัยมา มาจากความตาย ความตายมาจากไหนเป็นเหตุปัจจัยมา มาจากความเจ็บไข้ได้พยาธิอาพาธโรคา สิ่งเหล่านี้มาจากไหนเล่า มาจากชรา ความเฒ่าแก่ ความชํารุดทรุดโทรม ความชํารุดทรุดโทรมมาจากไหนเล่า มาจากความเกิด ชาติคือความเกิด เกิดมาจากไหน มาจากภพ ภพคือ เข้าไปตั้ง ภพมาจากไหนเล่า ท่านพิจารณา มาจากอุปาทาน ความยึดถือ ถ้าเรายึดถือที่ไหน ก็ไปตั้งภพที่นั่น ให้ดูเอาซิภพของเราน้อยๆ ใหญ่ๆ อุปาทานมาจากไหนเล่า มาจากตัณหา ความทะเยอทะยาน ตัณหามาจากไหน มาจากเวทนา มันมีเวทนา สุขาเวทนา ทุกขาเวทนา ทีนี้ เวทนาเหล่านี้มาจากไหนเล่า มาจากผัสสะ ความกระทบถูกต้อง ผัสสะมาจากไหนเล่า มาจากอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรานี้ อายตนะมาจากไหนเล่า มาจากรูป นามรูป รูปมาจากไหน มาจากวิญญาณ ปฏิสนธิวิญญาณ วิญญาณมาจากไหนเล่า มาจากสังขาร สังขารความปรุงความแต่ง สังขารมาจากไหนเล่า มาจากอวิชชา

นี่ - ท่านค้นมาจบตรงนี้จึงว่า อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา, สงฺขารปจฺจยา วิญฺญฺาณํ นี่มาจากอวิชชา เราต้องเรียน ไปถึงอวิชชา ใครๆ ก็ไปหลงแต่อวิชชา เราไม่ได้โอปนยิโก ใครเป็นผู้รู้ว่าอวิชชา และไม่ระลึกถึง มันมีผู้รู้อยู่ จึงรู้ว่า อวิชชา

ทําให้มันเห็นแจ้งเห็นจริงในตัวของเรา นี่แหละเป็นข้อปฏิบัติ เพราะฉะนั้นให้พากันพึงรู้พึงเข้าใจ อย่าไปหลง

เรานั่งอยู่เดี๋ยวนี้เราหลงอะไร นี่แหละให้รู้จักพุทธศาสนา ศาสนาจะเจริญขึ้นก็อาศัยเราประพฤติปฏิบัติ เรากระทําอย่างนี้ จึงจะเจริญได้ เมื่อเราไม่ประพฤติปฏิบัติ ศาสนาก็เสื่อม เรื่องเป็นอย่างนี้ เสื่อมเสีย ไม่ได้เสื่อมไปไหน เสื่อมจากตัวบุคคล คือคนไม่ประพฤติ คนไม่กระทํา

เดี๋ยวนี้บางคนว่าพระอรหัตพระอรหันต์ไม่มี พระโสดาสกิทาคาอนาคาก็ไม่มี จะมีได้ ยังไง เพราะคนไม่กระทํา เพราะคนไม่ปฏิบัติ เพราะคนไม่ได้ขัดไม่ได้เกลา และของเราไม่ได้ประพฤติ เราไม่ได้ดู เรื่องเป็นอย่างนี้ เมื่อเราได้ยินได้ฟังแล้ว โอปนยิโก ดูซิพระโสดาอยู่ที่ไหนเล่า ตําราบอกไว้ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ก็เท่านี้ รู้อันนี้เมื่อเรารู้อันนี้แล้ว นั่นแหละเข้ามรรคในเบื้องต้น จะได้เป็นพระโสดา สักกายทิฏฐิ เดี๋ยวนี้เรามาถือตัวตน เมื่อเราพิจารณาดังอธิบายมาเบื้องต้น นะ มันไม่เป็นตัวเป็นตนแล้ว มันก็ละทิฏฐิ ละมานะ อหังการ มมังการ ถือว่าเป็นตัวเป็นตน ไม่ถือ จิตมั่นก็ละ มันก็วาง วิจิกิจฉา สงสัยว่าจะดีอย่างโน้นอย่างนี เราก็เห็นแล้วขี้มูกน้ำลายของเราเลือดของเรา เหมือนที่อธิบายมาแล้วนั่น


จะสงสัยอะไรอีกเล่า มันดีหรือมันชั่วล่ะ ดูซิ เพ่งดูซิ โลหิตํ น้ำเลือด เพ่งกสิณดูซิ กสิณ แปลว่าความเพ่ง สีแดง เพ่งดูซิเลือดอยู่ที่ไหน สีแดง คือเลือด เลือดของตนและของบุคคลอื่นเป็นอย่างไร เพ่งดูซิ มันจะละได้หรือละไม่ได้ เมื่อเห็นว่าเป็นเลือดแล้ว ใครจะเอาล่ะ ใครยังจะต้องการอีกเล่า เพ่งกสิณเรียกอสุภะให้เห็นกสิณเพ่งให้มันเห็น เห็นแล้วจิตของเราจะได้ไม่มีความสงสัย มันจะถอนสักกายทิฏฐิได้ มันจะไม่เป็นสีลลัพพตปรามาสความลูบคลํา ว่า ศีล สมาธิ ปัญญา อยู่ที่อื่นที่ไกล ประจําใจของเราอยู่ สุขทุกข์ทั้งหลาย นี่พระพุทธศาสนา ให้พากันรู้จัก นี่แหละเมื่อเราเห็นแจ้งแล้ว จิตของเราก็หยั่งถึงศีล ถึงสมาธิ มันมีปัญญาความรอบรู้ในกองสังขารทั้งหลาย มันปรุงแต่งไม่ได้ ให้พึงรู้พึงเห็น นี่แหละศาสนาจึงจะเจริญได้

เดี๋ยวนี้ศาสนาจะเสื่อมก็คือ ภิกษุสามเณรบวชแล้วไม่ประพฤติปฏิบัติศีลของตน สมาธิของตนไม่รักษาที่เล่าเรียนไปก็เรียนไปเปล่าๆ ประโยชน์ ไม่ประพฤติไม่ปฏิบัติและไม่ฝึกหัด ไม่มีความสํารวมระวัง ปล่อยไปประพฤติไปต่างๆ นานา เดี๋ยวนี้พระเณรเดินขบวนก็มี ทําไปเหลวไหล รับประทานอาหารยามวิกาลก็มี จับเงินจับทองก็มี ต่อของซื้อของขายก็มี พูดเกี้ยวสีกาก็มี เที่ยวเล่นตามถนนหนทางก็มี พวกนี้ซิมาย่ำยีพระศาสนา ทําศาสนาให้เสื่อม ไม่มีความสํารวมระวังศีลของตน ไม่ประพฤติปฎิบัติศีลของตน

อุบาสกอุบาสิกา ก็ไม่มีความเคารพในทาน ศีล ภาวนา ของตน นี่ซิมันเสื่อม พระภิกษุสามเณรบวชเข้ามาแล้ว ก็ควรเล่าเรียนศึกษาสํารวมสิกขาวินัยของตนให้เรียบร้อย รู้จักแล้วศีลของเรา ๒๒๗ เณรก็ศีล ๑๐ เป็นข้องดเว้น เราสํารวมระวังอย่างนี้ศาสนาก็เจริญรุ่งเรือง เดี๋ยวนี้มันไม่เป็นเช่นนั้น ศาสนาจึงเสื่อมเสีย

คนทั้งหลายก็ดูหมิ่นศาสนา ดูถูกศาสนา เพราะเราไม่มีศีล ไม่มีสมาธิ ไม่มีปัญญา มีแต่ศีรษะโล้นกับผ้าเหลือง ว่าเป็นพระเท่านั้น

ข้อวัตรข้อปฏิบัติเป็นอย่างไร ก็ให้ดูเอาซิว่าท่านห้ามอะไร เราทั้งหลายก็บวชแล้วได้ศึกษามาแล้ว การที่พระพุทธเจ้าสอนทุกสิ่งทุกอย่างในศีล ๒๒๗ ให้งดเว้น นุ่งห่มท่านก็สอน นั่งนอนเดินยืนท่านก็สอน ถ่ายอุจจาระปัสสาวะ บ้วนเขฬะท่านก็สอน จรดคําข้าวเข้าปากท่านก็สอน นี่แหละ ความละเอียดของท่านที่ต้องการความสวยความงาม ความสํารวมระวัง นี่เป็นอย่างนี้

อุบาสกอุบาสิกาก็ดี ท่านก็สอนให้เข้าถึงพระไตรสรณคมน์ คือ เอาพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะที่พึ่ง ที่ระลึก ที่กราบไหว้ ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะ นตฺถิ เม สรณํ อญฺญฺํ ที่พึ่งของข้าพเจ้าอื่นไม่มี นอกจากพระพุทธเจ้าเท่านั้น

ถ้าเราไม่ถือเช่นนี้แล้ว ไตรสรณคมน์ของเราก็เศร้าหมอง เจ้าของเป็นบาปขาดจากพระพุทธศาสนา เหตุนี้ให้พึงรู้พึงเข้าใจต่อไป

ผู้ปฏิบัติศาสนาอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย ท่านจะไปหามื้อหาวันทํางานทําการต้องการวันดี ไม่ใช่วันนั้นไม่ดี วันนี้ไม่ดี วันไม่ได้ทําอะไรแก่คน วันดีทําไมคนจึงตายได้ วันไม่ดีทําไมคนจึงเกิด ในเจ็ดวันนี้ อาทิตย์ จันทร์ อังคาร พุธ พฤหัส ศุกร์ เสาร์ มีเท่านี้

การหาวันนั้น คือวันอย่างนี้ สมมติว่าเราจะทํางานทําการสิ่งใด เราพร้อมแล้วหรือยัง เมื่อหาวันพร้อมเพรียงกันแล้ว จะเอาวันไหนเวลาไหน นัดกันพร้อมกัน ถ้าพร้อมแล้ววันนั้นแหละเป็นวันดี นี่ให้หาวันอย่างนี้ ถ้าวันใดยังไม่พร้อมกันก็อย่าเพิ่งทํา จะแต่งงานแต่งการปลูกบ้านปลูกช่อง ตึกร้านอาคารก็ตาม ขึ้นบ้านใหม่ก็ตาม ให้รู้ไว้ ถ้าวันนั้นมันพร้อมแล้วเรียบร้อยแล้วก็ทําได้ขึ้นได้ ถ้ายังไม่พร้อมแล้วก็ยังขัดข้องทําไม่ได้ เรียกว่าวันไม่ดี หาวันอย่างนี้หรอก ให้เข้าใจ

อธิบายมาให้ฟังย่อๆ แล้ว

ให้ละเว้นการเลือกวันโน้นวันนี้เสีย การดูดวงก็เหมือนกัน ดูเอาว่าดวงดี ดวงไม่ดี ผูกดวงผูกดาว คนโกหกหลอกลวงกันให้วุ่นวายเดือดร้อน ในพระพุทธศาสนาดวงดีไม่ดีก็ให้ดูเอาซิ ไม่ใช่มาจากฟ้าอากาศ ให้ดูดวงดีเดี๋ยวนี้ซิดวงดีเป็นยังไง ดวงดีรวมมาสั้นๆ แล้วคือใจเราดี มีความสุขความสบาย เมื่อใจเราสุขสบายแล้ว ทําอะไรก็สบาย การงานก็สบาย ประเทศชาติก็สบาย นี่แหละดวงดี

ดวงไม่ดีเป็นไง ดวงไม่ดีคือใจเราไม่ดี ใจมีทุกข์ยากวุ่นวายเดือดร้อน นี่แหละดวงไม่ดี ทําอะไรก็ไม่ดี หาอะไรก็ไม่ดี นี่เรียกว่าดวงไม่ดี ดูตรงนี้ จะให้ใครดูให้เล่า

ดูเอาซิ ทุกคนที่มานั่งอยู่นี่ทั้งพระทั้งเณร ทั้งอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลายดวงดีไม่ดี ก็ให้พิจารณาตรงนี้ อย่าไปพิจารณาอื่น และอย่าเข้ารีดพวกเดียรถีย์นิครนถ์ คนนอกศาสนา ถ้าไปถืออย่างนั้นแล้ว ขาดจากพุทธศาสนา นี่แหละผู้จะปฏิบัติศาสนาจะต้องถืออย่างนี้ อุบาสก อุบาสิกาก็ให้ถือศีลห้ารักษาศีลห้า อย่ามัวมารับเอากับพระ ญาติโยมว่าศีลอยู่กับพระ พระว่าศีลอยู่กับพระพุทธเจ้า ศาสนาเป็นของพระพุทธเจ้า ไม่นึกว่าเป็นของของเรา เมื่อเราไม่นึกว่าเป็นของของเราแล้ว เราก็ท้อถอย ถ้าสิ่งเหล่านี้เป็นของของเราแล้วเราก็เอาใจใส่รักษา ศีล... จะไปรับกับใครเล่า

เราเกิดมามีศีลห้าพร้อม ตัวศีลห้าได้มาพร้อมตั้งแต่เราเกิดมา มีขาทั้งสอง แขนทั้งสอง ศีรษะอันหนึ่ง นี่แหละตัวศีลห้า อย่าเอาห้าไปทําโทษห้า โทษห้านั้นคือปาณานั้นก็โทษ อทินนานั้นก็โทษ กาเมนั้นก็โทษ มุสานั้นก็โทษ สุรานั้นก็โทษ แน่ะเป็นโทษทั้งหมด

ที่เรายุ่งทุกวันนี้ก็เพราะห้าอย่างนี้ กลัวคนมาฆ่า กลัวคนขโมย กลัวคนผิดในกาม กลัวคนมุสาฉ้อโกงหลอกลวง กลัวคนมึนเมาสุราสาโท กัญชายาฝิ่น นี่เป็นโทษ ถ้าเราละเว้นอันนี้แล้ว ท่านว่า สีเลน สุคตึ ยนฺติ มีความสุข ก็เพราะศีล สีเสน โภคสมฺปทา มีโภคสมบัติ ก็เพราะศีล นี่แหละให้พากันพึงเข้าใจ ให้ละเว้นโทษทั้งหลายห้าอย่างนี้

เมื่อเราจะรับศีลหรือไม่รับศีล อยู่ที่ไหนๆ ตัวของเราก็เป็นศีล แม้กระทั่งอยู่ในรถในป่าในดง ในบ้านในเมือง ในถนนหนทาง เราไม่ทําผิดห้าอย่างนี้แล้ว มันก็เป็นศีล อันนี้จะมากล่าวว่าไม่ได้รับกับพระแล้ว เราไม่มีศีลนั้น ใช้ไม่ได้ เราก็รู้กันอยู่แล้ว มารับศีลกับพระว่า ปาณาติปาตา เวรมณี พอยุงมากัดตบปั๊ปวันยังค่ำ มันจะเป็นศีลหรือ มันก็เป็นศีลไม่ได้น่ะซิ ให้รู้จักซิ อทินนาทานา เห็นของเขาก็ขโมยซะถึงจะว่าวันยังค่ำ มันก็ไม่เป็นศีล เราละเว้นโทษห้าอย่างนี้แหละ พากันให้รู้จักได้อธิบายมาทั้งข้างนอกข้างในแล้ว เอ้า ! น้อมเข้าไป ในเวลานี้สิ่งเหล่านี้มาจากไหนให้พากันงดเว้น ต่อไปนี้ให้พากันตั้งจิตดู เพ่งดูโทษทั้งหลายอยู่ที่ไหน สุขอยู่ที่ไหน ทุกข์อยู่ที่ไหน ให้พากันพึงรู้พึงเข้าใจ

ประเทศของเรามันยุ่งยากตรงไหน เหมือนเราทําถนนหนทาง มันขัดข้องตรงไหนเรา ก็แก้ไข จิตใจของเราข้องตรงไหนคาตรงไหนก็ให้แก้ไขเสีย จะมานั่งหลับตาเจ็บเอวเอาเปล่าๆ เรามานั่งดูตัวของเรา เวลานี้เราอยู่ในชั้นใดภูมิอันใดในภพใด

นี่ให้รู้จักจิตของเราเป็นกุศล หรือเป็นอกุศลให้รู้จัก จิตของเราสงบหรือไม่สงบ จิตของเราดีหรือไม่ดีให้รู้จัก นี่แหละ กามาวจรํ กุสลํ จิตฺตํ ให้รู้จักจิตของเรา อุปฺปนฺนํ โหติ มันอุบัติขึ้นจากตนของตนนี้ เอ้า ! ต่อไปนี้ต่างคนต่างได้ยินได้ฟัง โอปนยิโก คือพิจารณาน้อม เข้ามาดู นะ อันนี้ พิจารณาเพ่งดูหัวใจของเรา เราข้องอะไรอยู่ จิตของเราเป็นอย่างไร จิตของเราดีเป็นอย่างไร จิตดีเป็นอย่างนี้ จิตสงบดีมีความสุขความสบาย เย็นอกเย็นใจ ไม่ทุกข์ ไม่ร้อนไม่วุ่นไม่วาย

พุทโธ ใจเบิกบานสบาย นี่แหละ นําความสุขความเจริญมาให้ ในปัจจุบันและเบื้องหน้า


เรามาที่นี้ต้องการความสุขความสบาย ความสุขความเจริญ ถ้าจิตของเราเป็นอย่างนี้แล้ว สันทิฏฐิโก เราก็รู้เองเห็นเอง นี่เป็นอย่างนี้ ถ้าจิตของเราไม่ดีแล้วเป็นอย่างไร จิตไม่สงบจิตวุ่นวายจิตทะเยอทะยานดิ้นรน จิตไม่ดีแล้วทุกข์ยากเดือดร้อนวุ่นวายทุกข์ยาก ลําบาก ให้หนักหน่วงให้ง่วงเหงาให้มืดให้มัววุ่นวาย นี่นําสัตว์ทั้งหลายตกทุกข์ได้ยากทั้งปัจจุบันและเบื้องหน้า เมื่อจิตเป็นเช่นนี้แล้ว ประเทศชาติของเราก็วุ่นวาย ไม่ใช่อื่นเป็น ไม่ใช่อื่นวุ่นวาย ดวงใจของเรานี้วุ่นวาย เอ้า ! วัดดูเอาซิ จะกว้างขวางอะไร

บุตรภรรยาสามีรักกัน บิดามารดาญาติพี่น้องรักกัน ถ้าจิตไม่ดีแล้วมันก็ทะเลาะกันนั่นวัดดูซิ ถ้าจิตดีแล้วมันไม่ทะเลาะกัน หรือว่าไง เพ่งดูซิจริงหรือไม่จริงเล่า อยากร่ําอยากรวยอยากสวยอยากงาม บางคนทําไมมันไม่รวย บางคนอยากรวยทําไมเงินเดือนไม่ขึ้น ทําไมยศไม่ขึ้น เพราะเหตุใดมันไม่ขึ้น เพราะจิตเราไม่ดีเราไม่ได้สร้างคุณงามความดีไว้ในปัจจุบันและเบื้องหน้า จิตไม่ดีทุกข์.ยากลําบากอดอยาก แน่ะ ! จิตดวงนี้นําให้เราได้ทุกข์ได้ยาก ทําอะไรมันก็ไม่ขึ้น ทําอะไรมันก็ไม่รวย มันรวยเป็นยังไง จิตดีมีความสุข ความสบาย อันนี้นําความสุขความเจริญให้ในปัจจุบันและเบื้องหน้า

ต่อนี้ไปจะไม่อธิบายอีกแล้ว อธิบายไปก็ไม่มีที่สิ้นสุด


สรุปหัวข้อแล้วรวมลงที่กายกับใจเท่านี้ เอ้าเพ่งดู อธิบายดีชั่วทั้งภายในภายนอกให้รู้แล้ว ต่อไปนี้ โอปนยิโก จริงหรือไม่จริง ให้พากันเพ่งดูว่ามันข้องตรงไหน มันคาตรงไหน ไม่ดีตรงไหน ให้พากันเพ่งดูอยู่ตรงนั้น อย่าส่งไปข้างหน้ามาข้างหลัง ข้างซ้าย ข้างขวา ข้างบนข้างล่าง ให้ตั้งเฉพาะตรงที่รู้อยู่นั้น มันเป็นยังไงแล้วค่อยแก้ไขตรงนั้น คอยชําระตรงนั้น เล็งดู ไม่ใช่ดูอื่น ดูจิตของเรา ดูภพของเรา ดูที่พึ่งของเรา ไม่ใช่ดูอื่นไกล ให้ดูให้รู้จัก ที่พึ่งดีหรือไม่ดีต้องรู้จักตรงนี้ สันทิฏฐิโก ผู้ปฏิบัติเองรู้เองเห็นเอง ถ้าเราไม่รู้คนอื่นบอกก็ไม่รู้ นี่ข้อปฏิบัติเป็นอย่างนี้ ต่อนี้ไปได้ยินเสียงอะไรก็ตาม ให้สัญญาไว้ว่าสิ่งนั้นไม่มีอันตรายแล้ว เราไม่ต้องเดือดร้อนทําจิตของเรา และก็จะไม่อธิบายต่อไป จะสงบ เอ้าต่างคนต่างสงบ วางให้สบาย เราอยากได้ความสุขความสบาย จะได้เป็นบุญวาสนาของเรา จะได้เป็นนิสัยของเรา มันก็พ้นทุกข์

เราทั้งหลายอยากพ้นทุกข์ ก็ดูเอาซิ มันพ้นทุกข์ คือจิตเราไม่ทุกข์ เมื่อจิตเราไม่ทุกข์ มันก็พ้นทุกข์ นี่แหละเราทําบุญทํากุศล เรียกว่า ปฏิปัตติบูชา บูชาอย่างเลิศอย่างประเสริฐแท้ เข้าถึงธรรมถึงวินัย เข้าถึงพุทธศาสนา ถึงชั้นศาสนา เมื่อทําอย่างนี้แล้วจะไม่ถึงอย่างไรเล่า บอกแล้วในเบื้องต้น ท่านบัญญัติลงที่นี้ เรื่องกายกับใจเท่านี้ เอ้าเพ่งดู

(นั่งสมาธิ)


พวกเราได้ทํากุศลสองสามวันมานี้แล้ว เป็นอย่างไรจิตของพวกเรา ทํามาจนถึงระยะนี้ ต่อไปให้พากันรู้จัก ความสงบของประเทศชาติและความสุขความเจริญของพวกเราในปัจจุบันและเบื้องหน้า และที่อยู่ของเราในปัจจุบันและเบื้องหน้า ให้พากันนั่งดู เมื่อนั่งดู แล้วเป็นไงเล่า ที่พึ่งของเราที่อยู่ของเราให้รู้จักไว้ ถ้าจิตของเราสงบ คือตามที่อธิบายให้ฟังแล้ว มีความสุขความสบาย เย็นอกเย็นใจไม่ทุกข์ไม่ร้อนไม่วุ่นไม่วาย

พุทโธ นี่เป็นสรณที่พึ่งของเรา พุทโธ เป็นผู้เบิกบานสว่างไสวแล้วนําความสุขความเจริญมาให้แก่ประเทศชาติ

สมเด็จฯ ท่านก็ต้องการให้ประเทศชาติเจริญ มนุษย์ทั้งหลายเป็นเพื่อน เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งนั้น ต้องการความสุขความเจริญและความพ้นทุกข์ ชักชวนพวกเราให้เป็นบุญเป็นกุศล บุญคือความสุข บุญคือความสบาย ที่เราท่านทั้งหลายมานี้ ก็ต้องการความสุข ความสบาย มิใช่อื่นไกล นั่งดูแล้วมันสุขไหม มันสบายไหม นี่แหละให้พึงรู้พึงเข้าใจ เมื่อจิตของเรามีความสุขความสบายแล้ว การงานของเราทุกสิ่งทุกอย่างมัน ก็สบายไปหมด ตลอดจนประเทศชาติ เทพบุตร เทวดา พระอินทร์ พระพรหม ดินฟ้าอากาศ ก็ต้องรักษามนุษย์ทั้งหลาย “ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารึ” สัตว์อาศัยธรรม ธรรมอาศัยสัตว์ ถ้าสัตว์ปฏิบัติธรรมดี ท่านก็นําความดีให้แก่พวกเรา มิใช่อื่นไกล ใครจะเอาอะไรแต่ง ตัวทั้งหมดของพวกเรานี้ ตา หู จมูก เหล่านี้ ใครแต่งได้ แต่งไม่ได้ แล้วแต่พระธรรมท่านแต่งให้ เรื่องเป็นอย่างนั้น

ถ้าปฏิบัติดีประพฤติดีเราทําดี ท่านก็นําคุณงามความดีมาให้ นําความสุขความเจริญมาให้ ถ้าเราปฏิบัติไม่ดีทําไม่ดี ท่านก็นําความไม่ดีมาให้แก่เรา ในปัจจุบันและเบื้องหน้า

นี่แหละบุญวาสนาที่เราได้ทําอย่างนี้เรียกว่า ปฏิปัตติบูชา บูชาอย่างเลิศอย่างประเสริฐแท้ พระพุทธเจ้าทําบุญกุศลให้ทานมานับอสงไขย ท่านก็ไม่ได้สําเร็จมรรคผล ต่อเมื่อท่านนั่งสมาธิเหมือนกับเรานั่งนี่แหละ ท่านจึงได้สําเร็จมรรคผล เพราะฉะนั้น ท่านจึงสอนไว้ให้พากันหมั่นนั่งทุกวัน ให้เข้าวัดทุกวัน ประพฤติดีทุกวัน มันขัดข้องตรงไหนมันไม่ดีตรงไหน เราต้องแก้ไขตรงนั้น นี่แหละ ให้พากันพึงรู้พึงเข้าใจ บางคนว่าใจเราไม่อยู่ มันไปอยู่ที่ไหนเล่าแท้ที่จริงใจเราอยู่มาตั้งแต่เกิด ที่ว่าใจเราไม่อยู่นั้น ก็คือความหลงจากอวิชชา เราต้องนั่งดูใจที่มันไม่อยู่นี่แหละว่า มันไปก่อภพไหนเล่า ภวาภเว สมฺภวนฺติ มันเที่ยว ก่อภพน้อยๆ ใหญ่ๆ อยู่นั่น เราต้องนั่งดูมันว่าภพนั้นๆ เป็นกุศลหรืออกุศล เราจะรู้ได้อย่างไร กุศลได้อธิบายมาแล้วกุศล ก็คือความสุขสบายอกสบายใจ

เราจะไปในภพใดชาติใดก็ตาม ในปัจจุบันก็ตาม เราทํามาทุกวัน ทําการงานทุกชิ้นทุกอย่างอันใดก็ตาม เราต้องการความสุขความสบาย จะได้เป็นนิสัยเป็นวาสนาบารมีของเรา เราต้องตั้งสัจจอธิษฐานให้เห็นจริงแจ้งประจักษ์ เชื่อตัวของเรา อันนี้ภพที่ไม่ดี ใจเราไม่ดี ทุกข์ยากวุ่นวายเดือดร้อน นําไปสู่ทุคติในปัจจุบันและเบื้องหน้า เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว พวกท่านทั้งหลายได้สดับแล้วในโอวาทานุสาสนีอันเป็นธรรมคําสั่งสอนนี้ ที่นํามาเตือนใจโดยย่นย่อพอเป็นข้อปฏิบัติประดับสติปัญญาบารมีของท่านทั้งหลาย

เมื่อท่านทั้งหลายได้ยินได้ฟังแล้ว โยนิโสมนสิการ พากันกําหนดจดจําไว้แล้ว นําไปประพฤติปฏิบัติฝึกหัดตนของตนไปในธรรมคําสั่งสอน สรุปหัวข้อใจความแล้ว คือกายกับใจนี้ เป็นที่ตั้งแห่งพระพุทธศาสนา เป็นที่ตั้งแห่งมรรคและผล


เมื่อเข้าใจเช่นนี้แล้ว พากันอุตสาหะพยายามกระทําให้เกิดให้มีให้เป็นขึ้นในตัวของเรา ผลที่สุดอัปปมาทธรรม คือความไม่ประมาท ก็จะเกิดขึ้น เมื่อเราท่านทั้งหลายไม่มีความประมาทแล้ว แต่นี้ต่อไปท่านทั้งหลายจะได้ประสบพบแต่ความสุข ความเจริญ ดังได้แสดงมา เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้

:b8: :b8: :b8: ที่มา : หน้า ๔๐๘-๔๑๙
หนังสือภาพ ชีวประวัติ และปฏิปทาของพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร
วัดป่าอุดมสมพร ตำบลพรรณา อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร
หนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร


รูปภาพ
พระบรมสาทิสลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ตาม “ศุภนิมิตของหลวงปู่ฝั้น อาจาโร”
ซึ่งสัตว์ป่าสัตว์ร้ายน่าสะพึงกลัวมากมายสยบหมอบลงแทบเบื้องพระยุคลบาท
ประดิษฐาน ณ ห้องทรงงาน พระตำหนักคอยท่าปราโมช ชั้นล่าง (ชั้น ๑)
วัดบวรนิเวศวิหาร (วัดบวรนิเวศ ราชวรวิหาร)
>>>
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=25&t=40221

:b44: :b44:

• ประวัติและปฏิปทา “หลวงปู่ฝั้น อาจาโร”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=58068

• รวมคำสอน “หลวงปู่ฝั้น อาจาโร”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=44391

• ประมวลภาพ “หลวงปู่ฝั้น อาจาโร” วัดป่าอุดมสมพร
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=42819


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ก.ย. 2020, 19:59 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 ธ.ค. 2008, 09:34
โพสต์: 1322


 ข้อมูลส่วนตัว


4Aขออนุโมทนาสาธุการค่ะ :b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 พ.ย. 2020, 09:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 มิ.ย. 2007, 13:49
โพสต์: 1012


 ข้อมูลส่วนตัว


Kiss
:b8: :b8: :b8:

.....................................................
ทำความดีทุกๆ วัน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 พ.ย. 2023, 20:32 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2863


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ม.ค. 2024, 06:52 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2758


 ข้อมูลส่วนตัว


Kiss
:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 6 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 12 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร