วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 23:31  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=2



กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ส.ค. 2020, 17:13 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ชีวิตต้องภาวนา
พระอาจารย์สมภพ โชติปัญโญ
:b47: :b50: :b47:
รูปภาพ

ขอความเจริญงอกงาม ในพระศาสนาแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จงบังเกิดมีแด่เนกขัมมจารีเนกขัมมจาริณีทั้งหลาย โดยทั่วกันทุกท่านทุกคน ณ โอกาสบัดนี้

อาตมา มาเห็นพี่น้องจำศีลกันหลายๆ แห่ง รู้สึกว่าพวกเราเป็นคนไม่ประมาท วันคืนล่วงเลยไป ชีวิตของคนเราใกล้สู่ความตาย บุญกับตายก็คนละอันกัน ไม่มีผู้ใดนั้นจะไม่ตาย การทำบุญไม่ได้ว่าจะไม่ให้ตาย การทำบุญหรือบาปยังไงก็ตายแน่ๆ บุญกับตายคนละอันกัน ใครก็ต้องตายเมื่อเกิดมา กายกับใจนามกับรูปได้อาศัยกันอยู่ เป็นของคู่กัน เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแตกสลาย ทั้งสองฝ่ายก็สลายไป แต่เมื่อเราตายไปจิตวิญญาณของเรามันไม่ได้ตายนะ มันตายแต่กาย ตายแล้วมันก็ไปตามกรรม ก็เลยอยากพูดให้ฟังเพราะว่ามีความเข้าใจผิดกันในเรื่องบุญเรื่องกุศล มันเป็นปัญหามากที่สุดตอนนี้ คือ ปัญหาที่คนไม่เชื่อว่าโลกหน้ามี ไม่เชื่อว่าชาติก่อนมี ไม่เชื่อว่าบาปมีบุญมี


เมื่อใดที่ผู้คนเห็นผิดอย่างนี้ เมื่อนั้นความเห็นแก่ตัวจะรุนแรง เขาจะรับแต่ชอบไม่รับผิด ผิดไม่เอา แต่อะไรชอบใจฉันจะทำ คนอื่นจะเดือดร้อนก็ตาม ลูกไม่เชื่อฟังพ่อแม่ไม่เคารพพ่อแม่ เพราะลูกไม่เชื่อว่าบาปมี บุญมี นรกมี สวรรค์มี ชาติก่อนมี ชาติหน้ามี หัวเลี้ยวหัวต่อมันอยู่ตรงนี้ นักการเมืองที่โกงบ้านกินเมืองกินได้เป็นล้านๆ สิบล้าน ร้อยล้าน พันล้าน เขาไม่เชื่อว่าบาปมี บุญมี ไม่เชื่อว่าชาติก่อนมี ชาติหน้ามี

ในเรื่องพระพุทธศาสนาเราจะต้องเข้าใจว่า เราจะทำบุญแค่ไหนก็ตามความตายก็ซ่อนอยู่ในตัว ชีวิตเมื่อมีการเกิดมา ชีวิตนี้ก็มีความตาย เมื่อเราเข้าใจอย่างนี้ก็ไม่มีความประมาท มรณะ ธัมโมหิ ชีวิเต เมื่อมีการเกิดมาชีวิตนี้ก็มีความตาย เปรียบชีวิตเหมือนกับประทีปที่ไส้มีน้ำมัน เมื่อน้ำมันหมดไปมันก็ดับ เราจึงต้องรีบตักตวงเอาซึ่งประโยชน์ ถ้าหากพระพุทธเจ้าของเรามีพระชนมายุอยู่ พระองค์ก็คงจะทรงยิ้ม และทรงตรัสว่า เออ...ยังรู้จักไม่ประมาทหนอ น่าอนุโมทนาสาธุการ การที่พี่น้องมาจำศีลที่วัดนี้ บางคนยังไม่เคยมา พอมาที่นี่จะรู้สึกว่าทรมาน เราทรมานกิเลสดอก แต่ว่ากิเลสก็มาชวนเจ้าของว่า ทรมานแท้ พาตื่นมาตั้งแต่ตีหนึ่งตีสอง พากินวันละครั้งเดียว ไม่ได้สนุกสนาน แต่ถ้าท่านมาบ่อยๆ เข้า ท่านจะรู้สึกว่ามันมีประโยชน์มากในการมาจำศีล

เรากำลังมาประพฤติพรหมจรรย์ พรหมะ แปลว่า ประเสริฐเลิศล้ำ ดีงาม จริยะ ความเป็นไปอันประเสริฐของชีวิต พวกเรานี้นอกจากได้รักษาศีลแล้ว ยังได้เจริญสมาธิภาวนากับครูบาอาจารย์ กับพระสงฆ์องค์เจ้า อาตมาคิดว่าชีวิตของท่านทั้งหลายไม่เป็นหมันเลย มีความรู้สึกชื่นชมยินดี อนุโมทนาในพรหมจรรย์ของพวกท่านเพราะว่าการปฏิบัตินี้จักเป็นไปเพื่อการทำที่สุดแห่งกองทุกข์ได้

เพราะฉะนั้นชีวิตนี้จะมีคุณค่าจะต้องภาวนา การเจริญสมาธิภาวนาถือเป็นพรหมจรรย์ชั้นสูงสุด จะพัฒนาไปจนถึงพระนิพพาน ชีวิตที่มีคุณค่าต้องภาวนา พวกเราตั้งใจมาเพื่อจะมาฝึกฝน มาศึกษา ประพฤติปฏิบัติธรรม ถ้าเราทำความเข้าใจให้ดีเราจะรู้ว่าคำสั่งสอนในทางพระพุทธศาสนา มันมีเพียงเท่านี้ว่า ชีวิตคืออะไร ชีวิตเป็นอย่างไร ชีวิตควรจะให้มันเป็นอย่างไร และจะจัดการกับชีวิตนี้อย่างไร

ทีนี้เรามาพูดเรื่องการเจริญสมาธิภาวนา เมื่อกี้เราทั้งหลายได้ร่วมกันสวดสูตรต่างๆ อันเกี่ยวไปด้วยเรื่องอานาปานสติ ซึ่งความจริงแล้วสูตรที่สวดมานี้มันต้องมีอยู่สามสูตร อาตมาเอามาร้อยใส่กันก็มี ทีปะสูตรบ้าง มีอานาปานสติสูตร หลังจากนั้นก็มีอิจฉานังคะละสูตร เอามารวมร้อยใส่กัน ไม่จบหรอกเอาไว้ต่อพรุ่งนี้เช้ามะรืนนี้ต่อไปเอากันไปเป็นตอนๆ ที่เอามาสวดมากล่าวนั้นเพื่อให้มันเกิดความสมบูรณ์ทั้งทางเทคนิควิชาการ เราอย่าได้พูดเอาเอง เราอย่าได้ว่าเอาเอง ตามเทคนิคของเรา แล้วเราทั้งหลายก็จะมิได้หลงทางในการประพฤติปฏิบัติ โดยเฉพาะเรื่องสมาธิภาวนานั้นเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนที่จะต้องเข้าไปจัดการกับจิตกับใจของเรา เรียกว่าเข้าไปจัดการกับกิเลส

อานาปานสตินี้จะเข้าไปจัดการกับกิเลสอย่างนิ่มนวล จะปราบจะกำราบ จะข่มจะฆ่าจะประหัตประหารกับกิเลส แต่ก็ทำอย่างนุ่มนวล ไม่เชือดเฉือนจนเกินไป กลัวว่ามันจะรุนแรงค่อยๆ ย่องเข้าไปว่ากันดีๆ นิ่มๆ เพราะฉะนั้นอานาปานสตินั้นพระพุทธเจ้าจึงทรงสรรเสริญ พระองค์ทรงเล่าให้ฟังว่า พระองค์ได้อาศัยตั้งแต่ก่อนตรัสรู้ตั้งแต่เป็นโพธิสัตว์อยู่


ในขณะที่ตรัสรู้นั้นเอง ก็อาศัยอานาปานสติเป็นเครื่องมือ เป็นมัคคะปฏิปทาที่ดำเนินไป เพราะในการเจริญอานาปานสตินี้สมบูรณ์ทั้งวิปัสสนา สมบูรณ์ทั้งสมถะ เราจะเจริญสติปัฏฐาน สติปัฏฐานทั้งสี่นั้นเป็นเรื่องของวิปัสสนาล้วนๆ ไม่เกี่ยวกับสมถะ ไม่มีพิธีรีตอง กระทำได้ตลอดกาลทุกเมื่อ แต่ก็ยังสามารถเอาอานาปานสตินี้ไปเป็นสนามปฏิบัติการแห่งสติปัฏฐาน อย่างสมบูรณ์อย่างที่เราได้สวดกันมาเมื่อกี้นี้ เพราะฉะนั้นอย่ามองข้ามไปว่าอานาปานสตินั้นเป็นกรรมฐานประเภทสมถะอย่างเดียว ละเอียดมากถ้าใครสามารถจะทำเพียงความสงบให้เกิดขึ้น เรามีความสามารถ มีความต้องการเพียงแค่นี้ เราก็สามารถใช้อานาปานสติได้

ต้องการให้เกิดความสุขอย่างซาบซึ้ง ดื่มด่ำลึกซึ้งในชีวิต นี่ก็สามารถทำให้เกิดมีได้ ด้วยการเจริญอานาปานสติ

ถ้าผู้ใดปรารถนาจะมีฤทธิ์มีเดช ก็สามารถเอาอานาปานสตินี้ เป็นอุปกรณ์เป็นเครื่องมือ เจริญให้เกิดฤทธิ์เกิดเดชได้

ถ้าผู้ใดปรารถนาจะให้สมบูรณ์ด้วยสติสัมปชัญญะ รู้เท่าทันใจนึกคิดจิตปรุงแต่ง รู้เท่าทันโฉมหน้ากิเลสตัณหา มารยาสาไถยแห่งจิตใจตนเอง ก็สามารถเอาอานาปานสตินี้เป็นเครื่องมือ

ถ้าผู้ใดปรารถนาจะให้โพชฌงค์ ๗ สมบูรณ์ จนไปถึงการหลุดพ้นไปจากความทุกข์ทั้งปวง ทำลายกิเลสตัณหาอาสวะอวิชชา ให้เกิดวิชชาความรู้แจ่มแจ้ง วิมุตติความหลุดพ้น ก็สามารถเอาอานาปานสตินี้เป็นเครื่องมือ ต้องการเพียงความสุขไปวันๆ มีชีวิตที่มองโลกอย่างดีงาม เตรียมความสดชื่นแจ่มใสไว้แก่ชีวิตแก่จิตใจ เพื่อให้เหมาะสมแก่การประกอบการงาน เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันโรคจิตโรคประสาท เพื่อเป็นหลักคุ้มกันอารมณ์ไม่ให้สูญเสีย ก็สามารถเอาอานาปานสตินี้แหละเป็นเครื่องมือ

เมื่อกี้เราสวดนี่คิดถึงพระพุทธเจ้านะ เรามาสวดกันว่า อารัญญะคะโต วา ไปแล้วสู่ป่าก็ตาม รุกขะมูละคะโต วา ไปแล้วสู่โคนไม้ก็ตาม สมัยอาตมาเจริญสมาธิ เป็นโยมนะเป็นฮิปปี้ผมยาวๆ อยู่แถบริมฝั่งโขงของจังหวัดหนองคาย วันไหนมันวุ่นวายขึ้นมาให้ระลึกถึงสูตรอันนี้

อารัญญะคะโต วา รุกขะมูละคะโต วา
สุญญะคาระคะโต วา นิสีทะติ ปัลลังกัง อาภุชิตตะวา


‘เธอไปแล้วสู่ป่า เธอไปแล้วสู่โคนไม้ก็ตาม เรือนว่างก็ตาม ตั้งกายตรงดำรงสติมั่น นึกถึงอันนี้ขึ้นมาเหมือนกับจะเห็นพระพุทธเจ้ามายืนอยู่ข้างๆ มองดูเราอยู่เกิดปีติเกิดปราโมทย์ โลมชาติชูชัน ขนลุกขนพองจนน้ำตาไหลความวุ่นวายหายไป เกิดความสงบระงับ เอิบอิ่มพอใจที่จะทำความเพียรยิ้มอยู่คนเดียว ถ้าใครมาแอบเห็น เขาคงจะว่าผีบ้า เฮอะๆ ฮิปปี้ๆ ผีบ้ามานั่งยิ้มอยู่คนเดียวในป่า’

ระลึกถึงถ้อยคำเหล่านี้เหมือนกับพระองค์ทรงพร่ำสอนอยู่ตลอด เพราะเหตุนั้นพวกเราเองก็ควรจะมาทำความเข้าใจสูตรแรกๆ ที่สวดขึ้นมานั่นนะ สันโตปะนีโต เจวะ อะเสจะนะโก เป็นธรรมอันทำให้เกิดความประณีตสงบระงับ เกิดความผาสุกแห่งจิตชื่นใจ อะเสจะนะโก ชื่นใจจิตใจสดชื่น อานาปานสตินี้มันทำให้สดชื่นนะ แม้จะนอนน้อย กินน้อย มันก็สดชื่นมันมีอะไรอิ่มๆ อยู่ ภายในสูตรนี้ถ้าเปิดพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑ ก็พบแล้วเล่มที่ ๑ นี้หาพบแล้วข้อที่ ๑๗๘ หน้าที่ ๑๓๑ ทำไมพระไตรปิฎกจำนวนมาก
๒๑,๙๒๖ หน้า ๔๕ เล่มนี้ช่วงพระสูตรลงมาหาพระวินัยนี้มีหมดเกือบทุกเล่ม

เรื่องอานาปานสติมีหลายคำมาประกอบกันก็เลยได้คำว่า นานาสารถะ แปลว่า แก่นสารในแง่มุมต่างๆ ในอานาปานสติ พระพุทธเจ้าท่านคล้ายๆ จะชวนพวกเราหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า จัดใส่จานมาให้เราบริโภค ในการเจริญสมาธิภาวนานี้มีหลายแบบ มีตั้งสี่สิบแบบเขาเรียกว่ากรรมฐานสี่สิบ แต่ในบทสวดนี้คล้ายๆ ว่า ในสี่สิบนั้นพระพุทธเจ้าท่านเลือกว่าเอาอันนี้นะ

“ภิกษุทั้งหลาย หากเธอคิดว่ากายของเรานี้จะไม่ลำบาก เธอจงกระทำเอาไว้ในกายให้ดีๆ อานาปานสตินี้แล ถ้าต้องการให้กายนี้ไม่ลำบาก” การเจริญสมาธิมันลำบากนะ บางอันต้องเพ่ง จุดเทียนเพ่ง บางอันก็เพ่งลงไปในแผ่นดินจนเป็นน้ำ บางอันก็เพ่งลงบนผืนน้ำ เอาเทียนมาจุดแล้วเพ่งบางทีก็เพ่งพระอาทิตย์ กรรมฐานบางแห่งลำบากทางกายจนเป็นไข้ บางพวกก็เป็นโรคอะไรต่างๆ หลายอย่าง การเจริญกรรมฐานก็จะสบายกายสบายใจ ทุกคนล้วนต้องหายใจ เพราะฉะนั้นจึงเป็นกรรมฐานของทุกคน ในจำนวนกรรมฐานสี่สิบเมื่อรวมแล้วจะได้สองแบบ คือ

๑. กรรมฐานที่ต้องบริหารที่ต้องนำไป ต้องมีเครื่องมือหาสถานที่นำไปแล้วก็ไปไม่ถึงจุดหมายปลายทาง ต้องเปลี่ยนอยู่เรื่อย เปลี่ยนวัตถุเจริญมาถึงขั้นนี้ต้องเปลี่ยน เหมือนเราจะไปกรุงเทพฯ ต้องขึ้นรถหลายคันอย่างนี้เรียกตามภาษาของพระพุทธเจ้าว่า ปริหารยะกรรมฐาน กรรมฐานที่ต้องนำไป ที่ต้องเปลี่ยนแปลงให้ถูก กรรมฐานเหล่านี้บางอันเหมาะกับพระ บางอันเหมาะแก่ชาวบ้าน บางอันเหมาะกับหญิงแต่ไม่เหมาะกับชาย

๒. กรรมฐานที่เหมาะกับคนทุกคน จะใช้อันเดียวตลอด ไปไม่ต้องบริหาร เป็นสมถะก็ได้ เป็นวิปัสสนาก็ได้ ตั้งแต่ทำให้เกิดฌานขึ้นได้พบความสุขสงบลึกซึ้งจนถึงดื่มด่ำ จนไปถึงความเป็นผู้มีฤทธิ์มีเดชโดยการใช้กรรมฐานอันเดียว และก็ลึกลงไปถึงความเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะเต็มเปี่ยมจนถึงขั้นที่ว่าทำอาสวะสิ้นไป เพราะความไม่ยึดมั่นถือมั่นโดยใช้อันเดียวอันนี้ คือสิ่งที่เรียกว่ากรรมฐานที่ใช้ได้ทั่วไป

ต้องการใช้สติสัมปชัญญะคุมกำเนิดความทุกข์ ให้ความทุกข์มีโอกาสแผดเผาจิตใจได้น้อย พอก่อตัวขึ้นก็รู้แล้วก็สลายตัวไป โกรธขึ้นมาก็รู้ก็สลายไปเมื่อความโกรธสลายไป นั้นสติก็จะเข้ามามีสติสัมปชัญญะขั้นสูง ก็ใช้กรรมฐานแบบเดียวกันรู้ลึกจนถึงขั้นที่ว่า เห็นอะไรก็ไหลผ่าน มองเห็นอะไรก็เป็นธรรมดาเกิดความว่างจากความหมายไม่ยึดมั่นถือมั่น ใช้กรรมฐานชนิดเดียวกรรมฐานชนิดนี้เรียกว่า อานาปานสติ คือมีสติในลมหายใจ เพราะฉะนั้นต้องทำความเข้าใจว่ามาปฏิบัติธรรมมาจำศีล ก็อย่าจำเอาแต่ศีลให้เอาหลักธรรมมาใช้ในการดำเนินชีวิต

เราลองคิดดูว่า พอถึงปลายฤดูร้อนเดือนสี่เดือนห้าฝุ่นละอองมันจะตลบเวลาที่รถวิ่งผ่าน ฝุ่นจะคลุ้งแต่ถ้าเราลองคิดดูว่าอยู่ดีๆ มีฝนใหญ่ตกลงมาฝุ่นนั้นก็อันตรธานไป ฉันใดจิตใจที่เต็มไปด้วยความกระวนกระวายมีปัญหาท่านใช้คำว่า อกุศลธรรมอันลามก บาปคือสิ่งที่จะทำให้เศร้าหมอง อกุศลธรรมอันลามกที่เกิดขึ้นแล้วในใจจะอันตรธานไป

การเจริญอานาปานสติอย่างไร มีผลต่ออกุศลธรรมอันลามก อย่างเรามานั่งสมาธิอยู่ จิตใจมันไม่เกิดอกุศลธรรมมันก็สบาย อกุศลธรรมในที่นี้ คือกามวิตกคิดแล้วไม่สบาย คือความคิดไปทางกามนี่คือลำบาก จิตจะเริ่มเศร้าหมอง จิตจะไม่มีปัญญาจะมืดจะเร่าร้อนขึ้นมา คิดไปทางกามคิดเกลียดชังคนอื่น นั่นคือบาปอกุศลธรรมอันลามกเกิดขึ้นแล้ว จิตจะไม่เป็นสมาธิแล้วจิตจะเริ่มเป็นทุกข์ ทีนี้เกิดอาฆาตเบียดเบียนคนอื่นขึ้นมา นั่นก็คือบาปอกุศลธรรมอันลามกเกิดขึ้นแล้วจิตจะไม่เป็นสมาธิจิตจะเริ่มเป็นทุกข์ ทีนี้เกิดอาฆาตใครขึ้นมานั่นคือบาป

การที่ตัวเองนั่งอยู่ตรงนี้แล้วคิดไปถึงบ้าน เรียกว่าจิตอาศัยเรือน พระพุทธเจ้าบอกว่านั้นคืออกุศลธรรมอันลามก มันเกิดขึ้นก็ไม่เป็นสมาธิ ไม่มีความสุขเกิดขึ้นเลย แต่ถ้าเราดูลมหายใจให้เป็นสิ่งเหล่านั้นก็จะไม่เกิดเลย บาปอกุศลธรรมอันลามกที่เกิดขึ้นแล้วย่อมอันตรธานไป มีนะที่ทำสมาธิไปแล้วทำถูกต้องมันจะเย็นไปหมด ตอนแรกจะเริ่มเย็นตามเส้นเลือดตามแขนตามขา ก่อนที่จะเย็นมันจะร้อนก่อน สังเกตดูว่าตอนที่เราทำสมาธิก่อนที่กายจะสงบมันจะวุ่นวาย เมื่อกายสงบแล้วจิตก็สงบไปด้วย ก่อนที่จิตจะสงบจิตก็จะวุ่นวายก่อน ช่วงนี้ตัวจะร้อนกายจะวุ่นวาย พอเราปล่อยลมหายใจเป็นธรรมดาแล้วกำหนดรู้ว่ามันจะเป็นอย่างไร

เราจะเห็นว่ามันอยากจะสงบ ก่อนที่จะสงบนั้นอันไหนที่มันขัดกันอยู่มันจะดิ้นร่างกายมันจะกระตุกแล้วจะค่อยเย็นลงสงบประณีตละเอียดลงไป พอความร้อนเบาลงมันก็เริ่มเย็นกาย หลังจากนั้นมันก็เริ่มสงบถ้ามันร้อนมากมันก็สงบมาก เวลาเราอยู่ธรรมดามันก็จะธรรมดา แต่พอมานั่งแล้วมันจะรู้สึกหงุดหงิดแล้ว เงียบแต่พอมันเกินเงียบไปมันก็จะเย็น ก่อนที่มันจะสงบมันต้องผ่านการวุ่นวายไม่ต่างกับฝน เมื่อฝนจะตกมันก็จะร้อนฟ้าร้อง ลมมาแล้วฝนก็จะตกแต่พอฝนหยุดตกแล้ว ฟ้ามันก็หยุดร้องท้องฟ้าก็แจ่มใส

พระพุทธเจ้านั้นบอกว่าเป็นไปตามกฎธรรมชาติ ของดินฟ้าอากาศ เช่นเดียวกับจิตความเป็นธรรมชาติของจิต กายมันอยากสงบมันก็จะดิ้นจนกว่าจะสงบ คือถ้ามันหยุดปวดขาแล้วมันก็จะสงบ แต่บางคนมันสงบเร็วยังไม่ได้ปวดมันหลับก่อนปวด ถ้าอย่างนี้เขาเรียกว่ามันสงบก่อนที่ทุกขเวทนาจะเกิดขึ้น แต่ก็ไม่เกิดสติปัญญาเป็นเพียงวิหารธรรม ที่ว่าวิหารธรรมเป็นธรรมอันเป็นที่อยู่แห่งจิต จิตมีเรือนมีชานมีที่อยู่ไม่วิ่งไปไหนมาไหนมันอยู่ที่ของมันเวลาฝึกมากๆ มันพักผ่อนได้มันเป็นที่อยู่แห่งจิต สิ่งที่เราควรรู้จักในการเจริญอานาปานสติเราต้องดูให้ดี

พระพุทธเจ้าว่าเธอจงทำไว้ในใจให้ดีๆ สังเกตลมหายใจให้ดีๆ ถ้าเราทำอย่างหนึ่งเป็นทุกข์ ถ้าเราดูลมหายใจอีกอย่างหนึ่งเป็นสุข ถ้าดูอีกอย่างหนึ่งเฉยๆ พวกเรามันมีบางคนพอดูลมหายใจแล้วมันจะทุกข์อึดอัดทุกข์มากๆ ถ้าไม่ดูแล้วไม่เป็นไร แต่บางคนพอดูลมหายใจแล้ว มันละเอียดละเอียดจนแผ่วเบาแล้ว มันจะเป็นสุข เพราะฉะนั้นที่เราสวดว่า จะทำสติปัฏฐานทั้งสี่ให้บริบูรณ์ กาย เวทนา จิต ธรรมก็ดี มันจะบริบูรณ์ในการดูลมหายใจ เราจะฉลาดดูไหมเวทนามีสามอัน หนึ่งสุขะเวทนา สองทุกขะเวทนา สามอะทุกขะสุขะเวทนา ไม่สุขไม่ทุกข์ จะเป็นเวทนาที่ทุกคนต้องพบ มันจะมีอยู่ทุกคนบางคนดูแล้วเป็นทุกข์แต่ว่าบางคนดูแล้วเป็นสุข คนที่ได้ทุกข์กลับจะดีแต่จะต้องใช้ความพยายาม


เพราะฉะนั้นการเจริญทางจิตภาวนาเรียกว่า สมถะกรรมฐาน พวกนี้โลดโผน สิ่งที่เกิดมากับพระพุทธเจ้าการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าก็คือเรื่องปัญญาวิปัสสนาตัวสติปัฏฐานล้วนๆ ซึ่งไม่มีศาสดาใดสอนมา ในยุคนั้นนอกจากพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ เรื่องสติปัฏฐานนั้นเป็นเรื่องที่เจริญวิปัสสนาเพื่อชำระกิเลส แต่เรื่องนั่งสมาธิภาวนา เพ่งศพเพ่งอะไรต่ออะไรจนสงบ มีฤทธิ์มีเดช มีหูทิพย์ ตาทิพย์ เห็นเทวดาเห็นอะไรต่างๆ ไม่ใช่สิ่งที่เกิดมากับพระพุทธศาสนา แต่เป็นสิ่งที่มันมีอย่างนั้นเป็นเรื่องธรรมดาหนีไม่พ้นวัฏฏสงสาร หนีไม่พ้นกิเลส เพราะฉะนั้นตรงนี้มันจึงมีสองแบบ สมถะและวิปัสสนา เรียกว่าจิตภาวนาและปัญญาภาวนา ทีนี้อานาปานสติมันจะรวบได้ทั้งสองทั้งจิตภาวนาและปัญญาภาวนาพูดง่ายๆ ว่าผู้ใดเจริญอานาปานสติ มันจะได้ทั้งสมถะและวิปัสสนา จะทำสติปัฏฐาน ทั้งสี่นี้ให้บริบูรณ์จะทำได้เมื่อเจริญอานาปานสติ อานะแปลว่าลมหายใจออก ปานะแปลว่าลมหายใจเข้า สติก็คือการรู้สึกตัว กลายเป็นเรื่องที่ละเอียดทั้งที่มันเป็นเรื่องง่ายๆ แค่หายใจเข้าออก พระพุทธเจ้าบอกอานาปานสติ ให้กระทำไว้ในใจให้ละเอียด

ในสมัยพุทธกาลมีพระองค์หนึ่ง ท่านฟังไม่ถนัดเวลาที่พระพุทธเจ้าท่านแสดงอานาปานสติ ท่านแสดงละเอียดถึงสิบหกขั้นตอน มีในพระไตรปิฎกเยอะแยะ น่าเสียดายที่ครูบาอาจารย์ท่านไม่เอามาสอนเรื่องนี้ จะเห็นมีก็ท่านอาจารย์พุทธทาส และก็หลวงพ่อประยุทธ์ พระธรรมปิฎก* นอกนั้นก็ไปเอามาจากคนละทิศละทาง ถ้าพระพุทธเจ้าท่านอธิบายก็จะอธิบายจนถึงสิบหกขั้นตอน

มีพระรูปหนึ่งชื่อว่าพระอริฐะ รู้สึกว่าท่านจะด่วนสรุปเวลาท่านฟังเพราะว่าท่านจบไตรเพทมา พอท่านฟังแล้วก็จะสรุปเอาเองว่าดูลมหายใจแค่นี้พอ ท่านไม่ได้ไล่จนครบสิบหกขั้นตอน ปรากฏว่าการกระทำของท่านที่ดูลม ท่านเป็นพระอนาคามีในช่วงนั้นคือดูไปดูมามันติดกันตั้งแต่ตื่นขึ้นจนหลับ ตื่นขึ้นมาก็ดูใหม่รู้สึกว่าทุกอย่างมันเย็นลง กามไม่ปรากฏ จนกระทั่งวันหนึ่งนั่งประชุมกันคนเยอะๆ พระพุทธเจ้าท่านจึงถาม ท่านทั้งหลายเราได้แสดงอานาปานสติเป็นอเนกปริยายหลายแง่หลายมุม พวกเธอทั้งหลายได้ยินได้ฟังพวกเธอเจริญอานาปานสติกันไหม ภิกษุที่นั่งอยู่ข้างหน้าท่านก็ว่าข้าพระองค์เคยเจริญอานาปานสติเป็นประจำ เคยเจริญอย่างไรพระพุทธเจ้าท่านถาม ถามว่าที่ทำมาเข้าใจกันไหมที่ทำมานานๆ เคยเจริญอย่างไร

ผมก็มีสติอยู่เวลาหายใจเข้าออก พระพุทธเจ้าถามแล้วเธอเป็นยังไง ผมก็มีสติอยู่แค่นี้แหละที่พอรู้ และมันเป็นอย่างไรท่านก็ว่าถามต่อ ท่านก็ตอบกามราคะที่มันมีอยู่มันก็หมดไป อันที่มันหมดไปแล้วมันก็ไปเปล่าไม่กลับมา ไม่มีความรู้สึกในเรื่องอย่างนี้เลยไม่กลับมาอีกเลย พระพุทธเจ้าท่านยกมือขึ้นแล้วว่าสาธุดีแล้ว

เราไม่ได้กล่าวว่าอานาปานสติอย่างที่เธอทำนั้นมันไม่ดี มันก็ดีอยู่แต่เราแสดงเป็นอเนกปริยาย พูดง่ายๆ เป็นภาษาบ้านเราว่า อย่างนี้มันก็ดีอยู่แล้ว ไม่ใช่ว่ามันไม่ดี มันไปทำลายถึงกามราคะมันไม่กลับมา แต่อานาปานสติที่เราแสดงมันไม่ได้มีแค่นี้ หลังจากนั้นท่านก็ไล่ไปทั้งสิบหกขั้นตอน วันนี้เราก็เอาสักเจ็ดแปดตอนถ้ามีหนังสือก็มองไปที่หนังสือ ถ้าอยากเป็นนักเลงสมาธิหายใจเข้ายาวออกยาว รู้สึกตัวทั่วถึงว่าเราหายใจเข้ายาวออกยาว

ข้อที่ ๑ ทีฆัง วา อัสสะสันโต ทีฆัง อัสสะปัสสะสามีติ ปะชานาติ.

ภิกษุนั้นเมื่อหายใจออกยาว, ก็รู้สึกตัวทั่วถึงว่าเราหายใจออกยาวเข้ายาว ดังนี้, ครั้งแรกนะเวลาเรามานั่งสมาธิหรือเราตื่นนอน เรามานั่งเริ่มหายใจยาวก่อนอะไรที่จะเกิดขึ้น ก็คือเหนื่อยแล้วก็ทุกข์ เพราะอริยสัจนั้นก็คือทุกข์ที่เราจะต้องเข้าไปรู้จักมัน จะเห็นอริยสัจอยู่ที่ลมหายใจนี้แลที่ละเอียดมาก แต่ว่าในช่วงนี้ปัญญาเราไม่ละเอียด

จะเห็นว่าหายใจยาวแล้วมันอึดอัด ร่างกายปกติเมื่อเริ่มหายใจยาวจะร้อนทันที ตัวร้อนขึ้นก็ช่างมันเราหายใจยาวๆ เข้าไปเต็มปอดแล้วก็หายใจออกมายาวๆ การทำอย่างนี้มันจะอึดอัดทางร่างกาย ตัวร้อนไม่เป็นสุขแต่มันเคลียร์อารมณ์สังเกตดูเวลาคนกลุ้มใจ ธรรมชาติจะสอนเขาให้ถอนหายใจยาวๆ ธรรมชาติมันช่วยเคลียร์ ไม่อย่างนั้นมันจะบ้าตาย แต่พวกเรานี่ทำมันก่อนเลย อารมณ์ที่ค้างๆ จะมีน้อยหาได้ยากมากสำหรับผู้ที่หายใจเข้ายาวออกยาวละเอียด

ตอนนั้นผมไปอินเดีย เห็นนักเลงสมาธินั่งตากแดดจนผมเดินกลับมามันก็ยังนั่งอยู่ที่เก่า มันหายใจเหมือนกับจมูกติดเทอร์โบ มันหายใจยาว เดินผ่านไปเกือบจะเป็นสิบเมตร ยังได้ยินเสียงมันหายใจเลย พอตอนเที่ยงกลับมาก็ยังเห็นอยู่ พอถึงช่วงบ่ายกลับมาเงียบ ไม่หายใจดัง ตรงนี้คือความสงบเกิดขึ้นแล้วลองทำดูก็ได้ เมื่อเราหายใจเข้ายาวออกยาวอย่างหยาบแล้วค่อยๆ ก็มาสู่ละเอียดหลังจากนั้นเลิกยาวไม่ต้องบังคับยาวทำสั้น

ส่วนข้อที่สอง รัสสังวา แปลว่าสั้น สั้นนี้จะพบความทุกข์เกิดขึ้นทันที ยาวก็ไม่ดีมันร้อนสั้นก็จะทุกข์อีกแบบหนึ่ง สั้นเข้าสั้นออกนานๆ ก็จะเห็นว่าไม่พอกินอึดอัดทุกข์

รัสสัง วา อัสสะสันโต รัสสัง อัสสะปัสสะสามีติ ปะชานาติ.

ภิกษุนั้นเมื่อหายใจออกสั้น, ก็รู้สึกตัวทั่วถึงว่าเราหายใจออกสั้นเข้าสั้น ดังนี้,

ทีนี้ผ่านไปขั้นที่สามตัวนี้ปล่อยไม่บังคับให้ยาวไม่บังคับให้สั้นรู้กายทั้งปวง พูดง่ายๆ ว่าเราได้ไปกวนน้ำครั้งแรกก็หายใจยาวๆ ต่อมาหายใจสั้นๆ ไม่เกิดความพอดีสักอันเลยมีแต่ทุกข์ ทีนี้ขั้นที่สามนี้ปล่อยธรรมดาแต่ให้สังเกตละเอียดสังเกตดูกายทั้งหมดเลย แต่ก่อนสั้นก็ไม่ดียาวก็ไม่ดี ทีนี้เราจะปล่อยมันให้เกิดความพอดีร่างกายที่เคยร้อนจะเริ่มเย็น

สัพพะกายะ ปะฏิสังเวที อัสสะปัสสะสิสสามีติ สิกขะติ,

ภิกษุนั้นย่อมทำในบทศึกษาว่า, เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง จักหายใจออกหายใจเข้า ดังนี้,

แล้วเริ่มสังเกตดูกายทั้งปวง ก็จะเริ่มเห็นในตัวเรา ถ้าเราหายใจยาวหายใจสั้น ร่างกายมันจะดิ้นมีตัวไต่ตัวกัด บางคนจะเริ่มมีเสียงดังในหูเสียงคลื่นสมอง เสียงการเต้นของหัวใจและยิ่งสร้างสติไว้ส่วนบนเสียงภายนอกจะดังมาก ในช่วงนี้เป็นห่วงพวกเรา พวกที่ไม่รู้อะไรเวลาเพื่อนทำสมาธิแล้วทำเสียงดัง ทีหลังเลิกนะ เลิกทำได้เลย เวลานี้ให้เคารพเพราะว่าสมาธิสี่ขั้นแรกอันตรายที่สุดคือเสียง

พระพุทธเจ้าว่าเสียงนั้นเป็นอาพาธของสมาธิ แรกเริ่มคนที่มาฝึกสมาธิใหม่ๆ เสียงจะเป็นอันตรายมาก จิตจะสงบลงไม่ได้ ถ้าเริ่มจะสงบเสียงจะดังกว่าปกติ แม้แต่เสียงในตัวเราที่เราไม่เคยได้ยินก็ได้ยินเสียง การทำงานในร่างกายดังไปหมดเลย เสียงที่คนอื่นทำยิ่งดังมาก แล้วจิตก็จะถอนออกมาโกรธ เกิดความรำคาญ เพราะฉะนั้นเวลาเรานั่งสมาธิจะไอจะจาม ก็หาอะไรมาปิดปาก อนุเคราะห์คนอื่นไม่ใช่ว่าจะไอก็ไอเสียงดัง แล้วเสียงในหูมันจะเริ่มดังขึ้น

ปัสสัมภะยัง กายะสังขารัง อัสสะปัสสะสิสสามีติ สิกขะติ

ภิกษุนั้นย่อมทำในบทศึกษาว่า, เราเป็นผู้ทำกายสังขารให้รำงับอยู่ จักหายใจออกหายใจเข้า ดังนี้,

ทีนี้พอมันลึกลงไป ความคิดทั้งหลายมันจะระงับลงไปถ้าเสียงในหูไม่ได้ยิน มันจะเห็นภาพทางตามันจะเป็นเหมือนปุยเมฆ ปุยฝ้ายเหมือนหยดน้ำใสๆ ในช่วงนี้จะเป็นช่วงที่เราจะโน้มหน่วง บางคนพอเห็นภาพมันแจ้งแล้วก็มืดแล้วก็แจ้ง ลักษณะนี้มันมาเป็นคู่กัน ถ้าเป็นภาพที่มันไหลไป ให้กำหนดภาพที่มันไหล บางทีมันเหมือนถนนที่สว่างเอาจิตอันนั้นเข้าไปสร้างมโนภาพทับลงไปในนั้นให้ความรู้สึกนั้น มันเล็กๆ ใหญ่ๆ ถ้ามันหายไปแสดงว่าสมาธิเราเคลื่อน อาจจะมีหลายคนแล้วที่เป็นมันเหมือนปุยฝ้ายถ้าตั้งสติไว้เฉพาะหน้าแรกๆ มันจะเป็นแบบนี้ บางทีก็เป็นเหมือนเห็นดวงอาทิตย์กำลังโผล่ขึ้นมาเห็นแสงเงินแสงทองบนขอบฟ้าเรืองๆ

ถ้าเราทำได้ ทีนี้เสียงในหูจะเริ่มดับลงดับลง หลังจากนั้นจิตที่ไปเพ่งมันใกล้มันไกลมันเล็กมันใหญ่ นั้นมันก็จะลืม ลืมตัวคนเพ่ง จิตไปเป็นอารมณ์อันเดียวกัน มันจะวูบแล้วก็ถอนขึ้นมาเหมือนกับตกจากที่สูงๆ แล้วจะมีญานให้รู้ว่านี่คือสมาธิ พอมาถึงตรงนี้ความขยันความเพียรมันเกิดขึ้นเอง จะเกิดความพอดี ทีนี้มาจัดการกับตัวนี้มันจะลำบากหน่อย ตัวต่อไปปีติความสุขสองอันนี้ระวังให้มากๆ เราเริ่มเกิดแล้วพอใจเราเริ่มสงบมันก็มีปีติขึ้นมาแล้ว มันจะทำให้เรารู้สึกว่าหลงเข้าไปเป็นกิเลสของผู้เจริญวิปัสสนา ปีตินี่ก็เป็นอันตราย ลุ่มหลงมันเกิดปีติอีกแบบหนึ่งมันจะเบาตัวเบาไปในอากาศ

ปิติปะฏิสังเวที อัสสะปัสสะสิสสามีติ สิกขะติ,

ภิกษุนั้นย่อมทำในบทศึกษาว่า, เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งปีติ จักหายใจออกหายใจเข้า ดังนี้,

เพื่อนผมนั่งอยู่ในกุฏิ ผมก็ไม่ได้ถาม ก็เห็นท่านทำความเพียรดี วันหนึ่งเห็นเขาเดินจงกรมรู้สึกว่ามันผิดปกติ เดินเร็ว เพราะแต่ก่อนจะเดินช้า สักพักหนึ่งแกก็เต้น สักพักเดินมาหาผมแล้วชวนไปด้วยกัน ผมถามว่าไปไหน ท่านบอกว่าไปเหาะ ตัวนี้ตัวอันตรายคือความหลงเข้าไปในปีติ ถ้ามันเกิดความปลาบปลื้มความปีติขึ้นมาให้เรารู้จักมัน อย่าไปเที่ยวอวดอ้างใคร เพ่งดูมันให้ดีเพราะตัวนี้มันจะเป็นเครื่องมือให้จิตปรุง แล้วจะมีความสุขตามมาด้วยกัน เหมือนแกงและกลิ่นของมัน แต่ถ้ารสชาตที่เรากินเข้าไปอร่อยนั้นคือสุข ปีตินั้นยังไม่ได้เป็นสุข แต่เป็นเครื่องหมายบอกว่าสุขแน่ๆ

สุขะปะฏิสังเวที อัสสะปัสสะสิสสามีติ สิกขะติ,

ภิกษุนั้นย่อมทำในบทศึกษาว่า, เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งสุข จักหายใจออกหายใจเข้า ดังนี้,

เพราะฉะนั้นผู้ที่เจริญสมาธิมาถึงตรงนี้ จะต้องพบจะตื่นและจะหลงทางระวังให้ดี มีอะไรเกิดขึ้นก็อย่าตื่นเต้นกับมัน อย่าทิ้งลมหายใจตัวนี้ คนอื่นเขาไม่เหมือนเรานานๆ เข้ามันมีความสุขเหมือนอยู่ในสวรรค์ ถ้าเรารู้ไม่ทันไม่ต้องไปดูอย่างอื่นย้อนเข้ามาดูความสุขอันนั้น ไม่ใช่เราไปเป็นสุขกับมัน มันเกิดปีติก็ให้มันเป็นอย่างนั้น รู้อย่างนั้นพอ สักพักมันจะเริ่มจางลง ก่อนที่มันจะจางลงนั้นความสุขกับปีติมันจะปรุงความคิด มันจะให้เราคิดดีทำความเข้าใจให้มากๆ

เรื่องของสมาธิภาวนาปัญหาใหญ่ มันอยู่ที่ความเข้าใจเอาให้เข้าใจเบื้องต้นให้ดีๆ แล้วจะเป็นเรื่องที่สนุกสนานเพลิดเพลิน น่าทำน่าปฏิบัติสำหรับผู้ที่ตั้งใจฟัง ผู้ที่สนใจก็จะเข้าใจละเอียดขึ้น บางท่านไม่เข้าใจแล้วก็ประมาท ไม่ใส่ใจฟังเอาจิตใจไปใส่เรื่องอื่นแล้วมันจะเป็นบาป ทำอะไรก็ผิดพลาดเจริญสมาธิก็ผิดเป้าหมาย ผลก็ออกมาในทางที่ไม่ดีไม่งาม เป้าหมายความเข้าใจในสมาธิเราเข้าไม่ถึงเพราะเบื้องต้นเราไม่เข้าใจ ท่านที่เป็นนักวิชาการเตรียมจดไว้ได้เลยเพื่อให้เกิดความชัดเจน

สมาธิคืออะไร ทำไมต้องมาทำสมาธิ ทำเพื่ออะไร โดยวิธีใด สมาธิคือการกระทำจิตใจของเราให้มันปกติสม่ำเสมอมั่นคง สมะ แปลว่า เสมอพอดี ทำตนสม่ำเสมอกับคนอื่นที่อยู่ร่วมกันแล้วเอา สมะ กับ อาธิ มาต่อกันเป็นคำว่า สมาธิ

สมาธิคือทำจิตให้เสมอปกติมั่นคงพอดี ถ้ามันเกินพอดีไปมันก็ไม่เป็นสมาธิ เกินไปทางรักเกินไปทางชัง เกินไปทางโง่เกินไปทางฉลาด ต้องพัฒนาให้มันพอดี คือปัญญาภาวนาที่เกิดขึ้นจนทำให้ตัณหานั้นไม่สามารถเกิดขึ้นได้ จิตภาวนา เจริญจิตไม่ให้จิตที่มีส่วนเกิน รักเกิน ชังเกิน โง่เกิน ฉลาดเกิน อ่อนแอเกินจิตไม่พอดี ต้องหล่อหลอมให้จิตทั้งหมดนั้นพอดี

สมาธิที่ถูกต้องมี ๓ ลักษณะ เป็นองค์ประกอบของสมาธิ

๑. วิสุทโธ แปลว่า จิตบริสุทธิ์

วิสุทโธ ตัวนี้เป็นคุณภาพ เราจะเรียกมันอีกคำหนึ่งก็ได้ทันสมัยหน่อย วิสุทโธ นี้เรียกว่า เรเดี้ยนท์ (radiant) เรเดี้ยนท์ คือ เมื่อมันบริสุทธิ์มันจะมีพลังอยู่ภายใน มันจะมีแสงนะจิตมีแสง เรเดี้ยนท์เป็นแสงออกมาเวลาสงบ เพียงแต่เริ่มจะสงบ เราจะรู้สึกว่าเสียงทั้งหลายมันดังผิดปกติ เสียงคนพูดเบาๆ ก็ดัง นั่นจิตมันเริ่มจะสงบ ถ้ามันสงบไปมากกว่านั้นจิตจะมีแสง เสียงตีฆ้อง เสียงคนไอ จะออกเป็นแสง ความรู้สึกจะเป็นแสงถ้ามันสงบมากๆ บริสุทธิ์มากๆ แล้ว ยิ่งผู้ใดทำไปถึงตัวใหญ่ๆ เป็นตัวใหญ่ๆ แล้วก็มีแสงเสียงไอเสียงจาม เสียงเขียดร้อง เสียงใบไม้ร่วงลงมาติดหลังกลดที่เรากางอยู่ใต้ต้นไม้ หรือว่าเสียงน้ำค้างหยดเสียงป๊อกลงมาออกเป็นแสง แสงที่เป็นคลื่น คลื่นของเสียง เสียงนี้กลายเป็นแสงของจิตกระทบ ถ้าไปอยู่ในป่าในดงนั้น “ผีย้าน” ผีกลัว จิตอันนี้มันมีเรเดี้ยนท์

๒. สมาหิโต ตั้งมั่นไม่หวั่นไหวต่ออารมณ์

ตัวที่สอง ตัวนี้จะเป็นสมรรถภาพ คือ กำลังที่ตั้งมั่น สมรรถภาพ ตั้งมั่นไม่หวั่นไหวต่ออารมณ์ ไม่ว่ามันจะคิดดี คิดชั่ว คิดอดีต คิดอนาคต คิดรักคิดชัง สมาธิเมื่อมันเกิดขึ้นมันจะเกิดอารมณ์ตั้งมั่นไม่เอียงไปหาสิ่งเหล่านั้น ไม่หวั่นไหวไม่วอกแวกได้ยินเสียงอะไรตูมตามขึ้นมานี่ มันก็มั่นคงอยู่ สมาหิโตนี้จะเรียกว่า เรเซอร์ (razor) ก็ได้ มันแหลมคมแทงลงไปที่ไหนก็ได้

๓. กัมมะนีโย คล่องแคล่วควรแก่การงาน

อันที่สาม มีประสิทธิภาพ คล่องแคล่วควรแก่การงาน ควรอย่างไรจะให้คิดก็คิดได้ ไม่เครียดนะไม่เครียดเป็นจิตที่ผ่อนคลายตนเองแล้วมีพลังงาน ไม่ใช่จิตที่ซื่อบื้อ ไม่ใช่สงบซื่อบื้อนั่น ไม่ใช่สัมมาสมาธินะ แต่เป็นสงบที่มีพลังอยู่ในตัวเต็มเปี่ยม จะให้คิดอะไรก็คิดว๊าบไปเหมือนไฟ ฉายปั๊บไปดูเป็นลำแสงไปเลยเรื่องอะไรทะลุทะลวงไปเลย จะให้หยุดก็หยุดได้ ส่วนกัมมะนิโยตัวนี้ จะเป็นเรดาร์ (radar) คอยจับอารมณ์ทุกอารมณ์ที่เกิดขึ้นมีสตินะ มีสติตัวนี้คิดอะไรจะรู้ทันที ตนเองไม่คิดก็รู้ความคิดความอะไรจะไม่มี หน้าตาจะแจ่มใสเบิกบานไม่เกลียดไม่เป็นโรค โรคของจิตต่างกับโรคของกายคนละอันที่ว่า อะโรคะยา อะโรคะยะ นั้นเป็นคุณภาพของสมาธิ

อะโรคะยะ อะนะวัชชะ โกสะละ สัมภูตะ สุขะ วิปากะ

อะโรคะยะ จิตไม่มีโรคคือไม่มีอะไรมาเสียดแทงจิต จิตไม่เครียด ผ่อนคลาย เบาสบาย

อะนะวัชชะ ไม่เป็นโทษ อยู่กับใครก็ไม่เป็นโทษ ไปอยู่กับใครก็ไม่หนักใจเพราะจิตชนิดนี้ เป็นจิตที่มีคุณภาพอยู่ในตัวเสร็จ อยู่ที่ไหนใครก็สบายใจ อยู่กับใครก็ได้อยู่คนเดียวอยู่หลายๆ คนก็ไม่มีปัญหาไม่มีโทษ ต่อมาก็มีอีก

สุขะวิปากะ มีสุขมีผลเป็นความสุข สมาธิ มีสุขนะไม่มีทุกข์หรอก มีสุขนั่งอยู่ก็สุขยืนอยู่ก็สุข เดินนอนยังไงสุขอยู่ ความสุขชนิดนี้เป็นความสุขที่ไม่แอบอิงอาศัยสิ่งภายนอก เป็นความสุขที่ใครจะมาเยื้อแย่งมาลักขโมยมาแย่งชิงไปไม่ได้ จึงเรียก สุขะวิปากะ มีวิบากคือผลของมันเป็นสุข

โกสะละสัมภูตา เป็นอยู่ประกอบอยู่ด้วยปัญญาตลอด ไม่ใช่สมาธิซื่อบื้อนะ มีปัญญา เพราะฉะนั้นสมาธิคืออะไร ? เราก็สรุปแล้วว่าคือการกระทำจิตให้มันพอดี สม่ำเสมอตั้งมั่นอย่างยิ่งแล้วก็มีคุณภาพมีสมรรถภาพ มีประสิทธิภาพ คือ วิสุทโธ สมาหิโต กัมมะนิโย บริสุทธิ์ตั้งมั่นสมควรแก่การงาน ผ่อนคลายไม่ตึงเครียด อยู่อย่างมีความสุขทุกอิริยาบถที่เคลื่อนไหว จิตระดับนี้มีกำลัง และจะพบความสุขมีความสงบมากๆ หลังจากนั้นเมื่อมีความสุข มีปิติจิตมันก็จะเริ่มปรุงแต่งความคิดที่ดีงามขึ้นมาใหม่ เอ้า...ต่อไป ทำไมจึงต้องมาทำสมาธิ ตัวนี้ต้องถามนะถ้าไม่เข้าใจก็ไม่รู้ว่าจะมาทำทำไม


ทำไมต้องทำสมาธิ ? เมื่อถามว่าทำไมต้องทำสมาธิเราต้องรู้จักว่าตัวเรานี้ ชีวิตทั้งชีวิตมันอยู่ในจิตดวงเดียว

ชีวิตัง อัตตะภาโว จะ นะ สุขะ ทุกขา จะ เกวะลา
เอกะ จิตตะ สมายุตตา ลหุโส วัตตะติ ขะโน

ชีวิตความเป็นอยู่อัตภาพความเป็นไป
ความสุขความทุกข์ทั้งมวล ล้วนอยู่ในจิตดวงเดียว


จิตนี้พาสุข จิตนี้พาทุกข์ จิตนี้พาหัวเราะ จิตนี้พาร้องไห้ จิตนี้พาไปขึ้นสวรรค์ จิตนี้พาไปตกนรก จิตนี้พาเวียนว่ายตายเกิด เกิดดีเกิดชั่ว เพราะเหตุนั้นเมื่อรู้ว่าอยู่ในจิตดวงเดียวก็มาจัดการกับจิตดวงนี้ จึงว่าทำไมต้องมาทำสมาธิ เพราะว่าเราต้องการจัดการกับจิตดวงนี้ให้มันดี มีคุณภาพ ถ้ายังมีกิเลสตายไปเกิดใหม่ก็เกิดดีๆ โดยไม่ต้องเวียนไปสู่ความชั่วร้ายภาวะอันเราไม่ปรารถนาในชีวิตนี้เราก็ไม่ต้องการสิ่งที่มันไม่ดี เราอยากจะให้มันดี มันดีที่จิตมันไม่ได้ดีที่กาย กายจะดีจะอ้วนถ้วนสมบูรณ์แค่ไหนก็ตาม เมื่อใจมีทุกข์มันก็ไปผูกคอตายเอง “กายยังไม่อยากตาย” เพราะเหตุนั้นตัวจิตนี่ตัวสำคัญ

เพราะฉะนั้นคำถามที่ว่าทำไมจึงต้องมาเจริญสมาธิภาวนา เพราะว่าเราต้องการจะจัดการกับจิตดวงนี้ เวลาเราตายร่างกายหามไปเผาแต่จิตนั่นนะเหมือนเมล็ดพืช ในหนังสือที่เราสวด

ยะถาหิ อัญญะตะรัง พิชัง เขตเต วุตตัง วิรูหะติ
เปรียบเหมือนพืชอย่างใดอย่างหนึ่ง
ที่หว่านลงแล้วในพื้นแผ่นดินย่อมงอกขึ้นได้


ปะฐะวีระสัญ จะ อาคัมมะ สิเนหัญ จะ ตะภูภะยัง
เพราะอาศัยรสแห่งแผ่นดิน และเชื้อในยางแห่งพืชนั้นๆ

รสแผ่นดินคือความเย็นความร้อน อาศัยยางซึ่งมีอยู่ในเมล็ดพืช มีแผ่นดินมีเมล็ดหล่นลงพืชจึงเกิด เมื่อร่างกายตายไปวิญญาณยังมีกิเลสตัณหาอยู่ก็คือยางก็ไปเกิดอีก ทีนี้กิเลสตัณหามันก็ยังมีสองส่วน ตัณหาดีก็มีตัณหาชั่วก็มี ที่เรามาบวชมาเจริญสมาธิ เรายังไม่ได้เป็นพระอรหันต์นะยังไม่ได้เป็นพระอริยเจ้า เป็นปุถุชนเราก็อาศัยกำลังของตัณหา ตัณหาอยากดี อยากเป็นพระดี อยากเป็นเณรดี อยากปฏิบัติธรรมอยากรู้ธรรม เอากำลังของตัณหามาใช้ให้เกิดประโยชน์ แทรกแซงกระบวนการของตัณหา แทนที่จะเอาไปปรารถนาในสิ่งชั่ว มันปรารถนาดีก็ยังเป็นตัณหาอยู่

พระพุทธเจ้าท่านว่าเราเกิดมาจากตัณหา เราได้อาศัยตัณหานี้แหละ แต่สุดท้ายจะต้องละตัณหา เมื่อตัณหาส่งไปถึงจุดหนึ่ง จำเป็นจะต้องทิ้งตัณหาแล้วเอาอันหนึ่งมาต่อตัณหา คือ เอาตัว ฉันทะ ความหวัง ความปรารถนา ความพอใจในสิ่งที่ดีพอใจ เมื่อใดตัณหาส่งมาถึงความพอใจเมื่อนั้นก็หยั่งลงสู่พรหมจรรย์ทันที

เพราะฉะนั้นพรหมจรรย์ของเรา จึงบอกว่าต้องมี ฉันทะ มูละกา ความพอใจเป็นรากเมื่อเกิดความพอใจ ตัณหาก็ค่อยๆ หมดหน้าที่ลง ฉันทะจะทำงานต่อไป ทีนี้เราต้องการให้จิตมันดี เพราะมันจะต้องไปเกิด ในเมื่อกิเลสยังอยู่เราก็เลยต้องมาฝึกดีตั้งแต่เดี๋ยวนี้ไปจนกว่าจะตาย แม้ขณะนี้ยังไม่ตาย ถ้ามันสามารถหมดกิเลสได้ จิตดวงนี้ก็สามารถทำให้วัฏฏสงสารสั้นลง หรือถ้ากิเลสหมดไปทั้งหมดเลยก็จบสิ้นกันที เพราะเหตุนั้นคำถามว่าทำไมจึงต้องมาทำสมาธิก็สรุปได้ว่า เพื่อต้องการจัดการกับจิตดวงเดียว
ที่มันพาเกิด พาตาย พาดี พาชั่ว พาสุข พาทุกข์

ทำสมาธิเพื่ออะไร ? คำถามต่อไปทำความเข้าใจกันให้ชัดอีก การทำสมาธิภาวนานี้เพื่อผลสี่อัน ใครจะทำยังไงก็ตามแต่มันจะมีผลอยู่จำนวนสี่อันนี้ ไม่อันใดก็อันหนึ่งเขียนลงไปได้เลย


๑) เพื่อให้เกิดความสุขในปัจจุบันขณะนี้ ให้เกิดความสุขในปัจจุบันทันตาเห็น ไม่ต้องรอตายเน่าเข้าโลง ไม่ต้องใช้เงินซื้อสักบาท ความสุขชนิดนี้ที่จะต้องพบเป็นผลของสมาธิแล้วตัวแรก ความสุขพระพุทธเจ้าท่านกล่าวชักชวนนะ ให้เราค้นให้พบ ถ้านักบวชค้นให้พบความสุขจากการบวชโดยเจริญสมาธินี้แล้ว การบวชของเขานั้นมีกำไร ไม่เป็นการบวชที่ต่ำทรามเป็นการบวชที่มีผลความสุขโดยชอบธรรมภาษาบาลีว่า

สะมาธิ ภาวะนา พาวิตา พหุลีกะตา
ทิฎฐะธัมมิกกะสุขา วิหารายะ สังวัตตะติ


สมาธิภาวนาที่เธอเจริญให้มาก กระทำให้มากแล้วย่อมนำมา ซึ่งความสุขในปัจจุบันทันตาเห็น คือมันไม่ใช่แบบเร่าร้อน เป็นความสุขที่เยือกเย็นมาก อันนี้ผมว่าไม่เหลือวิสัยนะพวกเราที่อยู่ด้วยกัน ไม่เหลือวิสัยมันจะต้องพบพระพุทธเจ้าให้เราแสวงหาตัวแรกตัวที่มีความสุข เราเคยใฝ่ฝันแสวงหาอยู่ภายนอกไกลห่างกันเหมือนฟ้ากับดิน ถ้าท่านทั้งหลายตั้งใจจะบวชสามเดือนแล้วตั้งใจทำความเพียรได้พบความสุข เมื่อจิตสงบลงระดับปฐมฌานนี้ท่านจะรู้จักเองความสุขชนิดนี้จะละเอียดประณีตกว่าความสุขชนิดนั้น จิตใจจะเริ่มรู้จักทางเลือก พระพุทธเจ้าท่านสอนว่าแม้แต่โยมฆราวาสก็ขอให้ค้นพบความสุขชนิดนี้ แล้วจะได้ทางเลือกของชีวิต

๒) เพื่อญาณะทัสสะนะ ตัวนี้ท่านหมายถึงความเป็นผู้มีฤทธิ์มีเดช มี magi cal power ขึ้นมามีความโลดโผนเหนือมนุษย์ธรรมดาทีนี้อันที่สอง อันนี้ก็ไม่น่าสนับสนุนแต่มันเกิดมีบางคนมีนะ นั่งสมาธิไปหน่อยพอจิตเริ่มมีสมาธิขึ้นมามันไปเห็นสิ่งที่ใครเขาไม่เห็น มันไปได้ยินสิ่งที่คนอื่นเขาไม่ได้ยิน ซึ่งมันก็เป็นเรื่องของจิตแต่ละคนไม่เหมือนกัน พลังสมาธิมันจะเหมือนไฟฟ้า อันที่มันสว่างอยู่นี่ก็เพราะไฟฟ้า อันที่มันทำให้เกิดเสียงดัง ก็เพราะกำลังไฟฟ้า ถ้าไม่มีกระแสไฟเข้ามา ไมโครโฟนก็ไม่ดัง เครื่องขยายเสียงก็ไม่ดัง ไอ้ที่ดูดน้ำให้เราอาบเรากิน ทุกวันนี้ก็เพราะพลังของไฟฟ้า เมื่อจิตเป็นสมาธิแล้วทำได้หลายอย่างถ้าทำเป็น

แต่อย่างนี้ในทางพระพุทธศาสนาไม่สนับสนุน แต่มันก็มีทางเป็นไปได้ บางคนชอบทางนี้สั่งสมมาหลายภพหลายชาติ พอมาเจริญสมาธิภาวนาไม่นาน ก็จะมาพบแต่ฤทธิ์แต่เดชอย่างนี้ ก็พบขึ้นมา อันนี้ก็เป็นผลอันหนึ่งของสมาธิ สองอันนี้ หนึ่งทำให้เกิดความสุข สองทำให้เกิดฤทธิ์

ญาณะทัสสะนะ ปฏิราภายะ สังวัตตะติ คือทำให้เกิดฤทธิ์เกิดเดช เกิดอภิญญา สองอันนี้เป็นฝ่ายสมถะล้วนๆ ยังไม่เกี่ยวกับการเข้าไปทำลายกิเลสตัณหา ยังไม่เกี่ยวกันแต่ก็เป็นผลของสมาธิ พระพุทธเจ้ายังไม่เกิดมาอันนี้ก็มีอยู่แล้ว นักบวชนอกศาสนาก็มีกันเกลื่อนพวกนี้ มีอย่างนี้แล้ว มีฤทธิ์มีเดชมีอะไรแล้วในประเทศอินเดียเดี๋ยวนี้ก็ยังมี พอถึงหน้าร้อนก็ลงมาแข่งฤทธิ์แข่งเดชกันที่เมืองหนึ่งเขาเรียก เมืองฤาษีเกษ เมืองฤๅษีมีแต่ฤๅษีไปตรงนั้น ฤาษีมีประมาณสามแสนฤาษี ฤาษีบางพวกไม่นุ่งผ้าบางพวกนั่งกำกำปั้น ไม่รู้กำมากี่ปีแล้ว เล็บทะลุออกทางหลังมือ

ฤาษีบางพวกนอนเอาหลาวเสียบคาไว้ น้ำเหลืองน้ำเลือดไหลทรมาน แต่ฤาษีบางพวกอ้วนถ้วนสมบูรณ์ บางพวกนั่งเฉยสมาธิเพ่ง วันดีคืนดีแผลงฤทธิ์แผลงเดชใส่กัน เขามีพลังสมาธิ สมาธิพวกนี้ยังไม่เกี่ยวกับการเข้าไปทำลายกิเลส ไอ้ที่มีความสุข มีฤทธิ์ มีเดชขอให้เข้าใจ ในสมัยพระพุทธเจ้า พระเทวทัตนั้นเป็นพี่น้องกับพระพุทธเจ้านะ ไม่ใช่ใครอื่นนะเป็นญาติกัน พอมาบวชแล้วมาเจริญสมาธิด้วยกันเหมือนพวกเรา เมื่อเขาเจริญสมาธิเพื่อเกิดสัมมาสมาธิ เพื่อการหลุดพ้นเพื่อการปล่อยการวาง แต่เทวทัตไม่อย่างนั้น สมาธิจะเก่งให้มันเก่งกว่าเพื่อนมันก็ไปได้ฤทธิ์ได้เดช เหาะเหินเดินอากาศ มีหูทิพย์ตาทิพย์เข้าจำแลงแปลงกายตนเองได้ เก่งแล้ว ดังกว่าพระอรหันต์ทั้งหมด แต่กิเลสท่วมหัว เทวทัตยังไม่เข้าถึงธรรมโสดาบันมันคนละอย่างกัน

๓) เพื่อความเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ โดยสมบูรณ์อันนี้อันหนึ่งให้มีสติ ที่ตั้งสติที่ตั้งแห่งความระลึก มีสี่แบบคือ รู้สึกกาย ตัวเองนั่งก็รู้ว่าตัวเองนั่งรู้ว่าตัวเองเคลื่อนไหว มาในรูปเอาความรู้สึกมาผูกไว้ในกายว่ากำลังยืน เดิน นั่ง เรียกว่ากายานุปัสสนา มีสติเห็นกายอยู่ในกายเรา หรือมิฉะนั้นมาดูเวทนานุปัสสนา

ภาษาบ้านเราเรียกว่าจิตเข้าไปเสพเสวยความรู้สึก เวทะ แปลว่า จิตรู้สึกว่าเป็นสุขเป็นทุกข์ ยินดียินร้าย พอใจไม่พอใจตรงกับภาษาอังกฤษว่า feeling เอาสติมารู้จักตัวเองว่าเป็นสุขเป็นทุกข์ เพื่อไม่ให้มันตกเป็นช่องว่างให้ตัณหาเกิดขึ้น ตัณหาทุกชนิดจะเกิดขึ้นเมื่อมีเวทนา เวทนาเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา ตัณหาก็ส่งผลให้เกิดต่อไป เวทนาที่จริงไม่จำเป็นต้องมีตัณหาเลยก็ได้ถ้าหากว่ามีสติเข้าไปสกัดกั้น ไม่มีช่องให้ตัณหามาเกิดในเวทนา


สมมุติว่าเราฉันอาหารตอนเช้า ถ้ามันอร่อยขึ้นมาเรียกว่า สุขเวทนา พอใจในอาหารนี้ ในขณะเดียวกันมันจะโยงเข้าไปเป็นตัณหามันทำให้หิวกินช้าไม่ทันใจมันอร่อยต้องรีบกิน เกิดเป็นตัณหาแล้วก็ยังคิดอีกว่าพรุ่งนี้จะได้กินอีกมันเชื่อมกันไป แต่ถ้าหากว่าสติเข้ามาทันเวทนาจะรู้สึกว่าอร่อยเฉยๆ แล้วก็ยุติลงเพียงแค่นี้

สติปัฏฐานนั้นก็คือ สิ่งที่มาควบคุมสภาวะไม่ให้ตัณหาเจริญงอกงามเกิดขึ้นมา แล้วจิตตานุปัสสนา รู้เข้าไปในจิตว่าจิตเป็นอย่างไร ถ้ามันวุ่นวายก็รู้มันมีราคะก็รู้ มีโทสะก็รู้โมหะก็รู้ มันไม่มีก็รู้เหมือนกับแอบดูจิตอยู่ทุกที่เรียกว่ารู้สึกใจ ทีนี้ก็ธัมมานุปัสสนา รู้จักสภาวะของธรรมที่เกิดในกายในจิต เริ่มตั้งแต่พวกกามต่างๆ นิวรณ์ทั้งห้าเป็นสิ่งที่เอามาเป็นเครื่องมือในการเจริญปัญญา มันง่วงเราก็รู้ว่ามันง่วง รู้จนความง่วงมันเกิดขึ้นมาไม่ได้ มันเป็นเรื่องปัญญาล้วนๆ ที่จะสกัดกั้นไม่ให้ตัณหานั้นเกิดขึ้นมาได้ ถ้าเราอบรมไปตามลำดับ ๑๖ ขั้นตอนตั้งแต่เบื้องต้นจนถึง ตามเห็นความสลัดคืนจากการยึดมั่นถือมั่นจากจิตของตนเองอันนี้เป็นตัวสุดท้ายตัวที่ ๑๖ ตามเห็นความสลัดคืนแบ่งออกเป็น ๔ กลุ่ม ๑. กลุ่มที่ว่าด้วยกาย ๒. กลุ่มที่ว่าด้วยเวทนา ๓. กลุ่มที่ว่าด้วยจิต ๔. กลุ่มที่ว่าด้วยธรรมชาติแห่งจิตใจ จำนวน ๔ อย่างนี้เป็นของสติปัฏฐาน อานาปานสติมันจะควบคุมสติปัฏฐานให้บริบูรณ์

๔) เพื่อการกระทำความทุกข์ อาสวะทั้งหลายที่มันทำให้ทุกข์สิ้นไป มี ๔ อันเท่านี้เจริญสมาธิภาวนามา ถ้าไม่ได้อันใดก็ได้อันหนึ่งในจำนวน ๔ อันนี้ ทำไปเถิดไม่ต้องรอคอย อะไรเกิดขึ้นก็ดูกัน อย่าไปตั้งใจเกินไป ให้มันสมดุลเหมาะสม อย่าไปทำให้มันเครียด เดี๋ยวมันจะเบื่อหน่าย หรืออาจหลงผิดได้

ทำโดยวิธีใด ? เวลานั่งสมาธิผมเป็นห่วงพวกตั้งใจ เกิดเครียดนะอย่างนี้เวลานั่งปั๊บลงไป หาความพอดีนะ โยกหาความพอดี ข้างหน้าข้างหลังว่าดีแล้ว ตรงไหนมันเกร็งในร่างกายมันกดมันเกร็ง ตรงไหนผ่อนคลาย เวลาเราเพ่งจริงๆ มันเกร็งนะ บางทีกัดกรามเข้าไป เวลาจะเริ่มสงบมันหรี่สมาธิไป บางทีก็ตึงเครียดไปหมดเลย

ถ้าอย่างนี้ให้เรารู้ทันปล่อยวางไป เอาใหม่คืออย่าไปให้มีอาการเครียด มันจะเป็นอันตรายต่อประสาท เป็นอันตรายต่อสมองเสร็จแล้วจะเป็นคนสมองเสื่อมอีกด้วย ซื่อบื้อ นักสมาธิจะต้องเป็นผู้ที่มีความสุขอยู่ในทุกอิริยาบถ สมองคล่องตัวในการทำงาน สมาธิถ้าทำไม่ถูกทำให้สมองเสื่อมนะ พระพุทธเจ้าจึงมักจะสอนว่า อย่าไปเข้ามันบ่อยๆ พวกที่เข้าฌานบ่อยๆ เพ่งสงบอยู่ภายในบ่อยๆ แล้วติด ท่านบอกว่ามันทำให้เกิดอาการเสื่อมทางปัญญาเพราะฉะนั้นระวังให้ดี เราอย่าให้มันเกร็งจิตต้องไม่เกร็ง กายก็ไม่เกร็งปล่อยตามสบายๆ เพราะฉะนั้นเราเพ่งแล้วเพ่งอย่างไรมันมีอยู่ ๒ เพ่ง

๑. อารัมมะนูปะริจะฌาน เพ่งจิตปักจิตใส่อารมณ์อันเดียวเพ่งตัวนี้ให้เกิดสมาธิเพ่งตัวนี้ให้เป็นสมถะ

๒. ลักขะนูปะริจะฌาน เพ่งดูลักษณะของกายของอารมณ์ของจิตทั้งปวง ลักษณะของสภาวะทั้งปวงแต่มานั่งเพ่งตัวหลังนี้จะนั่งให้เกิดปัญญา เพ่งตัวแรกเพ่งให้เกิดสมาธิสมถะเพ่งตัวหลังเพ่งให้เกิดปัญญา

ทีนี้เรื่องตานี่ลองดู บางคนอาจจะหลับตาไม่ดีนะ ลองหลายๆ อย่างดู ไม่ใช่เอาแต่อย่างเดียวหนา ถ้าหลับตาแล้วมันรู้สึกเครียดก็ลืมตาขึ้น

เนวะ กาโย กิละมะตินะ จักขูนิอะนุปาทายะ

ท่านั่งตัวตรง ถ้านั่งตรงๆ แบบนี้อาการง่วงนอนจะเกิดขึ้นได้ยากมันเกิดขึ้นได้ยากเพราะว่าเราต้องแบ่งพลังงานทางจิตมาประคับประคองกระดูกหลังแต่พอมันชินแล้วมันนั่งงอไม่ได้นานมันปวดมันต้องนั่งตัวตรง กายของเธอไม่ลำบาก ตาไม่ลำบาก มันไม่มีอาการเครียด ทั้งทางกายและทางตาบางทีหลับตาตัวจะร้อน สังเกตนะลืมตาอยู่ เย็นๆ อยู่พอดีๆ พอหลับตาปั๊บเหงื่อไหลออกมา พอหลับตาเข้าน้ำลายไหลออกมาจากไหนนี่ กลืนเอือกๆ มันมีอาการปรุงเกินไป ดิน น้ำ ลม ไฟ ไม่เสมอกันหายใจแรงผิดปกติ เมื่อลมเข้าไปแรงไฟก็ลุกแรง มันเหมือนเป่าไฟ ไฟลุกแรงน้ำก็เดือดเวลามันสงบจริงๆ ดินน้ำไฟลม ลมหายใจสงบลง จนไม่มีลม ลมไม่เข้าไม่ออกแต่มันมีไม่ต้องกลัวตายหรอก ถ้าลมไม่มีลมหายไปปั๊บมีแต่ความรู้สึกก็ดูมันเฉยๆ น้ำก็สงบ “น้ำลายน้ำเลยบ่มีแล้ว” ไฟก็สงบเย็นตามตัวนี่ ดินคือส่วนที่มันเข้มแข็งทั้งหมด ยุบตัวมันสงบไม่มีอาการปวดแข้งปวดขา นี่กายเริ่มระงับแล้ว บางคนหลับตาแล้วดีลืมตาไม่เป็นท่า แต่บางคนนี่หลับตาไม่เป็นท่าเลย ต้องลืมตาต้องฉลาด ต้องสังเกตดูตนเอง เรียกว่ามานั่งจ้องมองดูตนเอง ดูมันไปอย่างนี้จัดให้มันถูก อย่าให้มันเกร็งอะไร

ทีนี้การดูลมหายใจ ผมอยากจะบอกอีกอย่างหนึ่งว่า ลมหายใจนี่ดูได้หลายแบบนะ อย่างที่เราเคยพูดพุทโธทั้งเข้า พุทโธทั้งออกก็ได้ อย่างนี้ไม่มีเทคนิคอะไร จนมันติดกันเหมือนติดบุหรี่ นอนหลับไปแล้วตื่นมาพุทโธเอง เดินไปไหนก็พุทโธเองพุทโธทุกอย่างนี้มันเป็นอีกแบบหนึ่ง ผมทำมาตั้งแต่ผมเป็นเณรน้อยๆ ไปนั่งพุทโธ พุทโธ พุทโธ น้ำค้างหยดใส่สังกะสีป๊อก พุทโธมันเป็นเสียงพุทโธไปหมด ไก่ร้องอีเอกเอ้กอยู่โน้น มันก็พุทโธเหมือนกับไก่ขัน มันติดอย่างนี้ พอมันสงบพุทโธมันก็หายไป ไม่ได้พูดอะไร แต่การดูลมหายใจมันมันละเอียดกว่านั้น ตั้งแต่หยาบๆ ไปจนถึงละเอียด

เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงสอนมาก เรื่องลมหายใจนี่นะ น่าเสียดายครูบาอาจารย์ทั้งหลายไม่เอามาสอนกันเลย ดูลมนี่มีหลายจังหวะ หนึ่งดูที่มันกระทบ ภาษาบาลีว่า ผุสสะนา มันกระทบตรงไหนในจมูก บางคนจมูกไม่เหมือนกัน บางคนจมูกแบนๆ บางคนจมูกโด่ง ฝรั่งมาอยู่นี่เขาเห็นข้างบน เพราะฉะนั้นพวกนิโกรปากพันขึ้นข้างบน เขาดูริมฝีปาก ดูตรงที่สัมผัส ภาษาบาลีว่า ผุสสะนา

ผุสสะนา ภาษาฝรั่งว่า contact points (คอนแทคธ์ พอยนท์) จุดที่มันกระทบลมหายใจ กระทบตรงไหนเอาความรู้สึกไว้ตรงนั้น ดูมันเข้ามันออก ถ้าจับจุดที่มันกระทบได้เสร็จปั๊บนี่ ดูไปดูมามันจะเริ่มเย็นๆ (เซ้นซิทีฟ) คือ ความรู้สึกอย่างรุนแรงตรงเนี่ย เมื่อมันจับกันอยู่ตรงนี้ได้เพ่งลงไปเบาๆ ลมหายใจเข้าลมหายใจออก นานเข้ามันจะเย็น เย็น เย็นอีกหน่อยมันเย็นขึ้นข้างบน ขึ้นหัวเลยนี่เหมือนมันเข้าไปแล่นในสมองมีอาการ ยืบ ยาบ ยืบ ยาบ มันเป็นอยู่นะพวกเรานี่ เดี๋ยวนี้ก็อาจเป็นแต่เราไม่รู้

บางคนเหมือนมีแมลงตัวเล็กๆ พอมันจะเริ่มสงบมันไต่ตามเนื้อตามตัวตามหลัง ตามอะไรอย่าไปหาเกา ยอกๆ แยกๆ มันไม่มีหรอกมันเป็นเอง อันนั้นมันไปถึงขั้นที่สาม

สัพพะกายะ ปะฏิสังเวที แล้ว สัพพะ แปลว่าทั้งหมด กายะ กายทั้งหมด ปฏิ เฉพาะ สัง พร้อม เวที รู้พร้อมเฉพาะกาย ทั้งหมดตรงไหนมันไต่ แต่อย่าไปเกามันนะ ก่อนที่มันจะสงบนี่มันจะปั่นป่วนซะก่อน ไม่รู้อะไรต่ออะไรมาไต่เต็มไปหมด มันจะเริ่มสงบมันเลยไปแล้วมันก็สงบ บางทีร้อน ร้อนผิดปกติเหมือนเอาไฟมาสุมไว้ถ้าผ่านร้อนไปนั่นก็เย็น บางทีมันก็ดิ้นตามตัว วิ่งเหมือนมันมีตนมีตัว ครั้งแรกเราก็ดูจุดเดียว ดูที่มันกระทบ มันกระทบตรงไหนก็ดูตรงนั้นแหละ เอาตาในนั่นดู กระทำความรู้จักมันแล้ว


ทีนี้มีอีกแบบหนึ่งมีอีกนะ ไม่ได้ดูตรงนี้ตามๆ ลงไปตามออกมา ภาษาบาลีว่า อนุพันทะนา แปลว่า ตาม อนุพันทะนาตามผูกติด ให้สร้างความสำนึกว่าเหมือนมีอะไรอันหนึ่งวิ่งเข้าวิ่งออกในนี้ ทำดีๆ เถอะบางคนนะบางคนมันเร็ว เคยมีบารมีสั่งสมเจริญอานาปานสติมาก่อนเห็นไว สร้างความรู้สึกเหมือนมีวัตถุอันหนึ่งวิ่งเข้าวิ่งออก อย่างนี้อีกหน่อยจะเห็นเป็นตัวเลย วิ่งเข้าวิ่งออก อาจจะมีเจ้าของตัวน้อยๆ วิ่งออกมาในนี่อีกก็ได้

พระพุทธเจ้าของเรานั่นนะ ท่านเจริญอานาปานสติมาหลายภพหลายชาติ ตอนเด็กน้อยๆ พ่อไปไถนา พระเจ้าสุทโธทะนะทำนานะ โอทะนะนั้นแปลว่าข้าวสุก ข้าวสุกๆ ตระกูลข้าวสุก ตระกูลนี้ทำนา ไปแรกนาขวัญเอาลูกน้อยๆ ไปด้วย สิทธัตถะกุมาร คือพระพุทธเจ้าขอเราเอาไปวางไว้ที่ ชัมพุกะฉายา ภาษาบาลี ชัมพุ แปลว่า ต้นหว้า ฉายา แปลว่า เงา ร่ม เอาไปไว้ที่ร่มหว้า นั่งอยู่นี่นะลูกนะพ่อจะไปไถนา ถ้าพูดภาษาบ้านเรา

พระโพธิสัตว์ถึงจะเป็นเด็กแต่ท่านก็มีบารมี เป็นของเก่าที่เคยปฏิบัติมานาน พอนั่งปั๊บ ไม่มีใครอยู่ด้วยไม่ได้ยินเสียงอะไร จิตมันจ่อเข้าที่ลมหายใจ เลยเป็นฌานวันนั้นได้ฌาน เป็นปฐมฌาน นั่งนิ่งเฉย นั่นเข้าไปตรงนั้น ตัวตรงนั่งเฉยจนบ่าย พ่อนึกขึ้นได้ เอ้ ! วันนี้ลูกไม่เห็นร้อง ไม่เห็นอ้อน ไม่เห็นกวน


พ่อมาเห็นพระโพธิสัตว์นั่งเฉย ใต้ร่มเงาแห่งต้นหว้าก็เที่ยงตรงอยู่อย่างนั้น แม้เวลาบ่ายไปแล้ว นั่นเป็นครั้งหนึ่งที่พระเจ้าสุทโธทะนะได้น้อมเศียรอภิวาทลูกของตนเองเป็นครั้งที่สอง แต่ก่อนเกิดมาน้อยๆ ก็เคยไหว้ครั้งหนึ่ง เมื่ออสิตะดาบสเข้ามาเยี่ยมครั้งแรก ดาบสองค์นี้มาเยี่ยมมาเห็น มาเห็นพระพุทธเจ้าเราตัวน้อยๆ

พอมองเห็นครั้งแรกเนี่ยหัวเราะดีใจ เพราะคนอย่างนี้โลกรอคอยมาเป็นแสนปีแล้วคนเช่นนี้ เขาดูหมอ เขาเป็นหมอดูเขาเรียกว่า ปุริสัสสะลักขะณะ พูดภาษาจีนว่าดูโงวเฮ้ง ดูลักษณะคนเช่นนี้หายากกว่าโลกจะมีก็หัวเราะดีใจ พอดีใจก็นึกขึ้นมาได้ร้องไห้ ทำไมจึงร้องไห้ ท่านบอกว่าเราจะตายก่อนท่านผู้นี้บรรลุตรัสรู้แล้วเราไม่ได้ฟังธรรมเราแก่เราจะตายก่อนเลยร้องไห้ พระเจ้าสุทโธทะนะก็ถาม ก็เลยเล่าความจริงให้ฟังเมื่อฤๅษีกราบ พระเจ้าสุทโธทะนะก็กราบก็ไหว้เหมือนกัน อันนี้เล่าให้ฟังว่าลมหายใจ ถ้าเราไม่ดูตรงที่มันกระทบก็ดูมันตามมันเข้าไปตามมันออกมา ความคิดทั้งหลายจะคิดไม่ได้มาก เพราะเราผูกจิตของเราตามลมเข้าตามลมออก มันจะเผลอไปคิดนิดหนึ่ง ก็ตามเข้าตามออกตามเข้าตามออกนี่ อีกลักษณะหนึ่ง พอมันสงบๆ แล้วก็ไม่ต้องตามเฝ้าดูอย่างเดียว นี้อีกอย่างหนึ่ง

อีกแบบหนึ่งวิธีนับ มันวุ่นวายนักก็นับ เรียกว่า คะณะนา นับหายใจเข้าหนึ่งหายใจออกหนึ่ง หายใจเข้าสอง หายใจออกสอง สองๆ สามๆ สี่ๆ ห้าๆ หกๆ เจ็ดๆ แปดๆ เก้าๆ ย้อนหลังอีก แปดๆ เจ็ดๆ หกๆ ห้าๆ ถ้ามันคิดมากมันก็หลงหน้าลืมหลัง นับใส่เกียร์ถอยหลังเดินหน้า อ้าว มันผิดล็อกแล้วตั้งใหม่ นั่นคือวิธีทำให้ความคิดนี้มันหลงทาง บางทีเรานับถอยหลังนี่ หกๆ แล้วเราก็จะมาห้าๆ สี่ๆ สามๆ พอหกๆ มันคิดไปเรื่อยๆ มันก็เจ็ดๆ แปดๆ ใส่เกียร์ถอยหลังย้อนคืนมาใหม่ อย่างนี้เขาเรียกว่า ย้อนศร ให้ความคิดมันหลงทางแบบหนึ่ง เมื่อเรานับอย่างนี้มันต้องใช้สติด้วย จะใช้สมาธิอย่างเดียวไม่พอต้องใช้สติผมยังว่า เอ้ ! ฉลาดสอนเหมือนกัน ภาษาบาลีท่านเรียกว่า คะณะนา แปลว่า นับ


ทีนี้ถ้าจิตเรามันไม่ดื้อถึงขนาดนั้นเราก็เฝ้าดูจิตเสีย ทีนี้ถ้ามันสงบพอสมควร ก็มีอีกอันหนึ่ง เรียกว่า ฐาปะนา แปลว่า ตั้ง ตั้งสติไว้ตรงไหน ปะริมุกขัง สะติง อุภะตะเปตตะวา ตั้งสติใช้เฉพาะหน้าอย่างนี้หรือจะตั้งใว้ข้างหลังนี่ก็ได้นะ บางที่เรากำหนดดูลมหายใจเข้าหายใจออกตั้งสติไว้ข้างหลังก็ยังได้ พอเวลาหายใจเข้ามันดูยกขึ้นมาอย่างนี้ หายใจออกมันก็ยุบลง อย่างนี้เดี๋ยวก็ว่ายุบหนอ พองหนอ ไม่ต้องพากันพูดตามมันก็ยุบเองพองเอง พอหายใจเข้ามันก็พองขึ้นมา “ภาษาภาคอีสานเฮ้าสิว่า ปุ้งหนอ แวบหนอ” ก็ยังได้เลย

ทีนี้เราสร้างความรู้สึกไว้ในสะดือ หรืออยู่ข้างหลัง หรืออยู่ข้างบน หรืออยู่ข้างหน้า เรียกว่า ฐาปะนา สติอยู่ตรงนี้เมื่อมันเริ่มสงบลง สงบลง ความรู้สึกทั้งหลายก็ละเอียดลงเบาลง วิธีดูลมหายใจนี่ ดูได้หลายแบบ ที่น่าดูที่สุดแบบง่ายๆ ก็คือ ดูที่มันกระทบตรงไหนที่มันชัดๆ ดูละเอียดเข้าไป

แม้กระทั่งลมพัดในรูจมูกสองข้างนี่ ข้างไหนมันหายใจคล่องกว่ากัน มันไม่เท่ากันดูดีๆ บางครั้งข้างหนึ่งโล่งอีกข้างหนึ่งขัดก็มีพวกเจริญอานาปานสติต้องหมั่นล้างหน่อยนะ พวกง่วงเก่งๆ ปิดรูจมูกไว้ข้างหนึ่งสูบเข้าไปแล้วสั่งออกมา ล้างท่อจมูกล้างท่อมันเอาทางนี้อีกทำทุกวัน ทำบ่อยๆ เข้าทีนี้มันก็หายใจคล่อง ดูลมหายใจให้ละเอียด ถ้าผู้ใดจับจุดตรงที่มันเข้ามันออกนี่ ที่มันสัมผัสดีๆ แล้วมันจะเริ่มเย็นๆ เย็นๆ เย็นเข้าเย็นเข้า ความคิดความสงบลงๆ ก็เย็นขึ้นมาๆ มาหนักตรงนี้หน่อย หลังจากนั้นถ้ามันเข้าถึงตรงนี้ตามเลย บางครั้งเหมือนนกเหมือนไก่ตัวน้อยๆ มาจิกเบาบนหัวหยอบๆ แหยบๆ ดูมันไปนานๆ เข้าถ้ามันปวดนะมัน ปวดก็ดูเบาๆ อย่าดูแรง มันเผากันแล้วมันเผากัน เผากันกับกามารมณ์ ไม่ใช่อะไรที่ทำให้ปวดนั่น

ทีนี้ถ้าเราดูให้ละเอียดเบาๆ เข้ามาถึงตรงนี้แผ่ไปจนทั่ว เอาไปเอามามันจะเริ่มเย็น ถ้ามันเย็นสบาย ใครก็ตามมาถึงตรงเย็นๆ เย็นเต็มไปหมด เย็นแสนจะเย็นตรงนี้ เหมือนเอาน้ำแข็งมาใส่ไว้ในสมองนี้มันไหลอาบ ถ้าอย่างนี้มันชวนกันหนีหมดความง่วงง่วงเหงาหาวนอน ปวดแข้งปวดขา ขี้เกียจขี้คร้านมันชวนกันหนีหมด เย็น...ตัวนี้เห็นอะไรมันก็เย็น เย็นไปหมดร่างกายก็เย็นจิตก็เย็น คางสั่น งับๆ ถ้าอย่างนี้มันแผ่ไปหมดเลยทั้งตัว ถ้าทำอย่างนี้ไม่มีความตึงเครียดล้างสมอง ตัวนี้ล้างสมองอันนี้เป็นสมาธิที่ทำให้เกิดความสุข ส่วนทำให้เกิดฤทธิ์เกิดเดชฝากไว้บ้างก็ได้เป็นของฝากสำหรับคนที่ชอบ

ทำยังไงจะให้มันเกิดฤทธิ์เกิดเดช ญาณะ ทัสสะนะ ปะ ติลาภายะ สังวัตตะติ พระพุทธเจ้าท่านสอนอยู่เหมือนกันแต่ไม่ละเอียด คงจะกลัวพวกเราไปติด ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เธอมนสิการอะโรกะสัญญา ทิวากะสัญญา กลางคืนเหมือนกลางวัน ผู้ใดทำสมาธิแล้วสว่างหลับตาไปแล้วสว่างจ้าโล่งโถง นั่นละคือทางนำมาของมัน อะภิญญา เทสิตะ สัจฉิกะระณะธัม ธรรมอันนำให้เกิดความรู้ยิ่งแบบเป็นฤทธิ์เป็นเดช คือมันจะผ่านทางแสงสว่าง

ถ้าเราทำมันไปถ้ามันสว่างครั้งแรกก็สว่างน้อยๆ มาเจิดจ้า โพรงขึ้นมาเหมือนจอทีวีที่ว่างๆ ที่ยังไม่มีภาพอะไร ถ้าทำอย่างนั้นได้บ่อยๆ เข้า ต่อมามันก็จะมีอะไรๆ ตามมาอีกเยอะ แต่ขอบอกให้ทราบล่วงหน้าไว้ก่อนว่า นั่นเป็นทางนำไปสู่ความติดตัง เมื่อมีฤทธิ์มีเดชแล้วมันก็อยากจะอวด ต่อมาก็เป็นทางนำมาซึ่งลาภสักการะ ต่อมาก็เป็นทางนำมาซึ่งกิเลสอ้วน กิเลสมากกว่าเดิมอีกบางท่าน


เพราะว่าพวกเรายังไม่สามารถทำลายความยึดมั่นถือมั่น ตรงนี้ถ้าหากเราไม่สนใจจะดีที่สุดข้ามไปเลย แต่บางคนมันเป็นหนาอยู่ด้วยกัน มันเคยเป็นมาแต่ก่อนไม่ใช่เกิดมาชาติเดียว เกิดมาหลายแสนชาติแล้วมันสั่งสมมา มาตักน้ำใส่นี่ เหมือนตักน้ำ ชาติก่อนมันได้เพียงแค่นี้มันเกือบจะเต็มแล้ว ชาตินี้มาเอาอีกตักนิดเดียวเต็มแล้ว พวกยังไม่มีก็ต้องตักมากๆ ยังไม่เต็มก็ต้องตักต่อไป สะสมไป บุญบารมีต้องตั้งใจจริงๆ หนา

ก็จงวางใจลงว่าสิ่งที่ควรจะต้องเข้าใจที่สุดคือ เวลาเรานั่งสมาธิเราเจริญสมาธิที่ครูบาอาจารย์ท่านสอนท่านพาทำมา สิ่งที่ควรจะวางใจครั้งแรกคือ อย่ารอคอยอะไร ไม่ใช่ว่าเมื่อไหร่หนอจะได้จะเป็น ไม่ต้องไปรอคอยสิ่งใดดูมัน ถ้ารอคอยอย่างนี้ยากจะได้เจอ รอคอยทุกสิ่งทุกอย่างที่มันเกิดขึ้น จะรู้จักมัน อะไรเกิดขึ้น พอนั่งปั๊บนี่ต้องทำความรู้สึกว่า เราจะรอคอยเราจะรู้จักทุกอย่างที่มันเกิดขึ้นในกายในจิตของเรา นั่นคือความถูกต้อง พอมันปวดขาปั๊บขึ้นมา เรารู้จักปวดขา ย้อนคืนมาดูตัวผู้รู้ รู้ว่าปวด ใครเป็นผู้ปวดไม่ใช่ปวดตรงนี่ มันปวดที่ใจ คืนมาดูตัวเจ้าของผู้ที่มันปวด ดูไม่เป็นไม่เข้าก็เลยปวดมากกว่าเดิม

เมื่อเวลาความคิดเกิดขึ้น อย่าไปรำคาญอย่าไปโกรธ รู้เข้าไปในอาการของความคิด อย่าไปรู้เรื่องที่มันคิด ไม่รู้จะฟังเข้าใจไหม อย่าไปดูในจอของมัน มันเป็นเรื่อง นี่มาดูต้นของมันดูฟิล์มภาพอยู่ในจอนั้นมาจากฟิล์มอันนี้แต่ถ้าดูในฟิล์มนี้ไม่เป็นเรื่อง เห็นแต่รูปคนยืนคนเดินคนนั่ง แต่ถ้าดูที่จอ โอ้...มันเป็นเรื่องเลย ไปรักไปชังกับเขา เวลาความคิดเกิดขึ้นอย่าไปรู้เรื่องความคิด คืนมารู้อาการ ที่มันคิดนั่นนะ ดูเข้าไปมากๆ มันก็จะหยุดมันก็อาย แต่ถ้าไม่ดูไม่เข้าใจ ก็จะหลงไปกับความคิดนั่งได้เพลินอย่างนั้นอย่างนี้ ความคิดมันลากไป เราต้องดูอาการที่มันคิด

เพราะฉะนั้นอย่ามองข้ามคำสอนของพระพุทธเจ้าเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็อย่ามองข้ามสติเฉพาะหน้าคือภายนอกสร้างความรู้สึกเฉพาะหน้า ความง่วงจะมีน้อยมากถ้าใครที่สร้างความรู้สึกเฉพาะหน้าเป็นสมาธิหล่อหลอมได้ง่ายมีเรี่ยวแรง ตัวจิตที่รู้ก็รู้เราจะเจาะเข้าไป เรียกว่าชำแรก นิพเพธะ ความหมายมันแปลว่าชำแรก ชำแรกแหกแทงทะลุทะลวง คิดมาก็ทะลวงมันเข้าไปอย่างนี้จ้องดูมันแล้วจะรู้จักมันว่าอ้อ มันอยู่ตรงนี้เองพอมันคิดปั๊บเราก็รู้

นี่คืออาการคิดอย่าไปรู้เรื่องที่มันคิดว่าเรื่องอะไร แยกคืนมารู้ตัวนี้มันก็ทิ้งมันก็ขาด เป็นตอนๆ เป็นตอนในที่สุดความคิดนี้ปรุงกันไม่ได้สติมันแก่มันกล้ามันทัน อภิญญาญะ ขึ้นมา สัมโพธายะ ขึ้นมา นิพพานายะ ดับ นิพพานนั่นแปลว่าดับ ความคิดดับ พอมาถึงสัมโพธายะ สัมโพธายะแปลว่ารู้พร้อมเฉพาะ พอแกคิดปั๊บฉันก็รู้ปั๊บเหมือนกัน ก็ดับปั๊บ พอดับเข้า ดับเข้าอีกหน่อยหมด เฉยเลยที่นี่ เป็นมวยหน่อย พอมันดับปั๊บ สบาย ทำความเพียรสบาย ว่างละทีนี่ จะรู้จักว่าง อันว่างๆ ว่างนั่นไม่ใช่ธรรมดานะเป็นว่างที่เต็มด้วยสติคิดมาเห็นแต่มันผ่านไปผ่านไปเฉย เห็นอาการเกิดดับเหล่านั้น ผ่านไป คิดทั้งวันก็ไม่ได้วุ่นวายอะไร พอจะให้หยุดก็สั่งหยุดเลยปิดกระแสเลยก็ยังได้ เหมือนสวิทช์ไฟปิดได้อย่างนี้

พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า ภิกษุผู้อบรมจิตอบรมอินทรีย์ ไม่มีอะไรจะยิ่งกว่าการทำความคิด ให้มันหยุดได้ทันทีเหมือนบุรุษผู้มีกำลังเอาลิ้น ลิ้นภาษาบาลีเรียกว่า ชิวหา

ชิวหัคเค เขฬะ บิณโต สังโยหิตตะวา อัปปะกิสิเลนะ วัมเมยยะ วะ เอวัง สีคัง เอวัง ตุวาตัง

เอาปลายลิ้นนี่ตะล่อมน้ำลายไว้ ถ่มทิ้งโดยไม่ยากฉับพลันทันทีทันใด มันจะคิดอะไรจะเอาอะไรถุยมันทิ้ง อย่าไปอ้อยอิ่งกับมัน เป็นอันว่าเราจะต้องทำอย่างนี้ก่อนนะ ทีนี้ทำอย่างไรจะมีสติสัมปะชัญญะค่อยว่ากันใหม่อีกที ถ้าอยากมีฤทธิ์มีเดชเป็นเครื่องประดับ ก็พยายามสร้างอาโลกะสัญญา ความสว่างให้มากๆ ก่อนที่มันจะสว่างมันจะมืดก่อน มืดแล้วก็แจ้ง มืดอีก สร้างให้มันเป็นตัว อีกหน่อยก็สนุกละที่นี่ สนุกจนไม่อยากจะนอน ไม่นอนแต่อย่าไปกวนเพื่อนนะ อีกหน่อยก็จะเบื่อเองเบื่อผมเคยเป็น พูดให้ฟังสักหน่อยก็ได้ไม่มีครูบาอาจารย์มาบอกขนาดนี้หรอก เราก็นั่งไป นั่งไป นั่งไป โอ้ย...ทำไมตัวใหญ่แท้ตัวใหญ่คับกุฏิลุกเดิน เหมือนแผ่นดินนี่มันจะทรุด ก้าวไปแต่ละก้าวเหมือนแผ่นดินมันจะทรุด แผ่นดินมันก็เหมือนเดิม แต่ว่าในความรู้สึกเป็นเหมือนกับแผ่นดินมันจะทรุดลงไป


กะพริบตาเบาๆ นี่เหมือนกระเทือนไปทั้งโลกเลย โอ้ย...เป็นอะไรหนอ นั่งเฉย กะพริบตาทีหนึ่งเหมือนโลกกระเทือนไปหมดเลย ร่างกายหวั่นไหวไปหมดเลย กะพริบตาเบาๆ เหมือนโลกกระเทือนไปหมด ความรู้สึกทั้งหลายมารวมกัน มะหักกะตา ไปอย่างยิ่งใหญ่ โอ้ย...พอเพ่งขึ้นไปดูหลอดไฟข้างบนดับพรึบ พอถอดออกมาติดอีกเหมือนเดิม ก็คิดว่าบังเอิญมันดับเองหรือว่ามันดับเพราะเราเพ่ง

ลองดูอีกที เพ่งขึ้นไปอีกก็ดับอีก ก็คิดว่าตัวเองเก่งละ ทีนี้ประตูแบบลูกบิด เพ่งขึ้นไปใส่ตรงประตูเสียงดังป๊อกแล๊ก เอ้ ! มันเปิดได้จริงไหม ลุกขึ้นไปเปิดดูเปิดได้จริงๆ ด้วย ดึงคืนมาไว้ล๊อก มานั่งอีก เพ่งอีกบ๊อกแล็ก ลุกขึ้นไปดูอีกเอ้าเปิดได้จริงๆ นี่มานั่งใส่อีก ทั้งคืนไม่ทำอะไร ลุกขึ้นไปปิดประตูมานั่ง เพ่งอีกเปิดอีกนั่นนะ

สองสามวันจึงรู้ว่า โอ้โง่ตายแท้เรา อย่างนี้หรือพระพุทธเจ้าสอน กิเลสยังท่วมหัวเหมือนเดิม หลังจากนั้นเราก็รู้สึกว่า นี่เราก็หลงทางไปเฉยๆ ถ้าเราอบรมจิตให้มันสงบมากๆ จะได้มองเห็นอะไรต่อมิอะไร ควบคุมวิถีจิตให้มันสงบ แล้วมันจะตกลงไปในภวังค์ คือมันจะกลับไปจำเรื่องราวในอดีต ตั้งแต่ตอนเป็นเด็กๆ บางทีข้ามไปชาติก่อนโน้นว่าเราทำอะไร ไม่อยากจำมันก็จำเป็นธรรมดาของมัน ถ้าเราฝึกให้จิตสงบอย่างเดียวมันจะตกภวังค์มันจะจำแต่ชาติก่อนๆ อันนั้นไม่ดีอันตรายนะ บางทีนั่งอยู่ดีๆ ไปจำผัวเก่าเมียเก่าได้จะทำยังไง เดี๋ยวไปหลงอดีตไปติดอดีต อะไรมันจะเกิดขึ้น จะเกิดปฏิกิริยาขึ้นมาใหม่พระบางองค์เคยได้ยินไหมพระโด่งดังไปไหนมาไหน มีแต่คนกราบคนไหว้ มีอิทธิฤทธิ์โด่งดัง มหัศจรรย์จำชาติได้อย่างโน้นอย่างนี้

บางท่านเก่งมากได้เป็นพระราชาคณะไม่ใช่ธรรมดา แล้วได้เขียนหนังสือเล่มหนึ่งพอคนได้อ่านเคลิ้มหลงใหลเมื่อได้อ่านหนังสือเล่มนั้นเขียนมาจากประสบการณ์ สมาธิหนังสือเรื่องทิพย์อำนาจ อำนาจทิพย์เห็นอันนั้นรู้อันนี้ ต่อมาไม่นานสึกไปกับผู้หญิงคนหนึ่งท่านบอกว่าเป็นเมีย แต่ชาติก่อนนั้นมันไปจำสิ่งเหล่านั้นจนตกภวังค์แต่มันไม่ตัดภวังค์เดี๋ยวนี้ทราบว่าเป็นบ้าไปแล้ว แต่ยังไม่ตายนะแต่ก่อนเห็นโน่นเห็นนี่เทวดาฟ้าดินอยู่ตรงไหนท่านรู้ท่านเห็นหมด


ตอนหลังมาสึกเอาง่ายๆ ไปอยู่กับผู้หญิงรุ่นๆ คนหนึ่ง แต่ตัวเองแก่แล้ว แต่ท่านบอกว่าเป็นคู่บารมีแต่ชาติก่อนว่าอย่างนั้น บารมีที่จะกอดคอกันตายในวัฏฏะสงสารไม่รู้เรื่อง หลงภวังค์อยู่ในสำนึก ภวังคะ แปลว่า ตรงแห่งภพสภาพแห่งองค์ประกอบที่เคยเป็นมาแล้วหรือมันกำลังเป็นอยู่ ภาษาพระเรียกว่า ภวังคะจิต ทีนี้เราจะทำอย่างไรจึงจะไม่หลงสิ่งเหล่านี้ หลังจากที่มันไปถึงจิตสำนึกตกไปสู่ภวังค์จะทำอย่างไรจะทำให้มันตัดภวังค์ ต้องเจริญอานาปานสติ หลังจากนั้นเราก็มานั่งพิจารณาดูใหม่ ความรู้ความคิดมันคิดอะไรขึ้นมา สิ่งที่ดีที่สุดคือรู้ความคิด รู้ให้ทัน ไม่ต้องกลัว มานั่งสมาธิปั๊บมันจะคิดอะไรก็ดูมัน ไม่ไปกับมัน

พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า ภิกษุทั้งหลายถ้ามีใครมาถามเธอว่าเธอประพฤติพรหมจรรย์ในศาสนาเธอเพื่ออะไร เธอจงบอกเขาว่าประพฤติพรหมจรรย์เพื่อรู้จักทุกข์ เพื่อรู้จักเหตุที่เกิดทุกข์ เพื่อรู้จักการดับทุกข์ เป้าหมายคือการรู้จักทุกข์และดับทุกข์ ทีนี้เรามาทำสมาธิเราไม่อยากรู้จักทุกข์ เพราะฉะนั้นใครที่พบความทุกข์อยู่ในลมหายใจถือว่าเป็นการดี แต่ว่ามันจะล้มละลายก่อน ตรงที่เราอยากให้มันหยุดความจริงนั้นความสุขนั้นก็คือความทุกข์ ความสุขคือความทุกข์มันลดลง

พระพุทธเจ้าจึงตอกย้ำมากเรื่องเวทนา “บุคคลใดเห็นความสุขเปรียบเสมือนลูกศรเสียบอยู่ในหัวใจ เห็นความไม่สุขไม่ทุกข์ละเอียด เห็นความไม่เที่ยงอยู่ในนั้นภิกษุผู้นั้นสมควรที่จะบรรลุโพธิญานอันอุดม” หลังจากนั้นภิกษุผู้นั้นจะเป็นผู้ที่ทำให้สุดอภิญญา คือให้เห็นความสุขเป็นความทุกข์ เห็นความทุกข์เป็นเหมือนลูกศรเสียบ

ผมจะเล่าให้ฟังผมทำความเพียรอยู่คนเดียวผมมีความทุกข์มาก แต่ผมไม่รู้จักอะไร คือมันมีปัญหา มันเป็นเองนะขนาดพวกเราอยู่กันเป็นหมู่คณะมีครูบาอาจารย์มาแนะนำ ผมเป็นไม่เหมือนใครไปถามใครก็ไม่มีคนรู้เพียงแต่กระดิกนิ้วมือมันเหมือนมีสปริงอยู่สองข้าง ถ้านั่งสมาธินี่เหมือนมันจะระเบิดมันแน่นไปหมด ปวดหัวคิดอะไรก็ไม่ได้ มีวิธีเดียวคือนอน แล้วเอามือไว้ข้างๆ มองดูเพดาน ทุกข์มากเลยคิดหาครูบาอาจารย์ ไปกราบเรียนถามท่าน ท่านบอกว่าไม่เคยเป็นไม่เคยเห็น

ทีนี้มีพระอาจารย์รูปหนึ่งเข้ากรรมฐานได้ห้าปี ท่านหนึ่งได้หกปีไม่เคยพูดกับใคร ท่านเป็นคนแม้วผมก็ไปถามเล่าเรื่องให้ฟัง ท่านก็บอกว่า แบบนี้ตายแน่ มีพระตายมาหลายองค์แล้ว เลือดออกปากออกจมูก มีวิธีเดียวคือเลิกปฏิบัติผมก็มานั่งคิดพอคิดแล้วหัวมันจะแตกคิดว่ายังไงเราก็ตาย เลยคิดต่อไปว่าเราจะเพ่งให้มันตาย ยังไงเรามาไกลขนาดนี้เราไม่ไปหรอกคิดอย่างเดียวว่าทำอย่างไรจะดีกว่านี้แต่ก็ไม่มีคำตอบเลยคิดว่าตายเป็นตาย จิตมันก็ทุกข์มากเลย เหมือนในโลกนี้มันรวมความทุกข์ มันทุกข์มากผมก็นอนเอามือเหยียดลงหงายหน้ามองเพดานแล้วมันก็หลับไป

ผมก็ฝันประหลาดได้ยินเสียงผู้หญิงพูดไม่เห็นตัว เขาบอกว่าร่างกายป่วยจิตใจไม่ป่วยตาม ร่างกายกระสับกระส่าย ร่างกายสงบนั้นแหละคือธรรม ได้ยินอย่างนี้เราก็มีกำลังใจเราไม่กลัวตาย จะเป็นอะไรก็เป็น วันหนึ่งก็ฝันว่าตัวเองไปเห็นยอดเจดีย์มีพระปรางค์งดงามมากมีผู้คนเดินไปเดินมา เขาบอกว่านั่นน่ะเป็นรอยพระบาทของพระพุทธเจ้า เดินไปแล้วเห็นผู้ชายคนหนึ่งวิ่งออกมา มีผู้หญิงไล่ปล้ำ คนนั้นก็ร้องออกมาว่าผมไม่ใช่สมภพ ผมก็แอบว่ามันสมภพไหน

ในการปฏิบัติธรรม สติสัมปชัญญะมันต้องเจาะลงไปในประสาทจิตใต้สำนึก ทีนี้เรากลัวว่าถ้ามันมาปล้ำเราจะทำอย่างไรดีผมก็แอบหลบมันมีอีกหนทางอ้อมไปข้างหลัง มีทางขึ้นแล้วก็ค่อยปีนป่ายขึ้นไปในพระปรางค์ แล้วมันมีประตูเข้าไปดูรอยพระพุทธเจ้าเป็นแก้วมรกตใสสวยงามมากอยู่ในตู้กระจกครอบ เราก็ไปกราบดีใจที่ได้เห็นแล้วก็เดินออกมาเพราะคนเยอะในจำนวนนั้นมันมีผู้หญิงมากกว่าผู้ชายเราก็ระวัง กลัวจะไปชนผู้หญิงแล้วก็มองไปเห็นป้ายเขาก็เขียนว่า

เข้าตาจน..........จนแต่ตา.....ตาอย่าจ้อง
อย่าเที่ยวมอง.....ถามใคร.....ให้ใจเผลอ
ค้นให้พบ...........คำตอบ.......จากตัวเธอ
แล้วจะเจอ..........ความจริง....ทุกสิ่งอัน


ผมจำได้สนิทแล้วผมก็ตื่น ตื่นก็นอนอยู่ท่านี้ความปวดหัวก็ยังปวดอยู่ก็เลยคิดว่าเรากำลังหาผู้ที่จะมาแก้ปัญหา จะไปถามอาจารย์ไหน ที่จะมาแก้อาการเจ็บปวดแล้ว มันมีความคิดขึ้นมาใหม่ว่าไม่ต้องไปถามใคร ทีนี้ก็มาคิดถึงนิมิตนั้นเป็นทางเดินของพระพุทธเจ้า ถ้าท่านไม่เคยผ่านแล้วจะมีรอยได้อย่างไร เมื่อผมตื่นขึ้นผมนึกถึงคำสอนว่านี่คือรอยเท้าพระพุทธเจ้าที่เราเห็น ก็เลยตัดสินใจว่าเลิกทำแบบนี้

มาดูลมหายใจเดินตามรอยเก่ารอยเดิมของพระพุทธเจ้าไป พอผมดูลมหายใจแล้วรู้สึกว่าวันนั้นดูความเจ็บปวดมันเบาลงแล้วมันก็เริ่มเย็น ความง่วงนอนมันก็ไม่มีนิวรณ์ทั้งห้ามันชวนกันหนีหมด พอหลับไปแล้วตื่นขึ้นมามันแจ่มใส ทีนี้ก็มานึกถึงว่าเมื่อก่อน นี้มันทุกข์ บัดนี้มันเย็นแล้วจะเกิดอะไร ก็นึกถึงคำที่พระพุทธเจ้าพูดว่า เธอจงนึกถึงความสุขเป็นเสมือนความทุกข์เห็นความทุกข์เปรียบเสมือนลูกศร

หลังจากนั้นก็บอกว่าจงเห็นความไม่สุขไม่ทุกข์ ที่มันละเอียดยิ่งนั้น ว่ามันไม่เที่ยง คือเห็นว่าอันเย็นๆ นี้มันจะทุกข์ บอกตัวเองว่ามันจะทุกข์ มันเย็นอยู่นั่นเป็นครึ่งเดือนแดดๆ มันก็เย็น เย็นจนสั่นหูก็ได้ยินเสียงนุ่มนวลมาก กายมันก็นุ่มนวลจิตใจมันก็อ่อนโยน คิดถึงบาปถึงบุญถึงคุณค่าพระศาสนา มันเกิดกำลังใจขึ้นมา ว่าเราปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า เพียงแค่นิดเดียวมันก็ได้เห็นสภาพอย่างนี้ ถ้าจะมากกว่านี้มันจะไม่เห็นอีกหรือ

หลังจากนั้นมันจะเกิดความพอใจ ที่จะทำความเพียรเมื่อความสุขความเพียรนั้นผ่านไป จิตมันเฉยมันไม่คิดอะไรทีนี้เป็นคนโง่ตรงนี้คือพอความไม่เป็นสุขไม่เป็นทุกข์ มันละเอียดมากให้เห็นมันไม่เที่ยง ตรงนี้ดูยาก ทุกข์ยังเห็นว่ามันดูง่าย สุขก็ดูง่ายเพราะมันเห็นทีนี้ไอ้ตัวที่มันเฉยๆ ดูไม่เป็นไม่รู้จะทำอย่างไร

เพราะฉะนั้นอานาปานสติ มันเป็นที่รวมลงแห่งสติปัฏฐาน ดูลมหายใจนั้นเป็นการดูกาย แต่ถ้าดูลมหายใจให้ดีๆ จะเห็นสุขบ้างทุกข์บ้างเห็นเฉยๆ บ้าง บางคนมานั่งสมาธิก็ร้อนขึ้นมาทันที ถ้าไม่นั่งสมาธิก็ยังเฉยๆ อยู่ พอลมหายใจเข้าไปจะเห็นทุกข์บางคน แต่บางคนไม่รู้ ทีนี้บางคนจะละเอียดกว่านั้นอย่างกรณีมีความทุกข์ขึ้นมา จะทุกข์ผิดปกติที่เราทุกข์มานั้น มันยังไม่เท่ามาดูลมหายใจที่มันจับความทุกข์ได้

ทีนี้ถ้ามีสติมีสัมปชัญญะ มีวิชาการเขาว่านี่คือความทุกข์ที่เราจะต้องกำหนดรู้ย้อนคืนมาดูตัวเจ้าของทุกข์ คือจิตคืนมาดูผู้รู้ ดูทุกข์พอเราตามไป ตามไป ก็จะถึงที่สุดทุกข์ก็คือทุกข์ที่สุด นิโรธปรากฏขึ้นอยู่ตรงนั้น คือไม่มีอะไรจะกั้นทุกข์เอาไว้ คือจะแปลว่า ดับทุกข์ ความจริงนิโรธไม่ได้แปลว่าดับทุกข์ ไม่ถูกแต่ไม่ถึงกับผิด ไม่ผิดแต่ก็ไม่ถึงกับถูก มันยังไม่สามารถหาคำแปลมาได้ชัดเจน แต่ก่อนมันก็ทุกข์ เพราะไม่มีอะไรมากั้นทุกข์เอาไว้ นั่งก็ทุกข์ นอนก็ทุกข์ พอเราย้อนคืนกลับมาดูสภาพของความทุกข์ ดูเจ้าของทุกข์ คือใครก็จะไปเห็นตัวอุปาทาน

ภาษาบาลีท่านบอกว่า สภาวะวิสะยัง คือดูแบบสภาพที่มันเป็น ตัวเราเป็นทุกข์อันนี้ทุกข์ไม่มีแต่เราดูสภาพทุกข์นั้น ดูแบบสภาวะวิสัย มุ่งให้เราดูอะไรเป็นสภาวะ มุ่งให้เราเห็นกายในกาย แต่พวกเรามันไม่เห็นกายในกาย มันเห็นกายเป็นคนเป็นหญิงเป็นชาย ท่านว่าสิ่งที่ดูกลับไม่เห็น แต่ใคร่เห็นสิ่งที่ไม่ได้ดูทุกข์เหล่านั้นเกิดขึ้นคือมันเป็นสภาวะทุกข์ เหล่านั้นตั้งอยู่ทุกข์นั้นดับไป นอกจากทุกข์หามีอะไรไม่ แต่พวกเราว่าในทุกข์นั้นมีเราเป็นผู้ทุกข์ เพราะฉะนั้นเวลาดูลมหายใจละเอียดเข้าทุกข์นะ

แต่ถ้าสมาธิเคลื่อนไป สติเคลื่อนไปทุกข์เหล่านั้นก็หายไป หลังจากนั้นมรรคก็ชัดเจนคือความแน่นอนว่าเราทำมาถูกแล้ว เพราะฉะนั้นท่านจึงเรียงลำดับทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ทีนี้แล้วถ้าเกิดความสุขนั่งไปแล้วมันเบามันเย็น ตรงนี้ระวังต่อไปความสุขนี้เมื่อมันเปลี่ยนไป มันจะเป็นทุกข์มันเป็นเครื่องมือให้เราไปเห็นทุกข์คนที่ทำความเพียร โดยไม่พบอะไรเลยทำไปก็ทุกข์ยากลำบาก แต่พอจิตได้พบกับความสงบสุขละเอียดเย็น ต่อมาแล้วมันจะหายไปมันเปลี่ยนไป ตรงนี้จะเกิดความทุกข์มากๆ เสียดายมัน

เพราะฉะนั้นในสมัยพุทธกาล พระโคธิกะทำฌานเกิดขึ้นถึงเจ็ดครั้ง เกิดขึ้นครั้งหนึ่งแล้วมีความสุขเหลือเกิน แล้วมันก็หายไปเสียดายมากเป็นทุกข์ยิ่งกว่าไม่เคยได้พบ แล้วก็ตั้งใจทำความเพียรอีก เกิดขึ้นมาอีกแล้วก็ดีใจกับความสุข แล้วมันก็เสื่อมไปอีก ท่านก็เสียใจทุกข์อีก ทำไปถึงหกครั้ง ครั้งที่เจ็ดมันก็เกิดขึ้นเกิดขึ้นแล้วฆ่าตัวตายกลัวมันหายกลัวมันเสื่อม ตายขณะที่จิตยังอยู่ในฌาน แต่ว่าพอขณะจะตายนั้นมันไม่ได้ตายทันทีจิตมันยังไม่ตาย เวทนาก็บีบคั้นเป็นทุกข์ ไม่เที่ยง ทุกข์นั้นไม่เที่ยงไม่น่ายินดี หลังจากนั้นก็เห็นเวทนาที่สิ้นสุดลงพร้อมกับชีวิต จิตไม่ยึดมั่นในเวทนา

ท่านบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ขณะที่สิ้นใจตาย พร้อมกับการบรรลุธรรม โดยอาศัยอำนาจฌานที่มีพลังแห่งสมาธิเพ่งดูความเจ็บปวดแห่งศาสตรา พอตายแล้วพระทั้งหลายก็ไปแจ้งพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้ามาดูเห็นคอพับเลือดไหลแต่เห็นควันเป็นกลุ่มลอยอยู่ ท่านจึงว่าภิกษุทั้งหลายเธอเห็นควันไฟที่ลอยเป็นกลุ่มไหม ภิกษุทั้งหลายบอกว่าเห็นน่าอัศจรรย์นั่นคืออะไรท่านบอกว่านั้นคือมาร มารผู้มีบาปกำลังตามหาวิญญาณของโคธิกะ

แต่มารไม่สามารถค้นพบวิญญาณ เพราะวิญญาณนั้นได้อัสดงลงแล้ว วิญญาณอัสดงไม่ตั้งอยู่ในโลกไหนไม่ตั้งอยู่ในโลกทั้งสองเป็นวิญญาณที่บริสุทธิ์มารที่ไหนจะตามพบ เมื่อเราได้ความสุขในสมาธินั้นมันเป็นความสุขเพื่อจะให้เห็นความทุกข์ของอริยสัจ


เราย้อนมาดูการเจริญสมาธิภาวนาแบบอานาปานสติ บางท่านอาจจะไม่ถูกกันในการดูลมหายใจ คือเดี๋ยวนี้เรามีเป้าหมายใหญ่อยู่ตรงที่สติปัฏฐาน สติปัฏฐานนี้เป็นเครื่องมือเจริญวิปัสสนาไม่มีพิธีรีตอง ตรงไหนมีกายเราก็เจริญได้ทั้งนั้น มีจิตตรงไหนก็เจริญ จิตตานุปัสสนาได้ มีธัมมาอารมณ์มีธรรมอะไรเกิดขึ้นสภาวะจิตตรงไหนก็เจริญได้ เพราะฉะนั้นสติปัฏฐานที่พระพุทธเจ้าท่านว่าเป็นทางอันเอก ทางอันเดียวที่ดับศูนย์แห่งความโศก เป็นทางเดียวที่จะไปสู่ความสุขของสัตว์ พวกเรามีหมดแล้วเครื่องมือการดูลมหายใจก็เป็นการดูสติปัฏฐานถ้าลมหายใจสงบลงมันจะเห็นกาย ฌาน แปลว่า เพ่ง เมื่อเข้าไปในฌานก็หมายความว่าจิตเข้าไปในตัวอาการเพ่งเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เมื่อออกมาจากสภาพนั้นก็จะเห็นละเอียดเข้าไปอีก

ทีนี้บางคนไม่ถูกกับการดูลม มีอีกนะวิธีที่จะใช้คือถ้าดูลมแล้วมันไม่สงบมันดูยากเอาใหม่มีอีกคือดูอิริยาบถ นั่งอยู่เราก็รู้ว่า เรานั่งให้จิตมันทราบ ยืนขึ้นก็ทราบชัดว่าเรายืน คือดูตัวเองเหมือนดูคนอื่น เอาสติสัมปชัญญะผูกอยู่กับอิริยาบถของกายเคลื่อนไหว บางคนอาจจะดีกว่าการดูลม ถ้าอย่างนี้ยังไม่ถูกอีกก็ยังมีอีก คือ สร้างความรู้สึกในการเคลื่อนไหว สร้างความรู้สึกตัว ใครเป็นคนสั่งให้มันเคลื่อนไหวเราก็ดูจะเห็นว่าที่มันไปนั้นมีผู้สั่ง บางคนจะถูกกับแบบนี้เราก็ลองศึกษาดูการปฏิบัติมีหลายแนวทาง จะแยกธาตุ จะดูอสุภะ ดูศพ ดูความเคลื่อนไหว ขอให้สู่เป้าหมายคือความดับทุกข์ เราก็สามารถปฏิบัติได้

พระพุทธเจ้าท่านทรงสั่งสอนด้วยความเมตตา เป็นห่วงพวกเรา ท่านตรัสว่าจิตของเราไม่มีนอกไม่มีใน คือไม่มีอะไรปิดบังอำพรางธรรมที่จะนำออกจากทุกข์ เราได้แสดงแก่เธอทั้งหลายแล้ว เธอจงมีธรรมเป็นที่พึ่งมีธรรมเป็นที่ระลึก ตอกย้ำจนถึงวันตายให้เรามีตนของตนนั้นเป็นที่พึ่งแล้วก็ให้มีธรรมคือทำตนให้มีธรรมวันนี้เราสั่งสมเยื่อใยยางที่มีคุณค่าแห่งใจ เจริญทั้งศีล สมาธิ และปัญญา ยังไม่จบเห็นว่าเวลามันสมควร พรุ่งนี้เราจะต่อว่าเราจะถือเอาสาระแก่นสารแห่งชีวิตนี้อย่างไร อาตมาเห็นว่าเวลามันนานพอสมควรแล้ว

บัดนี้สมควรแก่เวลา เพราะฉะนั้นชีวิตนี้จะมีคุณค่าจะต้องภาวนา การเจริญสมาธิภาวนาถือเป็นพรหมจรรย์ชั้นสูงสุด จะพัฒนาไปจนถึงพระนิพพาน ชีวิตคืออะไร ชีวิตเป็นอย่างไร ยังไม่สมบูรณ์ ทำความเข้าใจกับชีวิตให้ชัดเจนขึ้น เราจะไม่ได้ปฏิเสธเรื่องโลกนี้โลกหน้า แล้วเราจะได้ตั้งใจสั่งสมคุณงามความดี เพื่อกระแสแห่งวิญญาณของเราให้มันดีขึ้นยิ่งกว่านี้ สำหรับวันนี้สมควรแก่เวลา ขอยุติลงคงไว้แต่เพียงเท่านี้

ขอให้พรหมจรรย์ของท่านทั้งหลาย พรหมจรรย์เบื้องต่ำด้วยการให้ทาน พรหมจรรย์กลางๆ ด้วยการรักษาศีล พรหมจรรย์เบื้องสูงคือการเจริญภาวนาสมถะวิปัสสนา พรหมจรรย์ของท่านทั้งหลายนั้นจงเป็นไปเพื่อการทำที่สุดแห่งกองทุกข์ โดยทั่วกันทุกรูป ทุกองค์ ทุกท่าน ทุกคน เทอญ

ผู้ชี้ชวน...วิงวอน !

“ภิกษุทั้งหลาย...กิจอันใด ที่ศาสดาผู้เอ็นดูแสวงหาประโยชน์เกื้อกูล อาศัยความเอ็นดูแล้ว จะพึงทำแก่สาวกทั้งหลาย กิจอันนั้น เราได้ทำแล้วแก่พวกเธอทั้งหลาย.”

ภิกษุทั้งหลาย...นั่น โคนไม้ทั้งหลาย, นั่น เรือนว่างทั้งหลาย, ภิกษุทั้งหลาย...พวกเธอทั้งหลายจงเพียรเผากิเลส อย่าได้ประมาท พวกเธอทั้งหลาย อย่าได้เป็นผู้ที่ต้องร้อนใจในภายหลังเลย.

นี่แล...เป็นวาจาเครื่องพร่ำสอนพวกเธอทั้งหลายของเรา.

(พระไตรปิฎกบาลีสยามรัฐ ๑๘/๖๗๔/๔๔๑)

:b47: :b47: หมายเหตุ...โดยสาวิกาน้อย : * เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๗ ท่านได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นเป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรอง ชั้นหิรัญบัฏ (รองสมเด็จพระราชาคณะ) ที่ พระพรหมคุณาภรณ์ และเมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๙ ท่านได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะ ชั้นสุพรรณบัฏที่ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์


:b8: :b8: :b8: คัดลอกเนื้อหามาจาก...หนังสือ ชีวิตที่มีคุณค่า
พระธรรมเทศนาโดย พระอาจารย์สมภพ โชติปัญโญ วัดไตรสิกขาทลามลตาราม
บ้านฝาง ตำบลบ้านแพด อำเภอคำตากล้า จังหวัดสกลนคร หน้า หน้า ๖-๕๒

ISBN : 978-974-7808-54-4 จัดพิมพ์โดย : กองทุนกัลยาณธรรม อุทยานธรรมดงยาง
ตำบลคลีกลิ้ง อำเภอศิลาลาด จังหวัดศรีสะเกษ โทร. ๐๘๙-๙๔๙-๑๘๘๓, ๐๘๑-๔๗๔-๑๑๕๒


:b44: ประวัติและปฏิปทา “พระอาจารย์สมภพ โชติปัญโญ”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=19971

:b44: รวมคำสอน “พระอาจารย์สมภพ โชติปัญโญ”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=59736

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ก.พ. 2021, 14:34 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b39: :b44: ขออนุโมทนา สาธุๆๆ ค่ะ
:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 พ.ย. 2023, 20:43 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2863


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ม.ค. 2024, 06:53 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2758


 ข้อมูลส่วนตัว


Kiss
:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 14 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร