วันเวลาปัจจุบัน 24 เม.ย. 2024, 16:06  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=2



กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ก.ย. 2020, 18:41 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 ธ.ค. 2008, 09:34
โพสต์: 1322


 ข้อมูลส่วนตัว


วิธีทดสอบสติ
พระวิสุทธิญาณเถร
(หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย)

“บางคนแล้วบุญกุศลไม่อยากทำ แต่ถึงคราวเข้าตาอับจน หรือมีเหตุอะไรเกิดขึ้น ก็มักจะร้องถึงบุญอยู่เสมอว่า ขอให้บุญช่วยด้วยๆ ยกรูปเปรียบเหมือนกันกับบุคคล คนที่เราไม่รู้จักเขา เขาก็ไม่รู้จักเรา ต่างคนต่างก็ไม่เคยมีบุญคุณอะไรต่อกัน ไม่ได้สังสรรค์วิสาสะอะไรกันเลย เมื่อถึงคราวจำเป็น เราจะขอร้องเขา ดูเหมือนว่าจะยาก...”
หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย
พระธรรมเทศนา การนำพาจิตไปสู่อารมณ์ที่ดี

รูปภาพ

วันนี้จะได้เล่าถึง “วิธี” หรือ “การทดสอบสติ” ที่พวกเราสร้างกันมา ว่ากำลังของสติที่พวกเราสร้างนี้ พอที่จะใช้ประโยชน์ได้แล้วหรือยัง พร้อมทั้งลักษณะของ “อารมณ์” ว่ามีอย่างไรบ้าง จะนำมาเล่าสู่กันฟังเพื่อเป็นเครื่องประกอบที่พวกเราจะได้ดำเนินต่อไป

“สติ” ที่พวกเราฝึกฝนมานี้ เครื่องทดลอง วิธีทดลองมีอยู่หลายอย่าง เราจะเอาทดลองทางภายนอกก็ได้ ทดลองทางภายในก็ได้ ที่นี้จะให้อุบายวิธีทดลองสติเป็นส่วนภายในสำหรับภายนอกวิธีการสร้างสตินั้น ได้อธิบายให้ฟังแล้ว

วิธีทดสอบอารมณ์เป็นส่วนภายใน คำที่ว่า อารมณ์ ก็คือความคิด ความคิดนั้นก็คืออารมณ์ คำที่ว่าอารมณ์นี้เป็นภาษาบาลี เป็นภาษาธรรมะ ความคิด มันเป็นภาษาไทยเราแต่แท้ที่จริงมันก็เป็นอันเดียวกัน ความคิดที่ดีก็เรียกว่าอารมณ์ที่ดี ความคิดที่ไม่ดีก็เรียกว่าอารมณ์ที่ไม่ดี ความคิดที่ดี เมื่อคิดแล้วก็ให้ความสุข ในเมื่อเราพิจารณาถึงความคิดของตัวเราเอง ความคิดที่ไม่ดีกำลังคิดอยู่มันก็ไม่มีความสุข เมื่อคิดไปแล้วเรามานึกถึงความคิดของตัวเองภายหลังก็ไม่มีความสุข ความคิดเป็นตัวนำพา จะเป็นไปในทางกิเลสตัณหา มันก็อยู่ที่ความคิด จะเป็นไปในทางมรรคผล มันก็อยู่ที่ความคิด

เพราะฉะนั้น พวกเราทุกท่านได้เข้าใจกันอยู่แล้วว่า ความคิดเป็นตัวนำพาจิตใจของพวกเราให้ประหวัด และเป็นไปในอาการกิเลสก็ดี ตัณหาก็ดี ภพชาติก็ดี มันก็อยู่ที่ความต้องการ อยากให้พวกเราทุกท่านได้เข้าใจว่า คิดอย่างนี้เป็นกิเลส คิดอย่างนี้เป็นตัณหา คิดอย่างนี้เป็นภพเป็นชาติ คิดอย่างนี้เป็นไปเพื่อการหลุดพ้นจากภพชาติ

สมมุตินี้ จะยกรูปเปรียบให้เห็นง่ายๆ อย่างกายของพวกเราได้สมมุติว่า นี่เป็นแขน นี่เป็นขา นี่เป็นตา นี่เป็นหู นี่เป็นจมูก รวมความแล้วก็คือ กายนั่นเอง ฉันใดก็ดี อันนี้กิเลส อันนี้ตัณหา อาการอย่างนี้เป็นภพ รวมความแล้วก็คือ ความคิดนั่นเอง

ความคิดที่มีความทะยานอยากในสิ่งต่างๆ ท่านก็เรียกว่า ตัณหา สมมุติเราอยากในส่วนกาม ก็เรียกว่า กิเลสกาม เราอยากทางวัตถุก็เรียกว่ากิเลสที่เป็นไปในทางวัตถุ หรือกามที่เป็นไปในทางวัตถุ ส่วนนี้เป็นส่วนกามตัณหา แยกออกเป็น ๒ ข้อ

ส่วน “ภวตัณหา” เราอยากดี อยากเด่น อยากมียศถาบรรดาศักดิ์ อะไรเหล่านี้ ความอยากชนิดนี้ท่านเรียกว่าเป็น ภวตัณหา


ความไม่ต้องการบางอย่างไม่ต้องการ “แก่” ไม่ต้องการ “เจ็บ” ไม่ต้องการ “ตาย” ไม่ต้องการ “จน” อะไรต่างๆ เหล่านี้เป็นต้น เรียกว่า “วิภวตัณหา” คือ อยากในสิ่งที่ไม่มี หรือ อยากในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ หรือเราต้องการสิ่งนี้ แต่เราไม่สามารถจะเอามาได้ เกิดท้อใจ น้อยใจ กลุ้มใจ อะไรเหล่านี้ มันเป็นหลัก วิภวตัณหา

ตัณหาทั้งหลายก็ดี กิเลสก็ดี รวมความแล้วก็ได้แก่ ความคิดของเรา ที่ประหวัดไปตามอาการอย่างนี้ ก็สมมุติว่าอย่างนี้ๆ

ที่นี้พวกเราผู้ที่ต้องการที่จะบำเพ็ญประพฤติปฏิบัติตปธรรมในทางพระศาสนานี้ ก็ต้องการจะปรับปรุงจิตใจของตนเองให้เป็นไปในทางความดี เพราะเหตุนั้น พวกเราทุกท่านจึงได้หาช่องทางสร้างกำลังของ “ตปธรรม” คือ “ตัวคุ้มครอง” นี้เข้ามา “ป้องกันจิต” และหาช่องทางปรับปรุงจิตของเราโดยอุบายวิธี นำอารมณ์ที่ดี ที่เป็นไปเพื่อมรรคผล เข้ามาหล่อเลี้ยงจิตของพวกเราเพื่อต้องการจะให้จิตของเรามีพลัง หรือให้จิตของพวกเราคุ้นเคยต่อความคิดหรืออารมณ์ที่ดี

เพราะเหตุนั้น พวกเราที่มุ่งหวังจะดำเนินนี้ จึงอยากจะขอร้องให้พวกเราทุกท่านสร้างกำลังตปธรรม คือสติดังกล่าวมานั้นโดยธรรมชาติ กางกั้นจิตของเราไม่ให้ก้าวไปสู่อารมณ์หรือความคิดนั้นตามธรรมชาติ โดยไม่มีสิ่งใดเข้าไปกางกั้น โดยไม่มีสิ่งใดไปพิสูจน์ผลเสียผลได้ ตลอดจนความเศร้าหมองหรือความสะอาดหมดจดนี้

ที่นี้พวกเราต้องการสร้างกำลังเข้าไปกั้นและพิสูจน์ความจริงในเมื่อจิตก้าวหรือดำเนินเข้าไปสู่อารมณ์ คือ ความคิดชนิดนั้น สิ่งที่พวกเราทุกท่านจะต้องสร้างเพื่อเข้าไปต่อสู้ในเบื้องต้นของเราก็คือสติ การทดสอบที่พวกเราสร้างเพื่อเข้าไปต่อสู้ในเบื้องต้นของเราก็คือ การทดสอบสติที่พวกเราสร้างขึ้นมา ดังอธิบายให้ฟังแล้วใน ๒ กัณฑ์ต้น

การทดสอบสติมีอยู่ ๓ จังหวะ
จังหวะที่ ๑ ได้แก่ สติการที่ ๑
จังหวะที่ ๒ ได้แก่ สติการที่ ๒
จังหวะที่ ๓ ได้แก่ สติการที่ ๓
วิธีทดสอบมีอยู่อย่างนี้

การทดสอบสตินั้นเราผู้บำเพ็ญต้องการจะเอากำลังส่วนนี้เข้าไปยับยั้งความคิดเราก็ต้องทดสอบกับความคิดของเราเมื่อจิตของเราประหวัดไปสู่อารมณ์สัญญา หรือกลับไปสู่บ้านของเรา คิดอย่างที่เราเคยคิดมา หรือสงสัยในสิ่งที่เราทำไว้ อะไรเหล่านี้ ในเมื่อจิตของพวกเราประหวัดไป เราระลึกรู้ เมื่อเราระลึกรู้เราไม่ยอมให้มันไป แล้วกลับมากำหนดในจุดที่พวกเราทำเป็นนิมิตเครื่องหมาย มีลมหายใจเข้า-ออกก็ดี หรือคำบริกรรมก็ดี หรือจะเอาสัมผัสในระหว่างการก้าวขาในระหว่างเมื่อเราเดินจงกรมอยู่ก็ดี เราก็กลับเข้ามาสู่จุดทันที โดยไม่ส่งเสริมเลย เมื่อจิตของเราประหวัดไปอีก เราก็ระลึกรู้หาช่องทางมาดำเนินอยู่อย่างนี้เสมอๆ เมื่อบุคคลผู้ทำได้อย่างนี้โดยไม่ส่งเสริมมันเลย เรียกว่าเป็นผู้มีสติการที่ ๑

สำหรับสติการที่ ๒ เมื่อจิตของเราลุกเข้าไปต่ออารมณ์ คือความคิดที่มันคิดไปนั้นเอง เราระลึกรู้ปั๊บ เรามีอุบายวิธีเข้ามาแก้ว่า อาการที่เป็นไปย่างนั้นมันจะให้เราได้รับความทุกข์โทษอย่างนี้ๆ เป็นเหตุที่จะให้เรามีชาติ มีความเกิดปรากฏอยู่ ณ เบื้องหน้า เมื่อชาติความเกิดของพวกเราปรากฏแล้ว อันความทุกข์ทั้งหลายจำเป็นทีเดียว เราจะต้องแบกรับสิ่งต่างๆ ทั้งปวง อย่างที่เราแบกรับอยู่ ณ ปัจจุบันนี้ เราต้องเป็นผู้รับเพราะเรายอมให้จิตของเราสืบต่อภพ คือการเกิดนี้ไว้ เมื่อเราหาอุบายมาสอนมันและให้มันเห็นโทษของการเกิดพร้อมทั้งความเป็นอยู่ เต็มไปด้วยความทุกข์เหล่านี้ เมื่อจิตของเรามันกลัวต่อชาติหรือเหตุการณ์ต่างๆ อย่างที่พวกเราทุกท่านได้รับอยู่ ณ ปัจจุบันนี้ก็วาง อาการที่ระลึกรู้ในเมื่อจิตจรเข้าไปสู่อารมณ์ หรือมันประหวัดไป พร้อมทั้งใช้อุบายอย่างนี้โดยไม่มีการส่งเสริม และจิตยอมจำนนต่ออุบายอย่างนี้ก็เลย หยุด วาง อาการที่ทำได้อย่างนี้เรียกว่าผู้ถึงซึ่งสติการที่ ๒

บุคคลผู้ถึงซึ่งสติการที่ ๓ นั้นคือ เมื่อจิตลุกต่ออารมณ์ปุ๊บ ล็อกได้ทันที ระลึกได้ทันที

เมื่อมันลุกเข้าไปสู่อารมณ์ก็ล็อกและลุกได้ทันที รับกันไว้ได้ทันที ไม่มีทางใดที่จิตประหวัดเข้าสู่อารมณ์ได้ ความรู้ที่เราหาอุบายวิธีเข้ามาแก้ไขนั้นจิตของเราไม่ได้ประหวัดออกไปข้างนอก แต่เราใช้ความคิดวิจารณ์ส่วนภายในแล้วจิตก็ยอมจำนนอุบายที่เราคิดโดยไม่ต้องประหวัดไปหาอุบายในทางอื่นเข้ามาแก้ไขได้ มันสามารถยอมลงไปได้ในเมื่อเราทำได้อย่างนี้เรียกว่า ผู้ถึงสติการที่ ๓

ส่วน “มหาสติ” นั้น เมื่อจิตประหวัดจะก้าวเข้าสู่อารมณ์คือ ความเกิดพอระลึกปั๊บจิตยอมทันที ไม่มีความสามารถใดที่จิตจะเหนืออำนาจของพลังสติที่เราสร้างขึ้นมาได้ สติที่สร้างแก่กล้าสามารถล็อกจิตไม่ให้อยู่ด้วยพลังของมันได้ อย่างนี้เรียกว่าผู้ถึงซึ่งมหาสติ อาการที่ล็อก ไม่ได้ล็อกโดยธรรมชาติ ย่อมมีความรู้อย่างที่เล่าให้ฟังว่ามองเห็นไฟ โทษและคุณของไฟมีแค่ไหน รู้ได้ชัด ย่อมไม่มีความสามารถจะเอื้อมมือเข้าไปจับไฟได้ฉันใดอาการความรู้ที่เฉียบแหลมว่องไวประกอบขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องป้องกันช่วยเหลือกำลังของสติอย่างนี้ จึงเรียกว่าผู้ถึง “มหาสติ” แท้

เพราะเหตุนั้น พวกเราผู้ที่เอากำลังของสติที่สร้างสมอบรมขึ้นมาทดสอบในเรื่องการประหวัด คือคิดไปของอารมณ์ อย่างนี้ใกล้ต่อความจริง เพราะว่ากำลังของสตินั้นจุดมุ่งประสงค์ของการสร้างสตินั้น ก็เพื่อต้องการจะเอาเข้ามายับยั้งจิตของพวกเราและเข้ามาพิสูจน์การจนต่อเหตุผลของอารมณ์ว่า จิตของเราเมื่อประหวัดไปอย่างนี้ มันให้ความเศร้าหมองอย่างใดบ้าง เมื่อประหวัดไปอย่างนี้มันจะก้าวเข้าไปสู่ความสะอาด ความหมดจดอย่างใดบ้าง เมื่อพิสูจน์แล้วจะได้สั่งจิตในเมื่อประหวัดไปแล้วมันเป็นโทษทุกข์ คือเป็นไปเพื่อภพชาติ แล้วจะได้นำพาจิตก้าวดำเนินเข้าไปสู่ช่องทางที่เป็นไปเพื่อมรรคผล พ้นไปเสียจากภพชาติ จุดประสงค์ของพวกเราผู้สร้างมา ก็ต้องการจะเอากำลังของส่วนนี้มาประกอบอย่างนี้

เพราะเหตุนั้น พวกเราทุกท่านจงพากันหาช่องทางทดสอบหรือทดลองสติของพวกเราด้วยอาการอย่างนี้ เมื่อสมควรพอที่จะเอามาใช้งานได้แล้ว พวกเราก็ขอให้เอากำลังส่วนนี้เข้ามารั้งจิตของพวกเรา อย่าให้ก้าวก่ายเข้าไปสู่ภพโดยปราศจากสิ่งที่เข้าไปบังคับหรือสิ่งที่พิสูจน์ความจริงของมันเลย ตามธรรมดาธรรมชาติตัวคุ้มครองอาจจะมีมากน้อยต่างกัน บางคนก็อาจมีมากหน่อย บางคนก็อาจมีน้อย บางครั้งบางคราวก็อาจมีมาก บางครั้งบางคราวก็อาจมีน้อย พวกเราก็คงจะสังเกตได้จากภายในของพวกเรา บางครั้งบางคราวเราพูดอาจจะเพ้อเจ้อ หรือพูดไปโดยปราศจากสติ เมื่อพูดไปอย่างนั้นอาจจะผิดพลาด อาจจะเป็นที่ไม่พอใจแก่ผู้ฟัง เมื่อเราเลิกจากสถานที่นั้นไปแล้ว เรานึกถึงคำพูดของเราที่พูดไปโดยปราศจากสติ เราก็อาจเสียใจภายหลัง

อาการที่เล่าให้ฟังก็เพื่อต้องการจะให้เข้าใจว่า ในเมื่อขาดสติ บางครั้งบางคราวเราก็มองเห็นโทษได้ชัดอย่างนี้ บางครั้งบางคราวก็มีสติสมบูรณ์ การพูดก็ไม่ได้ปล่อยไปโดยธรรมชาติอาจสามารถจะยับยั้งและพิจารณาหาเหตุผลเสียก่อนจึงจะพูด ตลอดบทบาททุกส่วนที่พวกเราแสดงออกมาทั้งหมดอาจจะมีสติคุ้มครอง นี่แสดงให้เห็นว่าธรรมชาติมันมีอยู่แล้ว แต่มันไม่สม่ำเสมอ มันอาจแรงขึ้นมาเป็นบางครั้งคราว อาจอ่อนลงไปเป็นครั้งคราว เพราะฉะนั้น พวกเราผู้บำเพ็ญต้องการอยากจะมีกำลังตัวคุ้มครองจิตนี้เหนือกำลังตัวรุดเข้าไปสู่อารมณ์นั้นอยู่เสมอไม่ขาดสาย

ที่นี้กำลังธรรมชาติที่เป็นตัวธรรมะนี้จะแยกสมมุติออกมาเป็นส่วนๆ ความคิดที่ประหวัดไปสู่อารมณ์ ธรรมชาติชนิดนี้ได้แก่ “กระแสการบัญชาของจิต” ธรรมชาติที่เฉลียวถึงผลเสีย ผลได้ โทษ คุณ ในเมื่อประหวัดไปแล้ว ประกอบหรือพูดไปตามอาการประหวัดนี้ ว่าจะให้โทษคุณอย่างนี้ๆ ธรรมชาติตัวเฉลียวนี้แหละเรียกว่า สติ ธรรมชาติตัวพิจารณาแล้วญัตติสมควรหรือไม่สมควร ธรรมชาติชนิดนี้เรียกว่า ปัญญา นี่สมมุติออกเป็นส่วนๆ


ธรรมชาติตัวที่พวกเราจะสร้างกำลังหรือพลังของมันให้สูงเพื่อเป็นการคุ้มกันนั้น ก็คือธรรมชาติตัวสติ คือ ตัวเฉลียวนั้นเป็นปฐมแล้วจึงจะสร้างกำลังของธรรมชาติตัวญัตติตัดสินซึ่งเป็นตัวปัญญานั้นต่อภายหลัง แต่แล้วในเมื่อเราสร้างกำลังตัวรั้งนี้เอาไว้ก่อนแล้ว ปัญญาตัวนั้นจะค่อยมีปรากฏขึ้นๆ เคียงคู่กันมาเป็นลำดับ ต่อมาภายหลัง เราเห็นว่ากำลังตัวยับยั้งพอแล้ว เราจะใช้ปัญญาตัวนี้เข้าพิสูจน์เหตุผลของอารมณ์ ในเมื่อจิตมันประหวัดไปนั้นอย่างเต็มที่โดยไม่ให้มันเกิดขึ้นมาโดยธรรมชาติเคียงคู่กันโดยลำพังของมัน

เพราะฉะนั้น พวกเราจะพากันหาช่องทางสร้างธรรมะตัวที่แท้จริงขึ้นมาเพื่อเป็นการคุ้มกัน และพวกเราไม่ต้องนึกถึงหรอกว่า โอ ! อันนี้กิเลส โอ ! อันนี้ตัณหา อันนี้มานะ อันนี้ทิฏฐิ อะไรต่างๆ เหล่านี้ เราอย่าเพิ่งไปจัดสรรและสมมุติ ขอให้พวกเราเข้าใจแต่เพียงว่า จะเป็นอะไรก็ตามในเมื่อจิตของเราประหวัด หรือจรไป โดยปราศจากพลังตัวเข้าไปพิสูจน์หรือตัวคุ้มกันนี้แล้ว ถือว่าเป็นการก้าวก่ายของจิตเข้าไปหาภพโดยตรง เราจะหาช่องทางล็อกหรือรั้งไว้โดยกำลัง หรือพลังของตปธรรม คือสติที่เราสร้างขึ้นนี้ ขอเราจงมี สังกัปปะ คือความดำริของพวกเราอย่างนี้ พวกเราจึงจะสามารถหักห้ามหรือกางกั้นจิตของพวกเราไว้มิให้รั่วไหลเข้าไปสู่ภพโดยปราศจากสิ่งคุ้มครอง เพราะฉะนั้น ขอให้พวกเราทุกท่านจงพากันหาช่องทางอธิษฐานขึ้นในจิตของเราเสีย แล้วเราจะได้ดำเนินการสร้างกำลังชนิดนี้ขึ้นให้มาก

ที่เล่าถึงเรื่องการทดสอบ และวิธีพิสูจน์ถึงกำลังของสติที่พวกเราสร้างขึ้นมาแล้ว จะเอาเข้าไปประกอบในสิ่งที่พวกเราต้องการนั้นก็พอเข้าใจอยู่แล้ว ทีนี้จะอธิบายให้พวกเราผู้ฟังธรรมะ ผู้ดูธรรมะ ผู้อ่านธรรมะ ให้พวกเราได้เข้าใจหน่อย ธรรมะที่แท้จริงก็อย่างที่เล่าให้ฟัง อย่างหนังสือที่ท่านเขียนไว้เป็นฝอยธรรมะ แต่มิใช่ตัวธรรมะ เป็นเพียงฝอย ธรรมะที่แท้อยู่ที่ไหน อย่างที่เล่าให้ฟังนี้เอง พวกเราคงจะเห็นได้ในหลักอภิธรรมในบทมาติกาเบื้องต้นว่า “กุสลาธมฺมา อกุสลาธมฺมา กุศลธรรม อกุศลธรรม” กุศลธรรมนั้นอยู่ที่ไหน อกุศลธรรมนั้นอยู่ที่ไหน อยู่ที่ความนึกคิดของพวกเรา อยู่ที่การกระทำ คำที่พูดของพวกเรา บุคคลที่พูดดี บุคคลที่ทำดี คำที่ว่า “พูดดี” หรือ “ทำดี” นี้คือ การกระทำของพวกเรา ไม่เป็นไปเพื่อการเบียดเบียนบุคคลอื่น และสัตว์อื่นให้ได้รับความเดือดร้อน เราผู้พูด ผู้ทำ เมื่อเราพูดและทำลงไปเราไม่ได้รับความเดือดร้อน ความคิดและคำพูดชนิดนี้เรียกว่าเป็นไปในทางกุศลธรรม หรือคำพูดที่หาอุบายวิธีแนะนำบรรดาคณะที่แตกร้าวจากกันให้สมานกันขึ้น หรือหมู่คณะซึ่งแตกร้าวซึ่งกันและกัน หาช่องทางแนะนำให้เขาล้มเลิกจากการแตกร้าวกันและกัน อะไรเหล่านี้ หรือบุคคลผู้ประมาทต่อสมบัติก็ดี หรือบุคคลผู้ประมาทต่อพระธรรมที่จะประพฤติดีปฏิบัติชอบก็ดี เราหาช่องทางแนะนำให้เขาเห็นคุณค่าของการประพฤติดี ให้เขาเห็นกำลังของกรรมทั้งสองว่า กรรมทั้งสองย่อมจะเข้ามาบั่นทอนให้เราได้ความทุกข์อย่างนี้ๆ หาช่องทางแนะนำให้เขาเข้าใจเมื่อเขาเข้าใจแล้วเขาจะกลัวต่อกรรมชั่วช้า คืออกุศลกรรม ให้เขามีความพอใจในกุศลกรรม และประพฤติปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ วาจาอย่างนี้แหละเรียกว่า วาจาเป็นไปในทางกุศลกรรม

ส่วนอกุศลกรรมก็ตรงกันข้าม วาจาที่พูดออกไป สิ่งที่ทำลงไปเป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นและสัตว์อื่นให้ได้รับความเดือดร้อน ตัวเองที่กระทำหรือพูดลงไปแล้ว เมื่อมาคิดภายหลังได้รับความเดือดร้อน วาจาและการกระทำอย่างนี้เรียกว่า อกุศลกรรม หรือบุคคลผู้ทำกรรมชั่ว


ที่พูดมานี้ต้องการอยากจะให้เข้าใจว่าส่วนธรรมทั้งหลายคือธรรมชาตินั้น มันอยู่ที่การกระทำคำที่พูดของพวกเรา ทีนี้พวกเราทุกท่านซึ่งมาบำเพ็ญอย่างที่พวกเราเข้าใจในอุบายวิธีนี้เพื่อจะได้สังเกตอาการคิด หรือการประหวัดของจิตเรา เมื่อมันคิดและประหวัดในทางที่ชั่ว มันก็จะสั่งอาการออกมาเป็นไปในทางภายนอก ให้ประกอบตามกระแสที่มันคิดไป เมื่อมันคิดในทางที่ดี มันมองเห็นคุณค่าประโยชน์ในทางที่ดี มันก็จะสั่งออกมาในทางกายให้ประกอบหรือสั่งออกมาในทางวาจาให้พูดไปเป็นตามอาการของมัน

สรุปใจความว่า กุศลกรรมก็ดี อกุศลกรรมก็ดี ซึ่งธรรมทั้งหลายอยู่ที่พวกเรา และการที่จะกระทำดีหรือชั่วมันก็อยู่ที่จิต เมื่อจิตของพวกเราดีเสียอย่างเดียว การพูดก็จะดี การกระทำก็จะดี เมื่อจิตไม่ดีเสียอย่างเดียว การพูดก็ไม่ดี การกระทำก็ไม่ดี สมมุติบุคคลผู้มีรูปสมบัติ คือรูปร่างสะสวยงดงาม แต่ใจไม่ดี อย่างที่พวกเรามองเห็น บุคคลที่มีจิตใจไม่ดี ในจังหวะที่เขาจิตใจไม่ดี อาการที่เขาแสดงออกไม่ดี ถึงแม้รูปร่างของเขาจะสะสวยก็ตาม เขาย่อมจะลดราคาของเขาลงทันที นี่พวกเราคงเข้าใจแล้วว่า ใจนี้เป็นของสำคัญมาก

เพราะเหตุนั้นเมื่อพวกเราเข้าใจว่า ใจนี้เป็นของสำคัญแล้ว พวกเราทุกท่านจึงได้หาช่องทางสร้างกำลังตัวยับยั้ง หรือตัวบริหารตัวคุ้มครองตัวพิสูจน์ความจริง ในระหว่างจิตใจกับอารมณ์แล้ว เพื่อใช้เข้าไปบริหารหรือคุ้มหรือพิสูจน์ ในเมื่อมันจิตประหวัดไป เราจะได้แต่งจิตแต่งใจของพวกเราให้จิตใจของพวกเราพอใจในทางที่ดี พอใจในอารมณ์ที่ดี แล้วพยายามกระทำแต่ในสิ่งที่ดี พูดแต่ในสิ่งที่ดี พวกเราหาช่องทางที่จะดำเนินให้เป็นไปอย่างนี้ พวกเราทุกท่านจึงได้กล้ายอมเสียสละมาสร้างกำลังของตปธรรมเข้าบำรุงจิต หาอุบายวิธีนำอารมณ์ที่ดีมาหล่อเลี้ยงจิต กำจัดอารมณ์ที่ไม่ดีหรือล็อกรั้งจิตไว้ไม่ให้ดำเนินประหวัดไปตามอารมณ์ที่ไม่ดี พวกเราทุกท่านได้ยอมเสียสละมาหาช่องทางดำเนินอย่างนี้


ในวันนี้ได้อธิบายถึงวิธีการทดสอบสติของพวกเราในการทั้ง ๓ ว่า สติของพวกเราที่ได้สร้างสมอบรมมานี้ พอที่จะใช้ประโยชน์ได้แค่ไหน อย่างไร ข้อทดสอบนั้นได้อธิบายให้ฟังแล้ว ในการที่ทดสอบสติการที่ ๑-๒-๓ พร้อมทั้งการประหวัดของจิตเข้าไปสู่อารมณ์นั้น มันเป็นการก้าวก่ายเข้าไปสู่มรรคผลบ้าง ก้าวก่ายเข้าไปสู่อารมณ์สัญญาบ้าง อารมณ์คือความนึกคิดตามภาษาไทยๆ ของพวกเรานั่นแหละ มันจะเป็นไปเพื่อภพก็อยู่ที่นั้น จะเป็นไปเพื่อมรรคผลก็อยู่ที่นั้น จะเป็นไปเพื่อกิเลสตัณหาก็อยู่ที่ความนึกคิด

เพราะเหตุนั้น พวกเราทุกท่านได้ฟังถึงอุบายวิธีที่จะสร้างพลังของสติเข้าไปทดสอบพิสูจน์หรือค้นคิดในอารมณ์ ในเมื่อจิตของพวกเราประหวัดไปนั้น พวกเราทุกท่านก็เข้าใจดีแล้ว ขอให้พวกเราจงสร้างกำลังของตปธรรมอย่างที่ของร้องให้พวกเราสร้างนี้ จงพากันสร้างให้พอแก่ความต้องการ แล้วจะได้เอามายับยั้งจิตใจของพวกเราไม่ให้เป็นไปตามกำลังของมัน โดยธรรมชาติปราศจากสิ่งคุ้มกันและการพิสูจน์ความจริง ในเมื่อมันก้าวก่ายเข้าไปสู่อารมณ์ และขอให้พวกเราจงพากันหาช่องทางดำเนินให้จิตของพวกเราที่ท่านปรารถนาโดยประการทั้งปวง จงสำเร็จตามมโนมุ่งมาดปรารถนา ทุกประการ ขอให้พวกเราทุกท่านจงมีความเพียรพยายาม บำเพ็ญตปธรรม ชำระจิตของตนให้ตื่นอยู่ทุกเมื่อตลอดไป อย่าได้ลดละประมาท เมื่อพวกเราหาช่องทางดำเนินจนจิตของพวกเราตามที่ปรารถนาไว้ สำเร็จตามที่เราตั้งปณิธานปรารถนาแล้ว พวกเราทุกท่านจะได้มีความสุขสวัสดิ์เกษมศานต์ ปราศจากความทุกข์คือความหลุดพ้นจากกิเลสตัณหา อาสวะทั้งปวงนี้ ขอให้พวกเราทุกท่านจงมีความเพียรพยายามอยู่ทุกเมื่อ ที่อาตมภาพได้อธิบายมาก็ยืดยาวพอสมควรแก่เวลา จึงขอยุติเพียงเท่านี้

-------------------------
หนังสือชีวประวัติพระวิสุทธิญาณเถร (หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย) ฉบับสมบูรณ์
วัดเขาสุกิม ตำบลเขาบายศรี อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี :b8: :b8: :b8:


:b44: ประวัติและปฏิปทา “หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=58572

:b44: รวมคำสอน “หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=43691


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ม.ค. 2024, 10:40 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2876


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 15 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร