วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 20:22  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=2



กลับไปยังกระทู้  [ 5 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ต.ค. 2020, 13:55 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร
แสดงพระธรรมเทศนา
ณ วัดป่าถ้ำขาม จังหวัดสกลนคร
วันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๖

:b50: :b47: :b50:

สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม
ดีไหมล่ะ ธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้า

ทุกสิ่งทุกอย่างมันเหลือแต่ของเปล่าๆ สนฺทิฏฺฐฺิโก ผู้ปฏิบัติรู้เองเห็นเอง ถ้าตนไม่รู้บุคคลอื่นบอกมันก็ไม่เชื่อ มันก็ไม่รู้ ถ้าเรารู้แล้ว ไม่มีใครบอกได้ มันเป็นอย่างนั้น คนว่าทุกวันนี้ศาสนาหมดคราวหมดสมัยพระอรหัตต์ อรหันต์ก็ไม่มี มรรคผลไม่มีเสียแล้ว คนเข้าใจอย่างนั้นเสียมาก หมดคราวหมดสมัย แท้ที่จริงในธรรมคุณท่านบอกว่า อกาลิโก ไม่เลือกกาลเลือกเวลาเลือกฤดู ได้ผลอยู่เสมอ ธรรมะทั้งหลายมันหมดไม่เป็น เพราะว่าธรรมทั้งหลายไม่ได้อยู่ที่อื่นที่ไกล ตัวของเรานี้เป็นธรรม มรรคผลการที่ไม่มี เพราะอาศัยคนไม่ปฏิบัติ เมื่อคนไม่ปฏิบัติแล้ว ก็เลยไม่มีมรรคไม่มีผล ถ้าคนยังปฏิบัติอยู่ มรรคผลมันก็มีอยู่ตราบนั้น ถ้าคนไม่ปฏิบัติแล้ว ก็จะเอามรรคมาจากไหนเล่า มรรคคือการกระทำ เมื่อเรากระทำแล้วก็จะได้รับผล นี่ไม่ได้กระทำแล้วจะเอาผลมาจากไหนล่ะ ท่านจึงว่า อกาลิโก ไม่มีกาลไม่มีเวลา แท้ที่จริงธรรมทั้งหลายมีแต่ไหนแต่ไรมา มันมีอยู่อย่างนั้น

พระพุทธเจ้าตรัสรู้ชี้แจงแสดงให้ฟัง แต่เมื่อพระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสรู้ก็มีอยู่อย่างนั้น อุปฺปาทา วา ภิกฺขเว ตถาคตานํ อนุปฺปาทา วา ตถาคตานํ แต่เมื่อพระตถาคตยังไม่ตรัสรู้ก็มีอยู่อย่างนั้น เมื่อตรัสรู้แล้วก็มีอยู่อย่างนั้น ไม่ได้มาจากไหน


เหมือนกับตัวเราเกิดมาแล้ว ก็มีอยู่อย่างนี้ มีทุกข์อยู่อย่างนี้ ทุกข์ทั้งหลาย ไม่ได้มาจากอื่นไกล ไม่ใช่อื่นเป็นทุกข์ คนทั้งหลายกลัวอดกลัวอยาก กลัวนั้นกลัวนี้เป็นทุกข์ ไม่มียศถาบรรดาศักดิ์เป็นทุกข์ ไม่มีที่อยู่ที่อาศัยเป็นทุกข์ นั่นพระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ว่าทุกข์ ทุกข์คืออื่นใดเล่า อิทํ โข ปน ภิกฺขเว ทุกฺขํ อริยสจฺจํ ของจริง ภิกฺขเว ดูก่อนท่านทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลาย ของจริงคืออะไรเล่า ชาติปิ ทุกฺขา ทุกข์เพราะความเกิด

ท่านไม่ได้ว่าอะไรทุกข์ คือความเกิดนั่นแหละเป็นทุกข์

นี่แหละตัวทุกข์ เราก็พิจารณาซิ อะไรเกิดเล่า คือตัวของเรานี้เกิดมามันก็เป็นทุกข์ ทุกข์เพราะความเกิด เกิดเป็นเจ็บเป็นไข้ เกิดเป็นโน้นเป็นนี่ เกิดอยากโน้นอยากนี้ จิตของเราไม่สงบ ก่อกรรมก่อเวรก่อภัยให้เกิดขึ้น ภวาภเว สมฺภวนฺติ เที่ยวต่อภพน้อยๆ ใหญ่ๆ อยู่มันก็เลยเป็นทุกข์กันสิ เราไม่อยากทุกข์แล้ว เราก็หยุด นั่งอยู่ที่นี้ ไม่ก่อกรรมก่อเวรอยู่ ว่าเราไม่ได้ไปทำบาปทำกรรมอะไร ดูซิ พิจารณาซิ มันไปเที่ยวต่อภพน้อยๆ ใหญ่ๆ อยู่ อารมณ์สัญญาของเรานี่แหละไปสร้างบาปสร้างกรรมไว้ ทั้งกลางคืน กลางวัน ทั้งนั่ง ทั้งนอน ทั้งเดิน ทั้งยืน เพราะฉะนั้นท่านจึงสอนให้มีสติ นั่งก็ดี นอนอยู่ก็ดี ยืนอยู่ก็ดี เดินอยู่ก็ดี ให้มีสติอยู่ ให้มันรู้ มีสติสัมปชัญญะ นั่งก็ให้รู้อยู่ว่านั่ง นอน เดินก็ให้รู้จัก สติของเราเพ่งเล็งอยู่อย่างนั้น การทำความสงบมิใช่อื่นไกล เพราะฉะนั้น ก็ให้พากันเพ่งเล็งดู

มิใช่อื่นทุกข์ คือความเกิดน่ะเป็นทุกข์ เรานั่งอยู่ที่นี้เราเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ อะไรทุกข์ ต้นไม้ ภูเขาเหล่ากอ ดินฟ้าอากาศ ทรัพย์สมบัติ การงานทุกข์หรือ ? ก็ไม่ใช่ทุกข์เพราะความเกิดนี้

ทุกข์ที่สอง ชราปิ ทุกฺขา ทุกข์เพราะความเฒ่าแก่ชราคร่ำคร่า เพราะความเจ็บความไข้ นั่นเป็นทุกข์ ไม่ใช่อื่นไกล ความเจ็บตรงโน้น ปวดตรงนี้ ความชำรุดทรุดโทรม นั่นแหละความแก่มาถึงแล้ว ไม่ใช่ทุกข์เพราะอื่น ทุกข์เพราะอันนี้ มรณมฺปิ ทุกฺขํ ทุกข์เพราะความตาย ไม่ใช่อื่นเป็นทุกข์


นี่แหละความทุกข์ทั้งหลาย ให้พากันพิจารณาดูซิ อะไรมันเกิด อะไรมันแก่ อะไรมันเจ็บ อะไรมันตายเล่า ?

เหตุนั้น ท่านยังให้พิจารณาปฏิจจสมุปบาท ท่านให้กำหนดทุกข์ว่า ทุกข์มาจากไหน ? อะไรเป็นเหตุปัจจัยมาให้เกิดทุกข์ ?

ท่านให้พิจารณาเห็นแล้วว่าทุกข์มันมาจากความตาย นี่ ! ตายนี้เป็นเหตุปัจจัยมาให้ทุกข์ นี่ “ตาย” มาจากไหน เป็นเหตุปัจจัยมาจะให้ตาย มาจากโรคภัยไข้เจ็บอาพาธทั้งหลายต่างๆ เป็นเหตุปัจจัยมา อันนี้อาพาธทั้งหลายเหล่านี้มาจากไหนเป็นเหตุปัจจัยมา มาจากชรา ความเฒ่าแก่ชราคร่ำคร่า อันนี้ความเฒ่าแก่ชราคร่ำคร่ามาจากไหนเป็นเหตุปัจจัยมา มาจากชาติ คือความเกิด นี่มาจากนี่ มันคดไปเป็นปฏิจจสมุปปบาท ๑๒ อันนี้ความเกิดนี้มาจากไหนเล่า เป็นเหตุปัจจัยมา มาจากภพ คือ เข้าไปตั้ง เขาไปยึด เข้าไปถือไว้ อารมณ์ของเราไปยึดไว้ ยึดมันก็ก่อภพขึ้น อันนี้ภพมันมาจากไหนเป็นเหตุปัจจัยมา มาจากอุปาทาน การยึดถือ ทีนี้อุปาทานมาจากไหนเป็นเหตุปัจจัยมา มาจากตัณหาความทะเยอทะยานอยาก ความดิ้นรน ตัณหามาจากไหนเป็นเหตุปัจจัยมา มาจากเวทนา ทุกขเวทนา สุขเวทนา เมื่อความทุกข์เกิดขึ้นก็อยากจะหาความสุข เมื่อสุขเกิดขึ้นก็อยากไม่ให้ทุกข์เกิดขึ้น นี่มาจากเวทนา ทีนี้เวทนามาจากไหนเป็นเหตุปัจจัยมา มาจากผัสสะ ความกระทบถูกต้องนี่แหละผัสสะ อันนี้ผัสสะมาจากไหนเป็นเหตุปัจจัยมา มาจากอายตนะ เป็นบ่อเกิดอายตนะคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเหล่านี้ อายตนะมาจากไหนเป็นเหตุปัจจัยมา มาจากนามรูป นามรูปอันนี้มาจากไหน เป็นเหตุปัจจัยมา มาจากวิญญาณ วิญญาณมาจากไหนเป็นเหตุปัจจัยมา มาจากสังขาร สังขารมาจากไหนเป็นเหตุปัจจัยมา มาจากอวิชชา นี้ขั้นต้นมันจบนี้

อวิชชาคือความหลงละ หลงสมมุติ หลงภพ หลงชาติ หลงตน หลงตัว อวิชฺชา ปจฺจยา สงฺขารา เมื่ออวิชชาความหลงเป็นปัจจัยให้เกิดสังขารความปรุงแต่ง เมื่อสังขารมีแล้วก็เป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ วิญญาณมีแล้วก็เป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป ฯลฯ ให้พิจารณาทวนกระแสกลับ วิญญาณมีแล้วก็เป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป นามรูปมีแล้วก็เป็นปัจจัยให้เกิดอายตนะ ตา หู จมูก อายตนะมีแล้วก็เป็นปัจจัยให้เกิดผัสสะ ผัสสะมีแล้วก็เป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา เวทนามีแล้วก็เป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา ตัณหามีแล้วก็เป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน อุปาทานมีแล้วก็เป็นปัจจัยให้เกิดภพ ภพมีแล้วก็เป็นปัจจัยให้เกิดชาติ คือความเกิดชาติมีแล้วก็เป็นปัจจัยให้เกิดชรา ความชำรุดทรุดโทรมเฒ่าแก่ชราคร่ำคร่า ความเฒ่าแก่ชราคร่ำคร่ามีแล้วก็เป็นปัจจัยให้เกิดพยาธิ ความเจ็บไข้และพยาธิ ความเจ็บไข้และพยาธิมีแล้วก็เป็นปัจจัยให้เกิดความตาย ความตายมีแล้วก็เป็นปัจจัยให้เกิดทุกข์ โสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาส นี่แหละ

เหตุนี้จึงให้พากันนั่งสมาธิพิจารณาตัวของเรากำหนดทุกข์ นี้เรื่องทุกข์ เรื่องสมุทัย นี่แหละความหลงของเรา ให้พากันเพ่งเล็งดู นี่ข้อสำคัญว่ามันเป็นอย่างนี้ อกาลิโก ไม่มีกาล เป็นอยู่เสมอ นั่งอยู่ก็เป็นทุกข์ เป็นโทษ ให้พากันรู้จัก ทีนี้เมื่อฟังแล้ว เอหิปสฺสิโก คำสอนจงร้องเรียกสัตว์ทั้งหลายให้มาดูธรรม ท่านไม่ได้ให้ไปดูธรรม ท่านให้มาดู ดูรูปธรรมนามธรรมนี้

รูปธรรมก็คือสภาพร่างกายของเรา นามธรรมคือดวงใจของเราตัวคิดตัวนึก ดูเพื่อเหตุใด ? เหตุที่เราถือว่ารูปเหล่านี้เป็นตัวเป็นตน เป็นสัตว์เป็นบุคคล เป็นเราเป็นเขา เป็นผู้หญิงเป็นผู้ชาย เป็นพระเป็นเณร เราถือรูปอันนี้ หากเราเพ่งรูปอันนี้แล้วไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ไม่มีบุคคล ไม่มีเราไม่มีเขา เอาอะไรเป็นตัวเป็นตน เอาอะไรเป็นสัตว์เป็นบุคคลเป็นที่ไหนเล่า เพราะฉะนั้นท่านจึงได้วางมูลกรรมฐานไว้ให้พิจารณา นโม น้อมเข้ามาพิจารณา มาพิจารณา มาพิจารณา โม นี้ พิจารณาเพื่อเหตุใด เพื่อให้รู้ตัวของเรานี้ ว่าเราเป็นของสวยของงาม ว่าเป็นตัวเป็นตน ท่านบอกไว้ในอภิณหปัจเวกขณ์ว่า ตจปริยนฺโต มีหนังหุ้มอยู่เป็นที่สุดโดยรอบ ปูโรนานปฺปการสฺส อสุจิโน เต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ อตฺถิ อิมสฺมึ กาเย ในกายนี้ ท่านไม่ได้ว่ากายโน้น กายนี้ก็แปลว่าชี้ที่กายของเราทุกคน เต็มไปด้วยความไม่สะอาดมีประการต่างๆ อตฺถิ อิมสฺมึ กาเย ในกายนี้ อะไรล่ะที่อยู่ในกายนี้ เกสา คือผมทั้งหลาย ที่ท่านว่าไม่สะอาด โลมา คือขนทั้งหลาย นขา คือเล็บทั้งหลาย ทนฺตา คือฟัน ตโจ คือหนัง นี่เต็มไปด้วยอย่างนี้เรียกของไม่สะอาด มํสํ คือเนื้อ นหารู คือเส้นเอ็น อฏฺฐฺิ คือกระดูก อฏฺฐฺิมิญฺชํ เยื่อในกระดูกเล่า วกฺกํ ไต หทยํ หัวใจ ยกนํ ตับ กิโลมกํ พังผืด ปิหกํ ไต ปปฺผาสํ ปอด อนฺตํ ไส้ใหญ่ อนุตคุณํ ไส้น้อย กรีสํ อาหารเก่า อุทริยํ อาหารใหม่ นี่แหละ ท่านว่าเต็มไปด้วยของไม่สะอาด ทีนี้เราว่าสะอาดไงล่ะ เราถือนี้ว่าเป็นตัวเป็นตน มันเป็นแต่อาการเท่านั้น

ถ้าเราเห็นเป็นอย่างนี้แล้ว มันก็ละสักกายทิฏฐิ ความถือว่าเป็นตัวเป็นตนเป็นสัตว์เป็นบุคคล เราเขาไม่มีเสียแล้ว วิจิกิจฉา ความสงสัยเคลือบแคลงว่าจะดีอย่างโน้นไม่มีเสียแล้วมัน เป็นอย่างนี้ สีลัพพตปรามาส การลูบคลำมันก็ไม่มีสุขจริงๆ ทุกข์จริงๆ ดีชั่วจริง ไม่ต้องลูบคลำ ทุกข์อยู่โน้น ทุกข์อยู่นี่ ศีลอยู่โน้น ธรรมอยู่โน้น ไม่มีเสียแล้ว อยู่กับตัวของพวกเรา เหตุนั้นให้พากันพิจารณานี้มันจึงละได้ ถ้ามันไม่เห็นอย่างนี้แล้วก็ว่าเป็นคน เป็นคนละ หาว่าสนุกสนาน หาว่าเป็นของดิบของดี สวยงามอะไรต่างๆ แท้ที่จริงมันเป็นอย่างนี้ เราก็พิจารณาให้มันรู้ให้มันเห็นแล้วจะสงสัยอะไรละ เราทำอยู่อย่างนี้ อันนี้ ปิตฺตํ น้ำดี ดูที่น้ำดี ที่ไหนเล่า ท่านร้องเรียกให้สัตว์ทั้งหลายมาดูธรรม เสมฺหํ น้ำเสลดเล่า ปุพฺโพ น้ำเหลืองเล่า โลหิตํ น้ำเลือด เหล่านี้อยู่ที่ไหนเล่า เสโท น้ำเหงื่อเล่า เมโท น้ำมันข้น อสฺสุ น้ำตา วสา น้ำมันเหลว เขโฬ น้ำลาย สิงฺฆาณิกา น้ำมูกเล่า ลสิกา น้ำไขข้อ มุตฺตํ น้ำมูตรเล่า มันเป็นอย่างนี้ สิ่งเหล่านี้เป็นของทิ้งทั้งหมด มิใช่ว่าเป็นของเอา ไม่ใช่ว่าของที่อยากได้ เห็นเลือดออกมานี่ล่ะใครเก็บไหม ขี้มูกน้ำลายอย่างนี้ ขี้เหงื่อไคลอย่างนี้ น้ำมูตรเหล่านี้ เห็นไหมล่ะ หรือไม่เห็น พวกเรา จริงหรือไม่จริง แน่ ! มันเป็นของทิ้งทั้งหมด เราก็เพ่งพิจารณาอยู่อย่างนั้น แล้วมันก็ละ ที่ถือว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นสัตว์บุคคลมันก็ไม่ถือเสียแล้ว นี่แหละ ก็รู้จัก น น แปลว่าไม่ใช่ ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่เขาไม่ใช่เรา ไม่ใช่จริงๆ เพราะว่าถ้าเป็นตัวเราแล้ว ทำไมจึงเป็นไปเพื่อทุกข์เพื่อภัยเพื่ออาพาธ ถ้าเป็นตัวเรา นี่ไม่ใช่ตัวเราเสียแล้ว ทำไมเป็นไปเพื่อแก่เฒ่าชราคร่ำคร่าความชำรุดทรุดโทรมลงไป ทำไมล่ะ ? แล้วก็เพ่งพิจารณามันแน่นอนลงไปอย่างงั้นซิ จิตของเรามันจึงสงบ เพราะไม่เห็นอย่างนี้แล้ว ไม่ใช่ตัวแล้ว มันจะเอาอะไรเล่า ? ไม่ใช่สัตว์ใช่บุคคลเสียแล้ว ไม่ใช่ตนใช่ตัวเสียแล้ว ไม่ใช่เขาใช่เราเสียแล้ว มันก็เลิกอุปาทาน การยึดทั้งหลายเสียทั้งหมด

นี่พิจารณาเพื่อให้รู้ ให้จำแนกแจกออกแล้ว ถ้าเราไม่จำแนกแจกออก ก็เข้าใจว่าเป็นคนจริงๆ เมื่อจำแนกแจกออกแล้วมันก็ไม่เป็นตัวเสียแล้ว


นี่แหละพระพุทธเจ้าท่านสอนให้รู้จัก น รู้จัก โม พอรู้จักนโมแล้ว หัวใจตัวเราก็รักษาได้ มันก็ไม่ทะเยอทะยาน ดิ้นรนตามสิ่งทั้งหลายต่างๆ อันนี้แหละความทุกข์ จิตของเรามันก็สงบ นี่คนส่วนเราเห็นเป็นอย่างนี้ๆ ก็ละสักกายทิฏฐิแล้ว ละทิฏฐิมานะของเราเสียแล้ว จิตของเรามันก็สงบมีความสุข มีความสุขเพราะว่าเรามียศฐาบรรดาศักดิ์ สุขเพราะทรัพย์สมบัติ ตึก ข้าวของเงินทอง ท่านไม่ได้ว่าอย่างนั้น อะไรสุขล่ะ พอเราละสิ่งเหล่านี้แล้วจิตของเราก็สงบ นตฺถิ สนฺติ ปรํ สุขํ สุขอื่นเสมอเหมือนจิตสงบไม่มี เหตุนี้เราจะทำจิตให้สงบ เมื่อจิตสงบแล้วมันก็เป็นสุขเพราะไม่ได้ไปก่อกรรม ก่อเวร ก่อภพ ก่อชาติ ภพน้อยๆ ใหญ่ๆ ก็ไม่ได้ไปก่อ เราเห็นทุกข์เห็นโทษแล้วในสังขารทั้งหลาย เราไม่หลง พอเราไม่หลงก็ไม่เวียนกลับ ทีนี้มันหลงก็กลับไปกลับมาอยู่อย่างนี้

เราเกิดมาแล้ว ก็ว่าเราไม่ได้เกิด เราว่าจะเกิดมาจากไหน คนเราเกิดมาจะมาจากไหนเล่า มันมีอยู่อย่างนั้นแต่ไหนแต่ไรมา นี่แหละนั่งสมาธิดูแล้ว มันไปก่อภพ ก่อชาติ ก่อกรรมก่อเวร จะรู้จักภพอื่นชาติอื่นอะไรเล่า แต่เราเกิดมาเท่านี้เราก็จำชาติเราไม่ได้แล้ว เรามาเวลานี้มันมี ๓ ชาติมาแล้ว จะรู้ได้ ๓ ชาติน่ะ นึกดูซิเราอยู่ในครรภ์มารดา ใครระลึกได้ทุกข์ยากเท่าไร แลแคบคับ คับเหลือเกิน กลิ้งตัวก็ไม่ได้ นั่นทั้งตกโลกันตนรก โลกันตามืดมิด คิดไม่รู้อะไร โลกันตนรก นี่เพ่งดูซิ ตกในขุมมูตรขุมคูถ อยู่ในขุมมูตรขุมคูถแล้ว จะว่าอย่างไรล่ะ อยู่ครรภ์ของมารดา มูตรก็อยู่นั่น คูถก็อยู่นั่น นั่นแหละตกนรก นรกอยู่ที่ไหนล่ะ แสนทุกข์ทุกข์ยากแสนลำบาก กลิ้งตัวก็ไม่ได้ ขดอยู่อย่างนั้น นี่ ! เราทั้งหลายก็ตั้งความปรารถนาว่า โอ๊ยยย.....ขอให้พ้นเถิดนรกหลุมนี้ ออกไปนี้พ้นจากนรก ข้าพเจ้าจะให้ทาน รักษาศีล ภาวนาจะบวชในพระพุทธศาสนา จะปฏิบัติ ขอให้พ้นนรกขุมนี้ นี่แหละเรื่องมันเป็นอย่างนั้น ทุกข์ตกในโลกันตนรก โลกันตาแปลว่ามืดบังหมดไม่รู้เห็นอะไรอยู่ในครรภ์ ลองดูซิตกขุมมูตรขุมคูถ อันนี้เป็นขุมมูตรอย่างใดเล่า ขุมคูถอย่างใดเล่า ว่าไงเล่า ? ขุมมูตรว่าไงเล่า ? ขุมคูถว่าไงเล่า ? ตกขุมขี้ขุมเยี่ยวไม่ใช่เหรอ นี่แหละเราเกิดอยู่ที่นั่นตกอยู่ที่นั่น ทีนี้คำภาวนาอยู่นั้นก็มากซิ อะ อา อิ อี อุ อู เอ โอ ก ข ค ฆ ง จ ฉ ช ฌ ญ แน่ ภาวนาอยู่นั่น ขอให้พ้น ออกไปแล้วจะทำบุญทำกุศล ออกไปลืมหมด ตกใจ หลุดออกจากครรภ์มารดา ท่านเปรียบอุปมาเหมือนกับตกเหวร้อยชั่ว เหมือนกับหลุดลงตกเหวร้อยชั่วลืมหมดคำภาวนา สลบไป เลยหยุดตั้งใจได้ ยังเหลือแต่ตัว อ กับตัว ง เท่านั้น อะแง้ อะแง้ เท่านั้นแหละ ร้องแอ๋ๆ อยู่นี่แน่ ลืมหมด เหลือสองตัว อะ อา อิ อี อุ อู เอ โอ ลืมหมด ยังเหลืออยู่แต่ตัว อ กับตัว ง เท่านั้น ออกมาแล้วก็นอนถ่ายมูตรถ่ายคูถอยู่นั่นระลึกได้ไหม ทุกข์เท่าไรยากเท่าไร นี่เราเกิดมามันเป็นอย่างนั้นยังจำไม่ได้ ระลึกไม่ได้ นี่ชาติที่สอง คือนอนถ่ายมูตรถ่ายคูถอยู่ ที่นั่นนี่ทีนี้ชาติที่สามเกิดมาเป็นตัว เติบโตขึ้นมาแล้ว ระลึกได้ไหมเวลานี้สองภพ ว่าเราไม่ได้เป็นอย่างนั้น ว่าเราไม่ได้เกิด ว่าเราไม่ได้อยู่ในครรภ์มารดา ไม่ได้ระลึกเลยว่าเราไม่ได้นอนถ่ายมูตรถ่ายคูถ ลืมหมด ตัว อ ก็ลืมหมด ตัว ง ก็ลืมหมด ลืมหมดไม่มีอะไรว่าตัวไม่ได้เป็นอะไร

ให้พากันเพ่งพิจารณาให้มันรู้มันเห็นซิ เหตุนั้นท่านจึงได้วางศาสนาเพื่อแก้ทุกข์อันนี้ ให้รู้จักภพของเราชาติของเรา นี่ท่านจึงได้สอน ศีล สมาธิ ปัญญานี้ไว้หลักพุทธศาสนา ให้พากันพิจารณาเหล่านี้แน่นอนลงไปแล้ว เราก็ไม่อยากไปเกิดอีกแล้ว ถ้าได้เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานมันยิ่งแสนทุกข์แสนยาก นี่แหละให้พากันเพ่งเล็งดูให้มันรู้แน่นอนลงไปซิ จริงหรือไม่จริงละสิ่งเหล่านี้ เพ่งดูซิ นั่นลืมหมดแล้ว ว่าเราไม่ได้เป็นอะไรมา ลืมบุญลืมกุศลเสียแล้ว ลืมพระสูตร ลืมพระวินัยเสียแล้ว ลืมหมดนรกถามหานรก ว่านรกเป็นรูปอย่างใดก็ว่าให้ฟังแล้วนี่ บุคคลนั่นแหละนรก ปุคฺคโล บุคคลนั่นแหละเป็นตัวนรก ตัวนรกเป็นยังไง คือตัวคนนี่แหละ คนนั่นแหละไปตก ตัวสวรรค์ คือตัวคนนั่นแหละ คนนั่นแหละไปเป็นสวรรค์ ตัวนิพพาน คือตัวคนนั่นแหละ คนนั่นแหละไปเป็นนิพพาน อุปมาเหมือนกับนั่งอยู่นี้ล่ะ เป็นพระเป็นเณร อะไรเป็น คนนั่นแหละเป็นพระเป็นเณร ว่ายังไงละ ที่พระพุทธเจ้าได้เป็นพระอรหันต์ ก็คนนั่นแหละเป็น นี่แหละให้รู้จัก เป็นขี้ขโมยขโจร เป็นนักโทษก็คนนั่นแหละ เป็นนักเรียนก็เหมือนกัน ไม่ใช่อื่นเป็น เป็นตำรวจเป็นทหารก็เป็นคน นายร้อยนายพัน นายพลจอมพลก็เป็นคน พระเจ้าอยู่หัวก็เป็นคน เรามันสมมุติกันให้รู้จักสมมุติ

การประพฤติดีปฏิบัติดี นำไปทางดี ประพฤติไม่ดี ทำไม่ดี ปฏิบัติไม่ดี มันก็ไปทางต่ำ ไปทางไม่ดี นี่แหละ พากันเพ่งเล็งดูให้แน่นอนลงไปซิ จะสงสัยอะไรในธรรมในวินัยนี้ ในศาสนานี้ไม่ใช่สงสัยว่า ตายแล้วจะเกิดไหม ? เราเกิดมาแท้ๆ ยังว่าไม่ได้เกิดอยู่ เราเกิดมาทั้งนั้นนั่งอยู่นี่ หรือใครไม่ได้เกิดมา มานั่งอยู่อย่างนี้หรือเป็นอยู่อย่างนี้อยู่เหรอ ? ต่างเกิดมาทั้งนั้นไม่ใช่หรือ ตายแล้วก็ต้องเกิดซิเวียนว่ายตายเกิด เกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิด เกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิด เกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิด เกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิด ไม่รู้กี่กัปป์กี่กัลป์ อนันตชาติยังไม่รู้ตัว คิดดูซิ พุทโธ ให้มันรู้เสียซิ ให้มันรู้ตนรู้ตัวเสียซิ อย่าได้ไปหลงซิ นี่แหละความหลงของเราเป็นอย่างนั้น

ฉะนั้น พระพุทธเจ้าท่านจึงนั่งสมาธิเพ่งเพื่อไม่ให้หลง ไม่ให้หลงภพหลงชาติ หลงเกิด หลงแก่ หลงเจ็บ หลงตาย นี่มันหลง หลงแล้วก็เกิดละ ไม่หลงแล้วมันก็ไม่เกิด เกิดทำไมมันก็ทุกข์ นี่เราหลงซิ นี่ข้อสำคัญ

เอาต่อนี้ไป ให้พากันเข้าที่เพ่งพิจารณาดูซิ จริงหรือไม่จริง เอ้าเพ่ง....ไม่ได้นาน สัก ๓๐ นาที ทดลองดูซิ ว่ามันจะเป็นยังไง หือ ! เป็นไง ยอมหรือยัง....ว่ายังไง ยอมแล้วหรือเพ่งดูซิ ให้เห็นทุกข์ เห็นโทษเห็นภัยการเกิดของเรา การแก่ของเรา การเจ็บของเรา การตายของเรา ให้มันรู้ ให้มันเห็นชิ ให้มันเห็นทุกข์ เห็นโทษเห็นภัยของเรา อย่าไปยอมซิ เอาให้พากันนั่งดู

เอาเข้าที่ดู เพ่งเล็งดูให้มันแน่นอนลงไป เชื่อมั่นลงไป ให้เห็นแจ้งประจักษ์ลงไป สนฺทิฏฺฐฺิโก ผู้ปฏิบัติพึงรู้เองเห็นเอง โอปนยิโก ก็ให้น้อมเข้ามา ปจฺจตฺตํ รู้จำเพาะตนเท่านั้น ถ้าตนเองไม่รู้ บุคคลอื่นก็บอกอะไรไม่ได้ พิจารณาดูความเกิดของเรา นี่มันเป็นทุกข์อย่างนี้ที่ได้อธิบายมาแล้ว ต่อไปต่างคนต่างกันเพ่งเล็งดูให้มันรู้แจ้งเห็นจริง เมื่อตนเห็นแล้วมันก็เลิกก็ละเอง ตนยังไม่เห็นแล้ว ยังไม่รู้แล้ว มันก็ยังเลิกไม่ได้ละไม่ได้

ต่อนี้ไปจะไม่อธิบายเพราะเข้าใจแล้ว ต่อไปให้เพ่งดู เมื่อจิตของเรามันไม่ก่อภพก่อชาติแล้ว มันก็สงบ มันก็เป็นสุข นี่เราต้องการความสุขความเจริญ ต้องการความพ้นทุกข์ ความสุขความสบาย ก็เมื่อจิตเราสงบ มันไม่ไปปรุงไปแต่ง ไม่ไปก่อกรรมก่อเวร ไม่ไปทำอะไรสักอย่าง มันนิ่งเฉย มันว่างอยู่หมด นี่มันสุขอยู่ตรงนี้ ไม่ใช่สุขอยู่ตรงอื่น มันไม่สุขมันเป็นอย่างไง ? มันไปปรุงไปแต่ง มันไปก่อกรรมก่อเวรก่อภัยอยู่ นี่ละจะว่าอย่างไงเล่า ? กรรมทั้งหลายว่า เราเป็นกรรมอันโน้นเป็นกรรมอันนี้ กรรมไม่มีในต้นไม้ภูเขาเหล่ากอ ในป่าในดงในบ้านในเมืองในถนนหนทาง ในชัยมงคลคาถาท่านว่า กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม กรรมเกิดจากนี้ กายกรรม กรรมเกิดจากกายของเรา วจีกรรม กรรมเกิดจากวาจา มโนกรรม เกิดจากดวงใจของเรา แต่เวลานี้กายกรรมของเราก็ดีแล้ว ไม่มีอะไร นั่งก็เรียบร้อยแล้ว วจีกรรมของเราก็ไม่มีแล้ว ยังเหลือแต่มโนกรรมความน้อมนึกและระลึกอะไรอยู่ นี่กรรมเป็นของๆ ตน กมฺมสฺสโกมฺหิ กรรมนั้นเป็นของๆ ตน กลฺยาณํ วา ปาปกํ วา ตสฺส ทายาโท ภวิสฺสามิ

เราจะทำกรรมอันใดไว้ เป็นบุญหรือเป็นบาป เราจะรับผลของกรรมนั้นสืบไป เราไม่ต้องคำนึงถึงอดีตถึงอนาคต (เราทำกรรมอันใดไว้ เป็นบุญหรือเป็นบาป เราจะรับผลของกรรมนั้นสืบไป) เราก็นั่งดูซิ เราจะไม่สืบอย่างไรเล่า ทีนี้จะรู้ได้อย่างไรเล่า กรรมอันดีกรรมอันชั่ว กรรมดีคือ กลฺยาณํ วา กรรมอันดีรวมมาสั้นๆ คือใจเราดี........มีความสุขความสบาย เบาตนเบาตัว ไม่มีความปรุงแต่ง มีความเยือกเย็นมีสุขสบาย ว่างหมด ไม่มีภัย ไม่มีเวร ไม่มีอะไรสักอย่าง

พุทโธ มีแต่ความเบิกบาน พุทโธ ความสว่างไสว พุทโธ ความเป็นผู้ผ่องใส พุทโธ เป็นผู้ตรัสรู้ พุทโธ เป็นผู้รู้ พุทโธ เป็นผู้ไม่ตาย นี่แหละ กรรมอันดี เมื่อใจเราดีแล้ว อดีตมันก็ดี อนาคตมันก็ดี ให้รู้จักไว้อย่างนี้ ปาปกํ กรรมชั่วล่ะอยู่ที่ไหนเล่า รวมมาแล้วคือใจไม่ดี ใจไม่ดีคือทุกข์ยากวุ่นวายเดือดร้อน นั่นแหละกรรมชั่ว เป็นของๆ ใคร มันเป็นของๆ ตนมิใช่หรือ ใครล่ะเป็นผู้ได้รับ ตนเป็นผู้ได้รับมิใช่หรือ ไม่มีผู้อื่นรับ

ทุกข์มันไม่ได้มีอยู่ในดินฟ้าอากาศต้นไม้ภูเขาเหล่ากอ ในบ้านในเมืองในถนนหนทาง ใจเราเป็นทุกข์ ความที่พ้นทุกข์คืออะไร ? จิตเราไม่ทุกข์ จิตเราไม่ทุกข์ มันก็พ้นทุกข์ จิตเรามีทุกข์อยู่มันก็ไม่พ้นทุกข์ ไม่ใช่สิ่งอื่นเป็นทุกข์ ทุกข์เพราะเราไปปรุงไปแต่ง เพราะเราไปก่อภพก่อชาติขึ้น คืออธิบายมาแล้ว ไปก่อกรรมก่อเวรมาแล้ว หมดกรรมหมดเวรหมดภัยคือ จิตสงบอันเดียว ไม่มีวิธีอื่นที่จะล้างบาปล้างกรรมนอกจากนั่งสมาธิจิตสงบนี้

เมื่อจิตสงบแล้วหมด เพราะไม่ได้ไปก่อบาปก่อกรรม มโน ปุพฺพงฺคมา ธมฺมา บุญและบาปสิ่งใดใจมันถึงก่อน มโน คือความน้อมนึก ธัมมา คือความคิด บุพพ คือเบื้องต้น มันเกิดจากต้น จากตนนี้เอง เราก็เพ่งเล็งดูซิ มันเป็นกรรมอยู่ที่ไหนเล่า มโนกรรม ฉะนั้น เราเพ่งพิจารณาให้มันรู้ซิ กรรมดีก็อธิบายให้ฟังแล้ว กรรมชั่วก็อธิบายให้ฟังแล้ว แน่นอนลงไป เชื่อมั่นลงไป เราจะเอากรรมอันใดเล่า นี้ให้มันรู้มันเห็นซิ สนฺทิฏฺฐฺิโก ผู้ปฏิบัติ ถ้าเราไม่รู้ไม่เห็นแล้ว มันก็ละไม่ได้ เลิกไม่ได้ความชั่ว ถ้ารู้แล้วมันก็เลิกก็ละ จะเอาไปทำไมในความชั่ว จะเอาไปทำไมทุกข์ เราไม่ใช่ทุกข์ ใครเป็นผู้เป็นเล่า ? เราเป็นผู้เป็น ใครปรุง ใครแต่ง เราเป็นผู้ปรุงผู้แต่ง พิจารณาให้มันแน่นอนลงไปซิ ไม่มีผู้อื่นปรุงแต่งให้ ไม่มีบุคคลอื่นทำให้ เราทำเอาเอง นั่งอยู่เดี๋ยวนี้แหละ ไม่ต้องสงสัยละ มันเป็นสุขหรือมันเป็นทุกข์ มันเป็นทุกข์ ก็นั่นแหละความชั่ว มันเป็นสุข ก็นั่นแหละความดี ให้พากันอยากดี ปรารถนาดี ให้มันรู้มันเห็นซิ เอา จะไม่อธิบายแล้วต่อไป ถ้าจะมีเสียงอะไรก็ตาม สัญญาไว้ว่าสิ่งเหล่านั้นไม่มีอันตรายแล้ว และก็ไม่ต้องเดือดร้อน ต่างคนต่างโอปนยิโก น้อมเข้าไปให้ถึงใจของตน ไม่นานก็สัก ๓๐ นาที ทดลองดูซิ........

ตอนนี้นั่งสมาธิประมาณ ๓๐ นาที

มันหลุดพ้นตรงนี้ เป็นยังไงก็พิจารณาให้มันแน่นอนลงไป เชื่อมั่นลงไป ให้มันรู้จริงเห็นจริง นี่แหละเป็นข้อสำคัญ พระพุทธเจ้าทรงเทศนาไว้แล้ว ความเป็นอยู่ ความมีอยู่ ให้รู้กันต่อไป ถ้าไม่ทำมันก็ไม่รู้ เราเป็นอะไรอยู่ นั่งเพ่งเล็งให้รู้ อยากรู้ อะไรไปเกิดหรือไม่ได้เกิดก็ให้มันรู้ เป็นนรกหรือเป็นสวรรค์ก็ให้มันรู้ มันสุขมันทุกข์ก็ให้มันรู้ อยากรู้ ไม่ใช่อื่นไกล นี่ข้อสำคัญ เข้าใจไหมล่ะ ต่างคนต่างทำให้มันรู้มันเห็น เป็นยังไงล่ะ...วันนี้ หือ...

(เสียงศิษย์) ค่ะ อยู่ไกลค่ะ ไม่เห็นนั่งอยู่ที่นี่ เห็นนั่งอยู่ไกลลิบโน่น...เห็นมีไฟส่อง...


(เสียงท่านอาจารย์) อยู่ไกลเหรอ ? แน่ ! มันก็รู้เหมือนกันซิ มันเป็นสุขไหมล่ะ ฮั่น นั่นละให้รู้ไว้ อยากสุขอยากสบาย อันนั้นแหละความสุข นั่นแหละความดี มีนั่นแหละเป็นบุญ เป็นวาสนาบารมีของเรา เป็นนิสัยของเรา ธรรมนั้นย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม ผู้ปฏิบัติธรรม ไม่ใช่ธรรมอื่นรักษา เรื่องเป็นอย่างงั้น...หือ ! ยังไงล่ะ

(เสียงท่านอาจารย์) เห็นไหมล่ะ ตัวเจ้าของเข้าใจไหมล่ะ ที่อธิบายให้ฟัง ทำไมไม่พิจารณาตามเล่าดูเจ้าของ นั่น...มันเป็นสุขหรือเป็นทุกข์เล่า แน่ ! ทำไมไม่ดูเล่า ดูอะไรเหอ...ให้ดูเจ้าของบอกแล้วจะไปดูอื่นไงเล่า มันเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ เราว่าทำอะไรมันไม่ดี อะไรไม่ดีเล่า ใจเราไม่ดี ทำอะไรมันดี อะไรดีเล่า ใจเรามันดีก็อันนี้ ความพ้นทุกข์อะไรมันพ้น ใจเราไม่ทุกข์ ใจเราไม่ทุกข์แสดงว่าพ้นทุกข์เป็นอย่างงั้น ให้หมั่นทำนะต่อไป เฮ้อ ! เกิดมาไปดูแต่การแต่งานอื่น ไปเรียนอย่างอื่น หัวใจเราไม่เรียน มันจึงได้เป็นทุกข์เป็นยาก มันยุ่งยากวุ่นวายเดือดร้อน เรียนหัวใจแล้วแก้ไขนี่ได้แล้ว มันไม่ยุ่ง มันดี

นี่ พุทฺโธ เม สามิกิสฺสโร กิจพระพุทธศาสนาเป็นของสำคัญ กิจไหนจะเท่ากิจพระพุทธศาสนา กิจพุทธศาสนาคือมารู้จักชาติของเราน่ะซิ...เหอ...นี่เราไม่รู้จักชาติของเรา มันเป็นอะไรอยู่ อะไรรักษาเราอยู่ นี่ให้รู้จัก ให้มันรู้ให้มันเห็นซิ หือ ! เป็นอย่างไง ? หือ ! แม่ชีเป็นอย่างไงล่ะ แม่ชีกลางคืนนั่งหมดเช้า ? จะไปภูวัวไหมล่ะ ? หือ...ยังเป็นตั้งใจ เอ้า ! ตั้งไว้ก็ดี อย่าให้มันล้มเสียเล่า อย่าให้มันล้มนา มันล้มใช้ไม่ได้นา เหมือนกับตุ่มน้ำโอ่งน้ำมันล้มนะ ฝนตกมาเท่าไร มันก็ไม่เข้านะ ใจเราถ้ามันตั้ง ฝนตกมามันก็เข้า ถ้าใจเราล้ม แล้วโอวาทธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามันก็ไม่เข้าถึงใจ เข้าถึงใจมันก็รู้ ทีนี้มันไม่เข้าถึงใจ มันไปอยู่ข้างนอก มันไปหาสุขหาทุกข์ข้างนอกกันมันก็เลยไม่เห็น หาดี หาชั่วข้างนอกมันก็ไม่เจอสักที โอปนยิโก น้อมเข้ามาให้เห็น แน่...มันก็ทำได้ ใจของเราเป็น ไม่ใช่อื่นเป็น เราก็รีบมาแก้ไข พิจารณาภายในซิ มันเกิดจากใน ไม่ใช่มันเกิดจากนอก มรรคผลทั้งหลาย สุขทุกข์ทั้งหลาย อุปมาอุปไมยเหมือนกับผลไม้ มันไม่ได้เกิดมาจากอื่น มันงอกมาจากใน นี่แหละความเกิดของคนมันเหมือนกับเม็ดมะพร้าว ลูกมะพร้าวเห็นลูกกลมเฉยๆ มันจะมีอะไรไหม พอเรามีทุกข์อะไรขึ้นมาเอาไปปลูกเข้า งอกขึ้นมาเป็นต้น เป็นลำขึ้นมา เกิดขึ้นมาจากนั้นเองล่ะ นี่ก็ฉันใด สุขทุกข์ทั้งหลาย มันงอกขึ้นจากใจของเรา มิใช่อื่นไกล...หือ...เป็นยังไง...

(เสียงศิษย์) ทำยังไง อย่าให้หลับ...

(เสียงท่านอาจารย์) อย่าให้หลับเหรอ ใจดีไหมเล่า...

(เสียงศิษย์) ดีค่ะ...


เอ้อดี ให้มันรู้ซิ เราอยากรู้เรามีโอกาสน้อยอย่าว่าน้อย อกาลิโก ไม่เลือกกาลเลือกเวลา ทำมันแน่นอนลงไป ใครจะทำให้เราเล่า ไม่ใช่พระพุทธเจ้าจะทำให้ เราทำเอา เราปฏิบัติเอา กรรมทั้งหลายไม่ใช่พระพุทธเจ้าทำให้ เทวบุตร เทวดา ญาติพี่น้องทำให้ มโนกรรมเราทำเอาทั้งนั้น เราสร้างเอาทั้งนั้น ให้นั่งดูซิ ให้มันรู้มันเห็นมันซิ อา นี่ ให้มันแน่นอนลงไปซิ มันเห็นแล้วมันก็ละสักกายทิฏฐิ แน่ะ ! ผู้จะเข้าถึงมรรคในเบื้องต้น คือมรรคทั้งสี่ โสดา สกิทาคา อนาคา อรหัตตา...โสดามรรค โสดาผล สกิทาคามรรค สกิทาคาผล อนาคามรรค อนาคาผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล ตลอดมรรค ก็แปลว่าการกระทำ การแต่ง การปฏิบัติ

เมื่อเราปฏิบัติเต็มที่แล้ว มันก็ได้มรรค เมื่อได้มรรคมันก็ได้รับผล ผลความสุขความสบาย ถ้าเราทำกรรมดี ถ้าเราทำกรรมชั่ว ก็ได้รับผลความทุกข์ เป็นอย่างงั้นนี่แหละ เหตุนั้นจะให้พิจารณาไม่ใช่ตัวตน อือ ! ก็ไม่หลับซิ เห็นแล้วมันไม่ใช่ตัวตน แน่ ! ก็ไม่ง่วงไม่เหงา อือ ! บอกแล้วอาศัยอาการที่ ๓๒ ตรงนี้ เพ่งเล็งดูแล้วมันก็ละสักกายทิฏฐิ มันเห็นแล้วมันก็ไม่เป็นตัวเป็นตนแล้ว ผมเป็นคนยังไงเล่าผม ขนเป็นคนอย่างไงเล่าขน อือ ! เล็บเป็นคนยังไงเล่าเล็บ ฟันเป็นคนยังไงว่าฟัน หนังเป็นคนยังไงว่าหนัง เนื้อเป็นคนยังไงว่าเนื้อนั่น คนอยู่ที่ไหนละ ? มันไม่มี เป็นสมมุติเฉยๆ เล่า เราเห็นอย่างงั้นแล้ว มันก็เอาอะไรมา ง่วงเหงาหาวนอนละมันก็ไม่มี จิตมันพุทโธ มันก็สว่างไสวซิ มันเห็นเป็นอย่างงั้นแล้ว มันก็ละสักกายทิฏฐิซิว่าไม่ถือเป็นตัวเป็นตน ละวาง ปล่อยแล้ว วิจิกิจฉาความสงสัยว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่มีเสียแล้ว มันเป็นจริงอย่างนั้น มันเต็มไปด้วยของไม่สะอาดทั้งหมด แน่ ! เห็นจริงแจ้งประจักษ์อย่างงั้น สีลัพพตปรามาส การลูบคลำเรื่องศีล เรื่องธรรม เรื่องบุญเรื่องบาปไม่ต้องลูบคลำแล้ว เห็นจริงแจ้งประจักษ์ ปจฺจตฺตํ แล้ว เฮ่อ ! สุขจริงๆ ทุกข์จริงๆ ดีจริงๆ ชั่วจริงๆ ศีลความปกติกาย ปกติใจของเรา จะไปลูบคลำอยู่ที่ไหนเล่า เราไม่ต้องไปหาอยู่ที่โน่นหาอยู่ที่นี่ ไม่ต้องหาล่ะ หาธรรม โอปนยิโก ให้น้อมเข้ามา คนทั้งหลายไปหาธรรมไม่ถูก ไปหาอย่างอื่น สุขก็ไปหาอยู่ทางโน้น สุขทางอื่นมีไหมล่ะ ทุกข์ไปหาทางอื่นไม่มีนี่ นั่นไปหาทำไมล่ะ จิตของเราสงบ มันก็เป็นสุข จิตไม่สงบ มันก็เป็นทุกข์ อย่าไปก่อภพ ก่อชาติ เห็นไหมโลกันตนรก จิตไปก่อภพ มันก็ตกนรกน่ะ อือ โลกันตนรก อยู่ในครรภ์มารดา แน่...ให้พิจารณาดูซิ อย่าหลงต่อไปให้มันรู้

(ท่านถาม) หือ กี่ทุ่มแล้ว...นี่ ?

เอาละ พอกันที เลิกได้


:b8: :b8: :b8: ที่มา : หน้า ๓๙๘-๔๐๗
หนังสือภาพ ชีวประวัติ และปฏิปทาของพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร
วัดป่าอุดมสมพร ตำบลพรรณา อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร
หนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร


• ประวัติและปฏิปทา “หลวงปู่ฝั้น อาจาโร”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=58068

• รวมคำสอน “หลวงปู่ฝั้น อาจาโร”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=44391

• ประมวลภาพ “หลวงปู่ฝั้น อาจาโร” วัดป่าอุดมสมพร
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=42819


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 พ.ย. 2020, 09:37 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 9
สมาชิก ระดับ 9
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 เม.ย. 2015, 09:43
โพสต์: 702

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ขออนุโมทนาสาธุนะครับ
:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 พ.ย. 2020, 14:48 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 มิ.ย. 2007, 13:49
โพสต์: 1012


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:

.....................................................
ทำความดีทุกๆ วัน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ก.ค. 2021, 14:09 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2758


 ข้อมูลส่วนตัว


Kiss
:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ส.ค. 2021, 09:56 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2863


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 5 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 6 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร