วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 05:27  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ธ.ค. 2008, 10:25 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 19 มี.ค. 2005, 04:18
โพสต์: 1877


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

เส้นทาง “บาตรพระ” หนึ่งในอัฐบริขาร

บาตร ภาชนะใส่อาหารสำหรับพระภิกษุสามเณร ถือว่าเป็นของใช้ที่มีความสำคัญสำหรับสงฆ์เป็นอย่างมาก และ เป็นหนึ่งในอัฐบริขาร 8 อย่าง ที่บัญญัติไว้ในพระธรรมวินัย ได้แก่ สบง (ผ้านุ่ง), จีวร (ผ้าห่ม), สังฆาฏิ (ผ้าพาดบ่า), ประคดเอว, บาตร, มีดโกนหรือมีดตัดเล็บ, เข็ม และกระบอกกรองน้ำ

บาตรที่ตรงตามหลักพระธรรมวินัย

แม้ว่าปัจจุบันจะมีการผลิตบาตรพระ หลายรูปแบบออกมาจำหน่าย แต่บาตรที่มีลักษณะตรงตามหลักพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้มี 2 ชนิดเท่านั้นคือ ‘บาตรดินเผา’ และ ‘บาตรเหล็กรมดำ’ โดยควรมีขนาด 7-11 นิ้ว อีกทั้งพระพุทธองค์ยังทรงบัญญัติห้ามไม่ให้พระภิกษุใช้บาตรที่ทำจากโลหะหรือวัสดุที่มีมูลค่าสูง เช่น ทอง เงิน ทองเหลือง ทองแดง อัญมณี และแก้วผลึกต่างๆ แม้แต่บาตรที่ทำจากดีบุก สังกะสี หรือไม้ ก็ใช้ไม่ได้

อย่างไรก็ดี ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน วัดบางแห่งจึงอนุโลมให้ใช้บาตรที่ทำจากสแตนเลส เนื่อง จากสะดวกในการดูแลรักษาและทำความสะอาดง่าย จึงเป็นที่นิยมในหมู่สงฆ์ ส่วนฝาบาตรนั้นในสมัยพุทธกาลจะทำจากไม้ แต่ปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้ฝาสแตนเลสแทน เนื่องจากฝาบาตรที่ทำจากไม้มีปัญหาแตกหักง่าย แต่พระระดับเกจิ ในภาคอีสานบางรูปก็ยังใช้ฝาบาตรที่ทำจากไม้อยู่ โดยนำไม้มะค่าหรือไม้ประดู่มากลึงให้ได้รูปทรงเข้ากับตัวบาตร

วัตรปฏิบัติในการใช้บาตร

พระครูใบฎีกาขาล สุขฺมโม วัดพระรามเก้า กาญจนาภิเษก ได้ให้ความรู้ในเรื่องนี้ว่า

“พระพุทธเจ้าทรงห้ามไม่ให้ภิกษุสามเณรใช้บาตรที่ทำจากโลหะมีค่า เนื่องจากเกรงว่าจะทำให้พระได้รับอันตรายจากโจรผู้ร้ายที่มาแย่งชิงบาตร เพราะในสมัยพุทธกาลนั้น นอกจากพระจะออกบิณฑบาตเพื่อนำอาหารมาขบฉันแล้ว ก็ยังต้องออกธุดงค์ไปตามเมืองต่างๆ เพื่อเผยแผ่ธรรมะ ด้วย อีกทั้งการใช้บาตรที่ทำจากของที่มูลค่าสูงอย่างเงินหรือทองคำ อาจทำให้พระเกิดกิเลสได้ง่าย แต่ในปัจจุบันบางวัดอาจอนุโลมให้ใช้บาตรสแตนเลสได้ ในกรณีพระที่บวชไม่นาน เช่น บวชหน้าไฟ บวชช่วงเข้าพรรษา 1-3 เดือน

นอกจากนั้นพระพุทธเจ้ายังทรงบัญญัติว่า ห้ามพระภิกษุใช้บาตรที่มีขนาดเกิน 11 นิ้ว เนื่องจากในสมัยพุทธกาลมีภิกษุรูปหนึ่งโลภมาก จึงใช้บาตรลูกใหญ่ในการบิณฑบาต หากบิณฑบาตได้อาหารดีๆ ก็จะนำไปซ่อนไว้ใต้บาตร เพื่อที่จะได้ฉันคนเดียว เมื่อบิณฑบาตได้อาหารจำนวนมากก็ฉันไม่หมด เน่าเสีย ต้องเททิ้ง ขณะที่พระบางรูปไม่มีอาหารจะฉัน พระพุทธเจ้าเห็นดังนั้นจึงทรงบัญญัติห้ามไม่ให้ใช้บาตรที่มีขนาดใหญ่เกินไป”

อย่างไรก็ดี พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติพระธรรมวินัย เกี่ยวกับการใช้บาตรของพระภิกษุสงฆ์ไว้หลายประการ เช่น ในการบิณฑบาตให้พระภิกษุรับบาตรได้ไม่เกิน 3 บาตร ซึ่งหมายถึงว่าเมื่อบิณฑบาตจนเต็มแล้ว สามารถถ่ายของออกจากบาตร และรับบาตรได้อีกไม่เกิน 3 ครั้ง, เวลาบิณฑบาต ห้ามสะพายบาตรไว้ด้านหลัง เพื่อป้องกันไม่ให้บาตรไปชนอะไรแตกหักเสียหาย, ห้ามเปิดประตูขณะที่มือถือบาตรอยู่ เพราะอาจทำให้บาตรหล่นและแตกหักได้ ต้องวางบาตรให้เรียบร้อยก่อนแล้วค่อยเปิดประตู, ขณะที่ถือบาตรอยู่ห้ามห่มจีวร ต้องวางบาตรให้เรียบร้อยก่อนจึงจะทำการขยับหรือนุ่งห่มจีวร, ห้ามวางบาตรชิดขอบโต๊ะ โดยต้องวางให้ห่างจากขอบโต๊ะอย่างน้อย 1 ศอก เพื่อป้องกันบาตรตกแตกเสียหาย

ทรงตะโกนิยมสุด

รูปทรงของบาตรพระที่นิยมใช้ในประเทศไทยนั้น ‘หิรัญ เสือศรีเสริม’ ช่างแห่งชุมชนบ้านบาตร ซึ่งสืบทอดการตีบาตร มาเป็นรุ่นที่ 6 ของตระกูล อธิบายว่า บาตรพระนั้นมีอยู่ 5 ทรงด้วยกัน คือ

1. ทรงไทยเดิม มีฐานป้าน ก้นแหลม จึงไม่สามารถวางบนพื้นได้ ต้องวางบนฐานรองบาตร

2. ทรงตะโก ฐานมีลักษณะคล้ายทรงไทยเดิม แต่ก้นมนย้อย สามารถวางบนพื้นได้

3. ทรงมะนาว รูปร่างมนๆ คล้ายกับผลมะนาวแป้น

4. ทรงลูกจัน เป็นบาตรทรงเตี้ย ลักษณะคล้ายทรงมะนาว แต่จะเตี้ยกว่า และ

5.ทรงหัวเสือ รูปทรงคล้ายกับทรงไทยเดิม แต่ส่วนฐานตัดเล็กน้อย สามารถวางบนพื้นได้

สำหรับทรงไทยเดิมและทรงตะโกนั้น จัดว่าเป็นทรงโบราณ ที่มีมานับร้อยปีแล้ว ขณะที่ทรงมะนาวและทรงลูกจันนั้นมี อายุประมาณ 80-90 ปี ส่วนทรงหัวเสือเป็นรุ่นหลังสุด มีมาประมาณ 30 ปี เป็นทรงที่พระสายธรรมยุตนิยมใช้ ส่วนทรงที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในปัจจุบันได้แก่ทรงตะโก

รูปภาพ

กว่าจะเป็นบาตรพระ

ว่ากันว่าบาตรที่ถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัยนั้น ต้องเป็นบาตรบุ หรือบาตรที่ทำขึ้นด้วยมือ และประกอบด้วยเหล็ก 8 ชิ้น มิใช่บาตรหล่อซึ่งผลิตด้วยเครื่องจักรอย่างที่พระบวชใหม่บางรูปใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งการทำบาตรบุนั้นมี ขั้นตอนต่างๆ มากมาย กว่าจะได้บาตรมาแต่ใบ โดยจะแบ่ง คร่าวๆ เป็น 7 ขั้นตอน คือ

ขั้นตอนที่ 1 ทำขอบบาตร ซึ่งถือเป็นขั้นตอนแรกของการทำบาตรพระ เนื่องจากขอบบาตรจะเป็นตัวกำหนดว่าบาตรใบนั้นจะมีขนาดและรูปทรงอย่างไร การขึ้นรูปขอบบาตรเริ่มจากการนำเหล็กมาตัดตามแต่ขนาดของบาตร เช่น บาตรขนาด 7 นิ้ว จะต้องตัดแผ่นเหล็กให้มีความยาว 8 นิ้ว เพื่อเหลือเนื้อที่ไว้ประกบปลายทั้งสองข้าง เมื่อได้เหล็กที่มีขนาดตามต้องการแล้ว ก็นำมาตีขมวดเป็นวงกลม ซึ่งเหล็กที่นำมาใช้นั้นจะใช้ฝาถังน้ำมันหรือใช้เหล็กแผ่นก็ได้

ขั้นตอนที่ 2 การประกอบกง ช่างจะตัดแผ่นเหล็กเป็นรูปกากบาท ซึ่งเรียกว่า ‘กง’ จากนั้นจึงดัดงอขึ้นรูปแล้วนำมาติดกับขอบบาตร เมื่อขึ้นรูปเสร็จจะเหลือช่องว่างรูปสามเหลี่ยมใบโพ 4 ช่อง ช่างจะวัดและตัดแผ่นเหล็กรูปร่างเหมือนใบหน้าวัว 4 ชิ้น ที่เรียกว่า ‘หน้าวัว’ หรือ ‘กลีบบัว’ จักฟันโดยรอบเพื่อใช้เป็นตะเข็บเชื่อมกับส่วนต่างๆ ตีให้งอเล็กน้อยตามรูปทรงของบาตร ซึ่งเมื่อประกอบกันแล้ว จะได้บาตรที่มีตะเข็บ 8 ชิ้นพอดี

ขั้นตอนที่ 3 การแล่น คือการเชื่อมประสานรอยตะเข็บ ให้เหล็กเป็นเนื้อเดียวกัน โดยใช้ผงทองแดงกับน้ำประสานทองทาให้ทั่วบาตรก่อน เพื่อให้น้ำประสานทองเชื่อมโลหะไม่ให้มีรูรั่ว สมัยโบราณใช้เตาแล่นแบบที่ใช้มือสูบลมเร่งไฟ แต่ปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้เครื่องเป่าลมไฟฟ้าแทน

ขั้นตอนที่ 4 การลาย หรือการออกแบบรูปทรง เป็นการนำบาตรที่แล่นแล้วมาเคาะให้ได้รูปทรงที่ต้องการ โดยจะใช้ ‘ค้อนลาย’ ซึ่งเป็นค้อนรูปโค้งงอ หัวค้อนมีลักษณะแหลม เคาะด้านในของบาตร สำหรับที่รองเคาะนั้นเป็นทั่งไม้สี่เหลี่ยมขนาดพอเหมาะกับบาตร

ขั้นตอนที่ 5 การตี ช่างจะใช้ค้อนเหล็กตีผิวด้านนอกของบาตรให้รอบ เพื่อให้ส่วนที่นูนออกมาจากการลายเรียบเสมอกัน รวมทั้งตีให้รอยตะเข็บที่ยังขรุขระเรียบเสมอกัน จากนั้นต้องนำไป ‘ตีลาย’ บนทั่งไม้ เพื่อให้ได้รูปทรงตามต้องการ แล้วนำไปเจียรต่อโดยใช้เครื่องเจียรไฟฟ้า แล้วจึงตะไบตกแต่งให้สวยงามอีกครั้ง ซึ่งจะได้บาตรสีเงินขึ้นเงาแวววับ

ขั้นตอนที่ 6 การสุม หรือระบมบาตร เพื่อป้องกันการเกิดสนิม โดยในสมัยก่อนจะใช้กำมะถันทา จากนั้นจึงนำบาตรมากองรวมๆ กัน แล้วใช้หม้อครอบสุม เชื้อเพลิงที่ใช้จะเป็นเศษไม้สักจากร้านขายเครื่องไม้ซึ่งมีอยู่รอบภูเขาทอง เนื่องจากไม้สักเป็นไม้ที่ให้ความร้อนสูง ซึ่งบาตรที่ได้จากการสุมจะมีสีดำ จากนั้นจึงใช้น้ำมันมะพร้าวทาทับอีกครั้ง แต่ปัจจุบันนิยมใช้น้ำมันกันสนิมชโลมให้ทั่วตัวบาตรแทน

ขั้นตอนที่ 7 การทำสี อันเป็นขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งทำให้บาตรเป็นสีต่างๆ เช่น สีเขียว สีดำสนิท นั้นถือเป็นเทคนิค เฉพาะตัวของช่างแต่ละคน รวมทั้งการแกะสลักลวดลายไทย การตีตรา การสลักชื่อช่างผู้ทำ ซึ่งจะทำหรือไม่ก็แล้วแต่ความพอใจของช่างตีบาตร

มีทั้งสุมเขียว และรมดำ

ส่วนสีของบาตรพระนั้นส่วนใหญ่จะนิยมสีดำเป็นหลัก ซึ่ง ‘หิรัญ’ ช่างเก่าแก่ของบ้านบาตร เล่าถึงวิธีการทำสีว่า โดยทั่วไปจะมีอยู่ 2 แบบ คือ ‘สุมเขียว’ และ ‘รมดำ’ ซึ่งสุมเขียว ก็คือการนำเศษไม้สักมาเผาให้เกิดความร้อน แล้วจึงนำบาตรไปเผาในฟืนไม้สัก บาตรที่ได้จะเป็นสีเขียวปีกแมลงทับ

ส่วนรมดำคือการนำบาตรไปเผาจนดำ รอให้เย็น จากนั้นจึงนำน้ำยาที่ทำจากส่วนผสมของใบขี้เหล็ก แอลกอฮอล์ และชะแล็ก มาทาให้ทั่วทั้งด้านนอกและด้านในบาตร ตากให้แห้ง แล้วนำไปรมควันอีกครั้ง ถ้าอยากให้สีดำสนิทก็ให้ทาน้ำยาหลายๆ เที่ยว นอกจากนั้นปัจจุบันยังมีการทำให้เกิดลวดลาย ด้วยการใช้ค้อนค่อยๆ ตีให้ขึ้นลาย ซึ่งเรียกกันว่า ‘บาตรตีเม็ด’

“ถ้าเป็นพระสายธรรมยุต ส่วนใหญ่ท่านได้บาตรที่ตะไบจนขึ้นเงา แล้วมาก็จะนำไปบ่มเอง การรมดำกับการบ่มบาตร ไม่เหมือนกันนะ รมดำใช้เวลาแค่ชั่วโมงเดียว แต่บ่มบาตรใช้เวลาทั้งวันทั้งคืน ซึ่งช่างแถวบ้านบาตรเราไม่มีความรู้ทางด้านนี้ไม่รู้ว่าท่านทำยังไง แต่พระสายธรรมยุตท่านเก่งมาก เพราะการบ่มบาตรต้องใช้ความอดทนสูง ท่านเก่งกว่าเรา (หัวเราะ) แต่ละวัดไม่เหมือนกัน บางวัดจะใช้บาตรที่มีสีเงินเงาวับ ซึ่งเรียกว่าบาตรตะไบขาว แต่ถ้าเป็นพระสายธรรมยุต จะใช้บาตรซึ่งมีดำสนิท” ช่างตีบาตรจากบ้านบาตรกล่าว

สนนราคาตั้งแต่ 300-1,700

สำหรับสนนราคาของบาตรพระนั้น ขึ้นอยู่กับขนาดและวิธีการทำ บาตรบุซึ่งทำด้วยเหล็กจะมีราคาแพงกว่าบาตรปั๊มสแตนเลส โดยบาตรขนาด 7 นิ้ว หากเป็นบาตรบุราคา จำหน่ายอยู่ที่ 900 บาท ส่วนบาตรปั๊ม มีราคาเพียง 600 กว่าบาท (ต้นทุนที่ทางร้านเครื่องสังฆภัณฑ์รับมาขายอยู่ที่ 100 กว่าเท่านั้น)

ขนาด 8.5 นิ้ว บาตรบุราคา 1,400 บาท ส่วนบาตรปั๊ม ราคา 650 บาท สำหรับบาตรขนาดมาตรฐาน 9 นิ้ว บาตรบุราคา 1,500 บาท บาตรปั๊ม ราคา 1,700 บาท ส่วนบาตร ขนาด 11 นิ้วนั้นปัจจุบันไม่มีการทำออกมาจำหน่ายแล้ว ทั้งนี้ หากเป็นบาตรปั๊มที่ทำจากเหล็กราคาจะถูกกว่ามาก โดยอยู่ที่ใบละ 300-600 บาทเท่านั้น

‘วันทนา แต่มีบุญ’ เจ้าของร้านเพ้งสหพันธ์ ย่านเสาชิงช้า บอกว่า ปัจจุบันร้านสังฆภัณฑ์ต่างๆจำหน่ายแต่บาตรปั๊มสแตนเลส ส่วนบาตรบุไม่มีจำหน่ายแล้ว เนื่องจากผู้ที่ผลิตบาตรบุไม่สามารถทำส่งได้ทัน ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ราคาบาตรปั๊มปรับตัวสูงขึ้นกว่าแต่ก่อน เพราะไม่มีคู่แข่ง

“เดี๋ยวนี้พระท่านนิยมบาตรสแตนเลสมากกว่า เพราะดูแลรักษาง่าย ส่วนบาตรบุตีตะเข็บไม่ค่อยนิยมแล้ว เพราะมักมีปัญหาบาตรรั่วบริเวณแนวตะเข็บ อีกอย่างช่างก็ทำไม่ค่อยทัน ถ้าพูดถึงยอดขายในช่วงเข้าพรรษานี้ ก็ไม่ค่อยดีเท่าไร อาจเป็นเพราะส่วนใหญ่จะอุปสมบทช่วงเดือนมิถุนายน เพื่อถวายเนื่องในวโรกาสครองราชย์ครบ 60 ปีของในหลวง”

พระสึกแล้ว บาตรไปไหน

บางคนอาจสงสัยว่าในแต่ละปีมีพระภิกษุที่บวชในช่วงเข้าพรรษา และลาสิกขาไปในช่วงออกพรรษา รวมทั้งภิกษุสามเณรที่บวชภาคฤดูร้อนเป็นจำนวนมาก เมื่อภิกษุสามเณรเหล่านี้ลาสิกขาไปแล้ว บาตรพระที่ท่านใช้อยู่หายไปไหน มีการนำกลับมาเวียนใช้ใหม่หรือไม่ และหากเป็นวัดที่มีการอุปสมบทภาคฤดูร้อนเป็นประจำ พระท่านจะจัดการกับบาตรที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปีอย่างไร พระครูใบฎีกาขาล สุขมฺโม ไขข้อข้องใจในเรื่องนี้ว่า

“เวลาที่พระภิกษุหรือสามเณรสึกออกไป จะไม่นิยมนำผ้าจีวรหรือบาตรกลับบ้าน แต่จะทิ้งไว้ที่วัดเพื่อเป็นการทำบุญ ซึ่งหากบาตรของพระรูปใดแตก ร้าว หรือบิ่น ท่านก็จะนำบาตรเหล่านี้มาใช้แทน ถ้าในกรณีที่วัดนั้นมีการบวชภาคฤดูร้อน ก็จะนำบาตรดังกล่าวมาให้สามเณรที่บวชใหม่ได้ใช้ เพื่อเป็นการสนับสนุนให้เด็กๆ ได้บวชเรียน แต่ถ้าเป็นบวชภาคฤดูร้อนของพระภิกษุ ผู้ที่จะบวชต้องนำบาตรมาเอง เพราะถือเป็นหนึ่งในอัฐบริขารที่ผู้บวชต้องมี

อย่างที่วัดพระรามเก้า กาญจนาภิเษก ที่อาตมาอยู่นั้น ก็มีการบวชสามเณรภาคฤดูร้อนทุกปี เราก็จะจัดสรรบาตรเตรียมไว้ให้สามเณรบวชใหม่ ถ้ามีเหลือเราก็จะส่งไปให้พระสงฆ์ที่มหามกุฎราชวิทยาลัย ที่ อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีพระภิกษุสามเณรบวชเรียนอยู่ประมาณ 1,000 กว่ารูป เพราะเราเห็นว่าบาตรแต่ลูกหากใช้ไปหลายๆ ปีก็อาจจะกะเทาะ หรือมีรอยบุบ พระ-เณรท่านจะได้ใช้บาตรที่เราส่งไปแทนได้”

กล่าวได้ว่าเส้นทางของ ‘บาตรพระ’ คงไม่แตกต่างจากการเดินเข้าสู่เส้นทางธรรมของบรรดาชายหนุ่ม ที่พร้อมจะสละความสุขทางโลก เพื่อแสวงหาธรรมะขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเส้นทางนั้นต้องผ่านการเคี่ยวกรำ เฉกเช่นการตีและบ่มบาตร อีกทั้งพร้อมที่จะเสียสละตนเองทุกเมื่อเพื่อดำรงไว้ซึ่งพุทธศาสนา

รูปภาพ

บ้านบาตร : วิถีของช่างตีบาตร

หากจะพูดถึงแหล่งตีบาตรพระที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยแล้วละก็ เป็นที่ไหนไปไม่ได้นอกจาก ‘ชุมชนบ้านบาตร’ ซึ่งปัจจุบัน ตั้งอยู่บริเวณสี่แยกเมรุปูน ใกล้วัดสระเกศ ซอยบ้านบาตร ถนนบำรุงเมืองและถนนบริพัตร แขวงสำราญราษฎร์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร

สันนิษฐานว่าบ้านบาตร เกิดจากการรวมตัวของชาวกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีความชำนาญด้านการตีบาตรที่ได้อพยพเข้ามาอยู่ใน กรุงเทพฯ ราวพ.ศ.2326 สมัยที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดให้สถาปนากรุงเทพมหานครขึ้นเป็นราชธานี และเนื่องจากในช่วงต้นของราชวงศ์จักรีนั้น พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ และผู้มีฐานะ นิยมสร้างวัด ทำให้กรุงเทพฯ มีวัดและพระสงฆ์อยู่เป็นจำนวนมาก การตีบาตรพระจึงเป็นอาชีพหนึ่งที่เฟื่องฟูมากในขณะนั้นและกลาย เป็นอาชีพที่หล่อเลี้ยงชีวิตของชาวบ้านบาตรเรื่อยมา

จนกระทั่งปี พ.ศ.2514 ได้มีการก่อตั้งโรงงานผลิตบาตรพระขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบอย่างหนักต่อชาวบ้านบาตร ชนิดที่เรียกว่า แทบจะทำให้ชุมชนล่มสลายเลยทีเดียว เพราะครอบครัวที่ประกอบอาชีพตีบาตรพระ ต่างก็ต้องเลิกกิจการไปตามๆ กัน เนื่องจากยอดสั่งซื้อมีน้อยลง และถูกกดราคาจนไม่สามารถอยู่ได้

อย่างไรก็ดี ในปี พ.ศ.2544 ได้มีการตั้งกลุ่มทำบาตรพระขึ้นมาอีกครั้ง จากการสนับสนุนของนายชาญชัย วามะศิริ ผู้อำนวยการเขตป้อมปราบฯ โดยส่งเสริมให้บ้านบาตรกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งคนไทยและต่างชาติสามารถเข้ามาดูวิธีการทำบาตร และซื้อหาบาตรพระใบเล็กๆ ไปเป็นที่ระลึก ส่งผลให้กิจการของชาวบ้านบาตรเริ่มฟื้นตัวขึ้น เพราะนอกจากจะมีรายได้จากการตีบาตรสำหรับพระภิกษุแล้ว ชาวบ้านยังมีรายได้อีกส่วนหนึ่งจากการขายบาตรขนาดเล็กให้แก่นักท่องเที่ยวด้วย หลายครอบครัวที่เลิกอาชีพนี้ไปก็กลับมาทำอาชีพตีบาตรเหมือนเดิม ทำให้ปัจจุบันชุมชนบ้านบาตรกลับฟื้นคืนชีวิตขึ้นอีกครั้ง



.....................................................................

คัดลอกมาจาก ::
ผู้จัดการออนไลน์ 28 สิงหาคม 2549 13:36 น.

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 6 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร