วันเวลาปัจจุบัน 18 เม.ย. 2024, 13:07  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 7 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ก.ค. 2009, 07:12 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ในสมัยก่อน การเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ ในฤดูฝน
มีความยากลำบาก และเป็นช่วงฤดูทำไร่นาของชาวบ้าน
พระพุทธเจ้าจึงวางระเบียบให้พระสงฆ์หยุดการเดินทาง
เพื่อประจำอยู่ ณ สถานที่ใดที่หนึ่งในช่วงฤดูฝน

พระสงฆ์กำลังนั่งสนทนาธรรมในวัดป่าถ้ำยาว
ถ่ายที่: วัดป่าถ้ำยาว อำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร
Author : Tevaprapas Makklay


วันเข้าพรรษา (บาลี: วสฺส, สันสกฤต: วรฺษ, อังกฤษ: Vassa, เขมร: พม่า:​​​​)
เป็นวันสำคัญในพุทธศาสนาวันหนึ่ง ที่พระสงฆ์เถรวาทจะอธิษฐานว่า
จะพักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง ตลอดระยะเวลาฤดูฝนที่มีกำหนดเป็นระยะเวลา 3 เดือน
ตามที่พระธรรมวินัยบัญญัติไว้ โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น
หรือที่เรียกติดปากกันโดยทั่วไปว่า จำพรรษา
("พรรษา" แปลว่า ฤดูฝน, "จำ" แปลว่า พักอยู่)
พิธีเข้าพรรษานี้ถือเป็นข้อปฏิบัติสำหรับพระสงฆ์โดยตรง
ละเว้นไม่ได้ ไม่ว่ากรณีใด ๆ ก็ตาม[1]
การเข้าพรรษาตามปกติเริ่มนับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี
(หรือเดือน 8 หลัง ถ้ามีเดือน 8 สองหน)
และสิ้นสุดลงในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หรือวันออกพรรษา


วันเข้าพรรษา (วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8) หรือเทศกาลเข้าพรรษา
(วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ถึง วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11)
ถือได้ว่าเป็นวันและช่วงเทศกาลทางพระพุทธศาสนาที่สำคัญเทศกาลหนึ่งในประเทศไทย
โดยมีระยะเวลาประมาณ 3 เดือนในช่วงฤดูฝน
โดยวันเข้าพรรษาเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
ที่ต่อเนื่องมาจากวันอาสาฬหบูชา (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8)
ซึ่งพุทธศาสนิกชนชาวไทยทั้งพระมหากษัตริย์และคนทั่วไป
ได้สืบทอดประเพณีปฏิบัติการทำบุญในวันเข้าพรรษามาช้านานแล้วตั้งแต่สมัยสุโขทัย


สาเหตุที่พระพุทธเจ้าทรง อนุญาตการจำพรรษา
อยู่ ณ สถานที่ใดสถานที่หนึ่งตลอด 3 เดือนแก่พระสงฆ์นั้น
มีเหตุผลเพื่อให้พระสงฆ์ได้หยุดพักการจาริก
เพื่อเผยแพร่ศาสนาไปตามสถานที่ ต่าง ๆ
ซึ่งจะเป็นไปด้วยความยากลำบากในช่วงฤดูฝน
เพื่อป้องกันความเสียหายจากการอาจเดินเหยียบย่ำธัญพืชของชาวบ้านที่ปลูกลง
แปลงในฤดูฝน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่วงเวลาจำพรรษาตลอด 3 เดือนนั้น
เป็นช่วงเวลาและโอกาสสำคัญในรอบปีที่พระสงฆ์จะได้มาอยู่จำพรรษารวมกัน
ภายในอาวาสหรือสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง
เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยจากพระสงฆ์ที่ทรงความรู้
ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และสร้างความสามัคคีในหมู่คณะสงฆ์ด้วย


ในวันเข้าพรรษาและช่วงฤดูพรรษากาลตลอดทั้ง 3 เดือน
พุทธศาสนิกชนชาวไทยถือเป็นโอกาสอันดี
ที่จะบำเพ็ญกุศลด้วยการเข้าวัดทำบุญใส่บาตร
ฟังพระธรรมเทศนา ซึ่งสิ่งที่พิเศษจากวันสำคัญอื่น ๆ
คือ มีการถวายหลอดไฟหรือเทียนเข้าพรรษา
และผ้าอาบน้ำฝน (ผ้าวัสสิกสาฏก) แก่พระสงฆ์ด้วย
เพื่อสำหรับให้พระสงฆ์ได้ใช้สำหรับการอยู่จำพรรษา
โดยในอดีต ชายไทยที่เป็นพุทธศาสนิกชนเมื่ออายุครบบวช (20 ปี)
จะนิยมถือบรรพชาอุปสมบท เป็นพระสงฆ์เพื่ออยู่จำพรรษา
ตลอดฤดูพรรษากาลทั้ง 3 เดือน โดยพุทธศาสนิกชนไทย
จะเรียกการบรรพชาอุปสมบทเพื่อจำพรรษาตลอดพรรษากาลว่า "บวชเอาพรรษา"

นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2551 รัฐบาลไทยได้ประกาศให้วันเข้าพรรษา
เป็น "วันงดดื่มสุราแห่งชาติ"[2] โดยในปีถัดมา
ยังได้ประกาศให้วันเข้าพรรษาเป็นวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั่วราชอาณาจักร[3]
ทั้งนี้เพื่อรณรงค์ให้ชาวไทยตั้งสัจจะอธิษฐานงดการดื่มสุราในวันเข้าพรรษา
และในช่วง 3 เดือนระหว่างฤดูเข้าพรรษา เพื่อส่งเสริมค่านิยมที่ดีให้แก่สังคมไทย[4]

สำหรับในปี พ.ศ. 2552 นี้ วันเข้าพรรษา
จะตรงกับ วันพุธที่ 8 กรกฎาคม ตามปฏิทินสุริยคติ

:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ก.ค. 2009, 12:27 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


เนื้อหา

:b42: 1 ความสำคัญ

:b42: 2 มูลเหตุที่พระพุทธเจ้าอนุญาตการจำพรรษาแก่พระสงฆ์

:b42: 3 การเข้าพรรษาของพระสงฆ์ตามพระวินัยปิฎก
o 3.1 ประเภทของการเข้าพรรษาของพระสงฆ์
o 3.2 ข้อยกเว้นการจำพรรษาของพระสงฆ์
o 3.3 อานิสงส์การจำพรรษาของพระสงฆ์ที่จำครบพรรษา

:b42: 4 การถือปฏิบัติการเข้าพรรษาของพระสงฆ์ไทยในปัจจุบัน
o 4.1 การเตรียมตัวเข้าจำพรรษาของพระสงฆ์ในปัจจุบัน

:b42: 5 การถือปฏิบัติประเพณีการบำเพ็ญกุศลเนื่องในเทศกาลเข้าพรรษาในประเทศไทย
o 5.1 ประเพณีเนื่องด้วยการเข้าพรรษาในประเทศไทย
+ 5.1.1 ประเพณีถวายเทียนพรรษา
+ 5.1.2 ประเพณีถวายผ้าอาบน้ำฝน (ก่อนเข้าพรรษา)
+ 5.1.3 ประเพณีถวายผ้าจำนำพรรษา (หลังออกพรรษา)
+ 5.1.4 ประเพณีถวายผ้าอัจเจกจีวร (ระหว่างเข้าพรรษา)

:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ก.ค. 2009, 12:30 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


:b42: ความสำคัญ

ความสำคัญและประโยชน์ของการเข้าพรรษา


1. ช่วงเข้าพรรษานั้นเป็นช่วงเวลาที่ชาวบ้านประกอบอาชีพทำไร่นา
ดังนั้นการกำหนดให้ภิกษุสงฆ์ หยุดการเดินทางจาริกไปในสถานที่ต่างๆ
ก็จะช่วยให้พันธุ์พืชของต้นกล้า หรือสัตว์เล็กสัตว์น้อย
ไม่ได้รับความเสียหายจากการเดินธุดงค์

2. หลังจากเดินทางจาริกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนามาเป็นเวลา 8 - 9 เดือน
ช่วงเข้าพรรษาเป็นช่วงที่ให้พระภิกษุสงฆ์ได้หยุดพักผ่อน

3. เป็นเวลาที่พระภิกษุสงฆ์จะได้ประพฤติปฏิบัติธรรมสำหรับตนเอง
และศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย
ตลอดจนเตรียมการสั่งสอนให้กับประชาชนเมื่อถึงวันออกพรรษา

4. เพื่อจะได้มีโอกาสอบรมสั่งสอนและบวชให้กับกุลบุตรผู้มีอายุครบบวช
อันเป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาต่อไป

5. เพื่อให้พุทธศาสนิกชน ได้มีโอกาสบำเพ็ญกุศลเป็นการพิเศษ
เช่น การทำบุญตักบาตร หล่อเทียนพรรษา ถวายผ้าอาบน้ำฝน
รักษาศีล เจริญภาวนา ถวายจตุปัจจัยไทยธรรม งดเว้นอบายมุข
และมีโอกาสได้ฟังพระธรรมเทศนาตลอดเวลาเข้าพรรษา

:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ก.ค. 2009, 12:33 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


:b42: มูลเหตุที่พระพุทธเจ้าอนุญาตการจำพรรษาแก่พระสงฆ์

วันเข้าพรรษา หรือ การเข้าพรรษา เป็นข้อปฏิบัติสำหรับพระสงฆ์โดยเฉพาะ
ซึ่งพุทธศาสนิกชนถือเป็นโอกาสอันดีที่จะบำเพ็ญกุศลแก่พระสงฆ์ที่จำพรรษา
และตั้งใจปฏิบัติธรรมเพื่อละเว้นสิ่งไม่ดีเพื่อพยายามประกอบความดีในช่วงนี้อีกด้วย


ในสมัยต้นพุทธกาล พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงวางระเบียบเรื่องการเข้าพรรษาไว้
แต่การเข้าพรรษานั้นเป็นสิ่งที่พระพุทธองค์และพระสงฆ์สาวกปฏิบัติกันมาโดยปกติ
เนื่องด้วยพุทธจริยาวัตรในอันที่จะไม่ออกไปจาริกตามสถานที่ต่าง ๆ
ในช่วงฤดูฝนอยู่แล้ว เพราะการคมนาคมมีความลำบาก
และโดยเฉพาะอย่างยิ่งพระสงฆ์ในช่วงต้นพุทธกาลมีจำนวนน้อย
และส่วนใหญ่เป็นพระอริยะบุคคล
จึงทราบดีว่าสิ่งใดที่พระสงฆ์ควรหรือไม่ควรกระทำ


ต่อมาเมื่อมีพระสงฆ์มากขึ้น และด้วยพระพุทธจริยาที่พระพุทธเจ้า
จะไม่ทรงบัญญัติพระวินัยล่วงหน้า ทำให้พระพุทธเจ้า
จึงไม่ได้ทรงบัญญัติเรื่องให้พระสงฆ์สาวกอยู่ประจำพรรษาไว้ด้วย
จึงเกิดเหตุการณ์กลุ่มพระสงฆ์ฉัพพัคคีย์
พากันออกเดินทางเผยแผ่พระพุทธศาสนาในที่ต่าง ๆ โดยไม่ย่อท้อ
ทั้งในฤดูหนาว ฤดูร้อน และฤดูฝน ทำให้ชาวบ้านได้พากันติเตียนว่า
พวกพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาไม่ยอมหยุดพักสัญจรแม้ในฤดูฝน
ในขณะที่นักบวชในศาสนาอื่น พากันหยุดเดินทางในช่วงฤดูฝน
การที่พระภิกษุสงฆ์จาริกไป ในที่ต่างๆ แม้ในฤดูฝน
อาจเหยียบย่ำข้าวกล้าของชาวบ้านได้รับความเสียหาย
หรืออาจไปเหยียบย่ำโดนสัตว์เล็กสัตว์น้อยที่ออกหากินจนถึงแก่ความตาย
เมื่อพระพุทธเจ้าทราบเรื่อง จึงได้วางระเบียบให้ภิกษุประจำ
อยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง เป็นเวลา 3 เดือนดังกล่าว[5]

:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ก.ค. 2009, 12:56 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 ม.ค. 2009, 02:20
โพสต์: 1387

ที่อยู่: สัพพะโลก

 ข้อมูลส่วนตัว


สาธุ :b8: :b8: :b8:

.....................................................
ผู้มีจิตเมตตาจะไม่มีศัตรู ผู้มีสติปัญญาจะไม่เกิดทุกข์.


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ก.ค. 2009, 15:14 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


:b42: การเข้าพรรษาของพระสงฆ์ตามพระวินัยปิฎก

ตามพระวินัย พระสงฆ์รูปใดไม่เข้าจำพรรษาอยู่ ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่ง
พระพุทธองค์ทรงปรับอาบัติแก่พระสงฆ์รูปนั้นด้วยอาบัติทุกกฏ[6]


และพระสงฆ์ที่อธิษฐานรับคำเข้าจำพรรษาแล้วจะไปค้างแรมที่อื่นไม่ได้
แต่ถ้าหากเดินทางออกไปแล้วและไม่สามารถกลับมาในเวลาที่กำหนด
คือ ก่อนรุ่งสว่าง ก็จะถือว่าพระภิกษุรูปนั้น"ขาดพรรษา"
และต้องอาบัติทุกกฏเพราะรับคำนั้น
รวมทั้งพระสงฆ์รูปนั้นจะไม่ได้รับอานิสงส์พรรษา
ไม่ได้อานิสงส์กฐินตามพระวินัย และทั้งยังห้ามไม่ให้นับพรรษาที่ขาดนั้นอีกด้วย[7]


:b42: ประเภทของการเข้าพรรษาของพระสงฆ์

การเข้าพรรษาตามพระวินัยแบ่งได้เป็น 2 ประเภท [8][9] คือ

1.ปุริมพรรษา (เขียนอีกอย่างว่า บุริมพรรษา)
คือ การเข้าพรรษาแรก เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8
(สำหรับปีอธิกมาส คือ มีเดือน 8 สองหน จะเริ่มในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 หลัง)
จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หลังจากออกพรรษาแล้ว
พระที่อยู่จำพรรษาครบ 3 เดือน
ก็มีสิทธิที่จะรับกฐินซึ่งมีช่วงเวลาเพียงหนึ่งเดือน
นับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12

2. ปัจฉิมพรรษา
คือ การเข้าพรรษาหลัง ใช้ในกรณีที่พระภิกษุต้องเดินทางไกลหรือมีเหตุสุดวิสัย
ทำให้กลับมาเข้าพรรษาแรกในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ไม่ทัน
ต้องรอไปเข้าพรรษาหลัง คือวันแรม 1 ค่ำ เดือน 9
แล้วจะไปออกพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12
ซึ่งเป็นวันหมดเขตทอดกฐินพอดี
ดังนั้นพระภิกษุที่เข้าปัจฉิมพรรษาจึงไม่มีโอกาสได้รับกฐิน
แต่ก็ได้พรรษาเช่นเดียวกับพระที่เข้าปุริมพรรษาเหมือนกัน


:b42: ข้อยกเว้นการจำพรรษาของพระสงฆ์

แม้การเข้าพรรษานี้ถือเป็นข้อปฏิบัติสำหรับพระภิกษุโดยตรง
ที่จะละเว้นไม่ได้ ไม่ว่ากรณีใด ๆ ก็ตาม[10]
แต่ว่าในการจำพรรษาของพระสงฆ์ในระหว่างพรรษานั้น
อาจมีกรณีจำเป็นบางอย่าง ทำให้พระภิกษุผู้จำพรรษาต้องออก
จากสถานที่จำพรรษาเพื่อไปค้างที่อื่น
พระพุทธองค์ก็ทรงอนุญาตให้ทำได้โดยไม่ถือว่าเป็นการขาดพรรษาโดยมีเหตุจำเป็น
เฉพาะกรณี ๆ ไป ตามที่ทรงระบุไว้ในพระไตรปิฎก
ซึ่งส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับการพระศาสนาหรือการอุปัฏฐานบิดามารดา
แต่ทั้งนี้ก็จะต้องกลับมาภายในระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน
การออกนอกที่จำพรรษาล่วงวันเช่นนี้เรียกว่า "สัตตาหกรณียะ"
ซึ่งเหตุที่ทรงระบุว่าจะออกจากที่จำพรรษาไปได้ชั่วคราวนั้นเช่น


1. การไปรักษาพยาบาล
หาอาหารให้ภิกษุหรือบิดามารดาที่เจ็บป่วย เป็นต้น
กรณีนี้ทำได้กับสหธรรมิก 5 และมารดาบิดา

2. การไประงับภิกษุสามเณรที่อยากจะสึกมิให้สึกได้
กรณีนี้ทำได้กับสหธรรมิก 5

3. การไปเพื่อกิจธุระของคณะสงฆ์
เช่น การไปหาอุปกรณ์มาซ่อมกุฏิที่ชำรุด หรือ การไปทำสังฆกรรม
เช่น สวดญัตติจตุตถกรรมวาจาให้พระผู้ต้องการอยู่ปริวาส เป็นต้น

4. หากทายกนิมนต์ไปทำบุญ ก็ไปให้ทายกได้ให้ทาน รับศีล
ฟังเทสนาธรรมได้ กรณีนี้หากโยมไม่มานิมนต์ ก็จะไปค้างไม่ได้.


ซึ่งหากพระสงฆ์ออกจากอาวาสแม้โดยสัตตาหกรณียะล่วงกำหนด 7 วันตามพระวินัย
ก็ถือว่า ขาดพรรษา และเป็นอาบัติทุกกฏเพราะรับคำ (รับคำอธิษฐานเข้าพรรษาแต่ทำไม่ได้)


ในกรณีที่พระสงฆ์สัตตาหกรณียะและกลับมาตามกำหนดแล้ว
ไม่ถือว่าเป็นอาบัติ และสามารถกลับมาจำพรรษาต่อเนื่องไปได้
และหากมีเหตุจำเป็นที่จะต้องออกจากที่จำพรรษาไปได้ตามวินัยอีก
ก็สามารถทำได้โดยสัตตาหกรณียะ แต่ต้องกลับมาภายในเจ็ดวัน
เพื่อไม่ให้พรรษาขาดและไม่เป็นอาบัติทุกกฏดังกล่าวแล้ว


:b42: อานิสงส์การจำพรรษาของพระสงฆ์ที่จำครบพรรษา

เมื่อพระสงฆ์จำพรรษาครบไตรมาสได้ปวารณาออกพรรษาและได้กรานกฐินแล้ว
ย่อมได้รับอานิสงส์ หรือข้อยกเว้นพระวินัย 5 ข้อ[11] คือ

1. เที่ยวไปไหนไม่ต้องบอกลา
(ออกจากวัดไปโดยไม่จำเป็นต้องแจ้งเจ้าอาวาสหรือพระสงฆ์รูปอื่นก่อนได้)

2. เที่ยวไปไม่ต้องถือไตรจีวรครบสำรับ 3 ผืน

3. ฉันคณะโภชน์ได้ (ล้อมวงฉันได้)

4. เก็บอดิเรกจีวรไว้ได้ตามปรารถนา
(ยกเว้นสิกขาบทข้อนิสสัคคิยปาจิตตีย์บางข้อ)

5. จีวรลาภอันเกิดในที่นั้นเป็นของภิกษุ
(เมื่อมีผู้มาถวายจีวรเกินกว่าไตรครองสามารถเก็บไว้ได้โดยไม่ต้องสละเข้ากองกลาง)

:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ก.ค. 2009, 15:34 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


:b42: การถือปฏิบัติการเข้าพรรษาของพระสงฆ์ไทยในปัจจุบัน


การเข้าพรรษานั้นปรากฏในพระไตรปิฎกเถรวาท
ซึ่งพระสงฆ์ในนิกายเถรวาททุกประเทศจะถือการปฏิบัติการเข้าจำพรรษาเหมือนกัน
(แต่อาจมีความแตกต่างกันบ้างในการให้ความสำคัญ
และรายละเอียดประเพณีปฏิบัติ ของแต่ละท้องถิ่น)


:b42: การเตรียมตัวเข้าจำพรรษาของพระสงฆ์ในปัจจุบัน
เมื่อถึงวันเข้าพรรษา พระสงฆ์ในวัดจะรวมตัวกันอธิษฐานจำพรรษา
ภายในวิหารหรืออุโบสถของวัด


การเข้าจำพรรษาคือการตั้งใจเพื่ออยู่จำ ณ อาวาสใด อาวาสหนึ่ง
หรือสถานที่ใดสถานที่หนึ่งเป็นประจำตลอดพรรษา 3 เดือน
ดังนั้นก่อนเข้าจำพรรษาพระสงฆ์ในวัดจะเตรียมตัว
โดยการซ่อมแซมเสนาสนะปัดกวาด เช็ดถูให้เรียบร้อยก่อนถึงวันเข้าพรรษา


รูปภาพ

เมื่อถึงวันเข้าพรรษา พระสงฆ์ในวัดจะรวมตัวกันอธิษฐานจำพรรษา
ภายในวิหารหรืออุโบสถของวัด

พระสงฆ์กราบพระพุทธรูปในอุโบสถวัดคุ้งตะเภา
เนื่องในวันลงปาฏิโมกข์ตามพระวินัย
ถ่ายที่: วัดคุ้งตะเภา หมู่บ้านคุ้งตะเภา
ตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์

Author :Tevaprapas Makklay



เมื่อถึงวันเข้าพรรษา ส่วนใหญ่พระสงฆ์จะลงประกอบพิธีอธิษฐานจำพรรษา
หลังสวดมนต์ทำวัตรเย็นเป็นพิธีเฉพาะของพระสงฆ์
ซึ่งส่วนใหญ่จะลงประกอบพิธี ณ อุโบสถ หรือสถานที่ใดตาม
แต่จะสมควรภายในอาวาสที่จะจำพรรษา
โดยเมื่อทำวัตรเย็นประจำวันเสร็จแล้วเจ้าอาวาสจะประกาศเรื่อง วัสสูปนายิกา
คือการกำหนดบอกให้ให้พระสงฆ์ทั้งปวง
รู้ถึงข้อกำหนดในการเข้าพรรษา โดยมีสาระสำคัญดังนี้

1. แจ้งให้ทราบเรื่องการเข้าจำพรรษาแก่พระสงฆ์ในอาราม

2. แสดงความเป็นมาและเนื้อหาของวัสสูปนายิกาตามพระวินัยปิฏก

3. กำหนดบอกอาณาเขตของวัด ที่พระสงฆ์จะรักษาอรุณ
หรือรักษาพรรษาให้ชัดเจน
(รักษาอรุณคือต้องอยู่ในอาวาสที่กำหนดก่อนอรุณขึ้น จึงจะไม่ขาดพรรษา)

4. หากมีภิกษุผู้เป็นเสนาสนคาหาปกะ
ก็ทำการสมมุติเสนาสนคาหาปกะ (เจ้าหน้าที่สงฆ์)
เพื่อให้เป็นผู้กำหนดให้พระสงฆ์รูปใดจำพรรษา ณ สถานที่ใดในวัด


เมื่อแจ้งเรื่องดังกล่าวเสร็จแล้ว อาจจะมีการทำสามีจิกรรม
คือกล่าวขอขมาโทษซึ่งกันและกัน
เพื่อเป็นการแสดงความเคารพซึ่งกันและกันระหว่างพระเถระและพระผู้น้อย
และเป็นการสร้างสามัคคีกันในหมู่คณะด้วย


จากนั้นจึงทำการอธิษฐานพรรษา เป็นพิธีกรรมที่สำคัญที่สุด
โดยการเปล่งวาจาว่าจะอยู่จำพรรษาตลอดไตรมาส
โดยพระสงฆ์สามเณรทั้งอารามกราบพระประธาน 3 ครั้งแล้ว
เจ้าอาวาสจะนำตั้งนโม 3 จบ
และนำเปล่งคำอธิษฐานพรรษาพร้อมกันเป็นภาษาบาลีว่า

"อิมสฺมึ อาวาเส อิมํ เตมาสํ วสฺสํ อุเปมิ
(ถ้ากล่าวหลายคนใช้: อุเปม) "


หลังจากนี้ ในแต่ละวัดจะมีข้อปฏิบัติแตกต่างกันไป
บางวัดอาจจะมีการเจริญพระพุทธมนต์ต่อ
และเมื่อเสร็จแล้วอาจจะมีการสักการะสถูปเจดีย์ ต้นพระศรีมหาโพธิ์
ภายในวัดอีกตามแต่จะเห็นสมควร


เมื่อพระสงฆ์สามเณรกลับเสนาสนะของตนแล้ว
อาจจะอธิษฐานพรรษาซ้ำอีกเฉพาะเสนาสนะของตนก็ได้
โดยกล่าววาจาอธิษฐานเป็นภาษาบาลีว่า

"อิมสฺมึ วิหาเร อิมํ เตมาสํ วสฺสํ อุเปมิ
(ถ้ากล่าวหลายคนใช้: อุเปม) "


รูปภาพ

การสอบธรรมสนามหลวงจะจัดขึ้นในช่วงหลังออกพรรษา
เพื่อวัดความรู้นักธรรมที่พระสงฆ์เล่าเรียนมาตลอดพรรษากาล

ผู้ถ่าย: Toru Ota



การสอบธรรมสนามหลวงจะจัดขึ้นในช่วงหลังออกพรรษา
เพื่อวัดความรู้นักธรรมที่พระสงฆ์เล่าเรียนมาตลอดพรรษากาล


เป็นอันเสร็จพิธีอธิษฐานเข้าจำพรรษาสำหรับพระสงฆ์
และพระสงฆ์จะต้องรักษาอรุณไม่ให้ขาดตลอด 3 เดือนนับจากนี้
โดยจะต้องรักษาผ้าไตรจีวรตลอดพรรษากาล
คือ ต้องอยู่กับผ้าครองจนกว่าจะรุ่งอรุณด้วย


:b42: การศึกษาพระธรรมวินัยของพระสงฆ์ในระหว่างพรรษาในปัจจุบัน

ในอดีต การเข้าพรรษามีประโยชน์แก่พระสงฆ์ในด้านการศึกษาพระธรรมวินัย
โดยการที่พระสงฆ์จากที่ต่าง ๆ มาอยู่จำพรรษารวมกันในที่ใดที่หนึ่ง
พระสงฆ์เหล่านั้นก็จะมีการแลกเปลี่ยนความรู้
และถ่ายองค์ความรู้ตามพระธรรมวินัยให้แก่กัน


มาในปัจจุบัน การศึกษาพระธรรมวินัยในช่วงเข้าพรรษาในประเทศไทย
ก็ยังจัดเป็นกิจสำคัญของพระ สงฆ์ โดยพระสงฆ์ที่อุปสมบททุกรูป
แม้จะอุปสมบทเพียงเพื่อชั่วเข้าพรรษาสามเดือน
ก็จะต้องศึกษาพระธรรมวินัยเพิ่มเติม
ปัจจุบันพระธรรมวินัยถูกจัดเป็นหลักสูตรของคณะสงฆ์ ในหลักสูตร พระธรรม
จะเรียกว่า ธรรมวิภาค พระวินัย เรียกว่า วินัยมุข
รวมเรียกว่า "นักธรรม" ชั้นต่าง ๆ
โดยจะมีการสอบไล่ความรู้พระปริยัติธรรมในช่วงออกพรรษา
เรียกว่า การสอบธรรมสนามหลวง ในช่วงวันขึ้น 9 - 12 ค่ำ เดือน 11
(จัดสอบนักธรรมชั้นตรีสำหรับพระภิกษุสามเณร)
และช่วงวันแรม 2 - 5 ค่ำ เดือน 12
(จัดสอบนักธรรมชั้นโทและเอก สำหรับพระภิกษุสามเณร)[12]


ปัจจุบันการศึกษาเฉพาะในชั้นนักธรรมตรีสำหรับพระนวกะ หรือพระบวชใหม่
จะจัดสอบในช่วงปลายฤดูเข้าพรรษา
เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ที่จะลาสิกขาบทหลังออกพรรษา
จะได้ตั้งใจเรียนพระธรมวินัยเพื่อสอบไล่ให้ได้นักธรรมในชั้นนี้ด้วย


:b42: การถือปฏิบัติประเพณีการบำเพ็ญกุศลเนื่องในเทศกาลเข้าพรรษาในประเทศไทย

รูปภาพ

สำเนาศิลาจารึกหลักที่ ๑ (ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช)


การถือปฏิบัติประเพณีการบำเพ็ญกุศลเนื่องในเทศกาลเข้าพรรษาในประเทศไทย
สันนิษฐานว่าเริ่มมีมาแต่แรกที่รับพระพุทธศาสนาเถรวาทเข้ามาในดินแดนประเทศไทย
ซึ่งอาจมีปฏิบัติประเพณีนี้มาตั้งแต่สมัยทวาราวดี
แต่มาปรากฏหลักฐานชัดเจนว่า
ชาวไทยได้ถือปฏิบัติในการบำเพ็ญกุศลในเทศกาลเข้าพรรษา
ในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี
ดังปรากฏความในศิลาจารึกหลักที่ 1 (ด้านที่ 2) ดังนี้


"... คนในเมืองสุโขทัยนี้ มักทาน มักทรงศีล มันโอยทาน
พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองสุโขทัยนี้ ทังชาวแม่ชาวเจ้า
ท่วยปั่วท่วยนาง ลูกเจ้าลูกขุน ทังสิ้นทังหลายทังผู้ชายผู้ญีง
ฝูงท่วยมีศรัทธาในพระพุทธศาสน ทรงศีลเมื่อพรรษาทุกคน
เมื่อโอกพรรษากรานกฐินเดือนณื่งจี่งแล้ว เมื่อกรานกฐิน
มีพนมเบี้ย มีพนมหมาก มีพนมดอกไม้ มีหมอนนั่งหมอนโนน
บริพารกฐิน โอยทานแล่ปีแล้ญิบล้าน ไปสูดญัตกฐินเถิงอไรญิกพู้น
เมื่อจักเข้ามาเวียง เรียงกันแต่อไรญิกพู้นเท้าหัวลาน
ดมบังคมกลองด้วยเสียงพาทย์เสียงพีณ เสียงเลื้อนเสียงขับ
ใครจักมักเล่น เล่น ใครจักมักหัว หัว ใครจักมักเลื้อน เลื้อน
เมืองสุโขทัยนี้มีสี่ปากปตูหลวง เที้ยรย่อมคนเสียดกัน
เข้ามาดูท่านเผาเทียนท่านเล่นไฟ เมืองสุโขทัยนี้มีดั่งจักแตก ..."

— คำอ่านศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ด้านที่ ๒[13][14]


นอกจากนี้ในหนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ยังได้กล่าวถึง
การเทศกาลเข้าพรรษาในสมัยสุโขทัยไว้อีกว่า
"เมื่อถึงวันขึ้น ๑๔ ค่ำ ทั้งทหารบก และทหารเรือ
ก็จัดขบวนแห่เทียนจำนำพรรษา ทั้งใส่คานหาบไปและลงเรือ
ประดิษฐานอยู่ในบุษบกทองคำ ประดับ ธงทิว ตีกลอง เป่าแตรสังข์ แห่ไป
ครั้นถึงพระอารามแล้วก็ยกต้นเทียนนั้นเข้าไปถวายในพระอุโบสถ
หอพระธรรมและพระวิหาร จุดตามให้สว่างไสวในที่นั้น ๆ
ตลอด ๓ เดือน ดังนี้ทุกพระอาราม"
ซึ่งตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์นั้นสันนิษฐานว่าแต่งขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์
โดยมีตามความที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ได้ทรงอธิบายเกี่ยวกับเค้าโครงของหนังสือนี้ว่าแม้มีเค้าโครงมาจากสมัยสุโขทัย
แต่รายละเอียดมีการแต่งเสริมกันขึ้นมาในสมัยอยุธยาหรือรัตนโกสินทร์ตอนต้น[15]


อย่างไรก็ตาม การเทศกาลเข้าพรรษามีคู่กับสังคมไทย
ทั้งสถาบันพระมหากษัตริย์และประชาชนมาช้านาน
ดังปรากฏว่า ชาวพุทธในชนบทส่วนใหญ่นิยมเข้าวัดเพื่อบำเพ็ญบุญกุศลฟังพระธรรม
เทศนาเป็นจำนวนมากในช่วงเข้าพรรษา
ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความศรัทธาของชาวพุทธในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี
ที่ได้ร่วมใจกันสืบทอดประเพณีนี้มาจนปัจจุบัน


คัดลอกจาก... http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A7% ... 9%E0%B8%B2

:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 7 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 7 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร