วันเวลาปัจจุบัน 19 เม.ย. 2024, 12:02  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 มี.ค. 2010, 20:00 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 ก.พ. 2009, 20:49
โพสต์: 3979

แนวปฏิบัติ: พอง-ยุบ
งานอดิเรก: อ่านหนังสือ
ชื่อเล่น: นนท์
อายุ: 42
ที่อยู่: นครสวรรค์

 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:

วันนี้เป็นวันที่นักเรียนจะได้แสดงคุณธรรมในจิตใจ คือไหว้ครู คำว่า “ ไหว้ครู ” นั้น เป็นถ้อยคำธรรมดาสามัญที่เข้าใจกันอยู่ และทราบถึงความหมายกันเป็นอย่างดี แต่ก็จะขอขยายความคำว่า “ ไหว้ครู ” เพื่อประกอบความรู้และประดับสติปัญญาตามสมควร

“ ไหว้ครู ” เป็นคำไทย 2 คำ นำมาเชื่อมกัน คือคำว่า “ ไหว้ ” กับคำว่า “ ครู ” แต่ละคำมีความหมายอยู่ในตัว คำว่า ไหว้ ก็หมายถึงการแสดงสัมมาคารวะ การบูชา การแสดงความนับถือ การแสดงความเทิดทูน นี่เรียกว่า “ ไหว้ ” เป็นคำกิริยาที่ใช้กันเป็นประเพณีนิยมของไทย และในบางกรณีคำนี้ ก็ย่อมจะกินความคลุมไปถึง กราบซึ่งในความหมายว่ายอมตนลงราบคาบด้วย เพราะฉะนั้นไหว้ก็ดีกราบก็ดี รวมอยู่ในความหมายอันเดียวกัน คือ แสดง ความยกย่อง แสดงอาการเชิดชูบูชานับถือ

เหตุของการไหว้
1. เพราะเป็นวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ไทย
2. เพราะเป็นมารยาท เช่น เด็กต้องไหว้ผู้ใหญ่ ศิษย์ต้องไหว้ครูอาจารย์ เป็นต้น
3. เพราะกลัวต่ออำนาจวาสนาบารมี
4. เพราะต้องการบรรเทาโทษ
5. เพราะต้องการแสดงคารวะ
การไหว้ ถือเป็นหน้าที่อย่างหนึ่งของผู้มีวัฒนธรรม ทุกคนเกิดมาต้องมีหน้าที่ด้วยกัน ทั้งนั้น ดังคำที่ว่า
• หน้าที่ของชาวประมงคือหาปลา
• หน้าที่ของพ่อค้าคือหาผลกำไร
• หน้าที่ของศิลปินคือสร้างศิลปะ
• หน้าที่ของพระคือสอนมนุษย์
• หน้าที่ของพุทธ คือทำดี
• หน้าที่ของศิษย์ที่ดีคือกตัญญูกตเวทีต่อครูอาจารย์
โอกาสนี้ท่านทั้งหลาย ได้แสดงความกตัญญูกตเวทีต่อครู อาจารย์ ซึ่งเป็นผู้ที่ให้ความถนัด ครูนั้นเป็นทิศๆ หนึ่งในจำนวนทิศทั้ง 6 โดยเฉพาะเป็นทิศเบื้องขวา เรียกว่า ทักขิณทิศที่ว่าให้ความถนัด คือเป็นผู้ให้วิชาความรู้แก่เรา
ไหว้แล้วได้อะไร
หากการแสดงคุณธรรมด้วยการไหว้ไม่ได้ประโยชน์อะไรแล้ว ประเพณีน่าจะเลิกกันเสียที แต่ที่ต้องไหว้กันอยู่ประจำทุกปี ทุกโรงเรียน แสดงว่าต้องมีประโยชน์ ประโยชน์ของการไหว้ คือ
1. ผู้ไหว้ได้รับความเมตตาจากผู้ถูกไหว้
2. ผู้ไหว้ได้รับความสบายใจ
3. ช่วยให้ผู้ถูกไหว้หันมาสำรวจตรวจตราพัฒนาตนเอง
4. ได้รักษาเอกลักษณ์วัฒนธรรมไทยไว้
5. บรรเทาโทษเสียได้
ฉะนั้น การไหว้เป็นเอกลักษณ์ไทย ซึ่งชาติอื่นไม่เหมือนเรา ฝรั่งเขาก็ไม่ไหว้ แต่เขาจับมือ เขย่าๆ นั่นเป็นเอกลักษณ์ของฝรั่ง แต่เอกลักษณ์ไทยต้องไหว้เดี๋ยวนี้ก็ชักจะเป็นเอกเลอะ บางทีผู้น้อยไหว้ แต่ผู้ใหญ่ยื่นมือมาจับเขย่าเราเห็นกันตามจอทีวีบ่อยไป แสดงว่าฝรั่งกำลังเข้ามามี บทบาทมีอิทธิพลต่อชีวิตจิตใจของคนไทย ทำให้เอกลักษณ์ของไทยออกจะเพี้ยนๆ โบราณท่านกล่าวว่า "ศรต้องมีพิษ ศิษย์ต้องมีครู ศิษย์มีครูเหมือนงูมีพิษ ศิษย์ไม่มีครู เหมือนงูไม่มีพิษ" ไม่น่ากลัวอะไร ไม่ต่างอะไรกับปลาไหล รอเวลาให้เขาผัดเผ็ดเท่านั้น "ศิษย์ดีต้องมีคุณธรรม ศิษย์ไม่ได้ความคุณธรรมไม่มี" นักเรียนจะต้องรู้จักข้าว ข้าวรวงโตที่มีวิตามิน เวลามันออกรวง จะน้อมรวงถ่วงยอดแสดงอาการดุจคารวะแม่พระธรณี แต่ข้าวรวงใดที่ชี้เด่แทบจะทิ่มก้นเทวดา แสดงว่าข้าวรวงนั้นไม่มีวิตามิน เป็นข้าวขี้ลีบ คนก็เหมือนกัน หากรู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน แสดงว่าเป็นคนมีคุณภาพเป็นผู้มีคุณธรรม บางคนเป็นโรคสันหลังแข็งก้มไม่ลง บุคคลนั้นไม่ต่างอะไรกับข้าวขี้ลีบ

อุปกรณ์ไหว้ครู
ในสมัยที่ผู้บรรยายยังเป็นเด็กและเป็นนักเรียนภาษาไทย ในระยะนั้นก็มีการไหว้ครูเช่นเดียวกันกับปัจจุบันนี้ เป็นการแสดงว่าพิธีไหว้ครูนั้น ได้มีมาแล้วแต่โบราณกาล นับเป็น วัฒนธรรมเป็นประเพณีอันดีงามของชาวไทย ได้ทราบว่าไม่มีประเทศใดที่มีพิธีไหว้ครูเหมือนอย่างประเทศไทย การที่นักเรียนจะนำเครื่องสักการะมาให้แก่ครูในโอกาสใดโอกาสหนึ่ง ในระยะเวลาต้นๆ ของการเปิดการศึกษานั้น ไม่มีในประเทศอื่นหรือในชาติอื่น คงมีแต่เมืองไทยเท่านั้น เป็นข้อที่ควรภาคภูมิใจที่ประเพณีอันนี้ได้มีสืบๆ มา แม้ถึงยุคปัจจุบันนี้ ศิษย์ไทย นักเรียนไทย นักศึกษาไทย ก็ยังรักษาประเพณีอันดีงามของเราไว้ และเชื่อว่าคงจะดำรงอยู่ต่อไปตราบเท่าที่ชาติไทยยังคงอยู่ ในยุคที่ผู้บรรยายยังเป็นเด็กและเป็นนักเรียนนั้น เครื่องสักการะที่จะนำไปมอบให้แก่ครู สิ่งที่ขาดไม่ได้ก็มีอยู่ 3 อย่าง คือ
1. หญ้าแพรก
2. ข้าวตอก
3. ดอกมะเขือ
เมื่อกำหนดวันไหว้ครูมาถึง ผู้หลักผู้ใหญ่จะจัดการของทั้ง 3 อย่างนี้มอบให้ เพื่อที่จะให้ นำไปมอบให้แก่ครู ต้องหาให้ครบทั้ง 3 อย่างขาดไม่ได้ ในระยะที่ยังเป็นเด็กเล็กอยู่ก็ไม่รู้เหตุผลว่าทำไมจึงต้องนำ หญ้าแพรก ข้าวตอก ดอกมะเขือ ไปให้แก่ครู และทำไมครูจึงมีความต้องการหญ้าแพรก ข้าวตอก ดอกมะเขือ ซึ่งว่าถึงราคาก็ไม่ใช่เป็นของมีค่ามีราคาอะไร ถ้าจะพูดถึงในด้านที่สวยงามก็ไม่เห็นจะเป็นสิ่งสวยงามอะไร แต่ทำไมครูหรือในการไหว้ครูจะต้องนำวัตถุทั้ง 3 อย่างนั้นมาด้วย ในตอนที่ยังเด็ก ก็ไม่ได้คิดถึงเหตุผลอะไร เมื่อผู้ใหญ่หาให้จัดให้ ก็นำไปให้ครู หรือบางทีก็จัดหาเอง เพราะเป็นสิ่งที่พอจะหาได้ไม่ยาก นี่เป็นเรื่องราวที่ได้ปฏิบัติมาในยุคก่อน จนกระทั่งเติบโตมาก็ไม่ได้ไหว้ครู เนื่องจากได้ได้มาเล่าเรียนในทางพระ การที่จะไหว้ครูด้วยสักการะเช่นนั้นก็ไม่ได้ปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม ในบรรดาศิษย์หรือบรรดานักเรียนที่ยังเรียนกับครูก็ได้ปฏิบัติมาเช่นนั้น
ในยุคปัจจุบันนี้รู้สึกว่าหญ้าแพรกข้าวตอกดอกมะเขือได้หายไป ทั้งนี้ เนื่องจากได้อ่านข่าวในหนังสือพิมพ์บ้าง เมื่อถึงวาระไหว้ครูก็เคยมีปรากฎว่าใช้กระเช้าดอกไม้ซึ่งหาซื้อได้ตามร้านต่างๆ นำไปมอบให้ครูแทน อนึ่งการไหว้ครูนี้ เป็นการแสดงถึงความยอมรับทุกอย่างที่ครูจะกระทำแก่ตน
ความหมายของอุปกรณ์ไหว้ครู
ข้าวตอก คือ ข้าวที่นำมาคั่วแล้วแตกออก คำว่า ตอก น่าจะเป็นสนธิในภาษาไทยแยกคำว่า "แตก-ออก" สนธิเป็น "ตอก" ข้าวจ้าวบ้างข้าวเหนียวบ้าง ข้าวฟ่างก็มีทั้งเปลือกนำมาคั่ว เมล็ดข้าวก็แตกออก การที่ศิษย์นำข้าวตอกมาให้แก่ครู ก็เป็นเครื่องหมายว่า "ข้าพเจ้ายอมให้ครูอาจารย์คั่วคือ เคี่ยวเข็ญบังคับเพื่อความแตกฉานในวิทยาการนั้นๆ" นี่คือเรื่องของข้าวตอกลักษณะหนึ่ง อีกลักษณะหนึ่งข้าวตอกนั้น ถ้าไม่มีอะไรคุมก็จะปลิวว่อนไปตามกระแสของลมที่พาพัด เพราะฉะนั้นเมื่อนำข้าวตอกมามอบแก่ครูอาจารย์ก็เท่ากับว่า "ข้าพเจ้ายอมให้ครูควบคุมความประพฤติ การปฏิบัติซึ่งจะกระจัดกระจายหรือกระเจิงไปตามกระแสของโลก ให้เข้าระบบเข้าแผน อยู่ในร่องรอยตามที่ครูอาจารย์เห็นว่าดีงาม"

ฉะนั้น การที่ศิษย์นำข้าวตอกมาให้แก่ครู ย่อมหมายถึงว่า "ยอมให้คั่ว คือเคี่ยวเข็ญเพื่อความแตกฉานในทางวิทยาการ ยอมให้ควบคุมในทางประพฤติปฏิบัติ"

ดอกมะเขือ ดอกก็เล็กๆ และสีสันอย่างดีก็เป็นสีม่วง ไม่สวยงามอะไร แต่เป็นดอกไม้ที่ประหลาดคือ ทุกๆ ประเภทที่เป็นมะเขือผล หน้าดอกจะต้องก้มลงดินเสมอ ยิ่งมีผลก็ยิ่งถ่วงหนักลงดิน การที่ศิษย์นำดอกมะเขือมาเป็นสักการะแด่ครู ก็มีความหมายว่า "ข้าพเจ้าจะก้มหน้าให้แก่คร"ู หรือ "ข้าพเจ้าจะก้มศีรษะให้แก่ครูตลอดกาลไม่มีโอกาสที่จะเชิดหน้าแสดงกิริยาเย่อหยิ่งต่อครูอาจารย์"

เหตุผลในเรื่องเครื่องสักการะที่ศิษย์นำมาให้แก่ครูมีอยู่ดังนี้ ใคร่ขอเสนอแด่ทุกท่านว่าการที่โบราณได้กำหนดสักการะสำหรับครูไว้ 3 ประการนั้น เพราะว่าได้เลือกคัดได้กลั่นกรองแล้วและได้ให้ความหมายเป็นนัยเช่นนี้ ขอได้พิจารณาว่ายังควรจะให้มีอยู่ต่อไปหรือควรที่จะละเลิกกันได้ เพราะโลกได้หมุนเวียนเปลี่ยนมาถึงยุคปัจจุบันนี้แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม คิดว่าถ้ารักษาไว้ต่อไปจะเป็นเครื่องเชิดชูประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามของไทยเราสืบไป และเป็นทางที่จะทำให้ช่องว่างระหว่างครูอาจารย์กับศิษย์แคบเข้ามา ไม่ห่างเหินกันดังที่กำลังเป็นอยู่

เราไหว้ครูวันนี้ ควรไหว้ให้ถึงครู บางคนไหว้ครูแต่ไม่ถึงครู ไหว้สักแต่ว่าเป็นยี่เกละคร ไหว้ทั้งทีต้องไหว้ให้ถึงใจ การจะไหว้ให้ถูกให้ถึงครู จำต้องรู้จักครูเสียก่อน

จำที่มาไม่ได้แล้วครับ

:b8: :b8: :b8:

.....................................................
แม้มิได้เป็นสุระแสงอันแรงกล้า ส่องนภาให้สกาวพราวสดใส
ขอเป็นเพียงแสงแห่งดวงไฟ ส่องทางให้มวลชนบนแผ่นดิน


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 8 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร