วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 15:11  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 15 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ก.ค. 2009, 07:11 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ภาพจิตรกรรมฝาผนังพระพุทธประวัติ ภายในมณฑปพระพุทธบาท วัดพระยืนพุทธบาทยุคล
ถ่ายที่ : วัดพระยืนพุทธบาทยุคล ตำบลทุ่งยั้ง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์
Author : Tevaprapas Makklay



วันอาสาฬหบูชา (บาลี: อาสาฬหปูชา; อังกฤษ: Asalha Puja)
เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาของชาวพุทธเถรวาทและวันหยุดราชการในประเทศไทย[1]
คำว่า อาสาฬหบูชา ย่อมาจาก "อาสาฬหปูรณมีบูชา"
แปลว่า "การบูชาในวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ"
อันเป็นเดือนที่สี่ตามปฏิทินของประเทศอินเดีย
ตรงกับวันเพ็ญ เดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย
ซึ่งมักจะตรงกับเดือนมิถุนายนหรือเดือนกรกฎาคม
แต่ถ้าในปีใดมีเดือน 8 สองหน ก็ให้เลื่อนไปทำในวันเพ็ญเดือน 8 หลังแทน
สำหรับในปี พ.ศ. 2552 นี้ วันอาสาฬหบูชา
จะตรงกับวันอังคารที่ 7 กรกฎาคม ตามปฏิทินสุริยคติ


วันอาสาฬหบูชาได้รับการยกย่องเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
เนื่องจากเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อ 45 ปี ก่อนพุทธศักราช
ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 คือวันอาสาฬหปุรณมีดิถี หรือวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ
ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี แคว้นมคธ
อันเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนาเป็นครั้งแรกเป็นปฐมเทศนา
คือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แก่ปัญจวัคคีย์[2]


การแสดงธรรมครั้งนั้นทำให้พราหมณ์โกณฑัญญะ 1 ใน 5 ปัญจวัคคีย์
เกิดความเลื่อมใสในพระธรรมของพระพุทธเจ้า
จนได้ดวงตาเห็นธรรมหรือบรรลุเป็นพระอริยบุคคลระดับโสดาบัน
ท่านจึงขออุปสมบทในพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า ด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา
พระอัญญาโกณฑัญญะจึงกลายเป็นพระสงฆ์องค์แรกในโลก
และด้วยเหตุที่ท่านได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคล (อนุพุทธะ) เป็นคนแรก
จึงทำให้ในวันนั้นมีพระรัตนตรัยครบองค์สามบริบูรณ์เป็นครั้งแรกในโลก
คือ มีทั้งพระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้วันนี้ถูกเรียกว่า "วันพระธรรม" หรือ วันพระธรรมจักร
อันได้แก่วันที่ล้อแห่งพระธรรมของพระพุทธเจ้าได้หมุนไปเป็นครั้งแรก
และ "วันพระสงฆ์" คือวันที่มีพระสงฆ์เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก อีกด้วย


เดิมนั้นไม่มีการประกอบพิธีการบูชาในเดือน 8
หรือวันอาสาฬหบูชาในประเทศพุทธเถรวาทมาก่อน
จนมาในปี พ.ศ. 2501 การบูชาในเดือน 8
หรือวันอาสาฬหบูชาจึงได้เริ่มมีขึ้นในประเทศไทย
ตามที่คณะสังฆมนตรี ได้กำหนดให้วันนี้เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
ของประเทศไทยอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2501
โดยคณะสังฆมนตรีได้มีมติให้เพิ่มวันอาสาฬหบูชา
เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาในประเทศไทย
ตามคำแนะนำของ พระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารี)[3]
โดยคณะสังฆมนตรีได้ออกเป็นประกาศสำนักสังฆนายก
เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2501[4]
กำหนดให้วันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาพร้อมทั้งกำหนดพิธี
อาสาฬหบูชาขึ้นอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกในประเทศไทย
โดยมีพิธีปฏิบัติเทียบเท่ากับวันวิสาขบูชาอันเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาสากล


อย่างไรก็ตาม วันอาสาฬหบูชาถือเป็นวันสำคัญที่กำหนดให้กับวันหยุดของรัฐ
เพียงแต่ในประเทศ ไทยเท่านั้น ส่วนในต่างประเทศ
ที่นับถือพุทธศาสนานิกายเถรวาทอื่น ๆ
ยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับวันอาสาฬหบูชาเทียบเท่ากับวันวิสาขบูชา


[บทความนี้ใช้ระบบปีพุทธศักราช เพราะเป็นส่วนหนึ่งของบทความอื่นๆ
ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ พ.ศ. และ/หรือมีการอ้างอิงไปยังพุทธศตวรรษ
สำหรับก่อนปี พ.ศ. 2484 นับให้วันที่ 1 เมษายนเป็นวันแรกของปี]


:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ก.ค. 2009, 07:31 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


เนื้อหา

:b42: 1 ความสำคัญ

:b42: 2 เหตุการณ์สำคัญที่เกิดในวันอาสาฬหบูชาในพระพุทธประวัติ
o 2.1 หลังตรัสรู้-ทรงท้อพระทัยในการแสดงธรรม
o 2.2 พรหมอาราธนา
o 2.3 บุคคลเปรียบบัวสามเหล่า-ตัดสินใจแสดงธรรม
o 2.4 หาผู้รับปฐมเทศนา
o 2.5 เสด็จสู่พาราณสี-โปรดปัญจวัคคีย์
o 2.6 ประกาศพระสัจธรรม-แสดงปฐมเทศนา

:b42: 3 สถานที่สำคัญเนื่องด้วยวันอาสาฬหบูชา
o 3.1 ความสำคัญและสภาพสารนาถในสมัยพุทธกาล
o 3.2 สารนาถหลังพุทธกาล
o 3.3 จุดแสวงบุญและสภาพของสารนาถในปัจจุบัน
o 3.4 จุดที่เกิดเหตุการณ์สำคัญในวันอาสาฬหบูชา (ธรรมเมกขสถูป)

:b42: 4 กิจกรรมที่พุทธศาสนิกชนพึงปฏิบัติในวันอาสาฬหบูชา

:b42: 5 หลักธรรมในวันอาสาฬหบูชา
o 5.1 สิ่งที่ไม่ควรเสพสองอย่าง
o 5.2 มัชฌิมาปฏิปทา (ทางสายกลาง)
o 5.3 อริยสัจสี่

:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ก.ค. 2009, 07:37 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


:b42: ความสำคัญ

วันอาสาฬหบูชา หรือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8
เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมที่ทรงตรัสรู้เป็นครั้งแรก
จึงถือได้ว่าวันนี้เป็นวันเริ่มต้นประกาศพระพุทธศาสนาแก่ชาวโลก
และด้วยการที่พระพุทธเจ้าทรงสามารถ แสดง เปิดเผย ทำให้แจ้ง แก่ชาวโลก
ซึ่งพระธรรมที่ทรงตรัสรู้ได้ จึงถือได้ว่า
พระองค์ได้ทรงกลายเป็นสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยสมบูรณ์
คือทรงสำเร็จภารกิจแห่งการเป็นพระพุทธเจ้าผู้เป็น "สัมมาสัมพุทธะ"
คือทรงเป็นพระพุทธเจ้าผู้สามารถแสดงสิ่งที่ทรงตรัสรู้ให้ผู้อื่นรู้ตามได้
ซึ่งแตกต่างจาก "พระปัจเจกพุทธเจ้า" ที่แม้จะตรัสรู้เองได้โดยชอบ
แต่ทว่าไม่สามารถสอนหรือเปิดเผยให้ผู้อื่นรู้ตามได้
ด้วยเหตุนี้วันอาสาฬหบูชาจึงมีชื่อเรียกว่า "วันพระธรรม"


วันอาสาฬหบูชา เป็นวันที่ท่านโกณฑัญญะได้บรรลุธรรมสำเร็จพระโสดาบัน
เป็นพระอริยบุคคลคนแรก และได้รับประทานเอหิภิกขุอุปสมบท
เป็นพระสงฆ์องค์แรกในพระศาสนา
และด้วยการที่ท่านเป็นพระอริยสงฆ์องค์แรกในโลกดังกล่าว
พระรัตนตรัยจึงครบองค์สามบริบูรณ์เป็นครั้งแรกในโลก
ด้วยเหตุนี้วันอาสาฬหบูชาจึงมีชื่อเรียกว่า "วันพระสงฆ์"[5]


ดังนั้น วันอาสาฬหบูชาจึงถูกจัดขึ้นเพื่อเป็นการระลึกถึง
วันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญของพระพุทธศาสนาดังกล่าว
ซึ่งควรพิจารณาเหตุผลโดยสรุปจากประกาศสำนักสังฆนายกเรื่องกำหนดพิธี
อาสาฬหบูชา ที่ได้สรุปเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในวันอาสาฬหบูชาไว้โดยย่อ ดังนี้


" :b42: 1. เป็นวันแรกที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระพุทธศาสนา

:b42: 2. เป็นวันแรกที่พระบรมศาสดาทรงแสดงพระธรรมจักร
ประกาศสัจจธรรม อันเป็นองค์แห่งพระสัมมาสัมโพธิญาณ

:b42: 3. เป็นวันที่พระอริยสงฆ์สาวกองค์แรกบังเกิดขึ้นในโลก
คือ พระอัญญาโกณฑัญญะ ได้รับประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทา ในวันนั้น

:b42: 4. เป็นวันแรกที่บังเกิดสังฆรัตนะ สมบูรณ์เป็นพระรัตนตรัย
คือ พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ พระสังฆรัตนะ"


— ประกาศสำนักสังฆนายกเรื่อง กำหนดพิธีอาสาฬหบูชา
ในราชกิจจานุเบกษาวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๑[4]


:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ก.ค. 2009, 07:43 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


:b42: เหตุการณ์สำคัญที่เกิดในวันอาสาฬหบูชาในพระพุทธประวัติ

:b42: หลังตรัสรู้-ทรงท้อพระทัยในการแสดงธรรม

ในพระไตรปิฏก หลังจากพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ
เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคมแล้ว
พระองค์ได้ประทับเสวยวิมุตติสุขอยู่บริเวณสัตตมหาสถาน
โดยรอบต้นพระศรีมหาโพธิ์เป็นเวลาถึง 7 สัปดาห์


และในขณะทรงนั่งประทับเสวยวิมุตติสุขในสัปดาห์ที่ 5 หลังการตรัสรู้
ภายใต้ต้นอชปาลนิโครธ ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา
ได้ทรงมานั่งคำนึงว่า สิ่งที่พระองค์ตรัสรู้นั้นเป็นของลึกซึ้ง คนจะรู้และเข้าใจตามได้ยาก
ตามความในมัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์[6] ว่า


" ... บัดนี้ ไม่สมควรที่เราจะประกาศธรรมที่เราตรัสรู้
เพราะธรรมที่เราตรัสรู้นั้นเป็นสิ่งที่คนทั่วไป ที่ถูกราคะ โทสะครอบงำอยู่
จะไม่สามารถมองเห็นได้โดยง่าย,
คนที่ถูกราคะย้อมไว้ ถูกกองมืด (คืออวิชชา) หุ้มไว้มิดทั้งหลาย
ย่อมไม่สามารถที่จะเข้าใจธรรมะของเราที่เป็นสิ่งทวนกระแส (อวิชชา)
ที่มีสภาพลึกซึ้ง ละเอียดเช่นนี้ได้เลย... "

— มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ทรงท้อพระทัยในการแสดงธรรม


:b42: พรหมอาราธนา

ตามความในคัมภีร์มัชฌิมนิกาย เมื่อพระพุทธองค์ดำริจะไม่แสดงธรรมเช่นนี้
ปรากฏว่าท้าวสหัมบดีพรหมได้ทราบความดังกล่าวจึงคิดว่า[7]
"โลกจะฉิบหายละหนอ เพราะจิตของพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
น้อมไปเพื่อความเป็นผู้มีความขวนขวายน้อย ไม่น้อมไปเพื่อแสดงธรรม"
ท้าวสหัมบดีพรหม จึงเสด็จลงจากพรหมโลก
เพื่อมาอาราธนาให้พระพุทธองค์ทรงตัดสินใจ
ที่จะทรงแสดงพระธรรมที่ทรงตรัสรู้แก่คนทั้งหลาย
โดยท้าวสหัมบดีพรหมได้กล่าวว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์เถิด
ขอพระสุคตจงทรงแสดงธรรมเถิด สัตว์ทั้งหลาย
ผู้มีกิเลสดุจธุลีในจักษุน้อยมีอยู่ ย่อมจะเสื่อมเพราะไม่ได้ฟังธรรม
สัตว์ทั้งหลายผู้รู้ทั่วถึงธรรมจักยังมีอยู่" จากนั้นท้าวสหัมบดีพรหม
ได้กล่าวอาราธนาเป็นนิพนธ์คาถาอีก ใจความโดยสรุปว่า[7]2


" ... ขณะนี้ ธรรมะที่ไม่บริสุทธิ์ได้เกิดขึ้นในแคว้นมคธมาเนิ่นนาน.
ขอให้พระองค์เปิดประตูนิพพานอันไม่ตาย
เพื่อสัตว์ทั้งหลายจักได้ฟังธรรมและตรัสรู้ตามเถิด,
คนยืนบนยอดเขา ย่อมเห็นได้โดยรอบฉันใด.
ข้าแต่พระองค์ พระองค์ย่อมเห็น!
พระองค์เห็นเหล่าสรรพสัตว์ทั้งหลาย ที่จมอยู่ในความทุกข์โศกทั้งปวง
ถูกความเกิดแก่เจ็บตายครอบงำอยู่ไหม!.
ลุกขึ้นเถิดพระองค์ผู้กล้า! พระองค์ผู้ชนะสงคราม (คือกิเลส) แล้ว!
... ขอพระองค์เสด็จจาริกไปในโลกเถิด,
ขอพระองค์จงทรงแสดงธรรมเถิด สัตว์ที่จะรู้ทั่วถึงธรรมของพระองค์ มีอยู่แน่นอน!

— มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ คาถาพรหมอาราธนา2

:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ก.ค. 2009, 07:49 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


:b42: บุคคลเปรียบบัวสามเหล่า-ตัดสินใจแสดงธรรม

หลังจากพระพุทธองค์ทรงพิจารณาตามคำเชื้อเชิญของสหัมบดีพรหม
ที่เชิญให้ พระองค์แสดงธรรม
พระพุทธองค์จึงทรงพิจารณาตรวจสัตว์โลกด้วยพุทธจักษุ
และทรงเห็นว่า สัตว์โลกที่ยังสอนได้มีอยู่ เปรียบด้วยดอกบัว 3 จำพวก
พวกที่จักสอนให้รู้ตามพระองค์ได้ง่ายก็มี
พวกที่สอนได้ยากก็มี ฯลฯ ดังความต่อไปนี้[8]


... ครั้นอาตมภาพทราบว่าท้าวสหัมบดีพรหมอาราธนา
และอาศัยความกรุณาในสัตว์ทั้งหลาย จึงตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ.
เมื่ออาตมภาพตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ
ก็ได้เห็นหมู่สัตว์ซึ่งมีกิเลสดุจธุลีในจักษุน้อยก็มี
มีกิเลสดุจธุลีในจักษุมากก็มี มีอินทรีย์แก่กล้าก็มี มีอินทรีย์อ่อนก็มี
มีอาการดีก็มี มีอาการเลวก็มี จะพึงสอนให้รู้ได้ง่ายก็มี จะพึงสอนให้รู้ได้ยากก็มี
บางพวกมีปกติเห็นโทษในปรโลกโดยเป็นภัยอยู่ก็มี
เปรียบเหมือนในกอบัวขาบ ในกอบัวหลวง หรือในกอบัวขาว
ดอกบัวขาบ ดอกบัวหลวง หรือดอกบัวขาว
ซึ่งเกิดในน้ำ เจริญในน้ำ บางเหล่ายังไม่พ้นน้ำ จมอยู่ในน้ำ น้ำหล่อเลี้ยงไว้
บางเหล่า ตั้งอยู่เสมอน้ำ บางเหล่า ตั้งขึ้นพ้นน้ำ น้ำไม่ติด ฉันใด
ดูกรราชกุมาร เมื่ออาตมภาพตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ ก็ฉันนั้น
ได้เห็นหมู่สัตว์ซึ่งมีกิเลสดุจธุลีในจักษุน้อยก็มี
มีกิเลสดุจธุลีในจักษุมากก็มี มีอินทรีย์แก่กล้าก็มี มีอินทรีย์อ่อนก็มี
มีอาการดีก็มี มีอาการเลวก็มี จะพึงสอนให้รู้ได้ง่ายก็มี จะพึงสอนให้รู้ได้ยากก็มี
บางพวกมีปกติเห็นโทษในปรโลกโดยเป็นภัยอยู่ก็มี...

— มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ทรงเปรียบบุคคลด้วยดอกบัว ๓ เหล่า


ด้วยเหตุที่พระพุทธองค์พิจารณาบุคคลเปรียบด้วยบัวสามเหล่าดังกล่าว
พระพุทธองค์จึง ทรงตัดสินใจที่จะแสดงธรรม
เพราะทรงอาศัยบุคคลที่สามารถตรัสรู้ธรรมตามพระองค์ได้เป็นหลัก
ดังความที่ปรากฏใน อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ว่า[9]


"... บุคคลบางคนในโลกนี้ ได้เห็นพระตถาคต
ได้ฟังธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว
จึงหยั่งลงสู่ความแน่นอนมั่นคงและความถูกต้องในกุศลธรรมทั้งหลาย
เมื่อไม่ได้เห็น ไม่ได้ฟัง ย่อมไม่หยั่งลงสู่ความแน่นอนมั่นคงและความถูกต้อง


ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดาบุคคล ๓ จำพวกนั้น
เพราะเห็นแก่ บุคคลผู้ได้เห็นพระตถาคต
ได้ฟังธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว
จึงหยั่งลงสู่ความแน่นอนถูกต้องในกุศลธรรม
เมื่อไม่ได้เห็นไม่ได้ฟัง ย่อมไม่หยั่งลง
เราจึงอนุญาตการแสดงธรรมไว้
และก็เพราะอาศัยบุคคลเหล่านี้เป็นหลักอีกเหมือนกัน
จึงจำต้องแสดงธรรมแก่บุคคลประเภทอื่นด้วย...

— อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต คิลานสูตร สูตรที่ ๒


:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ก.ค. 2009, 07:59 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ธรรมเมกขสถูป สถานที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงจุดที่พระพุทธองค์
ทรงแสดงปฐมเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์



:b42: หาผู้รับปฐมเทศนา

หลังจากทรงตั้งพระทัยที่จะนำสิ่งที่พระองค์ตรัสรู้มาสอนแก่มนุษย์ทั้งหลาย
พระองค์ได้ทรงพิจารณาหาบุคคลที่สมควรจะแสดงธรรม
ที่พระองค์ได้ตรัสรู้โปรดก่อนเป็นบุคคลแรก
ในครั้งแรกพระองค์ทรงระลึกถึง
อาฬารดาบสกาลามโคตร และ อุทกดาบสรามบุตร ก่อน
ซึ่งทั้งสองท่านเป็นพระอาจารย์ที่พระองค์ได้เข้าไปศึกษาในสำนักของท่านก่อน
ปลีกตัวออกมาแสวงหาโพธิญาณด้วยพระองค์เอง
ก็ทรงทราบว่าทั้งสองท่านได้เสียชีวิตแล้ว จึงได้ทรงระลึกถึงปัญจวัคคีย์ทั้งห้า
ผู้ที่เคยอุปัฏฐากพระองค์ในระหว่างที่ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา
และทรงทราบด้วยพระญาณว่า ปัญจวัคคีย์พำนักอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
แขวงเมืองพาราณสี พระองค์จึงตั้งใจเสด็จไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
เพื่อแสดงธรรมโปรดปัญจวัคคีย์ทั้งห้าเป็นครั้งแรก[10]


:b42: เสด็จสู่พาราณสี-โปรดปัญจวัคคีย์

พระพุทธองค์ใช้กว่า 11 วัน เป็นระยะทางกว่า 260 กิโลเมตร
เพื่อเสด็จจากตำบลอุรุเวลา ตำบลที่ตรัสรู้ ไปยังที่พักของเหล่าปัญจวัคคีย์
(สถานที่แห่งนี้ชาวพุทธในยุคหลังได้สร้างสถูปขนาดใหญ่ไว้
ปัจจุบันเหลือเพียงซากกองอิฐมหึมา เรียกว่า เจาคันธีสถูป)
เมื่อพระองค์เสด็จไปถึงที่อยู่ของเหล่าปัญจวัคคีย์ในวันเพ็ญเดือน 8 (อาสาฬหมาส)
ขณะที่พระองค์กำลังเสด็จเข้าไปที่พักของเหล่าปัญจวัคคีย์
ปัญจวัคคีย์ได้เห็นพระพุทธเจ้ามาแต่ไกล
ด้วยเหตุที่ปัญจวัคคีย์รังเกียจว่า
"เจ้าชายสิทธัตถะ ผู้ได้เลิกการบำเพ็ญทุกขกิริยา
หันมาเสวยอาหารเป็นผู้หมดโอกาสบรรลุธรรมได้เสด็จมา"
จึงได้นัดหมายกันและกันว่า "พวกเราไม่พึงอภิวาท ไม่พึงลุกขึ้นต้อนรับพระองค์
ไม่พึงรับบาตรจีวรของพระองค์ แต่พึงวางอาสนะไว้
ถ้าพระองค์ปรารถนาจะนั่งก็จักประทับนั่งเอง"

รูปภาพ

เจาคันธีสถูป สถานที่พระพุทธองค์พบปัญจวัคคีย์เป็นครั้งแรกหลังจากตรัสรู้



ครั้นพระพุทธเจ้าเสด็จเข้าไปถึงกลุ่มพระปัญจวัคคีย์
พระปัญจวัคคีย์นั้นกลับลืมข้อตกลงที่ตั้งกันไว้แต่แรกเสียสิ้น
ต่างลุกขึ้นมาต้อนรับพระพุทธเจ้า รูปหนึ่งรับบาตรจีวรของพระผู้มีพระภาค
รูปหนึ่งปูอาสนะ รูปหนึ่งจัดหาน้ำล้างพระบาท รูปหนึ่งจัดตั้งตั่งรองพระบาท
รูปหนึ่งนำกระเบื้องเช็ดพระบาทเข้าไปถวาย
พระพุทธเจ้าจึงประทับนั่งบนอาสนะที่พระปัญจวัคคีย์จัดถวายไว้


พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า "เราตถาคตเป็นอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ
พวกเธอจงเงี่ยโสตสดับ เราได้บรรลุอมฤตธรรมแล้ว
เราจะสั่งสอน จะแสดงธรรม
พวกเธอปฏิบัติอยู่ตามที่เราสั่งสอนแล้ว ไม่ช้าสักเท่าไร
'จักทำให้เข้าใจแจ้งซึ่งคุณอันยอดเยี่ยม อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์'
ที่คนทั้งหลายผู้พากันออกบวชจากเรือนต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเอง"


แรกทีเดียวพระปัญจวัคคีย์ยังไม่เชื่อว่าพระพุทธองค์ทรงเป็นอรหันต์
ตรัสรู้เองโดยชอบ จึงค้านถึงสามครั้งว่า
" แม้ด้วยจริยานั้น แม้ด้วยปฏิปทานั้น แม้ด้วยทุกกรกิริยานั้น
พระองค์ก็ยังไม่ได้บรรลุอุตตริมนุสสธรรม
อันเป็นความรู้ความเห็นพิเศษ อย่างประเสริฐ อย่างสามารถ
(อุตตริมนุสสธรรมอลมริยญาณทัสสนวิเสส)
ก็บัดนี้พระองค์เป็นผู้มักมาก คลายความเพียรเวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมาก
ไฉนจักบรรลุอุตตริมนุสสธรรม อันเป็นความรู้
ความเห็นพิเศษอย่างประเสริฐอย่างสามารถได้เล่า"


พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า
"พวกเธอยังจำได้หรือว่า เราได้เคยพูดถ้อยคำเช่นนี้มาก่อน" และตรัสว่า


"...ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ
ท่านทั้งหลายจงเงี่ยโสตลงเถิด เราจะสั่งสอนอมตธรรมที่เราบรรลุแล้ว
เราจะแสดงธรรม เมื่อท่านทั้งหลายปฏิบัติตามที่เราสั่งสอนอยู่
ไม่ช้าเท่าไรก็จักทำให้แจ้งซึ่งที่สุดพรหมจรรย์ อันไม่มีธรรมอื่นยิ่งไปกว่า
ที่กุลบุตรทั้งหลายออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ
ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน แล้วเข้าถึงอยู่..."

— มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์



ดัวยพระดำรัสดังกล่าว พระปัญจวัคคีย์จึงได้ยอมเชื่อฟังพระพุทธองค์
เงี่ยโสตสดับ ตั้งจิตเพื่อรู้ยิ่ง[11]

:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ก.ค. 2009, 08:18 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


:b42: ประกาศพระสัจธรรม-แสดงปฐมเทศนา

รูปภาพ

พระพุทธรูปปางปฐมเทศนา ที่ขุดพบในป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
ที่มีผู้ยกย่องว่าเป็นพระพุทธรูปปางแสดงปฐมเทศนาที่งามที่สุดในโลก[12]
(ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในพิพิธภัณฑ์สารนาถ)



เมื่อปัญวัคคีย์ตั้งใจเพื่อสดับพระธรรมของพระองค์แล้ว[13]
พระพุทธองค์ทรงจึงทรงพาเหล่าปัญจวัคคีย์ไปสู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันอันร่มรื่น
แล้วทรงแสดง ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ซึ่งเรียกว่า "ปฐมเทศนา"[14]
เป็นการยังธรรมจักรคือการเผยแผ่พระธรรมให้เป็นไปเป็นครั้งแรกในโลก[15]


พระพุทธองค์ทรงกล่าวสรุปถึงเนื้อหาของการแสดงพระปฐมเทศนา
ไว้ในสัจจวิภังคสูตร มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ว่า[16]


"...ภิกษุทั้งหลาย! ตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมมาสัมพุทธเจ้า
ได้ประกาศอนุตตรธรรมจักรให้เป็นไปแล้ว
ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้นครพาราณสี,
เป็นพระธรรมจักรที่สมณะพราหมณ์, เทพ มาร พรหม หรือใคร ๆ ในโลก
จะต้านทานให้หมุนกลับไม่ได้ (คือความจริงที่ไม่มีผู้ใดปฏิเสธได้)
ข้อนี้คือ การบอก การแสดง การบัญญัติ การแต่งตั้ง การเปิดเผย
การจำแนก และการทำให้ง่าย ซึ่ง ความจริงอันประเสริฐสี่ประการ
สี่ประการนั้นได้แก่ ความจริงอันประเสริฐคือความทุกข์,
ความจริงอันประเสริฐคือเหตุให้เกิดทุกข์,
ความจริงอันประเสริฐคือความดับไม่เหลือแห่งทุกข์,
และความจริงอันประเสริฐคือ
ทางที่ทำให้ผู้ปฏิบัติตามลุถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์...


— มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ สัจจวิภังคสูตร


เมื่อพระพุทธองค์ตรัสแสดงพระปฐมเทศนานี้อยู่
ดวงตาเห็นธรรม ได้เกิดขึ้นแก่ท่านพระโกณฑัญญะว่า
"สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
สิ่งนั้นทั้งมวล ล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา"
ท่านโกณฑัญญะได้สำเร็จเป็นพระอริยบุคคลแล้ว
รูปปูนปั้นพระพุทธเจ้าแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตรแก่ปัจจวัคคีย์
ในวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี


พระพุทธองค์ทรงทราบความที่พระโกณฑัญญะเป็นผู้ได้ดวงตาเห็นธรรม
มีความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งในคำสอนของพระองค์[17]
จึงทรงเปล่งพระอุทานว่า "อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ"
ท่านผู้เจริญ ท่านโกณฑัญญะ รู้แล้วหนอ
เพราะเหตุนั้น คำว่า "อัญญา" นี้
จึงได้เป็นคำนำหน้าชื่อของท่านพระโกณฑัญญะ[18]



เมื่อท่านพระโกณฑัญญะได้บรรลุโสดาบันแล้ว
จึงได้กราบทูลขอบรรพชาอุปสมบท
พระพุทธองค์จึงทรงประทาน เอหิภิกขุอุปสัมปทา ว่า
"เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว
เธอจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด"[19]


ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะ
จึงนับเป็น "พระสงฆ์อริยสาวกองค์แรก" ในพระพุทธศาสนา1
ซึ่งวันนั้นเป็นวันเพ็ญ กลางเดือนอาสาฬหะ หรือเดือน 8
เป็น วันที่พระรัตนตรัยครบบริบูรณ์ บังเกิดขึ้นในโลกเป็นครั้งแรก
คือมี "พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์" ครบบริบูรณ์[20]


ปัจจุบันสถานที่พระพุทธเจ้าประกาศพระอนุตตรสัจธรรมเป็นครั้งแรก
และสถานที่บังเกิดพระสงฆ์องค์แรกในโลก
อยู่ในบริเวณที่ตั้งของ ธรรมเมกขสถูป (แปลว่า: สถูปผู้เห็นธรรม)
ภายในอิสิปตนมฤคทายวัน หรือ สารนาถในปัจจุบัน

รูปภาพ

รูปปั้นพระพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนาโปรดเบญจวัคคีย์
ในวัดพุทธพม่า ใกล้กับสารนาถ เมืองพาราณสี
เจ้าของลิขสิทธิ์ : ภาพนี้ไม่ได้ระบุเจ้าของลิขสิทธิ์
หรือผู้อัปโหลดไม่ทราบว่าคัดลอกมาจากแหล่งไหน
แหล่งที่มา : พระธรรมฑูตสายประเทศอินเดีย
หนังสือสมุดภาพพุทธภูมิ ฉลองชนมายุ 80 ปี พระวิสุทธาธิบดี. 2541. กรุงเทพ


:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ก.ค. 2009, 08:33 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


:b42:สถานที่สำคัญเนื่องด้วยวันอาสาฬหบูชา

เหตุการณ์สำคัญที่เกิดในวันอาสาฬหบูชา
เกิดในบริเวณที่ตั้งของ กลุ่มพุทธสถานสารนาถ
ภายในอาณาบริเวณของป่าอิสิปตนมฤคทายวัน 9 กิโลเมตรเศษ
ทางเหนือของเมืองพาราณสี อันเป็นเมืองศูนย์กลางทางศาสนาของศาสนาพราหมณ์
สมัยนั้นแถบนี้อยู่ใน แคว้นมคธ ชมพูทวีป ในสมัยพุทธกาล
(ในปัจจุบันอยู่ใน รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย)
ปัจจุบัน สารนาถ จัดเป็นพุทธสังเวชนียสถานแห่งที่ 3
(1 ใน 4 แห่งของชาวพุทธ[21])


เหตุที่ได้ชื่อว่าสารนาถเนื่องมาจากสถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่พระพุทธเจ้า
ทรงเริ่มต้นประกาศพระพุทธศาสนาเพื่อเป็นที่พึ่งแก่มหาชนทั้งหลาย
แต่บ้างก็ว่ามาจากศัพท์ว่า สารงฺค+นารถ = ที่อยู่ของสัตว์จำพวกกวาง[22][20]


ภายในอาณาบริเวณสารนาถมี ธรรมเมกขสถูป
เป็นพุทธสถานขนาดใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุด
สันนิษฐานว่าบริเวณที่ตั้งของธรรมเมกขสถูป
เป็นสถานที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา
ประกาศพระสัจจธรรมเป็นครั้งแรกที่นี่
และ เจาคันธีสถูป อยู่ไม่ไกลจากสารนาถ
เป็นมหาสถูปที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงสถานที่พำนักของเหล่าปัญจวัคคีย์
และสถานที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาทรงพบกับเหล่าปัญจวัคคีย์ครั้งแรก ณ จุดนี้
ก่อนที่จะพาไปแสดงปฐมเทศนาในสารนาถ[23]


:b42: ความสำคัญและสภาพสารนาถในสมัยพุทธกาล

สารนาถในสมัยพุทธกาล เรียกกันว่า ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
แปลว่า เขตป่าอภัยทานแก่สัตว์ที่เป็นที่บำเพ็ญตบะของฤษี
เป็นสถานที่สงบและเป็นที่ชุมนุมของเหล่าฤษีและนักพรตต่าง ๆ
ที่มาบำเพ็ญตบะและโยคะเพื่อเข้าถึงพรหมมัน
ตามความเชื่อในคัมภีร์อุปนิษัทของพรามหณ์
ทำให้เหล่าปัจจวัคคีย์ที่ปลีกตัวมาจากเจ้าชายสิทธัตถะ
ภายหลังจากที่พระองค์ทรงเลิกบำเพ็ญทุกขกริยา ได้มาบำเพ็ญตบะที่นี่แทน


หลังจากพระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา
และเทศน์โปรดปัญวัคคีย์จนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั้งหมดแล้ว[24]
ได้ทรงพักจำพรรษาแรก ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน พร้อมกับเหล่าปัญจวัคคีย์
ซึ่งในระหว่างจำพรรษาแรก พระองค์ได้สาวกเพิ่มกว่า 45 องค์
โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระยสะ[25]และบริวารของท่าน 44 องค์[26]
ซึ่งรวมถึงบิดามารดาและภรรยาของพระยสะ
ที่ได้มาฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธองค์
และได้ยอมรับนับถือเป็นอุบาสก อุบาสิกา
ที่ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะคู่แรกในโลกด้วย[27]
ทำให้ในพรรษาแรกที่พระพุทธเจ้าทรงจำพรรษาที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
มีพระอรหันต์ในโลกรวม 60 องค์ และองค์พระพุทธเจ้า


นอกจากนี้ ในบริเวณสารนาถ ยังเป็นสถานที่สำคัญที่พระพุทธองค์
ทรงประกาศเริ่มต้นส่งให้พระสาวกกลุ่มแรก
ออกไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาหลังจากทรงจำพรรษาแรกแล้ว[28]
(เชื่อกันว่าเป็นจุดที่เดียวกับที่พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนา คือธรรมเมกขสถูป)
ดังปรากฏความตอนนี้ใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค[29] ว่า


"...ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเที่ยวจาริกไป
เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนหมู่มาก เพื่อความสุขแก่ชนหมู่มาก
เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล
เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
เธอทั้งหลายอย่าได้ไปด้วยกัน ๒ รูป โดยทางเดียวกัน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงแสดงธรรม
งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด
จงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง...

— สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ทุติยปาสสูตรที่ ๕



และด้วยเหตุทั้งหลายดังกล่าวมานี้
สารนาถจึงได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งศูนย์กลางพระพุทธศาสนาแห่งแรกมาตั้งแต่นั้น


ซึ่งในช่วงหลังจากพระพุทธองค์เสด็จออกจากสารนาถ
หลังประกาศส่งพระสาวกออกเผยแพร่ศาสนานั้น
ไม่ปรากฏในหลักฐานในพระไตรปิฎกว่า
มีการสร้างอารามหรือสิ่งก่อสร้างในป่าสารนาถแห่งนี้
ทำให้สันนิษฐานได้ว่าสิ่งก่อสร้างใหญ่โตคงจะได้มาเริ่มสร้างขึ้นกัน
ในช่วงหลังที่พระพุทธศาสนาได้รุ่งเรืองมั่นคงในแคว้นมคธแล้ว


:b42:สารนาถหลังพุทธกาล

หลังพุทธกาล ประมาณ 300 ปี พระเจ้าอโศกมหาราช
ได้เสด็จมาที่สารนาถ[30] ในปี พ.ศ. 295
ครั้งนั้นพระองค์ได้พบว่ามีสังฆารามใหญ่โตที่สารนาถแล้ว
ในครั้งนั้นพระองค์ได้ทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์
ในการบูรณะและก่อสร้างศาสนสถาน เพิ่มเติมในสารนาถครั้งใหญ่
โดยพระองค์ได้สร้างสถูปและสิ่งต่าง ๆ มากมาย
ในบริเวณกลุ่มสถานที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมธรรมเทศนา
และพระธรรมเทศนา อื่น ๆ แก่เบญจวัคคีย์
และหมู่คันธกุฎีของพระพุทธเจ้า ในบริเวณสารนาถ
เพื่อถวายเป็นอนุสรณียสถานแก่พระพุทธเจ้า


กลุ่มพุทธสถานเหล่านี้ได้เจริญรุ่งเรืองต่อมาจนถึงขีดสุดในสมัยราชวงศ์คุปตะ
ตามบันทึกของพระถังซำจั๋ง (Chinese traveler Hiuen-Tsang)
​ซึ่งได้จาริกมาราว พ.ศ. 1280 ท่านได้กล่าวไว้ในบันทึกของท่านว่า
ท่านได้พบสังฆารามใหญ่โต มีพระอยู่ประจำ 1,500 รูป
ภายในกำแพงมีวิหารหลังหนึ่งสูงกว่า 33 เมตร
มีบันไดทางขึ้นปูด้วยแผ่นหินกว่า 100 ขั้น
กำแพงบันไดก่อด้วยอิฐเป็นขั้น ๆ ประดับด้วยพระพุทธรูปปางปฐมเทศนา
ทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของวิหารมีสถูปหินอ่อนสูง 70 ฟุต (เสาอโศก)
บนยอดเสามีรูปสิงห์สี่ตัวเป็นมันวาวราวกับหยกใสสะท้อนแสง
มหาสถูป (ธรรมเมกขสถูป)
มีพระพุทธรูปทองคำประดิษฐานอยู่ทุกช่อง ฯลฯ[31]


กลุ่มพุทธสถานสารนาถได้เจริญรุ่งเรืองสลับกับความเสื่อมเป็นช่วง ๆ ต่อมา
จนในที่สุดได้ถูกกองทัพมุสลิมเตอร์กบุกเข้ามาทำลายในปี พ.ศ. 1737[32]
ทำให้มหาสังฆารามและพุทธวิหารในสารนาถ
ถูกทำลายล้างและถูกทิ้งร้างไปอย่างสิ้นเชิงในระยะต่อมากว่า 700 ปี
เหลือเพียงกองดินและมหาสถูปใหญ่
โดยเฉพาะอย่างยิ่งธรรมเมกขสถูปและเจาคันธีสถูป
ที่เป็นกองสถูปอิฐใหญ่โตมาก[33]


สภาพของสารนาถหลังจากนั้นกลายเป็นกองดินกองอิฐมหึมา
ทำให้หลังจากนั้น ชาวบ้านได้เข้ามารื้ออิฐจากสารนาถ
ไปก่อสร้างอาคารในเมืองพาราณสีเป็นระยะ ๆ
ซึ่งเหตุการณ์ที่สำคัญคือเหตุการณ์ที่ราชาเชตสิงห์ (Chait Singh)
มหาราชาแห่งเมืองพาราณสี ได้สั่งให้ชคัตสิงห์อำมาตย์
ไปรื้ออิฐเก่าจากสารนาถเพื่อนำไปสร้างตลาดในเมืองพาราณสี
(ปัจจุบันตลาดนี้เรียกว่า ชคันคุนช์) โดยได้รื้อมหาธรรมราชิกสถูป
ที่สร้างโดยพระเจ้าอโศกมหาราชลง และได้พบกับผอบศิลาสีเขียวสองชั้น
ชั้นในมีไข่มุก พลอยและแผ่นเงินทองอยู่ปนกับขี้เถ้าและอัฐิ 3 ชิ้น
ซึ่งเป็นพระบรมสารีริกธาตุที่พระเจ้าอโศกมหาราชบรรจุไว้
แต่คชัตสิงห์กลับนำกระดูกไปลอยทิ้งที่แม่น้ำคงคา
เพราะเชื่อว่าเจ้าของกระดูกในผอบคงจะไม่ได้ขึ้นสวรรค์เพราะไม่ได้นำกระดูกไป
ลอยน้ำตามธรรมเนียมฮินดู ในปี พ.ศ. 2337[34]


จนเมื่ออินเดียตกไปอยู่ในความปกครองของอังกฤษในปี พ.ศ. 2420[35]
ทำให้รัฐบาลอังกฤษต้องตั้งเจ้าหน้าที่มาขุดค้นอย่างถูกต้องตามหลักโบราณคดี
โดยสานงานต่อจากพันเอกแมคแคนซี่
ที่เข้ามาดูแลการขุดค้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2358
ซึ่งใช้เวลากว่าร้อยปีจึงจะขุดค้นสำเร็จในปี พ.ศ. 2465
ในสมัยที่ท่าน เซอร์ อเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮม
เป็นหัวหน้ากองโบราณคดีอินเดีย[36]
จนช่วงหลังที่ท่านอนาคาริก ธรรมปาละ ชาวศรีลังกา
ได้มาบูรณะฟื้นฟูสารนาถให้เป็นศูนย์รวมจิตใจชาวพุทธขึ้นใหม่อีกครั้ง
โดยท่านได้ซื้อที่เพื่อสร้างวัดมูลคันธกุฏีวิหารใหม่
ซึ่งนับเป็นวัดพระพุทธศาสนาแห่งแรกในบริเวณสารนาถหลังจากถูกทำลาย[37]
หลังจากนั้นเป็นต้นมา สารนาถได้รับการบูรณะจากรัฐบาลอินเดียเรื่อยมา
ทำให้สารนาถกลายเป็นจุดหมายปลายทาง
ในการแสวงบุญที่สำคัญแห่งหนึ่งของชาวพุทธ ทั่วโลกมาจนถึงปัจจุบัน[38]


:b42: จุดแสวงบุญและสภาพของสารนาถในปัจจุบัน

ปัจจุบัน สถานที่แสวงบุญในบริเวณสารนาถได้รับการขุดค้นบ้างเป็นบางส่วน
บางส่วนก็ยังคงจมอยู่ใต้ดิน แต่ซากพุทธสถานสำคัญ ๆ
ส่วนใหญ่ในพุทธประวัติก็ได้รับการขุดค้นขึ้นมาหมดแล้ว เช่น

* ธรรมเมกขสถูป สถานที่พระพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนา
และประกาศส่งพระสาวกไปเผยแพร่พระศาสนา

* ยสสถูป สถานที่พระพุทธเจ้าทรงพบท่านยสะ
ซึ่งต่อมาได้บรรลุเป็นพระอรหันตสาวกองค์ที่ 6 ในโลก[39]

* รากฐานธรรมราชิกสถูป สถานที่พระพุทธเจ้า
ทรงแสดงอนัตตลักขณะสูตร และสถานที่เคยประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ

* พระมูลคันธกุฏี พระคันธกุฏีที่ประทับจำพรรษา
ของพระพุทธองค์ในพรรษาแรกและพรรษาที่ 12

* ซากเสาพระเจ้าอโศกมหาราช ซึ่งหักเป็น 5 ท่อน
ในอดีตเสานี้เคยมีความสูงถึง 70 ฟุต
และบนยอดเสามีรูปสิงห์ 4 หัวอีกด้วย
ปัจจุบันสิงห์ 4 หัว ได้เหลือรอดจากการทำลาย
และรัฐบาลอินเดียได้เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สารนาถ
โดยสิงห์ 4 หัวนี้ ได้ถูกนำมาเป็นสัญลักษณ์ของประเทศอินเดีย
และข้อความจารึกของพระเจ้าอโศกมาราชที่จารึกไว้ใต้รูปสิงห์ดังกล่าว
คือ "สตฺยเมว ชยเต"
(เทวนาครี: सत्यमेव जयते) หมายถึง "ความจริงชนะทุกสิ่ง"[40])
และได้ถูกนำมาเป็นคำขวัญประจำชาติของประเทศอินเดียอีกด้วย



บริเวณโดยรอบสถานที่สำคัญดังกล่าว
มีหมู่พุทธวิหารและซากสถูปมากมายอยู่หนาแน่น
แสดงถึงความศรัทธาของคนในอดีตได้เป็นอย่างดี
และนอกจากสถานที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ในพุทธประวัติแล้ว
ผู้มาแสวงบุญยังนิยมมาเยี่ยมชมวัดมูลคันธกุฏีวิหารใหม่
ที่สร้างโดยท่านอนาคาริก ธรรมปาละ พระสงฆ์ชาวศรีลังกา
ผู้ฟื้นฟูพุทธสถานสารนาถให้กลายเป็นสถานที่แสวงบุญสำคัญเหมือนในอดีต
วัดแห่งนี้เป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่
ได้รับมอบจากรัฐบาลอินเดียและวัดนี้ยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่สวยงามมากภาย
ในพุทธวิหารอีกด้วย และใกล้กับสารนาถ เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์สารนาถ
เป็นสถานที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุที่ขุดค้นได้ภายในบริเวณสารนาถ
ซึ่งโบราณวัตถุที่สำคัญคือ ยอดหัวสิงห์พระเจ้าอโศก
และพระพุทธรูปปางแสดงปฐมเทศนา
ซึ่งมีผู้ยกย่องว่ามีความสวยงามมากที่สุดองค์หนึ่งของโลก[41]


:b42: วัดพุทธนานาชาติ

รูปภาพ

กวางที่รัฐบาลอินเดียเลี้ยงไว้ เพื่อรำลึกถึงสารนาถ
(ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน) ที่เคยเป็นสวนกวางในอดีต
Author : Tevaprapas Makklay


รูปภาพ

อักษรพราหมี บนเสาศิลาจารึกพระเจ้าอโศกมหาราช
ที่มา : http://en.wikipedia.org/wiki/Image:Aram ... arnath.JPG


รูปภาพ

บรรยากาศหมู่มหาสังฆวิหาร ซากพุทธสถานโบราณ ในป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
ถ่ายที่ : สารนาถ เมืองพาราณสี ประเทศอินเดีย


รูปภาพ

เจาคันธีสถูป สถานที่ๆ พระพุทธเจ้าพบปัญจวัคคีย์

รูปภาพ

ซากฐานเจดีย์ธรรมราชิกสถูป
สถานที่พระพุทธองค์ทรงแสดงอนัตตลักขณสูตรโปรดปัญจวัคคีย์
ทำให้ปัญจวัคคีย์บรรลุเป็นพระอรหันต์


รูปภาพ

ยสสถูป สถานที่พระยสเถระบรรลุพระอรหันต์ (พระอริยสาวกองค์ที่ 6)
พร้อมกับบิดาของท่านที่ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน เป็นอุบาสกคนแรกของโลก
สถานที่พระพระพุทธเจ้าพบและเทศน์โปรดพระยสะเถระ
พระอรหันต์องค์ที่ 7 ในโลก
ถ่ายที่ : สารนาถ เมืองพาราณสี ประเทศอินเดีย
Author : Tevaprapas Makklay


รูปภาพ

ซากเสาหินพระเจ้าอโศกมหาราชที่ถูกทุบทำลาย
ถ่ายที่ : สารนาถ เมืองพาราณสี ประเทศอินเดีย
Author : Tevaprapas Makklay


รูปภาพ

หัวสิงห์ยอดเสาอโศกในสารนาถ
โบราณวัตถุที่สำคัญที่สุดของอินเดีย
หัวสิงห์นี้ถูกใช้เป็นตราประจำชาติอินเดียในปัจจุบัน


รูปภาพ

พระพุทธรูปปางปฐมเทศนา ภายในวัดมูลคันธกุฏีวิหารใหม่

รูปภาพ

วัดมูลคันธกุฏีวิหารใหม่ สร้างโดยพระสงฆ์ศรีลังกา
(อนาคาริก ธรรมปาละ) เป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ


:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ก.ค. 2009, 09:29 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 10
สมาชิก ระดับ 10
ลงทะเบียนเมื่อ: 09 ก.พ. 2009, 02:06
โพสต์: 811

อายุ: 0
ที่อยู่: มหานคร

 ข้อมูลส่วนตัว


วันอาสาฬหบูชาเวียนมาอีกครั้ง
ขอกระทำความเพียรต่อไป

ขอบคุณ คุณลูกโป่งมากครับ
อนุโมทนาด้วยครับ


:b8: :b48: :b8:

.....................................................
ทุกสิ่งทุกอย่างในโลก มันถูกต้องอยู่แล้ว มีแต่ความเห็นของเราเท่านั้นที่ผิด (หลวงพ่อชา สุภัทโท)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ก.ค. 2009, 09:39 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


:b42: กิจกรรมที่พุทธศาสนิกชนพึงปฏิบัติในวันอาสาฬหบูชา

วันอาสาฬหบูชา พุทธศาสนิกชนชาวไทยนิยมทำบุญตักบาตรในตอนเช้า
และตลอดวันจะมีการบำเพ็ญบุญกุศลความดีอื่น ๆ
เช่น ไปวัดรับศีล งดเว้นการทำบาปทั้งปวง ถวายสังฆทาน
ให้อิสระทาน (ปล่อยนกปล่อยปลา) ฟังพระธรรมเทศนา
และไปเวียนเทียนรอบโบสถ์ในเวลาเย็น[43]


โดยก่อนทำการเวียนเทียนพุทธศาสนิกชนควรร่วมกันกล่าวคำสวดมนต์
และคำบูชาใน วันอาสาฬหบูชา โดยปกติตามวัดต่าง ๆ
จะจัดให้มีการทำวัตรสวดมนต์ก่อนทำการเวียนเทียน
ซึ่งส่วนใหญ่นิยมทำการเวียนเทียนอย่างเป็นทางการ
(โดยมีพระภิกษุสงฆ์นำเวียนเทียน) ในเวลาประมาณ 20 นาฬิกา
โดยบทสวดมนต์ที่พระสงฆ์นิยมสวดในวันอาสาฬหบูชา
ก่อนทำการเวียนเทียนนิยมสวด (ทั้งบาลีและคำแปล) ตามลำดับดังนี้

1. บทบูชาพระรัตนตรัย (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:อรหัง สัมมา ฯลฯ)

2. บทนมัสการนอบน้อมบูชาพระพุทธเจ้า (นะโม ฯลฯ ๓ จบ)

3. บทสรรเสริญพระพุทธคุณ (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:อิติปิโส ฯลฯ)

4. บทสรรเสริญพระพุทธคุณ สวดทำนองสรภัญญะ
(บทสวดสรภัญญะที่ขึ้นต้นด้วย:องค์ใดพระสัมพุทธ ฯลฯ)

5. บทสรรเสริญพระธรรมคุณ (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:สวากขาโต ฯลฯ)

6. บทสรรเสริญพระธรรมคุณ สวดทำนองสรภัญญะ
(บทสวดสรภัญญะที่ขึ้นต้นด้วย:ธรรมมะคือ คุณากร ฯลฯ)

7. บทสรรเสริญพระสังฆคุณ (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:สุปฏิปันโน ฯลฯ)

8. บทสรรเสริญพระสังฆคุณ สวดทำนองสรภัญญะ
(บทสวดสรภัญญะที่ขึ้นต้นด้วย:สงฆ์ใดสาวกศาสดา ฯลฯ)

9. บทสวดพระธรรมจักกัปปวัตตนสูตรบาลี
(บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:เอวัมเม สุตัง เอกัง ฯลฯ)


บทสวดมนต์ : ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร พร้อมคำแปล
http://www.dhammajak.net/prayer/dhammajak.php


บทสวดธรรมจักร
http://www.dhammajak.net/audio/prayer/mp3.php?id=2


บทสวดธรรมจักร (แปล)
http://www.dhammajak.net/audio/prayer/mp3.php?id=3


ดาวน์โหลด

ดาวน์โหลด wma: บทสวดธรรมจักรกัปปวัตตนสูตร (หลวงพ่อสุวัฒน์)


http://www.fileden.com/files/2007/12/16 ... ak02_3.wma

ดาวน์โหลด mp3pro: บทสวดธรรมจักรกัปปวัตตนสูตร (หลวงพ่อสุวัฒน์)


http://www.fileden.com/files/2007/12/16 ... ak02_2.mp3


10. บทสวดบูชาเนื่องในวันอาสาฬหบูชา
(บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:ยะมัมหะ โข มะยัง ฯลฯ)


จากนั้นจุดธูปเทียนและถือดอกไม้เป็นเครื่องสักการะบูชาในมือ
แล้วเดินเวียนรอบปูชนียสถาน 3 รอบ โดยขณะที่เดินนั้นพึงตั้งจิตให้สงบ
พร้อมสวดระลึกถึงพระพุทธคุณ ด้วยการสวดบทอิติปิโส (รอบที่หนึ่ง)
ระลึกถึงพระธรรมคุณ ด้วยการสวดสวากขาโต (รอบที่สอง)
และระลึกถึงพระสังฆคุณ ด้วยการสวดสุปะฏิปันโน (รอบที่สาม)
จนกว่าจะเวียนจบ 3 รอบ จากนั้นนำธูปเทียนดอกไม้
ไปบูชาตามปูชนียสถานจึงเป็นอันเสร็จพิธี

:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ก.ค. 2009, 10:20 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


:b42: หลักธรรมในวันอาสาฬหบูชา

เนื่องด้วย วันอาสาฬหบูชา มีความเกี่ยวข้องอย่างมากกับพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
ซึ่งเป็นพระสูตรแรกที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงขึ้นในโลก
และได้ทรงแสดงเป็นครั้งแรกในวันอาสาฬหบูชานี้
หลักธรรมสำคัญในพระสูตรบทนี้
จึงเป็นธรรมะสำคัญที่พุทธศาสนิกชนควรนำไปพิจารณาและทำความเข้าใจ
และอาจจะเรียกได้ว่าหลักธรรมในพระสูตรดังกล่าวเป็นหลักธรรมสำคัญ
ในวันอาสาฬหบูชา[44] ซึ่งเนื้อหาในพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตร มี 3 ตอน ดังนี้



:b42: สิ่งที่ไม่ควรเสพสองอย่าง

ส่วนแรกที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง คือ กามสุขัลลิกานุโยค และ อัตตกิลมถานุโยค
กล่าวคือทรงแสดงสิ่งที่ไม่ควรเสพสองอย่าง
อันได้แก่ การปฏิบัติตนย่อหย่อนสบายกายเกินไป (กามสุขัลลิกานุโยค)
และการปฏิบัติตนจนทรมานกายเกินไป (อัตตกิลมถานุโยค)
คือทรงแสดงการปฏิเสธลักษณะของลัทธิทั้งปวงที่มีในสมัยนั้นดังนี้


"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ที่สุดสองอย่างนี้อันบรรพชิตไม่ควรเสพ คือ


* การประกอบตนให้พัวพันด้วยกามสุขในกามทั้งหลาย
เป็นธรรมอันเลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ
ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ 1

* การประกอบความเหน็ดเหนื่อยแก่ตน เป็นความลำบาก
ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ 1"


— พระไตรปิฎก เล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔
มหาวรรค ภาค ๑ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร


การที่พระพุทธองค์ตรัสปฏิเสธแนวทางสองอย่างดังกล่าวมา
ในขณะเริ่มปฐมเทศนา เพื่อแสดงให้รู้ว่า
พระพุทธศาสนาไม่ใช่ศาสนาที่สอนให้พ้นจากทุกข์ด้วยการแก้ปัญหานอกกาย
คือ หนีความทุกข์ด้วยการมัวแต่แสวงหาความสุข
(หนีความทุกข์อย่างไม่ยั่งยืน เพราะต้องแสวงหามาปรนเปรอตัณหาไม่สิ้นสุด)
หรือหาทางพ้นทุกข์ด้วยการกระทำตนให้ลำบาก
(สู้หรืออยู่กับความทุกข์อย่างโง่เขลา ขาดปัญญา ทำตนให้ลำบากโดยใช่เหตุ)
เพื่อที่จะทรงขับเน้นหลักการที่พระพุทธองค์จะทรงแสดงต่อไปว่า
มีความแตกต่างโดยสิ้นเชิงจากแนวคิดพ้นทุกข์เดิม ๆ ซึ่ง
เป็นการประกาศแนวทางพ้นทุกข์ใหม่แก่โลก
อันได้แก่การแก้ทุกข์ที่ตัวต้นเหตุ คือ แก้ที่ภายในใจของเราเอง
คือ มัชฌิมาปฏิปทา ของพระพุทธองค์



:b42: มัชฌิมาปฏิปทา (ทางสายกลาง)


หลักธรรมในพระธรรมจักกัปปวัตนสูตร มีจุดเด่นคือเน้นทางสายกลาง
ให้มนุษย์มองโลกตามความเป็นจริง (แก้ทุกข์ที่ใจ) เพื่อพบกับความสุขที่ยั่งยืนกว่า


สิ่งที่พระพุทธองค์ทรงแสดงในปฐมเทศนาต่อมาคือ มัชฌิมาปฏิปทา
คือ หลังจากทรงกล่าวปฏิเสธแนวทางพ้นทุกข์แบบเดิม ๆ แล้ว
ได้ทรงแสดงเสนอแนวทางพ้นทุกข์ใหม่แก่โลก คือ มัชฌิมาปฏิปทา
หรือ ทางสายกลาง คือ การปฏิบัติที่ไม่สุดตึงด้านใดด้านหนึ่ง
อันได้แก่การดำเนินตามมรรคมีองค์ 8
ซึ่งควรพิจารณาจากข้อความจากพระโอษฐ์โดยตรง ดังนี้


"ปฏิปทาสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ที่สุดสองอย่างนั้น
นั่นตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิด
ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน


ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ปฏิปทาสายกลางที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง
ทำดวงตา ให้เกิด ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ
เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน นั้น เป็นไฉน?


ปฏิปทาสายกลางนั้น ได้แก่อริยมรรค มีองค์ 8 นี้แหละ
คือปัญญาอันเห็นชอบ 1 ความดำริชอบ 1 เจรจาชอบ 1 การงานชอบ 1
เลี้ยงชีวิตชอบ 1พยายามชอบ 1 ระลึกชอบ 1 ตั้งจิตชอบ 1"


ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้แลคือปฏิปทาสายกลางนั้น
ที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิด
ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน.


— พระไตรปิฎก เล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร


:b42: อริยสัจสี่


สุดท้ายทรงแสดงสิ่งที่ทำให้พระองค์ตรัสรู้ คือทรงแสดงอริยสัจ 4 ประการ
และ "กิจ" ที่ควรทำในอริยสัจ 4 ประการ เพื่อการหลุดพ้นจากทุกข์
โดยแก้ที่สาเหตุของทุกข์ กล่าวคือ ทุกข์ ควรรู้ สมุทัย ควรละ
นิโรธ ควรทำให้แจ้ง มรรค ลงมือปฏิบัติ


โดยข้อแรกคือ ทุกข์ ในอริยสัจทั้งสี่ข้อนั้น
ทรงกล่าวถึงสิ่งเป็นความทุกข์ทั้งปวงในโลกไว้ดังนี้


"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นทุกขอริยสัจ
คือ ความเกิด ก็เป็นทุกข์ ความแก่ ก็เป็นทุกข์
ความเจ็บไข้ ก็เป็นทุกข์ ความตาย ก็เป็นทุกข์
การเจอสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์
ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์
ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น ก็เป็นทุกข์
โดยย่นย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์"


— พระไตรปิฎก เล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔
มหาวรรค ภาค ๑ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร



จากนั้น พระพุทธองค์ทรงตรัสว่าการ ยึดถือในสิ่งทั้งปวงนั่นเอง
เป็น "สาเหตุแห่งความทุกข์" คือ

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นทุกขสมุทัยอริยสัจ คือ "ตัณหา"
อันทำให้เกิดอีก ประกอบด้วยความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิน
มีปกติเพลิดเพลินในอารมณ์นั้นๆ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา."


— พระไตรปิฎก เล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔
มหาวรรค ภาค ๑ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร


จากนั้น พระพุทธองค์ทรงตรัสว่าทุกข์สามารถดับไปได้
โดยการดับที่ตัวสาเหตุแห่งทุกข์ คือ ไม่ยึดถือว่ามีความทุกข์ หรือเราเป็นทุกข์
กล่าวคือ สละถอนเสียซึ่งการถือว่ามีตัวตน อันเป็นที่ตั้งของความทุกข์
(เมื่อไม่มีการยึดมั่นถือมั่นในใจว่าตนนั้นมี "ตัวตน"
ที่เป็นที่ตั้งของความทุกข์ ทุกข์ย่อมไม่มีที่ยึด จึงไม่มีความทุกข์[45]) ดังนี้


"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นทุกขนิโรธอริยสัจ
คือ ตัณหานั่นแลดับ โดยไม่เหลือด้วยมรรค
คือ "หมดราคะ" "สละ" "สละคืน" "ปล่อยไป" "ไม่พัวพัน"."


— พระไตรปิฎก เล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔
มหาวรรค ภาค ๑ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร



เมื่อพระพุทธองค์ตรัสถึงผลของการปฏิบัติกิจในศาสนาแล้ว
จึงได้ตรัสแสดงมรรค คือวิธีปฏิบัติตามทางสายกลางตามลำดับ 8 ขั้น
เพื่อหลุดพ้นทุกข์โดยสิ้นเชิง คือ


ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ
คือ อริยมรรคมีองค์ 8 นี้แหละ คือ ปัญญาอันเห็นชอบ 1

ความดำริชอบ 1 เจรจาชอบ 1 การงานชอบ 1 เลี้ยงชีวิตชอบ 1
พยายามชอบ 1 ระลึกชอบ 1 ตั้งจิตชอบ 1


— พระไตรปิฎก เล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔
มหาวรรค ภาค ๑ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร


โดยสรุป พระพุทธองค์ทรงตรัสเรียงวิธีแก้ทุกข์
โดยแสดงให้เห็นปัญหา (ทุกข์) สาเหตุของปัญหา (สมุทัย)
และจุดมุ่งหมายในการแก้ปัญหาคือการดับทุกข์ (นิโรธ)
โดยทรงแสดงวิธีปฏิบัติ (มรรค) ไว้ท้ายสุด
เพื่อให้ผู้ปฏิบัติได้ทราบจุดมุ่งหมายของการปฏิบัติก่อน
เพื่อการเข้าใจไม่ผิด และจะได้ปฏิบัติ
โดยมุ่งไปยังจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้โดยไม่คลาดเคลื่อน


:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ก.ค. 2009, 10:29 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

พระพิมลธรรม (ชอบ อนุจารี)
ผู้เสนอให้มีการจัดงานวันอาสาฬหบูชาเป็นครั้งแรกในประเทศไทย



:b42: การกำหนดให้วันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาในประเทศไทย

วันอาสาฬหบูชา ได้ถูกกำหนดให้เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
ของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2501 โดยคณะสังฆมนตรี (มหาเถรสมาคม) ในสมัยนั้น
ได้มีมติให้เพิ่มวันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา (ในประเทศไทย)
ตามคำแนะนำของ พระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารี)[46]
โดยคณะสังฆมนตรีได้ออกเป็นประกาศสำนักสังฆนายก
กำหนดให้วันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา
พร้อมทั้งกำหนดพิธีอาสาฬหบูชาขึ้น เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2501[4]


ไม่ปรากฏหลักฐานในประเทศไทยว่าในสมัยก่อน พ.ศ. 2501
เคยมีการประกอบพิธีอาสาฬหบูชามาก่อน
ทำให้การกำหนดให้วันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาของสำนักสังฆนายก
ในครั้งนี้ เป็นครั้งแรกที่มีการกำหนดแบบแผนการประกอบพิธีนี้อย่างเป็นทางการ
โดยหลังจากปี พ.ศ. 2501 ซึ่งเป็นปีแรก
ที่เริ่มมีการรณรงค์ให้มีการประกอบพิธีอาสาฬหบูชา
พุทธศาสนิกชนชาวไทยได้ร่วมใจกันประกอบพิธีนี้กันอย่างกว้างขวาง
และแพร่หลาย ไปทุกจังหวัด จนกลายเป็นพิธีสำคัญของพุทธศาสนิกชนไทยตั้งแต่นั้นมา
ดังนั้นในวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2505
คณะรัฐมนตรีนำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีใน สมัยนั้น
จึงได้ลงมติให้ประกาศกำหนดเพิ่มให้วันอาสาฬหบูชา
หรือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 (สำหรับปีไม่มีอธิกมาส)
และวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 หลัง (ในปีมีอธิกมาส)
เป็นวันหยุดราชการประจำปีอีก 1 วัน[1]
เพื่อเป็นการให้ความสำคัญกับวันสำคัญยิ่งของชาวพุทธนี้
และเพื่ออำนวยความสะดวกแก่พุทธศาสนิกชน
ที่จะไปประกอบพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาด้วยอีกประการหนึ่ง

คัดลอกจาก... http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A7% ... 5.E0.B8.B4

:b8: :b8: :b8:

:b44: รวมกระทู้ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับ “วันอาสาฬหบูชา”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=23&t=45499


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ก.ค. 2009, 20:27 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 6
สมาชิก ระดับ 6
ลงทะเบียนเมื่อ: 03 เม.ย. 2009, 15:36
โพสต์: 435

ที่อยู่: malaysia

 ข้อมูลส่วนตัว


ขออนุโมทนาสาธุค่ะ คุณลูกโป่ง :b8:
ด้วยความเคารพ :b51: :b52: :b53:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ก.ค. 2009, 20:44 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 ก.ค. 2009, 18:47
โพสต์: 14

ที่อยู่: รามอินทรา กรุงเทพฯ

 ข้อมูลส่วนตัว


ขอบคุณครับ

.....................................................
อัปปิเยหิ สัมปะโยโค ทุกโข

ความประสบกับสิ่งไม่เป็นที่รักที่พอใจ ก็เป็นทุกข์


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 มิ.ย. 2020, 13:45 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b39: :b44: ขออนุโมทนา สาธุๆๆ ค่ะ
:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 15 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 3 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร