วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 18:47  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 5 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 พ.ย. 2013, 20:07 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว




wai.jpg
wai.jpg [ 19.14 KiB | เปิดดู 11585 ครั้ง ]
เครื่องบูชาอย่างไทย

การแสดงความเคารพอย่างไทย
คนไทยมีวิธีการแสดงความเคารพกันมาอย่างยาวนาน
เป็นทั้งธรรมเนียมนิยม และแบบแผนที่พึงกระทำ
ต่อบุคคลอันควรเคารพบูชา ต่อสิ่งอันควรนับถือ
อาทิ การกราบไหว้บิดามารดา พระสงฆ์ ครูอาจารย์ ญาติผู้ใหญ่
บุคคลเหล่านี้คนไทยเราถือว่า เป็นผู้ที่เราต้องเคารพ เป็นต้น


โดยยึดหลักใหญ่ๆ อยู่ ๒ ประการ ได้แก่

๑) ความอ่อนน้อม
๒) ความอาวุโส


ความอ่อนน้อม คือ การแสดงความเคารพกันนั้น
ทั้งเป็นการแสดงออกซึ่งความอ่อนน้อมของตนที่มีต่อผู้ที่ตนเคารพ
รวมถึงท่าทีในการแสดงความเคารพ ก็ต้องอ่อนน้อมงดงามด้วย

ส่วนความอาวุโส คือ คนไทยเรานิยมนับถือผู้ที่มีอายุมากกว่าตน
รวมถึงผู้ที่มีตำแหน่งหน้าที่การงานอยู่ในฐานะที่ควรเคารพก็ด้วยเช่นกัน
ด้วยลักษณะครอบครัวคนไทย เป็นครอบครัวขนาดใหญ่มาก่อนแต่โบราณนั่นเอง
แต่ละบ้านจึงมักมีคุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย อยู่ด้วยกัน
ทำให้มีการแสดงความเคารพผู้ใหญ่ในวัฒนธรรมของเราสืบต่อมา

ด้วยอุปนิสัยที่ประณีต รักสวยรักงามของคนไทย
จึงมีการคิดประดิษฐ์ "เครื่องประกอบการบูชา" หรือวิธีการแสดงความเคารพ
เครื่องบูชาของไทย จึงมีหลายอย่าง
มีทั้งธรรมชาติและประดิษฐ์ให้สวยงามยิ่งขึ้น
อีกทั้งยังมีเครื่องบูชาที่เหมาะสมในแต่ละวาระโอกาส
ตามฐานะของบุคคลที่เราจะยกเครื่องบูชานั้นไปเคารพด้วย


เครื่องบูชาอย่างไทยนิยมนั้น
ได้แก่ ข้าวตอก ดอกไม้ ธูป เทียน บายศรี เป็นต้น
ดังรายละเอียดที่จะนำเสนอต่อไป

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 พ.ย. 2013, 10:18 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


๑.) ข้าวตอก

รูปภาพ

ข้าวตอก หรือที่ภาษาบาลีว่า "ลาชา" หรือ "ลาช" (ลา-ชะ)
เป็นเครื่องบูชาพระพุทธ ถือกันว่าเป็นของบริสุทธิ์
ด้วยคุณสมบัติที่เปรียบได้กับคุณของพระพุทธเจ้าสามประการ คือ

๑. ขณะที่คั่ว มีลักษณะแตกกระจายออกเป็นดอก
เปรียบเสมือนความแตกฉานของพระปัญญาธิคุณ

๒. มีสีขาวบริสุทธิ์ เปรียบดังพระวิสุทธิคุณ

๓. มีลักษณะเบ่งบานดุจดั่งพระเมตตา
ที่เบ่งบานงดงามอยู่เต็มน้ำพระทัย เปรียบได้กับพระมหากรุณาธิคุณ

ข้าวตอกเป็นเครื่องบูชา ๑ ใน ๔ อย่างที่สำคัญ
ของบูชาทั้งสี่ที่สำคัญ ได้แก่ ข้าวตอก ดอกไม้ ธูป และเทียน นั่นเอง


:b48: :b48:

การบูชาพระพุทธด้วยข้าวตอก
เป็นที่นิยมมาแต่โบราณในหมู่ชาวเหนือและชาวอีสานของไทย
ดังอุทาหรณ์การกล่าวถึงข้าวตอก เช่น ในเนื้อเพลง ดำหัวปี๋ใหม่

"ปี๋ใหม่เมืองเฮาก่อมาถึงแล้วน่อ ดำหัวแม่ป้อป้าลุงอุ๊ยเฮาดีกว่า
ประเพณีบ่เก่าของเฮาสืบมา เข้าวัดเข้าวาตักบาตรทำบุญ
ก๋ำสลุงใส่ ข้าวตอกดอกไม้ ฮื่อเปิ้นได้จื้นใจ๋ตี้หมู่เฮาฮู้คุณ
เตวะบุตรเตวะดาเปิ้นมาอุดหนุน อันก๋านทำบุญตึงบ่มีวันปุดตืน"


สลุง คือ ขันเงิน ใส่ข้าวตอกดอกไม้ไปบูชาคุณผู้มีพระคุณ
แสดงถึงค่านิยมในการใช้ข้าวตอกเพื่อเป็นเครื่องบูชาของชาวเหนือ เป็นต้น

ส่วนในภาคอีสานของไทยก็มี "ประเพณีแห่มาลัยข้าวตอก"
โดยทำกันในช่วงวันมาฆบูชา ที่ตำบลฟ้าหยาด อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร

โดยการนำข้าวตอกซึ่งใช้ข้าวเปลือกข้าวเหนียวมาคั่ว
ร่อนเอาแกลบออกให้สะอาด คัดเลือกแล้วนำมากรองเป็นมาลัย
จะได้มาลัยข้าวตอกที่ขาวบริสุทธิ์ สวยงามและเก็บไว้ได้นาน
เป็นการเพิ่มความละเอียดวิจิตรให้ข้าวตอกเมื่อจะนำมาเป็นของบูชา

รูปภาพ

รูปภาพ
มาลัยข้าวตอก


โดยชาวบ้านถือว่า ทำมาลัยข้าวตอกนี้ต่างดอกมณฑารพ ดังคำว่า
"ร้อยมาลัยข้าวตอก แทนดอกมณฑารพ นบพระสัมมาสัมพุทธเจ้า"


ความเป็นมาของประเพณีแห่มาลัยนี้
สืบเนื่องมาจากในพระไตรปิฎกส่วนที่ว่าด้วยพระสุตตันตปิฎก บทปรินิพพานสูตร

กล่าวคือ "ดอกมณฑารพ" ซึ่งเป็นดอกไม้บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
มีความสวยงามและมีกลิ่นหอมเป็นพิเศษ
เวลาที่ดอกมณฑารพจะบาน หรือร่วงหล่น ก็ต้องมีเหตุการณ์สำคัญๆเท่านั้น
คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน จตุรงคสันนิบาต
และทรงแสดงพระธัมมจักกัปปวัตนสูตร ดอกมณฑารพจึงได้ร่วงหล่นลงมายังโลกมนุษย์

อ่านเรื่องดอกมณฑารพเพิ่มเติมที่
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=17&t=19556



ครั้งเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานที่เมืองกุสินารา
ดอกมณฑารพนี้ก็ได้ร่วงหล่นลงมาทั้งก้านและกิ่ง
เปรียบเหมือนความเสียอกเสียใจพิไรรำพัน
ต่อการเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
รวมถึงเหล่าพระภิกษุ ผู้ได้ชื่อว่าอรหันตขีนาสพทั้งหลายด้วย
หมู่เหล่าข้าราชบริพาร ประชาชนทั้งหลายได้พากันมาถวายสักการะพระบรมศพ
อีกทั้งยังได้พากันเก็บนำดอกมณฑารพที่ร่วงหล่นลงมาเพื่อไปสักการบูชา
และรำลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไป ดอกมณฑารพที่เก็บมาสักการะบูชาเริ่มเหี่ยวแห้งและหมดไป
เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระปัญญาธิคุณ พระกรุณาธิคุณ และพระบริสุทธิคุณ
รวมทั้งเหตุการณ์ในวันสำคัญต่างๆ ชาวพุทธจึงได้พากันนำเอาข้าวตอกมาสักการะบูชา
เพราะถือว่าข้าวเป็นสิ่งที่มีคุณค่า และเป็นของสูงที่มนุษย์จะขาดไม่ได้

การจัดข้าวตอกดอกไม้ถวายเป็นพุทธบูชามีจุดเริ่มต้นเมื่อไรนั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัด
แต่เชื่อกันว่าแรกๆ จะใส่พานไว้โปรยเวลาพระสงฆ์เทศนา
ต่อมาจึงมีการนำมาประดิษฐ์ตกแต่งที่เห็นว่าสวยงาม สืบทอดกันเรื่อยมา


รูปภาพ
ภาพจาก Facebook "เล่าเรื่องเมืองสยาม"


ชาวล้านนานิยมใช้ข้าวตอกดอกไม้ในการบูชาพระรัตนตรัย
และบุคคลที่ควรบูชา ได้แก่ ครูบาอาจารย์ เจ้านาย หรือผู้มีพระคุณ

จากภาพ ประชาชนชาวอำเภอป่าซางแห่แหนต้อนรับ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และพระเจ้าเฟดเดอริคแห่งประเทศเดนมาร์ก
โดยการโปรยข้าวตอกดอกไม้ที่พระบาท
ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินอำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 พ.ย. 2013, 11:25 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


การจัดข้าวตอกเพื่อบูชา

การจัดทำข้าวตอกเพื่อบูชา มีได้หลายลักษณะ ได้แก่

๑) จัดใส่ภาชนะขนาดเล็ก เช่น พาน
วางใส่ทำให้พูนๆ เป็นกอง แล้วใช้บูชา

๒) ร้อยด้วยก้านมะพร้าว
นำก้านมะพร้าวมาเหลาให้เกลี้ยงๆ
แล้วคัดข้าวตอกแต่ละดอกร้อยใส่ก้าน
รวมเป็นกำแล้วถวายหรือใช้เสียบในแจกัน

๓) ปั้นเป็นรูปทรง เช่น เป็นพุ่ม
โดยพรมน้ำเล็กน้อยให้ข้าวตอกชื้นๆ พอปั้นได้
แล้วปั้นเป็นทรงให้ขนาดพอดีกับภาชนะที่ใช้ เช่น พาน
ปั้นจนได้ขนาดตามต้องการ แล้ววางบนภาชนะนั้น ใช้บูชา

๔) ใช้ข้าวตอกผสมกับดอกไม้สด
โดยแกะดอกไม้ออกเป็นกลีบๆ
นำมาเคล้ากันกับข้าวตอกให้พอดีส่วน
แล้วจัดใส่ภาชนะ ใช้บูชา

๕) ร้อยเป็นมาลัยแทนการใช้ดอกไม้สด


ข้าวตอกดอกไม้ นอกจากใช้บูชาพระรัตนตรัยแล้ว
ยังนิยมใช้ในงานมงคลทั้งหลาย
จะเป็นพิธีบูชาครู งานรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ในเทศกาลสำคัญ
ใช้ในพานขันหมากงานวิวาหมงคล ฯลฯ
ใช้โปรยนำขบวนแห่มงคลต่างๆ ก็มี
แม้ในงานอวมงคล เช่น งานศพ ก็ปรากฏว่ามีใช้ในการบูชา
เช่น หากผู้เสียชีวิตเป็นผู้มีพระคุณ ก็ใช้ข้าวตอกดอกไม้เช่นกัน


:b48: :b48:

ในอรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ปาปวรรคที่ ๙
มีเรื่องราวของ "ลาชเทวธิดา"
แปลชื่อตรงตัว คือ นางเทพธิดาข้าวตอก
คือ เรื่องเกี่ยวกับหญิงถวายข้าวตอกแก่พระมหากัสสป เรื่องมีดังนี้

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน
ทรงปรารภนางลาชเทวธิดา ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า
"ปุญฺญญฺเจ ปุริโส กยิรา" เป็นต้น เรื่องเกิดขึ้นแล้วในเมืองราชคฤห์

ความพิสดารว่า ท่านพระมหากัสสปอยู่ที่ปิปผลิคูหา
เข้าฌาณแล้ว ออกในวันที่ ๗ ตรวจดูที่เที่ยวไปเพื่อภิกษาด้วยทิพยจักษุ
เห็นหญิงรักษานาข้าวสาลีคนหนึ่ง เด็ดรวงข้าวสาลีทำข้าวตอกอยู่
พิจารณาว่า "หญิงนี้มีศรัทธาหรือไม่หนอ?" รู้ว่า "มีศรัทธา"
ใคร่ครวญว่า "เธอจักอาจเพื่อทำการสงเคราะห์แก่เราหรือไม่หนอ?"
รู้ว่า "กุลธิดาเป็นหญิงแกล้วกล้า จักทำการสงเคราะห์เรา
ก็แลครั้นทำแล้ว จักได้สมบัติเป็นอันมาก"
จึงครองจีวรถือบาตร ได้ยืนอยู่ที่ใกล้นาข้าวสาลี

กุลธิดาพอเห็นพระเถระก็มีจิตเลื่อมใส มีสรีระอันปีติ ๕ อย่างถูกต้องแล้ว
กล่าวว่า "นิมนต์หยุดก่อน เจ้าข้า" ถือข้าวตอกไปโดยเร็ว
เกลี่ยลงในบาตรของพระเถระแล้ว ไหว้ด้วยเบญจางคประดิษฐ์
ได้ทำความปรารถนาว่า "ท่านเจ้าข้า ขอดิฉันพึงเป็นผู้มีส่วนแห่งธรรมที่ท่านเห็นแล้ว"

หมายเหตุ : คำว่า เบญจางคประดิษฐ์ แปลว่า ตั้งไว้เฉพาะซึ่งองค์ ๕
หมายความว่า ไหว้ได้องค์ ๕ คือหน้าผาก ๑ ฝ่ามือทั้ง ๒
และเข่าทั้ง ๒ จดลงที่พื้น จึงรวมเป็น ๕



พระเถระได้ทำอนุโมทนาว่า "ความปรารถนาอย่างนั้น จงสำเร็จ"
ฝ่ายนางไหว้พระเถระแล้ว พลางนึกถึงทานที่ตนถวายแล้วกลับไป
ก็ในหนทางที่นางเดินไปบนคันนา มีงูพิษร้ายนอนอยู่ในรูแห่งหนึ่ง
งูไม่อาจขบกัดแข้งพระเถระอันปกปิดด้วยผ้ากาสายะได้
นางพลางระลึกถึงทานกลับไปถึงที่นั้น งูเลื้อยออกจากรู กัดนางให้ล้มลง ณ ที่นั้นเอง

นางมีจิตเลื่อมใส ทำกาละแล้ว ไปเกิดในวิมานทองประมาณ ๓๐ โยชน์ในภพดาวดึงส์
มีอัตภาพประมาณ ๓ คาวุต ประดับเครื่องอลังการทุกอย่าง เหมือนหลับแล้วตื่นขึ้น

นางนุ่งผ้าทิพย์ประมาณ ๑๒ ศอกผืนหนึ่ง ห่มผืนหนึ่ง
แวดล้อมด้วยนางอัปสรตั้งพัน
เพื่อประกาศบุรพกรรมจึงยืนอยู่ที่ประตูวิมานอันประดับด้วยขันทองคำ
เต็มด้วยข้าวตอกทองคำห้อยระย้าอยู่ ตรวจดูสมบัติของตน
ใคร่ครวญด้วยทิพยจักษุว่า "เราทำกรรมสิ่งไรหนอ จึงได้สมบัตินี้"
ได้รู้ว่า "สมบัตินี้เราได้แล้ว
เพราะผลแห่งข้าวตอกที่เราถวายพระผู้เป็นเจ้ามหากัสสปเถระ"


http://www.84000.org/tipitaka/attha/att ... 5&i=19&p=3

:b46: :b46:

แหล่งข้อมูลและภาพประกอบเรื่องข้าวตอก
http://www.gotoknow.org/posts/333060
http://nokdiya.blogspot.com/2013/07/blog-post_29.html
http://www.obec.go.th/news/37322
http://www.manager.co.th/Travel/ViewNew ... 0000021817
http://amazingtourthailand.com/blog_id124.html
http://www.youtube.com/watch?v=0gccNMCu6ew

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ธ.ค. 2013, 14:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


๒.) ดอกไม้

เครื่องบูชาที่สำคัญอีกชนิดหนึ่ง
ที่คนไทยนิยมใช้นำมาแสดงความเคารพ คือ ดอกไม้

โดยสามารถเลือกใช้ดอกไม้ได้หลากหลายพันธุ์
มาประกอบกับใบไม้บางชนิดที่สวยงามหรือจะไม่ใช้ใบไม้ประกอบก็ได้
ส่วนดอกไม้ที่นิยมมากที่สุดและจัดเป็นดอกไม้ตามประเพณีนิยม คือ ดอกบัว

ดอกบัวที่นิยมนำมาใช้มากที่สุด
เป็นบัวหลวง ดอกใหญ่สีขาว เรียกชื่อว่า บัวสัตตบุษย์

รูปภาพ

กับพันธุ์ดอกสีชมพู เรียกว่า บัวสัตตบงกช

รูปภาพ

เพราะบัวสองชนิดนี้ มีกลิ่นหอมอ่อนๆ

นอกจากนั้น คนไทยมักคัดเลือกดอกไม้ที่

๑) มีสัณฐานงาม
เช่น ดอกบัว ดอกมะลิ ดอกพุด ดอกจำปี

๒) สีสันที่งามเย็นตา
เช่น สีขาว สีขาวขาบเขียว สีชมพูระเรื่อ
สีเหลืองอ่อน ส่วนสีจัดจ้านนั้นนิยมมามาแซมเพื่อสร้างสีสัน

๓) ชื่อและลักษณะรูปพรรณมีความหมายดีเป็นที่นิยม
เช่น ชื่อดี ได้แก่ ดอกพุทธรักษา ดอกบานไม่รู้โรย
ความหมายของรูปพรรณดี เช่น
ดอกมะเขือ ซึ่งปกติจะไม่ชูยอด แต่จะโน้มลง แทนความอ่อนน้อม


วิธีการนำดอกไม้เพื่อบูชา

คนไทยมักนำมาจัดประดับให้สวยงามเสียก่อน
ด้วยวิธีการต่างๆ ได้แก่

๑) เข้าช่อเป็นกำ เช่น คัดเลือกดอกไม้ทั้งบานเต็มที่บ้าง
กำลังจะบาน ตูมๆ อยู่บ้าง มาเข้าช่อกัน
ตกแต่งด้วยใบไม้ที่มีรูปร่าง, สีสันสวยงาม เช่น ใบโกศล
หรือใบไม้ที่มีกลิ่นหอมอ่อนๆเช่น ใบเตย
จัดสวยงาม วางบนพานหรือจัดใส่ภาชนะตามต้องการ

๒) ร้อยใส่ไม้เหลาบางๆหรือก้านมะพร้าว
ดอกไม้หลายชนิดามารถนำมาเข้าก้าน
แล้วตกแต่งให้สวยงามได้ เช่น ดอกมะลิ ดอกพุด ดอกมะลิซ้อน ดอกรัก
ดอกเหล่านี้ ตรงกลางดอกจะมีก้านเป็นรูโพรง คล้ายท่อ
จึงทำให้นำมาร้อยเข้ากับก้านได้

เมื่อร้อยเป็นก้านๆ แล้ว จะกำเป็นช่อ ปักในภาชนะ
หรือปักในกระบอกไม้ไผ่ ให้ดูเป็นพู่ สวยงาม ใช้บูชาได้


รูปภาพ
ดอกมะลิ

รูปภาพ
ดอกพุด


๓) จัดเป็นพุ่มทรงต่างๆ
โดยตัวพุ่มที่ใช้ปักดอกไม้ อาจทำมาจากไม้ระกำ
ในปัจจุบันอาจมีโอเอซิส หรือโฟม
มาเกลาให้เป็นทรง ใช้เป็นฐานในการตกแต่งดอกไม้
เช่น ใช้ดอกรัก ดอกบานไม่รู้โรยมาตกแต่ง

หรือใช้กลีบดอกบัว กลีบดอกกุหลาบ
โดยมาแกะเป็นกลีบๆ แล้วพับให้เป็นรูปทรง เย็บติดเข้ากับพุ่มก็ได้

ยังสามารถใช้ใบไม้ เช่น ใบโกสน ใบตอง
มาตัดเป็นชิ้นเล็กๆ พับแล้วเย็บติดเข้าไปก็ได้

รูปแบบพานพุ่มที่ถูกต้องนั้น โดยเฉพาะในงานพิธีการสำคัญ
คือ ยอดของพุ่มจะต้องทำจากวัสดุชนิดเดียวกัีนกับตัวพุ่ม
เช่น ตัวพุ่มทำจากดอกไม้ ก็ยอดพุ่มทำจากดอกไม้เช่นกันให้กลมกลืน
โดยห้ามนำสิ่งประดิษฐ์เลียนแบบยอดฉัตร
โดยเฉพาะยอดฉัตร ๙ ชั้น มาตกแต่งเป็นยอดพุ่ม

ถือว่าเป็นการไม่บังควร

ตัวอย่างพุ่มที่ถูกต้อง
รูปภาพ
ภาพจากกระดานประชาสัมพันธ์ สำนักงาน จ.แม่ฮ่องสอน


๔) ร้อยดอกไม้ด้วยด้ายหรือเชือก ทำเป็นมาลัย เครื่องแขวนต่างๆ
ในเรื่องการทำมาลัยหรือเครื่องแขวนแบบต่างๆ นี้
คนไทยเราสามารถทำได้วิจิตรงามตาและหลากหลายแบบ
มีระดับความประณีตที่แตกต่างกันไป

ตัวอย่างเครื่องแขวนแบบไทย
รูปภาพ
เรียกชื่อว่า กลิ่นคว่ำ

รูปภาพ
เรียกชื่อ ระย้าทรงเครื่อง
ภาพจากเว็บบ้านจอมยุทธ


รูปภาพ
เรียกว่า มาลัยกลม ชายเดี่ยว

รูปภาพ
เรียกว่า มาลัยสองชาย ลายขนมเปียกปูน
ภาพจาก http://pirun.ku.ac.th/~b5310102841/page4.html

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ธ.ค. 2014, 14:35 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


๓.) เทียน

รูปภาพ

ธัมโม ปะทีโป วิยะ ตัสสะ สัตถุโน
พระธรรมของพระศาสดาสว่างรุ่งเรืองเปรียบดวงประทีป


"แสงสว่าง" นั้นจำเป็นต่อชีวิตของมนุษย์
เป็นเครื่องทำลายความมืด สมัยที่ยังก่อไฟไม่เป็น
มนุษย์ก็ได้อาศัยแสงจากพระอาทิตย์ในเวลากลางวัน
และยามกลางคืนได้อาศัยแสงจันทร์บ้าง

เหตุว่าแสงสว่างทำให้มนุษย์มองเห็นสิ่งต่างๆ ได้
จึงเสมือนกับได้ทำลายความกลัวอันเกิดจากการมองไม่เห็นไปด้วย
เมื่อมองไม่เห็นสิ่งใดๆ มนุษย์ย่อมเกิดความวิตกหวาดกลัวสิ่งนั้นๆ
และเมื่อมีแสงสว่าง ทำให้มองเห็นได้ชัดถนัดตา
ความกลัวนั้นก็เสมือนถูกกำจัดไปด้วย
แสงสว่างจึงมีคุณค่าต่อมนุษย์อย่างมาก

และในพระพุทธศาสนาก็มีการเปรียบเทียบ
แสงสว่างกับพระธรรมหรือปัญญา ความมืดประดุจอวิชชา
ดังนั้น เครื่องทำให้เกิดแสงสว่างทั้งหลาย
ได้แก่ เทียน, โคมประทีป, หลอดไฟ (ในปัจจุบัน)
จึงมีทั้งประโยชน์ในตัววัตถุทานเอง คือ ให้แสงสว่าง
เกื้อกูลต่อพระภิกษุในการปฏิบัติศาสนกิจ
และมีความหมายในเชิงอธิษฐานอีกด้วย

เทียนและโคมประทีป ฯลฯ จึงเป็นเครื่องบูชาอันสำคัญ
ที่อยู่คู่กับพุทธศาสนิกชนมาเป็นเวลานาน


:b44:

เทียน

เทียน แต่ในอดีตนั้นเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จาก "ไขผึ้ง"
ไขผึ้งแท้บริสุทธิ์ต้องได้มาจากรวงรังผึ้งเท่านั้น
ประกอบด้วยสารเคมีหลายชนิดผสมกัน
โดยผลิตออกมาจากต่อมผลิตไขผึ้ง
ที่อยู่ที่ผิวด้านล่างส่วนท้องของผึ้ง
ไส้เทียนนั้นพื้นฐานก็ใช้ฝ้ายแท้ในการฝั่นเป็นเส้น
ก่อนนำมาใช้ขึ้นรูปร่วมกับไขผึ้งหรือวัสดุอื่นๆ ตามแต่จะประดิษฐ์

รูปภาพ
ไขผึ้ง - ภาพจาก http://www.kanchanapisek.or.th/


การใช้เทียนเป็นเครื่องบูชานั้น
มีทั้งการบูชาอย่างทั่วไปและการบูชาในโอกาสสำคัญต่างๆ
โดยถือทำกันเป็นประเพณี มีการจัดทำเทียนอย่างปราณีต
มีลวดลายอย่างสวยงาม เป็นต้น


รูปแบบของการจัดเทียนเป็นเครื่องบูชาที่น่าสนใจ

จุดประสงค์แท้จริงก็เพื่อถวายในพระศาสนา
แต่ด้วยความคิดสร้างสรรค์จึงทำให้มีรูปแบบต่างๆ
พอจะสรุปได้กว้างๆ ดังนี้


๑. เทียนมณฑป

ถือว่าทำมาตั้งแต่สมัยก่อนๆ ซึ่งเรียกว่าสมัยโบราณ ได้คิดค้นมา
ความหมายคือ ทำเป็นที่วางเครื่องบริขารในการทอดกฐิน
มณฑปนี้ถ้าจะเรียกชื่ออีกอย่าง ก็ดูเหมือนว่าบุษบก
เพราะรูปแบบคล้ายคลึงกัน ไม่มีแตกต่างกันเลย
มณฑปนี้ ทำแทนหอ คือ ที่ตั้งที่วาง
เพื่อให้เครื่องบริขารและบริวารที่จะนำไปทอดถวายพระสงฆ์
อยู่เป็นที่มีขอบเขตเป็นสัดส่วน เป็นเอกเทศ ไม่กระจัดกระจาย
ส่วนเทียนนั้น จะตั้งไว้บนแผ่นโลหะที่เป็นจาน เป็นถาด หรือพาน
เทียนนี้จะไม่จุดไฟ ทำตั้งไว้เพื่อบูชาเป็นเครื่องบริขาร

ที่ทำเป็นรูปมณฑปนั้น เพื่อให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์
เกิดความสวยงาม รวมความหมายถึงฐานะของเจ้าของศรัทธาผู้ทำบุญกฐินด้วย
แต่บางครั้งก็ใช้ในการทอดผ้าป่า
ส่วนมณฑปนี้ เจ้าศรัทธาก็ได้นำถวายให้วัด จะไม่นำกลับคืนมา


รูปภาพ

๒. เทียนปราสาทผึ้ง

ถือว่าเป็นเทียนโบราณอีกแบบหนึ่ง
การทำเทียนแบบนี้ เขาจะใช้กาบกล้วย
ซึ่งแกะแคะออกจากลำต้นมาทำ หักพับเป็นรูปสามเหลี่ยม
หรือเอาต้นกล้วยยังเล็กอยู่มาทำ โดยใช้ดอกพิมพ์จากแบบพิมพ์
แม่พิมพ์ก็อาศัยแบบจากตัดเอาก้านกล้วยบ้าง เผือกบ้าง
มันแกว มันเทศบ้าง มาแกะเป็นรูปดอกไม้ ใช้ไม้เสียบ
จุ่มลงในขี้ผึ้งที่ต้มให้ละลาย แล้วนำมาจุ่มลงในน้ำเย็น
ดอกจะหลุดลงอยู่ในน้ำเย็น เมื่อแข็งตัวแล้ว
นำดอกไปกลัดติดกับลำต้นกล้วยที่นำมาเตรียมไว้
หรือกาบกล้วย ให้เกิดความสวยงาม
พัฒนาทำเป็นเค้าโครงด้วยไม้ เป็นรูปร่างเหมือนปราสาทจริงๆ ก็มี

รูปภาพ

๓. เทียนพุ่ม

เป็นจัดทำเพื่อให้เกิดความสวยงาม ปราณีตขึ้นอีก
ประกอบกับเป็นเทียนแท่งก็ได้ เลือกที่มีขนาดเล็กและสั้น
เจ้าศรัทธาจะนำเทียนก่อนจะถวายมัดรวมไว้ ก็มี
ที่ทำเทียนหล่อเป็นพุ่มเลยก็มี
ปัจจุบันนี้หาคนทำได้ยากแล้ว


รูปภาพ
ภาพจาก http://www.reurnthai.com/


๔. เทียนมัดรวม

เทียนมัดรวม เป็นการประดิดประดอย
ตกแต่งต้นเทียนสั้น ยาว ปานกลาง
ตั้งขึ้น นำเชือกปอ ตัดกระดาษสีมารัดเป็นเปราะๆ
ให้แปลกตาเกิดความสวยงาม เป็นระเบียบ


รูปภาพ

:b45: อานิสงส์ของการถวายประทีปหรือแสงสว่างในพระศาสนา

บุพกรรมของ "พระอนุรุทธเถระ"
เอตทัคคะในทางผู้มีทิพยจักษุญาณ


พระอนุรุทธเถระผู้ได้รับการแต่งตั้งจากพระบรมศาสดา
ให้เป็นยอดของภิกษุทั้งหลายผู้มีจักษุทิพย์
ควรจะได้ทราบว่าการที่พระอนุรุทธเถระเป็นผู้เลิศเช่นนั้น
เพราะเป็นผู้มีความชำนาญที่ได้สั่งสมไว้แล้วในเวลาที่ผ่านมา
อรรถกถากล่าวว่า พระเถระนั้น ตลอดทั้งกลางวัน และกลางคืน
ได้เจริญอาโลกกสิณตรวจดูเหล่าสัตว์ด้วยทิพยจักษุอย่างเดียว
เว้นแต่ช่วงเวลาฉันเท่านั้น ดังนั้น พระเถระนี้
จึงชื่อว่าเป็นยอดของภิกษุทั้งหลายผู้มีทิพยจักษุ

การสะสมบุญญาธิการอันเป็นเหตุให้ได้ทิพยจักษุนี้
ท่านได้กระทำมาอย่างต่อเนื่อง ทำมาอย่างยิ่งและทำมาเป็นเวลายาวนานมาก
โดยมีตัวอย่างเป็นอาทิ ท่านได้สร้างต้นประทีปหลายพันต้น
และสร้างประทีปบริวารด้วยถ้วยกระเบื้อง
และถาดสัมฤทธิ์นับจำนวนไม่ได้ถวายเป็นพุทธบูชา
และอธิษฐานว่า ผลบุญนี้จงเป็นปัจจัยให้เกิดทิพยจักษุญาณ
ท่านกระทำเช่นนี้จนตลอดชีวิต

และมีการสร้างภาชนะสำริดจำนวนมาก บรรจุเนยใสจนเต็ม
แล้ววางไส้ตะเกียงห่างกัน ๑ องคุลี
ในภาชนะดังกล่าววางล้อมพระเจดีย์ให้เรียงชิดกัน
แล้วจุดไฟขึ้นถวายเป็นพุทธบูชา
แล้วให้สร้างภาชนะสำริดที่ใหญ่กว่าใส่เนยใสเต็ม
จุดไส้ตะเกียงพันดวงรอบๆ ขอบปากภาชนะสำริดนั้น
แล้วให้จุดไฟขึ้น ท่านเทินภาชนะสำริดไว้บนศีรษะ
เดินประทักษิณเวียนบูชาเจดีย์
ระยะทางโดยรอบประมาณ ๑ โยชน์ ตลอดคืนจนถึงเช้ารุ่ง

อีกทั้งท่านถวายประทีปแก่พระสุเมธสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้เข้าฌานอยู่ที่ควงไม้ พระองค์ทรงรับแล้วห้อยไว้ที่ต้นไม้
ท่านได้ถวายไส้ตะเกียงน้ำมันพันหนึ่ง แด่พระพุทธองค์ด้วย
ประทีปนั้นลุกโพลงอยู่ ๗ วันแล้วดับไปเอง

อานิสงส์อันท่านได้กระทำดีแล้วทั้งหลายด้วยการถวายประทีปนี้
เป็นเหตุให้ท่านได้สมบัติทิพย์เป็นต้นว่า กายทิพย์มีรัศมี
และอื่นๆ อีกมีประมาณไม่ได้


อ่านเรื่อง "พระอนุรุทธเถระ
เอตทัคคะในทางผู้มีทิพยจักษุญาณ" ได้ที่

http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=6776

:b44: :b44:


ขอบคุณที่มาของข้อมูลและรูปภาพ
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=2027.0
http://www.lib.ubu.ac.th/candle/document/process04.pdf
http://guideubon.com/news/view.php?t=27&s_id=6&d_id=2

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 5 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 9 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร