วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 01:13  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 ธ.ค. 2008, 15:41 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 19 มี.ค. 2005, 04:18
โพสต์: 1877


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

:b47: :b47: ไหว้พระประธาน ๗๗ จังหวัด

พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร
หรือ “หลวงพ่อทองคำ” พระประธานในพระมหามณฑป
วัดไตรมิตรวิทยาราม วรวิหาร เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร


“พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร” หรือ “หลวงพ่อทองคำ”
เป็นพระพุทธรูปทองคำที่ได้รับการบันทึกไว้ในกินเนสส์บุ๊ก พ.ศ.๒๕๓๔
(THE GUINNESS BOOK OF WORLD RECORDS 1991)
ว่าเป็น “พระพุทธรูปทองคำแท้ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก”
และเป็น “ปูชนียวัตถุที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก”
คือมีมูลค่าสูงกว่า ๒๑ ล้านปอนด์ แต่คุณค่าแห่งพลังศรัทธา
ในจิตใจของพุทธศาสนิกชนนั้น มูลค่าใดๆ ก็มิอาจจะเทียบเทียมได้


ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ ณ พระมหามณฑป “พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร”
วัดไตรมิตรวิทยาราม วรวิหาร
เลขที่ ๖๖๑ ถนนเจริญกรุง
แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร
เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย (ปางชนะมาร, ปางสะดุ้งมาร) ศิลปะสุโขทัย
ในพระอิริยาบถนั่งสมาธิราบ พระหัตถ์ซ้ายหงายวางบนพระเพลา
พระหัตถ์ขวาวางเหนือพระชานุ (เข่า) ปลายพระหัตถ์ชี้ลงพื้นธรณี
ขนาดหน้าตักกว้าง ๖ ศอก ๕ นิ้ว หรือมากกว่า ๒.๕๐ เมตร


ความสูงจากพระเกตุมาลาถึงฐานทับเกษตร (ฐานที่รองรับพระพุทธรูป)
๗ ศอก ๑ คืบ ๙ นิ้ว หรือประมาณ ๓.๐๔ เมตร ๑๐ ฟุต
มีน้ำหนักประมาณ ๕.๕ ตัน หรือ ๕,๕๐๐ กิโลกรัม


นักประวัติศาสตร์ชี้ว่า เป็น “พระพุทธรูปทอง” ในวิหารวัดมหาธาตุ กรุงสุโขทัย
ที่อ้างถึงในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
บรรทัดที่ ๒๓-๒๗ มีข้อความปรากฏดังนี้


“กลางเมืองสุโขทัย มีพิหาร มีพระพุทธรูปทอง มีพระอัฏฐารส มีพระพุทธรูป
มีพระพุทธรูปอันใหญ่ มีพระพุทธรูปอันราม มีพิหารอันใหญ่ มีพิหารอันราม”


ข้อความดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ในสมัยสุโขทัยมีการก่อสร้างพระวิหาร
พระพุทธรูปปูนปั้น โลหะ และทองคำ ทั้งขนาดใหญ่และขนาดกลาง
ดังปรากฏเป็นหลักฐานประติมากรรมสมัยสุโขทัยที่ยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน

จึงสันนิษฐานได้ว่า
หลวงพ่อทองคำน่าจะถือกำเนิดในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
ก่อนปี พ.ศ.๑๘๒๖ อันเป็นพุทธศักราชที่ทรงประดิษฐ์ตัวอักษรไทย
หากนับเนื่องมาจนถึงปัจจุบันปี พ.ศ.๒๕๕๐


ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑
ทรงมีพระบรมราชโองการให้อัญเชิญพระพุทธรูปตามวัดร้างต่างๆ
ที่สุโขทัยมาประดิษฐานไว้ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์
รวมจำนวนได้ ๑,๒๔๘ องค์ รวมทั้ง “หลวงพ่อทองคำ” ด้วย
ซึ่งในขณะนั้นอยู่ในสภาพพอกปูนปั้นหุ้มทั้งองค์ ดูเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นธรรมดา

ต่อมาปี พ.ศ.๒๓๔๔ ได้อัญเชิญมาประดิษฐานเป็นพระประธาน
ในวัดพระยาไกร หรือวัดโชตินาราม อันเป็นวัดที่
พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (ทองจีน ไกรฤกษ์) สร้างถวายเป็นพระอารามหลวง
ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ เรื่อยมาจนถึงปี พ.ศ.๒๔๗๕


รูปภาพ

รูปภาพ

ต่อมา วัดพระยาไกรชำรุดทรุดโทรม บริษัท อีสต์เอเซียติก ได้มาขอเช่า
จัดสร้างโรงเลื่อยไม้ขนาดใหญ่ รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ชำรุดทรุดโทรม
ของวัดออกจนเหลือแต่พระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่

ขณะนั้น วัดสามจีน หรือที่ต่อมาเป็น วัดไตรมิตรวิทยาราม แห่งนี้
กำลังบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ และเห็นว่าจะทิ้งพระพุทธรูปไว้เช่นนั้น
ไม่เหมาะสม จึงได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่วัดตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๗๘

เล่ากันว่าอาจจะด้วยปาฏิหาริย์ที่หลวงพ่อทองคำท่านคงจะเลือกประดิษฐานอยู่ที่นี่
เพราะมีหลายครั้งที่วัดวาอารามในต่างจังหวัดได้ทำการขอพระพุทธรูป
จากวัดต่างๆ ในส่วนกลางมาหลายครั้ง และองค์หลวงพ่อทองคำก็ได้ถูกยกให้
ทางวัดต่างๆ หลายครั้งเช่นกัน แต่ก็ไม่มีวัดไหนอัญเชิญไปสักที
บางวัดตัดสินใจรับที่จะอัญเชิญไปแล้ว แต่ในที่สุดก็ติดปัญหาต่างๆ จนมิได้อัญเชิญไป

การก่อสร้างใช้เวลาถึง ๒๐ ปี จึงแล้วเสร็จในวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๘
ทางวัดได้ประกอบพิธีอัญเชิญพระพุทธรูปปูนปั้นองค์นี้ขึ้นไปประดิษฐาน
บนพระวิหาร ที่สร้างขึ้นใหม่ ขณะทำการโยกย้ายอัญเชิญองค์พระซึ่งมีน้ำหนักมาก
ก็เกิดอุบัติเหตุ เชือกลวดสะลิงที่ยกองค์พระลอยขึ้นจากพื้นเกิดขาด
องค์พระตกกระแทกพื้น ขณะนั้นเป็นช่วงค่ำและฝนตกหนัก การอัญเชิญหยุดชะงักลง

ตอนเช้าของวันรุ่งขึ้น พระวิสุทธาธิบดี (ไสว ฐิตวีโร) เจ้าอาวาสในขณะนั้น
เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็น พระวีรธรรมมุนี ได้มาตรวจตราดูองค์พระ
สังเกตเห็นปูนตรงพระอุระแตกเป็นรูกว้าง มองเห็นเนื้อทองคำจับตา
เมื่อกะเทาะปูนและลอกรักที่หุ้มออก พบว่าเป็นพระพุทธรูปทองคำทั้งองค์
ที่มีพระพุทธลักษณะงดงามสุกปลั่งขนาดใหญ่มหึมาเช่นที่เห็นในปัจจุบัน
และยังพบกุญแจกล ซ่อนอยู่บริเวณฐานทับเกษตร ที่สามารถใช้ไขถอด
หรือแยกองค์พระออกได้เป็น ๙ ส่วนด้วยกัน อันเป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทย
ที่ทำไว้เพื่อให้สะดวกในการเคลื่อนย้ายได้เมื่อยามจำเป็น
และยังมีทองคำเนื้อเดียวกันบางส่วนสำรองไว้ที่ใต้ฐานองค์พระ
เพื่อไว้สำหรับเชื่อมต่อเมื่อประกอบให้เป็นเนื้อเดียวกัน
นับเป็นความรอบคอบของบรรพบุรุษผู้สร้างเป็นอย่างยิ่ง

ทางวัดจึงได้ถอดหรือแยกองค์พระออกเป็นสี่ส่วน แล้วอัญเชิญขึ้นไป
ประดิษฐานบนพระวิหาร แรกๆ เรียกว่า พระสุโขทัยไตรมิตร
ต่อมา พ.ศ.๒๕๓๕ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามพระพุทธรูปทองคำองค์นี้ว่า
“พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร” ตามลักษณะของพระพุทธรูป
เพื่อเป็นสรรพสิริสวัสดิ์พิพัฒน์มงคลสืบไป
แต่ประชาชนทั่วไปนิยมเรียกพระองค์นี้ว่า “หลวงพ่อทองคำ” มาจนปัจจุบัน

พ.ศ. ๒๕๔๙ วัดไตรมิตรวิทยารามเห็นว่าวิหารหลังเก่าของหลวงพ่อทองคำ
ซึ่งสร้างมาแต่ พ.ศ.๒๔๙๘ อยู่ในสภาพทรุดโทรมและคับแคบ
ไม่สะดวกแก่การรับนักท่องเที่ยวหลายชาติหลายศาสนาที่มาสักการะ
และเป็นโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ทรงครองสิริราชครบ ๖๐ ปี และเจริญพระชนมายุ ๘๐ พรรษาในปี พ.ศ.๒๕๕๐
จึงได้จัดโครงการสร้างพระมหามณฑปหลังใหญ่ขึ้นใหม่
เพื่อเป็นที่ประดิษฐาน “พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร” หรือ “หลวงพ่อทองคำ”
มีนามว่า พระมหามณฑป “พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร”

โดยมีประชาคมนักธุรกิจเขตสัมพันธวงศ์ ชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนร่วมสมทบทุน
มีงบประมาณการก่อสร้าง ๑,๐๐๐ ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลตั้งงบประมาณสนับสนุน ๒๕๐ ล้านบาท
เริ่มลงมือก่อสร้างมาตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ.๒๕๔๙
เป็นอาคารหินอ่อนทรงไทย ๓ ชั้น ปิดทองในส่วนที่เป็นลวดลาย
และเนื่องจากมีพื้นที่ก่อสร้างแคบ จึงเป็นอาคารทรงสูง
ซึ่งถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับศาสนสถานอื่นๆ ภายในวัด
ชั้นบนสุดของพระมหามณฑปเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อทองคำ
อีก ๒ ชั้นเป็น “พิพิธภัณฑ์ชุมชน” บอกเล่าความเป็นมาของย่านเยาวราช

หลวงพ่อทองคำ ความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศ
เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวไทยเชื้อสายจีนที่อาศัยอยู่แถวเยาวราชมาอย่างยาวนาน
นอกจากนี้ ยังเป็นเอกลักษณ์อันยิ่งใหญ่เคียงคู่ชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนอีกด้วย

หลวงพ่อทองคำ มีพระพุทธลักษณะงดงามยิ่งนัก
สมดังที่ได้รับการกล่าวขวัญว่าเป็นรูปแบบของศิลปกรรมสุโขทัยยุครุ่งเรือง
ที่ได้รับการยอมรับว่ามีความวิจิตรอ่อนช้อยกว่าสกุลช่างยุคใด
ขนาดและน้ำหนักทองคำขององค์หลวงพ่อสะท้อนความสามารถ
อันฉลาดลุ่มลึกของฝีมือช่าง ทั้งด้านการออกแบบ ศิลปกรรม การปั้นหล่อ


เป็นหนึ่งในมรดกทางอารยธรรมล้ำค่ายิ่งของพระพุทธศาสนาคู่ผืนแผ่นดินไทย


รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ
พระมหามณฑป “พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร”
วัดไตรมิตรวิทยาราม วรวิหาร
ที่ประดิษฐาน “พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร”
หรือ “หลวงพ่อทองคำ” ในปัจจุบัน


รูปภาพ
พระวิสุทธาธิบดี (ไสว ฐิตวีโร)
อดีตเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม วรวิหาร

---------

:b8: :b8: :b8: รวบรวมและเรียบเรียงมาจาก ::
(๑) หนังสือประวัติพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร
รวบรวมโดย พระครูโสภณสุทธิวัฒน์
(๒) หนังสือไหว้พระประธาน ๗๗ จังหวัด
กองบรรณาธิการข่าวสด สำนักพิมพ์มติชน


:b8: :b8: :b8: ขอขอบพระคุณที่มาของรูปภาพ :: คุณย้ง yong

:b47: :b50: พระพุทธทศพลญาณ หรือ “หลวงพ่อโต วัดสามจีน”
พระประธานในพระอุโบสถ วัดไตรมิตรวิทยาราม วรวิหาร

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=47984

:b47: :b50: พระวิสุทธาธิบดี (ไสว ฐิตวีโร) วัดไตรมิตรวิทยาราม
๑ ใน “คณะสังฆมนตรี” ยุคสมเด็จฯ จวน อุฏฺฐายี เป็นสังฆนายก
(คณะสังฆมนตรีชุดสุดท้ายในประวัติศาสตร์คณะสงฆ์ไทย)

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=22&t=49524

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ก.พ. 2015, 13:55 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 6
สมาชิก ระดับ 6
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 พ.ค. 2013, 10:07
โพสต์: 406

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b16: smiley ไปสักการะมาแล้วครับ มีความปีติสุขมากๆๆที่ได้กราบองค์พระ อีกทั้งยังได้นั่งสมาธิอยู่อีกครึ่งชั่วโมงก่อนจะไปกราบพระประธานในพระอุโบสถของวัด :b8: :b20:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 มี.ค. 2020, 21:20 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 ธ.ค. 2008, 09:34
โพสต์: 1322


 ข้อมูลส่วนตัว


4Aขออนุโมทนาสาธุการค่ะ :b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ก.ค. 2021, 10:10 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2758


 ข้อมูลส่วนตัว


Kiss


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร