ลานธรรมจักร
http://dhammajak.net/forums/

‘อริยสัจ’ จากพระราชดำรัส ‘ในหลวง’
http://dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=25&t=19336
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เจ้าของ:  TU [ 02 ธ.ค. 2008, 14:37 ]
หัวข้อกระทู้:  ‘อริยสัจ’ จากพระราชดำรัส ‘ในหลวง’

รูปภาพ

‘อริยสัจ’ จากพระราชดำรัส ‘ในหลวง’

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำรัสสอนพุทธธรรมแก่ประชาชนที่ได้เข้าเฝ้าหลายครั้ง เช่นพระราชดำรัสในโอกาสที่คณะชาวห้วยขวาง พญาไท เข้าเฝ้าฯ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันพุธที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2521

พระราชดำรัสในโอกาสที่พระครูใบฎีกาเล็ก (ญานุตตโร) และคณะ เข้าเฝ้าฯ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันจันทร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2524

พระบรมราโชวาทพระราชทานแก่คณะผู้แทนพุทธสมาคมทั่วประเทศที่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย วันเสาร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2523

พระราชดำรัสสอนธรรมะเรื่องอริยสัจ มีปรากฏดังนี้

1. “แล้วก็ ทุกข์ อยู่ที่ไหน ไม่ได้อยู่ความทุกข์ที่อดอยากเท่านั้นเอง ทุกข์ของคนที่มีเงินมากร่ำรวย ก็มีความทุกข์มากเหมือนกัน บางคนนะร่ำรวยมากก็มีความทุกข์มากกว่าคนที่ไม่มีเงิน ต้นเหตุของความทุกข์อยู่ที่ใจ เราสามารถที่จะสร้างทุกข์ขึ้นมาได้ให้มันเกิด เหมือนว่าเราสามารถที่จะเลือกว่าจะเอาทุกข์หรือเอาสุข” (สำนักราชเลขาธิการ, 2531)

2. “ทุกข์ ที่ยังไม่มีอย่าให้เกิด ถ้าเราไม่ยอมให้เกิดขึ้น หมายความว่าทำจิตใจให้ผ่องใสตลอดเวลา ทำอะไรที่สุจริตตลอดเวลา ความทุกข์เกิดยาก เมื่อเกิดยากแล้วทุกข์เก่าที่มีอยู่มันก็ค่อยๆ หายไป ก็ตามที่พระท่านบอกว่า ทุกสิ่งเป็นอนิจจัง ทุกข์ก็เป็นอนิจจัง” (อ้างแล้ว, 2531)

3. “จิตใจที่เป็น ทุกข์ ก็เพราะรู้สึกว่าเป็นทุกข์ ถ้าเราดูติดตามว่า ความรู้สึกว่าเป็นทุกข์เป็นอย่างไร แล้วก็ต่างกันนะ คือ ทุกข์แล้วเดี๋ยวก็หายทุกข์ มันก็ทำให้ความทุกข์ในใจมันลดลง สบายเข้า” (พระราชวรมุนี, 2520 : 150)

4. “สมุทัย คือ ต้นเหตุของทุกข์ เราต้องดูอะไร เราต้องดูใจ ใจเราเป็นอย่างไร จิตใจเราเป็นทุกข์เป็นสุข จะสมมุติว่าเรากำลังหิว เราเห็นอาหารที่น่ารับประทาน เห็นเฉยๆ ก็มีความรู้สึกแล้วก็เป็นสุข เห็นน่ะเป็นสุข มันก็เกิดอยากแล้ว เราหิวเราก็ควรจะรับประทานเพื่อประทังเพื่อแก้ความหิว นั่นเป็นของธรรมดาของโลก แล้วร่างกายเราทุกคนถ้าไม่มีอาหารละก็ จะรักษาร่างกายเอาไว้ไม่ได้ จำเป็นต้องมีอาหารบริโภค แต่ถ้าเห็นแล้วก็เกิดความอยากรับประทานเพื่อที่จะพอประทังชีวิตก็ยังไม่เป็นทุกข์ แต่ถ้าเห็นแล้วว่าน่ารับประทาน แล้วก็ลงมือรับประทานเพราะมันอยาก นี้เกิดเป็นทุกข์แล้ว” (สำนักราชเลขาธิการ, 2531)

5. “ทุกข์ ธรรมดาที่มีอยู่นั้นก็มีไป เดี๋ยวก็มาเดี๋ยวก็ไป แต่ว่าทุกข์ที่เราสร้างขึ้น เราสามารถที่ควบคุมได้ถึงได้เรียกว่าตัดทุกข์ เพราะว่าทุกข์นั้นไม่เกิด” (อ้างแล้ว, 150)

6. “พุทธศาสนาศึกษาอะไร ก็ศึกษาความทุกข์นี่เอง ความทุกข์ เป็นสิ่งที่คนไม่ชอบจึงต้องการให้พ้นทุกข์ พ้นทุกข์สำหรับตัวเองแต่ละคนๆ แต่ว่าการให้พ้นทุกข์นี้ยากมาก เพราะว่ามีความรู้สึกว่าไม่เป็นทุกข์ มีความรู้สึกว่าเป็นสุข ครั้นใครมาทำให้เราเป็นทุกข์หรือแม้แต่มีความสุขน้อยลงไปก็ทำให้เราโกรธ ทำให้เราไม่พอใจ แล้วก็เดือดร้อนฟุ้งซ่านไม่มีความสุข แล้วก็มีความทุกข์” (อ้างแล้ว, 139)

7. “ท่านสอนว่ามี ศีล สมาธิ ปัญญา ศีลก็หมายความว่า เราต้องระมัดระวังตัวไม่ให้ทำอะไรผิดไป เป็นเกณฑ์ที่ช่วยเรา ช่วยเราไม่ให้ผิดพลาดเสียหาย ไม่ใช่ขังเราในกรง ศีลนั้นนะเหมือนกรง เราอยู่ในกรง ทำนี้ก็ไม่ได้ ทำโน่นก็ไม่ได้ เพราะว่าท่านบอกว่าไม่ให้ทำ... เราเหมือนว่าอยู่ในกรง เราออกมาไม่ได้ แต่ถ้านึกดู สมมุติว่าเราอยู่ในที่ที่มีสัตว์ร้ายเต็มอย่างที่เคยเห็นภาพยนตร์ เขาหย่อนคนที่ใส่เครื่องประดาน้ำลงไปในน้ำที่มีปลาฉลามแยะๆ เขาเอาปลาฉลามใส่กรงไม่ได้ ก็เอาตัวผู้เป็นประดาน้ำลงไปในกรงเพื่อไม่ให้ปลาฉลามกัด ศีลนี้ก็กลายเป็นกรงเพื่อไม่ให้สิ่งที่ไม่ดีมาแตะต้องเราได้ ก็เป็นกฎเกณฑ์เหมือนกัน ในเวลานั้น ตอนแรก เราต้องให้ศีลมาควบคุมตัวเรา แล้วทีหลังศีลนั้นจะเป็นเกราะป้องกันตัวเราไม่ให้เดือดร้อน เพราะว่าถ้าทำผิดศีลนั้นนะเดือดร้อน เป็นการกระทำที่เป็นกรรมที่เดือดร้อน ก็เป็นอกุศลกรรม เป็นสิ่งที่จะทำให้เราได้รับกุศลที่ไม่ดี ก็หมายความว่าศีลนี่ เป็นส่วนที่ท่านตั้งเอาไว้เพื่อที่จะป้องกันเรา” (อ้างแล้ว, 154-155)

8. “สมาธิ ก็เพื่อที่จะให้จิตใจเราเข้มแข็ง สามารถที่จะมีสติสัมปชัญญะ เมื่อมีสติสัมปชัญญะแล้ว เราเห็นอะไรทุกอย่าง ทำอะไรก็เกิดผล จะเกิดผลอะไรเราก็รู้ อะไรที่ถูกต้องเราก็รู้ อะไรที่ไม่ถูกต้องเราก็รู้... รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ก็เกิดความรู้ซึ่งมีผลเป็นปัญญา รู้ว่าอะไรควรอะไรไม่ควร” (บุญเสริม บุญเจริญผล, 2539 : 149)

9. “ความโง่หรือความไม่รู้จริงมันปิดบังใจและปิดบังความจริง ฉะนั้น จะต้องหาทางที่จะเปิด เปิดม่านนั้น การเปิดม่านนั้นก็ต้องพยายามที่จะทำให้ใจนี้สงบ วันนี้ก็มาถึง ที่เรียกว่า สมถะ หรือ สมาธิ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ได้น่ากลัว บางคนก็บอกว่าการนั่งสมาธินี้ระวังให้ดี อาจจะเป็นบ้าก็ได้... แต่ว่าสมาธินี้ก็ต้องเริ่มอย่างเบาๆ ก่อน... จะต้องเริ่มต้นด้วยการปัดกวาดสิ่งที่เป็นม่าน... การที่จะให้เกิดความสงบคือสมาธินี้ ต้องพยายามดูให้เห็นว่าอะไรมาปิดบัง เมื่อถอนสิ่งที่ปิดบังนั้นทันใดก็ได้สมาธิ... สมมุติว่าจะเดินไปออกประตู ถ้าเราบอกว่าเราดูผนังบ้าง ดูเพดานบ้าง ดูม่าน บ้าง เราก็ไม่มีทางที่จะดูประตู แต่ถ้าเราตัดสินใจว่าตอนนี้ไม่ใช่ภาระของเราที่จะดูเพดาน ดูฝาผนัง หรือดูอะไร แต่เป็นภาระที่จะไปหาประตู เราก็ถอนออกมาจากสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ ที่กำลังฟุ้งซ่านอยู่ ส่วนมากเรามีความชอบอะไรที่เรียกว่า มีกามราคะ มีโทสะคือพยาบาท และบางทีก็ไม่ใช่โทสะหรือราคะอะไร มีความฟุ้งซ่านแกว่งไกวไปที่โน่นที่นี่... ไม่มีทางที่จะมีความสงบ หรือบางทีเราก็พยายามหาความสงบ แต่เราไม่มีความเพียงพอ เรามันง่วงเรามันหาว... บางทีก็ไม่เชื่อว่ามีประตูด้วยซ้ำ ต้องปัดกวาดความลังเลสงสัยอะไรต่างๆ เหล่านี้... แต่ถ้าเราพยายามที่จะดูว่ามีสิ่งที่ปิดบัง และก็บอกว่าตอนนี้มันไม่ใช่เรื่อง ไม่ใช่เวลาที่จะเอาสิ่งมาปิดบัง ถอนสิ่งปิดบังเหล่านี้ เราก็ได้สมาธิได้ทันทีเลย นี้เรียกว่าสมาธิ... เราทำสมาธิให้นิ่ง จิตใจให้นิ่ง ก็จะมาเห็นใจของเรา ใจจะไม่เป็นสิ่งที่ลึกลับ ใจจะเป็นสิ่งที่เปิดเผย คือ เราเปิดเผยกับตัวเอง... วันนี้ใช้สมาธิทำให้ใจนี้นิ่งก่อน แล้วเมื่อมีอารมณ์ ซึ่งอารมณ์เข้ามาทุกเมื่อตลอดเวลา เมื่ออารมณ์เข้ามา เรากั้นอารมณ์นั้นไว้เท่าที่มีความสามารถ ด้วยการระงับนิวรณ์เหมือนระงับน้ำไม่ให้กระเพื่อม เราก็ดู ดูใจก็เป็นการดูปฏิกิริยาของใจ ความเคลื่อนไหวของใจ... และก็ใจนี้ทำให้เรามีความสุขหรือมีความทุกข์ ใจนี้เอง เมื่อมีความสุขบางทีก็ลิงโลดดีใจมาก อาจจะทำให้เสียหายก็ได้” (อ้างแล้ว, 136-139)

10. “ถ้าเราทำบุญด้วยประการทั้งปวง คือ ทำดีด้วยความตั้งใจดี แล้วก็มีปีติขึ้นมา ได้รับผลของบุญแล้วเราทำสูงขึ้นไป ทำต่อไป คิดให้ดีๆ จะเกิดที่เรียกว่า ปัญญา หรือ ความรู้ ปัญญานี้ไม่ได้หมายความว่าใครไปเรียนกลับมาได้ดอกต้งดอกเตอร์ ไม่ใช่ นั่นเป็นปัญญาความรู้ทางโลกเขาใช้ แต่ปัญญาจริงๆ เห็นอะไรจริงๆ ที่ใจจริงๆ ถ้าเราทำบุญไปก็จะค่อยๆ เห็นความจริง เป็นปัญญา เราจะสามารถที่จะควบคุมการเกิดของทุกข์ที่ใจ” (อ้างแล้ว, 149-150)

11. “ที่ว่าทำบุญนั้นนะ ก็อยู่ในข้อที่เรียกว่า ทำทาน แล้วก็ที่ถูก ทำบุญแล้วก็พยายามทำอะไรที่ดี ที่ถูกต้อง ที่สวยงาม ที่สุจริต ที่ไม่ทำให้เดือดร้อน ก็เป็นศีลแล้ว ก็เมื่อมีศีลแล้ว เราก็สามารถที่จะทำพิจารณาอะไรก็เป็นการภาวนา การภาวนาทำไปทำมาก็เป็นสมาธิ เมื่อมีสมาธิแล้วก็ภาวนาอยู่ตลอด ทุกวันติดต่อไป มันก็เกิดปัญญา พระท่านสรุปเสมอว่า ศีล สมาธิ ปัญญา นี้ก็คือ การสรุปของมรรครวมกัน เราก็ได้ อริยสัจที่ 4 เมื่อเราได้อริยสัจที่ 4 แล้ว เราก็จะได้อริยสัจที่ 3 เพราะว่าถ้ามีปัญญาแล้วก็หลุดพ้น” (อ้างแล้ว, 151)


จากหนังสือเอกกษัตริย์อัจฉริยะ
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 2 ธันวาคม 2551 14:20 น.

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

ทีฆายุโก โหตุ มหาราชา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๑
ขอจงทรงพระเจริญ เป็นมิ่งขวัญของปวงชนชาวไทยสืบต่อไป

ขอเดชะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ปกเกล้่าปกกระหม่อม
ข้าพระพุทธเจ้า TU ซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น


* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *




เจ้าของ:  ฌาณ [ 02 ธ.ค. 2008, 16:04 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ‘อริยสัจ’ จากพระราชดำรัส ‘ในหลวง’

สาธุครับ บทความของพระองค์ท่านเรื่องนี้อธิบายอริยสัจสี่ได้แจ่มแจ้งมากๆครับ
:b8: :b8: :b8: :b8: :b8: :b8: :b8: :b8: :b8: :b8: :b8: :b8:

เจ้าของ:  น้ำธารา [ 03 ธ.ค. 2008, 14:41 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ‘อริยสัจ’ จากพระราชดำรัส ‘ในหลวง’

:b42: ทีฆายุโก โหตุ มหาราชา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๑
ขอพระองค์ทรงพระเจริญ เป็นมิ่งขวัญกำลังใจของปวงชนชาวไทยสืบต่อไป

ขอเดชะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ปกเกล้่าปกกระหม่อม
ข้าพระพุทธเจ้า น้ำธารา ซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น


:b8: :b8: :b8:

เจ้าของ:  บัวไฉน [ 04 ธ.ค. 2008, 09:29 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ‘อริยสัจ’ จากพระราชดำรัส ‘ในหลวง’

:b8: " พระมหากรุณาธิคุณ มากล้น รำพัน "
ขอให้พระองค์ ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน เทอญ
:b8:

:b44: ด้วยเกล้า ด้วยกระหม่อม ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้า " บัวหิมะ " :b44:

หน้า 1 จากทั้งหมด 1 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/